บุคคลแห่งปี 2016
เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของบล็อกหยิกแกมหยอก
เมื่อครบ 1 ปี ก็จะมาสรุป ความเป็นสุดยอดใน 2 ด้าน
คือเรื่องของตัวบุคคล กับเรื่องของคณะบุคคล (การทำงานเป็นทีม) เราเรียก 2 รางวัลนี้ว่า บุคคลแห่งปี กับทีมประสิทธิภาพแห่งปี ซึ่งในสาขาบุคคลแห่งปี
ในปีนี้ เราแทบไม่ต้องคิดอะไรเลย เพราะว่าสาขาบุคคลแห่งปีในปีนี้ เราคงต้องน้อมถวายรางวัลนี้แด่
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร
สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร อันเนื่องจากวโรกาสที่ทรงครองราชย์ยาวนานถึง 70
พระชันษา ซึ่งถือว่าเป้นกษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลก
อีกทั้งเป็นปีแห่งความเศร้าโศกเสียใจของพสกนิกรคนไทยทั้งประเทศ
เนื่องจากทรงเสด็จสวรรคตในวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2559 เป็นวันแห่งความวิปโยคของแผ่นดินไทย
มีความสำคัญทั้งในแง่ประวัติศาสตร์ของชาติไทยและของโลก
คุโณปการที่ทรงทำให้แก่ชาติบ้านเมือง (สยามประเทศ,ประเทศไทย) นั้นยิ่งใหญ่หลวง
พระราชกรณียกิจมากมายกว่า 4,400 โครงการ ครอบคลุมในเกือบทุกด้านทั้งด้านเกษตร,ด้านการแพทย์,ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ,ด้านการศึกษา,ด้านความสัมพันธ์กับต่างประเทศ,ด้านภาษาและวรรณกรรม-ประพันธ์และแปลหนังสือ,ด้านวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี,ด้านการกีฬา,ด้านสันทนาการ-ประพันธ์ดนตรี,ด้านเพาะพันธุ์สัตว์เลี้ยง-การประมง,ด้านการทหาร-ดำริให้กรมอู่ทหารเรือต่อเรือรบใช้เอง,ด้านเศรษฐศาสตร์-ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง,ด้านการปกครอง-ทศพิธราชธรรม,ด้านการศาสนา-ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก-ชำระคัมภีร์พระไตรปิฏก
เป็นต้น
พระราชประวัติของในหลวง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันจันทร์ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือนอ้าย ปีเถาะ จุลศักราช ๑๒๘๙ รัตนโกสินทร์ศก ๑๔๖ ตรงกับวันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๗๐ ณ โรงพยาบาลเมานท์ ออเบิร์น (Mount Auburn) เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสสาชูเซทท์ สหรัฐอเมริกา ซึ่งสมเด็จพระบรมราชชนกได้ทรงศึกษาวิชาแพทย์อยู่ ทรงเป็นพระโอรสองค์ที่ ๓ พระนามเดิมว่า “พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลเดช” ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๔๗๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระฐานันดรศักดิ์เป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระเชษฐภคินี ๑ พระองค์ และสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช ๑ พระองค์ มีพระนามเดิมและพระอิสริยยศต่อมาตามลำดับ ดังนี้
หม่อมเจ้าหญิงกัลยาณิวัฒนา ประสูติเมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๖๖ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ทรงได้รับการสถาปนาเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและทรงได้รับการสถาปนาพระฐานันดรศักดิ์ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๘ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เป็นสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ต่อมาปีพุทธศักราช ๒๕๓๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ให้ทรงมีพระยศทรงกรมว่า กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
