วันพฤหัสบดีที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2558

The Martian ทิ้งฉันไว้กลางดาวอังคาร......(ได้ยังไง?)


The Martian (กุ้ตาย 140 ล้านไมล์) หรือชื่อไทยของผู้เขียน “ทิ้งไว้กลางดาวอังคาร” เป็นหนังไซไฟเกี่ยวกับการผจญภัยบนอวกาศ ที่ช่วงหลังๆ มักทำออกมาหลายๆ เรื่อง ติดกัน นี้ (Moon, Gravity, Interstellar) แต่มีมุมมองหรือประเด็นที่ต้องการนำเสนอแตกต่างกัน เรื่องนี้นำเสนอในมุมมองของการช่วยเหลือลูกเรือคนหนึ่งที่ติดค้างอยู่บนดาวอังคาร และรอการช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมทีมที่เดินทางกลับจากดาวอังคารไปแล้ว แต่เพิ่งรุ้ว่าเพื่อนที่ตกค้างอยู่ยังไม่ตาย จึงเกิดปฏิบัติการกลับไปช่วยเหลือ ในขณะที่ตัวมาร์ค วัตนีย์ (แมท เดม่อน) ตัวพระเอกของเรื่อง ก็ไม่นั่งรอชะตากรรมตามยถากรรม เขาพยายามทุกวิถีทางที่จะเอาชีวิตรอด เริ่มด้วยการ สำรวจดูว่ามีเสบียงอาหารอะไรอยู่บ้าง มีวัสดุอุปกรณ์ที่จะกู้ชีพได้นานเท่าใด คำนวณวันเวลาที่หน่วยกู้ชีพจะทราบและมาช่วยเหลือตนเองได้กินเวลาเท่าไร (อีก 4 ปี) เขาเกิดไอเดียที่จะปลูกพืชบนดาวอังคาร (ปลูกหัวมัน) โดยใช้ความรู้ที่เขามีจากการเป็นนักพฤกษศาสตร์กับนักวิทยาศาสตร์ การใช้ก้านไม้กางเขนมาเป็นเชื้อเพลงติดไฟ สันดาประหว่างออกซิเจนกับก๊าซไฮโดรเจนแท๊งค์เชื้อเพลง เพื่อจุดติดและทำปฏิกิริยาเคมีให้เกิดเป็นน้ำ (H20) ตามที่เราเคยเรียนมานั่นแหละ และเขาพยายามค้นหาดูว่าเมื่อปี 1976 เคยมีนักสำรวจอวกาศจากนาซ่าเคยมาทำการสำรวจแล้ว และได้ทิ้งเจ้าเครื่องแพทไฟน์เดอร์เอาไว้ ซึ่งเป็นต้นตอให้เขาลองทดลองใช้เจ้าเครื่องนี้ติดต่อกับกับเพื่อนที่อยู่นาซ่า จนสามารถสื่อสาร และพูดคุยความต้องการของเขาได้ โดยใช้รหัสเลข  และอาศัยการคำนวณองศาเป็นมุมและจังหวะที่หน้ากล้องของเจ้าเครื่องพาธไฟน์เดอร์หันไปในทิศใด วัตนีย์ก็เอาป้ายตัวอักษรไปวางให้ตรงกับมุมกล้องที่หันไปเพื่อจะสื่อข้อความกับทีมงานที่อยู่บนโลก นับว่าฉลาดมาก เขายังมีอารมณ์ขันกับการอำหัวหน้าลูกเรือของเขาว่ารสนิยมการฟังเพลงเชยมาก (ที่ทิ้งไฟล์เพลงเอาไว้แต่เป็นเพลงยุคดิสโก้) แต่ก็ช่วยให้ชีวิตบนดาวอังคารของเขาดูคึกคักได้อยู่ 

