ตอนที่ 7 หน้าผาทางการเงินการคลังของไทย น่าเป็นห่วงสุด
โครงการประชานิยมต่างๆ ของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย คือต้นตอของการผลาญเงินงบประมาณประเทศไปแบบสิ้นคิด ขาดซึ่งวินัยทางการเงินการคลัง ผิดหลักวิชาการ ขาดซึ่งธรรมาภิบาล ขาดความโปร่งใส ปกปิดข้อมูล หรือไม่ให้ข้อมูลที่เป็นความจริงแก่สาธารณะชน มิยอมให้มีการตรวจสอบความถูกต้อง ไม่ฟังคำท้วงติงจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้น พอถูกจับได้ไล่ทัน ก็จะหาข้ออ้าง ตะแบง เล่นลิ้น พลิกแพลง แก้ไข เปลี่ยนแปลงสาระสำคัญ หรือใช้วาทกรรมอำพรางข้อเท็จจริง เพื่อชักจูงโน้มน้าวให้เกิดความเข้าใจผิดไปอีกทางหนึ่ง กล่าวโดยสรุปก็คือไม่เข้าองค์ประกอบของ Good Governance (ธรรมาภิบาลในภาครัฐ) เลยซักข้อ หนำซ้ำยังนำพารัฐนาวาในส่วนของการคลังของประเทศไปสู่หุบเหวแห่งความหายนะลงทุกขณะจิต ที่เรียกว่า หนาผาทางการคลัง (Fiscal Cliff) และอยู่ในสภาพของรัฐที่ล้มเหลวแล้วในทางพฤตินัย (Failed State)
วาทกรรมเรื่องการจำนำข้าว ที่แท้คือการรับซื้อข้าวโดยภาครัฐ โดยทำลายกลไกตลาดเสียเอง ผูกขาดตัดตอนทำตัวเป็นพ่อค้าผูกขาดรายใหญ่ ทำลายระบบการค้าซื้อขายข้าวพังลงอย่างเบ็ดเสร็จ หรือบูรณาการ อย่างที่รัฐบาลชุดนี้ชอบใช้กัน เฉกเช่นวาทกรรมเรื่องรัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตย ผ่านการเลือกตั้งมาด้วยเสียงประชาชน แต่ในทางพฤตินัยแล้ว ส.ส.ที่ผ่านการเลือกตั้งมานั้น ถูกซื้อตัวจากเจ้าของพรรค ใช้จ่ายเงินซื้อเสียงประชาชนมาเพื่อให้ได้รับการเลือกตั้ง หนำซ้ำพอเข้าสภามายังทำตัวเป็นลูกจ้างของเจ้าของพรรคการเมือง ทำหน้าที่เพียงยกมือตามใบสั่งของเจ้าของพรรค เพราะกินเงินเดือนเจ้าของพรรค กลายเป็นเผด็จการรัฐสภาโดยระบบทุนนิยมสามานย์อยู่เบื้องหลังโดยเอาประชาธิปไตยมาบังหน้า จากนั้นก็ใช้วาทกรรมรัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตยมาเป็นข้ออ้างในการดำเนินนโยบายต่างๆ ทั้งขายชาติ ทุจริต คอรัปชั่น ผลาญเงินงบประมาณต่างๆ แล้วนำผลประโยชน์เหล่านั้นเข้ากระเป๋าตัวเอง แบบไม่ยำเกรงหรือฟังเสียงท้วงติงจากใครทั้งสิ้น แม้แต่ประชาชนเจ้าของประเทศ
ข่าวและบทความที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้เงินงบประมาณสำหรับนโยบายประชานิยมของรัฐ
หนังสือด่วนที่สุด 2 ฉบับ(ที่ กค 0904/16437 ลงวันที่ 18 กันยายน 2555 และที่ กค 0904/17560 ลงวันที่ 3 ตุลาคม 2555) ของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) ที่ส่งถึงรัฐบาลโดยมีเนื้อหาสรุปภาพรวมโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งถ้าอ่านอย่างวิเคราะห์และพิจารณาแล้วจะพบว่า สบน.แสดงความเป็นห่วงเรื่องภาระหนี้สาธารณะต่องบประมาณในอนาคตที่กำลังเพิ่มมากขึ้นๆ อันเกิดจากโครงการจำนำข้าวของรัฐบาล ซึ่งก็สอดคล้องกับคำเตือนของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุลอดีตรองนายกฯ และรมว.คลัง ที่กล่าวในงานสัมมนาวิชาการประจำปีของคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ว่า ถ้าเดินหน้าโครงการนี้ต่อไป หนี้(สาธารณะ)จะมากขึ้นไปเรื่อยๆ จนอาจถึงขีดอันตราย คือ 60% ของ จีดีพี (GDP) ซึ่ง ณ สิ้นเดือนตุลาคม หนี้สาธารณะก็สูงกว่า 47.8% ของจีดีพีแล้ว ยังไม่รวมภาระค้ำประกันหนี้ ธ.ก.ส.อีกประมาณ 1.9 หมื่นล้านและต้องเพิ่มทุนให้ ธ.ก.ส. รัฐวิสาหกิจ ธนาคารเอสเอ็มอี และธนาคารอิสลาม ถ้ารวมแล้วจะมีหนี้เป็น 49.9% ของจีดีพี
ข้อมูลนี้Linkจาก:
http://www.naewna.com/politic/columnist/4092
ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานการสัมมนาเรื่อง ข้าว ชาวนา นักการเมืองและประเทศชาติ ใครได้ใครเสีย ? จัดโดยสำนักข่าวไทยพับบลิก้า ในต้นสัปดาห์นี้ โดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงผลกระทบต่อหนี้สาธารณะและความน่าเชื่อถือของประเทศจากโครงการรับ จำนำข้าวของรัฐบาล หลังจากที่คณะกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำผลิตผลทางการเกษตร ได้ประเมินความเสียหายหลังสิ้นสุดโครงการได้ 3 เดือน โดยพบว่าจะมีความเสียหายเกิดขึ้นประมาณ 32,000 ล้านบาท
