วันพุธที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2558

20 เรื่องที่เราควรรู้ (9) เกี่ยวกับคุณพ่ออเมริกาผู้น่ารัก ตอนที่ 9


ตอนที่ 9 เรื่องอื้อฉาวของประธานาธิบดีสหรัฐ (คดีวอเตอร์เกต และคดีลูวินสกี้)

คดีวอเตอร์เกต (Watergate scandal) คือเหตุการณ์หรือคดีอื้อฉาวทางการเมืองระหว่างช่วงต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1970 ในสหรัฐอเมริกา เป็นเหตุการณ์สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ลักลอบโจรกรรมสำนักงานใหญ่ของพรรคเดโมแครต ณ อาคารวอเตอร์เกตคอมเพลกซ์ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1972 ในขณะที่คณะทำงานของประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน พยายามปกปิดหลักฐานถึงการข้องเกี่ยวในเหตุโจรกรรมดังกล่าว จนในที่สุดเรื่องอื้อฉาวนี้นำไปสู่การลาออกของประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ค.ศ. 1974 ซึ่งเป็นการลาออกครั้งแรกและครั้งเดียวของประธานาธิบดีในประวัติศาสตร์อเมริกัน เหตุการณ์นี้ยังนำไปสู่การฟ้องร้อง, การไต่สวน, การลงโทษ และการจำคุกบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้ง 43 คน รวมไปถึงคณะทำงานระดับสูงของรัฐบาลนิกสันอีกหลายสิบคน เหตุอื้อฉาวเริ่มต้นขึ้นด้วยการจับกุมชายห้าคนในคดีลักลอบโจรกรรมข้อมูลในที่ทำการใหญ่พรรคเดโมแครต ณ อาคารวอเตอร์เกตคอมเพลกซ์ เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ค.ศ. 1972 โดยสำนักงานสอบสวนกลางแห่งสหรัฐอเมริกา (เอฟบีไอ) เชื่อมโยงเส้นทางการเงินของคนร้ายทั้งห้าคนจนสาวไปถึงกองทุนหนึ่ง ซึ่งเป็นกลุ่มระดมทุนสำหรับการลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่สองของนิกสัน ขณะที่หลักฐานทั้งหมดพุ่งชี้ไปยังคณะทำงานของประธานาธิบดี รวมไปถึงพนักงานเบิกความฟ้องในคณะทำงานสืบสวนคดีวอเตอร์เกตซึ่งตั้งโดยวุฒิสภา ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1973 คณะสอบสวนเปิดเผยว่าภายในห้องทำงานของประธานาธิบดีนิกสันมีระบบบันทึกเสียงอยู่ และได้บันทึกการสนทนาต่างๆ เอาไว้มากมาย ใจความจากเทปบันทึกเสียงเหล่านั้นชี้ให้เห็นว่าประธานาธิบดีนิกสันเคยพยายามที่จะปกปิดถึงการมีส่วนรู้เห็นในการโจรกรรมข้อมูล ณ ที่ทำการพรรคเดโมแครต หลังจากมีการต่อสู้ฟ้องร้องคดีความจำนวนมากมายหลายรอบในชั้นศาล ศาลฎีกาสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกามีคำตัดสินให้ประธานาธิบดีต้องส่งมอบเทปบันทึกเสียงทั้งหมดแก่พนักงานสืบสวนของรัฐ นิกสันจึงต้องจำยอมส่งมอบเทปตามคำตัดสิน หลังจากเผชิญแรงกดดันจากสังคม, การฟ้องร้องในสภาผู้แทนราษฎร และมีความเป็นไปได้สูงว่าวุฒิสภาจะมีมติลงโทษประธานาธิบดี นิกสันจึงลาออกจากการเป็นประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา ณ วันที่ 9 สิงหาคม ค.