วันอาทิตย์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

One Up On SET เหนือกว่าตลาดหุ้นไทย

ถอดรหัสเลข 11 และ 15


ที่เป็นอาถรรพ์คำสาปเกี่ยวกับเศรษฐกิจและการเมืองของไทย


ถ้าดัชนีตลาดหุ้นดาวน์โจนส์คือภาพสะท้อนของอารมณ์ความรู้สึกหรือจิตวิทยามวลชนของคนทั่วโลกได้แล้ว ดัชนีตลาดหุ้นไทยก็อยู่ในภาพสะท้อนเช่นนั้นด้วย ยกตัวอย่าง เมื่อซักเดือนกว่าหรือเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยอยู่ในสภาพหกล้ม สะบักสะบอม หกกระเมนตีลังกา ยิ่งกว่านั่งรถไฟเหาะตีลังกาเสียอีก เพราะ set ถูกแรงขายของนักลงทุนต่างชาติ และนักลงทุนสถาบันภายในประเทศอย่างหนักหน่วงราวกับขาดความเชื่อมั่นต่อประเทศไทยหรือกำลังมีเหตุการณ์ร้ายอะไรรออยู่ข้างหน้าหรือเปล่า ดัชนีลดระดับจาก 1100 จุด ค่อยๆ ลดระดับลงมา และบางช่วงที่ดัชนีลดระดับลงมาใกล้จุดต่ำสุด หรือทดสอบแนวรับสำคัญ ก็จะสามารถดีดกลับขึ้นมาได้ทุกที หรือมีแรงซื้อไล่ซื้อหุ้นกลับขึ้นมาได้ และทุกครั้งที่ดัชนีลงแรง (over sold) หรือขึ้นมากเกินไป (over bought) ก็จะมีเหตุผลของนักวิเคราะห์แสดงความคิดเห็นรองรับทุกครั้งไป เช่น นักลงุทนไม่มั่นใจในผลการเลือกตั้งที่จะมาถึง กลัวว่าจะมีเหตุการณ์วุ่นวายไม่สงบ ทำให้ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ หรืออาจไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง นักลงทุนต่างชาติจึงขายลดความเสี่ยงออกไปก่อน หรือบาง บล.(house) ก็จะให้น้ำหนักกับปัจจัยต่างประเทศมากกว่า เช่น เกิดการขายทำกำไรของกองทุนต่างชาติทั่วเอเซีย เพื่อลดการถือครองหุ้น และไปให้น้ำหนักกับการถือครองสินทรัพย์ที่ไม่เสี่ยง เช่น ทอง หรือพันธบัตรรัฐบาลแทน เหตุเพราะสถานภาพทางการเงินของหลายประเทศในยุโรป และอเมริกา ยังอยู่ในฐานะเสี่ยง เช่น การที่มูดี้ย์ออกมาขู่จะลดอันดับเครดิตของสหรัฐ (ประเทศของสถาบันเอง) ลดระดับเครดิตในพันธบัตรของประเทศกรีก ลงมาสู่ระดับต่ำสุด หรือ junkbond และแผนการปฏิรูปเศรษฐกิจและฐานะการเงินของประเทศกรีก ตามเงื่อนไขคำมั่นสัญญากับ IMF และ EU และล่าสุดการที่ s&p ออกมาลดระดับเครดิตในพันธบัตรของประเทศโปรตุเกส นำมาซึ่งการลดต่ำลงของตลาดหุ้นดาวน์โจนส์ และตลาดหุ้นทั่วยุโรป และลามมาถึงเอเซียและในบ้านเรา ผสมโรงกับข่าวการเทขายสัญญาน้ำมันล่วงหน้าของbrent และการคาดคะเนดีมานด์การใช้น้ำมันของทั่วโลกลดลง ทำให้ระดับราคาน้ำมันไนเม็กซ์ และทุกตลาดสำคัญในโลกค่อยๆลดต่ำลง ก็เป็นส่วนเพิ่มน้ำหนักให้มีการขายหุ้นและสินค้าโภคภัณฑ์หลักๆ ทุกตัวลดลง เช่น น้ำมัน ทอง เงิน นี่เป็นที่มาที่ทำให้ช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ระดับราคาตลาดหุ้นไทยลดลง แม้ว่าความเห็นของนักวิเคราะห์ในแต่ละ house ต่างกัน บ้างก็ว่าเป็นการขายลดพอร์ตในบางประเทศเท่านั้น และไปเพิ่มในบางประเทศ ในส่วนของไทย ไม่มีปัจจัยบวกใหม่ และเหตุราคาหุ้นปรับตัวสูง(p/e) กว่าบางประเทศไปแล้ว


