วันอังคารที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2555

รับเซนเป็นเพื่อน

เซน คืออะไร ?  จะศึกษาเซน จากประวัติศาสตร์ จากรากศัพท์ นั่นก็ไม่ใช่เซน  เซนคือปรัชญาหรือ  ?  ก็ไม่ใช่อีก  ถ้าจะให้เรียกเห็นจะเรียกได้ว่า เซน คือ ธรรมนั่นแหละ พอฟังได้หน่อย  เข้าถึงเซน ก็คือเข้าถึงธรรม แล้วขยายความต่อไปว่า ธรรมนี้รวมทุกสิ่ง ทั้งนิพพาน ฯลฯ หรืออะไรก็ตาม   สิ่งที่พวกเซน เขามุ่งหมายกันนั้นไม่ใช่เรื่องธรรมดาทั่วๆไป ที่บางคนเข้าใจ เพราะพวกเขาไม่สนใจเรื่องนรก สวรรค์อะไรเลย  แม้ว่าจะจัดว่าเป็นฝักฝ่ายทางศาสนาก็ตาม หากแต่เขามุ่งไปให้ไกลกว่านั้นมากนัก คือ เน้นไปที่ความหลุดพ้น การตรัสรู้ วิมุตติ การบรรลุธรรม ซึ่งดูให้ดีจะเห็นความแตกต่างไปจากแนวคติมหายานโดยทั่วไป ที่มักจะพากันเน้นที่การมุ่งนำสรรพสัตว์ทั้งหลายให้ข้ามพ้นวัฏสงสารให้ได้ก่อน แล้วตัวเองจึงค่อยบรรลุธรรม ดังนั้น ในแง่หนึ่ง เซน จึงคล้ายคลึงกับทางเถรวาทมาก และในข้อวัตรปฏิบัติบางประการ เซนก็ดูๆ ไปจะละม้ายกับเถรวาทสำนักวัดป่าที่เน้นวิปัสสนา เป็นอย่างมากเช่นกัน  เซนคืออะไร ขอให้ขบคิดกันต่อไป อย่ายึดเอาข้อสรุปใดเป็นคำตอบ จงแสวงหาไปอย่าหยุด  จนกว่าจะพบ “เซน” เข้าด้วยตนเองอย่างตรงๆ จริงๆ   
“เซน”  เน้นการใช้ชีวิตที่เรียบง่าย ถ่อมตน และมีเป้าหมาย      (ละเอียด ศิลาน้อย ผู้เขียนปล่อยวางอย่างเซน)

อลัน วัตต์ส นักปรัชญาชาวอังกฤษ-อเมริกันผู้เชี่ยวชาญเรื่องเซน เขียนในหนังสือ The Way of Zen (1957) ว่า เซนเป็นวิถีทางและมุมมองของชีวิต เซนไม่ใช่ศาสนา ไม่ใช่ปรัชญา ไม่ใช่จิตวิทยาหรือวิทยาศาสตร์และเช่นเดียวกับพุทธและเต๋า หลักการของเซน คือ การปลดปล่อยตนให้เป็นอิสระ (self liberation) แม้ว่าเซนเป็นส่วนผสมของศาสนาพุทธกับเต๋า แตกแขนงเป็นอีกสายธารหนึ่ง แต่ก็เป็นสายพันธุ์ใหม่ที่ต่างจากเดิม อย่างที่บางท่านบอกว่า เซนก็คือสิ่งประดิษฐ์ในสมัยราชวงศ์ถัง  ท่านพุทธทาสภิกขุ บอกว่า เราไม่ควรนับเซนเป็นมหายาน เพราะเซนไม่บูชาสิ่งใด ไม่่าจะเป็นอมิตาภะ โพธิสัตว์ ตารา (หรือพระรัตนตรัย ของฝ่ายมหายาน) ไม่มีแดนสุขาวดี ไม่มีทัวร์สวรรค์ ไม่มีปาฏิหาริย์ ไม่มีรางวัลสำหรับชาติหน้า อีกทั้งเซนยัง "ขนสัตว์ข้ามฝั่ง (หมายถึงผู้รู้แจ้ง)  ไปได้น้อยกว่าพวกหินยานหรือเถรวาทเสียอีก" 



