วันเสาร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2555

โกะ กลยุทธ์หมากล้อมทางการเมือง

เมื่อก้าวสู่ปี 2555 ผู้สันทัดทางการเมืองไทย มีการคาดการณ์กันว่าการเมืองไทยจะกลับมาร้อนแรงหรือเข้าสู่ภาวะวิกฤติกันอีกครั้งนึง ภายหลังจากที่ตัวแปรด้านการเมืองได้นิ่งสงบไปพักนึงในช่วงปี 2554 ซึ่งในช่วงปลายปีประเทศไทยเกิดเหตุการณ์มหาอุทกภัยใหญ่ในรอบ 50 ปี ทำให้จุดสนใจด้านการเมืองได้ลดทอนลง แต่ในช่วงที่ภาวะวิกฤติน้ำท่วมกำลังดำเนินไป และใกล้จุดคลี่คลายลง รัฐบาลภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ได้ชื่อว่าเป็นรัฐบาลตัวแทนของอดีตนายกทักษิณ ชินวัตร ได้จุดประเด็นทางการเมืองขึ้นมาหลายกรณี อาทิ การคืนพาสปอร์ตเล่มปกติให้กับอดีตนายกทักษิณ การแอบลงมติลับ ออก พรฏ ขอพระราชทานอภัยโทษแก่นักโทษร้ายแรงหลายมูลเหตุรวมกว่า 20,000 กว่าคน 1 ในจำนวนนั้นมีอดีตนายกทักษิณอยู่ด้วย ซึ่งทำให้สังคมออกมาต่อต้านจำนวนมาก พอทานกระแสต่อต้านไม่ไหวจึงยุติไป จากนั้นก็เปิดประเด็นใหม่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในมาตรา 309 และ 112 โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับมาตรา 112 ซึ่งเป็นมูลเหตุเกี่ยวโยงกับคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหลายกตั้งแต่คดี ดา ตอร์ปิโด ,คดีอากง และนายโจ ,ล่าสุดไปเกี่ยวกับน้อง นิสิตปี 1 ม.ธรรมศาสตร์ อีกทั้งยังมีการดำเนินการฟ้องผู้เกี่ยวข้องในเหตุการณ์สลายการชุมนุมหน้าสี่แยกราชประสงค์เมื่อปี 2553 โดยนำคดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเกี่ยวกับผู้เสียชีวิต 16 ศพ โดยสั่งฟ้องเล่นงานทั้งอดีตนายกอภิสิทธิ์ รองนายกสุเทพ และผู้บังคับบัญชาหน่วยงานทหาร รวมถึงเจ้าหน้าที่ราชการ คือทหารรายบุคลลด้วย เพื่อที่ลากเอาทุกฝ่ายลงสู่กระบวนการปรองดอง ซึ่งก็มี พล.อ.สนธิ บุณยะรัตกลิน อดีตหัวหน้า คมช.(ทำการรัฐประหารรัฐบาลคุณทักษิณ ชินวัตร) เป็นโต้โผทำการประสานทุกพรรค ทุกกลุ่มทุกสี ให้มาร่วมปรองดองกัน โดยจะมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมหรือปรองดองออกมา เพื่อฟอกความผิดให้กับทุกฝ่าย แต่ก็ถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการต้องการนำเอาทุกฝ่ายมาเป็นตัวประกันเพื่อฟอกความผิดให้กับคนๆ เดียวนั่นก็คือ คุณทักษิณ ดังจะเห็นว่าคุณทักษิณนั้นเล่นไพ่หลายหน้า ด้านหนึ่งก็มีการชงเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยฝ่ายการเมืองคือรัฐบาลชงเรื่องแก้เอง ภาคประชาชนโดยกลุ่มคนเสื้อแดงก็เคยมีการลงชื่อยื่นฏีกาขออภัยโทษให้คุณทักษิณ และยังยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับหมอเหวง อีกด้านหนึ่งมีแนวร่วมคือนักวิชาการอย่างกลุ่มนิติราษฏร์ที่ก็เคลื่อนไหวให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเช่นกันในประเด็นเฉพาะ ม.112 อีกด้านหนึ่งก็มีการตั้งคณะกรรมการชุดของศ.ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน ประธานคณะกรรมการองค์กรอิสระว่าด้วยหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอนธ.) เพื่อศึกษาการแก้ไขกฎหมาย ซึ่งดูจะทับซ้อนกับกลุ่มของศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมาย (ตัวย่ออะไรไม่ทราบ)  และยังมีกลุ่มศ.