วันจันทร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ในวันที่ประชาชนไม่เชื่อในผลและสำนักวิจัยโพลล์อีกต่อไป

แรกเริ่มเดิมที การจัดทำรายงานการสำรวจหรือผลวิจัยนั้น แต่เดิมจะอยู่ในแวดวงวิชาการ และในเวลาต่อมาก็มีวิวัฒนาการถูกนำมาใช้ในแวดวงธุรกิจ ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือสำรวจความนิยมในด้านสินค้า พฤติกรรมผู้บริโภค ทัศนคติ ความต้องการซื้อ ตลอดจนไปถึงการตัดสินใจของผู้บริโภค  หรือถูกนำไปใช้ในแวดวงของธุรกิจสื่อ ที่ใช้เป็นเครื่องมือสำรวจความนิยม เรตติ้งของรายการโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุ หรือแม้กระทั่งในโลกอินเตอร์เน็ต  โซเชียลเน็ตเวิร์คก็นำข้อดีของโพลล์สำรวจเหล่านี้ไปทำเป็นฟีเจอร์ ให้กดกัน เช่น ปุ่ม like ในเฟซบุ้ค ที่เป็นตัววัดความนิยมของหัวข้อ กระทู้ เว็บบล็อก หรือแม้แต่นำไปคำนวณเป็นรายได้ที่จะได้รับจาก facebook หรือ google ที่เป็นเว็บ hosting  หรือ เว็บ portal อีกที

ภายหลังต่อมาการสำรวจวิจัยถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือสำรวจความนิยมในด้านการเมือง ซึ่งกาลต่อมาก็เลยใช้เป็นเครื่องมือหลักในการใช้เป็นดัชนีชี้วัดเวลาต้องการทราบผลการเลือกตั้งแบบคาดคะเนล่วงหน้าหรือพยากรณ์เอาผลแพ้ชนะ เช่น การทำ exit poll หรือโพลล์สำรวจก่อนการเลือกตั้ง โพลล์ดีเบต จนเลยเถิดมาถึงปัจจุบันที่โพลล์ถูกนักการเมืองใช้เป็นเครื่องมือในการชี้นำประเด็นทางสังคม ประเด็นทางการเมือง ให้เป็นไปตามความต้องการของนักการเมือง เพื่อชักจูง โน้มน้าว หรือเบี่ยงประเด็น อันจะมีผลต่อการสร้างความนิยมหรือความเชื่อมั่นศรัทธาต่อผู้ว่าจ้างหรือนักการเมืองผู้อยู่เบื้องหลังการจัดทำโพลล์อันนั้น

