วันเสาร์ที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2555

การศึกษาไทย ควรฝากความหวังไว้กับใครดี


(เรื่องนี้ ต้องมีเคลียร์ ถ้าไม่มีผู้รับผิดชอบนะ เรื่องนี้ถึงครูอังคณาแน่)

เมื่อไม่นานมานี้ ข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับ ได้รายงานข่าว ผลคะแนนการสอบของเด็กนักเรียนไทย เกี่ยวกับผลคะแนน O-NET , A-NET , GAT, PAT ว่าคะแนนเฉลี่ยเด็กไทยทั่วประเทศนั้นสอบตก คือไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ชนิดที่เรียกว่าผลคะแนนสอบทั่วทั้งประเทศนั้นสอบตกเกือบทั้งประเทศ นั่นแสดงให้เห็นมาตรฐาน คุณภาพของการเรียนการสอนในบ้านเรา ว่าตกต่ำเพียงใด เราจะไม่ไปโทษตัวเด็กนักเรียนแต่เพียงฝ่ายเดียว เพราะเขาคือผลผลิตของระบบการศึกษาไทย พอมันออกมาเป็นแบบนี้ ทำให้เรารู้เราเห็นแล้วว่า มันต้องมีความผิดปกติ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับระบบการศึกษาของบ้านเราต้องกลับมาคิดทบทวนกันแล้วว่า เกิดข้อผิดพลาดอะไร และแสวงหาจุดบกพร่องเพื่อแก้ไข ปรับปรุง พัฒนาให้เด็กนักเรียนของบ้านเราให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่ระบบตั้งเอาไว้ ถ้าเกณฑ์มาตรฐานมันสูงเกินไป ไม่สอดคล้องกับคุณภาพของเด็กโดยส่วนใหญ่ ก็น่าจะพิจารณาปรับลดเกณฑ์ลงมาได้มั๊ย หรือไม่ก็ต้องทำอย่างไรเพื่อจะพัฒนาตัวเด็กนักเรียนให้มีมาตรฐานที่สูงขึ้นให้ได้ ที่ผู้เขียนใช้คำว่าผิดปกติในระบบการศึกษาไทย ก็เพราะว่า เรามีเด็กไทยที่ไปสร้างชื่อได้เหรียญทอง เหรียญเงิน ในด้านวิชาการต่างๆ ในระดับโลก(โอลิมปิกวิชาการ) มากมาย เกือบทุกปี แต่แล้วทำไมเด็กไทยโดยส่วนใหญ่ถึงไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานเสียส่วนใหญ่ นี่มันประเทศเดียวกันหรือไม่ สอนโดยระบบการเรียนการสอนแบบเดียวกันหรือไม่ หรือพวกหัวกะทิเรียนอีกอย่าง ส่วนพวกหัวอ่อน หรือหัวกลาง(กลวง)ๆ ไปเรียนอีกอย่าง ทำไมมาตรฐานมันช่างต่างกันสุดขั้วเช่นนี้หนอ ตัวผู้เขียนเองตั้งแต่เล็ก เรียนหนังสือมาในระบบโรงเรียนวัดตลอด ไม่เคยได้เรียนพิเศษ เรียนกวดวิชาใดๆ ไม่เคยได้เรียนโรงเรียน 2 ภาษา ไม่เคยจบโรงเรียนดังมีชื่อ โรงเรียนสาธิตใดๆ ไม่ได้สอบเอ็นทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยมีชื่อด้วย แต่ก็กระเสือกกระสนดั้นด้นเรียนทางลัดมาตลอดจนจบระดับการศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยของรัฐได้ ก็ไม่รู้เอาตัวเองรอดมาได้อย่างไรเหมือนกัน และใช้งบการเรียนตลอดทั้งชีวิตของตัวเองก็คงไม่ถึง 5 แสนบาทแน่ๆ แต่ถ้าผู้เขียนต้องเกิดมาเป็นเด็กยุคนี้ คงจะต้องเครียดกับระบบการศึกษาในสมัยปัจจุบันเป็นแน่ และก็คงต้องใช้เงินเป็นค่าการศึกษาของตนเองเกิน 1 ล้านบาทอย่างแน่ๆ แล้วไม่รู้ว่าจบออกมาแล้วจะได้งานทำในแบบที่ตัวเองต้องการหรือไม่ด้วย ซึ่งมันเป็นเรื่องประหลาดที่สุดของประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างไทยๆ เรา เพราะขนาดประเทศที่เจริญแล้วอย่างอังกฤษ อเมริกา หรือหลายๆประเทศในยุโรป นั้นรัฐบาลของประเทศเหล่านั้นเขาส่งเสริมเรื่องระบบการศึกษาของประชากรอย่างเต็มที่ และยังพยายามลดต้นทุนทางการศึกษาให้กับประชากรของเขาอย่างเต็มที่ ประเทศเหล่านั้นไม่มีระบบโรงเรียนกวดวิชาแบบบ้านเราที่ผู้ปกครองจะต้องส่งลูกหลานไปเรียนเพิ่มเติมให้เสียเงินทองมากมาย ในขณะที่มหาวิทยาลัยชั้นนำของบ้านเขาเปิดโอกาสให้ประชาชนหรือผู้ที่สนใจทั่วไปสามารถเข้าไปศึกษาหาความรู้ได้ฟรีผ่านทางอินเตอร์เน็ต โดยไม่ปิดกั้น และไม่จำเป็นต้องเสียเงินลงทะเบียนเป็นนักศึกษาในระบบด้วย คือเขาเปิดโอกาสทางการศึกษาอย่างเต็มที่ ยิ่งกว่ามหาวิทยาลัยเปิดของบ้านเราเสียอีก การที่ประเทศที่เจริญแล้ว เขาเปิดโอกาสทางการศึกษาทุกรูปแบบให้กับประชาชนของเขา ในทุกโอกาส สถานที่ และเวลา เช่นมีห้องสมุดประชาชนดีๆ มีเครือข่ายอินเตอร์เน็ตสาธารณะดีๆ มีระบบการให้ทุนการศึกษาแบบให้เปล่าในรูปองค์กร มูลนิธิ สถาบันทางการกุศลต่างๆ มากมาย มีวิทยาลัย มหาวิทยาลัยของทั้งภาครัฐ และเอกชน ที่รับสมัครนักศึกษาเข้าไปเรียนได้อย่างอิสระโดยไม่ต้องผ่านการสอบวัดผลอย่างเคร่งครัดแบบบ้านเรา ทำให้ประชาชนของประเทศที่เจริญแล้วเข้าถึงระบบการศึกษาได้อย่างกว้างขวาง ทำให้การศึกษาไม่ใช่เป็นเรื่องไกลตัว ค่านิยมการศึกษาแบบตลอดชีวิตเกิดขึ้นในประเทศที่เจริญแล้วมากกว่าของไทย การศึกษาของบ้านเรากับการพัฒนาหรือกระจายรายได้ทางเศรษฐกิจเกือบจะเป็นทิศทางเดียวกันเลย ก็คือคนมีตังค์มีฐานะเข้าถึงการศึกษาที่ดีได้มากกว่าคนมีฐานะยากจน คนจนก็จะเข้าถึงระบบการศึกษาดีๆ ได้ยากมาก ผิดกับประเทศอินเดีย จีน ที่คนฐานะยากจนในประเทศของเขาสามารถเข้าถึงระบบการศึกษาที่ดีได้ เพราะรัฐบาลของเขาสนับสนุนอย่างเต็มที่ กระทรวงการศึกษาของบ้านเขาทำงานได้ดี มีวิสัยทัศน์ที่จะสร้างชาติ สร้างคนอย่างเต็มที่ ไม่ใช่มีความคิดได้เพียงแค่จะซื้อแท็บเล็ตมาแจกเด็ก แถมยังแจกได้ไม่ทั่วถึงอีกด้วย ไม่ว่าปัญหาของระบบการศึกษาของไทยจะเกิดขึ้นจากสาเหตุใดก็ตาม อาทิ เช่น เกิดจากปริมาณและคุณภาพของครู ,เกิดจากมาตรฐานการเรียนการสอนของระบบโรงเรียนที่ไม่เท่าเทียมกัน ระบบโรงเรียนดีๆ อาจารย์เก่งๆ กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ หรือโรงเรียนสาธิตไม่กี่แห่ง ,ระบบค่าตอบแทนของวิชาชีพครู อาจารย์ในระบบไม่เพียงพอ หรือต่ำไป ทำให้ต้องไปเสริมอาชีพ รายได้กันทางธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาแทน ซึ่งไปทำให้เกิดการสร้างค่านิยมเรื่องเรียนกวดวิชาทำให้ได้ทริก เคล็ดลับในการสอบติดมากกว่าเด็กที่ไม่ได้เรียนกวดวิชา ,เป้าหมายของการพัฒนาประเทศไม่ชัดเจน ทำให้เด็กที่จะเข้ามาเรียนในโรงเรียน หรือโรงเรียนที่จะผลิตเด็กออกไป ต่างคนต่างไม่รู้ความต้องการของตลาดแรงงานที่ชัดเจน ทำให้การเรียนการสอนนั้นสูญเปล่า เพราะตลาดแรงงานต้องการคนที่มีความพร้อมใช้งาน คือเชี่ยวชาญในสาขาวิชาเฉพาะจริงๆ และต้องมีประสบการณ์ร่วมกับองค์กรธุรกิจ ที่จะพร้อมออกไปทำงานได้เลย ทำให้ประเทศเราผลิตคนออกไปตอบสนองตลาดแรงงานได้น้อยเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งอย่าง สิงคโปร์ มาเลเซีย หรือจีน ผู้ที่เกี่ยวข้องกับระบบการศึกษาของไทย ถึงเวลาแล้วที่พวกท่านจะต้องนำข้อมูลทั้งหมดเอาไปประมวลและคิดทบทวน แล้วก็วางรากฐานการศึกษาของไทยเสียใหม่ ก่อนที่ประเทศไทยจะสูญเสียโอกาสทางการแข่งขัน ด้านแรงงานให้กับประเทศคู่แข่งในเอเซียด้วยกัน เมื่อตลาด AEC กำลังจะมาในปี 2558 นี้แล้ว