เรื่องย่อมีอยู่ว่า มาร์ค วัตนีย์ (Matt Damon) ผู้ถูกทิ้งไว้บนดาวอังคารเพียงลำพัง หลังจากที่เขาถูกพายุฝุ่นพัดรุนแรง จนกระเด็นออกไปนอกสถานีฐานสำรวจ เหล่าลูกเรือต่างเชื่อว่าเขาเสียชีวิตแล้ว แต่เขาก็ฟื้นขึ้นมาได้ เมื่อพบว่าตอนนั้นยานและลูกเรือเพื่อนร่วมทีมของเขาได้บินออกจากดาวอังคารไปหมดแล้ว เหลือเพียงเขาที่ดันมีชีวิตรอดอยู่บนดาวอังคารตามลำพัง และตัดสินใจที่จะทำทุกวิถีทาง เพื่อให้ได้กลับ "โลก" ซึ่งเป็นบ้านของเขา เขาทำทุกอย่างตั้งแต่การปลูกพืชไว้เป็นอาหารปะทังชีวิตให้อยู่จนถึงทีมกู้ชีพมาถึง การสร้างเครื่องผลิตไฟฟ้าจากพลังงานจากความร้อน (RTG) ด้วยตนเองแทนแบตเตอรี่สำรองที่มีใช้ไม่เพียงพอและต้องใช้อย่างประหยัด ,การผลิตน้ำจากเชื้อเพลิงถังไฮโดรเจน เพื่อใช้ในการปลูกผัก (ในเรื่องคือปลูกมันฝรั่ง) ,การค้นหาเครื่องแพตไฟน์เดอร์ไว้ติดต่อกับเพื่อนทีมงานที่ภาคพื้นดินบนโลก เป็นต้น ในส่วนของเพื่อนร่วมทีม และทีมงานภาคพื้นดินขององค์กรนาซ่าบนโลกนั้น จากตอนแรกที่ทุกคนเข้าใจว่ามาร์คได้เสียชีวิตแล้ว จนกระทั่ง (มีทีมงานหญิงคนหนึ่งตรวจพบการเคลื่อนไหวของภาพบนดาวเทียมบนพื้นผิวดาวอังคารว่ามีการเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหว จึงพยายามจับสังเกตและคอยเฝ้าดู )ค้นพบว่าเขายังไม่ตายนั้น หนังก็ได้แสดงให้เห็นถึงพลังของ "ความช่วยเหลือ" ที่มนุษย์มีให้กันในยามคับขัน (องค์กรอวกาศของจีนเข้ามามีส่วนในการยื่นมือจะให้ความช่วยเหลือโดยยานอวกาศของจีนกำลังแล่นอยู่ใกล้และมีเชื้อเพลิงหลงเหลืออยู่มากกว่ายานแอรีส 4 ของทีมสำรวจเพื่อนร่วมงานของวัตนีย์) (ซีนนี้เป็นความตั้งใจของทีมเขียนบทหรือไม่ที่ต้องการชูประเด็นความร่วมมือด้านมนุษยธรรมของมหาอำนาจจีน และอเมริกันในด้านอวกาศ โดยไม่แบ่งแยกอุดมการณ์ ความขัดแย้งระหว่างขั้วอำนาจ 2 ฝ่าย) และก็สะท้อนให้เห็นถึงกำลังใจที่ชาวโลกมีส่วนร่วมกันเวลาที่มีวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ๆ ทุกคนบนโลกมีส่วนร่วมลุ้นจากการถ่ายทอดสด ทำเหมือนเรียลลิตี้โชว์ไปทั่วโลก ผ่านจอทัชสกรีนบิลบอร์ดใหญ่บนตึกไทม์สแควร์ในนิวยอร์ก ทำให้คนดูร่วมลุ้นปฏิบัติการช่วยเหลือมาร์ค วัตนีย์กลับสู่โลกโดยสวัสดิภาพ ฉากนี้เมื่อตัวละครมีชะตากรรมชีวิตที่รอดจากภยันตรายแล้ว ทุกคนในหน่วยงานนาซ่า หรือคนดูที่ชุมนุมกันอยู่เรือนแสนบนจตุรัสไทม์สแควร์และจตุรัสเทียนอันเหมิน ต่างส่งเสียงร้องดีใจกันสุดๆ (เราอาจเคยชินกับฉากดีใจแบบนี้ในหลายๆเรื่องของหนังผจญภัยอวกาศของฮอลลีวู้ด จนกลายเป็นท่าบังคับที่ต้องมี แต่มันดูเป็นหนังสูตรสำเร็จมากเกินไป) แต่เอาเถอะ หนังก็มีส่วนดีในหลายๆ ประเด็นที่ทำให้คนดูได้ฉุกคิด และได้ความรู้ หรือได้เรียนรู้ร่วมกันกับตัวละคร และบทสรุปประเด็นเนื้อหาในเรื่องนี้ก็คือ “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จย่อมอยู่ที่นั่น”  ตัวละครไม่เลือกที่จะฟูมฟายเอาแต่กล่าวโทษเพื่อนร่วมทีมของตนที่ทิ้งตนเองไว้กลางดาวอังคาร ตรงกันข้ามเขากลับพยายามทำความเข้าใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และใช้สติกับความรู้เป็นเครื่องมือในการทำสิ่งต่างๆ เพื่อเอาชีวิตรอด ไม่ทำตัวเป็นภาระให้กับคนอื่น และยังพยายามคิดค้นหาวิธี บอกไอเดียหรือแนวความคิดของเขา สื่อให้กับผู้บังคับบัญชาและเพื่อนร่วมทีมได้รู้ว่าเขาจะทำอะไร เพื่ออะไร และจะเกิดผลอะไร ซึ่งเป็นการทำให้ปฏิบัติการช่วยชีวิตเขาทำได้เร็วและง่ายขึ้น พยายามขจัดปัญหาและอุปสรรคที่จะทำให้การปฏิบัติการครั้งนี้ประสบผลสำเร็จได้เร็วที่สุด ระหว่างทางแม้จะเกิดปัญหา อุปสรรคขึ้นมากมาย เขาก็ไม่เคยย่อท้อ และพยายามจะอาศัยสิ่งที่มีอยู่รอบตัวเท่าที่มีเหลืออยู่ในเวลานั้น มาถอดโจทย์แก้ปัญหาให้กับตนเอง เรื่องนี้ผู้เขียนคิดว่าคือสิ่งที่เยี่ยมที่สุดของหนัง และเป็นสารที่ดีที่สุดในหนังที่ต้องการสื่อให้กับคนดูรู้ว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรในชีวิตคุณ ไม่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นสิ่งที่คุณทำให้มันเกิดขึ้นหรือไม่ อย่ามัวแต่ไปนั่งหาสาเหตุหรือกล่าวโทษผู้ใด สิ่งที่คุณต้องทำในขณะนั้นก็คือ แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยสติและความรู้ ประสบการณ์ องค์ความรู้รอบตัวและที่คุณมีอยู่สำคัญมาก และต้องทำอย่างระมัดระวังอย่างเร็วที่สุด จะทำให้คุณรอดชีวิตได้ในที่สุด ถ้ามัวตีโพยตีพาย ฟูมฟายกับคนรอบข้างหรือกับตัวเอง ก็ไม่ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นหรือคลี่คลาย ตรงนี้ผู้เขียนขอปรบมือให้กับหนังเรื่องนี้ เป็นหนังที่ชอบที่สุดในช่วง 2-3 เดือนนี้ที่ได้ดู จริงๆ ตัวหนังไม่ได้ทำให้เครียดหรือดราม่าอะไรเลย ทีมเขียนบทพยายามจะสร้างคาแร็กเตอร์ของตัวละครอย่างมาร์ค วัตนีย์และตัวละครประกอบอื่นๆ ให้ดูมีอารมณ์ขัน และมองโลกในแง่บวก ทำให้โทนหนังลดความซีเรียสหรือดราม่าลงได้ จึงทำให้หนังไซไฟอวกาศเรื่องนี้ ดูไม่เครียด ทั้งๆ ที่ตัวบทและสถานการณ์มันเคร่งเครียดมาก ต้องทำงานแข่งกับเวลาและเสบียงอาหารของพระเอกที่ร่อยหรอลงเรื่อยๆ แมต เดม่อนในเรื่องนี้เล่นได้สมบทบาทและเป็นบทบาทที่ดีที่สุดของเขาด้วย (ในสายตาผู้เขียน) เขาแสดงให้เห็นถึงการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกทั้งช่วงที่ตนเองได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุในต้นเรื่อง ต้องช่วยเหลือทำบาดแผลให้ตนเอง การรับรู้ความรู้สึกว่าตนเองถูกเพื่อนทิ้งไว้กลางดาวอังคาร ความรู้สึกเหงาและหดหู่ การแสดงอารมณ์ขันหรือเล่นมุกในหลายซีน การแสดงในหลายๆ ฉากได้อารมณ์แบบเดียวกับทอม แฮ้งค์แสดงในเรื่อง cast away คือพูดและคิดอยู่กับตัวเอง การสบถด่าเพื่อนฝูงที่สนิทกัน การสบถด่าทีมงานหรือองค์กรที่ตนเองทำงานอยู่ กร่นด่ารัฐบาล หรือแม้แต่พัฒนาการของร่างกายจากต้นเรื่องที่ร่างกายอวบอั๋น (ล่ำสัน) จนท้ายเรื่องต้องกลายเป็นคนผอมโซ เนื้อหนังเหี่ยวย่นผอมเกร็งลงอย่างเห็นได้ชัด (ไม่รู้ว่าพี่เขาลงทุนในการลดน้ำหนักในการแสดงเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน แต่เราเห็นถึงการทุ่มเทแสดงอย่างเต็มที่ของแมตในเรื่องนี้)