ระบอบทักษิณ โดย พตท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ดูเหมือนจะเชี่ยวชาญเป็นพิเศษด้านการทำโพลล์ซึ่งได้มีการนำมาใช้ตั้งแต่เริ่มแรกก่อตั้งพรรคไทยรักไทย เพราะตัวคุณทักษิณนั้นสนิทกับดร.นิยม ปุราคำ ที่เคยเป็นอดีตผอ.สำนักงานสถิติแห่งชาติมาก่อน และเป็นบุคคลที่คุณทักษิณเรียกใช้บริการบ่อยในช่วงก่อตั้งพรรคดังกล่าว การสำรวจความต้องการของประชาชนจนนำมาซึ่งการร่างนโยบายประชานิยมต่างๆ ให้โดนใจประชาชนก็มีจุดเริ่มต้นตอมาจากการทำวิจัยของตัว ดร.ทักษิณทั้งสิ้น และใช้เป็นเครื่องมือในการชี้นำ ชักจูง หรือเบี่ยงเบนความสนใจของสังคมในวาระที่ตัวเองกำลังเพลี่ยงพล้ำ ผลโพลล์จะมาถูกที่ถูกเวลากับช่วงเวลาที่รัฐบาลของทักษิณ มีประเด็นถูกตั้งคำถามจากสังคม หรือกำลังมีปัญหาถูกโจมตี หรือเกิดวิกฤติศรัทธาในด้านใดก็ตาม ก็จะมีโพลล์ที่ถูกว่าจ้าง (ผู้เขียนขอใช้คำว่าเป็นสำนักโพลล์รับจ้างทางการเมือง) เหล่านี้ออกมาแถลงผลการสำรวจที่เป็นการส่งเสริม เป็นคุณ ให้ภาพด้านบวกแก่รัฐบาลของคุณทักษิณอยู่เสมอ ๆ ราวกับมีการเตี๊ยมกันมาอย่างดี ที่คนส่วนใหญ่เรียกว่าโพลล์การเมือง คือมีการตั้งคำถามชี้นำประเด็น ตั้งธงไว้ทั้งคำถาม และคำตอบ มีการล็อคคำตอบเอาไว้แค่ช้อยส์ที่ต้องการให้เลือก หรือทำโพลล์ในประเด็นที่เป็นคุณแก่ฝ่ายระบอบทักษิณ ในขณะที่หลีกเลี่ยงประเด็นที่ถูกโจมตี ไม่มีการกล่าวถึง หรือเบี่ยงไปประเด็นอื่นที่มีน้ำหนักน้อยกว่า  เพื่อลดทอนประเด็นเนื้อหาที่ถูกโจมตี ในขณะที่เวลาออกข่าวผ่านสื่อก็จะกล่าวถึงผลโพลล์เน้นเฉพาะประเด็นที่เป็นคุณด้านบวกแก่ตน เพื่อสร้างคะแนนความนิยม สร้างภาพลักษณ์ หรือสร้างความชอบธรรมมากลบประเด็นที่กำลังถูกตรวจสอบโจมตี ซึ่งหลายครั้งก็ได้ผล เพราะสังคมไทยเป็นสังคมที่เชื่อในสำนักวิจัยชั้นนำในบ้านเรา โดยที่เนื้อใน ใส้ในจะเป็นอย่างไรก็ไม่สนใจใคร่รู้ หรือตั้งคำถาม เพราะไม่มีใครทราบ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจ ทั้งปริมาณและคุณภาพเป็นอย่างไร  สมมติฐานในการสำรวจวิจัยในแต่ละครั้ง ประเด็นและคำถามมีการตั้งคำถามในลักษณะอย่างไร ระเบียบและวิธีการวิจัยเป็นอย่างไร รวมถึงสูตรและค่าสถิติที่นำมาใช้ในการสำรวจวิจัย ใช้วิธีใด แบบใด สิ่งเหล่านี้ประชาชนโดยทั่วไปไม่มีใครมีความรู้หรือลงลึกด้านเทคนิคต่างๆเหล่านี้หรอก จึงทำให้คนไทยไว้ใจผู้ทำสำรวจ ซึ่งมักจะเป็นสำนักโพลล์ที่อิงแอบอยู่ในสถาบันการศึกษาที่พอจะมีชื่อเสียง แต่ระยะหลังนั้นดูเหมือนผู้ที่เป็นผู้อำนวยการของสถาบันวิจัยเหล่านั้นทำตัวเป็นผู้รับใช้ทางการเมือง (ไม่อยากจะกล่าวหาว่าท่านรับงานมาจากนักการเมืองหรือไม่ หรือมีวาระซ่อนเร้นอะไรอย่างไร)  แต่ผลการสำรวจที่ออกมาในระยะหลัง ประชาชนจะเห็นผ่านสื่อมาโดยตลอดนั้น เป็นเรื่องสำรวจที่เกี่ยวกับการเมืองแทบทั้งสิ้น  เรื่องที่เป็นประเด็นทางสังคม วัฒนธรรม การศึกษา การวิจัยเชิงวิชาการจริงๆ กลับมีน้อย ทั้งๆ ที่เป็นสถาบันการศึกษา มัวไปรับตังค์อยู่กับใคร ทำไมไม่เห็นผลการวิจัยเรื่องที่เกี่ยวกับทางวิชาการออกมาบ้างเลย ทำให้เครดิตความน่าเชื่อถือของสำนักวิจัยเหล่านี้เสื่อมลง และเกิดวิกฤติศรัทธาในสำนักโพลล์เหล่านั้นเสียแล้ว ถ้าไม่รีบกลับไปทบทวนบทบาทตัวเองเสียใหม่ ในระยะเวลาอันใกล้นี้ สำนักโพลล์เหล่านั้นจะมีสภาพเป็นอย่างนี้  หรือไม่

