ศิริราชโมเดล จุดกระแสการเปลี่ยนแปลง รพ.ไทย
การประกาศตัวให้บริการในรูปแบบเอกชนอย่างเต็มตัวของโรงพยาบาลศิริราช ถือเป็นการสร้างจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของธุรกิจโรงพยาบาลในเมืองไทย และกลายเป็นโมเดลต้นแบบที่ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชนจับตาดูอยู่ เพราะหากพูดถึงการให้บริการ รพ.รัฐ ต้องยอมรับว่า แทบไม่ต้องนึกถึงเทคโนโลยีการรักษาใหม่ๆ เพราะเอาแค่บริการคนเจ็บป่วยให้ทันและเพียงพอก็นับว่าลำบากและสุดยอดมากแล้ว การประกาศตัวของ รพ.ศิริราช ในการให้บริการแบบเอกชน จึงเท่ากับเป็นการสร้างแรงกระเพื่อมต่อวงการแพทย์เมืองไทยเป็นอย่างมาก ลำพังชื่อเสียงของ “ศิริราช” นั้นก็เรียกได้ว่ามีชัยไปกว่าครึ่งแล้ว การันตีคุณภาพเต็มร้อย ยิ่งเมือผนวกกับอัตราค่าบริการที่เบื้องต้นว่ากันว่า ราคาอาจจะย่อมเยากว่าเอกชนราว 20-30% งานนี้ก็ทำให้หลายคนในวงการมองว่าเป็นการจุดพลุให้การแข่งขันในธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนเดือดพล่านยิ่งขึ้นไปอีก เพราะนั่นเท่ากับว่า รพ.เอกชนน้องใหม่รายนี้ จะเข้ามาร่วมเอี่ยวเค้กก้อนใหญ่ที่มีมูลค่าเกือบแสนล้านเพิ่มอีกรายนึง นักวิเคราห์บางคนบอกว่า อย่าไปตกใจ ถือเป็นมิติใหม่ของการก้าวเข้ามาสู่การเปลี่ยนแปลง แต่อย่ามองว่า ศิริราชจะเข้ามาแข่งขันกับเอกชนเลย ตรงกันข้ามมันเป็นการเตรียมตัวเพื่อรองรับการแข่งขันในอนาคต โดยเฉพาะการเปิดตลาดร่วม AEC ที่จะเกิดขึ้นในปี 2015 มากกว่า ของโรงพยาบาลใหญ่ของรัฐมากกว่า
นายวิชัย ทองแตง ประธานกรรมการเครือ รพ.พญาไท และเปาโล เมโมเรียล กล่าว ยอมรับว่า แม้ผลพวงจากการขยับของศิริราช สู่เส้นทางธุรกิจ รพ.เอกชน ในวันนี้ อาจจะเข้ามาแย่งมาร์จิ้นไปส่วนหนึ่ง โดยสะท้อนได้จากราคาในตลาดหุ้นในช่วงนี้ แต่โดยภาพรวมไม่กระทบมากนัก อีกทั้งยังจะช่วยยกระดับและเพิ่มทางเลือกในวงกว้างมากขึ้น และเชื่อว่าจะส่งผลให้ธุรกิจสุขภาพจากนี้ไปจะเติบโตอย่างเด่นชัด สิ่งทีต้องจับตามองต่อไปจากก้าวย่างของศิริราชในครั้งนี้ คือ จะกระตุ้นให้โรงเรียนแพทย์ และ รพ.เอกชนต้องปรับตัวจากนี้ไป โดยเห็นว่า รพ.เอกชน ควรจะหันมาผนึกกำลังกันเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้มากขึ้น และไม่อยากให้โฟกัสเฉพาะการแข่งขันในประเทศ ต้องมองไปถึงการแข่งขันระดับภูมิภาคและระดับโลก เนื่องจากในอีก 3 ปีข้างหน้า AEC จะเกิดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบ จำนวนประชากรจะเพิ่มขึ้นจาก 70 ล้านคน เป็น 600 ล้านคน ดังนั้นทุกภาคส่วนจึงต้องเร่งปรับตัวรับมือสิ่งเหล่านี้ให้ทัน ดังเช่น การควบรวมกิจการในเครือ รพ.