วันพุธที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2558

เหตุใดเศรษฐกิจไทยจึงโงหัวไม่ขึ้นในขณะนี้


สาเหตุมาจาก

1.เศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว ประเทศคู่ค้าหลักๆ ของไทยเศรษฐกิจยังไม่กลับมาเข้มแข็ง เช่น สหรัฐ ยุโรป จีน ญีปุ่น หรือแม้แต่ในอาเซี่ยนด้วยกัน ต่างก็ได้รับพิษสงจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวกันอย่างถ้วนหน้า ไม่เว้นแม้แต่ประเทศที่เคยเศรษฐกิจโตแบบก้าวกระโดดอย่างจีน ก็ได้รับผลกระทบด้วย

2.ปัจจัยภายในไม่เอื้ออำนวย แยกเป็น 

2.1  ฟันเฟืองหลัก ๆไม่ทำงาน ก็คือ C,I,G,F  หรือเดี้ยงนั่นเอง (ขยายความในย่อหน้าถัดๆ ไป) เพิ่ม D (เศรษฐกิจดิจิตอล) ตัวนี้ยังใหม่มากสำหรับไทย มูลค่ายังไม่มาก และโครงสร้างพื้นฐานของระบบรองรับยังไม่มีหรือไม่ดีพอ แต่รัฐบาลปัจจุบัน (คสช.) สนับสนุนและเตรียมวางโครงสร้างพื้นฐานไว้อยู่ 

2.2 หมดตัวช่วยหรือหมดช่วงเวลานาทีทอง มันผ่านไปแล้ว  ตัวช่วยเหล่านั้น ก็ได้แก่  การที่ไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซี่ยน เป็นฮับโน่นฮับนี่ การมีค่าแรงถูก แรงงานมีฝีมือ ถูกนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท มาฆ่าตัดตอนเสียจนหมดความได้เปรียบตรงส่วนนี้ไป หรือตัวช่วยด้านสิทธิจีเอสพี หรือถูกลดชั้นเทียร์จากเทียร์ 1 มาเป็นเทียร์ 3  การไม่มีเวลาเตรียมพร้อมก่อนก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซี่ยน การเป็นประเทศเปิด ประตูสู่อาเซียน มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเป็นอันดับ 1 ในอาเซี่ยน ภายหลังก็ถูกมาเลเซียแซงหน้าไปได้อีก  (อ่านเรื่อง Tier หรือมาตรการกีดกันทางการค้าว่าด้วยการค้ามนุษย์ ตรงนี้https://www.gotoknow.org/posts/583378 ) 

2.3 ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเราลดลง ในขณะที่ประเทศอื่นพัฒนาขึ้นไป แต่เรากลับล้าหลังลงคลอง เพราะมัวทะเลาะเรื่องการเมืองกันอยู่เป็นเวลากว่า 10 ปี ที่ผู้บริหารประเทศมัวเสียเวลา คิดแก้ไขปัญหาการเมือง จนไม่มีเวลาไปดูโครงสร้างพื้นฐาน หรือขีดความสามารถทางการแข่งขัน รวมถึงพัฒนาด้านอื่นๆ เลย เช่น โครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง เทคโนโลยีการสื่อสาร การแสวงหาพลังงานทางเลือกใหม่ๆ การศึกษา วิทยาศาสตร์ ค่านิยมสังคมวัฒนธรรม ภาษาต่างประเทศ การวิจัยหรือนวัตกรรมทางด้านสิงประดิษฐ์หรือผลิตผลใหม่ๆ เกิดขึ้นน้อย เป็นต้น