 
สำนักวิจัย Gallop Poll ทำการสำรวจความน่าเชื่อถือของสำนักโพลล์ต่างๆ ในประเทศไทย ปรากฏผลการสำรวจออกมาดังนี้  (บางส่วนของผลการวิจัยและแบบสำรวจ) 

1.  สำนักโพลล์ที่มีคนเชื่อถือมากที่สุด
         -นิด้าโพลล์   45.5 %
         -หอการค้าไทย 35.5%
         -อื่นๆ 19.00%

2.  สำนักโพลล์ที่มีคนเชื่อถือน้อยที่สุด
         -ดุสิตโพลล์   43.00 %
         -เอแบ็คโพลล์  35.00 %
         -กรุงเทพโพลล์ 12.00%        
         -บ้านสมเด็จโพลล์  10.00 %

3.  สาเหตุที่ทำให้แบบสำรวจการวิจัยและผลการวิจัยของสำนักโพลล์ไม่น่าเชื่อถือ
         -หัวข้อคำถามการตั้งประเด็นชี้นำหรือมีธงเอาไว้ก่อน    55%
         -ตัวเลือกของคำตอบน้อยหรือล็อคคำตอบไว้      5%
         -เลือกกลุ่มเป้าหมายในการสำรวจไม่มากพอหรือไม่กระจายกลุ่มตัวอย่าง   23%
         -ความโปร่งใสในวิธีการสำรวจ       4%
         -วิธีการสัมภาษณ์หรือผู้ที่ออกไปสำรวจ      3%
         -ค่าความคลาดเคลื่อนหรือ error ในกลุ่มตัวอย่างและคำตอบบางกรณีคลุมเครือไม่ชัดเจน  5%
         -ช่วงจังหวะเวลาของการทำการสำรวจ และช่วงเวลาของการแสดงผลสำรวจ ไม่สอดคล้องหรือปัจจัยตัวแปรเปลี่ยนมีผลต่อการแสดงความรู้สึกหรือการแสดงออกของกลุ่มตัวอย่าง  5%

4.  สาเหตุที่ทำให้สำนักโพลล์หรือผู้จัดทำวิจัยไม่น่าเชื่อถือ
        -มักจัดทำผลโพลล์ออกมาช่วยสนับสนุนประเด็นทางการเมือง   24.0%
        -ผลโพลล์มักออกมาสอดรับ เสริมหรือให้น้ำหนักต่อประเด็นที่ถูกตรวจสอบโจมตีในทางบวก  55.5%
        -พฤติกรรมในอดีต คือเป็นโพลล์ที่เชียร์หรือสนับสนุนทางการเมืองให้กับบางขั้วอย่างชัดเจน  2%
        -ไม่ค่อยเห็นผลงานการวิจัยด้านวิชาการออกมาเผยแพร่ซักเท่าไหร่ หรือไม่เน้นเลย   12%
        -จัดทำผลการวิจัยแต่เรื่องการเมืองเป็นหลัก     5%
        -ผู้จัดทำวิจัยมีแนวโน้มฝักใฝ่พรรคการเมืองบางพรรค หรือมีวาระซ่อนเร้น   1.5%

