วันจันทร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2555

คลินิกการเงิน ตอนบทเรียนชีวิต หลักคิดเรื่องเงิน

พอข้ามปีใหม่มา สิ่งที่ยังเป็นคำถามขึ้นมาในหัวสมองเราทุกๆ ปีก็คือ ปีนี้เราจะเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาตัวเราเองใหม่อย่างไรบ้าง สิ่งที่ไม่ดีเราจะทิ้งมันไปกับปีเก่า และเริ่มทำในสิ่งใหม่ๆ ที่ดีกว่า แต่สุดท้ายเราก็ไม่เคยได้ทำอะไรใหม่ๆ ให้มันดีขึ้นเลย ยังคงมีพฤติกรรมแบบเก่าๆ แบบเดิมๆ นี่คือสิ่งที่คนส่วนใหญ่มักจะเป็นกัน ปัญหาหนึ่งที่ทุกคนรอบข้างของผู้เขียนมักจะบ่นหรือเปรยให้ฟังตลอดเวลาก็ยังคงเป็นเรื่องเงินๆ ทองๆ (อันนี้คงเป็นปัญหาสำหรับทุกๆคนนั่นแหละที่อยู่ในโลกของทุนนิยมแบบนี้ หลีกเลี่ยงไม่ได้) คนจนก็จะบ่นว่าซื้อหวยงวดนี้ถูกกินอีกแล้ว เล่นพนันบอลเสียไปหลายคู่ ส่วนคนชั้นกลางกินเงินเดือนก็จะบ่นว่าไม่รู้ปีนี้จะได้โบนัสกี่เดือน หรือเงินเดือนจะขึ้นเท่าไหร่ ของฉันจะน้อยกว่าเพื่อนมั๊ย จะได้เลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่งมั๊ย หัวหน้าจะโปรโมทมั๊ยงวดนี้ ในขณะที่คนรวยหรือคนที่มีฐานะหน่อยก็จะบ่นว่าปีนี้ธุรกิจจะไปรอดมั๊ย ยอดขายจะเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ กำไรจะดีขึ้นมั๊ย เงินที่เอาไปลงทุนกับทองคำแท่งไว้จะขายดีหรือถือต่อ แล้วหุ้นในพอร์ตจะเป็นอย่างไร เอาเงินไปลงขันกับเพื่อนทำธุรกิจจะรอดมั๊ย จะถูกโกงหรือไม่ แล้วที่ดิน อสังหาจะกำไรหรือขายได้มั๊ย ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องของเงินๆ ทองๆ แทบทั้งสิ้น บอกได้เลยว่าเงินตราก็คืออาวุธหรือปัจจัยหลักของการดำเนินชีวิตในยุคปัจจุบันซึ่งเป็นยุคโลกาภิวัตน์ เป็นยุคของโลกเสรี ทุนนิยม โลกของการตลาด บริโภคนิยม แนวๆ นี้ เงินตราเป็นทั้งมูลค่าหรือสิ่งที่เอาไว้บ่งบอกสถานะทางสังคม เป็นทั้งเครื่องมื่อในการแลกเปลี่ยนสินค้า บริโภค และชำระราคา เป็นทั้งอาวุธในเกมการแข่งขัน การลงทุน และสุดท้ายตัวมันเองก็เป็นสินค้าไปเสียเองด้วยในยุคนี้ ซึ่งมีการตีมูลค่า ที่เรียกว่าค่าของเงินต่างๆ มีการอ่อนค่า เพิ่มค่า ปรับสถานะของค่าเงินได้อย่างรวดเร็ว จนเราเวียนหัว จนทุกวันนี้เราตกเป็นทาสของเงินตรา เป็นเป้าหมายสำคัญที่มนุษย์ทุกคนอยากได้อยากมี เราไม่สามารถจะหลุดพ้นไปจากวงจร วัฏจักรของความโลภ ความกลัวที่จะใช้มัน มีมัน ครอบครองมัน หรือแสวงหามันมาให้ได้มากพอ หรือเพียงพอ ให้สมดุลกับวิถีชีวิต สนองตอบต่อตัณหา กิเลส ที่ไม่มีที่สิ้นสุดได้ เราจึงเผชิญกับปัญหาเส้นผมบังภูเขาอยู่เป็นนิจ เกี่ยวกับการได้มา และใช้ไปของเงิน อย่างไม่สมเหตุสมผล หรืออย่างไม่ระมัดระวัง จนต้องตกเป็นทาสรับใช้มันทุกทีไป


