รอยเตอร์ / เอเจนซีส์ / ASTV
ผู้จัดการออนไลน์ – รัฐมนตรีต่างประเทศอียิปต์
ซอเมห์ ชูกรี ออกโรงให้สัมภาษณ์ในวันเสาร์ ( 3 ต.ค.) โดยระบุ
การแทรกแซงของรัสเซียเพื่อกวาดล้างกลุ่มก่อการร้ายในซีเรียได้ช่วยสร้างความเสียหายใหญ่หลวงแก่กลุ่มรัฐอิสลาม
(ไอเอส) และจะช่วยสกัดการแพร่กระจายของลัทธิสุดโต่งในภูมิภาค “การเข้ามาของรัสเซียเป็นสิ่งที่ทำให้เราเชื่อมั่นว่า
จะส่งผลอย่างสำคัญยิ่งในการจำกัดการแพร่กระจายของการก่อการร้ายในซีเรีย
และน่าจะนำไปสู่การขุดรากถอนโคนภัยคุกคามนี้ได้ในที่สุด” ซอเมห์
ชูกรี รัฐมนตรีต่างประเทศอียิปต์ กล่าวระหว่างการให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ในวันเสาร์
( 3 ต.ค.) ที่ผ่านมา
รัฐบาลอียิปต์มักหลีกเลี่ยงการแสดงออกใดๆ ที่อาจจะถูกมองว่า
เป็นการให้การสนับสนุนต่อระบอบการปกครองของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด
แห่งซีเรียโดยตรง ทั้งนี้เนื่องจากหวั่นเกรงว่า การกระทำดังกล่าว
อาจเป็นการสร้างความไม่พอใจให้กับซาอุดีอาระเบีย ชาติผู้นำมุสลิมฝ่ายสุหนี่
ที่เป็นชาติพันธมิตรสำคัญของอียิปต์ เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า รัฐบาลซาอุฯ
มีจุดยืนที่เด่นชัดที่ต้องการโค่นล้มระบอบการปกครองของอัสซาดในซีเรีย ที่นำโดยพวกมุสลิมนิกายอะลาวิตที่เป็นแขนงย่อยของฝ่าย
“ชีอะห์” อย่างไรก็ดี
ท่าทีล่าสุดของรัฐมนตรีต่างประเทศอียิปต์
ถือเป็นการแสดงออกล่าสุดถึงสายสัมพันธ์ที่อบอุ่นแน่นแฟ้นระหว่างอียิปต์กับรัสเซีย
และเป็นการตอกย้ำถึงข้อเรียกร้องของประธานาธิบดีอับเดล ฟัตตาห์ เอล-ซีซี
ผู้นำอียิปต์ ระหว่างการเดินทางเยือนรัสเซียเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
ที่ต้องการให้ไคโรและมอสโก
ผนึกกำลังกันต่อสู้กับภัยก่อการร้ายในภูมิภาคตะวันออกกลาง ความเคลื่อนไหวล่าสุดของฝั่งอียิปต์ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดใน
“โลกอาหรับ” มีขึ้นภายหลังจากที่รัสเซียเปิดการโจมตีทางอากาศ
ต่อกลุ่มไอเอส และกลุ่มก่อการร้ายอื่นๆ ในซีเรียเมื่อวันพุธ (30 ก.ย.) ที่ผ่านมา
ซึ่งถือเป็นการแสดงบทบาทแทรกแซงทางทหารต่อภูมิภาคตะวันออกกลางครั้งใหญ่ที่สุดของรัสเซียในรอบหลายสิบปี
และว่ากันว่า นี่อาจเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญต่อสงครามกลางเมืองในซีเรียที่ปะทุขึ้นตั้งแต่เมื่อปี
2011 และยืดเยื้อจนกำลังจะก้าวเข้าสู่ขวบปีที่ 5 ก่อนหน้านี้ประธานาธิบดี
วลาดิมีร์ ปูตินแห่งรัสเซีย ออกโรงยืนยันว่า
เขาสั่งการโจมตีทางอากาศต่อกลุ่มไอเอสในซีเรีย และว่านี่เป็นส่วนหนึ่งในความพยายามของรัสเซียในการให้การสนับสนุนต่อรัฐบาลซีเรียภายใต้การนำของอัสซาด
ที่ถือเป็นหนึ่งในพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับรัสเซียที่สุดในภูมิภาคนี้
รอยเตอร์
- รัสเซียเดินหน้าถล่มซีเรียเป็นวันที่ 3 ในวันศุกร์ (2 ต.ค.)
