บทประพันธ์ : ศรัณยู วงษ์กระจ่าง
บทโทรทัศน์ : ศรัณยู วงษ์กระจ่าง
กำกับการแสดง : ศรัณยู วงษ์กระจ่าง
ค่ายผลิต : สามัญ การละคร
แนวละคร : ดราม่า
วันเวลาออกอากาศ : ทุกวันจันทร์ - อังคาร เวลา 20.30 น. ทางช่อง 7 สี
รายชื่อนักแสดง
พอร์ช ศรัณย์ ศิริลักษณ์ รับบท หรั่ง นาคำ
ธัญญะสุภางค์ จิรปรีชานนท์ รับบท แพรวา มหาโชคตั้งศิริ
ตฤณ เศรษฐโชติ รับบท เผ่าลาภ มหาโชคตั้งศิริ หรือเฮียตง
ศรุต วิจิตรานนท์ รับบท บารมี มหาโชคตั้งศิริ (อาหั่ง)
แนท ณัชชา นวลแจ่ม รับบท ก้อย
อาภาศิริ นิติพน รับบท รำไพ มหาโชคตั้งศิริ
แมน ศุภกิจ รับบท ชาติชาย หรือกู๋เหลียง
พิมพรรณ ชลายคุปต์ รับบท กันทิมา มหาโชคตั้งศิริ
ขวัญฤดี กลมกล่อม รับบท ลินจง
วิทยา เจตภัย (ถนอม สามโทน) รับบท น้าเบิ้ม
แวร์ โซ รับบท อรทัย พิพัฒน์สกุล (โกวฮุ้ง)
อั๋น ศราวุธ นวแสงอรุณ รับบท กัมปนาท มหาโชคตั้งศิริ
ปิยพันธ์ ขำกฤษ รับบท โบ้
แอนดรู กรเศก โคร์นิน รับบท ตะวันฉาย
พิพัฒนพล โกมารทัต รับบท สุริยะ พัวพงศ์ไพศาล
พลรัตน์ รอดรักษา รับบท แสงเทพ
เพลงดาวประดับฟ้า ของแมว จิรศักดิ์ ปานพุ่ม (โปรยหัวเรื่อง)...แค่รออยู่ตรงนั้น จะปีนขึ้นไปหา ไม่ต้องลอยลงมา…อยู่บนฟ้า นั่นแหละดี เป็นดาวประดับฟ้า...รอคนรักจริง คนนี้ ต้องมีซักวัน จะไปให้ถึง ที่ตรงนั้น ไปอยู่เคียงข้างเธอ สองมือของฉันจะสร้างฝัน หัวใจของฉันจะทุ่มเท เพื่อ เธอคนเดียว…
เพลงประกอบละครหลัก หัวใจระฟ้า และของนอกกาย ร้องโดยวงลาบานูน มิวสิคบั๊กส์
เรื่องย่อ....เล่าเรื่องราวของ หรั่ง เด็กหนุ่มลูกกำพร้า สิ่งเดียวที่ติดตัวเขามาก็คือล็อคเก็ตรูปไวโอลินที่เขาเก็บรักษาไว้เป็น อย่างดี มันเป็นเพียงสมบัติชิ้นเดียวที่เขามี หรั่งรับจ้างทำงานสารพัดเพื่อส่งเสียตัวเองเรียนและเพื่อหาเงิน มาเป็นค่าผ่าตัดตาให้ ก้อย หญิงสาวตาบอดที่หรั่งรับมาดูแลอย่างน้องสาว ถึงชีวิตจะไม่ร่ำรวยแต่หรั่งก็มีความสุขที่ได้ใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านหลังเล็กๆ ในชุมชนแออัดกับก้อยและมีเพื่อนร่วมชุมชนอย่าง โบ้ เท่ห์ เช็ง ความสุขของหรั่งอีกอย่างก็คือ การได้เฝ้ามองดู แพรวา สาวสวยไฮโซ หรั่งรู้ตัวดีว่าเขากับแพรวาแตกต่างกันมากและ แพรวามีคู่รัก คือ ตะวันฉาย อยู่แล้ว หรั่งได้แต่มองแพรวาแบบหมาวัดหมายปองดอกฟ้าอย่างไรอย่างนั้นแต่แล้วหรั่งก็มีโอกาสได้เจอกับแพรวาในหลายๆ วาระโอกาส ทั้งที่เป็นการจงใจหรือบังเอิญ เช่น หรั่งในฐานะพนักงานขับรถส่งเอกสารรับอาสาแพรวาไปส่งให้ทันนัดหมายของตะวันฉายที่โรงแรม ,ในวัด ซึ่งหรั่งไปแสดงเป็นคณะกระตั้ว แล้วแพรวาตั้งใจไปพบ หรืองานประจำปีที่กาญจนบุรี