วันพุธที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

โลก 360 องศา - (IMF ประกาศ กรีซผิดนัดชำระหนี้,ผู้ลี้ภัยเข้ายุโรปเพิ่มกว่า 80%,ตรวจสอบเครื่องบินอิเหนาตก,นักโทษแหกคุกที่เยเมน,ชายจุดไฟเผาตัวเองในรถไฟ,ทรัมป์หยามชาวเม็กซิกัน)


เอเอฟพี/รอยเตอร์ - กรีซ เมื่อวันอังคาร (30 มิ.ย.) กลายเป็นประเทศพัฒนาชาติแรกในประวัติศาสตร์ที่ผิดนัดชำระหนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) หลังไม่สามารถจ่ายคืนหนี้ 1,500 ล้านยูโร ที่ครบกำหนดไปเมื่อเวลา 22.00 จีเอ็มที (ตรงกับเมืองไทย 05.00 น.ของวันพุธ) การพลาดจ่ายเงินดังกล่าวถือว่าเป็นจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสร์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ มีค่าเท่ากับผิดนัดชำระหนี้ รวมทั้งส่อนัยถึงการละเมิดพันธสัญญาของเอเธนส์ โดยทางแกร์รี ไรซ์ โฆษกของไอเอ็มเอฟบอกว่า เราได้แจ้งแต่คณะกรรมการบริหารแล้วว่าตอนนี้กรีซค้างชำระหนี้ และจะได้รับเงินทุนเพิ่มเติมจากไอเอ็มเอฟก็ต่อเมื่อเคลียร์หนี้ค้างชำระแล้วเท่านั้น  หลังจากพยายามตลอดทั้งวันในการกู้ชีพข้อตกลงช่วยเหลือทางการเงินกับสหภาพยุโรป แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ กรีซได้ร้องขอนาทีสุดท้ายไปยังไอเอ็มเอฟ สำหรับขอขยายเวลาชำระหนี้ที่ครบกำหนดตอน 22.00 จีเอ็มที (ตรงกับเมืองไทย 05.00 น.ของวันพุธ) ออกไป โดยไรซ์ยืนยันว่ามีคำขอดังกล่าวมาจริงและตอนนี้บอร์ดบริหารก็ยังไม่ตัดความเป็นไปได้ คำร้องขอยืดเวลาชำระหนี้จะถูกส่งไปยังคณะกรรมการบริหารของไอเอ็มเอฟเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม  กรีซพยายามทาบทามเหล่าเจ้าหนี้นานาชาติในนาทีสุดท้ายเพื่อขอความช่วยเหลือทางการเงินในวันอังคาร (30 มิ.ย.) แต่มันก็ไม่เพียงพอที่จะปกป้องพวกเขาจากการกลายเป็นประเทศพัฒนาชาติที่ผิดนัดชำระหนี้ไอเอ็มไอฟ  รัฐบาลฝ่ายซ้ายของกรีซร้องขอคู่หูยุโรปสำหรับแพกเกจช่วยเหลือ 2 ปีเพื่อชดเชยความจำเป็นทางการเงิน และในช่วงค่ำวันอังคาร (30 มิ.ย.) นายยานิส วารูฟาคิส รัฐมนตรีคลังกรีซ บ่งชี้ในคำร้องขอต่อเหล่ารัฐมนตรีคลังยุโรปว่าบางทีเอเธนส์อาจยอมยกเลิกการจัดประชามติในวันที่ 5 กรกฎาคม หากบรรลุข้อตกลง  ความโกลาหลทางการทูตดังกล่าวคือความพยายามดึงเหล่าเจ้าหนี้คืนสู่การเจรจา หลังการหารือที่ยืดเยื้อมานานกว่า 5 เดือนพังครืนลงโดยไม่ได้ข้อสรุปใดๆ กระพือความเป็นไปได้ว่ากรีซอาจต้องออกจากยูโรโซน แม้สุดท้ายจะเป็นไปตามคาดหมายที่กรีซไม่สามารถจ่ายหนี้คืนแก่ไอเอ็มเอฟ แต่กระนั้นเหล่าเจ้าหน้าที่สหภาพยุโรปส่งสัญญาณว่าจะไม่ยอมแพ้ในการหาทางออกแก่กรีซง่ายๆ ด้วยเหล่ารัฐมนตรีคลังจะประชุมกันในวันพุธ (1 ก.ค.) เพื่อหารือถึงคำร้องขอเงินกู้ยืมล่าสุดของซีปราส ซึ่งผลก็คือดึงทุกฝ่ายคืนสู่โต๊ะเจรจาอีกครั้ง  แหล่งข่าวคาดหมายว่าในวันพุธ เหล่าเจ้าหนี้ที่จะหารือคำร้องขอของนายอเล็กซิส ซีปราส นายกรัฐมนตรีกรีซ ที่ขอเงินกู้ยืมรอบใหม่ 2 ปีเพื่อจ่ายหนี้ เป็นจำนวนเกือบ 30,000 ล้านยูโร นอกจากนี้ นายซีปราสยังต้องการปรับโครงสร้างหนี้ ประเด็นที่เหล่าเจ้าหนี้ไม่สู้เต็มใจประนีประนอม ไม่เป็นที่ชัดเจนว่าการประชุมในวันพุธจะประสบความสำเร็จหรือไม่ เนื่องจากความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างเอเธนส์กับสหภาพยุโรปอยู่ในภาวะขาดรุ่งริ่งตามหลังการเจรจาอันเผ็ดร้อน ขณะเดียวกันความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองก็เสื่อมทรามลงไปอีก หลังจากเมื่อวันเสาร์ (27 มิ.ย.) ตัดสินใจนำข้อเสนอปฏิรูปแลกเงินช่วยเหลือของเหล่าเจ้าหนี้ไปให้ประชาชนลงประชามติในวันที่ 5 กรกฎาคม      

