วันเสาร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2554

แกรมมี่รุกธุรกิจทีวีดาวเทียม/เคเบิ้ลทีวี ยุทธศาสตร์ใหม่บนน่านน้ำสีน้ำเงินของอากู๋ (จริงเหรอ)

แกรมมี่รุกธุรกิจทีวีดาวเทียม/เคเบิ้ลทีวี ยุทธศาสตร์ใหม่บนน่านน้ำสีน้ำเงินของอากู๋ (จริงเหรอ)


พลันที่มีการเปิดตัวเจ้ากล่องรับสัญญาณที่เรียกว่า 1-SKY ที่ทำร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจสื่อทีวีดาวเทียมช่องอื่นๆ อีกหลายเจ้ามาผนึกรวมกันบนฐาน platform เดียวกัน ก็เป็นที่ฮือฮาของบรรดาสื่อมวลชน ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ ตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศ ตลอดจนผู้ชมหรือผู้บริโภคที่เสพสื่อทางทีวีหรือเคเบิ้ลทีวีพอสมควร และก่อนหน้านี้ ก็พอจะรับทราบว่าอากู๋ ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม แกมีความคิดที่อยากจะเปิดช่องทีวีเป็นของตนเองมาตั้งนานแล้ว และช่องทีวีดาวเทียมของเครือแกรมมี่ก็เปิดตัวชิมลางมาได้ซักพักนึงแล้วทั้ง 4 ช่องเดิม ก็คือ Green , Bang , Fan TV และ Acts แต่ก็ยังไม่สามารถเรียกเรตติ้งได้สูงสุดในระบบได้ รวมถึงยังไม่สามารถตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายคนดูได้ครบทุกเซ็กเม้นท์ตามแต่ใจของอากู๋ได้อย่างครบถ้วน มาคราวนี้จึงดำริ ที่จะเปิดอีก 4-6 ช่องให้ครบ 10 ช่อง เพื่อขอก้าวไปเป็นผู้นำในธุรกิจทีวีดาวเทียมนี้ แต่จริงๆ แล้ว เป้าหมายที่อากู๋มาเปิดทีวีดาวเทียมก็คือ ต้องการเม็ดเงินรายได้จากค่าโฆษณาที่จะได้รับจากธุรกิจทีวีดาวเทียมมากกว่า ซึ่งสมมติฐานที่อากู๋ตั้งเอาไว้ก็คือ หากมีช่องที่มีรายการที่ดี มีคอนเท้นต์ที่ดี มีผู้ชมที่ตรงกลุ่มเป้าหมายของแต่ละช่อง ก็ง่ายต่อการที่สินค้าจะหันมาลงโฆษณาในช่องทีวีดาวเทียม เพราะผลประโยชน์ก็จะ win win ด้วยกันทั้งคู่ เจ้าของสินค้าก็จะลงโฆษณาได้ตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น ไม่ต้องหว่านแห หว่านเม็ดเงินไปแบบไร้ทิศทาง ประหยัดงบโฆษณาได้มากอักโข เพราะการลงโฆษณาในฟรีทีวีย่อมแพงกว่าในทีวีดาวเทียมหลายเท่านัก อีกทั้งยังสามารถต่อรองกับช่องทีวีดาวเทียมได้ง่ายกว่า เพราะการแข่งขันในช่วงแรกคงยังไม่สูงมากนัก ในส่วนของเจ้าของสถานีทีวีดาวเทียม ก็ได้ประโยชน์จากค่าโฆษณาสินค้าที่จะไหลออกจากฟรีทีวีมาเข้าช่องของตน และดูเหมือนแนวโน้มก็นับวันที่จะไปในแนวทางนั้น ขอเพียงแต่ว่ามีการจัดเรตติ้งในช่องทีวีดาวเทียมได้อย่างแน่ชัดว่าช่องไหน