วันอาทิตย์ที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2556

กระแสโกโบบี้ vs โกแบร์รี่ หรือจะสู้กระแสพี่มาก พระโขนง


กระแสนวนิยายเรื่องคู่กรรม ที่ถูกนำมาสร้างเป็นละครและภาพยนตร์ไทย นั้นไม่เคยห่างหายไปจากวงการบันเทิงไทยเลย ถูกนำมาสร้างวนเวียนฉายอยู่เป็นประจำ ถือเป็นนวนิยายฮิตเรื่องนึงของไทยเลยทีเดียว ถ้ามีการจัดอันดับนวนิยายไทยที่ถูกนำมาสร้างบ่อยก็คงเป็นเรื่องนึงที่ติดอันดับต้นๆ ของเมืองไทย แต่ไม่ว่าจะถูกนำมาสร้างกี่ครั้งก็ตาม ก็ยังได้รับความนิยมอยู่ทุกยุคทุกสมัย เนื่องจากเป็นนวนิยายรัก อมตะ เรื่องราวความรัก ซาบซึ้งกินใจ ของคน 2 เชื้อชาติ ต่างวัฒนธรรม ต่างภาษา ต่างอุดมการณ์ ต่างความคิด แต่มีอันต้องมาผูกสัมพันธ์กันด้วยหน้าที่ ภารกิจ ความรักชาติ เกียรติยศ ศักดิ์ศรี แต่ด้วยความใกล้ชิดกัน จนเกิดเป็นความผูกพัน ความรักจึงบังเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว โกโบรินั้นรู้แต่แรกแล้วว่าชอบและประทับใจในตัวอังศุมาลินมาก แต่แสร้งเก็บงำความรู้สึกไว้ และด้วยความเป็นชายชาติทหาร ส่วนอังศุมาลินนั้นไม่รู้ตัวมาก่อนว่าโกโบริมาชอบตน และก็รู้สึกมองโกโบริว่าเป็นศัตรูของตนอยู่ตลอดเวลา จนเมื่อมาทราบใจของตนเองว่าหลงรักโกโบริไปแล้ว ก็เมื่อภายหลังจากโดนบังคับให้แต่งงานกับโกโบริไปแล้ว ช่วงเวลาที่กลายมาเป็นสามีภรรยากันนั่นแหละ แต่ช่วงเวลาของความสุขมักมาเพียงระยะสั้น กว่าจะรู้ใจตัวเองก็เป็นช่วงเวลาที่ถึงจุดจบของความรักแล้วนั่นเอง นี่แหละเป็นจุดไคลแม็กซ์ที่ทำให้นวนิยายเรื่องคุ่กรรมกลายเป็นวรรณกรรมอมตะที่คนไทยรัก คล้ายๆ วรรณกรรมอมตะของโลก ของเช็คสเปียร์เรื่องโรมิโอแอนด์จูเลียต ที่คู่รักกันแต่กรรมเวรก็มาพรากชีวิตคู่ให้ไม่สมหวัง และพลัดพรากจากกันไปในที่สุด

ละครคู่กรรม ฉบับเอ็กแซ็กท์ ที่ได้ บี้สุกฤษณ์ กับหนูนา หนึ่งธิดา มารับบทโกโบริ และอังศุมาลิน