ม.ร.ว.ปรีดิ ยาธรกล่าวว่า การคำนวณความเสียหายของคณะกรรมการปิดบัญชีฯ เป็นการประเมินจากปริมาณข้าวที่รับจำนำเข้ามา 6.95 ล้านตัน ด้วยต้นทุนทั้งหมด ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2555 แต่หากคิดจากปริมาณข้าวที่จะเข้ามาตามโครงการรับจำนำทั้งปี 2555 ราว 21.64 ล้านตันแล้ว คาดว่าผลขาดทุนทั้งปี 2555 ของรัฐบาลจะอยู่ที่ 140,000 ล้านบาท และหากรัฐบาลยังไม่ยอมยกเลิกโครงการรับจำนำปี 2555/56 จากปริมาณข้าวที่จะรับจำนำเข้ามาทั้งสิ้น 33 ล้านตัน ก็จะทำให้มีผลขาดทุนสูงถึง 210,000 ล้านบาท หากนำข้อมูลผลการ ขาดทุนข้างต้นมาคำนวณหนี้สาธารณะแล้วก็จะพบว่า การขาดทุน 140,000 ล้านบาท รวมกับหนี้ค้างจ่ายธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รวมถึงการเพิ่มทุนให้ธนาคารของรัฐต่าง ๆ แล้วจะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นเป็น 49.9% รัฐบาลชุดนี้บอกว่า จะทำงบประมาณสมดุลภายใน 5 ปี แต่หากดูจากรายการกู้จาก 3 ส่วนแล้ว ทั้งการกู้เงินเพื่อตั้งกองทุนประกันภัย 50,000 ล้านบาท กู้เพื่อโครงการบริหารจัดการน้ำ 350,000 ล้านบาท และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอีก 2.27 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นการลงทุนตามแผนของรัฐวิสาหกิจอยู่แล้ว 70% แต่ก็จะมีส่วนที่มาใช้งบประมาณอยู่ 30% หรือ 680,000 ล้านบาท แม้จะยอมให้ GDP โตได้ปีละ 4.5% พอถึงปี 2562 หนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นเป็น 53.7% ของ GDP แต่ถ้าโครงการรับจำนำข้าวยังเดินหน้าต่อและรัฐบาลต้องขาดทุนต่อไปเรื่อย ๆ ปีละ 210,000 ล้านบาท หนี้สาธารณะ ณ ปี 2562 จะอยู่ที่ 61%
ขณะ ที่ นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวถึงวิธีการระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาลว่า รอบนี้บริษัทผู้ส่งออกข้าวที่มีสายสัมพันธ์กับนักการเมืองมีวิธีการระบาย ข้าวที่สลับซับซ้อน จากเดิมที่ใช้บริษัทเดียวเข้ามาประมูลไปขาย ปรากฏว่า "ไม่ประสบความสำเร็จ" มารอบนี้จึงเปลี่ยนเป็นรูปแบบการใช้บริษัทนายหน้าหลายบริษัทและกินส่วนต่าง กว่าข้าวจะไปถึงผู้ส่งออกต้องผ่าน 3-4 ขั้นตอน "สลับซับซ้อนมาก การตามเรื่องนี้ไม่ใช่ง่าย ๆ"
"ต้องระวังว่า โครงการรับจำนำข้าวแบบนี้กำลังทำลายผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลุ่มเกษตรกรที่ พยายามพัฒนาข้าวคุณภาพ สุดท้ายแล้วจะเหลือแต่โรงสีขนาดใหญ่ที่เข้าโครงการ ทำให้โรงสีเหล่านี้กลายเป็นฐานการเมืองที่เข้มแข็งขึ้น เท่าที่ผมติดตามข้อมูลการรับจำนำข้าว ปริมาณข้าวในตลาด ราคาข้าวในประเทศควรจะสูงขึ้น แต่ปรากฏว่า ราคาข้าวในประเทศไม่ปรับขึ้น หมายความว่า อาจมีการอนุมัติขายข้าวในประเทศโดยไม่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะ" ทั้งนี้จากการประเมินปริมาณข้าวที่รัฐบาลคาดว่า จะระบายได้ตั้งแต่ไตรมาส 4/2555 และตลอดปี 2556 คาดว่ารัฐบาลจะมีการขาดทุนทั้งสิ้น 172,000 ล้านบาท ซึ่งประโยชน์ทั้งหมดจะตกสู่ชาวนาอยู่ประมาณ 1.1 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเสียไปกับค่าดอกเบี้ย ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ รวมถึงการที่ข้าวเสื่อมสภาพ โดยเมื่อแยกย่อยผลประโยชน์ที่ชาวนาได้รับแล้วพบว่า ชาวนาจนได้ประโยชน์อยู่ 18% ชาวนาฐานะปานกลาง 42% และชาวนารวย 39% แสดงให้เห็นชัดว่า โครงการนี้ออกแบบมาเพื่อการเมือง เพราะผลประโยชน์ส่วนใหญ่ตกอยู่กับชาวนาฐานะปานกลางกับร่ำรวยเป็นฐานการเมือง ขนาดใหญ่กว่าชาวนายากจน นอกจากนี้โครงการรับจำนำข้าวจะส่งผลกระทบ ต่อโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศด้วย เพราะรัฐบาลต้องใช้เงินจำนวนมากไปกับโครงการนี้ ยกตัวอย่างเช่น ในปีงบประมาณ 2556 รัฐบาลทำงบประมาณขาดดุลและกู้ยืมได้ 480,000 ล้านบาท ถ้าโครงการรับจำนำข้าวเดินหน้าต่อจะทำให้การกู้ยืมกว่า 66% ต้องหมดไปกับโครงการนี้ และเหลือการกู้ยืมเพื่อโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพียง 34% เท่ากับว่าคนที่เกี่ยวข้องกับข้าว 3 ล้านคนได้ประโยชน์ไป 66% และมีส่วนเหลือมาลงทุนเพื่อประโยชน์แก่ส่วนคนไทยอีก 60 กว่าล้านคนเพียง 34%
