วันพฤหัสบดีที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2559

9 เรื่องที่ลูกจะขอจดจำองค์พ่อหลวง (4) ของแผ่นดินตลอดไป ตอนที่ 4

 

4.ตลอดระยะเวลาครองราชย์ 70 ปี ทรงเสด็จไปทุกที่ทั่วไทย ใกล้ไกล แม้ในถิ่นทุรกันดาร


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงทอดทิ้งประชาชน ด้วยทรงยึดมั่นในพระราชปณิธานที่ต้องทรงปฏิบัติตามคำขอของ คนไทยทั้งชาติอย่างแท้จริง เห็นได้จากการที่ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในท้องถิ่นต่าง ๆ ทุกภูมิภาคของประเทศ อย่างสม่ำเสมอ นับตั้งแต่เสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๘ ตราบจนปัจจุบัน รวมเวลาแล้วถึง ๗๒ ปี ซึ่งคงจะเป็นประจักษ์ พยานยืนยันถึงพระราชหฤทัยห่วงใยที่ทรงมีต่อพสกนิกรผู้อยู่ใต้เบื้องพระบรมโพธิสมภาร พระราชกรณียกิจในงานพัฒนาประเทศ ด้านต่าง ๆ ที่ได้พระราชทานแนวทางหรือแนวพระราชดำริแก่หน่วยราชการหรือหน่วยงานต่าง ๆ ล้วนสำเร็จลุล่วงบังเกิดผลสูงสุด ด้วยเดชะพระบารมี ยังความร่มเย็นผาสุกแก่ปวงประชาราษฎรโดยทั่วหน้าตลอดมา

ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ได้ทรงใกล้ชิดประชาชนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ พระเจ้าอยู่หัวของปวงชนชาวไทยพระองค์นี้ ได้ทรงทราบถึงปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนส่วนใหญ่ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งต้องการน้ำเป็นปัจจัยสำคัญเพื่อการ เพาะปลูกและการดำรงชีวิต เฉพาะอย่างยิ่งราษฎรผู้ต้องอาศัยอยู่ในท้องถิ่นชนบททุรกันดารที่ขาดแคลน แม้กระทั่งแหล่งน้ำกินน้ำใช้ โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง เป็นเหตุให้เกิดปัญหาความยากจน ขาดเสถียรภาพ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นรากฐานของความ มั่นคงและมั่งคั่งของประเทศ และขาดคุณภาพชีวิตที่สมบูรณ์ ด้วยเหตุนี้ ในการเสด็จฯ เยี่ยมเยียนราษฎรแต่ละภูมิภาค จึงมิใช่เพียง แต่เสด็จพระราชดำเนินเพื่อให้ราษฎรได้ชมพระบารมีเท่านั้น แต่เพื่อทรงรับทราบถึงสภาพชีวิตความเป็นอยู่ การประกอบอาชีพและ ความต้องการของราษฎร ด้วยพระเนตรพระกรรณของพระองค์เอง ที่สำคัญก็คือ ทรงมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาเหล่านั้นให้บรรเทาลงหรือ หมดสิ้นไป เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีและทัดเทียมกันของประชาชนทั้งชาติ

ทุกครั้งที่เสด็จฯ เยี่ยมเยียนราษฎร ไม่ว่าแห่งหนตำบลหรือภูมิภาคใด มิได้ทรงคำนึงถึงเส้นทางที่จะเสด็จพระราชดำเนินหรือ ภยันตรายใด ๆ หรือแม้พื้นที่ที่เสด็จฯ ไป จะต้องทรงพระดำเนินเป็นระยะทางหลาย ๆ กิโลเมตรตามเส้นทางที่ขรุขระ บางครั้งต้อง ขึ้นเขาลงห้วย บางครั้งต้องบุกป่าฝ่าดง ด้วยไม่มีเส้นทางถนนที่จะเข้าไปถึง ก็มิได้ทรงย่อท้อหรือเหนื่อยหน่ายพระราชหฤทัย หรือ แม้ขุนเขาจะสูงชัน แม้ฝนจะตกหนัก ตามเส้นทางที่จะเสด็จฯ ผ่าน เต็มไปด้วยน้ำขังและโคลนตม หรือแม้อากาศจะหนาวเหน็บหรือ ร้อนอบอ้าว ก็ไม่ทรงถือเป็นอุปสรรคกีดขวางการเสด็จฯ ไปให้ถึงตัวราษฎรที่ทรงห่วงใย และที่เฝ้ารอการเสด็จพระราชดำเนินไป ทรงเยี่ยมเยียนอย่างใจจดจ่อ ภาพที่คนไทยทั่วประเทศได้เห็นจนเจนตา เจนใจ ตลอดระยะเวลา ๕๐ ปีที่ผ่านมา พระมหากษัตริย์ ไทยพระองค์นี้เสด็จฯ เคียงข้างด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระราชโอรสและพระราชธิดา ประทับท่ามกลางราษฎร มีพระราชดำรัสซักถามถึงปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรด้วยความสนพระราชหฤทัย และเปี่ยมด้วยพระเมตตา ยังความชื่นชม โสมนัสในหมู่ราษฎรที่ทุกข์ยากเหล่านั้น นั่นคือกำลังใจที่จะทำให้พวกเขาลุกขึ้นสู้ชีวิตสู้ปัญหาโดยไม่ย่อท้ออีกต่อไป

เนื่องด้วยทรงประจักษ์ถึงปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรส่วนใหญ่ที่ขาดแคลนน้ำ ดังนั้น นอกจากจะทรงศึกษาค้นคว้าด้วย พระองค์เองจากเอกสารที่หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องในงานพัฒนาแหล่งน้ำนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแล้ว ยังทรงศึกษารายละเอียดจาก แผนที่ ถึงพิกัดที่ตั้งหมู่บ้านในทุกท้องถิ่นชนบทที่ห่างไกล และยากจนแร้นแค้นแหล่งน้ำที่จะพึงจัดหาได้ในพื้นที่นั้น ๆ หลังจากที่ได้ เสด็จฯ ทอดพระเนตรสภาพภูมิประเทศจริง จึงทรงกำหนดโครงการต่าง ๆ ขึ้นบนแผนที่ และพระราชทานให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ รับไปพิจารณาดำเนินการให้เหมาะสมและถูกต้องในเชิงวิชาการ

เมื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับสนองพระราชดำริ ดำเนินการก่อสร้างงานพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อจัดหาน้ำให้ราษฎรได้มีอุปโภค บริโภค และใช้ในการเพาะปลูก โดยเฉพาะในหน้าแล้งที่ขาดแคลนน้ำ เสร็จเรียบร้อยแล้ว ราษฎรย่อมได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ ทำให้มีน้ำใช้โดยไม่ขาดแคลนดังเช่นที่เคยประสบมา โครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริประเภทและขนาดต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ทุกท้องถิ่นชนบททั่วประเทศ ล้วนทำให้ราษฎร ได้มีน้ำใช้ในการดำรงชีพ มีน้ำใช้ทำนา ทำไร่ ทำสวน มีน้ำเพาะเลี้ยงปลา เลี้ยงสัตว์ ความยากลำบากเพราะขาดแคลนน้ำดูจะเป็นเพียงเรื่องราวในอดีตที่ไม่มีวันจะหวนกลับคืนมาอีกแน่นอน

(เครดิตข้อมูล เอกสารวิชาการ สรรพศิลปะศาสตราธิราช สาขาวิศวกรรมชลประทาน มหาวิทยลัยเกษตรศาสตร์

เสด็จเยี่ยมราษฎร ๔ ภาคครั้งแรกในรัชกาล ทรงสร้างประวัติศาสตร์ไม่เหลือช่องว่างระหว่างกษัตริย์กับราษฎร!!!

ตามราชประเพณีมาแต่โบราณ เมื่อพระมหากษัตริย์ผ่านพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติอย่างสมบูรณ์แล้ว จะเสด็จออกให้ราษฎรเข้าเฝ้าเพื่อจะได้รู้จักพระองค์ แต่ในสมัยโบราณที่การคมนาคมยังไม่สะดวก การเสด็จเยี่ยมราษฎรในท้องถิ่นห่างไกลเป็นการยากลำบาก จึงเสด็จเลียบพระนครด้วยกระบวนพยุหยาตราแต่ในเมืองหลวงเท่านั้น
    
       ในรัชกาลที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ทรงผ่านพิธีบรมราชาภิเษกในวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓ และเสด็จเลียบพระนครตามโบราณราชประเพณีแล้ว มีความจำเป็นที่จะต้องเสด็จไปสวิตเซอร์แลนด์ชั่วระยะเวลาหนึ่ง เพื่อรักษาพระองค์อันเนื่องจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ เมื่อเสด็จกลับมาประทับในพระราชอาณาจักรอย่างถาวรและทรงว่าราชการด้วยพระองค์เองแล้ว มีหลายประเทศทูลเชิญให้เสด็จไปเยือน แต่ทรงตั้งพระราชหฤทัยที่จะเสด็จเยี่ยมเยียนราษฎรในภาคต่างๆก่อนจึงจะเสด็จไปต่างประเทศ
    
       ในขณะที่เตรียมหมายกำหนดการจะออกเยี่ยมราษฎรทั้ง ๔ ภาคอยู่นั้น ก็ได้เกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ขึ้นที่ตลาดบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรีในวันที่ ๙ กันยายน ๒๔๙๗ ราษฎรได้รับความเดือดร้อนจากไฟไหม้ในครั้งนี้อย่างมาก ต่อมาในวันที่ ๑๓ กันยายน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงขับรถด้วยพระองค์เองไปเยี่ยมราษฎรพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินี และพระราชทานความช่วยเหลือแก่ราษฎรผู้ประสบอัคคีภัยที่นั่น ซึ่งนับได้ว่าเป็นการเสด็จเยี่ยมราษฎรอย่างเป็นทางการครั้งแรกในรัชกาล อย่างที่เคยเล่ามาแล้วในคอลัมน์นี้เมื่อวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๕๙
    
       การเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรทั้ง ๔ ภาคครั้งแรกนี้ นับเป็นเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ ซึ่งพระราชปณิธาน พระราชอัธยาศัย ได้แสดงออกปรากฏอย่างชัดเจน ทรงห่วงใยทุกข์สุขและการทำมาหากินของประชาชน ทรงปรารถนาที่จะหาทางช่วยเหลือพสกนิกรของพระองค์ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อีกทั้งพระราชอัธยาศัยอันงดงาม เป็นแบบฉบับของกษัตริย์ประชาธิปไตย ทรงวางพระองค์เป็นคนไทยคนหนึ่ง ที่มีตำแหน่งเป็นพระประมุขของประเทศ ไม่เหลือความเป็นสมมุติเทพเช่นกษัตริย์ในสมัยโบราณ ทรงนับญาติลุงป้าตายายกับราษฎรตามธรรมเนียมไทย พระราชดำรัสของพระองค์และสมเด็จพระบรมราชินีกับราษฎรนั้น เสมือนคนไทยที่รักใคร่สนิทสนมพูดคุยกัน ไม่เหลือช่องว่างระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชนอีกต่อไป
    
       ในโอกาสนี้ จึงขอนำเฉพาะพระราชอัธยาศัยที่น่าตื่นตาและประทับใจเหล่านั้นมารำลึกกันอีกครั้ง ให้เห็นความเปลี่ยนแปลงสถานะของพระมหากษัตริย์ไทยที่เกิดขึ้นในรัชสมัยของรัชกาลที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
    
       การเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎร ๔ ภาค ได้เริ่มที่ภาคกลางเป็นภาคแรก โดยในวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๔๙๘ เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมราษฎรในจังหวัดนครปฐมและสุพรรณบุรีเป็นแห่งแรก ที่อำเภออู่ทอง มีประชาชนมาเฝ้ารับเสด็จล้นหลาม ทั้งสองพระองค์เสด็จลงจากรถพระที่นั่งปฏิสันถารกับราษฎร พระเจ้าอยู่หัวรับสั่งถามหญิงชราคนหนึ่งว่า มีฝนตกลงมามากในระยะนี้ การทำนาและน้ำสำหรับรับประทานพอใช้ไหม หญิงชราทูลว่ามีใช้พอเพียง พระเจ้าอยู่หัวถามว่าอยู่ที่ไหน ทำมาหากินอะไร หญิงชราทูลตอบว่า ตั้งร้านค้าขายอยู่ในตลาดจ้ะพระเจ้าอยู่หัวทรงซักถามอีกว่า ร้านใหญ่ไหมหญิงชราทูลว่า ก็ไม่ใหญ่นักหรอก แต่คงจะใหญ่คราวนี้ เพราะได้เฝ้าในหลวงพระเจ้าอยู่หัวทรงพระสรวล แล้วเสด็จพระราชดำเนินทักทายราษฎรคนอื่นต่อไป
    
       สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงตรัสกับราษฎรที่มาเฝ้ารับเสด็จว่า พระองค์มีพระประสงค์จะมาเที่ยวจังหวัดสุพรรณบุรีนานแล้ว เพิ่งจะมีโอกาสมาคราวนี้ และอยากจะมาอาบน้ำเล่นให้สนุก ทรงถามหญิงคนหนึ่งว่า จระเข้ในแม่น้ำสุพรรณชุมมากไหมจ๊ะหญิงผู้นั้นทูลตอบว่า เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้วค่ะราษฎรที่เข้าเฝ้านั้นส่วนใหญ่ต่างไม่ประสีประสาในราชาศัพท์ แต่ทั้งสองพระองค์ก็ไม่ทรงถือสาแต่อย่างไร ผู้สื่อข่าวซึ่งติดตามรายงานข่าวโดยละเอียด ได้รายงานว่า หญิงชราคนหนึ่งได้ทูลถามสมเด็จพระบรมราชินีตามภาษาชาวบ้านว่า ยังสาวเหลือเกิน มีลูกกี่คนแล้วสมเด็จฯทรงตอบว่า สามคนแล้วละจ้ะ เป็นหญิงสองชายหนึ่ง คนเล็กอายุได้ ๕ เดือน ฉันอยากจะพามาเที่ยวด้วย แต่หนทางไกลกลัวไม่สบาย และต้องค้างคืนหญิงชราแสดงความประหลาดใจทูลถามว่า แล้วรับประทานนมที่ไหนสมเด็จฯทรงตอบว่า กินนมกระป๋องและตรัสต่อไปว่า นมของฉันไม่พอให้รับประทาน ฉันต้องกินแกงเลียงทุกวัน ผู้ใหญ่เขาบอกว่าถ้ากินแกงเลียงแล้วจะมีน้ำนมมาก แต่ของฉันก็ไม่มากตรัสแล้วก็ทรงพระสรวลและชมว่า คุณป้าคนนี้พูดเก่งจัง
    