ฉบับนี้ถูกตีความใหม่โดยคุณถกลเกียรติ วีรวรรณ บิ๊กบอสใหญ่ของค่ายเอ็กแซ็กท์ โดยวางบทโกโบริให้บี้เล่น แต่เวอร์ชั่นนี้ โกโบริ ออกจะขี้เล่น และดูเป็นโกโบริในแบบฉบับที่น่ารัก ขี้เล่น และขี้อ้อนกว่าทุกเวอร์ชั่นที่ผ่านมา ซึ่งก็คงมีทั้งส่วนดีและส่วนเสีย และก็ไม่ค่อยตรงตามบทประพันธ์มากนัก แต่ในแง่ความเป็นละครแล้วต้องถือว่าประสบความสำเร็จ เพราะทำให้คนดูละครหลงรักในตัวละครตัวนี้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งในฉากจบ ซึ่งโกโบริจะต้องตายนั้น คนดูจะเอาใจช่วยหรือหลงรักโกโบบี้หนักขึ้นไปอีก ไม่อยากให้ตาย แม้แต่เจ้าของบทประพันธ์เอง อย่างคุณทมยันตี เองก็ยังชอบ และไม่ได้ทักท้วงอะไร ในขณะที่คุณบอยเคยให้สัมภาษณ์ไว้ในสื่อว่า ตนเองตั้งใจให้บทของโกโบริในเวอร์ชั่นนี้มีคาแรกเตอร์เป็นแบบนี้เอง และก็ทำให้เข้าใจคุณบอยที่เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า วางตัวบี้ให้เล่นบทโกโบริ มาตั้งแต่ 5 ปีที่แล้ว ยอมซื้อบทประพันธ์เรื่องนี้มาเก็บไว้ เพื่อรอการพัฒนาการของบี้ในการเล่นละคร ให้ความพร้อมมาถึงจึงให้บี้เล่น ในขณะที่ตัวละครอังศุมาลินที่รับบทโดยหนูนานั้น แรกๆ คนดูละครอาจจะยังไม่ยอมรับว่าหนูนาจะใช่อังศุมาลิน ตรงตามบทประพันธ์หรือจินตนาการของคนดู แต่พอได้เห็นการถ่ายทอดอารมณ์และการแสดงของเธอแล้ว ทำให้ยอมรับในฝีมือการแสดงของหนูนาว่าทำได้อย่างดี และดูเคมีจะเข้ากับบี้มาก จึงไม่แปลกที่ทั้งคู่จะโคจรมาพบกันอีก จากก่อนหน้านี้แสดงละครเวทีด้วยกันในรักจับใจ เดอะมิวสิคัลมาแล้ว


ภาพยนตร์เรื่องคู่กรรม 2013 ฉบับ M39 ที่ได้ ณเดชน์ คูกิมิยะ กับน้องริชชี่ (อมราวดี ดีคาบาเลส) มารับบทโกโบริ และอังศุมาลิน ด้วยทุนสร้างกว่า 70 ล้านบาท

