“มังกร”เป็นสัตว์ในเทพนิยายของหลายชาติด้วยกัน มังกรของบางชาติก็มีนิสัยดุบ้าง ในขณะที่บางชาติก็นิสัยดี แต่ที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ การที่มังกรมักจะปรากฏอยู่คู่ชาวจีนและแผ่นดินจีนอยู่เสมอ เช่น เรามักจะพบเห็นได้ว่ามีการเปรียบชาวจีนเป็นชาติมังกรบ้าง เปรียบแผ่นดินจีนเป็นดินแดนมังกรบ้าง เป็นต้น แต่ไม่ว่าจะเปรียบกันในแง่มุมไหน สิ่งที่เป็นที่รับรู้กันทั่วไปอีกประการก็คือ การที่มังกรเป็นสัญลักษณ์ของจักรพรรดิจีน การใช้มังกรเป็นสัญลักษณ์ของจักรพรรดิจีนดังกล่าว หากดูอย่างผิวเผินแล้วย่อมไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะไม่ว่าชาติไหนๆ ต่างก็มักจะนิยมนำเอาสัตว์อันเป็นมงคลหรือมีความศักดิ์สิทธิ์มาเป็นสัญลักษณ์ให้กับผู้มีฐานะสูงส่ง แต่สิ่งที่ต่างออกไปก็คือ ในกรณีของจีนนั้นนับว่ามีความหมายที่ลึกซึ้งอยู่ไม่น้อย ทั้งนี้เพราะจีนเป็นสังคมที่มีเงื่อนไขบางประการมากำหนดให้แตกต่างไปจากชาติอื่นๆ อยู่อย่างน้อย 2 ประการด้วยกัน ประการแรก จีนเป็นชาติที่มีแผ่นดินกว้างใหญ่ไพศาล ประการที่สอง จีนเป็นชาติที่มีจำนวนประชากรมากมายมหาศาล เป็นความจริงที่ว่า เงื่อนไขประการแรก นั้นมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา คือหากยึดเอาแผ่นดินจีนตามแผนที่จีนในปัจจุบันเป็นตัวตั้งแล้ว ก็จะพบว่า บางสมัยจีนก็มีแผ่นดินกว้างใหญ่ไพศาล บางสมัยก็เล็กกว่า แต่ถ้าเปรียบเทียบกับชาติอื่นๆ แล้ว จีนยังคงนับได้ว่าเป็นชาติที่มีแผ่นดินกว้างใหญ่กว่าชาติอื่นๆ อยู่ดี ส่วนเงื่อนไขในประการต่อมานั้นแทบมิต้องกล่าวถึง เพราะไม่ว่ายุคสมัยใดก็ตาม จีนล้วนมีอัตราส่วนจำนวนประชากรที่มากกว่าชาติอื่นๆ มาโดยตลอด ก็ด้วยเงื่อนไขทั้ง 2 ประการดังกล่าว จึงกลายเป็นเหตุผลที่ว่า ไม่ว่าใครก็ตามเมื่อก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำสูงสุดแล้ว คนผู้นั้นไม่เพียงจะต้องได้รับการยอมรับจากประชากร (อันมากมายมหาศาล) เป็นพื้นฐานเท่านั้น หากยังจะต้องมีอำนาจเพียงพอที่จะบริหารจัดการขอบขัณฑสีมาอันกว้างใหญ่ไพศาลให้มีความมั่นคงอยู่ต่อไปไห้ได้อีกด้วย จากเงื่อนไขที่ว่านี้ทำให้เห็นว่า ฐานะการเป็นจักรพรรดิจีนนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ไม่ว่าทั้งก่อนและหลังจากที่คนคนนั้นก้าวขึ้นมาเป็นจักรพรรดิแล้ว ด้วยเหตุนี้ การศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับจักรพรรดิจีนผู้มี “มังกร” เป็นสัญลักษณ์จึงมีความสำคัญอยู่ไม่น้อย ในอันที่จะทำให้เราเข้าใจระบบการเมืองการปกครองของจีนในอดีตกาล ว่ามีสิ่งที่แตกต่างอย่างไรจากสังคมอื่น และยังคงมีอิทธิพลต่อการเมืองจีนในปัจจุบันหรือไม่อย่างไร ถึงแม้ในปัจจุบันนี้จีนจะมิได้ปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แล้วก็ตาม
กำเนิดมังกร
ไม๋เป็นที่ชัดแจ้งว่า มังกรของจีนนั้นมีกำเนิดตั้งแต่เมื่อไร แต่เชื่อกันว่าผู้ให้กำเนิดมังกรนั้นคือ “หวงตี้” หรือ “จักรพรรดิเหลือง” ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นกษัตริย์หรือจักรพรรดิองค์แรกของจีน (รายละเอียดเกี่ยวกับหวงตี้จะได้กล่าวถึงต่อไป)
