วันพุธที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2554

Inside out and Outside In สร้างนวัตกรรม ทำเป็นสินค้า

Inside out and Outside In – Case Study Workshop ของ TCDC ที่ทำร่วมกับ แซม บูซตัน ดีไซน์เนอร์ของอังกฤษ


ถ้านับย้อนไปเกือบ 10 ปี ในยุคสมัยคุณทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี มีการจัดตั้งศูนย์สร้างสรรค์เพื่อการออกแบบ หรือที่เรียกว่า Thailand Creative and Design Center (TCDC) ขึ้นมา ตัวสถานที่ตั้งอยู่ที่อาคารศูนย์การค้าดิเอ็มโพเรี่ยม สุขุมวิท กรุงเทพฯ (เป็นศูนย์สร้างสรรค์ฯแห่งที่ 4 ของโลกนอกเหนือจากที่นิวยอร์ก มิลาน และโคโลญจน์) เพื่อใช้เป็นสถานที่ยกระดับความรู้ ภูมิปัญญาของคนไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางความรู้ด้านการออกแบบในระดับภูมิภาคเอเซีย และตลอดระยะเวลาที่ศูนย์นี้จัดตั้งขึ้นมา ก็ได้รวบรวมงานไอเดีย ดีไซน์ต่างๆ ทั้งที่เกิดขึ้นโดยคนไทย หรือต่างประเทศไว้มากมาย คล้ายๆเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งการเรียนรู้ เป็นทั้งสถานที่รวบรวม สะสมงานออกแบบดีๆ มีคลังห้องสมุดด้านการออกแบบที่ทันสมัยในระดับอาเซี่ยน ได้สร้างคุณูปการมากมายให้กับดีไซน์เนอร์ ครีเอทีฟ นักการตลาด หรือผู้ที่ทำงานเกี่ยวเนื่องกับศิลปะและการออกแบบเป็นจำนวนมาก รวมถึงนักศึกษา ที่ผ่านมาก็ได้พิสูจน์แล้วศูนย์ฯแห่งนี้ตั้งขึ้นมาได้สร้างคุณประโยชน์มากมายไว้ในหลายๆ ครั้ง และผู้เขียนจะขอยกกรณีศึกษาครั้งนึงในจำนวนหลายๆ ครั้งมานำเสนอเพื่อเป็นกรณีศึกษาร่วมกัน อาจจะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่าน หรือนักธุรกิจที่กำลังคิดจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือสร้างนวัตกรรม หรือการออกแบบให้กับสินค้าของตนเอง เพื่อเป็นวิทยาทานหรือเกิดมุมมอง ความคิดสร้างสรรค์เพิ่มขึ้น ได้ดังนี้

โมเดล “คิด” ในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากไอเดียใหม่ๆ ต้องมีการทดลองและค้นหาเพื่อสิ่งที่ดีขึ้นไปเรื่อยๆ เป้าหมายนี้ทำให้โครงการ “หัตถกรรมทางภาคเหนือกับความเป็นไปได้ไม่รู้จบ” คลอดออกมา บนความร่วมมือระหว่าง ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) กับ Royal College of Art (RCA) และ Art Council จากประเทศอังกฤษ โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การเฟ้นหาไอเดีย เด็ดๆ โดยนำคนเก่งๆ จาก 2 ซีกโลกมาจูนหากันในจุดกึ่งกลางพอดีๆ