ฉบับนี้ถูกตีความใหม่โดยคุณเรียว กิตติกร เลียวศิริกุล ผู้กำกับชื่อดัง โดยเวอร์ชั่นนี้เทน้ำหนักไปไว้กับตัวละครหลักเพียง 2 คนในเรื่องคือโกโบริ และอังศุมาลิน นอกนั้นเป็นองค์ประกอบเสริม และวางโครงเรื่องหลักไปไว้ตรงช่วงท้ายของบทประพันธ์ ซึ่งก็เป็นการตีความที่แปลกใหม่จากทุกเวอร์ชั่น และไม่ค่อยตรงกับบทประพันธ์มากนัก และไม่อิงแก่นแกนของบทประพันธ์เสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งผู้เขียนคิดว่า ถ้างั้นทำไมไม่สร้างพล็อตเรื่องขึ้นมาใหม่เลยจะดีกว่ามั๊ย ใช้ฉากหลังเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (ช่วงญี่ปุ่นบุกยึดประเทศไทย) อาจทำให้คนดูไม่ติดยึดกับเรื่องราวอะไรเกี่ยวกับนวนิยายคู่กรรมเลยก็ยังได้ โดยให้มีเนื้อหาเพียงแต่คล้ายกัน แต่ไปให้น้ำหนักกับเรื่องของความรักของตัวละครทั้ง 2 ตัว ที่สมมติขึ้น แต่ผู้กำกับหรือทางผู้สร้างกับเลือกที่จะนำนวนิยายคู่กรรมมาสร้าง โดยใช้แต่เพียงชื่อ นอกเหนือจากนั้นแล้วเนื้อหาโดยส่วนใหญ่เอามาสร้างเป็นเสมือนอีกเรื่องนึง ทำให้กระแสคนดูโดยส่วนใหญ่รับไม่ได้ แล้วส่วนที่เด่นมากที่สุดของเวอร์ชั่นนี้ก็คือโปรดักชั่นดีไซน์ ไม่ว่าจะเป็นฉากทิ้งระเบิด เครื่องแต่งกายตัวละคร ความสมจริงของภาษา ท่าทางตัวละครที่เป็นคนญี่ปุ่น เพลงประกอบและเพลงนำภาพยนตร์ และการแสดงที่ดีของณเดชน์ที่รับบทเป็นโกโบริ ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นที่ตัวแสดงในบทโกโบรินั้นน่าจะเรียกได้ว่าเป็นเวอร์ชั่นที่ดีที่สุดก็ว่าได้ และสมจริงตรงตามบทประพันธ์ เพราะตัวณเดชน์เองก็เป็นลูกครึ่งญี่ปุ่น แม้เชื้อสายจะเป็นฝรั่ง และสำเนียงภาษาท่าทางถือได้ว่าแสดงได้เหมือนและสมจริง ทำให้คนดูเชื่อว่าณเดชน์คือโกโบริ หรือที่เราเรียกว่า โกแบร์รี่ นอกเหนือจากนั้นแล้วตัวณเดชน์ไม่สามารถแบกเรื่องทั้งเรื่องไว้ได้ พลอยทำให้หนังที่ตั้งใจสร้างมาเสียดิบดี แต่ไม่สามารถสร้างความประทับใจให้กับคนดูได้ จุดอ่อนของหนังเรื่องนี้อย่างที่ทราบๆ กันก็คือ ตัวแสดงที่รับบทอังศุมาลินนั้นยังตีบทยังไม่แตก แม้ว่าการแสดงจะดูเป็นธรรมชาติ แต่พลังทางด้านการแสดง และการส่งอารมณ์นั้นดูดร็อปมากเมื่อเปรียบเทียบกับณเดชน์ ยังไม่นับองค์ประกอบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นบทพ่อ,แม่,ยายของอังศุมาลิน บทวนัส แฟนเก่าของอังศุมาลิน ก็มีเพียงน้อยนิด ไม่ได้ให้น้ำหนักอะไร และการปูเรื่อง ถึงที่มาที่ไปของตัวละครอย่างอังศุมาลินนั้นแทบไม่มี ทำให้คนดูไม่ได้รัก หรือสงสารตัวละครอย่างอังศุมาลินเลย ซึ่งส่งผลไปถึงฉากจบที่โกโบริและอังศุมาลินต้องพรากจากกัน เป็นตอนจบที่ไม่สามารถสร้างความประทับใจให้กับคนดูได้ หากจะเปรียบเทียบกับฉบับละครก็ต้องถือว่าห่างไกลกันหลายขุม เพราะมีการปูเรื่อง และให้น้ำหนักตัวละครแวดล้อมต่างๆมาอย่างดี แต่ถึงกระนั้นทางผู้สร้างย่อมให้เหตุผลได้ว่าฉบับภาพยนตร์ มีเวลาจำกัด ไม่สามารถให้รายละเอียดของตัวละครทุกตัวได้อย่างครบถ้วน ถ้าเช่นนั้นก็อยากให้ผู้สร้างลองไปดูภาพยนตร์เรื่องจันดาราดูว่า เขาให้น้ำหนักตัวละครอย่างไร ซึ่งมีตัวละครมากกว่าเรื่องคู่กรรมเสียอีก และไม่จำเป็นต้องสร้างแบ่งเป็น 2ภาค เหมือนจันดาราก็ได้ แต่ภาพยนตร์เรืองคู่กรรมฉบับก่อนหน้านี้ ก็สามารถทำออกมาได้โดนใจคนดูมากกว่านี้ อยากจะบอกว่า การตีความใหม่ ไม่ผิด และไม่ใช่ว่าจะทำแล้วเสี่ยงที่คนดูจะไม่ยอมรับ (ลองดูพี่มาก พระโขนง ดูสิว่าเขาประสบความสำเร็จขนาดไหน จะพูดถึงในลำดับถัดไป) แต่การที่จะขยายการตีความในช่วงท้ายบทประพันธ์ให้กว้างและลึกขึ้น ก็ไม่ควรมองข้าม หรือให้น้ำหนักในช่วงต้นเรื่องด้วยสิ อาจใช้วิธีเล่าเรื่องช่วงต้นแบบย่อ ถึงตัวละครหลักๆ ต่างๆ หรือใช้การเล่าบรรยายผ่านภาพแบบเร็วๆ เหมือนที่จันดาราทำก็น่าจะช่วยได้ นักวิจารณ์หลายคนบอกว่าคุณเรียวอาจไม่ถนัดทำหนังดราม่า บ้างก็ว่ามือไม่ถึง บ้างก็ว่าบทมีปัญหา และบ้างก็ว่านวนิยายเรื่องนี้ขึ้นหิ้งคลาสสิกไปแล้ว การที่จะไปบิดเรื่อง ตีความใหม่ที่ผิดแผกไปจากเดิมมากนั้นเสี่ยงที่คนดูจะไม่รับ บ้างก็ว่าตัวแสดงที่รับบทอังศุมาลินนั้นเคมีไม่เข้ากับณเดชน์เอาเสียเลย ผิดตั้งแต่แคสติ้งตัวแสดงหลักทั้งหมดแล้ว ไม่เฉพาะตัวอังศุมาลินแต่เพียงอย่างเดียว ทั้งหลายทั้งปวงคงแล้วแต่นานาจิตตัง เพราะผู้สร้างย่อมต้องทำสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อคนดูอยู่แล้ว เพราะใครๆก็หวังให้คนดูประทับใจและสร้างรายได้ให้มากที่สุดอยู่แล้ว อย่างไรก็ดีผู้เขียนยังคิดว่าหนังยังมีส่วนดีในแง่ของมุมมองใหม่ๆ เกี่ยวกับการตีความบางอย่างที่ไม่เหมือนเวอร์ชั่นเดิมๆ และการแสดงของณเดชน์ รวมถึงโปรดักชั่นดีไซน์ในหลายๆ ฉาก ทำให้เป็นหนังน่าดูอีกเรืองนึง แม้ว่ากระแสการตอบรับจากในประเทศเรื่องคู่กรรมจะเป็นอย่างไร แต่เท่าที่ทราบกระแสการตอบรับจากต่างประเทศที่ต้องการดูหนังเรื่องนี้ก็น่าจะมากอยู่ และในท้ายที่สุดก็อาจทำให้รายได้โดยรวมไม่ทำให้เกิดผลขาดทุนมากนัก


พี่มาก พระโขนง ฉบับตีความใหม่ โดย GTH และผู้กำกับ โต้ง บรรจง ปิสัญธนะกูล ด้วยทุนสร้างประมาณ 30 ล้านบาท

ทันทีที่ได้รับทราบข่าวว่าทาง ผู้กำกับคนเก่งอย่าง โต้ง บรรจง คิดจะนำตำนานเรื่องแม่นาคพระโขนง มารีเมคสร้างใหม่ โดยวางเค้าโครงเรื่องให้ ตัวตลก 4 คนจากคนกลาง คนกอง (4แพร่ง,5แพร่ง) และบทพี่มากเป็นตัวเดินเรื่องทั้งหมด และเป็นการตีความโดยมุมมองจากฝั่งพี่มาก แทนที่จะเป็นแม่นาค เหมือนเวอร์ชั่นเดิมๆ เก่าๆ พล็อตนี้ก็น่าสนใจแล้ว และจะเป็นฉบับที่ขายขำเสียเป็นส่วนใหญ่ บ่องตง ว่าอยากดู
แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้ไม่ค่อยสบายใจนักก็คือคำหยาบคายเยอะไปหน่อย บางทีเราสามารถเล่นมุกโดยไม่ต้องใช้คำหยาบก็ได้นี่ อีกทั้งองค์ประกอบที่ใส่เข้ามาในหนังโดยไม่คำนึงถึงความสมจริง ตรงตามยุคสมัยของหนัง ต้องถือเป็นความโชคดีของหนังตรงที่ บังเอิญว่ามันเป็นหนังที่มีจุดขายเป็นหนังตลก หากว่าธีมหนังเป็นดราม่าแล้วหล่ะก็ อาจทำให้คนดูทำใจยอมรับได้ยากกว่านี้ การสร้างกระแสเริ่มทำกันมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้วก็ว่าได้ เพราะผู้กำกับใช้กลยุทธ์การตลาดแบบว่าค่อยๆ ปล่อยคลิปบางส่วนของฉากตลกในเรื่องออกมา เชิญชวนผู้สื่อข่าวไปดูเบื้องหลังการถ่ายทำถึงในกองถ่ายที่เป็นสถานที่จริงใช้ถ่ายทำ ภาพโปสเตอร์ เพลงประกอบ รวมถึงทีเซอร์เวอร์ชั่นต่างๆ มาเรียกเสียงฮือฮา และกระแสให้เกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ จนเมื่อเข้าฉายจริง 4 วันแรกก็ถล่มทลายด้วยรายได้ที่เป็นสถิติของทางค่าย GTH และน่าจะเป็นสถิติของหนังผี ตลก ด้วยก็ว่าได้ ดังนั้น ผู้เขียนจึงคิดว่าหนังเรื่องนี้ไม่ได้ประสบความสำเร็จแบบฟลุ้คๆ เป็นแน่ ทุกอย่างได้ถูกวางแผน และผ่านการทำวิจัย รีเสิร์ชมาอย่างดี ตลอดจนนำเอากลยุทธ์การตลาดทุกรูปแบบมาใช้ได้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุดเรืองนึง อีกทั้งยังเป็นหนังสูตรที่รวมเอาทุกสูตรสำเร็จมาใช้ได้อย่างลงตัวและสมบูรณ์ที่สุดเรื่องนึงเลย สูตรที่ว่าคืออะไรบ้าง ดังนี้


