วันเสาร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2554

สิงคโปร์ไม่มีขน (ประเทศต้นแบบของการสร้างบ้านแปลงเมือง)

สิงคโปร์ไม่มีขน
ประเทศต้นแบบของการสร้างบ้านแปลงเมือง

ขออนุญาตนำเอาคอนเซ็ปต์ของหนังสือคุณนิ้วกลมที่ชื่อว่าโตเกียวไม่มีขา มาใช้กับหัวข้อบทความชิ้นนี้ของผู้เขียน เพราะมันดูเท่ห์ดี คำว่า “สิงคโปร์ไม่มีขน” ผู้เขียนคิดขึ้นมาเองเพื่อใช้นิยามประเทศสิงคโปร์ในแบบสั้นๆ เข้าใจง่ายๆ ก็คือ เป็นประเทศที่สะอาดสะอ้าน เกลี้ยงเกลา มีระบบระเบียบแบบแผนที่ดี บ้านเมืองดูมีความเจริญมั่งคั่ง และปลอดภัย “ขน” จึงเป็นสิ่งที่แม้จะงอกเงยขึ้นมาตามธรรมชาติ แต่หากไม่มีการทำความสะอาด จัดระเบียบ คือ ตัด เล็ม โกนทิ้งไปบ้างก็จะทำให้ดูไม่น่ามอง หรือดูสกปรกได้ เปรียบดังการไม่มีระเบียบวินัยของประชากร การฝ่าฝืนกฎหมายจราจร การแหกคอกออกจากประเพณี การทำลายวัฒนธรรม การไม่มีขื่อมีแป การไม่รักษาความสะอาด ที่สำคัญคือประเทศนี้ไม่มีการคอรัปชั่นหรือมีก็น้อยมาก เพราะกฎหมายเขาแรง และการบังคับใช้กฎหมายก็เคร่งครัดมาก คนที่คิดจะทำความผิดหรือคิดชั่วจึงน้อยมาก ซึ่งประเทศสิงคโปร์เขาไม่มีในสิ่งเหล่านี้ (หรือสามารถควบคุมให้อยู่ในวงจำกัดมาก) ซักเท่าไร ซึ่งถึงแม้ว่าประเทศนี้จะเป็นไม้เบื่อไม้เมากับประเทศไทยในด้านการท่องเที่ยวก็ตาม จะสังเกตได้ว่าเมื่อใดที่ประเทศไทยมีเหตุการณ์ที่ทำให้ภาพพจน์เสียหาย ประเทศนี้ก็จะคอยออกมากระหน่ำซ้ำย่ำยี หรือออกมาพูดจาให้ร้ายและทำลายภาพลักษณ์ของเราให้ยิ่งแย่ลงไปอีก ดูเหมือนเป็นประเทศที่ไม่น่าคบเอาเสียเลย แต่ด้วยความที่เป็นประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงอยู่ในอาเซี่ยนด้วยกัน จึงทำให้ยังต้องคบค้าสมาคมกันอยู่ และดูเหมือนว่าจะเป็นมิตรที่ไม่ค่อยน่าคบนัก แต่บนความน่ารังเกียจของประเทศแห่งนี้ ก็มีข้อดีหรือมีจุดเด่นหลายอย่างที่ควรค่าแก่การนำไปเป็นกรณีศึกษา หรือเรียนรู้จากเขาเป็นตัวอย่างของประเทศต้นแบบแห่งการสร้างบ้านแปลงเมือง ว่าเขาทำได้อย่างไร จึงประสบความสำเร็จเป็นประเทศบิ๊กในภูมิภาคนี้ได้ หรือจิ๋วแต่แจ๋วจนทำให้ประเทศใหญ่ๆ หลายๆ ประเทศยังต้องเกรงขามเขา เรามาดูกัน

ประวัติโดยสังเขปของสิงคโปร์

ตั้งอยู่ทางใต้สุดของคาบสมุทรมาเลย์ อยู่ทางใต้ของรัฐยะโฮร์ของประเทศมาเลเซีย และอยู่ทางเหนือของหมู่เกาะเรียวของประเทศอินโดนีเซีย

สิงคโปร์เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ปลายสุดแหลมมลายู เป็นสถานที่พักสินค้าของพ่อค้าทั่วโลก เดิมชื่อว่า เทมาเส็ก (ทูมาสิค) มีกษัตริย์ปกครอง ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 ได้มีเจ้าผู้ครองนครปาเล็มบังเดินทางแสวงหาดินแดนใหม่เพื่อสร้างเมือง แต่เรือก็อับปางลง พระองค์ได้ว่ายน้ำขึ้นฝั่ง แล้วก็เห็นสัตว์ชนิดหนึ่งมีรูปร่างลำตัวสีแดงหัวดำหัวคล้ายสิงโตหน้าอกขาว พระองค์จึงถามคนติดตามว่า สัตว์ตัวนั้นคืออะไรคนติดตามก็ตอบว่ามันคือ สิงโต พระองค์จึงเปลี่ยนชื่อเทมาเส็กเสียใหม่ว่า สิงหปุระ ต่อมาสิงหปุระก็ได้ตกเป็นของสุลต่านแห่งมะละกา

ยุคการล่าอาณานิคม ประเทศแรกที่มายึดสิงคโปร์ไว้ได้คือโปรตุเกส เมื่อปี ค.ศ. 1511 แล้วก็ถูกชาวดัตช์มาแย่งไป แต่ประมาณปี ค.ศ. 1817 อังกฤษได้แข่งขันกับดัตช์ในเรื่องอาณานิคม อังกฤษได้ส่งเซอร์ โทมัส แสตมฟอร์ด บิงก์เลย์ แรฟเฟิลส์ มาสำรวจดินแดนแถบสิงคโปร์ ตอนนั้นสิงคโปร์ยังมีสุลต่านปกครองอยู่ แรฟเฟิลส์ได้ตกลงกับสุลต่านว่า จะตั้งสถานีการค้าของอังกฤษที่นี่ แต่สุดท้ายอังกฤษก็ยึดสิงคโปร์ไว้เป็นเมืองขึ้นได้สำเร็จ

ค.ศ. 1819 เซอร์ แสตมฟอร์ด ราฟเฟิล สำรวจเกาะสิงคโปร์ และก่อตั้งประเทศ

สงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศญี่ปุ่นได้ประกาศสงครามกับอังกฤษ และก็สามารถยึดครองสิงคโปร์ไว้ได้ แต่เมื่อสงครามสิ้นสุดลง อังกฤษก็ได้ครอบครองสิงคโปร์เหมือนเดิม

การรวมชาติเข้ากับมาเลเซีย เมื่อสิงคโปร์เห็นมาเลเซียได้รับเอกราชจากอังกฤษ สิงคโปร์จึงรีบขอรวมชาติเข้ากับมลายูทันที เพื่อจะได้ไม่เป็นเมืองขึ้นของอังกฤษอีก แต่สิงคโปร์ก็ไม่พอใจกับมาเลเซียมากนักเพราะมีการเหยียดชนชาติกัน ทำให้พรรคกิจประชาชนของสิงคโปร์ประกาศให้สิงคโปร์เป็นเอกราชตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม ค.ศ. 1965 ตั้งแต่บัดนั้นมา

สาธารณรัฐสิงคโปร์ เมื่อแยกตัวออกมาแล้วพรรคกิจประชาชนก็ครองประเทศมาตลอดจนถึงทุกวันนี้

