วันพฤหัสบดีที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2555

กสทช.ย่อมาจาก คณะกรรมการสื่อสารโทรคมนาคมเพื่อทรูคอร์ปและชินคอร์ป


อาการหางโผล่จากการประเคน 3G ของ กสทช. แบบง่ายๆ ให้กับ 3 บริษัทยักษ์โทรคมนาคม

ผู้เขียนได้ติดตามข่าวสารเรื่องการประมูล 3G ของประเทศไทยในรอบ 2 ปีกว่า ซึ่งเป็นการประมูล3G โดยองค์กรอิสระที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นมาใหม่และเพิ่งจะได้คณะกรรมการชุดใหม่นี้มาเป็นผู้ดำเนินการการเป็นเจ้าภาพ ภายหลังการแต่งตั้งมาได้หมาดๆ ไม่ถึง 1ปี โดยที่คณะกรรมการชุดนี้มีทั้งหมด 11 ท่าน มาจากการสรรหาและแต่งตั้งโดย สว. โดยมีรายชื่อคณะกรรมการ กสทช.ดังนี้
1. พ.อ.นที ศุกลรัตน์ กิจการโทรคมนาคม
2. สุทธิพล ทวีชัยการ ด้านนิติศาสตร์
3. พ.ต.อ.ทวีศักดิ์ งามสง่า ด้านนิติศาสตร์
4. พ.อ.เศรษฐพงศ์ มะลิสุวรรณ กิจการโทรคมนาคม
5. พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี ภาคกิจการกระจายเสียงโทรทัศน์
6. พีระพงษ์ มานะกิจ กิจการกระจายเสียงโทรทัศน์
7. ประเสริฐ ศลีพิพัฒน์ ด้านเศรษฐศาสตร์
8. ธวัชชัย จิตรภาษนันท์ ด้านเศรษฐศาสตร์
9. สุภิญญา กลางณรงค์ ด้านคุ้มครองผู้บริโภค กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์
10.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ด้านคุ้มครองผู้บริโภค กิจการโทรคมนาคม
11.พ.อ.สุกิจ ขมะสุนทร ด้านการศึกษา วัฒนธรรม ปัจจุบันดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษ กองบัญชาการกองทัพไทย
 
งานแรกๆ ที่ กสทช.เข้ามาดูแลก็คือเรื่องกำหนดกฎระเบียบ การตั้งกติกา กำหนดโครงสร้างการทำงาน การกำหนดกรอบการกำกับดูแล โดยมีการแบ่งแยกโครงสร้างหลักออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ ก็คือ แบ่งเป็นโครงข่ายด้านสื่อสารโทรคมนาคม ได้แก่ ดาวเทียมสื่อสาร โทรศัพท์มือถือ อินเตอร์เน็ตความเร็วสูง  อีกกลุ่มนึงก็คือโครงข่ายด้านวิทยุกระจายเสียงและโทรคมนาคม ได้แก่ ทีวีดาวเทียม เคเบิ้ลทีวี ฟรีทีวี วิทยุกระจายเสียง เป็นต้น ในช่วงที่ กสทช.เพิ่งเข้ามาทำงานมีกรณีปัญหาของโครงข่ายโทรศัพท์มือถือของดีแทคล่มบ่อยๆ  ทำให้ กสทช.มีบทลงโทษแก่ บ.ดีแทค ด้วยการปรับเงินและให้ดีแทคชดเชยค่าเสียหายแก่ผู้บริโภค และมีกรณีปัญหาช่วงการถ่ายทอดสดฟุตบอลยูโร ที่ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งที่ดูทีวีผ่านจานรับสัญญาณดาวเทียมบางระบบดูไม่ได้  ซึ่งในตอนนั้น กสทช.ไม่สามารถเข้าไปจัดการปัญหาได้อย่างเต็มที่หรือเด็ดขาดได้ เนื่องจากอ้างว่ายังอยู่ในระหว่างการร่างหลักเกณฑ์ กฏเกณฑ์ต่างๆ ยังไม่แล้วเสร็จ จึงยกประโยชน์ให้จำเลยไป แต่ภายหลังก็นำเอาประเด็นปัญหานั้นมาพิจารณาประกอบในการร่างกฏเกณฑ์เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต และเมื่อเร็วๆ นี้ผลงานชิ้นโบว์แดง(โบว์ดำ) งานแรกของการเริ่มทำงานก็คือเปิดประมูล 3G ในย่านคลื่นความถี่ 2.1 GHz  เป็นครั้งแรกสำหรับคณะกรรมการชุดนี้ แต่เคยมีการประมูลมาแล้วเมื่อ 2 ปีก่อน คราวนั้นถูกล้มประมูลโดยการถูกฟ้องจาก ทศท และแม้ว่าคราวนี้ก็มีกลุ่มบุคคล หรือบุคคลที่เป็นนักวิชาการอิสระ คือ ดร.อนุภาพ ถิรลาภ    และกลุ่มของคุณสุริยะใส กตะศิลา ในฐานะแกนนำกลุ่มกรีน ได้ทำหนังสือประท้วงคัดค้าน และขอให้มีการทบทวนการประมูล หรือชะลอออกไปก่อน และให้ศาลคุ้มครองชั่วคราว แต่ศาลก็ได้รับฟ้อง แต่พิจารณาตัดสินให้ยกฟ้องในกรณีของ ดร.อนุภาพ แต่รับเรื่องไว้พิจารณาในกรณีของคุณสุริยะใส แต่ยังไม่ไต่สวน

