วันจันทร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2555

Renovate ,Re-Branding, Re-Positioning ศูนย์การค้า ตอนที่ 2

สมรภูมิห้างค้าปลีกเดือด เลือดสาดกันอีกแล้ว



สมรภูมิการแข่งขันของห้างสรรพสินค้า หรือเดี๋ยวนี้ไม่ได้จำกัดความว่าจะต้องเป็นห้างอย่างเดียวแล้ว แต่หมายรวมถึงสถานที่ที่เป็นแหล่งรวมของร้านค้า ตั้งแต่ระดับห้องแถว 1 คูหา ไปจนถึงโมเดิร์นเทรด ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ แฟล็กชิปสโตร์ เทรนดี้เพลส ไปจนกระทั่งคอมมูนิตี้มอลล์ ต่างๆ ต่อไปอาจมีรูปแบบช็อปปิ้งสตรีท(เนรมิตถนนราชดำเนินทั้งถนนเป็นแบบคล้ายถนนนิมมานเหมินทร์,หรือ ฌ็องอลิเซ่) หรือหมู่บ้านร้านค้า (village) ต่างๆ ทั้งหลายเหล่านี้กำลังเป็นสมรภูมิเดือด แข่งขันกันเปิด แข่งขันกันแย่งชิงลูกค้า โดยใช้กลยุทธ์ช่วงชิงพืนที่ ทำเลทอง ลูกค้า เพื่อที่จะช่วงชิงกำลังซื้อตลอดจนสร้างจุดขาย แม่เหล็กเพื่อที่จะดึงดูดผู้บริโภคให้เข้ามายังสถานที่ของตน มีจำนวนมากที่ก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไหร่ แต่หลายสถานที่ก็ประสบความสำเร็จอย่างมาก สังเกตได้ว่าที่ใดอยู่ตัวแล้วก็จะไม่ค่อยพัฒนาปรับปรุงสถานที่อะไรใหม่เท่าใดนัก ที่ใดยังเป็นทำเลที่มีปัญหาก็จะพยายามปรับตัว ปรับปรุงสถานที่ ตกแต่งปรับโฉมใหม่ (renovated) เพื่อสร้างจุดขายใหม่ๆ เพื่อดึงดูดผู้คนให้เข้ามา แต่ถ้าหากเป็นสถานที่ที่แม้ว่าจะติดตลาดแล้ว แต่อยู่ในทำเลทองที่การแข่งขันสูงมาก ก็ยังจำเป็นที่จะต้องพัฒนาปรับปรุง เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ อาทิเช่น ทำเลย่านสยาม ขณะนี้มีการปิดปรับปรุงตัวศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์อยู่ พร้อมๆ กับอีกฟากนึงตรงบริเวณโรงภาพยนตร์สยามเดิม ก็กำลังจะสร้างโครงการที่เรียกว่า สยามสแควร์วันขึ้นมา ที่จะเป็นแม่เหล็กอีก 1 ตัวบริเวณย่านนั้น ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเมื่อโครงการทุกอย่างสำเร็จสมบูรณ์ครบถ้วนในย่านนั้นแล้ว บริเวณสยามสแควร์จะกลายเป็นแลนด์มาร์คใหม่ที่สำคัญ ไม่เพียงแต่จะเป็นศูนย์กลางของแหล่งช็อปปิ้งที่ใหญ่ที่สุด ทันสมัยที่สุดในประเทศไทยเท่านั้น แต่จะเป็นเมืองหลวงแฟชั่นของอาเซี่ยนด้วย เมื่อประชาคมเศรษฐกิจอาเซี่ยนกำลังจะเปิดในปี 2558 และจะไม่เป็นรองถนนออร์ชาร์ดของสิงคโปร์อยางแน่นอน นี่แค่ทำเลเดียว ยังไม่นับรวมความเคลื่อนไหวของห้างสรรพสินค้าบริเวณใกล้เคียงอย่างราชประสงค์ ประตูน้ำ เพลินจิต และสี่แยกปทุมวัน โดยรอบอีก ที่กำลังมีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงกันอย่างขนานใหญ่ อีกหลายโปรเจ็คท์ที่กำลังจะเกิดขึ้นตามมาอีกมาก