(อ้างอิงเว็บไซต์วิถีพีเดีย ,สารานุกรมออนไลน์)

ขอเริ่มต้นที่ตัวผู้เขียนเองเคยได้มีโอกาสไปเที่ยวที่ประเทศสิงคโปร์แห่งนี้ เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในชีวิตก็เมื่อช่วงเดือน พฤศจิกายน ของปี 2003 หรือปี พ.ศ.2546 ครั้งนั้นผู้เขียนได้ติดตามพี่ชาย ซึ่งไปทำภาระกิจทางด้านติดต่องานธุรกิจ และผู้เขียนติดตามไปในฐานะผู้ร่วมเดินทาง จำได้ว่าครั้งนั้นไปเพียงแค่ 3 วัน กับ 2 คืน เท่านั้น จึงไม่ได้มีโอกาสไปเที่ยวยังสถานที่สำคัญของสิงคโปร์เลย เพราะอยู่แค่เพียงในละแวกที่พัก กับสถานที่ที่พี่ชายไปติดต่องานเท่านั้น แต่ก็ได้สัมผัสถึงบรรยากาศ ตึกรามบ้านช่อง ถนนหนทาง ผู้คน ได้มีโอกาสไปเดินยังตลาด ย่านของกินกลางคืน คล้ายๆ แถวเยาวราช บ้านเรา ได้ไปเดินบนถนนออชาร์ต และก็แถบศูนย์การค้าใหญ่ที่เรียกว่า Suntec City Mall สิ่งที่ประทับใจคือความสะอาดสะอ้านของบ้านเมือง การจัดผังเมือง ภูมิทัศน์ของเกาะสิงคโปร์โดยรอบ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมถึงถนนหนทาง การขับรถของคนที่นั่น การเดินบนฟุตบาธ การข้ามถนนได้อย่างสบายใจ แม้ยามค่ำคืนก็จะไม่เห็นรถที่วิ่งเร็วเหมือนในบ้านเรา รถไฟใต้ดินมีเกือบจะทุกจุดสำคัญๆ ทั่วทั้งเกาะสิงคโปร์ ทำให้การเดินทางไปยังจุดต่างๆ สะดวกรวดเร็ว ประชากรไม่ต้องพึ่งพารถประจำทางหรือรถแท็กซี่ รถประจำตัวมากนัก นี่คือข้อดี ที่เมืองใหญ่ๆ ในโลกที่เจริญแล้วควรจะเป็น และสิงคโปร์ก็เป็นเช่นนั้น

โลกรับรู้ตั้งแต่วันแรกแห่งการประกาศเอกราชของประเทศสิงคโปร์ว่า ลีกวนยู ก็คือสิงคโปร์ ลีกวนยู ไม่ใช่ ซีอีโอ ที่มารับตำแหน่งต่อจากคนอื่น แต่ท่านเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทที่ชื่อว่า ซิงกาโป ซึ่งเป็นบริษัทที่สร้างผลประกอบการอย่างดีเยี่ยม เติบโตอย่างรวดเร็ว จนเป็นบริษัท ที่มั่นคงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก อย่างน้อยก็ในสายตาเหล่านักลงทุน ลีกวนยูน่าจะชอบกินปลาและวิตามินเอ จึงทั้งฉลาดและมองการณ์ไกล ท่านผู้เฒ่าเป็นมือกระบี่ที่หนึ่งของแผ่นดิน ระดับ ซือแป๋ของซือแป๋ ผู้ไม่ต้องใช้กระบี่อีกแล้ว สิ่งทีทำให้ลีกวนยูแตกต่างจากผู้นำคนอื่นๆ ในภาคพื้นเอเชียก็คือ การรู้จักพอกับอำนาจ รู้ว่าเมื่อใดควรก้าวลงจากเก้าอี้ (อีกคนหนึ่งที่น่ายกย่องในการู้จักพอคือ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ของเรา) นี่เป็นจุดที่ ซูฮาร์โต้,มาร์กอส,เนวิน หรือกระทั่งเหมาเจ๋อตุง ทำไม่เป็นหรือแกล้งทำไม่เป็น ท่านผู้เฒ่าก้าวลงจากตำแหน่งเมื่อปี 1980 นายกรัฐมนตรี โก๊ะจ๊กตง รับไม้ต่อเป็นซีอีโอรุ่นสอง ส่วนท่านผู้เฒ่ารับตำแหน่งใหม่เป็น Senior Minister (ที่ตั้งขึ้นเพื่อท่านโดยเฉพาะ) โก๊ะจ๊กตง เรียนจบปริญญาโทจากอเมริกา เป็นสมาชิกสภาตั้งแต่ปี 1976 สูงทั้งเรือนร่างและความคิดอ่าน จึงเป็นมือขวาที่ท่านผู้เฒ่ายกให้เป็นจอมกระบี่ที่สอง เวลานั้นนักวิเคราะห์จำนวนมากในต่างประเทศคาดว่า โก๊ะจ๊กตง คงไปได้ไม่กี่น้ำ และท่านผู้เฒ่าต้องหวนกลับมาอีก พวกเขาคาดผิด เพราะโก๊ะจ๊กตง ให้สัมภาษณ์ในรายการ TalkAsia (CNN) ในปี 2004 ว่า “เมื่อผมสาบานตนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ผมบอกไว้ชัดเจนเลยว่า จะไม่สวมรองเท้าคู่เดียวกับท่าน (ลีกวนยู) ขนาดรองเท้าของท่านคือเบอร์ 13,14,15 ส่วนของผมนั้น แค่เบอร์ 9 ดังนั้นผมจะสวมรองเท้าของผมเอง และเดินแบบสบายๆ “

ปัญหาที่บริษัท ซิงกาโป จำกัด รุ่นโก๊ะจ๊กตง เจอเป็นเรื่องที่ไม่มีใครคาดหมายเอาไว้ล่วงหน้า เช่น ฟองสบู่แตกในภาคพื้นนี้ การระบาดของโรคซาร์ส เป็นต้น แต่เขาก็จัดการปัญหาได้ดี จนต่างประเทศชม ยกตัวอย่างเช่น ช่วงที่เกิดวิกฤติซาร์สนั้น ขณะที่ประเทศของเราและจีนปิดข่าวกันนั้น สิงคโปร์กลับเปิดเผยข่าวทุกชนิด ยืนยันนโยบาย “กลาสนอสต์” สุดสุด สื่อมวลชนและหนังสือพิมพ์รายงานข่าวซาร์สทุกวัน ประกาศว่า แต่ละวันมียอดผู้ป่วยกี่คน กักกันใครบ้าง ติดกล้องตรวจตราในบ้านของคนที่ต้องสงสัยว่าอาจจะติดเชื้อซาร์ส และเป็นประเทศแรกที่ติดตั้งกล้องอินฟราเรดวัดอุณหภูมิร่างกายของนักท่องเที่ยวที่สนามบิน ใครที่ถูกสั่งกักกัน และหนีออกมาก็ถูกจับประจานกลางหน้าหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ ผลก็คือสิงคโปร์เป็นประเทศตัวอย่างที่องค์การอนามัยโลกเชื่อมั่นและชาวโลกเชื่อถือ เมื่อสิงคโปร์ประกาศว่าไม่มีโรคแล้ว ทุกคนก็เชื่อ ตรงข้ามกับบ้านเราและจีน ที่จนบัดนี้ยังเรียกศรัทธาคืนมาไม่ได้เลยจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ที่รัฐบาลออกมายืนยันทุกครั้งว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ แต่แล้วผลเป็นอย่างไร ทั่วโลกเขารับทราบหมด