นักแสดงนำเรื่องนี้มาอย่างคับคั่ง อาทิ Jessica Chastain (Interstellar, Zero Dark Thirty), Kristen Wiig (Bridesmaid, The Secret Live of Walter Mitty), Chiwetel Ejiofor (12 Years a Slave), Sean Bean (GOT, LOTR), Sebastian Stan (Captain America) และ Matt Damon (Bourne, Elysium)  นักบินอวกาศ  แม็ตต์ เดม่อน รับบท มาร์ก วัทนีย์ , เจสสิกา แชสเทน รับบท เมลิสซา ลิวอิส , ไมเคิล เปญา รับบท ริค มาร์ติเน , เคท แมรา รับบท เบธ โจแฮนส์เซน , เซบาสเตียน สแตน รับบท คริส เบ็ค   และ แอคเซล แฮนนี รับบท อเล็กซ์ โวเกล  นาซาและนักวิทยาศาสตร์  เจฟฟ์ แดเนียลส์ รับบท เท็ดดี แซนเดอส์ , ชิวอิเทล เอจิโอฟอร์ รับบท วินเซนต์ กาปูร์ , ฌอน บีน รับบท มิตช์ เฮนเดอร์สัน ,  เบเนดิกต์ หว่อง รับบท บรูซ และ โดนัลด์ โกลเวอร์ รับบท ริช เพอร์เนล