กล่าวกันว่าเมื่อหวงตี้สามารถรวบรวมชนเผ่าต่างๆ ของจีนที่อาศัยอยู่ตรงบริเวณลุ่มแม่น้ำเหลืองหรือหวงเหอ (Yellow River) ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้ว หวงตี้จึงทรงคิดอ่านที่จะสร้างสัญลักษณ์ขึ้นมาใช้สำหรับอาณาจักรใหม่ที่รวบรวมมาได้ หวงตี้เห็นว่า จำเดิมก่อนที่จะมีการรวบรวมชนเผ่าต่างๆ ขึ้นมานั้น แต่ละชนเผ่าจะมีสัญลักษณ์เป็นของตนเองอยู่แล้ว และสิ่งที่ถูกเลือกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของเผ่า หากไม่เป็นสัตว์ต่างๆ ก็จะเป็นดอกไม้ (totem) ดังนั้น เมื่อหวงตี้ทรงคิดที่จะสร้างสัญลักษณ์ขึ้นมาใหม่ พระองค์จึงนำสัญลักษณ์เดิมของแต่ละเผ่ามารวมกัน วิธีการก็คือ เลือกตัดเอาเฉพาะอวัยวะบางส่วนของสัตว์สัญลักษณ์เหล่านั้นมารวมกันเป็นสัตว์ตัวใหม่ และเมื่อประกอบกันเข้าแล้ว สัตว์สัญลักษณ์ตัวใหม่จึงปรากฏออกมาโดยมีรูปร่างหน้าตาเป็น “มังกร” ดังที่เราเห็นในปัจจุบัน อวัยวะบางส่วนของสัตว์สัญลักษณ์เดิมที่ถูกตัดเอามาประกอบเข้าเป็นมังกรนั้น อาจแยกได้ดังนี้ ส่วนหัวเป็นสัญลักษณ์ของเผ่าวัว ,ลำตัวของเผ่างู ,เกล็ดและหางของเผ่าปลา, เขาของเผ่ากวาง, และเท้าของเผ่านก รวมแล้วมาจากสัตว์สัญลักษณ์ 5 ชนิดด้วยกัน หากพิจารณาจากที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่า อวัยวะของสัตว์ทั้งห้าชนิดยังไม่ครบตามที่ได้ปรากฏจริงในตัวของมังกร เช่น หนวดมังกรก็ไม่ได้กล่าวไว้ว่ามาจากอวัยวะของสัตว์สัญลักษณ์ตัวใด เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ จึงไม่แปลกที่ว่าในชั้นหลังต่อมาจะมีผู้ศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับมังกรเพิ่มเติมขึ้นมา แล้วได้ข้อสรุปที่แตกต่างกันออกไป เช่นว่า มังกรมีหัวมาจากอูฐ ,มีตามาจากปีศาจหรือตัวมาร หรือกระต่าย ,มีคอมาจากงู ,มีส่วนท้องมาจากหอยแครงยักษ์ ,มีเล็บมาจากนกอินทรี, มีฝ่าเท้ามาจากเสือ ,และมีหูมาจากวัว เป็นต้น คงกล่าวไม่ได้ว่าความแตกต่างดังกล่าวใครถูก-ใครผิด หรือใครถูกมากกว่า-ใครผิดมากกว่า เพราะเอาเข้าจริงๆแล้ว ผู้ศึกษาแต่ละคนต่างก็ศึกษาจากภาพมังกรทั้งสิ้น และจากภาพที่วาก็เห็นได้ชัดถึงรูปร่างหน้าตาที่แตกต่างกันไปของมังกรอีกด้วย แต่สิ่งที่น่าทึ่งไม่น้อยก็คือ แม้ไม่อาจระบุได้ว่า มังกรของจีนจะถือกำเนิดหรืออยู่ในความเชื่อของชาวจีนมาตั้งแต่เมื่อไร แต่จากการค้นพบมังกรหยกสีเขียวเข้มด้วยความบังเอิญของชาวนาคนหนึ่งในขณะกำลังปลูกต้นไม้ (ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่เสมอในจีน) ที่มองโกเลียใน (Inner Mongolia) เมื่อปี 1971 นั้นชวนให้ตะลึงไม่น้อย เพราะหลังจากที่มีการพิสูจน์ทางโบราณคดีแล้วก็พบว่า มังกรหยกชิ้นดังกล่าวมีอายุไม่ต่ำกว่า 5000 ปีมาแล้ว ซึ่งเท่ากับว่าจัดอยู่ในยุคหินใหม่(Neolithic) หรือที่จีนเรียกว่า “ยุควัฒนธรรมหงชาน” มังกรหยกชิ้นนี้มีลำตัวยาวกว่า 50 เซนติเมตร มีปากยาว จมูกสูง ตาโต มีหลังที่ถูกตกแต่งเป็นแผงยาว จากรูปร่างหน้าตาดังกล่าว มีบางคนเห็นว่าหยกชิ้นนี้มีรูปร่างหน้าตาที่ใกล้เคียงกับหมู ในแง่นี้มีเหตุผลน่าเชื่ออยู่ด้วย เพราะหมูจัดเป็นสัตว์เลี้ยงรุ่นแรกๆ ที่มนุษย์รู้จักมาตั้งแต่ยุคบุพกาล และเป็นสัตว์ที่ถูกนำมาเซ๋นสังเวยให้แก่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในยุคสมัยเดียวกันนี้ด้วย ด้วยเหตุผลที่วา นักโบราณคดีจึงสันนิษฐานว่า บางทีหมูอาจจะเป็นต้นแบบของมังกรที่เราเห็นกันในปัจจุบันก็ได้ ซึ่งหากพิจารณาถึงเหตุผลในเชิงวิทยาศาสตร์สังคมแล้ว นับว่ามีน้ำหนักน่าฟังและน่าสนใจอยู่ไม่น้อย แม้มังกรจะถูกอธิบายอยางแตกต่างกันไป แต่สิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นความหมายที่โดดเด่นในกรณีมังกรของจีนก็คือ มังกรจีนจะมีรูปร่างหน้าตาที่แตกต่างไปจากมังกรของชาติอื่นๆ และมังกรจีนเองยังมีความแจ่มชัดถึงที่มา ว่ามาจากการรวบรวมชนเผ่าต่างๆ ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันโดยหวงตี้ ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่เมื่อเวลาผ่านไปจนเมื่อจีนตระหนักถึงความสำคัญของการรวมชาติให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้ว มังกรจะถูกเลือกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์อย่างต่อเนื่องยาวนานนับเป็นพันๆ ปี และผู้ที่ใช้สัญลักษณ์นี้ทั้งในรูปแบบและเนื้อหาในฐานะที่เป็นศูนย์รวมแห่งอำนาจ และศูนย์รวมแห่งจิตใจของชาวจีนก็คือ จักรพรรดิ