รอยเตอร์ ผลสำรวจความคิดเห็นล่าสุดวันนี้ (1 ก.ค.) เผย ประชาชนชาวกรีซส่วนใหญ่จะโหวต โนไม่เอาแผนปฏิรูปรับเงินช่วยเหลือจากองค์กรเจ้าหนี้ ในการทำประชามติวันอาทิตย์ที่จะถึงนี้ (5 ก.ค.) แต่กระแสเริ่มแผ่วลงมา โดยมีคะแนนนำฝ่ายที่จะโหวต เยสอยู่เพียงเฉียดฉิว ภายหลังรัฐบาลเอเธนส์ประกาศมาตรการควบคุมเงินทุนและสั่งปิดธนาคาร  ผลสำรวจซึ่งจัดทำขึ้นระหว่างวันที่ 28-30 มิ.ย. และเผยแพร่ทางหนังสือพิมพ์ Efimerida ton Syntakton พบว่า ชาวกรีซ 54% ที่จะออกไปใช้สิทธิ์ลงประชามติในวันอาทิตย์นี้ ไม่เห็นด้วยกับการยอมรับเงื่อนไขปฏิรูปที่สหภาพยุโรปและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เสนอมา ขณะที่อีก 33% คิดว่ากรีซควรกัดฟันยอมรับเพื่อความอยู่รอด อย่างไรก็ดี เมื่อเปรียบเทียบผลสำรวจในช่วงก่อนและหลังจากที่รัฐบาลกรีซได้ประกาศควบคุมเงินทุนและปิดสถาบันการเงินทั่วประเทศเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา(28 มิ.ย.) พบว่าช่องว่างระหว่างกลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเริ่มจะ แคบลง  ชาวกรีซ 57% ที่ตอบคำถามก่อนปิดธนาคาร ระบุว่าพวกเขาจะโหวต โนในขณะที่ผู้โหวต เยสมีเพียง 30% เท่านั้น แต่หลังจากที่มีการปิดธนาคาร กลุ่มที่จะโหวต โนลดลงมาเหลือ 46% แต่พวกที่คิดจะโหวต เยสกลับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 37%  ผลสำรวจยังพบด้วยว่า กลุ่มที่สนับสนุนให้โหวต โนมากที่สุดคือฐานเสียงของพรรครัฐบาลฝ่ายซ้ายไซรีซา (77%) พรรคขวาจัดโกลเดนดอว์น (80%) และพรรคคอมมิวนิสต์ เคเคอี (57%) ส่วนเสียงเชียร์โหวต เยสเข้มแข็งเป็นพิเศษในกลุ่มฐานเสียงของพรรคกลางขวาประชาธิปไตยใหม่ (65%) พรรคสายกลางโปรยุโรป โต โปตามี (68%) รวมถึงพรรคกลางซ้ายปาซ็อก (65%)  กระแสโหวต โนค่อนข้างแรงในกลุ่มพลเมืองกรีซที่ว่างงาน (62%) และในภาพรวมของประชาชนทุกกลุ่มก็ยังพบว่ามีผู้จะโหวต โนมากกว่า เยสไม่ว่าจะเป็นเจ้าของธุรกิจ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ คนวัยเกษียณที่รับเงินบำนาญ พนักงานบริษัท และแม่บ้าน หลังจากที่กลายเป็นชาติพัฒนาแล้วประเทศแรกในโลกที่ ผิดนัดชำระหนี้กับไอเอ็มเอฟ ล่าสุดวันนี้ (1 ก.ค.) รัฐบาลกรีซได้พยายามหันไปขอความช่วยเหลือจากหุ้นส่วนในยูโรโซนและธนาคารกลางแห่งยุโรป (อีซีบี) โดยยื่นข้อเสนอกับกลุ่มรัฐมนตรีต่างประเทศยูโรโซน (ยูโรกรุ๊ป) ว่าจะขอทำข้อตกลงเงินกู้ก้อนใหม่ในช่วงเวลา 2 ปี และขอปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งนายกรัฐมนตรี อเล็กซิส ซีปราส ของกรีซเองก็แบะท่าว่าอาจจะยอมยกเลิกแผนทำประชามติในวันอาทิตย์(5) หรือไม่ก็หนุนให้ประชาชนโหวต เยสหากการเจรจากับสหภาพยุโรปเป็นผลสำเร็จ

เอเจนซีส์ – Süddeutsche Zeitung สื่อเยอรมันรายงานเอกสารลับ IMF ระบุ จากการประเมินของ IMF พบว่าถึงแม้เอเธนส์ยอมรับข้อเสนอมาตรการรัดเข็มขัดทั้งหมดจากกลุ่มเจ้าหนี้ต่างชาติ ทรอยกาแต่ทว่าจะยังไม่สามารถช่วยให้กรีซออกจากเหววิกฤตหนี้ไปได้ โดยพบว่าในปี 2030 เพดานหนี้กรีซจะยังสูงถึง 118% ของตัวเลข GDP ในปีนั้น   RT สื่อรัสเซียรายงานวันนี้(1)ว่า Süddeutsche Zeitung สื่อเยอรมันได้ตีพิมพ์เผยแพร่เอกสารลับ IMF ซึ่งมีการคาดการณ์ถึงวิกฤตหนี้สินกรีซว่า จากการวิเคราะห์ทาง IMF เชื่อว่ากรีซจะยังคงเผชิญหน้ากับวิกฤตหนี้สิ้นที่ไม่แน่นอนต่อไปในปี 