มีฐานกลุ่มลูกค้าใหญ่กว่ากัน มีกำลังซื้อมากน้อยขนาดไหน ซึ่งก็ไม่ยากที่จะวิเคราะห์ เพราะดูจาก content ของช่อง และพฤติกรรมของผู้บริโภคในการเลือกรับชมช่องทีวีดาวเทียม ซึ่งต้องทำควบคู่ไปกับการทำสำรวจความนิยมของคนดูได้อีกทางนึง ประโยชน์อีกอย่างนึงของช่องทีวีดาวเทียมก็คือเขาไม่ต้องจ่ายค่าสัมปทานหรือผลประโยชน์อื่นใดให้กับหน่วยงานของรัฐที่คุมสื่อ ทำให้เขาประหยัดเงินงบประมาณตรงส่วนนี้ ไปไว้ในการลงทุนทำรายการดีๆ เพื่อป้อนสู่ทีวีของเขาได้มากกว่าฟรีทีวี และเขาสามารถสื่อสาร message ต่างๆ ไปยังกลุ่มผู้ชมคนดูแบบเฉพาะกลุ่มทำให้สามารถสื่อได้ตรงและลึก ชัดเจนได้มากกว่ารายการบนฟรีทีวีที่ต้องทำออกมาเป็น mass และบางครั้งก็ขาดมุมมองด้านลึก มีแต่ด้านกว้าง และถูกจำกัดด้านเวลาหรือ airtime มากเกินไป ทำให้ความสมบูรณ์ของเนื้อหายังไงก็สู้รายการที่ผลิตเพื่อป้อนทีวีดาวเทียมไม่ได้

ถ้าจะมาวิเคราะห์โอกาสทางการตลาดของแกรมมี่ในการรุกธุรกิจทีวีดาวเทียมหรือเคเบิ้ลทีวีนั้น ก็ต้องถือว่าแกรมมี่ได้เปรียบคู่แข่งหรือพันธมิตรทางธุรกิจสื่อทีวีดาวเทียมเจ้าอื่นๆ อยู่มากโข ทั้งในฐานะเป็นบริษัทบันเทิงเบอร์ 1 ของไทย มีฐานเงินทุนที่แข็งแกร่ง เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯเองด้วย เป็นบริษัทแม่และบริษัทลูกในเครือที่ผลิต content ด้านบันเทิงป้อนสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีอยู่แล้ว เกือบทุกช่อง อีกทั้งมีบุคลากร ทีมงานทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังอยู่มากที่สุดในวงการ ทำให้แกรมมี่ได้เปรียบคู่แข่งในจุดนี้ จึงเป็นหัวหอกในการรวบรวมสื่อทีวีดาวเทียมเกือบทุกเจ้าเข้ามาร่วมเป็นพันธมิตรและร่วมเดินไปบน platform เดียวกัน โดยใช้พาหะที่ชื่อว่า 1-SKY เป็นเครื่องมือและรวมไปถึงเป็นตัวสินค้าที่จะสามารถนำออกมาขาย แปลงเป็นเงินหรือรายได้เข้าบริษัทได้ก่อนในชั้นแรก นี่คงเป็นความชาญฉลาดของอากู๋ที่ออกตัวแรงและก็ทำแต้มนำเจ้าอื่นไปได้ก่อนเลย โดยที่คู่แข่งคนอื่นๆ ได้แต่จำใจเข้าร่วม และกลืนน้ำลายเอื้อกๆ มองตาปริบๆ ให้อากู๋ และแกรมมี่ วิ่งแซงหน้าไปปักธงเอาไว้ก่อนเลย ในน่านน้ำสีน้ำเงินแห่งนี้