ด้าน นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า โครงการรับจำนำข้าวได้ทำให้ใน 9 เดือนแรกการส่งออกข้าวหดตัวลงถึง 44% แม้ตอนนี้จะยังเป็นผู้นำด้านมูลค่าการส่งออก แต่พบว่า ช่วงห่างของราคาเทียบกับข้าวเวียดนามแล้ว แคบลงจาก 84% เหลือ 31% กล่าวคือ 9 เดือนแรกของปีที่แล้วไทยและเวียดนามมีมูลค่าส่งออก 5,800 ล้านดอลลาร์ และ 2,800 ล้านดอลลาร์ แต่มาปีนี้อยู่ที่ 3,400 ล้านดอลลาร์และ 2,600 ล้านดอลลาร์ตามลำดับ คาดว่าหากดำเนินโครงการรับจำนำข้าวแบบนี้ต่อไปเวียดนามจะแซงประเทศไทยในแง่ มูลค่าการส่งออกข้าวได้ภายใน 1-2 ปี
"โครงการรับจำนำข้าวที่ รัฐบาลกำลังทำอยู่นี้ ไม่น่าจะทำให้ราคาข้าวในตลาดปรับตัวสูงขึ้น เพราะขณะนี้ประเทศผู้ผลิตไม่มีปัญหาด้านอุปทานที่จะออกสู่ตลาด ขณะ ที่ผู้ผลิตสำคัญ เช่น พม่าและกัมพูชา ก็เปิดตัวเองเพื่อส่งออกมากขึ้น ตลอดจนการระบายข้าวออกของรัฐบาลไทยนี่เองที่จะกดให้ราคาข้าวในตลาดโลกปรับ ตัวลดลง แม้ภาพรวมของประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ดีมานด์ข้าวไม่ได้สูงขึ้น ดังนั้นจึงง่ายมากที่จะมีคู่แข่งมาแทนที่ผู้ส่งออกข้าวไทยได้ง่าย โอกาสที่จะถูกแย่งมาร์เก็ตแชร์มีมากขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่คุณภาพข้าวมีแต่แย่ลง เพราะเกษตรกรไม่สนใจเรื่องคุณภาพ เพราะปลูกยังไงก็นำมาจำนำกับรัฐบาลได้" อย่างไรก็ตาม ที่น่าห่วงอีกประการหนึ่งคือ การขายข้าวแบบลับ ๆ ของรัฐบาลที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปลายรัฐบาลที่แล้ว ต่อเนื่องมาถึงต้นรัฐบาลชุดนี้ ทำให้ฝ่ายค้านไม่ค่อยกล้าตีเรื่องนี้มากนัก ซึ่งกรณีนี้ทำให้เห็นว่า ผู้ส่งออกข้าวบางบริษัทมียอดส่งออกข้าว พุ่งขึ้น ประมูลข้าวได้ในราคาถูกกว่าตลาด จึงขายได้สวนทางกับบริษัทส่งออกรายอื่นที่อยู่ในสถานการณ์ย่ำแย่ เหมือนเป็นการสร้างการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม (unfair competition) ซ้ำเติมวงการข้าวไทย
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เรียกว่า ยิ่งนานวันยิ่งเห็นสัญญาณผิดปกติมากขึ้นเป็นลำดับ สำหรับ อภิมหาประชานิยม กับทั้ง “โครงการรับจำนำข้าว” และ “โครงการรถยนต์คันแรก” ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และยิ่งแก้เกมก็ยิ่งทำให้เห็นร่องรอยของความพินาศฉิบหายปรากฏให้เห็นมากขึ้นเป็นลำดับ
กล่าวสำหรับโครงการรับจำนำข้าวนั้น พิรุธและความผิดปกติประการแรกก็คือ วันดีคืนดี “นายบุญทรง เตริยาภิรมย์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สายตรง “เจ๊ ด.” แอบยัดไส้เป็นวาระจรด้วยการเสนอเข้ามาเป็น “วาระลับ” ให้คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 พ.ย.2555 ที่ผ่านมาอนุมัติการทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจี ระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ระยะเวลา 3 ปีนับตั้งแต่ปี 2556-2558 เพราะในความเป็นจริงแล้ว เรื่องสำคัญที่เป็นความเป็นความตายของรัฐบาลระดับนี้สมควรที่จะเสนอเป็นวาระปกติ ไม่ใช่เป็นวาระจร แถมเป็นการเสนอในช่วงระหว่างที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ได้เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีอีกต่างหาก เนื่องจากติดภารกิจการประชุมอาเซ็นอยู่ที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ทั้งนี้ เหตุผลที่นายอัครพงศ์ ทีปวัชระ ผู้อำนวยการสำนักบริหารการค้าข้าว กรมการค้าต่างประเทศให้ไว้ก็คือ เป็นเพราะตัวแทนจากรัฐบาลจีนจะเดินทางมาประเทศไทยเพื่อหารือเรื่องข้าวในช่วงต้นเดือนธันวาคม ทำให้ไม่สามารถรอนำเรื่องเข้าประชุมครม.