5. ทางออกของการสำรวจวิจัยที่เกี่ยวกับประเด็นทางการเมืองเพื่อลบข้อครหาเรื่องการชี้นำหรือเบี่ยงประเด็นทางการเมือง ควรเป็นอย่างไร
        -จัดทำผลการสำรวจประเด็นทางการเมืองเอาไว้ในช่วงเวลาที่เกิดประเด็น แต่นำผลการวิจัยเผยแพร่ออกผ่านสื่อภายหลังครบระยะเวลา 1 ปี ไปแล้ว     36%
        -ไม่ควรสำรวจประเด็นอ่อนไหวทางการเมืองใดๆ ทุกกรณี   1.8%
        -ปรับมุมมองของการตั้งประเด็น สมมติฐาน และทัศนคติของผู้จัดทำวิจัยเสียใหม่ ก่อนที่จะทำผลการสำรวจ    22%
        -จัดทำผลการสำรวจประเด็นทางการเมืองเอาไว้ แต่ห้ามเผยแพร่ผ่านสื่อหลัก ๆ ผู้ที่สนใจผลการสำรวจสามารถขอทราบผลการวิจัยผ่านสำนักโพลล์ได้โดยตรง   40.2%

การสำรวจวิจัยครั้งนี้เป็นการสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างหลากหลายกลุ่มอาชีพ ฐานรายได้ตั้งแต่ 8,500 บาทถึง 56,000 บาทต่อเดือน การศึกษาตั้งแต่ระดับประถมจนถึงปริญญาเอก  แบ่งเป็นกลุ่มตัวอย่างในกรุงเทพฯ 35%  และกลุ่มตัวอย่าง ตจว.ภูมิภาค อีก 65% รวมเป็นกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น  23,854 ตัวอย่าง  ใช้วิธีการสำรวจแบบสัมภาษณ์ตัวต่อตัว  มีแบบสำรวจที่ไม่สมบูรณ์ ผิดพลาดหรือเสีย จำนวน 1,284
ตัวอย่าง  แบบสำรวจเป็นแบบช้อยส์ให้เลือก ตัวเลือก 3-4 ตัวเลือก และทุกคำถาม มีตัวเลือกคำตอบแบบปลายเปิดให้ตอบด้วย เพื่อทราบความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างเป็นบางราย/บางกรณี  มีการตั้งสมมติฐานในการวิจัยครั้งนี้ไปในทิศทางเดียวกัน ใช้ค่าสถิติหลายตัว ค่าเฉลี่ยเลขคณิต ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าสหสัมพันธ์  ใช้โปรแกรมสำเร็จรูป spss ในการถอดค่าและประมวลผล 

ตัวอย่างผลโพลล์ที่ผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกต และยกไว้เป็นกรณีศึกษา ท่านผู้อ่านลองพิจารณาดูว่าเข้าข่ายของโพลล์ชี้นำทางการเมือง และต้องการทำลายน้ำหนักของฝ่ายตรงข้ามหรือไม่

