วันเสาร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2556

The Wizard of Oz เวทมนตร์คือมายา ขยันหาคือของจริง


ก่อนที่วรรณกรรมเยาวชนอย่าง Harry Potter จะได้รับความนิยมจนถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์จนโด่งดังติดอันดับ Box Office อย่างยาวนาน มีการสร้างภาคต่อมาถึง 7 ตอนนั้น เมื่อราว 100 ปีที่แล้วก็มีวรรณกรรมเยาวชนที่โด่งดังมากเป็นที่ชื่นชอบของผู้อ่านทั่วโลก จนถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ด้วยเช่นกัน ชื่อเดิมว่า The Wonderful Wizard of Oz เขียนโดย ลีแมน แฟรงค์ บาม เป็นขวัญใจของนักอ่านนิทาน จนถูกนำมาดัดแปลงสร้างเป็นภาพยนตร์ในชื่อว่า The Wizard of Oz ออกฉายในปี 1939

เรื่องย่อของหนังมีอยู่ว่า สาวน้อยนามว่า “โดโรธี”  ถูกลมหอบหิ้วตัวเธอไป พลัดพรากจากครอบครัว จากบ้านที่เมืองแคนซัส ไปตกลงยังดินแดนที่เรียกว่า ออซ  ด้วยความที่อยากกลับบ้าน หนูน้อยโดโรธีพยายามที่จะหาทางทำทุกวิถีทางให้ได้กลับบ้าน หนูน้อยจึงออกเดินทางไปยังเมืองมรกต เพื่อไปหาคนที่ชื่อว่า “พ่อมดออซ”  ผู้ยิ่งใหญ่ โดยคิดไปว่าจะช่วยตัวเธอได้ เพราะคิดหวังว่าพ่อมดออซจะมีเวทมนตร์คาถาที่จะช่วยพาเธอกลับไปบ้านได้  ระหว่างเดินทาง ตลอด 2 ข้างทางนั้น โดโรธีก็ได้ไปพานพบเรื่องราวต่างๆ มากมาย ทั้งยังได้เพื่อนร่วมเดินทางมาอีกถึง 3 คน  คนแรกเป็น “หุ่นไล่กา”  ที่คิดเสมอว่าตนเองนั้นโง่  จึงอยากไปให้พ่อมดออซ ช่วยใส่สมองให้  อีกคนหนึ่งเป็น “ชายตัดไม้”  ที่ร่างกายถูกสร้างขึ้นมาด้วยดีบุก  เขาคิดไปเองว่าตัวเองไม่มีหัวใจ  จึงอยากออกเดินทางไปเพื่อให้พ่อมดออซ เจ้าแห่งเวทมนตร์ช่วยใส่หัวใจให้  และคนสุดท้ายก็คือ “สิงโต”  มีอุปนิสัยขลาดกลัว จึงอยากไปหาพ่อมดออซเพื่อให้มอบความกล้าหาญมาให้กับตน เมื่อมีจุดมุ่งหมายร่วมกัน เป็นหนึ่งเดียวกัน ทั้ง 4 จึงร่วมออกเดินทางไปผจญภัยกับสิ่งที่อยู่ภายภาคหน้า และเมื่อไปถึง “เมืองมรกต”  ที่ที่เป็นจุดหมายปลายทาง สหายทั้ง 4 ก็ได้ค้นพบว่า แท้ที่จริงแล้ว พ่อมดแห่งออซ  นั้นก็เป็นเพียงคนธรรมดาจอมปลอมคนนึง และไม่ได้มีเวทมนตร์ คาถา ความสามารถใดๆ วิเศษเลย  ทำให้ทุกคนผิดหวัง แต่ทั้ง 4 คนก็ยังตั้งปณิธานที่จะยังคงร่วมเดินทางกันต่อไป สุดท้ายทุกคนก็ได้ค้นพบว่า สิ่งที่ตัวเองปรารถนาและไขว่คว้านั้น แท้ที่จริงแล้ว ก็มีอยู่ในตัวของพวกเขาเองนั่นแหละ หาใช่ต้องพึ่งพาเวทมนตร์ คาถาใดๆ จากพ่อมดคนใดทั้งสิ้น