ในวาระปกติได้ เนื่องจากไม่ทันต่อสถานการณ์ แต่นั่นดูเหมือนว่าจะไม่ใช่ข้ออ้างที่ทำให้คลายข้อสงสัยได้เท่าใดนัก เพราะเรื่องนี้จำเป็นที่จะต้องมีความรอบคอบเนื่องจากเป็นผลประโยชน์ของประเทศชาติ ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนที่จะต้องรีบเร่ง แถมยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดอีกว่า ราคาขายที่เซ็นลงนามในเอ็มโอยูฉบับดังกล่าวเป็นอย่างไร ประเทศจีนมีเงื่อนไขหรือข้อตกลงอย่างไรถึงได้ตัดสินใจเซ็นเอ็มโอยูสั่งซื้อข้าวจากไทยเพิ่มขึ้นจากเดิมซึ่งซื้อขายปีละ 300,000 ตัน เป็นไม่เกินปีละ 5,000,000 ตัน ประเทศไทยต้องซื้อสินค้าชนิดใดจากจีนเป็นข้อแลกเปลี่ยนรถไฟ... แท็บเล็ต.... หรือมีความเชื่อมโยงกับการตัดสินใจคัดเลือกบริษัทที่ได้รับคัดเลือกการลงทุนระบบน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ฯลฯ และราคาสินค้าดังกล่าวจะสูงลิ่วจนผิดจากธรรมชาติที่ควรจะเป็นหรือไม่ เพราะมีความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะเสียเปรียบประเทศจีนในการลงนามในเอ็มโอยูฉบับดังกล่าว เนื่องจากขณะนี้รัฐบาลยิ่งลักษณ์มีความต้องการที่จะระบายข้าวออกเป็นการเร่งด่วนเพื่อสร้างภาพทางการเมืองและลดภาระทางการคลังที่กำลังหนักหนาสาหัส ดังนั้น จึงอาจยินยอมที่จะเสียเปรียบโดยความสมัครใจ แต่ที่สำคัญที่สุดเห็นจะเป็นคำสั่งอันพิลึกกึกกือว่า แม้ครม.จะเห็นดีเห็นงามตามที่นายบุญทรงอธิบาย แต่ก็มีการกำชับอย่างหนักแน่นว่า ไม่ให้มีการเปิดเผยในรายละเอียดหรือแถลงข่าวอย่างเป็นทางการในเรื่องนี้แต่อย่างใด
คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ มีความลับอันใดซุกซ่อนอยู่ในเอ็มโอยูฉบับนี้ถึงต้องปกปิดต่อสาธารณชน
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมครม.ในวันดังกล่าว ยืนยันอย่างแข็งขันว่า “เป็นเรื่องดีไม่มีปัญหา” แต่ทำไมถึงไม่กล้าเปิดเผยรายละเอียดของเรื่องดีๆ แถมยังโบ้ยให้ไปถามรายละเอียดเอากับกระทรวงพาณิชย์อีกต่างหาก ขณะที่ “ชูเกียรติ โอภาสวงศ์” นายกกิตติมศักดิ์สมาคมส่งออกข้าวไทย ให้ความเห็นต่อกรณีดังกล่าวเอาไว้อย่างมีนัยสำคัญว่า หากทำได้จริงจะดึงราคาข้าวสูงขึ้น 10-15% แต่ประเด็นคือจะมีการส่งมอบข้าวจริงหรือไม่ หรือเป็นแค่ลมปากเพราะเป็นแค่เอ็มโอยู และตัวเลขส่งมอบให้จีนปีละ 5 ล้านตันสูงจนโอเวอร์ ทำให้ไม่น่าเชื่อถือ เพราะโดยปกติจีนจะนำเข้าข้าวแค่ปีละ 1-1.5 ล้านตัน มีปีนี้ที่จีนนำเข้าข้าวเพิ่มเป็น 2.5 ล้านตัน เพราะพื้นที่เพาะปลูกในภาคใต้ประสบน้ำท่วม ที่สำคัญไม่มีประเทศไทยอยู่ในรายชื่อประเทศที่จีนนำเข้า
ข้อมูลแห่งความพินาศฉิบหายประการที่สองที่ปรากฏให้เห็นก็คือ หนังสือด่วนที่สุด ที่ กค.0904/17560 ของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ลงนามโดย นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม เรื่อง “รายงานผลการดำเนินการโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 และพิจารณาปริมาณและวงเงินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56” โดยเสนอต่อเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ หนังสือดังกล่าวมีทั้งหมด 6 หน้า ระบุถึงปัญหาและความห่วงใยต่อโครงการรับจำนำข้าวไว้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งมีเนื้อหาสาระสำคัญคือ ในตอนท้ายของข้อ 2.1 ระบุไว้ว่า "...เป็นภาระงบประมาณที่สูงมาก จำเป็นต้องปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากระบายสินค้าเกษตรได้ช้าและไม่มีงบประมาณเพียงพอ ดังนั้นก่อนการดำเนินโครงการรับจำนำผลิตผลทางการเกษตรต่อไป จึงควรมีการประเมินผลกระทบโครงการและแนวทางการบริหารจัดการวงเงินสำหรับการดำเนินโครงการอย่างเป็นรูปธรรม" ขณะที่ข้อ 2.2 ระบุว่าเนื่องจากวงเงินดำเนินโครงการรับจำนำผลิตผลทางการเกษตร ปีการผลิต 2554/55 เป็นวงเงินที่สูงและเป็นภาระต่อเนื่องต่องบประมาณ ทั้งในส่วนเงินทุน ธ.ก.ส. กรอบวงเงินกู้เดิม และส่วนที่อยู่ระหว่างขยายปริมาณและกรอบการใช้เงิน (กรณีพิเศษ) เพิ่มเติม รวมทั้งสิ้น 408,160 ล้านบาท (90,000+268,660+49,500) รวมทั้งกินวงเงินค้ำประกันของโครงการลงทุนของประเทศของหน่วยงานอื่นๆ ดังนั้นหากจะมีการดำเนินโครงการต่อเนื่อง ควรมีการวิเคราะห์และประเมินผลของโครงการที่ได้ดำเนินการแล้ว รวมทั้งนโยบายการระบายผลิตผลทางการเกษตรที่รับจำนำอย่างเป็นรูปธรรม ก่อนการดำเนินการโครงการใหม่ ซึ่งใช้วงเงินสูงถึง 405,000 ล้านบาท ทำให้ภาระงบประมาณเพิ่มสูง หากยังไม่มีการระบายผลผลิตโครงการรับจำนำผลิตผลทางเกษตรดังกล่าว จะส่งผลต่อความสามารถของกระทรวงการคลังในการค้ำประกันเงินกู้โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 “และหากกรณีระบายผลิตผลที่รับจำนำได้ใน 3 ปี จะมีภาระการบริหารการปรับโครงสร้างหนี้เฉลี่ยปีละ 224,553 ล้านบาท ซึ่งกระทบต่อการระดมทุนในตลาดเงินที่มีสภาพคล่องตึงตัว ทั้งในด้านต้นทุน การกู้เงินที่สูงขึ้น และเป็นภาระงบประมาณเพิ่มสูงขึ้นต่อไป” หนังสือระบุ