ศ. 1974 ซึ่งประธานาธิบดีคนต่อมา เจอรัลด์ ฟอร์ด ได้ทำการนิรโทษกรรมให้แก่นิกสัน คดีดังกล่าวนี้ถูกสอบสวนโดยผลมาจากการที่เดอะวอชิงตันโพสต์ หนังสือพิมพ์ชื่อดังของอเมริกา คอยผลักดันและติดตามข่าวสารโดยตลอด ทำให้สำนักงานสืบสวนสอบสวนกลางหรือเอฟบีไอ จำเป็นต้องทำการสืบสวนและผลักดันตนเองให้พ้นจากอำนาจของนิกสัน (คัดลอกจากวิถีพีเดีย สารานุกรมออนไลน์)

คดีวอเตอร์เกตมีจุดเริ่มต้นที่ โรงแรมวอเตอร์เกต วอชิงตัน ดีซี ในวันที่ 17 มิถุนายน 1972 ยาม ซึ่งโรงแรมนี้เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ระดับชาติของพรรคเดโมแครต ตอนนั้นเป็นเวลากลางคืน บังเอิญเจ้าหน้าที่โรงแรมได้สังเกตเห็นสิงผิดปกติในที่ทำการพรรคเดโมแครต จึงโทรเรียกตำรวจ ส่งผลสามารถจับกุมผู้ต้องหา 5 คนได้พร้อมของกลาง ผู้ต้องหาเหล่านี้ประกอบด้วยนายเบอร์นาร์ด บาร์เกอร์, เวอร์จิลิโอ กอนซาเลซ, ยูจินิโอ มาร์ติเนซ, เจม แม็คคอร์ด และแฟรงค์ สเตอร์กิส โดยก่อนหน้านี้กลุ่มคนร้ายเคยแอบเข้าในออฟฟิศแห่งนี้แล้วเมื่อ 3 สัปดาห์ก่อนถูกจับ ต่อมาตำรวจพบว่า บรรดาคนที่ถูกจับเหล่านี้ไม่ใช้โจรกระจอก เพราะแต่ละคนต่างทำงานให้แก่สำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (ซีไอเอ)โดยชายทั้ง 5 ได้รับคำสั่งให้บุกเข้าไปขโมยข้อมูลที่พรรคเตรียมไว้เพื่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งใหม่แข่งกับริชาร์ด นิกสัน เจ้าของตำแหน่งเดิม ในตัวผู้ต้องหาคนหนึ่งมีเบอร์โทรศัพท์ของที่ปรึกษาประจำทำเนียบขาว และในบัญชีของผู้ต้องหาอีกคนหนึ่ง มีเงิน 25,000 เหรียญที่ขึ้นด้วยแคชเชียร์เช็คประทับตรา นอกจากนั้นเอฟบีไอยังเจอบันทึก มีชื่อย่อที่อาจหมายถึงทำเนียบข่าวก็ได้ เช่น W.House และ W.H (White House) ต่อมาคณะกรรมการเลือกตั้งประธานาธิบดี รัฐสภาสหรัฐจึงตัดสินใจตั้งคณะกรรมการสอบสวนคดีวอเตอร์เกตขึ้น จากการสอบสวนพบว่า ในสมุดโน้ตของแม็คคอร์ด หนึ่งในคนร้าย มีหมายเลขโทรศัพท์ของโฮเวิร์ด ฮันต์ อดีตเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวคนหนึ่ง ซึ่งทำให้สันนิษฐานได้ว่า คดีนี้น่าจะมีเงื่อนงำทางการเมือง นอกจากนี้แม็ค คอร์ดยังสารภาพกับศาลด้วยว่า เขาเป็นอดีตเจ้าหน้าที่ซีไอเอปลดเกษียณ ต่อมาแฟรงค์ วิลส์ ยามรักษาความปลอดภัยประจำส่วนที่เป็นสำนักงานของโรงแรมพบว่า มีเศษเทปติดอยู่ที่ประตูห้องใต้ดินของอาคารส่วนที่เปิดไปโรงรถ ซึ่งทำให้ประตูไม่ได้ล็อก ตอนแรกเขาคิดว่าคนทำความสะอาดอาจจะลืมไว้จึงดึงออก แต่เมื่อกลับมาดูอีกครั้งก็พบว่ามีเทปติดอยู่อีก วิลส์จึงติดต่อไปยังตำรวจวอชิงตันดี.