วันเสาร์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2555

แข่งขันกันไปทำไม สุดท้ายคนที่มีศักยภาพไม่ได้รับการผลักดันเป็นศิลปิน



กลายเป็นกระแสฮิตติดลมบนไปแล้วสำหรับเวทีประกวดร้องเพลง เดอะสตาร์ เพราะว่าเรตติ้งความนิยมจากคนดูที่สูงขึ้นทุกปี และสถิติของผู้สมัครประกวดที่เพิ่มขึ้นทุกปี (ปีนี้เกิน 20,000 กว่าคน) และผลงานของนักร้องที่ออกไปมีผลงานในวงการบันเทิงซึ่งผ่านประสบการณ์การประกวดมาจากเวทีแห่งนี้เป็นเครื่องการันตี ดีกรีความฮ็อตได้อีกส่วนหนึ่ง เนื่องจากรุ่นพี่ทำเอาไว้ดี น้องๆ ที่คลอดตามกันออกมาทีหลังก็มีใบเบิกทางหรือใบรับประกันถึงความดังได้ในระดับนึง อีกทั้งต้นสังกัดนั้นก็ดันสุดตัวและมีศักยภาพด้วย ไม่แปลกใจว่าทำไมรายการประกวดร้องเพลงนี้ถึงมีสปอนเซอร์หลักเข้ามาสนับสนุนรายการมากจริงๆ น่าจะเกิน 10 ตัวได้ และที่จ่อคิวอยากจะเข้ามาอีกมาก แต่สิ่งที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดของเวทีประกวดแห่งนี้ก็มีหลายอย่าง อาทิ ความเชยของรูปแบบรายการ ความดราม่าจัด (การเน้น ความยัดเยียด ความน่าสงสารของชีวิตส่วนตัวของผู้เข้าแข่งขัน) คอสตูมการแต่งกายของน้องๆ ที่เข้าประกวดบนเวที ระบบเครื่องเสียงบนเวที การอวย(ยกยอ,สรรเสริญ) ศิลปินมากเกินไปของบรรดาคอมเมนเตเตอร์ และเซเลป (คนดัง) การยัดเยียดผลงานหรือการโฆษณาบ้าระห่ำของเหล่าศิลปินเดอะสตาร์ จนกลายเป็นคุณได้ดูรายการเดอะสตาร์ออฟเดอร์สตาร์ไปด้วยในตัวมาเกือบทุกรุ่นทุกปี ถ้าถามว่าเดอะสตาร์ คืออะไร ผู้เขียนคิดว่า เดอะสตาร์ ก็คือการตลาดเพื่อการเฟ้นหาศิลปินหน้าใหม่นั่นเอง ที่มีความเจิดจรัส หรือมีแววว่าจะดัง (ที่เขียนว่ามีแววว่าจะดังก็เพราะว่า บางคนตอนประกวดได้เป็นแชมป์เดอะสตาร์มา แต่พอออกจากบ้านมาเป็นศิลปินแล้ว ความเจิดจรัสมันหายไปหรือไม่ดังเปรี้ยงปร้างเหมือนตอนประกวดก็มี) ถามว่าข้อดีของรายการนี้ที่แตกต่างจากรายการประวกดร้องเพลงเวทีอื่นๆ คืออะไร ผู้เขียนคิดว่าจุดเด่นหรือจุดแข็งของรายการนี้อยู่ตรงที่ขั้นตอนการคัดเลือกเข้ามาเป็น 8 คนสุดท้ายนั่นแหละ คือหัวใจของรายการ จะเห็นได้ว่ารายการนี้จะเป็นรายการเดียวที่จะเน้นในส่วนของรอบคัดเลือกเป็นอย่างมาก การคัดเข้ามาให้เหลือเพียง 8 คนนั้น ไม่มากและไม่น้อยจนเกินไป พอดีๆ เพราะง่ายต่อการที่รายการเขาจะได้นำไปโปรโมต ผู้เข้าแข่งขันจะได้รับการโปรโมตในรอบสุดท้ายอย่างลงลึกรายละเอียดที่มากกว่ารายการอื่น ทั้ง profile lifestyle บุคลิกหน้าตา คาแรกเตอร์ ความสามารถที่หลากหลายด้วยคือเสน่ห์ จำนวนที่น้อยกำลังดีนี้เองคือจุดเด่นทำให้ พวกเขามีแอร์ไทม์หรือเวลาที่ออกอากาศให้คนดูคัดกรองเลือกพิจารณาว่าจะโหวต (กติกาในการตัดสิน) ใครดี ได้มากขึ้น และรายการนี้ไม่ใช่เรียลลิตี้แบบสมบูรณ์แบบ จึงไม่เน้นการถ่ายทอด หรือมุมมองพฤติกรรมส่วนบุคคลในบ้านให้ผู้ชมได้เห็น กลายเป็นข้อดีที่ทำให้ผู้ชมจะตัดสินพวกเขาจากการดูผลงานจริงๆ ที่แสดงออกมาบนเวที รอบแข่งขันวันเสาร์ และตัดสินจากบุคลิก การแสดงออก เท่านั้น แต่จะมีข้อได้เปรียบเสียเปรียบกันตรงที่รายการจะเน้นให้เวลา (แอร์ไทม์) กับผู้เข้าแข่งขันคนไหนเป็นพิเศษ หรือกรรมการคอมเมนเตเตอร์กล่าวชื่นชมผู้เข้าแข่งขันคนไหนมากเป็นพิเศษ ก็จะสามารถดึงกระแสคนดูจากทางบ้านได้มากขึ้น ซึ่งก็เป็นปัจจัยเพียงส่วนเดียว ยังมีเรื่องของฐานแฟนคลับซึ่งถูกจัดตั้งขึ้นมาโดยธรรมชาติ หรือฐานแฟนคลับประเภททุนทรัพย์หนา ว่าจะสนับสนุนเป็นการพิเศษแก่ใคร ก็อาจะเป็นตัวตัดสินชี้วัดได้ในรอบลึกๆ ส่วนดีอีกข้อนึงก็คือพิธีกรในรายการดูเป็นกันเองกับคนดูมาก มีความเป็นธรรมชาติ ลีลาท่าทางกินขาดสามารถเรียกเรตติ้งหรือขโมยซีนจากผู้เข้าแข่งขันได้ ด้วยความที่ไม่เป็นทางการหรือพิธีรีตองนี่แหละจึงทำให้รายการเข้าถึงคนดูในวงกว้างมากกว่าเวทีอื่นๆ ถือเป็นจุดแข็งของรายการอีกประการหนึ่ง