นอกจากนี้ ข้อ 2.3 หนังสือของกระทรวงการคลังยังระบุอีกว่า การรายงานผลการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 ดังกล่าว ไม่สอดคล้องตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2555 ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะต้องกำกับ ติดตาม ควบคุม รวมทั้งรายงานความคืบหน้าในการดำเนินงาน การเบิกจ่าย การระบายสินค้า ปริมาณและมูลค่าสินค้าคงเหลือ รวมทั้งปัญหา อุปสรรคที่เกิดขึ้น สำหรับโครงการที่ดำเนินการในปีการผลิต 2554/55 ทุกโครงการ...ความไม่สอดคล้องที่ว่านั้น ย่อมหมายถึงว่า การดำเนินโครงการในปีการผลิต 2554/2555 กระทรวงพาณิชย์ของเจ๊ ด.มีการหมกเม็ดข้อมูลเอาไว้เป็นจำนวนมาก มิฉะนั้นแล้ว กระทรวงการคลังจะไม่มีทางที่ติติงในประเด็นดังกล่าวเอาไว้อย่างแน่นอน ที่สำคัญคือ ในข้อ 2.6 กระทรวงการคลังจะระบุว่า “โครงการรับจำนำข้าวเปลือก เป็นโครงการที่ดีที่ช่วยเหลือเกษตรกร” แต่กระทรวงการคลังก็ได้เตือนด้วยเช่นกันว่า การรับจำนำข้าวเปลือกทุกเมล็ด ควรมีมาตรการวางแผนการรับจำนำที่ดี และควรดูแลเรื่องข้าวสวมสิทธิ์จากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะในอนาคตเมื่อมีการเปิดเสรีอาเซียนในปี 2558 นอกจากนั้นโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของประเทศไทยส่งผลให้ราคาข้าวในตลาดโลกสูงขึ้น ประเทศส่งออกรายอื่นได้ประโยชน์ ดังนั้น เพื่อลดภาระของประเทศไทยและผลประโยชน์ร่วมกันของกลุ่มประเทศผู้ผลิตข้าว จึงควรจะได้มีการรวมกลุ่มประเทศผู้ส่งออก โดยกำหนดราคาขั้นต่ำในการส่งออกและร่วมกันตั้งกองทุนเพื่อรักษาระดับราคาข้าวขึ้น ซึ่งจะทำให้รายได้ของเกษตรกรของประเทศผู้ผลิตสูงขึ้น แต่ที่เด็ดที่สุดเห็นจะเป็นข้อเสนอแนะ 2.10 ซึ่งกระทรวงการคลัง ระบุว่า เนื่องจากเงินค้ำประกันในปีงบประมาณ 2556 มีจำกัด ดังนั้น เห็นควรจัดสรรวงเงินกู้ไม่เกิน 150,000 ล้านบาท สำหรับเป็นการหมุนเวียนในการดำเนินโครงการที่มีวัตถุประสงค์ในการแก้ไขปัญหาราคาผลิตผลทางการเกษตรตามนโยบายรัฐบาล โดยโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 เป็นส่วนหนึ่งของกรอบหนี้ โดยกระทรวงการคลังค้ำประกันต้นเงินกู้และดอกเบี้ย รัฐบาลรับภาระชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยจากเงินกู้ และค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นจริงจากการดำเนินโครงการทั้งหมด “วงเงินส่วนที่เหลือเห็นควรให้ ธ.ก.ส.ระดมเงินจากตลาดและเงินฝาก ธ.ก.ส.ตามกรอบของพระราชบัญญัติ ธ.ก.ส.เป็นลำดับแรก หากไม่เพียงพอให้กระทรวงการคลังจัดหาเงินกู้ให้โดยไม่ค้ำประกันเงินกู้ดังกล่าว” หนังสือระบุ
นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภาสรรหา ซึ่งนำเอกสารดังกล่าวมาเปิดเผย ระบุว่า เนื้อหาของหนังสือ 2 ฉบับ สะท้อนปัญหาของโครงการรับจำนำข้าว 3 ประการหลักๆ คือ 1.การอนุมัติข้าวนาปี วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ต้องระดมเงินจากตลาดและเงินฝาก โดยกระทรวงการคลังจะไม่ค้ำประกัน 2.ให้กระทรวงพาณิชย์ต้องระบายข้าวให้เร็ว กระทรวงการคลังจะไม่ต้องกู้เงิน 3.มาตรการอุดช่องโหว 10 ข้อตามเอกสาร ที่เห็นว่าการจ่ายเงินให้โครงการดังกล่าวไม่คุ้มค่า “เอกสารดังกล่าวนี้เป็นเอกสารชัดเจนยิ่งกว่าใบเสร็จ ที่ทำให้เห็นว่าการรับจำนำข้าวที่ราคาสูงกว่าท้องตลาด 50% เป็นปัญหา และรัฐบาลไม่อาจปฏิเสธได้ เพราะข้อมูลไม่ได้มาจากนักวิชาการ ฝ่ายค้าน หรือ ส.