คำว่า เซน (Zen)  มีรากศัพท์มาจากภาษาสันสกฤตว่า ธยาน (Dhyana) ภาษาบาลีเรียก ฌาน (Jhana แปลว่าสมาธิ) ภาษาจีนออกเสียง ฉาน (Ch' an) ถือกำเนิดที่เมืองจีน แต่สืบรากเหง้ามาจากพุทธศาสนา บุคคลแรกที่เป็นผู้สร้างสะพานเชื่อมพุทธศาสนากับเซนก็คือพระโพธิธรรม (Bodhidharma) ผู้เดินทางจากอินเดียไปเมืองจีนในราว ค.ศ. 520 ชื่อจีนของพระโพธิธรรม ก็คือ ตั๊กม้อ เจ้าสำนักวัดเส้าหลินอันเลื่องลือ หลายร้อยปีต่อมา ลัทธิฉานก็เข้าสู่ประเทศญี่ปุ่น ออกเสียงตามสำเนียงญี่ปุ่นว่า เซน แตกออกเป็นสาขาย่อย เช่น รินไซ เซน ,โซโต เซน เป็นต้น แต่ไม่ว่าเป็นสายใด หัวใจของมันก็ไม่ได้แตกต่างกัน คือเน้นการใช้สมาธิและเข้าถึงธรรมด้วยปัญญา  ท่านพุทธทาสภิกขุ บอกว่า เราต้องเข้าใจก่อนว่า เซน ไม่มีรูปธรรม เช่น คำว่า พระโพธิสัตว์ ก็ไม่ได้หมายถึงคน แต่หมายถึงคุณธรรมอย่างหนึ่ง  เช่น พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร หมายถึง ความเมตตากรุณา  พระโพธิสัตว์มัญชุศรี หมายถึง กฏแห่งเหตุผลที่ว่าสัตว์เป็นพุทธะอยู่แล้ว เป็นต้น  

สิ่งที่พวกเซนเน้นมากก็เช่นเดียวกับคำสอนพุทธศาสนาสายอื่นๆ โดยทั่วๆ ไป คือ เรื่องอนิจจัง เรื่องอนัตตา ความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ความว่าง ฯลฯ  

(ปริศนาธรรม)  ก่อนที่ท่านนินากาวะจะจากไป (ตาย)  อาจารย์เซนที่ชื่ออิ๊กคิวได้แวะมาเยี่ยม “จะให้ผมนำทางให้ไหม?  อิ๊กคิวถาม  นินากาวะตอบขึ้น  “ฉันมาที่นี่แต่เพียงลำพังคนเดียว และฉันก็จะไปคนเดียว คุณจะช่วยอะไรฉันได้?   อิ๊กคิวจึงตอบกลับไปว่า “ถ้าคุณคิดว่าคุณมาและไปจริงๆ แล้ว นั่นเป็นโมหะ (ความหลงผิด)  ของท่านละ ขอให้ผมได้แสดงทางซึ่งไม่มีการมาและไม่มีการไปให้ท่านดูสักหน่อยเถิด”  ด้วยคำพูดเพียงเท่านั้น อิ๊กคิวก็ได้ช่วยเปิดเผยเส้นทาง (แห่งธรรม) ให้แก่นินากาวะเรียบร้อยแล้ว และนินากาวะ ก็ยิ้มแล้วเดินจากไปอย่างสงบ  

(ปริศนาธรรม)  โดยพระอาจารย์ โดเก็น  พระเซนที่มีชื่อเสียงที่สุดในประวัติศาสตร์เซนญี่ปุ่น  บทกวีที่ว่า

“การรู้แจ้งก็เฉกเช่นจันทร์สะท้อนบนผิวน้ำ   พระจันทร์ไม่เปียก  น้ำก็ไม่ถูกกินที่    แม้แสงจันทร์จะสาดสว่างไพศาล  กลับปรากฏบนผิวน้ำกว้างเพียงนิ้วมือเดียว  จันทร์ทั้งดวงกับแผ่นฟ้าใหญ่  สะท้อนบนน้ำค้างหยดเดียวบนใบหญ้า”