ผ่านไปสิบสี่ปี โก๊ะจ๊กตง ก้าวลงจากตำแหน่งซีอีโอ ส่งไม้ต่อให้ “ลีเซียนลุง” บุตรชายของลีกวนยู โก๊ะจ๊กตง รับตำแหน่ง Senior Minister ส่วนท่านผู้เฒ่ารับตำแหน่งใหม่ (ที่ตั้งขึ้นอีกครั้งเพื่อท่านโดยเฉพาะ) คือ Minister Mentor

ลีเซียนลุงเคยเป็นทหารมาก่อน เข้าสภาเมื่อปี 1984 หกปีต่อมาก็ได้เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เขาจะสวมรองเท้าเบอร์เดียวกับพ่อและโก๊ะจ๊กตงหรือไม่ อีกไม่นานโลกก็คงรู้ หากถามพนักงานและลูกหลานพนักงานที่ทำงานในบริษัทซิงกาโป จำกัด ว่ารู้สึกอย่างไรที่อำนาจวนเวียนอยู่ในกลุ่มเดิม คำตอบก็คือ ไม่รู้สึกรู้สาอะไร จริงอยู่ย่อมมีเสียงไม่เห็นด้วย แต่เป็นเสียงที่แผ่วเต็มที เหตุผลเพราะท่านผู้เฒ่าเป็นมากกว่านายกรัฐมนตรี ลีกวนยูเป็นบิดาของสิงคโปร์ สิ่งที่ท่านทำเพื่อสิงคโปร์นั้นน่าทึ่ง จากเกาะเล็กๆ ที่ไม่มีอะไรเลยกลายเป็นประเทศที่อุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติเหมือนอย่างไทย ไทยได้แต่มองดูตาปริบๆ

ลีกวนยูผ่านความขัดแย้งระหว่างประเทศมาก่อน เข้าใจการเมืองระหว่างประเทศอย่างลึกซึ้ง ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นยึดครองสิงคโปร์ สังหารประชาชนไปร่วมแสนคน ลีกวนยูเคยถูกตบหน้าและสั่งให้คุกเข่าลงต่อหน้าทหารญี่ปุ่นนายหนึ่ง เพียงเพราะไม่ได้โค้งคำนับทหารผู้นั้นขณะข้ามสะพาน

ท่านผู้เฒ่าเรียนจบกฎหมายจากเคมบริดจ์ด้วยคะแนนสูงสุด แม้จะไม่ได้ปลื้มอังกฤษนัก แต่ก็นับถือวิธีการที่อังกฤษทำงาน เช่นเดียวกับที่แม้ไม่ได้ชอบญี่ปุ่นนัก แต่ก็เรียนรู้วิธีการทำงานแบบญี่ปุ่น การรู้จักนำจุดแข็งของคนอื่นมาใช้จึงเป็ฯจุดแข็งของท่านผู้เฒ่า

ลีกวนยูตั้งพรรค PAP (People’s Action Party) ในปี 1954 เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของสิงคโปร์เมื่ออายุเพียง 35 ปีเท่านั้น (ยังเด็กกว่ายิ่งลักษณ์และอภิสิทธิ์เสียอีก)

วันแรกที่ลีกวนยูบริหารประเทศ น้อยคนที่เชื่อว่าท่านจะพาสิงคโปร์ไปรอด หรือมาได้ไกลถึงขนาดนี้ เพราะลำพังน้ำดื่มยังต้องพึ่งพามาเลเซีย ในปี 1960 ท่านก็ก่อตั้ง Housing and Development Board(HDB) ซึ่งสร้างที่อยู่อาศัยในรูปอพาร์ตเม้นต์เป็นการใหญ่ จวบจนบัดนี้ HDB ก็ยังทำงานสร้างโครงการใหม่ๆ ทุกวัน ที่ต้องยอมรับว่า HDB ทำงานจริงจังและติดตามงาน ก็คือการอัปเกรดอพาร์ตเม้นต์ในโครงการแรกๆ ที่มีขนาดเล็กมากให้ใหญ่ขึ้น ปรับปรุงสวนสาธารณะในทุกโครงการ 5 ปีต่อมาสิงคโปร์ก็แยกตัวจากมาเลเซีย นับก้าวที่หนึ่งของการเป็นเอกราช อย่างแท้จริง

ซีอีโอหมายเลขหนึ่งรู้ดีว่า สำหรับประเทศใหม่ “แกะกล่อง” เช่นนี้สิ่งแรกที่ต้องทำคือระบบสาธารณูปโภค ภายในยี่สิบปีระบบสาธารณูปโภคของสิงคโปร์ดีที่สุดในเอเชียอาคเนย์(อาเซี่ยน) รวมไปถึงเครือข่ายคมนาคม ระบบขนส่งมวลชน ทั้งที่ประเทศนี้ไม่รู้จักคำว่ารถติด (แบบกรุงเทพฯ) มาก่อน

ความฝันแต่ละอย่างของท่านผู้เฒ่ามักถูกหัวเราะเยาะมาก่อน เช่น เมื่อท่านบอกว่าจะถมทะเลขยายพื้นที่เกาะ แต่ฝันของซีอีโอคนนี้ก็เป็นจริงทุกที การขยายแผ่นดินเป็นงานของกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ ซึ่งยืนยันนโยบายว่า จะถมไปเรื่อยๆ ความจริงสิงคโปร์ขยายพื้นที่รุกทะเลมานานกว่าร้อยปีแล้ว ตั้งแต่ยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ เมื่อแรกที่คนจีนอพยพมาถึงเกาะนี้ได้สร้างวัดหันหน้าออกทะเลเพื่อขอบคุณเจ้าแม่แห่งสมุทร คือบริเวณถนนเตล็อกอาเยอร์ โดยการถมทะเลส่วนหนึ่ง การขยายตัวในด้านต่างๆ ทำให้ประเทศนี้ไม่มีทางเลือกนอกจากต้องขยายพื่นที่ด้วย ในรอบสามสิบปีที่ผานมา พื้นที่เกาะเพิ่มขึ้นจาการถมทะเลราวสิบเปอร์เซ็นต์ ที่ตั้งของสนามบินชางฮี,เซนตัน เวย์ (ศูนย์กลางทางการเงิน),โรงแรมแรฟเฟิลส์บนถนนบีช(ถนนหาดทราย) ล้วนเคยเป็นบ้านของปลามาก่อน ทางด้านสวัสดิการสังคม ท่านผู้เฒ่าตั้งองค์กร CPF (Central Provident Fund) เป็นกองทุนสะสมของราษฎร CPF คือทุนที่ราษฎรที่ทำงานทุกคนได้รับสะสมไว้ตลอดชีวิต ถอนมาใช้ได้เมื่อเกษียณอายุ ระหว่างนั้นสามารถนำเงินทุนนี้ไปผ่อนซื้อบ้านและรักษาตัวเมื่อเจ็บป่วย ปัจจุบันเงิน CPF เป็นการเรียกเก็บเงิน 33 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ (13 เปอร์เซ็นต์จากผู้ว่าจ้าง และ 20 เปอร์เซ็นต์จากลูกจ้าง) ตัวเลขนี้ขึ้นลงตามสถานการณ์ของประเทศ