ว. แต่เป็นคนในรัฐบาลเสนอเอง โดยเฉพาะการลงนามในฉบับแรกโดยนายกิตติรัตน์ และฉบับ 2 ของนายทนุศักดิ์ จึงอยากถามว่า นายกิตติรัตน์หัวหน้าทีมเศรษฐกิจจะตอบเรื่องนี้อย่างไร และจะมีความเห็นขัดแย้งกันเองหรือไม่”นายคำนูณแจกแจงด้วยเหตุและผลดังกล่าวที่ยืนยันถึงความผิดพลาดในการดำเนินนโยบาย รวมถึงปัญหาอันหนักหนาสาหัสที่จะตามมาหลอกหลอนไปอย่างต่อเนื่อง เพราะใช้งบประมาณสูงถึงปีละ 4 00,000 ล้านบาท ทำให้ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอรรัปชัน ที่มีนายประมนต์ สุธีวงศ์ เป็นประธาน ได้เสนอเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รับพิจารณาและตรวจสอบการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว เพราะเห็นว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นจริง ซึ่งล่าสุด ป.ป.ช.ได้รับเรื่องไว้แล้ว และอยู่ระหว่างการเสนอให้คณะกรรมการ (บอร์ด) ป.ป.ช.ชุดใหญ่พิจารณาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อตรวจสอบในเรื่องนี้ต่อไป
สำหรับโครงการประชานิยมโครงการที่ 2 ที่กำลังสั่นสะเทือนสถานะทางการคลังของรัฐบาลอย่างหนักไม่แพ้กันก็คือ “โครงการรถยนต์คันแรก” เพราะเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า กรมสรรพสามิตจะต้องใช้เงินเพื่อการนี้สูงทะลุ 2.9 หมื่นล้านบาทอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
“ปัจจุบันมีผู้มาขอใช้สิทธิรถยนต์คันแรกแล้ว 3.08 แสนราย เป็นเงิน 2.9 หมื่นล้านบาท คาดว่าถึงสิ้นปีจำนวนเงินที่ต้องใช้เกินกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดไว้ 3 หมื่นล้านบาท โดยล่าสุด คืนเงินให้ผู้ใช้สิทธิไปแล้ว 1.09 หมื่นราย คิดเป็นเงิน 849 ล้านบาท ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2556 กระทรวงการคลังต้องคืนเงินให้ผู้ใช้สิทธิในโครงการ 1.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งได้รับจัดสรรงบประมาณมาแล้ว 7,500 ล้านบาท และขณะนี้กรมบัญชีกลางได้ขอใช้งบกลางเพื่อนำเงินมาใช้ในโครงการอีก 10,500 ล้านบาทแล้ว”นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง ให้ข้อมูล
แต่ที่น่าเป็นห่วงมากไปกว่านั้นก็คือ การที่ ครม.มีมติขยายเวลารับมอบรถยนต์ และยื่นเอกสารหลักฐานตามมาตรการรถคันแรกออกไป 90 วันหลังรับมอบรถเพื่อชดเชยกับระยะเวลาที่โรงงานผลิตรถยนต์ และชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์หยุดดำเนินการเนื่องจากประสบปัญหาอุทกภัย และเพื่อไม่ให้ประชาชนเสียสิทธิได้รับเงินคืนภาษีเนื่องจากได้รับการส่งมอบรถล่าช้าจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ นั้น กำลังจะก่อปัญหาที่หนักหนาสาหัสต่อเม็ดเงินที่จะนำไปใช้ เพราะมีแนวโน้มที่อาจส่งผลให้ยอดซื้อรถคันแรกที่เข้าโครงการพุ่งทะลุเกินกว่า 5 แสนคัน และรัฐต้องคืนภาษีมากกว่า 3 หมื่นล้านบาท เพราะยังเหลือเวลาอีกไม่น้อยกว่าโครงการจะสิ้นสุด และบรรดาผู้ประกอบการต่างเข็นรถที่เข้าข่ายได้รับสิทธิตามโครงการนี้ออกมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้การประมาณการยอดรถที่จะเข้าร่วมโครงการพุ่งขึ้นตามไปด้วย ซึ่งนั่นหมายความว่า งบประมาณที่ตั้งไว้ในเบื้องต้น 3 หมื่นล้านบาทก็ย่อมไม่เพียงพอที่จะใช้คืนเงินตามนโยบายที่รัฐบาลได้หาเสียงไว้ตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง นอกจากนั้น ปัญหาที่เกิดขึ้น ณ วันนี้คือ การคืนเงินให้แก่ผู้ซื้อรถที่ล่าช้า และมีเสียงบ่นออกมา โดยที่กรมสรรพสามิต กรมบัญชีกลาง และกรมการขนส่งทางบก ยังไม่สามารถเชื่อมระบบเพื่อตรวจสอบข้อมูลได้อย่างรวดเร็วเพื่อคืนเงินให้แก่ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการ ทั้งๆ ที่ตอนเริ่มต้นโครงการ บอกไว้อย่างชัดเจนว่าใช้เงินสำหรับโครงการนี้สูงถึง 100 ล้านบาทในการดำเนินการ โดยไม่เกี่ยวข้องกับเงินที่คืนภาษี 3 หมื่นล้านบาทแต่อย่างใด แต่ด้วยเหตุผลอันใดไม่ทราบจึงไม่มีการนำงบ 100 ล้านบาทมาใช้วางระบบเชื่อมต่อ 3 กรมที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การคืนเงินสะดวกและรวดเร็วขึ้น จึงเกิดคำถามขึ้นมาว่าเงิน 100 ล้านบาทล่องหนไปอยู่ในกระเป๋าใคร