ซี. แต่กระนั้นการสอบสวนของเอฟบีไอก็ไม่ได้ราบรื่นมากนัก เพราะถูกซีไอเอคอยดึงเรื่องและขัดขวาง เหมือนกับว่าต้องการให้เอฟบีไอไขว้เขวและวางมือ  ช่วง 1972 ความตึงเครียดระหว่างทำเนียบขาวกับเอฟบีไอขมึงตึงยิ่งขึ้น ถึงขั้นเผชิญหน้า ทำเนียบขาวหาทางขัดขวางการสอบสวนคดีวอเตอร์เกตอยู่เนืองๆ ทำให้การสอบสวนดำเนินไป 3 เดือน ปรากฏว่า ไม่มีหลักฐานว่ามีเจ้าหน้าที่ทำเนียบข่าวคนใดเกี่ยวข้อง ดูเหมือนทุกอย่างจะมาถึงทางตันเสียแล้ว ตีนแมวที่ดอดเข้าไปในตึกวอเตอร์เกต กลายเป็นโจรธรรมดาไม่มีการขยายผล ส่วนการเลือกตั้งประธานาธิบดี ปรากฏว่า นิกสันชนะการเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 2 ในปี 1972 ด้วยคะแนนท่วมท้น ระหว่างนั้นเอง ชื่อของ ดีพ โธรทก็ปรากฏตัวขึ้น เขาบอกว่าเป็นแหล่งข่าวลับ ที่พร้อมจะแฉคดีนี้ โดยเขาหวังว่าจะขยายคดีวอเตอร์เกต เขาจะคอยชี้ให้ว่าข้อมูลชิ้นไหนสำคัญชิ้นไหนไม่เกี่ยว ทำให้ข่าวได้ขึ้นหน้าหนึ่งของวอชิงตัน โพสต์ เป็นประจำ โดยมีนายบ็อบ วู้ดเวิร์ด และนายคาร์ล เบิร์นสไตน์ สองนักข่าวหัวเห็ดประจำหนังสือพิมพ์ วอชิงตัน โพสต์ เป็นผู้เปิดโปงคดีวอเตอร์เกต  การขุดคุ้ยและเปิดโปงเรื่องต่อเนื่องจากคดีวอเตอร์เกต ของวู้ดเวิร์ด ดำเนินไปนานนับเดือน สร้างแรงกดดันต่อทำเนียบขาวขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ทางการก็โกรธเกรี้ยวต่อดีพ โธรทมากขึ้นรุนแรงขึ้น แต่เขายังเพิ่มระดับการช่วยเหลือไปถึงขั้นเริ่มให้ข้อมูลชี้นำ เบาะแสที่จะนำไปสู่การเผยความจริงว่ามีการรู้เห็นสมรู้ร่วมคิดกันปกปิดความลับในทำเนียบขาว แน่นอนถ้าคดีนี้เป็นเรื่องจริงนี้ถือว่าเป็นเรื่องสกปรกมากในเรื่องของผู้นำที่ใช้อำนาจในทางที่ผิด ด้วยความกลัว นิกสันบีบให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของทำเนียบขาวต้องลาออก และไล่ที่ปรึกษาจอห์น ดีนออกเพื่อตัดตอนคดี จอห์น ดีนจึงตัดสินใจขึ้นให้การต่อสภาคองเกรสว่า นิกสันพยายามวิ่งเต้นบิดเบือนคดี และในทำเนียบขาวมีการติดตั้งเครื่องดักฟังอยู่ ซึ่งข้อความต่างๆ ในนั้น คื่อหลักฐานที่จะมัดตัวนิกสันได้อย่างดี แต่เมื่อหัวหน้าฝ่ายสอบสวนคดีวอเตอร์เกต เรียกขอเทปจากเครื่องดักฟังนี้ นิกสันปฏิเสธโดยอ้างสิทธิพิเศษของผู้บริหารที่ไม่อาจเปิดเผยข้อความที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ และไล่หัวหน้าคนนี้ออก ส่งผลให้ประชาชนพากันส่งจดหมายกว่า 450,000 ฉบับมาต่อว่า วิทยาลัยกฎหมายกว่า 17 แห่งเรียกร้องให้นำนิกสันขึ้นพิจารณาคดี จนนิกสันต้องยินยอมส่งเทปบันทึกเสียงให้ฝ่ายสืบสวนไปในที่สุด