วันพฤหัสบดีที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

จับตารัฐบาลฉลาดทำแต่เรื่องโง่ๆ จะไปลงนามเป็นทาสอเมริกา



 VS

 

นักวิชาการ เตือน เจรจาความตกลง TPP ต้องรอบคอบ อาจทำไทยเสียเปรียบสหรัฐฯ ด้านภาคเอกชนหนุนร่วมเจรจา เชื่อดันการค้า-ลงทุนเพิ่มขึ้น

หลังคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. ได้เห็นชอบร่างประกาศการเข้าร่วมเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ ทีพีพี และรื้อฟื้นการประชุมคณะมนตรีภายใต้กรอบความตกลงการค้าและการลงทุนไทย-สหรัฐ หรือ ทิฟฟ่า ในช่วงที่ นายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐ จะเดินทางเยือนประเทศไทยสุดสัปดาห์นี้นั้น

นางถวิลวดี บุรีกุล ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า บอกว่า ความตกลงทีพีพี เป็นนโยบายระดับประเทศที่ต้องมองผลกระทบในภาพรวม และต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะในเรื่องการเข้าถึงยาและบริการทางสาธารณสุขของประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นคนยากจน เพราะเสี่ยงที่ไทยจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบในการเจรจา ซึ่งผู้กำหนดนโยบายต้องพิจารณา และน่าจะนำเข้าหารือในรัฐสภาก่อน

นายปณิธาน วัฒนายากร อดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ บอกว่า จุดยืนไทยคือไม่เห็นด้วยกับความตกลงทีพีพีมาโดยตลอด และหลายกระทรวง แม้แต่กระทรวงพาณิชย์ก็มีความกังวล ซึ่งเข้าใจว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันเพิ่งเปลี่ยนจุดยืนช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา

นายปณิธาน บอกอีกว่า ความตกลง ทีพีพี มีเนื้อหากว้างขวางครอบคลุมและผูกพันหลายสาขามาก เกี่ยวข้องกับงานหลายกระทรวง ทบวงกรม และเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับ จึงต้องอาศัยความเห็นของหลายหน่วยงานและต้องมีความรอบคอบสูงมาก ซึ่งหลายประเด็นในความตกลงทีพีพี ค่อนข้างอ่อนไหวต่อประเทศไทย

โดยเฉพาะประเด็นทรัพย์สินทางปัญญา // แรงงานข้ามชาติ // ค้ามนุษย์ // และอัตราภาษีหลายรูปแบบ ซึ่งคิดว่าไทยยังไม่พร้อม และการใช้เวทีทิฟฟ่าน่าจะเหมาะสมกว่า ส่วน เอฟทีเอไทย-สหรัฐ หรือข้อตกลงเขตการค้าเสรีแบบทวิภาคี คงไม่สามารถทำได้แล้ว เพราะผ่านช่วงเวลาที่รัฐสภาของสหรัฐจะรับรอง เนื่องจากปัญหาการเมืองภายในของไทยที่ค่อนข้างแปรปรวน
นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย บอกว่า ภาคเอกชนเห็นด้วยที่รัฐบาลจะเข้าร่วมความตกลงทีพีพี เพราะขณะนี้โลกเคลื่อนไหวไปเร็ว และถ้าไทยไม่เข้าร่วมเจรจาจะทำให้ไทยตกขบวนรถไฟ ซึ่งในอนาคตจะแข่งขันไม่ได้ และไม่มีข้อตกลงมาดูแลผลประโยชน์ของไทย โดยการเข้าร่วมเจรจาช่วงนี้อาจช้าไปบ้าง แต่ไม่ถือว่า เสียหาย

ส่วนการเจรจาระดับทวิภาคีระหว่างไทยกับสหรัฐฯอาจจะไม่จำเป็นหลังจากนี้ เพราะสหรัฐฯต้องการผลักดันข้อตกลงพหุภาคี โดยกรอบข้อตกลงการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับสหรัฐเป็นการเจรจาที่ไม่มีข้อผูกมัดเหมือนการเจรจา ข้อตกการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอ เพียงแต่เป็นแนวทางที่จะช่วยให้การค้าและการลงทุนดีขึ้นและเป็น จุดเริ่มต้นของข้อตกลงที่มีผลผูกมัด

สอดคล้องกับนายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. ที่บอกว่า ส.อ.ท.แสดงท่าทีสนับสนุนให้รัฐบาลเข้าร่วมเจรจาทีพีพีมาตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้ว ซึ่งการที่ไทยเข้าร่วมเจรจาในช่วงนี้ถือว่า ไม่ช้าเกินไป เพราะการเจรจายังไม่ได้ข้อยุติและน่าจะใช้เวลาอีกหลายปี โดยเชื่อว่า ทีพีพีจะทำให้โอกาสการส่งออกเพิ่มมากขึ้น

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงท่าทีของรัฐบาลที่สนับสนุนกรอบความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ทีพีพี) ว่า เท่าที่ดูข้อตกลง ไทยจะมีทั้งได้เปรียบและเสียเปรียบ ซึ่งคงต้องมีการหารือร่วมกันอีกหลายรอบว่าข้อตกลงที่จะทำนั้นประเทศได้ประโยชน์มากน้อยแค่ไหน และสหรัฐมีข้อเรียกร้องอะไรบ้าง

ทั้งนี้ หากมีความตกลงแล้ว ก็ควรพิจารณาว่าความร่วมมือด้านใดควรทำก่อนหรือทำหลัง เพราะต้องยอมรับว่า ทีพีพี แตกต่างจากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) เพราะการพัฒนาของกลุ่มประเทศเออีซีอยู่ในระดับเดียวกันและมีความยืดหยุ่นมากกว่า

ขณะที่ภาคการเงินที่จะเปิดเสรีตามข้อตกลงของ TPP ก็ต้องพิจารณาให้รอบคอบและดูความเชื่อมโยงกับการเปิดเออีซีด้วย

"สถาบันการเงินไทยเราแข็งแกร่งสามารถรับมือกับต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยได้ก็จริง แต่หากออกไปแข่งขันในต่างประเทศยังเสียเปรียบในด้านฐานทุน เทียบกับสหรัฐแล้วเรายังสู้ไม่ได้ แต่ส่วนตัวเชื่อว่า จากการที่ภาคการเงินเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว การเจรจาด้านนี้คงเป็นไปด้วยความระมัดระวัง"

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกคณะรัฐมนตรี (เงา) ของพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) แถลงผลการประชุม ครม.เงาว่า ที่ประชุมมีข้อกังวลทางเศรษฐกิจจากกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินหน้าความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก(Trans Pacific Partnership หรือTPP) กับ นายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีข้อสังเกตว่า ความตกลงTPP มีมาตรฐานสูงกว่าข้อตกลงที่มีในกลุ่มอาเซียน+3 หรืออาเซียน+6 ซึ่งหลายกรณีอาจมีพันธะผูกพันหากมีการเดินหน้าทำข้อตกลง ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญา มาตรฐานแรงงาน สิ่งแวดล้อม การระงับข้อพิพาท ตลอดจนนโยบายด้านการแข่งขัน ซึ่งก็มีหลายเรื่องที่ประเทศไทยยังไม่มีความพร้อม อาทิ ทรัพย์สินทางปัญญาในเรื่องลิขสิทธิ์ยา มาตรฐานแรงงานและสิ่งแวดล้อมที่ประเทศไทยยังไม่มีความพร้อม ซึ่งหากเดินหน้าโดยไม่มีการศึกษาผลกระทบก็จะเกิดปัญหาได้

"ครม.เงาเสนอให้รัฐบาลทำการศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบ โดยหน่วยงานที่เป็นอิสระ เพื่อให้ได้ข้อมูลอย่างครบถ้วนและครม.เงามีการตั้งคำถามว่า รัฐบาลรู้หรือยังว่าจะเจรจาในเรื่องใด เพราะการเจรจาต้องนำกรอบการเจรจาเข้าสู่การหารือในที่ประชุมร่วมของรัฐสภา ตามมาตรา190 แต่มีเงื่อนไขว่า ต้องมีการศึกษาวิจัยและเปิดเผยผลการวิจัย ก่อนที่จะนำมาทำเป็นกรอบเจรจาเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภาได้ทราบ จึงอยากให้รัฐบาลระมัดระวังในการดำเนินการ" น.ส.รัชดา กล่าว

