วันอังคารที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

โลก 360 องศา - (รัฐประหารที่อิยิปต์,เครื่องบินตกที่ซานฟรานซิสโก,ระเบิดก่อการร้ายที่พุทธคยา)



กองทัพทำรัฐประหารที่อิยิปต์ จับกุมตัวมอร์ซีไว้
 
กระแสต่อต้านรัฐบาลอียิปต์ปะทุถึงจุดเดือด เมื่อประชาชนหลายล้านคนออกมาชุมนุมขับไล่ มอร์ซี ในวันที่ 30 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันครบรอบการดำรงตำแหน่งของของเขา ผู้ประท้วงต่างร้องตะโกน ประชาชนต้องการขับไล่รัฐบาลซึ่งเป็นคำขวัญเดียวกับเมื่อปี 2011 ที่ชาวอียิปต์ลุกฮือปลดจอมเผด็จการ ฮอสนี มูบารัค

แหล่งข่าวในกองทัพชี้ว่า การชุมนุมครั้งนี้เป็นการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์อียิปต์และเป็นการประกาศจุดยืนว่าชาวแดนไอยคุปต์หลายล้านคนไม่ต้องการผู้นำสายอิสลามิสต์คนนี้อีกต่อไป

ญิฮาด อัล-ฮัดดาด โฆษกกลุ่มภราดรภาพมุสลิม แถลงว่า พวกอันธพาลหลายสิบคนใช้ระเบิดเพลิง, หนังสติ๊ก และก้อนหิน ขว้างปาใส่สำนักงานใหญ่ของภราดรภาพมุสลิมในกรุงไคโร ขณะที่ มอร์ซี ก็เสนอเปิดเวทีเจรจาแห่งชาติเพื่อให้ทุกฝ่ายได้มาร่วมพูดคุยและคลี่คลายสถานการณ์โดยสันติ แต่ความพยายามต่อรองของรัฐบาลดูเหมือนจะไม่เป็นผล เมื่อพันธมิตแนวร่วมกู้ชาติ (National Salvation Front) ซึ่งเป็นกลุ่มฝ่ายค้านหลัก ยังคงเรียกร้องให้พลเมืองออกมาแสดงพลังขัดขืนอย่างสงบตามจตุรัส, ท้องถนน, เมือง และหมู่บ้านทั่วประเทศ จนกว่า มอร์ซี จะยอมลงจากอำนาจ

การประท้วงขับไล่ มอร์ซี เกิดขึ้นทั้งในเมืองอเล็กซานเดรีย, มันซูรา, เมนุฟ, ทันทา, มาฮัลลา, สุเอซ, พอร์ตซาอิด และแม้แต่ซากาซิก ซึ่งเป็นบ้านเกิดของประธานาธิบดีเอง

ฮัมดีน ซาบาฮี อดีตผู้แทนพรรคฝ่ายซ้ายซึ่งได้คะแนนมาเป็นที่ 3 ในศึกเลือกตั้งผู้นำอียิปต์ ออกมาเรียกร้องให้กองทัพเข้าแทรกแซงสถานการณ์ พร้อมทวงคำสัญญาจาก พล.อ. อับเดล ฟัตตะห์ อัล-ซีซี ผู้บัญชาการกองทัพอียิปต์ ที่เคยกล่าวว่าจะยืนหยัดข้างประชาชน

ต่อมาในวันที่ 1 กรกฎาคม กองทัพอียิปต์ได้ประกาศเงื่อนไขให้รัฐบาลทำตามเสียงเรียกร้องของประชาชนภายใน 48 ชั่วโมง มิเช่นนั้นก็จะออกมาตรการ แทรกแซงเพื่อคลี่คลายความขัดแย้งเสียเอง ซึ่งทันทีที่ถ้อยแถลงถูกประกาศออกมา ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลที่มาตั้งแคมป์อยู่รอบๆ จัตุรัสตะห์รีร์ ศูนย์กลางการปฏิวัติประชาธิปไตยของอียิปต์ ต่างก็เปล่งเสียงเฮลั่นด้วยความถูกอกถูกใจ