       ที่จังหวัดชัยนาท มีราษฎรมาเฝ้าสองข้างทางหลวงแผ่นดินและทางหลวงภายในจังหวัดอย่างแน่นขนัด เสด็จไปที่ศาลากลางจังหวัด เมื่อพระราชทานกระแสพระราชดำรัสแล้ว ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จจากที่ประทับไปทรงเยี่ยมและปฏิสันถารกับราษฎรที่มาเฝ้าอยู่หน้าที่ประทับ ทรงไต่ถามถึงทุกข์สุข การทำมาหาเลี้ยงชีพ และพระราชทานพรพร้อมเงินก้นถุง ในขณะที่ทั้งสองพระองค์อยู่ท่ามกลางราษฎรนั้น หญิงชราคนหนึ่งได้วิ่งเข้ามากราบและกอดพระบาทพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินี ร้องไห้ด้วยความตื้นตันใจที่ได้เห็นองค์พระประมุขอย่างใกล้ชิด จนทั้งสองพระองค์ไม่สามารถเสด็จพระราชดำเนินต่อไปได้ ทรงไต่ถามความเป็นอยู่และการทำมาหากิน ซึ่งทำให้หญิงชราปลื้มปีติอย่างยิ่ง
    
       รุ่งอรุณของวันที่ ๒๘ กันยายน สองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา นับแต่ชัยนาทถึงสิงห์บุรี สะพรั่งไปด้วยธงทิวประดับประดาไว้อย่างสวยงาม ประชาชนได้พากันหลั่งไหลไปที่หน้าศาลากลางจังหวัดอย่างมืดฟ้ามัวดิน หลามออกมาจนถึงถนนหน้าศาลากลาง ที่ต่างปลื้มปีติยินดีในพระมหากรุณาธิคุณที่ได้เสด็จมาเยี่ยมชาวสิงห์บุรี หลังจากมีพระราชดำรัสกับราษฎรแล้ว ได้เสด็จลงเยี่ยมเยียนทักทายกับผู้ที่มาเข้าเฝ้าโดยทั่วกัน ทรงยื่นพระหัตถ์ให้ผู้เฒ่าผู้แก่จับ ราษฎรได้นำไข่ไก่และดอกไม้มาถวาย ทรงพระราชทานเงินก้นถุงให้ผู้ถวายของทุกคน
    
       พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งถามราษฎรคนหนึ่ง ซึ่งเป็นชาวบางระจันมีอาชีพทำนา ว่าการทำนาเป็นอย่างไร ข้าวเจริญงอกงามดีหรือ ราษฎรทูลว่าการทำนาไม่ดี เพราะน้ำมากจนทำนบพัง ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการอำเภอ ผู้แทนราษฎรไม่เอาใจใส่ บอกว่าจะให้ข้าวกินก็ไม่ให้ ข้าราชการที่ตามเสด็จจึงได้รับเรื่องไปดำเนินการช่วยเหลือต่อไป
    
       ในวันที่ ๑๘ ตุลาคม ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมราษฎรจังหวัดนครนายก เมื่อมีพระราชดำรัสจบแล้ว เสด็จลงจากศาลากลางจังหวัด เพื่อทรงทักทายปฏิสันถารกับราษฎรอย่างใกล้ชิด หญิงชราหลายคนเมื่อเห็นสมเด็จพระบรมราชินีเสด็จมา ก็เข้ากราบขอจับพระหัตถ์ไปกอด บางคนจับพระหัตถ์ได้ก็ไม่ยอมปล่อย ทำให้สมเด็จฯทรงพระสรวล
    
       ทั้งสองพระองค์เสด็จพระราชดำเนินในหมู่ราษฎรที่มาเฝ้าหลายหมื่นคน เป็นเวลาเกือบหนึ่งชั่วโมง ด้วยพระพักตร์ยิ้มแย้มตลอดเวลา จึงเสด็จประทับรถยนต์พระที่นั่งออกจากศาลากลาง มีประชาชนห้อมล้อมรถพระที่นั่งเพื่อส่งเสด็จ ต่างเปล่งเสียงไชโยจนรถพระที่นั่งพ้นศาลากลาง
    
       ต่อมาในวันที่ ๒-๒๐ พฤศจิกายน ๒๔๙๘ เป็นการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในภาคอีสาน ซึ่งก็เป็นการสร้างประวัติศาสตร์เช่นกัน เพราะที่ผ่านมายังไม่เคยมีพระมหากษัตริย์พระองค์ใดเสด็จเยี่ยมราษฎรในภาคอีสานมาก่อนเลย เนื่องจากเส้นทางคมนาคมยังทุรกันดาร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เคยเสด็จไปถึงโคราชเมื่อมีทางรถไฟถึง แต่ก็เป็นการเสด็จประพาสต้นส่วนพระองค์ ไม่ให้ราษฎรรู้ข่าว
    
       การเสด็จพระราชดำเนินของทั้งสองพระองค์ในครั้งนี้ ทรงมีพระราชดำรัสผ่านพระยารามราชภักดี ปลัดกระทรวงมหาดไทยว่า ให้ทางจังหวัดต่างๆที่เตรียมการรับเสด็จ ยึดถือหลักประหยัดให้มากที่สุด พระองค์ไม่ถือว่าที่ประทับในการรับเสด็จจะเล็กหรือใหญ่อย่างใด ให้ถือเอาการประหยัดเป็นหลักสำคัญในการรับเสด็จ และขออย่าให้มีการเกณฑ์ราษฎรมารับ
    
       ข่าวการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรภาคอีสานได้แพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็ว แม้สื่อการประชาสัมพันธ์สมัยนั้นยังไม่มีประสิทธิภาพนัก แต่การร่ำลือปากต่อปากก็ทำให้แพร่ไปอย่างทั่วถึง ประชาชนแม้ในถิ่นทุรกันดารต่างหอบเสื่อหอบหมอน ข้าวปลาอาหาร จูงลูกจูงหลาน ชักชวนกันมาเฝ้า ทั้งในตัวเมืองที่กำหนดเป็นสถานที่รับเสด็จ หรือตามเส้นทางเสด็จผ่านทางถนนและทางรถไฟ แม้แต่บนยอดภูกระดึง ก็ยังมีราษฎรพากันเดินทางขึ้นไปเฝ้าชมพระบารมีกันมากมาย ต่างจัดหาข้าวของมีค่าที่จะหาได้ ทั้งของเก่าแก่ประจำตระกูล ของกินของใช้ ตลอดจนของป่าพื้นเมือง นำไปทูลเกล้าฯถวายทั้งสองพระองค์ด้วยความจงรักภักดี และด้วยปรารถนาที่จะเข้าเฝ้าชมพระบารมีอย่างใกล้ชิดที่สุด ซึ่งต่างก็ประทับใจในพระราชจริยาวัตรอันงดงาม และปลื้มปีติในพระมหากรุณาธิคุณ อันเป็นความทรงจำที่มีค่ายิ่งของชีวิต
    
       ที่สถานีรถไฟนครราชสีมา มีราษฎรมาเฝ้ารับเสด็จเป็นแสนคน โดยเดินทางมาจากอำเภอต่างๆ ทำให้โรงแรมในเมืองทุกแห่งเต็มหมดจนต้องพักกันตามศาลาวัด ทั้งสองพระองค์เสด็จลงจากรถไฟพระที่นั่ง ประทับโดยรถยนต์ ผ่านซุ้มรับเสด็จที่สวยงามกว่า ๕๐ ซุ้มไปที่อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ทรงวางพวงมาลาที่อนุสาวรีย์ เกิดความชุลมุนขึ้นเล็กน้อย เมื่อมีราษฎรพยายามออกจากแถวรับเสด็จเพื่อหมอบกราบพระบาททั้งสองพระองค์
    
       ในวันนั้น ฝนซึ่งไม่ได้ตกในนครราชสีมาเป็นเวลานานแล้ว ก็โปรยลงมาขณะที่แดดยังอ่อนๆ มหาดเล็กนำพระมาลามาถวาย แต่ทรงปฏิเสธ ทั้งสองพระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปในหมู่ราษฎรที่มาเฝ้าในสายฝน ทรงรับของถวายและทรงทักทายเป็นระยะทางยาวหลายกิโลเมตร เด็กหญิงคนหนึ่งถูกเบียดจนเซ จึงคว้าพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไว้กันล้ม ทรงพระเมตตาให้ราษฎรได้เฝ้าอย่างใกล้ชิดในบรรยากาศที่ชุ่มชื่นเป็นเวลาถึง ๒ ชั่วโมงกว่า ผู้เฒ่าผู้แก่ต่างยกมือขึ้นเหนือหัวกล่าวว่า บารมีของในหลวงองค์นี้ล้นเหลือนัก เหมือนฟ้ามาโปรด แต่นี้ไปความแห้งแล้งจะหมดไปจากอีสานละ
    
       ที่อำเภอโนนไทย มีราษฎรมารอเฝ้าเป็นจำนวนมาก ขณะที่ประทับอยู่บนที่ว่าการอำเภอ ราษฎรจะขอนำของขึ้นมาถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้รับสั่งกับนายอำเภอว่า ฉันจะลงไปหาเอง ไม่ต้องให้ขึ้นมาหรอก ให้เขาอยู่นั่นแหละแล้วเสด็จลงไปเยี่ยมอย่างใกล้ชิด ทรงห่วงใยในเรื่องน้ำทำนา ทรงซักถามเรื่องนี้เป็นพิเศษ มักจะรับสั่งถามว่า ฝนแล้งขาดน้ำไหม ชลประทานช่วยดีไหมสมเด็จพระบรมราชินีก็ทรงทักทายกับราษฎรเคียงข้างพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีรับสั่งกับหญิงชราผู้หนึ่งว่า มารอนานแล้วหรือจ๊ะ ฉันมาช้าไปเพราะราษฎรมากเหลือเกิน ต้องแวะเยี่ยมเขาตลอดทาง
    
       มีเด็กอายุ ๔ เดือนคนหนึ่งร้องไห้จ้า สมเด็จฯรับสั่งกับแม่เด็กว่า เอาผ้าปิดเสียซีจ๊ะ แดดร้อนเดี๋ยวจะเป็นไข้แต่เด็กก็ยังไม่หยุดร้อง จึงทรงดีดนิ้วเปาะๆ ทำให้เด็กหัวเราะได้ ทรงรับสั่งว่า ยิ้มได้แล้ว เด็กชื่ออะไรจ๊ะแม่เด็กทูลว่า ชื่อสุวรรณชาติรับสั่งว่า แหม ชื่อเพราะจริงๆ ฉันมีลูกชาย แต่ก็ยังเล็กๆอยู่ ไม่ช้าจะได้เห็นลูกฉัน ฉันจะพามาเยี่ยม
    
       ที่อำเภอโนนไทยนี้ ขณะที่ทั้งสองพระองค์ประทับอยู่บนพลับพลา หญิงจากบ้านคูด่าน อำเภอโนนไทย ชื่อนางปล้อง จาเกาะ อายุ ๒๗ ปี ตั้งครรภ์แก่แล้วก็ยังอุตส่าห์มาเฝ้า และเกิดเจ็บท้องกะทันหัน เพื่อนบ้านประคองจะพาไปสุขศาลาก็ไม่ทัน จึงคลอดบุตรออกมาที่หน้าพลับพลา ขณะที่พระเจ้าอยู่หัวและพระราชินีทรงปฏิสันถารอยู่กับราษฎร
    
       ออกจากอำเภอโนนไทยแล้ว ขบวนรถพระที่นั่งต้องเดินทางต่อไปยังบ้านหนองบัวโคก อำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งเส้นทางระหว่างนครราชสีมาไปชัยภูมิมีสภาพทรุดโทรมมาก นอกจากทำให้รถทั้งขบวนต้องตลบไปด้วยฝุ่นแล้ว ก่อนถึงสี่แยกหนองบัวโคก รถพระที่นั่งเกิดยางแตกเพราะถูกตะปูตำ ทั้งสองพระองค์ต้องเปลี่ยนไปประทับในรถพระที่นั่งสำรอง
    
       ขบวนรถพระที่นั่งมาถึงจังหวัดชัยภูมิเมื่อเวลา ๑๗.๐๐ น. มีราษฎรทั้งในตัวจังหวัดและมาจากอำเภอภูเขียว เกษตรสมบูรณ์ บ้านเขว้า คอนสวรรค์ เฝ้ารอรับเสด็จอยู่ที่หน้าศาลากลางจังหวัดไม่ต่ำกว่า ๕๐,๐๐๐ คน หนังสือพิมพ์ ไท รายวันฉบับวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๔๙๘ รายงานว่า หนึ่งในผู้ที่มาเฝ้า มีนางดวงคำ ธนศรีรังกูร ซึ่งเป็นแม่ยายของอัยการจังหวัด ได้กราบทูลพระเจ้าอยู่หัวด้วยสำเนียงพื้นเมืองว่า ข้าน้อยพูดภาษาอีสาน พระองค์ฟังรู้เรื่องบ่ทำให้ทรงพระสรวลและรับสั่งว่า พอรู้เรื่องจ้ะแล้วทรงมีพระราชดำรัสถามเด็กหญิงอุดมศิลป์ว่า หนูเรียนหนังสือชั้นไหน อยู่โรงเรียนอะไร อายุเท่าไหร่เมื่อเด็กทูลตอบก็ทรงชมว่า เรียนเก่งจริงเมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปถึงชายชราอายุ ๘๐ ปีคนหนึ่ง ทรงรับสั่งถามว่า ลุงอยู่ที่ไหน ชายชราพนมมือตอบด้วยเสียงสั่นว่า อยู่ที่ตำบลแจ้งคร้อครับทรงถามว่า ไกลไหมจ๊ะลุงชายชราทูลตอบว่า เดินทาง ๒ คืนทรงรับสั่งถามอีกว่า เดินทางมาด้วยพาหนะอะไรทูลตอบว่า ย่างมา ๒ วัน ๒ คืนทรงหันไปถามพระวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ประธานองคมนตรี เมื่อทรงทราบความหมายของคำว่า ย่างแล้ว จึงรับสั่งถามว่า ลุงแก่แล้วไม่เหนื่อยหรือชายชราทำตาลุกโพลง ยกมือขึ้นท่วมหัว ทูลตอบว่า เจ้าประคุณทูนหัว ไม่เหนื่อยหรอก อยากเห็นเจ้าประคุณ ขอหอมมือจักหน่อยจะได้บ่พระเจ้าอยู่หัวทรงยื่นพระหัตถ์ให้ชายชรา ซึ่งยกพระหัตถ์ขึ้นทูลเหนือหัว พร้อมกับก้มดมที่พระหัตถ์ แล้วกล่าวว่า จะตายก็ไม่ว่า เกิดมาชาตินี้สมปรารถนาแล้วทำให้พระเจ้าอยู่หัวทรงแย้มพระสรวล
    
       ส่วนสมเด็จพระราชินี ทรงทักทายกลุ่มผู้หญิง เด็ก และคนชรา ตอนหนึ่งทรงมีพระราชปฏิสันถารกับหญิงชราที่เอาผ้าปูพื้นให้ประทับรอยพระบาท ซึ่งทรงพระกรุณาตามความประสงค์ และตรัสถามว่า ไม่กลัวเปื้อนหรือยายหญิงชราก้มลงกราบแทบพระบาท ทั้งยังขอแตะพระบาท เมื่อทรงอนุญาตหญิงชราก็ใช้มือลูบขึ้นลูบลงพร้อมกับกล่าวว่า แหม เนื้อนิ่มเหลือเกิน สมกับเป็นพระราชินีแท้ๆ ยังสาวสวยอยู่นะเจ้าประคุณทูนหัว ขอให้เจริญๆยิ่งๆเถิด
    
