วันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ส่งเสด็จสู่ห้วงนิพพาน น้อมถวายอาลัยแด่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก


สมเด็จพระสังฆราชสมเด็จ พระสังฆราช (เจริญ สุวัฑฒโน) เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงดำรงตำแหน่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๒ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช


พระองค์มีพระนามเดิมว่า เจริญ คชวัตร ประสูติที่อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๖ ทรงศึกษาที่โรงเรียนวัดเทวสังฆาราม เมื่อพระชนมายุได้ ๘ พรรษา และบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดเทวสังฆาราม เมื่อพระชนมายุ ๑๔ พรรษา ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๐ ได้ไปเรียนภาษาบาลีที่วัดเสน่หา จังหวัดนครปฐม ปี พ.ศ. ๑๔๗๒ ได้มาอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร ศึกษาพระปริยัติธรรม

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประสูติเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2456 ที่จังหวัดกาญจนบุรี มีพระนามเดิมว่า "เจริญ คชวัตร" เป็นบุตรของพระชนกน้อย และพระชนนีกิมน้อย คชวัตร เมื่อพระชันษาย่าง 14 ปี จึงบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดเทวสังฆาราม และอุปสมบทที่วัดเทวสังฆารามในปี 2476 โดยอุปสมบทซ้ำเป็นธรรมยุติที่วัดบวรนิเวศวิหาร ได้รับประทานนามฉายาจาก สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ว่า "สุวฑฺฒโน" ซึ่งมีความหมายว่า "ผู้เจริญดี"


การปฏิบัติพระองค์ภายใต้ร่มกาสาวพัสตร์ของ สมเด็จพระสังฆราช ทรงศึกษาและทรงปฏิบัติพระธรรมอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยคในปี 2484 นอกจากนี้ทรงศึกษาภาษาสันสกฤต อังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส และจีน จากพระอาจารย์หลายท่านและทรงศึกษาด้วยพระองค์เองด้วยความสนพระทัย โดยทรงดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารตั้งแต่ปี 2504 จนถึงปัจจุบัน

พระกรณียกิจสำคัญประการหนึ่งคือ ทรงเป็นพระอภิบาล หรือพระพี่เลี้ยงของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงผนวช ในปี 2499 โดยทรงถวายคำแนะนำต่างๆ เกี่ยวกับการทรงผนวชแด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทั้งก่อนและตลอดระยะเวลาการทรงผนวช รวมถึงทรงเป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ ในพระราชพิธีทรงผนวช ของ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในปี 2521 และทรงทำหน้าที่เป็นพระอาจารย์ถวายพระธรรมวินัยตลอดระยะเวลาแห่งการทรงผนวช

ในปี 2515 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ "สมเด็จพระญาณสังวร" มีความหมายว่า ผู้สำรวมในญาณคือความรู้ เป็นรูปที่ 2 ต่อจาก "สมเด็จพระญาณสังวร สุก" มีระยะเวลาห่างถึง 125 ปี

ในปี 2532 ได้รับพระราชทานสถาปนาขึ้นเป็น "สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก" ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดทางการปกครองของคณะสงฆ์ ในราชทินนาม

เดิมคือ "สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช" แทนราชทินนามสำหรับตำแหน่ง สมเด็จพระสังฆราช ที่ถือเป็นประเพณีปฏิบัติกันมาคือ "สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ" เพื่อให้พระเกียรติคุณทางวิปัสสนาธุระของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ยังเป็นที่ปรากฏอยู่สืบไป โดยทรงดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุตด้วย

การปฏิบัติพระองค์เมื่อทรงดำรงตำแหน่ง "สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก" ทรงปฏิบัติพระองค์ในฐานะพระมหาสังฆเถระด้วยพระจริยาวัตรงดงาม ทั้งในส่วนอัตตหิตปฏิบัติ และปรหิตปฏิบัติ ควรแก่การยึดถือเป็นแบบอย่าง การปฏิบัติพระองค์ในฐานะองค์พระประมุขแห่งสังฆมณฑล ทรงปฏิบัติศาสนกิจอันเป็นคุณประโยชน์แก่คณะสงฆ์ และพระพุทธศาสนาเป็นอเนกประการ