1.หนังที่จะประสบความสำเร็จในตลาดหนังไทยต้องเป็นหนังผี ตลก กระเทย เป็นสำคัญ เรื่องนี้เป็นหนังผีผสมตลก น้ำหนักไปทางตลกชัดเจนกว่า ส่วนกระเทยเรื่องนี้ไม่มี แต่ก็ยังยืนพื้นหนังผีกับตลกเอาไว้

2.หนังที่จะประสบความสำเร็จในตลาดหนังไทยช่วงหลังต้องเป็นหนังรักหรือหนังฟีลกู๊ด เรื่องนี้เป็นหนังรัก (ตำนานรักของแม่นาคกับพ่อมาก) และตอนจบเป็นการจบแบบฟีลกู๊ด ตรงตามสูตร GTH เป๊ะ

3.หนังที่จะประสบความสำเร็จในตลาดหนังไทย อย่าไปยุ่งกับ สัตว์ เด็ก เอ็ฟเฟ็คท์ สลิง เรื่องนี้ไม่มีสัตว์เด็ก มีแต่ผี เอ็ฟเฟ็คท์มีบ้างช่วงฉากสงครามต้นเรื่อง ซึ่งสมจริงมาก และก็ฉากที่ต้องใช้สลิงก็คือฉากห้อยหัวของแม่นาค ซึ่งเป็นฉากจำและสำคัญที่ต้องมี ซึ่งผู้กำกับให้ใช้ตัวแสดงจริงเล่น(ใหม่ ดาวิกาห้อยหัวลงมาจากคานจริง) เพื่อความสมจริง และก็ให้ได้มาตรฐานเดียวกับหนังบู๊ คือเล่นจริง เจ็บจริง แบบฉบับหนังพี่พันนา จา พนม

4.หนังที่จะประสบความสำเร็จจะต้องมีไดอะล็อกหรือบทพูดที่กินใจ และบทโต้ตอบของตัวละครที่สร้างความประทับใจ ในหนังเรื่องพีมากนี้ มีเยอะมาก ทั้งบทพูด ภาษา ศัพท์แสง แสลง ที่เป็นประโยคภาษาแบบภาษาพูดของคนปัจจุบันไปใส่ไว้ในไดอะล็อกของตัวละคร 4 ตัวตลก (เผือก เต๋อ ชิน เอ) ซึ่งแม้ดูจะไม่ตรงกับยุคสมัย หรือเรื่องราวตัวละคร แต่ภาษาพูดเหล่านั้นกับไปตรงใจคนดู (อันนี้น่าจะเป็นส่วนนึงของการตีความใหม่ และตอบโจทย์ว่าคนดูต้องการอะไรด้วย)