กรณีมาตรฐานของครู ทั้งด้านปริมาณและคุณภาพของครูไทย

เมื่อเทียบกับกระบวนการผลิตครูในประเทศอังกฤษ ผู้ที่จะสอบเป็นครูได้ต้องศึกษาในสาขาที่สนใจจนจบระดับปริญญาตรี หลังจากนั้นต้องเรียนหลักสูตรครูที่เรียกว่า Post Graduate Certificate of Education หรือ PGCE ในมหาวิทยาลัยอีก 1 ปี เหมือนประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู หรือ ป.บัณฑิตของไทย แต่ยังไม่สามารถประกอบวิชาชีพครูได้ เพราะเป็นเพียง Newly Qualified Teacher ต้องฝึกสอนอีก 1 ปี จนได้ใบอนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการของอังกฤษ ที่เรียกว่า Qualified Teacher Status หรือ QTS ความเข้มข้นในการผลิตครู ที่เน้นหนักด้านเนื้อหาสาขาวิชาอย่างเชี่ยวชาญ ก่อนที่บัณฑิตคนนั้นจะตัดสินใจเข้าสู่เส้นทางวิชาชีพครู ระบบการฝึกสอนที่มุ่งฝึกฝนเรื่องการสอน ทั้งภาคทฤษฏี และภาคปฏิบัติแบบรายตัว ไม่เว้นแม้กระทั่ง เทคนิคการกวาดสายตา เพื่อดึงความสนใจของเด็กแต่ละคน ในขณะที่คณะครุศาสตร์ของไทยเน้นการศึกษาวิธีการเป็นครู การออกข้อสอบ การพูด การสอน แล้วไปเลือก เอก โท ในสาขาวิชาต่างๆ ซึ่งกลับกันกับระบบของอังกฤษ ที่สำคัญอาชีพ “ครู” เป็นอันดับท้ายๆ ในแง่ความนิยมของนักศึกษาไทย หรือเลือกเรียนเผื่อพลาดจากคณะยอดฮิต ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ วิศวะ สถาปัตย์ สื่อสารมวลชน แม้กระทั่งนิติศาสตร์ ด้วยเหตุผลในแง่รายได้ โอกาสทางด้านอาชีพการงานและชื่อเสียง ปัญหาข้อนี้ กระทรวงศึกษาธิการรู้เห็นปัญหาและเป็นที่มาของโครงการผลิต “ตรูพันธุ์ใหม่” เพื่อปฏิรูปครูตามกรอบการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 เริ่มตั้งแต่ปี 2553-2562 โดยตั้งเป้าผลิตครูพันธุ์ใหม่จำนวนทั้งสิ้น 30,000 คน จำแนกเป็นครูการศึกษาขั้นพื้นฐาน 27,000 คน และครูอาชีวศึกษา 3,000 คน ถ้าจำแนกตามหลักสูตรจะประกอบด้วยหลักสูตรครู 5 ปี จำนวน 17,500 คน โดยรับผู้เข้าร่วมโครงการที่สำเร้จชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 13,500 คน และผู้กำลังศึกษาชั้นปีที่ 4 ในระดับอุดมศึกษาอีก 4,000 คน ส่วนหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู (หลักสูตร 1 ปี) จำนวน 12,500 คน รับผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีทุกสาขาวิชา เข้าศึกษาในสถาบันที่ได้รับการรับรองมาตรฐานหลักสูตรและมาตรฐานการผลิตประกาศนียบัตรวิชาชีพครู หรือ ป.บัณฑิต ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับระบบของอังกฤษ หากเป็นไปตามแผน กระทรวงศึกษาธิการวาดความฝันไว้ว่า จะสร้างสรรค์ครูที่มีอุดมการณ์และมีความรู้ทางวิชาการที่เหมาะสมกับการสอนในโรงเรียนแต่ละระดับแตกต่างกันและใช้เวลาการผลิตที่รวดเร็วขึ้น อันนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของแผนการพัฒนาครูในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ทีอยู่ในการดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ

ในขณะที่บรรดาคณาจารย์ในระดับอุดมศึกษาของไทย นั้นสิ่งที่พบเจอก็คือ ในแง่ปริมาณนั้นมักไม่ค่อยเป็นปัญหามากนัก เพราะสถาบันอุดมศึกษาของไทยนั้น ส่วนหนึ่งที่ออกนอกระบบไปแล้วนั้น เขาแก้ปัญหาด้วยการจ้างผู้เชียวชาญที่อยู่ในภาคเอกชนมาเป็นครูหรืออาจารย์พิเศษในบางรายวิชาที่ขาดแคลนอาจารย์ที่เชียวชาญในบางสาขาวิชำได้ โดยต้นทุนค่าจ้างนั้นเขาสามารถผลักไปยังผู้เรียนได้ แต่ในด้านคุณภาพนั้นพบว่ามีปัญหาอยู่มากในแทบทุกมหาวิทยาลัยของรัฐ เหตุเพราะว่าบรรดาคณาจารจย์หลายท่านนั้นรายได้ไม่เพียงพอ บางท่านต้องวิ่งรอกสอนหลายที่ หลายมหาวิทยาลัย ทำให้เวลาที่จะทุ่มเทให้กับนิสิตนักศึกษานั้นเป็นเรื่องรองไป และบางท่านนั้นกินตำแหน่งด้านบริหารด้วย ทำให้เวลาถูกแบ่งไป บางท่านนั้นก็ต้องทำงานด้านวิชาการด้วย คือทำงานวิจัยเพื่อที่จะสอบเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง เป็น ผศ รศ หรือ ศาสตราจารย์ ทำให้เกิดปัญหาทางด้านคุณภาพการสอนในระบบมหาวิทยาลัยของไทย คือหาความเป็นเลิศด้านวิชาการไม่มี ไหนจะต้องวิ่งรอกสอน ไหนจะต้องทำงานด้านวิจัย ไหนจะต้องเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ ไหนจะต้องเอาเวลาไปบริหารงานเป็นคณบดี รองคณบดีอะไรอีก ผู้เขียนเห็นว่าควรแยกคณาจารย์ที่ทำงานสายบริหาร ออกจากสายการสอน ไปเลย คนไหนทำงานบริหารก็บริหารไปเลยอย่างเดียว อาจจะทำงานด้านวิจัยควบคู่กันไปด้วยได้เพราะมีเวลามากพอ ไม่ควรมีสอนควบคู่ ส่วนพวกที่ทำงานด้านการสอนอย่างเดียว ควรทุ่มเทให้กับงานสอนอย่างจริงจังเพื่อผลเลิศด้านวิชาการไปเลย  และถ้าเก่งจะทำงานด้านวิจัยควบคุ่กันไปด้วยก็ได้ และถ้าท่านจะวิ่งรอกการสอนหลายที่แล้ว ควรทิ้งเรื่องการทำงานด้านวิจัยทิ้งไปเสีย จะจับปลาสองมือ ทำให้ผลเสียตกไปสู่เด็กก็คือบรรดาลูกศิษย์ลูกหา นิสิตนักศึกษาที่จะไม่ได้รับคุณภาพการเรียนการสอนจากท่านเท่าที่ควร บ่อยครั้งก็สั่งแต่รายงานให้ไปทำมา แต่คุณค่าการเรียนการสอนในห้องเรียนแทบไม่มีเลย รวมถึงระบบการแลกเปลี่ยน ความรู้ ทัศนคติ แชร์ประสบการณ์ในห้องเรียน หรือความรัก ความเอาใจใส่ในคลาสเรียนไม่มีเลย กลายเป็นระบบธุรกิจล้วนๆ ที่อาจารย์มีหน้าที่มาป้อนข้อมูล ความรู้ให้กับนักศึกษาเท่านั้น ขาดวิญญาณความเป็นครูไปเลย (เฉพาะบางท่านเท่านั้นที่ผู้เขียนเคยได้พบประสบกับตัวเองมา)


กรณีค่านิยมสอบเข้าโรงเรียนดัง มีชื่อเสียง (เช่น โรงเรียนสาธิต โรงเรียนเตรียมอุดม)