จากมังกรมาถึงเกร็ดความรู้เกี่ยวกับจักรพรรดิ
เรื่องราวความเป็นมาของจักรพรรดิจีนนั้นมีรายละเอียดที่ค่อนข้างจะสลับซับซ้อน แต่ก็สามารถแยกถึงที่มาได้โดยภาพรวมว่า ด้านหนึ่ง เป็นที่มาที่อธิบายผ่านตำนานปรัมปรา ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่อาจยืนยันได้ว่าจริงหรือเท็จ อีกด้านหนึ่งเป็นที่มาที่อธิบายผ่านเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์จี่นเอง ในด้านนี้มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือกว่าด้านแรก ในด้านแรกที่เป็นตำนานนั้น ชี้ให้เห็นว่า จีนเองก็ไม่ต่างไปจากอีกหลายๆ ชาติที่มักจะอธิบายที่มาของตนโดยผ่านตำนาน ตำนานที่เต็มไปด้วยความพิสดารและปาฏิหารย์มหัศจรรย์พันลึก กล่าวคือ จีนมีตำนานที่บอกเล่าถึงเทพที่ไม่อาจอธิบายตัวตนเชิงรูปธรรมได้ เทพที่ว่านี้ประกอบด้วยเทพสวรรค์หรือ “เทียนหวง” เทพพิภพหรือ “ตี้หวง” และเทพมนุษย์หรือ “เหญินหวง” รวมเรียกว่า “ไตรเทพ” หรือ “ชานหวง” จากนั้นจึงเป็นเรื่องราวของผู้ทึ่ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ให้กำเนิดชาติจีนขึ้นมา นั่นคือ หวงตี้ ควรกล่าวด้วยว่า ก่อนที่จะมีหวงตี้นั้น จีนยังมีผู้นำที่มีบทบาทสูงอยู่อีกจำนวนหนึ่ง เช่น คนหนึ่งคือ อิ่วเฉา ผู้ได้ชื่อว่าเป็นผู้สอนให้มนุษย์รู้จักการสร้างที่อยู่อาศัย คนหนึ่งคือ ซุ่ยเหญิน ผู้สอนให้มนุษย์รู้จักการใช้ไฟ คนหนึ่งคือ ฝูซี ผู้สอนให้มนุษย์รู้จักเครื่องมือในการหาปลาและล่าสัตว์ และอีกคนหนึ่งคือ เสินหนง ผู้สอนให้มนุษย์รู้จักการทำการเกษตร เป็นต้น คงด้วยคุณูปการดังกล่าว ทำให้ทั้งหมดนี้ได้รับการยกย่องให้เป็นเทพเจ้าในที่สุด ผิดกับหวงตี้ ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทต่อจากเทพเหล่านั้น กล่าวคือหวงตี้สามารถสู้รบกับศัตรูผู้รุกรานจนได้รับชัยชนะ จากนั้นก็ทรงรวบรวมชนเผ่าต่างๆ ตรงบริเวณลุ่มแม่น้ำเหลืองเป็นปึกแผ่นเข้าด้วยกัน ทั้งนี้เป็นไปโดยการยอมรับของประชาชนในเวลานั้น ด้วยเหตุนี้ ประชาชนจึงพร้อมใจกันยกย่องให้หวงตี้เป็นผู้ปกครองของพวกตน ตลอดการปกครองของหวงตี้ ได้มีการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ขึ้นมามากมาย เช่น เสื้อเกราะ เรือ เกวียน เครื่องปั้นดินเผา การแพทย์ คณิตศาสตร์ ผ้าไหม สถาปัตยกรรม เป็นต้น จึงไม่แปลกใจที่ด้วยคุณูปการเหล่านี้เองที่ทำให้หวงตี้ได้รับการยกย่องให้เป็นผู้ปกครองสูงสุดคนแรกของจีน หวงตี้จึงมีฐานะเป็นกึ่งเทพกึ่งมนุษย์ไปด้วย ไม่เหมือนกับเทพก่อนหน้านั้น กล่าวเฉพาะหวงตี้แล้ว ยังคงเป็นที่สงสัยกันว่า พระองค์มีตัวตนจริงหรือไม่? หรือเป็นเพียงแค่ตำนานเพื่อให้ชาวจีนมีเรื่องเล่าถึงที่มาของตน? ข้อสงสัยนี้หากกล่าวในแง่หลักฐานแล้วอาจสรุปได้ว่า เรื่องราวของพระองค์ไม่น่าจะเป็นเรื่องจริง เพราะไม่มีพยานหลักฐานอันใดยืนยันในทางวิชาการ จะมีก็แต่เพียงการสันนิษฐานเท่านั้น ว่าพระองค์น่าจะมีตัวตนอยู่จริง เพราะเรื่องราวของพระองค์ได้ถูกกล่าวถึงเมื่อจีนเริ่มมีราชวงศ์แรกขึ้นมานั่นคือ ราชวงศ์เชี่ย (2100-1600 ปีก่อน ค.ศ.) ต่อมาคือ ชาง (1600-1066 ปีก่อน ค.ศ.) และโจว (1066-221 ปีก่อน ค.ศ.) เกี่ยวกับเรื่องนี้คงถือเป็น ภาระของนักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีต่อไป