ขณะที่ปัญหาเรื่องการตั้งงบประมาณคืนเงินให้แก่ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการโดยกรมบัญชีกลางได้จ่ายเงินคืนให้แก่ผู้ได้รับสิทธิไปแล้ว 3 งวด รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 849 ล้านบาท จํานวน 10,987 คัน และกรมบัญชีกลางได้เสนอขอใช้งบกลางในปี 2556 เพิ่ม 1.1 หมื่นล้านบาท เพื่อนํามาใช้ในการคืนเงินในโครงการรถคันแรกเพิ่มเติม จากเดิมที่ตั้งงบประมาณไว้ในปี 2556 จํานวน 7.5 พันล้านบาท แต่ไม่เพียงพอ งานนี้เป็นที่พิสูจน์ชัดแล้วว่า นโยบายประชานิยมของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้นำพาความพินาศฉิบหายมาสู่ประเทศไทยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
น้ำลดตอผุด โครงการคืนภาษีรถคันแรกยอดใช้สิทธิพุ่งเกินเป้า 5 แสนค้น งบประมาณ 3 หมื่นล้านบาทไม่พอ ขณะที่การเชื่อมโยงข้อมูล กรมบัญชีกลาง-สรรพสามิต-กรมการขนส่งทางบกไม่เรียบร้อย สูญเงิน 100 ล้านบาท ยื้อคืนเงิน 1 แสนบาทล่าช้า “ทนุศักดิ์” สั่งปิดตายโครงการ รับถังแตกไม่มีเงินโปะแล้ว คณะรัฐมนตรี (ครม.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีมติเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2554 เดินหน้าโครงการคืนภาษีสรรพสามิตรถยนต์คันแรก และนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ ซึ่งในขณะนั้นเป็น รมช.คลังกำกับดูแลกรมสรรพสามิตก็เร่งเดินหน้าโครงการอย่างเต็มที่ โดยจะคืนเงินภาษีโดยตรงให้แก่ผู้ซื้อที่เป็นเจ้าของรถยนต์ ซึ่งจะเริ่มพิจารณาจากหลักฐานการจองซื้อตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2554 และสิ้นสุดโครงการ 31 ธันวาคม 2555 เริ่มแรกโครงการเหมือนจะไม่ได้รับการตอบรับจากประชาชนทั่วไปมากนัก แต่ภายหลังเกิดมหาอุทกภัยเมื่อปลายปี 2554 ทำให้คณะรัฐมนตรีมีมติเพิ่มเติมให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วมเข้าร่วมโครงการนี้ได้ด้วยเช่นกันจนทำให้โครงการนี้ได้รับการตอบรับอย่างล้นหลาม แม้ว่าห่วงโซ่การผลิตจะได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วมในครั้งนี้ โดยเฉพาะผู้ผลิตรายย่อยที่ป้อนชิ้นส่วนให้แก่ค่ายรถยนต์รายใหญ่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมแถบจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี ส่งผลกระทบต่อระยะเวลาการส่งมอบรถที่เข้าร่วมโครงการ
จนกระทั่งล่าสุด นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลังคนใหม่สายตรง เจ๊ ด.เข้ามารับไม้ต่อโครงการรถยนต์คันแรกจากนายบุญทรงก็ได้คาดการณ์ว่า ตามมติ ครม.ที่ขยายเวลารับมอบรถยนต์ และยื่นเอกสารหลักฐานตามมาตรการรถคันแรกออกไป 90 วันหลังรับมอบรถเพื่อชดเชยกับระยะเวลาที่โรงงานผลิตรถยนต์ และชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์หยุดดำเนินการเนื่องจากประสบปัญหาอุทกภัย และเพื่อไม่ให้ประชาชนเสียสิทธิได้รับเงินคืนภาษีเนื่องจากได้รับการส่งมอบรถล่าช้าจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ ยอมรับว่าการขยายเวลาดังกล่าวอาจส่งผลให้ยอดซื้อรถคันแรกที่เข้าโครงการพุ่งทะลุเกินกว่า 5 แสนคัน และรัฐต้องคืนภาษีมากกว่า 3 หมื่นล้านบาท แน่นอนว่าเส้นทางย่อมไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป เมื่อเป้าหมายที่วางไว้เบื้องต้นว่าจะมีปริมาณรถเข้าร่วมโครงการเพียง 5 แสนคัน แต่ยังเหลือเวลาอีกกว่า 1 ไตรมาสจะครบกำหนดสิ้นสุดโครงการ และบรรดาผู้ประกอบการต่างเข็นรถที่เข้าข่ายได้รับสิทธิตามโครงการนี้ออกมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้การประมาณการยอดรถที่จะเข้าร่วมโครงการพุ่งขึ้นตามไปด้วย งบประมาณที่ตั้งไว้ในเบื้องต้น 3 หมื่นล้านบาทก็ย่อมไม่เพียงพอที่จะใช้คืนเงินตามนโยบายที่รัฐบาลได้หาเสียงไว้ตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น ณ วันนี้คือ การคืนเงินให้แก่ผู้ซื้อรถที่ล่าช้า และมีเสียงบ่นออกมา โดยที่กรมสรรพสามิต กรมบัญชีกลาง และกรมการขนส่งทางบก ยังไม่สามารถเชื่อมระบบเพื่อตรวจสอบข้อมูลได้อย่างรวดเร็วเพื่อคืนเงินให้แก่ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการ ทั้งๆ ที่ตอนเริ่มต้นโครงการ รัฐมนตรีบุญทรงได้บอกไว้อย่างชัดเจนว่าใช้เงินสำหรับโครงการนี้สูงถึง 100 ล้านบาทในการดำเนินการ โดยไม่เกี่ยวข้องกับเงินที่คืนภาษี 3 หมื่นล้านบาทแต่อย่างใด แต่ด้วยเหตุผลอันใดไม่ทราบจึงไม่มีการนำงบ 100 ล้านบาทมาใช้วางระบบเชื่อมต่อ 3 กรมที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การคืนเงินสะดวกและรวดเร็วขึ้น จึงเกิดคำถามขึ้นมาว่าเงิน 100 ล้านบาทล่องหนไปอยู่ในกระเป๋าใคร