พญาไท เข้ากับ รพ.เปาโล เมโมเรียล และกรุงเทพดุสิตเวชการ ในปีที่ผ่านมา คุณวิชัย กล่าวว่า เป็นทั้งการปรับตัวและการขับเคลื่อน เพื่อเตรียมความพร้อมกับการแข่งขันในสนามรบที่กว้างขึ้น เพื่อรองรับตลาดมูลค่ามหาศาล และถือเป็นโมเดลที่ทุกประเทศในเอเซียแปซิฟิกกำลังจับตามอง เนื่องจาความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ รพ.ในเมืองไทย จะเห็นได้จากนักลงทุนหันมาสนใจซื้อหุ้นกลุ่มนี้มากขึ้น จนทำให้มาร์เก็ตแคปทะลุหุ้นกลุ่ม รพ.ของออสเตรเลียไปแล้ว คุณวิชัย ยังเชื่อว่า อนาคตจะเห็น ร.ร.แพทย์ และ รพ.รัฐ ปรับตัวลงมาให้บริการโมเดลแบบเดียวกับ รพ.ศิริราช มากขึ้น ส่วน รพ.เอกชน นอกจากแนวทางควบรวมกิจการแล้ว ยังต้องมองหาแนวทางเสริมศักยภาพเฉพาะของตนเองให้เด่นชัดด้วย อย่างการเป็นสเปเชียลลิสต์เฉพาะด้านต่าง ๆ เช่น ร.พ.ตา ,หรือ หูคอจมูก เป็นต้น หรือการปรับตัวสู่การแพทย์ทางเลือก (Alternative Medicine) ก็เป็นสิ่งที่สามารถจะทำได้และเกิดได้เร็ว แม้การเคลื่อนไหวของศิริราชในครั้งนี้ จะสร้างแรงกระเพื่อมได้บ้าง แต่ปีนี้เครือ รพ.พญาไทและเปาโล ยังคงตั้งเป้าเติบโตเป็นตัวเลข 2 หลักอย่างแน่นอน ส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากแนวทางการควบรวมกิจการที่สร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ คุณวิชัยยืนยันว่า แผนหลังควบรวมกิจการครั้งนี้ นอกจากจะทำให้เกิดความเข้มแข็งจนกลายเป็นเครือ รพ.กลุ่มใหญ่ที่สุดในภูมิภาคแล้ว ความแข็งแกร่งนี้ยังช่วยให้มีศักยภาพมากพอที่จะเข้าไปซื้อธุรกิจที่เกี่ยวกับสุขภาพเพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศ แต่เบื้องต้นยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ในตอนนี้
ผู้เขียนคิดว่า โมเดลของ รพ. SiPH ในเครือ รพ.ศิริราช เป็นต้นแบบของ รพ.รัฐที่ออกนอกระบบราชการ เฉกเช่นเดียวกับ มหาวิทยาลัยของรัฐออกนอกระบบราชการนั่นเอง คือพยายามที่จะบริหารงานเป็นแบบเอกชน ใช้ต้นทุนของรัฐแต่หากำไรแบบเอกชน เพื่อที่จะมีรายได้มาหล่อเลี้ยงตัว รพ.แม่ส่วนหนึ่ง และเพื่อที่จะเป็นฐานรายได้ที่จะหล่อเลี้ยงตนเองให้อยู่รอดได้ไม่ต้องพึ่งพางบประมาณของภาครัฐที่ปีๆ นึงมีไม่มากนัก ไม่เพียงพอต่อจำนวนประชากรคนไข้ และบุคลากรทางการแพทย์ที่จะต้องจ่ายค่าจ้างที่สูงมากพอที่จะทำให้พวกเขายังคงอยู่กับโรงพยาบาลต่อไป ส่วนอีกด้านนึง พวก รพ.