หม่อมเจ้าอานันทมหิดล ประสูติเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน
พุทธศักราช ๒๔๖๘ ณ เมืองไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมนี
ทรงได้รับการสถาปนาเป็นพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้า
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๗๗
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ
รัฐบาลจึงได้ทูลเชิญพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดล เสด็จขึ้นครองราชย์สืบสันตติวงศ์เป็น
พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๘ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม
พุทธศักราช ๒๔๗๘ ทรงพระปรมาภิไธยว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล
เสด็จสวรรคตโดยกะทันหัน เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙ ณ
พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง
สมเด็จพระบรมราชชนกและสมเด็จพระบรมราชชนนี ทรงพระนามว่า
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สมเด็จพระบรมราชชนก
ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
และสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี ทรงพระนามเดิมว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ
เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช ทรงได้รับการสถาปนามีพระยศทรงกรมว่า กรมหลวงสงขลานครินทร์
ได้เสด็จทรงศึกษาวิชาการแพทย์ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา และทรงสำเร็จวิชา
แพทยศาสตรบัณฑิตเกียรตินิยม จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงสำเร็จการศึกษาวิชาการพยาบาลจากโรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์และหญิงพยาบาลแห่งศิริราช
เมื่อพุทธศักราช ๒๔๕๙ ต่อจากนั้นทรงได้รับทุนการศึกษาของสมเด็จพระศรีสวรินทิรา
บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
ไปทรงเรียนวิชาพยาบาลเพิ่มเติมที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อพุทธศักราช ๒๔๖๐
ทรงอภิเษกสมรสกับสมเด็จพระบรมราชชนก ขณะดำรงพระยศ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช
กรมหลวงสงขลานครินทร์ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๖๓
เดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๗๑
ขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมพรรษาได้ ๑ พรรษา
สมเด็จพระบรมราชชนกและสมเด็จพระบรมราชชนนี ทรงสำเร็จการศึกษาและเสด็จกลับประเทศไทย
ครั้งนั้นได้ประทับที่วังสระปทุม ซึ่งเป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีสวรินทิรา
บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า อีกหนึ่งปีต่อมา ในเดือนพฤษภาคม พุทธศักราช
๒๔๗๒ สมเด็จพระบรมราชชนก ทรงพระประชวร และสิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน
ในปีเดียวกัน
เมื่อทรงพระเยาว์ สมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี
ทรงรับพระราชภาระแห่งความเป็นแม่อย่างใหญ่หลวง
เพราะต้องทรงอภิบาลพระโอรสธิดาองค์น้อยๆ โดยลำพังถึง ๓ พระองค์
และที่นับว่าเป็นพระราชภาระที่หนักยิ่งกว่าภาระของแม่ใดๆ ก็เพราะว่าพระโอรสธิดาที่ทรงอภิบาลรับผิดชอบนั้นต่อมาเป็นพระประมุขของประเทศถึง
๒ พระองค์ เพราะฉะนั้น การอภิบาลรักษาและการถวายการอบรมสั่งสอน
จึงมีความยากและมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดพระราชจริยาวัตรในเชิงสร้างสรรค์ที่สำคัญประการหนึ่ง คือสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี ทรงสอนพระโอรสธิดา ให้เรียนรู้เรื่องแผนที่และการใช้แผนที่ กล่าวคือ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ โรงเรียนเพาะช่างในสมัยนั้นจัดทำแผนที่ประเทศไทยโดยผลิตเป็นรูปตัวต่อ เลื่อยเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมเล็กๆ มีกล่องไม้พร้อมฝาปิดเปิดสำหรับใส่เพื่อให้พระโอรสธิดาทั้ง ๓ พระองค์ ทรงเล่นเป็นเกมส์สนุกคล้ายการต่อรูปต่างๆ เป็นการสอนให้รู้จักประเทศไทย และรู้จักการดูการใช้แผนที่ไปพร้อมๆ กัน จึงกล่าวได้ว่าพระราชดำริสร้างสรรค์เหล่านี้ ประกอบกับคุณธรรมอีกหลายประการได้มีบทบาทอย่างใหญ่หลวงต่อการที่ทรงอภิบาลและฝึกสอนพระโอรสธิดา ดังจะเห็นได้ว่าพระราชอัธยาศัยและพระราชจริยาวัตรอันงดงามหลายประการในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีได้ส่งผล ไปถึงพระราชอัธยาศัยและพระราชจริยาวัตรของพระโอรสธิดา อาทิ พระราชอัธยาศัยโปรดการถ่ายรูปและถ่ายภาพยนตร์ ได้สืบทอดมายังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างครบถ้วน ดังจะเคยได้เห็นการเสด็จพระราชดำเนินไปยังสถานที่ใดจะทรงมีสิ่งของประจำพระองค์ คือ ทรงมีแผนที่ กล้องถ่ายรูป และดินสอที่มียางลบด้วย เวลาทรงงานจะทรงใช้ยางลบเสมอ เมื่อทรงพบเห็นอะไรก็จะทรงขีดเขียนบนแผนที่ เช่นเดียวกับพระบรมราชชนนีที่ทรงกระทำมาก่อน บางครั้งจะทรงพบว่า ณ จุดทรงงานนั้นเป็นสถานที่บนภูเขาแต่ตามระวางของกรมแผนที่ระบุไว้ว่าเป็นธารน้ำ จึงดูคล้ายกับน้ำไหลขึ้นสูง และได้พระราชทานข้อสังเกตนี้แก่กรมแผนที่ซึ่งกรมแผนที่ได้สำรวจใหม่จึงพบว่าเป็นเรื่องผิดพลาดของเจ้าหน้าที่เอง กลายเป็นน้ำไหลกลับขึ้นที่สูง จากนั้นกรมแผนที่ได้เขียนเป็นเอกสารถวายสดุดีเฉลิมพระเกียรติว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นนักแผนที่ผู้ชำนาญพระองค์หนึ่งด้วย
พุทธศักราช ๒๔๗๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๕ พรรษา ได้เสด็จทรงเข้าศึกษาในโรงเรียนมาแตร์เดอี กรุงเทพมหานคร เป็นเวลา ๑ ปี หลังจากนั้นได้เสด็จไปประทับ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ และสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช ทั้งนี้เนื่องจากสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชไม่ทรงแข็งแรง จำเป็นต้องประทับในสถานที่ซึ่งอากาศดีและไม่ชื้น พลเอก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร พระปิตุลา ทรงแนะนำให้เสด็จไปประทับที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พระองค์ได้ทรงเข้าศึกษาชั้นประถมศึกษา ณ โรงเรียนเอกอลเมียร์มองต์ (Ecole Mieremont) เมืองโลซานน์ พร้อมด้วยพระเชษฐภคินีและสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช เมื่อจบชั้นประถมศึกษาแล้ว ก็ทรงเข้าศึกษาชั้นมัธยมศึกษา ณ โรงเรียนเอกอล นูแวล เดอ ลาซืออิส โรมองด์ (Ecole Nouvelle de la Suisse Romande) เมืองแชลลี ซูร โลซานน์ (Chailly-sur-Lausanne)
พุทธศักราช ๒๔๘๑ ทรงจบการศึกษาจากโรงเรียนยิมนาส คลาสสิค
กังโตนาล (Gymnase
Classique Cantonal) แห่งเมืองโลซานน์
ทรงได้รับประกาศนียบัตรทางอักษรศาสตร์ แล้วทรงเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยโลซานน์
แผนกวิทยาศาสตร์ เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๘
ได้เสด็จนิวัตประเทศไทยเป็นครั้งที่ ๒ โดยเสด็จ สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช
หลังจากเคยเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทยชั่วคราวครั้งที่ ๑ เมื่อพุทธศักราช
๒๔๘๑ ครั้งหลังนี้ได้เสด็จประทับ ณ พระที่นั่งบรมพิมาน
ในพระบรมมหาราชวังจนกระทั่งถึงวันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช
เสด็จสวรรคตโดยกะทันหัน คณะรัฐบาลไทยในขณะนั้นได้กราบบังคมทูลอัญเชิญ
สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช
เสด็จขึ้นครองราชย์สืบสันตติวงศ์ต่อจากสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชในวันเดียวกัน
เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงมีพระราชภารกิจในการศึกษาต่อ
จึงได้เสด็จพระราชดำเนินกลับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในเดือนมิถุนายนของปีนั้น
รวมเวลาที่เสด็จประทับในประเทศไทยได้ ๖ เดือน ในการทรงศึกษาต่อครั้งนี้
ทรงเลือกเรียนวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์แทนวิชาวิทยาศาสตร์ที่ทรงศึกษาอยู่แต่เดิมก่อนเสด็จนิวัตประเทศไทย
เมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๙๒
ได้ทรงหมั้นหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ธิดาองค์ใหญ่ของหม่อมเจ้านักขัตรมงคล
กิติยากร ผู้ซึ่งต่อมา เมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๓
มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯสถาปนาพระอิสริยยศขึ้นเป็น พระวรวงศ์เธอ
พระองค์เจ้านักขัตรมงคลและในพุทธศักราช ๒๔๙๕
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯสถาปนาขึ้นเป็นพระองค์เจ้าต่างกรมมีพระนามว่า พระวรวงศ์เธอ
กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ
พุทธศักราช ๒๔๙๓
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินนิวัตประเทศไทย ประทับ ณ
พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ตั้งการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลในเดือนมีนาคม ปีเดียวกัน วันที่ ๒๘ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๙๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ณ พระตำหนักสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ณ วังสระปทุม มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ขึ้นเป็น สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ และเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในเดือนต่อมา
ที่มา :http://campus.sanook.com/u_life/knowledge_01678.php
: เครดิตข้อมูลและภาพจาก facebook ของคุณ 1
King 1 Heart ตามลิ้งค์นี้ https://www.facebook.com/notes/1-king-1-heart/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%A7%E0%B8%87/204838602935209/
สุนทรพจน์ของทูตสหรัฐฯประจำ UN กล่าวสดุดีและชื่นชมในหลวง
ดังนี้
นาง ซาแมนทา พาวเวอร์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรสหรัฐฯ
ประจำสหประชาชาติ กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ทรงมีความผูกพันอย่างมากกับสหรัฐอเมริกา พระราชบิดาและพระราชมารดาของพระองค์ทรงพบกันที่เมืองเคมบริดจ์
รัฐแมตซาชูเสตส์ พระราชบิดาศึกษาด้านการแพทย์ ที่ฮาร์วาร์ด
พระราชมารดาศึกษาที่วิทยาลัยพยาบาลซิมมอนส์ แม้ในหลวงรัชกาลที่ 9
เคยประทับในสหรัฐขณะยังทรงพระเยาว์เท่านั้น แต่ที่เคมบริดจ์ยังรู้สึกได้ถึงการดำรงอยู่ของพระองค์จนถึงปัจจุบัน
เธอกล่าวเช่นนี้ได้เพราะก่อนมาร่วมทำงานในรัฐบาลประธานาธิบดีบารักโอบามา
