วันจันทร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2555

เกมกินรวบธุรกิจ M&A ละลายในปาก(พญาอินทรี,ราชสีห์)


การมาของ AEC (ประชาคมเศรษฐกิจอาเซี่ยน) ในอีก 3 ปีข้างหน้า นำมาซึ่งการปรับตัวของธุรกิจไทยขนานใหญ่และไม่ใช่แต่ในประเทศเท่านั้น มีการขยับปรับตัวกันอย่างขนานใหญ่ทั่วทั้งภูมิภาค มีทั้งที่รุกเข้ามาจากต่างประเทศเพือมาซื้อกิจการของไทย และของไทยบุกไปขยายตลาดในต่างประเทศก็มี ต่างฝ่ายต่างตั้งรับและรุกไปยังตลาดของคนอื่น ในขณะที่ก็ตัองรักษาอาณาจักรหรือตลาดของตนเองเอาไว้ไม่ให้คนอื่นรุกมาตีแต่เพียงฝ่ายเดียวเช่นเดียวกัน จึงกลายเป็นสงครามทางธุรกิจแบบเสรีและสมบูรณ์แบบ ภาพสวยหรูที่บอกกันไว้ว่าตลาด AEC มีมูลค่าตลาดที่ใหญ่ขึ้น กับจำนวนประชากรกว่า 300 ล้านคน ยังไม่นับรวมออสเตรเลีย จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ที่ก็เข้ามามีส่วนเอี่ยวด้วย แต่ถ้าหากธุรกิจไทยรายใด ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ไม่ได้ตระเตรียมความพร้อมเอาไว้ก่อน ก็อาจไม่ได้รับประโยชน์จาก AEC เท่าที่ควร หรือเผลอๆ อาจกลายเป็นเสียเปรียบ หรืออาจจะถูกแย่งตลาดไปดื้อๆ จากคู่แข่งที่ดาหน้ากันเข้ามาจากต่างประเทศอย่างเสรี ด้วยการที่ไม่มีข้อจำกัดหรือกำแพงภาษีใดๆ อีกต่อไป

กลยุทธ์ที่บรรดาธุรกิจขนาดใหญ่หรือแบรนด์สินค้าที่เป็นผู้นำตลาดมักจะนำมาใช้ก็คือ การ takeover หรือควบรวมกิจการ ตลอดจน M&A (Merger & Acquisition)  คือการขยายกิจการแบบเร่งโตหรือทางลัด ซึ่งเวลาที่เหลืออยู่เพียง 3 ปี อาจไม่เพียงพอที่ธุรกิจบางชนิด บางประเภทจะใช้วิธีไปเจาะตลาด ค่อยๆ ศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค หรือไปตีตลาดต่างประเทศ อาจต้องใช้วิธีการตีหัวเข้าบ้าน หรือแบ็คดอร์  คือดอดเข้าไปเก็บหุ้นหรือครอบครองความเป็นหุ้นส่วนหรือเจ้าของกิจการไปเลยก็มี ซึ่งเป็นวิธีที่รายใหญ่จริงๆ เขาก็ทำกัน ในเมื่อโลกของทุนนิยม เงินเป็นใหญ่ หากมีเงินมากกว่า อำนาจในการซื้อก็มี ฉันใดก็ฉันนั้น  แต่ก็ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จได้ทุกราย ขึ้นกับปัจจัยหลายประการด้วย

ปัจจัยที่ว่านั้นประกอบด้วย เป้าหมายหรือจุดประสงค์ในการควบรวมกิจการนั้นสอดคล้องต้องกันทั้ง 2 ฝ่ายหรือไม่ คือเกิด synergy หรือ win-win ด้วยกันทั้ง 2 ฝ่ายหรือไม่ หากไม่อีกฝ่ายก็อาจจะไม่ยินยอมก็เป็นได้ ,ต้องมีฝ่ายหนึ่งที่ต้องการเงินทุนในการแก้ปัญหา หรือต้องการขายกิจการออกไปเพื่อแก้ไขปัญหาทางการเงิน ซึ่งอีกฝ่ายมาเติมเต็มให้ได้ในส่วนนี้ และพร้อมจะดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ,ต่างฝ่ายต่างมีจุดแข็งที่ไม่เหมือนกันแต่เมื่อนำมาผนวกกันแล้วสามารถ go on ต่อไปได้ หรือ 1+1=3 อะไรประมาณนี้  เช่น ฝ่ายหนึ่งมี skill,know-how (technology) ที่เหนือกว่า  แต่ขาดเงินทุน อีกฝ่ายมีเงินทุนมหาศาล มีเครือข่ายที่กว้างขวาง แต่ขาดผู้เชี่ยวชาญการผลิต หรือการทำตลาดที่เก่งกว่าของอีกฝ่าย ก็จับมาแต่งงานกันเสีย  

ดังนั้น กลยุทธ์การควบรวมกิจการ หรือ M&A จึงเป็นธงนำหรือเข็มทิศในการขับเคลื่อนองค์กรอยู่ในเวลานี้ แต่ไม่ใช่ว่าจะมีเพียงกลยุทธ์นี้เพียงกลยุทธ์เดียว แล้วจะทำให้ประสบความสำเร็จหรือชัยชนะในการทำสงครามธุรกิจ ยังคงต้องใช้กลยุทธ์หรือองค์ประกอบอื่นๆ อีกในการขับเคลื่อนธุรกิจให้ได้ชัยชนะอย่างแท้จริง หรือจะเรียกได้ว่า สงครามเพิ่งจะเริ่มต้นขึ้นเท่านั้นครับพี่น้อง เพราะว่าไม่ว่าคุณจะใหญ่ขนาดไหน หากคุณไม่ได้ทำอะไรให้ดีต่อจากนั้น คุณก็อาจจะถูกโค่นล้มเข้าสักวัน ดูอย่าง โนเกียหรือโซนี่ จึเอ็ม สิครับ

ผู้เขียนขอประมวลบิ๊กดีลการทำ M&A ของบ้านเราในรอบปีนี้ ว่ามีรายใหญ่ รายใด กันบ้าง (ไม่เรียงลำดับ)     

กรณีที่ 1. ศึกชิงความเป็นใหญ่ในตลาดเบียร์เอเชียยิ่งระอุดุเดือดขึ้นอีกในวันพฤหัสบดี (13) เมื่อค่ายไทยเบฟของ เจ้าสัวเจริญเสนอทุ่มเงินถึง 7,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2 แสนล้านบาท เพื่อซื้อ เฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ (เอฟแอนด์เอ็น) บริษัทแม่ของผู้ผลิตไทเกอร์ เบียร์ ซึ่ง ไฮเนเก้นยักษ์ใหญ่เนเธอร์แลนด์กำลังจะเข้าเทคโอเวอร์

ไทยเบฟเวอเรจ (ไทยเบฟ) และพันธมิตรคือ ทีซีซี แอสเส็ตส์ ซึ่งต่างเป็นกิจการที่ควบคุมโดยนายเจริญ สิริวัฒนภักดี ระบุในคำแถลงที่ส่งถึงตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ว่า พวกเขายื่นข้อเสนอขอซื้อหุ้นอีก 70% ในเอฟแอนด์เอ็น ซึ่งบริษัททั้งสองนี้ยังไม่ได้ถือครอง ในราคาหุ้นละ 8.88 ดอลลาร์สิงคโปร์ โดยจ่ายเป็นเงินสดทั้งหมด รวมเป็นมูลค่า 8,700 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (7,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ทั้งนี้ เอฟแอนด์เอ็นเป็นบริษัทแม่ของบริษัทเอเชีย-แปซิฟิก บริวเวอรีส์ (เอพีบี)

ข้อเสนอจากค่ายไทยเบฟนี้ มีขึ้น 2 สัปดาห์ก่อนถึงกำหนดที่คณะกรรมการบริหารเอฟแอนด์เอ็นนัดประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 28 เดือนนี้ เพื่อลงมติตัดสินใจข้อเสนอของไฮเนเก้นที่ขอซื้อหุ้น 40% ของเอพีบี ซึ่งทางเอฟแอนด์เอ็นถือครองอยู่ ในราคาเท่ากับ 5,600 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์

ภายหลังได้ทราบข้อเสนอของไทยเบฟ ทางเอฟแอนด์เอ็นออกคำแถลงบอกว่า การประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 28 ยังจะจัดขึ้นตามกำหนดเดิม แต่บริษัทก็จะแต่งตั้งที่ปรึกษาทางการเงินขึ้นมาพิจารณาข้อเสนอของทางบริษัทไทย

ส่วนไฮเนเก้นแถลงว่า กำลังพิจารณาข้อเสนอของไทยเบฟเช่นกัน และ จะประกาศให้ทราบต่อไป ถ้าหากและเมื่อใดก็ตามที่มีความเหมาะสม

ปัจจุบัน ไฮเนเก้นถือหุ้น 42% ในเอพีบี ที่มีโรงงานผลิตเบียร์ 14 แห่งทั่วเอเชีย และเป็นผู้ผลิตไทเกอร์ เบียร์ ตลอดจนเบียร์ที่เป็นที่นิยมในภูมิภาคนี้อีกหลายแบรนด์ ดังนั้น หากเข้าเทกโอเวอร์เอพีบีได้สำเร็จ จะทำให้ไฮเนเก้นอยู่ในตำแหน่งที่ได้เปรียบอย่างมากในตลาดเอเชียที่มียอดขายเบียร์พุ่งกระฉูด ตรงข้ามกับยอดขายในตลาดที่อิ่มตัวแล้วเช่นยุโรป

สำหรับข้อเสนอของไทยเบฟและทีซีซีนั้น ให้ราคาสูงกว่าราคาหุ้นเอฟแอนด์เอ็นที่เทรดกันเมื่อวันพุธ (12) ที่ 8.51 ดอลลาร์สิงคโปร์ อยู่ 4.3% ซึ่งจะทำให้มูลค่ากิจการทั้งหมดของเอฟแอนด์เอ็นอยู่ที่ 12,500 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์

หลังจากข้อเสนอของค่ายไทยเบฟปรากฏออกมาแล้ว เอฟแอนด์เอ็นได้ขอระงับการซื้อขายหุ้นชั่วคราวในช่วงเช้าวันพฤหัสบดี และเมื่อเปิดการซื้อขายใหม่ในภาคบ่าย ปรากฏว่า หุ้นเอฟแอนด์เอ็นขยับขึ้นไปสูงสุดที่หุ้นละ 8.94 ดอลลาร์สิงคโปร์

ไทยเบฟนั้นเป็นผู้ผลิตเบียร์ช้าง และเกี่ยวข้องในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ขณะที่เอฟแอนด์เอ็น ก็มีกิจการที่หลากหลายทั้ง อสังหาริมทรัพย์, อาหาร, เครื่องดื่ม และการพิมพ์

จากการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์บส์ เจ้าสัวเจริญเป็นมหาเศรษฐีหมายเลข 3 ของไทย มีทรัพย์สินราว 6,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประเมินจนถึงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา) โดยรายได้ก้อนใหญ่มาจากธุรกิจเครื่องดื่ม