ที่หรั่งไปควบคุมดูแลการติดตั้งชิงช้าสวรรค์ ซึ่งเพื่อนๆของหรั่งก็จัดแจงให้แพรวาได้พบกับหรั่งในกระเช้าชิงช้าสวรรค์ แล้วกันตะวันฉายออกไป หรือตอนที่ตะวันฉายทะเลาะกับแพรวาแล้วทิ้งแพรวาบนทางด่วน แล้วหรั่งขับผ่านมาเจอเข้า แพรวาก็เริ่มประทับใจในความมีน้ำใจของหรั่ง เมื่อเธอต้องเข้าไปทำงานในบริษัทของครอบครัว เธอจึงได้ขอให้หรั่งเข้าไปทำหน้าที่ผู้ช่วยให้เธอ การได้เข้ามาใกล้ชิดกับแพรวาในฐานะผู้ช่วยทำให้หรั่งได้รู้ว่าแพรวาไม่ต้องการจะเข้ามาทำงานที่บริษัท ซึ่งตรงข้ามกับความตั้งใจของ เผ่าลาภ ที่อยากผลักดันให้แพรวาขึ้นมาสืบทอดตำแหน่ง เพื่อที่เขาจะได้ไปลงเล่นการเมืองได้เต็มตัว เผ่าลาภหวังว่าการลงไปเล่นการเมืองในพรรคของสุริยะ พ่อของตะวันฉาย จะเป็นใบเบิกทางไปสู่สัมปทานบัตรเหมืองพลอยแห่งใหม่ แต่การขอสัมปทานก็ไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะกลับมีคู่แข่งอย่าง แสงเทพ เข้ามาขอสัมปทานให้กับบริษัท เทพทอแสง ด้วยการใช้สุริยะเป็นทางลัดเหมือนกัน การที่เผ่าลาภดันแพรวา ขึ้นมาแทนที่ สร้างความไม่พอใจให้กับบารมี และอรทัย น้องๆ ของเผ่าลาภ เผ่าลาภรู้ดีว่าคนสองคนนี้ห่วงแต่ประโยชน์ส่วนตัว เขาจึงพยายามกันตำแหน่งไว้ให้แพรวา แต่ปัญหาก็คือ แพรวาไม่มีความสามารถพอ เผ่าลาภจึงได้มอบภาระให้หรั่งทำทุกวิถีทางให้แพรวากลายเป็นผู้บริหารที่ดี ได้
เส้นเรื่องที่ 2 หรือพล็อตรองก็คือ การต่อสู้ฟาดฟันกันทางธุรกิจของเหล่าพี่น้องในตระกูลมหาโชคตั้งศิริ หรือ M.S. Jewelry เริ่มจากการที่เผ่าลาภต้องมานั่งเป็นประธานของกิจการของกงสีหรือในเครือ M.S Group เนื่องจากพี่ชายคนรองซึ่งเก่งกว่าได้เสียชีวิตไป อีกทั้งเขารู้ว่าในบรรดาน้องๆ ที่ดูแลกิจการงานในแต่ละด้านของบริษัทนั้นมีนอกมีใน มีการแบ่งกลุ่ม ขัดแย้งกันเอง โดยแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ 2 กลุ่มคือกลุ่มของอรทัยกับสามีและลูก กับบารมี(อาหั่ง)น้องชาย กับกลุ่มของเฮียตงเอง ซึ่งมีอาเหลียง กัมปนาท และลินจง ซึ่งคานอำนาจกันอยู่ ตั้งแต่หรั่งเข้ามาเป็นผู้ช่วยของแพรวาก็ทำการจับผิดทุจริตในฝ่ายขายที่มีอรทัยดูแลอยู่ได้ ทำให้เผ่าลาภเริ่มเชื่อมั่นต่อหรั่งมากขึ้น เผ่าลาภเริ่มมีอาการปวดหัวเนื่องจากโรคความดันบ่อยๆ เขาเริ่มกลัวว่าตัวเองจะอยูได้อีกไม่นาน ดังนั้นเขาจึงเร่งรัดให้หรั่งช่วยสอนให้แพรวาเป็นนักบริหารที่ดีโดยเร็ว หรั่งให้สัญญา เผ่าลาภบอกกับหรั่งว่าเขาถูกชะตากับหรั่งอย่างบอกไม่ถูก หรั่งถือโอกาสสารภาพกับเผ่าลาภว่าเขาเคยเจอกับเผ่าลาภมาก่อนแล้ว ตอนที่เขาตามคณะคนงานก่อสร้างไปสร้างบ้านริมทะเลแห่งหนึ่ง