เหตุผล บ้างก็ว่าเป็นการวางแผนระยะยาว ถ้าเข้าโรงเรียนสาธิตได้ถือว่าขาข้างหนึ่งเข้าไปอยุ่ในมหาวิทยาลัยได้แล้ว บางคนมองว่า เมื่อลูกได้เรียนในโรงเรียนดังๆ มีศิษย์เก่าชื่อดังมากมาย ตั้งแต่ระดับนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ข้าราชการ หมอ นักธุรกิจ สามารถสร้างสัมพันธ์ต่อยอดทางธุรกิจ ถือเป็นการลงทุนเพื่อซื้อสังคมให้ลูกได้ร่วมรุ่นกับลูกคนดัง บุคคลในสังคมชั้นสูง มีฐานะทางการเงิน มีน้อยคนที่พูดถึงความเป็นโรงเรียนสาธิตในฐานะสถาบันฝึกหัดครูของชาติ ซึ่งเป็นจุดประสงค์หลักของการจัดตั้งโรงเรียนสาธิตแห่งแรกของไทย ตามดำริของ ศาตราจารย์ ม.ล.ปิ่น มาลากุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น เพื่อวางแผนโครงการจัดการเรียนการสอนเป็นเหน่วยสาธิตในแผนกฝึกหัดครูมัธยมของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ต้องยอมรับว่า โรงเรียน มศว.ปทุมวัน เป็นต้นแบบที่สร้างความตื่นเต้นให้วงการศึกษาไทยในยุคสมัยนั้น กลายเป็นแหล่งผลิตหลักสูตรใหม่ๆ และครูชั้นเยี่ยมของประเทศ ดึงดูดให้เหล่าเจ้าขุนมูลนาย ข้าราชการ และชนชั้นกลางส่งลูกหลานเข้ามาศึกษาในโรงเรียนแห่งนี้เป็นจำนวนมาก มหาวิ่ทยาลัยอื่นๆ จึงเริ่มเปิดโรงเรียนสาธิต รวมถึงสถาบันราชภัฏ หรือวิทยาลัยครูในอดีตกันตามมา โดยวิทยาลัยครูพระนครนำร่องมาก่อน มีการโอนโรงเรียนวัดพระศรีมหาธาตุ สังกัดกรมวิสามัญศึกษา เข้ามาสังกัดกรมการฝึกหัดครู ใช้ชื่อว่า โรงเรียนวัดพระศรีมหาธาตุ แผนกสาธิตวิทยาลัยครูพระนคร เมื่อปี 2513 ก่อนจะเปลี่ยนมาใช้ชื่อว่า โรงเรียนมัธยมสาธิตวัดพระศรีมหาธาตุ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร จนถึงปัจจุบันมีโรงเรียนที่ใช้ชื่อ “สาธิต” จำนวนมาก กลุ่มโรงเรียนสาธิตที่สังกัดมหาวิทยาลัยของรัฐมีทั้งหมด 16 แห่ง สังกัดมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ 23 แห่ง โรงเรียนสาธิตของเทศบาลวัดเพชรจริกอีก 1 แห่ง และโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งเป็นโรงเรียนสาธิตที่สังกัดมหาวิทยาลัยเอกชนเป็นแห่งแรก อย่างไรก็ตาม กระแส “สาธิตฟีเวอร์” ก่อตัวขึ้นอย่างรุนแรงและยาวนาน เฉพาะโรงเรียนสาธิตไม่กี่แห่ง การสอบมีอัตราการแข่งขันสูง ในอัตรา 1 ต่อ 300 คน บางโรงเรียนสูงถึง 1 ต่อ 1,000 คน โดยแบ่งออกเป็น 2 ช่วงการแข่งขัน ช่วงแรก การสอบเข้าชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 หรือ ป.1 กลุ่มโรงเรียนท็อปทรี ได้แก่ โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ,โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และโรงเรียนสาธิต มศว.ประสานมิตร ส่วนช่วงที่ 2 การสอบเข้าชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 หรือ ม.1 ได้แก่ โรงเรียนสาธิต มศว.ปทุมวัน , สาธิต มศว.ประสานมิตร และสาธิตรามคำแหง ตามลำดับ พอถึงฤดูกาลการสอบแข่งขันจึงมักมีเสียงเล่าลือเกี่ยวกับเงินใต้โต๊ะ,ค่าแป๊ะเจี๊ยะ เงินบริจาค และการวิ่งเต้น ในกลุ่มผู้บริหาร ใช้เส้นสายนักการเมือง รัฐมนตรี ต่อสายถึงคณบดี ผู้อำนวยการและอาจารย์ แต่ใช่บ้าง ไม่ใช่บ้าง ยังไม่มีใครกล้าพูดอย่างเต็มปาก แท้ที่จริงแล้ว เงื่อนไขการสมัครสอบโรงเรียนในกลุ่มสาธิตเป็นที่รู้จักกันในกลุ่มผู้ปกครอง คือ นอกจากการสมัครสอบตามปกติแล้วยังมีการสมัครผ่านโครงการสวัสดิการ การศึกษาสงเคราะห์ ซึ่งเป็นโครงการที่เปิดไว้ให้ลูกหลานบุคลากรของมหาวิทยาลัย เช่น สาธิตจุฬาฯ มีโควต้า 150 คน แต่มีลูกหลานบุคลากรสมัครไม่เต็ม ผู้บริหารโรงเรียนจึงเปิดโอกาสให้คนอื่นๆ และถือเป็นการใช้สิทธื้ของบุคคลภายนอก พ่อแม่ผู้ปกครองที่ใช้สิทธิ์สวัสดิการส่วนนี้ตามเงื่อนไขต้องจ่ายเงินค่าสิทธิ์สวัสดิการเพิ่มจากค่าเล่าเรียนอีกคนละ 50,000 บาทต่อปี กว่าที่จะได้ที่นั่งในโครงการสวัสดิการนี่แหละ คือ ตัวปัญหาที่ถูกตั้งข้อครหากันไม่จบ เพราะมีเกณฑ์กำหนดให้ผู้ปกครองทำความดีสะสมอย่างน้อย 2 ปี เพื่อนำเสนอคณะกรรมการโรงเรียน “ความดี” ที่ว่ามีหลายรูปแบบ ทั้งในแง่แรงกาย ในแง่สมอง และในแง่ปัจจัย เช่น เป็นผู้ปกครองอาสาสมัครทำโครงการต่างๆ คิดค้นหรือออกแรงจัดเตรียมงานต่างๆ หรือให้ทุนนิสิตคณะต่างๆ แน่นอนว่า มีผู้ปกครองต่อคิวขอสิทธิ์เกินกว่าจำนวนที่นั่งที่เหลือจากบุคลากรจุฬาฯ ทุกปีและมีผู้พลาดโอกาส ซึ่งต้องไปลุ้นผลการสอบที่จัดพร้อมกันทั้งหมด อดีตอาจารย์โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ คนหนึ่งกล่าวว่า โครงการนี้เป็นลักษณะปากต่อปาก ผู้ปกครองต้องทำความดีสะสมล่วงหน้าถึง 2 ปี คนที่ไม่รู้ไม่มีทาง แม้ทุ่มเงินถึงสิบล้านบาทหรือยกที่ดินให้โรงเรียนก็ไม่มีทางได้ ขณะเดียวกันโครงการนี้อาจไม่เปิดในบางปี ถ้ามีลูกหลานบุคลากรจุฬาฯ ใช้โควต้าเต็ม เด็กทุกคนก็ต้องสอบทั้งหมด

