วันเสาร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2555

ดิน น้ำ ลม ไฟ จัดหนัก จัดเต็มต้อนรับศกราชใหม่

ดิน น้ำ ลม ไฟ จัดหนัก จัดเต็มต้อนรับศกราชใหม่


นับถอยหลังมหันตภัยธรรมชาติที่จะรุนแรงขึ้นทุกๆ ปี

เหตุการณ์แผ่นดินไหว ที่ญี่ปุ่น

สำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น รายงานว่า เมื่อเวลา 14.28 น. วันที่ 1 มกราคม ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งตรงกับเวลาไทยคือ 12.28 น. ได้เกิดแผ่นดินไหว วัดความรุนแรงได้ระดับ 7.0 ริกเตอร์ มีจุดศูนย์กลางอยู่ในระดับความลึกราว 370 กิโลเมตร ใกล้กับเกาะโตริชิมา ห่างจากกรุงโตเกียวไปทางใต้ 560 กิโลเมตร ส่งผลทำให้อาคารหลายแห่ง ในกรุงโตเกียว ได้รับแรงสั่นสะเทือน เบื้องต้นยังไม่มีรายงานความเสียหาย หรือมีรายงานว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บ รวมถึงการเตือนภัยคลื่นยักษ์สึนามิ แต่อย่างใด









พายุวาชิ ถล่มเกาะฟิลิปปินส์ราบเป็นหน้ากอง
สำหรับ "พายุวาชิ" (Washi) นั้น เริ่มก่อตัวเป็นพายุดีเปรสชันในช่วงวันที่ 13 ธันวาคม ด้วยความเร็วลมใกล้ศูนย์กลาง 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก่อนจะทวีกำลังขึ้นกลายเป็นพายุโซนร้อนในวันที่ 14 ธันวาคม และพัดถล่มทางตอนใต้ของประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม ด้วยความเร็วลมใกล้ศูนย์กลาง 75 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเมื่อดูจากความเร็วลมแล้ว หลายคนอาจจะคิดว่า พายุวาชิ คงไม่น่าจะส่งผลอะไรมากนักต่อประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งต้องเจอพายุระดับไต้ฝุ่นพัดผ่านเข้ามาในประเทศเป็นปกติอยู่แล้ว แต่กลับกลายเป็นว่า พายุวาชิ ได้สร้างความเสียหายอย่างมหาศาลให้กับประเทศฟิลิปปินส์

โดยเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พายุวาชิ ซึ่งเป็นภาษาญี่ปุ่น ที่มีความหมายว่า หมู่ดาว นกอินทรีย์ ได้พาดผ่านเกาะมินดาเนา และบางพื้นที่ของตอนกลางประเทศฟิลิปปินส์ ก่อนจะพัดถล่มเกาะปาลาวัน ด้วยความเร็วลม 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักติดต่อกันนานกว่า 12 ชั่วโมง จนเกิดน้ำท่วมใหญ่บนเกาะมินดาเนา เกาะปาลาวัน มีรายงานด้วยว่า ในบางพื้นที่มีน้ำท่วมสูงถึง 3 เมตร ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง

จากเหตุการณ์พายุวาชิพัดถล่มประเทศฟิลิปปินส์ ก็ได้สร้างความสูญเสียอย่างมหาศาล โดยจนถึงวันที่ 19 ธันวาคม มีรายงานว่า พบผู้เสียชีวิตจากภัยพิบัติครั้งนี้แล้วถึง 652 ศพ ขณะที่ยังมีผู้สูญหายอีก 808 คน โดยพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายมากที่สุด คือ เมืองคากายัน เด โอโร ทางตอนเหนือของเกาะมินดาเนา รวมทั้งเมืองอิลิกัน ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กัน

อย่างไรก็ตาม มีการวิเคราะห์กันว่า สาเหตุที่พบผู้เสียชีวิตมากมายเช่นนี้ ส่วนหนึ่งเป็นพายุได้พัดถล่มทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ในช่วงเวลากลางคืน ซึ่งเป็นเวลาที่ผู้คนกำลังหลับใหล จึงไม่สามารถเตรียมตัวได้ทัน นั่นจึงทำให้สภากาชาดของฟิลิปปินส์ คาดว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตจะพุ่งสูงมากกว่านี้อีก เนื่องจากยังมีอีกหลายพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถเข้าไปสำรวจความเสียหายได้

