วันเสาร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2555

K-Pop ดังไกล ไปยุโรป และอเมริกา



การไปโชว์ตัวในรายการ The Late Show with David Letherman ของวง Girl Generation เมื่อเร็วๆ นี้ อาจเป็นการส่งสัญญาณว่าอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีใต้ขยับขยายจากการครองใจชาวเอเซียติดหนึบ ไปปลุกระดมสาวกเพิ่มขึ้นในตะวันตกแล้ว


ไม่กี่วันหลังจากปรากฏโฉมในเครือข่ายทีวีอเมริกาครั้งแรกด้วยซิงเกิ้ลฮิต “The Boys” สาวๆ เทเลเจนิกทั้ง 9 คน หอบหิ้วกันบุกดินแดนน้ำหอมเมื่อสัปดาห์ที่แล้วต่อ เพื่อโชว์เพลงในรายการทีวีช่วงไพร์มไทม์ ทั้งนี้คอนเสิร์ต Girl Generation ในปีที่ผ่านมาขายตั๋วหมดเกลี้ยงภายใน 15 นาที


หนังเกาหลี ละคร ศิลปินไอดอล “K-Pop” ทั้งหลายแหล่ที่ต่างเดินตามรอย “J-Pop” ถาโถมครองตลาดทั่วเอเซียเมื่อทศวรรษที่แล้ว แต่ “hallyu” หรือ “คลื่นเกาหลี” (Korean Wave) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกขานกันในเอเซีย บัดนี้แพร่กระจายไปถึงยุโรปและอเมริกากันแล้ว ช่วยกระตุ้นการส่งออกของแดนอารีดังได้เป็นอย่างมาก ยอดส่งออกด้านวัฒนธรรม อาทิ หนัง หนังสือการ์ตูน เกมคอมพิวเตอร์ ทำสถิติสูงสุดเมื่อปีที่แล้วที่ 4,200 ล้านดอลล่าร์(สหรัฐ) เพิ่มขึ้นจาก 2,600 ล้านดอลล่าร์(สหรัฐ) ในปี 2009 ส่งให้ราคาหุ้นของสตูดิโอชั้นนำพ่งกระฉูด ตัวการ์ตูนยอดนิยมของเกาหลีใต้ เจ้านกเพนกวิน “Pororo” ไปปรากฏโฉมในทีวีของทั่วโลก 120 ประเทศ

โชวฮุนจิน ตัวแทนของรัฐบาลเกาหลี ผู้ริเริ่มคำว่า “K-Pop” เพื่อเรียกขานวงดนตรีเกาหลีใต้ขณะที่ยังทำอาชีพนักข่าว กล่าวว่า เพลงเกาหลีขณะนี้แพร่หลายออกไปมากกว่าที่เคยคาดหวังกันไว้มาก แม้เกาหลีเป็นผู้ส่งออกชั้นนำในด้านอิเลคทรอนิคส์ เรือ และรถยนต์ มานับสิบปี แต่บริษัทผู้ผลิตกลับไม่สามารถสร้างเอกลักษณ์แบรนด์เกาหลีในสายตาชาวโลกได้ เนื่องจากกลัวจะถูกมองว่า ต่ำต้อยด้านคุณภาพเมื่อเทียบกับคุ่แข่งแดนปลาดิบ แต่แล้วการส่งออกทางวัฒนธรรมกลับทำให้ประเทศที่เคยเก็บเนื้อเก็บตัวแห่งนี้เป็นที่ยอมรับของชาวโลกเป็นครั้งแรก




การส่งออก การแพร่ภาพกระจายเสียง อาทิ ละครทีวี ทำสถิติสูงสุดเมื่อปีที่แล้วด้วยมูลค่า 252 ล้านดอลล่าร์(สหรัฐ) เพิ่มจาก 185 ล้านดอลล่าร์(สหรัฐ) ในปี 2009 ในส่วนอุตสาหกรรมเพลง ทำรายได้จากการส่งออก 177 ล้านดอลล่าร์(สหรัฐ) จากเพียง 31 ล้านดอลล่าร์(สหรัฐ) ในปี 2009 และภาพยนตร์ ทำรายได้ 26 ล้านดอลล่าร์(สหรัฐ) จาก 14 ล้านดอลล่าร์(สหรัฐ)เมื่อ 3 ปีก่อน ก่อนหน้านี้ “คลื่นเกาหลี” ยังเป็นปรากฏการณ์ที่จำกัดเขตอยู่ในเอเซียเท่านั้น ปี 2003 ละคร “แดจังกึม” กลายเป็นซีรี่ย์ยอดฮิตตั้งแต่ประเทศไต้หวันไปจนกระทั่งอิหร่าน แต่เมื่อไม่นานมานี้ ละครเรื่องนี้ได้ข้ามฝั่งไปดังในยุโรปตะวันออกด้วย กระนั้นเอเซียยังคงเป็นตลาดที่สำคัญ และผู้จัดการที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดยังเล็งเป้าหมายการส่งออกในภูมิภาค ปักจินยัง ผู้บริหาร JYP International ผู้ปลุกปั้นวง “มิส เอ” ที่ประกอบด้วยนักร้องเกาหลี 2 คน คนจีน 2 คน เพื่อทำเพลงฮิตทั้งในภาษาเกาหลีและแมนดาริน ขณะที่วง เกิร์ล เจเนอเรชั่น คล่องทั้งเพลงภาษาเกาหลี ฝรั่ง และญี่ปุ่น