2030 โดยเพดานหนี้กรีซจะยังสูงถึง 118% ของตัวเลข GDP ในปีนั้น ถึงแม้ว่าเอเธนส์จะรับปากตามข้อเรียกร้องของกลุ่มเจ้าหนี้ ทรอยกาอันประกอบไปด้วยคณะกรรมาธิการยุโรป ธนาคารกลางยุโรป ECB และ IMF ซึ่งมาตรการเหล่านี้รวมไปถึง มาตรการขึ้นภาษี และการตัดลดงบประมาณใช้จ่ายประเทศเพื่อแลกรับความช่วยเหลือด้านการเงินในแพคเก็จช่วยเหลือ 5 เดือนมูลค่า 15.5 พันล้านยูโร  ซึ่งจากการรายงานครั้งแรกโดยหนังสือพิมพ์เยอรมัน Süddeutsche Zeitung ที่เป็นผู้ได้รับเอกสาร หลังจากเอกสารลับเหล่านี้ได้ส่งไปยังคณะรัฐมนตรีเยอรมัน และสื่ออังกฤษ เดอะการ์เดียน รายงานต่อในภาษาอังกฤษหลังจากได้เห็นเอกสารเหล่านี้ชี้ว่า การคาดการณ์เหล่านี้ระบุอยู่ในเอกสารจำนวน 6 ชุด ที่ 1 ใน 6ของเอกสารเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของดีลเจรจาขั้นสุดท้ายที่ทางกลุ่มเจ้าหนี้ทรอยกาได้ยื่นให้กับเอเธนส์ในวันศุกร์(26มิถุนายน)ที่ผ่านมา และการประเมินเหล่านี้ RT รายงานว่า ได้สนับสนุนการตัดสินใจของเอเธนส์ในการไม่ตอบรับข้อเสนอของบรรดาเจ้าหนี้ต่างชาติ ซึ่งพิสูจน์ว่าทางที่จะทำให้กรีซรอดพ้นจากหายนะวิกฤตหนี้ครั้งใหญ่นี้ต้องมาจาก มาตรการความช่วยเหลือผ่อนปรนหนี้อย่างจริงจังมากกว่าที่จะใช้ มาตรการรัดเข็มขัดกับกรีซ  นอกจากนี้เดอะการ์เดียน สื่ออังกฤษยังชี้เพิ่มเติมว่า เพราะการวิเคราะห์ของ IMF พบว่า ข้อกำหนดตัวเลขเพดานหนี้สินต่ำกว่า 110% ของตัวเลขGDP ตามที่เกณฑ์ระบุที่ประชุมของคณะรัฐมนตรีการคลังประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปในเดือนพฤศจิกายน 2012 กำหนดนั้น กรีซจะไม่สามารถทำได้สำเร็จ เพราะในปี 2030 กรีซจะยังคงต้องแบกรับหนี้สินถึง 118% ของตัวเลข GDP ในปีนั้นถึงแม้ทางเอเธนส์จะยอมรับข้อเสนอมาตรการรัดเข็มขัดทุกประการ  และโดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบัน กรีซต้องแบกรับตัวเลขหนี้สินถึง 175% ของ GDP และอีกทั้งตัวเลขหนี้นี้สามารถขยับเพิ่มขึ้นได้ง่ายมาก หากสภาพเศรษฐกิจของกรีซตกไปสู่สภาพเศรษฐกิจแบบถดถอย RT ยังรายงานต่ออีกว่า ถึงแม้เมื่อพิจารณาในสถานการณ์ที่เป็นบวกมากที่สุด ในสถานการณ์ที่เอเธนส์จะสามารถทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจรุดหน้าได้ไม่ต่ำกว่า 4% ต่อปีอย่างคงที่ในเวลาอีก 5 ปีข้างหน้า โดย IMF วิเคราะห์ว่า ระดับเพดานหนี้สินของกรีซจะลดลงไปที่ 124% เท่านั้นก่อนปี 2022  เป็นที่เห็นได้ชัดว่า นโยบายที่ถดถอยและแปรปรวนในช่วงเดือนท้ายๆส่งผลต่อความสำเร็จในเป้าหมายตามประกาศปี 2012ของคณะรัฐมนตรีการคลังประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ที่ต้องการให้เพดานหนี้กรีซต่ำกว่า 110% ของตัวเลข GDP ก่อนปี 2022 นั้นเป็นไปไม่ได้เลย ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใดก็ตามรายงานจากเอกสารลับ IMF หัวข้อหัวข้อ “The Preliminary Debt Sustainability Analysis for Greece”  และนอกจากนี้ RT ยังรายงานว่า ชุดเอกสารลับ IMF เหล่านี้ได้ถูกส่งไปยังรัฐมนตรีเยอรมันทุกคนในคณะรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล เพื่อพิจารณาและอนุมัติ แต่ทว่ากลับไม่เคยเกิดขึ้นเนื่องจากนายกรัฐมนตรีกรีซ อเล็กซิส ซีปราส ได้ปฎิเสธเงื่อนไขทั้งหมดของเจ้าหนี้ต่างชาติ และประกาศให้ทำประชาพิจารณ์แทน  ซึ่งในเอกสารลับ IMF ยังมีการบ่งชี้ด้วยว่า หากจะสามารถช่วยกู้วิกฤตกรีซให้สำเร็จจากการปลอดหนี้สินแล้ว จำเป็นต้องมีการถอย  