ต้น่ทางของเวิร์คช็อปครั้งนี้คือ นักศึกษาปริญญาโทปี 1 ด้าน Industrial Design จาก RCA จำนวน 21 คน กับทีมนักออกแบบไทยจำนวน 7 ชีวิต ซึ่งเป็นการกิน นอน คิด และทำงาน ร่วมกันใกล้ชิดในเวลาเกือบ 4 สัปดาห์ในสถานที่หลัก ๆทั้ง 4 แห่ง เริ่มตั้งแต่การสำรวจศูนย์กลางงานโปรดักท์ดีไซน์ในกรุงเทพฯ อาทิ สวนลุมไนท์บาซาร์ ตลาดนัดสวนจตุจักร เป็นเวลา 2 วัน จากนั้นเดินทางไปดูขั้นตอนการทำงานหัตถกรรมที่ดอยตุง 1 วัน จนมาถึงการเข้าค่ายคิดหาคอนเซ็ปต์ และทำต้นแบบงานดีไซน์ในเชียงใหม่อีก 8 วัน และไปสิ้นสุดการทำงาน 3 มิติจากคอมพิวเตอร์ กราฟฟิค และออกแบบแพ็กเก็จจิ้ง (บรรจุภัณฑ์) รวมถึงการวางแผนสร้างแบรนด์ก่อนเสนอขายสินค้าในห้างรีเทลชื่อดังของอังกฤษ เช่น Conran ในอีก 2 สัปดาห์

“เวิร์คช็อปนี้เป็นการจำลองรูปแบบบริษั่ทขึ้นมา เพื่อต้องการให้ทุกคนได้ฝึกทำงานจริงๆ โดยมีพื้นฐานการคิดทางธุรกิจอย่างเป็นระบบ มีการแบ่งนักศึกษาเป็น 5 กลุ่ม ทุกกลุ่มจะมีนักศึกษาไทยเข้าไปร่วม 1-2 คน เพื่อให้เกิดการช่วยเหลือกันและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันมากทีสุด แต่ละกลุ่มต้องมีงานโปรดักท์ดีไซน์มาพรีเซ้นท์และทำการคัดเลือกจากทั้งหมด 28 ชิ้นงาน ให้เหลือเพียง 15 ชิ้นงาน เพื่อนำไปผลิตจริงในโรงงานภาคเหนือที่รองรับการผลิตได้” ทอม บาเกอร์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมการออกแบบแห่ง Royal College of Art ในลอนดอน ประเทศอังกฤษ และกรรมการตัดสิน กล่าว

เวิร์คช็อปนี้ถือว่าอยู่ใน “ชั้นทดลอง” วิธีการสอนแบบใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะเป็นการจับนักศึกษาที่มีพื้นฐานด้านวิศวกรรมมานั่งคุยกันกับเด็กด้านศิลปะ เพื่อหาโปรดักท์ดีไซน์ที่มีความแตกต่างจากตลาด โดยตั้งอยู่บนโจทย์ของ “The Chilly – Lime Theory”

Chillly หมายถึงสินค้าที่มีความร้อนแรง เห็นแล้วตะลึง ร้องว้าว wow , คำว่า Lime หมายถึง ความสุขุมนุ่มนวล ในผลงานที่ต้องมีนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ โดยรวมแล้วโปรดักท์ดีไซน์ที่ได้ผ่านการคัดเลือก จะต้องเจาะตลาดในระดับ “Massclusivity” หรือตลาดที่อยู่ตรงกลางของความเป็นพรีเมี่ยมที่คนชั้นกลางเข้าถึงได้ และมีความเป็น DNA ของการมีนวัตกรรม มีแบรนด์ดิ้งแปลกใหม่ ผลิตได้จากงานอุตสาหกรรม เล่าเรื่องราวของสินค้าได้ ไม่ลอกเลียนแบบใคร และสร้างมูลค่าในตัวเองได้”

แซม บูซตัน Designer of the Year of ปี 2004 และปี 2000 1 ในกรรมการตัดสิน อธิบายถึงกระบวนการออกแบบที่แบ่งเป็น 2 ขั้นตอน ขั้นตอนแรกมีการออกแบบคอนเซ็ปต์โดยหาแรงบันดาลใจจากสิ่งที่ประทับใจรอบตัว ขั้นที่สอง มีการสลับผลิตภัณฑ์กับนักศึกษาคนอื่นๆ ให้ “ต่อยอด” ความคิดในการออกแบบวัสดุและรูปทรงของโปรดักท์นั้นๆ ให้สวยงาม

“ทุกคนมีสิทธิในการพัฒนาสินค้าต่อ หรือหยุดโปรเจคลงได้ ถ้าคิดว่าสินค้าที่ได้รับไม่มีทางแจ้งเกิดได้” เขากล่าว