อาคารวรรณสรณ์ ศูนย์รวมโรงเรียนกวดวิชาที่ใหญ่ที่สุด มี 18 ชั้น อยู่บริเวณ ถ.พญาไท ตึก (ธ.ทหารไทยเก่า)


กรณีโรงเรียนกวดวิชา หอกข้างแคร่การศึกษา หรือ โรงบ่มวิชาหัวกะทิของประเทศ

การเติบโตอย่างรวดเร็วและก้าวกระโดดของธุรกิจโรงเรียนกวดวิชา ประเมินตัวเลขเงินสะพัดล่าสุดไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท มีโรงเรียนกวดวิชาที่จดทะเบียนมากถึง 6,000 แห่ง แบรนด์หลักๆ เกือบ 50 แบรนด์ ไม่นับรวมกลุ่มติวเตอร์สอนตามบ้านหรือจัดกลุ่มติวตามร้านฟาสต์ฟู้ด หลายธุรกิจเข้ามาเกาะกระแสต่อยอดหารายได้ มีทั้งบริการรถตู้โดยสาร หอพัก ร้านอาหาร เครื่องดื่ม ศักยภาพด้านธุรกิจยิ่งสะท้อนให้เห็นชัดเจนจากการเข้ามาลงทุนของกลุ่มอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ที่ทุ่มงบประมูลซื้อตึกธนาคารทหารไทยเก่ามารีโนเวตใหม่ เพื่อรองรับกลุ่มโรงเรียนกวดวิชา หลังจากอนุสรณ์ ศิวะกุล นายกสมาคมผู้บริหารและครูโรงเรียนกวดวิชา เจ้าของโรงเรียนกวดวิชาชือดัง “เคมี อ.อุ๊” ลงเงินเกือบพันล้านผุดอาคารวรรณสรณ์ ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนจากเถ้าแก่โรงเรียนกวดวิชาสู่นักธุรกิจเจ้าของโครงการ “เอ็ดดูเคชั่นคอมเพล็กซ์” เต็มรูปแบบ หากมองเส้นทางธุรกิจโรงเรียนกวดวิชา 40 กว่าปี แม้ย้ายทำเลและปรับรูปแบบมาเรื่อย แต่ถือเป็นธุรกิจที่ไม่มีวันตาย จากยุคแรกๆ มักเป็นการใช้โรงเรียนเป็นสถานที่กวดวิชา เนื่องจากการเปิดโรงเรียนกวดวิชาต้องขอใบอนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการซึ่งยังไม่ใช่เรื่องง่าย หรืออาจเสี่ยงไปใช้ใบอนุญาตโรงเรียนสอนพิมพ์ดีดและพ่วงสอนพิเศษด้วย เวลานั้นเริ่มมีตลาดกวดวิชาเกิดขึ้นแถวมหาวิทยาลัยมหิดล เช่น โรงเรียนพันธะศึกษา แต่ยังไม่มีการรวมตัวเป็นสถาบัน จนกระทั่งมีนายทุนคนหนึ่งเห็นโอกาสเชิงธุรกิจ เขาดึงอาจารย์จากมหาวิทยาลัยและโรงเรียนชื่อดังมารวมกลุ่มตั้งสถาบันกวดวิชา “เป๊ป” อยุ่ย่านอนุสาวรีย์ชัยฯ โดยเปิดคอร์สการเรียนพิเศษหลากหลายวิชาแบบครบวงจร “เป๊ป” ดังมากและประสบความสำเร็จ แต่ผ่านไประยะหนึ่งประกอบกับรัฐบาลในสมัยอานันท์ ปันยารชุน มีนโยบายเปิดเสรีธุรกิจโรงเรียนและต้องการแก้ปัญหาพวกปล่อยเช่าใบอนุญาตที่ปั่นราคาสูงถึงใบละ 5 แสนบาท จึงประกาศแจกใบอนุญาตโรงเรียนกวดวิชา อาจารย์กลุ่มนี้จึงเริ่มเห็นช่องทางทำธุรกิจ ผันตัวเองจากการเป็นมือปืนรับจ้างมาเป็นเจ้าของธุรกิจเสียเอง เกิดติวเตอร์แบรนด์ใหม่ๆ สอนเฉพาะวิชา โรงเรียนกวดวิชาจึงผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด มีทั้งเช่าห้องแถว และเช่าพื้นที่ในอาคาร อย่าง เดอะเบรน อาจารย์ช้าง อาจารย์เจี๋ย ช่วงนั้นแหล่งใหญ่อยู่ที่สยามสแควร์ ซึงบูมมาก และสามารถสร้างรายได้ให้กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะเจ้าของที่ดิน แต่ภายหลังเกิดปัญหาสัมปทานและการขึ้นค่าเช่าสูงมากเกือบ 600% ตกตารางเมตรละ 160,000-200,000 บาท ติวเตอร์หลายรายเริ่มหาที่ทางใหม่ ซึ่งรวมถึง “เคมี อ.อุ๊” ของอนุสรณ์ด้วย จุดเริ่มต้นของอนุสรณ์และอาจารย์อุ๊ หรือ อ.อุไรวรรณ ศิวะกุล มาจากการเป็นครูในโรงเรียนทับหลีสุริยวงศ์ โรงเรียนสตรีเศรษฐบุตรบำเพ็ญ ทั้งคู่มาพบกันที่โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย แต่สุดท้ายทั้ง 2 ท่านตัดสินใจทิ้งอาชีพข้าราชการครู มาทำธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาแทน

อาจารย์อุ๊ สอนเคมี ที่โด่งดังที่สุดแห่งยุค

ประเด็นสำคัญที่ อนุสรณ์ย้ำก็คือการศึกษาของไทย ไม่ได้ผลิตครูที่มีคุณภาพ โรงเรียนไม่สามารถมีครูผู้สอนที่มีคุณภาพ ไม่สามารถบริหารจัดการคุณภาพได้เลย ถ้าทุกโรงเรียนมีครูที่มีคุณภาพ ซึ่งสะท้อนถึงการมีผู้บริหารที่ดีด้วย ในอดีตผู้บริหารที่ดีมาจากครูที่ดี แต่ทุกวันนี้ทั้งระบบทำให้ครูมีปัญหา พอครูมีปัญหา โรงเรียนก็มีมาตรฐานต่างกัน ถ้าโรงเรียนมีคุณภาพเท่ากันหมด เด็กคงไม่ต้องมาแย่งกันเข้าไม่กี่โรงเรียน ทั้งที่ผู้ปกครองทุกคนไม่อยากให้ลูกไปเรียนไกลบ้าน แต่โรงเรียนใกล้บ้านไม่มีคุณภาพ และกลายเป็นที่รวมของเด็กที่ไม่มีคุณภาพ เกิดปัญหาในชุมชน มีเรื่องชกต่อย ตีรันฟันแทง ทะเลาะวิวาทกัน หากเปรียบเทียบครูกับติวเตอร์ พบว่าติวเตอร์รุ่นใหม่ๆ ชื่อดังๆ 80-90% คือใคร ไม่ได้เป็นครู แต่เป็นกลุ่มนักศึกษาจบปริญญาตรี โท สาขาแพทย์ วิศวะ คณิตศาสตร์ระดับเหรียญทองโอลิมปิก เนื่องจากการเรียนการสอนนอกระบบอย่างโรงเรียนกวดวิชา ไม่ได้บังคับครูผู้สอนต้องมีใบประกอบวิชาชีพครู แต่ติวเตอร์พวกนี้มีความรู้เชิงลึกในแต่ละสาขาอย่างแท้จริงและถ่ายทอดได้ดี (ไม่อยากจะบอกว่าบางคนเก่งกว่าครูในระบบเสียอีก ยกตัวอย่าง ครูลิลลี่ ที่สอนภาษาไทยได้รู้เรื่องเข้าใจง่ายจริงๆ ) หัวใจสำคัญของเรื่องนี้ (ปฏิรูปการศึกษา) จึงอยู่ที่ “ครู” และครูที่เก่งมีคุณภาพ ไม่จำเป็นต้องออกมาเปิดโรงเรียนกวดวิชากันหมดหรอก ถ้ารัฐเปิดพื้นที่และให้โอกาสพวกเขามากกว่านี้ (รวมถึงให้สตางค์มากๆด้วย อันนี้ผู้เขียนคิดเอง)

ผู้เขียนคิดว่าสิ่งที่สำคัญทีสุดของการปฏิรูประบบการศึกษาของไทยก็คือ การปฏิรูปแม่พิมพ์ของชาติเสียก่อน คือปฏิรุปครู อาจารย์ ให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐานและปรับทัศนคติ จิตวิญญาณความเป็นครูเสียใหม่ จากนั้นจึงพัฒนาที่ตัวหลักสูตรการเรียนการสอน กระบวนทัศน์ใหม่ๆ ของการเรียนการสอน วิธีคิดในการเรียนการสอนของครูอาจารย์ กับลูกศิษย์ ที่จะต้องสอดคล้องต้องกัน เป็นที่ยอมรับด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย มีการแยกแยะองค์ความรู้เชี่ยวชาญเฉพาะ เป็นโรงเรียนพิเศษเฉพาะสาขาไปเลย อย่างเช่น ที่ ม.มหิดล มีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ เป็นต้น จากนั้นจึงคัดกรองเด็ก คัดสรรเด็กที่มีความต้องการ เรียนรู้เฉพาะด้าน ให้มีที่ทาง หรือโอกาสในการเข้าเรียน จากนั้นจึงจะหาเกณฑ์มาวัดผล หรือประเมินผล วัดความเป็นเลิศด้านวิชาการ แต่ระบบที่เป็นอยู่นั้นจะเรียกว่า เหวี่ยงแหได้หรือเปล่าก็ไม่ทราบ เพราะเกณฑ์การวัดผลแบบเกณฑ์เดียวกันทั่วทั้งประเทศ คนที่ผ่านเกณพ์ก็จะเป็นพวกหัวกะทิไปเลย แต่พวกที่ไม่ผ่านเกณฑ์นั้น ไม่ใช่ไม่เก่ง และเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งน่าจะต้องมาวิเคราะห์กันว่า สิ่งที่เด็กขาดไปคืออะไร และเสริมตรงส่วนนั้น การสร้างคนไม่ใช่เหมือนการสร้างสินค้า อันไหนไม่ผ่าน Q.C. ก็จับโยนลงถังขยะหรือไลน์การผลิตไปเลย มันไม่ใช่นะครับ สิ่งที่ต้องนำมาทบทวนก็คือ ตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ของวัตถุดิบ แหล่งซื้อ เครื่องจักร สายพานการผลิต ระบบคอมพิวเตอร์ ระบบกระแสไฟ หรืออะไรต่างๆ ว่ามีส่วนใดที่มันเดินผิดพลาด หรือคลาดเคลื่อน แม้เพียงเล็กน้อย มันก็ยังผลให้ผลผลิตออกมาไม่ได้มาตรฐานแล้ว ได้แต่หวังว่าผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง หรือผู้มีส่วนรับผิดชอบจะมีมันสมอง และวิสัยทัศน์ที่เท่าทันกับเด็กสมัยนี้ และเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก และประเทศเพื่อนบ้านบ้างนะครับ ดูๆ รอบบ้านเราเป็นตัวอย่างก็ได้ และนำมาพัฒนาหรือปรับปรุงบ้านเราให้ดีขึ้นได้บ้าง 