หันมามองยุทธศาสตร์ของบริษัทจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ ที่ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตัวเองมาเรื่อยตลอดระยะเวลาเกือบ 30 ปี โดยเมื่อแรกก่อตั้งบริษัท บริษัทเป็นเพียงสตูดิโอในการผลิตเพลง และส่งให้บริษัทออนป้า จัดจำหน่าย พอหลังจากนั้นก็ตั้งบริษัท MGA มาเป็นแขนขาของตนเอง ในช่วง 10 ปีแรกของบริษัท ยังคงเป็นค่ายเพลงที่เน้นผลิตผลงานเพลงแต่เพียงอย่างเดียวและเริ่มรุกทำธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจเพลงหรือมา support ธุรกิจเพลง อาทิ ตั้งบริษัท a-time media เพื่อดูแลสื่อวิทยุในเครือทั้ง 4 คลื่น (Hot wave,Green wave, Radiovote Sattlelite,Radio Noproblem) ตั้งบริษัทเอ็กซ์แซ็กท์ เพื่อผลิตละครป้อนสถานี และผลิตรายการทีวี ,ตั้งบริษัท Teentalk เพื่อผลิตรายการเพลงทางฟรีทีวี ,ตั้งบริษัทแกรมมี่ฟิมล์ เพื่อผลิตภาพยนตร์ ,ตั้งบริษัท (จีเอ็มเอ็มไลฟ์) ที่ดูแลการจัดคอนเสิร์ตให้กับศิลปินในค่าย เป็นต้น ปีที่ 11-20 นำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ลงทุนในธุรกิจนอกไลน์สายงานเพลงมากขึ้น และตั้งบริษัทที่จะรองรับรูปแบบธุรกิจสื่อบันเทิงครบวงจร อาทิ ตั้งบริษัท อินเด็กซ์ เพื่อดูแลการจัดอีเว้นท์ และโชว์บิซ ,ตั้งบริษัทอามาทิส เพื่อดูแลบริหารศิลปินในค่ายในเครือทั้งหมด ,ตั้งบริษัทเพื่อดูแลด้านลิขสิทธิ์เพลง ,ตั้งบริษัทเพื่อผลิตและขายตรงสินค้าอุปโภคบริโภคด้วย เช่น บะหมี่โฟร์ยู เครื่องสำอางค์ U-Star ,จัดตั้งสถาบันดนตรีมีฟ้า เป็นโรงเรียนสอนด้านดนตรีแก่บุคลากรภายในและภายนอกองค์กร พร้อมๆ กับยุคนี้มีการเปลียนแปลงโครงสร้างบริหารองค์กรครั้งใหญ่ มีการเปลี่ยนชื่อบริษัท จากแกรมมี่เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ เป็น จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ มีการดึงตัวคนนอกมาเป็นผู้บริหารองค์กร อาทิ วิสิฐ ตันติสุนทร ,อภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็นต้น มีการแตกค่ายเพลงออกเป็นค่ายย่อยๆ มากมายในยุคนี้ อาทิ มอร์มิวสิค กรีนบีนแกรมมี่แกรนด์ แกรมมี่โกลด์ อาร์พีจี เมกเกอร์เฮด จีนี่เรคคอร์ด เอ็กซ์แซ็กท์ เป็นต้น ปีที่ 21 ถึงปัจจุบัน มีการยุบหลายบริษัทที่ไม่ทำกำไร หรือควบรวมบางบริษัทที่ใกล้เคียงกัน เพื่อลดบุคลากร ลดค่าใช้จ่าย มีการจ้างพนักงานออก และก็มีการตั้งบริษัทใหม่ หรือซื้อกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับสื่อด้านอื่นๆ อาทิ มีการยุบบริษัทแกรมมี่ฟิมล์ทิ้งแต่ไปจัดตั้งบริษัท จีทีเอช โดยร่วมกับไทเอ็นเตอร์เทนและหับโห้หิ้น เป็น joint venture กัน ,ยุบค่ายเพลงเล็กๆ ทิ้งไปมากมาย ตั้งค่ายเพลงใหม่อย่างสนามหลวง มีการตั้งบริษัท