ทางด้าน จัสติน ฮาร์เปอร์ นักกลยุทธ์การตลาดของไอจี มาร์เกตส์ สิงคโปร์ ชี้ว่า ความเคลื่อนไหวของไทยเบฟอาจเป็นไปเพื่อทำลายแผนฮุบกิจการเอพีบีของไฮเนเก้น อย่างไรก็ดี เป้าหมายสุดท้ายของนายเจริญยังไม่เป็นที่ชัดเจน

ความเคลื่อนไหวนี้จะทำให้เกิดความไม่แน่นอนในหมู่ผู้ถือหุ้นเอฟแอนด์เอ็นที่จะประชุมกันปลายเดือนนี้ โดยไทยเบฟยังคงเก็บงำเจตนารมณ์ที่แท้จริงในการประมูลซื้อครั้งนี้

ไทยเบฟอาจต้องการขายหุ้นเอพีบีของเอฟแอนด์เอ็นให้แก่ทางไฮเนเก้น และนำเงินก้อนนั้นมาใช้ในการซื้อเอฟแอนด์เอ็น จากนั้นจึงนำเอฟแอนด์เอ็นมาแตกกิจการ หรือไม่เช่นนั้น ไทยเบฟอาจต้องการเข้าควบคุมเอฟแอนด์เอ็นเพื่อขวางการขายหุ้นให้ไฮเนเก้น ทั้งสองสถานการณ์นี้มีโอกาสเป็นไปได้พอๆ กัน

ขณะที่ ซาเวียร์ จีน นักวิเคราะห์เครดิตของค่ายสแตนดาร์ดแอนด์พัวร์ (เอสแอนด์พี) ให้ความเห็นแบบฟันธงมากกว่าว่า การยื่นข้อเสนอของไทยเบฟคราวนี้ เป็นการแสดงให้เห็นว่าพวกเขาไม่ต้องการให้เอพีบีตกอยู่ในกำมือของไฮเนเก้น

การปฏิบัติการต่างๆ ทั้งหลายของพวกเขาเท่าที่ดำเนินมาจนถึงเวลานี้ บ่งชี้ให้เห็นว่าพวกเขาต้องการให้เอพีบียังคงอยู่กับเอฟแอนด์เอ็น มากกว่าที่จะให้ตกเป็นของไฮเนเก้นจีน บอกกับเอเอฟพี

การเสนอซื้อเอฟแอนด์เอ็นถือเป็นการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจากไทยเบฟที่จดทะเบียนในตลาดสิงคโปร์ และทีซีซี รวมกันแล้วถือหุ้นเอฟแอนด์เอ็นถึง 30% จึงต้องยื่นข้อเสนอซื้อหุ้นที่เหลือ

ในเอกสารที่ไทยเบฟยื่นต่อตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ระบุว่าจากมุมมองด้านวินัยทางการเงิน ไทยเบฟตัดสินใจว่า จะไม่สร้างหนี้ใหม่หรือนำเงินในกองทุนไปซื้อหุ้นเอฟแอนด์เอ็นเพิ่มหรือเสนอซื้อเอฟแอนด์เอ็น

เราเชื่อว่า ข้อเสนอของเราสะท้อนโอกาสที่ผู้ถือหุ้นเอฟแอนด์เอ็นจะตระหนักถึงมูลค่าการลงทุนของตนในรูปเงินสด และถอนตัวออกจากเอฟแอนด์เอ็นโดยสิ้นเชิง

เรานับถือเอฟแอนด์เอ็น และเชื่อว่าผลงานและความสำเร็จที่เอฟแอนด์เอ็นสร้างสมมายาวนานในธุรกิจหลักจะเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มกิจการของเรานายฐาปน สิริวัฒนภักดี ประธานบริหารไทยเบฟกล่าว

ถึงแม้เอฟแอนด์เอ็นมีธุรกิจที่หลากหลาย แต่ที่สำคัญที่สุดคือหุ้นในเอพีบี

เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เอพีบีรายงานว่า ทำรายได้ในไตรมาส เม.ย.-มิ.ย.ปีนี้ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วเกือบ 10% ขึ้นไปอยู่ที่ 781.33 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์

การซื้อกิจการบริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน) ผู้ถือลิขสิทธิ์ในการผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มเป๊ปซี่ในประเทศไทย กลายเป็นข่าวใหญ่เมื่อสัปดาห์ก่อน
งานนี้ต้องบอกว่า เรียบร้อยโรงเรียนคุณเจริญ สิริวัฒนภักดี ไปอีกราย
หนึ่งปีครึ่งที่ผ่านมา เสริมสุขมีปัญหาความขัดแย้งกับกลุ่มเป๊ปซี่ โค บริษัทแม่จากสหรัฐที่จะเข้ามาครอบครองกิจการ (take over) ล่าสุดการเจรจาต่อรองได้สิ้นสุดแล้ว โดย บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ โลจิสติก จำกัด ในเครือของไทยเบฟ ทุ่มเงิน 6,400 ล้านบาทซื้อเสริมสุข และเตรียมเปิดโต๊ะเพื่อซื้อหุ้นจากรายย่อย (เทนเดอร์ออฟเฟอร์) ทั้งหมด คาดว่าดีลนี้จะใช้เงินทั้งหมด 15,403 ล้านบาท

การเข้าซื้อกิจการเสริมสุขในครั้งนี้ จะทำให้กลุ่มไทยเบฟแข็งแกร่งขึ้นในธุรกิจเครื่องดื่ม เพราะจะได้ทรัพย์สินที่เสริมสุขครอบครองอยู่ ทั้งเครือข่ายกระจายสินค้า เครือข่ายร้านค้าปลีก โรงงาน คลังสินค้า ซึ่งไทยเบฟสามารถนำไปต่อยอดในกิจการเครื่องดื่มที่ตนเองได้อย่างมั่งคงมากขึ้น
SIU เห็นว่ากรณีการเข้าซื้อกิจการเสริมสุขของกลุ่มไทยเบฟเป็นกรณีศึกษาที่สำคัญของธุรกิจเครื่องดื่มในไทย โดยมีประเด็นดังนี้

อาณาจักรเสริมสุข: จุดเด่นที่ช่องทางกระจายสินค้า
คนไทยย่อมคุ้นเคยป้ายไฟ ตู้ขายเครื่องดื่มยี่ห้อ เป๊ปซี่ที่กระจายไปทั่วทุกหัวระแหง แต่ประเด็นที่หลายคนไม่ได้ใส่ใจพิจารณา ก็คือสิ่งเหล่านี้คือช่องจัดจำหน่ายที่มีศักยภาพสูงและเข้าถึงผู้บริโภคได้มากเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ

ต้องยอมรับว่า เบื้องหลังการเป็นผู้นำตลาดเครื่องดื่มน้ำอัดลมอันดับ 1 ในเมืองไทยของเสริมสุข คือ เครือข่ายช่องทางจัดจำหน่ายจำนวนมหาศาล รวมไปถึงสายการขนส่ง (logistics) ที่น่าทึ่ง ในการจัดส่งน้ำอัดลมและเครื่องดื่มอื่นๆ ไปยังร้านค้าแทบทุกร้านในประเทศไทย ตั้งแต่ร้านค้าตามเพิงริมพักข้างถนน ไปจนถึงโรงแรมหรูกลางกรุง สถานที่ราชการ โรงเรียน มหาวิทยาลัย และยังต้องนับรวมพฤติกรรมการซื้อ เป๊ปซี่ติดไว้ประจำบ้านของคนไทยจำนวนไม่น้อย

เรามาดูกันว่าสินทรัพย์ที่สำคัญของเสริมสุข ที่ทำให้กลุ่มไทยเบฟของคุณเจริญต้องกระโจนเข้ามาร่วมวง มีอะไรบ้าง?
1. เครือข่ายการขนส่ง (logistics) ของกลุ่มเสริมสุข

เครือข่ายการกระจายสินค้าของกลุ่มเสริมสุขถือเป็นจุดเด่นอย่างมาก เครือข่ายนี้มีเกิดจากการพัฒนาระบบการขนส่งมาอย่างยาวนาน จนสามารถเข้าถึงร้านค้าปลีก ร้านอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จำนวนรถที่ส่งตรงถึงร้านค้าเหล่านี้มีมากกว่ากว่า 2,000 คันทั่วประเทศ โดยประมาณ 100 คันเป็นรถขนส่งสินค้าจากโรงงานไปยังคลังสินค้าที่มีอยู่ 47 แห่งทั่วประเทศ  สำหรับความถี่ที่เข้าไปส่งสินค้า ถ้าเป็นลูกค้าในเมืองอยู่ที่ 3 วัน/ครั้ง และถ้าเป็นลูกค้านอกเมืองจะอยู่ที่ 4-5 วัน/ครั้ง ความสัมพันธ์ระว่างลูกค้าและทีมขาย/ส่งสินค้าต้องถือว่า เหนียวแน่นไม่ธรรมดา
ทำไมสายส่งของเป็ปซี่ถึงมีศักยภาพมากขนาดนี้?

กรณีศึกษาน่าสนใจคือ แต่เดิมกลุ่มเสริมสุขเป็นตัวแทนจำหน่ายและจัดส่งเครื่องดื่มบำรุงกำลัง M-150 ให้แก่กลุ่มโอสถาสภา เหตุเพราะโอสถสภาไม่มีสายส่งของตัวเองที่มากพอ จึงมาให้กลุ่มเสริมสุขจัดส่งกระจายสินค้าให้ ในอดีตร้านค้าที่จำหน่านสินค้าประเภทนี้คือ ร้านค้าของชำทั่วไปที่มีกระจายไปทุกทุกตรอกซอกซอย การทำให้สินค้าได้ใกล้ชิดผู้บริโภคมากที่สุดเป็นจุดเด่นของสินค้ากลุ่มเครื่องดื่มทุกประเภท และจากปัจจัยการให้เสริมสุขช่วยจัดส่งและกระจายสินค้าทำให้ M-150 สามารถขึ้นเป็นผู้นำตลาดเครื่องดื่มชูกำลังแทนที่กระทิงแดงในทุกวันนี้
นอกจากเสริมสุขจะมีรถส่งของจำนวนมาก รถส่งแต่ละคันก็สามารถบรรทุกสินค้าได้มากไม่แพ้กัน แต่ละคันก็มีพื้นที่ดูแลของตัวเอง เพื่อให้เกิดความใกล้ชิดกับลูกค้ามากที่สุด เนื่องจากสินค้าเครื่องดื่มเป็นสินค้าขายแล้วหมดไป ต้องสามารถเติมให้กับลูกค้าได้ตลอดเวลา วงจรการขนส่งสินค้าของกลุ่มเสริมสุขจึงแทบไม่มีวันหยุดและเกิดขึ้นตลอดเวลา