เอกชนจำเป็นต้องควบรวมกิจการกันเองหรือผูกโยงกันเป็นเครือข่าย ให้มีขนาดกิจการที่ใหญ่ขึ้น เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรอง และเป็นการลดต้นทุน อีกทั้งสร้างมูลค่าเพิ่มของกิจการ หรือเสริมศักยภาพซึ่งกันและกัน ที่เรียกว่า synergy เพื่อที่จะต่อกรกับ รพ.รัฐที่ออกนอกระบบ ต่อกรกับ รพ.เอกชนด้วยกันเอง เครือ รพ.ใหญ่ ๆ จากต่างประเทศ หรือเพื่อรองรับการแข่งขันอย่างเสรี และรุนแรงจากเครือ รพ.เอกชนขนาดใหญ่ในภูมิภาคเดียวกัน เช่น เครือ รพ.ของสิงคโปร์ เป็นต้น ทั้งหมดนี้เป็นมุมมองของเจ้าของกิจการหรือผู้บริหารกิจการโรงพยาบาลเอง ที่จะบริหารกิจการอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและยังคงสร้างผลกำไรให้มากที่สุด แม้ว่าการขยายกิจการ เพิ่มมูลค่าตลาด ขนาดของธุรกิจใหญ่ขึ้น จะสามารถลดต้นทุน ค่าใช้จ่ายได้มากมายเพียงใด แต่ไม่ได้หมายว่า เขาจะคำนึงถึงการตั้งราคาให้ต่ำที่สุดเพื่อผู้บริโภคหรือผู้ป่วยหรือคนไข้หรอกนะครับ ตรงกันข้ามเลย การลดต้นทุนให้ต่ำ และตั้งราคาให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ เป็นการตอบโจทย์หรือเป้าหมายในการสร้างผลกำไรมหาศาล เฉกเช่นธุรกิจทุกประเภทในระบบทุนนิยม เฉกเช่นบรรษัทธุรกิจขนาดใหญ่ในโลกนี้ มีมั๊ยที่จะขายสินค้าหรือบริการให้ผู้บริโภคในระดับราคาประหยัดหรือถูกลงมา มันไม่มีทางเป็นเช่นนั้นในโลกแห่งความเป็นจริง เราเคยสังเกตเห็นธุรกิจอะไรก็ตามก่อนทำการควบรวมกิจการก็จะอ้างว่า เมื่อควบรวมกิจการกันแล้วจะทำให้ลดต้นทุนลงอย่างมาก และเพื่อสร้างผลกำไรให้กับผู้ถือหุ้นของกิจการได้มากขึ้นในระยะยาว แต่เขาจะไม่เคยพูดถึงผู้บริโภคหรือผู้ใช้ปลายทางของเขา อาทิ กิจการในเครือ ปตท.เมื่อควบรวมกิจการมากๆ เข้ากลายเป็นยิ่งทำกำไรได้อย่างมโหฬาร แต่ราคาพลังงานต่างๆ ก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ยอมที่จะปรับราคาลงมา ดูต้วอย่างของเคเบิ้ลทีวี เมื่อก่อนตอนที่เหลือเพียง UBC (เป็นการควบรวมกันระหว่าง IBC กับ UTV) ราคาก็ไม่ลดลงให้ผู้บริโภค เพราะว่าผูกขาดเหลืออยู่เจ้าเดียวแล้วในขณะนั้น แม้ว่าปัจจุบันจะเปลี่ยนเป็น Truevision แล้วก็ตาม แม้ตลาดเคเบิ้ลทีวีมีหลายเจ้าแล้ว แต่เขายังคงตั้งราคาสูงกว่าคู่แข่งอยู่มาก ,ลองดูธุรกิจโรงภาพยนตร์อย่างเครือเมเจอร์ซีนีเพล็ก (ไปซื้อกิจการ EGV คู่แข่งมาอยู่ในเครือ) หลังจากนั้นในเครือโรงหนังนี้ ไม่มีโรงหนังราคาประหยัดอีกเลย มีแต่พรีเมียม และพรีเมี่ยมกว่า เช่น พาราก้อนซีเนเพล็กซ์ เอสพลานาด ไอแม็กซ์ ปัจจุบันค่าตั๋วดูหนังสูงขึ้นเกือบทุกปี แล้วก็มักจะอ้างเงินเฟ้อ อ้างค่าครองชีพ อ้างต้นทุนนำเข้าภาพยนตร์มีราคาสูง ทำให้ต้องปรับราคา แต่ทำไมคู่แข่งอีกค่ายนึง SF กับทำราคาต่ำกว่าได้ หรืออย่างข้าวของเครื่องใช้ในร้านโชว์ห่วยติดแอร์อย่าง 7-11 ลองสังเกตุดูราคาสินค้าในร้านดูสิครับ ส่วนใหญ่มีราคาสุงกว่าในร้าน moderntrade (Big C, Tesco Lotus) มาก ทุกวันนี้เขาอยุ่ในฐานะกึ่งผูกขาดในตลาดร้านสะดวกซื้ออยู่แล้ว ทำให้ไม่มีคู่แข่ง จะตั้งราคาสินค้าสูงกว่าคนอื่นอย่างไรก็ได้ ยังมีตัวอย่างอีกมากที่ข้ออ้างเรื่องการควบรวมกิจการ การลดต้นทุนต่างๆ ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้เขายอมลดมาร์จิ้นมาตั้งราคาขายต่ำๆ หรือถูกๆ ให้กับผู้บริโภคอย่างเราๆ หรอก เพราะโลกของทุนนิยม เขาว่ากันด้วยตัวเลขกำไร ใครทำได้มากกว่า มือใครยาวสาวได้สาวเอามากกว่า คนนั้นคือผู้ชนะในเกมแข่งขันเสรี แล้วก็จะมีอำนาจต่อรองสูงขึ้นไปอีก และก็จะยิ่งตั้งราคาสูงกว่าคู่แข่งขันอื่นมากขึ้นไปอีก เป็นวงจรอุบาทว์ของความโลภที่ไม่มีที่สิ้นสุดจริงๆ
ข่าวการควบรวมกิจการ และซื้อหุ้นเครือโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
ทันหุ้น - BGH ขยายลงทุนเข้าซื้อหุ้น BH เพิ่มอีก 6.05% สรุปถือหุ้นเป็น 20.28% หวังผลตอบแทนและดันรายได้เติบโตในอนาคต ฟากโบรกมองทิศทางธุรกิจ BGH ไปได้สวยจากการเติบโตลูกค้าผู้ป่วยชาวไทยและต่างชาติ รวมถึงแผนขยายธุรกิจยาวเหยียดทั้งแผน ควบรวมกิจการ-เข้าซื้อกิจการ และแผนลงทุนใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ชู BGH หุ้น Top Pick กลุ่มโรงพยาบาล แนะสอยเป้าหมาย 90.00 บาท นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)หรือ BGH เปิดเผยว่า บริษัทได้ทำการซื้อหุ้นสามัญของบริษัทโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) หรือBH ทั้งหมดจำนวน 44.2 ล้านหุ้นคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6.05 ของหุ้นที่จำหน่ายได้ทั้งหมดของ BH ซึ่งคิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 2,234,854,865.53 บาท จึงเป็นผลให้บริษัทถือหุ้นใน BH รวมทั้งสิ้น 148,027,600 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20.28 ของหุ้นที่จำหน่ายได้ทั้งหมดของ BH โดยการเข้าลงทุนดังกล่าวใช้แหล่งเงินทุนจากเงินทุนหมุนเวียนภายในกิจการและแหล่งเงินทุนภายนอกจากสถาบันการเงิน ภายหลังจากรายการดังกล่าวBH จะกลายเป็นบริษัทร่วมของบริษัทซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถรับรู้ผลการดำเนินงานของ BH ตามวิธีส่วนได้ส่วนเสียในงบการเงินรวมของบริษัทได้ ทั้งนี้ เริ่มจากวันที่บริษัทเข้าถือหุ้นใน BH เกินกว่าร้อยละ 20 บทวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ธนชาต