(ไม่ใช่หนังเก็บสบู่ หรือหนังบู๊ในห้องน้ำ)
จำได้ว่าเคยได้ชมหนังเรื่องนี้ครั้งแรกทางเคเบิ้ลทีวี ตอนดูรอบแรกนั้นสนุกมาก แต่ยังไม่เข้าใจเนื้อเรื่องหรือเรื่องราว ประเด็นที่เข้าต้องการนำเสนอ แต่เป็นหนังที่มีการเล่าเรื่องได้สนุก และหักมุมตอนจบที่สร้างความตื่นตะลึง และประทับใจมาก จนต้องหา DVD มาชมซ้ำอีกหลายรอบ เป็นหนังของเดวิด ฟินเชอร์ ผู้กำกับคนเก่งอีกคนของวงการฮอลลีวู้ด ที่ถนัดสร้างหนังแนว dark movie (หม่นเศร้า,ฆาตกรรม) ได้ดี แกจะมีวิธีการเล่าเรื่องที่ชวนให้เราติดตามไปได้ตลอด ไม่มีเบื่อเลย และพล็อตเรื่องในแต่ละเรื่องที่แกสร้างนั้น จะคล้ายๆ กันก็คือ การตีแผ่ด้านมืดในจิตใจคนนั่นเอง ดูๆ ไปแล้วผู้เขียนเอง สงสัยจะเป็นแฟนคลับของแกไปโดยไม่รู้ตัว เพราะชื่นชอบเกือบทุกเรื่องที่แกกำกับ คล้ายๆ ที่ชื่นชอบผลงานของผู้กำกับชาวเอเซียที่ชื่อหว่องกาไว แต่ทั้ง 2 ท่านนั้น ไปกันคนละทางกันเลย แต่ฝีมือนั้นเก๋าทั้งคู่ Fight Club นั้นตั้งชื่อได้ชวนฉงน สงสัยดียิ่งนัก เพราะไม่ได้ช่วยให้สามารถเดาเนื้อหาของเรื่องอะไรได้เลย ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับประเด็นที่ต้องการจะนำเสนออะไรใดๆ ทั้งสิ้น จึงไม่แปลกที่คนดูจะเข้าใจผิด คิดว่าแนวทางของหนังจะไปในแบบหนังแอ็คชั่น แต่แท้ที่จริงแล้วมันไม่ใช่ และยิ่งเมื่อดูหนังจนจบเรื่องแล้ว เรายิ่งเซอร์ไพร้ซ์ในเนื้อหา ประเด็นที่นำเสนอมากกว่าในแบบคาดไม่ถึง จนต้องอุทานว่า “เฮ้ยมันเจ๋งหว่ะ” แต่นั่นเป็นเพียงรอบแรกที่ดูเท่านั้น เพราะการดูรอบต่อๆ มา คงเป็นการดูเพื่อเก็บรายละเอียดในสิ่งที่เราไม่ได้สังเกต หรือตีความไม่ออก หรือมองข้ามไป หนังเรื่องนี้ออกฉายในปี 1999 นำแสดงโดยดาราแม่เหล็กอย่าง แบรด พิตต์ และเอ็ดเวิร์ด นอร์ตัน ซึ่งตอนนั้นกำลังขึ้นหม้อ (กำลังโด่งดังมีผลงาน) มากๆ แต่ทำไม ๆ ตัวหนังไม่ประสบความสำเร็จด้านรายได้เลย ทั้งๆ ที่องค์ประกอบก็ดีหมด ทั้งนักแสดงนำ เนื้อหา ประเด็น ผู้เขียนกำลังตั้งข้อสังเกตว่าเป็นเพราะการตั้งชื่อเรื่องที่ทำให้เข้าใจผิด ไขว้เขวหรือเปล่า ทำให้ผู้ชมคาดหวังว่าจะเป็นหนังในสไตล์แอ็คชั่น บู๊สนั่นจอ แต่กลับเป็นหนังที่คนเข้าไปดูแล้วมึนตึ้บ ไม่รู้เรื่อง กว่าจะรู้เรื่องก็ค่อนไปทางท้ายเรื่องแล้ว และกระแสบอกต่อคงไม่ได้ช่วยอะไรเท่าไร จึงทำให้หนังเรื่องนี้ไม่ประสบความสำเร็จด้านรายได้ แต่กระแสด้านการวิจารณ์นั้นดีใช้ได้เลย อย่างที่ผู้เขียนเองก็ชื่นชอบ