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากสมัยหวงตี้ไปแล้ว ยุคตำนานที่ว่านี้ยังมีกษัตริย์ขึ้นมาปกครองจีนอีก 4 พระองค์คือ จวนชวี คู่ เหยา และชุ่น โดยทั้งสี่พระองค์ต่างก็มีคุณูปการที่โดดเด่นแตกต่างกันไป และตามตำนานก็ได้ยกย่องให้เป็นผู้นำโดยใช้คำว่า “ตี้” เรียกต่อท้ายพระนามของแต่ละพระองค์ อย่างไรก็ตาม แม้โดยบทบาทของหวงตี้จะโดดเด่นมากกว่าก็ตาม แต่ชาวจีนก็ตั้งใจที่จะนำพระองค์ไปรวมเข้ากับกษัตริย์ทั้งสี่นี้แล้วเรียกว่า “ห้าจักรพรรดิ” หรือ “อู่ตี้” จากนั้นประวัติศาสตร์จีนจึงเข้าสู่ยุคสมัยที่มีราชวงศ์ขึ้นมา อันสะท้อนถึงพัฒนาการทางการเมืองที่เริ่มมีความเป็นระบบมากขึ้น ราชวงศ์ที่ว่านี้มีอยู่ 3 ราชวงศ์ ด้วยกันคือ เชี่ย ชาง และโจว ในสามราชวงศ์นี้ ราชวงศ์เชี่ย จัดเป็นราชวงศ์ที่ยังมีหลักฐานทางโบราณคดีอยู่น้อย ส่วนราชวงศ์ชางและโจวนั้นเริ่มมีมากขึ้น ดังนั้น ราชวงศ์เชี่ยจึงมักจะมีความลักลั่นกันระหว่างยุคตำนานกับยุคต้นประวัติศาสตร์ ในปัจจุบันนี้ แม้จะมีการพบหลักฐานทางโบราณคดีที่มีอายุ ตรงกับสมัยราชวงศ์เชี่ยก็ตาม แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะยืนยันได้อย่างชัดเจนถึงการมีอยู่ของราชวงศ์นี้ จะว่าไปแล้วก่อนหน้านี้ประมาณร้อยปี (คือในปลายสมัยราชวงศ์ชิง) ราชวงศ์ชางอันเป็นราชวงศ์ที่สืบต่อจากราชวงศ์เชี่ยเองก็มีฐานะไม่ต่างกันมากนัก นั่นคือ มีแต่บันทึกที่กล่าวอ้างถึงการมีอยู่ของราชวงศ์ แต่ไม่มีหลักฐานทางโบราณคดีมาพิสูจน์ จนเมื่อมีการค้นพบ “กระดูกมังกร” หรือที่เรียกในเวลาต่อมาว่า “เจียกู่เหวิน” นั้น จึงทำให้ราชวงศ์ชางได้รับการยืนยันถึงการมีอยู่จริงในที่สุด กรณีของราชวงศ์เชี่ยอาจตั้องรอเช่นนั้นเหมือนกัน อย่างไรก็ตาม การมีอยู่จริงของราชวงศ์ชางนับว่ามีความหมายอย่างมาก นั่นคือ จากหลักฐานที่ค้นพบได้ทำให้เรารู้ว่า ราชวงศ์ชางมีพิธีกรรมอันเกี่ยวกับการพยากรณ์ โดยผู้ที่ทำพีธีกรรมนั้นคือ ขุนนางชั้นสูง จากพิธีกรรมนี้ทำให้เห็นต่อไปว่า คนในสมัยราชวงศ์ชางมีความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และเรียกสิ่งศักดิ์สิทธิ์นี้ว่า “ช่างตี้” หมายถึงเทพเจ้าผู้สูงสุด จากกรณีนี้ทำให้เห็นอีกว่า เวลานั้น (เป็นอย่างช้า) จีนมีความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งที่อยู่เบื้องบน (ช่าง) ที่อยู่เหนือธรรมชาติแล้ว และต่อมาเบื้องบนที่ว่านี้ก็สัมพันธ์กับสวรรค์ ส่วนสิ่งที่อยู่เบื้องบนนั้น จีนก็หมายที่จะให้เป็นเทพ(ตี้) ที่ซึ่งต่อมาก็จะสัมพันธ์กับจักรพรรดิเช่นกัน นอกจากนี้ หลักฐานดังกล่าวยังทำให้เรารู้ต่อไปว่า ในสมัยราชวงศ์ชาง จีนเริ่มมีปฏิทินใช้แล้ว โดยปีนับตามสุริยคติและเดือนนับตามจันทรคติ ตามวิธีนับในเวลานั้นทำให้ 1 ปีมีทั้งสิ้น 12 เดือน ส่วน 1 เดือนจะมีจำนวนวันที่นานที่สุด 30 วัน และน้อยที่สุด 29 วัน จนเมื่อเวลาผ่านไป ปฏิทินของจีนก็มีความลงตัวมากขึ้น จนสามารถกำหนดจักรราศีเป็นของตนเองขึ้นมาใช้อย่างเป็นระบบ
การแสดงออกซึ่งอำนาจของชนชั้นปกครองดังกล่าว เริ่มพัฒนาขึ้นมาอีกก้าวหนึ่งเมื่อถึงยุคของราชวงศ์โจว เพราะพอถึงสมัยนี้ กษัตริย์ของราชวงศ์โจวก็ได้แสดงความสัมพันธ์ระหว่างตนกับ “ช่างตี้” มากขึ้น โดยกษัตริย์ของราชวงศ์นี้อ้างว่า “เทียน” หรือ “สวรรค์” (Heaven) อันเป็นที่สิงสถิตของ “ช่างตี้” ไม่พอใจพฤติกรรมทรราชของกษัตริย์แห่งราชวงศ์ชาง จึงได้มอบหมายให้ชนชั้นปกครองของรัฐโจวโค่นล้มราชวงศ์ชางลงไป จากนั้นก็สถาปนาราชวงศ์โจวขึ้นมา การกล่าวอ้างเช่นนั้นของราชวงศ์โจวได้ทำให้ “เทียน” หรือ “สวรรค์” มีฐานะสูงส่งขึ้นมาทันที เพราะเมื่อ “เทียน” ไม่พอใจชนชั้นปกครองเดิม และมอบหมายให้ชนชั้นปกครองใหม่มาโค่นล้มเช่นนั้น ก็ย่อมหมายความว่า ชนชนปกครองใหม่มิได้ติดต่อกับ “ช่างตี้” ในฐานะคนธรรมดา สามัญอีกต่อไป แต่กลับเป็น “ช่างตี้” ที่มาจุติบนโลกเพื่อปราบยุคเข็ญเสียเอง