และสื่อรัสเซียยังรายงานถึงเอกสารลับ IMF อีกชิ้น ซึ่งเป็นเอกสารชิ้นที่ 3 เปิดเผยถึงรายละเอียดข้อตกลงเกี่ยวกับข้อตกลง ตัวอย่างเช่น อธิบายถึงสถานการณ์ที่จะทำให้เอเธนส์สามารถได้รับเงินช่วยเหลือจำนวน 15 พันล้านยูโร ซึ่งในแผนการจะแบ่งออกเป็น 5 ส่วนที่จะสามารถเริ่มขึ้นได้อย่างเร็วที่สุดในเดือนมิถุนายน และจะเร็วที่สุดตราบเท่าที่รัฐสภากรีซโหวตอนุมัติตอบรับข้อเสนอเจ้าหนี้ต่างชาติ แต่ทางกรีซต้องแลกกับการทำตามเงื่อนไขไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน โดยตามเอกสารระบุว่า ความช่วยเหลือก้อนนี้จะสามารถบรรเทาความต้องการเม็ดเงินของกรีซอย่างเร่งด่วนได้ ซึ่งพบว่า 93% ของจำนวนเงินทั้งหมดจะนำไปจ่ายคืนให้กับหนี้สินเดิมที่ถึงกำหนดชำระ  นอกจากนี้ในเอกสารลับ IMF ยังเปิดเผยถึงการปฎิรูปต่างๆที่กรีซจำเป็นต้องทำหากยอมรับเงื่อนไขของกลุ่มเจ้าหนี้ทรอยกา โดยทางกลุ่มเจ้าหนี้ต้องการให้มีการปฎิรูปครั้งใหญ่ในประเทศเพื่อต้องการให้กรีซสามารถมีตัวเลขเหนือเป้าหมาย 1%, 2%, 3%, และ 3.5% ของตัวเลข GDPในปี 2015, 2016, 2017 และ 2018 ตามลำดับ จาการรายงานของสื่ออังกฤษ รวมไปถึงการปรับฐานภาษีมูลค่าเพิ่ม VAT ใหม่เป็น 23% ที่รวมไปถึงร้านอาหารและธุรกิจการให้บริการจัดเลี้ยง โดยทาง IMF ระบุว่าการปรับอัตรา VAT จะส่งผลถึง 1% ต่อตัวเลข GDP โดยรวม  แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีการเสนอลดอัตรา VAT ลงเหลือ 13% จำกัดเฉพาะในกลุ่มสินค้าอาหารพื้นฐาน พลังงาน โรงแรม และอัตราการใช้น้ำ(ยกเว้นค่าใช้จ่ายสำหรับปล่อยน้ำเสีย) และอัตรา VAT 6% ในส่วนของยารักษาโรค หนังสือ และโรงละคร และโรงภาพยนตร์  เดอะการ์เดียนรายงานเพิ่มเติมว่า มีการเพิ่มขึ้นของภาษีมูลค่าเพิ่มในธุรกิจประกันภัย และอีกทั้งกำหนดให้ยกเลิกการไม่เก็บภาษี VAT ในบางเกาะของกรีซ ซึ่งแต่เดิมนั้น กลุ่มเจ้าหนี้ต่างชาติประสงค์จะให้มีระบบ VAT ของกรีซเป็นแบบ 2 ขั้นเท่านั้น
 
รอยเตอร์ ผู้ลี้ภัยและผู้อพยพเดินทางข้ามทะเลเข้ามาในยุโรปมากกว่า 135,000 ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2015 และภาระดังกล่าวส่วนใหญ่ตกอยู่กับบรรดาประเทศในยุโรปใต้ ทั้งนี้อ้างจากรายงานล่าสุดของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR)  เหล่าผู้คนที่หมดหวังกำลังพึ่งพาอาศัยวิธีที่สิ้นหวัง และโชคร้ายที่ตัวเลขดังกล่าวคาดว่าจะยังคงพุ่งสูงต่อไปอีกไบรอัน แฮนส์ฟอร์ด โฆษกของ UNHCR กล่าว  จำนวนของผู้ลี้ภัยและผู้อพยพที่เข้ามาในยุโรปในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2015 เพิ่มขึ้นกว่า 80 เปอร์เซ็นต์จากช่วงเวลาเดียวกันในปี 2014 รายงานชิ้นนี้ของ UNHCR ระบุ  รายงานชิ้นนี้มีออกมาในขณะที่บรรดาผู้นำยุโรปยังคงไม่ลงรอยกันเกี่ยวกับวิธีที่ดีที่สุดในการแก้ไขวิกฤติผู้อพยพนี้ที่กำลังหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ  การเพิ่มจำนวนมากขึ้นของผู้ลี้ภัยและผู้อพยพ ซึ่งส่วนมากเสี่ยงตายข้ามทะเลเมดิเตอเรเนียนมาด้วยเรือที่ไม่ปลอดภัย มีผลกระทบหนักโดยเฉพาะกับประเทศในยุโรปใต้ รายงานระบุ  กรีซ ซึ่งเป็นจุดลงเรือที่ใหญ่ที่สุดสำหรับผู้ลี้ภัยและผู้อพยพในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2015 กำลังมีปัญหาทางเศรษฐกิจและเพิ่งถูกประกาศว่าผิดนัดชำระหนี้กับกองทุนการเงินระหว่างประเทศเมื่อเช้าวันนี้ (1) ผู้ลี้ภัยและผู้อพยพกำลังไหลหลั่งเข้าสู่พื้นที่ทางตะวันตกของคาบสมุทรบอลข่านจากกรีซ และนับตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมิถุนายน ทุกๆ วันจะมีผู้เดินทางเข้ามากว่า 1,000 คน เทียบกับ 200 คนเมื่อ 2-3 สัปดาห์ก่อนหน้านั้นรายงานระบุ  นายกรัฐมนตรี มัตเตโอ เรนซี ของอิตาลีต่อว่าเหล่าผู้นำสหภาพยุโรป (อียู) เมื่อสัปดาห์ที่แล้วจากเรื่องความล้มเหลวในการตกลงกันเกี่ยวกับแผนการที่จะรับผู้แสวงหาที่พักพัง 40,000 คนจากอิตาลีและกรีซ  ในขณะที่ผู้อพยพเข้ามากำลังเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ศักยภาพและปัจจัยแวดล้อมในการต้อนรับยังไม่เพียงพออย่างร้ายแรงแฮนส์ฟอร์ด กล่าว นี่เป็นปัญหาในภูมิภาคที่จำเป็นต้องใช้การตอบสนองและความสามัคคีในภูมิภาค  ซีเรีย ซึ่งตกอยู่ในภาวะสงครามกลางเมืองมาตั้งแต่ปี 2011 เป็นประเทศที่มีผู้อพยพลี้ภัยมาขึ้นชายฝั่งของยูโรปมากที่สุดด้วยจำนวนเกือบ 44,000 คน รายงานชิ้นนี้ระบุว่า ความไร้เสถียรภาพในลิเบียก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งของจำนวนผู้ลี้ภัยที่เพิ่มขึ้นนี้ เอริเทรียและอัฟกานิสถานเป็นประเทศต้นทางอันดับที่ 2 และอันดับที่ 3 ตามลำดับ รายงานระบุ อย่างไรก็ตาม รายงานชิ้นนี้เสริมว่า การที่อียูจัดหาเงินทุนให้กับปฏิบัติการกู้ภัยเพิ่มขึ้นทำให้ตัวเลขการเสียชีวิตกลางทะเลลดลงนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา

เอเจนซีส์ ประธานาธิบดี โจโค วิโดโด แห่งอินโดนีเซีย มีคำสั่งตรวจสอบสภาพความปลอดภัยฝูงบินของกองทัพอากาศที่ใช้งานมาอย่างยาวนาน หลังเกิดอุบัติเหตุเครื่องบินขนส่งเฮอร์คิวลิส ซี 1-30 ร่วงใส่ชุมชนในเมืองเมดานบนเกาะสุมาตราเมื่อวานนี้ (30 มิ.ย.) ซึ่งล่าสุดยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 142 คน  เครื่องบินซึ่งบรรทุกผู้โดยสารรวม 122 ชีวิตประสบปัญหาเครื่องยนต์ขัดข้อง และร่วงลงใส่ย่านที่พักอาศัยของประชาชน ภายหลังเดินทางออกจากฐานทัพได้ไม่กี่นาที ซึ่งอาจเป็นอุบัติเหตุครั้งเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของกองทัพอากาศอิเหนาที่มีสถิติความปลอดภัยย่ำแย่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ทวิ บาดาร์มันโต โฆษกกองทัพอากาศ ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ว่า เวลานี้สามารถระบุเอกลักษณ์ผู้ตายได้แล้ว 42 ศพ แต่คาดว่ายอดผู้เสียชีวิตจะเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากกองทัพเชื่อว่าคงไม่มีผู้โดยสารคนใดรอดชีวิต อุบัติเหตุสยองที่เกิดขึ้นกับเครื่องบิน ซี-130 ยิ่งเน้นให้เห็นถึงมาตรฐานความปลอดภัยการบินที่ตกต่ำของกองทัพอิเหนา รวมไปถึงฝูงบินที่ถูกใช้งานมานาน  สิ่งสำคัญอันดับแรกคือการขนย้ายร่างผู้เสียชีวิตออกจากเครื่องบินเฮอร์คิวลิส จากนั้นจะต้องมีการประเมินศักยภาพของเครื่องบิน และระบบป้องกันทางอากาศที่มีอายุการใช้งานยาวนานมากแล้วประธานาธิบดี วิโดโด แถลงผ่านสื่อทวิตเตอร์เมื่อค่ำวานนี้ (30)  ผมหวังว่าจะไม่เกิดหายนะเช่นนี้ขึ้นอีก”    ทั้งนี้ คาดว่าผู้นำอินโดนีเซียจะเปิดแถลงข่าวอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับอุบัติเหตุเครื่องบินตกภายในวันนี้ (1 ก.ค.)  