แต่เป้าหมายส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ยึดครองโดยฝายกบฏ ศัตรูของประธานาธิบดีบาชาร์
อัล-อัสซาด แทนที่จะเป็นนักรบรัฐอิสลาม (ไอเอส) ตามที่กล่าวอ้าง
เรียกปฏิกิริยาขุ่นเคืองหนักขึ้นจากตะวันตกและกระพือเสียงเรียกร้องจากสหรัฐฯ
ที่ขอให้ยุติโจมตีเป้าหมายอื่นๆ ที่ไม่ใช่ไอเอส พันธมิตรที่นำโดยสหรัฐฯ
ซึ่งกำลังปฏิบัติการโจมตีทางอากาศกำราบไอเอสในซีเรียเช่นกัน
เรียกร้องรัสเซียระงับการถล่มเป้าหมายอื่นๆ ที่ไม่ใช่พวกหัวรุนแรงกลุ่มนี้ “เราเรียกร้องรัสเซียระงับการโจมตีฝ่ายค้านซีเรียและพลเมืองในทันที
และขอให้พุ่งเป้าไปที่ความพยายามต่อสู้กับไอเอส” ถ้อยถ้อยแถลงพันธมิตรที่ประกอบด้วยสหรัฐฯ
ชาติมหาอำนาจหลักๆ ของยุโรป กลุ่มประเทศอาหรับและตุรกี คำแถลงระบุต่อว่า “เราแสดงความกังวลใหญ่หลวงในเรื่องที่รัสเซียเสริมกำลังพลในซีเรีย
และโดยเฉพาะต่อการโจมตีของกองทัพอากาศรัสเซียในเมืองฮามา ฮอมส์ และอิดลิบ
ตั้งแต่เมื่อวานนี้ (วันพฤหัสบดี)
ซึ่งทำให้พลเมืองต้องสูญเสียชีวิตและไม่ได้มีเป้าหมายที่พวกไอเอส” วอชิงตัน เหล่าชาติตะวันตกและพันธมิตรอาหรับ กล่าวหารัสเซียกำลังใช้การทำสงครามร่วมต่อต้านไอเอสเป็นข้ออ้างในการโจมตีกลุ่มต่างๆ
ที่ได้รับการสนับสนุนจากพวกเขา เพื่อปกป้องรัฐบาลของนายอัสซาด
ที่เป็นพันธมิตรของมอสโกมาตั้งแต่สมัยสงครามเย็น
โดยบางกลุ่มที่ถูกโจมตีนั้นได้รับการฝึกฝนและสนับสนุนทางอาวุธจากศัตรูต่างชาติของนายอัสซาด
ในนั้นรวมถึงสหรัฐฯ ในวันศุกร์
(2 ต.ค.) ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย
พูดคุยอย่างเย็นชากับนายฟรังซัวส์ ออลลองด์ ประธานาธิบดีฝรั่งเศสในปารีส
นับเป็นครั้งแรกที่ปูติน พบปะกับผู้นำตะวันตก ตั้งแต่มอสโกเริ่มดำเนินปฏิบัติการโจมตีทางอากาศต่อซีเรียวันพุธ
(30 ก.ย.) หลังจากเขาใช้เวทีประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ
กล่าวสุนทรพจน์สนับสนุนนายอัสซาด มอสโกบอกว่า ในวันศุกร์ (2 ต.ค.)
พวกเขาปฏิบัติการโจมตีทางอากาศต่อเป้าหมายรัฐอิสลาม 12 จุด
แต่รอยตอร์ระบุว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ที่รัสเซียกล่าวอ้าง
อยู่ทางตะวันตกและทางภาคเหนือของประเทศ ขณะที่พวกไอเอสนั้น
ส่วนใหญ่แล้วจะอยู่ทางภาคตะวันออก กระทรวงกลาโหมรัสเซียบอกว่าเครื่องบินรบ ซูคอย-34
ซูคอย-24M และซูคอย-25 ถล่มเป้าหมายต่างๆ
ในนั้นรวมถึงป้อมบัญชาการและศูนย์ติดต่อสื่อสารในจังหวัดอเลปโป
ค่ายสนามของพวกนักรบในอิดลิบและป้อมบัญชาการอีกแห่งในฮามา
ทว่ากลุ่มสังเกตการณ์เพื่อสิทธิมนุษยชนซีเรีย ซึ่งมีสำนักงานในอังกฤษ
บอกว่าไม่มีไอเอสอยู่ในพื้นที่เหล่านั้น
อย่างไรก็ตาม ทางกลุ่มสังเกตการณ์เพื่อสิทธิมนุษยชนซีเรีย
เผยว่า รัสเซียได้โจมตีพื้นที่ของไอเอสบ้างเช่นกัน โดยมีนักรบไอเอส 12 คนถูกปลิดชีพใกล้เมืองรักกาในวันพฤหัสบดี (1 ต.ค.)