ในปี 1938 สตูดิโอเอ็มจีเอ็มตัดสินใจครั้งสำคัญ ในการซื้อลิขสิทธิ์วรรณกรรมเยาวชนที่ขายดีที่สุดของสหรัฐอเมริกาเรื่องนี้ เพื่อนำมาผลิตเป็นภาพยนตร์ ภายใต้การดูแลงานสร้างของวิคเตอร์ เฟลมมิ่ง ครั้นพอเมื่อออกฉายในโรง หนังก็ประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลายไม่แพ้ตัวหนังสือเลย หนังสามารถคว้ารางวัลออสการ์มาครองได้ 2 รางวัล ซึ่งเป็นสาขาที่เกี่ยวกับดนตรีทั้ง Best Song จากเพลง Somewhere Over the Rainbow  และรางวัล Best Original Score อีกรางวัล นอกจากนี้ความมหัศจรรย์ของดินแดนพ่อมดออซ ก็ยังสร้างตำนานในโลกภาพยนตร์ขึ้นมาใหม่อีกหนึ่งอย่าง นั่นก็คือ จูดี การ์แลนด์ นักแสดงสาวที่มารับบทเป็นโดโรธี สามารถแจ้งเกิดจากบทนี้อย่างเต็มตัว จากนั้นเธอก็เป็นที่จดจำจากคอหนังมาถึงทุกวันนี้ จริงอยู่ว่า ถ้าหากจะมีผู้นำหนังเรื่องนี้กลับมาสร้างขึ้นใหม่ในยุคนี้ งานด้านเทคนิคต่างๆ น่าจะล้ำนำหน้ากว่ายุคนั้น แต่อย่าลืมว่าการมีสเปเชียลเอ็ฟเฟ็คท์ที่ตื่นตาตื่นใจก็ไม่ใช่เครื่องยืนยันว่านั่นคือภาพยนตร์ที่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพ หากบทและเนื้อหาจะต้องดีตามด้วย  รวมถึงกลวิธีในการเล่าเรื่องของผู้กำกับต่างหากที่สำคัญกว่า ของบางอย่างถ้ามันดีอยู่แล้ว เราก็ควรปล่อยมันไว้อย่างนั้นจะดีกว่า “ถ้าหากพ่อมดแห่งออซสามารถส่งเด็กสาวโดโรธีกลับบ้านได้ สามารถใส่สมองให้หุ่นไล่กา ใส่หัวใจให้ชายตัดไม้  และมอบความกล้าหาญให้กับสิงโต ก็จะทำให้ The Wizard of Oz เป็นเพียงหนังขายฝันดาดๆ ไม่มีอะไรให้ข้อคิดและคงไม่ได้กลายมาเป็น 1 ในหนังดีที่สุดตลอดกาลอย่างแน่นอน”  (ถอดความบางส่วนจากคอลัมน์ 1001 movies you must see before you die ของคุณพรทิพย์ แย้มงามเหลือจาก Entertrend,Bizweek ฉบับวันที่ 8 กรกฏาคม 2550)

ผู้เขียนคิดว่า ข้อคิดที่ได้จากวรรณกรรมเยาวชนเรื่องนี้หรือการชมภาพยนตร์เรื่องนี้นั้นเป็นคติสอนใจที่ใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย ยังคงนำมาใช้ได้กับทุกชีวิต ทุกเรื่องบนโลกนี้ ไม่มีอะไรที่ได้มาง่ายๆ ฟรีๆ โดยที่คุณไม่ได้ออกแรงทำอะไร บางครั้งสิ่งที่มีอยู่ในตัวเราเองนั้นมีคุณค่าและมีพลังมหาศาล แต่เราหามันไม่เจอ และมองข้ามมันไป ในทางตรงกันข้าม กลับไปวิ่งไขว่คว้าในสิ่งที่เราเอื้อมไปไม่ถึง หรือไม่มีทางเป็นไปได้ หรือเป็นสิ่งที่เป็นเพียงมายาคติ ไม่มีอยู่จริง เป็นเพียงภาพลวงตา ไม่น่าเชื่อว่าวรรณกรรมเยาวชนที่แต่งโดยคนสมัยก่อนจะชี้ประเด็นสอนใจเราได้ดีถึงเพียงนี้ คล้ายๆ ปรัชญาพุทธ จากเนื้อหาที่แข็งแรงมีแก่นสารที่หนักแน่นนี้เอง ทำให้ตัวหนังถูกยกย่องให้เป็น 1 ในภาพยนตร์ยอดเยี่ยมตลอดกาลอีกด้วย

