เมื่อหวนไปรำลึกถึงภาพยนตร์ในแนวโคบาลที่ว่านี้ หลายคนจะนึกถึง ชื่อของพระเอกหรือตัวนำในเรื่อง เช่น เชน, บัฟฟาโล บิลล์, บิลลีเดอะคิด, เจส ลี เจมส์, แพต กาเรตต์ (ผู้ปราบบิลลีเดอะคิด) ,แบต มาสเตอร์สัน, จอห์น “ด็อค” โฮลิเดย์ และนายอำเภอไวแอตต์ เอิร์ป เป็นต้น หรือไม่หากเป็นนักอ่านสักหน่อยก็จะนึกถึง หลุยส์ ลามูร์ นักเขียนนิยายแนวคาวบอยมากมายหลายเรื่อง บางเรื่องของเขานำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ แต่บางเรื่องเขาก็เขียนขึ้นมาจากบทภาพยนตร์เช่นกัน ตัวเอกที่เอ่ยชื่อมาแล้วนั้น บางคนก็เป็นคนดี บางคนเป็นผู้ร้าย แต่คนดูก็มักจะเข้าใจว่าพวกเขาเป็นพระเอก (คนดี) เสมอ เนื่องจากเป็นตัวเอกและตัวเดินเรื่อง บางคนมีตัวตนจริงๆ แต่บางคนก็มาจากตัวละครในนิยายที่แต่งขึ้นมาให้ดูสนุก ตัวอย่างเช่น “เชน” เป็นชื่อของพระเอกจากนิยายของ แจค แชเฟอร์ (Jack Schaefer) ที่นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ โดยมีผู้แสดงนำ ประกอบด้วย อลัน แลดด์ (เป็น “เชน”) ,แวน เอฟลิน (เป็น “โจ สตาร์เรต” ) ,จีน อาร์เธอร์ (เป็น “มาเรียน สตาร์เรต” – ภรรยาของโจ) และมี แจค พาแลนซ์ (แสดงเป็น มือปืนรับจ้างที่ชื่อว่า “สตาร์ก วิลสัน”) นอกจากนี้ก็มีชื่อตัวเอกในเรื่องที่สร้างจากประวัติของคนจริงๆ ในประวัติศาสตร์ เช่น บัฟฟาโล บิลล์, บิลลีเดอะคิด และ เจสลี เจมส์ เป็นต้น
บัฟฟาโล บิลล์ มีอยู่ด้วยกัน 2 คน คนแรกเป็นคนดี มีชื่อเต็มๆว่า “วิลเลียม ‘บัฟฟาโล บิลล์’ โคดี” (William ‘Buffalo Bill’ Cody) มีชื่อเสียงมาก่อนคนหลัง ส่วนคนที่ 2 นั้นมีชื่อว่า “วิลเลียม บัฟฟาโล บิลล์ บรู้กส์” ได้รับเลือกให้เป็นนายอำเภอแห่งเมืองดอดจ์ซิตี้ รัฐแคนซัส ในช่วงที่บ้านเมืองเกิดความวุ่นวาย เพราะเชื่อว่าจะสามารถควบคุมพวกโจรได้ ภายหลังชาวเมืองจับได้ว่าเขาทำตัวเป็นจอมบงการชุมโจรปล้นม้าเสียเอง เขาจึงถูกจับแขวนคอเมื่อปี พ.ศ.2417 ส่วนเจสสี เจมส์ มีชื่อเต็มๆว่า “เจสสี วู้ดสัน เจมส์” (Jesse Woodson James) เกิดเมื่อปี ค.ศ.1848 มีพี่ชายชื่อว่า แฟรงก์ เจมส์ เป็นอดีตทหารหน่วยจรยุทธ์ของรัฐฝ่ายใต้คราวที่เกิดสงครามกลางเมือง หรือ “สงครามเลิกทาส” ระหว่างรัฐฝ่ายเหนือกับรัฐฝ่ายใต้ สมัยประธานาธิบดีลินคอล์น (The American Civil War, 1861-1865) ตรงกับปี พ.