วันเสาร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2556

Brand Ultimatum - Case Study Hot Mail

ใครจะรู้ว่าต้นกำเนิดของเจ้าอีเมลล์ชื่อดังอย่าง Hotmail.com นั้นไม่ใช่ผลผลิตของคนอเมริกัน แต่เป็นชาวอินเดีย เป็นความริเริ่มสร้างสรรค์ของนายซาเบียร์ บาร์เธีย เขาเกิดและเติบโตที่เมืองบังกาลอร์ ทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย บิดาเป็นข้าราชการระดับสูง ในกระทรวงกลาโหม ส่วนแม่เป็นเจ้าหน้าที่อาวุโสในธนาคารของรัฐแห่งหนึ่ง


ตั้งแต่เด็กเขาก็มีความคิดอยากจะเป็นเถ้าแก่ บาร์เธียร์เป็นลูกชายเพียงคนเดียวของครอบครัว เป็นเด็กดี ไม่เคยทำให้พ่อแม่ผิดหวัง เมื่อเขาเติบโตขึ้น พ่อแม่ต้องการให้เขาได้รับตำแหน่งการงานที่ดีในบริษัทใหญ่ๆ ในอินเดีย แต่ใครจะรู้ว่าเด็กหนุ่มคนนี้มีความฝันที่ต่างออกไปจากเด็กทั่วไป เขามีความฝันที่จะเป็นเจ้าของกิจการขนาดเล็กซักอย่างนึง ช่างบังเอิญเหลือเกินที่วิทยาลัยใกล้ๆ บ้านได้เปิดดำเนินการ เขาจึงตัดสินใจที่จะทำร้านแซนวิสเล็กๆ เริ่มธุรกิจของตนเองเป็นครั้งแรก แต่แผนการของเขาจำต้องล้ม มีอันเป็นไปเสียก่อน แม่ของเขาได้ยับยั้งโครงการ บังคับให้เขาต้องเรียนหนังสือต่อไป ต่อมาในปี ค.ศ.1988 ความเป็นอัจฉริยะของเขาก็ได้ฉายแววขึ้น คือเขาได้ไปชนะรางวัลของ The California Institute of Technology ในเมืองพาซาเดนา ด้วยอายุเพียง 19 ปี ได้รับเงินรางวัลไปจำนวน 250 ดอลล่าร์ (ความภูมิใจซึ่งเป็นเงินก้อนแรก และครั้งแรกในชีวิตที่เขาสามารถหาเงินได้จากความสามารถของเขาเอง) ภายหลังจากจบปริญญาตรี เขาก็ได้เข้าไปเรียนต่อปริญญาโททางด้านวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด มหาวิทยาลัยชั้นนำของอเมริกา หลังจากจบปริญญาโท เขาก็ได้เข้าทำงานเป็นวิศวกรคอมพิวเตอร์ที่บริษัทแอปเปิ้ล บริษัทคอมพิวเตอร์ยักษ์ใหญ่ของโลก ใครต่อใครก็ยินดีที่เขาได้ทำงานในบริษัทแห่งนี้รวมไปถึงครอบครัวของเขาที่หมายมั่นว่า เขาน่าจะทำงานที่บริษัทนี้ไปให้นานๆ หรืออาจนานไปถึง 20ปี ก็เป็นได้ แต่หลังจากที่เขาทำงานผ่านไปได้เพียง 9 เดือน เขาได้ไปอ่านเจอบทความชิ้นนึง เกี่ยวกับ “คนหนุ่มที่เริ่มต้นทำธุรกิจขายถั่วต้มและก็ขายได้หมดทุกวัน ขายดีมาก” บทความนี้ทำให้ความฝันในวัยเด็กของเขาเริ่มจุดประกายความคิดขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เขาเริ่มครุ่นคิดว่าจะสามารถทำธุรกิจอะไรที่เกี่ยวเนื่องกับเครือข่ายคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตได้บ้างโดยที่เขาไม่จำเป็นที่จะต้องละทิ้งความรู้ ความชำนาญด้านนี้ไป แล้วเขาก็เกิดความคิดที่จะสร้างซอฟท์แวร์ขึ้นมาตัวนึง เรียกว่า “จาวาซอฟท์” ซึ่งเป็นระบบเครือข่ายที่ใช้สร้างฐานข้อมูลส่วนบุคคล เช่น สามารถจัดทำตารางทำรายการต่างๆหรือแม้แต่ใช้ถ่ายรูป เมื่อเขาได้คิดค้นซอฟท์แวร์ตัวนี้สำเร็จขึ้นมาแล้ว จึงนำเสนอแผนนี้ให้แก่ แจ๊ค สมิธ เพื่อนร่วมงานที่บริษัทแอปเปิ้ล ทั้ง 2คนได้วางแผนนำสิ่งที่เรียกว่า “อี-เมลล์” เพิ่มเข้าไปที่จาวาซอฟท์ เนื่องจากการใช้อี-เมลล์ เป็นเรื่องง่ายและสะดวก ทุกคนสามารถใช้อี-เมลล์จากเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องใดก็ได้ หรือที่ไหนก็ได้ หลังจากคิดถึงการใส่อี-เมลล์เข้าไปได้แล้ว ก็มาคิดถึงชื่อของอี-เมลล์ตัวนี้ (ชื่อแบรนด์โปรดักท์) ซึ่งเขาคิดไว้หลายชื่อไม่ว่าจะเป็น speedmail, hypermail, supermail แต่ท้ายที่สุดแล้ว เขาก็ได้ชื่อที่ดีที่สุด คือ “ Hotmail” นับแต่นั้นมาชื่อนี้ก็ถือกำเนิดขึ้นบนโลก