แต่พลันที่ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 ก.ค. ออกมาว่าพรรคเพื่อไทยกำชัยชนะเหนือพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลเดิม แบบชนิดถล่มทลาย (landslide) สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้อย่างไม่มีปัญหาการยอมรับจากประชาชน ทำให้แรงซื้อในเช้าวันที่ 4 ก.ค. มีแรงซื้อจากทั้งนักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาใหม่ วันเดียวกว่า 1 หมื่นล้าน และดัชนีปรับตัวสูงขึ้นไปวันเดียวกว่า 50 จุด ผสมโรงกับแรงซื้อจากสถาบันภายในประเทศด้วย ความเชื่อมั่นหวนกลับมาเพียงชั่วข้ามคืน และวันต่อๆมา นักลงทุนรายย่อยหรือแมงเม่าก็ค่อยเข้ามาไล่ซื้อเป็นไม้ 2 ไม้ 3 ภายหลังจากมีการขายทำกำไรไปแล้วก่อนหน้านี้ แต่ภายหลังวันที่ 4 ก.ค.ที่ผ่านมา แรงซื้อจากต่างชาติและสถาบันกลับลดลง และมีการขายทำกำไรออกมาบ้าง ทำให้ตลาดอยู่ในสภาพที่ทรงๆ ขึ้นลงในวงจำกัด ในกรอบแคบๆ เท่านั้น จึงมีการตั้งคำถามจากนักลงทุนรายย่อยว่า ตลาดจะมีทิศทางต่อไปอย่างไร จะมีการปรับฐานลงมาหรือไม่ภายหลังหมดข่าวดี ในส่วนของการจัดตั้งรัฐบาล หน้าตาของรัฐบาลใหม่ออกมาแล้ว การประกาศผลประกอบการไตรมาส 2ของหุ้นในกลุ่มสถาบันการเงิน และกลุ่มหลักๆ ตามมาในช่วงเดือนกรกฏาคมนี้แล้ว หรือจะทะยานขึ้นต่อไปจนไปถึง high เดิมทีทำไว้คือ 1140 จุด เมื่อทะลุผ่านไปแล้วซักพัก จึงจะมีการขายทำกำไรหรือปรับฐานลงมา ซึ่งจะกินเวลาไปจนถึงสิ้นไตรมาส 3 หรือเป็นช่วงเดียวกันกับหมดช่วง hunnymoon ของรัฐบาลใหม่นี้แล้ว


ถ้ามองโลกในแง่ดี หุ้นก็ยังน่าจะขึ้นไปได้ต่อ จากปัจจัยภายในที่การเมืองคงนิ่งในช่วงนี้ และปัจจัยภายนอก เศรษฐกิจของยุโรปและอเมริกา จะมีการจัดการได้อย่างลงตัว ไม่มีปัญหาลุกลามบานปลาย แต่หากมองโลกในแง่ร้าย หุ้นก็อาจมีการปรับฐานลงมาแรง ซึ่งคงต้องหลุดแนวรับที่ 1000 จุดลงมา ซึ่งจะลงมาขนาดไหน ขึ้นอยู่กับปัจจัยเสี่ยงว่าจะหนักหนาสาหัสมากหรือน้อย ซึ่งปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว ก็ได้แก่