ศ.2404 -2408 สมัยรัชกาลที่ 4 ของไทยเรา เมื่อสงครามสงบลง เขากับพี่ชายและพี่น้องในตระกูล “ยังเกอร์” คือ บ็อบ ยังเกอร์ กับ โคล ยังเกอร์ (บางตำราก็ว่าตระกูล “ยัง” (Young) ได้ร่วมกันปล้นรถไฟ และธนาคารในรัฐต่างๆ ต่างกรรมต่างวาระกันมากกว่า 26 ครั้ง มีคนที่ต้องตายไปเพราะถูกปล้น และที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ราวๆ 20 คน ทำให้ค่าหัวสินบนนำจับของพวกเขา ขึ้นไปสูงถึงหัวละ 10,000 เหรียญสหรัฐ ไม่ว่าจะจับเป็นหรือจับตาย จนในที่สุด ด้วยแรงจูงใจจากค่าหัวดังกล่าว ทำให้เขาต้องตกเป็นเป้ากระสุนของพี่น้องสกุลฟอร์ด ที่ชื่อว่าโรเบิร์ตกับชาร์ลส์ในไร่ที่เซนต์โยเซฟ รัฐมิสซูรี จากการลอบยิงข้างหลังเมื่อปี ค.ศ. 1882 ทั้งๆ ที่เขาอุตส่าห์หลบหนีมือของกฎหมายและเปลี่ยนชื่อไปเป็น “ทอม โฮเวิร์ด” (Tom Howard) แล้วก็ตาม
บิลลีเดอะคิด มีชื่อจริงว่า วิลเลียม หรือ บิลลี่ บอนนีย์ (William Bonney) ถือกำเนิดมา ณ มหานครนิวยอร์ก เมื่อปี ค.ศ. 1880 ก่อนเจสสี เจมส์ ตาย 2 ปี ต่อมามารดาซึ่งเป็นแม่ม่าย เพราะบิดาสิ้นชีวิตเมื่อเขามีอายุได้เพียง 8 ขวบ ได้พาเขาไปทำมาหากินอยู่ที่เมืองลินคอล์น รัฐเท็กซัส ต้องใช้ชีวิตแบบ “ปากกัดตีนถีบ” จนกระทั่งเขามีอายุได้ 17 ปี ก็เกิดเหตุใหญ่ เพราะมารดาของเขาถูกผู้มีอิทธิพลคนหนึ่งลวนลามต่อหน้าและในที่สาธารณะ เขาได้ทำร้ายคนผู้นั้นจนถึงตาย ทำให้ต้องหนีกฎหมายไปอยู่กับซ่องโจร ใช้เวลาเพียง 2 ปีให้หลัง เขาก็ได้ยกระดับตัวเองขึ้นเป็น “หัวหน้าซ่องโจร” ได้อย่างเต็มภาคภูมิ ประธานาธิบดี รุตเธอร์ ฟอร์ด เฮย์ส ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายปราบปรามจากส่วนกลางคือ แพต กาเรตต์ มาปราบบิลลีเดอะคิดโดยเฉพาะ ซึ่งจากการที่มีการวางแผนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ทำให้บิลลีต้องสิ้นชื่อลงด้วยน้ำมือของแพต กาเรตต์ กับลูกน้องของเขา ขณะที่บิลลีมีอายุได้เพียง 21 ปี ว่ากันว่า ในบรรดามือปืนตะวันตกด้วยกันนั้น เจสสี เจมส์ กับบิลลี่ เดอะคิด ชักปืนไวและยิงแม่นที่สุด แต่ในชีวิตจริงพวกเขาไม่มีโอกาสจะได้พบกัน เพราะทั้งคู่มีอายุห่างกันเหมือนลูกกับพ่อ จึงไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าใครจะเหนือใคร
ภาพยนตร์ที่สร้างเกี่ยวกับประวัติของเจสสี เจมส์ นั้น เท่าที่พอจะหามาดูทบทวนได้คือ เรื่อง The Long Riders ตั้งชื่อเป็นภาษาไทยว่า “เจสสี เจมส์ โจรพันธุ์แท้” นำแสดงโดย เดวิด คาร์เรเดียน, เคต คาร์เรเดียน และโรเบิร์ต คาร์เรเดียน .... เป็นภาพยนตร์ที่มีแต่การปล้นแทบจะตลอดเรื่อง ส่วนภาพยนตร์อันเป็นอัตชีวประวัติของ “บิลลีเดอะคิด” นั้นโฮเวิร์ด ฮิวจ์ ผู้เป็นเจ้าของประวัติในภาพยนตร์เรื่อง The Aviator เคยสร้างไว้และนำออกฉายเมื่อปี ค.ศ. 1943 ตรงกับปี พ.