ดร.คณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ซึ่งแต่งตั้งในยุคสมัยคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี และ 2 กลุ่มนี้ก็ยังไม่ได้ยุบไป แต่ไม่เรียกใช้บริการ ยังมีการเปิดประเด็นร้อนโดยมติ ครม.เรื่องการจ่ายเงินเยียวยาให้กับพวกที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปี 2553 (ซึ่งก็เน้นไปที่กลุ่ม นปช.ที่ออกมาเคลื่อนไหวเผาบ้านเผาเมือง) จ่ายคนละ 7.75 ล้านบาท และจะจ่ายทันทีก่อน 3.5 ล้าน ที่เหลืออาจจ่ายเป็นสลากออมสิน (เป็นมติครม.สุดอัปยศ) ซึ่งทันทีที่มีข่าวออกมาก็มีแรงเสียดทานจากสังคมและวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงถึงความไม่เหมาะสมจงใจเลือกปฏิบัติ แบบ 2 มาตรฐานอย่างชัดเจน ซึ่งผู้ที่ควรจะได้รับการเยียวยากลับไม่ได้รับการเหลียวแล ในขณะที่คนที่ทำผิดกฏหมายอย่างชัดเจนในกรณีชุมนุมการเมืองที่มีลักษณะสร้างความรุนแรง ทำผิดกฏหมายมากมาย และสร้างความไม่สงบในบ้านเมือง กลับจะนำภาษีของประชาชนไทยทั้งประเทศไปชดเชย  และยังมีประเด็นการออก พรก.4 ฉบับที่เกี่ยวกับการแก้ไขกฏหมายแบ็งค์ชาติเกี่ยวกับการโยกหนี้กองทุนฟื้นฟู 1.14 ล้านล้านบาท มาให้แบ็งค์ชาติดูแล ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นหมากล้อมประชาชน การบีบและโน้มน้าวให้ประชาชนทุกกลุ่มเห็นด้วยต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยไม่จำเป็นต้องทำประชาพิจารณ์หรือประชามติ ข้อเสนอของ คอนธ.ที่ให้ตั้ง สสร.34 คน ขึ้นมาเลย (ในจำนวน 34 คนนี้ กว่า 90 % เป็นแกนนำเสื้อแดงด้วย) ดังนั้นไม่ว่าประเด็นทางการเมืองใดจะเป็นชนวนที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง ต่อต้านหรือก่อให้เกิดการชุมนุมประท้วง ก่อความรุนแรงขึ้นมาในบ้านในเมือง ก็ต้องถือว่าผู้ที่เป็นผู้ริเริ่มเปิดเกม เปิดประเด็นย่อมมาจากทางซีกฝ่ายรัฐบาลปัจจุบันแทบทั้งสิ้น แม้ว่าผู้เปิดเกมจะอยู่ในฝ่ายที่มีอำนาจ ได้เปรียบทางการเมือง แต่เพื่อให้บรรลุจุดประสงค์ทางการเมืองแอบแฝง จึงจำต้องเดินเกมไปสู่ความขัดแย้งนั้นเสีย เพื่อเป้าประสงค์ทางการเมืองใหญ่ ก็คือทำให้ตัวคุณทักษิณพ้นผิด และได้กลับบ้านมาสู่ประเทศไทยอย่างผู้มีศักดิ์ศรี หรืออีกนัยยะนึงก็คือกลับมาสู่อำนาจอีกครั้ง ผู้เขียนคิดว่าคุณทักษิณคือผู้อยู่เบื้องหลัง ผู้กำหนดทิศทางการเมืองไทยในปัจจุบัน และตลอดช่วง 4-5 ปีหลังมานี้ คุณทักษิณได้ใช้กลยุทธวิธีโลกล้อมประเทศ ป่าล้อมเมือง เฉกเช่นใช้ยุทธศาสตร์ของโกะ มาเป็นเกมหรือหมากล้อมทางการเมืองไทย ดังนั้นผู้เขียนอยากจะนำเอาทฤษฏี หรือวิธีคิดเกี่ยวกับโกะ มาอธิบายปรากฏการณ์ทางการเมืองไทยว่าจะมีส่วนคล้ายคลึงหรือนำมาปรับใช้กับการเมืองไทยอย่างไร เพื่ออธิบายหรือคาดการณ์เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างเท่าทันผู้ที่กำลังเดินเกมช่วงชิงอำนาจการเมืองไทยกันอยู่ ซึ่งจะมีกุศโลบายอย่างไรนั้น ต้องไปศึกษาวิธีคิด แนวความคิด หรือศาสตร์ เกี่ยวกับโกะ จากคุณก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโกะของเมืองไทยเป็นเบื้องต้นกันก่อน