ปัจจัยภายใน ก็เช่นผลการเลือกตั้งจะเป็นโมฆะ มีผลให้ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งสมมติฐานนี้มีความเป็นไปได้ จากเหตุผลที่การเลือกตั้งนี้มีการทุจริตจำนวนมาก มีการไปแจ้งความและร้องเรียนไว้แล้วจำนวนมาก และตัว กกต.เองก็ถูกฟ้องร้อง และร้องเรียนไปยังศาล หรือองค์กรอิสระอื่นๆ ไว้แล้ว อีกทั้งตัวพรรคการเมืองก็มีการฟ้องแจ้งความให้ยุบพรรค จากผลของการใช้นโยบายหาเสียงที่เข้าข่ายสัญญาว่าจะให้ ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ และประเด็นการทุจริตซื้อเสียงด้วย ในส่วนของเรื่องอื่นๆ ที่ไม่ใช่เรื่องการเลือกตั้ง ก็เรื่องของการปฏิบัติตามนโยบายหาเสียง ซึ่งจะออกมาเป็นนโยบายของรัฐบาลใหม่ ว่าจะทำได้ตามที่หาเสียงหรือไม่ ผลจากการใช้นโยบายจะไปมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การเงิน การคลังของประเทศอย่างไร รวมถึงฟีดแบ็คหลังจากนั้นของประชาชน หรือนักธุรกิจ นักวิชาการ จะให้การยอมรับการทำงาน หรือความเชื่อมั่นที่มีต่อรัฐบาลใหม่อย่างไร


ปัจจัยภายนอก ก็เช่น ผลกระทบจากการลดอันดับความเชื่อถือที่จะมีออกมาอย่างต่อเนื่องอีกหลายประเทศในยุโรป เช่น สเปน อิตาลี รวมถึงสหรัฐอเมริกา การใช้นโยบายรัดเข็มขัดกันในหลายประเทศในยุโรป อเมริกา และทั่วโลก ซึ่งจะมีผลทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว รวมถึงนโยบายการขึ้นดอกเบี้ยในจีน อีกทั้งผลกระทบจากการยกเลิกมาตรการผ่อนคลายทางการเงินหรือการไม่ต่อ QE2 ของสหรัฐและจะหันไปใช้มาตรการใดขึ้นมาแทน ย่อมมีผลต่อนโยบายการเงินของสหรัฐและของโลกด้วย อีกประเด็นนึงที่สำคัญมากก็คือ การชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลซึ่งเป็นกระแสลุกลามไปทั่วโลกแล้วในเวลานี้ทั้งในตะวันออกกลาง ในเอเซีย ในยุโรป ในแอฟริกาเหนือ ซึ่งมีทั้งที่เป็นประเด็นทางการเมืองล้วนๆ และหลายๆ ที่เป็นประเด็นที่เกิดจากด้านเศรษฐกิจโดยตรง ซึ่งย่อมมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่น การลงทุน การค้า และเศรษฐกิจโลกอย่างแน่นอน แต่ดูเหมือนปัจจัยภายนอก มีมากกว่าปัจจัยภายในค่อนข้างมาก และปีนี้เป็นคีย์พ้อยท์ที่ต้องให้น้ำหนักมากกว่าปัจจัยภายใน ซึ่งจะมีผลต่อกระแสเงินทุน (fund flow) ที่จะไหลเข้าหรือออกจากประเทศของนักลงทุนต่างชาติ เป็นหลักใหญ่

ถอดรหัสตัวเลข 11 และ 15 ที่เป็นอาถรรพ์คำสาปเกี่ยวกับเศรษฐกิจและการเมืองของไทย


อันนี้เป็นสมมติฐานของตัวผู้เขียนเอง ท่านผู้อ่านจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม แต่ก็สามารถนำไปวิเคราะห์หรือพิจารณาประกอบการตัดสินใจลงทุนด้วยก็ได้ ดังนี้

ขอเริ่มที่ประเด็นด้านเศรษฐกิจก่อน ประเทศไทยประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจหรือตลาดหุ้นตก หรือกำลังซื้อหดหาย หรืออยู่ในสภาพขาดความเชื่อมั่นอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจ ที่เรียกว่า melt down ใหญ่ๆ อยู่ 3 ช่วงปีด้วยกัน ดังนี้