ทั้งนี้ สถานการณ์ในประเทศฟิลิปปินส์น่าจะดีขึ้นตามลำดับ เพราะพายุวาชิได้พัดออกนอกชายฝั่งทะเลของเกาะมินดาเนาไปแล้ว เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม โดยมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตก มุ่งสู่ทะเลจีนใต้ตอนล่าง ซึ่งก็คือทิศทางที่จะมายังประเทศมาเลเซีย นั่นจึงทำให้ทางมาเลเซียประกาศเตือนประชาชนในเฝ้าระวังพายุวาชิ ที่จะพัดขึ้นฝั่งประเทศมาเลเซียในวันที่ 21 ธันวาคมนี้

คลื่นยักษ์ถล่มภาคใต้ สำทับน้ำท่วม น้ำทะเลทะลัก ต้อนรับปีใหม่
ชายหาดภาคใต้หลายจังหวัดอ่วม โดยเฉพาะที่"สุราษฎร์ฯ-เมืองคอน-ชุมพร-ประจวบฯ' เกิดคลื่นยักษ์ซัดกระหน่ำบ้านเรือน ร้านค้า รีสอร์ทเสียหาย ที่สุราษฎร์ธานีได้รับผลกระทบ 4 อำเภอบ้านเรือนเสียหายร่วม 1,000 หลังคาเรือน ส่วนนครศรีธรรมราช ชาวท่าศาลา อพยพหนีคลื่นจ้าละหวั่น ขณะที่คลื่นซัดชายฝั่ง 3 อำเภอชุมพร บ้านเรือนเสียหายอื้อ เดือดร้อน 300 ครอบครัว ต้องสั่งอพยพประชาชนอยู่ที่ปลอดภัย ขณะที่ประจวบคีรีขันธ์เจอคลื่นสูง 2-4 เมตร ถล่มชายฝั่งตั้งแต่หัวหินยันบางสะพาน ตลอดแนว 220 กม. "สมิทธ"เตือนคลื่นยักษ์เกิดขึ้นซ้ำเป็น สตอร์ม เซิร์จ (storm surge) ที่เกิดขึ้นจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดแรงเกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำให้เกิดคลื่นสูงเกิน 5 เมตร ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้อีกเพราะช่วงนี้ลมมรสุมมีกำลังแรง โดยพื้นที่เฝ้าระวังตั้งแต่ชุมพรไปถึงสุราษฎร์ธานี รวมทั้งจังหวัดปัตตานี จะมีโอกาสเกิดขึ้นได้อีก ด้านศภช.จับตาเดือนเม.ย.-พ.ย.ปีหน้าภัยพิบัติจ่อวนถล่มไทย เชื่อพื้นที่ไหนเคยกระทบโดนซ้ำ

หลายพื้นที่ของจังหวัดภาคใต้ได้เกิดคลื่นลมแรงส่งผลกระทบพื้นที่ชายหาดในหลายจังหวัดเมื่อวานนี้ (25 ธ.ค.) โดยที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้เกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลหนุนสูง รวมทั้งคลื่นทะเลและคลื่นลมพัดแรงตลอดแนวพื้นที่ริมชายฝั่งทะเลตั้งแต่ อ.ท่าชนะ รอยต่อ จ.ชุมพร ลงไปจนถึง อ.ดอนสัก รอยต่อ จ.นครศรีธรรมราช ทั้งนี้ที่ อ.ท่าชนะ น้ำทะเลหนุนสูงไหลเข้าท่วมและคลื่นลมแรงเข้าซัดพื้นที่ ต.วัง และ ต.ท่าชนะ มีราษฎรได้รับผลกระทบเดือดร้อน 84 ครัวเรือน

