วันเสาร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2555

Like & See - มองซีไรต์ทั้ง 7 เล่ม

ผู้เขียนเป็นผู้ที่สนใจและติดตามงานเขียน วรรณกรรม และกวีซีไรต์ มาโดยตลอด แม้ว่าจะไม่ได้อ่านงานทุกเล่มที่ได้ซีไรต์ หรือไม่ได้มีความรู้หรือติดตามผลงานอย่างใกล้ชิด แต่ก็จัดได้ว่าพอจะทราบงานเขียนของบางท่านอยู่บ้าง และก็ยอมรับว่า “ซีไรต์” เป็นสถาบันสูงสุดก็ว่าได้สำหรับการประกวดผลงานด้านวรรณกรรมสุดยอดในบ้านเรา หากไม่ติดตามเลยก็คงจะไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นหนอนหนังสือได้อย่างเต็มปากนัก และในปีนี้ก็เป็นที่น่าตื่นเต้นมากในรอบหลายปี ที่ผลงานทีผ่านการคัดกรองเป็นวรรณกรรมยอดเยี่ยมของซีไรต์ทั้ง 7 เล่ม มีคุณภาพใกล้เคียงกันและอยู่ในระดับชั้นครูด้วยกันทั้งสิ้น จึงไม่พลาดที่จะเกาะติด และควรค่าแก่การไปหามาอ่านเป็นอย่างยิ่งสำหรับคอหนังสือ

เมื่อวันที่ 28 ก.ค.ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการคัดเลือกรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี 2555 มีมติเอกฉันท์คัดนวนิยายจำนวน 7 เรื่อง ผ่านเข้ารอบสุดท้ายแล้ว หลังประกาศผลรายชื่อหนังสือนวนิยายจำนวน 15 เรื่อง ที่ผ่านเข้ารอบแรก (Long List) จากจำนวนนวนิยายที่ส่งเข้าประกวดทั้งสิ้น 75 เรื่อง เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยนิยายจำนวน 7 เรื่อง ผ่านเข้ารอบสุดท้าย เรียงลำดับตามตัวอักษรของชื่อเรื่องดังต่อไปนี้
1. คนแคระ ของ วิภาส ศรีทอง (สำนักพิมพ์สมมติ)

2. เดียวดายใต้ฟ้าคลั่ง ของ แดนอรัญ แสงทอง (สำนักพิมพ์สามัญชน)

3. ในรูปเงา ของ เงาจันทร์ (แพรวสำนักพิมพ์)

4. รอยแผลของสายพิณ ของ สาคร พูลสุข (แพรวสำนักพิมพ์)

5. เรื่องเล่าในโลกลวงตา ของ พิเชษฐศักดิ์ โพธิ์พยัคฆ์ (เปนไท พับลิชชิ่ง)

6. ลักษณ์อาลัย ของ อุทิศ เหมะมูล (แพรวสำนักพิมพ์)

7. โลกประหลาดในประวัติศาสตร์ความเศร้า ของ ศิริวร แก้วกาญจน์ (สำนักพิมพ์ใบไม้ป่า)

สำหรับคณะกรรมการตัดสินรอบสุดท้ายประกอบด้วย 1. เจน สงสมพันธุ์ นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย 2. รศ.ทวีศักดิ์ ปิ่นทองนายกสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยฯ 3. ประภัสสร เสวิกุล ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2554 และ อดีตนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย 4. รศ.ดร.สรณัฐ ไตลังคะ อดีตนายกสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย 5. ชมัยภร บางคมบาง นักเขียนนามปากกา และอดีตนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย 6. รศ.ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ ภาควิชาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ ม.ธรรมศาสตร์ 7. ประธานคณะกรรมการคัดเลือก

(สำหรับรายชื่อคณะกรรมการคัดเลือก นอกจากสกุล บุณยทัต และขจรฤทธิ์ รักษาแล้ว ยังมีกนกวลี กันไทยราษฎร์ นักเขียน, จรูญพร ปรปักษ์ประลัย นักวิจารณ์, ผศ.ดร.จินดา ศรีรัตนสมบุญ ภาควิชาภาษาตะวันตก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง, นพดล ปรางค์ทอง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ราชภัฏพระนครศรีอยุธยา และบาหยัน อิ่มสำราญ คณะอักษรศาสตร์ วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร )

อย่างไรก็ตาม งานพระราชทานรางวัลซีไรต์ประจำปี 2555 (ปีที่ 34) จะจัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 9 พ.ย.นี้ ณ ห้องรอยัลบอลรูม โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ เวลา 19.30 น. โดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ เสด็จแทนพระองค์ ในการพระราชทานรางวัล