ช่วงปี พ.ศ. 2529 (1986) เป็นช่วงที่ประเทศไทยประสบปัญหาด้านพลังงาน จนต้องมีการรณรงค์ปิดไฟ ปิดโทรทัศน์ ในช่วงเย็นและช่วงหลังเที่ยงคืน และตอนกลางวันก็ไม่มีรายการโทรทัศน์ และมีเพลงที่ยังร้องและจำได้จนถึงทุกวันนี้ ที่ร้องว่า “น้ำมันขาดแคลน คุยกับแฟนก็ต้องดับไฟ” ในยุคนั้น ปตท.ยังคงเป็นรัฐวิสาหกิจของไทยที่ยังขาดทุนอยู่เลย และยังไม่ได้แปรรูปเป็นบริษัทมหาชน แต่ก็เป็นยุคที่คนไทยประหยัด และรัดเข็มขัดช่วยชาติกันสุดฤทธิ์ มีการผลิตสินค้าภายใต้ยี่ห้อ “สินไทย” รณรงค์การใช้สินค้าไทย ไม่ใช่ของนอก ทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวมาได้ในปี 2530 (รณรงค์ ให้เป็นปี Visit Thailand Year) ส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยเป็นครั้งแรก และมีการทำตลาดท่องเที่ยวไทยสู่วาระแห่งชาติเป็นครั้งแรก จนไทยเป็น Destination of Asia เบอร์ 1 ในยุคต่อมา

ช่วงปี พ.ศ. 2540 (1997)ประเทศไทยประสบปัญหาด้านการคลังสูงสุด จนต้องเข้าโปรแกรม IMF มีการประกาศลอยตัวค่าเงินบาท โดยไม่อิงระบบตะกร้าเงิน และใช้ระบบ manage float ลอยตัวค่าเงินแบบสามารถจัดการหรือแทรกแซงได้ วิกฤติการเงินครั้งนี้แหละที่ทั่วโลกเรียกเราว่า วิกฤติต้มยำกุ้ง เพราะทันทีที่ประเทศไทยเกิดปัญหาขึ้นได้ลุกลามไปสู่ประเทศอื่นด้วยในเอเซีย เช่น อินโดนีเซีย เกาหลี มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ และลุกลามไปทั่วโลก ประเทศไทยถูกบังคับให้ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อตกลงที่ทำใว้กับ IMF เพื่อแลกกับเงินกู้ก้อนใหญ่ 26,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จนทำให้ต้องมีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจหลายแห่งตามมา ,การออกกฏหมายธุรกิจสำหรับคนต่างด้าว 11 ฉบับ ,กฏหมายล้มละลาย การประมูลขายสินทรัพย์ที่ถูกยึดมาได้โดยสถาบันการเงิน ซึ่งอยู่ในรูป บสท และ ปรส. ให้กับต่างชาติในราคาถูก การออกพันธบัตรช่วยชาติ การขายหุ้นแบ็งค์รัฐวิสาหกิจของไทยให้กับต่างชาติ จนเป็นที่มาของการที่แบ็งค์ไทยกลายเป็นของต่างชาติเกือบหมดแล้วในปัจจุบัน การบริจาคเงินช่วยชาติ หรือบริจาคทอง ในโครงการของหลวงตาบัว ญาณสัมปันโน เพื่อเข้าแบ็งค์ชาติ