ส่วนที่ อ.ไชยา ในพื้นที่ 5 หมู่บ้าน ต.พุมเรียง มีราษฎรได้รับผลกระทบเดือดร้อนกว่า 300 ครัวเรือน ขณะที่ อ.ดอนสัก ที่บ้านพอดหมู่ที่ 1 ต.ชลคราม คลื่นสูงกว่า 4 เมตร ซัดข้ามแนวเขื่อนกันคลื่นและกัดเซาะถนนคอนกรีตภายในหมู่บ้านเสียหาย ระยะทางยาวกว่า 100 เมตร รถไม่สามารถสัญจรไปมาได้และคอสะพานทรุด บ้านเรือนราษฎรกว่า 10 ครัวเรือนได้รับความเสียหาย นอกจากนี้น้ำทะเลไหลเข้าท่วมเขตชุมชน วัดและโรงเรียน มีระดับน้ำสูงประมาณ 30 ซ.ม.ชาวบ้านต้องขนย้ายสิ่งของหนีขึ้นที่สูง และที่ อ.กาญจนดิษฐ์ บ้านปากน้ำกระแดะหมู่ 6 ต.พลายวาสน้ำทะเลหนุนขึ้นสูงกว่า 30 เซนติเมตร เข้าท่วมหมู่บ้านกว่า 260 ครัวเรือน

นางชาตรี เพชรบาง อายุ 40 ปี อยู่บ้านเลขที่ 67/1 หมู่ที่ 6 ต.พลายวาส อ.กาญจนดิษฐ์ กล่าวว่า น้ำทะเลหนุนสูงอย่างรวดเร็วต่อเนื่องมาตั้งแต่คืนวันที่ 24 ธ.ค. 2554 ยังไม่หยุดโดยไม่มีโอกาสเก็บสิ่งของได้ทันและไม่เคยเกิดเหตุคลื่นแรงเช่นนี้มาก่อน

ด้าน นายวงศศิริ พรหมชนะ รองผู้ว่าฯ สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ขอแจ้งเตือนประชาชนพื้นที่เสี่ยงภัยและติดชายฝั่งทะเลอ่าวไทยให้ระวังอุทกภัย น้ำท่วมฉับพลันและคลื่นลมแรงในทะเลซัดเข้าหาฝั่งที่เกิดจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรงขึ้นไปจนถึงวันที่ 28 ธ.ค. นี้ โดยให้ทุกอำเภอกับองค์ปกครองส่วนท้องถิ่นและสมาชิก อส.ในพื้นที่เข้าช่วยเหลือราษฎรในเบื้องต้นแล้ว พร้อมสำรวจความเสียหาย ซึ่งล่าสุด อ.ดอนสัก ได้รายงานว่ามีบ้านเรือนราษฎรเสียหายประมาณ 400 ครัวเรือนแล้ว

ท่าศาลาอพยพหนีทะเลคลั่งจ้าละหวั่น

สำหรับ จ.นครศรีธรรมราช ได้เกิดมรสุมรุนแรงพัดกระหน่ำตลอดแนวชายฝั่งทะเลของจังหวัด ทะเลหนุนสูง ส่งผลให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะใน หมู่ 6 บ้านสระบัว หมู่ 3 บ้านในถุ้ง และบ้านบางใบไม้ ต.ท่าศาลา อ.ท่าศาลา คลื่นได้พัดเข้าท่วมบ้านเรือนหลายหลังคาเรือนโดยเฉพาะชุมชนบางใบไม้ ทะเลได้หนุนสูงเข้าท่วมพร้อมกับกระแสคลื่นเจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยมูลนิธิประชาร่วมใจ ต้องระดมกำลังเข้าให้การช่วยเหลือชาวบ้านขนย้ายทรัพย์สินสิ่งของมีค่าต่างๆ ออกมาอาศัยในที่ปลอดภัยไว้ก่อนเนื่องจากคลื่นได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นอย่างน่ากลัวกว่าทุกครั้ง