ความคิดแรกนั้น บาร์เธีย ตั้งใจจะขายชื่อเจ้า Hotmail ไว้ด้วยสนนราคาเพียง 6,000 เหรียญ/ดอลล่าร์ เขาเริ่มมองหาผู้ร่วมทุนที่อยู่แถวซานฟรานซิสโก แต่ทุกสิ่งก็ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เมื่อ 4 ปีก่อนหน้านั้น เป็นเรื่องยากมากที่จะขายความคิดนี้ได้ เพราะมีเพียงคนส่วนน้อยเท่านั้นที่คิดว่าอินเตอร์เน็ตมีจริง และมีความเป็นไปได้ในเชิงธุรกิจ คนส่วนใหญ่คิดว่าอินเตอร์เน็ตเป็นเพียงความนิยมชั่วขณะ เหมือนกระแสแฟชั่น เขาได้หันมาเสนอโครงการของเขาให้กับบริษัทร่วมทุน Draper Fisher Jurvetson โดย Steve Jurvetson และเพื่อนคนนี้ก็ได้ลงเงินร่วมลงทุนกับบาร์เธียเป็นเงิน 300,000 ดอลล่าร์ ซึ่งก็แทบจะไม่พอสำหรับการดำเนินงาน แต่จนแล้วจนรอด Hotmail ได้ปรากฏมีการใช้งานอย่างจริงจังในวันที่ 4 กรกฏาคม 1996 ซึ่งเป็นวันชาติของอเมริกา เขาให้เหตุผลว่า ต้องการให้ฮอตเมลล์เป็นตัวแทนของความเป็นอิสระ และ ณ สิ้นปีแรกของการดำเนินงาน เขาก็เริ่มมีสมาชิกถึง 1,000,000 ราย ในขณะที่บาร์เธียมีอายุได้เพียง 28 ปี


บิลล์ เกตต์ บอสใหญ่ของบริษัทไมโครซอฟท์ เล็งเห็นอนาคตของฮอตเมลล์ จึงประสงค์ที่จะซื้อบริษัทของบาร์เธียในทันที และได้พาบาร์เธียไปเยี่ยมชมอาณาจักรของไมโครซอฟท์ เพื่อแสดงถึงความยิ่งใหญ่ เขาได้ยื่นข้อเสนอที่จะซื้อบริษัทของบาร์เธียเป็นเงินถึง 160 ล้านดอลล่าร์ แต่บาร์เธียยังไม่ยอมตกลงในเงื่อนไขเบื้องต้น ขอกลับไปพิจารณาก่อน เมื่อถึงเดือนธันวาคม 1997 ไมโครซอฟท์ยื่นข้อเสนอใหม่เป็นเงินถึง 400 ล้านดอลล่าร์ เพื่อเข้าเทคโอเวอร์ฮอตเมลล์ คราวนี้เป็นผลสำเร็จ ฮอตเมลล์ได้เปลี่ยนเจ้าของไปเป็นของเจ้าพ่อซอฟท์แวร์ชื่อดัง ส่วนบาร์เธียได้เปลี่ยนบทบาทตนเองไปเป็น General Manager of Strategic Business Development ของไมโครซอฟท์เน็ตเวิร์กแทน ทุกวันนี้ฮอตเมลล์เป็นบริการอี-เมลล์ทางอินเตอร์เน็ตที่ใหญ่และแพร่หลายที่สุดแห่งนึง มีสมาชิกมากกว่า 360 ล้านคนทั่วโลก บริการ 36 ภาษา (ข้อมูล ณ เดือน กรกฏาคม ปี 2011) ปัจจุบันบริการอี-เมลล์ที่ใหญ่ที่สุดได้ตกไปเป็นของกูเกิ้ลแล้วคือ Gmail ด้วยสมาชิกที่มากกว่า 425 ล้านคน บริการ 54 ภาษา (ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2012) Gmail ก่อตั้งเมื่อ 1 เมษายน 2004