เมื่อ 9 ปีที่แล้ว ตอนที่ผู้เขียนเริ่มประสบปัญหาชีวิต ประสบปัญหาทางการเงินอย่างรุนแรงกับตนเองและครอบครัว ซึ่งเป็นปัญหาทางด้านการเงินนั้น ผู้เขียนไม่รู้จะไปปรึกษาใครดี เพราะคนที่เรารู้จักและสนิทด้วยนั้นต่างมองว่าผู้เขียนมีเครดิต ความน่าเชื่อถือที่ดี มีหน้าที่การงาน ฐานะการเงินก็น่าจะดี ทำให้เรามีความทุกข์ที่ไม่อาจจะหันไปปรึกษาคนที่สนิทได้ แม้แต่คนที่เราไว้วางใจก็ไม่อยากจะไปรบกวนเขา แล้วทางออกที่ดีที่ทำให้ผู้เขียนทำในตอนนั้นก็คือ การค้นคว้าหาข้อมูล อ่านหนังสือแนวบริหารการเงิน การเงินส่วนบุคคล ที่ดีๆ ที่มีในท้องตลาดตอนนั้น พยายามจับหลักคิด ศึกษาจากประสบการณ์ของผู้เขียนหนังสือเหล่านั้น หนังสือที่มีอิทธิพลต่อความคิดของผู้เขียนมีหลายเล่ม เช่น ในตระกูลของพ่อรวยสอนลูก Rich Dad Poor Dad ของโรเบิร์ต ฮิโยซากิ , โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี ของ ดร.วรากรณ์ สามโกเศส ,บทเรียนชีวิต หลักคิดเรื่องเงิน The Laws of Money,The Lessons of Life ของ ซูซี่ ออร์แมน , เงิน เรื่องใหญ่ ที่โรงเรียนไม่เคยสอน ของ มณฑาณี ตันติสุข , ลาออกมาเป็นนาย ของที คมกฤส เป็นต้น และ 1 ในจำนวนหนังสือเหล่านั้นที่ผู้เขียนอยากจะหยิบเอาเกร็ดข้อคิดดีๆ มานำเสนอ เพราะเป็นหลักคิดที่ผู้เขียนก็ยังใช้อยู่เสมอก็มาจากผู้เขียนหญิงแกร่งทั้ง 2 ท่านคือ ซูซี ออร์แมน และมณฑาณี ตันติสุข จากหนังสือชื่อดังของเขาทั้ง 2 เล่ม ก็คือ The Laws of Money,The Lessons of Life ชื่อไทยของหนังสือคือรู้แล้วรวย และเงินเรื่องสำคัญที่โรงเรียนไม่เคยสอน จะกล่าวโดยสังเขปดังนี้
กฎแห่งเงินตรา บทเรียนชีวิต หลักคิดเรื่องเงิน โดย ซูซี่ ออร์แมน กล่าวไว้ว่า

1.ความจริงสร้างเงิน ความเท็จทำลายเงิน จงอย่าโกหกตัวเองและคนอื่นเรื่องฐานะการเงินของเราที่แท้จริง

2.มองดูสิ่งที่คุณมีอยู่ในขณะนี้ ไม่ใช่สิ่งที่คุณเคยมี จงมองฐานะการเงินและศักยภาพที่แท้จริงของเรา จากปัจจุบันไม่ใช่อดีต แล้วประมาณตัวเองให้ได้

3.ทำสิ่งที่ถูกต้องสำหรับตัวคุณ ก่อนทำสิ่งที่ถูกต้องสำหรับเงินของคุณ ให้รางวัลชีวิตตัวเองก่อนเสมอ ใช้จ่ายในสิ่งที่เป็นพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับชีวิตก่อนเสมอ แล้วถ้ามันยังเหลือเฟือจริงๆ ค่อยนำเงินไปใช้จ่ายในของที่ไม่จำเป็นกับชีวิต