ช่วงปี พ.ศ. 2551 (2008) เกิดเหตุการณ์การล่มสลายของวาณิชธนกิจขนาดใหญ่ของสหรัฐ หลายแห่งประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง การผิดนัดไถ่ถอนหนี้ซึ่งเกิดจากตราสารการเงินที่เรียกว่าซับไพร์มและซีดีโอ ทั้งของรัฐและเอกชน ไม่ว่าจะเป็น การล้มลงของ เลห์แมนบราเธ่อร์ แบร์สเทิร์น แฟร็งค์กี้เมย์ กะเฟรนดี้แม็ก (และอีกหลายๆ วานิชธนกิจที่บางที่รัฐปล่อยให้ล้มไปเอง บางแห่งรัฐเข้าไปช่วยเหลืออุ้มชู เช่น กรณีของเมอร์ริลลินซ์ เจพีมอร์แกน) ลุกลามไปถึงการขาดสภาพคล่องในบรรษัทใหญ่ๆ เช่น ซิตี้แบ็งค์ เอไอจี การล้มลงของเจนเนอรัล มอเตอร์ จนทำให้รัฐบาลสหรัฐต้องออกกฏหมายพิเศษขึ้นมารองรับ จนเป็นที่มาของการใช้มาตรการ QE1 มาใช้แก้ปัญหาระบบสถาบันการเงินทั้งหมดของสหรัฐที่ล้มครืนลงมา และลุกลามเป็นโดมิโนเอ็ฟเฟ็คท์ไปทั่วโลก ตลาดหุ้นดาวน์โจน์ตกฮวบหลุดระดับ 1 หมื่นจุดลงมาต่อเนื่อง รวมถึงของไทย set ลงจากระดับ เกือบ 900 จุด ลงมาถึงจุดต่ำสุด เกือบ 350 จุด ในต้นปี 2552 เหตุการณ์นี้เราเรียกว่า วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์

จะเห็นว่าช่วงระยะเวลาของเหตุการณ์ทั้ง 3 ครั้งนั้น ห่างกัน 11 ปี คือปี 2529-2540 ห่างกัน 11 ปี และ ปี 2540-2551 ก็ห่างกัน 11 ปี และหากข้อสมมติฐานนี้เป็นจริง ปี 2551 นับไป 11 ปี ก็จะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจอีกครั้งนึงได้ และจะตกอยู่ในช่วงปี พ.ศ. 2562 ซึ่งวิกฤติเศรษฐกิจนั้นไม่จำเป็นว่าต้นตอเศรษฐกิจจะเกิดที่เมืองไทยเองหรือไม่ อาจเกิดจากเมืองนอก แต่มามีผลกระทบต่อบ้านเราก็เป็นได้ เช่นเหตุการณ์ช่วงปี 2551 และวิกฤติในแต่ละครั้งนับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ไม่มีลดน้อยลง คือผลของความเสียหายใหญ่โต และมีผลกระทบในวงกว้างกว่าในอดีต เพราะโลกทุกวันนี้เป็นโลกาภิวัฒน์ไปเสียแล้ว ดังนั้น คนไทยหรือนักลงทุนไทยไม่ควรประมาท และควรระแวดระวัง หาทางป้องกันหรือปรับตัวให้ได้ในสถานการณ์ที่จะเกิดผลกระทบต่อเราอย่างเท่าทัน เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้เหตุการณ์มาถึง เพราะโลกแห่งทุนนิยมอะไรก็เกิดขึ้นได้

ประเด็นในส่วนของการเมือง ก็มีลักษณะที่คล้ายกันกับวงจรทางเศรษฐกิจ ก็คือจะมีวงรอบของความรุ่งเรืองและตกต่ำ เป็นวัฏจักรหมุนวนกันไป ทีนี้สมมติฐานที่ผู้เขียนเองมองก็คือการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่มีลักษณะเฉพาะแบบไทยๆ หมายถึงการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกี่ยวข้องกับการต่อสู้ระหว่างภาคประชาชนกับผู้มีอำนาจรัฐ การฉีกรัฐธรรมนูญ การรัฐประหาร การงดเว้นการใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว หรือนายกพระราชทาน เป็นต้น ซึ่งประเทศไทยได้ผ่านเหตุการณ์ในลักษณะเหล่านี้มาแล้วดังนี้