พอวันประมูลมาถึง สิ่งที่ประชาชนไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น เมื่อผลการประมูลที่ออกมาเป็นไปตามคำท้วงติงของนักวิชาการอิสระ นักวิชาการจาก TDRI (อ.ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์) หรือแม้กระทั่ง NGO ที่เคยท้วงติงเรื่องจุดอ่อนการประมูลที่ได้ถูกออกแบบมาไว้เพื่อการให้รายใหญ่ 3 เจ้าได้กินรวบตลาดไป  ซึ่งผลก็เป็นไปตามนั้น คือ 3 เจ้าได้ไป และแถมราคาที่ประมูลได้สูงกว่าขั้นต่ำที่ กสทช.ตั้งไว้เพียง 2 % กว่าเท่านั้น ในบาง slot ของย่านความถี่อีกด้วย ทำให้เกิดข้อกังขามากมายของผู้ที่ติดตามการประมูล จนมีการเปรียบเปรยถึงความโปร่งใสของการประมูลว่านี่ไม่ใช่การประมูลแต่เป็นการประเคนมากกว่า ให้กับ 3 เจ้า เพราะไม่มีการไล่ราคาแข่งขันกันเลย มีการยอมแพ้กันง่ายๆ ที่ราคาต่ำ บาง slot ก็ไม่มีผู้ประมูล เสมือนการฮั้วกันมาก่อน  อยากจะใช้คำของ ดร.สมเกียรติ ที่บอกว่าการประมูลนี้เปรียบเสมือนการเล่นเก้าอี้ดนตรีที่มีผู้เล่น 3 ราย แต่ดันให้มีเก้าอี้ 3 ตัว แล้วอย่างนี้จะมีใครแย่งเก้าอี้กันนั่งเหรอ ในเมื่อมันมีเก้าอี้นั่งเท่ากับจำนวนผู้เล่นอยู่แล้ว ก็เสมือนการประเคนใบอนุญาตให้ไปเลยฟรีๆ แถมจ่ายในอัตราถูกมากๆ คือโดยรวม 40,000 กว่าล้านบาท ในสัญญาสัมปทานอายุยาวนานถึง 15 ปี ซึ่งหารแล้วก็ตกปีละ 2,000 กว่าล้านบาทเท่านั้นที่รัฐหรือประชาชนจะได้ ซึ่งน้อยกว่าส่วนแบ่งผลประโยชน์ที่รัฐได้ในยุค 2G หรือค่าสัมปทานในยุคปัจจุบัน อีกทั้งการประมูลครั้งนี้ยังได้มีการว่าจ้างบริษัทเอกชนจากต่างประเทศมาเป็นผู้วางระบบการประมูลเสียค่าจ้างไปราว 20 ล้านบาท แต่ผลที่ได้ราวกับเด็กเล่นขายของกัน ยังไม่นับรวมเงินเดือนของคณะกรรมการกสทช.แต่ละคน ปาเข้าไปหลักแสน แต่ประสิทธิภาพการทำงาน และวิสัยทัศน์ในการเข้ามาบริหารงานถือว่าต่ำกว่ามาตรฐานและเงินเดือนค่าจ้างมาก (วุฒิการศึกษาและเครดิตการทำงานในอดีตไม่สามารถนำมาใช้เป็นตัวการันตีได้เลย) ราวกับคณะกรรมการ อบต.ตามต่างจังหวัด ถ้ารูปการณ์ออกมาเป็นอย่างนี้แล้ว ผู้เขียนคิดว่าจะให้ประชาชนไว้วางใจคณะกรรมการ กสทช.ชุดนี้ให้จัดประมูลคลื่นความถี่ในด้านอื่นอย่าง โทรทัศน์ วิทยุ ได้อย่างไร แล้วเราจะหวังความโปร่งใสไม่ออกมาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชนมากเกินไปแบบนี้ได้อย่างไร ผู้เขียนจึงอยากจะตั้งสมญานามของ กสทช.ชุดนี้เสียใหม่ว่าเป็น คณะกรรมการสื่อสารโทรคมนาคมเพื่อทรูคอร์ป และชินคอร์ป เสียมากกว่า  ภายหลังการประมูลเสร็จสิ้นมาลองดูฟีดแบ็คของผู้คนในโลกไซเบอร์ดูสิครับว่าเขาคิดเห็นกันอย่างไร ขอยกมาเป็นกรณีตัวอย่างดังนี้ครับ
ปฏิกิริยาหลังการประมูลใบอนุญาตเพื่อจัดสรรคลื่นความถี่ในทางลบและข้อสงสัยจำนวนมาก สะท้อนให้เห็นแรงกดดันรอบด้านของธุรกิจแห่งอนาคตนี้ได้ชัดเจน ทั้งที่โดยข้อเท็จจริงแล้ว ผู้ชนะที่ได้รับใบอนุญาตทั้ง 3 รายในค่ายมือถือทั้ง ทรูคอร์ปอเรชั่น (TRUE) แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) และโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) แล้ว ต่างถือว่า ต้องคำสาปของผู้ชนะกันเข้าไปเต็มเปาชนิดไม่มีทางดิ้นหลุดนับจากนี้ไป