เอแบคโพลล์ ชี้ ปชช.ส่วนใหญ่94.5% ไม่เห็นด้วยการชุมนุมที่นำปท.ไปสู่การปกครองที่ไม่เป็นปชต.
ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง คำอธิษฐานของคนไทยต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองในสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เพชรบุรี ฉะเชิงเทรา นครปฐม สมุทรปราการ อุตรดิตถ์ ลำปาง เชียงราย มุกดาหาร หนองคาย สกลนคร ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ เลย ยะลา นราธิวาส และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,267 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 11 – 17 พฤศจิกายน 2555 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน ความคลาดเคลื่อนร้อยละ 7 พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 77.5 ทราบข่าวการนัดชุมนุมขับไล่รัฐบาลของกลุ่มองค์กรพิทักษ์สยามซึ่งนำโดย พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ โดยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 87.4 คิดว่าการนัดชุมนุมขับไล่รัฐบาลของกลุ่มองค์กรพิทักษ์สยามเป็นสิทธิของประชาชนที่สามารถแสดงออกได้ทางการเมืองภายใต้ระบอบประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 94.5 ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมที่จะนำพาประเทศไปสู่การปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย มีเพียงร้อยละ 5.5 เท่านั้นที่เห็นด้วย ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 68.9 คิดว่าการนัดชุมนุมขับไล่รัฐบาลของกลุ่มองค์กรพิทักษ์สยามจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของชาวต่างชาติต่อรัฐบาลไทย ถ้าเกิดความรุนแรงขึ้นในการชุมนุม ในขณะที่ร้อยละ 31.1 คิดว่าไม่กระทบ โดยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 67.4 คิดว่าการนัดชุมนุมขับไล่รัฐบาลครั้งนี้เป็นเรื่องการเมือง ในขณะที่ร้อยละ 32.6 คิดว่าไม่ใช่เรื่องการเมือง ยิ่งไปกว่านั้น ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 74.7 คิดว่าถ้ามีการชุมนุมของคนจำนวนมากตามที่ประกาศไว้จะกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาล ในขณะที่ร้อยละ 25.3 คิดว่าไม่ส่งผลกระทบ ที่น่าสนใจคือ คำอธิษฐานของประชาชนที่ถูกศึกษาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองในสถานการณ์การเมืองขณะนี้ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 84.0 อยากให้การชุมนุมวันที่ 24 พ.ย. เป็นไปด้วยความสงบ เป็นระเบียบเรียบร้อย รองลงมาคือ ร้อยละ 81.2 ขอให้ประชาชนคนไทยทุกคนมีจิตสำนึกรู้คุณแผ่นดิน ร้อยละ 73.8 อยากเห็นคนไทยรักกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีอะไรก็พูดจากัน ร้อยละ 67.8 อยากเห็นการปรองดองเกิดขึ้นอย่างแท้จริง และร้อยละ 67.2 อยากให้ผู้ชุมนุมทุกคนมีสติ ไม่ตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มผู้นิยมความรุนแรง นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 73.8 ไม่คิดว่าการชุมนุมวันที่ 24 พ.ย.นี้จะยืดเยื้อ

ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า จากการวิจัยเชิงคุณภาพด้วยการสัมภาษณ์เจาะลึกพบว่า ส่วนใหญ่มีความกังวลต่อการสร้างสถานการณ์ความรุนแรงจากมือที่สามเพื่อทำให้เกิดความวุ่นวายและการสูญเสีย และยังกังวลต่อปัญหาอาชญากรรม ปัญหาความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินเพราะความไม่เพียงพอของจำนวนเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ต้องตรวจตราท้องที่ในช่วงที่มีการชุมนุมใหญ่ จึงต้องการให้ผู้ใหญ่ในสังคมไทยที่มีหน้าที่บริหารจัดการปัญหาบ้านเมืองและฝ่ายการเมืองช่วยกันคิดหาทางออกที่เหมาะสมกับสถานการณ์การเมืองของประเทศ ในเวลานี้โดยไม่ทำให้ประเทศและประชาชนทั้งประเทศต้องเสียหายเดือดร้อน โดยขอให้ช่วยกันประคับประคองบ้านเมืองให้ก้าวไปข้างหน้าและเชื่อมั่นว่ากลุ่มนักการเมืองน้ำดีและกระบวนการยุติธรรมจะสามารถช่วยคลี่คลายปัญหาการเมืองที่กำลังเป็นบทพิสูจน์ความรักชาติบ้านเมืองที่แท้จริงของประชาชนคนไทยทุกคนในเวลานี้ อย่างไรก็ตาม ฝ่ายที่เห็นด้วยกับการชุมนุมก็คิดว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาของการเมืองที่ฝ่ายไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลเพราะเล็งเห็นว่าไม่มีความสมดุลของจำนวนสมาชิกฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาลในสภาฯ จึงต้องการให้มีการเมืองนอกสภาจากภาคประชาชนมาถ่วงดุลอำนาจของฝ่ายการเมือง จึงน่าจะเป็นข้อมูลสำคัญให้ฝ่ายที่มีอำนาจไม่ประมาท ไม่ทำให้สาธารณชนรู้สึกว่ารัฐบาลกำลังใช้พวกมากในสภาฯ กอบโกยผลประโยชน์เพื่อตนเองและพวกพ้องต่อไป จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 49.7 เป็นชาย ร้อยละ 50.3 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 3.7 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 19.9 อายุระหว่าง 20–29 ปี ร้อยละ 20.2 อายุระหว่าง 30–39 ปี ร้อยละ 20.7 อายุระหว่าง 40–49 ปี และ ร้อยละ 35.5 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 58.7 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ในขณะที่ ร้อยละ 41.3 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 32.9 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 27.1 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 10.6 ระบุเป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ 8.0 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 8.3 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 9.8 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 3.3 ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ
ที่มา มติชนออนไลน์ 18 พ.ย.2555