คือเป็นโอรสของ “เทียน” ที่ถูกส่งลงมาอีกต่อหนึ่ง ด้วยเหตุนั้น กษัตริย์แห่งราชวงศ์โจวจึงอ้างความชอบธรรมในเวลาต่อมาว่า แท้จริงแล้วตนก็คือ “โอรสแห่งสวรรค์” (Son of Heaven) หรือ “เทียนจื่อ” ที่ได้รับ “อาณัติแห่งสวรรค์” (Mandate of Heaven) หรือ “เทียนมิ่ง” เพื่อให้มาทำหน้าที่แทนสวรรค์นั่นเอง จะมีที่ไม่เปลี่ยนไปจากเดิมก็แต่เพียงราชวงศ์โจวยังคงเรียกผู้นำสูงสุดของตนว่า “หวัง”หรือกษัตริย์อยู่เช่นเดิม ยุคราชวงศ์โจวนี้จัดได้ว่าเป็นสมัยหนึ่งที่อารยธรรมจีนได้เติบโตเจริญรุ่งเรืองขึ้นมา แต่ก็จัดได้ด้วยว่า เมื่อถึงคราวเสื่อมแล้วก็เสื่อมอย่างถึงที่สุดเช่นกัน จนความเสื่อมทีว่านี้ได้เป็นที่อ้างอิงกันต่อๆ มาในหมู่นักประวัติศาสตร์จีน และเป็นที่รู้จักกันในนามของยุค 2 ยุคติดต่อกันคือ ยุควสันตสาร์ท (770-476 ปีก่อน ค.ศ.) และยุครัฐศึก (475-221 ปีก่อน ค.ศ.) ทั้ง 2 ยุคดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของราชวงศ์โจวโดยประมาณ และเป็นยุคที่เต็มไปด้วยการรบพุ่งระหว่างรัฐต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้มีประเด็นที่ควรอธิบายด้วยว่า แต่เดิมในสมัยราชวงศ์เชี่ยและชางนั้น (โดยเฉพาะราชวงศ์ชาง) จีนมีรัฐต่างๆ ที่อยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์อยู่ประมาณ 3000 รัฐ แต่ครั้นพอมาถึงราชวงศ์โจวซึ่งมีอำนาจและความก้าวหน้าในทางการเมืองมากขึ้น รัฐต่างๆ ก็ถูกกลืนจนเหลือประมาณ 1800 รัฐ จนเมื่อเข้าสู่ยุควสันตสาร์ท การรบพุ่งระหว่างรัฐใหญ่น้อยต่างๆ ก็ทำให้จำนวนรัฐในยุคนี้งวดลงมาเหลือประมาณ 170 รัฐแล้วรัฐทั้งหมดนี้ก็รบพุ่งกันต่อไป จนเมื่อเวลาผ่านไป ความเป็นจริงหรือธรรมชาติของสงครามที่มีผู้แพ้ผู้ชนะก็ทำให้จีนเหลือรัฐใหญ่ๆ ที่มีอำนาจเหนือรัฐอื่นทั้งหลายทั้งปวงอยู่เพียง 10 รัฐ และทั้งสิบรัฐนี้มีรัฐที่ทรงอำนาจจริงๆ อยู่เพียง 7 รัฐเท่านั้น รัฐทั้งเจ็ดนี้ประกอบด้วยรัฐ ฉี ฉู่ เอี้ยน หาน จ้าว และเว่ย ทั้งนี้โดยมีรัฐฉินเป็นรัฐที่มีความแข็งแกร่งที่สุด ในยุครัฐศึกที่จีนเหลืออยู่เพียง 7 รัฐใหญ่นี้เอง ที่ผู้นำของแต่ละรัฐ ต่างตั้งตนเป็นใหญ่โดยเรียกตนเองเป็นกษัตริย์หรือ “หวัง” แต่สิ่งสำคัญเหนืออื่นใดก็คือว่า ด้วยความคิดที่จะตั้งตนเป็นใหญ่นี้เอง ที่ได้ชี้ให้เห็นถึงความคิดเกี่ยวกับรัฐในแบบจักรวรรดิหรืออาณาจักร (Empire) ขึ้นมาเป็นครั้งแรก และรัฐที่ชูความคิดนี้โดดเด่นกว่าใครก็คือ รัฐฉิน จนกระทั่งราวๆ 200 กว่าปีก่อน ค.ศ. รัฐนี้ก็สามารถปราบรัฐที่เหลือทั้ง 6 ได้สำเร็จ ความคิดในการสร้างรัฐแบบจักรวรรดิจึงเกิดเป็นจริงขึ้น
ณ จากจุดนี้เองที่ทำให้กษัตริย์ของรัฐฉินเกิดความคิดว่า หากตนยังคงเรียกฐานะผู้นำสูงสุดของตนเองว่า “กษัตริย์” ดังเดิม การอยู่เหนือรัฐอื่นๆ อีกหกรัฐก็จะไม่มีความหมาย เพราะไม่ได้แสดงความแตกต่างทางอำนาจแต่อย่างใด ซึ่งผู้นำรัฐทั้งหกยังคงเรียกตนเองว่า “หวัง” อยู่เช่นเดิม เหตุดังนั้น กษัตริย์ของรัฐฉินจึงคิดค้นคำเรียกตนเองขึ้นมาใหม่ได้เป็นคำว่า “หวงตี้” ซึ่งแปลอย่างเป็นทางการได้ว่า “จักรพรรดิ” ถึงตรงนี้จำเป็นต้องหวนกลับมาพิจารณาคำทั้งสองพยางค์ดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ได้กล่าวไปบ้างแล้วก่อนหน้านี้ ในเบื้องต้น คำว่า “หวงตี้” นี้เป็นคำที่มีความผูกพันกับการพัฒนาการของการเรียกเทพหรือผู้นำชาวจีน เมื่อก่อนหน้านี้โดยตรง โดยคำว่า “หวง” นั้น ในระยะแรกจะหมายถึงแสงอันรุ่งโรจน์ ความงดงาม หรือความยิ่งใหญ่ ด้วยเหตุนี้ ก่อนสมัยราชวงศ์ฉิน คำคำนี้จึงถูกนำมาใช้เรียกแทนเทพทั้งสามของจีนตามตำนานความเชื่อเรื่อง “ไตรเทพ” หรือ “ซานหวง” ส่วนคำว่า “ตี้” นั้นในระยะแรกหมายถึงเจ้าแห่งสวรรค์หรือ “เทียนตี้” หรือเทพผู้สูงสุดหรือที่เรียกว่า “ช่างตี้” และในยุครัฐศึก คำคำนี้ก็ถูกนำมาใช้เรียกผู้นำของรัฐต่างๆ ทั้งเจ็ดรัฐ ซึ่งในเวลานั้นต่างก็มีเขตอำนาจของตนอยู่ตามแต่ละทิศทาง เช่น ถ้าอยู่ทางตะวันตกก็เรียกว่า “เจ้าแห่งประจิม” (ซีตี้) อยู่ทางตะวันออกก็เรียกว่า “เจ้าแห่งบูรพา” (ตงตี้) พอมาในช่วงหลังจากนั้นก็ยังมี “เจ้าแห่งมัชฌิม” (จงตี้) และ “เจ้าแห่งอุดร” (เป่ยตี้) อีกด้วย เป็นต้น การใช้คำว่า “ตี้” ในยุครัฐศึกนี้ ด้านหนึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามอ้างความชอบธรรมให้แก่อำนาจของกษัตริย์ในยุคนี้ และผู้ที่จะนำมาใช้อ้างได้ก็หาใช่ใครอื่นไม่ นอกจาก “ห้ากษัตริย์” หรือ “อู่ตี้” นั่นเอง จากที่มาและความสัมพันธ์ของคำว่า “หวง” และ “ตี้” ดังกล่าว กษัตริย์แห่งรัฐฉินจึงได้นำคำทั้งสองมารวมกันเป็น “หวงตี้” แล้วสถาปนาตนเองเป็นปฐมจักรพรรดิของจีนภายใต้ราชวงศ์ฉิน (221-206 ปีก่อน ค.ศ.) โดยมีพระนามว่า “ฉินสื่อหวงตี้” (หรือ “จิ๋นซีฮ่องเต้” ในภาษาจีนแต้จิ๋ว) และเป็นปฐมบทของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จีนสืบแต่บัดนั้นอีกเป็นเวลากว่าสองพันปี
ชีวิตของจักรพรรดิ
โดยทั่วไปแล้ว ที่มาของจักรพรรดิจีนจะไม่ต่างกับชาติอื่นๆ ในแง่ที่ว่า หากไม่มาจากการปราบดาภิเษกก็มาจากการราชาภิเษก แต่ที่ว่าพิเศษก็คือว่า มีอยู่หลายช่วงที่สังคมจีนตกอยู่ในภาวะสุญญากาศที่ “ว่าง”จากจักรพรรดิ การที่จักรพรรดิมีที่มาดังกล่าว จักรพรรดิจึงได้รับการเคารพยกย่องด้วยประการทั้งปวง ตัวจักรพรรดิจึงกลายเป็นมนษย์ที่สามารถมีและใช้ชีวิตเหนือคนธรรมดาสามัญ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ การมีและใช้ชีวิตเยี่ยงเทพนั่นเอง เริ่มจากการเป็นอมตะด้วยการถูกแซ่ซ้องสรรเสริญและเรียกขานว่า “ว่านซุ่ย” หรือ “พระหมื่นปี” คำว่า “ว่านซุ่ย” นี้เท่าที่มีหลักฐานพบว่า ในยุครัฐศึกก็มีการใช้กันแล้ว โดยใช้อวยพรให้มีอายุยืนนาน ครั้นเมื่อจีนเข้าสู่ยุคศํกดินาหรือสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปแล้ว คำคำนึ้จึงถูกนำมาใช้เรียกขานแทนองค์จักรพรรดิ เกี่ยวกับการใช้กับองค์จักรพรรดินั้น มีข้อสันนิษฐานถึงที่มาเป็น 2 ทางด้วยกัน ทางหนึ่งเชื่อว่า เริ่มจากการใช้ถวายพระพรแก่ผู้เป็นกษัตริย์ ซึ่งมีมาเป็นเวลายาวนานแล้ว และไม่สามารถระบุเวลาได้ว่าเริ่มใช้ตั้งแต่เมื่อไร อีกทางหนึ่งเชื่อว่า เริ่มใช้กันอย่างเป็นทางการในสมัยราชวงศ์ฮั่น (206 ปีก่อน ค.ศ.-ค.ศ.220) โดยจักรพรรดิอู่ตี้ (141-87 ปีก่อน ค.ศ.) คือเริ่มใช้ในปี 110 ก่อน ค.ศ.) โดยใช้เพื่ออวยยศอวยชัยแก่องค์จักรพรรดิ แต่ไม่ว่าจะทางไหนก็ตาม การใช้คำคำนี้ยังมีความสำคัญในแง่ของกาละเทศะอีกด้วย
แม้มังกรจะถูกใช้คู่กับจักรพรรดิ แต่การใช้ในฐานะสัญลักษณ์แห่งโชคลาภหรือมงคลก็ยังได้รับการเอ่ยอ้างจากคนธรรมดาอยู่ด้วยเช่นกัน ตราบจนถึงสมัยราชวงศ์หมิง (ค.ศ.1368-1644) ในรัชสมัยหยงเล่อ (ค.ศ.1403-1424) บรรดาขุนนางในราชสำนักจึงได้มีมติที่จะสละสัญลักษณ์มังกรที่ตนเคยมีสิทธิ์ใช้เมื่อก่อนหน้านี้ถวายแก่องค์จักรพรรดิไปแต่เพียงผู้เดียว และสืบจากนั้นมา มังกรจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ที่เคียงคู่กับจักรพรรดิในฐานะ “เจ้ามังกร” (Dragon King) ครั้นมาถึงราชวงศ์ชิง (ค.ศ.1644-1911) ในรัชสมัยหยงเจิ้ง (ค.ศ.1723-1735) ก็ยกระดับการใช้สัญลักษณ์มังกรขึ้นมาอีกขั้นหนึ่งคือ ถึงขั้นเป็นมังกรที่ทรงเดชานุภาพไปทั่วทุกสารทิศในฐานะ “มังกรแห่งสี่คาบสมุทร” (the Dragon of the Four Seas) และนับแต่นั้นมา มังกรก็กลายเป็นสัญลักษณ์ที่ห่างเหินจากประชาชนราวฟ้ากับดิน จนเมื่อสมบูรณาญาสิทธิราชย์จีน ถูกโค่นล้มลงไปแล้วนั้นเอง ความสัมพันธ์ของมังกรกับประชาชนจึงได้กลับมาใหม่อีกครั้ง