ปรากฎว่าเทปที่ส่งไปให้นั้นกลับมีช่วงว่างที่เสียงพูดหายไปเฉยๆ ถึง 18 นาทีครึ่ง แต่นิกสันเอาตัวรอดด้วยการโยนความผิดให้โรสแมรี่ วู้ดส์ เลขาส่วนตัวว่าเธอเผลอลบ ขณะที่วู้ดส์ปฏิเสธว่าเธอไม่ได้ทำ และถ้าพลาดจริงก็ไม่มีทางเกิน 4-5 นาทีแน่ๆ จากนั้น หลักฐานต่างๆ ก็ทยอยเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ จนรัฐสภามีมติให้นำตัวนิกสันขึ้นพิจารณาคดีและเตรียมถอดถอน และก่อนที่กระบวนการพิจารณาคดีจะเริ่มขึ้น ในวันที่ 9 สิงหาคม 1974 ริชาร์ด นิกสัน ก็กลายเป็นประธานาธิบดีเพียงคนเดียวในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกาที่ต้องลงเอยด้วยการประกาศลาออกจากตำแหน่ง แต่เขาได้รับการยกเว้นโทษในเวลาต่อมาโดยประธานาธิบดีฟอร์ด ขณะที่คนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกว่า 40 คนถูกตัดสินจำคุก ซึ่งมีตั้งแต่รอลงอาญา 1 เดือนจนถึงจำคุก 52 เดือน คดีวอเตอร์เกตได้สร้างชื่อเสียงให้แก่วูดเวิร์ดและเบิร์นสไตน์ และได้ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง "All The President's Men" ในปี 2519 ส่วนนามแฝง "ดีพโธรต" ยังเป็นที่จดจำนั้นเป็นเพราะเป็นชื่อเดียวกับชื่อหนังโป๊เรื่อง "Deep Throat" แม้ว่าตัวคดีจะจบไปนานแล้ว แต่ปริศนาของคดีนี้ยังมีอยู่ เมื่อหลายฝ่ายต่างอยากรู้ว่า คนแฉเรื่องคดีวอเตอร์เกตนั้นเป็นใคร โดยเฉพาะคนที่ใช้นามปากกาว่า "ดีพโธรท" ซึ่งเป็นแหล่งข่าวลับสุดยอด คนแฉข้อมูล ให้กับคนในสำนักพิมพ์ให้ฟัง แบบรู้เรื่องคดีนี้ทั้งหมด ราวกับตาเห็น จนประชาชนยกย่องเขาในฐานะ 'ฮีโร่' ที่คอยฟาดฟันกับบรรดานักการเมืองเหลิงอำนาจ อย่างที่รู้ๆ กัน คงไม่มีใครในรัฐบาลของนิกสันหรือข้าราชการคนไหน บ้าพอที่จะเอาคอตัวเองขึ้นเขียงด้วยการให้ข้อมูลกับนักข่าวในเรื่องนี้แล้วเห็นชื่อตัวเองปรากฏหราอยู่บนหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ฉบับวันรุ่งขึ้นแน่ 'ดีพโธรท' เลยกลายเป็นสัญลักษณ์ของแหล่งข่าวที่มีความลึกลับ แต่มีความน่าเชื่อถือ

และบังเอิญที่คดีนี้จบลงด้วยชัยชนะของสื่อมวลชน การอ้างอิงแหล่งข่าวที่ไม่มีการเปิดเผยชื่อจึงกลายเป็นการปฏิบัติที่ได้รับการยอมรับโดยปริยาย แต่ผลพวงที่ตามมาก็คือ สื่อมวลชนมะกันเริ่มอ้างอิง 'แหล่งข่าว' กันอย่างพร่ำเพรื่อ ปัญหาใหญ่ก็คือ ถ้าแหล่งข่าวมีความเป็นกลางหรือรู้จริงก็ว่าไปอย่าง หรือที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น แหล่งข่าวที่นักข่าวใช้อ้างอิงนั้นมีตัวตนจริงหรือเปล่า หรือเป็นแค่การอุปโลกน์หรือเป็นแค่การปั้นน้ำเป็นตัวเพื่อให้ข่าวมีความน่าเชื่อถือเท่านั้น