       ที่จังหวัดขอนแก่น ทรงเสด็จฯลงเยี่ยมราษฎรที่สนามหน้าศาลากลาง เพื่อให้ประชาชนเข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิด ประชาชนต่างเบียดเสียดกัน จนทำให้เก้าอี้ที่ตั้งไว้ให้ประชาชนนั่งเฝ้ารับเสด็จ ได้ล้มลงเพราะแรงดันของฝูงชน ผู้นำเสด็จฯต่างต้องนั่งคุกเข่าลงเพื่อกันมิให้ประชาชนเข้ามาชิดถึงพระองค์ แถวรับเสด็จรวนเรอยู่พักหนึ่งก็กลับคืนสู่ความเรียบร้อย
    
       ในกลุ่มราษฎรที่เฝ้ารับเสด็จอยู่หน้าศาลากลางจังหวัดขอนแก่นนี้ มีราษฎรกลุ่มหนึ่งไม่ใช่คนอีสาน ปรากฏว่ามาจากจังหวัดนครปฐม จะทูลเกล้าฯถวายของตั้งแต่เสด็จนครปฐมแล้ว แต่ถวายไม่ได้ จึงต้องตามมา
    
       “ตั้งใจว่าก่อนตายจะต้องถวายให้ได้ นี่ก็มากันสิบกว่าคน ตอนนี้สบายใจแล้ว ได้ทูลเกล้าฯถวายสมปรารถนาหนึ่งในกลุ่มบอกนักข่าว
    
       เช้าตรู่วันที่ ๖ พฤศจิกายน ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปที่สนามหน้าโรงเรียนสนามบิน ซึ่งกองทัพอากาศจัดเฮลิคอปเตอร์ถวาย เพื่อเสด็จขึ้นยอดภูกระดึง นายทองหนัก สุวรรณสิงห์ อดีต ส.ส.เลย ได้เล่าว่า เดิมได้เตรียมช้างสำหรับพระองค์ละเชือก แต่สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ มีพระราชประสงค์ประทับช้างเชือกเดียวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขบวนเสด็จฯครั้งนี้มีทหารถือปืนเตรียมพร้อมเดินอยู่ข้างช้างฝ่ายละ ๑๐ คน ห่างประมาณ ๕ วา เสียงหญ้าแห้งเดินทำให้ช้างตื่น ตัวส่ายไปส่ายมา สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถทรงรับสั่งว่า ทำไมเขาจึงเดินซิกแซกแบบนี้นายทองหนักซึ่งทำหน้าที่ควาญช้างจึงได้หยุดชะงัก แล้วโบกมือให้ทหารที่อยู่ทั้งสองข้างออกไปห่างๆ ช้างจึงเดินเป็นปกติ... ทรงรับสั่งว่า อ๋อ เขากลัวมีพระกระแสรับสั่งกับนายทองหนักอีกว่า โซ่นี้ผูกขาเขาไว้ทำไม เดินลำบากนายทองหนักกราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าได้เตรียมพร้อมไว้เผื่อบางทีช้างอาจจะตื่นตกใจ วิ่งไปก็เกิดอันตรายได้ ถ้าช้างตื่นตกใจทำท่าจะวิ่ง จะได้ทิ้งโซ่นี้ให้ควาญช้างผูกกับต้นไม้ วิ่งไปไม่ได้ทรงมีรับสั่งว่า อ๋อ รอบคอบดีนะ
    
       ส่วน พ่อเบี่ยงนายยัน ศิริกันรัตน์ ควาญช้างอีกเชือกหนึ่งที่นำเสด็จทอดพระเนตรธรรมชาติบนภูกระดึง เล่าว่า คราวหนึ่งสมเด็จพระราชินีทรงเหยียดพระบาทมาถูกศีรษะ ทรงรับสั่งว่า เท้าฉันถูกตาใช่ไหม ขอโทษนะพ่อเบี่ยงกราบทูลว่า ไม่เป็นไรครับและมาเล่าภายหลังว่า ดีใจมากที่ได้ถวายการรับใช้ในการเสด็จครั้งนี้ พระบาทถูกหัวก็ถือว่าเป็นมงคล
    
       “บ่ไข้บ่ป่วย เพราะท่านได้เหยียบหัวพ่อเบี่ยงว่า
    
       ในตอนบ่าย เฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งมาลงที่สนามหญ้าหน้าโรงเรียนบ้านสีฐาน อำเภอวังสะพุง มีราษฎรมารอฝ้าและถวายของป่าแปลกๆ เช่น นกเขา ไก่ฟ้า กระจง กล้วยไม้ เป็นต้น สมเด็จพระราชินีได้ทรงไต่ถามถึงการเดินทางมารับเสด็จของชาวบ้าน ก็ทรงได้รับคำตอบว่า มาแต่หลังภูโน้น เดินมาแต่ ๒-๓ วันก่อน อยากเห็นให้เต็มตา วันนี้มารอแต่เช้าบางคนก็ตอบเป็นภาษาท้องถิ่นว่า ฮ้อนปานใดก็ฮีดได้ ขอเห็นเจ้าอยู่หัวคักๆเถอะ
    
       ระหว่างทางที่เข้าจังหวัดเลยนี้ รถพระที่นั่งมาจากทางทิศเหนือ และจะต้องเลี้ยวซ้าย แต่ตำรวจจราจรที่รักษาการณ์ตรงทางแยก ซึ่งยืนอยู่ข้างซ้ายของถนน เกิดผิดคำสั่งที่ไม่ต้องทำความเคารพ และลีลามากไปหน่อย ได้ยื่นแขนตรงไปข้างหน้าก่อนจะยกขึ้นแตะหมวก ถวายความเคารพอย่างเข้มแข็ง คนขับรถเลยนึกว่าให้สัญญาณเลี้ยวไปทางขวา จึงเลี้ยวไปตามมือตำรวจ ทำให้เสียเวลาเป็นชั่วโมงกว่าขบวนรถพระที่นั่งจะกลับรถเมื่อรู้ว่าผิดเส้นทาง
    
       เมื่อขบวนรถพระที่นั่งมาถึงจังหวัดเลย เป็นเวลา ๑๙.๐๐ น.เศษแล้ว เลยเวลาตามหมายกำหนดการไปมาก อากาศมืดมัว แต่ปรากฏว่าสองข้างถนนไปสู่ศาลากลาง ประชาชนได้ตั้งโต๊ะบูชาเรียงรายไว้เป็นแถว ต่างจุดธูปเทียน ทำให้แสงเทียนแวววาวอยู่ในความมืดทั้งสองฟากถนน เป็นภาพที่งดงาม ประชาชนต่างนั่งพนมมือขณะที่รถพระที่นั่งผ่าน
    
       ในวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๔๙๘ ที่ทรงสร้างประวัติศาสตร์ว่าเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่เสด็จไปสักการะพระธาตุพนม ในวันนั้นยังเกิดภาพประทับใจ ที่คนไทยคุ้นตาเป็นอย่างดี และถือได้ว่าเป็นภาพประวัติศาสตร์ แสดงถึงความอ่อนโยนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงน้อมพระองค์ลงสู่ราษฎร อันเป็นข้อหนึ่งในทศพิธราชธรรมสำหรับพระมหากษัตริย์
    
       เหตุการณ์เกิดขึ้นหลังจากทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ณ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหารแล้ว ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จกลับที่ประทับแรม มีราษฎรมารอเฝ้ารับเสด็จอยู่ตามรายทางเป็นระยะ ซึ่งทั้งสองพระองค์ก็ทรงหยุดรถพระที่นั่ง เสด็จลงไปทักทายปฏิสันถารกับราษฎรเหล่านั้น
    
       ที่สามแยกชยางกูร-เรณูนคร มีราษฎรอุ้มลูกจูงหลานมารอเฝ้าอยู่กลุ่มใหญ่ ลูกหลานได้พา แม่เฒ่าตุ้ม จันทนิตย์ วัย ๑๐๒ ปี มาเฝ้า ณ จุดนั้นด้วย ซึ่งห่างจากบ้าน ๗๐๐ เมตร และหาได้ดอกบัวสายสีชมพูให้แม่เฒ่ามา ๓ ดอก พาไปนั่งแถวหน้าสุดเพื่อให้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท
    
       ตั้งแต่เช้าจนบ่าย แม้ความร้อนจากแสงแดดจะทำให้ดอกบัวในมือของแม่เฒ่าเหี่ยว แต่ก็ไม่อาจจะแผดเผาให้หัวใจแม่เฒ่าวัย ๑๐๒ ปีเหี่ยวเฉาไปได้ จะขอเฝ้าล้นเกล้าฯทั้งสองพระองค์สักครั้งในชีวิต เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จมาถึงตรงหน้า แม่เฒ่ายกดอกบัวสายที่เหี่ยวทั้ง ๓ ดอกขึ้นเหนือหัว แสดงความจงรักภักดีอย่างสุดซึ้ง พระเจ้าอยู่หัวทรงหยุดพระราชดำเนินที่แม่เฒ่า และโน้มพระองค์ลงจนพระพักตร์แทบแนบชิดศีรษะแม่เฒ่า แย้มพระสรวลด้วยความเมตตา พระหัตถ์แตะมือกร้านของแม่เฒ่าด้วยความอ่อนโยน
    
       อาณัติ บุนนาค หัวหน้าส่วนช่างภาพประจำพระองค์ กดชัตเตอร์บันทึกภาพนี้ไว้ในประวัติศาสตร์
    
       ไม่ว่าพระเจ้าอยู่หัวจะมีรับสั่งกับแม่เฒ่าอย่างไร ภาพนี้ก็ไม่ต้องการคำอธิบายใดๆทั้งสิ้น และบอกถึงความสัมพันธ์ของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้กับราษฎรของพระองค์ ได้มากกว่าคำอธิบายเป็นล้านคำ
    
       หลานและเหลนของแม่เฒ่าเล่าว่า หลังจากเสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพฯแล้ว สำนักพระราชวังได้ส่งภาพนี้ พร้อมด้วยพระบรมรูปหล่อด้วยปูนพลาสเตอร์ พระราชทานผ่านมาทางอำเภอพระธาตุพนม ให้แม่เฒ่าตุ้มไว้เป็นที่ระลึก
    
       ที่จังหวัดมหาสารคามมีผู้มาคอยเฝ้ารับเสด็จหลายหมื่นคน จำนวนมากเดินทางมาจากอำเภอชั้นนอก และมาล่วงหน้า ๒-๓ วันแล้ว บริเวณตลาดและในเมืองจึงมีคนนอนกันอยู่ข้างถนนเกลื่อนไปหมด ตื่นเช้าก็หุงหาอาหารกันข้างถนนนั้น
    
       เช้าวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ขบวนรถยนต์พระที่นั่งเคลื่อนออกจากที่ประทับแรมจังหวัดร้อยเอ็ด ท่ามกลางเสียงไชโยถวายพระพรของผู้ส่งเสด็จฯจนรถพระที่นั่งลับตา และได้หยุดเป็นระยะเพื่อปฏิสันถารกับราษฎรที่มารอเฝ้า ที่หน้าบ้านหลังหนึ่งห่างจากอำเภอธวัชบุรีประมาณ ๓๐๐ เส้น ชายคนหนึ่งมารอถวายของ โปรดให้หยุดรถพระที่นั่งไต่ถามทุกข์สุขและอาชีพ ชายผู้นั้นกราบทูลว่า เมื่อวานไปเฝ้าที่ร้อยเอ็ด เมื่อคืนเดินจากร้อยเอ็ดราวๆ ๓๐๐ เส้นมาเฝ้าที่นี่อีกรับสั่งถามว่า เมื่อวานเห็นไหมทูลตอบว่า เห็นแล้วครับ แต่อยากเห็นอีก เห็นนายหลวงหลายครั้ง แต่ยังไม่อิ่มทรงตรัสว่า ขอบใจมาก ขอให้ตั้งใจทำมาหากินนะ
    
       ที่อำเภอม่วงสามสิบ ซึ่งเป็นอำเภอเล็กๆ มีผู้มาเฝ้าราว ๒,๐๐๐ คน แต่ทุกบ้านเรือนก็ตั้งโต๊ะบูชาและจุดธูปเทียนไว้สว่างไสว รถยนต์พระที่นั่งหยุดที่ว่าการอำเภอ ทรงปฏิสันถารกับราษฎรที่มาเฝ้า หญิงชราคนหนึ่งฉวยพระหัตถ์สมเด็จพระราชินีไปกุมไว้ สมเด็จฯได้รับสั่งถึงพระเจ้าอยู่หัวว่า สบายใจที่ได้มาพบกับราษฎร แม้จะทรงเหน็ดเหนื่อยมากที่ต้องตากแดดจนพระองค์ดำไปหมด และรถยนต์กระแทก แต่ก็ทรงดีใจที่เห็นราษฎรมากันมากหญิงชราทูลถามว่า มีบุตรกี่คนแล้วทรงชู ๓ นิ้วขึ้นแล้วรับสั่งว่า มีสามคน แต่คนเล็กยังเล็กมาก พามาด้วยไม่ได้แล้วเสด็จพระราชดำเนินต่อไป
    
       ที่อุบลราชธานี ชาวอุบลฯต่างถือดอกบัวกันมาทุกคน เมื่อเสร็จพิธีแล้วทรงปฏิสันถารกับราษฎรที่มาเฝ้า ซึ่งมีทั้งอินเดีย ฝรั่ง จีน ญวน และลาว ซึ่งจ้าวจันทรสมุทร ณ จำปาศักดิ์ ชายาจ้าวราชดนัย ณ จำปาศักดิ์ ผู้ครองนครจำปาศักดิ์ ได้นำพระญาติข้ามมาร่วมพิธีด้วยหลายองค์ ในระหว่างที่ทรงเสด็จฯเยี่ยมราษฎรนี้ ได้พระราชทานพระหัตถ์ให้หญิงชราผู้หนึ่งจับ หญิงชราผู้นั้นได้แต่กุมข้อพระหัตถ์ไว้ด้วยความตื้นตันใจ จนมิอาจกล่าวคำใดๆออกมาได้ มีแต่น้ำตาไหลพราก เป็นภาพที่ผู้พบเห็นต่างตื้นตันใจไปตามกัน
    
       เช้าวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน เสด็จออกจากจังหวัดอุบลราชธานี ไปจังหวัดศรีสะเกษและสุรินทร์ ปรากฏว่าเมื่อทั้งสองพระองค์เสด็จขึ้นประทับรถไฟพระที่นั่งเรียบร้อยแล้ว ขบวนรถไฟก็ยังไม่สามารถเคลื่อนออกไปได้ เพราะข้าราชบริพารที่ตามเสด็จไม่อาจฝ่าฝูงชนที่มาส่งเสด็จกันอย่างมืดฟ้ามัวดินมาได้ทัน ต้องเสียเวลาคอยอยู่ครู่หนึ่ง
    