ส่วนที่ชุมชนบ้านแหลม หมู่ 2 และ หมู่ 3 ต.แหลมตะลุมพุก อ.ปากพนัง คลื่นได้ซัดเข้าถล่มอย่างรุนแรงกว่าทุกครั้ง ทะเลหนุนสูงทะลักเข้าท่วมทั้ง 2 หมู่บ้านอย่างสิ้นเชิง ระดับน้ำสูงบางจุดกว่า 1 เมตร ส่วนบ้านเรือนที่อยู่บริเวณฝั่งตะวันออกของถนนที่พาดกลางหมู่บ้านพังเสียหายไปแล้วทุกหลัง ส่วนที่เหลือนั้นอยู่ในสภาพมีความเสี่ยงสูง ต้นมะพร้าวทยอยล้มอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ถนนสายหลักเส้นทางปากพนัง-แหลมตะลุมพุก ทะเลได้หนุนสูงเข้าท่วมถนนหลายจุดพัดพาเอาสวะและขยะจากทะเลมาจนเต็มถนนการสัญจรเป็นไปอย่างยากลำบาก

ขณะที่ถนนสายปากพนัง-หัวไทร น้ำทะเลเข้าท่วมหลายจุดเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะช่วงบ้านเกาะทัง ต.ขนาบนาค อ.ปากพนัง ไปจนถึง ต.เกาะเพชร อ.หัวไทร คลื่นได้ซัดถล่มผนังคอนกรีตแนวกันคลื่นที่เพิ่งสร้างได้ไม่นานนักพังยับเยินหลายจุด ความแรงได้ซัดเอาก้อนหินขนาดใหญ่ที่นำมาทำเป็นหินทิ้งชะลอความรุนแรงของคลื่น กลับถูกซัดมากองระเนระนาดอยู่บนถนน ขณะที่ยอดคลื่นเมื่อกระแสเข้ากับกำแพงได้ยกตัวสูงขึ้นกว่า 10 เมตร สูงกว่าเสาไฟฟ้าแรงสูง เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าต้องตัดกระแสไฟเนื่องจากคลื่นได้ซัดไปจนถึงสายส่งที่เป็นสายเปลือย

ล่าสุด นายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผู้ว่าฯ นครศรีธรรมราช ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องเข้าให้การช่วยเหลือประชาชนอย่างเร่งด่วน

คลื่นซัด3อำเภอชุมพรเดือดร้อน 300 ครอบครัว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 15.00 น. วันเดียวกัน ได้เกิดคลื่นขนาดใหญ่ซัดเข้าชายฝั่งในหลายพื้นที่ของ จ.ชุมพร ทั้งในพื้นที่ ต.สะพลี อ.ปะทิว ต.นาชะอัง ต.ท่ายาง อ.เมืองชุมพร ต.ปากตะโก อ.ทุ่งตะโก และ ต.บางมะพร้าว อ.หลังสวน พบถนนเลียบหาดทุ่งวัวแล่น ต.สะพลี อ.ปะทิว มีต้นไม้ขนาดใหญ่ล้มขวางถนนเป็นระยะ ส่วนคลื่นขนาดใหญ่ก็ซัดเข้ามาจนถึงถนนสายดังกล่าว

สำหรับพื้นที่อ.เมืองชุมพร ที่บ้านบางตุ่ม หมู่ 11 และ บ้านคอสน หมู่ 8 ต.ท่ายาง ถนนเลียบทะเลถูกคลื่นซัดได้รับความเสียหายหลายจุด มีขยะในทะเลถูกคลื่นขนาดใหญ่ซัดขึ้นมาบนถนนเต็มไปหมด ทำให้รถที่ผ่านเส้นทางดังกล่าวเป็นไปด้วยความยากลำบาก ส่วนที่บ้านร่องน้อย หมู่ 10 ต.ท่ายาง ร้านอาหาร “ชบาเล” ที่ตั้งอยู่ริมหาด น้ำทะเลได้ไหลบ่าเข้าท่วมตั้งแต่ช่วงเช้ามืด จนทำให้ทรัพย์สินในร้านได้รับความเสียหาย นอกจากนั้นยังมีบ้านเรือนราษฎรที่อยู่ใกล้เคียงประมาณ 40 หลังคาเรือนถูกน้ำทะเลไหลบ่าเข้าท่วม จนชาวบ้านต้องช่วยกันขนย้ายสิ่งของหนีน้ำกันชุลมุนวุ่นวาย ส่วนในพื้นที่หมู่ 7 ต.หาดทรายรี คลื่นขนาดใหญ่ได้ซัดทำลายพนังกันคลื่นได้รับความเสียหายเป็นระยะทางประมาณ 150 เมตร