ฮันกูฮุน ประธานสถาบันวิจัย Korean Wave ชี้ว่า ขั้นตอนต่อไปของอุตสาหกรรมเพลงก็คือ เปิดตัวนักร้องในตะวันตกเพื่อส่งบอยแบนด์ และเกิร์ลกรุ๊ป สู่ระดับโลกอย่างแท้จริง คนเกาหลีเองก็แปลกใจมาก ที่เห็นคนตะวันตกอ้าแขนรับ “K-Pop” อย่างท่วมท้นล้นหลาม ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ วัฒนธรรมเกาหลีไม่เคยได้รับความสนใจในสื่อกระแสหลักซักเท่าไรนัก หนังสือพิมพ์แดนอารีดังเล่นภาพคอนเสิร์ตฮอลล์ในฝรั่งเศส หรือแฟนๆ เมืองผู้ดีแห่ต้อนรับวงเกิร์ล เจเนอเรชั่น พร้อมชูป้ายเป็นภาษาเกาหลีอย่างครึกโครม แฟนๆ ในยุโรปเหล่านี้ ค้นพบ “K-Pop” จากเว็บไซต์เครือข่ายสังคมอย่าง Facebook และ You Tube

นักวิจารณ์จำนวนมากตั้งข้อสังเกตว่า ความแปลกใหม่ของเคป๊อปในสายตาคนภายนอกมาจากการคร่ำเคร่งฝึกฝนเป็นแรมปี ในบางครั้งฝึกหนักระดับน้องๆ ค่ายทหารกันเลยทีเดียว เพื่อให้แน่ใจว่า ซุปเปอร์สตาร์ที่ปั้นขึ้นมามีความสามารถรอบด้าน พร้อมขับขานบทเพลงและเต้นถูกสเต็ป พร้อมเพรียงกันทั้งวง ชนิดที่ไม่ค่อยเห็นในวัฒนธรรมเพลงป๊อปของชาติอื่นมากนัก

อย่างไรก็ดี แม้ว่าการส่งออกทางวัฒนธรรมเป็นความภาคภูมิใจของประเทศ แต่คนเกาหลียังเรียกร้องให้อุตสาหกรรมนี้ปรับกฏเกณฑ์ ระเบียบให้เคร่งครัดขึ้น การฆ่าตัวตายของนักแสดงสาว จางจายอน ในปี 2009 ทำให้สายตาทุกคู่จับจ้องด้านมืดของคลื่นเกาหลี ที่นักร้อง นักแสดงบางคนถูกล็อคไว้กับสัญญาทาส และถูกบังคับให้หลับนอนกับผู้บริหาร เพื่อแลกกับบทบาทในหนังในละคร หรือการได้แจ้งเกิดในวงการ



อารยธรรมเพลงและแนวการนำเสนอเพลงเป็นทีมนักร้องพร้อมท่าเต้นที่เร้าใจในสไตล์เกาหลีใต้ (วงบอยแบนด์ เกิร์ลกรุ๊ป) ที่เรียกกันว่า K-POP เริ่มขยายวงออกไปมากขึ้น โดยล่าสุดสามารถรุกเข้าไปวางตำแหน่งทางการตลาดและสร้างความคลั่งไคล้ให้กับแฟนเพลงในสหรัฐได้แล้ว


ตำนานของนักร้องเอเชียในตลาดสหรัฐคงต้องยกให้กับ นักร้องญี่ปุ่นที่ชื่อ เคยุ ซากาโมโต ที่โด่งดังจากเพลงสุกี้ยากี้ ที่ติดอันดับในท็อปชาร์ตของสหรัฐอเมริกาติดต่อกันถึง 3 สัปดาห์ ซึ่งหลังจากนั้นยังไม่มีนักร้องญี่ปุ่นคนใดที่สามารถครองตำแหน่งอันดับ 1 ในบิลบอร์ดชาร์ตได้อีกเลย แม้ว่าหลังจากนั้นจะมีวงพิ้งค์ เลดี้จากญี่ปุ่น ที่พยายามจะจับตลาดสหรัฐอยู่ แต่ก้าวขึ้นไปได้แค่อันดับ 37 ของบิลบอร์ดชาร์ตเท่านั้น แต่การที่พิ้งค์ เลดี้ สามารถรุกตลาดสหรัฐได้ ทำให้นักร้องอื่นๆ จากเอเชียยังมีความหวัง เพราะในช่วงปี 2004 ฮิคารุ อูทาดะ ก็เคยสามารถเอาเพลงในเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษเข้าไปเจาะตลาด เจาะใจคนอเมริกันได้ จนกระทั่งถึงยุคของนักร้อง K-POP มาตั้งแต่ปี 2009