ช่วงปี พ.ศ. 2519 ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาที่ประชาธิปไตยของประเทศถึงจุดต่ำสุด และเกิดโศกนาฏกรรมที่คนไทยไม่มีวันลืม ซึ่งเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จะนับว่าเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องมาจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ก็ว่าได้ เพราะมีเชื้อต่อกันมา เป็นเหตุการณ์ต่อสู้ของภาคประชาชนโดยกลุ่มปัญญาชนหรือขบวนการนักศึกษาเป็นแกนนำลุกขึ้นต่อสู้กับผู้มีอำนาจในยุคสมัยนั้น ซึ่งมีพฤติกรรมเป็นเผด็จการทหาร แม้ว่าต้นสายปลายเหตุของเหตุการณ์ครั้งนั้นจะเป็นอย่างไรแต่ก็สร้างบาดแผลให้กับผู้คนที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์และคนในยุคสมัยนั้นเป็นจำนวนมาก และกลายเป็นประวัติศาสตร์ทางการเมืองของประเทศไทยมาจนถึงยุคปัจจุบัน

ช่วงปี พ.ศ. 2534 ประชาธิปไตยแม้ว่าจะเบ่งบาน มีการเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า แต่รัฐบาลสมัยนั้นมีพฤติกรรมคอรัปชั่นสูงมาก จนมีฉายาว่า บุฟเฟ่ต์คาบิเนต ทำให้ผู้นำทหารยุคนั้นทำการรัฐประหาร โดยเรียกกลุ่มของตนเองว่า รสช.

จากนั้นก็เชิญคุณอานันท์ ปันยารชุน มาเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ (พระราชทาน) จากนั้นก็เปิดโอกาสให้มีการบริหารงานแก้ไขปัญหาบ้านเมืองอยู่ระยะนึง ก่อนจะให้มีการเลือกตั้งใหม่ จนได้พรรคประชาธิปัตย์มาเป็นรัฐบาล

ช่วงปี พ.ศ. 2549 ภายใต้การบริหารงานของพรรคไทยรักไทยโดย พตท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะหัวหน้าพรรคและเป็นนายกรัฐมนตรี มีเสถียรภาพทางการเมืองสูงสุดเท่าที่ประเทศไทยเคยมีมา คือมีเสียงในรัฐสภาข้างมากกว่า 300 เสียง แต่กลับมีข้อครหาจำนวนมากทั้งในส่วนของการทุจริตคอรัปชั่น คนในรัฐบาลมีผลประโยชน์ทับซ้อน การแทรกแซงการทำงานขององค์กรอิสระ มีปัญหาความโปร่งใสในการบริหารงาน ไม่มีธรรมาภิบาล การกลั่นแกล้ง แทรกแซงสื่อมวลชนที่มีความคิดเห็นต่างกับรัฐบาล ข้อครหาเรื่องการขายชาติจากกรณีขายหุ้นในเครือชินคอร์ปให้แก่บรรษัทของรัฐบาลสิงคโปร์ที่เรียกว่า เทมาเส็ก โดยไม่เสียภาษี การถูกต่อต้านโดยภาคประชาชน ทำให้ผู้มีอำนาจทางทหารในยุคสมัยนั้นทำการรัฐประหารที่เรียกตัวเองว่า คปค ภายหลังเปลี่ยนชื่อมาเป็น คมช. ต่อมามีรัฐบาลจากการแต่งตั้ง ที่เรียกว่ารัฐบาลสุรยุทธ์ จุฬานนท์ แล้วจึงมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งคือรัฐบาลนอมินีทักษิณ คือรัฐบาลของพรรคพลังประชาชน โดยมีนายสมัคร สุนทรเวชเป็นนายกรัฐมนตรี

จะเห็นว่าช่วงระยะเวลาของเหตุการณ์ทั้ง 3 ครั้งนั้น ห่างกัน 15 ปี คือช่วงปีพ.ศ. 2519-2534 ห่างกัน 15 ปี และช่วงปีพ.ศ.2534-2549 ก็ห่างกัน 15 ปี และหากข้อสมมติฐานนี้เป็นจริง ปี 2549 นับไป 15 ปี ก็จะเกิดเหตุการณ์ทางการเมืองครั้งใหญ่อีกครั้งนึง โดยอาจจะเป็นรูปแบบใดแบบหนึ่งก็ได้ตามที่ได้ให้ความหมายเอาไว้แล้ว ซึ่งเหตุการณ์นั้นจะอยุ่ในช่วงปีพ.ศ. 2564 ซึ่งไม่ว่าเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหรือไม่ว่าจะเป็นวิกฤติทางด้านเศรษฐกิจ ย่อมมีผลกระทบแบบเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน และย่อมมีผลกระทบไปถึงตลาดหุ้นไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้นอยู่แล้ว