บาร์เธียมีทรัพย์สินถึง 200 ล้านดอลล่าร์ เขากำลังเดินแผนงาน(ในขณะนั้น) ต่อคือ “one-click” เป็นการร่วมทุนทาง อี-คอมเมิร์ซ ซึ่งเรียกว่า Arzoo เป็นไอเดียใหม่คล้ายฮอตเมลล์ ซึ่งเป็นการหาวิธีหรือเครื่องมือเข้าสู่โลกการค้าทางอินเตอร์เน็ตในรูปแบบใหม่ เพียงแค่คลิกเม้าส์ เพื่อที่จะเข้าไปซื้อขายของกันทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งเขาได้นำออกมาทดลองใช้ในเดือน พฤศจิกายนในอีกปีถัดมา ถึงแม้ฮอตเมลล์จะประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ทางด้านอินเตอร์เน็ตแล้ว แต่บาร์เธียเชื่อว่าเขาจะทำให้ Arzoo นั้นมีความยิ่งใหญ่มากกว่าฮอตเมลล์ถึง 2 เท่า เขาต้องการที่จะขยายเครือข่ายเข้าไปในอินเดีย เพื่อเป็นการปฏิวัติทางด้านสังคมและเศรษฐกิจและยกระดับฐานะของคนในประเทศอินเดีย การที่ฮอตเมลล์แพร่หลายในอินเดีย ซึ่งเป็นตลาดการค้าที่ใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลก มันคงไม่ใช่เป็นเพราะเพียงแค่เด็กหนุ่มจากเมืองบังกาลอร์เป็นคนคิดค้นขึ้นมา ถึงทำให้เป็นที่แพร่หลายได้ แต่การส่งอี-เมลล์นั้นง่ายกว่าการใช้โทรศัพท์และไม่มีค่าใช้จ่ายเมื่อเทียบกับการส่งสารทางอื่น บาร์เธียมั่นใจว่าอินเดียจะมีการใช้อินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่จะทำอย่างไรเพื่อให้ทุกคนสามารถใช้อินเตอร์เน็ตได้เข้าถึงทุกครัวเรือน คำตอบก็คือการเชื่อมต่อกับเคเบิ้ลและขายเครื่องมือติดตั้งในการเปลี่ยนทีวีให้เป็นทางไปสู่อินเตอร์เน็ตได้ ซึ่งมีมูลค่าทั้งหมด 200 ล้านเหรียญสหรัฐ เขาคาดการณ์ว่าจะทำมันเสร็จภายใน 2-3 ปี จะติดขัดอยู่ก็เพียง กฏหมายต่อต้านและการปฏิบัติงานที่ล่าช้าของระบบราชการ เขากล่าว

แต่เขาคาดการณ์ผิด บาร์เธียต้องผิดหวัง เมื่อต้องใช้เวลานานถึง 10ปี กว่ามันจะเป็นรูปเป็นร่าง แต่อุปสรรคนี้ไม่ได้ทำให้เขาย่อท้อ เขาได้เป็นกรรมการของบริษัทอินเดียที่ชื่อ โฮมแลนด์ซึ่งเก็บข้อมูลผู้ใช้เว็บไซต์ต่างๆ จึงมีข้อมูล ตั้งเป้าหมายสร้างฐานผู้ใช้ และการเข้าหาหรือติดต่อหน่วยงานรัฐเพื่อที่จะผลักดันกฎหมายในการช่วยส่งเสริมการปฏิวัติทางข้อมูลข่าวสาร บาร์เธียได้เชิญบุคคลที่มีอิทธิพลต่อนโยบายของรัฐบาลอินเดียมาฟังคำแถลงของเขา และนี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้บาร์เธียกลายเป็นบุคคลผู้ทรงอิทธิพลด้านสื่อสารโทรคมนาคมของอินเดีย และได้รับคำเชิญไปปาฐกถาหรือบรรยายให้ความรู้ตามหน่วยงานภาครัฐและเอกชน มหาวิทยาลัยชั้นนำต่างๆ ทั่วทั้งอินเดียและทั่วโลก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น