วันอังคารที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2556

โลก 360 องศา - (ระเบิดพลีชีพบนรถบัสที่รัสเซีย,ไฟป่าปะทุที่ออสเตรเลีย,ปลาออร์ฟิชเกยตื้นเป็นลางแผ่นดินไหวใหญ่)


ผู้สื่อข่าวต่างประเทศ รายงานว่า เกิดเหตุระเบิดฆ่าตัวตายบนรถบัสคันหนึ่งซึ่งกำลังวิ่งอยู่บนถนนในเมืองวอลโกกราด ทางตอนใต้ของประเทศรัสเซีย โดยเหตุระเบิดในครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 14.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น หรือเวลาประมาณ 17.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย ส่งผลทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 6 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 32 คน โดยในจำนวนนี้มีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสจำนวน 8 คน เบื้องต้นเจ้าหน้าที่สันนิษฐานว่า มือระเบิดฆ่าตัวตายในครั้งนี้เป็นผู้หญิงวัย 30 ปี จากเขตปกครองตนเองสาธารณรัฐดาเกสถาน และมีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มติดอาวุธมุสลิมที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่นอร์ท คอเคซัส ทางตอนใต้ของรัสเซีย ซึ่งเป็นกลุ่มที่เคยก่อเหตุโจมตีในลักษณะนี้มาแล้วหลายครั้งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีกลุ่มใดอออกมาอ้างความรับผิดชอบของการก่อเหตุในครั้งนี้ ขณะที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซียได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เพิ่มกำลังรักษาความปลอดภัยในพื้นที่นอร์ท คอเคซัสแล้ว สำหรับเหตุโจมตีดังกล่าวเกิดขึ้นในขณะที่รัสเซียกำลังจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวครั้งที่ 22 ประจำปี 2014 ที่เมืองโซชี ทางทิศเหนือของทะเลดำ ในเดือน ก.พ. 2557 แต่เหตุโจมตีที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ได้ส่งผลทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับมาตรการรักษาความปลอดภัยของรัสเซียอีกด้วย

ไฟป่ายังคงโหมไหม้พื้นที่กว่า 60 จุดในรัฐ"นิวเซาธ์เวลส์"ของออสเตรเลียหลังเจ้าหน้าทีสามารถควบคุมไฟป่าได้แล้วประมาณ 40 จุด โดยพบว่ามีอาคารบ้านเรือนของประชาชนถูกไฟป่าเผาพลาญไปแล้วหลายร้อยหลัง ซึ่งเฉพาะในเมือง"สปริงวูด"มีบ้านเรือนประชาชนถูกไฟเผาไปแล้ว 30 หลัง ทางการออสเตรเลีย แสดงความวิตกกังวลเป็นอย่างยิ่งว่าไฟป่าอาจคุกคามต่อชีวิตของประชาชนทั่วรัฐนี้ เนื่องจากไฟป่ายังคงโหมไหม้อยู่หลายจุด บวกกับขณะนี้อุณหภูมิในพื้นที่สูงถึง 34 องศาเซลเซียส และปัจจัยสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อการดับไฟป่าของเจ้าหน้าที่ดับเพลิงก็คืออุณหภูมิที่สูง,สภาวอากาศแห้งแล้งและกระลมแรง ส่วนนคร"ซิดนีย์"ก็ปกคลุมไปด้วยหมอกควันจากไฟป่า ที่เผาไหม้ในพื้นที่ด้านตะวันตกของเมือง และไฟป่าที่เกิดขึ้นในปีนี้ ถือว่ารุนแรงที่สุดในรอบหลายปีของรัฐ"นิว เซาธ์ เวลส์"    สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ทางการออสเตรเลียได้ประกาศภาวะฉุกเฉินแล้ว หลังจากที่ไฟป่าได้ปะทุขึ้นในรัฐนิวเซาท์เวลส์ ขณะที่เจ้าหน้าที่ดับเพลิงก็กำลังเร่งทำงานกันอย่างหนักเพื่อควบคุมไฟป่าหลายจุด แต่เนื่องจากสภาพอากาศที่เลวร้าย จึงทำให้เจ้าหน้าที่ต้องทำงานกันอย่างยากลำบากในการควบคุมไฟป่าในครั้งนี้ เบื้องต้นได้มีการประเมินว่าไฟป่าครั้งนี้นับเป็นไฟป่าครั้งที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 40 ปี นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์กันอีกว่า สถานการณ์ไฟป่าในออสเตรเลียครั้งนี้จะเลวร้ายหนักขึ้นอีกโดยในเขตพื้นที่ของเทือกเขาบลูเมาท์เทนส์ ทางด้านตะวันตกของรัฐรัฐนิวเซาท์เวลส์ เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ถูกไฟป่าเผาผลาญมากที่สุดพื้นที่หนึ่ง มีรายงานว่า บ้านเรือนประชาชนนับ 300 หลังถูกไฟป่าลุกลามเผาผลาญบ้านเรือนเสียหาย ทางด้านทีมกู้ภัยก็กำลังเร่งค้นหาผู้รอดชีวิตและผู้ประสบภัยในครั้งนี้กันอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ล่าสุดมีรายงานผู้เสียชีวิตแล้ว 1 ราย เป็นชายวัย 63 ปี ซึ่งเสียชีวิตเนื่องจากหัวใจวายขณะกำลัง พยายามป้องกันไม่ให้บ้านถูกไฟไหม้ และมีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บแล้วอย่างน้อย 5 คน เป็นเจ้าหน้าที่ดับเพลิงถึง 3 ใน 5 คน เนื่องจากถูกเพลิงไหม้และสูดดมควันไฟ ซึ่งทั้งหมดถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลเรียบร้อยแล้ว ด้านกองทัพออสเตรเลียกำลังอยู่ระหว่างการสอบสวนว่า การฝึกซ้อมโดยใช้ระเบิดจริงในฐานทัพใกล้กับเมืองลิธโธว์เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (17 ต.ค.) เป็นสาเหตุทำให้เกิดไฟป่าครั้งล่าสุดในรัฐนิวเซาท์เวลส์หรือไม่อย่างไร