และก็ได้ข่าวว่าเร็วๆนี้ (ไม่ใช่สิ หนังถูกนำมาสร้างใหม่ ตีความใหม่ โดยใช้ชื่อใหม่ Oz The Great and Powerful 2013) ภ.เรื่องนี้จะถูกนำมาสร้างใหม่ โดยไม่ใช่ฉบับรีเมค แต่เป็นการตีความใหม่ โดยเนื้อหาจะเป็นการขยายในส่วนของพ่อมดออซ หรือที่มาที่ไปก่อนจะมาเป็นพ่อมดออซ หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นภาคก่อนของ The Wizard of Oz ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะนำหนังที่ขึ้นชั้นคลาสสิก มาทำในส่วนต่อขยาย เพราะหลายเรื่องพอทำออกมาแล้วก็ได้รับเสียงตอบรับวิพากษ์วิจารณ์ในทางที่ไม่ค่อยดีนัก ตัวอย่างเช่น เรื่อง Hobbit ที่ทำออกมาขยายความบทนำก่อนจะสู่เนื้อหาในเรื่อง The Lord of the Ring ซึ่งขยายความมากไปถึง 3 ภาค เนื้อหาไม่กระชับ และเยิ่นเย้อ ทำให้ไม่น่าประทับใจ หรืออย่าง Starwars ไตรภาคที่ทำไว้ดีแล้ว พอมาทำไตรภาคก่อน ก็ออกมาถูกสับเละจากนักวิจารณ์ว่าเป็นลิเกไซไฟกันเลยทีเดียว และภายหลังลูคัส ได้ขายลิขสิทธิสตาร์วอร์สทั้งหมดให้กับวอลท์ดิสนี่ย์แล้ว กำลังจะทำไตรภาคหลัง (ตอน 7-9) ออกฉายเร็วๆนี้ โดยได้ผู้กำกับคนเก่งจากสตาร์เทร็คภาคล่าสุดมาดูแลงานสร้าง ผลจะเป็นอย่างไรนั้นต้องติดตามกันต่อไป ในส่วนของ The Wizard of Oz ฉบับปี 1939 คงจะหาดูหาชมได้ยากมากในยุคนี้ ไม่รู้ว่ามีการทำรีมาสเตอร์ออกมาเป็นบลูเรย์แล้วหรือยัง แต่ถ้ามีก็น่าจะซื้อมาเก็บไว้อีกเรื่องนึง ผู้เขียนเคยชมเป็นฉบับวีดีโอนานมากแล้ว ก็ยังรู้สึกประทับใจมากจนถึงทุกวันนี้ และกำลังรอ The Wizard of Oz ฉบับใหม่ที่กำลังจะเข้าโรงฉายในซัมเมอร์ปีนี้ ว่าจะออกมาดีเพียงใด จึงจะสามารถมาเปรียบเทียบกับเรื่องอื่นๆ ที่กล่าวมาได้ครับ   

 



ประวัติและผลงานของผู้กำกับ

Victor Lonzo Fleming (February 23, 1889 – January 6, 1949) was an American film director, cinematographer, and producer. His most popular films were The Wizard of Oz (1939), and Gone with the Wind (1939), for which he won an Academy Award for Best Director. Fleming holds the achievement of being the only film director to have two films listed in the top 10 of the American Film Institute's prestigious 2007 AFI's 100 Years...100 Movies list.เขาเป็นผู้กำกับมือเก๋าของฮอลลีวู้ดที่ล่วงลับไปแล้ว มีผลงานกำกับหนังกว่า 50 เรื่อง,เป็นผู้กำกับภาพ 17 เรื่อง และเป็นโปรดิวเซอร์ให้กับหนัง 3 เรื่องก่อนเสียชีวิต

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น