ที่นั่นเขาได้พบกับแพรวาเป็นครั้งแรก แต่แพรวายังเด็กมากจึงจำเขาคนที่เคยช่วยเธอจากการถูกกลุ่มเด็กอื่นรังแกไม่ได้ เมื่อเผ่าลาภรู้ว่าหรั่งคือเด็กชายคนที่ห้อยสร้อยล็อคเก็ตไวโอลินเส้นนั้นก็ตกใจมาก บารมีร่วมกับอรทัยยักยอกพลอยในสต็อกของบริษัทไปขาย ทำให้บริษัทซึ่งกำลังต้องการขายพลอยก้อนเพื่อเอาเงินมาหมุนต้องเดือดร้อน เผ่าลาภไล่บารมีและอรทัยออก เผ่าลาภเองเครียดจัดจนถึงกับเส้นเลือดในสมองแตกกลายเป็นอัมพาต ทำให้แพรวาต้องขึ้นรักษาการตำแหน่ง M.D แทน ในขณะที่กำลังวุ่นวายกับปัญหาการเงินของบริษัท ตะวันฉายก็มาขอเลิกกับแพรวา แพรวาเสียใจอย่างมากแต่โชคดีที่มีหรั่งคอยอยู่เคียงข้าง ทำให้เธอทำใจได้เร็วกว่าที่คิด หรั่งถือโอกาสบอกความจริงกับแพรวาเรื่องที่เขาและเธอเคยเจอกันมาก่อนเมื่อ ตอนเด็ก เมื่อแพรวารู้ว่าหรั่งคือเด็กชายตัวโตคนนั้นก็รู้สึกดีใจอย่างบอกไม่ถูก ความผูกพันจากวัยเด็กทำให้คนทั้งคู่ยิ่งรู้สึกดีต่อกัน แพรวายอมรับความรู้สึกตัวเองแล้วว่าเธอมีใจเริ่มรักหรั่งเข้าแล้ว แต่แล้วขณะที่ทุกอย่างเริ่มจะดีขึ้น เผ่าลาภก็มาด่วนจากไปอย่างกะทันหันในเหตุการณ์ลิฟต์ระเบิด ตำรวจพบว่าการตายของเผ่าลาภนั้นเป็นการฆาตกรรม ด้วยพยานหลักฐานที่มัดตัวทำให้หรั่งกลายเป็นผู้ต้องสงสัย ญาติ ๆ ทุกคนคิดว่าหรั่งตั้งใจฆ่าเผ่าลาภแล้วใช้ความไว้วางใจที่แพรวามีให้เข้ามา ยึดอำนาจในบริษัท แพรวานึกไม่ถึงว่าหรั่งจะมีแผนไม่ซื่อกับเธอ หรั่งหมดอิสระภาพ เขาถูกจับเข้าคุกทันที แพรวารู้สึกผิดหวังในตัวหรั่งอย่างมาก
คืนหนึ่งลูกน้องของเผ่าลาภพาแพรวามาที่บ้านหลังหนึ่ง ที่นั่นแพรวาได้เจอกับเผ่าลาภและหรั่ง เธอจึงได้รู้ความจริงว่าเผ่าลาภแกล้งตายแล้วให้หรั่งเป็นแพะรับบาปในคดี เพื่อจะหาหลักฐานมาดัดหลังคนที่วางแผนฆาตกรรมตัวจริง แพรวาได้รู้ว่าคนบงการฆ่าตัวจริงคือ แสงเทพและตะวันฉายที่ต้องการจะฆ่าเผ่าลาภเพื่อให้ตัวเองเป็นฝ่ายได้สัมปทาน แล้วเอาที่ดินนั้นไปใช้เป็นโกดังเก็บของเถื่อนโดยใช้การทำเหมืองพลอยบังหน้า แต่แผนของแสงเทพก็ถูกเปิดเผยด้วยโน้ตลับจากบารมีที่เริ่มสำนึกได้แล้วเขียนมาเตือนเผ่าลาภให้ไหวตัวก่อน แพรวาร่วมมือกับหรั่งที่ยังแสร้งติดคุกอยู่หาหลักฐานมาเปิดโปงเทพทอแสงทำให้แสงเทพถูกจับและสัมปทานก็ตกมาเป็นของบริษัท แพรวาอยากลาออกแล้วคืนตำแหน่งให้เผ่าลาภ แต่เผ่าลาภปฏิเสธ เขาต้องการให้ทุกคนเข้าใจว่าเขาตายไปแล้วเพื่อที่เขาจะไปใช้ชีวิตเงียบสงบใน บั้นปลาย ก่อนจะไปเผ่าลาภบอกความจริงกับหรั่งว่าที่จริงนั้นหรั่งเป็นลูกชายของเผด็จศึก พี่ชายของเขาที่ตายไป หรั่งไม่เข้าใจ เผ่าลาภบอกว่า ถ้าหรั่งคือเด็กผู้ชายคนที่ห้อยสร้อยคอล็อกเก็ตไวโอลินคนนั้น