4.ลงทุนในสิ่งที่ตัวเรารู้ ก่อนสิ่งที่ตัวเราไม่รู้ คือการลงทุนเป็นเรื่องของศาสตร์และศิลป์ ที่จะต้องลงไปศึกษาด้วยตัวเอง ไม่สามารถเรียนลัดหรือไปฝากความหวังหรือโอกาสไว้กับบุคคลอื่น และไม่สามารถเชื่อหรือทำตามคนอื่นแล้วจะประสบความสำเร็จได้ง่ายๆ เพราะการลงทุนย่อมหวังผลกำไร แต่การลงทุนมีทั้งโอกาสที่จะได้กำไรและขาดทุนพอๆ กันเสมอ

5.จำไว้เสมอว่า เงินไม่มีอำนาจในตัวมันเอง เราคือผู้ควบคุมเงินของเราอย่างแท้จริง อำนาจของเงินจะมีมากขึ้นหรือน้อยลง ล้วนกำหนดโดยตัวเรา ซึ่งจะต้องเป็นผู้วางแผน จัดการด้วยตัวเราเองทั้งสิ้น

 ซูซี ออร์แมน เป็นผู้เขียนหนังสือที่ติดอันดับขายดีของหนังสือพิมพ์ New York Times ติดต่อกันสามเรื่อง คือ The Road to Wealth, The Courage to Be Rich, และ The 9 Steps to Financial Freedom และเป็นผู้เขียนหนังสือที่ติดอันดับขายดีในสหรัฐอเมริกาเรื่อง You’ve Earned it, Don’t Lose it


ด้านงานโทรทัศน์ ซูซีเป็นบรรณาธิการฝ่ายการเงินส่วนบุคคล ให้กับสถานีโทรทัศน์ CNBC เป็นเจ้าของรายการ The Suze Orman Show ทาง CNBC ซึ่งออกอากาศทุกสุดสัปดาห์ และเป็นบรรณาธิการร่วมของ O The Oprah Magazine เธอเขียน และร่วมผลิตและเป็นเจ้าของพีบีเอสโชว์อีก 3 รายการที่เสนอเรื่องราวตามหนังสือขายดีของเธอ และจัดเป็นรายการที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดรายการหนึ่งในประวัติศาสตร์ของการจัดหาเงินผ่านโทรทัศน์ภาครัฐ

ซูซี ได้รับการกล่าวขวัญจากหนังสือพิมพ์ USA Today ให้เป็น “ผู้นำในโลกของการเงินส่วนบุคคล” และ “ที่ปรึกษาทางการเงินสตรีที่ทรงอิทธิพล ต่อมาในปี 1999 นิตยสาร Smart Money บรรจุชื่อเธอไว้ในทำเนียบสามสิบ นายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) ชั้นยอดในสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้นิตยสาร Worth ฉบับที่ 100 ก็ยกย่องให้เธอเป็น 1 ในจำนวน 5 คนที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้ารับ TJFR Group Business News Luminaries Award อันทรงเกียรติ ในฐานะนักหนังสือพิมพ์ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในชีวิต เมื่อปี 2002 ด้วย ปีถัดมาเธอได้รับการเสนอชื่อเข้าสู่หอเกียรติคุณแห่งรางวัลหนังสือเพื่อชีวิตที่ดีกว่า (Books for a Better Life Award’s Hall of Fame) เพื่อยกย่องที่เธอมีส่วนส่งเสริมอย่างต่อเนื่องในเรื่องการปรับปรุงตัวเอง

ซูซีร่วมงานกับจีอีแคปปิตอลในการออกแบบกรมธรรม์ที่เสนอทางเลือกใหม่ เพื่อกระตุ้นให้คนตื่นตัวด้านความต้องการปกป้องอนาคตทางการเงินของตัวเอง ซึ่งเป็นกรมธรรม์ระยะยาว ให้สิทธิประโยชน์ตามที่เธอเห็นว่าสำคัญ

ประวัติการทำงานของซูซีโดยสังเขป มีดังนี้

ปี 1987 -1997 บริหารบริษัท ซูซีออร์แมนไฟแนนเชียลกรุ๊ป

ปี 1983 -1987 เป็นรองผู้อำนวยการฝ่ายการลงทุนของบริษัทหลักทรัพย์พรูเดนเชียลแบซ

ปี 1980 -1983 เป็นผู้บริหารฝ่ายบัญชีของบริษัทเมอร์ริลลินซ์

ปี 1973 -1980 เป็นพนักงานเสิร์ฟที่ร้านบัตเทอร์คัปเบเกอรี่ ในเมืองเบิร์กลีย์ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย

ปัจจุบันซูซี่ยังคงทำรายการทีวีโชว์ร่วมกับโอปราห์ วิมฟรี่ย์ เพื่อนสนิท และเป็นที่ปรึกษาด้านการวางแผนการเงิน เป็นวิทยากรรับเชิญเดินทางไปบรรยายเกี่ยวกับเรื่องการเงินส่วนบุคคลทั่วอเมริกาและแอฟริกาใต้ เพื่อช่วยให้คนทั่วไปเปลี่ยนแปลงแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องการเงิน

ผลงานเขียนหนังสือ

You've Earned It, Don't Lose It: Mistakes You Can't Afford to Make When You Retire (with Linda Mead) (1995)

The Nine Steps To Financial Freedom (1997)

The Courage to Be Rich (1999)

The Road to Wealth (2001)

The Laws of Money, the Lessons of Life... (2003)

The Money Book for the Young, Fabulous and Broke (2005)

Women and Money: Owning the Power to Control Your Destiny (2007)

Suze Orman's 2009 Action Plan (2009)

Suze Orman's 2010 Action Plan (March 2010)

The Money Class: Learn to Create Your New American Dream (March 2011)

เว็บไซต์ส่วนตัวของเธอคือ http://www.suzeorman.com/


กฎ 5 ข้อ เพื่ออิสรภาพทางการเงินและความผาสุกของชีวิต โดย มณฑาณี ตันติสุข กล่าวไว้ว่า

1.ทันทีที่ได้รายได้เข้ามา ให้จ่ายให้ตัวเองก่อนเสมอ คือกันเงินส่วนออมไว้ก่อนเสมอ เช่น เก็บไว้ออมก่อนเลยสัก 10% เสมอ หรือมากกว่านั้น ในกรณีที่เราทราบรายได้ที่ตายตัวของเรา

2.ซื้อเฉพาะของที่มีคุณค่า โดยเทียบคุณภาพกับราคาที่ต้องจ่ายไป ขยายความถึงของที่จำเป็นหรืออยากได้จริงๆ และเลือกเฉพาะวัตถุดิบที่ดี ใช้ได้นาน คงทน คุ้มค่า มีมูลค่าเพิ่ม หากจะซื้อแพงไปนิดนึง ก็ถือว่าคุ้มค่าราคาจริงๆ

3.จ่ายเงินตรง และลงบันทึกการเงินทุกครั้ง เช่น หนี้บัตรเครดิต หรือ Personal Loan ถ้าจ่ายตรงตามวัน จะไม่เสียดอกเบี้ยหรือค่าปรับตามมา ซึ่งจะกลายเป็นต้นทุนของหนี้ที่สูงมากตามมา

4.ตั้งเป้าหมายด้านการเงินไว้ แล้วเดินไปตามแผน วางแผนหารายได้ และควบคุมค่าใช้จ่ายให้ได้ตามแผน ก็จะทำให้เหลือเงินเก็บหรือความมั่งคั่งตามมาอย่างแน่นอน

5.ให้ก่อนแล้วจึงได้รับ ของบางอย่างต้องมีการลงทุนใช้จ่ายเผื่อไปก่อน เพื่อผลประโยชน์ที่จะได้รับในวันข้างหน้า ซึ่งคำนวณแล้วว่าคุ้มค่ากว่า เช่น การใช้จ่ายเรื่องการศึกษา สุขภาพ ธุรกิจด้านสิ่งแวดล้อม ฯลฯ

หลักคิดเหล่านี้ล้วนนำไปปรับใช้กับชีวิตทุกคนได้ และก็จะทำให้เราหลุดพ้นจากวงจรอุบาทว์ด้านการเงินกันเสียที ที่จะทำให้เราเรียนรู้ อยู่กั่บเงินตราได้อย่างพอเพียง ไม่โลภ แต่ก็ไม่ตระหนี่ มัธยัสต์ อัตคัด ขัดสน โง่ จน เจ็บอีกต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น