นักข่าวหลายคนถูกจับได้คาหนังคาเขาว่ากุข่าวที่ตัวเองเขียนขึ้นมาเอง และแหล่งข่าวที่อ้างอิงในเรื่องนั้นไม่มีตัวตนด้วยซ้ำ เรื่องนี้กว่าจะไขได้ก็ปาไป 30 เมื่อวอชิงตันโพสต์ยอมเผยโฉม "ดีพโธรท" ว่า "ดีพโธรท" คือ ดับเบิลยู มาร์ค เฟลท์ อดีตผู้นำหมายเลข 2 ของสำนักงานสืบสวนสอบสวนกลางสหรัฐ (เอฟบีไอ) ซึ่งผู้เปิดโปงคดีอื้อฉาววอเตอร์เกต ในช่วงที่ความสัมพันธ์ระหว่างทำเนียบขาวกับเอฟบีไอ กำลังตึงเครียดถึงที่สุด โดยปัจจุบันนายเฟลท์ ซึ่งขณะนี้มีอายุ 91 ปีแล้วและอาศัยอยู่ในเมืองซานตา โรซา รัฐแคลิฟอร์เนีย ได้สารภาพกับครอบครัวและนิตยสารฉบับนี้ว่าตัวเองคือแหล่งข่าวลับสุดยอดของวอชิงตัน โพสต์ หรือที่รู้จักกันในชื่อของดีพโธรท หลังจากเก็บงำเรื่องนี้ไว้เป็นความลับตลอดมา แม้แต่คนในครอบครัวก็ไม่มีใครล่วงรู้ หนำซ้ำยังขอร้องให้นายวู้ดเวิร์ด และนายเบิร์น สไตน์ รวมทั้งนายเบ็น แบรดลี บรรณาธิการของวอชิงตัน โพสต์ในช่วงนั้นไม่ให้แพร่งพรายเรื่องนี้ให้ใครรู้จนกว่าจะถึงวันที่ตัวเองสิ้นลม แต่ปริศนาก็ตามมาอีก ว่านายเฟลท์ เขาแฉคดีนี้เพื่อชาติจริงหรือ?? ในตอนที่คดีวอร์เตอร์เกตกำลังดังใครๆ ต่างรู้กันอยู่ว่า ดับเบิลยู มาร์ก เฟลต์ คาดหวังตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานสอบสวนกลางของสหรัฐ(เอฟบีไอ)มาก ด้วยคุณสมบัติครบถ้วน ทั้งความสามารถ การยอมรับ และประสบการณ์ แต่ที่เขายังเป็นหมายเลข 2 อยู่ก็เพราะ ประธานาธิบดีริชาร์ด เอ็ม นิกสัน ไม่ชอบแล้วมอบตำแหน่งสูงสุดของเอฟบีไอให้คนสนิท ทำให้ ดีพ โธรทถือกำเนิดขึ้นมาพร้อมด้วยวลีอมตะที่เขาให้เบาะแสนักข่าว "ลองตามเส้นทางของเงินดูสิ" ซึ่งความจรืงเฟลต์อำลาจากเอฟบีไอ ตั้งแต่ก่อนที่นิกสันจะลาออกเสียอีกเพราะเข้ากับหัวหน้าใหม่ไม่ได้ และเมื่อนิกสันลาออกไปแล้ว ดีพโธรท เป็นใครยังคงไม่มีใครทราบ แม้สหรัฐมีประธานาธิบดีต่อมาอีก 7 คน เขาก็ไม่ยอมเผยตัว ทั้งๆ ที่รู้ว่าถ้าเผยตัวเมื่อใด ชื่อเสียงเงินทองจะหลั่งไหลเข้ามา ในรูปแบบของหนังสือเรื่องจริง มีการทำเป็นภาพยนตร์และรายการพิเศษต่างๆ ทางทีวีแน่นอน แต่ทุกคนที่เกี่ยวข้องยังคงรักษาความลับและปิดปากเงียบ เรื่องนี้เฟลต์บอกว่าเขาอยากให้เรื่องนี้เป็นความลับเรื่องนี้ตายไปกับตัว เพราะเขารู้สึกว่าสิ่งที่กระทำไปนับเป็นความ 'ไม่ซื่อสัตย์' ต่อองค์กรและหน้าที่ จนกระทั่งหลายปีผ่านไป โจอัน เฟลต์ บุตรีซึ่งปัจจุบันวัย 61 ปี เริ่มระแคะระคายว่าบิดาคือแหล่งข่าวนิรนามซึ่งกล้าหาญผู้นั้นและเขาก็ต้องทนทุกข์ทรมานอยู่กับความลับของตัวเอง ในที่สุดก็ตัดสินใจได้ว่าสิ่งที่เฟลต์ทำไป น่าจะเรียกว่าเป็นการแสดงความรักชาติอย่างแท้จริงมากกว่า พวกเขาจึงเสนอว่าน่าจะหาคนนอกมาเป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องราวก่อนที่เรื่องนี้จะถูกลืมและเลือนหายไป จอห์น ดี.