ศ.2486 ตั้งชื่อเรื่องว่า “The Outlaw” (เหนือกฎหมาย) ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้แสดงเป็นบิลลีเดอะคิด เพราะไม่ได้ระบุชื่อไว้ ดูจากรูปภาพในใบปิดหนังก็มีความหล่อเหลาอยู่ไม่เบา ส่วนนางเอกก็คือ เจน รัสเซลล์ ซึ่งอวดทรวงอกอันอะร้าอร่ามของเธออย่างเต็มที่ให้สมกับที่มี “เจ้าพ่อเพลย์บอย” เป็นผู้สร้างและสนับสนุน ย้อนกลับไปหาภาพยนตร์เรื่อง “เชน” กันอีกสักเล็กน้อย เนื้อเรื่องของภาพยนตร์เดินตามหลังหนังสือนิยายเรื่อง “เชน” ของ “แจค แชเฟอร์” เกือบทั้งหมด คงมีต่างออกไปเพียงเล็กน้อยในบางตอน เนื้อเรื่องย่อมีอยู่ว่า เชน เป็นสุภาพบุรุษแม่นปืนพเนจรที่ไม่มีใครทราบถึงประวัติความเป็นมาที่แน่นอน บ้างก็เชื่อว่าเขาคือ “แชนนอน” ผู้เป็นทั้งนักเลงปืนคนกล้าชื่อกระฉ่อน และเป็นนักพนันมือฉกาจที่อยู่แถวรัฐอาร์คันซอส์และรัฐเท็กซัส แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่เล่าเรื่องราวของเขาแตกต่างออกไป ในภาพยนตร์เริ่มเรื่องตอนที่เขาขี่ม้าเข้ามาในหุบเขาแห่งหนึ่งในรัฐไวโอมิง ซึ่งเป็นผืนดินของ โจ สตาร์เรต เพื่อพักม้าและขอน้ำดื่ม แต่หลังจากที่ได้มีวิสาสะกันอยู่พักหนึ่ง เขาได้ตกลงใจที่จะพักอยู่กับโจระยะหนึ่งเพื่อช่วยทำงานในไร่เกษตร โดยที่เราไม่ทราบถึงเหตุผลที่ชัดเจน อาจจะเป็นเพราะการที่เขาได้เห็นด้วยสายตาของตนเองว่า โจ สตาร์เรต กำลังได้รับความลำบากเพราะถูกนายทุนอิทธิพลข่มขู่ให้ขายที่ดิน เพื่อที่จะใช้เป็นที่เลี้ยงสัตว์สัมปทาน บวกกับความชอบพอในนิสัยใจคอของโจ,มาเรียน – ภรรยาของโจ และโจอี หรือบ็อบ – ลูกชายผู้กระตือรือร้นและแสดงตัวว่าชื่นชมเชนก็อาจจะเป็นได้ ต่อมาเมื่อเชนได้เข้าไปในเมืองที่ร้านของกราฟตัน ซึ่งเป็นที่รวมของพวกนักเลงลูกน้องของ “ลุค เฟลตเชอร์” ผู้ทรงอิทธิพลและเจ้าของคอกปศุสัตว์รายใหญ่ เขาก็ถูกพวกนั้นด่าว่าเสี่ยดสีและห้ามไม่ให้เข้าไปซื้อสินค้าที่นั่น จนเมื่อเขาได้เข้าไปพร้อมกับโจ ครอบครัวของโจและเพื่อนบ้านอีกหลากคน เขาได้รับรู้การข่มขี่ก เขาจึงได้ชกกับคริสและลูกน้องคนอื่นๆ ของเฟลตเชอร์อย่างชนิดฝากฝีมือ แต่เนื่องจากเป็นการชกแบบถูกรุมจาก “หมาหมู่” ทำให้โจต้องใช้ไม้ท่อนเข้าไปฟาดฟันเพื่อช่วยเชนออกมา ทำให้พวกกวนเมืองต้องขยาดในฝีมือได้ไม่น้อย โจและเพื่อนบ้านถูกข่มขู่จนถึงที่ บางคนถูกเผาบ้าน บางคนถูกยิงตาย เพราะเฟลตเชอร์ไปหามือปืนมหากาฬที่ชื่อว่า “สตาร์ก วิลสัน” มาช่วยและมาพักอยู่ที่โรงแรมของกราฟตันด้วย จนในที่สุดเฟลตเชอร์ได้วางอำนาจถึงกับสั่งให้โจ สตาร์เรต ไปพบ โดยตั้งใจว่า หากโจไม่ยอมขายที่ให้ก็จะหาเรื่องยิงทิ้งโดยอ้างว่าเป็นการดวลปืนกัน ในคืนวันหนึ่ง โจ สตาร์เรต ไม่มีทางหลีกเลี่ยง เขาจำเป็นต้องเดินทางไปพบเฟลตเชอร์ ในขณะที่เชนก็เห็นว่า โจคงจะรับมือกับพวกอันธพาลไม่ไหว เขาจึงจะเข้าไปเสียเอง แต่โจก็ไม่ยอมเพราะไม่ใช่เรื่องของเชน