gmm media ,gmmtv เพื่อดูแลการผลิตรายการโทรทัศน์ในเครือทั้งหมด บริษัทลูกอย่างเอ็กแซ็กท์ก็ตั้งบริษัทซีนาริโอขึ้นมาแยกออกเป็นอีกบริษัทเพื่อผลิตซิทคอมป้อนฟรีทีวี ตั้งบริษัทจีเอ็มเอ็มอินเตอร์เนชั่นแนล เพื่อดูแลศิลปินไทยไปโกอินเตอร์ และมีผลงานในต่างประเทศ ดูแลด้านลิขสิทธิ์ทั้งหมดในต่างประเทศ รวมถึงศิลปินต่างประเทศที่มา cover งานเพลงของแกรมมี่ และเป็นตัวแทนจำหน่ายให้กับศิลปินต่างประเทศมาขายในบ้านเรา ซื้อกิจการนิตยสารอิมเมจ และซื้อหัวแม็กาซีนเมืองนอกมาผลิตในไทย อาทิ Maxim , Her World, Attitude , เข้าไปถือหุ้นใหญ่ในเครือ นสพ.มติชน , ถือหุ้นใหญ่ในบ.แฟมิลี่โนว์ฮาว ที่เป็นเจ้าของ Money Channel ,ถือหุ้นใหญ่ใน Office Mate เรียกได้ว่า แกรมมี่เป็นบริษัทบันเทิงยักษ์ใหญ่ไม่ใช่แค่ในเมืองไทย น่าจะใหญ่สุดในภูมิภาคอาเซี่ยนนี้ด้วย ซึ่งครั้งนึงเคยมีค่ายเพลงจากฝั่งยุโรปติดต่อขอซื้อกิจการ หรือ Takeover จากแกรมมี่ แต่อากู๋ ไพบูลย์ ไม่ยินดีที่จะขายให้ เพราะมองเห็นศักยภาพในตัวเอง ที่จะสามารถสร้างอาณาจักรความยิ่งใหญ่ได้เอง ยุคนั้นพี่เต๋อยังกุมบังเหียนนั่งเป็น CEO อยู่

บทวิเคราะห์ของผู้เขียนต่อกรณีของการรุกไปในธุรกิจทีวีดาวเทียม/เคเบิ้ลทีวีของอากู๋ หรือแกรมมี่ในครั้งนี้นั้น น่าจะเป็นไฟต์บังคับมากกว่า มากกว่าที่จะเป็นวิสัยทัศน์อันเฉียบคมหรืออะไรของอากู๋มากนัก เพราะแต่เดิมอากู๋ต้องการทำทีวีแบบเดียวกับช่องฟรีทีวี ประเภท ไอทีวีเดิม หรือช่องทีวีไทย แต่ติดตรงการจะเปิดช่องฟรีทีวีใหม่ในยุครัฐบาลอานันท์ มีการแข่งขันประมูลกันสูงมาก และไอทีวีได้ไป (จนตอนหลังโดนให้จ่ายค่าสัมปทานย้อนหลังถึงกับเจ๊ง ปิดกิจการไป) ต่อมาในยุคสุรยุทธ์ การให้สัมปทานฟรีทีวีใหม่บนคลื่นสัญญาณ UFH ถูกกำหนดให้ต้องเป็นรูปแบบทีวีสาธารณะ ต้องมีกฏเกณฑ์ต่างๆ มากมายที่ไม่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจหากำไร จนอากู๋ก็ต้องล่าถอยออกไปอีก พอมาในยุคปัจจุบันกระแสทีวีดาวเทียมได้รับความนิยม โดยช่องที่เป็นโมเดลต้นแบบที่ทำแล้วประสบความสำเร็จก็คือ astv โด่งดังมาจากการชุมนุมขับไล่ทักษิณ ตั้งแต่ช่วงปี 2548 และช่องเนชั่นทีวี 2 ช่องนี้น่าจะเป็นช่องบุกเบิกฟรีทีวีดาวเทียมยุคแรกๆ ที่คนหันมาติดดาวเทียมกันมากขึ้น จากการอยากจะติดตามข่าวสารบ้านเมือง และก็ช่องทรูวิชั่นส์เดิมที่เป็นช่องเคเบิ้ลเก่าแก่แบบบอกรับสมาชิกที่มีฐานคนดูแบบมีกำลังซื้อสูง พอมีการติดจานรับสัญญาณดาวเทียมกันมากขึ้นโดยเฉพาะตามต่างจังหวัดอันเนื่องมาจาก ตจว.