ผมทุ่มเทเวลากว่า 20 ปีในชีวิต ครุ่นคิดและดื่มด่ำอยู่กับหมากเม็ดดำเม็ดขาว เรียนรู้เรื่องราวของการสู้รบ จนค้นพบเคล็ดลับสำคัญที่ว่า “ชนะได้เพราะไม่คิดเอาชนะ!” ปรัชญาที่แปลกประหลาดจากความรู้สึกของคนทั่วไป คือความยิ่งใหญ่ของหมากกระดานชนิดนี้ หมากล้อมมีที่มาจากไหน? นั้น เข้าใจว่าพัฒนามาจาก “โต๊ะทราย” ในสมัยโบราณ ถ้าท่านนึกถึงภาพยนตร์ฝรั่งที่มีนายทหารนั่งล้อมรอบโต๊ะตัวใหญ่ บนโต๊ะนั้นมีตัวตุ๊กตาที่เป็นทหาร เครื่องบิน เรือรบ อะไรทำนองนี้ นี่แหละครับคือ “โต๊ะทราย” ซึ่งมาจากศํพท์ภาษาอังกฤษว่า “Situation Map Table” หมายถึงโต๊ะแสดงแผนที่เหตุการณ์ในสนามรบ ซึ่งคงจะปูด้วยทราย จึงเรียกกันว่า “โต๊ะทราย” กระดานหมอกล้อมซึ่งประกอบไปด้วย เส้นตรง 19 เส้น ตัดกับ เส้นขวาง 19 เส้น ก็เป็นเช่นเดียวกับโต๊ะทรายที่ใช้ในการศึก โดยเม็ดหมากหนึ่งเม็ด หมายถึง หนึ่งกองร้อย เนื่องจากหมากล้อมหนึ่งกระดานมีจุดตัดถึง 361 จุด เท่ากับกระดานหมากรุกทั่วไปห้ากระดานมาเรียงต่อเข้าด้วยกันแล้วถอดขอบออก การปะทะกันของกองกำลัง จึงเกิดขึ้นได้อย่างกระจัดกระจาย เกิดแนวรบมากมาย กองทัพหนึ่งอาจต้องรบบน รบล่าง รบซ้าย รบขวา ซึ่งใกล้เคียงกับการเกิด “สงคราม”(war) ในโลกของความเป็นจริง ที่แต่ละสงครามจะประกอบด้วยหลาย “สนามรบ” (battles) ถ้าเราลำดับเหตุการณ์ย้อนหลังไปยังยุคต้นรัตนโกสินทร์ ไทยทำศึกกับพม่าใน “สงครามเก้าทัพ” นั่นหมายความว่าพม่ายกกองทัพถึงเก้ากองบุกโจมตีไทย จากทุกทิศทุกทาง ผู้บัญชาการรบจึงต้องมองภาพรวมทั้งหมด แล้วจึงตัดสินใจวางแผนรับมืออย่างเหมาะสม เนื่องจากความไม่พร้อมด้านกำลังพล เสบียง และอาวุธ จึงอาจต้องยอมแพ้ในบางสมรภูมิ เพื่อจะได้ชัยชนะในสงคราม....มิใช่สนามรบ แต่สงครามนี่คือศาสตร์ของการบริหาร เพราะการบริหารคือการใช้ทรัพยากรที่จำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด นี่คือสิ่งที่ทำให้ “จอมทัพ” ต่างจาก “แม่ทัพ” ธรรมดาทั่วไป ในขณะที่แม่ทัพจะดูแลสนามรบหรือสมรภูมิใดก็ตาม ก็มุ่งมั่นที่จะหาทางเอาชนะศึกสมรภูมินั้น แต่คนเป็น “จอมทัพ” ต้องอ่านทะลุจุดแข็งจุดอ่อน ของทั้งสองฝ่ายด้วยใจเป็นกลาง เยือกเย็น สุขุม รอบคอบ รู้จักผ่อนหนักผ่อนเบา รู้รุก รู้ถอย ต้องไม่ใช่คนที่หลับหูหลับตาเชื่อว่าแม่ทัพนายกองของเราจะเก่งกว่าฝ่ายตรงข้ามทั้งหมด จนตัดสินใจผิดพลาดเพราะความประมาทลำพอง เมื่อ “จอมทัพ” มองเห็นภาพรวมของทั้งสงคราม จึงต้องวางกลยุทธ์ของแต่ละสนามรบ ให้สอดคล้องส่งเสริมกัน จนนำไปสู่ชัยชนะในสงคราม จอมทัพจะไม่ยอมให้แม่ทัพใช้กลยุทธ์ในสนามรบของตัวเองตามอำเภอใจ ซึ่งอาจจะส่งผลดีต่อสนามรบของตัวเอง แต่สร้างปัญหาให้แก่สนามรบข้างเคียง เพราะการทำสงครามต้องทำเป็น “ทีมเวิร์ค” ไม่ใช่การ “โชว์ออฟ” ของฮีโร่คนใดคนหนึ่ง ในขณะเดียวกันแม่ทัพก็ต้องเรียนรู้ที่จะมองภาพรวมก่อนการจะวางกลยุทธ์ โดยคำนึงถึงเงื่อนไขเวลาที่จำกัด ปัจจัยภายนอก และสิ่งแวดล้อมที่แปรเปลี่ยนตลอดเวลา ทั้งนี้ยังต้องอยู่ในแนวทางของนโยบายที่จอมทัพวางไว้ด้วย มีตัวอย่างคลาสสิกในยุคโบราณของจีน เกี่ยวกับกลยุทธ์การรับมือฝ่ายตรงข้าม เรื่องมีอยู่ว่า...มีการท้าแข่งม้าชิงดินแดนระหว่าง 2 แคว้น โดยแข่งขันกัน 3 คู่ ฝ่ายที่ได้ชัยชนะมากที่สุด จะได้ครองดินแดนของอีกแคว้นหนี่ง สมมติ 2 แคว้นนี้ คือแคว้นอำมาตย์ กับแคว้นไพร่ แคว้นอำมาตย์สืบทราบมาว่าแคว้นไพร่ จะจัดส่งม้าฝีเท้าดีระดับเกรด A, B และ C ลงแข่งตามลำดับ