ตัวหนังเล่าเรื่องราว ของแจ็ค (แสดงโดยเอ็ดเวิร์ด นอร์ตัน) ชายหนุ่มคนหนึ่งที่ตกเป็นเหยื่อของสังคมแบบทุนนิยม เห็นคุณค่าของคนจากวัตถุที่เขามี ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์หรู เสื้อผ้าแบรนด์เนม บ้านหลังใหญ่โต ซึ่งก็ดูเหมือนว่าเขาไม่มีความสุขเอาเสียเลย ต่อการใช้ชีวิตวิ่งตามหาเงินทอง ของมีค่า บูชาเงิน แถมยังต้องทนกับความทรมานกับโรคนอนไม่หลับ แต่แล้ววันหนึ่งชีวิตเขาก็เปลี่ยนไป เมื่อเขาได้พบกับ ไทเลอร์ (แสดงโดยแบรดพิตต์) หนุ่มที่แอนตี้สังคม และทุนนิยมอย่างสิ้นเชิง ทั้ง 2 คนได้ชกต่อยกันในคืนแรกที่ได้นั่งดื่มกัน แต่นั่นก็ทำให้แจ็คเริ่มรู้สึกว่า ไทเลอร์ มาทำให้ชีวิตเขามีชีวิตชีวา มีพละกำลังมากขึ้น ทั้งคู่ได้ร่วมกันเปิดสมาคม ไฟต์คลับ ขึ้นมา เป็นชมรมใต้ดิน ที่เป็นสถานที่ชุมนุมของชายหนุ่มที่จะมาชกต่อยกัน เพื่อระบายความเครียด ความกดดันในชีวิต โดยเป็นการชักชวนกันแบบปากต่อปาก รางวัลอะไรก็ไม่มี เป็นเพียงแต่ได้มาสังสรรค์พูดคุยกันเท่านั้น ไทเลอร์นั้นได้ตั้งกฏสำหรับชมรมไฟต์คลับไว้ว่า กฏข้อที่ 1 ห้ามพูดถึงไฟต์คลับ ส่วนกฎข้อที่ 2 ก็ให้กลับไปดูกฏข้อแรกใหม่ สรุปก็คือ ใครก็ตามที่เข้ามาอยุ่ในชมรมนี้แล้ว ห้ามไปพูดต่อ หรือเอาไปเล่าให้ใครคนอื่นฟัง มิฉะนั้นจะถูกขับออกจากชมรม นับวันสมาชิกก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเรื่องราวบานปลายใหญ่โตจนเกินการควบคุม เมื่อมีอยู่วันนึง ทั้งแจ็คและไทเลอร์ก้เข้าไปปล้น และทำลายข้าวของร้านค้า อาคารสำนักงาน ทำให้เกิดความเสียหาย จราจลกันไปทั้งเมือง จนแจ็คถูกจับมาสอบสวน ลงโทษ และเรื่องราวความสัมพันธ์ที่แจ็คได้ไปทำความรู้จักแฟนของไทเลอร์ และแอบมีความสัมพันธ์กัน แต่ทั้งหลายทั้งปวงนั้นเป็นเพียงภาพลวงตา
ข้อความนับจากนี้จะเป็นการสปอยด์เนื้อหาแล้ว ถ้าท่านผู้อ่านยังไม่ได้ดู กรุณาอย่าอ่านย่อหน้านี้ เพราะจะเป็นการเฉลยเนื้อหาทั้งหมดให้ข้ามย่อหน้านี้ไปอ่านย่อหน้าสุดท้ายเลย เพราะทุกอย่าง ทุกเหตุการณ์นั้นเกิดจากจินตนาการของแจ็คเองคนเดียวล้วน ๆ ส่วนไทเลอร์นั้นไม่มีตัวตนอยู่จริง เป็นเพียงร่างทรงองค์ลง ของแจ็คนั่นเอง หรืออีกนัยหนึ่งก็คือแจ็คเป็นคน 2 บุคลิก นั่นเอง คือในยามปกติกลางวันเขามีชีวิตเฉกเช่นมนุษย์เงินเดือน ใช้ชีวิตตามกรอบของสังคมทุนนิยมไปตามเรื่องตามราว มีความเครียด ความกดดันในชีวิตสะสมอยู่ แต่พอกลางคืนก็จะเปลี่ยนไปเป็นคนอีกบุคลิกหนึ่งซึ่งก็คือไทเลอร์ ที่เป็นคนดิบ กร้าน และแอนตี้สังคม ชอบชกต่อย หาเรื่อง ทำลายข้าวของ ส่วนผู้หญิงที่เล่าเรื่องมาว่าเป็นแฟนของไทเลอร์นั้น แท้ที่จริงก็คือแฟนของแจ็คนั่นเอง มีอยู่หลายฉากที่คนดูยังสงสัย แต่พอดูจนจบก็จะเข้าใจได้ ว่าไทเลอร์คือตัวตนในความคิดของแจ็คก็เท่านั้น เช่น ฉากที่แจ็คต่อยตัวเองแล้วทำทีว่าถูกเจ้านายทำร้ายร่างกาย เขาก็พูดว่า “มันทำให้เขารู้สึกว่าเหมือนต่อยกับไทเลอร์ในครั้งแรก” ซึ่งจริงๆ ก็คือการสู้กับตัวเองครั้งแรกนั่นเอง หรือฉากในรถที่แจ็คนั่งอยู่ในที่นั่งข้างคนขับเถียงกับไทเลอร์ที่ขับรถอยู่ แต่พอรถชนกันไทเลอร์กลับดึงแจ็คออกมาจากที่นั่งคนขับแทน รวมไปถึงฉากที่ทั้งคู่ขึ้นรถเมล์แต่แจ็คกลับจ่ายค่าโดยสารเพียงคนเดียว แจ็ครุ้ว่าไทเลอร์คือบุคลิกอีกตัวตนหนึ่งของเขา ซึ่งเป็นด้านมืดในจิตใจของเขา เขาต้องการฆ่าไทเลอร์ให้ตาย นั่นหมายความว่าเขาจำเป็นต้องจบชีวิตตัวเขาเอง