รับสัญญาณโทรทัศน์ไม่ดี พวกเสาหนวดกุ้งไม้เวิร์ค จึงหันมาติดจานดาวเทียม ซึ่งก็มีการทำราคาถูกลงมามาก จากนโยบายจานแดงติดฟรีของทรูวิชั่นส์นั่นแหละเป็นตัวจุดกระแสแรกๆ ที่ทำให้คนหันมาติดจานกันมากขึ้นแทนเสาโทรทัศน์แบบเดิมๆ ทำให้อากู๋ ไพบูลย์สบช่องรุกทำธุรกิจทีวีดาวเทียมทันที โดยหวังจะเป็นผู้นำในธุรกิจนี้ให้ได้ ซึ่งก็ไม่ง่ายนั้น (เดี๋ยวจะได้วิเคราะห์ต่อไปถึงเหตุผล) แต่หากดูจากวิสัยทัศน์ของอากู๋ จริงๆ แล้วนั้น โดยส่วนตัวของผู้เขียนคิดว่าถ้าอะไรเป็นความคิดไอเดียของท่านนั้นมักจะล้มเหลว ไม่ประสบความสำเร็จ เสียส่วนใหญ่ (ขอโทษอากู๋ด้วยนะครับที่ต้องพูดแบบตรงไปตรงมา และวิเคราะห์ไปตามเนื้อผ้าจริงๆ) พอสิ้นยุคพี่เต๋อ มาแล้ว การนำพาองค์กรอย่างแกรมมี่ของอากู๋นั้น แตกไลน์ไปเยอะมาก พยายามจะหันลงไปทำธุรกิจในหลายด้าน ทั้งๆ ที่ตัวเองไม่มี know how และยังไม่มีบุคลากรเลยด้วยซ้ำ มีแต่เงินทุนที่ทุ่มลงไป จะเห็นว่าในรอบหลายปีมานี้ ธุรกิจที่แกรมมี่ทำแล้วไม่สามารถทำรายได้หรือกำไรเป็นกอบเป็นกำ มีอยู่มากมาย ทั้งๆที่บริษัทมี asset มีบุคลากรผู้เชี่ยวชาญเก่งๆ ในค่ายอยู่เป็นจำนวนมาก ดังจะเห็นได้จากช่วง 10 ให้หลังมานี้ บริษัทแกรมมี่ทำกำไรในแต่ละปีน้อยมากๆ เมื่อเทียบกับในอุตสาหกรรมเดียวกัน หรือเมื่อเทียบกับสินทรัพย์ หรือบุคลากรที่ตัวเองมีอยู่ และแม้จะมีการซื้อตัวหรือดึงนักบริหารมืออาชีพเข้ามานำทัพในบริษัทอยู่ช่วงนึงแล้วก็ยังไม่ประสบผลเท่าที่ควร ในมุมมองของผู้เขียนนั้นมองว่า แกรมมี่โดยอากู๋นั้นได้มองข้ามหรือลืมปรัชญาในการดำเนินธุรกิจของตนเองไป ลืมรากเหง้าขององค์กรไป นั่นก็คือ ตัว core business ที่แท้จริง ซึ่งก็คือธุรกิจเพลง ซึ่งเป็นปรัชญาในการก่อตั้งบริษัทเมื่อครั้งเริ่มแรกกับพี่เต๋อ อุดมการณ์ในการที่จะก่อตั้งค่ายเพลงและสร้างธุรกิจเพลง การขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมผลิตเพลงไทยก้าวไปข้างหน้าและให้เติบโตต่อไปได้ แกรมมี่ทำเหมือนกัน พอยึดกุมตลาดเอาไว้ได้ก็หยุดพัฒนาต่อ แล้วหันไปทำธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องต่อ โดยไม่สนใจที่จะโฟกัสตัวธุรกิจเพลง ซึ่งเป็นหลักชัยที่สำคัญ อีกทั้งยังทำไปไม่สุดทางด้วย คือหยุดที่จะคิดและพัฒนาต่อ ซึ่งจะด้วย key man ที่เป็นหัวใจอย่างพี่เต๋อเสียชีวิต หรือจะอ้างการมาของเทคโนโลยีการดาวน์โหลดเพลงทำให้อุตสาหกรรมเพลงถึงทางตัน แต่จริงๆ แล้วผู้เขียนยังคิดว่า