ประวัติส่วนตัวผู้กำกับ ริดลีย์ สก็อตต์

ท่านเซอร์ ริดลีย์ สก็อตต์ (Sir Ridley Scott) เกิดเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2480 ในประเทศอังกฤษ เป็นผู้กำกับภาพยนตร์  ริดลีย์ สก็อตต์ เรียนจบด้านออกแบบกราฟิก เริ่มต้นด้วยการเป็นฝ่ายออกแบบฉากที่บีบีซี และมาทำละครซีรีส์ หลังจากนั้นลาออกมากำกับโฆษณาและข้ามมาอเมริกา โดยกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกคือเรื่อง The Duellists หลังจากนั้นก็มีผลงานอยาง Alien (1979) , Blade Runner(1982), Legend, Black Rain, Thelma & Louise (1991), Gladiator(2000), Black Hawk Down (2001) ,Hannibal (2001), Matchstick Men (2003), Kingdom of Heaven (2005) และ American Gangster  (2007) ,ริดลีย์ สก็อตต์เป็นพี่ชายของโทนี่ สก็อตต์ ผู้กำกับภาพยนตร์ที่เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อไม่นานมานี้ ผลงานช่วงหลังที่สร้างชื่อให้เขาก็คือ Robinhood (2010), Prometheus (2012) ที่กำลังจะมีภาค 2 เร็วๆ นี้ , Exodus : Gods and King (2014) และ The Martian (2015)