และเครื่องบินรบทีเชื่อว่าเป็นของรัสเซีย ได้ถล่มเมือง Qarytayn ที่ยึดครองโดยพวกไอเอส ตะวันตกและรัสเซียบอกว่าพวกเขามีศัตรูเดียวกัน นั่นคือพวกไอเอส
กลุ่มนักรบมุสลิมสุหนี่ซึ่งประกาศสถาปนา “รัฐกาหลิบ” ทั่วพื้นที่ทางตะวันออกของซีเรีย และทางเหนือของอิรักที่พวกเขายึดครอง
แต่สหรัฐฯ และรัสเซียมีเพื่อนอยู่คนละฝ่าย
และมีมุมมองต่างกันโดยสิ้นเชิงต่อแนวทางการยุติสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อมานานกว่า
4 ปีในซีเรีย ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปแล้วมากกว่า 250,000
ศพและทำให้ประชาชนมากกว่า 10 ล้านคนต้องอพยพหลบหนีถิ่นฐาน วอชิงตันและพันธมิตรต่อต้านทั้งรัฐอิสลามและนายอัสซาด
โดยกล่าวโทษว่าเขาเข่นฆ่าพลเรือนที่ต่อต้านเขา
และเชื่อว่าเขาต้องลงจากอำนาจถึงจะปราบไอเอสสำเร็จและย้ำว่าไม่มีที่ยืนแก่ผู้นำรายนี้หลังสงครามยุติ
แต่ทางมอสโกสนับสนุนนายอัสซาดและเชื่อว่ารัฐบาลของเขาควรเป็นศูนย์กลางของนานาชาติในการสู้รบกับกลุ่มหัวรุนแรงต่างๆ
การโจมตีของรัสเซียยังเป็นตัวแทนความเคลื่อนไหวอย่างชัดเจนของประธานาธิบดีวลาดิมีร์
ปูติน ที่ต้องการขยายอิทธิพลไปไกลกว่าละแวกใกล้เคียง
ขณะที่มันถือการเข้าสู้รบทางทหารในยุทธบริเวณที่อยู่ห่างไกลเป็นครั้งแรกของรัสเซีย
นับตั้งแต่ครั้งสหภาพโซเวียตเข้ารุกรานยึดครองอัฟกานิสถานเมื่อปี 1979 ขณะเดียวกัน การโจมตีดังกล่าวยังมีขึ้นท่ามกลางความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับตะวันตกที่ดิ่งลงสู่จุดต่ำสุด
หนึ่งปีหลังจากสหรัฐฯ และอียูกำหนดมาตรการคว่ำบาตรทางการเงินต่อมอสโก
จากกรณีผนวกไครเมียของยูเครนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของดินแดน
เอเจนซีส์ -
ล่าสุดในการโจมตีรอบใหม่เหนือฟ้าซีเรียที่ค่ายฝึกก่อการร้าย IS
ใกล้กับหมู่บ้านมาดาน จาดิด (Maadan Jadid) รวมไปถึงศูนย์บัญชาการรบที่คาสรัต
ฟาราจ (Kasrat Faraj) รัสเซียประสบความสำเร็จสังหารนักรบญิฮัดได้ไม่ต่ำกว่า
12 คน หลังก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน
ออกคำสั่งเกณฑ์ทหาร 150,000 นายเข้ากองทัพ เดลีเมล์
สื่ออังกฤษรายงานเมื่อวานนี้ (2) ถึงการโจมตีทางอากาศรอบที่ 3
ของรัสเซียว่า ชาติตะวันตกต่างขุ่นเคืองที่มากกว่า 1 ใน 3 ของเป้าหมายการโจมตีนั้นเป็นกลุ่มตรงข้ามประธานาธิบดีซีเรีย
บาชาร์ อัล-อัสซาด ที่สหรัฐฯและชาติตะวันตกต่างให้การสนับสนุน ทว่า
กระทรวงกลาโหมรัสเซียออกแถลงการณ์ยืนยันความสำเร็จการปฏิบัติการล่าสุดในวันศุกร์ (2)
ว่า สามารถสังหารนักรบญิฮัดได้ไม่ต่ำกว่า 12 คนในการโจมตีค่ายฝึกก่อการร้าย
IS ใกล้กับหมู่บ้านมาดาน จาดิด (Maadan Jadid) รวมไปถึงศูนย์บัญชาการรบที่คาสรัต ฟาราจ (Kasrat Faraj) สอดคล้องกับรายงานของกลุ่มสิทธิมนุษยชนซีเรีย SOHR ที่มีฐานในอังกฤษ
ยืนยันว่า ในช่วงดึกวันพฤหัสบดี (1) มีนักรบญิฮัด IS ไม่ต่ำกว่า 12 คนเสียชีวิต “ในการโจมตีทางอากาศของรัสเซียที่เมืองรัคควา
(Raqqa) ใกล้กับฐานทัพอากาศทับควา (Tabqa) สมาชิกก่อการร้าย IS ไม่ต่ำกว่า 12 คนเสียชีวิต” รามี อับเดล ราห์มาน (Rami