หรั่งก็คือลูกของเผด็จศึกแน่ ๆ เพราะก่อนเผด็จศึกจะตายเคยบอกกับเผ่าลาภไว้ว่าเขามีลูกชายหนึ่งคนที่มีล็อกเก็ตไวโอลินเป็นสัญลักษณ์ หรั่งทนรับความจริงไม่ได้เมื่อรู้ว่าเขา กับแพรวาเป็นลูกพี่ลูกน้องกัน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาหรั่งจึงหนีหน้าไป ทิ้งให้แพรวาดำเนินงานไปคนเดียว น้าเบิ้ม พ่อของโบ้มาบอกความจริงแก่หรั่งว่าที่จริงล็อกเก็ตนั้นไม่ได้เป็นของหรั่ง แต่เป็นของที่ติดตัวโบ้มาตั้งแต่เด็ก น้าเบิ้มเป็นเพียงคนที่เก็บโบ้มาเลี้ยงแล้วก็เป็นคนถอดสร้อยนั้นใส่ให้หรั่งเองโดยไม่คิดอะไร หรั่งจึงรู้ความจริงว่าโบ้ต่างหากที่เป็นลูกพี่ลูกน้องกับแพรวา หรั่งรีบไปหาแพรวาที่บริษัทขณะกำลังแถลงข่าวของบริษัทอยู่ หรั่งไปในเวลาที่มือปืนลึกลับกำลังเล็งปืนขึ้นยิงบารมีพอดี บารมีถูกยิงล้มลง หรั่งปราดเข้าไปถึงตัวมือปืนทำให้ลูกกระสุนพลาดไปถูกแพรวาหนึ่งนัด หรั่งวิ่งเข้าไปหาแพรวาแล้วบอกความจริงกับแพรวาว่าทั้งคู่ไม่ได้เป็นพี่น้องกัน แพรวาหมดสติไปในอ้อมแขนหรั่ง เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้บารมีเสียชีวิต ตำรวจสืบสวนจนรู้ว่าตะวันฉายเป็นคนสั่งฆ่าบารมีปิดปากเพราะบารมีรู้ว่าเขา เป็นคนบงการฆ่าเผ่าลาภ ตะวันฉายถูกจับดำเนินคดี ส่วนหรั่งนั้นเขาไปใช้ชีวิตอยู่ที่เก่าแห่งหนึ่งเพื่ออยู่ดูแลแพรวาที่อยู่ ในระหว่างมาพักรักษาตัว หรั่งบอกแพรวาว่าเขาจะขอปกป้องดูแลแพรวาอย่างที่เขาเคยทำมาตั้งแต่เด็กและจะทำเช่นนี้ตลอดไป
ผู้เขียนต้องออกตัวก่อนว่ามีโอกาสดูละครเรื่องนี้โดยบังเอิญ เนื่องจากก่อนหน้านี้ติดตามละครเรื่องฟ้าจรดทรายที่เป็นละครฟอร์มยักษ์ของช่อง 7 พอจบก็ไม่รู้จะดูอะไรต่อ กอร์ปกับละครสาปพระเพ็งที่ฉายทางช่อง 3 ไม่ได้ดูมาแต่ต้น เพราะดันไปตามแต่เรื่องฟ้าจรดทราย เลยไม่ต่อเนื่อง พอจบฟ้าจรดทรายก็มีละครสุภาพบุรุษลูกผู้ชายมาต่อ แล้วเป็นงานกำกับของพี่ตั้วด้วย ก็เลยลองดูต่อ โดยที่ไม่รู้มาก่อนด้วยว่าเป็นละครรีเมค เพราะตอนฉบับเวอร์ชั่นเก่าก็ไม่เคยดู และไม่เคยได้ยินชื่อเสียงมาก่อน แต่พอดูตอนแรกผ่านไปแล้วเท่านั้นแหละ ติดงอมแงมเลย เป็นละครที่มีวิธีการเล่าเรื่องและนำเสนอที่ต่างออกไปจากละครอื่นโดยทั่วไป และยิ่งเปรียบกับละครอื่นในช่องเดียวกันด้วย ต้องถือว่าเหมือนดูซีรี่ย์ต่างประเทศหรือภาพยนตร์ฮ่องกงเรื่องนึงเลย มันมีกลิ่นของผู้หญิงข้าใครอย่าแตะ หรือเทพบุตรชาวดิน อย่างไรบอกไม่ถูกเหมือนกัน และยิ่งภาพหรือบรรยากาศของเรื่อง บวกกับไดอะล็อกซ์บทพูดของตัวละครหลักอย่างหรั่ง นาคำ มันชวนเศร้า หม่น แบบมีดราม่าแน่ๆ เลย