คำสาปของผู้ชนะ เป็นปรากฏการณ์ที่นำตัวอย่างของสงครามในครั้งโรมันโบราณ เมื่อการรบครั้งหนึ่ง กษัตริย์พีร์รุส แห่งเมืองเอพีรุสในทะเลเอเดรียติก ได้รับชัยชนะใหญ่หลวงต่อกองทัพโรมัน โจมตีจนแตกพ่ายไป แต่ผลลัพธ์ตามมาคือ กำลังทหารในกองทัพของเมืองเอพีรุสตายเกือบหมดกองทัพ ดังนั้นเมื่อกองทัพหนุนของโรมันเดินทางมาโจมตีครั้งใหม่ กองทัพของเมือเอพีรุสก็ไม่อยู่ในฐานะจะสู้รบต่อไปได้
ตัวอย่างดังกล่าวถูกนำมาใช้การแข่งขันทางธุรกิจสำคัญ 3 ประการคือ 1) การประมูลขอรับใบอนุญาตจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อประกอบธุรกิจโทรคมนาคม 2) การยื่นไฟลิ่งขออนุญาตเพิ่มทุนขายหุ้น IPOs 3) การทำสัญญาซื้อขายโฆษณาบนเว็บที่เรียกว่า Pay per click 4) การประมูลยื่นขอสัมปทานขุดเจาะสำรวจน้ำมันและพลังงานนอกฝั่งทะเลชาติต่างๆ ทั่วโลก
กรณีของการประมูลจัดสรรคลื่นความถี่ 2.1GHz Spectrum Allocation ที่กระทำโดย กสทช. เมื่อวันอังคารที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา เข้าข่ายนี้โดยตรง
การประมูลเพื่อได้ใบอนุญาตดำเนินธุรกิจ เป็นเพียงต้นทุนแรกเข้าสู่การแข่งขันทางธุรกิจเท่านั้น สิ่งที่เป็นความท้าทายมากกว่าหลังจากนั้นคือ ความสามารถในการแข่งขันทางการตลาดและทางการเงิน
ทำนองเดียวกันกับ การอนุมัติของ ก.ล.ต.ให้อนุญาตซื้อขายหุ้น IPOs ได้ ไม่ได้บอกว่า ราคาหุ้นที่ขายจะถูกหรือแพง เพราะนั่นเป็นปัญหาของบริษัทกับนักลงทุนที่จะต้องไปดำเนินการเอาเองภายใต้หลักอุปสงค์และอุปทานของตลาด
เงื่อนไขของการประมูลใบอนุญาต 3G อายุ 15 ปี ที่กำหนดให้มีใบอนุญาตทั้งหมด 9 ใบ ใบละ 5 MHz โดยใช้ราคาขั้นต่ำ 4.5 พันล้านบาทเป็นจุดเริ่มต้นประมูล แล้วมีผู้เข้าร่วมการประมูลเพียงแค่ 3 ราย จาก 3 ค่ายโทรคมนาคม แม้จะเป็นไปตามกติกาที่กำหนดไว้ล่วงหน้าไม่ผิดเพี้ยน แต่ก็ทำให้ปฏิกิริยาต่อผลการประมูลสร้างปัญหาให้กับผู้จัดทำการประมูลมากทีเดียว
ว่าไปแล้ว เงื่อนไขที่ กสทช.กำหนดเอาไว้ ระบุหลักการชัดเจนว่า การกำหนดราคาดังกล่าว ไม่มีความจำเป็นจะต้องมุ่งแต่เรื่องหารายได้เข้าสู่รัฐจากการประมูลใบอนุญาต 3G เพียงอย่างเดียว เพราะมีการถ่วงน้ำหนักพบว่า ระหว่างการแข่งขันในการประมูลเพื่อให้ได้ใบอนุญาต หรือ Competition For The Market กับ การแข่งขันในตลาดภายหลังการประมูลได้ใบอนุญาตไปแล้ว หรือ Competition In The Market นั้น อย่างหลังมีความสำคัญมากกว่า
เหตุผลก็เพราะว่า ไม่มีใครรู้อนาคตว่าการแข่งขันหลังจากได้รับใบอนุญาตไปแล้ว จะประสบความสำเร็จตามคาดหรือไม่ เพราะขึ้นกับกลไกและรสนิยมของผู้บริโภค
ที่สำคัญ กสทช.ยังมีโครงการที่จะออกใบอนุญาตคลื่นความถี่ย่านอื่นๆ ที่สามารถสร้างรายได้ให้รัฐได้อีกในปีต่อๆ ไป และมุ่งสร้างความสมดุลระหว่างรายได้เข้ารัฐกับผลประโยชน์ที่จะเกิดแก่ประชาชน และประเทศชาติโดยรวม
หากพิจารณาเทียบ สูตรการประมูลแบบ N-1 ของ กทช.เดิมถูกที่ทักท้วงจนต้องล้มเลิกไปเมื่อ 2 ปีก่อน กับวิธีการประมูลของ กสทช.ล่าสุด จะพบว่า วิธีการประมูลแบบ Simultaneous Ascending Bid Auction (เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Simultaneous Multiple Round Auction (SMRA)) ที่จะเป็นการประมูลแบบทุก Slot พร้อมกันและผู้ประมูลสามารถเสนอราคาเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆตามต้องการ เป็นวิธีการที่ดีกว่า และหลายประเทศเช่น สวีเดน สหรัฐฯ แคนาดา อังกฤษ อินเดีย เยอรมนี และอังกฤษ ก็เลือกใช้วิธีการนี้