จำกัด (มหาชน) แนะนำ"ซื้อ" BGH ราคาเป้าหมาย 90.00 บาทต่อหุ้น โดยระบุว่า การเติบโตของรายได้ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมายังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง 15%เทียบกับเป้าของบริษัท 11% ในปี2555 จากปัจจัยขับเคลื่อนคือลูกค้าผู้ป่วยชาวไทยและต่างชาติ ส่วนจากการควบรวมกิจการโรงพยาบาลพญาไทและเปาโลยังคงไม่สิ้นสุด BGH จะร่วมมือกับโรงพยาบาลพญาไทในการให้บริการด้านหัวใจที่โรงพยาบาลพญาไท 3 โดยจะเริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 ในขณะเดียวกัน BGH จะร่วมมือกับโรงพยาบาลเปาโลในการเปิดหน่วยดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งที่โรงพยาบาลเปาโล นวมินทร์ ในปีนี้BGH จะส่งทีมแพทย์ พยาบาล และบุคลากร ช่วยสนับสนุนการให้บริการดังกล่าว กลยุทธ์นี้จะช่วยให้ BGH สามารถเพิ่ม Asset Utilization และการให้บริการ ซึ่งจะส่งผลให้รายได้เติบโตและอัตรากำไรขั้นต้นขยายตัวผ่านจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น และราคาการให้บริการที่เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้ BGH อยู่ระหว่างหาโอกาสที่จะลงทุนในโรงพยาบาลแห่งใหม่ และมีแผนเข้าซื้อกิจการโรงพยาบาลภายในประเทศ ขณะที่โรงพยาบาลสมิติเวช (บริษัทในเครือของBGH) มีการบริหารโรงพยาบาลหนึ่งแห่งในพม่า ซึ่งมีแนวโน้มการเติบโตสูง BGH มีแผนที่จะลงทุนในพม่าในอนาคตเมื่อประเทศเริ่มเปิดมากขึ้น อย่างไรก็ดี BGH คาดการเปิดโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ (SiPH) ของโรงพยาบาลศิริราช จะไม่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อBGH เนื่องจาก BGH รับแพทย์จากทั้งโรงพยาบาลของรัฐและเอกชนรวมถึงโรงพยาบาลในต่างประเทศดังนั้น บริษัทคาดการเปิดของSiPH จะไม่กระทบต่ออุปทานของแพทย์ ทางด้านอุปสงค์การบริการทางการแพทย์ในประเทศมีการเติบโตหลังรายได้ประชาชนเพิ่มขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงในการดำเนินชีวิต ทางฝ่ายวิจัยเชื่อว่า BGH ยังคงเป็นหุ้น Top Pick ในกลุ่มโรงพยาบาล ราคาเป้าหมาย 90 บาทต้อหุ้น โดยประมาณการให้ 3 ปี EPS CAGR 17% เทียบกับ BH 8% และKH 15% ในขณะที่ PEG 1.0 เท่า ในปี 2555 ถูกที่สุดในกลุ่มโรงพยาบาลและต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคที่2.4 เท่า
KH พุ่ง 6.82% บอร์ดยอมรับมีแผนควบรวมกิจการ รพ.อื่น แต่ขอรอดูจังหวะก่อน
ข่าวหุ้น-การเงิน สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ) -- พฤหัสบดีที่ 16 ธันวาคม 2553 11:28:31 น.