เอเอฟพี - นักผจญเพลิงประสบความสำเร็จในการรวมไฟป่าสองจุด บริเวณใกล้ๆ นครซิดนีย์ ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของออสเตรเลีย ก่อนที่มันจะลามไปรวมกันเองและบวกเข้ากับไฟป่าใหญ่จุดที่สาม ซึ่งอาจส่งผลให้กลายเป็น “ไฟนรก” ที่เกินกว่าจะควบคุม ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ระดับสูงของยูเอ็นตอกนายกรัฐมนตรีแดนจิงโจ้ โดยชี้ว่าไฟป่าออสซี่กับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศมีความเกี่ยวโยงกันอย่างแท้จริง พร้อมเตือนว่านโยบายการยกเลิกภาษีคาร์บอนอาจส่งผลเสียหายในระยะยาว ทีมนักผจญเพลิงหลายพันคนที่ส่วนใหญ่เป็นอาสาสมัคร ทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยในเขตป่าทางด้านตะวันตกของซิดนีย์ เพื่อพยายามดับไฟป่าครั้งใหญ่ซึ่งปะทุขึ้นหลายจุดในพื้นที่ 1,600 ตารางกิโลเมตรของรัฐนิวเซาท์เวลส์ นับตั้งแต่มีกระแสลมแรงและความร้อนพุ่งสูงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยบ้านเรือนกว่า 200 หลังถูกเผาราบคาบไปแล้ว และอีกจำนวนมากได้รับความเสียหาย แม้ยังมีผู้เสียชีวิตเพียงรายเดียว ทว่า จากรายงานพยากรณ์อากาศที่ระบุว่า สภาพอากาศในวันพุธ (23) จะเลวร้ายกว่าที่คาดไว้ ทำให้ เชน ฟิตซ์ซิมมอนส์ ผู้อำนวยการสำนักงานดับเพลิงรัฐนิวเซาท์เวลส์ ออกมาเตือนเมื่อวันอังคารว่า มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินเพิ่มขึ้น พร้อมเรียกร้องให้ประชาชนที่ไม่มีภาระหน้าที่ใดๆ ออกจากเขตเทือกเขาบลูเมาเทนส์ ซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่ 75,000 คน แม้ทางการยังไม่มีแผนอพยพครั้งใหญ่ก็ตาม ทั้งนี้ รายงานพยากรณ์อากาศคาดว่า อุณหภูมิในวันพุธจะอยู่ที่ราว 35 องศาเซลเซียส ความชื้นลดลง และกระแสลมแรง 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก่อนที่สภาพอากาศจะผ่อนคลายลงในวันรุ่งขึ้น ที่ผ่านมานักผจญเพลิงสามารถดับหรือควบคุมไฟหลายสิบจุดในระหว่างไฟไหม้ป่าซึ่งถือว่ารุนแรงที่สุดในรัฐนี้ในรอบเกือบ 50 ปี โดยยังเหลืออีก 57 จุดที่ลุกไหม้ และในจำนวนนี้ 17 จุดที่ดูเหมือนยังไม่สามารถควบคุมได้ เทือกเขาบลูเมาเทนส์ แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของออสเตรเลีย เป็นพื้นที่ที่น่าเป็นห่วงที่สุดเนื่องจากไฟป่าลุกลามรุนแรงอย่างมากในเขตเมืองเล็กๆ ที่ชื่อ ลิธโกว์ ฟิตซ์ซิมมอนส์เผยว่า ไฟป่าสองจุดใกล้กับลิธโกว์และภูเขาเมาต์วิกตอเรียในเขตเทือกเขาบลูเมาเทนส์ ได้ถูกทำให้มาบรรจบกันด้วยเทคนิค “การเผากลับ” เพื่อสร้างพื้นที่โล่งที่จะกลายเป็นแนวกันไฟ ป้องกันการลุกลามไปรวมกับไฟป่าที่ยังควบคุมไม่ได้ในสปริงวูดและวินมาลี แล้วกลายเป็น “เมกะไฟร์” อย่างที่กลัวกันก่อนหน้านี้ แม้ประสบความสำเร็จในการสร้างแนวกันไฟ และไฟป่าในลิธโกว์ลดระดับเป็น "ติดตามและดำเนินการ” จากระดับ “สถานการณ์ฉุกเฉินสูงสุด” แต่ฟิตซ์ซิมมอนส์เตือนว่า ยังมีความเสี่ยงที่ไฟจะลุกลามไปยังเขตชุมชนในเบลล์และหมู่บ้านใกล้เคียง ทั้งนี้ ไฟป่าเป็นปรากฏการณ์ที่พบได้ทั่วไปในออสเตรเลียในช่วงฤดูร้อน ซึ่งอยู่ระหว่างเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ แต่สภาพอากาศที่แห้งและอุ่นผิดปกติในฤดูหนาว ขณะที่อุณหภูมิในฤดูใบไม้ผลิพุ่งสูงทำสถิติ ส่งผลให้ฤดูไฟป่าของปี 2013-2014 มาถึงเร็วขึ้นกว่าธรรมดา พร้อมกับคำเตือนว่า ฤดูร้อนที่กำลังจะมาถึงนั้นจะทั้งยาวนานและแห้งแล้ง ไฟป่าครั้งรุนแรงนี้ทำให้เกิดข้อถกเถียงในแดนจิงโจ้เกี่ยวกับความเชื่อมโยงของไฟป่ากับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ โดยที่โทนี แอ็บบอตต์ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ได้เคยวิจารณ์แนวคิดที่ว่า การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศจากฝีมือมนุษย์เป็นต้นเหตุของไฟป่าว่า “ไร้สาระทั้งเพ” ทว่า ในระหว่างตอบข้อซักถามจากโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็นเมื่อวันอังคาร คริสเตียนา ฟิเกอเรส เลขาธิการบริหารอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (UNFCCC) ระบุชัดเจนว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับไฟป่ามีความเชื่อมโยงกันอย่างแท้จริงฟิเกอเรสเสริมว่า แม้องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกยังไม่ได้ระบุความเชื่อมโยงโดยตรงของสองปรากฏการณ์นี้ แต่หลักฐานทางวิทยาศาสตร์บ่งบอกชัดเจนว่า คลื่นความร้อนในเอเชีย ยุโรป และออสเตรเลียกำลังเพิ่มสูงขึ้นและจะยังคงเพิ่มขึ้นต่อไปทั้งในแง่อุณหภูมิและความถี่ ทั้งนี้ข้อมูลของสำนักงานอุตุนิยมวิทยาออสเตรเลีย กฌแสดงให้เห็นว่า ปีนี้เป็นปีที่อากาศร้อนที่สุด ลบสถิติในปี 2005 และเดือนที่ผ่านมายังเป็นเดือนกันยายนที่ร้อนที่สุดในแดนจิงโจ้ ด้วยอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วประเทศสูงกว่าอุณหภูมิเฉลี่ยระยะยาวประมาณ 2.75 องศาเซลเซียส ฟิเกอเรสเสริมว่า การตัดสินใจของแอ็บบอตต์ในการยกเลิกภาษีเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่รัฐบาลชุดเดิมบังคับใช้ อาจต้องแลกกับต้นทุนมหาศาลทางการเมือง “ขณะนี้เรากำลังจ่ายค่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยไฟป่าและสภาวะแห้งแล้ง” ฟิเกอเรสยังเรียกร้องให้มีการรับมือกับปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจังทันที พร้อมเตือนว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้เป็นเพียงบทนำของสถานการณ์เลวร้ายที่มนุษยชาติอาจเผชิญในอนาคต