กลุ่มเสริมสุขเองยังมีเรือสำหรับขนถ่ายสินค้าเป็นจำนวนมาก ล่องขึ้นไปมาระหว่างโรงงานที่ปทุมธานีไปยังคลังสินค้าฝั่งธนบุรี ทำให้เกิดความสะดวกและลดต้นทุนขนส่งเป็นอันมาก การบริหารวงจรการกระจายสินค้าเป็นได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ต้องถือว่าความรู้ในการขนส่งสินค้าทางน้ำของกลุ่มเสริมสุขมีอยู่ภายในองค์กรอยู่แล้ว และน่าจะเป็นต้นแบบของกลุ่มไทยเบฟที่จะนำไปใช้การขนส่งสินค้าอื่นๆ เพราะโรงงานผลิตของไทยเบฟจำนวนมากก็อยู่ริมแม่น้ำ ย่อมทำให้การกระจายสินค้าที่ต้นทุนต่ำเพิ่มมากขึ้น
คลังสินค้าจำนวน 47แห่ง และคลังสินค้าย่อยอีก 9 แห่งที่กระจายตัวกันอยู่ทั่วประเทศ ยังเป็นส่วนหนึ่งของวงจร logistics ในการกระจายสินค้าไปยังช่องทางจำหน่ายจ คลังสินค้าเหล่านี้ถือว่าเป็นสินทรัพย์ที่ชัดเจน มีมูลค่าในตัวเอง สามารถนำเข้าไปเสริมกับคลังสินค้าของกลุ่มไทยเบฟที่มีจำนวนเยอะไม่แพ้กัน ให้สามารถลดต้นทุนค่าขนส่งลงได้อีกเป็นจำนวนมาก

2. ฐานลูกค้าและช่องทางจัดจำหน่าย
ถึงแม้ว่าฝั่งไทยเบฟจะมีฐานลูกค้าของตัวเองที่ใหญ่ไม่แพ้กัน แต่ลูกค้าส่วนใหญ่ของไทยเบฟคือ เอเย่นต์ในพื้นที่ซึ่งเป็นร้านขนาดใหญ่ แต่ถ้าเราสนใจร้านขนาดรองลงมา ไทยเบฟกลับยังไม่สามารถเข้าถึงได้ทุกร้านค้าซะทีเดียว

คำตอบตรงนี้อยู่ที่ฐานลูกค้าของเสริมสุข ซึ่งก็คือ ร้านค้าทุกขนาดที่จะขายสินค้าให้กับเครือเป็นจำนวนมหาศาล  เทียบกันแล้วฐานลูกค้าของเสริมสุขมีมากกว่าของไทยเบฟมาก และเมื่อมาอยู่ใต้อาณาจักรของไทยเบฟแล้ว ย่อมทำให้ไทยเบฟสามารถกระจายสินค้าที่เป็นเครื่องดื่มที่ไม่ใช่แอลกอฮอล์ของตัวเองได้มากขึ้น ซึ่งสินค้าในกลุ่มนี้หลายตัวของไทยเบฟยังไม่ติดตลาดมากนัก (ยกเว้นโออิชิที่คุณตันบริหารมาจนติดตลาดไปแล้ว) การผนวกรวมฐานลูกค้าของเสริมสุขย่อมช่วยให้ไทยเบฟเจาะตลาดนี้ได้ดีกว่าเดิม   สองปัจจัยหลักนี้เป็นส่วนที่เข้ามาเติมเต็มการขยายเครือข่ายของไทยเบฟ แน่นอนผลที่ตามมาย่อมมีทั้งบวกและลบ
ในเชิงบวก ทางกลุ่มไทยเบฟเองสามารถขยายฐานลูกค้าและสายส่งผ่านช่องทางของเสริมสุขได้ทันที โดยไม่ต้องลงทุนเพิ่มเองซึ่งต้องใช้เวลานานกว่ากันมาก ไทยเบฟจะเพิ่มมีลูกเล่นทางการตลาดที่หลากหลายได้มากขึ้น และเมื่อไทยเบฟมีสินค้าที่อยู่ในมือมากขึ้น ก็ย่อยมทำให้ไทยเบฟเลือกกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้ชัดเจนกว่าเดิม

สิ่งที่ไทยเบฟจะได้แน่ๆ ฐานลูกค้าของเครื่องดื่มกลุ่มไม่ใช่แอลกอฮอล์ขยายตัว นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องการเพิ่มกระแสเงินสดในมือ เนื่องจากสายส่งของเสริมสุขที่ส่งเป็ปซี่เน้นการเก็บเงินสดจากลูกค้า นั่นหมายถึงการเพิ่มเงินหมุนเวียนให้กับกลุ่มไทยเบฟมากขึ้นตามลำดับ  แต่อีกด้านหนึ่ง ปัญหาที่ไทยเบฟจะต้องเจอก็มีหลายประการ เช่น การบริหารองค์กรที่แตกต่างกันพอสมควร วัฒนธรรมที่แตกต่างรูปแบบการทำงานของโดยเฉพาะในส่วนของฝ่ายปฏิบัติการ (อย่างส่วนของสายส่ง)นอกจากนี้ยังมีเรื่อง ทิศทางของการจัดจำหน่ายในส่วนร้านค้าย่อย ที่แต่เดิมฐานการกระจายสินค้าคือ เอเย่นต์ในพื้นที่ของกลุ่มไทยเบฟที่จะกระจายสินค้าไปยังร้านค้าให้อีกต่อหนึ่ง แต่เมื่อไทยเบฟมีสายส่งของตัวเองแล้ว ก็อาจสร้างความสับสนต่อลูกค้าว่าบริษัทจะให้ใครเป็นผู้เข้ามาหาลูกค้ากันแน่ ระหว่างเอเย่นต์ในพื้นที่ หรือรถส่งของบริษัท

ยุทธศาสตร์ไทยเบฟ: เติบโตผ่านการควบกิจการ
ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา กลุ่มไทยเบฟเลือกซื้อกิจการที่ไม่ใช่แอลกอฮอล์เข้ามาในพอร์ทของตัวเองมากขึ้น ทั้งแบรนด์โออิชิ ร้านหนังสือเอเชียบุ๊ค และล่าสุดคือกลุ่มเสริมสุข ถึงแม้จะพยายามซื้อกลุ่มคาร์ฟูร์ไม่สำเร็จ แต่ยุทธศาสตร์การเติบโตผ่านการควบกิจการ (M&A) ถือว่าชัดเจนที่จะไปในทิศทางนี้
กลุ่มไทยเบฟเติบโตขึ้นมาจากการผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาตลอด โดยสินค้าในส่วนเครื่องดื่มที่ไม่ใช่แอลกอฮอล์มีสถานะเป็นแค่ ส่วนเสริมเท่านั้น  แต่ภายหลังจากการเคลื่อนไหวขององค์กรประชาชนหลายกลุ่มจนผลักดัน พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ขึ้นมาได้สำเร็จ ทำให้การขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ยากขึ้น ทั้งการโฆษณาประชาสัมพันธ์ การใช้แคมเปญการตลาดต่างๆ

ปัจจัยนี้ทำให้กลุ่มไทยเบฟต้องเปลี่ยนมาเน้นสินค้าเครื่องดื่มไม่ใช่แอลกอฮอล์แทน อย่างไรก็ตาม สินค้าหลายตัวของไทยเบฟกลับยังไม่ติดตลาด ไม่ว่าจะเป็น น้ำดื่มช้าง เครื่องชูกำลังแรงเยอร์ กาแฟสำเร็จยี่ห้อแบล็คอัพ จะมีเพียงสินค้าบางตัวที่มาจากการควบกิจการ เช่น ชาเขียวโออิชิ หรือผ่านการถือหุ้นอย่าง คาราบาวแดง ที่ไปได้ดีในฐานะสินค้าหลักของกลุ่มนอนแอลกอฮอล์  เราอาจสรุปได้ว่าฝีมือการบริหารสินค้าในกลุ่มไม่ใช่แอลกอฮอล์ของไทยเบฟยัง มือไม่ถึงพอซึ่งไทยเบฟก็แก้เกมโดยเข้าซื้อกิจการที่ประสบความสำเร็จมาระดับหนึ่ง และมาบริหารต่อ ต้องยอมรับว่าหลายกิจการที่ไทยเบฟซื้อมา อยู่ในช่วงขาขึ้นที่แนวโน้มสดใส (อย่างแบรนด์โออิชิ) หรือมีองค์ความรู้หรือส่วนที่เข้ามาเติมเต็มของกลุ่มไทยเบฟได้ (อย่างเสริมสุข) และถ้าดูจากการเข้าซื้อกิจการทั้งหมดของไทยเบฟ จะเห็นว่ากิจการที่ซื้อเข้ามาตอบโจทย์ในการบุกตลาดรายย่อยทั้งลูกค้าและช่องทางจัดจำหน่าย เพราะเป็นส่วนผสมที่ลงตัวสำหรับวัฒนธรรมไทยเบฟที่ไม่ค่อยโฉ่งฉ่าง
หมากต่อไปของไทยเบฟ?

แล้วหมากต่อไปของไทยเบฟจะเป็นยังไงต่อไป? ไทยเบฟจะยังซื้อกิจการเข้ามาต่อหรือไม่? หรือจะมีการปรับเปลี่ยนภายในครั้งใหญ่เพื่อจัดโครงสร้างการบริหารใหม่?
อันดับแรก ต้องถือว่ากลุ่มไทยเบฟเป็นอาณาจักรธุรกิจขนาดใหญ่ มีธุรกิจที่แตกต่างกันจำนวนมาก มีบริษัทในเครือนับร้อย กลุ่มไทยเบฟเติบโตมาจากตลาดภายในประเทศมาโดยตลอด ตลาดใหญ่ของไทยเบฟน่าจะยังเป็นตลาดภายในประเทศต่อไป แต่หลังจากปี 2015 ที่ไทยจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนมากขึ้น การซื้อกิจการที่ผ่านมาน่าจะเป็นการเตรียมพร้อมในระดับหนึ่งต่อการขยายตลาดออกไป

ยุทธศาสตร์ต่อไปของไทยเบฟน่าจะมองออกไปยังประเทศในอาเซียนมากขึ้น สัญญาณบ่งชี้คือ ช่วงที่ผ่านมาไทยเบฟเข้าไปลงทุนทั้งเช่าและซื้อที่ดินในประเทศอินโดจีนเพื่อลงทุนในภาคเกษตรขนาดใหญ่เพื่อเตรียมการในการขยายยังตลาดอาเซียนบ้างแล้ว ไทยเบฟน่าจะยังเดินหน้าซื้อกิจการในประเทศต่อไปเพื่อขยายการเติบโตภายในประเทศ และในอนาคตอันใกล้อาจเริ่มซื้อกิจการบริษัทนอกประเทศ (แต่ยังอยู่ในอาเซียน) เพื่อรุกตลาดภูมิภาคอย่างจริงจังด้วย
(ข้อมูลอ้างอิง : บทวิเคราะห์เกี่ยวกับยุทธศาสตร์การควบรวมกิจการของไทยเบฟ ใน www.siamintelligenceunit.com

กรณีที่  2. บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด มหาชน หรือ ซีพีเอฟ ประกาศเสนอผู้ถือหุ้นพิจารณาเข้าซื้อหุ้นของ ซีพีเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพีพี ซึ่งเป็นธุรกิจอาหารสัตว์ในจีนและธุรกิจเกษตรในเวียดนาม ผู้บริหารคาดว่าหลังเข้าซื้อยอดขายในต่างประเทศจะเติบโตทันทีร้อยละ 50 จากเดิมร้อยละ 26

กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทมีมติอนุมัติเสนอผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาเข้าซื้อหุ้นจำนวนร้อยละ 74.18 ของ C.P. โภคภัณฑ์ หรือ CPP ในราคาหุ้นละ 0.90 ดอลล่าร์ฮ่องกง หรือประมาณ 3บาท 53 สตางค์ มูลค่ารวม 66,300 ล้านบาท โดยจะเข้าซื้อหุ้น จากผู้ถือหุ้น 3 ราย คือ Orient Success International Limited Worth Access Trading Limited และ CPI Holding Company Limited ทั้ง 3 บริษัทเป็นบริษัทในเครือซีพี ทั้งนี้ CPP เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง มีธุรกิจหลัก 2 กลุ่ม คือ ธุรกิจอาหารสัตว์ในประเทศจีนภายใต้ชื่อ "เจียไต๋" เป็นที่ยอมรับในประเทศจีนกว่า 30 ปี ครอบคลุม 28 มณฑล และธุรกิจเกษตรครบวงจรในเวียดนาม หรือ C.P. Vietnam Corporation ซึ่งหาก CPF เข้าซื้อธุรกิจในครั้งนี้ นอกจากบริษัทจะเติบโตขึ้นแล้ว ยอดขายในตลาดต่างประเทศในปีหน้าจะโตทันทีร้อยละ 50  การเสนอผู้ถือหุ้นพิจารณาซื้อธุรกิจของ CPP จะทำการเปิดลงมติในวันที่ 18 มกราคม โดยผู้ถือหุ้นใหญ่ไม่มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียง เป็นสิทธิ์ของผู้ถือหุ้นรายนอกและรายย่อยเท่านั้น ถ้าคะแนนเสียงมากกว่า 3 ใน 4 ทาง CPF ก็จะดำเนินการซื้อธุรกิจและชำระเงินให้เสร็จสิ้นช่วงต้นเดือนมีนาคมปีหน้า

บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) แนะนำ ซื้อ CPF คาดกำไรจะเติบโตโดดเด่นใน 2Q55 จากการรวม CPP เต็มไตรมาส เข้าสู่ไฮซีซั่น และ ราคาเนื้อสัตว์ฟื้นตัวขึ้นจากระดับต่ำสุดในเดือน มี.ค นอกจากนั้นยังมีอัพไซด์จากการเข้าซื้อกิจการโดย CPF กำลังพิจารณาเข้าซื้อกิจการ 2-3 ดีล ทั้งในเอเชีย และ ยุโรป โดยระบุในบทวิเคราะห์ ดังนี้

ประเด็นการลงทุน : กำไรปกติ 1Q55 ดีกว่าคาดแม้ชะลอตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนจากธุรกิจเนื้อสัตว์และธุรกิจต่างประเทศ แต่กำไรจะเติบโตโดดเด่นใน 2Q55 จากการรวม CPP เต็มไตรมาส เข้าสู่ไฮซีซั่น และ ราคาเนื้อสัตว์ฟื้นตัวขึ้นจากระดับต่ำสุดในเดือน มี.ค. ขณะที่ความเสี่ยงจากราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้นถูกจำกัดด้วยการซื้อล่วงหน้าไว้ที่ราคาต่ำกว่าตลาด เราปรับเพิ่มประมาณการสะท้อนการรวม CPP โดยให้ราคาเหมาะสม 45 บาท CPF ยังมีอัพไซด์จากการเข้าซื้อกิจการในอนาคต คงคำแนะนำ ซื้อ

กำไรดีกว่าที่คาด : CPF รายงานกำไรสุทธิ 1Q55 สูงเป็นประวัติการณ์ที่ 12,113 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 449% จากไตรมาสก่อนหน้า และ 229%จากช่วงเดียวกันของปีก่อนจากการบันทึกกำไรจากการปรับมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุนใน CPV 8,673 ล้านบาท และ กำไรจากการขายหุ้นธุรกิจประกันภัยและขายหุ้น CPALL 1,094 ล้านบาท หากไม่รวมกำไรพิเศษดังกล่าว CPF มีกำไรปกติ 2,646 ล้านบาทซึ่งดีกว่าที่คาดการณ์ เพิ่มขึ้น 71% จากไตรมาสก่อนหน้า แต่ลดลง 10%จากช่วงเดียวกันของปีก่อนจากราคาไก่และหมูที่ลดลงต่ำกว่าต้นทุน ธุรกิจในต่างประเทศชะลอตัวจากธุรกิจในอินเดียและมาเลเซีย (แต่ตุรกีพลิกจากขาดทุน 230 ล้านบาทใน 1Q54 เป็นกำไรราว 50 ล้านบาท) ทำให้อัตรากำไรลดลงจาก 16.1% ใน 1Q54 เหลือ 13.6% ดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มขึ้น 191%จากช่วงเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากหนี้สินจากการซื้อ CPP อย่างไรก็ดียอดขายเติบโตถึง 61%จากช่วงเดียวกันของปีก่อนจากการรวมงบ CPP เข้ามาประมาณเดือนครึ่ง

ฟื้นตัวโดดเด่นใน 2Q55 : คาดกำไรปกติ 2Q55 ฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญเนื่องจากการรวมงบการเงิน CPP เต็มไตรมาส เข้าสู่ช่วงไฮซีซั่นของการส่งออกและธุรกิจกุ้ง อีกทั้งราคาไก่และหมูฟื้นตัวจาก Supply ที่ลดลงและแนวโน้มการบริโภคฟื้นตัว โดยราคาไก่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับต่ำสุด 28 บาท/กิโลกรัมในเดือน มี.ค.- ต้นเดือน เม.ย. มาที่ 40 บาท/กิโลกรัมในช่วงปลายเดือน เม.ย. ปัจจุบัน ราคาหมูเพิ่มขึ้นจากจุดต่ำสุดที่ 48 บาท/กิโลกรัมในเดือน มี.ค. เป็น 65 บาท/กิโลกรัมในปัจจุบัน ราคาเนื้อสัตว์ในต่างประเทศก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน ส่วนปัจจัยลบจากราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นถูกชดเชยจากการที่ CPF ทำสัญญาซื้อกากถั่วเหลืองที่ราคาต่ำกว่าตลาดไว้จนถึงเดือน ก.ย. ขณะที่ข้าวโพดมีการสต็อคไว้บางส่วน นอกจากนั้นการที่ EU จะกลับมานำเข้าไก่สดจากไทยตั้งแต่ 1 ก.ค. ทำให้มีแนวโน้มที่ประเทศอื่นจะกลับมานำเข้าเช่นกันรวมถึงประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำเข้าไก่รายใหญ่จากไทย

ปรับประมาณการสะท้อนการรวม CPP คงคำแนะนำ ซื้อ : เราปรับเพิ่มประมาณการกำไรปกติปีนี้ 30% และ ปีหน้า 31% สะท้อนการรวมงบการเงินของ CPP ซึ่งทำธุรกิจอาหารสัตว์ในจีน และ ถือหุ้น CPV ที่ประกอบธุรกิจเกษตรครบวงจร/ธุรกิจอาหารในเวียดนาม ซึ่งมีศักยภาพเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ เราคาดปีนี้ CPF จะมียอดขายเพิ่มขึ้น 70% เป็น 3.5 แสนล้านบาท และ กำไรปกติเติบโต 55% เป็น 2.2 หมื่นล้านบาท (2.99 บาท/หุ้น) ราคาเหมาะสม 45 บาทจากการประเมินด้วย PER 15 เท่า นอกจากนั้นยังมีอัพไซด์จากการเข้าซื้อกิจการโดย CPF กำลังพิจารณาเข้าซื้อกิจการ 2-3 ดีล ทั้งในเอเชีย และ ยุโรป ผู้บริหารคาดเสร็จอย่างน้อย 1 ดีลภายในปีนี้ เป็นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจปัจจุบันและเพิ่มมูลค่าให้กับ CPF ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอาหารสัตว์ เนื้อสัตว์ และ อาหาร

กรณีที่ 3. จีอีแคปปิตอล มีความประสงค์จะขายหุ้นที่ถืออยู่ใน ธ.กรุงศรี
ในสัดส่วนใหญ่ออกไปให้กับผู้สนใจ อันสืบเนื่องจากนโยบายการลงทุนที่เปลี่ยนไป

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับสถานการณ์ว่า บริษัทเจเนอรัล อีเล็กทริก ได้ว่าจ้างมอร์แกน สแตนเลย์ ให้ทบทวนเกี่ยวกับการถือหุ้น 33% ในธนาคารกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีแนวโน้มว่าจีอีอาจขายหุ้นที่ถืออยู่เป็นเงินเกือบ 2,200 ล้านดอลลาร์

สื่อได้คาดการณ์เกี่ยวกับการขายหุ้นธนาคารกรุงศรีอยุธยามาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่จีอีเริ่มที่จะลดธุรกิจต่างๆ ลง แต่นี่เป็นครั้งแรกที่จีอีได้มอบหมายอย่างเป็นทางการให้ทบทวน ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีความจริงจังกับความต้องการที่จะสำรวจทางเลือกต่างๆ

แหล่งข่าวกล่าวว่า ยังไม่มีความชัดเจนว่าเมื่อไหร่ที่จีอีจะเปิดประมูลขายหุ้นอย่างเป็นทางการ ขณะที่ส่วนมอร์แกน สแตนเลย์และจีอียังไม่ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้

แหล่งข่าวกล่าวว่า จีอีได้ขายธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักภายใต้การบริหารของเจฟฟ์ อิมเมลต์ และการทบทวนเรื่องหุ้นธนาคารกรุงศรีฯเป็นส่วนหนึ่งของการปรับโครงสร้างโดยรวม หากมีการประมูลขายหุ้น อาจได้รับความสนใจจากธนาคารในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ธนาคารออสเตรเลีย เกาหลีใต้ และธนาคารญี่ปุ่น

แหล่งข่าวที่รับรู้โดยตรงเกี่ยวกับข้อตกลงนี้ กล่าวว่า ใครก็ตามที่สนใจธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยจะสนใจหุ้นนี้

มีการมองกันว่า เศรษฐกิจที่กำลังโตอย่างรวดเร็วและการเมืองที่ค่อนข้างมีความสงบของประเทศไทยหลังการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนกรกฎาคม 2554 เป็นปัจจัยที่ดึงดูดให้ธนาคารต่างชาติเข้ามาลงทุน

การทบทวนเรื่องหุ้นธนาคารกรุงศรีฯของจีอี มีขึ้นในขณะที่ไอเอ็นจี กรุ๊ป เอ็นวี ก็สำรวจเกี่ยวกับการขายหุ้นธนาคารทหารไทยที่ถืออยู่ 31% และไอเอ็นจีก็ได้ว่าจ้างวาณิชธนกิจแห่งหนึ่งให้ช่วยหาผู้ซื้อหุ้นธนาคารทหารไทย (TMB) ให้เช่นกัน

บริษัทหลักทรัพย์เกียรตินาคิน คงราคาเหมาะสม BAY ไว้ที่ 36.75 บาท และยังแนะนำ ซื้อยังคงประมาณการกำไรสุทธิไตรมาสปี 2555 ของ BAY ไว้ที่ 14,235 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 2.34 บาท และคาดว่า BAY จะมีการจ่ายปันผลจากผลประกอบการปี 2555 จำนวน 0.85 บาท/หุ้น คิดเป็น Div. yield 2.7% คงราคาเหมาะสม 36.75 บาท

