ไทม์สออฟอินเดีย
- นครมุมไบและแถบชานเมืองเจอฝนถล่มแบบไม่ลืมหูลืมตาในวันศุกร์(19มิ.ย.) จนหลายพื้นที่จมอยูใต้ใช้บาดาล
ชีวิตปกติตกอยู่ในภาวะชะงักงันหลังถนนหลายสายกลางสภาพทางทางน้ำ
เช่นเดียวกับรถไฟที่ต้องหยุดให้บริการ ทำผู้โดยสารตกค้างหลายพันคน
ขณะเดียวกันก็มีประชาชนถูกไฟฟ้าดูดตาย 2 ศพ
ด้วยน้ำในแม่น้ำมีทีอยู่ในระดับที่เป็นอันตราย
สถาบันการศึกษาหลายแห่งต้องยกเลิกการเรียนการสอน
สำนักงานราชการและเอกชนเหลือผู้มาติดต่อธุระแค่เล็กน้อย
ขณะที่ศาลสูงบอมเบย์และศาลอื่นๆก็ปิดทำการเช่นกัน "เมืองแห่งนี้ต้องเผชิกับฝนตกหนักอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในช่วง
24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มากกว่าระดับปกติที่เคยตกในเมืองรวมกัน10
วัน โดยรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา
มีฝนตกในมุมไบหนักถึง 283 มิลลิเมตร" นายอาจอย เมธา
คณะเทศมนตรีของเมืองบอกกับผู้สื่อข่าว มีเค้าว่าประชาชนในมุมไบคงต้องเผชิญวิบากกรรมต่อไปอีกพักใหญ่
หลังดูเหมือนว่าสถานการณ์คงไม่คลี่คลายง่ายๆ
ด้วยกรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์ว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากในช่วง 24 ชั่วโมงข้างหน้านี้
ข้อมูลของเจ้าหน้าที่รายหนึ่งประจำแผนกจัดการภัยพิบัติขององค์การเทศบาลบริหารมุมไบ
ระบุว่าเด็กชายวัย 5 ขวบและหญิงชราวัย 60 ปี เสียชีวิตจากการถูกไฟดูดในเขตวาดาลา ตอนกลางของมุมไบ สนามบินมุมไบยังเปิดบริการตามปกติ
แต่ปฏิบัติการต่างๆประสบปัญหาล่าช้าอย่างต่ำ 45 นาทีขึ้นไปและมีเครื่องบินอยู่
3 ลำที่ต้องเบี่ยงไปลงจอดยังท่าอากาศยานอื่น
สืบเนื่องจากฝนที่ซัดกระหน่ำเมืองหลวงทางการเงินของอืนเดียแห่งนี้มาตั้งแต่ช่วงค่ำวันพฤหัสบดี(18มิ.ย.)นอกจากนี้แล้วยังเกิดความวุ่นวายด้านการสัญจนทางยานยนต์
ด้วยมีรายงานน้ำท่วมสูงระดับเอวในหลายพื้นที่และมันยังไหลเข้าท่วมบ้านเรือนของประชาชนอีกด้วย
เมธา บอกว่าคลื่นลมทะเลในมุมไบเมื่อวันศุกร์(19มิ.ย.)
มีความสูงกว่า 3 เมตรและมีความเป็นไปได้ว่าในตอนบ่ายๆของวันเสาร์(20มิ.ย.) คลื่นลมทะเลจะมีความสูงกว่า 4 เมตร
"ด้วยเหตุที่คาดหมายว่าะมีฝนตกหนักและคลื่นสูงในวันพรุ่งนี้
ประชาชนควรอยู่ห่างจากทะเลและไม่ควรออกไปเดินทอดน่อง
นอกจากนี้แล้วก่อนออกจากบ้านก็ควรวางแผนการเดินทาง เลือกเส้นทางที่ปลอดภัย"ฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก
ก่อน้ำท่วมขังในพื้นที่ราบต่ำของมุมไบและแถบชานเมืองเกือบทั้งหมด
ทำให้การรถไฟต้องระงับให้บริการบางเส้นทาง
ส่วนบางเส้นทางก็แล่นบริการได้อย่างจำกัด
ส่งผลให้ประชาชนที่ไม่ทราบเรื่องตกค้างอยู่ตามสถานีต่างๆเป็นจำนวนมาก นายดาเวนธา ฟัดนาวิส
มุขมนตรีของมุมไบร้องขอประชาชนอย่าได้เสี่ยงออกไปเผชิญอันตรายหากไม่จำเป็น
และร้องขอให้ถอยห่างออกมาจากแนวชายฝั่งระหว่างคลื่นลมแรง เนื่องจากอาจถึงตายได้
รอยเตอร์
- ชายผิวขาววัย 21 ปีถูกตั้งข้อหาในฐานความผิดฆาตกรรม 9 กระทง
ต่อกรณีลงมือโจมตีโบสถ์คริสเตียนเก่าแก่ขณะที่ผู้คนผิวสีกำลังสวดอธิษฐาน
ในเมืองชาร์ลสตัน มลรัฐเซาท์แคโรไลนา เมื่อช่วงค่ำคืนวันพุธ (17 มิ.ย.) จากการเปิดเผยของตำรวจท้องถิ่นในวันศุกร์(19มิ.ย.)