จุดเด่นของวิธีการดังกล่าวอยู่ที่ว่า เป็นการจัดสรรโดยอาศัยกลไกตลาดมากกว่าอีก 3 วิธีคือ การจัดสรรแบบมาก่อนได้ก่อน การคัดเลือกแบบสุ่ม และการคัดเลือกแบบเปรียบเทียบ ซึ่งอาศัยกลไกทางการบริหารที่เลือกปฏิบัติได้ง่าย
เมื่อผลการประมูลปรากฏออกมาว่าผู้เข้าแข่งขันทั้ง 3 ราย ต่างได้รับชัยชนะในการประมูลเท่าเทียมกัน และราคาที่เสนอประมูลรวมกว่า 4 หมื่นล้านบาท หรือ 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ก็ไม่ได้มีการแข่งขันกันรุนแรง หากเต็มไปด้วยถ้อยทีถ้อยอาศัยซึ่งผิดคาดอย่างมาก (ดูรายละเอียดในตารางประกอบ) เสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่เคยดังไม่มากนัก จึงโผล่หน้ามากล่าวหากสทช.ในฐานะผู้ออกแบบการประมูลใบอนุญาตอย่างเปิดเผย
รวมทั้งกรรมการ กสทช.ส่วนน้อยที่เปิดตัวออกมาว่าไม่เห็นด้วยและต้องการให้ยกเลิกการประมูล โดยข้อกล่าวหาว่า ทำให้รัฐเสียผลประโยชน์ประมาณ 1.5-1.6 หมื่นล้านบาท
ความจริงแล้ว ไม่มีใครรู้ว่าต้นทุนที่แท้จริงของใบอนุญาตดังกล่าวอยู่ที่เท่าใดกันแน่ เพราะต้นทุนที่แท้จริงของคลื่นนั้น ขึ้นกับการตีความเชิงคุณค่าเป็นสำคัญ แต่หากเทียบตามมาตรฐานหลายประเทศทั่วโลกแล้ว ไม่ถือว่าถูก
หากเทียบค่าใบอนุญาตที่บริษัท 3 รายต้องจ่ายให้กับ กสทช. เข้ากับการออกใบอนุญาต 3G อายุ 20 ปี ที่รัฐบาลอังกฤษให้กับผู้ประกอบการโทรคมนาคมในอังกฤษ 4 ราย ได้แก่ TIW UMTS, Orange, Crescent, Epsilon ใน ค.ศ. 2000 (พ.ศ. 2544) คิดเป็นมูลค่ารวมแค่ 1 พันล้านดอลลาร์ หรือ 50,000ล้านบาทเท่านั้นเอง และในการออกใบอนุญาตดังกล่าวในปีนั้น ก็ไม่มีข้อกล่าวหาตามมาว่า เป็นมูลค่าต่ำเกินสมควร แม้จะมีสื่อพากันคาดเดาว่าจะต้องได้ไม่น้อยกว่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่หนึ่งในผู้ที่ถอนตัวจากการประมูลในขณะนั้น ให้สัมภาษณ์เปิดเผยว่า ราคาใบอนุญาตที่ได้ไปนั้นสูงเกินจริงมาก
ส่วนที่เอสโตเนีย ประเทศในยุโรปเหนือ ปรากฏว่าในปี 2551 ( ค.ศ. 2006) คณะกรรมการสื่อสารแห่งชาติ (Estonian National Communications Board) ให้ใบอนุญาต 3G แก่บริษัท Grosson Capital ใบเดียวในราคาประมูลสูงสุดเพียงแค่ 8.14 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ( 245 ล้านบาท) เท่านั้น
ที่ประเทศลิธัวเนีย ออกใบอนุญาต 3G ขนาด 26 GHz จำนวน 3 ใบ ในปี 2550 ในราคาประมูลใบละ 1 ล้านยูโร (42 ล้านบาท) โดยเปรียบเทียบว่า ราคาประมูลต่ำเพราะคนที่ได้ใบอนุญาตนั้น เหมือนกับหญิงสาวที่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นเวทีประกวด ไม่ได้หมายความจะได้รับรางวัลชนะเลิศกันทุกคน
ส่วนผลการศึกษาของชาติในยุโรปนั้น ได้มีงานวิจัยจำนวนมากยืนยันประสบการณ์ว่า ราคาที่เหมาะสมของใบอนุญาตนั้น จะต้องคำนวณจากค่าเฉลี่ยขนาดของตลาดโดยรวมของอายุใบอนุญาต หารเฉลี่ยแล้ว ต้องไม่เกิน 1 ใน 15 เท่าของขนาดตลาด หากมากเกินไป จะกระทบต่อความอยู่รอดของผู้ประกอบการอย่างรุนแรง และอาจจะส่งผลให้บริการที่ประชาชนผู้บริโภคได้รับ ไม่มีคุณภาพได้ง่าย
ข้อสังเกตในการประมูลซึ่งแหล่งข่าวที่เป็นผู้เชี่ยวชาญหลายรายยืนยันว่า การประมูลใบอนุญาต 3G ที่มีคนเข้าแข่งขันน้อยรายในไทยนั้น เกิดจากเงื่อนไขการประมูลมีลักษณะคับแคบและกีดกันไม่ให้มีคนประมูลเป็นสำคัญ โดยเฉพาะเงื่อนไขเกี่ยวกับการกีดกันบริษัทต่างชาติไม่เข้ามาดำเนินกิจการ อันเป็นข้อกฎหมายที่เข้มงวดอย่างมาก ไม่จูงใจให้เข้าแข่งขัน