สัญลักษณ์อย่างต่อมาก็คือ สีเหลือง ความเป็นมาของสีเหลืองนี้มีความเกี่ยวพันกับความคิดเรื่องการเกษตรของสังคมจีนโดยแท้ ทั้งนี้สีเหลืองถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์แทนดิน นอกจากนี้ ยังผูกพันกับความเชื่อเรื่องศาสตร์ “เฟิงสุ่ย” (หรือ “ฮวงจุ้ย” ในภาษาจีนแต้จิ๋ว) ในฐานะธาตุดิน ความคิดความเชื่อทั้งสองนี้มีความสัมพันธ์กันในทางสังคมอย่างแยกไม่ออก ฉะนั้นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในการจัดการกับ 2 สิ่งนี้ได้ดี จึงมักจะได้รับการยกย่องเป็นธรรมดา และคนผู้นั้นจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากชนชั้นปกครอง ซึ่งก็คือกษัตริย์นั่นเอง จากเหตุนี้เองในคัมภีร์ “อิ้จิง” อันเป็นคัมภีร์เก่าแก่ของจีนที่ว่าด้วยการพยากรณ์จึงให้ความสำคัญกับสีเหลือง และได้ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของมังกรกับสีเหลืองในทำนองว่า หากกษัตริย์เปรียบได้กับมังกร สีเหลืองก็ย่อมเปรียบได้กับความเจริญงอกงามหรือความรุ่งเรือง ความได้เปรียบนี้หมายความว่า ผู้ที่เป็นผู้นำที่มีความรู้ความสามารถ และความดีงามย่อมสามารถสร้างความอยู่ดีกินดีให้แก่ประชาชน โดยความอยู่ดีกินดีนี้เป็นไปภายใต้วิถีชีวิตในสังคมเกษตรกรรม ที่ซึ่ง “ดิน” หรือ “สีเหลือง” จะต้องมีความอุดมสมบูรณ์นั่นเอง ในทางตรงข้าม หาก “ดิน” ขาดความอุดมสมบูรณ์ ก็ย่อมหมายความว่า คนที่เป็นผู้นำคนนั้นย่อมมีข้อบกพร่อง “สีเหลือง” หรือฐานะ “มังกร” จึงมิอาจเป็นสัญลักษณ์ที่คู่ควรแก่ผู้นำคนนั้นได้อีกต่อไป ดังนั้นสีเหลืองจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งศํกดิ์สิทธิ์ไปด้วย คือเป็นสัญลักษณ์ของเทพในบางครั้งบางกรณี ด้วยเหตุนี้ บันทึกของจีนจึงระบุว่า สีเหลืองได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของ “เทียนจื่อ” หรือโอรสแห่งสวรรค์ ครั้งพอมาถึงสมัยราชวงศ์สุย (ค.ศ.581-618) สีเหลืองจึงถูกนำมาใช้เป็นสีของจักรพรรดินับแต่นั้นมา และจะใช้คู่กับมังกรเสมอ และใช้มาตราบจนสมบูรณาญาสิทธิราชย์จีนได้ล่มสลายลงไป ในเมื่อจักรพรรดิเป็นสัญลักษณ์ที่ศักดิ์สิทธิ์เช่นนั้น จักรพรรดิจึงย่อมมีขนบจารีตที่ดูเป็นมงคลอยู่เสมอ ขนบจารีตหนึ่งที่ถูกใช้ก็คือ การใช้ปีศักราช “กานจือ” กับการครองราชย์ของตนเอง แต่ที่เพิ่มเข้ามาในชั้นหลังก็คือ การที่จักรพรรดิได้มีชื่อรัชกาลเฉพาะตนขึ้นมาด้วย การใช้ชื่อรัชกาลเริ่มมีขึ้นครั้งแรกในราชวงศ์ฮั่น การมีชื่อรัชกาลนี้ได้ถูกนำมาสัมพันธ์กับปีศักราช “กานจือ” และเป็นชื่อที่ไม่นับเป็นชื่อจักรพรรดิ ซึ่งจะมีต่างหากออกไป ซึ่งมีกันมาก่อนหน้านี้แล้ว เนื่องจากการใช้ชื่อรัชกาลนี้เริ่มในสมัยราชวงศ์ฮั่น กล่าวคือ จักรพรรดิองค์แรกที่ใช้คือ เหวินตี้ (180-157 ปีก่อน ค.ศ.) โดยชื่อ เหวินตี้ นี้เป็นชื่อจักรพรรดิ ซึ่งจักรพรรดิทุกพระองค์มีใช้กันเป็นปกติ เหวินตี้มีพระนามเดิมว่า “หลิวเหิง” ในรัชสมัยของพระองค์ได้ริเริ่มให้มีการใช้ชื่อรัชกาลเป็นครั้งแรก โดยตัวของพระองค์ทรงมีชื่อรัชกาลว่า “โฮ่วหยวน” ชื่อรัชกาลของพระองค์ไม่ได้เกิดขึ้นทันทีที่ครองราชย์ หากแต่เกิดหลังจากนั้นอีก 16 ปี กล่าวเฉพาะราชวงศ์ฮั่นแล้ว อู่ตี้ (พระนามเดิมคือ หลิวเชอ) จัดเป็นจักรพรรดิที่มีชื่อรัชกาลมากที่สุด คือมีถึง 11 ชื่อ แต่ที่มากที่สุดคือ จักรพรรดิราชวงศ์ถัง (ค.ศ.618-907) คือเกาจง (ค.