บล.โนมูระ พัฒนสิน แนะซื้อหุ้น BAY ให้ราคาเป้าหมาย 41 บาท/หุ้น (P/B 2x PER13x) ราคาปัจจุบันซื้อขายที่ PER10x RoA1.6% (Vs ค่าเฉลี่ยภูมิภาค PER11x RoA1.2%) โดยมีประเด็นข่าว GE ถือหุ้นใหญ่ 33% ต้นทุนหุ้นละ 16 บาท ซื้อเมื่อเดือนม.ค.2007 จะขายหุ้นออก เคยเกิดขึ้นบ่อย นับตั้งแต่ปลายปี 2009 เป็นต้นมา หลัง GE ขายหุ้นแบงก์ในตุรกี ฟิลิปปินส์ อินโดฯ จึงแนะนำ ซื้อลงทุนระยะยาวบนปัจจัยพื้นฐานที่กำไรเติบโตดีต่อเนื่อง (กรณี M&A คาดซื้อขายที่ P/BV1.8-2x หรือประมาณ 32-35.6 บาท อิง BV. 2Q12 17.8 บาท) ล่าสุด ธ. CIMBT ก็สนใจที่จะเข้ามาทำคำเสนอซื้อหุ้น BAY ซึ่งเป็นธนาคารจากมาเลเซียเช่นเดียวกัน แม้ว่าดีลนี้ยังไม่มีผลสรุปในการตกลงซื้อขายเรียบร้อย แต่ก็อยู่ในกระแสการจับตาของนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เกี่ยวกับธนาคารที่มีขนาดใหญ่อันดับ 5 ของไทยและมีพอร์ตสินเชื่อรายย่อยมากที่สุด


 
 


 
กรณีที่ 4. เซ็นทรัลเตรียมปรับธุรกิจท็อปส์เดลี่ หลังฮุบหุ้นใหญ่แฟมิลี่มาร์ทสำเร็จ หวั่นซ้ำซ้อนกัน จ่อโละทิ้งเปลี่ยนเป็นแฟมิลี่มาร์ททั้งหมด คาดสรุปเร็วๆ นี้ เก็บแบนรนด์ท็อปส์เดลี่ไว้สวมโมเดลใหม่ต่อไป เซเว่นฯ มองเซ็นทรัลรีเทลฮุบแฟมิลี่มาร์ทส่งผลดีต่อตลาด

นายทศ จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือซีอาร์ซี เปิดเผยว่า บริษัทฯ เตรียมเปิดเจรจากับแฟมิลี่มาร์ทญี่ปุ่นถึงการจะร่วมมือกันสร้างความแข็งแกร่งให้แก่แฟมิลี่มาร์ทในประเทศไทย หลังจากที่กลุ่มเซ็นทรัลได้เข้าร่วมทุนและเป็นผู้บริหารร้านแฟมิลี่มาร์ทในประเทศไทยแล้ว โดยเฉพาะประเด็นร้านท็อปส์เดลี่ที่เป็นคอนวีเนียนสโตร์เหมือนแฟมิลี่มาร์ท ที่กลุ่มเซ็นทรัลเพิ่งสร้างแบรนด์นี้มา 3 ปีเศษ และมีความซ้ำซ้อนกัน ซึ่งทางเซ็นทรัลก็มีการเสนอกับทางแฟมิลี่มาร์ทแล้วเช่นกันว่า ถ้าหากจะสร้างแฟมิลี่มาร์ทให้แข็งแกร่งก็อาจจะเปลี่ยนแบรนด์ท็อปส์เดลี่เพื่อแปลงมาเป็นร้านแฟมิลี่มาร์ทก็ได้ ซึ่งคาดว่าจะสรุปได้ภายใน 1-2 เดือนจากนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประเด็นนี้อาจจะเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้ทางแฟมิลี่มาร์ทญี่ปุ่นตัดสินใจเมื่อเดือนที่แล้วนี้เองในการเลือกกลุ่มเซ็นทรัลเข้ามาเป็นพันธมิตรถือหุ้นด้วย นอกจากการเสนอราคาที่ว่ากันว่าอยู่ในอันดับที่สอง จากผู้เข้าร่วมแข่งขันซื้อแฟมิลี่มาร์ทไม่น้อยกว่า 3-4 รายในไทย ด้วยราคาประมาณ 3,000 ล้านบาท หรือประมาณ 7,800 ล้านเยน

อย่างไรก็ตาม นายทศยืนยันว่า บริษัทฯ ไม่ได้ทิ้งแบรนด์ท็อปส์เดลี่ แต่จะเก็บไว้หากในอนาคตมีการพัฒนารูปแบบค้าปลีกโมเดลใหม่ขึ้นมาและมีความเหมาะสมก็จะนำแบรนด์นี้กลับมาใช้ใหม่ ปัจจุบันท็อปส์เดลี่มีประมาณ 100 กว่าสาขา และล่าสุดเพิ่งเป็นพันธมิตรกับปั๊มน้ำมันคาลเท็กซ์ที่จะนำท็อปส์เดลี่ไปเปิดในปั๊มคาลเท็กซ์ ซึ่งอาจจะนำเอาร้านแฟมิลี่มาร์ทไปเปิดแทนก็ได้
 
บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้ซื้อหุ้นและเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท สยามแฟมิลี่มาร์ท จำกัด จำนวน 50.29% ที่เหลือเป็นของบริษัท แฟมิลี่มาร์ท ญี่ปุ่น 48.20% และบริษัท อิโตชู และโรบินสัน ถือหุ้นรวมกัน 1.51% โดยแถลงข่าวเมื่อวานนี้ และเตรียมที่จะส่งทีมบริหารเข้าไปดูแลต้นเดือนหน้า โดยมีนายณัฐ วงศ์พานิช ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่

นายทศกล่าวว่า วางแผนลงทุนแฟมิลี่มาร์ทช่วง 5 ปีจากนี้ด้วยงบประมาณกว่า 2,000-3,000 ล้านบาท เปิดใหม่และการรีโนเวต ตั้งเป้าขยายครบ 1,500 สาขาภายใน 5 ปีนับจากนี้ และเพิ่มเป็น 3,000 สาขาในอีก 10 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันมีจำนวน 746 สาขา เน้นทั้งลงทุนเองกับขายแฟรนไชส์ แต่ละสาขาลงทุนประมาณ 3 ล้านบาท พื้นที่ราว 100-150 ตร.ม.

ถึงแม้เราจะเป็นผู้นำอันดับหนึ่งในธุรกิจค้าปลีกโดยเฉพาะไซส์ใหญ่แล้ว แต่ในส่วนของคอนวีเนียนสโตร์เราก็ไม่ได้คิดไปแข่งกับใคร เพราะผู้นำอันดับหนึ่งทิ้งห่างไปมากทั้งเรื่องจำนวนสาขาและรายได้ แต่เราก็จะเป็นผู้นำได้ในแง่ของชื่อเสียงและแบรนด์ ส่วนเราสนใจจะขอสิทธิ์ทำแฟมิลี่มาร์ทในต่างประเทศหรือไม่นั้น ตอนนี้ยังไม่ได้เจรจากัน แต่เราก็สนใจทุกอย่าง

บริษัทคาดว่า สิ้นปีนี้ายได้ซีอาร์ซีจะมีประมาณ 150,000 ล้านบาท จากเดิม 140,000 ล้านบาท แบ่งเป็นกลุ่มธุรกิจอาหารประมาณ 20,000 ล้านบาท ซึ่งจะเพิ่มเป็น 36,000 ล้านบาท หลังจากได้ธุรกิจแบรนด์แฟมิลี่มาร์ท เข้ามาเสริมซึ่งแฟมิลี่มาร์ทมีรายได้รวมเมื่อปีที่แล้วประมาณ 10,598 ล้านบาท และคาดว่าในปี 2555 นี้แฟมิลี่มาร์ทจะมีรายได้รวม 12,000 ล้านบาท เติบโต 20%

นายอุเอะเดะ จุนจิ ประธานกรรมการบริษัท บริษัท แฟมิลี่มาร์ท(ประเทศญี่ปุ่น) กล่าวว่า ใช้เวลา 1 ปีในการเจรจากับทางกลุ่มเซ็นทรัล โดยดูที่มูลค่าการซื้อขาย และประวัติของกลุ่มนี้จึงมั่นใจในศักยภาพดเซ็นทรัล อีกทั้งตลาดคอนวีเนียนสโตร์ไทยยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก เมื่อเทียบกับอัตราส่วนของจำนวนประชากรเมื่อเทียบกับต่างประเทศ โดยญี่ปุ่นมีประชากรประมาณ 2,800 คนต่อ 1 ร้าน ไต้หวันประมาณ 2,500 คนต่อ 1 ร้าน เกาหลีใกล้เคียงกับไต้หวัน ส่วนไทยมีประมาณ 6,800 คนต่อ 1 ร้าน เท่ากับว่ายังมีโอกาสเปิดได้อีกมาก

โดยแฟมิลี่มาร์ทญี่ปุ่นตั้งเป้าหมายจะมีสาขาครบ 20,000 สาขา ในปี 2554 ซึ่งบรรลุไปแล้วเพราะปัจจุบันมีถึง 21,222 สาขาทั่วโลก เป็นเบอร์สองของโลก เป้าหมายต่อไปในปี 2558 จะมีสาขาครบ 25,000 สาขาทั่วโลก และเพิ่มเป็น 40,000 สาขาในปี 2563 ซึ่งในเดือนหน้าก็จะเปิดสาขาแรกที่อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์สาขาแรกในปลายปีนี้ ส่วนตลาดพม่าและอินเดียจะขยายต่อไป

กว่า 20 ปีที่แฟมิลี่มาร์ทเข้ามาในไทย ประสบกับความยากลำบากมามาก เช่น วิกฤตเศรษฐกิจปี 2541 และวิกฤตต่างๆ ในไทยเรื่อยมา รวมทั้งวิกฤตโลกด้วย ช่วง 5 ปีที่ผ่านมาบริษัทแม่ส่งทีมบริหารคนญี่ปุ่นเข้ามาเพื่อกระตุ้นธุรกิจ ซึ่งทำให้ขณะนี้เริ่มมีผลกำไรแล้ว และมีสาขา 746 แห่ง ขั้นที่สองจากนี้คือการหาพันธมิตรที่มีศักยภาพซึ่งเราก็ได้แล้วคือ กลุ่มเซ็นทรัล

เซเว่นฯไม่หวั่นเซ็นทรัลฮุบแฟมืลี่มาร์ท

นายยุทธศักดิ์ ภูมิสุรกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารร้านเซเว่นอีเลฟเว่น เปิดเผยว่า จากกรณีที่ทางเซ็นทรัลรีเทลเข้าถือหุ้นในแฟมิลี่มาร์ทอย่างเป็นทางการ มองว่าจะส่งผลดีต่อตลาดคอนวีเนียนสโตร์ที่จะช่วยเพิ่มอำนาจสร้างความสะดวกแก่ผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น

สำหรับร้านเซเว่นฯ เองไม่ได้มองว่าต้องแข่งขันมากขึ้น เพราะหลังจากที่ปรับโพซิชั่นนิ่งจากร้านสะดวกซื้อมาเป็น อิ่มสะดวกในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ทำให้เรามุ่งเน้นแข่งขันกับตัวเองเป็นหลัก ส่วนตลาดก็ยังมีช่องว่างในการเปิดร้านคอนวีเนียนสโตร์ตามสภาพความต้องการของสังคมเมืองที่เติบโตขึ้น และไลฟ์สไตล์ครอบครัวที่มีขนาดเล็กลง ที่จะนิยมซื้อสินค้าไซซ์เล็ก