ล้วนเป็นผู้เขียนชั้นแนวหน้าของไทยทั้งสิ้น สกุล บุณยทัต ประธานกรรมการคัดเลือกปีนี้ชี้ว่า นวนิยาย 7 เล่ม สำหรับซีไรต์ปีที่ 34 ปีนี้ มีทั้งคุณค่าด้านวรรณกรรมและคุณภาพด้านการประพันธ์ เป็นงานวรรณกรรมที่สะท้อนให้คนอ่านได้เห็นปรากฏการณ์ทั้งด้านในและด้านนอก เป็นปรากฏการณ์ที่เข้มข้นไม่เคยมีมาก่อนของเวทีนวนิยายซีไรต์ย้อนหลังไป 2-3 รอบที่ผ่านมา ประธานกรรมการคัดเลือกบอกอีกว่า นวนิยายซีไรต์ 7 เล่มนี้ทรงพลังอย่างมากในแง่วรรณศิลป์และสาระเนื้อหา กรรมการวิเคราะห์เห็นเนื้อในของนวนิยายที่สังเคราะห์ขึ้นมาได้ มีกลวิธีมากมายสำหรับงานประพันธ์ชุดนี้ทั้งหมด ตลอดจนสาระเนื้อหาถูกหยิบยกมาเป็นวัตถุดิบก็แปลกแตกต่างไปจากกัน แต่โดยเนื้อแท้จะเห็นว่าโลกในวันนี้เต็มไปด้วยความคลุมเครือ และสุดท้ายแล้วคำว่า "การประกอบสร้าง" หรือ "สารบบ" ถูกนำมาใช้อย่างมากในการสร้างสรรค์งานชุดนี้ บางทีวาทกรรมของสังคม วาทกรรมทางความคิดอาจทำให้เราสะดุด เช่น ความคลุมเครือ, ความมืดดำกลายเป็นความชัดเจนที่สุดในสังคม เป็นข้อประจักษ์สำคัญที่เราควรพินิจพิเคราะห์ร่วมกัน ทั้งคณะกรรมการหรือแม้กระทั่งผู้อ่าน นวนิยายแต่ละเรื่องนั้นมีนัยของตัวเองชัดเจน "7 เล่ม ทำให้เราหยั่งลึกโดยเนื้อแท้ของงานเขียนที่เป็นมิติสากล งานเขียนของโลกที่บอกว่าหายไปจากวงการวรรณกรรมบ้านเราในหลายๆ ปี โดยเฉพาะภาคนวนิยายถือเป็นวรรณกรรมยิ่งใหญ่ มันได้กลับมา ไม่ว่ากลับมาด้วยเนื้อหาหรือพลังการสร้างของนักเขียนในแง่มุมศิลปะ มโนสำนึก กระบวนวิธีคิด กระบวนทัศน์ที่ได้จัดวางไว้ในรูปแบบที่ปรากฏทั้งหมดนี้" สกุลเห็นเป็นเรื่องน่ายินดี แต่แม้จะมีเสียงวิพากษ์ถึงหนึ่งในผู้เขียนเจ้าของนวนิยายเล่มหนึ่ง ที่ผ่านเข้ารอบตัดเชือกนวนิยายปีนี้ ซึ่งเคยผลิตงานเรื่องสั้นส่งประกวดซีไรต์ แล้วมีกรรมการตั้งข้อสังเกตเป็นการคัดลอกจากวรรณกรรมต่างประเทศ แต่ประธานกรรมการคัดเลือกเผยว่า มีการถกเถียงเรื่องจริยธรรมนักเขียนเช่นกัน แต่ในท้ายที่สุดกรรมการพิจารณาจากคุณค่าและคุณภาพเป็นหลัก ต้องประจักษ์ในเนื้อสาระที่สร้างขึ้น เพราะเวทีซีไรต์ไม่มีกฎกติกามารยาทเรื่องนี้ เห็นว่าสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยและสมาคมนักแปลแห่งประเทศไทยควรมีท่าทีชัดเจน ขณะเดียวกันเป็นโอกาสเปิดกว้างให้นักเขียนผู้นี้ได้พิสูจน์ข้อเท็จจริง ลบรอยบาปที่เปื้อนมือ สำหรับความยากในการคัดเลือกนวนิยายจำนวน 15 เรื่องจากรอบแรกให้เหลือเรื่องที่คู่ควรชิงชัย สกุลย้ำว่า กรรมการต้องพินิจพิเคราะห์รายละเอียด นวนิยายทั่วไปอ่านตอนต้นแล้วสามารถรู้ถึงตอนท้าย หาคำตอบได้เลย แต่งานทั้ง 7 เล่มนี้ยากมากที่จะแกะรอยแนวคิด เนื้อหาสาระ รวมทั้งแกะรอยสิ่งที่พวกเขาต้องการจะบอกกับโลกในฐานะโลกทัศน์ที่พวกเขาสดับรับรู้ นี่คือสาระสำคัญที่ดึงให้พวกเขาเข้ารอบสุดท้ายและเป็นความเข้มข้นของปีนี้ อีกทัศนะของกรรมการคัดเลือก ขจรฤทธิ์ รักษา นักเขียนรางวัลศิลปาธร และผู้ก่อตั้งนิตยสารไรเตอร์ เผยว่าในการพิจารณารอบนี้มี 4 เรื่องที่กรรมการมีมติเอกฉันทน์ให้ไปต่อ คือ ในรูปเงา, รอยแผลของสายพิณ, เรื่องเล่าในโลกลวงตา และลักษณ์อาลัย ส่วนที่เหลือ 3 เรื่องเสียงแตกต้องโหวตกัน สำหรับเรื่องที่ถกกันมากสุด คือ คนแคระ เป็นเรื่องอดีตของนักเขียนที่ผ่านมา แต่สุดท้ายกรรมการวัดที่ตัวงานเพราะไม่มีกฎระเบียบแน่ชัด "7 เล่มนี้ ใครได้ซีไรต์ก็ดีใจ ไม่มีปัญหา แต่ผมชอบ 2 เรื่อง คือ ลักษณ์อาลัย ของอุทิศ ลุ้นนักเขียนคนนี้มาตลอด ชื่มชมในการเล่าเรื่องของเขา ดึงดูดคนอ่านตั้งแต่บรรทัดแรก แล้วเรื่องนี้ก็เข้ารอบโดยไม่มีปัญหา กรรมการไม่ต้องอภิปรายกัน ใจอยากให้อุทิศได้ซีไรต์อีกครั้ง ส่วนเรื่องรอยแผลของสายพิณของสาครก็ชอบ" นักเขียนรางวัลศิลปาธรบอกอีกว่า นักเขียนทั้ง 7 คนนี้เล่าเรื่องเก่งเป็นเอกลักษณ์ นำเรื่องที่เล่ามาสะกดคนอ่านได้ ทำให้เราซาบซึ้งสะเทือนใจ อย่างแดนอรัญ แสงทอง เล่าเรื่องพุทธประวัติก็ไม่รู้ว่าจริงหรือไม่ แต่เล่าได้ดีมาก ส่วนเงาจันทร์เล่าเรื่องให้รู้สึกว่าคนกับสัตว์ไม่ต่างกันผ่านงานในรูปเงา ก็พิจารณาจากนวนิยายทำให้ผู้อ่านจดจำเรื่องได้ เกิดความสะเทือนอารมณ์ หยุดคิดหยุดไตร่ตรอง แต่ถ้าอ่านแล้วผ่านเลยก็ไม่เข้ารอบ สำหรับ 7 เรื่องที่เข้ามาจดจำได้หมด เป็นนักเขียนที่เก่งมากในยุคนี้