ด้านสมรภูมิของห้างประเภทค้าส่ง-ค้าปลีกก็ผุดขึ้นจำนวนมากเช่นกัน แม้เปิดตัวแบบเงียบๆ ไปแล้วหลายที่ อาทิ ห้างพัลลาเดียม (ประตูน้ำเซ็นเตอร์เดิม) แพลทตินั่ม 2 ส่วนต่อขยาย, ชิบูย่า 19 ,โซโห บริเวณใกล้ รพ.หัวเฉียว แถวสวนมะลิ ,เมกะวังบูรพา (เมอร์รี่คิงส์วังบูรพาเดิม) อินเดียโพเรี่ยม ,ไชน่าเวิลด์ แถบเยาวราช ,อินสแควร์ ใกล้จตุจักร สมรภูมิประเภทคอมมูนิตี้มอลล์ที่เพิ่งเปิดใหม่ในช่วง 1 ปี ที่ผ่านมา ก็มีเวนิส ดิ ไอริส, ต้นซุง แอฟเวนิว ,เอเชียติ๊ค เดอะริเวอร์ฟร้อนท์ เดอะคริสตัล ,เดอะวอล์ค เป็นต้น


จุฬาฯทุ่ม3พันล้านฟื้นสยามสแควร์ ผุดโรงละครไฮเทค-ศูนย์ออกกำลังกาย-หอพักนานาชาติ


 

รศ.น.อ.นายแพทย์เพิ่มยศ โกศลพันธุ์ รองอธิการบดี กำกับดูแลสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า แผนพัฒนาที่ดินในปีนี้จะมีโครงการที่จุฬาฯเป็นผู้ลงทุนเอง 2 โครงการ คือ 1) โครงการมอลล์ "สยามสแควร์วัน" บนที่ดินโรงภาพยนตร์สยามเดิมที่ถูกไฟไหม้ และ 2) โครงการหอพักนานาชาติฝั่งถนนบรรทัดทอง ใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 3,000 ล้านบาท

ผุดโอเพ่นมอลล์ "สยามสแควร์วัน"

โดยพื้นที่โรงหนังสยามเดิม และอาคารพาณิชย์โดยรอบกว่า 100 คูหา ภายในโครงการสยามสแควร์ที่ได้ถูกไฟไหม้เสียหายจากเหตุจลาจลเมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2553 ที่ผ่านมา สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯในฐานะผู้ถือ กรรมสิทธิ์ที่ดินได้รื้อถอนตัวอาคารที่ เสียหายแล้วเสร็จ ล่าสุดเตรียมเริ่มลง มือก่อสร้างอาคารพื้นที่ให้เช่าหลังใหม่ ในรูปแบบโอเพ่นมอลล์ ใช้ชื่อโครงการ "" (SQ1) มาจากคำว่า "สยามสแควร์" และ "วัน" สื่อความหมายถึงการกลับมาเริ่มต้นนับ 1 ใหม่อีกครั้ง

โครงการตั้งอยู่บนที่ดิน 8 ไร่ ออกแบบเป็นโอเพ่นมอลล์หรือมอลล์เปิดโล่ง แต่จะมีพื้นที่บางส่วนเป็นมอลล์ในร่มแบบติดแอร์บ้าง ตัวโครงการเป็นอาคาร 6 ชั้น บวกชั้นดาดฟ้า รวมเป็น 6 ชั้นครึ่ง และชั้นใต้ดิน 2 ชั้น ดีไซน์เป็น 4 อาคารสไตล์โมเดิร์นที่สามารถเดินทะลุเชื่อมถึงกันได้หมด มีพื้นที่ก่อสร้างรวมประมาณ 70,000 ตารางเมตร แบ่งเป็นพื้นที่ขายกว่า 30,000 ตารางเมตร

แต่ละชั้นแบ่งการจัดพื้นที่เป็น 1) ชั้นใต้ดิน (ชั้น B2) เป็นพื้นที่จอดรถ 2) ชั้นใต้ดิน (ชั้น B1) และชั้น G (ground floor) เป็นพื้นที่ร้านค้าย่อยในร่มประมาณ 700-800 ร้านค้า เริ่มต้นบูท ละ 4-10 ตร.ม. โดยจะเปิดให้ผู้เช่าเดิม ที่ร้านค้าถูกไฟไหม้เสียหายได้สิทธิ์จองพื้นที่ก่อน

จากนั้นจึงให้สิทธิ์ผู้เช่ารายใหม่และผู้เช่าช่วงแต่เดิมเข้ามาจองพื้นที่ กลุ่มเป้าหมายคือธุรกิจเอสเอ็มอี สินค้า แฟชั่น เครื่องประดับ เครื่องแต่งกาย เป็นต้น แต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องเป็น สินค้าที่ถูกกฎหมาย เช่น ไม่ใช่สินค้าก๊อบปี้