นั่นไม่ใช่สาเหตุที่แท้จริง จะขอตอบทีละอัน ในกรณีของขาดตัวขับเคลื่อนหรือ key man ที่สำคัญ นั้น ผู้เขียนไม่เห็นด้วย เพราะในตอนนั้นแกรมมี่ไม่ได้สร้างงานโดยพี่เต๋อเพียงคนเดียว ทีมงานที่พี่เต๋อได้สร้างไว้เก่งๆ มีมากมาย สุดแล้วแต่จะเรียกใช้ใคร ทีมโปรดิวเซอร์เก่งๆ ในประเทศนี้มารวมกันอยู่ในแกรมมี่ไม่รู้กี่สิบคน และทีมแต่งเพลงอีกหลายสิบชีวิต ปัญหาจึงไม่ใช่อยู่ที่มันสมองไม่มี แต่อยู่ที่กรอบความคิดและวิสัยทัศน์ของผู้นำ กำหนดทิศทางผิดหรือไม่ และมองไม่เห็นเฟรมเวิร์คอันนี้มากกว่า ส่วนข้อต่อมาก็คือการมาของเทคโนโลยีการดาวน์โหลดเพลง มาฆ่าอุตสาหกรรมเพลงหรือทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ยิ่งไม่เห็นด้วยหนักเข้าไปอีก ไม่ว่าจะมองว่าเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าหรือตลาดเพลงที่บริโภคหรือเสพงานผ่านรูปแบบเดิมๆ คือ CD,cassette tape แผ่นเสียง, MP3 หรืออะไรก็แล้วแต่ เป็นแต่เพียงตัวเลือกที่เพิ่มขึ้นมาของทางเลือกในการเสพงานมากกว่า ผู้บริโภคมีทางเลือกเพิ่มขึ้น เทคโนโลยีคือเหรียญ 2 ด้าน ที่นำมาใช้เป็นเครื่องมือในการผลิตงานเพลงให้ง่ายขึ้น ทำงานได้รวดเร็วขึ้น ประหยัดขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำไมมุมนี้ถึงไม่มองบ้างหล่ะ แต่กลับไปมองว่ามันมาแล้วทำให้ผู้บริโภคไม่ซื้อเทป ไม่ซื้อซีดี หันมาโหลดฟรีกันอย่างเดียว ในส่วนตัวของผู้เขียนยังมีความนิยมชมชอบที่จะซื้องานเพลงในรุปแบบเดิมอยู่คือซื้อเป็นซีดี คาสเซ็ทเทป หรือแผ่นเสียงมากกว่าที่จะเก็บเป็นในรูปของไฟล์หรือ load bit หรือโหลดเข้ามาไว้ในมือถือ อาจจะด้วยเป็นคนรุ่นเก่า แต่เชื่อว่าแม้กระทั่งคนรุ่นใหม่สมัยนี้ยังชอบที่จะสะสมงานเพลงในรูปแบบซีดี แผ่นเสียง คาสเซ็ท อยู่เป็นจำนวนไม่น้อย เพราะมีคุณค่าจับต้องได้ สะสมได้ โดยเฉพาะแฟนคลับที่ตามงานศิลปิน เป็นแฟนพันธุ์แท้ชอบสะสมเป็นคอลเลคชั่น เพียงแต่ในปัจจุบันงานเพลงใหม่ๆ ค่ายเพลงไม่นิยมทำออกมาในรูปแบบเดิมๆ หรือทำมาในจำนวนจำกัด ผู้เขียนเห็นว่าการที่ยอดขายในปัจจุบันลดลงไม่ใช่ผลจากเทคโนโลยีแต่เพียงอย่างเดียว แต่เพราะความอ่อนด้อยของคุณภาพงานเพลงในปัจจุบันมันลดน้อยถอยลงมากกว่า เมื่อเทียบกับงานเพลงในสมัยก่อน เพราะปัจจุบันหันมาเน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพการผลิต ดนตรีที่ใช้บันทึกเสียงในห้องอัดยังใช้คอมพิวเตอร์ผลิตเอาเลย คุณภาพการร้องของนักร้องในสมัยนี้ก็เทียบไม่ได้กับนักร้องสมัยก่อน