เคยสอนที่เคนเนดี สกูล ออฟ กอฟเวอร์เมนต์ ที่เคมบริดจ์ และเดินผ่านจตุรัส คิง
ภูมิพล ที่อยู่ในละเวกใกล้เคียง เป็นเรื่องปกติที่จะเห็นคนไทยแวะเวียนมาสักการะ
ถ่ายรูปกับป้ายชื่อจตุรัส และเวลานี้ มีผู้คนนำดอกไว้มาวางเพื่อแสดงความอาลัย เกือบ 2 ทศวรรษที่แล้ว
เคยมีผู้สื่อข่าวคนหนึ่งถามพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชว่า
มีพระประสงค์ให้เป็นที่จดจำอย่างไร พระองค์ตรัสตอบว่า ไม่ใส่ใจนักว่าประวัติศาสตร์บันทึกถึงพระองค์อย่างไร
แต่หากพวกท่านต้องการเขียนถึงข้าพเจ้าในทางที่ดีแล้ว
ควรเขียนว่าข้าพเจ้าได้ทำสิ่งใดที่เป็นประโยชน์
ในสายพระเนตรของพระมหากษัตริย์พระองค์นี้
การกระทำสิ่งอันเป็นประโยชน์ คือการแสวงหาหนทางแก้ปัญหาต่างๆที่กระทบต่อประชาชน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประชาชนกลุ่มเปราะบางและด้อยโอกาส และหนทางเดียวที่
จะทรงรู้ได้ว่าสิ่งใดมีประโยชน์ จะเข้าใจได้ถึงปัญหาที่ประชาชนประสบอยู่ คือการเสด็จพระราชดำเนินยังสถานที่นั้น ดังนั้น
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
จึงได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ โดยเฉพาะชนบทและพื้นที่ยากจน
ทรงพบปะกับประชาชน ทั้งชาวไร่ชาวนา ชาวประมง นักเรียน ครู ตำรวจ
เพื่อทรงรับทราบและแก้ไขปัญหาที่เกิดกับราษฎรของพระองค์ ทรงเป็นกษัตริย์ที่มีแนวพระราชดำริที่สร้างสรรค์และทรงพระปรีชาสามารถ
ทรงจดทะเบียนสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญาของพระองค์ 40 ฉบับ
ส่วนใหญ่มาจากการคิดค้นและทรงทำขึ้นเพื่อแก้ปัญหาให้ราษฎรทั้งสิ้น
รวมถึงโครงการที่มีชื่อเล่นว่า แก้มลิง
พระราชดำริที่ได้จากการเห็นลิงเก็บอาหารไว้ที่แก้มแล้วนำมากินในภายหลัง
พระองค์ทรงออกแบบมาเพื่อใช้แก้ปัญหาน้ำท่วม โดยเป็นระบบกักเก็บน้ำในช่วงน้ำหลากก่อนนำมาใช้ประโยชน์ด้านการชลประทานในภายหลัง
ซึ่งยังคงใช้อยู่ทั่วประเทศจนถึงวันนี้
พระราชดำริของพระองค์ผนวกการอนุรักษ์กับการพัฒนามนุษย์ไว้ด้วยกัน
ความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมคือความเข้มแข็งของชุมชนในระยะยาวนั้น
เป็นแนวทางที่ในหลวงทรงล้ำหน้ามาหลายทศวรรษ เมื่อครั้งกลับมาเยือนสหรัฐอเมริกาอีกครั้งในเดือนมิถุนายน
2503 ตามคำเชิญของประธานาธิบดีดไวท์ ไอเซนฮาวร์
พระองค์ได้ตรัสสุนทรพจน์ต่อที่ประชุมรัฐสภาสหรัฐ ขณะพระชมม์มายุเพียง 32 พรรษา ว่า
ทรงตอบรับคำเชิญด้วยเหตุผลส่วนหนึ่ง เนื่องจากความปรารถนาธรรมดาของมนุษย์คนหนึ่งที่อยากเห็นสถานที่ประสูติ
คือเคมบริดจ์ ซึ่งพระองค์ได้กลับไปเยือน นอกจากนี้
ยังเป็นการมาเพื่อตอกย้ำมิตรภาพพิเศษและค่านิยมร่วมกันของสองประเทศ พระองค์ตรัสกับรัฐสภาสหรัฐด้วยว่า
คุณค่าสูงสุดสำหรับคนไทยคือครอบครัว คนในครอบครัวจะช่วยเหลือกันในยามยาก การให้คือคุณค่าในตัวเอง
ผู้ให้ไม่คาดหวังจะได้ยินคำสรรเสริญเยินยอหรือผลตอบแทนใดๆ
กระนั้นผู้รับจะรู้สึกขอบคุณ พระองค์จะสืบสานพันธกิจนี้เช่นกัน
พระราชดำรัสของพระองค์สะท้อนวิถีการแสวงหาหนทางที่เป็นประโยชน์กับพสกนิกร
ชีวิตแห่งการให้ และการบำเพ็ญประโยชน์ในทุกทุกวัน มิใช่เพื่อการแซ่ซ้อง
และไม่หวังสิ่งใดตอบแทน แต่เป็นการทำเพื่อครอบครัว
พระองค์ถือว่าทุกคนในประเทศเป็นครอบครัวของพระองค์ คนไทยโชคดีเหลือเกินที่มีในหลวงเป็นสมาชิกในครอบครัว
และคนทั่วโลกโชคดีที่ได้เรียนรู้แนวทางการดำเนินชีวิตจากพระองค์
หยิกแกมหยอก วิเคราะห์และเรียบเรียง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น