3) ชั้น 2-3 เป็นพื้นที่ร้านค้า อาจเป็นร้านค้าแบรนด์เนมจากในและต่างประเทศ 4) ชั้น 4-5 เป็นโซนฟู้ดพลาซ่า 5) ชั้น 6 และชั้นดาดฟ้า เป็นโซนเอ็กเซอร์ไซส์และเอดูเคชั่น อาทิ ศูนย์แอโรบิก ฟิตเนส โรงเรียนดนตรี โรงเรียนศิลปะ ฯลฯ

นอกจากนี้จะมีโรงละครขนาด 400 ที่นั่ง สำหรับแสดงละครสลับกับการให้เช่าพื้นที่จัดอีเวนต์ ส่วนโรงภาพยนตร์ ได้ข้อสรุปจะไม่มี เนื่องจากพื้นที่ไม่ เพียงพอ อย่างไรก็ตามยังเปิดโอกาสให้โรงหนังสยามเจรจาพัฒนาโรงภาพยนตร์ในโครงการอื่น ๆ ในพื้นที่สยามสแควร์ในอนาคต

ตามแผนทั้งโครงการจะใช้งบฯลงทุนประมาณ 1,500 ล้านบาท โดยจุฬาฯจะเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด ซึ่งมาจากรายได้และเงินทุนหมุนเวียนที่มีอยู่ คาดว่าจะก่อสร้างภายในปี 2556

ขึ้นหอพักนานาชาติ 1.4 พัน ล.

อ.เพิ่มยศกล่าวต่อว่า ส่วนโครงการก่อสร้างหอพักนักศึกษานานาชาติ เพื่อรองรับนโยบายมุ่งไปสู่มหาวิทยาลัยอินเตอร์มากขึ้น จะก่อสร้างหอพักบนที่ดินบล็อกที่ 41 ฝั่งถนนบรรทัดทอง เดิมเป็นตึกแถวที่หมดสัญญา ใช้งบฯลงทุนประมาณ 1,500 ล้านบาท โดยจะมีพิธีวางศิลาฤกษ์วันที่ 26 มีนาคม 2554 และเริ่มการก่อสร้างได้ทันที คาดว่าจะแล้วเสร็จช่วงกลางปี 2556

รูปแบบเป็นอาคารสูงกว่า 20 ชั้น 2 อาคาร รวม 1,424 ยูนิต ประกอบด้วย 1) ทาวเวอร์ A เป็นอาคารเรสซิเดนต์หอพักสำหรับบุคลากรจุฬาฯ และผู้พักอาศัยอื่น ๆ ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณา มีห้องพัก 2 แบบ คือ แบบสแตนดาร์ด พื้นที่ใช้สอย 25 ตร.ม. และแบบคอนเน็กเต็ดหรือห้องแบบสแตนดาร์ด 2 ห้องเชื่อมต่อกัน พื้นที่ใช้สอย 50 ตร.ม. รวม 846 ยูนิต

และ 2) ทาวเวอร์ B เป็นอาคารหอพัก เบื้องต้นจะรองรับนักศึกษาต่างชาติเป็นหลัก แต่หากมีห้องพักเหลือ จะเปิดให้นิสิตนักศึกษาระดับปริญญาโท-เอก ประกอบด้วยห้องพัก 3 แบบ คือแบบสแตนดาร์ด 28 ตร.ม., แบบ 1 ห้องนอน 35 ตร.ม. และแบบ 2 ห้องนอน 55 ตร.ม. รวม 846 ยูนิต ส่วนอัตราค่าเช่ายังไม่ได้ข้อสรุป แต่ เบื้องต้นจะต่ำกว่าราคาตลาดในทำเลเดียวกัน เท่าที่ทราบปัจจุบันค่าเช่า ห้องพักแบบสตูดิโอน่าจะอยู่ในระดับ 1 หมื่นบาทต่อเดือน

"เหตุผลที่สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯเลือกพัฒนาเป็นหอพัก เนื่องจากปัจจุบันจุฬาฯมีนักศึกษาเป็นจำนวน มาก และขาดแคลนหอพัก เนื่องจาก มีนักศึกษาปริญญาโท-เอกเป็นหมื่นคนต่อปี"
ที่มา : นสพ. "ประชาชาติธุรกิจ"

จากประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 03 มิ.ย. 2555 เวลา 12:01:41 น.