ที่ อ.ทุ่งตะโก นายนักรบ ณ ถลาง นายอำเภอทุ่งตะโก เปิดเผยว่า มีคลื่นซัดเข้าฝั่งและน้ำทะเลไหลบ่าเข้าท่วมบ้านชาวประมงในพื้นที่ ต.ปากตะโก หมู่ที่ 3 จำนวน 4 หลังคาเรือน และหมู่ที่ 5 จำนวน 35 หลังคาเรือน เทศบาลตำบลปากตะโก จึงส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยเคลื่อนย้ายทรัพย์สินของราษฎร และทำเพิงที่พักชั่วคราวริมถนนให้ผู้ประสบภัย ส่วนในพื้นที่หมู่ 1 ต.ปากตะโก ศาลกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ที่ตั้งอยู่ริมหาด ถูกคลื่นซัดได้รับความเสียหาย

ขณะที่ อ.หลังสวน ในพื้นที่บ้านหัวแหลม หมู่ 12 ต.บางมะพร้าว ได้เกิดคลื่นขนาดใหญ่สูงประมาณ 4 เมตร ซัดเข้าบ้านเรือนของราษฎรประมาณ 200 หลังคาเรือน นายปรีชา สุวีรานุวัฒน์ กำนัน ต.บางมะพร้าว จึงระดมกำลังอาสาสมัครออกช่วยเหลืออพยพราษฎรที่ประสบภัยไปอยู่ในที่ปลอดภัย ซึ่ง นายอภิญญา คนดี ปลัดอาวุโส รักษาการแทนนายอำเภอหลังสวน ได้มีคำสั่งให้อพยพผู้ประสบภัยไปยังวัดแหลมโตนด ซึ่งเป็นจุดปลอดภัย ส่วนชาวประมงพื้นบ้านบนเกาะพิทักษ์ หมู่ที่ 14 ต.บางน้ำจืด อ.หลังสวน ที่นำเรือออกจับปลายังไม่สามารถติดต่อได้

คลื่นยักษ์ซัดชายฝั่งประจวบฯตลอดแนว 220 กม.

ผู้สื่อข่าวรายงานวันเดียวกันว่า ที่จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้เกิดคลื่นลมทะเลพัดกระหน่ำชายฝั่งทะเลตั้งแต่ อ.หัวหิน อ.ปราณบุรี อ.สามร้อยยอด อ.เมือง อ.ทับสะแก อ.บางสะพาน และอ.บางสะพานน้อย ตลอดแนวร่วม 220 กิโลเมตร ตั้งแต่ช่วงเช้ามืด คลื่นสูงกว่า 2-4 เมตร พัดกระหน่ำชายฝั่งทะเลอย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็นชายทะเลหัวหินตลอดแนวชายหาด คลื่นช่วงเช้ามืดยกตัวสูง 3-4 เมตรลมแรง ส่งผลให้ร้านอาหารบางแห่งได้รับความเสียหาย ส่วนนักท่องเที่ยวทั้งชาวต่างชาติ และชาวไทยแห่ดูปรากฏการณ์คลื่นซัดฝั่ง แต่ก็ไม่มีใครกล้าที่จะลงไปเล่นน้ำทะเลแต่อย่างใด