ขณะที่สื่อมวลชนรายงานว่าเจ้าตัวสารภาพหวังใช้ปฏิบัติการของตนเองปลุกปั่นสงครามผิวสีในสหรัฐฯ กรมตำรวจเมืองชาร์ลสตันบอกว่านอกจากข้อกล่าวหาข้างต้นแล้ว
นายดีแลนด์ รูฟ ยังถูกตั้งข้อหาครอบครองอาวุธปืนระหว่างก่ออาชญากรรมรุนแรงอีกด้วย
ทั้งนี้เขามีกำหนดรับฟังการพิจารณาคำร้องขอประกันตัวในช่วงค่ำวันศุกร์(19มิ.ย.) ตามเวลาท้องถิ่น แต่คาดหมายว่าเขาจะปรากฎตัวต่อศาลผ่านวิดีโอลิงค์ การแจ้งข้อหามีขึ้น 1 วันหลังจากนายดีแลนด์ รูฟ ถูกรวบตัวได้ในนอร์ทแคโลไลนา
ห่างจากโบสถ์เอ็มมานูเอล แอฟริกัน เมโทดิสต์ เอปิสโคปัล เชิร์ช (โบสถ์เอ็มมานูเอล
เอเอ็มอี) ที่เขาก่อเหตุกราดยิงนักแสวงบุญผิวดำเสียชีวิต 9 คน
ไปทางเหนือราว 354 กิโลเมตร เหยื่อของเหตุโจมตีครั้งนี้
แบ่งเป็นผู้หญิง 6 คนและชาย 3 คน โดย 8
รายเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ และไปสิ้นลมที่โรงพยาบาลอีก 1 คน นอกจากนี้แล้วยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกหลายคน ขณะที่ ท็อดด์
รัตเทอร์ฟอร์ด ผู้นำเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนราษฎรมลรัฐเซาท์แคโรไลนา เปิดเผยว่า
ศิษยาภิบาลที่เป็นหัวหน้าผู้ดูแลโบสถ์แห่งนี้คือ คลีเมนตา พิงค์นีย์
ซึ่งเป็นสมาชิกวุฒิสภาของมลรัฐด้วยนั้น เป็น 1 ใน 9 ผู้เสียชีวิต เจ้าหน้าที่กำลังสืบสวนเหตุโจมตีของนายรูฟ ในฐานะ
"อาชญากรรมจากความเกลียดชัง"
เหตุนองเลือดซึ่งเกิดขึ้นท่ามกลางปีแห่งความยุ่งเหยิงในสหรัฐฯ
จากกรณีตำรวจสังหารชายผิวดำไม่มีอาวุธหลายคน
ซึ่งกระพือการโต้แย้งอย่างโกรธเกรี้ยวทั่วประเทศเกี่ยวกับประเด็นความสัมพันธ์ทางผิวสี
ใช้กำลังเกินกว่าเหตุของตำรวจและระบบยุติธรรม ซีเอ็นเอ็นรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายคนหนึ่งเผยว่านายรูฟ
ให้การรับสารภาพว่าเป็นผู้ลงมือโจมตีดังกล่าวและบอกว่าเป้าหมายคือตั้งใจจุดชนวนการเผชิญหน้าทางผิวสีครั้งใหม่ขึ้นมา
อย่างไรก็ตามโฆษกตำรวจชาร์ลสตันปฏิเสธแสดงความคิดเห็นต่อรายงานข่าวนี้ นิคกิ ฮาลีย์ ผู้ว่าการรัฐเซาท์แคโรไลนา
ให้สัมภาษณ์กับรายงานทูเดย์โชว์ของสถานีโทรทัศน์เอ็นบีซีในวันศุกร์(19มิ.ย.) ว่าเธออยากเห็นนายรูฟ