แต่ไม่ได้มีการเร้าอารมณ์หรือเค้น แบบละครอื่นๆ ทั่วไปที่เรามักเห็นกันอยู่ดาดๆ ยิ่งดูไป ยิ่งสนุก ชวนติดตาม มีคติสอนใจทุกตอน แทรกข้อคิดการทำความดีที่ต้องต่อสู้กับอุปสรรคและค่านิยมของสังคมไทยของหรั่ง นาคำ ยิ่งดูก็ยิ่งรักตัวละครตัวนี้เข้าไปทุกที อีกทั้งตัวละครที่ชื่อน้องแนท ที่เล่นเป็นก้อย แสดงได้ดี ทำให้เรารู้สึกรักและสงสารเธอ ชอบบทละครเรื่องนี้จัง พี่ตั้วทั้งเขียนและกำกับเอง ต้องถือว่าไม่ธรรมดา หากไม่ใช่เป็นเพราะพี่ตั้วผ่านงานแสดงมาทั้งเป็นนักแสดงนำ นักแสดงประกอบมามากมายทั้งละครและภาพยนตร์ อีกทั้งยังเคยเป็นผู้กำกับทั้งละคร ภาพยนตร์และละครเวที เคยเป็นพิธีกรอีกต่างหาก ประสบการณ์หลากหลายเหล่านี้แหละกลายเป็นชั่วโมงบินที่กลั่นออกมาเป็นบทประพันธ์ บทละครที่ยอดเยี่ยมนี้ออกมาได้ วิธีการวางพล็อตเรื่อง การเล่าเรื่อง การนำเสนอตัวละครที่มีมิติหลากหลาย สัมพันธ์กัน รายละเอียดเล็กน้อยทั้งการแคสติ้งตัวแสดงมารับบทสำคัญๆ มุมกล้องสวยๆ การแสดงอารมณ์ของตัวละคร แบ็คกราวน์ของตัวละครหลักๆ รวมถึงบทพูดเก๋ๆ โดนใจ จังหวะจะโคนของการค่อยๆ เล่า ช่วงที่ต้องขยี้อารมณ์ ขยี้ปมปัญหา หรือเทิร์นนิ่งพ้อยท์ ไม่ใช่การเค้นอารมณ์ตัวแสดงแบบที่เรามักเห็นกันจนชินตาจากละครอื่นๆทั่วไป บรรยากาศของละครพาให้อินและเศร้าไปกับอารมณ์ของตัวละครได้ง่าย ถึงขั้นน้ำตาไหลในหลายๆ ตอน โดยที่ซีนนั้นมันไม่ได้เค้นหรือเร้าอารมณ์อะไรเลย ตรงจุดนี้ต้องถือว่าพี่ตั้วมีฝีมือเข้าขั้นสากลเลยทีเดียว ซึ่งอารมณ์แบบนี้ ผู้เขียนมักเสร็จกับซีรี่ย์ญี่ปุน ฮ่องกง เกาหลี หรืออเมริกาเสียมากกว่า นานๆ ครั้งจึงเจออารมณ์ที่ถึงได้ในบทละครของคนไทย จะไม่ขอชื่นชมใครเป็นพิเศษ เพราะถือว่าตัวแสดงเกือบทุกตัวในละครเรื่องนี้แสดงได้ถึงบทบาท ทำให้เราเชื่อได้ ต้องกล่าวโดยรวมและยกเครดิตนี้ให้กับพี่ตั้วคนเดียวจริงๆ เพราะละครเรื่องนี้เป็นละครสุดประทับใจของผู้เขียนในปีนี้ได้ องค์ประกอบมันคงไม่ใช่แค่บท การแสดง พล็อต แต่มันต้องหมายถึงฝีมือของผู้กำกับที่แบกและพาเราไปได้ตลอดทั้งเรื่อง ไม่มีส่วนสะดุดหรือติดขัด ถ่ายทอดมุมมองและเล่าเรื่องได้ดีแค่ไหนด้วย กล่าวอย่างไม่เสแสร้ง ไม่อวย ไม่ยกยอ หรือมีอคติ หรือมีความนิยมชมชอบผู้กำกับเป็นการส่วนตัวแต่อย่างใด เพราะก็ไม่เคยได้ติดตามงานของพี่เขาอะไรมาก่อนเป็นพิเศษ นอกจากงานเพลงเท่านั้น อ้อ ลืมไปเพลงประกอบเรื่องนี้ก็ต้องบอกว่าวิเศษสุด เพราะจับใจ ฟินสุด ๆ เช่นกัน กล่าวโดยรวม โชคดีที่มีโอกาสได้ชมละครเรื่องนี้ เพราะตั้งใจดูฆ่าเวลา รอทองเนื้อเก้า แต่ท้ายที่สุด ติดเรื่องนี้ ไม่ได้เปลี่ยนไปดูทองเนื้อเก้าเลย จะเสียดายที่สุดถ้าพลาดละครเรื่องนี้ไป