โอคอนเนอร์ ทนายความจากซาน ฟรานซิสโก ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องราวต่อสังคม วู้ดเวิร์ด กล่าวถึง ดีพ โธรท ระหว่างบรรยายในมหาวิทยาลัยเมื่อปี 2003 ว่า "เขาจำต้องโกหกครอบครัว เพื่อนฝูง และเพื่อนร่วมงาน และปฏิเสธที่จะช่วยเรา" อาจมีคนเห็นว่าเฟลต์คือคนทรยศที่ไขความลับขององค์กร แต่เมื่อบวกลบคูณหารลงแล้ว ดีพ โธรท ถือว่าเป็นวีรบุรุษนิรนามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของอเมริกา แม้ว่าสถานการณ์อาจมีส่วนผลักดันอยู่บ้าง แต่การที่ใครจะลุกขึ้นมาทำในสิ่งที่ขัดกับแนวทางขององค์กรที่ตัวเองเชื่อมั่นเพื่อจะได้คงไว้ซึ่งความจริงและสิ่งที่ถูกต้อไม่ใช่เรื่องง่าย และเฟลต์ยังต้องรับผลของการกระทำของตัวเองมาตลอด แม้ว่าจะภูมิใจได้แต่เขายังตำหนิตัวเองเสมอ เหมือนถูกจองจำอยู่ในคุกในจิตใจที่เขาสร้างมันขึ้นมาเองมาตลอดกว่า 30 ปีที่ผ่านมา คดีวอเตอร์เกตก็เป็นเครื่องยืนยันอีกครั้งว่าในประเทศอเมริกาหรือประเทศไหนๆ บนโลก ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมายได้ แม้แต่ประธานาธิบดีก็ตาม รวมถึงกลายเป็นบรรทัดฐานของการทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนที่ทำให้ความจริงได้ปรากฏและสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมได้ (คัดลอกจากหน้าเพจของคุณ bluksky ใน edozone blog, https://blog.eduzones.com/bluesky/25721)

คดีลูวินสกี้ (Monica Lewinsky) นอกเหนือจากคดีวอเตอร์เกตในสมัยประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสันของสหรัฐอเมริกาแล้ว คงไม่มีคดีใดจะอื้อฉาวลือลั่นเท่ากับ คดีลูวินสกี้ที่เคยสั่นคลอนเก้าอี้ประธานาธิบดีบิล คลินตัน จนเกือบจะถูกไต่สวนถอดถอนออกจากตำแหน่ง และหมดสิ้นอนาคตทางการเมือง ฝันร้ายเมื่อ 19 ปีก่อน กำลังกลับมาหลอกหลอนครอบครัวคลินตันอีกครั้ง เมื่ออดีตนักศึกษาฝึกงานทำเนียบขาวร่างอวบ โมนิก้า ลูวินสกี้ได้ออกมาเปิดเผยความจริงเป็นครั้งแรก ขณะวัย 40 เศษ โดยจับปากกาถ่ายทอดความทรงจำสุดทรมาน ผ่านนิตยสารแวนิตี้แฟร์ ฉบับล่าสุดว่า...ฉันรู้สึกเสียใจมากต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างฉันกับประธานาธิบดีคลินตัน ขอให้ฉันได้พูดย้ำอีกครั้งว่า ฉันเสียใจจริงๆกับสิ่งที่เกิดขึ้น!!อย่างไรก็ดี เธอยืนกรานว่า ความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับประธานาธิบดีคลินตัน เกิดจากความยินยอมพร้อมใจทั้งสองฝ่าย แม้ความจริงแล้วเขาจะเป็นเจ้านายเธอ ส่วนคำครหาอื่นๆเกิดขึ้นหลังจากเธอถูกโยนความผิดเป็น แพะรับบาปเพื่อช่วยปกป้อง บิล คลินตันให้รอดพ้นจากการถูกไต่สวนเพื่อถอดถอนออกจากตำแหน่ง เธอเขียนเตือนใจตัวเองด้วยว่า ถึงเวลาแล้วที่ฉันจะต้องเผาหมวกไบเรต์และฝังชุดเดรสสีน้ำเงิน!!