ด้าน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ส่วนตัวไม่คัดค้านที่รัฐบาลจะตอบรับเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก หรือTPP ตามที่สหรัฐฯเชิญร่วม แต่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบและมีกรอบข้อตกลงที่ชัดเจน ดังนั้นการแถลงความร่วมมือระหว่างไทยสหรัฐฯในโอกาสที่ นายบารัค โอบามา มาเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ถือว่ายังไม่มีผลผูกพัน ซึ่งยังไม่ใช่การลงนาม เป็นเพียงการแถลงร่วมเพื่อแสดงเจตนารมณ์ เพราะยังมีขั้นตอนที่จะต้องเข้าสู่ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ให้ความเห็นชอบตามมาตรา190 ก่อน

ขณะที่ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม เปิดเผยถึงการลงนามเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ร่วมว่าด้วยการเป็นพันธมิตรด้านการป้องกันประเทศไทย-สหรัฐอเมริกา2012 ว่าตนอยากจะชี้แจงในวันที่ 15พฤศจิกายนนี้ เพราะขณะนี้ยังไม่ได้ลงนามอะไร อยากให้ลงนามเซ็นให้เรียบร้อยก่อน ทั้งนี้ยืนยันว่าการลงนามครั้งนี้ประเทศไทยและประเทศสหรัฐอเมริกา ไมได้มีสิทธิประโยชน์ซึ่งกันและกัน เป็นเพียงความร่วมมือความเป็นพันธมิตรหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ในภูมิภาคนี้ในหลายๆด้าน ซึ่งถือเป็นความร่วมมือในภาพกว้างๆ ไม่ได้มีสเปกลงไปว่าจะเป็นอย่างไร ทั้งนี้การลงนามความร่วมมือดังกล่าวไม่ต้องนำเข้าพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร ตามมาตรา 190 เพราะเป็นข้อตกลงทางด้านการทหาร ไม่ได้เกี่ยวกับอาณาเขต หรือพื้นที่ทับซ้อน

ทางด้าน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเตรียมมาตรการรักษาความปลอดภัยการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของ นายบารัค โอบามา ระหว่างวันที่ 18-19 พ.ย.ว่า เตรียมไว้หมด แผนเหล่านี้บอกไม่ได้ แต่ตำรวจมีความพร้อมและวันที่ 15พ.ย.จะประชุมสรุปอีกครั้งที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)และหน่วยล่วงหน้าสหรัฐฯเองก็พอใจ และอนุญาตให้มีการปิดการจราจรถนนด้านนอกรอบทำเนียบ รวมถึงเฝ้าระวังจุดสูงข่มแล้ว ทุกอย่างไม่มีปัญหาอะไร

เช่นเดียวกับ นายมนัสวี โสดาภณ อธิบกรมสารนิเทศ ในฐานะคณะอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์เตรียมการต้อนรับนายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐ และนายเหวย เจียเป่า นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีนในฐานะแขกของรัฐบาล กล่าวว่า วันนี้ได้มีการประชุมคณะอนุกรรมการฯโดยมีผู้แทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ กองทัพอากาศ กรมศุลกากร สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานการต่างประเทศ สำนักนายกรัฐมนตรี สำนักโฆษกรัฐบาล การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย โดยเราพร้อมต้อนรับผู้นำทั้งสองอย่างเต็มที่แล้ว

นายพงศ์เทพ เทพกากาญจนา รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์ว่า ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาว่า า มีกำหนดการเข้าเฝ้าฯพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวันที่ 18 พ.ย. ที่โรงพยาบาลศิริราช ในเวลาประมาณ 17.00น. หลังจากนั้นจะมีพิธีต้อนรับที่ทำเนียบรัฐบาล รวมถึงการเข้าเจรจาหารือกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในเวลาประมาณ 17.45 น. เป็นต้นไป โดยการหารือนั้น ก็จะเป็นคณะใหญ่ทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายสหรัฐฯ

ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement : TPP) เป็นความตกลงการค้าเสรีกรอบพหุภาคีที่มีมาตรฐานสูง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการบูรณาการทางเศรษฐกิจในด้านการเปิดตลาดการค้าสินค้า บริการและการลงทุน การปฏิรูป การสร้างความสอดคล้องในกฎระเบียบทางเศรษฐกิจให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เช่น นโยบายการแข่งขัน การจัดซื้อโดยรัฐ ทรัพย์สินแห่งปัญญา มาตรฐานแรงงาน และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ซึ่งแต่เดิมนั้น ประเทศสมาชิกประกอบด้วย ชิลี นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ และบรูไน หรือที่เรียกว่า The Pacific -4 (P4) ได้มีการลงนามความตกลง TPP ฉบับดั้งเดิม (The original agreement) เรียกว่า ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement : Trans – Pacific SEP) ไปเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2005 โดยมีผลบังคับใช้ใอวันที่ 28 พฤษภาคม 2006 และต่อมา สหรัฐฯ ออสเตรเลีย เปรู เวียดนาม และมาเลเซียได้เข้าร่วมการเจรจาความตกลง TPP ซึ่งประเทศสมาชิก TPP ทั้ง 9 ประเทศต่างเป็นสมาชิก APEC ด้วย ทั้งนี้ ประเทศสมาชิก TPP ยังไม่มีแนวโน้มที่จะรับสมาชิกใหม่จนกว่าการเจรจาจะเสร็จสิ้น
  • ประเทศสมาชิกทั้ง 9 ประเทศได้อะไรจากการเข้าร่วม TPP ?
ก่อนที่จะมีความตกลง TPP นั้น กลุ่มประเทศที่ก่อตั้ง TPP (P4) ได้มีการจัดทำความตกลง Trans – Pacific SEP ขึ้น โดยมีเป้าหมายที่จะเปิดเสรีการลงทุนระหว่างกัน รวมถึงส่งเสริมความร่วมมือในการจัดทำยุทธศาสตร์ความเป็นหุ้นส่วนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และต่อมาสหรัฐฯ ออสเตรเลีย เปรู เวียดนาม และมาเลเซีย ได้เข้าร่วมการเจรจาความตกลง TPP ซึ่งทั้ง 9 ประเทศต่างก็มีเหตุผลในการเข้าร่วม TPP ดังนี้
สิงคโปร์ มองว่า ความตกลง Trans – Pacific SEP ทำให้ผู้ส่งออกสิงคโปร์ส่งสินค้าไปยังชิลีได้เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ความตกลง Trans – Pacific SEP ยังมีข้อผูกพันทางการค้ามากกว่า FTA ที่สิงคโปร์ได้จัดทำกับนิวซีแลนด์ และบรูไน