ถุกดำเนินคดีตามกฎหมายรัฐและเชื่อว่าอัยการของรัฐจะแสวงหาโทษประหารชีวิตแด่ผู้ต้องสงสัยรายนี้
"แน่นอนว่ามันคืออาชญากรรมจากความเกลียดชัง
เรากำลังพูดคุยกับเจ้าหน้าที่สืบสวน เพราะว่าเราต้องสอบปากคำอย่างละเอียด
พวกเขาบอกว่าพวกเขารู้สึกเหมือนกำลังจ้องมองปีศาจอยู่" อย่างไรก็ตามเซาท์แคโรไลนา เป็น 1 ใน 5
มลรัฐของสหรัฐฯ ที่ไม่มีกฎหมายอาชญากรรมจากความเกลียดชัง
ซึ่งสามารถกำหนดบทลงโทษเพิ่มเติมต่อการกระทำผิดทางอาญาใดๆ อันเนื่องจากผิวสี
เพศและวิถีทางเพศของเหยื่อ ประธานาธิบดีบารัค โอบามาแห่งสหรัฐฯ กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดี(18มิ.ย.) ว่าการโจมตีดังกล่าวกระพือด้านมืดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ
และเป็นตัวอย่างความอันตรายของกฎหมายพกพาอาวุธปืนเสรีของประเทศ
ที่เหล่าผู้สนับสนุนสิทธิในการครอบครองอาวุธปืนบอกว่าได้รับการคุ้มครองตามบทบัญญัติเพิ่มเติม
ในมาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ในวันศุกร์(19มิ.ย.) ชาวบ้านในพื้นที่ ในนั้นรวมถึงเหล่าแม่ชี ไปรวมตัวที่โบสถ์เก่าแก่
อันเป็นสถานที่เกิดเหตุกราดยิง
หลายคนสวดมนต์ภาวนาทั้งน้ำตาและวางดอกไม้ไว้ใกล้ๆแนวเทปสีเหลืองของตำรวจ
ส่วนอีกฟากหนึ่งของแนวกั้น
เหล่าเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายก็ยังคงทำงานรวบรวมหลักฐาน เจอร์เมน เจนกินส์
นักสังคมสงเคราะห์วัย 25 ปี เชื่อว่าการหลั่งไหลออกมาร่วมไว้อาลัยของผู้คน
แสดงให้เห็นว่าเป้าหมายกระพือความไม่สงบทางผิวสีรอบใหม่ของนายรูฟนั้นล้มเหลว
"ไมคิดว่า เขาจะประสบความสำเร็จในการก่อสงครามผิวสี" เจนกินส์
ซึ่งเป็นคนผิวดำกล่าว
เอเอฟพี
- เกาหลีใต้เผยในวันศุกร์(19มิ.ย.) ว่าการแพร่ระบาดของเมอร์ส ที่คร่าชีวิตประชาชนไปแล้ว 24 ศพ มีท่าทีเริ่มลดลงแล้ว หลังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่แค่คนเดียว
ถือเป็นอัตราต่ำที่สุดในรอบ 2 สัปดาห์
ขณะที่องค์การอนามัยโลกชื่นชมไทยรับมือกับผู้ติดเชื้อรายแรกของประเทศได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที ด้วยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่แค่คนเดียวในวันศุกร์(19มิ.ย.)