ในรอบแรก

แคว้น ก จึงจัดส่งม้าฝีเท้าระดับ C ของตนลงแข่งกับม้าฝีเท้าระดับ A ของแคว้น ข. ผลออกมา แคว้น ก. แพ้ไปหนึ่งรอบ

รอบสอง

แคว้น ก. ส่งม้าฝีเท้าระดับ A ของตนลงแข่งกับม้าฝีเท้าระดับ B ของฝ่ายตรงข้าม ปรากฏว่ารอบนี้ แคว้น ก.เป็นฝ่ายชนะ

รอบสาม

แคว้น ก. ส่งม้าฝีเท้าระดับ B ของตนลงแข่งกับม้าฝีเท้าระดับ C ของแคว้น ข. แคว้น ก.จึงชนะไปตามคาด โดยสรุป แคว้น ก. ชนะ สองในสาม ถือเป็นผู้ชนะที่แท้จริง ได้ครอบครองดินแดนของฝ่ายตรงข้ามตามข้อตกลง

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า แพ้ก่อนไม่ได้หมายความว่าแพ้ไปตลอด ยอมสูญเสียในสถานการณ์ที่จำเป็นต้องสูญเสีย แล้วสงวนกำลังไว้ใช้ในยามที่เหมาะสมจะเป็นประโยชน์ยิ่งกว่า