ภายในเวลาไม่ถึงยี่สิบปี สิงคโปร์กลายเป็นท่าเรือที่วุ่นวายที่สุดแห่งหนึ่งของโลก รองรับกว่าหกร้อยสายเดินเรือ เป็นศูนย์กลางกลั่นและจัดจำหน่ายน้ำมันที่ใหญ่เป็นอันดับต้นของโลก เป็นแหล่งผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิคส์ การต่อเรือและซ่อมเรือระดับชั้นนำของโลก เป็นศูนย์กลางการเงิน มีธนาคารกว่า 130 แห่ง คิดเล่นๆ หากบริษัทซิงกาโป จำกัด ไม่ได้ท่านผู้เฒ่ามาบริหารตั้งแต่วันแรก ป่านนี้ก็อาจยังไม่ได้เข้าตลาดหลักทรัพย์ หลายคนบอกว่า ซิงกาโปเป็นบริษัทเล็ก ๆ (เทียบระดับก็แค่ SMEs) ใครมาปกครองก็ทำให้ก้าวหน้าได้ไม่ยาก อาจจะจริง หรืออาจจะไม่จริงก็ได้ บางทีหากสิงคโปร์ได้บางรัฐบาลในอดีตของเราไปปกครอง บริษัทซิงกาโป จำกัด คงเลิกกิจการในเวลาไม่นาน ด้วยนักการเมืองที่มีวิสัยทัศน์เหมือนแรด และกินจุราวสุกร น้อยคนนัก จะรู้ว่าท่านผู้เฒ่าเกลียดความร้อนและความชื้นในเกาะน้อยใกล้เส้นศูนย์สูตรแห่งนี้ ลีกวนยูเคยบอกว่าเครื่องปรับอากาศเป็นประดิษฐกรรมยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก เพราะมันทำให้คนทำงานได้มากชั่วโมงขึ้น ในยามตื่นท่านชอบใช้ชีวิตอยู่ในอุณหภูมิ 22 องศาเซลเซียส ในยามหลับ คือ 19 องศาเซลเซียส นั่นคงเป็นเหตุผลที่ท่านปลูกต้นไม้ใหญ่ทั่วเกาะสิงคโปร์

ศาสตราจารย์เดชา บุญค้ำ แห่งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเคยวิเคราะห์ว่า การปลูกต้นไม้ใหญ่ในปริมาณขนาดนี้สามารถลดอุณหภูมิของทั้งเกาะลง ผลลัพธ์ที่ตามมาก็คือการประหยัดค่าแอร์ ค่าพัดลม มหาศาล ลองคิดดูว่า ต้นไม้ใหญ่หนึ่งต้นสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าลงเท่าไรต่อวันต่อเดือนต่อปีแล้วคูณแสนคูณล้านเข้าไป นอกเหนือจากการประหยัดไฟฟ้า ป่ายังเพิ่มออกซิเจน อากาศดีหมายถึงการลดอัตราการเจ็บป่วย ในประเทศที่ไม่มีอะไรเลย สิ่งเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ช่วยทำให้ประเทศประหยัดเงินมหาศาลในระยะยาว เมื่อหันมามองบ้านเรา ก็เห็นความต่างอย่างชัดเจน บ้านเรามีแต่ตัดไม้ทำลายป่า เรานิยมปลูกไม้ประดับต้นเล็กๆ ที่มีดอกไม้สวยงาม แต่ไม่เกิดผลดีในระยะยาว ทั้งที่ค่าใช้จ่ายในการดูแลต้นไม้ใหญ่ต่ำกว่าการดูแลพุ่มไม้ดอกมากนัก ลำพังแก้ปัญหาฝุ่นในกรุงเทพฯ ได้อย่างเดียวก็ลดค่ารักษาพยาบาลได้อีกหลายพันล้านบาท และเพิ่มผลผลิตของประเทศอีกมหาศาล ทุกครั้งที่มาเยือนบริษัท ซิงกาโป จำกัด นักท่องเที่ยวที่มาจากเมืองไทยอาจไม่รู้สึกหงุดหงิดกับการปรับเวลาให้เร็วขึ้นหนึ่งชั่วโมง แต่คงสงสัยว่าทำไมประเทศนี้จึงตั้งเวลาไม่ตรงกับสภาพธรรมชาติ ท้องฟ้ายามหกโมงเช้าที่สิงคโปร์มืดเหมือนกลางคืน “เวลา” ที่นี่ตรงกับเวลาที่มาเลเซีย และฮ่องกง และห่างจากเวลาญี่ปุ่นเพียงชั่วโมงเดียว ชาวสิงคโปร์ผู้หนึ่งวิเคราะห์เรื่องนี้ว่า การปรับเวลาให้ตรงกับฮ่องกงและใกล้เคียงกับญี่ปุ่น หมายถึงขณะที่คนไทยกำลังนอนบนเตียง นักธุรกิจในญี่ปุ่น ฮ่องกง กับสิงคโปร์เจรจาธุรกิจไปหลายเรื่องแล้ว เพราะเป็นเวลาเดียวกันสามารถติดต่อธุรกิจได้ทันทีโดยไม่ต้องเช็กเวลา จุดนี้ดูผิวเผินอาจเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ก็มีเหตุผล ดังนั้น เมื่อดูจากผลงานส่วนใหญ่ที่เข้าตากรรมการ จึงไม่แปลกใจว่าทำไมไม่มีคำครหาเรื่องการโอนถ่ายอำนาจเลย ดูเหมือนในสายตาของประชาชนเดินดิน สิ่งใดที่ท่านผู้เฒ่าบอกว่าดีคือสิ่งที่ดีสำหรับพวกเขา ผู้นำคนใหม่ที่ท่านบอกว่าดี ผู้คนก็เชื่อ

ท่านผู้เฒ่าเป็นเหมือนบิดาที่ “คลุมถุงชน” หาคู่ครองให้ลูก ย่อ่มต้องหาคนที่ดีที่สุด คนที่ลูกฝากผีฝากไข้ด้วยได้ จุดหนึ่งที่ผมรู้สึกว่า คนมีอำนาจในประเทศนี้ต่างจากบิ๊ก ในเมืองไทยคือ ผมไม่เคยเห็นคนมีอำนาจ พีอาร์ ตัวเองหน้าจอโทรทัศน์ ไม่เคยเห็นรัฐมนตรีสวมสูทไปพบชาวบ้าน หรือเดินทางไปไหนมาไหนด้วยขบวนยาวหยียด ตั้งแต่นายกรัฐมนตรีลงมาทุกคนสวมเสื้อเชิ้ตธรรมดา เชยกว่ามนุษย์เงินเดือนแถวสีลมและสาธรเสียอีก

จะว่าไปแล้ว มนุษย์เงินเดือนของที่นี่กับที่กรุงเทพฯ คงไม่ได้ต่างกันนัก คนจำนวนมากสร้างสถานะทางสังคมปลอมๆ ด้วยเงินผ่อนเป็นหลัก เรียกกันว่าสถานะ 5Cs คือ Cash , Credit Card , Car, Condominium ,Country Club เมื่อเศรษฐกิจฟุบหรือแฟบ หลายคนก็ต้องลดจำนวน C ของตนให้ลดลงมา