       พระยารามราชภักดี ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้เปิดเผยเกี่ยวกับการเสด็จเยี่ยมราษฎรภาคอีสานกับผู้สื่อข่าวเมื่อเช้าวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๔๙๘ ว่า แม้ทั้งสองพระองค์จะทรงตรากตรำและเหน็ดเหนื่อยในการเยี่ยมราษฎร ทรงเสวยพระกระยาหารผิดเวลา แต่ก็ทรงมีพระพลานามัยแข็งแรง และยังเผยต่อไปว่า
       “นายกฯลาวและเขมรที่ข้ามมาเฝ้าถึงกับถามผมว่า นี่จัดการกันยังไง ราษฎรถึงมากันมากมายเช่นนี้ ผมจึงตอบว่า ไม่ได้จัดหรอก เขามากันเอง นายกฯลาวบอกว่า ต่อไปจะเอาเป็นตัวอย่างทำบ้าง
    
       หลังจากเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในภาคอีสาน และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงผนวชในปี ๒๔๙๙ แล้ว ในวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๑ ทั้งสองพระองค์ก็เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในจังหวัดภาคเหนือเป็นภาคต่อไป เสด็จออกจากกรุงเทพฯโดยขบวนรถไฟพระที่นั่ง ณ สถานีจิตรลดา ในเวลา ๐๖.๔๕ น. เมื่อขบวนรถไฟพระที่นั่งเคลื่อนออกจากสถานี ทั้งสองพระองค์ทรงโบกพระหัตถ์ให้ผู้ส่งเสด็จและพสกนิกรที่คอยเฝ้าอยู่ริมทางรถไฟ ทั้งไม่ทรงลืมที่จะโบกพระหัตถ์ให้พระเจ้าลูกเธอองค์น้อยทั้ง ๓ พระองค์ ที่พระพี่เลี้ยงนำมาส่งเสด็จ โบกพระหัตถ์หยอยๆอยู่ภายในรั้วพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ตรงข้ามคูน้ำกับสถานีรถไฟ
    
       สำหรับพิษณุโลกจังหวัดแรกของภาคเหนือนี้ทรงประทับแรม ๒ ราตรี หลังจากเสด็จไปนมัสการพระพุทธชินราช และมีพระราชดำรัสกับชาวพิษณุโลกที่หน้าศาลากลางจังหวัดแล้ว ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จลงเยี่ยมราษฎรที่มาเฝ้ากันอย่างแน่นขนัด ระหว่างที่พระราชดำเนินผ่านแถวประชาชนที่นั่งเฝ้านั้น ต่างพากันปูผ้าเช็ดหน้าเพื่อให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถย่ำพระบาทลง เพื่อจะเก็บรอยพระบาทนี้ไว้สักการบูชา พร้อมกับก้มกราบแสดงความจงรักภักดี
    
       ที่ศาลากลางจังหวัดนี้มีผู้นำของมาถวายเป็นจำนวนมาก ในจำนวนนี้มีงาช้างคู่งามของนายปรุง พหุชนม์ ผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งวายชนม์ก่อนวันเสด็จมาถึงเพียง ๓ วัน มอบไว้กับภรรยาก่อนตาย พร้อมสั่งความให้นาวาอากาศโททินกร พันธ์กระวี ผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก เป็นผู้นำขึ้นทูลเกล้าฯถวาย
    
       ตามหมายกำหนดการเดิม จะเสด็จโรงพยาบาลพุทธชินราชในวันรุ่งขึ้นที่เสด็จมาถึงพิษณุโลก ทางโรงพยาบาลจึงจัดการทาสีตึกใหม่และสร้างซุ้มรับเสด็จ แต่แล้วทางจังหวัดได้แจ้งขอตัดรายการนี้ออกเพราะมีเวลาจำกัด ทางโรงพยาบาลจึงรื้อซุ้มรับเสด็จในวันนั้น แต่พระเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จะเสด็จเยี่ยมโรงพยาบาลพุทธชินราช จึงต้องจัดให้เสด็จไปตามหมายกำหนดการเดิม
    
       หนังสือพิมพ์ ไท รายวันรายงานว่า ได้เสด็จขึ้นตึกอานันทมหิดล ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาอานันทมหิดลได้พระราชทานพระราชทรัพย์สร้างขึ้น และสมเด็จพระบรมราชินีนาถซึ่งดำรงตำแหน่งองค์นายกสภากาดชาด ได้พระราชทานเงินของสภากาชาดจำนวน ๑๑๕,๕๑๕.๙๑ บาท เพื่อบรรเทาทุกข์คนอนาถาที่เจ็บป่วยในโรงพยาบาลแห่งนี้มาแล้ว
    
       ต่อจากนั้นได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังอำเภอวังทอง มีราษฎรเรือนหมื่นมานั่งกรำแดดรอเฝ้าเป็นเวลาหลายชั่วโมง หญิงชราหลายคนได้ถือช่อดอกไม้มารอถวายสมเด็จพระบรมราชินี หญิงชราคนหนึ่งเมื่อถวายช่อดอกไม้แด่สมเด็จฯแล้ว ได้ก้มกราบทูลอวยพรว่า ขอให้มีอายุมั่นขวัญยืนเถิดจากนั้นก็ร้องขึ้นดังๆว่า เจ้าประคู้น ทำบุญอะไรมาแต่ไหนหนอ ถึงได้สวยอย่างนี้ทำให้ผู้ได้ยินได้ฟังหัวเราะกันครืนใหญ่ สมเด็จพระบรมราชินีก็ทรงพระสรวลด้วย รับสั่งกับหญิงชราว่า ขอบคุณจ้ะป้า
    
       เช้าวันที่ ๔ มีนาคม เวลา ๐๘.๐๐ น. เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งไปเชียงใหม่ ซึ่งในสมัยนั้นยังต้องใช้เส้นทางไต่เทือกเขาที่สูงชันไปทางอำเภอเถินและลี้ เมื่อรถพระที่นั่งผ่านซุ้มอำเภอเมืองเชียงใหม่ ที่บริเวณหนองหอย มีพระภิกษุสวดชัยมงคลคาถา และนายอำเภอเมือง ได้จัดช่างฟ้อนร่วมร้อยคน มีทั้งหญิงสาวและคนชราอายุ ๖๐-๗๐ ปี ซึ่งเป็นช่างฟ้อนเก่ามาฟ้อนถวายพระพร ดูเป็นที่แปลกตาน่าปลื้ม
    
       การฟ้อนของสตรีสูงอายุนี้ อ่อนช้อย งดงาม และน่าทึ่งจนได้รับคำชมเป็นอันมาก
    
       หนังสือพิมพ์รายวันในยุคนั้นทุกฉบับรายงานตรงกันว่า ตั้งแต่ซุ้มประตูเขตติดต่อของลำพูนกับเชียงใหม่เป็นต้นมา จนถึงศาลาเทศบาลนครเชียงใหม่ที่ล้นเกล้าฯสองพระองค์เสด็จผ่าน สองข้างทางแออัดไปด้วยฝูงชนจนแทบไม่มีทางเดิน แน่นยิ่งกว่าตอนงานสงกรานต์หลายเท่า เมื่อรถพระที่นั่งผ่าน ต่างก็ส่งเสียงถวายพระพรอย่างกึกก้อง และโบกสะบัดธงชาติพลิ้วอยู่ตลอดทาง ผู้เฒ่าผู้แก่อายุร่วมร้อยปักหลักด้านหน้าตั้งแต่บ่าย แม้แดดจะร้อนเหงื่อไหลไคลย้อย ก็มีความอดทนกันอย่างประหลาด
    
       เมื่อเสร็จพิธีที่เจ้านายฝ่ายเหนือจัดทูลพระขวัญ และทรงมีกระแสพระราชดำรัสต่อผู้มาเฝ้าแล้ว ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จฯลงจากพลับพลาให้ราษฎรเข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิด หนังสือพิมพ์ สารเสรีได้รายงานว่า ขณะที่เสด็จพระราชดำเนินอยู่ท่ามกลางราษฎรนั้น มีเสียงจากครูและนักเรียนกลุ่มหนึ่งว่า สมเด็จเพคะ ทางนี้เพคะเมื่อสมเด็จพระราชินีหันไปรับของถวายจากครูและนักเรียนกลุ่มนี้แล้ว มีเสียงเยิรยอพระศิริโฉมอีกว่า สมเด็จเพคะ สมเด็จงามเหลือเกินซึ่งสมเด็จพระบรมราชินีทรงยิ้ม จากนั้นก็มีเสียงทูลขึ้นว่า สมเด็จเพคะ ขอจูบมือหน่อยค่ะเมื่อสมเด็จพระราชินีทรงยื่นพระหัตถ์ให้ ครูและนักเรียนสตรีเหล่านั้นก็แย่งกันชุลมุน หลายคนได้จูบพระหัตถ์ด้วยความปลาบปลื้มและตื่นเต้น
    
       ในเช้าวันที่ ๖ มีนาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฉลองพระองค์ในชุดจอมทัพบก สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถฉลองพระองค์ชุดสีดำรัดรูป คาดชายเสื้อด้วยแถบสีแดง ซึ่งชาวเชียงใหม่เรียกกันว่า ชุดชาวเขาได้เสด็จพระราชดำเนินไปที่ว่าการอำเภอหางดงและสันป่าตอง หนังสือพิมพ์ สารเสรีรายงานว่า มีราษฎรได้คอยเฝ้าอยู่สองข้างทางเป็นระยะ ที่หน้าว่าการอำเภอสันป่าตองก็มีนับหมื่น ขณะที่ทรงเยี่ยมราษฎรและรับของถวายที่หน้าอำเภอสันป่าตองนั้น หญิงสาวสวยสามคนได้ถวายของแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แล้วทูลขอจูบพระหัตถ์ ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงยื่นให้ตามประสงค์ ทันทีที่คว้าพระหัตถ์ได้ หญิงสาวทั้งสามก็ชิงกันจูบพระหัตถ์ต่อพระพักตร์สมเด็จพระราชินี ซึ่งประทับยืนแย้มพระสรวลอยู่ใกล้ๆ
    
       หญิงชราผู้หนึ่ง หลังจากถวายของแด่สมเด็จพระราชินีแล้ว ได้เอ่ยขึ้นดังๆว่า ช่างงามแต้เน้อสมเด็จพระราชินีทรงพระสรวลและรับสั่งว่า ฉันลูกสามแล้วนะจ้ะป้าทำให้คนที่ได้ฟังต่างหัวเราะกันอย่างมีความสุข
    
       หญิงชราอีกคนหนึ่งได้ถวายพระพรขึ้นว่า ขอให้บุญรักษา อายุมั่นขวัญยืนครองราชย์ ๑๐๐ ปี อันตรายอย่าได้มากลายใกล้เลย
    
       เสด็จต่อมา หญิงชราอีกคนหนึ่งทูลถามว่ามีลูกกี่คนแล้ว ซึ่งสมเด็จฯก็ทรงตอบว่ามี ๓ คน แล้วทรงรับสั่งถามกลับว่า แล้วยายล่ะจ๊ะ มีกี่คนแล้วซึ่งยังความปลาบปลื้มประทับใจแก่ผู้เฝ้ารับเสด็จไปตามกัน
    
       ในวันที่ ๘ มีนาคม ตามหมายกำหนดการเป็นวันพักผ่อนพระราชอิริยาบถตามพระราชอัธยาศัย แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จไปเยี่ยมโรงเรียนปรินซรอแยลล์ โรงเรียนดาราวิทยาลัย และเยี่ยมโรงพยาบาลแมคคอมิค ซึ่งสมเด็จพระราชบิดาเคยมาทรงงานอยู่ที่นี่ระยะหนึ่ง นายแพทย์บุญชอบ อารีวงศ์ ผู้อำนวยการ ได้นำเสด็จทอดพระเนตรกิจการของโรงพยาบาลทุกแผนก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งกับผู้อำนวยการว่า ถ้าเสด็จพ่อยังมีชีวิตอยู่ ก็คงจะได้อยู่ด้วยกันและได้พระราชทานเงินบำรุงโรงพยาบาล ๑๐,๐๐๐ บาท
    
       คืนวันที่ ๘ ซึ่งประทับที่เชียงใหม่เป็นคืนสุดท้าย คณะหนังสือพิมพ์คนเมืองเชียงใหม่ ได้จัดดนตรีพื้นเมือง ฟ้อนดาบ และขับร้องเพลงเพลงซอเฉลิมพระเกียรติถวาย ส่วนอีกรายการ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ สยามรัฐซึ่งขณะนั้นอายุ ๔๗ ปี เป็นหัวหน้านำคณะช่างฟ้อนคนแก่อีก ๗ คน มีอายุ ๖๒ ถึง ๗๖ ปี ฟ้อนถวาย
    
       เช้าวันที่ ๙ มีนาคม ล้นเกล้าฯทั้งสองพระองค์ได้เสด็จไปอำเภอแม่ริมและเยี่ยมค่าย ตชด. ดารารัศมีแล้วเสด็จไปทอดพระเนตรกิจการชลประทานแม่แฝกที่อำเภอแม่แตง เสด็จข้ามฝั่งไปยังที่ทำการหัวงานชลประทานแม่แฝกในเขตอำเภอสันทราย ประชาชนมารอเฝ้าตั้งแต่ตี ๔ หญิงชราอายุ ๗๐ ปีผู้หนึ่งขอผูกข้อพระกรสู่ขวัญ แล้วยกพระหัตถ์สมเด็จพระราชินีขึ้นลูบหัวพร้อมกับน้ำตาไหลพรากด้วยความยินดี สมเด็จฯรับสั่งถามว่า สบายดีเจ๊าแล้วทรงพระสรวล รับสั่งถามอีกว่า ฉันอู้คำเมืองถูกไม๊ทำให้ผู้ตามเสด็จและราษฎรที่อยู่รอบพระองค์ หัวเราะกันอย่างมีความสุขและประทับใจในพระอัธยาศัย
    
       จากอำเภอฝาง เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งไปจังหวัดเชียงราย เส้นทางเสด็จจากอำเภอฝางไปอำเภอแม่สรวยเป็นเส้นทางทุรกันดาร ผ่านเทือกเขาสูงและหุบเหวมากมาย แต่ก็เป็นภูมิประเทศที่สวยงาม ทรงแวะลงถ่ายรูปไว้หลายครั้ง
    
       ในวันที่ ๑๕ มีนาคม มีหมายกำหนดการจะเสด็จถ้ำผาไทย อำเภองาว แต่เนื่องจากมีเวลาจำกัด จึงโปรดเกล้าฯให้งดเสด็จถ้ำผาไทย เพื่อให้ราษฎรที่รอรับเสด็จอยู่หน้าที่ว่าการอำเภองาว มีโอกาสเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทได้ทั่วถึง ก่อนเสด็จไปประทับแรมที่จังหวัดแพร่ ๒ ราตรี จากนั้นเสด็จไปสถานีรถไฟเด่นชัย ประทับรถไฟพระที่นั่งไปเยี่ยมอุตรดิตถ์เป็นจังหวัดสุดท้าย ขบวนรถไฟพระที่นั่งจึงออกจากสถานีรถไฟอุตรดิตถ์ในเวลา ๒๑.๐๐ น. ถึงสถานีจิตรลดา ในเวลา ๐๘.๐๐ น.ของวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๐๑
    
       หลังจากเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรภาคกลาง ภาคอีสาน และภาคเหนือแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในภาคใต้ในวันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๐๒ เป็นเวลาประมาณ ๒๐ วัน โดยเสด็จออกจากพระนครด้วยขบวนรถไฟพิเศษ จากสถานีจิตรลดาในเวลา ๖.๔๕ น. ของวันที่ ๖ มีนาคม ประทับที่ชุมพร ๑ คืน ต่อจากนั้นเสด็จโดยรถยนต์พระที่นั่งตลอด ไปยังจังหวัดระนอง ภูเก็ต พังงา กระบี่ นครศรีธรรมราช ตรัง สงขลา พัทลุง สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส จากนราธิวาสเสด็จโดยรถไฟไปประทับที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นจังหวัดสุดท้าย
    
       เนื่องจากช่วงเวลาเสด็จพระราชดำเนินในครั้งนี้ เป็นระยะเวลาที่มีอหิวาตกโรคระบาดประจำในทุกปี หลวงพิณพากย์พิทยาเภท ปลัดกระทรวงสาธารณสุข จึงให้จัดรถพยาบาลพิเศษ พร้อมด้วยแพทย์พยาบาลและเวชภัณฑ์ ติดตามขบวนเสด็จไปทุกจังหวัด เพื่อช่วยเหลือประชาชนได้ทันท่วงทีหากมีอหิวาต์ระบาดขึ้น ทั้งยังกำชับอนามัยทุกแห่งที่อยู่ในเส้นทางเสด็จ ให้จัดเตรียมน้ำรับประทานและสร้างส้วมให้เพียงพอแก่ประชาชนที่มาเฝ้าชมพระบารมี นอกจากนี้ยังให้เร่งทำการฉีดวัคซีนให้ประชาชนโดยทั่วถึง และควบคุมในเรื่องอาหารเครื่องดื่มต่างๆให้ถูกสุขลักษณะ ป้องกันมิให้อหิวาต์ระบาดขึ้นได้ในระหว่างเสด็จพระราชดำเนิน
    
       เช้าวันที่ ๖ มีนาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง จากพระตำหนักจิตรลดารโหฐานไปยังสถานีจิตรลดา นอกจากจะมีพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการมาส่งเสด็จเป็นจำนวนมากแล้ว พระเจ้าลูกเธอและพระเจ้าลูกยาเธอทั้ง ๓ พระองค์ ได้ไปส่งเสด็จที่สถานีรถไฟด้วย ไม่ได้แค่โบกพระหัตถ์ส่งในรั้วพระตำหนักเหมือนครั้งเสด็จภาคเหนือ
    
       ขบวนรถไฟพระที่นั่งเข้าเทียบชานชาลาสถานีรถไฟชุมพร อันเป็นจังหวัดแรกของภาคใต้ เมื่อเวลา ๑๗.๔๐ น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประชาชนที่มาแน่นขนัดอยู่ในเมืองชุมพรนั้น จำนวนมากมาจากต่างอำเภอ เดินขวักไขว่แน่นไปทุกถนนยังกับย่านเยาวราช ทำให้ร้านอาหารทุกร้านไม่ว่างทั้งวัน ต้องเข้าคิวรอกัน แม้แต่ ๒๑ น.แล้ว ประชาชนก็ยังขวักไขว่อยู่ตามถนนต่างๆเหมือนมีงาน ตกดึกก็นอนกันอยู่ข้างถนน รอเฝ้าวันรุ่งขึ้น บางคนก็นอนที่หน้าศาลากลางจังหวัด ยึดที่ไว้เฝ้าในตอนเช้า
    
       ในคืนวันนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดฉายภาพยนตร์ส่วนพระองค์ชุดเสด็จเยี่ยมราษฎรภาคเหนือ ให้ประชาชนชมที่โรงเรียนประจำจังหวัดชุมพร ชุมพรศรียาภัยและโปรดให้แพทย์ส่วนพระองค์ฉีดวัคซีนป้องกันอหิวาต์แก่ประชาชน ด้วยปืนฉีดยาแบบใหม่ที่เรียกว่า ไฮโปสเปรย์มีประชาชนสนใจมารับการฉีดวัคซีนแบบใหม่กันมาก
    
       รุ่งขึ้น หลังจากมีพระราชดำรัสกับราษฎรที่มาเฝ้าอย่างมืดฟ้ามัวดินแล้ว ได้เสด็จลงเยี่ยมราษฎรที่หน้าศาลากลางจังหวัด ทรงไต่ถามทุกข์สุข และทราบหรือไม่ว่าอหิวาต์เป็นอย่างไร ได้ฉีดวัคซีนกันแล้วหรือยัง ถ้ายังไม่ฉีดให้รีบฉีดเสีย ราษฎรต่างนำสิ่งของมาถวายเป็นที่ระลึกกันมาก
    
       ในวันที่ ๘ มีนาคม เวลา ๐๗.๐๐ น.เสด็จพระราชดำเนินออกจากจังหวัดระนองไปพังงา ทั้งสองพระองค์ทรงพอพระทัยในทิวทัศน์อันสวยงามตามเส้นทางระหว่างระนองกับกะเปอร์เป็นอย่างมาก ขบวนเสด็จถึงตะกั่วป่าเมื่อเวลา ๑๒.๐๐ ในจำนวนราษฎรที่มาเฝ้าหน้าที่ว่าการอำเภอตะกั่วป่านั้น มีนายท้วม พิมล อายุ ๙๙ ปี และนางยัง ภรรยาอายุ ๘๙ ปีมาเฝ้าด้วย นายท้วมอยู่ระหว่างป่วยกระเสาะกระแสะ ต้องอุ้มลุกนั่ง แต่พอได้ข่าวเสด็จ อาการป่วยก็หายทันที ให้ลูกหลานพามาเฝ้า บอกนักข่าวว่าเคยเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าหลวงมาแล้ว จะต้องขอเฝ้าพระนัดดารัชกาลที่ ๕ ให้ได้ พระเจ้าอยู่หัวได้รับสั่งกับบุตรสาวนายท้วมว่า เลี้ยงดูแกให้ดีนะ จะได้มีอายุยืนๆ และหวังว่าครอบครัวนี้จะมีอายุยืนๆทั้งนั้นนายท้วมกับนางยังและลูกหลานถึงกับปลาบปลื้มในพระมหากรุณาธิคุณจนน้ำตาไหล
    
       ส่วนผู้มาเฝ้าอีกราย นางสาวอุไร เตตระกูล บอกกับผู้สื่อข่าวว่า มารดาได้นำพระบรมฉายาลักษณ์ของพระเจ้าอยู่หัวทรงอุ้มเจ้าฟ้าชาย ซึ่งซื้อไว้ มาทูลเกล้าฯให้สมเด็จพระราชินีทอดพระเนตรด้วย สมเด็จฯทรงรับสั่งว่า เดี๋ยวนี้ ๖ ขวบแล้ว
    
       ในสมัยนั้นยังไม่มีสะพานสารสิน เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปถึงท่านุ่น รถยนต์พระที่นั่งต้องลงแพขนานยนต์ ข้ามช่องปากพระจากท่านุ่นของพังงา ไปท่าฉัตรไชยของภูเก็ต มีประชาชนรอเฝ้าอยู่แน่นขนัด ต่างเปล่งเสียงถวายพระพรดังกึกก้องเมื่อเสด็จข้ามไปถึง ชาวภูเก็ตรับเสด็จกันอย่างมโหฬารที่สุด แถวประชาชนเรียงรายตั้งแต่ชานเมืองไปจนถึงจวนผู้ว่าราชการจังหวัด นอกจากพสกนิกรชาวไทยแล้ว ชาวต่างชาติในภูเก็ต ทั้งจีน อินเดีย มลายู ฝรั่งทุกชาติทุกภาษา ต่างตั้งซุ้มในแบบของตนเรียงรายไปไม่ต่ำกว่า ๒๐ ซุ้ม ต่างกระตือรือร้นในการรับเสด็จ ตกแต่งบ้านเรือนรวมทั้งเครื่องแต่งกายสวยงามเป็นพิเศษ ก่อนวันเสด็จราว ๑๐ วัน ร้านตัดเสื้อชายหญิงในภูเก็ตต่างปิดรับงาน เพราะงานที่รับไว้ล้นมือจนต้องทำกันทั้งกลางวันกลางคืน และยังมีคนต่างอำเภอรวมทั้งจังหวัดใกล้เคียงมาร่วมรับเสด็จด้วยเป็นจำนวนมาก ทำให้ในเย็นและค่ำวันเสด็จมาถึงนั้น การจราจรในภูเก็ตหลายสายต้องติดขัด
    
       เช้าวันที่ ๙ มีนาคม สนามหน้าศาลากลางจังหวัดคับคั่งไปด้วยผู้คนตั้งแต่เช้าตรู่ บางรายมาจองที่ตั้งแต่ตี ๔ ในเวลา ๐๘.๐๐ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนา เสด็จขึ้นประทับบนศาลากลางจังหวัด นายอ้วน สุรกุล ผู้ว่าราชการจังหวัด กราบบังคมทูลในนามราษฎรว่า ชาวภูเก็ตรู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณในการเสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมเป็นอันมาก เพราะได้เฝ้าคอยวันคอยคืนมานานแล้ว
    
       พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสตอบขอบใจชาวภูเก็ตในการต้อนรับ และรับสั่งว่าทรงพอพระราชหฤทัยในภูมิประเทศอันสวยงามของภูเก็ตมาก เราก็รอคอยมานานแล้วเหมือนกันที่จะมาเยี่ยมเมืองนี้ และอยากจะมาเที่ยวอีก
       ในคืนนั้น หลังจากเสร็จงานตามหมายกำหนดการแล้ว ได้เสด็จเป็นการส่วนพระองค์ไปทอดพระเนตรในเมืองภูเก็ต
    
       ในคืนวันที่ ๙ ฝนซึ่งไม่เคยตกในภูเก็ตมา ๓-๔ เดือนแล้ว ได้เกิดตกมาอย่างหนักเป็นเวลาถึง ๔๕ นาที ชาวภูเก็ตถือกันว่าเป็นอภินิหาร แต่ทำให้สมเด็จพระราชินีมีพระอาการประชวรเป็นหวัดเล็กน้อย
    
       ในวันที่ ๑๐ ซึ่งตามหมายกำหนดการเป็นการพักผ่อนพระราชอิริยาบถตามพระราชอัธยาศัย พระเจ้าอยู่หัวจึงเสด็จเป็นการส่วนพระองค์ มีเพียงราชองค์รักษ์ติดตาม และไม่มีเจ้าหน้าที่อารักขารายใดทราบเลย ทรงถ่ายรูปซุ้มรับเสด็จต่างๆที่สร้างกันอย่างสวยงาม และเสด็จไปท่าเรือใหม่ที่ตำบลบางรั่ว อ่าวมะขาม และหาดราไวย์ ราษฎรที่พบเห็นต่างตกใจและพากันมาเฝ้า ทรงทักทายไต่ถามสารทุกข์สุขดิบและการทำมาหากินของราษฎรอย่างไม่ถือพระองค์ ทำให้ผู้ที่มีโอกาสได้เข้าเฝ้าต่างปลาบปลื้มไปตามกัน
    
       ในเช้าวันที่ ๑๑ มีนาคม พระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จไปรเวทออกชมเกาะภูเก็ตพระองค์เดียวอีก ไปประทับที่หาดป่าตอง ตอนบ่ายได้เสด็จไปวัดมงคลนิมิต นมัสการพระพุทธรูปทองคำที่เพิ่งพบใหม่ ที่วัดนี้ก็มีประชาชนมาเฝ้าเป็นจำนวนมาก ในจำนวนราษฎรที่มาเฝ้านั้น มีชายหนุ่มคนหนึ่งที่พระเจ้าอยู่หัวทรงจำได้ว่าเคยเฝ้ามาแล้ว จึงรับสั่งถามว่าบ้านอยู่ไหน ชายคนนั้นกราบบังคมทูลว่าอยู่ที่ท้ายเหมือง พระเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่า อ้าว ฉันผ่านมาแล้วนี่ ไม่เห็นหรือชายคนนั้นทูลว่า เห็นครับ แต่เห็นไม่ถนัดจึงตามมาอีกรับสั่งถามอีกว่า ครั้งนี้เห็นถนัดแล้วหรือยังชายคนนั้นทูลว่า เห็นถนัดแล้วครับทรงถามอีกว่า แล้วจะตามไปพังงาอีกไม๊หนุ่มคนนั้นก็ทูลว่า ไปครับ แต่เกรงตำรวจจะปิดถนนเสียก่อนพระเจ้าอยู่หัวทรงพระสรวล และรับสั่งว่า ก็รีบไปก่อนเขาจะปิดซีจากนั้นทั้งสองพระองค์ก็เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมข้าราชการและราษฎรที่ศาลากลางจังหวัดพังงา และเสด็จไปเยี่ยมราษฎรที่อำเภอทับปุด จากนั้นจึงเสด็จไปยังจังหวัดกระบี่และนครศรีธรรมราช
    
       ที่อำเภอทุ่งสง ซึ่งทรงแวะเยี่ยมราษฎรหน้าที่ว่าการอำเภอ ราษฎรคนหนึ่งลุกขึ้นจับพระหัตถ์พระเจ้าอยู่หัวไว้ และทูลว่าคิดถึงพระเจ้าอยู่หัวมาหลายวันแล้ว วันนี้ได้เห็นและได้เฝ้า นับเป็นบุญของตนยิ่งนัก
    
       ในจำนวนผู้มาเฝ้านี้ มีนางปราง ลิ่มเลื่อง อายุ ๑๓๐ ปี ตามองเห็นลางๆ แต่หูยังได้ยิน ได้ให้เหลนอุ้มมาเฝ้าด้วย ทรงรับสั่งให้หลานเหลนดูแลให้ดี แม่เฒ่าและหลานเหลนต่างปลื้มปีติ ที่พระเจ้าอยู่หัวทรงทักทายมีรับสั่งกับแม่เฒ่า
    
       ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ทันทีที่เข้าเขตซุ้มของจังหวัด ประชาชนที่คอยรับเสด็จต่างเปล่งเสียงไชโยถวายพระพรกึกก้อง ตลอดระยะทางประมาณ ๒ กม.เศษจนถึงจวนผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งจัดเป็นที่ประทับแรม มีประชาชนยืนเรียงรายแน่นขนัดจนเกือบปิดถนน รถพระที่นั่งต้องผ่านไปอย่างช้าๆ
    