"สยามเซ็นเตอร์" เตรียมปิด 4 เดือนรีโนเวตรอบใหม่-ครั้งใหญ่ คาดพร้อมเปิดอวดโฉมให้ทันหน้าขายปลายปีธันวาคม เขย่าพื้นที่ปรับแปลนเตรียมขนร้านค้าหน้าใหม่สร้างสีสัน แท็กทีมคู่ค้าส่งแคมเปญใหญ่เคลียรแรนซ์ส่งท้ายปิดยอดขายพื้นที่รวมกว่า 7 แสน ตร.ม.ของ 3 ศูนย์การค้าใจกลางเมือง สยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ และสยามดิสคัฟเวอรี่

มีความเคลื่อนไหวคึกคักเขย่าตลาดค้าปลีกขึ้นมาอีกรอบ เมื่อ "สยามพิวรรธน์" บริษัทที่บริหารทั้ง 3 ศูนย์ตัดสินใจครั้งสำคัญ เตรียมปิดศูนย์การค้า "สยามเซ็นเตอร์" เพื่อรีโนเวตทั้งศูนย์ใหม่ หลังปลายปีที่แล้วเทงบฯกว่า 1,000 ล้านบาท ยกเครื่องสยามดิสคัฟเวอรี่ ทั้งภายนอกและภายใน

การปิดปรับปรุงของสยามเซ็นเตอร์ครั้งนี้ ไม่เพียงตอกย้ำการเป็นแหล่งรวมของวัยรุ่นทุกยุคทุกสมัยมายาวนานตลอด 40 ปีที่ผ่านมา แต่ยังเป็นการรีโนเวตครั้งสำคัญเพื่อสู้ศึกค้าปลีกและศูนย์การค้าใจกลางเมืองที่มีการแข่งขันที่ร้อนแรงและดุเดือดมากขึ้นทุกวัน สอดคล้องกับความเคลื่อนไหวของศูนย์การค้าสยามพารากอนที่กำลังเร่งทยอยปรับพื้นที่สำหรับรองรับแบรนด์สินค้าต่าง ๆ ที่จะเข้าเปิดเพิ่มกว่า 100 ร้านค้า

จากการลงพื้นที่สำรวจของผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" ระบุว่า สยามเซ็นเตอร์เตรียมที่จะปิดศูนย์การค้า 4 เดือนในช่วงเดือนกรกฎาคม เพื่อเร่งปรับปรุงครั้งใหญ่สำหรับเปิดโฉมใหม่ให้ทันในช่วงหน้าขายเดือนธันวาคม สอดคล้องกับผู้ประกอบการเครื่องสำอางรายใหญ่หนึ่งในผู้เช่าพื้นที่สยามเซ็นเตอร์กล่าวว่า ได้รับการชี้แจงจากทางศูนย์การค้าแล้วว่าจะมีการปิดบริการชั่วคราวเพื่อปรับปรุงครั้งใหญ่ โดยแจ้งทางผู้เช่าให้รับรู้และอาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่เพื่อความเหมาะสมกับคอนเซ็ปต์ใหม่ของศูนย์การค้า

อย่างไรก็ตามตอนนี้ยังไม่เห็นในรูปแบบและคอนเซ็ปต์ของศูนย์การค้าโฉมใหม่ว่าจะเป็นอย่างไร และจะต้องได้ย้ายทำเลไปยังพื้นที่อื่น ชั้นอื่น หรือยังคงอยู่ตรงร้านเดิมที่เคยอยู่ ก็ยังไม่สามารถที่จะบอกได้ เบื้องต้นต้องรอความชัดเจนของคอนเซ็ปต์และแปลนใหม่ของศูนย์ก่อน

"ตามกำหนดการคร่าว ๆ แล้ว สยามเซ็นเตอร์จะปิดปรับปรุงประมาณ 4 เดือน และต้องเร่งมือเพื่อให้เปิดทันขายได้ในช่วงเดือนธันวาคมที่เป็นเทศกาลจับจ่าย ซึ่งในส่วนของร้านค้าตัวเองนั้นอาจจะต้องมีการโยกย้ายจากพื้นที่เดิม เพราะจะมีร้านใหม่ ๆ และแบรนด์ใหม่ ๆ เข้ามาด้วยส่วนหนึ่ง แต่ก็อยากจะรอดูผังใหม่ก่อน เช่นเดียวกับให้พนักงานขายจะโยกย้ายกระจายไปอยู่ร้านในสาขาอื่นก่อน โดยจะให้เลือกในสาขาที่พนักงานเดินทางสะดวกและใกล้บ้านมากที่สุด"