สรรพสัตว์ในจักรวาลนี้มีพุทธภาวะอยู่ภายในตัวอยู่แล้ว อาจเรียกชื่อแตกต่างกันออกไปบ้าง โดเก็นมองว่า อรหันต์กับปุถุชนไม่มีความแตกต่างกันแต่อย่างใด ความแตกต่างอยู่ที่ว่าใครเห็นพุทธภาวะภายในตนหรือไม่ และสามารถลอกเปลือกที่ห่อหุ้มอยู่ออกไปได้หรือไม่ เปลือกนั้นคือ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน การเข้าไปสู่พุทธภาวะจึงต้องแสวงหาจากภายในตนเอง ไม่ใช่จากภายนอก จะว่าไปแล้วก็ไม่มีการบรรลุอะไร เพราะสิ่งที่ค้นพบนั้นก็คือของเดิมในตัวเรานี่เอง ก็คือการบรรลุธรรมชาติแท้ของตนนั่นเอง โดเก็นเขียนว่า การมองเห็นเชื่อมกายกับจิต การฟังเสียงเชื่อมกายกับจิต ทำให้เข้าใจมันโดยเชื่อมเป็นหนึ่งเดียว การเชื่อมในความหมายของโดเก็นก็คือการไม่แบ่งแยก แต่เชื่อมเป็นตัวตนเดียวกับสิ่งนั้น เมื่อสามารถกลายเป็นหนึ่งเดียวกับสิ่งหนึ่ง จะไม่มีสิ่งใดที่ทำให้เจ้ารู้ว่า กำลังเจ้านั่งตัวตรงหรือไม่ตรง จะไม่มีกาย ไม่มีจิต ไม่มีตัวตน ไม่มีสิ่งอื่น สิ่งที่เจ้าเชื่อมคล้ายไร้ตัวคนไป เมื่อเจ้ากลายเป็นสิ่งนั้นเสียเอง เจ้าจะกลายเป็นจักรวาล...” เพราะในสมาธิชั้นสูง จะไม่มีสิ่งใดให้จับต้อง ไม่มีตา ไม่มีจมูก ไม่มีลิ้น หู กาย จิต สี เสียง กลิ่น สัมผัส นี่คือการเชื่อมเป็นหนึ่งเดียว อย่างที่อาจารย์โดเก็น กล่าวว่า “เมื่อเจ้าเดิน จงเดิน เมื่อเจ้าร้องไห้ จงร้องไห้ เมื่อเจ้าหัวเราะ จงหัวเราะ” ในตัวอย่างเรื่องพระจันทร์ในน้ำ น้ำเป็น “ความคิด” พระจันทร์เป็น “วัตถุ” เมื่อไม่มีน้ำ ก็ไม่มีพระจันทร์ในน้ำ และเช่นกัน เมื่อไม่มีพระจันทร์ ก็ไม่มีพระจันทร์ในน้ำ น้ำไม่ได้รอพระจันทร์เพื่อปรากฏเงาขึ้นมา พระจันทร์ก็มิได้ปรากฏเพื่อสร้างเงาในน้ำ ทั้ง 2 ไม่มีเจตนาต่อกัน นี่ก็คือมนุษย์กับจิต

ในสมิทธิสูตร ซึ่งเป็นเรื่องราวของภิกษุหนุ่มรูปหนึ่ง เรื่องมีอยู่ว่า เช้าตรู่วันหนึ่ง สมิทธิได้ไปสรงน้ำในแม่น้ำ และในขณะที่กำลังเช็ดตัวอยู่นั้น เทพธิดาก็ได้ปรากฏกายขึ้น พร้อมกับถามว่า “ภิกขุ เธอยังหนุ่มแน่น แต่ไฉนจึงได้สละชีวิตทางโลกเสียเล่า ทำไมเธอถึงไม่สึกออกไปแสวงหาความสุขสำราญ ขณะยังเยาว์วัยอยู่เล่า” สมิทธิ จึงตอบว่า “ดูกร เทวี ข้าพเจ้ามีความสุขมากอยู่แล้ว เพราะได้ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่ให้มีชีวิตอย่างมีความสุขอยู่กับปัจจุบันขณะ การไขว่คว้าหากามคุณทั้ง 5 (ส่วนที่น่าใคร่ น่าปรารถนา ได้ รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส ทางกาย) การแสวงหาชื่อเสียง ความมั่งคั่ง กามารมณ์ การนอน และอาหาร ไม่อาจนำพาความสุขที่ยั่งยืนมาให้ได้ ข้าพเจ้าฝึกการมีสติอยู่ทุกๆ วัน จนได้พบกับความสุขสงบ เป็นอิสระและเบิกบาน” ประเด็นสำคัญ 4 ประการที่ถกเถียงกันในสมิทธิสูตรนั้น มีแนวคิดเรื่องความสุข การมีความเบิกบานที่แท้ การพึ่งตนเอง และหลุมพรางแห่งความสับสน