สำหรับคนที่ติดตามคดีน้ำกระฉอกที่ทำเนียบขาวมาอย่างใกล้ชิด คงจะทราบดีถึงความสำคัญของชุดเดรสสีน้ำเงินยี่ห้อ Gap อันลือลั่น ซึ่งกลายเป็นหลักฐานสำคัญมัดตัวประธานาธิบดีคลินตันจนดิ้นไม่หลุด เพราะมีการตรวจพบคาบคาวสวาทของประธานาธิบดีคลินตันบนชุดเดรสดังกล่าว ซึ่งถูกเก็บไว้อย่างดีโดยไม่เคยซัก จากตอนแรกที่ยังปากแข็งปฏิเสธไม่เคยนอกใจเมียแม้แต่ครั้งเดียว เจอหลักฐานเด็ดขนาดนี้ ประกอบกับคลิปเสียงโทรศัพท์ที่ ลูวินสกี้ถูกเพื่อนซี้หักหลังนำมาแฉ งานนี้ คลินตันจึงรับสารภาพว่า มีความสัมพันธ์กับโมนิก้า ลูวินสกี้จริง!! แต่แค่ออรัลเซ็กซ์เท่านั้น ทั้งคู่ลอบมีความสัมพันธ์กันตอนที่ ลูวินสกี้เป็นนักศึกษาฝึกงานในทำเนียบขาว ระหว่างเดือน พ.ย.1995 ถึงเดือน เม.ย.1996 กระนั้น ลูวินสกี้ได้ถูกย้ายจากไวท์เฮาส์ไปอยู่เพนตากอน เนื่องจากหัวหน้าเห็นว่าเธอใกล้ชิดสนิทสนมกับประธานาธิบดีคลินตันมากเกินไป แต่หลังจากนั้นทั้งคู่ก็ยังลอบมีความสัมพันธ์กันอีกจนถึงปี 1997 กระทั่งเพื่อนร่วมงานของฝ่ายหญิง ลินดา ทริปป์แอบบันทึกคำสนทนาทางโทรศัพท์ที่ ลูวินสกี้เผยความจริงว่ามีสัมพันธ์ลับกับประธานาธิบดีคลินตัน และนำคลิปลับดังกล่าวส่งให้อัยการอิสระ เคนเน็ธ สตาร์ซึ่งกำลังสืบสวนคดีทุจริตของคลินตัน คดีไวท์วอเตอร์จนนำมาขยายผลครึกโครมไปทั้งโลก ครั้งนั้น ลูวินสกี้ยอมรับว่า เคยออรัลเซ็กซ์ด้วยปากกับประธานาธิบดีคลินตันในห้องทำงานรูปไข่ แต่ไม่เคยได้เสียกันจริงๆ สมัยเป็นผู้ว่าการรัฐอาร์คันซอ คลินตันก็เคยก่อคดีหัวงูลวนลามลูกน้องผู้หญิงมาแล้วหลายคน รวมถึง พอลล่า โจนส์ซึ่งลุกขึ้นมาฟ้องร้องเอาเรื่อง ผลจากคดีลือลั่นทำเนียบขาว ทำให้ โมนิก้า ลูวินสกี้ต้องหนีหน้าไปจากแวดวงสังคมพักใหญ่ เธอเก็บเนื้อเก็บตัวไม่กล้าออกไปไหน และเอาแต่ถักนิตติ้งสงบสติอารมณ์ เพราะถูกชาวบ้านขว้างปาสิ่งของใส่หน้าต่าง และหน้าบ้านก็เต็มไปด้วยกองทัพนักข่าว ผ่านไปถึง 2 ปีเต็ม เธอจึงกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง โดยไปเป็นแขกรับเชิญออกรายการทีวีหลายรายการ และร่วมเขียนหนังสือชีวประวัติบอกเล่าเรื่องราวส่วนตัว “Monica’s Story” รวมถึงชีวิตบางเสี้ยวที่เกี่ยวข้องกับประธานาธิบดีคลินตัน โกยรายได้เข้ากระเป๋าหลายล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เธอยังออกไลน์กระเป๋าของตัวเอง โดยดีไซน์เองและขายเองทางออนไลน์ จากนั้นก็ได้รับการชักชวนให้เป็นพรีเซ็นเตอร์รายการทีวีโปรแกรมลดความอ้วน