เช่นเดียวกับสินค้าแฟชั่นแบรนด์ใหญ่รายหนึ่ง ผู้บริหารระดับสูงชี้ว่า ทำเลร้านในสยามเซ็นเตอร์คาดว่าจะได้อยู่ในที่เดิม เนื่องจากร้านได้รีโนเวตครั้งใหญ่ไปแล้วเมื่อช่วงปีที่ผ่านมา พร้อมกับสยามเซ็นเตอร์ที่ปรับเปลี่ยนศูนย์แบบไมเนอร์เชนจ์ไปแล้วก่อนหน้านี้ ซึ่งส่วนตัวคาดว่าคงไม่ได้รับผลกระทบมากนักในแง่รายได้และการเติบโต เนื่องมีจำนวนสาขาหลายแห่งเป็นตัวเสริม แต่สำหรับแบรนด์สินค้าที่มีจำนวนสาขาไม่มากนักคงต้องได้รับผลกระทบบ้าง

ช่วงก่อนปิดศูนย์คงจะมีแคมเปญสร้างยอดขายส่งท้ายที่ทำร่วมกันของร้านค้าและสยามเซ็นเตอร์ อาจเป็นเคลียแรนซ์หรือบิ๊กเซลก็คงต้องดูกันอีกที

สอดคล้องแหล่งข่าวระดับสูงในวงการค้าปลีกให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาแม้สยามเซ็นเตอร์มีการปรับรีโนเวตบ่อยครั้งทั้งในแง่การปรับใหญ่หรือปรับย่อยเมื่อเทียบกับศูนย์การค้าอื่น ๆ แต่ในแง่ซัพพลายเออร์ก็คงเข้าใจ เนื่องจากสยามเซ็นเตอร์เป็นศูนย์การค้าขนาดเล็กที่โดนขนาบด้วยศูนย์ขนาดใหญ่ ความถี่ของการปรับตัวและสร้างสีสันด้วยกิจกรรมหรืออีเวนต์ที่หลากหลายจึงเป็นการสร้างความแตกต่าง สอดคล้องกับพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป ศูนย์การค้าจึงต้องมีสิ่งใหม่ ๆ และแตกต่างเข้ามาตอบสนองไลฟ์สไตล์ตลาด

ทั้งนี้ตลอด 40 ปี นับตั้งแต่สยามเซ็นเตอร์เปิดบริการเมื่อปี 2516 ปรับปรุงครั้งแรกเมื่อปี 2534 ปรับปรุงครั้งที่สองเมื่อปี 2540 และครั้งที่สามในปี 2548 ซึ่งปีนั้นใช้เวลานานกว่า 10 เดือน ตั้งแต่ ม.ค.-ต.ค. 2548 และการรีโนเวตปีนี้จะเป็นครั้งแรกที่ปิดศูนย์การค้า

นอกจากนี้ในปี 2553 สยามเซ็นเตอร์ได้มีการปรับพื้นที่และร้านค้าบางส่วนบ้างแล้ว เพื่อครองความเป็นผู้นำศูนย์การค้าแห่งแฟชั่น โดยกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นกลุ่มแฟชั่นนิสต้าวัยทำงาน และวัยรุ่น อายุ 20-35 ปี หลังการรีโนเวตครั้งสุดท้ายในปี 2548 ในคอนเซ็ปต์ "The Magical Glass Box" ที่สามารถปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของอาคารได้ตลอดเวลาด้วยภาพกราฟิก แสง สี ชนิดพิเศษ นับเป็นปรากฏการณ์แปลกใหม่ของศูนย์การค้าสำหรับปรับภาพลักษณ์อาคารให้ล้ำสมัยต่อเนื่อง

ซึ่งการปรับโฉมใหม่ในครั้งนั้น สยามเซ็นเตอร์ได้ปรับร้านค้าชูจุดแข็งในการรวบรวม Specialty Store หลากประเภท ในลักษณะแฟลกชิปสโตร์ที่มีขนาดใหญ่และสวยงาม รวมถึงสินค้าประเภทลิมิเต็ดเอดิชั่น มาวางจำหน่ายแบบเอ็กซ์คลูซีฟที่สยามเซ็นเตอร์เพียงแห่งเดียว

เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ชั้นนำจากต่างประเทศและแบรนด์ดีไซเนอร์ไทยชื่อดัง ล้วนตอบรับคอนเซ็ปต์ "Only @ Siam Center"




สยามเซ็นเตอร์ปิด4เดือนปรับใหญ่

สยามพิวรรธน์ทุ่ม 1,000 ล้านบาท ปรับโฉมสยามเซ็นเตอร์ครั้งใหญ่ในรอบ 40 ปี รับเออีซีเปิด เผยก่อนปิดปรับปรุง 4 เดือน อัดแคมเปญใหญ่ลดสูงสุด 90% กระตุ้นยอดขาย

นางศิริเพ็ญ อินทุภูมิ ผู้บริหารด้านโฆษณาและประชาสัมพันธ์ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ผู้บริหารศูนย์การค้า สยามเซ็นเตอร์ เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนที่จะใช้งบ 1,000 ล้านบาท ในการปรับปรุงศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์ครั้งใหญ่ในรอบ 40 ปี เพื่อให้มีความทันสมัยภายใต้แนวคิด สยามเซ็นเตอร์ เดอะ รีเจ้น รีบอร์น หรือ ตำนานกลับมาเกิดใหม่ ตอกย้ำการเป็นศูนย์การค้าแห่งแรกที่เปิดให้บริการในไทย โดยจะมีกำหนดปิดปรับปรุงศูนย์การค้าเป็นระยะเวลาประมาณ 4-5 เดือน ซึ่งจะเริ่มปิดปรับปรุงตั้งแต่วันที่ 16 ก.ค.จนถึง พ.ย.นี้ และจะกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งในเดือน ธ.ค.นี้

สำหรับการปรับปรุงศูนย์การค้าในครั้งนี้ นอกจากจะเพื่อให้ศูนย์การค้ามีความทันสมัยสวยงาม ยังถือเป็นการรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี ในปี 2558 ซึ่งจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาใช้ท่องเที่ยวและใช้บริการในไทยจำนวนมาก รวมทั้งต้องผลักดันให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางช็อปปิ้งเทียบเท่ากับประเทศฮ่องกงในอนาคต

การปรับศูนย์การค้าใหม่นี้จะมีร้านใหม่ๆ และสินค้าแบรนด์เนมเข้ามาเปิดให้บริการจำนวนมาก จากปัจจุบันมีร้านค้าเปิดให้บริการจำนวน 270 ร้านค้า โดยมีลูกค้าหมุนเวียนเข้ามาใช้บริการต่อวันประมาณ 100,000 คนต่อวัน มีสัดส่วนลูกค้าต่างชาติเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้น จากปีก่อนมีลูกค้าต่างชาติเข้ามาใช้บริการ 40% และเป็นคนไทย 60% ซึ่งสาเหตุที่ลูกค้าต่างชาติเข้ามาใช้บริการในไทยมากขึ้น เพราะในอนาคตจะมีการเปิดเออีซีนางศิริเพ็ญ กล่าว

ล่าสุด บริษัทได้ใช้งบอีก 40 ล้านบาท จัดแคมเปญชื่อ สยามเซ็นเตอร์ เดอะ เอ็นเดส เลเจ้นระหว่างเดือน มิ.ย.-พ.ค.นี้ จัดแคมเปญในชื่อ เซลส์ มหัศจรรย์แห่งเมืองสยามขึ้นวันที่ 28 มิ.ย.-15 ก.ค.นี้ โดยสินค้าในศูนย์การค้าคอลเลคชั่นปัจจุบันลดสูงสุด 90% คอลเลคชั่นใหม่ลด 30% ถือว่าเป็นการลดราคาสินค้าครั้งใหญ่สุดที่เคยทำมา ก่อนที่ศูนย์จะปิดให้บริการ พร้อมโปรโมชั่นสินค้าราคาพิเศษจำนวนมากมาย

ด้านนายชาย ศรีวิกรม์ นายกสมาคมผู้ประกอบวิสาหกิจในย่านราชประสงค์ หรือ อาร์เอสทีเอ เปิดเผยว่า ทางสมาคมมีแผนที่จะจับมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. เพื่อทำกิจกรรมทางการตลาดผ่านแคมเปญต่างๆ ร่วมกันมากขึ้น เนื่องจากพบว่านักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ เพียง 1-2 วัน หลังจากนั้นก็เดินทางไปท่องเที่ยวในจังหวัดต่างๆ บริษัทจึงมีแผนที่จะทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อให้นักท่องเที่ยวอยู่ในกรุงเทพฯ นานขึ้นเป็น 4-5 วัน ซึ่งทุกครั้งที่มีการจัดแคมเปญร่วมกันในย่านราชประสงค์ จะพบว่ามีนักท่องเที่ยวเข้ามาในย่านดังกล่าวมากขึ้น และใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 10-20%.