ส่งผลให้ยอดรวมผู้ติดเชื้อไวรัสกลุ่มอาการทางเดินหายใจตะวันออกกลางในเกาหลีใต้
นับตั้งแต่ตรวจพบครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม เพิ่มเป็น 166
คน ถือเป็นการแพร่ระบาดรุนแรงที่สุดนอกเหนือจากซาอุดีอาระเบีย ในส่วนของจำนวนประชาชนที่ถูกกักกันก็ลดลงจากวันพฤหัสบดี(18มิ.ย.) ร้อยละ 12 เหลือ 5,930 คน
หนึ่งวันหลังจากไทยยืนยันว่าพบผู้ติดเชื้อไวรัสมรณะชนิดนี้รายแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รัฐบาลของประธานาธิบดีพัค
กึน-ฮเย ถูกวิพากษ์วิจารณ์ต่อการตอบสนองที่ไม่เพียงพอในช่วงแรกๆ แต่ มากาเร็ต ชาน
ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก(WHO) มองในแง่บวกอย่างระมัดระวังเมื่อวันพฤหัสบดี(18มิ.ย.) ต่อประสิทธิภาพของเกาหลีใต้ในการยับยั้งการแพร่ระบาด หลังจากเดิมที
WHO ได้ให้คำจำกัดความการแพร่ระบาดของไวรัสนี้ว่าเป็นเหมือนสัญญาณปลุกให้ทุกคนตื่นขึ้น หมู่บ้านในชนบทแห่งหนึ่งซึ่งถูกปิดตายตามมาตรการกักกันโรค
กลับมาเปิดการเข้าออกและอนุญาตให้ชาวบ้านราว 102 คนได้ใช้ชีวิตตามปกติอีกครั้ง
"ดูเหมือนว่าการแพร่ระบาดเริ่มลดลงแล้ว"
เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขรายหนึ่งในกรุงโซลบอก
"แต่เราต้องรอดูว่าจะมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ตามโรงพยาบาลต่างๆหรือไม่" สำหรับผู้ติดเชื้อรายล่าสุดเป็นชายวัย
62 ปี
ที่ติดไวรัสระหว่างดูแลสมาชิกของครอบครัวที่ป่วยด้วยเชื้อร้ายนี้ ณ
ศูนย์การแพทย์ซัมซุงในกรุงโซล ศูนย์กลางของการแพร่ระบาด
ซึ่งในบรรดาผู้ติดเชื้อทั้งหมด มีกว่าครึ่งที่ได้รับเชื้อในโรงพยาบาลดังกล่าว โรงพยาบาลแห่งนี้ถึงขั้นต้องระงับให้บริการผู้ป่วยที่ไม่ได้ติดเชื้อเมอร์สตั้งแต่วันอาทิตย์(14มิ.ย.)ที่ผ่านมา ไปจนถึงวันพุธหน้า(24มิ.ย.)
ส่วนคนไข้ที่อื่นๆก็ถูกย้ายไปยังศูนย์แพทย์อื่นหลายแห่ง ปัจจุบันยังเหลือผู้ป่วยเมอร์สอยู่ในโรงพยาบาลซัมซุง
112 คน ขณะที่ 30 คนฟื้นไข้และได้รับอนุญาตกลับบ้านแล้ว หมู่บ้านแจงด็อค ในเมืองซันชาง ทางใต้ของกรุงโซล กลับสู่ภาวะปกติแล้ว
หลังมาตรการปิดกั้นเส้นทางที่บังคับใช้มานาน 2 สัปดาห์ตามหลังมีชาวบ้านวัย
72 ปีคนหนึ่งถูกตรวจพบว่าติดเชื้อเมอร์ส
ถูกยกเลิกในวันศุกร์(19มิ.ย.)
ส่วนหมู่บ้านอีกแห่งที่อยู่ภายใต้มาตรการกักกันโรค
ก็คาดหมายว่าจะดำเนินการแบบเดียวกันในวันจันทร์(22มิ.ย.)
เนื่องจากไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่แล้ว
ในกรุงเทพฯ ทางการไทยเผยในวันศุกร์(19มิ.ย.)
ว่าญาติๆ 3 คนของชายชาวโอมานวัย 75 ปีที่ถูกตรวจพบว่าติดเชื้อเมอร์ส
มีผลตรวจ 2 รายออกมาเป็นลบ ส่วนอีกคนยังสรุปไม่ได้
อย่างไรก็ตามนพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รักษาการปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)
บอกกับเอเอฟพีว่า "เราจะตรวจเช็กทั้ง 3 อีกครั้ง"
แต่ก็ไม่ได้ให้กรอบเวลาใดๆ เอเอฟพีรายงานว่าไทยที่ตลาดการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์กำลังเป็นที่นิยมในหมู่ผู้ป่วยจากตะวันออกกลาง
แถลงพบคนไข้ที่มีผลตรวจเมอร์สออกมาเป็นบวกรายแรกในวันพฤหัสบดี(18มิ.ย.)