ถึงขั้นนี้แล้ว มอร์ซี ยังคงปฏิเสธเงื่อนไขกองทัพ โดยยืนกรานจะใช้แผนสร้างความปรองดองแห่งชาติ และแก้วิกฤตการเมืองด้วยการเจรจา และเมื่อช่วงเที่ยงคืนวันอังคารที่ 2 กรกฎาคม เขาก็ยืนยันผ่านสื่อโทรทัศน์อีกครั้งว่า จะยืนหยัดปกป้องอำนาจอันชอบธรรมด้วยชีวิต ซึ่งพวกผู้นำฝ่ายต่อต้านหัวเสรีชี้ว่า คำพูดเช่นนี้เท่ากับ มอร์ซี กำลังประกาศสงครามกลางเมือง

เพียง 3 ชั่วโมงให้หลัง กองบัญชาการทหารสูงสุดอียิปต์นำโดย พล.อ.อับเดล ฟัตตะห์ อัล-ซีซี ก็ตอบโต้ด้วยข้อความในเฟซบุ๊กว่า พวกเขายินดีสละชีพเพื่อรักษาจุดยืนของทหารซึ่งก็คือการปกป้องพลเมืองอียิปต์จากพวกก่อการร้าย, พวกหัวรุนแรง และพวกโง่เง่า

เมื่อครบกำหนดเส้นตาย 48 ชั่วโมงในช่วงเย็นวันพุธที่ 3 กรกฎาคม กองทัพอียิปต์ได้ประกาศห้ามประธานาธิบดี มอร์ซี และแกนนำอิสลามิสต์หลายคนเดินทางออกนอกประเทศ พร้อมส่งรถยานเกราะกระจายไปตามจุดต่างๆทั่วเมืองหลวง

กองทัพอียิปต์ได้ออกแถลงการณ์ก่อรัฐประหารโค่นอำนาจ มอร์ซี ในช่วงกลางดึก โดย พล.อ.อับเดล ฟัตตะห์ อัล-ซีซี ผู้บัญชาการกองทัพอียิปต์ ประกาศแต่งตั้งให้ อัดลี มันซูร์ อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญสูงสุด ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีรักษาการ ขณะเดียวกันก็สั่งระงับใช้รัฐธรรมนูญที่ร่างโดยฝ่ายอิสลามิสต์ และเตรียมจัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ ซึ่งระหว่างที่กองทัพประกาศนั้น ผู้นำฝ่ายต่างๆได้มาปรากฎตัวเคียงข้างผู้บัญชาการทหารสูงสุดด้วย ไม่ว่าจะเป็น โมฮาเหม็ด เอลบาราเด ผู้นำฝ่ายค้านที่มีแนวทางเสรีนิยมและอดีตผู้อำนวยการทบวงการปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ซึ่งเคยได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ตลอดจน ชีค อาเหม็ด อัล-ตอเย็บ ผู้นำอิหม่ามแห่งมัสยิดอัล-อัซฮาร์ ซึ่งถือเป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุดของชาวมุสลิมนิกายซุนนี การเข้าร่วมของผู้นำเหล่านี้ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่า การก่อรัฐประหารได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายพลเรือนอย่างกว้างขวาง

มอร์ซี ซึ่งกลายเป็นอดีตผู้นำในชั่วข้ามคืน ถูกควบคุมตัวไปยังกระทรวงกลาโหม ขณะที่แกนนำกลุ่มภราดรภาพมุสลิมราว 300 คนถูกออกหมายจับ

หลังข่าวการรัฐประหารถูกเผยแพร่ ได้เกิดเหตุปะทะระหว่างกองกำลังความมั่นคงอียิปต์กับผู้สนับสนุน มอร์ซี ตามเมืองต่างๆทั่วประเทศ ขณะที่กลุ่มภราดรภาพมุสลิมซึ่งหนุนหลัง มอร์ซี อยู่ประกาศไม่ยอมแพ้ง่ายๆ และจะระดมฝูงชนมาต่อสู้กับการปฏิวัติยึดอำนาจโดยกองทัพต่อไป

สถานการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นทำให้สหรัฐฯ ตัดสินใจสั่งให้บุคลากรทางการทูตที่ไม่มีภารกิจฉุกเฉิน เร่งเดินทางออกจากอียิปต์ทันที เนื่องจากบ่อยครั้งสถานทูตอเมริกันมักจะตกเป็นเหยื่อเมื่อเกิดเหตุรุนแรง

ประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ เรียกร้องให้อียิปต์กลับคืนสู่ระบอบการปกครองภายใต้รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งโดยเร็ว ขณะที่ บัน คี มูน เลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ออกคำแถลงผ่านรองโฆษกยูเอ็นว่า ตัวเขาตระหนักดีถึงความขับข้องใจและปัญหาที่ชาวอียิปต์ต้องเผชิญ แต่กรู้สึกกังวลต่อการเข้าแทรกแซงของกองทัพ เช่นเดียวกับ วิลเลียม เฮก รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษที่ระบุว่า อียิปต์เวลานี้อยู่ในภาวะที่เต็มไปด้วยอันตรายอย่างชัดแจ้ง และยืนยันว่ารัฐบาลเมืองผู้ดีไม่สนับสนุนการเข้าแทรกแซงของกองทัพ เนื่องจากมิใช่ทางแก้ปัญหาตามครรลองประชาธิปไตย

อย่างไรก็ดี กษัตริย์อับดุลเลาะห์แห่งซาอุดีอาระเบียทรงออกมาชื่นชมการยึดอำนาจของกองทัพอียิปต์ โดยทรงชี้ว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และสอดคล้องกับความปรารถนาชาวอียิปต์ส่วนใหญ่ และยังทรงแสดงความยินดีกับประธานศาลรัฐธรรมนูญสูงสุดที่ได้รับหน้าที่ประธานาธิบดีรักษาการด้วย

สถานการณ์ในอียิปต์ขณะนี้ดูเหมือนจะย้อนกลับไปสู่วันที่เผด็จการ ฮอสนี มูบารัค ถูกมวลชนลุกฮือขับไล่เมื่อปี 2011 และยังสะท้อนถึงความเปราะบางของระบอบประชาธิปไตยที่ยังก้าวไม่พ้นวังวนแห่งความขัดแย้งระหว่างคนในชาติ อนาคตการเมืองในอียิปต์จึงเป็นสิ่งที่น่าจับตามอง และเป็นอีกหนึ่งบทเรียนที่สำคัญต่อผู้นำทั้งหลายที่ยังหลงระเริงในอำนาจ และมองข้ามพลังของประชาชน

เครื่องบินของสายการบินเอเชียน่าตกที่สนามบินซานฟรานซิสโก 

เกิดเหตุเครื่องบินโดยสารโบอิ้ง รุ่น 777 สายการบินเอเชียนาของเกาหลีใต้ตก ขณะร่อนลงจอดที่สนามบินนานาชาติเมืองซานฟรานซิสโกของสหรัฐฯ โดยเบื้องต้นยังไม่รู้สาเหตุอันแน่ชัด ซึ่งคำบอกเล่าของผู้เห็นเหตุการณ์ และผู้โดยสารที่รอดชีวิตชี้ว่า เหมือนเครื่องบินจะเสียการควบคุม
เจ้าหน้าที่อ้างปากคำของผู้เห็นเหตุการณ์ว่า ช่วงที่กำลังร่อนลงจอดนั้นเป็นระยะสั้นเกินไป ทำให้เครื่องบินชนเข้ากับกำแพงกั้นทะเล จากนั้นเกิดระเบิดและมีไฟลุกไหม้อย่างฉับพลัน ทั้งนี้แพทย์เมืองซานฟรานซิสโกแถลงว่า มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 2 คน สูญหาย 1 คน นอกจากนี้ก็มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 43 คน ซึ่ง 5 คนอาการสาหัส  เครื่องบินที่เกิดเหตุผลิตโดยบริษัทโบอิ้ง รุ่น 777 ซึ่งประกอบการโดยสายการบินเอเชียนา สายการบินใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของเกาหลีใต้ โดยเที่ยวบินมรณะนี้เป็นเที่ยวบินที่ 214 ออกจากสนามบินนานาชาติอินชอนในเกาหลีใต้ ซึ่งมีผู้อยู่บนเครื่องทั้งสิ้น 307 คน ประกอบด้วยลูกเรือ 16 คนและผู้โดยสาร 291 คน ทั้งนี้สายการบินเอเชียนาชี้แจงว่าผู้โดยสารประกอบด้วยชาวจีน 141 คน เกาหลีใต้ 77 คน และชาวอเมริกัน 61 คน  ทั้งนี้หัวหน้าหน่วยดับเพลิงเมืองซานฟรานซิสโกแถลงว่า มอบให้เป็นหน้าที่ของตำรวจสอบสวนกลาง (เอฟบีไอ) ทำการสอบสวนสาเหตุ  ด้านหัวหน้าพนักงานสอบสวนของเอฟบีไอที่เข้าคุมคดีระบุว่า ขณะนี้ยังไม่มีเบาะแสเกี่ยวกับก่อการร้าย ซึ่งเอฟบีไอจะทำงานคลี่คลายคดีอย่างใกล้ชิด กับคณะกรรมการความปลอดภัยแห่งชาติของสหรัฐฯ