เรื่องหนี้สาธารณะที่ตอนนี้ประเทศไทยมีหนี้สินสูงขึ้นมาก 45 %ของ GDP ในปี 2556 มาเป็น 79% ของ GDP ในปีนี้ ถือว่าโตอย่างก้าวกระโดดมากๆ ภายใน 2 ปี เป็นผลมาจากการขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าว กว่า 7 แสนล้านบาท โดยรัฐบาล คสช.ที่มีนายสมหมาย ภาษีเป็น รมว.การคลัง และ มรว.ปรีดิยาธร เทวกุล มีดำริที่จะออกบอนด์ หรือพันธบัตรรัฐบาล  มาชำระหนี้ก้อนนี้กว่า 30 ปี และอาจต้องขายทรัพย์สินบางส่วนที่กระทรวงการคลังถือไว้ แต่ไม่ใช่หลักทรัพย์ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์เพื่อขายออกไป ซึ่งการที่ประเทศไทยมีภาระจากหนี้สาธารณะมากมายนั้น จะทำให้ความสามารถในการระดมเงินจากต่างประเทศในรูปเงินกู้ทำได้ยาก และมีต้นทุนสูง ผสมรวมกับการตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีก็จะทำได้ยากยิ่ง เราจึงมีเงินไปพัฒนาประเทศได้น้อยลง นี่คือสาเหตุที่ทำไมรัฐบาลนี้ต้องเปิดโอกาสให้ต่างชาติมาลงทุนในโครงการเมกะโปรเจ็คท์หลายอย่าง แม้แต่การจะกระตุ้นเศรษฐกิจในบ้านของตัวเองยังทำได้ยากเลย หนี้สาธารณะจึงเป็นหลุมดำของเศรษฐกิจไทยที่รัฐบาลไหนมาก็แก้ได้ยากยิ่ง ทางเดียวคือสนับสนุนทุกวิถีทางให้ SME โตและอยู่ได้ หรือออกไปสู้รบปรบมือกับต่างประเทศได้ เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจประเทศให้ดีขึ้น

(เข้าไปดูตัวเลขหนี้สาธารณะ ที่รัฐบาลอ้างว่าลดลงแล้วอย่างมีนัยยะสำคํญเป็นอย่างไร ที่ http://www.mof.go.th/home/Press_release/News2015/049.pdf  )
ขยายความ C,I,G,F and D

Consumption หรือการบริโภคภายใน (อันนี้หมายรวมถึงกำลังซื้อของคนชั้นกลางและรากหญ้าด้วย) มันอ่อนเปลี้ยเพลียแรงลงไปในช่วงหลายปีที่ผ่านมาที่เราเผชิญวิกฤติการเมือง แต่มันมาออกอาการหนักหนาสาหัสอยู่ในเวลานี้ก็เป็นเพราะผลมันเพิ่งมาออกดอกออกผลในตอนนี้  