K-POP วงที่เริ่มประสบความสำเร็จทางธุรกิจ และเป็นที่รู้จักกันในตลาดสหรัฐมากขึ้นได้แก่ นักร้องในวง Girl Generation และวงดนตรีชื่อ 2NE1 แนวเพลงในสไตล์ของเคป็อป เริ่มแพร่หลายออกไปในระดับตลาดเพลงของโลกอย่างรวดเร็ว และเห็นได้ชัดเจนตั้งแต่ปี 2011 เมื่อการประกาศของบิลบอร์ดเริ่มทำการเปิดตัวการจัดอันดับเพลงของกลุ่มเคป็อปเองในลักษณะ Korea K-Pop Hot 100 Chart ทำให้การทำการส่งเสริมการตลาดของงานเพลงเคป๊อปในสหรัฐมีความโด่งดังและเริ่มเป็นที่รู้จักพร้อมกับนักร้องดังในสหรัฐ อย่าง จัสติน บีเบอร์ และเลดี้ กาก้า

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แนวเพลงในสไตล์เคป๊อป ได้เข้าไปครองตลาดเพลงและทำรายได้มากมายจากการสร้างมิวสิคชาร์ต ทั้งในตลาดญี่ปุ่น จีน ในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลาดตะวันออกกลาง ละตินอเมริกา และเริ่มรุกภูมิภาคอื่นๆ อีกหลายแห่ง ช่วงเดือนพฤษภาคม 2011 แฟนเพลงที่คลั่งไคล้ในเคป๊อป ได้ออกันอยู่ที่ด้านหน้าพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ ในนครปารีส หลังจากที่ตั๋วชมการแสดงคอนเสิร์ตที่มีชื่อว่า “Europe’s first K-Pop concert” ขายจนหมดเกลี้ยง

ความโด่งดังของ เคป๊อป ยังมาจากการสนับสนุนองค์กรข่าวรายใหญ่ๆ สถานีโทรทัศน์ในสหรัฐ ที่เข้ามาร่วมโปรโมตเคป๊อปอีกแรงหนึ่ง ในปี 2012 นี้ คาดหมายว่าจะมีการรายงานข่าวเกี่ยวกับความแคลื่อนไหวของวงดนตรี และนักร้องที่มีชื่อเสียงโด่งดังในกลุ่มที่กำลังเป็นที่นิยมในกลุ่มเคป๊อป ที่ปรากฏตามหน้าสื่อมวลชนและวงการบันเทิงในสหรัฐมากขึ้น โดยเฉพาะ Girls Generation, Wonder Girls หรือ BEAST พร้อมกับวงดนตรีกลุ่มเคป๊อป ที่กำลังจะมีการจัดทัวร์ทั่วโลกใน 21 เมืองในสหรัฐเป็นอย่างน้อยภายในปีนี้ อย่างเช่นวง Girls Generation วงนักร้องหญิงของเกาหลีใต้ในระดับชั้นนำที่มีอัลบั้มเปิดตัวไปแล้วไม่น้อยกว่า 3 อัลบั้ม และครองตำแหน่งอันดับ 1 จากการจัดอันดับของสถานีโทรทัศน์ KBS, Music Bank และวง Wonder Girls ที่มีสถานะทางการตลาดเคป๊อป ที่มั่นคงกว่าวงอื่นๆ ของเกาหลีใต้ ทั้งที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดสหรัฐมาเมื่อปี 2009 นี้เอง ด้วยการเริ่มจากการจัดคอนเสิร์ตตามมลรัฐต่างๆ และโชคเข้าข้างเขา เมื่อดิสนีย์ได้เลือกวง Wonder Girls ไปเปิดทัวร์คอนเสิร์ตในอเมริกาเหนือ ที่จริงมีป๊อปสตาร์จากเอเชียมากมายที่อยากจะประสบความสำเร็จในสหรัฐ หลังจากที่เป็นซุปเปอร์สตาร์ในประเทศบ้านเกิดของตนเองแล้ว แต่การจะประสบความสำเร็จจริงๆ ไม่ใช่เรื่องง่ายดาย ความสำเร็จของเคป๊อป จึงเป็นเรื่องที่นักการตลาดเพลงเอเชีย ต้องพยายามศึกษาจากกรณีของป๊อปสตาร์จากประเทศเกาหลีใต้เป็นตัวอย่างนึงที่น่าสนใจครับ

(คัดลอกจากบทความ “เคป๊อปดังไกลมัดใจแฟนคลับฝรั่ง” คอลัมน์ World Momentum , ผู้จัดการ360องศา รายสัปดาห์ฉบับวันที่ 20-26 ก.พ.2555 )

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น