และหากจะนับช่วงเวลาของการที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยหรือ set ไปทำจุดสูงสุดใหม่ในแต่ละช่วง ยุคสมัยของรัฐบาลแล้วหล่ะก็เราพอจะคาดคะเนช่วงเวลาที่ดัชนีจะทำจุดสูงสุดใหม่ได้ดังนี้

ช่วงปี พ.ศ. 2537 เป็นช่วงยุครุ่งเรืองของพรรคประชาธิป้ตย์ โดยมีนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี ดัชนีตลาดหุ้นไทยเคยขึ้นไปทำจุดสูงสุดอยู่ที่ 1753.73 จุด จากนั้นก็มีการปรับตัวลงทุกปี

ช่วงปี พ.ศ. 2546 เป็นช่วงยุครุ่งเรืองของพรรคไทยรักไทย โดยมี พตท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ดัชนีตลาดหุ้นไทยเคยขึนไปทำจุดสูงสุดไว้ที่ จุด จากนั้นก็อยู่ในสภาพลุ่มๆ ดอนๆ ทรงๆ ทรุดๆ แล้วดัชนีก็สามารถกลับขึ้นมาที่จุดสูงสุดเดิมใหม่ได้ในช่วงปี 2551 ดัชนีวกกลับมาได้ที่ 880 จุด ก่อนจะมาเกิดวิกฤติซัพไพร์ม หรือแฮมเบอร์เกอร์ ทำให้ดัชนีหลุดต่ำลงไปถึง 350 จุด แล้วจึงค่อยๆ ฟื้นขึ้นมาได้ในช่วง 2-3 ปีมานี้

หากจะนับช่วงระยะเวลาของหุ้นที่ทำจุดสูงสุดใหม่ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537-2546 ห่างกัน 9 ปี และหากสมมติฐานนี้เป็นจริง ช่วงระยะเวลาที่ตลาดหุ้นไทยจะไปถึงจุดสูงสุดใหม่อีกครั้งจะอยุ่ในช่วงปี 2546 บวกไปอีก 9 ปี ก็จะตกอยู่ในช่วงปี พ.ศ.2555 ซึ่งนั่นก็คือปีหน้านั่นเอง ซึ่ง set index จะขึ้นไปทำจุดสูงสุดใหม่อีกครั้ง

อย่างไรก็ดี ทั้งหมดนี้เป็นบทวิเคราะห์ของผู้เขียนเองโดยอิงสมมติฐานความเชื่อของตนเอง ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายที่จะให้คุณผู้อ่านเชื่อตามหลักการนี้ ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของคุณผู้อ่านเอง และผู้เขียนก็เห็นว่าสมมติฐานดังกล่าวอาจเกิดขึ้นจริงหรือไม่ก็ได้ และได้วิเคราะห์กรณีเลวร้ายสุด (worst case) ไว้แล้ว ว่าปัจจัยเสี่ยงจะเกิดขึ้นได้จากอะไรกันบ้าง ซึ่งก็จะทำให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับฐานลงแรงลงไปจากจุดปัจจุบัน แต่จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปัจจัยความเสี่ยงจะมากหรือน้อยแค่ไหน
ซึ่งก็จะทำให้คุณผู้อ่านที่เป็นนักลงทุนสามารถนำไปพิจารณาประกอบการตัดสินใจลงทุนได้เอง โดยไม่ต้องพึ่งพานักวิเคราะห์ทางหน้าจอทีวี ซึ่งส่วนใหญ่มักมาพูดสนับสนุนพฤติกรรมที่เกิดขึ้นไปแล้วในอดีต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น