ไม่กี่วันหลังจากเขาเดินทางเข้าประเทศพร้อมกับครอบครัวเพื่อรักษาโรคหัวใจ
และจนถึงช่วงค่ำวันศุกร์(19มิ.ย.) นพ.สุรเชษฐ์
เผยว่าอาการของคนไข้ทรงตัว ด้านโฆษกกระทรวงสาธารณสุขบอกกับเอเอฟพีว่าทางการไทยกำลังสังเกตอาการประชาชน
85 คนที่สัมผัสกับชายชาวโอมานคนดังกล่าว
ในนั้นรวมถึงคนที่อยู่บนเที่ยวบินเดียวกัน ในโรงพยาบาลหรือที่บ้านของพวกเขา ส่วนผศ.นพ.มนต์เดช สุขปราณี
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาอายุรศาสตร์โรคติดเชื้อของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
สถานพยาบาลที่ชายชาวโอมานเข้ารักษาตัวเป็นแห่งแรก เผยว่าได้กักกันโรคเจ้าหน้าที่ 58
คน แต่ยังไม่พบผู้ติดเชื้อเมอร์สรายใหม่ ในเวลาต่อมาที่เจนีวา คริสเตียน
ลินด์เมเออร์ โฆษกขององค์การอนามัยโลก
แถลงยกย่องไทยที่ลงมือและเฝ้าระแวดระวังอย่างทันทีทันใด
ในการกักกันโรคผู้ป่วยเมอร์สรายแรกและญาติๆของเขา
ความเคลื่อนไหวของรัสเซีย
ในการเสริมเขี้ยวเล็บด้วยการประกาศเพิ่มจำนวนของ “ขีปนาวุธข้ามทวีป”
อีกเกือบครึ่งร้อยลูก เพื่อตอบโต้ภัยคุกคามจากสหรัฐอเมริกาและบรรดาลิ่วล้อที่เป็นประเทศสมาชิกในองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ
(นาโต) รวมอยู่ด้วยเป็นแน่ ก่อนหน้านี้ เป็นที่ทราบกันดีว่า ตลอดช่วงระยะเวลา 2-3
ปีที่ผ่านมานี้ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลรัสเซียกับสหรัฐอเมริกาและความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับโลกตะวันตกได้ก้าวเข้าสู่ภาวะเสื่อมทรามลงถึงขีดสุด
จากผลพวงของวิกฤตทางการเมืองในยูเครนจากการที่ผู้นำและรัฐบาลที่มีความใกล้ชิดกับมอสโกถูกโค่นอำนาจโดยฝ่ายที่โปรตะวันตก
และความขัดแย้งระหว่างชาวยูเครนทั้งฝ่ายที่ฝักใฝ่ตะวันตกกับฝ่ายนิยมรัสเซีย
ที่ในที่สุดแล้วก็ได้ลุกลามบานปลายจนกลายเป็นสงครามกลางเมืองในพื้นทื่ภาคตะวันออกของประเทศ นอกจากนั้น
การลงประชามติครั้งประวัติศาสตร์ใน “สาธารณรัฐปกครองตนเองไครเมีย”
ซึ่งตามมาด้วยการแยกตัวของไครเมียออกจากยูเครน เพื่อไปผนวกรวมเข้าเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของรัสเซีย
ต่างก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ยิ่ง “โหมกระพือเชื้อไฟแห่งความตึงเครียด”
ให้รัสเซียและโลกตะวันตกยิ่ง“มองหน้ากันไม่ติด”
มากกว่าเดิม ที่ผ่านมารัฐบาลสหรัฐฯภายใต้การนำของบารัค
โอบามาได้ดำเนินการหลายอย่าง เพื่อคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและหาทางสกัดกั้นการแผ่ขยายอิทธิพลของรัฐบาลมอสโกภายใต้การนำของวลาดิมีร์