นอกจากนี้ ทุกคนมีสิทธิเลือกใช้วัสุดที่มีความหลากหลายในเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นเซรามิค แก้ว ผ้าทอพื้นเมือง เงิน โลหะ ไม้ ได้ตามความเหมาะสมของผลิตภัณฑ์

“ปลายทางของเวิร์คช็อป เรายังไม่สามารถคาดคะเนได้ว่าจะได้โปรดักท์ดีไซน์ออกมากี่ชิ้น แต่ผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นต้องนำมาผลิตในเมืองไทย เพื่อเป็นการคุ้มครองภูมิปัญญาของคนไทย และจะสร้างประโยชน์ให้กับการส่งออกของไทยในอนาคตได้ แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่านั้น นักออกแบบไทยจะได้รับเป็นการเรียนรู้วิธีคิดของเด็กต่างชาติที่ต้องนำมาถ่ายทอดให้กับน้องๆ รุ่นหลังได้เข้าใจต่อไป” กิติรัตน์ ปิติพานิช ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมและพัฒนาการออกแบบ ศูนย์สร้างสรรค์ฯ กล่าว

นับว่าเป็นการ “ดีไซน์ข้ามวัฒนธรรม” เพราะนักศึกษาจากลอนดอนต้องมามองหาแรงบันดาลใจของการสร้างสรรค์งานออกแบบในเมืองไทย อาหาร วัฒนธรรม หรือสิ่งของที่คุ้นตาของคนไทย จะเป็นสิ่งแปลกใหม่ของเด็กซีกโลกตะวันตก และเป็นที่มาของแรงบันดาลใจที่ทำให้เกิดการพัฒนาสินค้าแปลกใหม่หลายชิ้น ตัวอย่างเช่น ถ้วยซุปเซรามิคที่มีพื้นผิวสัมผัสจากตีนไก่ ตะเกียบเงินที่มีโซ่เล็กๆ ผูกติดกันเมื่อทานอาหารจะมีเสียงดังสนุกสนาน โปะโคมไฟกระดาษสาลายสานใช้ครอบเทียน หรือแม้แต่ที่ใส่เกลือและพริกไทยที่มีฟอร์มทรงกลมวางอยู่บนถาดไม้  ในฝั่งของนักออกแบบไทย ก็มีไอเดียใหม่ๆ ไม่แพ้กัน อาทิ แจกันดอกไม้ถอดประกอบ 3 ส่วน แก้วกาแฟที่มีฟอร์มของกล้องส่องทางไกล ให้ประสบการณ์ของการเดินทาง

"เมื่อได้เห็นผลงานทั้งหมด โดยภาพรวมแล้วไม่น่าเชื่อว่าแนวคิดของสินค้าจะสดใหม่ๆ ขนาดนี้ ผมเชื่อว่ามีผลิตภัณฑ์หลายชิ้นที่ห้าง Conran หรือ Thomas Good จะต้องสนใจ เพราะเป็นสร้างสรรค์งานใหม่ ที่ไม่ได้ก็อปปี้ใคร และบางชิ้นมีวิธีคิดแบบหักมุมเหมือนฟิลิปส์ สตาร์ตด้วย"  เอกรัตน์ ประดิษฐ์สุวรรณ กรรมการผู้จัดการ AKA  1 ในคณะกรรมการ กล่าว

(ถอดความบางส่วนจากคอลัมน์ Inspired Biz โดยอัญชรี พรหมสกุล นสพ.Bizweek section B-school 26 พ.ค.-1มิ.ย.2549 )

Sam Buxton, นักออกแบบผลิตภัณฑ์

May 17, 2008

แซม บักซ์ตันเกิดที่ลอนดอนเมื่อปี พ.ศ. 2515 เขาจบด้านการออกแบบเครื่องเรือนจาก

มหาวิทยาลัยมิดเดิลเซ็กซ์ หลังจากนั้น ได้ศึกษาต่อที่รอยัล คอลเลจ ออฟอาร์ต ในปี พ.ศ. 2540

ปัจจุบันบักซ์ตันทำธุรกิจของตัวเอง โดยพัฒนาโครงงานให้เคนโซ ฮาบิแทตและยูโรเลาจ์ รวมทั้ง