       เมื่อสองพระองค์เสด็จขึ้นประทับบนจวนแล้ว ประชาชนก็ยังไม่ยอมกลับ ต่างเฮโลบุกเข้าชมพระบารมีอย่างใกล้ชิดถึงกับปีนรั้วเข้าไป เหลือกำลังตำรวจทหารจะกันไว้ได้ ขณะนั้นทั้งสองพระองค์ประทับอยู่บนระเบียงจวน พระเจ้าอยู่หัวทรงกล้องภาพยนตร์ สมเด็จพระราชินีทรงโบกพระหัตถ์ให้ประชาชน แม้คนที่บุกเข้าไปถึงจวน ทุกคนต่างก็แสดงความเคารพและจงรักภักดี
    
       ประชาชนที่มาเฝ้ารับเสด็จในเมืองนครศรีธรรมราชนี้ มีจำนวนมากมายกว่าทุกจังหวัดที่ผ่านมา ปรากฏว่ามาจากทุกอำเภอ ทุกตำบล และจังหวัดใกล้เคียง ต่างมาค้างคืนถึง ๒ คืนก่อนเสด็จก็มี จับกลุ่มกันตามสี่แยกแน่น เมื่อนักข่าวสอบถาม ต่างบอกด้วยสำเนียงคนใต้ว่า มาคอยแลเจ้ากันทั้งนั้น
    
       ในวันที่ ๑๔ มีนาคม ในการเสด็จลงให้ประชาชนเฝ้า ขณะนั้นนครศรีธรรมราชกำลังจะมีพิธีเก็บข้าว ที่ปฏิบัติกันมาจะใช้ แกะเก็บข้าวทีละรวง เมื่อทรงไต่ถามราษฎรเรื่องการทำมาหากิน พบกับผู้มีอาชีพทำนา จึงทรงแนะนำให้ใช้เคียวเกี่ยวข้าวจะได้รวดเร็วกว่ามาก และทรงขอให้ พล.ท.หลวงกัมปนาทแสนยากร ที่ปรึกษากองทัพบก จัดแสดงตัวอย่างให้ดูทีหลัง
    
       เด็กคนหนึ่งที่แม่พามาเฝ้า มีแผลพุพองทั้งตัว ทรงถามแม่ของเด็กว่าลูกเป็นอะไร ไปหาหมอหรือยัง และรับสั่ง เดี๋ยวพาไปหาเสียนะและเมื่อทรงพบราษฎรคนหนึ่งมาจากอำเภอปากพนัง ก็ทรงรับสั่งว่า เสียใจด้วยนะที่ไม่ได้ไปเยี่ยมที่โน่น เพราะไม่มีเวลา
    
       ในวันที่ ๑๕ มีนาคม ทั้งสองพระองค์เสด็จไปน้ำตกพรหมโลก อำเภอเมือง ซึ่งปัจจุบันขึ้นกับอำเภอพรหมคีรี ซึ่งราษฎรอำเภอเมือง อำเภอลานสกา อำเภอหัวไทร อำเภอท่าศาลา ทั้งไทยพุทธและอิสลาม โดยการนำของนายอำเภอท่าศาลา ร่วมกันตัดถนนมาเป็นเวลาแรมเดือน เพื่อให้เสด็จไปทอดพระเนตรน้ำตกที่ร่ำลือกันว่าสวยจนสุดพรรณนา
    
       ทรงหยุดรถที่ซุ้มรับเสด็จของชาวไทยอิสลาม ที่ตลาดแขก คณะกรรมการชาวไทยมุสลิมได้ทูลเชิญเสด็จพระราชดำเนินลงเหยียบมัสยิดซอลาฮุดดิน เพื่อเป็นศิริมงคล ทรงไต่ถามทุกข์สุขของชาวมุสลิมที่รอเฝ้า
    
       วันที่ ๑๖ เสด็จโดยรถยนต์พระที่นั่งจากที่ประทับไปจังหวัดตรัง ที่หน้าศาลากลางจังหวัดนั้น ชายตาบอดทั้งสองข้างผู้หนึ่ง มาคอยอยู่หน้าพลับพลาตั้งแต่บ่ายแล้ว เมื่อเสด็จผ่าน ชายตาบอดจึงกราบทูลว่า ถึงแม้เขาไม่สามารถจะมองเห็นพระพักตร์ ก็ขอได้ยินพระสุรเสียงก็จะยังความปลาบปลื้มให้หาน้อยไม่ จึงทรงมีปฏิสันถารกับชายตาบอด
    
       ในเช้าวันที่ ๑๗ มีนาคม เสด็จออกจากจังหวัดตรังไปพัทลุง และทอดพระเนตรการแสดงมโนราห์โดย ขุนอุปถัมภ์นรากร หรือมโนราห์พุ่มเทวา ซึ่งเป็นครูของมโนราห์ชื่อดังในภาคใต้หลายคน ขณะนั้นอายุ ๗๐ ปีเศษแล้ว พอมโนราห์ไหว้ครูฝนก็ตกลงมาอย่างหนัก จึงต้องรำในสายฝน ส่วนคนที่รับเสด็จ ก็เฝ้ากันอยู่เหมือนไม่มีฝนเกิดขึ้น
    
       ที่จังหวัดสงขลา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จไปยังวัดมัชฌิมาวาส เพื่อทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายสมเด็จพระพันวสาอัยยิกาเจ้าและสมเด็จพระราชบิดา กรมหลวงสงขลานครินทร์ มีประชาชนไปรอเฝ้ากันแน่นขนัดรอบบริเวณวัด ชายชราคนหนึ่งเดินน้ำตาไหล เมื่อนักข่าวถึงสาเหตุจึงบอกว่า ไม่เคยเห็นพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินีมาก่อนเลย เมื่อได้เห็นจึงปลื้มปีติจนน้ำตาไหล
    
       ที่สงขลา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีกระแสพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า ทรงยินดีที่ได้มาเยี่ยมเมืองสงขลา ซึ่งนับเป็นจังหวัดที่มีความผูกพันเป็นการส่วนพระองค์ และทรงยินดีมากที่ราษฎรทั้งหลาย ทั้งที่นับถือศาสนาอิสลามและพุทธ ได้ให้การต้อนรับอย่างดีพร้อมเพรียงกัน แสดงถึงความสามัคคีของชาวจังหวัดนี้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของส่วนรวม หมายถึงการไม่ทำให้การแตกต่างทางศาสนาทำให้เสียไป และทรงขอให้รักษาความสามัคคีอันดีนี้สืบต่อไปด้วย
    
       ในวันที่ ๑๙ มีนาคม เวลา ๐๙.๐๐ น. ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จทางชลมารคทอดพระเนตรการแข่งเรือในทะเลสาบสงขลา โดยมีเรือชื่อ พัทลุงเป็นเรือประทับ ออกจากท่าเรือตลาดสด อ้อมไปทางเกาะยอ มีประชาชนเฝ้าชมพระบารมีอยู่บนฝั่งและลอยเรืออยู่ในทะเลสาบกว่า ๑๐๐ ลำ รวมทั้งขับตามเรือพระที่นั่งเป็นทิวแถว กลางทะเลสาบมีซุ้มที่ชาวประมงตำบลบ้านหัวเขาแต่งถวาย มีพระปรมาภิไธยย่อของทั้งสองพระองค์และตัวอักษร จงทรงพระเจริญด้านล่างมีเครื่องหมายของ ๒ ศาสนา พุทธและอิสลาม เมื่อเรือพระที่นั่งผ่านซุ้ม พระสงฆ์สวดชยันโต ส่วนฝ่ายอิสลามก็สวดประสานเสียง นับได้ว่าเป็นเรื่องแปลกของโลก ที่ต่างศาสนาร่วมกันได้อย่างสนิทแนบในประเทศไทย
    
       วันต่อมา ทั้งสองพระองค์เสด็จเยี่ยมมัสยิดกลางนราธิวาส และเสด็จเยี่ยมราษฎรที่อำเภอระแงะ มีราษฎรต่างอำเภอจากสุไหงปาดี สุไหงโกลก และจากที่อื่นอีกมาเฝ้ากันมาก บางคนเคยรับเสด็จจากที่จังหวัดภูเก็ตมาแล้ว และตามไปตรัง นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี ก็ยังอุสาหะตามมาเฝ้าชมพระบารมีที่ระแงะอีก และบอกนักข่าวว่า เฝ้ามาหลายที่แล้วค่ะ แต่ยังไม่จุใจ จึงตามมาอีก
    
        ก่อนขบวนรถพระที่นั่งจะเทียบชานชาลาสถานีสุราษฎร์ธานี ฝนได้กระหน่ำลงมาอย่างหนัก แต่ประชาชนที่รอเฝ้ารับเสด็จอย่างล้นหลามก็ไม่ยอมถอย กล่าวกันว่าฝนตกเพราะพระบารมี และซาลงเมื่อขบวนรถพระที่นั่งมาถึงสถานีสุราษฎร์ธานีในเวลา ๑๘.๓๕ น. ในคืนนั้น ปรากฏว่าโรงภาพยนตร์ในเมืองสุราษฎร์ฯเปิดฉายหนังตลอดทั้งคืน ทั้งนี้ก็เพราะประชาชนที่มาจากต่างอำเภอจำนวนมากไม่มีที่พักและไม่รู้จะไปไหน เลยอาศัยโรงภาพยนตร์เป็นที่ฆ่าเวลาและพักผ่อนหลับนอน
    
       พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จจากที่ประทับแรมไปยังสถานีรถไฟสุราษฎร์ เพื่อประทับรถไฟพระที่นั่งกลับสู่พระนคร ตลอดเส้นทางเสด็จฯมีประชานเรียงรายสองข้างทาง แม้ในเส้นทางรถไฟในเวลากลางคืน ก็ยังมีประชาชนมาเฝ้าส่งเสด็จแน่นทุกสถานี ที่สถานีหลังสวน นักเรียนได้ถือโคมไฟสีธงชาติมายืนเรียงรายส่งเสด็จ
    
       ขบวนรถไฟพระที่นั่งเทียบชานชาลาสถานีจิตรลดาเมื่อเวลา ๐๙.๐๐ น.ของวันที่ ๒๘ มีนาคม สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าหญิงอุบลรัตนราชกัญญา ขณะพระชนมายุ ๗ พรรษา และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฬาลงการณ์ ขณะพระชนมายุ ๖ พรรษา เสด็จขึ้นรับสองพระองค์บนรถไฟ สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงทรงจูงพระหัตถ์พระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จเจ้าฟ้าชายทรงจูงพระหัตถ์สมเด็จพระราชินี ลงมาจากรถไฟพระที่นั่ง
    
       ในเช้าวันที่ ๓๐ มีนาคม พลตำรวจเอกหลวงชาติตระการโกศล ปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งตามเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมภาคใต้โดยตลอด ได้แถลงกับผู้สื่อข่าวว่า
    
       ตลอดทางเสด็จพระราชดำเนินตั้งแต่จังหวัดชุมพรถึงจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีราษฎรทั้งชาวไทยพุทธและชาวไทยอิสลามเฝ้ารับเสด็จตลอดเส้นทาง โดยเฉพาะชาวไทยอิสลามใน ๔ จังหวัดภาคใต้ ซึ่งแต่เดิมคาดว่าจะมารับเสด็จกันน้อย เนื่องจากเป็นเดือนถือบวช แต่ปรากฏว่ากลับมากันมากมายผิดคาด นอกจากนี้เมื่อสองพระองค์เสด็จไปจังหวัดใด ปรากฏว่ามีประชาชนมาคอยรับล่วงหน้าหมายกำหนดการเสด็จเป็นหลายๆชั่วโมง บางแห่งมาคอยกันถึง ๒๔ ชั่วโมงก็มี และมาชุมนุมกันเหมือนมีงานมหกรรมใหญ่
    
       สำหรับสิ่งของที่ราษฎรนำมาทูลเกล้าฯถวายทั้งสองพระองค์นั้น ปลัดกระทรวงมหาดไทยว่ามีจำนวนมากมาย มีทั้งสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่า ตลอดจนผลไม้ สำหรับผลไม้นั้นได้พระราชทานแก่โรงพยาบาล โรงเรียน และวัด ตามรายทางที่เสด็จพระราชดำเนินผ่านทั้งหมด แม้ระหว่างทางเสด็จกลับพระนคร จะเป็นเวลาดึกดื่น ก็มีราษฎรคอยเฝ้าส่งเสด็จตามรายทางแน่นทุกสถานีรถไฟ
    
       นี่ก็เป็นประวัติศาสตร์ที่จะจารึกอยู่ในหัวใจคนไทยตลอดไป

เครดิตข้อมูลและภาพจาก MGR online
 

จากประพาสต้นบนดอยมาเป็นสวนผลไม้ชาวเขา

การเสด็จประพาสต้นบนดอย ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นต้นกำเนินของโครงการหลวงเมื่อ 32 ปีมาแล้ว โครงการหลวงเป็นโครงการส่วนพระองค์อย่างแท้จริง ตั้งแต่เริ่มแรก ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อเริ่มโครงการนี้ เพื่อพิสูจน์ทฤษฎี เพื่อดูแลอธิปไตยของประเทศและเหนือสิ่งอื่นใด เพื่อความอยู่ดีกินดีของพสกนิกรของพระองค์เอง ไม่มีพระมหากษัตริย์พระองค์ใดในโลก ทรงอุทิศพระวรกาย พระชนมายุพระราชหฤทัย และทรงให้เวลาอย่างมากมายในการทรงงานเพื่อทวยราษฎร์อย่างแท้จริง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ม.จ.ภีศเดช รัชนี รับสนองแนวพระพระราชดำริ และทรงนำการปฏิบัติบนดอยตามพระราชดำริ และพระราชกระแส ความมุ่งมั่นที่มีรับสั่งครั้งแล้วครั้งเล่าก็คือ "ความผาสุกของประชาชน) และความมั่นคงของประเทศ" ซึ่งเป็นภาพรวมของกรอบปฏิบัติที่ใช้ได้ทั่วประเทศ สำหรับโครงการหลวงซึ่งดำเนินการในเขตภาคเหนือนั้น มีความสำคัญในแง่ของการรักษาอธิปไตยของประเทศในการรักษาสภาวะวิกฤตของการรักษาและดูแลต้นน้ำลำธาร ในการทำให้ชาวเขามีความเป็นอยู่ดีขึ้น ไม่ตัดไม้ทำลายป่า ไม่ทำไรเลื่อนลอย ไม่ปลูกพืชเสพย์ติด และเป็นประชากรที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูงที่มีจิตสำนึกในการดูแลรักษาต้นน้ำลำธารด้วย

จากกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานในโอกาสที่ผู้อำนวยการโครงการหลวงนำคณะบุคคลต่าง ๆ เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าถวายเงิน เพื่อพระราชทานแก่โครงการหลวง เมื่อวันเสาร์ที่ ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ ณ พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ ดังนี้