นิวซีแลนด์ มองว่า ความตกลง Trans – Pacific SEP ทำให้ผู้ส่งออกนิวซีแลนด์ส่งสินค้าไปยังชิลีและบรูไนได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าเกษตร และผลิตภัณฑ์นม ที่จะมีภาษีเป็นศูนย์ทันทีที่ความตกลงมีผลใช้บังคับ
ชิลี มีเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางด้านการลงทุน รวมถึงเป็น Hub ของภูมิภาคละตินอเมริกา เพื่อให้บริษัทจากภูมิภาคเอเชียมาจัดตั้ง regional office ในชิลี
บรูไน มองว่า ความตกลง Trans – Pacific SEP นำไปสู่การเปิดตลาดในภาคการส่งออกและภาคบริการ รวมถึงการอำนวยความสะดวกทางการลงทุนของบรูไนกับประเทศในกลุ่ม P4 โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับชิลีซึ่งเป็นประเทศที่บรูไนยังไม่มีการจัดทำ FTA ด้วย
สหรัฐฯ เห็นว่า TPP เป็นเครื่องมือหนึ่งที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และการว่างงานของประเทศ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการพ่ายแพ้การเลือกตั้งกลางเทอมของ Democrat ของประธานาธิบดีบารัก โอบามา นอกจากนี้ สหรัฐฯยังมองว่า FTA ทวีภาคีที่สหรัฐทำกับประเทศต่างๆจำนวน 17 ประเทศนั้น มีคุณภาพสู้ TPP ไม่ได้ โดยมีข้อจำกัดที่สินค้าบางสาขาได้รับการยกเล้นไม่เปิดเสรี
มาเลเซีย เนื่องจากการจัดทำ FTA กับสหรัฐฯที่มีการเจรจามาตั้งแต่ปี 2006 ยังไม่ได้ข้อสรุป ดังนั้นมาเลเซียเห็นว่า การเข้าร่วมการเจรจา TPP จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่นำไปสู่การเพิ่มมูลค่าการค้า และการเปิดตลาดกับสหรัฐ
เวียดนาม มองว่า การเข้าร่วม TPP สามารถดึงดูดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการเพิ่มมูลค่าการส่งออกไปยังตลาดของประเทศในกลุ่ม TPP ในอัตราภาษีที่ลดลง
เปรู มองว่า การเข้าร่วมการเจรจา TPP จะนำไปสู่การขยายตลาดด้านการค้าและการลงทุนฝในภูภาคเอเชีย เพิ่มมากขึ้น โดยที่นโยบายด้านต่างประเทศของเปรูนั้น ได้ให้ความสำคัญกับภูมิภาคเอเชียเพิ่มมากขึ้น
ออสเตรเลีย มองว่า การเข้าร่วม TPP ถือได้ว่าเป็นเป้าหมายหลักที่สำคัญของรัฐบาลนาย Kevin Rudd ที่ต้องการให้เกิดการบูรณาการด้านเศรษฐกิจระหว่างภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ซึ่งจะทำให้ออสเตรเลียไม่ถูกโดดเดี่ยวจากการรวมกลุ่มในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ซึ่งการเข้าร่วมการเจรจา TPP ของออสเตรเลียก็ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้อง เช่น ภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม ภาคการศึกษา ภาคแรงงาน ประชาคมต่างๆและหน่วยงานภาครัฐ
อย่างไรก็ดี นอกจากสมาชิกทั้ง 9 ประเทศข้างต้น ยังมีประเทศสมาชิก APEC อื่นๆที่กำลังสนใจเข้าร่วมการเจรจา TPP เพิ่มเติม ได้แก่ ญี่ปุ่น แคนาดา เกาหลีใต้ และอินโดนีเซีย แต่ก็มีปัญหาและอุปสรรคต่างๆดังนี้
1) ญี่ปุ่น จะต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างด้านการเกษตร และได้รับฉันทามติภายในประเทศก่อน นอกจากนี้เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบร้อยกว่าปีของญี่ปุ่น เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาน่าจะทำให้กรเข้าร่วมการเจรจา TPP ของญี่ปุ่นต้องชะลอออกไป
2) แคนาดา ยังมีประเด็นที่เป็นปัญหากับประเทศสมาชิก TPP ได้แก่ นิวซีแลนด์เกี่ยวกับการเปิดตลาดสินค้าเกษตรของแคนาดา ในสาขาผลิตภัณฑ์นม และสัตว์ปีก และสหรัฐฯเกี่ยวกับเรื่องทรัยพ์สินทางปัญญา ซึ่งแคนาดาถูกจัดอันดับให้เป็น Priority Watch List ในรายงาน Special 301 ของสหรัฐ