รายการ TalkAsia (CNN) เคยถามโก๊ะจ๊กตง ว่า คุณคิดว่าอะไรเป็นความท้าทายที่สุดสำหรับสิงคโปร์ ไม่เพียงแต่ในฐานะนครรัฐ หากสำหรับพลเมืองของรัฐด้วย? โก๊ะจ๊กตง ตอบว่า “ความท้าทายใหญ่ที่สุดในทางเศรษฐกิจคือ เราจะมองดูโลกใหม่อย่างไร เดี๋ยวนี้เราเห็นหลายประเทศพยายามดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ ที่เคยนำโดยสิงคโปร์ จีน ตามมาด้วยอินเดีย และประเทศในยุโรปตะวันออก ดังนั้น ในทางพื้นฐาน โมเดลที่เราใช้พัฒนาสิงคโปร์ก็กลายเป็นโมเดลที่ใช้โดยประเทศต่างๆ แน่นอนมีการปรับปรุง ดังนั้นเราจะตัดแต่งตัวเราเองยังไงเพื่อสร้างจุดเด่นเฉพาะในโลก เพื่อรองรับมาตรฐานการค่าครองชีพที่สูงของเรา นั่นคือความท้าทายใหญ่ที่สุดสำหรับสิงคโปร์”

อาจเพราะคำว่า “ความท้าทาย” นี่เอง ที่ทำให้ผู้คนที่นี่มีชีวิตที่เร่งรีบเดินเร็ว พูดโทรศัพท์เร็ว คีย์เอสเอ็มเอสเร็ว แม้แต่บันไดเลื่อนยังเร็วกว่าที่เมืองไทยไม่ว่าจะเป็นซีอีโอหรือพนักงาน ต่างต้องทำทุกอย่างให้บริษัทอยู่รอด สิ่งหนึ่งก็คือการมองการณ์ไกล เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในช่วงกลาง 80’s ทุกชาติพากันรัดเข็มขัด สิงคโปร์กลับใช้เงินสร้างรถไฟฟ้าใต้ดิน โครงการรถไฟฟ้าของเขาคิดทีหลังเรา แต่เสร็จก่อนเราและจ่ายถูกกว่าของเราหลายเท่า ขณะที่สนามบินนานาชาติของเขายังไม่เต็ม เขาก็สร้างสนามบินแห่งที่ 2 แล้ว และกำลังวางแผนสร้างแห่งที่ 3 สิงคโปร์ไม่มีดอกไม้ แต่โปรโมทว่าเป็นศูนย์กลางดอกไม้ ไม่ปลูกผลไม้ แต่สามารถโปรโมตต่อชาวโลกว่า เป็นแหล่งกลางของผลไม้เอเชีย ตามมาด้วยการตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางของเทคโนโลยี ศูนย์กลางของศิลปะ วัฒนธรรมอาหาร และอีกหลายๆ ศูนย์กลาง ฯลฯ อาจเพราะคำว่า “ความท้าทาย” นี่เอง ที่ทำให้รัฐบาลใต้เงาของโก๊ะจ๊กตงสนับสนุน bilateral trade agreement ทำสัญญาต่างๆ เช่น FTA มากมายกับตางประเทศ และเป็นประเทศแรกในเอเซียที่เซ็นสัญญากับสหรัฐอเมริกา และอาจเป็นเหตุผลที่ทำไมสิงคโปร์ต้องเข้าข้างสหรัฐอเมริกาในเรื่องการต่อต้างการก่อการร้าย โดยการประกาศตัวเป็นพันธมิตรอย่างชัดเจน เพราะพวกเขาไม่มีอะไรในมือเลย นอกจากการมองการณ์ไกล ผู้ใหญ่ทำงานอย่างหนัก เด็กๆ เรียนหนังสืออย่างหนัก ระบบการศึกษาที่สิงคโปร์มองการณ์ไกล ไม่ใช่แค่ปีสองปี แต่เป็นยี่สิบสามสิบปีและไม่ใช่การมองการณ์ไกลสำหรับปัจเจก หากสำหรับการอยู่รอดของประเทศในองค์รวม ตั้งแต่หลายปีก่อน รัฐก็เริ่มตั้งแคมปัสของมหาวิทยาลัยใหญ่ ๆ ของโลกที่นี่ ตั้งแต่จอห์นฮอปกิ้นส์ เอ็ม.ไอ.ที ไปจนถึง มหาวิทยาลัยต่างชาติจำนวนมาก เช่น ออสเตรเลีย อังกฤษ อเมริกา ล้วนไปตั้งสถาบันการศึกษาที่สิงคโปร์ สิ่งหนึ่งที่บริษัท ซิงกาโป จำกัด เน้นอย่างยิ่งคือความรู้ ทั้งในระดับพนักงานและลูกหลานของพนักงาน สำหรับคนทำงานที่มีอายุเกิน 40 ปีขึ้นไป รัฐส่งเสริมให้เรียนเพิ่มทักษะในโครงการที่เรียกว่า SRP (Skill Redevelopment Programme) โดยส่งเสียให้เรียนฟรี หรือมากกว่าฟรี กล่าวคือ ผู้ที่เรียนสามารถเบิกเงินได้ 75 เปอร์เซ็นต์ของค่าเรียน ขณะเดียวกันก็ได้รับค่าจ้างให้ไปเรียนชั่วโมงละ 6.10 เหรียญ (140 บาท) ดังนั้นเมื่อเรียนจบหลักสูตร อาจได้รับเงินมากกว่าที่จ่ายไป เด็กนักเรียนที่ครอบครัวมีฐานะไม่ดีนัก (คำว่า “ไม่ดี” หมายถึงรายได้ไม่เกิน 1,500 เหรียญต่อเดือน) ได้รับค่าเรียนเพิ่มคนละ 150 เหรียญต่อปี (3,500 บาท) เป็นค่าเรียนเพิ่มเติม หากไม่ใช้เงินที่รัฐให้นี้ มันจะสะสมในกองทุน CPF (Central Provident Fund) ของเด็กคนนั้น หากสอบได้คะแนนดีก็เพิ่มเงินให้มากขึ้น ที่ว่าเป็นระบบการศึกษาที่ไม่ใช่การมองการณ์ไกลสำหรั้บปัจเจกเพราะเป็นการสอนวิชาที่ใช้ประโยชน์ก็ได้ในชีวิตจริงเท่านั้น ไม่เน้นวิชาวาดเขียน ศิลปะ สำหรับนักเรียนทั่วไป ใช่! เด็กนักเรียนที่นี่ส่วนใหญ่วาดรูปไม่เป็น คนต่างชาติ ไม่ชอบสิงคโปร์ เพราะนานมาแล้วในยุค 1970’s เขาถูกห้ามเข้าเมือง หากไม่ตัดผมที่ยาวรุงรังเสียก่อน ปัจจุบันไม่มีกฏดังกล่าวแล้ว แต่กฏหมายที่นี่ก็ยังคงจัดว่าเข้มงวดที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เนื่องจากที่นี่ไม่มีเวลาเหลือเฟือสำหรับเรื่องหยุมหยิม ต้องตัดสินใจเร็ว ดังนั้นจึงเลี่ยงไม่ได้ที่กฏหมายที่นี่จะแข็งกระด้าง และผู้คนดูเหมือนไร้ชีวิต