อย่างไรก็ตาม เซเว่นฯ ยังเดินหน้าดำเนินตามกลยุทธ์ 7 มื้อ คือ เช้า สาย เที่ยง บ่าย เย็น ก่อนนอน และสำหรับลูกค้าที่ทำงานกะดึก ตามโพซิชันนิงของการเป็นร้านอิ่มสะดวก ล่าสุดทุ่มงบประมาณกว่า 20 ล้านบาท นำเสนอสินค้าสำหรับเทศกาลอาหารเจกว่า 300 เมนู เพิ่มขึ้นจากปีก่อนราว 20 เมนู มั่นใจว่า 1. จะช่วยเพิ่มจำนวนลูกค้าให้เข้าร้านถี่ขึ้นจาก 2-3ครั้ง เป็น 3-5 ครั้งต่อสัปดาห์ 2. ตอกย้ำภาพลักษณ์ร้านอิ่มสะดวก และ 3. สร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง เริ่มตั้งแต่วันที่ 14-23 ต.ค.นี้ รวม 10 วัน เชื่อว่าจะมียอดขายจากกลุ่มอาหารเจกว่า 400 ล้านบาท เติบโตขึ้น 30% จากปีก่อนโตราว 20% คิดเป็นสัดส่วนรายได้เพียง 1% เทียบกับตลาดรวมอาหารเจมูลค่า 40,000 ล้านบาท ที่เติบโตขึ้นปีละ 5%

สำหรับสินค้ากลุ่มอาหารเจ ประกอบด้วย อาหารแช่แข็ง, อาหารกล่องแช่เย็น, ซาลาเปา, น้ำผลไม้, ขนมปังเจ, อาหารสำเร็จรูป, นมถั่วเหลืองยูเอชที, อาหารแห้ง/กระป๋อง และขนม เชื่อว่าในกลุ่มอาหารแช่แข็งและแช่เย็น จะมียอดขายรวมที่ 4.4 ล้านกล่อง ส่วนซาลาเปาและเบเกอรี่ ขนมปัง คาดว่าจะขายได้ 14 ล้านชิ้น ขณะนี้เมนูอาหารเจที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือ ข้าวกระเพราทรงเครื่องเจ

โดยปีนี้เพิ่มเมนูพิเศษขึ้นมาอีกหลายรายการ เช่น ข้างแกงเผ็ดเป็ดย่างเจ, ข้าวลาบเจ, เกี๊ยวซ่าไส้ผักเจ, ข้าวเหนียวลาบเจ ที่ยังคงวางราคาจำหน่ายเฉลี่ยที่ 29-35 บาท นอกจากนี้ยังมี บิ๊กเปาวุ้นเส้นสี่สหาย, เปาถั่วแดงงาดำ เพิ่มเข้ามาอีก เป็นต้น


กรณีที่ 5 บริษัท ปตท.สำรวจ​และผลิตปิ​โตร​เลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) ​หรือ PTTEP บรรลุข้อตกลง​เทค​โอ​เวอร์ บริษัท ​โคฟ ​เอ​เนอร์จี (Cove Energy Plc) มูลค่า 1.9 พันล้านดอลลาร์ หลังจากบริษัท รอยัล ดัทช์ ​เชลล์ ​ได้ประกาศยก​เลิก​การ​เสนอซื้อหุ้นของ ​โคฟ

โดย PTTEP ขอสงวนสิทธิ์ในการลดราคาที่เสนอซื้อ ตามที่คณะกรรมการ Cove แนะนำ

Cove เป็นบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาด Alternative Investment Market (AIM) ในตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน (London Stock Exchange) โดยมีสินทรัพย์หลักคือ การถือครองสัดส่วนร้อยละ 8.5 ในแปลงสัมปทาน Rovuma Offshore Area 1 สาธารณรัฐโมซัมบิก โดยแปลงสัมปทานดังกล่าวนั้น เป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ (World Clas Gas Discovery) และคาดว่าจะมีปริมาณสำรอง (Resource) ถึงประมาณ 30 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต (Trillion Cubic Feet - TCF) รวมถึง Black Pearl Oil Prospect

นอกจากนี้ Cove ยังถือสัดส่วนร้อยละ 10 ในแปลงสัมปทาน Rovuma Onshore Area สาธารณรัฐโมซัมบิก รวมถึงการถือสัดส่วนร้อยละ 10 - 25 ในแปลงสัมปทานน้ำลึกอีก 7 แปลงในประเทศเคนยา

การประกาศความประสงค์ในการทำคำเสนอซื้อหุ้นในครั้งนี้ จะมีผลผูกพัน ต่อเมื่อได้บรรลุเงื่อนไขต่างๆ ดังนี้

- คณะกรรมการ Cove มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ยอมรับข้อเสนอของ ปตท.สผ.โดยปราศจากเงื่อนไข

- ปตท.สผ. ได้รับข้อผูกมัดจากคณะกรรมการและผู้บริหารของ Cove ที่ไม่อาจเพิกถอนได้ (Irrevocables) ที่จะตอบรับข้อเสนอการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ในส่วนที่ตนเองถือทั้งหมด และในส่วนที่ถือโดยครอบครัวและผู้ดูแลทรัพย์สินของบุคคลดังกล่าว

- ปตท.สผ. ได้รับการยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษร จากรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรณี(Minister of Mineral Resources) ของสาธารณรัฐโมซัมบิก ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดในสัญญาสัมปทานปิโตรเลียม (Exploration and Production Concession Contract)

ทั้งนี้ ปตท.สผ. ขอสงวนสิทธิ์ในการยกเว้นเงื่อนไขเบื้องต้นบางส่วน หรือทั้งหมด ในเวลาใดก็ได้ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของปตท.สผ. ซึ่งปตท.สผ.ไม่มีภาระผูกพันที่จะยื่นข้อเสนอสุดท้ายแต่อย่างใด ถึงแม้ว่าเงื่อนไขบางข้อหรือทั้งหมดได้ถูกดำเนินการแล้วเสร็จหรือได้รับยกเว้น

ทั้งนี้ทรัพย์สินหลักและโครงการของ Cove มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับกลยุทธ์ทางด้านธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว (Liquefied Natural Gas) ของกลุ่มปตท. การประกาศความประสงค์ในการทำคำเสนอซื้อหุ้นตาม "ข้อเสนอ" ดังกล่าว ถือเป็นก้าวที่สำคัญสำหรับ ปตท.สผ. ในการเข้าถึงแหล่งพลังงานในแถบแอฟริกาตะวันออกที่มีศักยภาพทางไฮโดรคาร์บอนสูง โดยปตท.สผ.มีความมุ่งมั่นที่จะใช้ประสบการณ์อันยาวนานในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เพื่อสนับสนุนให้ก๊าซธรรมชาติเป็นพลังงานหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนและสาธารณรัฐโมซัมบิก

กรณีที่ 6.  บิ๊กซี ได้ลงนามในสัญญาเข้าซื้อกิจการคาร์ฟูร์ในประเทศไทย ด้วยมูลค่า 35,500 ล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 8.6 เท่าของมูลค่าประมาณการของ EBITDA ปี 2553 คำนวณตาม run-rate synergies

โอกาสที่จะเติบโตอย่างก้าวกระโดดและตอกย้ำความเป็นผู้นำตลาด


คาร์ฟูร์ ประเทศไทย มีสาขารวม 42 สาขา โดยเป็นค้าปลีกในรูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ตจำนวน 34 สาขา และในสาขาเหล่านี้ มีพื้นที่ให้ร้านค้าเช่าจำนวน 37 สาขา โดยตั้งเป้าว่าจะมีรายได้ในปีนี้ราว 30 ล้านบาท ซึ่งสาขาของคาร์ฟูร์ที่มีอยู่ในกรุงเทพและปริมณฑล เมื่อผนวกรวมกับบิ๊กซีแล้ว จะทำให้บิ๊กซีมีสาขาในกรุงเทพและปริมณฑลเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว

นอกจากนี้ เมื่อรวมส่วนของค้าปลีกที่เป็นไฮเปอร์มาร์เก็ตของคาร์ฟูร์แล้ว บิ๊กซีจะมีไฮเปอร์มาร์เก็ตมากถึง 103 สาขา และคาดว่าจะมีรายได้รวมถึง 100,000 ล้านบาทสำหรับปีนี้ ทำให้บิ๊กซีมีสาขาครอบคลุมยิ่งขึ้นและตอกย้ำการก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ต

กลยุทธ์ค้าปลีก-บริหารจัดการศูนย์การค้า


เนื่องจากคาร์ฟูร์ในประเทศไทยมีสาขาที่เป็นศูนย์การค้า คือมีพื้นที่ให้ร้านค้าเช่าถึง 37 แห่ง ทำรายได้จากค่าเช่ารับมีสัดส่วนเป็นประมาณเป็น 50% ของ EBITDA เมื่อรวมกับสาขาที่เป็นศูนย์การค้าของบิ๊กซีแล้ว จะทำให้บิ๊กซีมีศูนย์การค้าเกินกว่า 100 สาขา มีพื้นที่ให้เช่ารวมถึง 584,000 ตร.ม. ซึ่งเป็นการช่วยสร้างมูลค่าและยกระดับกลยุทธ์ของบิ๊กซีที่ต้องการเพิ่มจำนวนสาขา ทั้งในแง่ค้าปลีกและการบริหารจัดการศูนย์การค้า ให้มีศักยภาพมากขึ้น

เพิ่มมูลค่าและสร้างโอกาสในส่วนของผู้ถือหุ้นบิ๊กซี


การเข้าซื้อกิจการคาร์ฟูร์ของบิ๊กซีในครั้งนี้ จะเกิดซินเนอร์ยี่ที่สำคัญ สามารถคำนวณเป็นมูลค่าประมาณร้อยละ1.2 ของประมาณการรายได้รวมของปีนี้ โดยรวมผลรับจากซินเนอร์ยี่จนถึงวันที่คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีพ.ศ. 2556

เงินลงทุนในการซื้อกิจการนี้จะมาจากเงินทุนหมุนเวียนภายในของบิ๊กซีและการขอสินเชื่อจากธนาคาร ซึ่งคาดว่าจะส่งผลต่อผลประกอบการของบิ๊กซีตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป

การซื้อกิจการจะแล้วเสร็จต้นปี 2554


อย่างไรก็ตาม การดำเนินการซื้อกิจการนี้จะต้องมีการนำเสนอและได้รับอนุมัติโดยผู้ถือหุ้นบิ๊กซีในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 5 มกราคม 2554 ซึ่งคาดว่าการซื้อกิจการจะดำเนินการได้แล้วภายในต้นปี 2554

เพื่อเป็นการให้ข้อมูลและตอบข้อซักถามในรายละเอียด ผู้บริหารของบิ๊กซีประกอบด้วย นายอีฟ เบรบ็อง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ คุณรำภา คำหอมรื่น ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน และ คุณประพันธ์ เอี่ยมรุ่งโรจน์ รองประธานผู้บริหารฝ่ายพัฒนาธุรกิจและอสังหาริมทรัพย์ จะจัดการประชุมทางโทรศัพท์เพื่อตอบข้อซักถามของนักวิเคราะห์ในวันนี้เวลา 15.30 น. และจะมีการเผยแพร่เสียงจากการประชุมผ่านทางเว็บไซต์ www.bigc.co.th ต่อไป