ส่วนการประปฏิบัติพระองค์ในฐานะพระสมณศากยบุตร ผู้สืบทอดมรดกทางธรรม ดำรงพระพุทธศาสนา มีพระปรีชาสามารถทั้งในทางพระปริยัติสัทธรรม และพระปฏิบัติสัทธรรม ดังที่ปรากฎในหมู่พุทธบริษัท ทั้งฝ่ายคฤหัสถ์และบรรพชิต นับว่าทรงเป็นปราชญ์ทางพุทธศาสนธรรมที่สำคัญพระองค์หนึ่งในยุคปัจจุบัน โดยทรงงานหลายด้าน อาทิ การศึกษา การปกครอง การสั่งสอนเผยแผ่พระพุทธศาสนา การก่อสร้างปฏิสังขรณ์ และการสาธารณสงเคราะห์

นอกจากการเผยแผ่พระธรรมในประเทศ ทรงเผยแผ่พระธรรมในสากลโลก โดยทรงริเริ่มสืบสานสายสัมพันธ์ระหว่างคณะสงฆ์ รัฐบาล และพุทธศาสนิกชน เพื่อให้พระพุทธศาสนาในหลายประเทศฟื้นฟูและเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น อาทิ ประเทศกัมพูชา เมียนมาร์ อังกฤษ ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี กรีซ อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย ศรีลังกา จีน และสหรัฐอเมริกา

ผลจากการทรงปฏิบัติพระกรณียกิจนานัปการเพื่อทรงสืบทอด ฟื้นฟู และเผยแผ่พระพุทธศาสนากว่า 24 ปี ในฐานะสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สะท้อนให้เห็นถึงพระหทัยที่ทรงมุ่นมั่นปฏิบัติพระกรณียกิจ ยังประโยชน์ให้เป็นที่ประจักษ์แก่พุทธศาสนิกชนชาวไทยและชาวโลกสืบมา

ในหลวงพระราชทานโกศกุดั่นใหญ่ ฉัตร 3 ชั้น บรรจุพระศพสมเด็จพระสังฆราช ขณะที่สมเด็จพระบรมฯ และสมเด็จพระเทพฯ เสด็จฯ ถวายน้ำสรงพระศพ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร แล้ว ชาวพุทธร่วมถวายอาลัยแน่นวัด


เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2556 เวลา 17.00 น. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายา เสด็จฯ มาถวายน้ำสรงพระศพสมเด็จพระสังฆราช ณ พระตำหนักเพ็ชร

การนี้ สมเด็จพระบรมฯ ทรงทอดผ้าไตรแพรถวายพระศพ ทรงวางพวงมาลาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และทรงวางพวงมาลาส่วนพระองค์ที่หน้าพระโกศพระศพ จากนั้น ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยหน้าพระโกศพระศพ ทรงทอดผ้าไตร หลั่งทักษิโณทก สวดพระอภิธรรม 1 จบ ก่อนเสด็จฯ กลับ

ด้าน นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็ได้นำคณะรัฐมนตรี ร่วมน้อมถวายอาลัยแด่สมเด็จพระสังฆราช เช่นเดียวกับประชาชนทั่วสารทิศที่เดินทางมาร่วมถวายอาลัยอย่างเนืองแน่น

ทั้งนี้ มีรายงานด้วยว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระโกศประดับเกียรติยศแก่สมเด็จพระสังฆราช เป็นพระโกศกุดั่นใหญ่ พร้อมฉัตร 3 ชั้น และเครื่องประกอบเกียรติยศ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์ ทั้งสิ้น 7 วัน และทรงดำริให้อยู่ในช่วงไว้อาลัย 30 วัน

Link : รายละเอียดประวัติและชีวิตการทำงานตลอดจนผลงานโดยละเอียดในเว็บสารานุกรมออนไลน์ http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%88%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%8D%E0%B8%B2%E0%B8%93%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%A7%E0%B8%A3_%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%88%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%86%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A_%E0%B8%AA%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%86%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%93%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%81


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น