เมื่อมีปัญหาหมากฝรั่งเลอะเทอะตามสถานที่สาธารณะ พวกเขาแก้ปัญหาโดยการแบนหมากฝรั่ง เมื่อมีปัญหาคนปัสสาวะในลิฟท์ พวกเขาแก้ปัญหาโดยการติดกล้องวงจรปิด เมื่อมีปัญหาคนขับรถฝ่าไฟแดง พวกเขาแก้ปัญหาโดยการติดกล้องวงจรปิด ใบสั่งค่าปรับจะถูกส่งไปหาคนฝ่าฝืนทางไปรษณีย์พร้อมรูปถ่ายหลักฐานและใบหักคะแนน (คล้ายๆ ที่บ้านเราเพิ่งทำ แต่บ้านเขาทำมานานแล้วกว่า 20-30 ปี) บุหรี่ทำให้คนป่วย เสียทรัพยากรบุคคล พวกเขาแก้ปัญหาโดยการแบนบุหรี่ ไม่ได้ห้ามโดยตรง แต่ลดพื้นที่ที่สูบบุหรี่ลงไปเรื่อยๆ จนแทบไม่มีที่เหลือให้คนสูบบุหรี่ได้อีกแล้ว ทุเรียนส่งกลิ่นเหม็น ก็ออกกฏห้ามนำทุเรียนขึ้นรถเมล์และรถไฟฟ้าด้วยค่าปรับที่สูงกว่าราคาทุเรียนนับพันเท่าจนล้อกันว่า “Singapore is a FINE country” เมื่อมีปัญหาคนทำผิดซ้ำซาก อีกทั้งเศรษฐีหลายคนมีปัญหาเสียค่าปรับ พวกเขาแก้ปัญหาโดยใช้โทษการโบยตีด้วยไม้เรียว คนทำผิดก็ลดลงทันตาเห็นจนพอสรุปได้ว่า ที่นี่แก้ปัญหาตรงๆ แบบกำปั้นทุบดินแต่เป็นกำปั้นโปร่งใส ที่นี่ไม่มีเวลาเหลือสำหรับปัญหาหยุมหยิม

ชีวิตแบบนี้ทำให้ชาวต่างชาติมักมองว่า ชีวิตในสิงคโปร์จืดชืด และเป็นเส้นตรงจนเกินไป ในปี 1994 กรณีการโบยตีเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก เมื่อรัฐบาลสิงคโปร์ปฏิเสธยกโทษการโบยตีเด็กหนุ่มอเมริกันโทษฐานทำลายทรัพย์สินทางการ ไมเคิล เฟย์ ถูกเฆี่ยนโดยไม่มีข้อยกเว้น แต่ไม่มีนโยบายใดในโลกที่ไม่มีข้อเสีย การมีคดีความน้อยมาก ไม่ได้หมายความว่าประเทศนั้นเต็มไปด้วย “คนดี” หากแต่เพราะการทำชั่วได้รับการลงโทษอย่างหนักต่างหาก ก่อนหน้าการติดกล้องวงจรปิดในลิฟท์ไม่นาน มีการพบร่องรอยฉี่(ปัสสาวะ) ในลิฟท์ด้วย นี่คงเป็นประเทศเดียวในโลก ที่มีคนฉี่(ปัสสาวะ) ในลิฟท์ เชื่อมั๊ยว่า พวกเขามิได้ต้องการฉี่(ปัสสาวะ) ในลิฟท์ แต่อยากระบายความคับข้องใจบางอย่างออกมาในรูปของการฉี่(ปัสสาวะ) ต่างหาก

ความคิดสร้างสรรค์ของคนสิงคโปร์ถูกทำลายลงไปเรื่อยๆ ไม่ค่อยเห็นใครกล้าคิด หรือเห็นประโยชน์จากการคิดออกนอก “กล่อง” หรือพลิกแพลงชีวิตไปตามสถานการณ์ คนที่คิดออกนอกกล่องมักพาร่างกายออกนอก “กล่อง” ไปด้วย ชาวสิงคโปร์จำนวนไม่น้อย เมื่อเดินทางออกนอกประเทศแล้วไม่คิดกลับมา เชื่อว่าท่านซีอีโอก็คงมองเห็น เวลาเปลี่ยนไป โลกแคบลง สิงคโปร์ไม่มีทางเลือกนอกจากจะต้องผ่อนปรนบ้าง มุ่งทิศไปเป็น Fine Country จริงๆ เพราะท้ายที่สุดแล้วเชือกที่ขึงตึงเกินไปก็ขาดได้ ในช่วงท้ายการปกครองใต้เงาของโก๊ะจ๊กตง กฏเกณฑ์เข้มงวดผ่อนคลายลงมาก เช่น การอนุญาตให้พวกโฮโมเซ็กชวลทำงานในภาครัฐได้ กระทั่งยอมให้มีบาร์เต้นรำบนเคาน์เตอร์ (แม้ว่าคงร้อนแรงสู้บาร์ย่านพัฒน์พงษ์ไม่ได้) ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำให้หลายคนตาค้าง ตามมาด้วยนโยบายผ่อนปรน หาทางดึง “มันสมอง” กลับบ้าน มาถึงปีนี้ ผู้หลักผู้ใหญ่เริ่มหันมายอมรับว่าในที่สุดแล้ว การเรียนแบบจับยัดก็เป็นความคิดอ่านสุดขั้วเกินไป นโยบายใหม่ล่าสุดคือ การลดจำนวนนักเรียนต่อชั้น เพิ่มจำนวนครู เพื่อดูแลนักเรียนแบบใกล้ชิดขึ้น บางทีในอนาคตอีกไม่นาน เด็กๆ ที่นี่อาจได้เรียนวิชาศิลปะอย่างเป็นเรื่องเป็นราว

ชาวต่างชาติไม่น้อยตั้งข้อสังเกตพร้อมรอยยิ้มที่มุมปากว่า สิงคโปร์ก็คือรัฐเผด็จการ(ล้อเลียนรัฐสวัสดิการ) ด้วยเหตุผลง่ายๆ คือ ประเทศนี้ยังไม่เปิดให้มีการชุมนุมทางการเมืองแบบเสรี แต่ดูเหมือนไม่มีใครสนใจต่อคำเปรยดังกล่าว เพราะชาวสิงคโปร์คิดว่า จะเอาประชาธิปไตยไปทำไม หากประเทศไม่ก้าวหน้าไปไหน และเต็มไปด้วยคอร์รัปชั่น? (เอ๊ะ นี่มันกำลังต่อว่าประเทศไหนกันวะ) เขาไม่ได้เอ่ยชื่อประเทศไหน ไม่ว่าเราจะเรียกประเทศสิงคโปร์ว่าอย่างไร หรือจะเรียก บริษัทซิงกาโป จำกัด นี้ว่าเป็นรัฐประชาธิปไตยแบบรวบอำนาจ หรือรัฐเผด็จการ หรืออะไรก็ตาม แต่คำถามที่สำคัญที่สุดก็คือ ชาวบ้านชาวเมืองที่อยู่ในนั้นอ่ะ มีความสุขกันมั๊ย? ผมถามเพื่อนเก่าคนหนึ่ง ผุ้ซึ่งเป็นคนเปิดเผยและกล้าแสดงออกโดยไม่กลัวใคร เคยใช้ชีวิตและเรียนในต่างประเทศมาพักใหญ่ว่า “ถามจริงๆ เถอะ คุณมีความสุขในประเทศนี้ไหม? คำตอบของเธอก็เหมือนคนจำนวนไม่น้อยที่บอกว่า ในเมื่อรัฐสามารถให้พวกเขาในด้านต่างๆ เป็นเมืองที่ปลอดภัย ไม่มีคอรัปชั่น บทลงโทษสูง ทำให้คนไม่กล้าเอารัดเอาเปรียบกัน พวกเขาก็ไม่เห็นว่าจะต้องเรียกร้องขออะไรอีก ส่วนอีกคนหนึ่งบอกผมว่า นี่เป็นประเทศที่ไม่มีลับลมคมใน ทุกคนรู้สิทธิหน้าที่ของตนเอง และสามารถยืนยันในสิทธินั้นได้เต็มที่ ยกตัวอย่างเช่น การไปติดต่อราชการ จะไม่มีคำว่า “ใต้โต๊ะ” เป็นอันขาด ทั้งที่จะว่าไปแล้ว คนจีน(ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ)เป็นปรมาจารย์ในเรื่อง (น้ำร้อน) น้ำชา แน่นอน คนยากจนจริง ๆ ในบ้านเมืองนี้ยังมีอยู่ไม่น้อย และยากจนจริงๆ ด้วย แต่ช่องว่างระหว่างชนชั้นไม่แตกต่างกันเหมือนเมืองไทย แน่นอนบางคนที่พูดอาจไม่ได้เปล่งเสียงจากใจจริงแต่ความจริงก็คือไม่มีรัฐใดในโลกนี้อยู่ได้ หากมวลชนของเขายังยากจนแสนเข็ญอย่างยาวนาน