กำลังซื้อของคนรากหญ้า ส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคเกษตรและภาคแรงงาน ในรอบปีที่ผ่านมา ทุกคนก็ทราบว่า ราคาสินค้าเกษตรแทบทุกตัว ทุกหมวดนั้น ระดับราคาลดต่ำลง อีกทั้งผลผลิตบางอย่างก็ออกมาในปริมาณไม่มาก แต่ก็ไม่ทำให้ระดับราคาถีบตัวสูงขึ้นได้ มิหนำซ้ำต้นทุนในการผลิตกลับสูงขึ้น จากราคาของวัตถุดิบหรือปัจจัยการผลิตที่ถีบตัวสูงขึ้น กลายเป็นว่าชาวนา หรือชาวไร่ เกษตรกรทั้งหลาย บางคนถึงขนาดกู้หนี้ยืมสินมาลงทุน แต่สุดท้ายขายไม่ได้กำไร บางคนขาดทุน จากการทำอาชีพนี้ นี่ไม่ขอนับย้อนไปถึงโครงการรับจำนำข้าวที่ทำให้ชาวนาทั้งหลายตาสว่าง เพราะสุดท้ายแล้วขาดทุน สิ้นเนื้อประดาตัว จนถึงขั้นล้มละลาย ผูกคอตายมาแล้วมากมาย  ส่วนในภาคแรงงานนั้นก็ไม่ต่างกัน กำลังซื้อที่เคยมีหดหายไป จากการที่ถูกกระตุ้นด้วยนโยบายบริโภคนิยม และประชานิยมอย่างเต็มสูบในช่วงรัฐบาลที่ผ่านมา บางคนใช้เงินในอนาคตอย่างไม่บันยะบันยัง จนกลายเป็นหนี้สินเงินกองทุน หนี้เงินกู้สหกรณ์ เงินกู้นอกระบบ เงินกู้บัตรพวกนอนแบ็งค์ เช่น อิออน เฟิร์สช้อยส์  ส่วนพวกชนชั้นกลางก็จะเป็นหนี้บัตรเครดิต เป็นหนี้เงินกู้ซื้อบ้าน เป็นหนี้ผ่อนรถยนต์คันแรก หรือใช้จ่ายไปกับค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยที่ไม่จำเป็น แบบชักหน้าไม่ถึงหลัง เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นตัวบั่นทอนกำลังซื้อ ท้ายที่สุด คนชั้นกลางกับคนชั้นล่างในเวลานี้ เงินที่จะมาจับจ่ายซื้อข้าวของจำเป็น ยังต้องจำกัดจำเขี่ย ไม่พอจะเกินเลย แม้นว่าจะได้รับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท หรือเงินเดือนขั้นต่ำ 15,000 บาท แต่ประทานโทษ ระดับราสินค้าและค่าครองชีพ ได้ถีบตัวขึ้นไปรอดักหน้า และสูงกว่าระดับรายได้ที่ได้รับหรือปรับขึ้น ถ้าเทียบในอัตราส่วน ก็ต้องถือว่าไม่สมดุลกัน คือรายจ่ายถีบตัวสูงเร่งและเร็วกว่าการปรับตัวของรายได้เสียอีก และบางคน บางอาชีพ ก็ไม่ได้รับการปรับขึ้นของรายได้ แต่ต้องมาแบกรับภาระรายจ่ายที่ถีบตัวขึ้นพร้อมกันอย่างถ้วนหน้า โดยไม่ได้สนใจว่า คุณจะอยู่ในภาคแรงงานที่ได้รับการปรับขึ้นของเงินรายได้หรือเปล่า คุณลองนึกถึงคนที่ประกอบอาชีพอิสระ ฟรีแลนซ์ อาชีพพ่อค้าแม่ขาย ทำธุรกิจส่วนตัว เขาไม่ได้รับเงินขั้นต่ำสูงขึ้นอะไรด้วยเลย แต่ต้องมาแบกรับภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้นตามไปกับพวกที่อยู่ในภาคแรงงาน ซ้ำร้ายรายได้ก็หดหายลงไปด้วย จากการที่กำลังซื้อของคนส่วนใหญ่มันลดลงและเหือดหายไปเช่นนี้
เข้าไปอ่าน เงินฝืดกับผี 4 ตัว จะเจ้าใจว่าเหตุใดกำลังซื้อจึงไม่มีของคนชั้นกลาง คนรากหญ้า ที่ http://www.ibizchannel.com/viewall.aspx?lid=5

Investment  Private  การลงทุนภาคเอกชน ดูเหมือนในรอบปี 2 ปีมานี้ บริษัทขนาดใหญ่ หรือนักลงทุนรายใหญ่ได้หันเหความสนใจไปยังประเทศอื่นๆ รอบบ้านเราเสียมากกว่า ด้วยปัจจัยทางด้านภาษี การจูงใจเรื่องเงื่อนไขผลประโยชน์ที่ดีกว่า มีมากกว่า และหนีความวุ่นวายทางด้านการเมืองจากประเทศเรา ที่หาความแน่นอนทางด้านนโยบายไม่ค่อยได้ อาทิ หนีไปลงทุนที่พม่า เวียดนาม ลาว เขมร อินโดนีเซีย เป็นต้น บางอุตสาหกรรม บางบริษัทถึงขนาดย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นที่มีค่าแรงต่ำกว่าของบ้านเราก็มี ส่วนใหญ่ที่ยังลงทุนในบ้านเราก็เป็นนักลงทุนรายเดิมๆ หรือคุ้นเคยกับบ้านเรามาก่อน ส่วนนักลงทุนรายใหม่ๆ หรือรายใหญ่ๆ จริงๆ มักมองตัวเลือกประเทศอื่น ไทยมิใช่ประเทศเนื้อหอมอันดับต้นๆ ในอาเซี่ยนอีกแล้ว แม้แต่จีน ประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย ก็ลงทุนในบ้านเราไม่เยอะ เมื่อเทียบกับที่ไปลงทุนประเทศอื่นมากกว่า ได้ยินมาว่าอุตสาหกรรมรถยนต์รายใหญ่หลายบริษัทเตรียมย้ายฐานการผลิตจากบ้านเราไปยังประเทศอื่นบ้างแล้ว อุตสาหกรรมเครื่องใช้ ของตกแต่งบ้าน ก็ย้ายฐานการผลิตบางส่วนไปอินโดนีเซียแล้ว อุตสาหกรรมสิ่งทอไม่ต้องพูดถึงย้ายไปเขมร เวียดนาม ตั้งนานแล้ว ฯลฯ