ขณะที่ปัญหาเรื่องการตั้งงบประมาณคืนเงินให้แก่ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการโดยกรมบัญชีกลางได้จ่ายเงินคืนให้แก่ผู้ได้รับสิทธิไปแล้ว 2 งวด และที่จะจ่ายเพิ่มอีกงวด 5 พฤศจิกายน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 849 ล้านบาท จํานวน 10,987 คัน และกรมบัญชีกลางได้เสนอขอใช้งบกลางในปี 2556 เพิ่ม 1.1 หมื่นล้านบาท เพื่อนํามาใช้ในการคืนเงินในโครงการรถคันแรกเพิ่มเติม จากเดิมที่ตั้งงบประมาณไว้ในปี 2556 จํานวน 7.5 พันล้านบาท แต่ไม่เพียงพอเนื่องจากจํานวนที่ยื่นไว้ และมีสิทธิได้รับเงินรวมทั้งสิ้น 1.8 หมื่นล้านบาท จากจํานวนที่ยื่นเข้าโครงการแล้วทั้งสิ้น 2.9 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 3.1 แสนคัน
งบกลางปีที่มีอยู่อย่างจำกัด และถูกโครงการประชานิยมต่างๆ ของรัฐบาลรุมทึ้งอาจไม่เพียงพอต่อการจ่ายคืนสำหรับโครงการรถคันแรก หรือทำให้การจ่ายคืนล่าช้าออกไปจากเดิมซ้ำเติมกับปัญหาการตรวจสอบสิทธิที่ยังไม่บูรณาการกันระหว่าง 3 กรมดังที่กล่าวมาดังกล่าว ซึ่ง รมช.คลังก็ยืนยันออกมาเองว่าจะไม่ขยายเวลาออกไปอีกอย่างแน่นอน เพราะใช้เงินงบประมาณในโครงการนี้มากแล้ว หากเพิ่มอีกรัฐบาลจะถังแตกได้
ธ.ก.ส. ถังแตก หลังทุ่มเงินหมดหน้าตักลุยโครงการรับจำนำข้าว อ้อนรัฐบาลจัดงบชดเชยด่วน
เมื่อวานนี้ (23 กรกฎาคม) นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า คาดว่าการปิดโครงการรับจำนำข้าว, มันสำปะหลัง และการแทรกแซงราคายางพารา ในปีนี้ธนาคารต้องใช้เงินในโครงการดังกล่าวถึง 3 แสนล้านบาท โดยในจำนวนนี้เป็นการใช้เงินของธนาคาร 9 หมื่นล้านบาท และเงินที่กระทรวงการคลังกู้มาให้ 2.1 แสนล้านบาท โดยปัจจุบัน ธนาคารใช้เงินเพื่อดำเนินโครงการจำนำข้าวไปแล้ว 2.7 แสนล้านบาท เป็นเงินของธนาคาร 9 หมื่นล้านบาท เป็นเงินกู้ของกระทรวงการคลัง 1.2 แสนล้านบาท ยังค้างเงินจ่ายธนาคารอีก 6 หมื่นล้านบาท ที่ธนาคารต้องใช้สภาพคล่องของธนาคารไปใช้ในโครงการรับจำนำข้าวไปก่อน โดยกระทรวงการคลังจะทยอยใช้ให้ภายใน 2 เดือน พร้อมกับเงินกู้ที่เหลืออีก 3 หมื่นล้านบาท ต้องนำไปใช้ในโครงการรับจำนำข้าวรอบต่อไปด้วย ทั้งนี้ ในส่วนของการรับจำนำข้าวทั้งหมด คาดว่าจะสูงถึง 17-18 ล้านตัน โดยเป็นข้าวนาปี 6.8 ล้านตัน และเป็นข้าวนาปรัง 11 ล้านตัน เนื่องจากเกษตรกรเร่งปลูกข้าวหลังน้ำท่วมจำนวนมาก
"การรับจำนำข้าวรอบใหม่ ทางธนาคารได้แจ้งกับนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง แล้ว ว่า ทางธนาคารไม่มีสภาพคล่องที่จะมาปล่อยกู้ในโครงการดังกล่าวต่อไปได้ ต้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการรับจำนำหารือเพื่อหาสภาพคล่องมาให้กับธนาคาร หากยังมีการรับจำนำข้าวในรอบต่อไป ซึ่งเข้าใจว่าคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) อยู่ระหว่างการปรึกษาสรุปนโยบายรับจำนำข้าวรอบใหม่อยู่" นายลักษณ์ กล่าว
นายลักษณ์ กล่าวอีกว่า ธนาคารจะเสนอเรื่องการเพิ่มทุนเรือนหุ้นจาก 5 หมื่นล้านบาท เป็น 6 หมื่นล้านบาท ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาใหม่ โดยหลังจากรับการอนุมัติแล้ว ก็จะทำการเพิ่มทุนซึ่งส่วนหนึ่งมาจากเงินปันผลที่ธนาคารจ่ายให้กระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้น ซึ่งมีมติ ครม. ให้โอนกลับมาชำระเงินทุนจำนวน 1,800 ล้านบาท อีกส่วนหนึ่งมาจากเงินงบประมาณปี 2556 จำนวน 750 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้กองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง หรือ BIS ของธนาคารที่ปัจจุบันอยู่ที่ 9% กว่า ไปอยู่ที่ 10%
ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ยังกล่าวอีกว่า เงินกองทุนของธนาคารที่ลดลงมา เนื่องจากธนาคารต้องใช้เงินไปรับจำนำข้าวถึง 9 หมื่นล้านบาท โดยในส่วนของการรับจำนำที่ใช้เงินกู้จากกระทรวงการคลัง ไม่ถูกนำมาคิดคำนวณเงินกองทุนของธนาคาร เพราะมติ ครม. กำหนดให้แยกบัญชีออกมาต่างหาก