Abdel Rahman) หัวหน้า SOHR แถลง
และเสริมว่าร่างผู้เสียชีวิตทั้งหมดถูกส่งไปยังโรงพยาบาลในบริเวณใกล้เคียง สื่ออังกฤษรายงานต่อว่า
กระทรวงกลาโหมรัสเซียออกแถลงการณ์เมื่อวานนี้ (2) ชี้เพิ่มเติมว่า
เครื่องบินรบรัสเซียทำการบิน 18 เที่ยว
โจมตีที่ตั้งก่อการร้าย IS ทั้งหมด 12 จุด
ตั้งแต่วันพฤหัสบดี (1) ถึงแม้บางส่วนของทั้งหมดนี้อาจถูกกล่าวอ้างว่าครอบครองโดยพลเรือน
และกลุ่มกบฏซีเรีย สื่ออังกฤษรายงานเพิ่มเติมอีกว่า
แถลงการณ์กระทรวงกลาโหมรัสเซียยังระบุว่า
รัสเซียสามารถทำลายศูนย์บัญชาการและการสื่อสารของกลุ่ม IS ที่ดาเร็ต
เอซซา (Daret Ezza) จ. อาเลบโป นอกจากนี้
รัสเซียยังประสบความสำเร็จในการโจมตีศูนย์บัญชาการรบของกลุ่ม IS ใน Kafr Zeita จ.ฮามา แต่ทว่าจากการรายงานของ SOHR
พบว่า จุดที่ตั้งเหล่านี้ไม่ได้ถูกกลุ่ม IS ครอบครอง
แต่เป็นฐานที่มั่นกลุ่มอัลกออิดะห์ อัล นุสราฟรอนต์ (Al-Nusra Front) นอกจากนี้ SOHR แถลงต่อว่า ในการโจมตีทางอากาศของรัสเซียในวันศุกร์ (2) เครื่องบินรบรัสเซียยังโจมตีเมืองคริสเตียนเก่าแก่ที่ถูกยึดโดยกลุ่ม IS
ตั้งแต่วันที่ 5 สิงหาคม ใน จ.ฮอมส์ โดยแหล่งข่าวให้สัมภาษณ์ว่า
“เครื่องบินรบรัสเซียโจมตี Al-Qaryatain เช้านี้” และเพื่อเป็นการตอบโต้การเข้าโจมตีของรัสเซีย
กลุ่มก่อการร้าย IS ได้ทวีตขู่เอาชีวิตประธานาธิบดีรัสเซีย
ด้วยการทวีตภาพกรุงมอสโกกำลังถูกเผา
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้
สื่ออังกฤษรายงานว่าปูตินได้ออกคำสั่งทางบริหาร เรียกเกณฑ์ทหารจำนวน 150,000
นายเข้าประจำกองทัพ แต่อย่างไรก็ตาม ดมิทรี เพรสคอฟ
โฆษกประจำตัวประธานาธิบดีรัสเซียออกมาปฎิเสธ
โดยอ้างว่าคำสั่งเรียกเกณฑ์ทหารใหม่นี้ไม่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในตะวันออกกลางแม้แต่น้อย
“คำสั่งเกณฑ์ทหารนี้เป็นเรื่องปกติที่ประธานาธิบดีต้องเซ็นอนุมัติ
2 ครั้งต่อปี” เฟรสคอฟแถลง
รอยเตอร์
- แหล่งข่าวเลบานอนเผยกับรอยเตอร์เมื่อวันพฤหัสบดี (1 ต.ค.)
ทหารอิหร่านหลายร้อยนายเข้ามาถึงซีเรียแล้ว
เพื่อเข้าร่วมการจู่โจมทางภาคพื้นครั้งใหญ่ในนามของรัฐบาลประธานาธิบดีบาชาร์
อัล-อัสซาด ก้าวย่างที่อาจผลักสงครามกลางเมืองมุ่งสู่สงครามนานาชาติที่ชาติหลักๆ
ในภูมิภาคต่างมีส่วนได้ส่วนเสีย หลังรัสเซียลุยถล่มทางอากาศเป็นวันที่ 2 ท่ามกลางความระแวงสงสัยของสหรัฐฯ
ว่าปฏิบัติการของแดนหมีขาวมีเป้าหมายเล่นงานศัตรูของอัสซาด มากกว่ากลุ่มรัฐอิสลาม
(ไอเอส) อย่างที่ประกาศเอาไว้
ผู้บัญชาการกลุ่มกบฏซีเรียเปิดเผยว่า
เครื่องบินรบของรัสเซียที่เข้าร่วมสู้รบในสัปดาห์นี้
ได้ทิ้งระเบิดในค่ายแห่งหนึ่งของฝ่ายกบฏที่ได้รับการฝึกฝนจากซีไอเอ
วางสถานะมอสโกและวอชิงตันอยู่กันคนละฟากฝ่ายในความขัดแย้งตะวันออกกลางเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่สงครามเย็น
เครื่องบินรบของรัสเซียโจมตีเป้าหมายต่างๆใกล้เมืองฮานาและเมืองฮอมส์
ทางตะวนตกของซีเรีย ในวันพฤหัสบดี (1 ต.ค.)