บริษัทไซแอม จำกัด ก่อตั้งมานานกว่า อุดมด้วยทรัยากรธรรมชาติ มีพื้นฐานวัฒนธรรมที่เข้มข้น และมีศักยภาพมากกว่าบริษัทซิงกาโป จำกัด นับล้านๆ เท่า แต่กลับใช้ศักยภาพไม่ถึงครึ่ง ท่านผู้เฒ่าของเขานั้นเก่งแน่ แต่ในเมืองไทยก็มีคนเก่งไม่แพ้ท่าน และมีหลายคนด้วย คำถามจึงไม่ใช่ว่า ซีอีโอของเรากินปลาและทานวิตามินเอน้อยกว่าซีอีโอของเขาหรือไม่ แต่อาจอยู่ที่ว่า เราสามารถทำให้กฏหมายของเราศักดิ์สิทธิ์ โดยมี “double standard” น้อยที่สุดได้หรือไม่ เราจะแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นได้หรือไม่ โดยไม่ลูบหน้าปะจมูกกับคนใกล้ตัวกัน ไม่เล่นพรรคเล่นพวกกันได้หรือไม่ ผู้นำของเรารักบ้านเมืองมากพอที่จะส่งไม้ต่อให้กับคนรุ่นต่อไป หรือมีวิสัยทัศน์เหมือนกับที่ท่านผู้เฒ่าของเขามองเห็นว่าระบอบรวบอำนาจแบบเบ็ดเสร็จหากใช้ไปในทางเพื่อคนส่วนรวม และไม่ใช่สิ่งที่ใช้ได้ในทุกยุคสมัย ทุกประเทศหรือทุกสถานการณ์ จะนำพาประเทศชาติเจริญแบบคาดไม่ถึงเลยทีเดียว

(ถอดความบางส่วนจาก รายงานผลประกอบการ บริษัท ซิงกาโป จำกัด, วินทร์ เลียววาริณ,china & east asia journal ตุลาคม 2547,สำนักพิมพ์ open books)

และประเทศสิงคโปร์เขาก็มองการณ์ไกลโดยตลอด ภายหลังลีเซียนลุง เข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศแทนโก๊ะจ๊กตง เป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกซบเซา เจอพิษไข้จากวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ เมื่อปี 2008 ประเทศสิงคโปร์ก็เผชิญปัญหาทางด้านเศรษฐกิจถดถอย และเผชิญความท้าทายของการหารายได้เข้าประเทศ เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลของเขาได้ปัดฝุ่น นำเอาโครงการที่เคยคิดไว้แล้วในอดีตมาปัดฝุ่นทำออกมาเป็นรูปธรรมก็คือ Marina Bay Sands ซึ่งจะตอบโจทย์การแก้ปัญหาเศรษฐกิจของบ้านเขา เพื่อดึงเงินเข้าประเทศ สร้างการเจริญเติบโตของประเทศให้ยังคงอยู่ได้ในระยะยาว และยั่งยืนมากขึ้น โครงการนี้เปรียบเสมือนเมืองใหม่อีกเมืองหนึ่ง ภายใต้การบริหารงานแบบมืออาชีพ ครบครันและสมบูรณ์ที่สุด ซึ่งครั้งนึงเมืองดูไบของสหรัฐอาหรับอิมิเรตต์ ก็เคยคิดจะทำ แต่ยังไม่สำเร็จก็มาเจอพิษไข้ของวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์เสียก่อน โครงการ Marina Bay Sands จะเป็นอย่างไร รายละเอียดจะอยู่ถัดลงไปจากบทความนี้

การนำเสนอเรื่องราวของประเทศสิงคโปร์นี้ ผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาที่อยากจะให้เมืองไทยนำเขามาเป็นต้นแบบพิมพ์เขียวทำตามอย่างแต่อย่างใด เพราะทราบดีว่าลักษณะทางภูมิประเทศ กายภาพ รากฐานทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ สิ่งแวดล้อม ลักษณะนิสัยใจคอของผู้คนนั้นแตกต่างกันอย่างมาก และผู้เขียนก็ไม่ใช่พวกลัทธินิยมพวกสิงคโปร์ซักเท่าไหร่ เพียงแต่นำมาเป็นข้อคิดหรือชี้ให้เห็นวิธีคิด การทำงาน การมองไปข้างหน้า หรือการวางแผนอนาคตให้กับประเทศของผู้นำประเทศสิงคโปร์ ซึ่งไม่ว่าประเทศเราจะจงเกลียดจงชังประเทศเขาอย่างไร แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐสิงคโปร์ เป็นรัฐที่มีประสิทธิภาพ และมักถูกจัดอันดับให้อยู่ต้นๆ ของโลกในหลายๆ ด้าน เราจึงดูประเทศเขา เพื่อศึกษาและเรียนรู้ และนำมาเป็นตัวแบบในการวิเคราะห์ วิจัย ศึกษา ใช้กับการพัฒนาประเทศของเรา ไม่อยากให้ใกล้เกลือกินด่าง อีกทั้งยังเป็นประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงและอยู่ใน AEC ด้วยกัน ควรที่จะศึกษาซึ่งกันและกันไว้