Government  การใช้จ่ายภาครัฐ ที่เห็นเด่นชัดก็คือ การที่รัฐบาลมีนโยบายสานต่อ การทำโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งทางราง โครงการสร้างทางรถไฟเลนคู่ ความเร็วปานกลาง ในเส้นทางหลัก เหนือ ใต้ อีสาน และโครงการสร้างทางรถไฟความเร็วสูง บางเส้นทาง (ซึ่งเปิดช่องให้เอกชนรายใหญ่มาลงทุน) ลืมไปโครงการสร้างทางรถไฟทั่วประเทศครั้งนี้ รัฐใช้นโยบายเปิดให้ต่างชาติมาลงทุนสร้างให้ เนื่องจากรัฐไม่มีเงินลงทุน และอาจจ่ายผลตอบแทนในรูปสัมปทาน หรือผลประโยชน์อื่นๆ อาจเป็นเคาน์เตอร์เทรดก็ได้  นอกจากโครงการด้านคมนาคมขนส่งทางรางแล้ว ยังมีโครงการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ อีก ที่รัฐเข้าไปลงทุนเอง อาทิ โครงการน้ำ โครงการส่วนขยายของรันเวย์สนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2  โครงการส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้าใต้ดิน การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน การสร้างเขื่อน การใช้กลไกรัฐเข้าแทรกแซง รับซื้อผลผลิตของสินค้าเกษตรบางตัวที่ราคาตกต่ำ หรือเงินชดเชยช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง ชาวนา ตลอดจนเกษตรกรด้านอื่นๆ  จะเห็นว่าหากเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่นั้น รัฐไม่มีเงินลงทุนทำเอง ต้องอาศัยต่างชาติเข้ามาลงทุนให้แลกกับผลประโยชน์ตามเงื่อนไขข้อตกลง แต่หากเป็นโครงการเล็กๆ หรือเงินลงทุนไม่มากและเป็นโครงการเร่งด่วน รัฐก็จะตั้งงบประมาณลงไปผลักดันให้สำเร็จ ซึ่งหลายโครงการต้องใช้เวลากว่าจะเห็นผลนาน อาจเป็นปีหรือหลายปี ทำให้โดยภาพรวมระยะสั้น ดูเหมือนการลงทุนภาครัฐ จะยังไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยับเขยื้อนไปในทางเห็นเป็นรูปธรรมมากนัก คงต้องรอเวลาให้โครงการต่างดำเนินไป และเสร็จเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นก่อน  (อ่านโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐบาลต้องเร่งทำในปีแรก มีอะไรบ้าง ได้ที่ http://www.google.co.th/url?sa=t&rct=j&q=&esrc=s&source=web&cd=1&ved=0CB4QFjAA&url=http%3A%2F%2Fvigportal.mot.go.th%2FRegisterWeb%2FLink%2Fplaning%2Ffiles%2Freport_project2555.doc&ei=46FvVfGlHtWJuwTtlYKAAQ&usg=AFQjCNGmQlxzkrjZLzbFZYmgGdfazXoLsQ&sig2=Ku3M8yd1IQWfJQOMtlNBGg&bvm=bv.94911696,d.c2E )