กรุงเทพโพลล์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ--26ธ.ค.2555--ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่อง ที่สุดของความคิดสร้างสรรค์แห่งปี 2555” โดยเก็บข้อมูลเมื่อวันที่ 15-20 ธันวาคม ที่ผ่านมาจากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ในทุกสาขาอาชีพ และทุกภูมิภาคทั่วประเทศด้วยคำถามปลายเปิดและให้ผู้ตอบคิดคำตอบเองทุกข้อ ได้จำนวนกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 1,275 คน เป็นเพศชายร้อยละ 46.9 และเพศหญิงร้อยละ 53.1 สรุปผลได้ดังนี้

1. นักการเมืองของไทยที่มีผลงานสร้างสรรค์มากที่สุดในรอบปี 2555 คือ อันดับ 1 น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ร้อยละ 52.1 อันดับ 2 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะร้อยละ 16.3 อันดับ 3 นาย ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ร้อยละ 15.3 อันดับ 4 ร.ต.อ เฉลิม อยู่บำรุง ร้อยละ 7.1 อันดับ 5 พ.ต.ท ทักษิณ ชินวัตร ร้อยละ 2.6

2. โครงการ/นโยบายของรัฐบาลที่คิดว่าสร้างสรรค์มากที่สุดในรอบปี 2555 คือ อันดับ 1โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ร้อยละ 18.1 อันดับ 2 โครงการรถยนต์ใหม่คันแรกตามนโยบายรัฐบาล ร้อยละ 16.4 อันดับ 3 โครงการค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ร้อยละ 13.8 อันดับ 4นโยบายปราบปรามยาเสพติด ร้อยละ 8.8 อันดับ 5 โครงการขยายเส้นทางเดินรถไฟฟ้าและรถไฟใต้ดินสายต่างๆร้อยละ 7.7

3. หน่วยงาน /องค์กร ภาครัฐและภาคเอกชน ที่มีภาพลักษณ์สร้างสรรค์มากที่สุดในรอบปี 2555 คือ อันดับ 1 กองทัพไทย ร้อยละ 8.9 อันดับ 2 บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (SCG) ร้อยละ 8.7 อันดับ 3 สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ร้อยละ 8.5 อันดับ 4 บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร้อยละ 7.9 อันดับ 5 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร้อยละ 7.7

4. ละครทีวีของไทยที่สร้างสรรค์มากที่สุดในรอบปี 2555 คือ อันดับ 1 แรงเงา ร้อยละ 56.3 อันดับ 2 รากบุญ ร้อยละ 6.7 อันดับ 3 กี่เพ้า ร้อยละ 5.6 อันดับ 4 ธรณีนี่นี้ใครครอง ร้อยละ 4.5 อันดับ 5 ขุนศึก ร้อยละ 3.6

5. รายการทีวีที่สร้างสรรค์มากที่สุดในรอบปี 2555 คือ อันดับ 1 เรื่องเล่าเช้านี้ ร้อยละ 18.5 อันดับ 2 คนค้นฅน ร้อยละ 7.5 อันดับ 3 กบนอกกะลา ร้อยละ 7.3 อันดับ 4 ชิงร้อยชิงล้าน ร้อยละ 7.0 อันดับ 4 ตี 10 ร้อยละ 7.0 อันดับ 5 The Voice ร้อยละ 6.7

Tags: กรุงเทพโพลล์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น