นางโสมประภา โมระกานต์ ประธานชมรมร้านค้าชายหาดหัวหิน กล่าวว่า จุดบริเวณชายหาดหัวหินตั้งแต่โรงแรมฮิลตัล-โรงแรมโซฟิเทลฯ ซึ่งเป็นที่ตั้งร้านค้า 22 ร้านที่ตั้งอยู่บนชายหาดหัวหิน ก็ได้รับความเสียหายจากคลื่นซัดกระหน่ำชายฝั่ง แม้ผู้ประกอบการจะเก็บเต็นท์ ร่มผ้าใบ เตียงผ้าใบ และข้าวของเครื่องใช้มาไว้บริเวณติดกำแพง แต่ก็ยังได้รับความเสียหาย เนื่องจากปีนี้คลื่นสูงและลมยังแรง เรียกว่าหนักสุดในรอบหลาย 10 ปี ครั้งนี้เห็นแล้วรู้สึกน่ากลัว

นักท่องเที่ยวติดเกาะอื้อ

นายวันชาติ เอี่ยมอุดม อายุ 62 ปีชาวประมงหัวหิน กล่าวว่าโชคดีที่ชาวประมงเรือเล็ก พากันมาจอดเรือหลบมรสุมอยู่ที่สะพานปลาหัวหิน หลังแนวกันคลื่นภายหลังทราบประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา ที่ออกประกาศเตือนและส่วนหนึ่งชาวประมงก็พากันมานั่งเฝ้าเรือที่จอดหลบมรสุมตั้งแต่ช่วงเช้ามืดที่ผ่านมา ปีนี้คลื่นสูงในรอบ 50 ปีก็ว่าได้ตั้งแต่ครั้งพายุเกย์ที่ผ่านมาไม่เคยเห็นแบบวันนี้เลย รู้สึกว่าน่ากลัวมากล่าสุดเรือประมงเล็กของชาวบ้านแตกไป 3 ลำในขณะนี้ ยิ่งพรุ่งนี้ยิ่งต้องคอยดูอย่างใกล้ชิด นอกจากนั้นน้ำทะเลที่มากับแรงลมก็พัดขึ้นมาเหมือนลักษณะน้ำทะเลจะมีปริมาณมากเช่นกัน ตอนนี้คงไม่มีชาวเรือที่ไหนออกจากฝั่งอย่างแน่

ขณะเดียวกันบริเวณชายหาดสามร้อยยอด บ้านหนองข้าวเหนียว หมู่ที่ 2 ต.สามร้อยยอด อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ ถนนเลียบชายหาด ถูกน้ำทะเลท่วม ระยะทาง กว่า 5 กิโลเมตร ถนนบ้างช่วงถูกคลื่นกัดเซาะจนขาด บางช่วงทั้งทราย ทั้งก้อนหินพัดขึ้นมาบนถนน ต้นไม้ล้ม จนเจ้าหน้าที่ทั้งฝ่ายปกครอง อบต.ต้องนำแผงกันมาปิดไม่ให้รถยนต์สัญจรผ่านไป บ้านเรือนประชาชน ร้านอาหาร รีสอร์ท ที่อยู่ที่ติดชายทะเล ถูกน้ำทะเลเข้าท่วม จนข้าวของเสียหายเป็นจำนวนมาก

ด้านนายปรีดา เจริญพักตร์ เจ้าของบ้านมะพร้าวเกาะทะลุ-รีสอรท์ อ.บางสะพานน้อย กล่าวว่าขณะนี้มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติประมาณ 30-40 คน ที่ลงไปดำน้ำที่เกาะทะลุ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. ซึ่งพักค้างคืนอยู่ที่เกาะ ทางรีสอร์ทได้แจ้งให้นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เข้าใจว่าเรือไม่สามารถนำนักท่องเที่ยวกลับเข้าฝั่งได้ โดยทุกคนก็เข้าใจและทางรีสอร์ท ได้ให้ฟรีพร้อมดูแลเรื่องอาหารจนกว่าคลื่นจะสงบและจึงค่อยน้ำนักท่องเที่ยวกลับขึ้นฝั่งต่อไป

นายวีระ ศรีวัฒนตระกูล ผู้ว่าฯ ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ได้ตรวจสอบพื้นที่ชายฝั่งทะเลประจวบฯ ตลอดแนว พบบางอำเภอบ้านเรือชาวบ้าน ร้านอาหาร รีสอร์ทที่ตั้งอยู่ริมชายหาด ได้รับความเสียหาย เบื้องต้นยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ และในในช่วงบ่ายวันเดียวกันเท่าที่ตรวจพื้นที่และติดตามสถานการณ์อยู่ ทั้งคลื่นและน้ำทะเลหนุนเริ่มเบาลงแล้ว