มีคำพูดประโยคหนึ่งกล่าวไว้ดีมากว่า “ถ้าคุณแพ้ไม่ได้ คุณก็จะชนะไม่เป็น” ฝากไว้ให้คิดต่อนะครับ กลับมาที่เรื่องกลยุทธ์ของเราอีกครั้ง ผมขอยกตัวอย่างง่ายๆ อีกสักเรื่อง สมมติในการสอบวิชาคณิตศาสตร์มีข้อสอบอยู่ 4 ข้อ ข้อละ 25 คะแนนเท่ากัน มีเวลาจำกัดที่ 1 ชั่วโมงเต็ม นักเรียนที่มีกลยุทธ์ จะเลือกทำข้อที่ง่ายและพอทำได้ก่อน เวลาที่เหลือจึงค่อยทำข้อที่ยาก ซึ่งไม่ว่าจะทำไม่ทันหรือทำไม่ได้ ก็มีคะแนนข้อที่ง่ายทำไว้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แม้จะทำได้เพียง 2 ข้อ ก็ยังสอบผ่าน 50% ในกรณีเดียวกัน ถ้านักเรียนไมมีกลยุทธ์ อยากเอาชนะข้อที่ยากก่อน ปรากฏว่าเขาทำสำเร็จ แต่ทำเสร็จข้อเดียวก็หมดเวลาแล้ว ถึงจะแสดงว่าสมองปราดเปรื่องมาก แต่ก็สอบตก เพราะได้คะแนนเพียง 25% เท่านั้น นี่คือตัวอย่างที่กระตุ้นเตือนให้เราใช้ชีวิตอย่างมีกลยุทธ์ ยังมีคนไม่น้อยสับสนระหว่างคำว่า กลยุทธ์(Strategy) กับนโยบาย (Policy) กลยุทธ์ คือการมีเป้าชัดเจนที่จะบรรลุและวิธีการต่างๆ ที่จะนำไปสู่เป้าหมายนั้น วิธีการต่างๆ หรือเรียกว่า Tactics จะถูกร้อยเรียง ใช้ร่วมไปในทิศทางของเป้าหมาย เหมือนดอกไม้หลายๆ ดอก ถูกร้อยเรียงเป็นพวงมาลัย ส่วนนโยบายจะไม่กำหนดเป้าหมาย แต่จะเป็นแนวทางว่าควรหรือไม่ควรอย่างไร เช่น บริษัท SUMITOMO ยักษ์ใหญ่ 1 ใน 5 ของญี่ปุ่น มีนโยบายจะไม่ทำธุรกิจเก็งกำไร ถ้าไม่มีนโยบายนี้คอยกำกับไว้ สาขาของบริษัทฯ ซึ่งมีอยู่ทั่วโลก อาจจะมีหลายแห่งคิดซื้อที่ดินเพื่อเก็งกำไร เมื่อเศรษฐกิจโลกทรุดตัว ที่ดินราคาร่วง แถมยังขายไม่ออก บริษัทคงต้องเสียหายเข้าขั้นอาการสาหัส เช่นเดียวกับ ธนาคารแบริ่ง ของอังกฤษ ซึ่งไม่ได้วางนโยบายป้องกันการเก็งกำไรไว้ จึงถูกเด็กหนุ่มนามว่า นิค ลีสัน ทำให้ธนาคารเก่าแก่อายุกว่า 200 ปี ต้องล้มละลายลงในชั่วพริบตา