เรื่องน่ารู้ก่อนดู The Martian


1.ดัดแปลงมาจากนิยายวิทยาศาสตร์

The Martian เป็นนิยายแนววิทยาศาสตร์ของแอนดี้ เวียร์ นักเขียนชาวอเมริกันที่เดิมทีประกอบอาชีพเป็นโปรแกรมเมอร์ ก่อนจะลาออกมาเป็นนักเขียน โดยหนังสือได้รับการตีพิมพ์ในปี 2011 และได้รับคำชื่นชมว่าเป็นนิยายวิทยาศาสตร์ที่สมจริงในแง่ของความถูกต้อง พร้อมทั้งยังแทรกสอดอารมณ์ขันและความบันเทิงได้อย่างลงตัว หนังสือมีเป็นภาษาไทยแล้วในชื่อ เหยียบนรกสุญญากาศ” 

2.เรื่องของชายผู้ถูกทอดทิ้งบนดาวอังคาร 

 ระหว่างภารกิจเดินทางสู่ดาวอังคาร มนุษย์อวกาศ มาร์ค วัทนีย์ (แมตต์ เดม่อน) ถูกคิดว่าเสียชีวิตหลังเกิดพายุรุนแรงและถูกทีมงานทิ้งไว้ แต่แวทนีย์กลับรอดชีวิตและพบว่าตัวเองอยู่อย่างโดดเดี่ยวลำพังบนดวงดาวที่โหดร้าย เขามีเพียงเสบียงอันน้อยนิด วัทนีย์ต้องใช้ความฉลาด ไหวพริบ และความมุ่งมั่นเพื่อการอยู่รอดและหาทางส่งสัญญาณกลับมายังโลกว่าเขายังมีชีวิตอยู่ จากระยะทางที่ไกลนับหลายล้านไมล์ นาซ่าและทีมนักวิทยาศาสตร์จากนานาชาติต่างพยายามนำมาร์คกลับบ้าน

3.ดีไซน์ตัวละครไม่ให้ดาร์คจนเกินไป

 ตัวผู้เขียนอย่างแอนดี้ เวียร์นั้นต้องการให้หนังมีอารมณ์ของการแก้ปัญหาของตัวละคร โดยที่เขาไม่ต้องการให้นิยายออกมาดาร์คและเล่าเรื่องราวอันน่าหดหู่ของชายที่ต้องต่อสู้กับความเครียดและความโดดเดี่ยวบนดาวอังคาร ดังนั้นตัวละครของมาร์ค จึงเป็นคนที่มีความเข้มแข็งและมุ่งมั่นมากกว่าคนทั่วไป ตัวละครนี้คือนักบินอวกาศที่ได้รับเลือกให้ไปปฏิบัติภารกิจบนดาวอังคารนั่นหมายถงเขาชนะคนนับพันกว่าจะมาถึงจุดจุดนี้ 

4.อวกาศเคยทำแมตต์ เดมอนสติแตกมาแล้วครั้งหนึ่ง

 ถ้ายังพอจำกันได้ในปีที่แล้วหนังอย่าง Interstellar แมตต์ เดมอนโผล่ไปรับบทรับเชิญกับการที่เขาหลุดไปอยู่บนดาวอันไกลโพ้นจนสติแตกมาแล้วรอบนึง ผ่านมาอีกหนึ่งปีตัวเขาเองยังแอบรู้สึกเลยว่านี่ผมก็ถูกเอาไปทิ้งอยู่บนดวงดาวอีกแล้ว เดมอนเลยระบายความรู้สึกนี้ให้กับริดลีย์ สก็อตต์ฟังตอนที่ทั้งสองได้นัดพูดคุยกันครั้งแรก แต่ริดลีย์ตอบกลับมาว่า หนังเรื่องนี้มันคนละแนวกันเลยนะ หนังต้องออกมาสนุกแน่ มาทำงานด้วยกันเถอะ” 

(เครดิต @พริตตี้ปลาสลิด,เว็บสนุกดอทคอม)

เข้าไปอ่านเกร็ดความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ได้จากหนังเรื่องนี้ในหน้าเพจของเด็กดีดอทคอมที่ลิ้งค์นี้เพิ่มเติม http://www.dek-d.com/writer/38581/

แถมเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้ที่ทำเอาคิดถึงยุครุ่งเรืองของเพลงดิสโก้ ได้แก่

 
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น