ปูตินในทุกช่องทาง แต่ทว่าสิ่งที่กลายเป็น “ฟางเส้นสุดท้าย”
ที่นำไปสู่จุดแตกหัก คือ การที่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
รัฐบาลอเมริกันตกเป็นข่าวว่าเตรียมประกาศแผนติดตั้ง “อาวุธหนัก”
และนำทหารจากเมืองลุงแซมกว่า 5,000 ชีวิตเข้าประจำการในประเทศแถบยุโรปตะวันออกและรัฐแถบทะเลบอลติก
ตามรายงานของสื่อดังอย่าง “นิวยอร์กไทม์ส” แต่ไหนแต่ไรมา เป็นที่ทราบกันดีโดยทั่วไปว่า
ยุโรปตะวันออกและรัฐแถบทะเลบอลติก คือ อาณาบริเวณที่เปรียบเสมือน “สวนหลังบ้านของรัสเซีย” ดังนั้น
จึงมิใช่เรื่องที่น่าแปลกประหลาดใจแต่อย่างใด หากแผนการติดตั้งอาวุธหนัก
และนำกำลังทหารสหรัฐฯเข้ามาประจำการในดินแดนแถบนี้
จะสร้างความขุ่นเคืองอย่างใหญ่หลวงให้กับรัสเซีย ถึงขั้นที่ทำให้วลาดิมีร์
ปูตินออกอาการฉุนขาด จนต้องประกาศแผนเพิ่มขีปนาวุธข้ามทวีปซึ่งรองรับการติดหัวรบนิวเคลียร์ครั้งใหญ่รวดเดียวถึง
40 ลูกเป็นอย่างน้อย
ปูติน ผู้นำรัสเซียให้เหตุผลว่า
รัสเซียจำเป็นต้องป้องกันตนเองหากถูกคุกคาม
ถึงแม้การขยับตัวล่าสุดของพญาหมีขาวในคราวนี้ จะถูกฝ่ายสหรัฐฯ กล่าวหาว่า มอสโกกำลังรื้อฟื้น
“สถานะสงครามเย็น” ที่ทำให้โลกกลับเข้าสู่
“ยุคแห่งความหวาดระแวง” กันอีกครั้ง แต่หากจะมองอย่างเป็นกลางแล้ว
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า สหรัฐอเมริกาและลิ่วล้อในยุโรป
ดูจะเป็นฝ่ายที่เริ่มก่อสงครามเย็นรอบใหม่นี้ขึ้นมาก่อน และการขยับบทบาทของนาโตในระยะหลัง
ที่พุ่งเป้าเข้าประชิดเขตแดนของรัสเซียมากขึ้นเรื่อยๆ
ได้ปลุกให้รัสเซียเริ่มการตอบโต้แบบ “แรงมา-แรงไป” ในคราวนี้ วลาดิมีร์ ปูตินประกาศแผนเพิ่มขีปนาวุธข้ามทวีป (Intercontinental
ballistic missile : ICBM) รุ่นใหม่ ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 40 ลูกที่มีพิสัยทำการตั้งแต่ 5,500 กิโลเมตรขึ้นไป
เข้าสู่คลังแสงอาวุธนิวเคลียร์ของตนภายในสิ้นปี 2015 นี้
และว่า ขีปนาวุธข้ามทวีปรุ่นใหม่ “เมด อิน รัสเซีย” นี้
สามารถทำลายระบบป้องกันขีปนาวุธที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัยที่สุดของโลกตะวันตกได้ในชั่วพริบตา
ทั้งนี้ข้อมูลล่าสุดจากสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสต็อคโฮล์ม (Stockholm
International Peace Research Institute :SIPRI) บ่งชี้ว่า
ในเวลานี้รัสเซียมี “หัวรบนิวเคลียร์” ในความครอบครองราว
7,500 หัวรบ โดยที่ในจำนวนนี้มีอยู่ 1,780 หัวรบที่ติดตั้งเข้ากับขีปนาวุธแล้วและอยู่ในสภาพ “พร้อมกดปุ่มยิง”
ความเคลื่อนไหวล่าสุดของรัสเซียถือว่ามีความน่าสนใจไม่น้อย