ทรรศนะเกี่ยวกับความสุข ทำให้เราตกหลุมพรางของตัวเอง เพราะเราหลงลืมไปว่านั่นเป็นแค่มโนคติ มโนคติในเรื่องความสุข อาจกีดกันเราออกจากการมีความสุขทีแท้ เราจะไม่มีทางใดเห็นช่วงเวลาของความเบิกบานที่อยู่ตรงหน้า หากเรายังเชื่อมั่นว่าความสุขน่าจะมีรูปแบบใดแบบหนึ่ง ประเด็นที่ 2 ซึ่งถกเถียงกันในพระสูตร คือการมีความเบิกบานทีแท้ เทพธิดาได้ถามสมิทธิว่า ทำไมเขาถึงยอมละทิ้งความสุขในปัจจุบัน ไปหาคำมั่นสัญญาถึงความสุขที่เลือนรางในอนาคต สมิทธิจึงตอบ “ความจริงกลับเป็นตรงกันข้าม คือมโนคติเรื่องความสุขในอนาคตต่างหากที่ข้าพเจ้าละทิ้ง เพื่อดื่มด่ำอยู่กับปัจจุบันขณะ” สมิทธิชี้แจงว่า ความปรารถนาที่เป็นอกุศลต่าง ๆ ในที่สุดแล้ว ย่อมก่อให้เกิดความว้าวุ่นใจและเป็นทุกข์ได้อย่างไร ขณะที่ชีวิตซึ่งเปี่ยมไปด้วยความเบิกบานอันถูกควรนั้น จะนำพาความสุขที่แท้มาสู่ปัจจุบันขณะ พระสูตรนี้ใช้คำจำกัดความว่า อกาลิโก อันหมายถึง “ไม่ขึ้นกับกาลเวลา” ประเด็นสำคัญที่ 3 ในสมิทธิสูตร คือการพึ่งตนเอง การยึดหลักธรรมเป็นสรณะไม่ได้เป็นแค่ความนึกคิด เมื่อเธอดำเนินชีวิตด้วยหลักธรรม เธอก็จะเข้าถึงความเบิกบาน สุขสงบ และเป็นอิสระ การยึดหลักธรรมเป็นสรณะยังเรียกได้ว่าเป็น “การกลับมาพำนักอยู่ในตนเอง” ในดินแดนแห่งความผาสุกของแต่ละคน เราต้องเรียนรู้ถึงวิธีกลับคืนสู่ดินแดนแห่งนี้ในยามที่เราต้องการ ตอนพระพุทธองค์ทรงใกล้ดับขันธ์ ท่านได้ตรัสแก่เหล่าภิกษุและภิกษุณีที่มาชุมนุมกันว่า “กัลยาณมิตรทั้งหลายพวกเธอจงพึ่งพาตนเองเถิด อย่าไปพึ่งพาที่อื่นใดเลย เมื่อพวกเธอกลับไปยังดินแดนแห่งนั้นแล้ว พวกเธอก็จะได้พบกับพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์”

จงเป็นที่พึ่งแห่งตน เป็นดินแดนของตนเอง พระพุทธคือสติของฉัน ที่เจิดจ้าทั้งใกล้ไกล พระธรรมคือลมหายใจของฉัน ที่คอยพิทักษ์ร่างกายและจิตใจ ฉันจึงเป็นอิสระ