3) เกาหลีใต้ ต้องรอให้การเจรจา FTA กับสหรัฐฯผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน จึงจะสามารถเจรจา TPP ได้
4) อินโดนีเซีย รอดูแนวโน้มการเจรจารอบโดฮาก่อนการตัดสินใจ
  • สถานะ แนวโน้ม ปัญหา/อุปสรรคของการเจรจา
ปัจจุบัน ได้มีการเจรจาความตกลง TPP ไปแล้ว 7 รอบ โดยรอบแรกได้จัดตั้งขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม 2010 ณ ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งครั้งล่าสุดในรอบที่ 7 เมื่อเดือนมิถุนายยน 2011 ณ ประเทศเวียดนาม การเจรจามีความคืบหน้าอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องการจัดทำ legal text ที่ครอบคลุมทุกประเด็นที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางการค้าร่วมกัน การทบทวนข้อเสนอใหม่ๆที่สหรัฐฯ และประเทศสมาชิกอื่นๆเสนอ เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา ความโปร่งใส โทรคมนาคม ศุลกากร สิ่งแวดล้อม เป็นต้น รวมถึงประเด็นการเปิดตลาดการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ และกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดเฉพาะสินค้า รวมถึงได้มีการหารือเกี่ยวประเด็นที่มีความคาบเกี่ยวกัน (cross cutting issues) ประเด็นความสอดคล้องทางกฎระเบียบ (regulatory coherence) และการหาแนวทางในการลดช่องว่างของการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิก TPP หลังจากนั้น จะมีการเจรจาร่วมกันอีก 2 รอบ คือ เดือนกันยายน 2011 ณ ประเทศสหรัฐฯ และเดือนตุลาคม 2011 ณ ประเทศเปรู ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกมีเป้าหมายที่จะสรุปผลการเจรจาเกี่ยวกับสาระสำคัญในด้านต่างๆ(substantive negotiations) ได้แก่ รูปแบบการจัดทำข้อผูกพันการเปิดตลาด กลไกการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชนด้านการลงทุน รวมถึงทรัพย์สินทางปัญญา ฝห้สำเร็จก่อนการประชุมเอเปค ในเดือนพฤศจิกายน 2011 ณ ประเทศสหรัฐฯ
อย่างไรก็ดี การเจรจาในรอบต่างๆที่ผ่านมายังมีประเด็นที่ไม่สามารถตกลงหรือหาข้อสรุปร่วมกันได้ คือ 1) รูปแบบการจัดทำข้อผูกพันการเปิดตลาดสินค้า สหรัฐฯสนับสนุนรูปแบบการจัดทำข้อผูกพันการเปิดตลาดในแบบทวิภาคีกับประเทศสหรัฐฯยังไม่ได้มีความตกลง FTA ด้วย ขณะที่ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสิงคโปร์สนับสนุนการเจรจาการจัดทำข้อผูกพันการเปิดตลาดเดียว (Single Market Access) 2) การลงทุน สหรัฐฯสนับสนุนการใช้กลไกระงับข้อพิพาทระหว่างภาครัฐและเอกชน ขณะที่ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ไม่เห็นด้วย 3) เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา สหรัฐฯต้องการผลักดันข้อบทเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาให้มีความเข้มข้นมากกว่าความตกลง TRIPs ภายใต้ WTO ขณะที่นิวซีแลนด์ไม่เห็นด้วย ดังนั้น การเจรจาความตกลง TPP อาจไม่สามารถบรรลุผลตามเป้าหมายก่อนการประชุมเอเปคในเดือนพฤศจิกายน 2011 ตามที่ประเทศสมาชิกกำหนดไว้ หรือถ้าหากการเจรจาสามารถสรุปผลได้ทัน สหรัฐฯก็จะต้องนำผลการเจรจาดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเพื่อขอรับความเห็นชอบ ซึ่งในชั้นนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่ารัฐสภาของสหรัฐฯจะพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่
  • TPP จะมีผลกระทบอย่างไรต่อ ASEAN