ข้อเท็จจริงนี้ เห็นได้จากกรณีของอังกฤษ ที่เปิดการประมูลจากทั่วโลกเข้ามาแข่งขัน และผู้ที่ได้ใบอนุญาตหลายราย ก็ประกาศตัวเปิดเผยว่าได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากพันธมิตรต่างประเทศ เช่น TIW UMTS เป็นบริษัทจากแคนาดา ส่วน Orange เป็นบริษัทอังกฤษที่ผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นฝรั่งเศส Crescent มีผู้ถือหุ้นใหญ่จากสหรัฐฯ และ Epsilon มีผู้ถือหุ้นใหญ่จากญี่ปุ่น
ข้อกำหนดคุณสมบัติผู้เข้าประมูลขอใบอนุญาตของกสทช.ในเรื่อง บริษัทไทยอันเข้มงวด คือสาเหตุหนึ่งที่เป็นปัญหาของการประมูลที่มีบริษัทครบคุณสมบัติน้อยเกินไป ดังที่ปรากฏ
นอกจากนั้น ข้อเท็จจริงที่ว่า สถาบันการเงินที่จะสนับสนุนการแข่งขันของผู้ที่เข้าประมูลใบอนุญาตนั้น ก็มีปัญหาตรงที่ว่า ธนาคารพาณิชย์ไทยนั้น มีจำนวนน้อย และหลายรายก็ได้ประกาศสนับสนุน 3 บริษัทใหญ่ดังกล่าวไปแล้ว ดังนั้นจึงทำให้เงื่อนไขสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้เข้าประมูลรายอื่นๆ มีข้อจำกัดเพิ่มเติมไปด้วย
สิ่งที่เป็นความชัดเจนก็คือ จากนี้ไป ต้นทุนของบริษัทในธุรกิจโทรคมนาคมที่เคยต้องจ่ายค่าสัมปทานให้กับบริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน) รวมแล้วปีละไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นล้านจะหายไป กลายเป็นการเสียภาษีสรรพสามิตให้กับกระทรวงการคลังแทน ซึ่งจะต้องลดลงฮวบฮาบอย่างชัดเจน
ทางอ้อมคือ รายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มจากการที่ผู้บริโภคต้องจ่ายในการใช้บริการโทรคมนาคม 3G ที่นักวิเคราะห์ของโบรกเกอร์หลายราย คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 35% ภายใน 3 ปีข้างหน้า
ส่วนผู้ที่เสียหายโดยตรงย่อมเป็น สองรัฐวิสาหกิจที่เคยเป็นเสือนอนกินกับการให้สัมปทานบริษัทเอกชนโดยไม่ต้องทำอะไรมายาวนานหลายทศวรรษนั่นเอง รัฐไม่ได้เสียหายอะไรเลย (หากไม่นับค่าเสียโอกาสจากเงินรายได้จากใบอนุญาต) เพราะไม่ได้เป็นผู้ลงทุนด้วยตัวเอง
แม้ว่า บริษัทผู้ชนะการประมูลทั้ง 3 ราย จะมีโอกาสสูงสุด (หากไม่มีการยกเลิกการประมูลเสียก่อน) ก็ยังมีความท้ายทายในอนาคตตามมาอีก 2 ประเด็นสำคัญคือ
- ความสามารถในการลงทุนสร้างระบบเครือข่าย และนำเสนอบริการเพื่อแย่งลูกค้ามาสู่มือให้มากที่สุดเป็นสำคัญว่าใครจะสามารถสร้างส่วนแบ่งการตลาดได้มากกว่ากัน ซึ่งจะต้องลงทุนมากกว่าค่าใบอนุญาตอีกหลายเท่าตัว โดยมีข้อดีอยู่ที่การเริ่มต้นแข่งขันเท่าเทียมกัน ไม่เสียเปรียบได้เปรียบเหมือนในอดีต
- เงินค่าใบอนุญาตทั้งหมดกว่าสี่หมื่นล้านบาท แต่ใช้งานได้ถึง 15 ปี เทียบกับเงินค่าสัมปทานที่ทั้งสามค่ายเคยจ่ายผ่านรัฐวิสาหกิจก่อนหน้านี้ถือว่าลดลงไปมาก แต่ค่าสัมปทานจะหายไป เปลี่ยนเป็นภาษีสรรพสามิต ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเรียกเก็บเท่าใด จากอัตราส่วนเดิม 0% แต่มีเพดานภาษีอยู่ที่ 50% (ตัวกรมสรรพสามิตเองก็ออกมาแสดงท่าทีก่อนหน้านี้แล้วว่าจะเก็บเงินภาษีในส่วนนี้)
ความท้าทายดังกล่าว อาจจะกลายเป็นคำสาปของบริษัทโทรคมนาคมทั้งสามรายที่ได้ชัยชนะในการประมูล 3G ได้ไม่ยาก
คำแนะนำของนักวิเคราะห์ที่ให้ขายหุ้น ADVANC DTAC และ TRUE ที่มีเหตุผล แต่นักลงทุนไม่ไยดียามนี้ จึงเป็นมายาคติอย่างหนึ่งในยามที่ตลาดหุ้นเป็นภาวะกระทิงชัดเจน