ซึ่งเป็นวันที่ 2 ของปฏิบัติการถล่มทางอากาศ
โดยมอสโกอ้างว่าพวกเขาโจมตีเป้าหมายที่ตั้งต่างๆ ของรัฐอิสลาม
แต่พื้นที่ส่วนใหญ่ที่ถูกเล่นงานนั้นเป็นจุดที่ยึดครองโดยพันธมิตรกบฏฝ่ายตรงข้าม
ที่ได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรของสหัฐฯ ในนั้นรวมถึงเหล่าชาติอาหรับและตุรกี ฮัสซัน
ฮาจ อาลี แกนนำกลุ่มกบฏ Liwa Suqour al-Jabal บอกว่า
หนึ่งในเป้าหมายที่ถูกโจมตีคือฐานที่มั่นของกลุ่มพวกเขาในจังหวิดอิดลิบ
ซึ่งถูกถล่มด้วยขีปนาวุธราวๆ 20 ลูก
ขณะที่นักรบของพวกเขาได้รับการฝึกฝนจากซีไอเอในกาตาร์ และซาอุดีอาระเบีย
ส่วนหนึ่งในโครงการที่วอชิงตันบอกว่ามีเป้าหมายสนับสนุนกลุ่มนักรบต่างๆ
ที่ต่อต้านไอเอสและนายอัสซาด ด้านแหล่งข่าวเลบานอน 2 คนบอกกับรอยเตอร์ว่า
ทหารอิหร่านติดอาวุธหลายร้อยนายเดินทางเข้ามายังซีเรียแล้วในช่วง 10 วันที่ผ่านมา เพื่อปฏิบัติการจู่โจมครั้งใหญ่
ภายใต้การสนับสนุนจากพันมิตรฮิซบอลเลาะห์เลบานอนของอัสซาดและนักรบชีอะห์จากอิหร่าน
โดยรัสเซียจะคอยให้การสนับสนุนทางอากาศ การตัดสินใจเข้าร่วมสงครามด้วยปฏิบัติการโจมตีทางอากาศของรัสเซีย
เช่นเดียวกับความเคลื่อนไหวทางทหารที่เพิ่มขึ้นของอิหร่าน
อาจกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในความขัดแย้งนี้ที่ดึงชาติมหาอำนาจทางทหารของโลกส่วนใหญ่เข้าร่วมวง
ด้วยสหรัฐฯ นำพันธมิตรโจมตีทางอากาศต่อไอเอสอยู่ก่อนแล้ว
ดังนั้นความเคลื่อนไหวล่าสุดของรัสเซียจึงทำให้ตอนนี้คุ่อริสงครามเย็นอย่างวอชิงตันและมอสโก
กำลังสู้รบในประเทศเดียวกันเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งสองบอกว่ามีศัตรูเดียวกัน นั่นคือพวกไอเอส
กลุ่มนักรบมุสลิมสุหนี่ซึ่งประกาศสถาปนา “รัฐกาหลิบ” ทั่วพื้นที่ทางตะวันออกของซีเรีย และทางเหนือของอิรักที่พวกเขายึดครอง
อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ และรัสเซียมีเพื่อนอยู่คนละฝ่าย
และมีมุมมองต่างกันโดยสิ้นเชิงต่อแนวทางการยุติสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อมานานกว่า
4 ปีในซีเรีย ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปแล้วมากกว่า 250,000
ศพและทำให้ประชาชนมากกว่า 10 ล้านคนต้องอพยพหลบหนีถิ่นฐาน
วอชิงตันและพันธมิตรต่อต้านทั้งรัฐอิสลามและนายอัสซาด
โดยเชื่อว่าเขาต้องลงจากอำนาจถึงจะปราบไอเอสสำเร็จ แต่มอสโกสนับสนุนประธานาธิบดีรายนี้และเชื่อว่ารัฐบาลของเขาควรเป็นศูนย์กลางของนานาชาติในการสู้รบกับกลุ่มหัวรุนแรงต่างๆ
ดูเหมือนว่ารัสเซียกำลังใช้การทำสงครามร่วมต่อต้านไอเอสเป็นข้ออ้างในการโจมตีกลุ่มต่างๆที่ได้รับการสนับสนุนจากวอชิงตันและพันธมิตร
เพื่อปกป้องรัฐบาลของนายอัสซาด ที่เป็นพันธมิตรของมอสโกมาตั้งแต่สมัยสงครามเย็น การโจมตีของรัสเซียยังเป็นตัวแทนความเคลื่อนไหวอย่างชัดเจนของประธานาธิบดีวลาดิมีร์
ปูติน ที่ต้องการขยายอิทธิพลไปไกลกว่าละแวกใกล้เคียง
ขณะที่มันถือการเข้าสู้รบทางทหารในยุทธบริเวณที่อยู่ห่างไกลเป็นครั้งแรกของรัสเซีย
นับตั้งแต่ครั้งสหภาพโซเวียตเข้ารุกรานยึดครองอัฟกานิสถานเมื่อปี 1979 ในการโจมตีวันที่ 2 รัสเซียบอกว่าได้ลงมือโจมตีด้วยเครื่องบินรบซูคอยถล่มเป้าหมายรัฐอิสลาม
4 จุด
อย่างไรก็ตามรอยเตอร์ระบุว่าไม่มีพื้นที่ถูกโจมตีใดอยู่ภายใต้การยึดครองของไอเอสเลย
อัล-มายาดีน สถานีโทรทัศน์ฝักใฝ่ดามัสกัสในเลบานอน รายงานว่าเครื่องบินรบรัสเซียลงมือโจมตีอย่างน้อย