บีบีซี/ASTVผู้จัดการ - เหตุพบปลาออร์ฟิชขนาดใหญ่ 2 ตัวเกยตื้นชายหาดแถบมลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ ในเวลาห่างกันไม่ถึงสัปดาห์ จุดชนวนข่าวลืออาจเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงแพร่สะพัดในโลกออนไลน์ เหตุพบซากปลารูปร่างคล้ายงู ขนาดความยาว 4.3 เมตร บนชายหาดเมืองโอเชียนไซด์ เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม เกิดขึ้นเพียง 5 วันหลังเพิ่งเจอปลาออร์ฟิชขนาดความยาว 5.5 เมตร บนชายฝั่งเกาะคาตาลินา ทางใต้ของแคลิฟอร์เนียปรากฏการณ์นี้ได้ก่อเกิดข่าวลือบนโลกออนไลน์ที่ย้อนถึงความเชื่อในสมัยโบราณของชาวญี่ปุ่นที่ว่าปลาออร์ฟิชซึ่งพบเห็นได้ยากนี้สามารถเตือนเรื่องแผ่นดินไหวได้ อย่างไรก็ตามเหล่านักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่เชื่อว่ามันจะเกี่ยวข้องใดๆกับความเคลื่อนไหวของแผ่นเปลือกโลก