เพราะนี่ถือเป็นครั้งแรกๆ ที่รัสเซียเป็นฝ่าย “ออกหมัด”
เข้าใส่คู่ต่อสู้ หลังจากที่เอาแต่เก็บตัวเงียบและปล่อยให้ตัวเองถูก
“รุมกินโต๊ะ” มานานเป็นแรมปีทั้งจากสหรัฐอเมริกาและยุโรปตะวันตก
และที่น่าติดตามมากยิ่งขึ้นไปอีกก็คือวิธีการเดินหมากของรัสเซียที่มิใช่การเลือกใช้หมากธรรมดาทั่วไป
แต่เป็นการเดินเกมด้วย “หมากนิวเคลียร์” ซึ่งทำเอาสหรัฐฯและโลกตะวันตกเริ่มอยู่ไม่เป็นสุข และอาจต้องเริ่มกลับมาทบทวนบทบาทของตนในช่วงที่ผ่านมาว่า
คิดดีแล้วหรือที่เลือกเป็นปฏิปักษ์กับมอสโก
ด้วยการเอาชีวิตผู้คนทั่วโลกไปเสี่ยงกับ “สงครามนิวเคลียร์”
ที่สักวันหนึ่งอาจเกิดขึ้นจริง หาใช่เป็นแต่เพียง “คำขู่” อย่างในยุคสงครามเย็นอีกต่อไป
เอเอฟพี -
การเจรจาอันเคร่งเครียดของเหล่าผู้นำยูโรโซนเพื่อหาทางฝ่าทางตันวิกฤตหนี้กรีซ
ยุติลงโดยปราศจากข้อตกลงใดๆ ในวันพฤหัสบดี (18 มิ.ย.)
ขณะที่ไอเอ็มเอฟเตือนเอเธนส์ว่าจะไม่เลื่อนกำหนดเวลาชำระหนี้แก่กรีซในช่วงสิ้นเดือนนี้
ส่อเค้ามากขึ้นเรื่อยๆ ว่าเอเธนส์อาจผิดนัดชำระหนี้และออกจากยูโรโซน เข็มนาฬิกาแห่งวิกฤตขยับใกล้เวลาเที่ยงคืนทุกขณะ
หลังจากที่ประชุมของเหล่ารัฐมนตรีต่างประเทศยูโรโซนในลักเซมเบิร์ก
ล้มเหลวในการหารือฝ่าทางตันข้อตกลงปฏิรูปที่อาจช่วยหลุดพ้นหายนะจากกรณีที่กรีซต้องออกจากยูโรโซน
“ไม่มีข้อตกลง ณ ที่ประชุมยูโรกรุ๊ป” วาลดิส
ดอมโบรฟสกีส์ รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปบอกหลังจากโต๊ะประชุมต้องยุติลง
ตามหลังการหารือในประเด็นกรีซราวๆ 90 นาที แต่เขาบอกว่า “มันเป็นสัญญาณที่แข็งกร้าวสำหรับกรีซว่าต้องมีส่วนร่วมอย่างจริงจังในการเจรจา”
ขณะที่แหล่งข่าวรายหนึ่งพูดกับเอเอฟพีว่าผลลัพธ์ของการหารือครั้งนี้ถือว่าเป็นเรื่องน่าเศร้า อย่างไรก็ตาม นายโดนัลด์ ทัสค์
ประธานอียู แถลงอย่างรวดเร็วว่าจะจัดประชุมซัมมิตฉุกเฉินของเหล่าผู้นำ 19 ชาติสมาชิกยูโรโซนที่บรัสเซลส์ในวันจันทร์หน้านี้ (22 มิ.ย.) โดยบอกว่ามันเป็นเวลาที่ต้องหารือกันอย่างเร่งด่วน
สำหรับหยิบยกสถานการณ์ของกรีซมาพูดคุยกันในระดับผู้นำสูงสุดทางการเมือง
ทั้งนี้ซัมมิทดังกล่าวจะมีขึ้นก่อนหน้าที่ประชุมเหล่าผู้นำอียูทั้ง 28 ประเทศ ซึ่งกำหนดไว้ในวันพฤหัสบดี(25มิ.ย.)และวันศุกร์
(26 มิ.ย.) อเล็กซิส ซีปราส นายกรัฐมนตรีซ้ายจัดของกรีซ
ปฏิเสธปฏิรูปในด้านบำนาญและอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มตามคำเรียกร้องของเหล่าเจ้าหนี้นานาชาติเพื่อแลกกับการขยายเวลาโครงการเงินช่วยเหลืออันมหาศาลจากอียูและไอเอ็มเอฟ