ฉากที่ประทับใจในละครเรื่องนี้ ช่วงที่หรั่งสะสมรูปภาพของแพรวาและทำการตัดเก็บรูปภาพเล็กๆ หลากหลายอริยาบถของคนที่ตัวเองแอบรักนำมาปะติดบนสรอรี่บอร์ดส่วนตัว แล้วจะคอยมาดูชื่นชม เป็นสมบัติสุดหวงเพียงไม่กี่ชิ้นของหรั่ง แม้วันที่ไฟไหม้บ้าน หรั่งก็พยายามเข้าไปรื้อค้นและพยายามเอาออกมาให้ได้ ไม่ให้โดยไฟไหม้, ช่วงที่หรั่งขี่มอเตอร์ไซด์พาก้อยไปในที่ต่างๆ ความสัมพันธ์ของหรั่งกับก้อย แม้นต่างฝ่ายต่างรู้ดีว่าเป็นแค่พี่น้อง แต่บางครั้งคนดูจะแอบเอาใจช่วยให้ทั้งคู่เป็นแฟนกันมากกว่า, ฉากที่หรั่งกับแพรวานั่งอยู่บนกระเช้าชิงช้าสวรรค์แล้วสนทนากัน,ฉากการเต้นรำบนดวงจันทร์ซึ่งเป็นซิมโบลิคของเรื่อง, ฉากที่เผ่าลาภเรียกหรั่งขึ้นไปบนหลังคาของตัวอาคารบริษัท M.S.Group มีการพูดคุยกันด้วยไดอะล็อค คล้ายๆหนังฮ่องกงบางเรื่อง, ฉากที่ก้อยนั่งเล่นไวโอลิน โดยมีหรั่งนั่งดูและแอบปลื้ม, ซีนอารมณ์ตอนที่เผ่าลาภล้มหมดสติต้องเข้าโรงพยาบาลและพบว่ามีอาการทางสมอง ตัวละครทุกตัวเล่นได้ดีหมด, ฉากตอนที่ผู้จัดการธนาคารกล่าวชื่นชมหรั่งที่สามารถจับผิดพนักงานธนาคารที่ยักยอกเงินลูกค้า ทำให้ผู้จัดการชื่นชมในตัวหรั่งและรับเข้าทำงาน ฯลฯ
ประวัติชีวิตและผลงานผู้กำกับการแสดง
ศรัณยู วงษ์กระจ่าง (ชื่อเล่น: ตั้ว) มีชื่อจริงว่า นรัณยู วงษ์กระจ่าง (เปลี่ยนมาเป็น ศรัณยู วงษ์กระจ่าง) เกิดวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2503 ที่ตำบลกระดังงา อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม ศรัณยูเป็นเป็นนักแสดง พิธีกร ผู้กำกับการแสดงละครและภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งในวงการบันเทิงของไทย ก่อนจะเข้ามาในวงการบันเทิง ประกอบอาชีพเป็นสถาปนิกมาก่อน แต่เนื่องจากอาชีพสถาปนิกในเวลานั้น ยังไม่เป็นที่นิยมอย่างในปัจจุบัน ซึ่งศรัณยูได้ร่วมกิจการการแสดงโดยแสดงละครของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 เมื่อยังเป็นนิสิตอยู่แล้ว (ซึ่งบทบาทการแสดงละครเวทีที่เป็นที่จดจำมากที่สุด คือ สู่ฝันอันสูงสุด) เมื่อจบออกมามีผลงานชิ้นแรกทางโทรทัศน์ โดยแสดงเป็นตัวประกอบในรายการเพชฌฆาตความเครียด ทางช่อง 9 ในปี พ.ศ. 2527 โดยแสดงร่วมกับนักแสดงรุ่นพี่ที่เป็นศิษย์เก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เช่นเดียวกัน เช่น ปัญญา นิรันดร์กุล, เกียรติ กิจเจริญ, วัชระ ปานเอี่ยม เป็นต้น