5.หนังที่จะประสบความสำเร็จจะต้องมีการแคสติ้งตัวละครที่เหมาะสมกับบท หรือตัวละครหลัก แรกเริ่มที่มีการวางตัวมาริโอ้ เมาเร่อร์ กับใหม่ ดาวิกา มารับบทพี่มาก กับนางนาค นั้น คนดูโดยส่วนใหญ่ไม่ค่อยแน่ใจว่าจะเวิร์คหรือไม่ แต่ในส่วนของ 4ตัวตลกนั้นก็โอเคและเป็นจุดขายของหนังอยู่แล้ว แต่พอมาเมื่อทราบว่ามีการตีความว่าพี่มาก แท้ที่จริงแล้วคือ พี่มาร์ค ซึ่งเป็นเพื่อนกับแดนนี่ ที่กลับสหรัฐไปกับมิชชันเนอรีแล้ว ฉากนี้ฮากันลั่นโรงเลยอ่ะ (ช่างคิดได้เน๊อะ) ส่วนใหม่ ดาวิกาที่มารับบทนางนาค นั้นถือว่าตีบทแตกเลย เพราะทั้งหน้าตาที่สวยคมแบบไทยสมัยโบราณก็ได้ แววตาที่สะท้อนอารมณ์ของตัวละครได้อย่างชัดเจน การแสดงที่เยี่ยมยอดของทั้งคู่คือ มาริโอ้และใหม่ดาวิกา ถือว่าเคมีเข้ากันฝุดๆ

6.หนังที่จะประสบความสำเร็จจะต้องมีมุกหรือการหักมุม หรือสามารถสร้างมุมมองความคิดใหม่ให้เกิดขึ้นกับคนดูไปอีกด้านนึงในช่วงท้ายเรื่อง หรือตอนจบ จริงๆ แล้วเรื่องนี้คงไม่จำเป็นต้องมีการหักมุมในตอนท้ายเรื่องก็ได้ เพราะคนดูก็น่าจะทราบเค้าโครงเรื่อง เนื้อหาของเรื่องมาเป็นอย่างดีแล้ว แต่เหตุที่ต้องมีการหักมุมเปลี่ยนทิศทางของหนังตอนจบ ก็น่าจะมาจากเนื้อหาตอนกลางและตอนท้ายเรื่องนำคนดูออกทะเลไปมากแล้ว หากไม่ปรับทิศทางของหนังให้กลับเข้ามาสู่โหมดฟีลกู๊ด อาจทำให้จบได้ไม่ประทับใจคนดู และกระแสบอกต่อจะไม่แรงพอ หรือดึงดูดพอให้อยากกลับมาดูซ้ำ อันนี้จึงเป็นความชาญฉลาดของผู้กำกับโดยแท้ บวกกับฝีมือ และจังหวะการเล่าเรื่องที่เก่งและสนุก มุกถูกหยอดมาเป็นระยะๆ เรียกว่าหัวเราะจนเหนื่อย ไม่มีเวลาหายใจหายคอ หัวเราะเป็นบ้าเป็นบอ สุดท้ายขมวดให้ซึ้ง ชนิดที่ว่าหัวเราะร่าน้ำตารินกันเลยทีเดียว

7.หนังที่จะประสบความสำเร็จจะต้องมีองค์ประกอบศิลป์ที่ครบสมบูรณ์ โปรดักชั่นดีไซน์สุดเก๋ เช่น ฉาก เครื่องแต่งกาย อุปกรณ์ประกอบฉาก ตัวละครเด่นๆ บทภาพยนตร์ บทพูด เพลงประกอบ เพลงนำที่ไพเราะ การตัดต่อ การถ่ายภาพ การเดินเรื่อง การเล่าเรื่องที่น่าสนใจ ซึ่งเรื่องนี้มีครบในสิ่งเหล่านั้นทั้งหมดในเกณฑ์ที่ถือว่าดี เกือบจะดีมาก