โดยเหล่าเจ้าหนี้ปฏิเสธจ่ายเงินงวดสุดท้าย 7,200 ล้านยูโรจากโครงการช่วยเหลือเดิม
หากไม่มีข้อตกลงปฏิรูปใดๆ และกรีซจะไม่เหลือเงินสดอีกเลย
หากไม่มีข้อตกลงขยายโครงการกู้ยืม นายเจอโรน ดิจเซลโบลม
ประธานยูโรกรุ๊ปแถลงกับผู้สื่อข่าวว่าเวลาใกล้หมดแล้ว
และบอกว่าตอนนี้ลูกบอลอยู่ทางฝั่งของกรีซ ส่วนปิแอร์ มอสโกวิซี
กรรมาธิการเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป
เรียกร้องประนีประยอมอย่างสมเหตุสมผลเพื่อหลีกเลี่ยงหายนะอันเกี่ยวพันกับเอเธนส์ หากไม่ได้รับเงินช่วยเหลืองวดสุดท้าย
นั่นเท่ากับว่ากรีซจะไม่สามารถชำระหนี้จำนวน 1,6000 ล้านยูโรคืนแก่ไอเอ็มเอฟในวันที่
30 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันเดียวกับโครงการช่วยเหลือหมดอายุลง
ในขณะที่นายใหญ่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คริสติน ลาการ์ด
แถลงกร้าวเตือนรัฐบาลกรีซในวันพฤหัสบดี (18 มิ.ย.) ว่า
ไม่สามารถเลื่อนการจ่ายหนี้ก้อนโตที่ถึงกำหนดในสิ้นเดือนนี้ได้อีกแล้ว ลาการ์ดประกาศออกมาเช่นนี้
ในเวลาเดียวกับที่ อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี
ซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของกรีซ
แถลงว่าเธอยังคงเชื่อมั่นว่ามีความเป็นไปได้ที่จะทำข้อตกลงเพื่อช่วยชีวิตกรีซให้พ้นจากการผิดนัดชำระหนี้ซึ่งอาจตามมาด้วยการที่เอเธนส์ถูกขับออกไปจากการใช้สกุลเงินยูโร
ทั้งนี้ถ้าเอเธนส์ยอมอ่อนข้อประนีประนอม
อย่างไรก็ตาม
ความเชื่อมั่นดังกล่าวสวนทางกับอารมณ์แห่งความมืดมัวที่ปกคลุมการประชุมในลักเซมเบิร์ก
ด้วยเหล่ารัฐมนตรีหลายคน เริ่มพูดคุยอย่างเปิดเผยถึงกรณีความเป็นไปได้ต่างๆ
อย่างเช่นกรีซต้องออกจากยูโรโซนหากผิดนัดชำระหนี้ หากปราศจากเงินช่วยเหลืองวดสุดท้ายและพลาดเส้นตายชำระหนี้ของไอเอ็มเอฟ
ก็จะเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปีที่กรีซถูกโดดเดี่ยวทางการเงินเพียงลำพัง
และด้วยเงินทุนที่ว่างเปล่า ทุกสายตาจึงจับจ้องว่าจากนี้ไปจะเกิดอะไรขึ้น “ทางเลือกอื่นคือเตรียมแผนบี” ไมเคิล นูนาน
รัฐมนตรีคลังไอร์แลนด์บอก
พร้อมระบุว่าเขาไม่กลัวผลกระทบต่อเนื่องในกรณีที่กรีซต้องออกจากยูโรโซน
ส่วนอเล็กซ์ สตับบ์ รัฐมนตรีคลังฟินแลนด์ บอกว่า “ทางเลือกที่
1 คือขยายเงินกู้ ส่วนแผนบีคือผิดนัดชำระหนี้”เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (17) ถือเป็นครั้งแรกที่ธนาคารกลางของกรีซเอง
ได้ออกมาแถลงเตือนว่าหากไม่สามารถตกลงกับเจ้าหนี้ได้
เอเธนส์อาจต้องออกจากยูโรโซนหรือกระทั่งออกจากอียูด้วยซ้ำ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น