Foreign  (Export-Import,Tourism)  ก็คือรายได้ที่มาจากภาคการส่งออก รวมถึงการท่องเที่ยวด้วย ตัวส่งออกนั้น ในช่วง 2-3 ปีมานี้ ภาคการส่งออกของไทยต้องถือว่าตกต่ำอย่างฮวบฮาบมาเรื่อยๆ เป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลก ประเทศคู่ค้าไม่สั่งออเดอร์ การที่ต้นทุนสินค้าไทยสูงกว่าคู่แข่งจึงโดนตัดราคาและแย่งลูกค้าไป รูปธรรมที่ชัดเจนก็เช่น ตลาดข้าวที่สูญเสียไปให้กับเวียดนาม เขมร อินเดีย พม่ามากขึ้น  ประเทศไทยเคยเป็นแชมป์ตลาดสินค้าข้าวของโลกอันดับ 1 แต่ด้วยนโยบายรับจำนำข้าว ที่ทำลายโครงสร้างของธุรกิจนี้จนพินาศย่อยยับลงไป ข้าวเป็นสินค้าส่งออกหลักอันดับต้นๆ พอเดี้ยงไป ก็มีผลต่อยอดส่งออกโดยรวม ที่ยังพอหวังพึ่งได้อย่างสินค้าด้านอิเล็กทรอนิคส์นั้น ส่วนใหญ่เป็นสินค้าของต่างชาติที่มาตั้งโรงงานในไทยผลิตและส่งออกไป ดังนั้นจะว่าไปก็ไม่น่าถือเป็น product Thailand อย่างแท้จริง การที่ต้นทุนค่าแรงสูง หรือความสามารถในการลดต้นทุนของเราไม่มีประสิทธิภาพที่ดีพอ ทำให้สินค้าของไทยแข่งสู้ราคากับสินค้าคู่แข่งต่างชาติไม่ได้ ประกอบกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือนวัตกรรมทางด้านสินค้า หรือเทคโนโลยีในการผลิตของเราไม่สามารถอัพเลเวลขึ้นไปได้ ทำให้สินค้าของชาติเราแข่งสู้คนอื่นไม่ได้ หรือไม่เป็นที่ต้องการ บางส่วนย้ายฐานการผลิตไปแล้ว จึงเป็นสาเหตุโดยรวมที่ทำให้ยอดส่งออกของเราตกฮวบฮาบลงมา ในทางกลับกัน เรากลับนำเข้าสินค้าพวกเครื่องจักร หรือสินค้าฟุ่มเฟือยจากต่างประเทศเข้ามาจำนวนมาก ทำให้ยอดนำเข้าสูงกว่ายอดส่งออกในบางช่วง ตัวเลขดุลการค้าจึงติดลบ คงหวังพึ่งได้ก็เพียงแค่ภาคการท่องเที่ยว ที่ยังคงมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเพิ่มขึ้น ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวชัดเจนในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ จากการยกเลิกกฎอัยการศึก และจากความสงบด้านการเมืองในรอบปีที่ผ่านมา ทำให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวกลับมาเที่ยวบ้านเราเพิ่มขึ้น ดูเหมือนตัวเลขหากนับถึงสิ้นปี โดยการประมาณการณ์คาดว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เข้ามาบ้านเราในปีนี้อาจสูงเป็นประวัติการณ์ทำลายสถิติที่เคยมีมาอีกด้วย

ปัจจัยหรือตัวแปรสมการตัวใหม่ที่จะมาช่วยกระตุ้นเศรษกิจของไทยหรือมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยแทนฟันเฟืองตัวเดิมๆ ได้แก่ เศรษฐกิจดิจิตอล    

Digital Economy คือ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยการนำเอาเทคโนโลยีดิจิตอลเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตมวลรวมของประเทศให้ทันกับโลกในยุคปัจจุบัน ตั้งแต่ Knowledge Economy หรือ เศรษฐกิจบนพื้นฐานของความรู้ และ Creative Economy ที่วางเป้าหมายในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ให้กับสินค้าและการบริการผ่านทางนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค ปัจจุบันคนไทยจำนวนมากใช้เทคโนโลยี Digital ทั้งการเล่น Facebook, Smartphone  และ Tablet แต่สิ่งที่พบมากที่สุดคือการใช้เพื่อความบันเทิง และไม่ได้ถูกนำใช้ในด้านการทำงานมากนัก ดังนั้น การเร่งพัฒนาความรู้ การสร้างความตระหนักด้านการใช้เทคโนโลยี Digital ให้กับทุกภาคส่วนนั้นเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งภาคธุรกิจ การศึกษา ราชการ เกษตรกรรม การท่องเที่ยว การขนส่ง และการทำอุตสาหกรรม เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเข้าสู่ Digital Economy โดยเน้นการปฎิรูปการศึกษาให้เยาวชนไทยมีความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น มีพื้นฐานของงานวิจัยและพัฒนาทางด้านไอทีเพื่อลดการนำเข้าอุปกรณ์ Hardware, Communication  และ  Software จากต่างประเทศ ทั้งยัง พัฒนาให้มีการใช้ซอฟต์แวร์ที่ผลิตภายในประเทศ ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของนักพัฒนาซอฟต์แวร์ทั่วโลกโดยผลิตบุคลากรที่มีความสามารถทางด้านไอทีให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีในปัจจุบัน เมื่อสังคมไทยมีความตระหนักด้าน Digital มากขึ้นการใช้ข้อมูลออนไลน์ต่างๆ ก็มากขึ้นด้วย สังคมและธุรกิจก็จะเข้าสู่การเป็น Digital Economy และเศรษฐกิจของสังคมไทยจะก้าวเข้าสู่ Real-Time Economy 

แนวคิดในการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับยุค Digital Economy แบ่งเป็น 3 ขั้นตอน คือ 

1. Digital Commerce ในอดีตมักกล่าวถึง e-commerce แต่ในยุคปัจจุบันตลาดการค้าดิจิตอลได้แตกแขนงไปสู่ mobile-commerce และ Social Commerce ที่ขายของผ่านเว็บไซต์ออนไลน์ หรือการค้าบนระบบดิจิตอลที่กระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจได้รวดเร็ว 

2. Digital Transformation คือ การนำเอาเทคโนโลยีดิจิตอลต่างๆ มาประยุกต์ใช้ให้เกิดมูลค่าทางธุรกิจนอกเหนือจากการค้า แต่เป็นเรื่องของประสิทธิภาพในการทำธุรกิจ และขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการทำงาน ลดต้นทุน เพิ่มความพึงพอใจของลูกค้า

3. Digital Consumption คือ การนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นช่องทางการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าหรือบริการที่มีอยู่เดิม และการใช้เทคโนโลยี Digital มาประยุกต์เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพในการทำธุรกิจต่างๆ 

นอกจากนี้ เพื่อรองรับกับเทคโนโลยีที่จะเกิดใหม่ และเพื่อก้าวให้ทันกับยุคไอที ในการให้บริการ และ ถ่ายทอดความรู้สู่ภาคประชาชนอย่างทั่วถึง จึงควรให้ความสำคัญและตั้งเป้าที่จะปฏิรูปประเทศสู่เศรษฐกิจเชิง Digital อย่างจริงจัง เพื่อให้มีการขนส่งข้อมูลจำนวนมากโดยสื่อสารผ่านระบบอินเตอร์เน็ต และมีโครงข่ายอินเตอร์เน็ตที่มีความเร็วสูง เชื่อมต่อกันทั่วทุกพื้นที่ด้วยความรวดเร็ว และการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนจะสามารถลดช่องว่างเชิง Digital ลดต้นทุนที่เป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่ง ที่ทำให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงไอทีได้ และลดความซ้ำซ้อนในการสร้างเครือข่ายของหน่วยภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยได้เครือข่ายที่มีคุณภาพและประหยัดการลงทุนสูงสุดเมื่อเข้าสู่ระบบประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี ในปี พ.ศ. 2558     เรียบเรียงโดย :  นางสาวนีรนุช  ตามศักดิ์ กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สป.วท.

(เข้าไปอ่านดูรายละเอียด ความหมายและบริบทของเศรษฐกิจดิจิตอลที่ http://www.itgthailand.com/tag/%E0%B9%80%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%A9%E0%B8%90%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%A5%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3/ )

สิ่งที่จะเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นอย่างเห็นผลเป็นรูปธรรม ทำได้ทันที เห็นผลทันที โดยไม่ต้องใช้เงินงบประมาณ หรือการก่อหนี้ภาครัฐเพิ่มขึ้นก็คือ