(บทวิเคราะห์ใน สำนักข่าว InfoQuest)

ข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการประมูล 3G

รายงานข่าวแจ้งว่า ในช่วงบ่ายวันนี้ (15 ต.ค.) สำนักงานศาลปกครองฯ ได้ส่งคำสั่งศาลไปยัง นายอนุภาพ ถิรลาภ นักวิชาอิสระ ผู้คัดค้านการประมูล 3G โดยแจ้งว่า ศาลได้ยกคำร้องของนายอนุภาพ ส่วนกรณี นายสุริยใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน ยื่นคำร้องคัดค้านประมูล 3G ในช่วงเช้าที่ผ่านมา ศาลปกครองรับคำร้องแต่ไม่รับไต่สวนฉุกเฉิน

ทั้งนี้ จึงทำให้ การประมูล 3จี ที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) กำหนดไว้ในวันที่ 16 ตุลาคม ยังเดินหน้าต่อไปได้ตามเดิม

กสทช. พร้อมเดินหน้าประมูล 3 จี ในวันพรุ่งนี้(16 ต.ค.55) หลังศาลปกครองกลาง ยกคำร้องคดีที่นายอนุภาพ ฟ้องศาลปกครองให้คุ้มครองชั่วคราวการประมูล 3จี โดยศาลเห็นว่า การประมูลยังไม่เกิด นายอนุภาพยังไม่ได้รับความเสียโดยตรง

เมื่อเวลาประมาณ 15.00 น.นายอนุภาพ ถิรลาภ นักวิชาการอิสระ ด้านโทรคมนาคม เดินทางมายังศาลปกครองกลาง เพื่อคัดสำเนาคำสั่งศาลปกครองกลาง หลังยื่นขอให้คุ้มครองชั่วคราว ระงับการประมูลใบอนุญาต 3จี ของ กสทช. ที่จะจัดขึ้นในวันพรุ่งนี้ (16 ต.ค.55) ซึ่งศาลปกครองกลาง มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของนายอนุภาพ ไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ซึ่งเมื่อศาลไม่รับคำฟ้องนี้ไว้แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องพิจารณาและมีคำสั่งกำหนดมาตรการ หรือคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราว ก่อนการพิพากษาอีก

ทั้งนี้ ศาลเห็นว่า ความเสียหายที่นายอนุภาพ ระบุไว้ เป็นการคาดคะเนล่วงหน้า และความเสียหายยังไม่เกิดขึ้นจริง ดังนั้นนายอนุภาพซึ่งเป็นผู้ฟ้องยังไม่ถูกละเมิด ศาลปกครองกลางจึงไม่จำเป็นต้องรับเรื่องนี้เพื่อคุ้มครองชั่วคราวแต่อย่างใด แต่ศาลปกครอง ชี้ช่องให้นายอนุภาพยื่นเรื่องนี้ ไปยังผู้ตรวจการแผ่นดินได้หลังการประมูลแล้ว เพราะผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ของประชาชนในภาพรวม ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินสามารถตรวจสอบความเสียหาย และยื่นฟ้องต่อศาลปกครองได้

ด้านนายอนุภาพ กล่าวว่า ได้ทำหน้าที่เต็มที่แล้ว โดยมีเจตนาที่ต้องการให้ประชาชนได้ประโยชน์จากการประมูล 3จี อย่างแท้จริง เพราะเข้าใจว่า กสทช. ยังทำหลักเกณฑ์ไม่ครอบคลุมถึงประชาชนทุกกลุ่ม และในวันพรุ่งนี้ (16 ต.ค.55) ที่จะมีการประมูล 3จี นายอนุภาพยืนยันว่า จะไม่ไปดูการประมูล แต่จะเฝ้าติดตามผลการประมูล 3จีต่อไป

ทั้งนี้ หลังจากศาลปกครองกลาง ไม่รับคำร้องของนายอนุภาพแล้ว จะมีผลต่อคำร้องของนายสุริยะใส กตะศิลา แกนนำกลุ่มกรีน แม้ศาลจะไม่รับคำร้องให้ไต่สวนฉุกเฉินเพราะศาลเห็นว่ามีผู้ฟ้องร้องในเรื่องเดียวกันก่อนหน้านี้แล้ว แต่คำร้องของนายสุริยะใส ยังอยู่ คำสั่งศาลในกรณีของนายอนุภาพจะมีผลต่อคำร้องของนายสุริยะใสทันที