ที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด ยังไม่ได้นำเข้าสู่ประเด็นที่ว่า แข่งขันกันไปทำไม เสียเงิน เสียเวลา เสียความรู้สึกแทบตาย สุดท้ายคนที่มีศักยภาพไม่ได้รับการผลักดันเป็นศิลปินหรือมีผลงานที่ดีเมื่อจบการแข่งขันไปแล้ว อันนี้ไม่ใช่ผู้เขียนคิดเองนะ เห็นมีการวิพากษ์วิจารณ์อยู่มากมายทั้งเว็บบอร์ด โซเชียลเน็ตเวิร์ก และคนรอบข้างที่พูดถึงทุกปี อันนี้ก็ขอตอบแทนเจ้าของรายการหรือสปอนเซอร์ทั้งหลายได้ว่า ก็ในเมื่อตลาดผู้บริโภคยังชอบที่จะดูรูปแบบรายการแบบนี้ เม็ดเงินจากการโหวตยังคงสูงลิบลิ่ว ความต้องการที่จะเข้าสู่วงการบันเทิง (ผู้เข้าแข่งขัน)ยังคงมากขึ้นไปเรื่อยๆ แบบนี้ ถามว่าทำไมผู้จัดรายการและสปอนเซอร์เขาจะไม่ทำรายการต่อหล่ะ มันวินวินกันทุกฝ่าย ส่วนประเด็นของผู้ที่มีศักยภาพแต่ไม่ได้ไปต่อนั้น คงเป็นเรื่องของหลายปัจจัย ในเมื่อตัวเลือกมันมีเยอะเขาคงจะดันเฉพาะคนที่เห็นว่าเหมาะสมเป็นบางคนเท่านั้น อันด้วยต้นทุนในการผลิตศิลปิน 1 คนนั้นสูงเอาการ ความคุ้มค่าในการต่อยอดนอกเหนือจากการเป็นเพียงนักร้อง นักแสดง พรีเซ็นเตอร์ ยุคนี้เขาต้องการแบบครบเครื่อง ทำได้หลายอย่างเท่านั้นจึงจะได้เกิด (ตัวอย่างของผู้เข้าแข่งขันเดอะสตาร์ที่มีศักยภาพแต่ไม่ได้รับการผลักดันเป็นศิลปินมากนัก อาทิ บิว เดอะสตาร์ปี 1,นิก เดอะสตาร์ปี 2,มิว เดอะสตาร์ ปี 3, ต้น เดอะสตาร์ปี 4,ฟลุ้ค,กิ่ง เดอะสตาร์ปี 5,เกด เดอะสตาร์ปี 6, แอมป์,ซิลวี่ เดอะสตาร์ปี 7 ยังไม่นับเหล่าเดอะสตาร์บางคนที่เข้ามาด้วยรูปร่างหน้าตา บุคลิกที่ดี แต่พอจบการแข่งขันไปแบบไม่มีกระแส และไม่มีผลงานแม้กระทั่งการแสดงเลยด้วยซ้ำ