พอร้องสดขึ้นเวทีแต่ละครั้งจะรู้เลยว่าลิปซิงค์ หรือพอร้องเต็มเสียงก็รู้เลยว่าเสียงไม่เหมือนตอนฟังในอัลบั้มหรือห้องอัดที่มีการตัดต่อออกมาอย่างดี ทำให้เราไม่ประทับใจในความสามารถของนักร้องในปัจจุบันเท่ารุ่นก่อน นักร้องคุณภาพในยุคนี้นั้นนับหัวนับตัวได้เลยว่ามีกี่คน ในขณะที่จำนวนนักร้อง ศิลปิน หรือวงดนตรีผุดขึ้นใหม่รายวันราวกับดอกเห็ด เวทีประกวดเยอะแยะมากมายที่คัดนักร้องที่หน้าตา ไม่มีคุณภาพการร้องเอาเสียเลย ความเป็นจริงก็คือคุณภาพของงานเพลงในยุคนี้ต่างหากที่มันทำลายอุตสาหกรรมเพลงโดยภาพรวม ทำให้ผู้บริโภคในยุคนี้ที่เขาฉลาดและมีทางเลือกมากขึ้น เลือกที่จะไม่ซื้องานแบบทั้งอัลบั้ม ทำให้ค่ายเพลงต้องหันมาทำเพลงแบบเพลงต่อเพลง คือโปรโมตเป็นซิงเกิ้ล ทำไมอุตสาหกรรมเพลงในเกาหลีถึงไปได้ดีหล่ะ ค่าย SM Entertainment , หรือ JYP ทำไมถึงสร้างนักร้องของเกาหลีให้โด่งดังในระดับเอเชียและระดับโลกได้หล่ะ อีกทั้งแผ่นเสียงและการโหลดก็ค่ายดีควบคู่กัน อาทิ อัลบั้มของศิลปิน Wondergirl , rain, TVXQ, Binbang, CN Blue , 2 PM ,SuperJunior, Girl generation , Cara จึงขายดีในระดับเอเชียและไปตีตลาดได้ทั่วโลกหล่ะ หากแกรมมี่จะผลักดันจริงๆ ศิลปินในค่ายที่มีศักยภาพอีกหลายคนที่ไม่ใช่พี่เบิร์ดทำไมไม่ถูกผลักดันให้โกอินเตอร์ มากกว่านี้ ทั้งๆ ที่แกรมมี่มีบุคลากรเก่งๆ ที่มีศักยภาพอยู่เยอะ ที่ผ่านมาการผลักดัน เต๊ะ ศตวรรษ ,ไชน่าดอลล์ ,ดราก้อนไฟว์ ,กอล์ฟ ไมค์ ชิน ชินวุฒิ ไอซ์ ศรัณญู นั้น ผู้เขียนยังไม่ขอเรียกว่าโกอินเตอร์แล้ว แต่เป็นการโกเป็นบางประเทศของเอเชียเท่านั้น เอาง่ายๆ เก่งจริง ต้องครองตลาดที่อยู่ใกล้ๆ อย่างอาเซี่ยนให้ได้ก่อน และก็ตลาดจีน ญี่ปุน เกาหลี ไต้หวันนั้นต้องเจาะได้ทุกประเทศ ศิลปินที่แกรมมี่ผลักดันทีผ่านมานั้นยังมีศักยภาพไม่เพียงพอ ต้องระดับพี่เบิร์ด อัสนีวสันต์ ทาทายัง ใหม่ คริสติน่า เจเจตริน ถ้าเป็นยุคนี้ก็ต้องเป็นบี้เดอะสตาร์ ดาเอ็นโดรฟิน อ๊อฟ ปองศักดิ์ ตูน บอดี้สแลม ปั๊บโปเตโต้ แก้มวิชญานี แต่ศิลปินเบอร์ระดับนี้กับไม่ถูกผลักดันออกนอกประเทศเท่าที่ควร ทั้งที่ศักยภาพไปได้ไกลกว่าระดับประเทศแล้ว จึงเป็นสิ่งที่ตัวผู้เขียนใช้คำว่าไปไม่สุดทางของการทำธุรกิจค่ายเพลง และไม่โฟกัสในจุดแข็งอันนี้ กลับไปมุ่งธุรกิจอื่นที่คาดคิดเอาเองว่าจะสร้างกำไรได้มากกว่า โดยลืมไปว่าธุรกิจที่กำลังจะมุ่งไปนั้นตัวเองไม่ได้มีจุดแข็งที่เหนือกว่าคู่แข่งเลย และต้องลงทุนลงแรงเสียทรัพยากรไปโดยเปล่าประโยชน์