http://www.thaipost.net/news/260612/58692

กทม.ดึงกลุ่มราชประสงค์ลงทุน400 ล.สร้างสกายไลน์เกษร-แพลทตินั่ม เสร็จก.ค.56

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังหารือร่วมกับผู้แทนกลุ่มราชประสงค์ถึงความคืบหน้าการก่อสร้างสกายวอล์ค ซึ่งจากการทำการสำรวจพบว่าประชาชนกว่าร้อยละ 70 ที่ใช้เส้นทางต้องการให้มีการสร้างสกายวอล์คบนเส้นทางเดิม เพื่อเพิ่มความสะดวกในการเดินทาง โดยจากการหารือในวันนี้กลุ่มผู้ประกอบการย่านราชประสงค์ จะดำเนินการก่อสร้างแบ่งเป็น 2 เฟส เฟสแรก เรียกว่า สกายลิ้งค์ (Bangkok SkyLink) เป็นการขยายเส้นทางที่มีอยู่เดิมให้กว้างขึ้น เส้นทางจากโรงแรมอัมรินทร์ถึงเกษรพลาซ่า ระยะทางประมาณ 100 เมตร คาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จประมาณตุลาคมนี้

นายธีระชน กล่าวต่อว่า ในส่วนของเฟส 2 เรียกว่า สกายไลน์ (Bangkok SkyLine) สร้างจากเกษรพลาซ่า ถึงศูนย์การค้าแพลทตินั่ม ระยะทางประมาณ 500 เมตร คาดว่าจะสามารถอนุมัติแบบในสัปดาห์หน้า และเริ่มการก่อสร้างได้ในกรกฎาคมนี้ ใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 1 ปี ทั้ง 2 ส่วน คาดว่าจะใช้งบประมาณในการก่อสร้างรวมประมาณ 400 ล้านบาท

คนบางแคเฮลั่น รถติดเป็นตังเม หนักกว่าเดิม บีบเหลือ 2 เลน ตรงกลางขุดทำรถไฟฟ้าใต้ดิน


ใกล้ดีเดย์ระอุ ซีคอนเตรียมเปิดกลางเดือนนี้ ฝ่ายเดอะมอลล์เจ้าถิ่นตั้งท่ารับน้องใหม่มานาน ล่าสุดทุ่ม 200 ล้านปรับสวนน้ำทุกสาขา ประเดิมบางแค พร้อมจัดโซนพื้นที่ร้านค้าใหม่ ดึงร้านอาหารเครื่องดื่มกับแฟชั่น เพิ่มขึ้นเสริมความแกร่ง

ย่านบางแคจะกลายเป็นย่านที่ธุรกิจค้าปลีกเริ่มดุเดือดอีกครั้ง หลังจากที่ซีคอนสแควร์เตรียมเปิดบริการวันที่ 15 กันยายนนี้แล้วในเร็วๆนี้ ขณะที่เจ้าถิ่นเก่าอย่างเดอะมอลล์ก็ปักหลักสู้และตั้งรับน้องใหม่อย่างแข็งขัน ซึ่งช่วงที่ผ่านมาได้มีการปรับทั้งห้างและศูนย์ฯมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้มากขึ้น ล่าสุดปรับครั้งใหญ่ในรอบ 23ปีกับสวนน้ำ

นายชำนาญ เมธปรีชากุล ผู้อำนวยการใหญ่อาวุโสการตลาด บริษัท เดอะมอลล์กรุ๊ป จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทวางงบประมาณรวมกว่า 200 ล้านบาท ในการปรับปรุงสวนน้ำหรือแฟนตาเซีย ลากูน ทุกสาขา หลังจากที่ดำเนินธุรกิจนี้มานานกว่า 23 ปีแล้ว โดยเริ่มปรับสาขาแรกที่บางแคเสร็จเรียบร้อยแล้วพื้นที่ 10,000 ตารางเมตร ต่อไปมีแผนจะปรับอีกที่สาขาบางกะปิ งามวงศ์วาน โคราช ให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีหน้า ล่าสุดได้ใช้งบประมาณ 40 ล้านบาทในการเปิดตัวสาขาบางแคเพื่อสร้างภาพลักษณ์ใหม่