เกี่ยวกับบิ๊กซี


บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้นำอันดับ 2 ในตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ตของไทย ด้วยยอดขาย 69,000 ล้านบาท จาก 111 สาขา โดยแบ่งออกเป็นค้าปลีกในรูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ต 69 สาขา และเป็นส่วนของพัฒนาศูนย์การค้า ที่มีพื้นที่ศูนย์การค้าให้เช่า 69 สาขา  ข้อมูล ณ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2553



กรณีที่ 7. บริษัทปูนซีเมนต์ไทยจำกัด (มหาชน) หรือ "SCG" ทุ่มหมื่นล้านฮุบ "สยามโกลบอลเฮ้าส์" เสริมพอร์ตธุรกิจ หนุนแผนขยายตลาดคลุมทุกรูปแบบ กรุยทางขึ้นเบอร์หนึ่งในไทยและอาเซียน รับดีมานด์กลุ่มสินค้าซ่อมแซม-ตกแต่งบ้านบูมต่อเนื่อง ตามเทรนด์ธุรกิจอสังหาฯ ที่อยู่อาศัยขยายตัวสูง จับตาคู่แข่งสำคัญเครือเซ็นทรัลบุกหนักชิงปักธงคลุม 77 จังหวัดในระยะยาว ดัน 'ไทวัสดุ' หัวหอกบุกภูธร เจาะผู้รับเหมา-ร้านค้าช่วง อัดฉีดเฉียดหมื่นล้านผุดสาขาเท่าตัวปีนี้

ถือเป็นประเด็นร้อนช่วงปลายเดือนสิงหาคม เมื่อเจ้าตลาดวัสดุก่อสร้างรายใหญ่ "ปูนซิเมนต์ไทย" หรือเอสซีจี เล่นบทเสือซุ่ม ส่งบริษัทลูก "เอสซีจี ดิสทริบิวชั่น" เจรจาซื้อหุ้นเพิ่มทุนจาก "สยามโกลบอลเฮ้าส์" เจ้าพ่อโมเดิร์นเทรดวัสดุภูธร จำนวน 224 ล้านหุ้น (11.29%)

จากข้อมูลที่เอสซีจีแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ สิ่งที่ต้องดำเนินการต่อคือการใช้สิทธิ์ทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์ซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นทั่วไป เพื่อเพิ่มสัดส่วนการลงทุนเป็น 31.01-34.36% ของจำนวนหุ้นสยามโกลบอลเฮ้าส์ทั้งหมดกว่า 2,000 ล้านหุ้น

ว่ากันว่าเคสนี้เป็น "บิ๊กดีล" ที่เอสซีจีอาจต้องทุ่มเม็ดเงินทั้งหมดประมาณ 10,000 ล้านบาท เพื่อโดดเข้ามาเล่นในสมรภูมิรบโมเดิร์นเทรดวัสดุที่เป็นศูนย์ขนาดใหญ่แบบครบวงจร หรือ "บิ๊กบ็อกซ์ สโตร์" (Big Box Store) อย่างเต็มตัว เพื่อขยายฐานลูกค้ารองรับกับพฤติกรรมการเลือกซื้อวัสดุของผู้บริโภคที่หันมาช็อปวัสดุในศูนย์ขนาดใหญ่ที่มีสินค้าครบวงจร

ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวในตลาดหุ้นเป็นระยะ ๆ ว่า...เอสซีจีต้องการซื้อโฮมโปร แต่ทำไมมาปิดดีลที่สยามโกลบอลเฮ้าส์ !

"อภิสิทธิ์ รุจิเกียรติกำจร" ประธานบอร์ด "สยามโกลบอลเฮ้าส์" ซึ่งดำเนินธุรกิจศูนย์จำหน่ายวัสดุขนาดใหญ่ภายใต้ชื่อ
"โกลบอลเฮ้าส์" ไขปริศนากับ "ประชาชาติธุรกิจ" หลังเอสซีจีแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯเรื่องการเข้าร่วมทุนกับสยามโกลบอลเฮ้าส์เพียงไม่กี่ชั่วโมงว่า ดีลระหว่าง "สยามโกลบอลเฮ้าส์-เอสซีจี ดิสทริบิวชั่น" เจรจากันมาเป็นเวลากว่า 1 ปีแล้ว กระทั่งสามารถบรรลุข้อตกลงกันในที่สุด

เมื่อขั้นตอนการทำคำเสนอหุ้นจบลง เอสซีจีจะกลายเป็นกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 ในสยามโกลบอลเฮ้าส์ สามารถส่งตัวแทนเข้ามานั่งเป็นกรรมการในสัดส่วน 30% รวมถึงส่งบุคลากรฝ่ายบริหารและการจัดการมาร่วมดำเนินงานกับบริษัทดังกล่าวด้วยจำนวนหนึ่ง มั่นใจว่าจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับบริษัททุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านโลจิสติกส์ ภาพลักษณ์ การตลาด และการเงิน

โดยเฉพาะการสร้างอำนาจต่อรองกับซัพพลายเออร์จัดซื้อสินค้าบางชนิด ที่ทั้ง "สยามโกลบอลเฮ้าส์-เอสซีจี" ซื้อจากซัพพลายเออร์รายเดียวกัน

"ถ้าการซื้อหุ้นเพิ่มทุนครั้งนี้จบลงตามขั้นตอน เราจะได้เงินก้อนใหญ่เข้ามากว่า 3,000 ล้านบาท เมื่อรวมกับการเอ็กเซอร์ไซส์ (ใช้สิทธิ์) วอร์แรนต์ที่ได้รับอนุมัติจากผู้ถือหุ้นตั้งแต่ปี 2554 อีกประมาณ 1,000 กว่าล้านบาท จะทำให้บริษัทมีเม็ดเงินใหม่เข้ามาไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท เงินจำนวนนี้จะถูกนำไปใช้ 2 ส่วนคือ ชำระหนี้คืนสถาบันการเงินในหนี้ส่วนที่ครบกำหนด และขยายกิจการให้เร็วขึ้น เป้าหมายคือขยายสาขาครบ 20 แห่งภายในสิ้นปีนี้ นอกจากนี้ยังมองไปถึงการเปิดสาขาในกลุ่มประเทศเออีซี"

ขณะที่ฟากของ "เอสซีจี" ถึงแม้มีเครือข่ายตัวแทนจำหน่ายร้านโฮมมาร์ทประมาณ 400 สาขาทั่วประเทศ แต่การที่บิ๊กแบรนด์ค้าวัสดุอย่าง "โฮมโปร-ไทวัสดุ-สยามโกลบอลเฮ้าส์-อุบลวัสดุ" ขยายสาขาต่อเนื่อง ทำให้กลายเป็นคู่แข่งที่มีพาวเวอร์มากขึ้นเรื่อย ๆ

แหล่งข่าวระดับสูงในเอสซีจีชี้ว่า ดีลครั้งนี้ถือว่าวิน-วินทั้ง 2 ฝ่าย สยามโกลบอลเฮ้าส์จะได้พันธมิตรรายใหญ่เข้าไปเสริมความแข็งแกร่งในธุรกิจ ทางเอสซีจีก็สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ที่เป็นตลาดระดับกลาง-ล่างเพิ่มขึ้น ซึ่งคนกลุ่มนี้มีพฤติกรรมเลือกซื้อสินค้าในศูนย์ค้าวัสดุแบบโมเดิร์นเทรด ขณะที่ร้านโฮมมาร์ทก็เป็นช่องทางจำหน่ายสินค้าให้กับเอสซีจีเหมือนเดิม แต่ธุรกิจทั้ง 2 กลุ่มจะไม่กินตลาดกันเองแน่นอน

"ร้านโฮมมาร์ทยังสามารถจับกลุ่มลูกค้าเดิมไว้ได้ แม้ว่าสินค้าที่ขายในโฮมมาร์ทและสยามโกลบอลเฮ้าส์อาจจะทับซ้อนกันบ้าง โฮมมาร์ทเป็นลูกค้าระดับกลาง-บน แต่สยามโกลบอลเฮ้าส์จะเป็นกลาง-ล่าง"

แหล่งข่าวจากวงการค้าวัสดุรายหนึ่งวิเคราะห์ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นว่า เอสซีจีต้องการเข้าสู่ธุรกิจโมเดิร์นเทรดวัสดุมาระยะหนึ่งแล้ว เห็นได้จากช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมามีข่าวว่าเอสซีจีสนใจซื้อหุ้น "โฮมโปร"

ส่วนปรากฏการณ์ซื้อหุ้นสยามโกลบอลเฮ้าส์ เหตุผลแรกนั้นชัดเจนว่าเป็นทางลัดเพื่อเข้าสู่ธุรกิจศูนย์ค้าวัสดุขนาดใหญ่แบบบิ๊กบ็อกซ์ตามนโยบายซีอีโอเอสซีจี (กานต์ ตระกูลฮุน) ที่เคยประกาศแนวทางชัดเจนว่าจะใช้วิธีเข้าควบคุมกิจการมากกว่าจะลงทุนสร้างธุรกิจขึ้นมาใหม่

เหตุผลที่สอง พูดกันว่าไม่ได้มีแต่เอสซีจีเท่านั้น แต่มีกลุ่มนักลงทุนจีนสนใจจะเข้ามาร่วมทุนกับสยามโกลบอลเฮ้าส์ด้วยเช่นกัน ดังนั้นถ้าเอสซีจีไม่ซื้อวันนี้ วันหน้าก็มีความเป็นไปได้ที่สยามโกลบอลเฮ้าส์จะมีผู้ร่วมทุนจากจีนเข้ามาเสริมศักยภาพให้แข็งแกร่งขึ้น

ดังนั้น เปลี่ยน "คู่แข่ง" เป็น "พันธมิตร" ตั้งแต่วันนี้จึงเป็นจังหวะธุรกิจที่เหมาะสม

"การลงทุนในสยามโกลบอลเฮ้าส์เป็นแค่สเต็ปแรก เพราะวันนี้เอสซีจียังไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ รวมถึงเจรจาซื้อหุ้นโฮมโปรที่วันหนึ่งอาจปรากฏข่าวขึ้นมาก็ได้" แหล่งข่าวกล่าวและว่า

หลังจากนี้เชื่อว่าสยามโกลบอลเฮ้าส์ที่มีเอสซีจีถือหุ้นจะเร่งขยายสาขาอย่างรวดเร็ว เพื่อแข่งกับ "ไทวัสดุ" ของกลุ่มเซ็นทรัลที่ใส่เกียร์เปิดสาขาใหม่ปีละ 8-10 สาขา และมีแผนจะขยายสาขาให้ครบ 22 สาขาในสิ้นปีนี้

เพราะ "ไทวัสดุ" ของตระกูลจิราธิวัฒน์ก็เป็นหนึ่งในคู่แข่งของโฮมมาร์ทเหมือนกัน แม้ไม่ได้ชนกันตรง ๆ ก็ตาม