30 เที่ยวต่อพันธมิตรกบฏนามว่า Army of Conquest ที่มีกลุ่มนุสรา ฟรอนต์ เครือข่ายอัลกออิดะห์สาขาซีเรียรวมอยู่ด้วย
แต่ไม่ใช่พวกรัฐอิสลาม อย่างไรก็ตามต่อมา อัล-มายาดีน
ระบุเพิ่มเติมว่าเครื่องบินรบรัสเซียได้ถล่มที่มั่นต่างๆ ของพวกไอเอสในจังหวัดรักกา
ทางภาคตะวันออกด้วย การเข้าแทรกแซงเพื่อสนับสนุนนายอัสซาดของรัสเซียและอิหร่าน
เกิดขึ้นในช่วงที่ดูเหมือนว่าฝ่ายรัฐบาลกำลังเสียท่า
ดังนั้นความเคลื่อนไหวคราวนี้จึงดูเหมือนว่ามีเป้าหมายพลิกกลับสถานการณ์ที่พวกกบฏกำลังรุกคืบ
“การโจมตีของรัสเซียคือผู้เปลี่ยนเกม
ดามัสกัสได้รับการปลดปล่อย” ทูตซีเรียรายหนึ่งกล่าว กระทรวงกลาโหมรัสเซียบอกว่าเครื่องบินรบซูคอย-24M
และซูคอย-25 ถล่มเป้าหมายคลังกระสุนใกล้เมืองอิดลิบ
ศูนย์บัญชาการตึก 3 ชั้นของไอเอสใกล้เมืองฮามา
และโรงผลิตคาร์บอมบ์ในเมืองฮอมส์ อย่างไรก็ตาม
รอยเตอร์ระบุว่าไม่มีพวกไอเอสอยู่ทั้งในเมืองฮามา และฮอมส์ สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า
วานนี้ (30 ก.ย.2558) เกิดเหตุระเบิดในหลายสถานที่ทางภาคใต้ของจีน
หลังมีผู้ส่งพัสดุระเบิด 15 กล่อง
มายังสถานที่เหล่านี้และเกิดระเบิดขึ้นอย่างรุนแรง ำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 7
คนและได้รับบาดเจ็บอีก 51 คน มีรายงานว่า
เหตุพัสดุระเบิดเกิดขึ้นในสถานที่อย่างน้อย 13 แห่งในเขตตำบลหลิ่วเฉิง
ซึ่งเป็นพื้นที่ชนบทในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง โดยสถานที่ที่เกิดระเบิดก็รวมทั้ง
โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า เรือนจำ สถานีขนส่งและสถานที่ราชการ ตำรวจเปิดเผยว่า
เหตุระเบิดซึ่งเกิดขึ้นก่อนหน้าวันชาติจีนเพียงหนึ่งวันเป็นเหตุอาชญากรรม
ไม่ใช่การก่อการร้ายและหลังเกิดเหตุตำรวจควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยไว้ได้ 1 คน ชื่อนายเว่ย อายุ 33 ปี เป็นชาวเมืองต้าผู
แต่ขณะนี้ยังไม่ทราบแรงจูงใจในการก่อเหตุ ทั้งนี้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีชาวจีนหลายคนซึ่งมีความเคียดแค้น
ได้วางระเบิดที่ทำการรัฐบาลท้องถิ่นและสถานที่สาธารณะเพื่อต้องการเรียกร้องความสนใจในความคับแค้นใจของตัวเอง
โดยเมื่อ 2 ปีก่อน
เกิดเหตุระเบิดที่ที่ทำการรัฐบาลท้องถิ่นทางภาคเหนือของจีน ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1
คนและบาดเจ็บอีก 8 คน ซึ่งผู้ก่อเหตุอ้างว่าทำไปเพื่อแก้แค้นสังคม
เ
อเอฟพี/เซาต์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ -
สื่อจีนรายงานว่า มีผู้เสียชีวิต 6 รายในวันพุธ
(30 ก.ย.) เมื่อพัสดุไปรษณีย์ต้องสงสัยประมาณ 15 แพ็คเกจ เกิดระเบิดขึ้นบริเวณภาคใต้ของจีน
โดยมีรายงานการระเบิดตามสถานที่ต่างๆ มากกว่า 10 แห่ง
ในจำนวนนั้นมีอาคารสำนักงานรัฐด้วย สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า
มีผู้บาดเจ็บหลายสิบคนจากระเบิดที่ถูกใส่ไว้ในพัสดุไปรษณีย์ด่วนพิเศษ
ขณะที่หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นอีกฉบับระบุว่า มีการระเบิดเกิดขึ้นตามที่ต่างๆ
อย่างน้อย 13 แห่งในกว่างซี อาทิ เรือนจำ สำนักงานของรัฐ
รวมถึงศูนย์การค้า ฯลฯ บรรดารูปภาพที่ถูกโพสต์ในอินเตอร์เน็ต ซึ่งยังไม่ได้ตรวจสอบ
แสดงให้เห็นว่าหลายส่วนของอาคาร 6 ชั้นพังเสียหาย
บนถนนเต็มไปด้วยเศษแก้ว ก้อนอิฐและซากปรักหักพัง นอกจากนี้ยังมีรูปรถหงายท้อง