ทั้งนี้หลังจากปรับสวนน้ำแล้วคาดว่าจะสามารถดึงคนเข้าสวนน้ำนี้เพิ่มขึ้น 20-30% จากเดิมที่มีผู้เข้ามาใช้บริการสวนน้ำที่บางแคประมาณ 700 คนต่อวันธรรมดา และ 3,000 คนต่อวันเสาร์-อาทิตย์ และจะทำให้ใช้เวลาในศูนย์เพิ่มขึ้นเป็น 5-6 ชั่วโมงต่อครั้งจากเดิม 3-4 ชั่วโมงต่อครั้ง

นายชำนาญ กล่าวเพิ่มว่า ที่สาขาบางแคเปิดตัวมาประมาณสิบกว่าปีก่อน ตอนนั้นในย่านนี้มีประชากรประมาณ 130,000 คน ตอนนี้มีประมาณ 200,000 คน เพิ่มขึ้นกว่า 50% เจริญเติบโตมาก ส่วนกลุ่มลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการส่วนใหญ่จะเป็นรุ่นเจนวาย อายุ 31-45 ปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นครอบครัวและมีลูกกันแล้ว กลุ่มคนเหล่านั้นก็จะกลับมาใช้บริการที่นี่อีกเพราะพาลูกมาเที่ยว ซึ่งเราจะทำคอนเซ็ปท์ให้เป็นแฟมิลี่ไลฟ์สไตล์

นายวันชัย จันทร์วัฒรังกูล ผู้จัดการใหญ่การตลาด ศูนย์การค้าเดอะมอลล์ กล่าวต่อว่า สาขาบางแคจะต้องเพิ่มสัดส่วนร้านอาหารกับเครื่องดื่มเป็น 25% จากพื้นที่ทั้งหมดซึ่งขณะนี้มีประมาณ 20% แล้ว รวมทั้งเพิ่มกลุ่มร้านค้าแฟชั่นเป็น 30% จากพื้นที่ทั้งหมด ขณะนี้มี 25% แล้ว ซึ่งสองกลุ่มนี้ถือเป็นแม่เหล็กสำคัญในการดึงดูดลูกค้าด้วย

ซึ่งจะกำหนดเป็นสัดส่วนเช่นนี้ไปในทุกสาขาด้วยเช่นกัน ส่วนสวนน้ำนี้สามารถดึงทราฟฟิกคนเข้าศูนย์ฯได้ประมาณ 5% โดยคิดค่าบริการผู้ใหญ่ 100 บาท เด็ก 80 บาท ส่วนถ้ามีบัตรแพลททินั่มจะได้สิทธ์พิเศษตามเงื่อนไข นอกจากนั้นเดอะมอลล์ยังอยู่ระหว่างการปรับพื้นที่ร้านค้าและบริการให้เป็นโซนเดียวกันจากเดิมอาจจะกระจัดกระจายไปบ้าง เช่น โซนการเงิน เป็นต้น ได้เริ่มแล้วที่สาขาบางกะปิ

นางลักขณา นะวิโรจน์ ทุกวันนี้ธุรกิจรีเทลเหมือนกันหมด แต่มันต้องสร้างแวลู หรือความคุ้มค่าและความทรงจำให้กับลูกค้า รวมทั้งจะต้องทำธุรกิจแบบมีพันธมิตรไม่ใช่แค่เป็นสปอนเซอร์เหมือนแต่ก่อน ซึ่งสวนน้ำที่ปรับใหม่ครั้งนี้ได้ร่วมมือกับ 2 พันธมิตรหลัก คือ บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด และบริษัท ซีพีแอฟ เทรดดิ้ง จำกัด เพื่อเปิดเป็นโซนในสวนน้ำ เช่น โซนเมืองไทยไพเรทโคฟ โซนซีพีเมจิกจังเกิล และจะทำแบบนี้กับสวนน้ำทุกสาขาที่ปรับใหม่ รวมทั้งจะต้องหาพันธมิตรเพิ่มขึ้นอีกด้วย โดยหลักแล้วแม็กเน็ตหลักๆของเดอะมอลล์ คือ สวนน้ำ อีเวนต์ที่มากกว่า 300 งานต่อปี ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านอาหาร แฟชั่น เป็นต้น


 

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น