หุ้น KH ราคาวิ่งขึ้น 6.82% มาอยู่ที่ 7.05 บาท เพิ่มขึ้น 0.45 บาท มูลค่าซื้อขาย 188.68 ล้านบาท เมื่อเวลา 10.37 น. โดยเปิดตลาดที่ 6.75 บาท ราคาปรับตัวขึ้นสูงสุดที่ 7.35 บาท และราคาปรับตัวลงต่ำสุดที่ 6.75 บาท
ล่าสุดเมื่อ 11.12 น.หุ้น KH อยู่ที่ 6.95 บาท เพิ่มขึ้น 0.35 บาท(+5.30%)มูลค่าซื้อขาย 211.46 ล้านบาท
นายไพบูรณ์ นาโคศิริ กรรมการ บมจ.บางกอก เชน ฮอสปิทอล(KH)กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"ว่า บริษัทฯสนใจแนวทางการควบรวมกิจการกับโรงพยาบาลอื่นในอนาคตเหมือนกัน แต่คงต้องรอดูจังหวะที่เหมาะสมก่อน ซึ่งก็เป็นแนวทางที่จะช่วยขยายธุรกิจตามปกติ
"อนาคตแผนการควบรวมกิจการก็มีส่วนเหมือนกัน แต่ต้องรอดูจังหวะ ก่อนหน้านี้เราก็เคยคุยในเรื่องนี้ แต่ตอนนี้ยังไม่คุย ซึ่งทิศทางการขยายธุรกิจเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่เห็นเขาทำแล้วเราจะทำตาม"นายไพบูรณ์ กล่าว
กรรมการ KH กล่าวว่า ไม่แปลกใจกับการที่ บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ(BGH)ซื้อกิจการเครือโรงพยาบาลพญาไทและเครือโรงพยาบาลเปาโล เพราะเดิม BGH ถือหุ้น รพ.พญาไท อยู่แล้วประมาณเกือบ 20% โดยซื้อจากแบงก์เจ้าหนี้ของทางบมจ.ประสิทธิพัฒนา(PYT)ในช่วงรพ.พญาไทมีปัญหาด้านการเงิน จากนั้นก็มาคิดต่อว่าหากอยากมีส่วนร่วมในการบริหารงานด้วยก็ต้องถือหุ้นเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าความเคลื่อนไหวของ BGH คงไม่กระทบกับ KH มากนัก เพราะต้องมองว่าตลาดธุรกิจโรงพยาบาลของ KH กับ BGH อยู่คนละตลาดกัน โดย KH จะเป็นตลาดเงินสด และจับลูกค้าระดับกลาง
นายไพบูรณ์ กล่าวต่อว่า เดิมบริษัทฯมีสัดส่วนที่เป็นผู้ถือบัตรประกันสังคม 25% และผู้ที่จ่ายเงินสด 60% และมีส่วนของผู้ที่อยู่ในโครงการประกันสุขภาพแห่งชาติ(UC) 15% นับตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมาได้ยกเลิกในส่วนของ UC ไป ดังนั้นจึงตั้งเป้าหมายว่าปีหน้าสัดส่วนในส่วนผู้ประกันตนจะมี 30% และส่วนลูค้าเงินสดจะเพิ่มเป็น 70% ปัจจุบัน รพ.ในเครือมีทั้งหมด 6 สาขา และกำลังก่อสร้างอีก 1 สาขาที่แจ้งวัฒนะ ซึ่งสถานที่แห่งนี้จะดูแลผู้ป่วยเงินสดเท่านั้น ดังนั้น จึงจะใช้ชื่อที่แตกต่างออกไป เป็นชื่อ "The World Medical Center"คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในต้นปี 55 สำหรับผลการดำเนินงานของปีนี้บอกได้แต่เพียงว่า ทำรายได้ และกำไร ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
--อินโฟเควสท์ โดย พรเพ็ญ ดวงเฉลิมวงศ์/ศศิธร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น