หมากล้อมเป็นหมากกระดานชนิดเดียวที่มีศํกยภาพย่อยในภาพรวม จึงสอนให้รู้ถึงผลกระทบของเรื่องหนึ่งไปยังเรื่องอื่นๆ และผลระยะยาวต่อภาพรวม หมากล้อมสอนให้เราตระหนักถึงศักยภาพของฝ่ายตรงข้าม ตระหนักถึงต้นทุนของชัยชนะในแต่ละเรื่อง หมากล้อมจึงสอนให้เรารู้จักกระทำการอย่างมีกลยุทธ์ ดำเนินชีวิตอย่างมีนโยบาย จากนโยบายหมากล้อม อาจะสรุปได้ว่าการคิดเอาชนะคนอื่น มีต้นทุนสูง มีผลเสียมากกว่าผลดี ในระหว่างการเล่น เราต้องคุมตัวเอง ไม่ไปคิดเอาชนะ (แต่ไม่ยอมแพ้ แล้วเราจะเล่นยังไงล่ะ!?? ) แท้จริงคือ การแข่งกันทนความยั่วจากสถานการณ์ที่มาชักจูงให้เกิดความโลภ อยากทำลายคู่ต่อสู้ ผู้ชนะคือผู้ที่ทนยั่วที่จะเอาชนะได้นานกว่า เพราะอีกฝ่ายที่อยากเอาชนะจะแพ้ให้ก่อน ผู้ที่ไม่คิดเอาชนะก็จะกลายเป็นชนะไปเอง การชนะจึงมาจากการที่สังคมมอบให้ ห้ามไปเอามา!!! ในชีวิตประจำวัน เราก็ไม่ควรไปเอาชนะใคร เพราะใครๆ ก็ไม่อยากแพ้ และเสียหน้า องค์กรควรใช้ทรัพยากรที่มีน้อยไปในการพัฒนาตนเอง หนีคู่แข่ง ไม่ควรใช้ทรัพยากรไปในการทำลายคู่แข่ง เพราะนอกจากจะสร้างความบาดหมางแล้ว ยังมิได้ใช้ทรัพยากรไปในทางสร้างสรรค์

ขัยชนะทีแท้จริง คือการบรรลุเป้าหมายของงาน ไม่ใช่การเอาชนะอีกฝ่ายหนึ่ง และนี่คือเหตุผลเบื้องหลังปรัชญา “ชนะได้เพราะไม่คิดเอาชนะ” คุณก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์

(ถอดความบางส่วนจาก CEO โลกตะวันออก ฉบับเข้มข้น ,ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ , สำนักพิมพ์บุ๊คสไมล์)

หมายเหตุ สอนวิธีการเล่นหมากล้อม(GOH) ที่ http://www.thaibg.com/template.php?CenterFile=go_rule.html&Title=Go%20Rule

คุณทักษิณ ได้วางหมากกลล้อมประเทศไทยไว้แล้วในทุกด้าน เพื่อให้เป้าหมายของเขาบรรลุจุดประสงค์ ขึ้นอยู่กับประชาชนผู้รักชาติ รักในหลวงว่าจะเล่นในเกมของเขาหรือไม่ จะยอมให้ถูกล้อม หรือจะแก้เกมด้วยการสู้ทุกทางไม่ให้ถูกล้อม ซึ่งในที่สุดจะต้องมีผู้ชนะในเกมนี้อยู่ดี ซึ่งคุณทักษิณอาจเป็นผู้แพ้เสียเองก็เป็นได้ หากทุกฝ่ายที่อยู่ตรงกันข้ามกับคุณทักษิณไม่ยอมที่จะให้เป้าประสงค์ของคุณทักษิณสำเร็จตามความมุ่งหมาย และไม่ว่าผลจะออกมาเป็นเช่นไร สิ่งที่ประชาชนกลัวที่สุดก็คือ เกมล้มกระดาน ซึ่งนั่นจะทำให้เหตุการณ์บานปลาย กลายเป็นความขัดแย้ง จลาจลขึ้นมาอีก เหมือนเหตุการณ์เผาบ้านเผาเมือง แล้วจะให้ประชาชนอย่างเราๆ ทำอย่างไรดี อันนี้จึงเป็นคำถามที่อยากให้ทุกคนไปลองคิดดูสิครับ ผมคงคิดแทนคนทุกคนไม่ได้ เพราะเวลาที่รัฐบาลหรือผู้มีอำนาจเขาจะทำอะไร เขาไม่เคยมาถามหาประชามติของประชาชนก่อน หรือทำประชาพิจารณ์ก่อนซักกะเรื่องเลย ดังนั้นประชาชนตาดำๆ คงต้องก้มหน้ารับเวรรับกรรมกันต่อไป สำหรับชะตากรรมของประเทศนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น