"โครงการหลวงนี้ ก็เริ่มต้นด้วยกิจการเล็ก ๆ น้อยๆ และได้ขยายขึ้นมาด้วยการสนับสนุนของทางราชการ และทางเอกชนร่วมกัน ซึ่งส่วนมากงานแบบนี้จะทำได้ลำบากเพราะว่าถ้าเป็นส่วนราชการ ก็จะต้องทำตามระเบียบราชการ ซึ่งล่าช้าไม่ทันการ ถ้าเป็นภาคเอกชนก็อาจไม่มีกำลังพอ การร่วมกันจึงเป็นวิธีที่ทำให้เกิดผล ผลนั้นก็ดังที่ท่านทุกคนได้เห็นประจักษ์แล้ว ทำให้คนในภาคเหนือนี้ ทั้งผู้ที่อยู่บนภูเขา ทั้งที่อยู่ในที่ราบ ได้รับการสนับสนุนและสงเคราะห์ช่วยให้พัฒนาตัวเองขึ้นมา โดยทำให้สิ่งที่เป็นปัญหาลดลงไป สิ่งที่วัตถุดิบของยาเสพย์ติด ซึ่งโครงการหลวงก็สามารถลดจำนวนของยาเสพย์ติดนี้ลงไปอย่างเห็นได้ชัด และนอกจากนี้ก็ได้ลดภัยของความเข้าใจผิดของความเข้าใจผิดในระหว่าง ประชาชนบนภูเขา และประชาชนในที่ราบ ทำให้มีความร่วมมืออย่างดี ทั้งทำให้ความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งหมดนี้ มีฐานะดีขึ้น เป็นผลให้ประเทศมีความเจริญเป็นส่วนรวม และมีความปลอดภัยมั่นคงในที่สุด"

สำหรับงานบนพื้นที่สูง ผู้ปฏิบัติงานในโครงการหลวงทุกคนได้ยึดถือหลักการพระราชทาน ซึ่งง่าย สั้น และตรงจุด มาตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบันคือ ๑) ลดขั้นตอน ๒) เร็วๆ เข้า ๓) ช่วยเขาให้ช่วยตัวเอง ๔) ปิดทองหลังพระ จากหลักการที่พระราชทานนี้ทำให้เกิดการสร้างวีการที่สำคัญขึ้น เพื่อใช้ในการปฏิบัติในงานของโครงการหลวงคือ

๑) วิธีสร้างการประสานงานและความร่วมมือ

๒) วิธีสร้างการบุกเบิกและทดสอบสิ่งใหม่ๆ

๓) วิธีสร้างการกำหนดทางเลือก

๔) วิธีการสร้างจิตสำนึกของชาวเขาเผ่าต่าง ๆ ที่อยู่บนพื้นที่สูง

ม.จ.ภีศเดช รัชนี ประธานมูลนิธิโครงการหลวง ได้ทรงตรัสแก่เหล่าเจ้าหน้าที่โครงการหลวงว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รับสั่งกับผู้เข้าเฝ้าฯ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐานว่า โครงการหลวงเกิดขึ้นเพราะท่านไปเที่ยว คำว่า "ไปเที่ยว" นี้ เราท่านน่าจะว่า "ประพาสตัน" มากกว่า เพราะนอกจากจะเป็นราชาศัพท์ที่ถูกต้อง แต่ออกจะไม่ใช้กันแล้วยังทำให้เราเห็นภาพ พระพุทธเจ้าหลวง เวลาเสด็จฯไปเที่ยวบ้านชาวบ้าน โดยที่เขาไม่ไม่ทราบว่าท่านเป็นใคร จึงไม่ประหม่ามาก คุยคล่องถึงการกินอยู่ ทำให้ท่านสามารถพระราชทาน ความช่วยเหลือได้ตามพระราชอัธยาศัย ส่วนพระราชนัดดา คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ของพวกเรานี้ เมื่อทรงแปรพระราชฐานไปเชียงใหม่ เพื่อตามอากาศจะเสด็จฯไปหน้าหนาว จึงเรียกว่า พักร้อน อย่างที่ใครๆ เขามักจะเรียกกันไม่ได้ นอกจากนี้พระองค์ท่านไม่ได้ทรงพัก แต่มักจะเสด็จฯ ดั้นดันไปทอดพระเนตรชีวิตของคนบนดอย ซึ่งสำหรับคนอื่น ๆ แล้ว ยังกับว่าอยู่คนละโลกกับเรา เช่นเมื่อราว ๓๐ ปีมาแล้ว ทางไปพระธาตุดอยสุเทพมีถนนลูกรังที่รถยนต์ขึ้นได้แต่ลำบาก จากนั้นถ้าจะไปบ้านแม้วดอยปุย ก็ต้องเดินเอา นอกจากจะจ้างเสลี่ยงนั่งให้เขาหามโยกเยกไป ในเมื่อระยะใกล้ๆ ต้องใช้เวลาเดินนานเช่นนี้ ดอยจึงพันหูพันตาของคนไทยส่วนมาก

ที่หมู่บ้านแม้วใกล้พระตำหนักนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินแบบทรงเดินไป ท่านรับสั่งถามแม้วที่นั้นว่า นอกจากปลูกฝิ่นขายแล้ว เขามีรายได้จากพืชพันธุ์อื่นอีกหรือเปล่า ซึ่งเรื่องนี้หากเป็นคนอื่นถาม แม้วก็คงปฏิเสธว่าไม่ได้ปลูกฝิ่น แต่สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เขาเห็นได้ชัดว่าท่านทรงสนพระราชหฤทัย ทรงเห็นใจเขา มีพระราชประสงค์จะช่วยจึงไม่ปิดบังความจริงอะไร ทำให้ทรงทราบว่า นอกจากฝิ่นแล้ว ชาวเขายังเก็บท้อพื้นเมืองขาย ถึงแม้ว่าผลจะเล็กก็ตาม แต่ก็ยังได้เงินเท่า ๆ กับฝิ่นและเมื่อทรงโปรดเกล้าฯ ตั้งโครงการหลวงขึ้น จึงรับสั่งให้ค้นคว้าหาพันธุ์ท้อ หรือพืชที่มีผลใหญ่แบบในต่างประเทศ ที่เหมาะสำหรับบ้านเรา เพราะถ้าปลูกท้อผลใหญ่ได้แล้ว จะต้องทำเงินได้ดีกว่าฝิ่นแน่ นอกจากนี้ยังรับสั่งให้พยายามปลูกพืชเมืองหนาวอย่างอื่น เชน แอปเปิ้ล สาลี พลับ พลัม บ๊วย รวมทั้งผักและดอกไม้ด้วย เพราะผลิตผลเหล่านี้ ถ้านำมาขายในส่วนที่ร้อนของเมืองเราแล้ว ควรจะได้ราคาแพงแน่ ดังนั้นโครงการปลูกพืชทดแทนฝิ่น โครงการแรกของโลก จึงเกิดขึ้น และเมื่อประมาณ ๒๕ ปีต่อมา โครงการควบคุมยาเสพย์ติดของสหประชาชาติก็ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองเพื่อสดุดีพระเกียรติคุณในการแก้ปัญหายาเสพย์ติด โดยส่งเสริมให้ชาวเขาเลิกปลูกฝิ่น แต่ปลูกพืชเศรษฐกิจทดแทน

ตามกระแสรับสั่ง โครงการหลวงต้องหาพืชเมืองหนาวมาปลูกบนดอย ซึ่งนอกจากฝิ่นแล้ว ในขณะนั้นไม่มีใครทราบว่า มีพืชอะไรบ้างปลูกได้ ดังนั้นโครงการหลวงต้องทำการวิจัย คือ ทดลองมากมายหลายโครงการ การวิจัยย่อมต้องใช้คนและเงิน สำหรับคนนั้นพวกที่เพียบพร้อมด้วยความสามารถก็หาไม่ยาก เพราะเหล่านักวิชาศาสตร์ทางเกษตร ทั้งจากมหาวิทยาลัย และสถาบันต่าง ๆ มีความจงรักภักดีที่จะทำงานถวาย โดยเฉพาะได้ทำงานในโครงการหลวง ที่ไม่ขั้นตอนมากมายเหมือนในระบบราชการ เพราะมีรับสั่งให้ลดขั้นตอน อนึ่ง บรรดาอาจารย์ที่มาอาสาสมัครวิจัยนั้น ก็ได้ข้อมูลความรู้จากผลการวิจัยในประเทศเรา ไปสอนแก่ศิษย์ ซึ่งดีกว่าการศึกษาในตำราที่ฝรั่งเขียนไว้สำหรับเมืองเขา

เหตุผลที่ว่าทำไมถึงต้องส่งเสริมให้ชาวเขาปลูกไม้ผล สำหรับเป็นพืชทดแทนฝิ่นนั้นก็เนื่องมาจากในงานวิจัยของโครงการหลวง ในการหาพืชอื่นให้ชาวเขาปลูกทดแทนฝิ่นนั้นทางโครงการฯ มีความมุ่งหมายที่จะแก้ไขเรื่องต่าง ๆ ไปพร้อมกันด้วย กล่าวคือพืชหลักควรจะเป็นไม้ยืนต้น เช่นไม้ผลชนิดต่าง ๆ กาแฟ ต้นนัท (พวกเกาลัด มะคาเดเมียนัท วอลนัทหรือมันฮ่อ เป็นต้น) ทั้งนี้ เพื่อมุ่งหวังให้ชาวเขาทำมาหากินอยู่กับที่ เลิกทำไร่เลื่อนลอย ซึ่งจะทำให้หยุดยั้งการทำลายป่าลงได้ นอกจากนั้น ไม้ยืนต้นเหล่านี้ก็ยังให้ประโยชน์ในแง่ของการอนุรักษ์ดินและน้ำ เหมือนกับเป็นการทดแทนป่าไม้อีกด้วย จากการทดลองในเรื่องไม้ผลยืนต้นนี้ ทางโครงการหลวงสามารถหาพันธุ์ไม้ผลเมืองหนาวหลายชนิด ที่สามารถให้ผลผลิตได้ดีบนพื้นที่สูง และได้นำผลจากการวิจัยเรื่อง การขยายพันธุ์ การปลูก ขั้นตอนการดูแลรักษา จนกระทั่งการเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยได้มีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมของโครงการมานำเอาความรู้ดังกล่าว ไปถ่ายทอด อบรมให้แก่เกษตรกรชาวเขาตามหมู่บ้านต่าง ๆ ต่อไป ปัจจุบันผลไม้เมืองหนาวหลายชนิดที่ผลิตโดยชาวเขา เช่น พีช พลับ บ๊วย พลัม สาบี่เอเซีย(ผลสีน้ำตาล) สตรอเบอรี่ ผลกีวี อะโวกาโดร องุ่น ฯลฯ มีจำหน่ายในตลาดกรุงเทพฯและเชียงใหม่ ภายใต้เครื่องหมายการค้าว่า "ดอยคำ"

เนื่องจากไม้ผลยืนต้นต้องใช้เวลานาน ๓-๖ ปี กว่าจะได้ผลผลิตทำรายได้ให้แก่ชาวเขาผู้ปลูก โครงการหลวงจึงมีนโนบายให้หาพืชอายุสั้นให้ชาวเขา ปลูกเป็นรายได้ไปพลางก่อน พืชอายุสั้นเหล่านี้มีมากมายหลายชนิดที่ขึ้นได้ดีในที่สูง และทำรายได้ไปพลางก่อน พืชอายุสั้นเหล่านี้มีมากมายหลายชนิดที่ขึ้นได้ดีในที่สูง และทำรายได้ให้แก่ผู้ปลูกเป็นอย่างมาก พืชดังกล่าว เช่น สตรอเบอรี่ ถั่วชนิดต่าง ๆ ผักเมืองหนาวหลายชนิด สมุนไพร เครื่องเทศ เมล็ดพันธุ์ผักและดอกไม้ ไม้ดอกชนิดต่าง ๆ ข้าวสาลี และธัญพืชอื่นๆ เป็นต้น นอกจากไม้ยืนต้นและพืชอายุสั้นที่กล่าวถึงแล้ว ชาวเขายังสามารถหารายได้จากงานอื่น ๆ เช่น งานหัตถกรรม ซึ่งทางมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพได้เข้ามาให้คำแนะนำการเลี้ยงสัตว์ การปลูก เห็ดเมืองหนาว เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าถ้าเราสามารถจัดการให้ชาวเขามีการปลูกไม้ผลยืนต้นเป็นพืชหลัก และพาพืชอายุสั้นอื่นๆ ที่เหมาะสมกับท้องถิ่นให้ปลูกได้ตลอดปี โดยอาจมีงานพิเศษเสริมเข้าไปด้วย ก็จะทำให้ชาวเขามีรายได้เกินกว่าการปลูกฝิ่นอย่างมากมาย ชนิดของพืชที่จะแนะนะให้ปลูกและงานพิเศษที่จะเสริมรายได้นั้น จะต้องมีการวางแผนให้เหมาะ เพื่อให้สอดคล้องกับปัจจัยต่างๆ เช่น ภูมิอากาศ ทางคมนาคม และตลาด เป็นต้น

ผู้เขียนขอยกตัวอย่างให้เห็นสักเรื่องหนึ่งสมมติว่าชาวเขาครอบครัวหนึ่งปลูกพื่ช (ท้อ) พันธุ์ดีที่โครงการหลวงได้ส่งเสริมเพียง ๑ ไร่ ซึ่งจะปลูกได้ประมาณ ๓๒ ต้น (ระยะปลูก ๗ คูณ ๗ เมตร) เมื่อต้นพืชอายุ ๓-๔ ปี จะให้ผลประมาณต้นละ ๑๐ กิโลกรัมเป็นอย่างต่ำ (ผลผลิตจะเพิ่มขึ้นเมื่อต้นพืชมีอายุมากขึ้น และจะให้ผลเต็มที่เมื่ออายุประมาณ ๖ ปีขึ้นไป) พืชพันธุ์ดีที่ว่านี้ควรจะขายได้ต่ำกว่ากิโลกรัมละ ๒๐ บาท (ในปี ๒๕๓๐ ขายได้กิโลกรัมละ ๕๐ บาท) ดังนั้น จากพื้นที่ ๑ ไร่ ก็จะได้เงิน ๖,๔๐๐ บาท มากกว่ารายได้เฉลี่ยจากการปลูกฝิ่น(ที่ชาวบ้านได้รับ) คือ ๔,๐๐๐ บาทเสียแล้ว โดยที่ยังไม่ได้รวมถึงรายได้จากการปลูกพืชล้มลุก และงานอื่นๆ ที่จะเสริมเข้าไปได้อีกมาก