8.หนังที่จะประสบความสำเร็จจะต้องมีกระแสการบอกต่อไปในทางบวก การบิ้วท์อารมณ์ให้คนอยากดู ไม่ว่าจะผ่านสื่อต่างๆ เช่น ในโรงหนัง โทรทัศน์ วิทยุ เคเบิ้ล หนังสือพิมพ์ อินเตอร์เน็ต รวมถึงสื่อที่ทรงอิทธิพลที่สุดอย่างโซเชียลเน็ตเวิร์ก มีส่วนอย่างมากในยุคนี้ที่สามารถสร้างกระแสให้คนอยากไปดู

9.หนังที่จะประสบความสำเร็จผู้ที่อยู่เบื้องหลังจะต้องผ่านงานหรือสร้างเครดิตที่ดีไว้มาก่อน ไม่ว่าจะเป็นสตูดิโอผู้สร้าง ตัวผู้กำกับ นักแสดง ผู้เขียนบท ทีมงานเบื้องหลังต่างๆ ซึ่งอย่างที่ทราบๆกันว่า GTH และตัวผู้กำกับของ GTH เป็นทีมงานคุณภาพ คนรุ่นใหม่ ที่ชอบสร้างงานคุณภาพ ที่แตกต่าง และสร้างสรรค์แปลกใหม่ออกมา ผ่านการรีเสิร์ชหรือการคัดกรองเขียนบทมาเป็นอย่างดี และเครดิตเดิมๆ ที่เคยทำไว้ดีๆ ในหลายๆเรื่องทำให้คนดูเชื่อมือ ซึ่งผู้เขียนเองก็เป็นเช่นนั่นเหมือนกัน ตอนที่ไปดูหนังเรื่องแฟนฉัน,เพื่อนสนิท,4 แพร่ง,5แพร่ง ในโรง ไม่เคยคิดว่าหนังจะออกมาดีขนาดนั้น เพราะตอนนั้นยังไม่รู้เนื้อหาก่อนไปดู ยังไม่รู้ว่าใครกำกับและก็ไม่รู้จักผู้กำกับซักคน แต่ไปดูเพราะหน้าหนังมันชวนดูจริงๆ แต่ก็ประทับใจ งานช่วงหลังๆ ของ GTH โดยส่วนใหญ่ไม่ได้ไปดูในโรงหนังเลย อาศัยตามเก็บตอนเป็น vcd/dvd แล้วเท่านั้น เพราะไม่มีเวลา เวลาว่างไม่ตรง ราคาตั๋วหนังก็มีส่วน แต่พี่มากนั้นเป็นหนังไทยในรอบหลายปีที่ผู้เขียนหวนกลับไปดูในโรงอีกครั้ง

10.หนังที่จะประสบความสำเร็จได้นั้นกระแสคนดูส่วนใหญ่มักจะชอบและเอาชนะกระแสเสียงคำวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิจารณ์ได้ ซึ่งเรื่องพี่มากนั้นเอาชนะเสียงจากนักวิจารณ์ได้จริงๆ

ลองเอาสูตรสำเร็จทั้ง 10 ข้อไปวิเคราะห์หนังไทยเรื่องอื่นๆดูก็จะทราบครับว่า หนังเรื่องใดไม่ประสบความสำเร็จเพราะเหตุใด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ได้มาอวยหนังเรื่องพี่มาก และไม่ได้มาจับผิดหนังเรื่องคู่กรรม แต่เอามาเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่าง ที่จะทำให้เกิดการพัฒนาและผู้สร้างจะได้นำเอาสิ่งเหล่านี้ไปวิเคราะห์ พิจารณาปรับปรุงงานของตนเองให้ตอบโจทย์การตลาด ซึ่งก็คือคนดูให้ได้ เพราะทุกวันนี้ แม้ว่าภาพยนตร์จะเป็นความบันเทิงอย่างหนึ่งที่ราคาถูก แต่อย่าลืมว่าคนดูมีสิทธิ์ที่จะเลือกเสพงานที่มีคุณภาพที่สุด เมื่อเทียบกับคุณค่าของเงินที่ต้องจ่ายไป เพราะในภาวะการณ์แข่งขัน และเศรษฐกิจที่เป็นอย่างนี้ ความบันเทิงราคาถูกบางประเภท อาจกลายเป็นความบันเทิงราคาแพงในสายตาผู้บริโภคก็เป็นได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น