ก่อนจะไปเฉิดฉายเป็นดาวสังคมในนิวยอร์กซิตี้ และเป็นพิธีกรรายการทีวีดังหลายรายการ แต่ด้วยความเบื่อหน่ายที่ตกเป็นเป้าขุดคุ้ยของสื่อไม่เลิก เธอจึงตัดสินใจหนีไปเรียนต่อปริญญาโท ด้านจิตวิทยาสังคม ที่ลอนดอนสคูลออฟ อีโคโนมิกส์ ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ แม้จะเคยมีแฟนมาบ้าง แต่ ลูวินสกี้ก็ยอมรับว่าในหัวใจไม่เคยลืมผู้ชายที่ชื่อ บิล คลินตัน  (คัดลอกจากหน้าเพจข่าวไทยรัฐออนไลน์ บทความที่ชื่อ “เบื้องหลังกระฉอกทำเนียบขาว จากปากคำของ โมนิก้า ลูวินสกี้”  เขียนโดย มิสแซฟไฟร์ ,10 พ.ค.2557)



ประวัติโมนิกา ลูวินสกี (Monica Samille Lewinsky) เกิดเมื่อ 23 กรกฎาคม 1973 เป็นสตรีชาวอเมริกันซึ่งอดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน ได้ยอมรับว่ามี "ความสัมพันธ์ไม่เหมาะสม" (inappropriate relationship) ในช่วงที่ลูวินสกีเป็นนักศึกษาฝึกงานในทำเนียบขาว ระหว่างปี 1995-1996  ซึ่งส่งผลให้เกิดการถอดถอน (Impeachment) คลินตันจากตำแหน่งประธานาธิบดี โดยรู้จักกันในชื่อ คดีลูวินสกี  ลูวินสกีเกิดในเมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย จบการศึกษาสาขาจิตวิทยาจาก วิทยาลัยลูวิสแอนด์คลาร์ก ในรัฐออริกอน และย้ายมาอยู่วอชิงตันดีซีในฐานะนักศึกษาฝึกงานของทำเนียบขาว ช่วงเวลาระหว่างวันที่ 15 พฤศจิกายน 1995 จนถึง 7 เมษายน 1996 โมนิกาได้มีความสัมพันธ์ทางเพศกับประธานาธิบดีบิล คลินตัน โดยในภายหลังทั้งเธอและประธานาธิบดีได้ยอมรับว่ามีความสัมพันธ์โดยใช้ปาก (ออรัลเซ็กส์) ไม่ได้มีการร่วมเพศแต่อย่างใด  ลูวินสกีออกจากทำเนียบขาวช่วงเดือนเมษายน 1996 เนื่องจากหัวหน้าของเธอเห็นว่าเธอใกล้ชิดกับคลินตันมากเกินไป แต่เธอยังมีความสัมพันธ์กับเขาอีก 2 ครั้งเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ และ 29 มีนาคม 1997 ในเดือนกันยายน 1997 อดีตเพื่อนร่วมงานของลูวินสกีชื่อลินดา ทริปป์ (Linda Tripp) ได้บันทึกคำสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่างเธอกับลูวินสกีเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับคลินตัน เทปม้วนนี้กลายเป็นหลักฐานสำคัญให้กับอัยการอิสระ เคนเนธ สตาร์ ซึ่งขณะนั้นกำลังสืบสวนคดีทุจริตของคลินตันที่รู้จักกันในชื่อ คดีไวต์วอเตอร์ ทำให้อัยการเคนเนธ สตาร์ได้ขยายผลมาสนใจคดีชู้สาวอื่นๆ ของคลินตันในเวลาต่อมา ในการสอบสวน ลูวินสกียอมรับว่ามีความสัมพันธ์ทางเพศด้วยปากกับประธานาธิบดีคลินตัน ในห้องทำงานรูปไข่ (โอวัลออฟฟิศ) ในปีกตะวันตกของทำเนียบขาว
 
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น