ปัตตานีน้ำทะเลหนุนท่วม 700 หลัง

สถานการณ์ในจังหวัดปัตตานี ระดับน้ำในแม่น้ำปัตตานีเอ่อล้นจากน้ำทะเลหนุนและน้ำป่าไหลหลาก เข้าท่วมพื้นที่ราบลุ่มและริมแม่น้ำปัตตานี ในพื้นที่ ม.1 และ ม.2 ต.ปะกาฮารัง อ.เมือง ระดับน้ำ 20-40 ซม. ชาวบ้านกว่า 700 ครัวเรือนเดือดร้อน ถนนในหมู่บ้านมีน้ำเอ่อท่วม ชาวบ้านเริ่มอพยพขึ้นที่สูง

นอกจากนี้ น้ำทะเลยังหนุนเข้ามาในหมู่บ้านที่อยู่ริมทะเล โดยเฉพาะพื้นที่ที่เคยถูกพายุพัดเข้ามาในหมู่บ้านสร้างความเสียหายมาแล้ว คือ บ้านดาโต๊ะ บ้านแหลมโพธิ์ ใน ต.แหลมโพธิ์ อ.ยะหริ่ง บ้านแหลมนก บ้านบานา บ้านตันหยงลูโล๊ะ ในเขต อ.เมือง จ.ปัตตานี ระดับน้ำยังคงสูงขึ้นเรื่อยๆ

ทางด้านถนนริมทะเลฝั่งอ่าวไทย ซึ่งเป็นถนนสายเก่าระหว่าง อ.ยะหริ่ง-อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ระยะทาง 15 กม. ปรากฏว่า ถูกคลื่นความสูง 2-4 เมตร พัดกระหน่ำเข้าฝั่งอย่างรุนแรง ส่งผลให้ถนนริมทะเลถูกกัดเซาะหายไปครึ่งหนึ่ง จากเดิมที่เสียหายอยู่แล้ว เพิ่มเป็น 5 จุด ระหว่างบ้านดาโต๊ะ-แหลมตาชี ต.แหลมโพธิ์ อ.ยะหริ่ง นอกจากนี้ เส้นทางระหว่าง ต.ตะโล๊ะกาโปร์ อ.ยะหริ่ง กับรอยต่อ อ.ปะนาเระ ซึ่งเป็นถนนริมทะเลที่เคยถนนถูกคลื่นซัดจนถนนขาดไปแล้ว 2 จุดในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาและยังไม่ได้ซ่อมแซม ก็ได้ถูกคลื่นระลอกใหม่ซัดจนใช้การไม่ได้ทั้งสาย

ทั้งทางจังหวัดปัตตานี ได้ประกาศเตือนให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมทะเล ให้รับฟังการประกาศเตือนทางวิทยุและแจ้งผู้นำชุมชนดูแลความปลอดภัยชาวบ้าน และรายงานสถานการณ์ให้ทางจังหวัดทราบเป็นระยะๆ

ศภช.จับตาเดือนเม.ย.-พ.ย.ปีหน้าภัยพิบัติถล่มไทย

น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ (ศภช.) กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวถึงแนวโน้มเรื่องภัยพิบัติในปีหน้าว่า ภัยพิบัติที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ไม่พ้นเรื่องน้ำทั้งน้ำแล้ง น้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก โดยวงรอบการเกิดเมื่อหมดสถานการณ์เดือนนี้ที่ภาคใต้ไปแล้ว ก็จะเป็นภาคเหนือ และภาคอีสานตอนบนที่จะมีผลกระทบก่อน