ด้านนายสุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการ กสทช. กล่าวว่า กสทช. ยังไม่ได้รับหนังสืออย่างเป็นทางการ แต่เมื่อไม่มีคำสั่งระงับการประมูล 3 จี จากศาลปกครอง กสทช. ก็จะเดินหน้าประมูล 3 จี ในวันพรุ่งนี้ตามกำหนดการเดิม ซึ่งมีความพร้อมในทุกด้านเรียบร้อยแล้ว

สำหรับการประมูลคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ เพื่อให้บริการ 3จี จะเริ่มขึ้นในวันพรุ่งนี้ (16 ต.ค.55) ตั้งแต่ 9.00 น. ถึง 21.00 น. ที่สำนักงาน กสทช. โดยมี 3 บริษัทที่เข้าร่วมประมูล ได้แก่

- บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัดหรือเอไอเอส

- บริษัท ดีแทค เนทเวอร์ค จำกัด หรือดีแทค

- บริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด บริษัทลูกของ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

บอร์ดกทค.มีมติ 4 ต่อ1 รับรองผลประมูล 3G หลังเถียงกันหนัก จนต้องมีการวอล์กเอาท์ พร้อมแจ้งผู้ชนะ 19 ต.ค. และออกใบอนุญาตภายใน 90 วัน โดยไม่ต้องผ่านบอร์ดกสทช.ชุดใหญ่

เมื่อวันที่ 18 ต.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ประกอบด้วยพ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธานกทค.และกรรมการอีก 4 คนคือ นายสุทธิพล ทวีชัยการ,พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร ,นายประเสิรฐ ศีลพิพัฒน์ และนพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ในเวลา 11.00 น. โดยที่ประชุมได้มีการพิจารณาเพื่อลงมติรับรองผลการประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ย่าน 2.1GHz เพื่อให้บริการโทรศัพท์มือถือระบบ 3Gซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบผลการประมูล 4 ต่อ1โดย นพ.ประวิทย์ กสทช.ด้านคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมไม่เห็นชอบเพียงคนเดียว เนื่องจากเห็นว่าผู้ประกอบการบางรายใช้ยุทธศาสตร์การดึงราคาภายหลังจากได้ดูข้อมูลรายละเอียดการประมูล(ล็อกไฟล์)

ทั้งนี้ระหว่างการประชุมเพื่อลงมติผลการประมูล 3Gได้มีการถกเถียงกันอย่างหนัก ระหว่างนายสุทธิพลกับนพ.ประวิทย์ เป็นเวลานานกว่า 3 ชั่วโมงครึ่ง จากนั้นจึงมีการลงมติรับรองผลการประมูลในเวลา 14.50 น.ซึ่งในระหว่างที่มีการถกเถียงนายประเสริฐ และพล.อ.สุกิจ ได้เดินออกจากห้องประชุม (วอล์กเอาท์) เพราะอยากให้ประธานที่ประชุมลงมติให้มีการโหวตเสียที ไม่อยากให้มีการถกเถียงในเรื่องเดิมที่มีการเคยลงมติไปแล้ว คือเรื่องราคาตั้งต้นการประมูลที่ 4,500 ล้านบาทต่อ 1 ใบอนุญาต (สล็อต)หรือ 5MHz ซึ่งหลังจากวอล์กเอาท์ผ่านไป 5 นาที ที่ประชุมได้เชิญกสทช.ทั้ง 2 คนกลับเข้าห้องประชุมอีกครั้งเพื่อลงมติ

โดยพล.อ.สุกิจ ได้เป็นผู้ลงมติรับรองผลการประมูลเป็นคนแรก ต่อมาคือนายประเสริฐ และนายสุทธิพล ส่วนนพ.ประวิทย์ ไม่ขอลงมติรับรองผลการประมูล เพราะเห็นว่าการลงมติต้องมีดุลยพินิจ และข้อเท็จจริงที่เพียงพอ ถึงแม้กรรมการ กสทช.จะยืนยันว่าไม่เข้าข่ายพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว) แต่กรรมการควรจะมีสิทธิได้เห็นพฤติกรรมการเคาะราคาในแต่ละรอบของผู้เข้าประมูล เพราะมียุทธศาสตร์การดึงราคาของผู้เข้าประมูลบางราย ส่อไปในทางทุจริต และเมื่อได้เห็นรายละเอียดการประมูล (ล็อกไฟล์) ยิ่งทำให้ไม่สามารถรับรองผลการประมูลได้ ส่วนพ.อ.เศรษฐพงค์ เป็นผู้ลงมติเห็นชอบการประมูลเป็นคนสุดท้าย

หลังจากนั้น นายพิทยาพล จันทนะสาโร รองเลขาธิการกสทช.ได้สรุปผลการประชุมว่าบอร์ดกทค.ได้ลงมติรับรองผลการประมูล 3G โดยมีคะแนน 4 ต่อ 1 สรุปคือ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ตเวิร์ก (AWN) ในเครือเอไอเอส เป็นผู้ชนะการประมูลในราคา 14,625 ล้านบาท ได้ครอบครองคลื่นความถี่ในชุด 7-9 บริษัท เรียล ฟิวเจอร์ ในเครือกลุ่มทรู ชนะการประมูลในราคา 13,500 ล้านบาท ได้ครอบครองชุดความถี่ 4-6 และบริษัท ดีแทค เนควอร์ค ในเครือดีแทค ชนะการประมูลในราคา 13,500 ล้านบาท ได้ครอบครองชุดความถี่ 1-3