ผู้คนได้รับบาดเจ็บถูกหามขึ้นเปล รวมถึงควันสีเทาพวยพุ่งเหนือย่านที่อยู่อาศัย สถานีโทรทัศน์ ซีซีทีวี
ได้รายงานคำพูดของผู้บังคับการตำรวจท้องถิ่น ที่บอกว่า
เหตุระเบิดเหล่านี้เกิดขึ้นจากวัตถุระเบิดหลายลูก
โดยเข้าใจว่านี่เป็นความตั้งใจที่จะก่ออาชญากรรม ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
มีหลายครั้งที่พลเมืองจีนผู้ไม่พอใจภาครัฐ ได้ใช้ระเบิดโจมตีสำนักงานรัฐในท้องถิ่น
รวมถึงสถานที่สาธารณะ เพื่อเรียกร้องความสนใจให้รัฐหันมาฟังความคับแค้นใจของพวกเขา
เมื่อปี 2013 มีชายคนหนึ่งใช้ระเบิดทำเอง
ไปก่อเหตุร้ายบริเวณด้านนอกสำนักงานของรัฐบาลในทางตอนเหนือของจีน
ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 รายบาดเจ็บ 8 ราย
ซึ่งทางซินหัวรายงานว่า ตอนนั้นคนร้ายทำไปเพราะหาทางแก้แค้นสังคม ในปีเดียวกัน
มีคนขายของริมถนนรายหนึ่งจุดไฟเผารถโดยสารในมณฑลฝูเจี้ยน ทางตะวันออกของจีน
ทำให้ตัวเขาและผู้โดยสารอีกมากมายต้องเสียชีวิต โดยเป็นการทำไปเพื่อตอบโต้ทางการในท้องถิ่น
รอยเตอร์
- มือปืนซึ่งก่อเหตุกราดยิงครูสอนภาษาอังกฤษและนักศึกษาเสียชีวิตรวม 9 ศพที่วิทยาลัยชุมชนอุมป์ควา มลรัฐโอริกอน
เป็น “นักศึกษา” คนหนึ่งในชั้นเรียนดังกล่าว
และเคยถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าอบรมที่สถาบันสอนยิงปืนในรัฐแคลิฟอร์เนียเมื่อหลายปีก่อน
เหตุสังหารหมู่ที่วิทยาลัยชุมชนอุมป์ควา
เมืองโรสเบิร์ก ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวมทั้งสิ้น 10 ราย
รวมถึงตัวมือปืน และยังมีผู้บาดเจ็บอีก 9 คน
ซึ่งทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ
ต้องเร่งตรวจสอบหาเหตุจูงใจที่ทำให้สังคมอเมริกันเกิดอาชญากรรมจากอาวุธปืนถี่ขึ้นจนน่าเป็นห่วงในปีนี้ หญิงสาวซึ่งเป็นอดีตแฟนของผู้บาดเจ็บคนหนึ่งเล่าว่า
หากไม่ใช่เพราะคนรักเก่าของเธอซึ่งเป็นทหารผ่านศึกตัดสินใจเผชิญหน้ากับมือปืนอย่างกล้าหาญ
อาจจะมีผู้เสียชีวิตมากกว่านี้ แพทย์ชันสูตรประจำรัฐออริกอน ยืนยันวานนี้ (2) ว่า
มือปืนซึ่งถูกตำรวจวิสามัญฆาตกรรมมีชื่อว่า คริสโตเฟอร์ ฮาร์เปอร์-เมอร์เซอร์ อายุ
26 ปี เป็นนักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนในคลาสวิชาการเขียน
ซึ่งเกิดเหตุสังหารหมู่ขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดี (1) ฮาร์เปอร์-เมอร์เซอร์ พกปืน 6 กระบอก เสื้อเกราะ
และกระสุนอีก 5 แม็กกาซีน
เข้าไปกราดยิงอาจารย์และเพื่อนนักศึกษา
ขณะที่ตำรวจยังพบปืนและเครื่องกระสุนอีกจำนวนหนึ่งซุกซ่อนอยู่ในห้องพักที่อพาร์ตเมนต์ชานเมืองโรสเบิร์ก
ซึ่งเขาอาศัยอยู่กับมารดา เซลิเนซ นูเนซ จากสำนักงานควบคุมแอลกอฮอล์ ยาสูบ
อาวุธปืน และวัตถุระเบิดแห่งสหรัฐฯ ระบุว่า
อาวุธและเครื่องกระสุนที่ตรวจพบทั้งหมดถูกซื้อมาอย่างถูกกฎหมาย ความคลั่งไคล้ในศาสตร์ยิงปืนของ
ฮาร์เปอร์-เมอร์เซอร์ สืบย้อนไปได้อย่างน้อยถึงปี 2012 หรือ 2013
ซึ่งเขาเคยไปสมัครเรียนที่วิทยาลัยป้องกันตนเองและบังคับใช้กฎหมาย Seven
4 Para ในเมืองทอร์แรนซ์ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย“เราขอให้เขาเข้าคอร์สอบรมความปลอดภัยสำหรับผู้หัดใช้ปืนก่อน
แต่เขาอ้างว่าเคยมีประสบการณ์มาแล้ว ผมรู้สึกว่าเขาไม่น่าไว้ใจ ก็เลยไม่รับเข้าเรียน”
เอลอย เวย์ ประธานและหัวหน้าครูผู้ฝึกสอนประจำสถาบันดังกล่าว ระบุ “เขามีบุคลิกแปลกๆ ท่าทางเอาแต่ใจ และขาดวุฒิภาวะ...