1.การยกเลิกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงชดเชยพลังงาน (นั่นหมายถึง ห้ามจัดเก็บเงินในส่วนนี้หรือบวกเข้าไปกับราคาขายปลีกน้ำมัน ก๊าส ก็จะทำให้ราคาพลังงานลดลงไปได้เยอะอย่างมีนัยสำคัญ ช่วยลดราคาพลังงานและต้นทุนตางๆ ให้กับประชาชนรวมถึงลดต้นทนค่าขนส่งให้กับผู้ประกอบการรายย่อยไปด้วยในตัว อันจะนำไปสู่การลดต้นทุนสินค้า ต้นทุนค่าครองชีพของประชาชนลง ซึ่งก็ย่อมทำให้กำลังซื้อมีมากขึ้น)  การเข้าไปตรวจสอบความโปร่งใสในการตั้งราคาเชื้อเพลิงพลังงาน การลดการจัดเก็บภาษีเชื้อเพลิงพลังงานลง แล้วหันไปจัดเก็บภาษีที่ดินที่ไม่ทำประโยชน์มาชดเชยในส่วนนี้เพิ่มขึ้น  เนื่องจากในปัจจุบันระดับราคาพลังงานในตลาดโลกลดลง ตกต่ำที่สุดอยู่เป็นเวลานาน และยังไม่มีวี่แววว่าระดับราคาจะถีบตัวกลับไปสูงเหมือนในอดีตที่เคยสูงมาก่อน ดังนั้นความจำเป็นที่จะคงสถานะหรือจัดเก็บเงินเข้ากองทุนชดเชยพลังงานก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป ต่อเมื่อในอนาคต หากระดับราคาสินค้าพลังงานกลับมาสูงขึ้น ค่อยจัดตั้งกองทุนนี้ขึนมาใหม่ก็ทำได้ ข้ออ้างเรื่องการมีกองทุนไว้บริหารระดับราคาจึงฟังไม่ขึ้น และยิงในภาวะที่เศรษฐกิจไม่ดีเช่นนี้ จึงยิ่งควรยกเลิกเสีย แล้วคืนภาระส่วนต่างนี้กลับไปยังประชาชน เพื่อให้เขามีเงินเหลือในกระเป๋า เป็นการลดภาระของประชาชนทางอ้อม ในขณะเดียวกันก็ไปเพิ่มกำลังซื้อให้เขาได้โดยอัตโนมัติ ทำได้ง่าย ได้เลย แต่ดูเหมือนรัฐบาลชุดนี้จะยังคงเอาหูไปนา เอาตาไปไร่ แสร้งทำเป็นไม่รับรู้ หรือเสียงเรียกร้อง วิพากษ์วิจารณ์เรืองการปฏิรูปพลังงานที่ก็ดูเหมือนจะคัดง้างกับภาคประชาชนมาโดยตลอด แล้วมักอ้างเรื่องการคืนความสุขให้กับประชาชน แต่ในความเป็นจริงดูเหมือนจะเป็นการคืนความสุขให้กับบริษัทเอกชนด้านพลังงานเสียมากกว่า รวมถึงทุนพลังงานจากต่างชาติด้วย

(อ่านบทความนี้ http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9560000102781)