ศ.650-683) ซึ่งมีพระนามเดิมว่า หลี่จื้อ นั้น ทรงมีชื่อรัชกาลมากถึง 14 ชื่อ ตราบจนถึงราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง อันเป็น 2 ราชวงศ์สุดท้ายของจีนนั้นเอง จักรพรรดิจีนจึงมีชื่อรัชกาลเพียงชื่อเดียวจนสิ้นราชวงศ์ ตัวอย่างการเรียกพระนามจักรพรรดิโดยตรงก็เช่น การเรียก พระนามจักรพรรดิในสมัยราชวงศ์ถัง ดังจะเห็นได้จากการเรียกจักรพรรดิ ไท่จง (ค.ศ.626-649) ซึ่งมีพระนามเดิมว่า หลี่ซื่อหมิน ด้วยคำว่า ไท่จง แทบจะตลอดรัชกาล ถึงแม้พระองค์จะมีชื่อรัชกาลเพียงชื่อเดียวว่า เจินกวน ก็ตาม ในทางตรงกันข้าม ครั้นพอมาถึงสมัยราชวงศ์หมิงและชิง ซึ่งจักรพรรดิมีชื่อรัชกาลเพียงชื่อเดียวกัน นักประวัติศาสตร์ก็มักจะเรียกชื่อรัชกาลเสียโดยมาก ทั้งนี้อาจเห็นได้จากที่มีการเรียกชื่อจักรพรรดิของทั้งสองราชวงศ์ ด้วยชื่อรัชกาลแทบทุกพระองค์ เช่น ในราชวงศ์หมิงจะเรียกจักรพรรดิ ไท่จู่ (ค.ศ.1386-1398) ด้วยชื่อรัชกาล หงอู่ หรือในราชวงศ์ชิงจะเรียกจักรพรรดิ เซิ่งจู่ (ค.ศ.1661-1722) ด้วยชื่อรัชกาลว่า คังซี หรือเรียกจักรพรรดิ เกาจง (ค.ศ.1736-1795) ว่า เฉียนหลง เป็นต้น
เมื่อมีชื่อรัชกาลเรียกต่างหากจากชื่อจักรพรรดิ และใช้ชื่อปีศักราช “กานจือ” มาเรียกกำกับกับชื่อรัชกาลแล้ว สิ่งต่อมาที่จักรพรรดิจีนพึงมีอย่างแตกต่างไปจากมนุษย์ทั่วไปก็คือ ชีวิตความเป็นอยู่ที่สัมพันธ์กับการสืบสายกระจายพันธุ์ “มังกร” ออกไปเพื่อดำรงวงศ์จักรพรรดิเอาไว้ แน่นอนว่า ชีวิตความเป็นอยู่ของจักรพรรดิจีนย่อมเต็มไปด้วยความหรูหราอลังการ และมีรายละเอียดที่ซับซ้อนไม่ต่างไปจากจักรพรรดิหรือกษัตริย์ของชาติอื่นๆ เป็นธรรมดา สิ่งที่สะท้อนถึงชีวิตที่แตกต่างจากผู้คนทั่วไปอย่างเป็นรูปธรรมเรื่องหนึ่งก็คือ การที่จักรพรรดิมีพระสนมมากมายจนบ่อยครั้งได้ส่งผลต่อเสถียรภาพของสถาบันจักรพรรดิ เพราะพระสนมได้เข้ามามีบทบาทในทางการเมืองแทนจักรพรรดิหรือไม่ก็เข้ามาแทรกแซง พระสนมจะแสดงบทบาทเช่นนี้ได้มากน้อยเพียงใด ด้านหนึ่งย่อมขึ้นอยู่กับระดับความใกล้ชิดที่มีต่อจักรพรรดิด้วย กล่าวกันว่า จักรพรรดิที่มีพระสนมมากที่สุดคือ อู่ตี้ (ค.ศ.265-289) แห่งราชวงศ์จิ้น คือมีมากถึงกว่าหนึ่งหมื่นพระองค์ จากที่กล่าวมานี้เป็นเพียงชีวิตบางด้านที่เกียวพันกับความเป็นสถาบันของจักรพรรดิจีนเท่านั้น ยังมิได้ลงลึกในรายละเอียดด้านอื่นๆ ที่เป็นชีวิตส่วนตัว ซึ่งมีความพิสดารพันลึกให้ได้เล่าขานอยู่อีกมากมาย ชีวิตส่วนตัวที่ว่านี้มีตั้งแต่อาหารการกิน วังที่พำนัก การรับใช้ของข้าราชบริพาร การแต่งองค์ทรงเครื่อง การใช้เครื่องประทินโฉม กิจวัตรประจำวัน ความสามัคคีและความขัดแย้ง รวมตลอดจนชีวิตทางเพศ ฯลฯ ชีวิตทำนองนี้เกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน ซึ่งมีทั้งที่เป็นโศกนาฏกรรมและสุขนาฏกรรม แต่เพียงเท่านี้ก็คงพอได้เห็นภาพของความสลับซับซ้อนได้ไม่ยากว่า เป็นชีวิตที่ถูกทำให้สอดคล้องกับฐานะอันสูงส่งของตัวจักรพรรดิเอง ไม่ว่าจะในฐานะมังกร โอรสแห่งสวรรค์ หรือผู้ใช้อาณัติแห่งสวรรค์ ที่จะว่าไปแล้วก็ใช่ว่าจะเป็นชีวิตที่เต็มไปด้วยความสุข แต่ก็เป็นชีวิตที่ใครต่อใครต่างก็ใฝ่หา อย่ากได้ใคร่มีและใคร่เป็นกันทั้งนั้น ถึงที่สุดแล้ว จักรพรรดิจีนก็เป็นเพียงมนุษย์คนหนึ่งที่เกิดมามีฐานะอันสูงส่งจนดูเหนือมนุษย์ทั่วไป แต่กระนั้น ฐานะที่ว่านี้ก็หาได้ยืนยันว่าจักรพรรดิจะเป็นคนที่โชคดีเสมอไปไม่ ในบางสมัยอาจจะใช่ แต่บางสมัยกลับมีชีวิตที่เต็มไปด้วยเรื่องร้ายๆ ซึ่งก็เป็นไปตามกฎแห่งอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทุกอย่างไม่เที่ยงแท้ ยั่งยืนนั่นเอง
หมายเหตุ ถอดความบางส่วนจากบทความ “จีนานุจีน :มีมังกรอยู่บนฟ้า” โดย วรศักดิ์ มหัทธโนบล ,china & east asia journal ,สำนักพิมพ์ openbooks)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น