กรณีที่ 8 ต่างชาติจ้องฮุบโรงพยาบาลไทย

นายวิชัย ทองแตง รองประธานกรรมการ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) (BGH) หรือโรงพยาบาลกรุงเทพ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้นักลงทุนต่างชาติมีความสนใจและต้องการลงทุนในหุ้นธุรกิจโรงพยาบาลในประเทศไทยเป็นอย่างมาก และมีแนวโน้มที่จะเข้ามาลงทุนมากขึ้น เนื่องจากธุรกิจโรงพยาบาลของไทยเป็นที่ยอมรับ มีผู้ป่วยในหลายประเทศสนใจเข้ามาใช้บริการรักษา ทั้งญี่ปุ่น สหรัฐ ตะวันออกกลาง ปัจจุบันในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน พม่า กัมพูชา ก็เดินทางเข้ามารักษาพยาบาลที่เมืองไทยกันมาก โดยปีนี้ตัวเลขผู้รักษาพยาบาลต่างชาติสูงถึง 2.53 ล้านคน จากปีที่แล้ว 1.74 ล้านคน

"นักลงทุนและกองทุนต่างชาติสนใจหุ้นโรงพยาบาลเยอะ อย่างกรณี BGH ก็มีต่างชาติเข้ามาถือหุ้นจนเกือบเต็มโควตา 49% แล้ว และเมื่อมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 จะเป็นช่องให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในธุรกิจโรงพยาบาลของไทยได้เยอะขึ้นถึง 70% ซึ่งถึงตอนนั้นก็คงจะเห็นภาพชัดมากขึ้น" นายวิชัยกล่าว

โดยจากข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ซึ่งประกาศรายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ 30 อันดับแรกของ BGH เมื่อ 29 มีนาคม 2555 พบว่า มีผู้ถือหุ้นต่างชาติดังนี้ CREDIT SUISSE, INGAPORE BRANCH 2.03% STATE STREET BANK EUROPE 1.67% HSBC (SINGAPORE) 1.06%, NORBAX 0.52%

และในจำนวนนี้มี DEUTSCHE BANK AG SINGAPORE (DCS) 2.89% ซึ่งเพิ่งขายหุ้นทั้งหมด นายวิชัยกล่าวว่า ในกรณีนี้ส่วนตัวประเมินว่าเป็นการขายเพื่อทำกำไร ซึ่งน่าจะได้อย่างน้อย 30-40% ประกอบกับปัญหาวิกฤตยุโรปอาจทำให้ผู้ถือหุ้นของดอยช์แบงก์ ได้รับผลกระทบต้องการดึงเงินกลับก็เป็นไปได้ ซึ่งในส่วนนี้ตนจึงได้เข้าไปรับซื้อไว้บางส่วน

นายวิชัยกล่าวว่า ปัจจัยบวกที่ดึงดูดให้ผู้ป่วยในต่างประเทศนิยมเข้ามารักษาในไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากความโดดเด่นใน 3 ด้านได้แก่ คุณภาพ ซึ่งขณะนี้มีโรงพยาบาลในประเทศไทยถึง 24 แห่ง ที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน JCIA (Joint Commission International Accreditation USA) ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลของโรงพยาบาลโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นที่รู้จักและยอมรับของทั่วโลก

รวมทั้งราคาค่ารักษาของไทย ยังค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับต่างประเทศอย่างสหรัฐอาจถูกกว่าถึง 5 เท่า และต่ำกว่าสิงคโปร์อย่างน้อย 30-40% และสุดท้ายคือ บริการ ซึ่งคนไทยได้การยอมรับจากผู้ป่วยทั่วโลกถึงความเป็นมิตร ถือเป็น 1 ในภูมิภาคเอเชีย ดังนั้นผู้ป่วยทั่วโลกจึงหันเข้ามาใช้บริการต่อเนื่อง เป็นผลดีต่อธุรกิจในระยะยาว จนเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่อยู่ในสายตานักลงทุนและกองทุนต่างชาติ

IHH เคลื่อน เฮลท์แคร์ เอเชีย

นายวิชัยอธิบายเพิ่มเติมถึงเหตุผลที่ทำให้ธุรกิจเฮลท์แคร์ในประเทศไทยเป็นที่จับตามองของนักลงทุนต่างชาติมากขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งเพราะล่าสุดเมื่อ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา กลุ่มบริษัทไอเอชเอช เฮลท์แคร์ (IHH Healthcare) ซึ่งเป็นกองทุนขนาดใหญ่ของรัฐบาลมาเลเซียที่มุ่งลงทุนในธุรกิจโรงพยาบาล ได้เข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แบบสองตลาด ทั้งในตลาดหลักทรัพย์กัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซียและสิงคโปร์ ซึ่งถือว่าเป็นหุ้นที่เสนอขายแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) ที่มีมูลค่าใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกในปีนี้ด้วยมูลค่าประมาณ 2.7 แสนล้านบาท ถือเป็นกลุ่มธุรกิจเฮลท์แคร์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย เวลานี้มีเครือข่ายโรงพยาบาลในสิงคโปร์ มาเลเซีย ตุรกี อินเดีย รวมทั้งจีน และมีผลให้กลุ่มของ BGH กลายเป็นอันดับ 2 ไปทันที ซึ่งปัจจุบันมาร์เก็ตแคปของ BGH อยู่ที่ประมาณ 1.6 แสนล้านบาท

"การที่เราหล่นลงมาอยู่อันดับ 2 ของเอเชียไม่ได้หมายความว่าเราจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน เพราะคุณสมบัติของโรงพยาบาลไทยยังดึงดูด ดังนั้นถึงไม่ชิงที่ 1 กลับมา เราก็อยู่ได้สบาย แต่ถ้าเราจะทำให้ประเทศไทยเป็นอันดับ 1 เราต้องวางแนวทางขยับตัวมากกว่านี้" นายวิชัยกล่าวและว่า

สิ่งสำคัญคือการรุกคืบของกลุ่ม IHH ซึ่งทำให้ขณะนี้ธุรกิจเฮลท์แคร์ในไทยและในเอเชียเป็นที่จับจ้องของนักลงทุนต่างชาติ นอกจากนี้ก็เชื่อว่าหลังจากนี้ประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในเป้าหมายการลงทุนสำคัญของกลุ่ม IHH

นายวิชัยกล่าวว่า หากประเทศไทยต้องการรักษาธุรกิจโรงพยาบาลไว้ นักธุรกิจไทยก็ต้องมีการร่วมมือสร้างเครือข่ายเพื่อเสริมความแข็งแกร่งเช่นที่กลุ่ม BGH ดำเนินอยู่ เพื่อไม่ให้ถูกกลุ่มกองทุนต่างประเทศเข้ามาซื้อกิจการได้ง่ายนัก เพราะการที่จะอยู่แบบเดี่ยว ๆ นั้นลำบาก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องมาร่วมมือกับ BGH ร.พ.มูลค่า 1 ใน 4 ของเฮลท์แคร์

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจโรงพยาบาลมีมูลค่าเพียง 1 ใน 4 ของธุรกิจเฮลท์แคร์เท่านั้น ดังนั้นนอกจากการขยายเครือข่ายโรงพยาบาล ซึ่งปัจจุบันในกลุ่ม BGH นั้นมีอยู่ 30 แห่งแล้ว และยังคงมีนโยบายขยายอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในจังหวัดหัวเมือง นอกจากนี้ก็กำลังมองหาโอกาสการลงทุน 3 ใน 4 ของธุรกิจเฮลท์แคร์

ดังนั้นที่ผ่านมา BGH จึงได้ขยายตัวเข้าไปในธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ซื้อบริษัทผู้ผลิตยา เป็นต้น และหลังจากนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษาธุรกิจที่เกี่ยวข้องด้านอื่นเพิ่ม ซึ่งส่วนตัวมีความสนใจการทำรีสอร์ตเพื่อการพักฟื้นสำหรับต่างชาติ เพราะต่อไปหลายประเทศทั่วโลกจะกลายเป็นสังคมคนชรา จึงมองว่าธุรกิจนี้ยังมีโอกาสอีกมาก

โดยสำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ไอเอชเอชตั้งเป้าที่จะเติบโตเป็นสองหลักภายใน 5 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจีนและในตลาดยุโรปตะวันออกซึ่งมีความเป็นไปได้ และจากราคาหุ้นที่แข็งแกร่งของ IHH สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการในการบริการด้านสุขภาพและอนามัยในชนชั้นกลางของภูมิภาคเอเชียที่ขยายตัวขึ้น

ขณะที่นายแพทย์เฉลิม หาญพาณิชย์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บางกอกเชน ฮอสปิทัล จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารกลุ่มโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ และนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้นักลงทุนให้ความสนใจและเข้ามาลงทุนหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลในไทยมาก เนื่องจากมองว่าโรงพยาบาลนั้นเป็นธุรกิจที่มักจะไม่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าเศรษฐกิจเป็นอย่างไร เฮลท์แคร์หรือสถานพยาบาลก็ยังมีการเติบโตที่ดี และเติบโตต่อเนื่อง เป็นธุรกิจที่มีรีเทิร์นดี มีการจ่ายเงินปันผลทุกปี

"ช่วงที่ไอเอชเอช เฮลท์แคร์ของมาเลเซีย ที่จะเข้าตลาดหุ้นที่สิงคโปร์ เมื่อสัก 1 เดือนที่ผ่านมา สังเกตเห็นว่ามีนักลงทุนต่างประเทศจำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถจองซื้อหุ้นได้ ก็เลยเทการลงทุนส่วนหนึ่งมาที่หุ้นโรงพยาบาลบ้านเรา และทำให้หุ้นโรงพยาบาล 2-3 แห่งมีความเคลื่อนไหวมาก"

ผู้บริหารกลุ่มโรงพยาบาลขนาดกลางรายหนึ่ง กล่าวว่า การที่โรงพยาบาลหลายแห่งมีเครือข่ายหรือจำนวนสาขาที่มาก เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนจากต่างประเทศให้ความสนใจ หากสังเกตจะเห็นได้ว่า ที่ผ่านมาจะมีนักลงทุนต่างประเทศเข้าเยี่ยมชมโรงพยาบาลเป็นระยะ ๆ และขนาดตลาดที่ใหญ่ก็จะทำให้เกิดความคุ้มค่าในการลงทุน

นอกจากนี้ โรงพยาบาลในไทยยังมีความได้เปรียบหลาย ๆ อย่าง ทั้งบุคลากร แพทย์ พยาบาล อุปกรณ์เครื่องมือที่ทันสมัย บริการที่ได้รับการยอมรับ ที่สำคัญราคาไม่แพง เฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับหลาย ๆ ประเทศ รวมทั้งมีสถานที่ท่องเที่ยวมาก ฯลฯ เรียกว่าทุกอย่างเอื้ออำนวย นักลงทุนต่างประเทศจึงสนใจ

"การเปิดเออีซีในปี 2558 ก็จะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การเคลื่อนย้ายเงินทุนมีความยืดหยุ่นและคล่องตัวมากขึ้น โรงพยาบาลจะต้องเร่งปรับตัวโดยเฉพาะ และโรงพยาบาลขนาดเล็กจำเป็นต้อง

เตรียมความพร้อม เพราะวันนี้มีต่างประเทศสนใจจะเข้ามาร่วมธุรกิจด้วย"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น