2.การโอบอุ้มผู้ประกอบการรายย่อยอย่างแท้จริง (SME) ซึ่งกลไกหนึ่งก็คือการบังคับใช้กฎหมายเรื่อง พรบ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542  สืบเนื่องจากเมือเดือนที่แล้ว จากกรณิพิพาทของบริษัทยักษ์ใหญ่ ซึ่งเป็นทั้งซัพพลายเออร์ และผู้ประกอบการรายใหญ่เบอร์ 1 ของไทย อย่าง CP ที่มีบริษัทลูกอย่าง CPALL ในนามของร้าน 7-eleven กับผู้บริโภคที่รวมตัวกันบอยคอตต์ไม่เข้าร้านเซเว่น ในช่วงระหว่างวันที่ 7-11 พฤษภาคม เป็นการรณรงค์ที่จะไม่ซื้อ ไม่เข้าร้านเซเว่น เป็นผลมาจากการที่ร้านเซเว่นนั้นมีนโยบายเอาเปรียบและรังแกผู้ค้ารายเล็ก ที่เคยนำสินค้ามาวาง (โตเกียวบานาน่าไทย) พอขายดี ก็มาผลิตเลียนแบบแล้ววางขายเอง โดยเขี่ยสินค้าเจ้านั้นออกจากชั้นวางไป หรือยังคงให้ขายอยู่ แต่ยอดขายอาจตก เนื่องจากมีสินค้าของตนไปวางขายแข่งกัน (http://pantip.com/topic/33553989) ยังไม่นับรวมประเด็นอีกหลากหลายอย่างที่บรัษัทแม่  CP ถูกโจมตีอยู่ในโลกออนไลน์ ทั้งประเด็นเรื่องการเผาไร่ข้าวโพดทางภาคเหนือที่ก่อมลพิษทางอากาศ ซึ่งมีที่มาจากชาวไร่เหล่านั้นมีผลประโยชน์ปลูกข้าวโพดป้อนซีพี (นี่เป็นข้อกล่าวหาที่พูดกันในโลกออนไลน์) ,ประเด็นการที่ชาวประมงใช้อวนแหดักจับปล่าป่นป้อนโรงงานอาหารสัตว์ซีพี แต่ไปทำลายนิเวศวิทยาชายฝั่งรวมถึงปะการังใต้ท้องทะเลเสียหาย (http://www.greenpeace.org/seasia/th/press/releases/Thai-fisherfolks-network-urges-the-government-legalising-illegal-trawlers-is-misleading-to-unlock-the-EU-yellow-card/) ,ประเด็นการกินรวบแบบครบวงจรแนวดิ่ง ด้วยห่วงโซ่อุปทานด้านการค้าหรือช่องทางจัดจำหน่าย คือเป็นทั้งซัพพลายเออร์รายใหญ่เอง เป็นพ่อค้าส่งด้วย (ซื้อกิจการแม็คโคร) แล้วก็เป็นผู้ค้าปลีกเสียเอง (ร้าน7-eleven)  เรื่องเหล่านี้หากรัฐบาลไม่นิ่งดูดาย เข้าไปแก้ไข และสามารถคุยกับเจ้าสัวหรือกลุ่มทุนรายใหญ่เจ้านี้หรือเจ้าอืนๆ ได้อยู่แล้ว เพราะเคยเรียกเข้าไปขอความช่วยเหลือที่ทำเนียบรัฐบาลมาแล้ว นอกจากการปรามเรื่องการค้าผูกขาดให้เพลาๆ ลงได้แล้ว ในอนาคตควรบังคับใช้กฏหมายอย่างเป็นจริงเป็นจังเสียที ควรจำกัดการขยายตัวของร้านสะดวกซื้อนี้ให้อยู่ในขอบเขตไม่แพร่หลายไปมากเกินไป หรือจำกัดพื้นที่ ไม่ให้เปิดเยอะเกินไป หรือกระจายไปให้ผู้ประกอบการเจ้าอื่นได้มีช่องทางหารับประทานบ้าง (ยกตัวอย่างซอยลาดพร้าว 64 มีร้าน 7-11 เปิดอยุ่ถึง 3 สาขาในซอยเดียว ห่างกันราวๆ 30 เมตร ดักหัวซอยท้ายซอย กะไม่ให้ผู้ประกอบการรายอื่นๆ ได้เกิดเลย) กรณีอย่างนี้กระทรวงพาณิชย์ทำอะไรได้บ้าง นอกจากการทำโครงการร้านธงฟ้าราคาประหยัด ที่ทำอยู่ประเดี๋ยวประด๋าว เป็นหย่อมๆ ไม่สามารถช่วยเหลือภาวะค่าครองชีพประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรมได้เลย

(อ่านรายละเอียด พรบ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 ตรงนี้ http://www.eppo.go.th/vrs/VRS47-10-LawTradeCompet.html )

ทัง 2 ข้อที่ผู้เขียนเสนอนั้นเป็นสิ่งที่รัฐบาลสามารถผลักดัน ออกนโยบาย หรือใช้ ม.44 สั่งการให้ระดับปฏิบัติการนำไปปฏิบัติได้เลย ซึ่งจะช่วยเรือ่งการลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ ประชาชน และสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้บริโภค ผู้ค้า ผู้ประกอบการรายเล็กรายย่อย ให้พอมีช่องทางทำมาหากิน สร้างรายได้ได้บ้าง ไม่ใช่ในทางปฏิบัติที่กำลังเอื้อแต่กลุ่มทุนรายใหญ่ ยิ่งรวยขึ้นไปอีก หากไม่ทำตอนนี้ ช่องว่างคนรวยคนจนก็จะยิ่งถ่างออกไป เศรษฐกิจของคนส่วนใหญ่มันจะมั่งคั่งยั่งยืนได้อย่างไร ฝากเป็นข้อคิดเตือนใจท่านผู้อ่าน และฝากไปถึง พณ. นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี โปรดช่วยดูแลคนจน คนตัวเล็กๆ ด้วย คนที่ไม่มีสายป่านทางธุรกิจ เส้นสาย ใต้โต๊ะกับใครได้ หากท่านไม่ช่วย คนเหล่านี้กำลังจะแย่ ประเทศก็เป็นภาพสะท้อนตามไปด้วย
 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น