สำหรับขั้นตอนต่อไปหลังจากลงมติรับรองผลการประมูลแล้ว กสทช.จะต้องแจ้งผู้ชนะประมูลภายใน 7 วัน แต่กสทช.จะส่งหนังสือแจ้งไปในวันที่ 19 ต.ค.นี้ ซึ่งถือเป็นการสิ้นสุดระยะเวลาไซเรนต์ พีเรียดด้วย หลังจากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการให้ใบอนุญาต ซึ่งจะต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 90 วัน โดยผู้ที่ชนะการประมูลจะต้องชำระเงินค่าใบอนุญาตงวดแรกจำนวน 50% ของราคาใบอนุญาต และยื่นหนังสือรับรองทางการเงิน (แบงการันตี) สำหรับงวดที่เหลือ ซึ่งต้องชำระในปีที่ 2 และ 3 โดยกสทช.จะออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการในวันที่มาจ่ายงวดแรก

ด้านนายประเสริฐ กรรมการกสทช. กล่าวว่า การลงมติในครั้งนี้ของบอร์ดกทค.ถือเป็นอำนาจและสิทธิ์ของกทค.ตามมาตรา 27 วรรค 4 ของพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมพ.ศ.2553 (พ.ร.บ.กสทช.) จึงไม่จำเป็นต้องนำเข้าบอร์ดกสทช.ชุดใหญ่เพื่อพิจารณาแต่อย่างใด เพียงแต่ให้รับทราบเท่านั้น

ขณะที่การส่งเงินค่าใบอนุญาตที่ได้จากการประมูลในครั้งนี้ให้กับรัฐบาลนั้นกสทช. จะเร่งดำเนินการโดยเร็วที่สุดทันทีที่ผู้ได้รับใบอนุญาตทั้ง 3 รายชำระเงินในงวดแรก และหักค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการจัดการประมูลแล้วราว 20 ล้านบาท

ส่วนการชำระค่าใบอนุญาตของผู้เข้าประมูล มีดังนี้ AWNประมูลในราคา 14,625 ล้านบาท ชำระ 50% อยู่ที่ 7,312 ล้านบาท ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% เรียล ฟิวเจอร์ และดีแทค เนควอร์ค ชำระงวดแรกเท่ากันที่ 6,750 ล้านบาท ซึ่งราคาดังกล่าวไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%

นอกจากนี้ กสทช.ยืนยันว่ายังไม่ได้รับหนังสือจากกระทรวงการคลัง ในประเด็นเกี่ยวกับการประมูลว่าอาจผิดพ.ร.บ.ฮั้วแต่อย่างใดซึ่งหากกระทรวงการคลัง ส่งหนังสือสอบถามมา ฝ่ายกฎหมายก็พร้อมจะชี้แจงในประเด็นดังกล่าวว่าการประมูลไม่ได้มีการกระทำหรือมีพฤติกรรมที่ส่อไปในการผิดพ.ร.บ.ฮั้วแต่อย่างใดเนื่องจากต้องมีการคัดค้านหรือกีดกันไม่ให้มีการแข่งขัน หรือไม่มีผู้เข้าร่วมประมูล แต่ในการประมูลดังกล่าว มีผู้ประมูลด้วยความสมัครใจ ไม่มีการกีดกั้นแต่อย่างใด ซึ่งใน พ.ร.บ.ฮั้วไม่ได้มีถ้อยคำกำหนดว่าจะต้องมีการเคาะราคากี่ครั้ง และราคาประมูลที่ได้ต้องเพิ่มขึ้นจากราคาตั้งต้นเท่าไร ดังนั้นจึงไม่เข้าข่าย

นายสุรศักดิ์ ศิริพรอดุลศิลป์ กลุ่มภาคประชาชนผู้ริเริ่มถอดถอนคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.นำรายชื่อประชาชน 57,904 คน ยื่นต่อนายนิคม ไวรัชยพานิช ประธานวุฒิสภา เพื่อขอให้ดำเนินการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่ง กสทช. ทั้ง 11 คน เนื่องจากเห็นว่ามีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่

กรณีจัดประมูลใบอนุญาตให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3G 2.1 กิกะเฮิรตซ์ ที่อาจขัดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พุทธศักราช 2552 อีกทั้ง ส่อฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ใช้จ่ายงบประมาณฟุ่มเฟือย ไม่คำนึงถึงเงินภาษีและประโยชน์สูงสุดของประชาชน อีกทั้งขัดต่อรัฐธรรมนูญหลายมาตรา เช่น มาตรา 30, 37 และ 47

ด้านประธานวุฒิสภา กล่าวว่า จะให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบรายชื่อทั้งหมด จากสำนักทะเบียนกลาง ส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.ตรวจสอบการใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ก่อนที่จะส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.ดำเนินการต่อไป ถ้ามีมูลจะส่งให้วุฒิสภาดำเนินการถอดถอนต่อไป ซึ่งระยะเวลาในการดำเนินการ ต้องทำให้เสร็จภายใน 30 วัน แต่เนื่องจาก มีรายชื่อจำนวนมาก คงต้องขอขยายเวลาออกไป

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น