เจ้าหน้าที่ระบุว่า เครื่องบินขนส่งลำนี้เกิดระเบิดกลางอากาศ ก่อนจะตกใส่อาคารบ้านเรือนและโรงแรมแห่งหนึ่งภายในเขตชุมชนใหม่ของเมืองเมดาน ซึ่งเป็นหนึ่งในบรรดาเมืองใหญ่ที่สุดของหมู่เกาะอินโดนีเซีย  ล่าสุด ยังไม่สามารถสรุปได้ว่ามีผู้เสียชีวิตทั้งในเครื่องบินและบนพื้นรวมทั้งสิ้นกี่คน เครื่องบินลำนี้ออกเดินทางจากฐานทัพเมืองเมดาน เพื่อมุ่งหน้าไปยังเมืองตันหยงปีนังบนหมู่เกาะรีเอา นอกชายฝั่งเกาะสุมาตรา  สื่อท้องถิ่นระบุว่า นักบินได้แจ้งขอบินกลับไปยังฐานทัพเพราะเครื่องยนต์ขัดข้อง แต่ก็ประสบอุบัติเหตุตกเสียก่อน ข้อมูลจากเครือข่ายความปลอดภัยด้านการบิน (Aviation Safety Network) ระบุว่า เหตุเครื่องบินตกครั้งนี้อุบัติเหตุทางการบินขั้นร้ายแรงครั้งที่ 10 ที่เกิดขึ้นกับกองทัพและตำรวจอินโดนีเซียในรอบ 10 ปี  กองทัพอากาศอินโดนีเซียสูญเสียเครื่องบิน ซี-130 ไปแล้ว 4 ลำ ซึ่งที่ผ่านมาอากาศยานรุ่นนี้ถูกใช้เพื่อการขนส่งข้ามหมู่เกาะต่างๆ จากฝั่งตะวันตกไปจรดปลายสุดทางด้านตะวันออกของประเทศ ซึ่งคิดเป็นระยะทางกว่า 5,000 กิโลเมตร  ล่าสุด กองทัพได้สั่งระงับการใช้งานเครื่องบิน ซี-130 ที่ยังเหลืออยู่ 8 ลำ จนกว่าพนักงานสอบสวนจะระบุต้นตอของอุบัติเหตุที่เมืองเมดานได้

รอยเตอร์ - มีนักโทษราว 1,200 คน ในนั้นรวมถึงเหล่าผู้ต้องสงสัยอัลกออิดะห์ หลบหนีออกมาระหว่างเหตุปะทะกันในเรือนจำแห่งหนึ่งในตอนกลางของเยเมนเมื่อวันอังคาร (30 มิ.ย.) ถือเป็นการแหกคุกครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายปี เหตุการณ์นี้นับเป็นการแหกคุกครั้งใหญ่ที่สุดในปฏิบัติการหลบหนีออกจากเรือนจำของเหล่านักรบเยเมนหลายต่อหลายครั้งในรอบหลายปีที่ผ่านมา และเป็นการส่งสัญญาณซ้ำเติมความอ่อนแอของภาครัฐท่ามกลางสงครามกลางเมืองที่กำลังล้างผลาญประเทศแห่งนี้  วันนี้กลุ่มผู้สนับสนุนอัลกออิดะห์โจมตีเรือนจำกลางในเมืองทาอิซและมีนักโทษอันตรายหลบหนีไปมากกว่า 1,200 คนซาบา สำนักข่าวแห่งรัฐรายงานโดยอ้างคำสัมภาษณ์ของเจ้าหน้าที่ความมั่นคงรายหนึ่ง แต่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นอีกคนบอกกับรอยเตอร์ว่าผู้หลบหนีส่วนใหญ่ต้องสงสัยว่าเป็นสมาชิกของอัลกออิดะห์ และพวกเขาหลบหนีท่ามกลางเหตุปะทะกันระหว่างพวกนักรบคู่สงครามในตัวเมือง พวกนักรบฮูตีมุสลิมชีอะห์บุกเข้ามายังเมือตาอิซ ในเดือนมีนาคม ในการรุกคืบจากป้อมปราการในกรุงซานนา ลงไปทางใต้ ซึ่งกระตุ้นให้พันธมิตรนานาชาติที่นำโดยซาอุดีอาระเบียเข้าแทรกแซงทางทหาร ทว่าแม้ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศผ่านมาแล้ว 3 เดือน แต่ก็ยังไม่สามารถผลักดันนักรบกลุ่มนี้รวมถึงกองทหารที่ยังภักดีต่ออดีตประธานาธิบดีอาลี อับดุลเลาะห์ ซาเลห์ ถอยร่นกลับไปได้  เจ้าหน้าที่ความมั่นคงบอกว่าพวกทหารที่เกี่ยวข้องกับนายซาเลห์ เป็นผู้เปิดทางให้พวกนักรบหลบหนีระหว่างที่พวกนักรบซึ่งได้รับฉายาจากเหล่าผู้สนับสนุนว่า คณะกรรมการประชาชนรุกคืบเข้ามา มีการสู้รบดุเดือดใกล้ๆกับเรือนจำกลาง คณะกรรมการประชาชนเข้ามาควบคุมพื้นที่ แต่เป็นกองกำลังของซาเลห์ที่เปิดประตูเรือนจำ

เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - ชายผู้หนึ่งจุดไฟเผาตัวเองบนขบวน รถไฟหัวกระสุนที่กำลังแล่นตะบึงอยู่ในญี่ปุ่นเมื่อวันอังคาร (30 มิ.ย.) สังหารทั้งตัวเขาเองและหญิงอีกผู้หนึ่ง พร้อมกับยังทำให้มีผู้บาดเจ็บอีกหลายคน ในเหตุการณ์ร้ายแรงซึ่งไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อนกับเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงของแดนอาทิตย์อุทัยซึ่งมีประวัติด้านความปลอดภัยอย่างน่าอิจฉามาหลายสิบปี  สื่อญี่ปุ่นรายงานข่าวที่รวบรวมปากคำของผู้เห็นเหตุการณ์ระบุว่า ชายผู้นี้ได้นำเอาของเหลวติดไฟได้มาราดรดตามตัว จากนั้นก็ใช้ไฟแช็กฉุดไฟเผาตนเอง ในตู้โดยสารตู้แรกของขบวนรถไฟซึ่งกำลังพุ่งผ่านแถบพื้นที่ชนบท