เขายืนกรานที่จะเข้าคอร์สยิงปืนขั้นสูงให้ได้ ทั้งๆ ที่ไม่มีเหตุผลรองรับ” จากคำบอกเล่าของผู้รอดชีวิต
มือปืนรายนี้ได้บุกเข้าไปในห้องเรียนและยิงเข้าที่ศีรษะของอาจารย์ผู้สอน
จากนั้นก็สั่งให้นักศึกษาทุกคนยืนขึ้นและให้ประกาศว่านับถือศาสนาอะไร
เป็นชาวคริสต์ใช่หรือไม่ ก่อนจะลั่นไกสังหารเหยื่อแบบเรียงตัว เจมี สกินเนอร์
อดีตแฟนของมินตซ์ซึ่งปัจจุบันมีลูกชายวัย 6 ขวบ
บอกกับรอยเตอร์ว่า มินตซ์ซึ่งนอนบาดเจ็บอยู่ที่พื้นพยายามพูดขอร้องว่าวันนี้เป็นวันเกิดลูกชายของเขา
แต่กลับถูก ฮาร์เปอร์-เมอร์เซอร์ ลั่นกระสุนใส่อีก
จากนั้นมือปืนจึงเปลี่ยนทิศทางมุ่งไปยังห้องเรียนอื่นแทน “เขาเข้าไปในห้องเรียนนั้นไม่ได้เพราะถูกคริสขวางไว้”
สกินเนอร์กล่าว
พร้อมเผยว่าอดีตคนรักถูกนำส่งโรงพยาบาลด้วยอาการขาหักสองข้าง
และมีบาดแผลจากกระสุนปืนอีก 7 จุด การสังหารหมู่ที่วิทยาลัยชุมชนอุมป์ควาถือเป็นเหตุสะเทือนขวัญล่าสุดที่ปลุกกระแสเรียกร้องกฎหมายควบคุมอาวุธปืนที่เข้มงวดยิ่งขึ้นในสหรัฐฯ
โดยประธานาธิบดีบารัค โอบามา ได้เตือนบรรดานักการเมืองให้ตัดสินใจมาตรการบางอย่าง
ขณะที่ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ
จากพรรครีพับลิกันบางคนที่สนับสนุนสิทธิของชาวอเมริกันในการถือครองอาวุธปืน
ก็ได้แสดงความเห็นในเรื่องนี้ด้วย จอห์น แฮนลิน ผู้ปกครองเทศมณฑลดักลาส ปฏิเสธที่ระบุตัวตนของผู้ก่อเหตุ
โดยให้เหตุผลว่าไม่ต้องการให้ค่าแก่มือปืนรายนี้ “สื่อมวลชนและสมาชิกในชุมชนที่เปิดเผยชื่อของมือปืนรายนี้
เท่ากับเชิดชูการกระทำอันชั่วร้ายของเขา...
และท้ายที่สุดมันก็จะเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นๆ คิดกระทำการเช่นนี้อีก” แฮนลิน กล่าว เมื่อวานนี้ (2) แฮนลิน
ได้เปิดเผยรายชื่อเหยื่อผู้เสียชีวิตทั้งหมด ได้แก่ ลอว์เรนซ์ เลไวน์
อาจารย์สอนภาษาอังกฤษ วัย 67 ปี และอีก 8 คนซึ่งน่าจะเป็นลูกศิษย์ของเขา คือ ควินน์ คูเปอร์ วัย 18 ปี, คิม ซอลต์มาร์ช ดิเอตซ์ วัย 59 ปี, ลูคัส ไอเบล วัย 18 ปี,
เจสัน จอห์นสัน วัย 33-34 ปี, ซารีนา มัวร์ วัย 44 ปี, เทรเวน
แอนส์แพ็ก วัย 20 ปี, รีเบคกา แคนส์
วัย 18 ปี และ ลูเซโร อัลคาราซ วัย 19 ปี คาร์เมน เนสนิค พี่สาวต่างบิดา
(หรือมารดา) ของมือปืน บอกกับสถานีโทรทัศน์ซีบีเอสในนครลอสแองเจลิส ว่า
ฮาร์เปอร์-เมอร์เซอร์ เกิดในสหราชอาณาจักร และย้ายมาอาศัยอยู่ในสหรัฐฯ ตั้งแต่เด็ก
บิดามารดาของเขา คือ เอียน เมอร์เซอร์ และ ลอเรล ฮาร์เปอร์ หย่าร้างกันเมื่อปี 2006
ตอนที่เขายังเป็นวัยรุ่น และเขาได้อาศัยอยู่กับมารดาต่อมา ฮาร์เปอร์-เมอร์เซอร์
ซึ่งใส่ข้อมูลตนเองในโซเชียลเน็ตเวิร์กว่าเป็นคน “เชื้อชาติผสม”
เคยรับราชการในกองทัพสหรัฐฯ อยู่ประมาณ 1 เดือนเมื่อปี
2008 ก่อนจะถูกปลดประจำการเนื่องจากคุณสมบัติไม่ตรงตามเกณฑ์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น