TPP ถือได้ว่าเป็นการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจอีกรูปแบบหนึ่งที่นอกเหนือไปจาก ASEAN+3 หรือ ASEAN +6 โดยมีข้อเสนอให้นำความตกลง TPP ไปเป็นรูปแบบสำหรับการจัดทำความตกลงการค้าเสรีเอเชียและแปซิฟิก (Free Trade Area of the Asia Pacific: FTAAP) ในอนาคต ซึ่งหากการเจรจา TPP ประสบความสำเร็จอาจจะมีผลทำให้แผนงานต่างๆของ ASEAN ถูกลดความสำคัญลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหารจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) เนื่องจากความตกลง TPP มีสมาชิก ASEAN จำนวน 4 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ บรูไน เวียดนาม และมาเลเซีย เป็นสมาชิก รวมถึงอิโดนีเซียและฟิลิปปินส์ก็มีความสนใจที่จะเข้าร่วมการเจรจาความตกลง TPP ด้วยเช่นกัน
ดังนั้น ประเทศสมาชิก ASEAN จะให้ความสำคัญกับ ASEAN น้อยลก ซึ่งมีผลทำให้บทบาทความเป็นแกนกลางของ ASEAN (ASEAN Centrality) ในภูมิภาคต้องสูญเสียไป รวมถึงความร่วมมือในกรอบต่างๆที่มี ASEAN เป็นแกนกลาง ได้แก่ ASEAN-CER, ASEAN+3, ASEAN+6 การจัดตั้งประชาคมตะวันออก (East Asian Community : EAC) ไปจนถึงแนวคิดการจัดตั้งเขตการค้าเสรีตะวันออก (East Asia Free Trade Area: EAFTA) ก็ถูกลดบทบาทลงไปด้วย เนื่องจากความตกลง TPP มีประเทศคู่เจรจาของ ASEAN คือ ออสเตรเลีย กับนิวซีแลนด์เป็นสมาชิก รวมถึงญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ก็ให้ความสนใจที่จะเข้าร่วมการเจรจาความตกลง TPP ในอนาคต นอกจากนั้น TPP สามารถที่จะนำไปสู่การจัดตั้งประชาคมเอเชียและแปซิฟิก (ASIA-Pacific Community – APC) ที่เสนอโดยอดีตนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย Mr.Kevin Rudd ซึ่ง APC จะทำให้บทบาทและความเป็นกลางทางสถาปัตยกรรมภูมิภาค (Regional Architecture) ของ ASEAN ต้องสูญเสียไป โดยเฉพาอย่างยิ่ง TPP จะมีผู้เล่นที่มีบทบาทและอิทธิพลทางการเมืองระหว่างประเทศสูงอย่าง สหรัฐฯ เข้ามาเป็นแกนกลาง และสามารถกำหนด agenda ต่างๆที่เกิดประโยชน์ต่อสหรัฐฯแต่ไม่เอื้อประโยชน์ต่อ ASEAN
  • TPP เครื่องมือและกลไกการค้าเสรียุคใหม่ของสหรัฐฯ
ที่ผ่านมาสหรัฐฯให้การสนับสนุนการเจรจา TPP เป็นอย่างมาก โดยฝ่ายบริหารพยายามที่จะผลักดันการเจรจา TPP ให้สำเร็จโดยเร็ว ซึ่งจะมีผลต่อความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ด้านต่างประเทศของสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ การถ่วงดุลอำนาจจัน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมที่นับวันจะเพิ่มมากขึ้น และการเพิ่มบทบาทของการมีส่วนร่วมของสหรัฐฯในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านเศรษฐกิจ ซึ่งจะเห็นได้ว่าสถาปัตยกรรมทางภูมิภาค (Regional Architecture) ของเอเชียในกรอบต่างๆ เช่น ASEAN+3 ASEAN+6 รวมถึงการจัดตั้งประชาคมเอเชียตะวันออก (EAC) จะไม่มีสหรัฐฯเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งแน่นอนว่าสหรัฐฯจะต้องพยายามหากลไก หรือแนวทางเพื่อให้ตนเองกลับเข้ามามีบทบาทในการดำเนินความสัมพันธ์ และแผ่ขยายอิทธิพลในภูมิภาคเอเชียได้ต่อไปในระยะยาว ซึ่งก็คือ ความตกลง TPP
ทั้งนี้ แม้ว่าสหรัฐฯจะมีการทำ FTA ทวิภาคีกับประเทศต่างๆถึง 17 ประเทศ แต่ว่าคุณภาพของ FTA ทวิภาคีที่ทำกับประเทศต่างๆไม่สามารถสู้ TPP ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพิจารณาถึงเรื่องผลประโยชน์ของสหรัฐฯที่ต้องการเปิดเสรีในสาขาต่างๆให้มากที่สุด ซึ่ง FTA ทวิภาคีมีข้อจำกัดที่บางสาขาได้รับการยกเว้นไม่เปิดเสรี ซึ่งก็ต้องดูต่อไปว่าสหรัฐฯจะสามารถผลักดัน TPP ให้เป็น FTA ของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก หรือกลายเป็น FTA ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกในอนาคตได้หรือไม่