กระนั้นก็ดีเหล่านักวิทยาศาสตร์เองก็รู้สึกพิศวงอย่างมาก ต่อการพบปลาซึ่งอาศัยอยู่ในน้ำลึกมากโผล่ขึ้นมาใกล้ชายหาดถึง 2 ครั้งในเวลาที่ไม่ห่างกันมากนักเวลานี้ปลาออร์ฟิชตัวที่พบบนกาะคาตาลินา ถูกนำไปชำแหละเพื่อศึกษาและพบว่ามันสมบูรณ์ดี ไม่มีปญหาอดอยาก และมีสัญญาณของการเป็นโรคแค่เล็กน้อย ทั้งนี้เหล่านักวิทยาศาสตร์ยังได้ดำเนินการตรวจสอบถึงความเป็นไปได้ของการปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสี ตามหลังน้ำปนเปื้อนรังสีรั่วไหลที่โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟูกูชิมะของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งตั้งอยู่อีกฟากหนึ่งของมหาสมุทรแปซิฟิก อย่างไรก็ตามเป็นไปได้ยากที่จะสรุปได้อย่างแน่ชัด เนื่องจากการรวบรวมข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับปลาสายพันธุ์ซึ่งเป็นที่รู้จักน้อยนิดนี้ทำได้ยากนั่นเอง



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น