ในที่สุด "คนแคระ"นวนิยาย"ของ"วิภาส ศรีทอง" คว้ารางวัลซีไรต์ ประจำปี 2555

ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 26 กันยายนว่า คณะกรรมการคัดเลือกรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปีพุทธศักราช 2555 มีมติเป็นเอกฉันท์ให้นวนิยายเรื่อง คนแคระ ของ "วิภาส ศรีทอง" ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปีพุทธศักราช 2555

คนแคระ ของวิภาส เป็นนวนิยายที่เสนอปัญหาสัมพันธภาพระหว่างมนุษย์ เปิดเผยให้เห็นความโดดเดี่ยวอ้างว้างของกลุ่มคนซึ่งเป็นตัวแทนของสังคมร่วมสมัย โดยสะท้อนให้เห็นการขาดความตระหนักถึงคุณค่าของความเป็นมนุษย์การหมกมุ่นอยู่กับปัญหาของตนเอง และการโหยหาสัมพันธภาพระหว่างมนุษย์แต่จำกัดขอบเขตของความสัมพันธ์นั้นไว้ ทั้งหมดนี้ผู้เขียนนำเสนอผ่านตัวละครที่แสดงความเย็นชาต่อชะตากรรมของมนุษย์ และหาทางสร้างความชอบธรรมให้กับการกระทำของตัวเอง

ผู้เขียนมีกลวิธีการเล่าเรื่องเนิบช้าทว่ามีพลัง มีการสร้างจินตภาพที่ชวนให้เกิดการตีความหลากหลาย มีตัวละครซับซ้อน แปลกแยก และท้าทายกฎเกณฑ์ของสังคม คุณค่าของนวนิยายนี้จึงอยู่ที่การกระตุ้นให้เกิดการสำรวจภาวะความเป็นมนุษย์ในโลกร่วมสมัย ในขณะเดียวกันก็ตั้งคำถามกับมโนสำนึก ความรับผิดชอบชั่วดีและสารัตถะของชีวิต

ที่มา : มติชนออนไลน์


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น