เมืองใหม่ Marina Bay Sands สุดหรู อลังการ…ของสิงคโปร์

ตึกสูงๆ รูปร่างแปลกประหลาดๆ หรูหราใหญ่มหึมา โดดเด่นที่มีเรือลอยฟ้าขนาดใหญ่ เชื่อมต่อสามอาคาร นั่นคือ “Marina Bay Sands” สถานที่ท่องเที่ยวยอดเยี่ยมแห่งใหม่ของเมืองสิงคโปร์ระดับเวิล์ดคลาส ที่มีกิจกรรมบันเทิงระดับเวิล์ดคลาสมากมายให้เลือกสรร ไม่ว่าจะเป็นสถานที่จัดงานประชุม, โรงแรมหรูที่มีห้องพักกว่า 2500 ห้อง ซึ่งประกอบด้วยตัวอาคารสามอาคารที่มีความสูงเหนืออ่าวมากถึง 55 ชั้นสวนลอยฟ้าแซนด์สกายพาร์ค (Sands SkyPark) อวดการเป็นหนึ่งในสวนลอยฟ้าสาธาณะขนาดใหญ่ที่สุดในโกลและสระว่ายน้ำกลางแจ้ง แบบน้ำล้นไร้ขอบขนาดใหญ่ที่สุด รูปทรงคล้ายเรือชื่อว่า The Sands SkyPark, แหล่งช็อปปิ้งของร้านแบรนด์ดังๆ มีศูนย์แสดงสินค้าหรือเรียกว่า The Sands Expo and Convention Center ด้วยพื้นที่ขนาดกว่า 1.3 ล้านตารางเมตร นอกจากนี้ยังมีร้านบูติกสุดหรูชั้นนำจากต่างประเทศ เช่น Bottega ,Veneta,  Burberry ,Cartier , Chanel , Christian Dior , Fendi , Gucci , Hermes , Louis Vuitton , Miu Miu , Prada , Ralph Lauren  , Salvatore , Ferragamo  ,Yves Saint Laurent และอื่นๆ บริการอีกมากมาย, ร้านอาหารดังๆ มีให้ได้เลือกทานตามที่ต้องการ รวมทั้งแหล่งบันเทิงชั้นนำให้ได้เพลิดเพลินได้ตลอดทั้งวันทั้งคืน ในโรงภาพยนตร์ชั้นนำ ไนท์คลับหรู คาสิโน ระดับ world class

Marina Bay Sands เปิด ให้บริการแล้ว ตั้งแต่เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2010 ที่ผ่านมา

อาคาร 200 เมตรสูง ที่ตอนนี้กลายเป็นไอคอนใหม่ของสิงคโปร์ในบริเวณ Marina Bay, สิงโตทะเล, รูปปั้นสิงโตในเวลากลางวันที่เก็บน้ำออกจากปากของเขาเข้ามาแทนที่

แซนด์รีน่าเบย์รีสอร์ทจะรวมอยู่ในชุมชนรอบอ่าวมารีน่า พื้นที่เป็นที่ตั้งอยู่ที่ปากของแม่น้ำสิงคโปร์


อาคารทางกายภาพของ Marina Bay Sands โรงแรมประกอบด้วยอาคารสามเสาแต่ละอาคารที่มีความสูงของ 55 ชั้น
สถาปนิกที่ออกแบบ คือ Moshe Safdie จากบอสตันประเทศสหรัฐอเมริกาที่ได้รับการออกแบบอาคารที่ไม่เคยซ้ำกัน

ที่ด้านบนของอาคารเป็นโรงแรม โดยการสร้างรูปร่างเหมือนเรือที่ถูกเรียกว่า SkyPark ซึ่งก็กลายเป็นมงกุฎของอาคารที่มีพื้นที่ 12,400 ตารางเมตรสะพาน SkyPark รองรับผู้คนและต้นไม้ถึง 250 650 ต้น และพืชอื่น ๆ ในสถานที่ที่ยังมีสระว่ายน้ำ 150 เมตรสูงที่ช่วยให้ผู้ใช้บริการรู้สึกว่าว่ายน้ำอยู่บนสรวงสวรรค์

สิงคโปร์ เป็นเมืองที่ไม่หยุดนิ่ง สะอาด สวยงาม เป็นระเบียบ มีสีสันทางวัฒนธรรมที่แตกต่าง แต่ผสมผสานกันอย่างกลมกลืนไม่ว่าจะเป็นด้านอาหาร ศิลปะ หรือสถาปัตยกรรม เกาะแห่งนี้เต็มเปี่ยมด้วยพลังที่ถูกปลดปล่อยเป็นเสมือนพลังของเอเชียอาคเนย์ที่รวมเอาสิ่งที่ดีที่สุดของโลกตะวันตกและตะวันออกเอาไว้ด้วยกันราวกับเป็นเมืองแห่งจินตนาการ

การท่องเที่ยวของสิงคโปร์ เน้นจุดเด่นของการเป็นสังคมที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม ในย่านใจกลางเมืองเป็นที่ตั้งของโรงละครทั้งเล็กและใหญ่ จัดการแสดงละครท้องถิ่น ละครเพลง บัลเล่ต์ รวมทั้งการแสดงระดับสากล เช่น โรงละครวิคตอเรีย, เดอะ ซับสเตชั่น, เดอะ แบล็คบ๊อกซ์, สิงคโปร์ อินดอร์ สเตเดี้ยม, หอประชุมจูบิลี และโรงละครริมน้ำเอสพลานาด สถานที่ท่องเที่ยวที่นิยมกันมากคือ บริเวณ Marina Bay, ปากแม่น้ำสิงคโปร์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมอร์ไลอ้อน และสถานที่ท่องเที่ยวยามค่ำริมน้ำ คือ Clarke Quay, Boat Quay รวมไปจนถึง China Town, Little India และถนนช็อปปิ้ง Orchard Road

ความแปลกใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นย่านใจกลางเมือง บริเวณ Marina Bay คือ โครงการ “Marina Bay Sands” ที่ถูกสร้างให้เป็นจุดศูนย์กลางการพักผ่อนแบบครบวงจระดับโลก ทั้งโรงแรมที่มีบ่อนคาสิโนในตัว สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการเสี่ยงโชค อันเป็นคาสิโนรีสอร์ทแห่งแรกของสิงคโปร์ มีโรงละครขนาดใหญ่ ห้างสรรพสินค้า ร้านแบรนด์เนม ภัตตาคารหรู และร้านอาหารลอยน้ำ 20 แห่ง

การออกแบบ“Marina Bay Sands”มีความพิเศษโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดภาพลักษณ์แห่งความทรงจำที่ดี รวมถึงสร้างแรงดึงดูดใจให้นักท่องเที่ยวได้เดินทางเข้ามาสัมผัสความงดงามของอ่าวมารีนา สถานที่แห่งนี้มีองค์ประกอบที่เหมาะสมในทุก ๆ ด้าน ถูกจัดเรียงมาอย่างสมดุล สำหรับช่วงเวลาแห่งการพักผ่อนและอยู่อาศัย นอกจากนี้ ยังพัฒนาการใช้ชีวิตให้มีความสะดวกสบายมากขึ้นในอนาคต

อ่าวมารีนานั้นเป็นอ่าวที่มีความสะอาด เขียวชอุ่มด้วยแมกไม้และเด่นสะดุดตาไม่เหมือนใคร จึงเป็นบริเวณที่เหมาะสำหรับการสันทนาการและผ่อนคลาย การออกแบบสิ่งก่อสร้างในสถานที่แห่งนี้ มีลักษณะเป็นไปในแนวทางสถานที่ในฝัน นั่นก็คือสวนลอยฟ้าที่ตั้งอยู่เหนือโฮเทล ทาวเวอร์ ซึ่งสามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ได้ทั้ง 360 องศาของอ่าวมารีนา มุ่งเน้นให้เป็นแหล่งอากาศบริสุทธิ์เปรียบเสมือนเป็นปอดของเมืองเลยก็ว่าได้

ที่มา : www.singaporeair.com และ www.silkair.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น