  • ท่าทีของไทยต่อ TPP
ในส่วนของประเทศไทยนั้น ควรที่จะให้ความสำคัญกับประเทศ ASEA ก่อนเป็นอันดับแรก โดยที่ความร่วมมือต่างๆในกรอบ ASEN นั้น ถือเป็นยุทธศาสตร์หลักด้านการต่างประเทศของไทย ซึ่งในขณะนี้ ไทยยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเข้าร่วมการเจรจาความตกลง TPP โดยมีเหตุผล และประเด็นในการพิจารณา ดังนี้
1. ความสัมพันธ์กับจีน ที่ผ่านมาจีนมีความร่วมมือ รวมถึงความสัมพันธ์ที่ดีกับไทยในด้านต่างๆทั้งในเชิงยุทธศาสตร์ และความสัมพันธ์โดยทั่วๆไปมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในปัจจุบัน จีนได้แซงหน้าญี่ปุ่นขึ้นแท่นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลกรองขากสหรัฐฯ และมีอิทธิพลด้านเศรษฐกิจและการเมืองเพิ่มขึ้น (The Rise of China) เป็นอย่างมากในเวทีระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ความตกลง TPP นั้นเป็นความตกลงที่มีนัยยะทางการเมืองระหว่างประเทศ (International Political Implication) ซึ่งสหรัฐฯใช้เป็นเครื่องมือหรือช่องทางหนึ่งในหารถ่วงดุลอำนาจจีนในภูภาค รวมถึงทำให้สหรัญฯสามารถกลับเข้ามามีบทบาท และแผ่ขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียได้ต่อไปในระยะยาว ดังนั้น การเข้าร่วมการเจรจาความตกลง TPP ของไทยอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับจีน
2. TPP เป็นความตกลงที่มีมาตรฐานสูง จะเห็นได้ว่า TPP เป็นความตกลงทางการค้ารูปแบบใหม่ที่มีมาตรฐานสูง เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกในศตวรรษที่ 21 ในด้านต่างๆเช่น การเปิดเสรีทางการค้าบริการ และการลงทุน การปฏิรูปและสร้างความสอดคล้องในกฎระเบียบทางเศรษฐกิจ การจัดซื้อโดยรัฐ (Government Procurement) ทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property : IP) มาตรฐานด้านแรงงานและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ซึ่งประเทศไทยยังไม่มีความพร้อมที่จะปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ต่างๆข้างต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดเสรีในภาคบริการ และการลงทุนที่ไทยจะเสียเปรียบประเทศสมาชิก TPP เช่น สหรัฐฯ ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ เป็นต้น
3. การดำเนินการตามขั้นตอนในมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2550 จะต้องมีการศึกษาถึงผลกระทบ/ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับ การทำประชาพิจารณ์ รวมถึงต้องมีการเสนอกรอบการเจรจาให้รัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบก่อน
อย่างไรก็ตาม ภาครัฐควรที่จะมีการจัดทำการศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ที่ได้รับ ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหากไทยเข้าร่วมการเจรจาความตกลง TPP การเตรียมท่าทีของฝ่ายไทย หากเข้าร่วมการเจรจา รวมถึงมาตรการเยียวยาผลกระทบที่อาจะเกิดขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับภาครัฐและเอกชนหากไทยต้องการเข้าร่วมการเจรจาความตกลง TPP ในอนาคต

ที่มา : ชาญชัย โฉลกคงถาวร, สำนักเศรษฐกิจอุตสาหกรรมระหว่างประเทศ  วารสารเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ปีที่ 7 ฉบับที่ 26 เดือนธันวาคม พ.ศ. 2554

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น