หนังต้องการนำเสนอประเด็นเนื้อหา เกี่ยวกับการค้นหาตัวตนที่แท้จริงและความต้องการของตัวเรา ซึ่งวิธีการที่จะค้นหาตนเองให้เจอนั้นมีหลากหลายวิธี แต่ในเรื่องนี้เขานำเสนอในวิธีการของการต่อสู้ชกต่อย (สัญลักษณ์) ทั้งที่สู้กับความกลัวของตัวเอง การชกต่อยกับคนอื่น ก็คือการต่อสู้กับอุปสรรคที่อยู่ข้างหน้า กับคนอื่น “หากคุณไม่เคยต่อสู้แล้ว คุณจะรู้จักตัวเองได้ดีเพียงใด? “ ส่วนสบู่มาเกี่ยวข้องอะไรกับเรื่องนี้ สบู่เป็นสัญลักษณ์ของชมรมไฟต์คลับ เป็นการประชดประชัน แดกดันทุนนิยม ประมาณว่า สบู่คือสินค้าอุปโภคบริโภค คือเครื่องมือของทุนนิยมชนิดหนึ่ง หรือเป็นสัญลักษณ์ของสังคมทุนนิยม
จริงๆ เรื่องนี้จะแหลมคมกว่านี้ หากเอาวิธีการของศาสนาพุทธไปใช้ ตัวที่จะฆ่าทุนนิยมได้ดีที่สุด คือ อิทัปปัจจยตา นั่นคือเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดอีกสิ่งหนึ่ง ถ้าเราดับปัจจัยที่ก่อให้เกิดทุกข์ มันจะไม่เกิดมาตั้งแต่ต้น ดับที่ผัสสะ (อายตนะทั้ง 6 รับรู้กลิ่นเสียงรูปรสสัมผัสต่างๆ รับรู้แล้ววาง) จะไม่เกิด เวทนา ดับที่เวทนา (การรับรู้ว่าชอบหรือไม่ชอบ แล้ววางเฉยเสีย) จะไม่เกิดตัณหา ดับที่ตัณหา (โลภ โกรธ หลง, ถ้ามาถึงขั้นนี้แล้วเกิดกิเลสแน่ ดับเสีย) จะไม่เกิดอุปาทาน ดับที่อุปาทาน (ตัวกู ของกู,เป็นขั้นที่แก้ยากแล้ว แต่ก็ยังดับได้) ตัวที่จะสู้กับทุนนิยมได้ดีก็คือ ชีวิต,เศรษฐกิจแบบพอเพียง สู้กับทุนนิยมได้สบาย ไม่ฟูมฟาย ไม่เดือดร้อน ลืมไป ศาสนาอิสลามก็มีบทบัญญัติที่สู้กับทุนนิยมได้เฉกเช่นศาสนาพุทธ แต่ต้องเคร่งจริงๆ เช่นกัน
ประวัติและผลงานของผู้กำกับ
David Andrew Leo Fincher (born August 28, 1962) is an American film and music video director who is known for his dark and stylish thrillers, such as Alien (1992) , Seven (1995), The Game (1997), Fight Club (1999), Panic Room (2002), and Zodiac (2007). Fincher received Academy Award nominations for Best Director for his 2008 film The Curious Case of Benjamin Button and his 2010 film The Social Network, which also won him the Golden Globe and the BAFTA for Best Director. His most recent film is 2011's The Girl with the Dragon Tattoo, an English-language adaptation of Stieg Larsson's novel of the same name.
1 ความคิดเห็น:
สนุกมากครับ เรื่องนี้ ซื้อเก็บใว้แล้ว
แสดงความคิดเห็น