ออกแบบของสะสมชุดไมโคร-แมน ซึ่งเป็นสเตนเลสพับได้ (MIKRO-Man) ที่เติบโตขึ้น

อย่างรวดเร็ว และ ขยายไปสู่สิ่งแวดล้อมใหม่ๆ เช่น ไมโคร เฮาส์ (MIKRO-House)

แซม บักซ์ตัน ยังเป็นหนึ่งในสี่นักออกแบบที่ได้รับการเสนอชื่อ เข้าชิงรางวัล Design Museum’s

Designer of the Year 2004

ทีมงานTCDC พูดคุยกับแซม เมื่อเขาร่วมเป็นวิทยากรในงาน Creativities unfold, Bangkok 2006-07

หากมองย้อนกลับไปในการชีวิตการทำงานของคุณ คุณคิดว่าการศึกษาในระบบโรงเรียนนั้น เอื้อประโยชน์ต่อการทำงานของคุณหรือไม่ อย่างไร

โรงเรียนสอนออกแบบคือที่ที่คุณสามารถทดลองทุกอย่าง มันมีอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายและคุณก็มีอิสระทางความคิดเต็มรูปแบบ ซึ่งมันเป็นอะไรที่มีค่ามากครับ ในตอนนั้นคุณจะได้พบปะกับผู้คนหลากหลายที่น่าสนใจ มีเวลาค้นคว้าวิจัย มีห้องสมุดที่ดีเยี่ยม …มันเป็นช่วงเวลาที่ดีมากครับ

แต่มันก็มีปัญหาเกิดขึ้นเหมือนกันเวลาอยู่ในโรงเรียน บางครั้งคุณก็เจอกับเจ้าหน้าที่ที่ไม่ค่อยใส่ใจ พวกที่อาจจะทำงานที่นั่นมานานเกินไปแล้ว หรือพวกนักเรียนที่ไม่ได้เรื่องมากนัก ผมคิดว่าเรามีโรงเรียนสอนออกแบบมากเกินไปในประเทศอังกฤษมีนักเรียนที่มีพรสวรรค์อยู่บ้างก็จริง นี่อาจฟังดูไม่ค่อยน่ารักนะครับ …แต่ความจริงก็คือยังมีนักเรียนอีกจำนวนมากที่ไม่ได้มาตรฐานเท่าไหร่นัก

การศึกษาในโรงเรียนสอนออกแบบนี่ กระทั่งที่ The Royal College ก็ตามที คุณสามารถจะจบออกมาได้โดยไม่มีอะไรในหัวมากมายนัก ท้ายที่สุดแล้ว มันขึ้นอยู่กับบุคคลนะครับ ว่าใครที่สนใจมันจริงๆ ใครพยายามที่จะผลักดันตัวเอง และลองผิดลองถูก

ถ้าพูดถึงการเรียนรู้นอกระบบล่ะ ตอนเป็นเด็ก คุณชอบเล่นของเล่นพวกไหน

ผมเล่นเลโก้ครับ สร้างมันเป็นอะไรหลายๆอย่าง เล่นพวกของเล่นที่ทำจากกระดาษ ผมโตมาในยุคการผจญภัยในอวกาศกำลังดัง ผมก็ต่อของเล่นกระดาษเป็นยานอวกาศ วาดลวดลายลงไป เอาไปเล่นกับน้องชาย (ยิ้ม) ผมจะเป็นนักบินเอง ให้น้องเป็นนักบินผู้ช่วย

ผมยังเก็บงานวาดลายเส้น (Drawing) สมัยเด็กไว้เยอะแยะเลยครับ ถึงตอนนี้ก็เถอะ บางทีผมก็ยังทำงานพวกตัดแปะ (Collages) และ drawing อยู่ …จริงๆงานพวกนี้ก็คือที่มาของผลงานในชุด Micro-Man ของผมที่มีส่วนหัวตลกๆนั่นแหละ