หมายเหตุ : ถอดความบางส่วนจากบทความ RECONSTRUCTURING การศึกษาไทย, นิตยสารผู้จัดการ 360 องศารายเดือน ปีที่ 4 ฉบับที่ 38 เดือนมกราคม 2555


ข่าวการศึกษา - สพฐ.ไม่ฟันธง คะแนน O-Net ต่ำลง สะท้อน นร.ไร้คุณภาพ ชี้ เด็กอาจไม่ตั้งใจสอบ เพราะไม่ได้เอาผลคะแนนไปใช้ เหตุมหา’ลัยนิยมรับตรง พร้อมมอบสำนักมัธยมปลายวิเคราะห์หาสาเหตุ

กรณีสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ประกาศผลทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือ O-Net ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ประจำปีการศึกษา 2554 ซึ่งพบว่า คะแนนเฉลี่ยในปีนี้ลดลงอีกใน 5 วิชา จากทั้งหมด 8 กลุ่มวิชา ได้แก่ ภาษาไทย สังคมศึกษา วิทยาศาสตร์ สุขศึกษาและพลศึกษา และศิลปะ ส่วนวิชาที่คะแนนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากปีการศึกษา 2553 ได้แก่ การงานอาชีพและเทคโนโลยี ภาษาอังกฤษ และคณิตศาสตร์ เฉลี่ย 14.99 คะแนน นั้น

วันนี้ (26 มี.ค.) นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า ได้มอบให้สำนักบริหารงานการมัธยมศึกษาตอนปลาย ของ สพฐ.ไปวิเคราะห์ผลคะแนน O-Net ระดับชั้น ม.6 ปีการศึกษา 2554 หาสาเหตุว่า ทำไมคะแนน O-Net ใน 5 วิชาหลัก จึงลดลง อย่างไรก็ตาม คะแนน O-Net ในวิชาคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษดีขึ้น ส่วนตัวนั้นยังไม่ได้เห็นผลคะแนนอย่างเป็นทางการ เพราะติดราชการไปจังหวัดปัตตานี

ทั้งนี้ ตนไม่ได้ปฏิเสธผลคะแนน O-Net ดังกล่าว เพียงแต่อยากให้ข้อสังเกตุว่า การสอบ O-Net ระดับชั้น ม.6 นั้น ยังปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้แทรกซ้อนเข้ามาได้ ซึ่งอาจมีผลทำให้ผลคะแนน O-Net ออกมาต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเด็นเรื่องการรับตรง ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่มีโควตารับตรงจำนวนมาก บางแห่งก็ไม่ได้ใช้คะแนน O-Net ตรงนี้อาจทำให้นักเรียนบางส่วนไม่ตั้งใจทำข้อสอบ เพราะไม่ได้หวังนำคะแนน O-Net ไปใช้ประโยชน์ ต่างจากการสอบ O-Net ระดับชั้น ป.6 และ ม.3 ซึ่ง สพฐ.สามารถควบคุมปัจจัยแวดล้อมได้ดีกว่า อีกทั้งยังมีการนำผลคะแนน O-Net ไปใช้ในการสอบเข้าเรียนต่อระดับมัธยมศึกษา จึงทำให้นักเรียนตั้งใจทำข้อสอบ ขณะเดียวกัน ผลคะแนน O-Net ของนักเรียนก็มีผลต่อการพิจารณาความดีความชอบของครูผู้สอนและผู้บริหารสถานศึกษาด้วย

อนึ่ง สำหรับคะแนน O-Net ชั้น ม.6 ประจำปี 2553 ใน 8 วิชา มีค่าเฉลี่ยดังนี้ ภาษาไทย เฉลี่ย 41.88 คะแนน สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม เฉลี่ย 33.39 คะแนน ภาษาอังกฤษ เฉลี่ย 21.80 คะแนน คณิตศาสตร์ เฉลี่ย 22.73 คะแนน วิทยาศาสตร์ เฉลี่ย 27.90 คะแนน สุขศึกษาและพลศึกษา เฉลี่ย 54.61 คะแนน ศิลปะ เฉลี่ย 28.54 คะแนน การงานอาชีพและเทคโนโลยี เฉลี่ย 48.72 คะแนน








ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น