ห่างจากกรุงโตเกียวไปทางตะวันตกเฉียงใต้ราว 70 กิโลเมตร  รายงานหลายกระแสกล่าวด้วยว่า ได้ยินเสียงระเบิดจากคอกสุขา ทำให้เกิดควันสีขาวปกคลุมตู้โดยสารคันหน้าสุด และก็ทำให้ขบวนรถไฟหยุดฉุกเฉิน ขณะที่บรรดาผู้โดยสารต่างพากันหลบหนีจ้าละหวั่นไปตามตู้โดยสารอื่นๆ  สื่อระบุด้วยว่า พนักงานขับรถไฟขบวนนี้ซึ่งมีผู้โดยสารมากกว่า 800 คน ได้ออกมาตรวจที่เกิดเหตุหลังจากรถหยุด และพบร่างที่ยังติดไฟเผาไหม้อยู่ของชายผู้นั้น  รถไฟขบวนนี้ซึ่งเป็นรถไฟหัวกระสุน โนโซมิสามารถทำความเร็วสูงสุดได้ที่ 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าในขณะเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นนั้นกำลังแล่นด้วยความเร็วเท่าใด แต่กำลังวิ่งอยู่บนเส้นทางจากโตเกียวมุ่งหน้าสู่เมืองโอซากา โดยตอนที่เกิดเหตุไฟไหม้ขึ้นมาในพื้นที่ของเขตโอดาวาระ   คลิปวิดีโอจากภายในขบวนรถไฟภายหลังเกิดไฟไหม้ขึ้นแล้ว แสดงให้เห็นพวกผู้โดยสารพากันกระพริบตาและส่งเสียงไอขรมเนื่องจากควันไฟ ขณะคืบคลานไปตามทางเดินเพื่อหาทางหลบหนีไปสู่ที่ปลอดภัย  หลายคนมีใบหน้าที่เปื้อนเขม่าดำ และบางคนมีท่าทีงุนงงและหงุดหงิด  สื่อญี่ปุ่นรายงานปากคำของชายที่เห็นเหตุการณ์ผู้หนึ่งซึ่งเล่าว่า ตรงบริเวณหน้าที่สุดของรถคันแรกเลย เขาเทและราดรด (ของเหลว) จากภาชนะพลาสติกใส่ตัวเขาเอง จากนั้นก็จุดไฟ  ส่วนผู้โดยสารอีกคนหนึ่งบอกว่าได้พูดกับชายผู้นี้ไม่กี่อึดใจก่อนที่เขาจะจุดไฟเผาตัวเอง  เขาบอกผมว่า 'หลบไปข้างหลังโน้น มันอันตรายนะ' ผมยังงงๆ อยู่ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น แต่ผมก็หิ้วข้าวของของผมออกมา ตั้งใจว่าจะเดินไปข้างหลัง ตอนนั้นเองที่เขาดึงเอาแทงค์ทำด้วยพลาสติกใบหนึ่งออกมาชายผู้นี้เล่า ข้างในนั้นใส่ของเหลวสีส้มเอาไว้ ผมคิดว่ามันน่าสงสัยมาก จึงถามเขาว่านั่นอะไร เขาก็ตอบว่า 'ช่างมันเถอะๆ หลบไปข้างหลัง'” รายงานหลายชิ้นบอกว่า ชายผู้ก่อเหตุอายุ 30 เศษ แต่ก็มีรายงานชิ้นหนึ่งระบุว่า เขาเป็นชายชราวัย 71 ปี และได้พยายามเอาแบงก์ย่อยๆ ของเขามาแจกจ่ายให้ผู้โดยสารคนอื่นๆ ก่อนจะจุดไฟเผาตัวเองด้วย  ทางด้านเจ้าหน้าที่ผู้หนึ่งในสำนักงานป้องกันอุบัติภัยในท้องที่เกิดเหตุ กล่าวว่าชายผู้นี้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ ส่วนผู้หญิงอีกคนหนึ่งซึ่งพบอยู่ที่ด้านตรงข้ามของตู้โดยสารคันดังกล่าว ถูกนำตัวไปโรงพยาบาลแต่ก็เสียชีวิตในเวลาต่อมา
เขาระบุด้วยว่า ยังมีชายอีก 3 คนที่อาการสาหัส แล้วมีอีก 3 คนซึ่งบาดเจ็บมากทีเดียว นอกจากนั้นมีผู้โดยสารคนอื่นๆ อีก 20 คนที่ต้องให้แพทย์รักษา ส่วนใหญ่ไม่สบายเนื่องจากสูดควันในขณะเกิดไฟไหม้เข้าไป  ภายหลังจากขบวนรถหยุดฉุกเฉินแล้ว ในเวลาต่อมาก็ได้แล่นต่อไปยังสถานีที่อยู่ใกล้ที่สุด และภาพจากข่าวทีวีแสดงให้เห็นเจ้าหน้าที่กู้ภัยใช้เปลลำเลียงผู้โดยสารที่บาดเจ็บออกไป  ทางด้านนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ได้ประกาศจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ประสานการตอบโต้รับมือของรัฐบาล และขบวนรถไฟหัวกระสุนทุกขบวนที่แล่นระหว่างโตเกียวกับเมืองนาโงยา ถูกสั่งหยุดเดินรถไปนานหลายชั่วโมง  สำหรับแรงจูงใจที่ทำให้เกิดการเผาตัวตายคราวนี้ยังไม่เป็นที่ชัดเจน โดยที่ในญี่ปุ่นมีน้อยครั้งนักที่เกิดการฆ่าตัวตายเช่นนี้ในที่สาธารณะ แต่ที่เกิดขึ้นมามักเป็นการแสดงการประท้วงทางการเมือง   เป็นต้นว่าในเดือนพฤศจิกายน 2014 มีรายงานว่าชายผู้หนึ่งได้เผาตัวตายที่สวนสาธารณะแห่งหนึ่งบริเวณใจกลางกรุงโตเกียว โดยดูเหมือนว่าเขาต้องการประท้วงคัดค้านการที่รัฐบาลอาเบะมีนโยบายเพิ่มขยายบทบาททางทหารของญี่ปุ่น ก่อนหน้านั้นในเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน ก็มีชายอีกผู้หนึ่งเผาตัวตายบนทางเดินเท้าในย่านชินจูกุ หนึ่งในย่านธุรกิจคึกคักที่สุดของโตเกียว หลังจากที่ได้กล่าวปราศรัยคัดค้านแผนการของอาเบะที่จะปฏิรูปรัฐธรรมนูญฉบับนิยมสันติของญี่ปุ่น