จงเป็นที่พึ่งแห่งตน เป็นดินแดนของตนเอง สังฆะก็คือขันธ์ของฉัน ที่ทำงานประสานสอดคล้องกัน จงพำนักอยู่ในตนเอง กลับคืนสู่ตัวเอง ฉันจึงเป็นอิสระ

แม้บทภาวนานี้จะใช้ได้ทุกที่ทุกเวลา แต่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ในยามที่เราตกอยู่ในภาวะว้าวุ่น จนทำอะไรไม่ถูก เมื่อได้ปฏิบัติ ก็เท่ากับเราเดินทางเข้าไปสู่ดินแดนที่สงบ มั่นคงที่สุดเท่าที่จะเข้าถึงได้ ดินแดนของตัวเราเองก็คือสติ หรือสภาวะที่ตื่นตัวของเรา รากฐานแห่งความสงบ มั่นคงที่อยู่ภายใน จะคอยส่องนำทางให้เรา เมื่อขันธ์ 5 ของเราอยู่ในสภาพที่สอดคล้องประสานกัน เราก็จะกระทำในสิ่งที่นำความสุขสงบมาให้ การรำลึกรู้ลมหายใจจะก่อให้เกิดการประสานกันดังกล่าว แล้วจะมีอะไรอื่นที่สำคัญกว่าอีกเล่า ประเด็นสำคัญที่ 4 ในพระสูตรเกี่ยวกับเรื่องหลุมพรางแห่งความสับสน ความคิดที่ว่าตัวเธอดีกว่า แย่กว่า หรือพอๆ กับคนอื่นๆ ความสับสนต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้น เพราะเรามีความคิดที่ว่าตัวเราแยกขาดจากผู้อื่น ความสุขที่ยืนอยู่บนพื้นฐานแนวคิดเรื่องตัวตนที่แบ่งแยกนั้น เปราะบางและเชื่อถือไม่ได้ การปฏิบัติสมาธิภาวนา จะทำให้เรามองเห็นว่า ตัวเรานั้นอิงอาศัยอยู่กับสรรพชีวิตทั้งหลาย แล้วความกลัว ความว้าวุ่นใจ ความโกรธ ตลอดจนความทุกข์โศก ก็จะหายไป ถ้าเธอฝึกการมีความสุขที่แท้จริง โดยอาศัยหลักธรรม จนเข้าใจถึงสภาพที่เกี่ยวเนื่องและอิงอาศัยกันของสิ่งต่างๆ ได้แล้ว เธอก็จะเป็นอิสระ มั่นคงมากขึ้นทุกวัน เธอจะค่อยๆ เข้าไปอยู่ในวิมานแห่งความรัก ความเมตตาอันลึกซึ้ง คำสอนเรื่องความรักความเมตตาของพระพุทธเจ้านั้นสมบูรณ์หมดจด ความรักชนิดนี้ย่อมนำพาความสุขทีแท้มาให้เสมอ ความสุขไม่ใช่เรื่องส่วนบุคคล แต่เป็นสภาวะที่ต้องอิงอาศัย เมื่อเธอสามารถทำให้เพื่อนคนหนึ่งยิ้มออกได้ ความสุขของเพื่อนผู้นั้นก็ได้หล่อเลี้ยงตัวเธอด้วย หากเธอพบหนทางสู่ความสงบสันติ ความสุข ความเบิกบานแล้ว เธอก็จะกระทำสิ่งเหล่านี้ให้แก่ทุก ๆ คน จงเริ่มต้นด้วยการบำรุงเลี้ยงความรู้สึกเบิกบานให้กับตัวเอง ฝึกเดินจงกรมข้างนอก มีความสุขเบิกบานไปกับอากาศบริสุทธิ์ ต้นไม้ ดวงดาวบนท้องฟ้ายามค่ำคืน เธอจะบำรุงเลี้ยงตัวเองได้อย่างไรบ้าง การถกเถียงประเด็นนี้ กับบรรดาเพื่อนๆ เพื่อหาหนทางในการเพิ่มพูนความสุข ความเบิกบานนั้นนับเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง

(ถอดความบางส่วนจากบทความ “การหล่อเลี้ยงความสุข” โดยท่าน ติช นัท ฮันห์ ,จากหนังสือเมตตาภาวนา คำสอนว่าด้วยรัก,สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น