ศรัณยู มีผลงานทางด้านการแสดง พิธีกร ผู้กำกับละคร ผู้กำกับภาพยนตร์ เป็นผู้กำกับละครทางทีวีเรื่อง "เทพนิยายนายเสนาะ" (2541), ละครพีเรียดเรื่อง "น้ำพุ" (2545), ละครสั้นสองตอนจบเรื่อง "ลูกบ้าเที่ยวล่าสุด" (2545), ละครเรื่อง "สุภาพบุรุษลูกผู้ชาย" (2546), ละครเรื่อง "หลังคาแดง" (2547), ละครเรื่อง "ตราบสิ้นดินฟ้า" (2551) และการกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก "อำมหิตพิศวาส" (2550)
ชีวิตส่วนตัว เป็นน้องชายแท้ๆ ของ ธเนศ วรากุลนุเคราะห์ แต่ว่าใช้คนละนามสกุลกัน เนื่องจากในวัยเด็ก ธเนศได้ถูกป้าขอไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรมจึงใช้นามสกุลของป้า สมรสกับ หัทยา เกตุสังข์ นักแสดงและดีเจชื่อดัง มีลูกฝาแฝดชื่อ ลูกหนุน กับ ลูกหนัง ปัจจุบันเป็นเจ้าของกิจการ : ห้างหุ้นส่วนจำกัด ต้นขนุนลูกหนัง เป็นบริษัทการแสดงละคร ดนตรี และศิลปะอื่น ๆ ย่านเขตภาษีเจริญ
ผลงานการแสดงภาพยนตร์
2530 อย่าบอกว่าเธอบาป
2532 โกย
2532 หัวใจ 4 สี (วัชระ)
2532 ขอชื่อสุธีสามสี่ชาติ (สุธี)
2533 เล่นกับไฟ (ปราย)
2536 ท่านขุนน้อยน้อย แห่งสยาม
2537 กาเหว่าที่บางเพลง
2538 บินแหลก (ยิ่งศักดิ์ / โย)
2538 มหัศจรรย์แห่งรัก (พัฒน์)
2539 เรือนมยุรา (พระนาย)
2543 สตางค์ (โรจน์)
2544 สุริโยไท (พระเฑียรราชา / สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ)
2545 เกิร์ลเฟรนด์ 14 ใสกำลังเหมาะ
2548 ซุ้มมือปืน (อิฐ อัมพวา)
2549 อำมหิตพิศวาส (ชัย)
2549 13 เกมสยอง (สุรชัย)
2550 ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๑ องค์ประกันหงสา (สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ)
2551 สลัดตาเดียวกับเด็ก 200 ตา (กัปตันฤทธิ์)
2551 องค์บาก 2 (พระยาราชเสนา)
2552 สวยซามูไร (วายิบ)
2553 องค์บาก 3 (พระยาราชเสนา)
ผลงานละครโทรทัศน์
ช่อง 3
2526 เลือดขัตติยา (อโณทัย - ไม่ได้ออกอากาศ)
2527 เก้าอี้ขาวในห้องแดง (บูรพา)
2529 กามนิต-วาสิฏฐี (กามนิต)
2530 อวสานของเซลส์แมน
2531 เจ้าสาวของอานนท์ (อานนท์)
2531 เกมกามเทพ
2531 อาศรมสาง
2531 ทายาท
2532 ดอกฟ้าและโดมผู้จองหอง (โดม)
2532 รัตติกาลยอดรัก (ดร.จักรกฤษณ์ อิสราลักษณ์)
2533 วนาลี (ผู้กองสยาม)
2533 โหด เลว อ้วน
2533 เทพธิดาบาร์ 21
2533 สมหวัง มนุษย์ทดลอง (สมหวัง)
2533-34 รอยมาร (อุปมา / มาร์ค)
2534 วนิดา (พันตรีประจักษ์ มหศักดิ์)
2535 ไฟโชนแสง (ชาติชาย) คู่กับ มาช่า วัฒนพานิช
2536 อยู่กับก๋ง (เพ้ง) คู่กับ เพชรี พรหมช่วย
2540 ทานตะวัน (สาริศ)
2540 ตะวันยอแสง (อาเล็ก)
2541 ดวงยิหวา (อาแมน)
2541 เทพนิยายนายเสนาะ
ช่อง 5
2533 เธอคือดวงดาว (สันติภาพ - ชื่อละครเปลี่ยนจาก "คนขายคน" ถ่ายทำเมื่อ พ.ศ. 2531 ไม่ผ่าน กบว.)