ในที่สุดทั้งคู่ได้ต่อสู้กันด้วยหมัดลุ่นๆ จนเชนเกือบจะเสียท่าอยู่แล้ว เขาจึงต้องใช้เครื่องทุ่นแรงคือ ด้ามปืน ซัดท้ายทอยของโจเข้าไป 1 ที โจสลบเหมือด และเชนมอบโจไว้ให้มาเรียนดูแล เขาให้มาเรียนเก็บปืนของโจไว้ และไล่ม้าของโจออกจากคอกไปพร้อมคำพูดเป็นเชิงปลอบใจโจว่า “เขาจะได้พักผ่อนให้สบาย เวลาฟื้นก็คงจะเพลียนิดหน่อย แต่ไม่เป็นไร บอกเขาด้วยนะครับว่า ไม่มีใครต้องอายหรอกเมื่อพลาดท่าให้เซน” ...แล้วเชนก็ขี่ม้าพร้อมปืนพกเข้าเมืองไป ที่ร้านของกราฟตัน หลังจากต่อปากต่อคำกับสตาร์ก วิลสัน และเฟลตเชอร์อยู่ชั่วครู่เดียว เชนก็ดวลปืนกับวิลสันและเฟลตเชอร์ชนิด 1 ต่อ 2 คู่ต่อสู้ทั้งสองคนดับดิ้นไปเพราะความแม่นและเร็วของเชน แถมเมื่อเขาหันหลังกลับจะออกจากร้าน มีลูกน้องของเฟลตเชอร์อีกคนหนึ่งจะลอบยิงเขาทางด้านหลัง เขาก็ย่อตัวและหันมาสอยเจ้านั่นจนหล่นลงมาจากระเบียงอีกคนหนึ่ง โดยที่ตัวเขาเองไม่เป็นอันตรายหรือบาดเจ็บใดๆ ทั้งสิ้น ในนิยายระบุว่า เชน บาดเจ็บจากกระสุนของวิลสันบริเวณหน้าท้องเหนือเข็มขัด ....แล้วเขาก็ขี่ม้าจากหุบเขาไป
ในหนังสือนิยายเรื่องเชน เขาได้กล่าววาทะต่อทุกคนที่อยู่ในร้านกราฟตัน ภายหลังการดวลปืนไว้ว่า “ผมจะขึ้นม้าไปจากที่นี่แล้ว ห้ามใครตามออกไปโดยเด็ดขาด” วันที่เชนขึ้นหลังม้าออกจากหุบเขาไปนั้น ในนิยายระบุไว้ว่า คือปี ค.ศ. 1889 ตรงกับปี พ.ศ. 2432 แห่งรัชสมัยรัชกาลที่ 5 ของไทยเรา เชนนับเป็นพระเอกที่น่าประทับใจมาก เขาเป็นคนรูปงาม สง่า สุภาพ แต่งตัวอย่างคนที่มีรสนิยมสูง แต่เขาก็เป็นคนสู้งาน หนักเอาเบาสู้ ในขณะที่ช่วยงานของโจ เขาไม่รังเกียจการใช้กำลังกายแต่อย่างใดทั้งสิ้น ส่วนในภาพยนตร์นั้น ผู้ชมจะจดจำเขาได้ในตอนที่การดวลปืนสิ้นสุดลง เขาควงปืนไปและกลับถึง 2 รอบก่อนจะหย่อนเข้าซองปืนด้วยความนุ่มนวล เป็นภาพที่น่าประทับใจอย่างไม่รู้ลืม นับว่า “อลัน แลตต์” สวมบทบาทของเชนได้ อย่างไม่มีที่ติ สมควรที่ผู้นิยมภาพยนตร์ในแนวโคบาลตะวันตกจะหา “เชน” มาสะสมเอาไว้เสีย ในส่วนของหลุยส์ ลามูร์ (Louis L’ amour) ซึ่งเป็นนักเขียนนิยายแนวตะวันตก (Western Novel) นั้น เขาได้เขียนนิยายขึ้นมาหลายเรื่อง บางเรื่องได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์ เช่น เรื่อง How The West was Won (พิชิตตะวันตก) ซึ่งเป็นเรื่องที่รวมเอาดาราใหญ่ๆ ของฮอลลีวู้ด ไว้มากมาย และผู้ชมจะได้เห็นฉากธรรมชาติที่สวยงามตลอดเรื่องเลยทีเดียว
(ถอดความบางส่วนจาก หนังสือ “ย้อนรอยหนังฝรั่ง” โดย ไพบูลย์ แพงเงิน ,ภาพยนตร์โคบาลตะวันตก,สำนักพิมพ์วลี ครีเอชั่น)
วิวัฒนาการของหนังคาวบอยจากอดีตมาถึงปัจจุบัน