เอเอฟพี - สถานีโทรทัศน์เอ็นบีซีประกาศตัดความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับ โดนัลด์ ทรัมป์เจ้าพ่อนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และดาราทีวีเรียลิตีโชว์ชาวอเมริกันซึ่งผันตัวมาเป็นผู้สมัครชิงเก้าอี้ประธานาธิบดี ภายหลังจากมหาเศรษฐีรายนี้ออกมาวิจารณ์เหยียดหยามผู้อพยพเม็กซิกันว่าเป็นพวก ตัวปัญหา  นั่นหมายความว่า เวทีประกวดขาอ่อนทั้งมิสยูเอสเอ และมิสยูนิเวิร์ส ที่ทรัมป์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ถ่ายทอดจะไม่ออกอากาศผ่านช่องเอ็นบีซีอีกต่อไป และตัวทรัมป์เองก็ต้องหลุดจากรายการเรียลิตีโชว์ “The Apprentice” ที่เขาเป็นดาราตัวเอกอยู่ด้วย  ก่อนหน้านี้ 4 วัน สถานีโทรทัศน์ยูนิวิชันซึ่งเป็นเจ้าตลาดทีวีภาคภาษาสเปนในสหรัฐฯ ก็ออกมาตัดสัมพันธ์กับกองประกวดมิสยูนิเวิร์สเช่นกัน  สัปดาห์ที่แล้ว เจ้าพ่ออสังหาริมทรัพย์รายนี้ประกาศตัวจะชิงตำแหน่งผู้แทนพรรครีพับลิกันในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2016 และใช้เวลา 45 นาทีพูดพล่ามโวยวายเรื่องต่างๆ ที่ระคายหูผู้ฟังทั้งในอเมริกาและต่างประเทศ ชาวอเมริกันเชื้อสายฮิสแปนิกเป็นพลเมืองกลุ่มน้อยที่เติบโตเร็วที่สุดในสหรัฐฯ และส่วนใหญ่ก็เป็นลูกหลานผู้อพยพชาวเม็กซิโก  ทรัมป์กล่าวว่า ตอนเม็กซิโกส่งคนมาให้เรา พวกเขาไม่ได้คัดเอาพวกที่ดีที่สุดมา... แต่กลับส่งพวกที่สร้างปัญหา และพวกนั้นก็เอาปัญหามาทิ้งไว้ที่เรา ทั้งเรื่องยาเสพติด อาชญากรรม โจรข่มขืน  มิเกล อังเกล โอโซริโอ ชอง รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยเม็กซิโก ออกมาวิจารณ์คำพูดของ ทรัมป์ ว่าเต็มไปด้วย อคติและ หาสาระไม่ได้กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิชาวอเมริกันเชื้อสายฮิสแปนิกล้วนประณามคำพูดของ ทรัมป์ ส่วนตัวเก็งประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครตอย่าง ฮิลลารี คลินตัน ก็ถือโอกาสนี้ถล่มมหาเศรษฐีปากพล่อยว่าพูดจายั่วยุให้เกิดความแตกแยก  อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนทรัมป์จะยังไม่สะทกสะท้านกับเสียงก่นด่าทั้งหลาย เพราะเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เขายังออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลจังโก้จ่ายเงินสร้าง กำแพงกั้นระหว่างสหรัฐฯ กับเม็กซิโกเสียด้วย  ผมจะต้องใช้วิธีรุนแรง ถ้าพวกเขาไม่ช่วยสนับสนุนหรือออกเงินสร้างกำแพงทรัมป์ กล่าวในรายการ State of the Union ทางสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็น  เราต้องรองรับคนสารพัดกลุ่มที่เดินทางข้ามแดนเข้ามา ซึ่งคนพวกนี้แย่... แย่มากๆ  ผมไม่ได้หมายถึงชาวเม็กซิกันเท่านั้นนะ แต่หมายถึงทุกๆ กลุ่ม ซึ่งมีทั้งฆาตกรและพวกโจรข่มขืนด้วย  เม็กซิโกปฏิบัติไม่ดีกับเรา ทำเหมือนเราเป็นพวกโง่เง่าเต่าตุ่น ซึ่งอันที่จริง... ผู้นำของประเทศเราก็เป็นอย่างนั้นเสียด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น