2535 เมียนอกกฎหมาย (นเรนทร์)
2538 เรือนแพ (เจน)
2540 เขมรินทร์ อินทิรา (เขมรินทร์)
2549 ลอดลายมังกร (เหลียง)
ช่อง 7
2527 บ้านสอยดาว (เอื้อตะวัน)
2528 ระนาดเอก (เอก)
2528 มัสยา (ร้อยโทลักษณ์ รัตนมหาศาล)
2529 จิตรกร
2530 บ้านทรายทอง (ม.ร.ว.ภราดาพัฒน์ระพี / ชายกลาง)
2530 พจมาน สว่างวงศ์ (ม.ร.ว.ภราดาพัฒน์ระพี / ชายกลาง)
2531 บริษัทจัดคู่
2536 น้ำเซาะทราย (ภีม)
2537 ทวิภพ (คุณหลวงอัครเทพวรากร - ได้รับรางวัลเมขลาผู้แสดงนำชายดีเด่นปี 2537)
2537 ปลายฝนต้นหนาว (ลายคราม)
2538 ปราสาทสีขาว (ตรีพิมาย)
2538 มนต์รักลูกทุ่ง (คล้าว)
2539 ด้วยแรงอธิษฐาน (กฤตย์) คู่กับ สุวนันท์ คงยิ่ง
2541 พ่อม่ายทีเด็ด คู่กับ สินิทธา บุญยศักดิ์
2541 พลังรัก (อธิวัฒน์)
2542 โดมทอง (อดิศวร์ ศิโรดม)
2542 คุณปู่ซู่ซ่า คุณย่าเซ็กซี่
2543 ดั่งสายน้ำไหล
2544 นายฮ้อยทมิฬ (นายฮ้อยเคน)
2546 มหาเฮง (เฮง)
2547 หลังคาแดง (ผู้อำนวยการโรงพยาบาลผู้ป่วยโรคจิต – ไม่ระบุชื่อตัวละคร)
2548 มิตร ชัยบัญชา มายาชีวิต
ผลงานพิธีกร
คืนวันอาทิตย์ ช่อง 3
เจาะโลกมหัศจรรย์
เกมลวงบันลือโลก(ปี43)
แชมเปี้ยนเกม (7 ตุลาคม 2543 - มีนาคม 2547)
เรื่องจริงผ่านจอ(มกราคม 2542 - 31 มกราคม 2552)
บิ๊ก บราเธอร์ (2 เมษายน 2548 - 2549 รวม 2 ซีซั่น)
จอเหลือง,ชีวาสยาม (10 มกราคม 2552 - ปัจจุบัน )
The Audition(ปี52)
ผลงานเพลง
"ครั้งหนึ่ง" ศรัณยู วงษ์กระจ่าง
"หัวใจลูกทุ่ง ชุด 1"
193วัน รำลึก
7 ตุลา รำลึก (เก็บไว้ในความทรงจำ)
ของขวัญ (คำมั่นสัญญาของคน Astv)
ผลงานละครเวที
พันท้ายนรสิงห์ ณ ศาลาเฉลิมไทย (พ.ศ. 2532)
สัญญาณเลือดสัญญารัก
อภินิหาร แม่มดแฝด
ไร่แสนสุข 2530
ซินเดอเรลล่า ณ โรงละครแห่งชาติ (โรงใหญ่) วันที่ 22-24 พฤศจิกายน 2534
ทึนทึก ณ โรงละคร A.U.A. 27-28 มีนาคม 2535 และ 8-10 พฤษภาคม 2535
ตะลุยเมืองตุ๊กตา ณ โรงละครแห่งชาติ (โรงใหญ่) 3-12 กรกฎาคม 2535
จิ้งจอกลอกลาย ณ โรงละคร A.U.A. 18-30 กันยายน 2535*
ทู้ตซี่ ณ โรงละคร A.U.A. 7-16 พฤษภาคม 2536
อมาดิอุส ณ โรงละครกรุงเทพ 13-29 กันยายน 2539
ART ณ โรงละครกรุงเทพ 2-11 มิถุนายน 2543
เรื่องลับๆ…ตอนดับไฟ รับบท ว่าที่พ่อตาจอมโหด 23 กรกฎาคม - 1 สิงหาคม 2547
ทึนทึก 40 ปีผ่าน..คานเพิ่งขยับ 2551
ฟ้าจรดทราย เดอะมิวสิคัล รับบท กษัตริย์อาเหม็ด
หลังคาแดง (เรื่องนี้พี่ตั้วไม่ได้ร่วมแสดงแต่กำกับเอง)
ผลงานการกำกับภาพยนตร์
"เทพนิยายนายเสนาะ" (2541)
ละครพีเรียดเรื่อง "น้ำพุ" (2545)
ละครสั้นสองตอนจบเรื่อง "ลูกบ้าเที่ยวล่าสุด" (2545)
ละครโทรทัศน์เรื่อง "สุภาพบุรุษลูกผู้ชาย" (2546)
ละครโทรทัศน์เรื่อง "หลังคาแดง" (2547)
ละครโทรทัศน์เรื่อง "ร.ศ. 112 คนไทยรักแผ่นดิน" (2548)
ภาพยนตร์เรื่องแรก "อำมหิตพิศวาส" (The Passion) (2550)
ละครเรื่อง "ตราบสิ้นดินฟ้า" (2551)
ภาพยนตร์เรื่อง "คนโขน" (2554)
ละครรีเมคเรื่อง "สุภาพบุรุษลูกผู้ชาย" (2556)
(อ้างอิงข้อมูล : วิถีพีเดีย สารานุกรมออนไลน์)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น