มาถึงการแข่งขันเดอะสตาร์ปี 8 ปีล่าสุดนี้ ถือเป็นปีที่ผู้เข้าแข่งขันมีศักยภาพทัดเทียมกันมากที่สุด ,มีความหลากหลายของบุคลิกมากที่สุด มีความคาดหวังมากที่สุด โดยรวมถือว่าเป็นปีที่ได้มาตรฐานที่สุด ระหว่างที่เขียนบทความนี้ ผู้เข้าแข่งขัน 1 ท่าน ได้ออกจากการแข่งขันไปแล้ว (น้องเฟรม หมายเลข 3) แต่ก็ยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าผู้ใดจะได้เป็นแชมป์เดอะสตาร์ของปีนี้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนคิดว่าได้กำไรจากการได้ชมรายการเดอะสตาร์แทบทุกปีก็คือ การได้ฟังเพลงอันไพเราะจากน้องๆที่เกือบจะเรียกได้ว่ากึ่งๆ มืออาชีพแล้ว บางคนร้องดีกว่ามืออาชีพเสียอีก เป็นความบันเทิงสุดพิเศษ ผ่อนคลายความเครียดได้ดี ในภาวะที่ความตึงเครียดจากภาวะเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ที่นับวันจะรุนแรงมากขึ้น ดูน้องๆ ในเดอะสตาร์ ดีกว่าดู เดอะเสนียดในสภา มากกว่ากันเยอะเลย ราวกับดูดอกไม้กับกองอุจจาระยิ่งนัก

เห็นรายการเขาเปรยๆ ว่าอย่าดูเพียงอย่างเดียว อาจทำให้ไม่มีส่วนร่วม และน้องๆ ที่คุณเชียร์ไม่ได้ไปต่อ เพราะฉะนั้น จึงร่วมโปรโมตน้องๆ ในรายการร่วมกับทางรายการด้วย ช่วยกันเชียร์ และร่วมโหวต ตามรายละเอียดข้างล้างนี้

“หมายเลข 1” โดม–จารุวัฒน์ เชี่ยวอร่าม เกิด 29 ก.ย.2534 สูง 174 ซม.หนัก 98 กก. เรียนปี 2 คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ความสามารถพิเศษ เล่นดนตรีไทย, ระนาดเอก, ระนาดทุ้ม








“หมายเลข 2” ฮั่น– อิสริยะ ภัทรมานพ เกิด 20 ม.ค.2531 สูง 180 ซม. หนัก 72 กก. เรียนปี 3 สันติราษฎร์บริหารธุรกิจ ความสามารถพิเศษ เด่นเรื่องการเต้น และหล่อ--ฮิ้ว!








“หมายเลข 3” เฟรม–ศุภัคชญา สุขใบเย็น เกิด 10 ก.ย.2537 สูง 160 ซม.หนัก 46 กก. เรียนปี 1 คณะนิเทศศาสตร์ เอกการแสดง ม.กรุงเทพ







“หมายเลข 4” แคน–อติรุจ กิตติพัฒนะ เกิด 8 มิ.ย.2534 สูง 172 ซม. หนัก 58 กก. เรียนปี 3 คณะการสื่อสารมวลชน ม.เชียงใหม่








“หมายเลข 5” สต๊อป–วริษฐา จตุรภุช เกิด 16 ก.ย.2535 สูง 161 ซม. หนัก 45 กก. เรียนปี 1 คณะ SIIT วิศวคอมพิวเตอร์ IT ม.ธรรมศาสตร์




“หมายเลข 6” สมายด์–โสรญา ฐิตะวชิระ เกิด 8 ก.พ.2539 สูง 157 ซม.หนัก 43 กก. เรียน ม.4 วิทย์-คณิต ร.ร.มัธยมสังคีตวิทยากรุงเทพมหานคร






“หมายเลข 7” ฮัท–จิรวิชฐ์ พงษ์ไพจิตร เกิด 24 พ.ย.2534 สูง 180 ซม. หนัก 65 กก. เรียน ปี 2 คณะศิลปกรรมศาสตร์ เอกการแสดงและกำกับการแสดง ม.ศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร








“หมายเลข 8” แกงส้ม–ธนทัต ชัยอรรถ เกิด 30 มี.ค.2533 สูง 180 ซม.หนัก 69 กก. เรียนปี 2 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง.

 
ใครจะได้ไปต่อ จนเป็นแชมป์เดอะสตาร์ 8 คุณผู้ชมจะเป็นคนตัดสิน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น