แล้วตอนเป็นวัยรุ่นล่ะ คุณสนใจอะไรเป็นพิเศษ …สนใจพวกของมียี่ห้อต่างๆหรือเปล่า

ผมสนใจงานพวกกราฟฟิตี้ แต่ไม่ได้ลงมือทำเองสักเท่าไหร่นะครับ ชอบดนตรีแจ๊ส ฟังก์ แล้วก็ฮิป-ฮอปต้องขอบอกว่าตอนนั้นไม่ได้สนใจพวกงานออกแบบเลย

สมัยนั้นในบริสตอล (Bristol) มีเพลงสไตล์ Retro ดีๆเยอะ วง Massive Attack ก็มาจากเมืองนี้ รวมทั้งTricky, Porgy’s Head, Nana Cherry และอีกหลายๆวงดนตรีที่น่าสนใจด้วย …ที่นั่นไม่ได้มีที่เที่ยวกลางคืนมากนัก ส่วนใหญ่คนก็จะทำเพลงกันเอง …ผมอยู่ที่นั่นตั้งแต่ 9 ขวบจนถึงอายุ 18 ครับ เพื่อนสนิทหลายคนของผมมาจากที่นั่น พวกเราชอบรองเท้าผ้าใบสไตล์ Old school อย่างพวก Adidas แบบเก่าๆหรือ Puma States อะไรพวกนั้น

ผมเคยบ้าสะสมแผ่นเสียงแจ๊สเก่าๆ พวกที่หายากจากยุค 70s ครับ พอผมเลิกสะสม ผมก็หันมาสนใจทำงานออกแบบแทน แต่ต่อมาก็กลับมาเล่นพวกของสะสมอีก คราวนี้เป็นนาฬิกาข้อมือ โดยเฉพาะของรัสเซีย จากยุค70s – 80s ผมชอบดีไซน์ Retro เก๋ๆของมัน มีความเป็นยุคอวกาศ แปลกๆแต่สวยครับ

ในตอนนั้น มีของอะไรสักอย่างมั้ยที่ชีวิตคุณจะขาดมันไม่ได้เลย

จักรยานไงครับ มันคืออิสระภาพ เวลาคุณขี่จักรยานคุณจะรู้สึกเป็นอิสระมาก

จากการขี่จักรยานของคุณ และการเดินทางไปทำงานในที่ต่างๆนี่ มีที่ไหนในโลกมั้ย ที่ทำให้คุณ
รู้สึกดีที่สุดและที่ไหนที่ทำให้คุณรู้สึกไม่ดีเลย

ผมชอบความรู้สึกเวลาที่ไม่อยู่นิ่ง เวลาที่ต้องออกไปทำงาน ผมชอบที่จะต้องย้ายที่ทำงานไปเรื่อยๆ ไปอยู่ที่ไหนสักเดือนสองเดือนเพื่อทำงานงานหนึ่ง แล้วก็ไปที่อื่นต่อ แล้วก็กลับมาตรงนี้อีกที เพราะคุณต้องมาเจอคนประมาณนี้มันคือความรู้สึกไม่หยุดนิ่ง คุณกำลังเคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลา

แล้วสถานการณ์แบบไหนที่ทำให้คุณรู้สึกไม่ดีที่สุด

มันคงต้องเกิดขึ้นสักวัน… การที่คุณจำเป็นต้องอยู่ติดที่นานๆ …อย่างลอนดอนนี่ ค่าครองชีพมันสูงมาก ถ้าผมต้องอยู่ในที่ที่ทุกอย่างแพงไปหมด แต่ก็ไปไหนไม่ได้นี่ …ผมคงไม่ชอบที่จะถูกผูกมัดแบบนั้น แล้วผมก็อยากจะมีแมวสักตัวแต่ก็เห็นๆอยู่ว่า ผมคงไม่มีปัญญาเลี้ยงมันอย่างดีได้ ผมคงต้องการเพื่อนบ้านที่น่ารักที่สุดในโลกเพื่อการนั้น

พูดถึงความอยากเลี้ยงแมวของคุณที่ดูจะเป็นไปได้ยาก… สมมติว่าคุณสามารถทำอะไรก็ได้ในฐานะ
นักออกแบบคุณจะทำอะไรเพื่อกำจัดอุปสรรคข้อนี้