ทั้งนี้ช่วงเวลาที่ต้องจับตาคือช่วงเดือนเม.ย. ถึงเดือนพ.ค. ต้องเฝ้าระวังและเตรียมความพร้อม ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการแล้ว แต่ประชาชนยังเชื่อมั่นในพื้นที่ตนเองว่ายังปลอดภัย อย่างกรณีพายุเข้าที่ประเทศฟิลิปปินส์จนมีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน ดังนั้นการให้ข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญ ส่วนเรื่องพายุขณะนี้ยังไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้แม่นยำ แต่สถิติของประเทศไทยเมื่อปีที่แล้วมีพายุเฉียดผ่านมา 2-3 ลูก ก็ถือว่าได้รับผลกระทบในวงกว้าง แต่การคาดการณ์จะรู้ล่วงหน้าก่อน 7 วันในการเตรียมความพร้อมและแจ้งเตือนประชาชน โดยพื้นที่ที่เคยได้รับผลกระทบคาดว่าจะได้รับผลกระทบต่อไปเช่นกัน

"สมิทธ"เตือนคลื่นยักษ์เกิดขึ้นซ้ำ

นายสมิทธ ธรรมสโรช ประธานกรรมการมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวถึงคลื่นยักษ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ ว่า เป็น สตอร์ม เซิร์จ (storm surge) ที่เกิดขึ้นจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดแรงเกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำให้เกิดคลื่นสูงเกิน 5 เมตร ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้อีกเพราะช่วงนี้ลมมรสุมมีกำลังแรง โดยพื้นที่เฝ้าระวังตั้งแต่ชุมพรไปถึงสุราษฎร์ธานี รวมทั้งจังหวัดปัตตานี จะมีโอกาสเกิดขึ้นได้อีก

"ผมเข้าใจว่ากรมอุตุฯ เขาได้แจ้งเตือนเรื่องคลื่นลมแรงในช่วงนี้ในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งการเกิดสตอร์ม เซิร์จ จะสังเกตได้ หากช่วงไหนลมหนาวมาแรงสามารถเกิดขึ้น และในช่วงนี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้อีกในพื้นที่ภาคใต้ จึงต้องเฝ้าระวังต่อไป"

นายสมิทธ ระบุด้วยว่า การเกิดสตอร์ม เซิร์จ หรือคลื่นยักษ์ ที่พัดขึ้นสู่ฝั่ง แม้ว่าจะไม่ใช่สึนามิ แต่สามารถสร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นได้ไม่แตกต่างกัน คลื่นยักษ์มักเกิดจากพายุหมุนในเขตฤดูร้อน แต่เกิดขึ้นได้หากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือมีกำลังแรง และเกิดขึ้นได้เมื่ออุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น และมีแนวโน้มจะเกิดมากขึ้น ทำให้เมืองริมชายฝั่งต้องเฝ้าระวังมากขึ้น

ปรากฏการณ์ "ไฟทอร์นาโด" ที่เกิดขึ้นในบราซิล

เอเจนซี - สภาพอากาศที่แห้งแล้งอย่างหนักและกระแสลมแรงในรัฐเซาเปาลูของบราซิล ทำให้เกิดปรากฏการณ์ “ไฟทอร์นาโด” ซึ่งหาดูได้ยากในเมืองอะรากาตูบา ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ

ภัยแล้งที่ยาวนานกว่า 3 เดือนทำให้เกิดไฟป่าทั่วบราซิล และสร้างสภาวะอากาศที่เอื้อต่อการเกิดปรากฏการณ์ลมพายุไฟดังกล่าว

ไฟทอร์นาโด หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ไฟปิศาจ” จะเกิดเมื่อเปลวไฟถูกกระแสลมหอบขึ้นสู่อากาศในแนวตั้ง โดยบางลูกอาจมีความสูงกว่าครึ่งไมล์และมีความเร็วลมถึง 100 ไมล์ต่อชั่วโมง

ในปี 1923 แผ่นดินไหวใหญ่ซึ่งเกิดบริเวณที่ราบคันโตของญี่ปุ่นทำให้เกิดไฟไหม้ทั่วทั้งเมือง และเกิดลูกไฟทอร์นาโดขนาดใหญ่ที่คร่าชีวิตผู้คนในเขต ฮิฟุกุโช-อาโตะ ของโตเกียวถึง 38,000 คนภายในเวลาเพียง 15 นาที

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น