สาลี่ สาลี่ที่ปลูกอยู่ในปัจจุบันเป็นสาลี่เอเซีย มีเนื้อทรายและรับประทานในขณะที่เนื้อยังกรอบอยู่ รสหวาน มีกลิ่นหอม ผลมีทั้งขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ มีทั้งรูปไข ทรงระฆัง และกลม พันธุ์ที่ส่งเสริมให้ปลูกในปัจจุบันได้แก่ พันธุ์โยโกยามิ วาเซ่เป็นพันธุ์ที่นำเข้ามาจากประเทศไต้หวัน เปลือกผลเป็นสีน้ำตาลทอง มีประสีน้ำตาลอ่อนปนเขียว เนื้อค่อนข้างหยาบ ฉ่ำน้ำ ให้ผลผลิตสู่ตลาดในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ส่วนสาลี่ยุโรปที่ผู้อ่านหลายท่านเคยรับประทาน โดยเฉพาะเมื่อไปต่างประเทศนั้น เป็นคนละชนิด (Species) กัน และส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ที่ต้องการช่วงอากาศหนาวเย็นนาน ซึ่งจะปลูกให้ได้ผลดีในประเทศไทยนั้นคงเป็นการยาก อีกทั้งตลาดบ้านเราสำหรับสาลี่ยุโรป นี้ยังแคบอยู่เพราะโดยทั่วไป คนไทยเรามักจะชอบผลไม้ที่มีเนื่อค่อนข้างแข็ง และกรอบมากกว่าพวกที่มีเนื้อนิ่ม และในปัจจุบันนักวิจัยของโครงการหลวงกำลังผสมพันธุ์และปรับปรุงพันธุ์เพื่อให้ได้พันธุ์สาลี่เอเซียที่มีคุณภาพดีกว่าพันธุ์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน และสามารถปลูกได้ในสภาพดินฟ้าอากาศบนพื้นที่สูงของประเทศไทยต่อไป

พีช หรือ ท้อ ท้อเป็นผลไม้ที่คนไทยรู้จักกันมานานแล้ว แต่ชื่อนี้ฟังแล้วอาจจะไม่เป็นมงคลนัก เพราะบางคนอาจจะนึกไปถึงคำว่า "ท้อแท้" ตามหมู่บ้านชาวเขามีท้อพื้นเมืองปลูกอยู่ ซึ่งเข้าใจว่าพวกชาวเขาที่อพยพมาจากจีนนำติดตัวมา และท้อเหล่านี้ได้ปรับตัวเข้ากับสภาพดินฟ้าอากาศบนพื้นที่สูงของไทยได้ดี สำหรับท้อพื้นเมืองนี้ โดยทั่วๆ ไปชาวบ้านไม่นิยมรับประทานผลสด เนื่องจากผลมีขนาดเล็ก และรสชาติไม่อร่อย แต่มักนิยมนำมาดองขาย เป็นท้อดอง แปรรูปเป็นท้อแช่อิ่ม และแยมท้อ แต่ในปัจจุบันโครงการหลวงได้มีพันธุ์ที่ให้ผลขนาดใหญ่ มีคุณภาพดีกว่าท้อพื้นเมืองมาก และเป็นพันธุ์ที่ใช้รับประทานผลสด จึงเรียกชื่อท้อพันธุ์ดีเหล่านี้ใหม่ว่า "พีช" ตามภาษาฝรั่ง พีชที่ส่งเสริมให้ชาวเขาปลูกนี้เป็นสายพันธุ์ที่ต้องการช่วงอากาศหนาวเย็นสั้น เหมาะกับสภาพพื้นที่สูงของไทยพันธุ์ส่วนใหญ่ที่ส่งเสริมให้ปลูกนั้น เป็นพันธุ์ที่มีเนื้อสีเหลือง ซึ่งทางโครงการหลวงได้ให้ชาวเขานำพันธุ์พีชที่ส่งเสริมนี้ ไปต่อกิ่งหรือติดตา กับต้นท้อพื้นเมืองที่ปลูกอยู่แล้ว ทำให้สามารถได้ผลผลิตภายในสองปีหลังจากนั้นพีชจะแก่เก็บเกี่ยวได้ในเดือน เมษายน-พฤษภาคม

พลัม พลัมเป็นผลไม้เมืองหนาวอีกชนิดหนึ่งที่โครงการหลวงได้ส่งเสิรมให้ชาวเขาปลูก คนจีนเรียกผลไม้ชนิดนี้ว่า "ลูกไหน" เป็นผลไม้ที่มีรสหวานหอมเปรี้ยวและสามารถแปรรูปได้หลายชนิด เช่น แช่อิ่ม ทำแยม ทำน้ำผลไม้ โดยเฉพาะแช่อิ่มนั้นมีขายทั่วไปในเมืองเชียงใหม่ สายพันธุ์พลัมที่ปลูกอยู่ในขณะนี้ได้มาจากมหาวิทยาลัยฟลอริดา สหรัฐอเมริกา คือ พันธุ์กัฟรูบี้ ซึ่งเมื่อแก่ผลมีสีม่วงเข้ม เนื้อสีเหลือง นอกจากนี้ยังมีพันธุ์ที่นำเข้ามาจากไต้หวัน เช่น พันธุ์แดงบ้าหลวง (ผลสีม่วงแดง เนื้อสีแดง) พันธุ์เหลือง บ้านหลวง (ผลสีเหลือง เนื้อสีเหลือง) พันธุ์จูลี่ ซึ่งพันธุ์เหล่านี้นิยมใช้สำหรับแปรรูปผลพลัมแก่และเก็บเกี่ยวได้ในเดือนเมษายน-พฤษภาคม

พลับ พันธุ์พลับที่โครงการหลวงส่งเสริมให้ชาวเขาปลูกในปัจจุบันมีทั้งพันธุ์ที่ฝาดและพันธุ์ที่ไม่ฝาด พันธุ์ฝาดมักจะให้ผลดกกว่า แต่ต้องทำการขจัดความฝาดเสียก่อนบริโภค ทางโครงการหลวงได้คิดค้นวิธีทำลายความฝากของผลพลับ โดยทางฝ่ายคัดบรรจุของโครงการหลวง และทางศูนย์พัฒนาตามดอยต่างๆ ได้จัดการขจัดความฝาดของผลพลับจากชาวเขาที่ส่งมาจำหน่าย ก่อนส่งไปยังตลาดต่อไป สำหรับพลับพันธุ์ฝาดนี้ส่วนใหญ่นำมาจากไต้หวัน มักจะมีผลค่อนข้างเล็ก รูปร่างแบบค่อนข้างเป็นสี่เหลี่ยม ส่วนพลับพันธุ์หวานที่บริโภคได้ทันทีหลังจากเก็บเกี่ยว ที่ชาวเขาปลูกกันอยู่ก็คือพันธุ์ฟูยู่ ซึ่งมีรูปร่างค่อนข้างกลม มีขนาดใหญ่แต่ผลมักจะไม่ใคร่ดกเท่ากับพันธุ์ฝาด นอกจากใช้รับประทานผลสดแล้ว ทางโครงการหลวงยังได้ทำพลับแห้งออกจำหน่ายอีกด้วย ผลพลับจะสุกและเก็บเกี่ยวได้ในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน

บ๊วย บ๊วยนับว่าเป็นไม้ผลเมืองหนาวที่คนไทยเราคุ้นเคยกันดี โดยเฉพาะอาหารจานโปรดหลายชนิดที่ใช้บ๊วยเป็นส่วนประกอบ เช่น ปลานึ่งบ๊วย น้ำจิ้มบ๊วยเจี่ย เป็นต้น บ๊วยเป็นไม้ผลที่มีการปลูกในเมืองไทยมานานแล้ว โดยเฉพาะที่อำเภอแม่สาย อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย พบว่ามีปลูกแบบต้นไม้ในสวนหลังบ้าน สันนิษฐานว่า มีผู้นำบ๊วยเข้ามาจากทางตอนใต้ของจีน โดยผ่านทางพม่า และปลูกมานานจนต้นบ๊วยสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพฟ้าอากาศบ้านเราได้ดี สำหรับพันธุ์บ๊วยที่โครงการหลวงส่งเสริมให้ชาวเขาปลูกอยู่ในปัจจุบันเป็นพันธุ์ที่นำเข้ามาจากไต้หวัน ได้แก่ พันธุ์ปิงติง และพันธุ์เจนโถ ซึ่งให้ผลขนาดใหญ่กว่าบ๊วยพันธุ์พื้นเมืองจากเชียงราย บ๊วยเป็นไม้ผลที่ไม่นิยมรับประทานผลสด แต่นิยมเอาไปแปรรูป เช่น ทำบ๊วยดอง, บ๊วยเจี่ย, น้ำดื่มบ๊วย และตากแห้งเป็นบ๊วยเค็ม บ๊วยจะเก็บเกี่ยวได้ในช่วงปลายเดือนมีนาคม ถึงเดือนเมษายน

สำหรับแอปเปิลนั้น เคยมีการทดลองปลูก และพบว่ามีพันธุ์ที่สามารถปลูกในสภาพอากาศบนที่สูงของไทยได้คือ พันธุ์แอนนา พันธุ์คอเสทโกล และพันธุ์ไอเซมเมอร์ ซี่งให้ผลที่มีคุณภาพดี แต่เนื่องจากในช่วง ๕-๑๐ ปี ที่ผ่านมา มีการนำเข้าผลแอปเปิล จากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากประเทศจีนเข้ามาจำหน่วยในตลาดเมืองไทย แอปเปิลเป็นผลไม้ที่สามารถเก็บรักษาไว้ได้นานมาก จึงทำให้สามารถขนส่งเข้ามาทางเรือได้ครั้งละมากๆ ด้วยเหตุดังกล่าว ๆ ทางฝ่ายไม้ผลมูลนิธิโครงการหลวง จึงงดการส่งเสริมให้ชาวเขาปลูกแอปเปิลเป็นรายได้ เพราะไม่สามารถแข่งขันในเชิงการค้ากับแอปเปิ้ลที่เข้ามาจากนอกในตลาดบ้านเราได้

ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ ที่ทรงตั้งพระราชหฤทัยให้มีการรักษาป่า ต้นน้ำลำธาร บนพื้นที่ภูเขาสูงของประเทศ และในขณะเดียวกันก็ให้ชาวเขาที่มาพึ่งพระบรมโพธสมภารอยู่ในพื้นที่นั้นได้มีชีวิตที่ดีขึ้น ไม่เบียดเบียนป่านั้น คือ ไม่ตัดไม้ทำลายป่า ไม่ปลูกพืชเสพย์ติดนั้น พระองค์ได้พระราชทานพระราชดำริให้ชาวเขาอยู่เป็นที่ไม่ทำไร่เลื่อนลอย ไม่ย้ายหมู่บ้านเหมือนในอดีต พระองค์ได้พระราชทานแนวทางการใช้ประโยชน์ของป่า ๓ อย่าง ให้แก่กรมป่าไม้และโครงการหลวงนำไปปฏิบัติ คือ

๑. ป่าใช้สอย คือให้ชาวบ้านปลูกต้นไม้เนื้อแข็ง ที่สำหรับจะได้นำมาใช้ก่อสร้างที่ อยู่อาศัย

๒. ป่าทำเชื้อเพลิง คือให้มีการปลูกต้นไม้โตเร็วไว้ในบริเวณหมู่บ้าน สำหรับนำมาใช้สอยในครัวเรือน เช่น ทำฟืน เพาะเห็ด

๓. ป่ากินได้ คือให้มีการปลูกต้นไม้ที่ให้ผลผลิตสำหรับไว้รับประทานและขายเป็นร ได้ ซึ่งก็คือ ไม้ผลยืนต้นชนิดต่าง ๆ

และด้วยวิธี จะทำให้ชาวเขาเกิดความรักในพื้นที่ทำกิน มีความหวงแหนในต้นไม้ของเขา และผลที่ตามมาก็คือ ต้นไม้ยืนต้นเหล่านี้ ก็จะทำหน้าที่คล้วยกับป่า ในการอนุรักษ์สภาพแวดล้อม รักษาต้นน้ำ ลำธารที่เป็นสมบัติอันล้ำค่าของประเทศไทยต่อไป

ในเรื่องของการรักษาสิ่งแวดล้อมบนพื้นที่สูงทางโครงการหลวง ได้ตระหนักเป็นอย่างดี และได้ปรับปรุงวิธีการผลิตไม้ผล โดยไม่ใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายในการกำจัดแมลงและโรคที่เป็นศัตรูพืช กล่าวคือ นอกจากจะใช้วิธีการควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธี เช่น ให้แมลง เช่น พวกห้ำ ตัวเบียน คอยควบคุมจำนวนแมลงที่เป็นศัตรูของพืช โดยการรักษาสมดุลของธรรมชาติแล้ว ทางโครงการหลวงยังได้นำวิธีการต่างๆ มาใช้ เช่น ได้แนะนำให้เกษตรกรชาวเขา ห่อผลไม้ตั้งแต่ผลยังเล็ก เพื่อป้องกันไม่ให้แมลงทำลาย จึงทำให้ไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลงพ่น เหมือนกับการผลิตไม้ผลเมืองหนาวทั่วๆ ไปในต่างประเทศ นอกจากนี้ยังได้แนะนำให้ชาวเขาทำปุ๋ยหมัก ปู่ยพืชสด ใช้เอง โดยใช้มูลสัตว์ และเศษพืชในท้องที่เป็นการลดการใช้ปุ๋ยเคมี เป็นต้น จึงกลาวได้ว่าผลผลิตของโครงการหลวงนั้นสะอาด ปลอดภัยจากสารพิษตกค้าง (เนื่องจากไม่ได้พ่นสารเคมีเกษตร)

สุดท้ายนี้ผู้เขียนใครอัญเชิญกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่เกี่ยวกับชาวเขา ดังนี้

"... เรื่องที่จะช่วยชาวเขา และโครงการชาวเขานั้น มีประโยชน์โดยตรงกับชาวเขาที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้ชาวเขามีความเป็นอยู่ดีขึ้น สามารถเพาะปลูกสิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นรายได้กับเขาเอง ที่มีโครงการนี้ จุดประสงค์อย่างหนึ่งก็คือ มนุษยธรรม หมายถึงให้ผู้ที่อยู่ในถิ่นทุรกันดารสามารถที่จะมีความรู้ และพยุงตัวมีความเจริญได้อีกอย่างหนึ่งก็เป็นเรื่องช่วยในทางที่ทุกคนเห็นว่าเขาจะเลิกปลูกยาเสพย์ติด คือ ฝิ่น ทำให้นโยบายการระงับ การปราบปราม การสูบฝิ่น และการค้าฝิ่นได้ผลดี อันนี้เป็นผลอย่างหนึ่ง ผลอีกอย่างหนึ่งซึ่งสำคัญมากก็คือ ชาวเขาเป็นผู้ทำการเพาะปลูก โดยวิธีที่จะทำให้บ้านเมืองของเราไปสู่หายนะได้โดยที่ถางป่าแล้วปลูก ก็เท่ากับช่วยบ้านเมืองให้มีความดี ความอยู่กินดีและความปลอดภัยได้อีกทั่วประเทศ เพราะถ้าสามารถทำโครงการนี้ได้สำเร็จ ให้ชาวเขาอยู่เป็นหลักเป็นแหล่ง สามารถที่จะอยู่ดีกินดีพอสมควร และสนับสนุนนโยบายที่จะรักษาป่าไม้ รักษาดิน ให้เป็นประโยชน์ต่อไป ประโยชน์อันนี้จะยั่งยืนมาก...."

พระราชดำรัสนี้เท่ากับเป็นการตอบคำถามที่ว่า "ไปช่วยชาวเขาทำไมกัน"
 
(เครดิตข้อมูลจาก www.เรารักพระเจ้าอยู่หัว.com)
 
 

 



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น