อยากมีบ้านหลังเล็กๆสำหรับแมวที่ผมจะนำติดตัวไปด้วยได้ทุกหนแห่ง ให้แมวออกมาวิ่งเล่นได้เวลาผมไปอิตาลีให้มันกินอาหารทะเลด้วยครับ

อะไรที่คุณคิดว่าเป็นเรื่องเลวร้ายที่สุดที่นักออกแบบคนหนึ่งจะสามารถทำได้

ออกแบบระเบิดฝังดินมั้งครับ มันแย่มากนะ ความเป็นจริงคือมีนักออกแบบจำนวนมากที่ทำงานให้กับกองทัพทุกวันนี้มีงานค้นคว้าวิจัยชั้นดีมากมายในกองทัพ วัสดุอุปกรณ์หลายๆอย่างที่เราใช้กันอยู่ปัจจุบันก็มาจากผลงานค้นคว้าของทางทหาร ถ้าคุณทำงานในนั้น คุณจะได้สัมผัสกับวัสดุใหม่ๆและเทคโนโลยีชั้นยอดมากมาย แต่คุณก็เข้าไปเกี่ยวข้องกับ “การฆ่า” อย่างเลี่ยงไม่ได้น่ะครับ

เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้ดูสารคดีเกี่ยวกับ Klachenkov นักออกแบบคนหนึ่งที่สร้างปืนกลรุ่นยอดนิยมของโลกเขาทำงานเป็นวิศวกร มันไม่ใช่ความผิดของเขา เพราะมันคืองานที่เขาต้องทำ แต่ด้วยความที่ปืนกลรุ่นนี้มันใช้ชื่อKlachenkov ตามชื่อของผู้ออกแบบ ฉะนั้นชื่อของชายคนนี้จึงถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์อาวุธสงครามและการฆ่าฟัน เพราะมันมีปืนรุ่นนี้อยู่ในโลกถึง 30 ล้านกระบอก…ที่ใช้ในการปลิดชีวิตมนุษย์ ผมคิดว่านี่เป็นเรื่องที่เศร้ามากนะ

ผมสงสารชายคนนั้น เพราะว่าเขาทำงานเพื่อเลี้ยงชีพ มันเป็นแค่งาน และเขาก็ทำมันได้ดีเยี่ยมเสียด้วย …เรื่องนี้เป็นอะไรที่คลาสสิคนะครับ ถ้าจะมองในอีกมุมหนึ่ง

คุณมองเห็นตัวเองทำอะไรในอีก 20 ปีข้างหน้า

ผมคงยังสร้างงานอยู่ เพราะมันคือสิ่งที่ผมอยากจะทำไปชั่วชีวิต แต่จะอยู่ที่ไหนนี่ยังไม่รู้ อาจจะได้กลับไปอยู่อังกฤษแต่คิดว่าน่าจะเป็นที่อื่นมากกว่า หรือไม่ก็ยังเดินทางไปเรื่อยๆ เป็นห้องทำงานเคลื่อนที่อย่างที่บอก

ใครจะรู้ …ผมอาจจะได้ทำงานในลักษณะที่ต่างไปมากๆ อาจได้ทำงานออกแบบที่ไปเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์หรืออย่างอื่นด้วย หรืออาจจะทำงานที่ไม่สามารถชี้ชัดลงไปได้ว่ามันคืองานอาชีพใด ตั้งแต่ผมจบจากโรงเรียนสอนออกแบบมานี่ ผมพยายามที่จะเลี่ยงการเรียกตัวเองว่า “นักออกแบบ” มาโดยตลอด …ผมสร้างสิ่งของขึ้นมาจริง แต่ไม่ค่อยอยากเรียกตัวเองว่า “นักออกแบบ” ครับ เพราะผมคิดว่า งานออกแบบมันอยู่ในทุกสิ่ง

(อ่านบทความบรรยายหัวข้อ: งานออกแบบ: จากตัวตนเป็นผลิตภัณฑ์ โดยแซม บักซ์ตัน จากงาน Creativities unfold, Bangkok 2006-2007)


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น