เกิดเหตุระเบิดบริเวณใกล้พุทธคยา ประเทศอินเดีย คาดเป็นฝีมือของกลุ่มก่อการร้าย 

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเมืองปัตนะ ประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 8 ก.ค. ว่า ทางการอินเดียจับกุมชายคนหนึ่ง ต้องสงสัยวางระเบิดโจมตีพุทธคยา ทางตะวันออกของประเทศ ซึ่งเป็น 1 ใน 4 สังเวชนียสถานสำคัญที่สุดของพุทธศาสนิกชนทั่วโลก และกำลังเร่งตามจับตัวชาย 2 คน ซึ่งมีภาพปรากฏอยู่ในกล้องโทรทัศน์วงจรปิดว่า กำลังเตรียมฝังระเบิดบริเวณหนึ่งในจุดเกิดเหตุ
แถลงการณ์ของสำนักงานตำรวจรัฐพิหาร ทางตะวันออกของอินเดีย ซึ่งเป็นเจ้าของท้องที่ ระบุเจ้าหน้าที่อาศัยข้อมูลจากหลักฐานซึ่งเก็บได้จากจุดเกิดเหตุ ที่สามารถนำไปสู่การจับกุมนายวิโนด มิสไตร หนึ่งในผู้ต้องสงสัย เบื้องต้นให้การเพียงว่าเป็นชาวบ้านในละแวกพุทธคยา ขัดแย้งกับข้อมูลของเจ้าหน้าที่ ซึ่งจับกุมมิสไตรได้ที่บ้านพักทางตอนใต้ของเมืองปัตนะ ฐานที่มั่นของนักรบกบฏลัทธิเหมา เจ้าหน้าจึงยังกักตัวมิสไตรเอาไว้สอบปากคำต่อไป

ส่วนผู้ต้องสงสัยอีก 2 คนซึ่งยังคงลอยนวลอยู่ เจ้าหน้าที่ปฏิเสธจะเปิดเผยรายละเอียดว่าเป็นใคร แต่คาดว่าน่าจะจับกุมได้ในอีกไม่นาน เนื่องจากภาพจากกล้องโทรทัศน์วงจรปิดในพุทธคยา สามารถบันทึกภาพชายทั้ง 2 คน แสดงท่าทางพิรุธ คล้ายการฝังกลบบางสิ่งบริเวณจุดที่ภายหลังเกิดการระเบิด และเผยให้เห็นใบหน้าค่อนข้างชัดเจน
เหตุวางระเบิดถล่มพุทธคยาราว 10 ครั้ง เกิดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ แม้วัดมหาโพธิและต้นพระศรีมหาโพธิจะไม่ได้รับความเสียหาย เนื่องจากระเบิดที่กลุ่มคนร้ายใช้ไม่ทรงอานุภาพมากนัก แต่มีรายงานพระสงฆ์ 2 รูปได้รับบาดเจ็บ นอกจากนี้ การโจมตีศาสนสถานสำคัญที่เป็นมรดกโลกด้วย สร้างความตกตะลึงให้แก่พุทธศาสนิกชนทั่วโลก โดยนายกรัฐมนตรีมานโมฮัน ซิงห์ ผู้นำอินเดีย ออกแถลงการณ์ประณามเหตุการณ์ครั้งนี้อย่างรุนแรง ที่แม้จะยังไม่มีบุคคลหรือกลุ่มใดออกมารับผิดชอบ แต่ซิงห์ประกาศกร้าวอย่างเชื่อมั่นว่า เป็นฝีมือของ "กลุ่มก่อการร้าย"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น