ผู้เขียนขอขยายความในส่วนของธุรกิจทีวีดาวเทียม/เคเบิ้ลทีวีดังนี้ การที่แกรมมี่รุกทำธุรกิจนี้โดยกะจะทำถึง 10 ช่อง ซึ่งก็ไม่ได้เยอะอะไรเมื่อเทียบกับปริมาณ 200 กว่าช่องที่มีอยู่ในปัจจุบัน การจัดหมวดหมู่ของช่องเคเบิล้นั้นจำแนกตามประเภทเนื้อหาได้ดังนี้ กลุ่มแรกคือกลุ่มช่องข่าวหรือรายงานสถานการณ์ประจำวัน อาทิ ช่อง TNN 24 , Astv new1, Nation, Spring News, Voice TV, T-News ,Money Channel ,CNN,NHK,BBC,CNBC,Bloomberg เป็นต้น กลุ่มต่อมาคือกลุ่มช่องบันเทิง,ละคร,ภาพยนตร์,เพลง อาทิ ช่องเพลงของทั้งแกรมมี่,อาร์เอส, channel V, MTV, POP,Majung ช่องละครของ Media, Acts ,ช่องหนัง เช่น HBO,Star Movies,Cinemag,Syfy,Universal, KBS,Cartoon Network, M picture กลุ่มของสารคดี ทอล์คโชว์ เรียลลิตี้โชว์ เช่น Discovery ,Animal Plannet,History,Documentary ,National Geographic,FTV,Tango กลุ่มของช่องกีฬา,ผจญภัย ได้แก่ ช่อง  Espn,Truesport ,Football Plus ,X-Zyte เป็นต้น โดยช่องกีฬา เป็นช่องที่คนดูเคเบิ้ลทีวีของ Truevision หรือบอกรับสมาชิกต้องการดูมากที่สุด เพราะเป็นแหล่งที่รับชมฟุตบอลพรีเมียร์ลีคทีมใหญ่ๆเพียงที่ดียว จะเห็นได้ว่าแกรมมี่จะมีช่องที่รวมกันอยู่ในหมวดบันเทิงเสียส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมด ซึ่งฐานคนดูส่วนใหญ่ในบ้านเรากลับดูข่าว วิเคราะห์ข่าว และรายงานสถานการณ์ประจำวัน รวมถึงกีฬาเสียเป็นหลักใหญ่มากกว่า ซึ่งเป็นช่องทีมี content ที่ดีที่สุด รองลงมาคือในกลุ่มสารคดี ทอล์คโชว์ เรียลลิตี้โชว์ อีกทั้งการยัดเยียดโฆษณาเข้าไปมากๆ ในเคเบิ้ลทีวีหรือทีวีดาวเทียมก็ไม่เป็นผลดีมากนัก หากรายการไม่มีกลุ่มฐานที่เหนียวแน่นแล้วหล่ะก็ ลูกค้ามีรีโมตที่จะเปลี่ยนไปเลือกดูช่องอื่นได้ทันที และยิ่งมีตัวเลือกยิ่งมากยิ่งเสี่ยงต่อการเสียฐานลูกค้าไปได้โดยง่าย ส่วนประเด็นที่แกรมมี่โดยอากู๋ ไพบูลย์ ได้ซื้อลิขสิทธิ์บอลยูโร 2012 มาเพื่อไว้เป็นจุดขายในการจูงใจให้ผู้บริโภคคนไทยหันมาติดกล่อง 1-SKY เพื่อรับชมแบบต้องเสียค่าบริการรายเดือนด้วย น่าจะเป็นการสุ่มเสี่ยงต่อการถูกวิพากย์วิจารณ์โจมตี ในส่วนที่ค้ากำไรเกินควรหรือไม่ ในเมื่อขายกล่องได้แล้วยังจะมาเก็บค่าสมาชิกเป็นรายเดือนอีก โมเดลนี้ทรูวิชั่นส์ก็ทำมาแล้ว และผู้บริโภคคนไทยจำนวนหนึ่ง (ก็มากพอดู) ที่ไม่พร้อมจะจ่ายก็หันไปซื้อกล่องสัญญาณเถื่อนมาลักลอบดักจับสัญญาณเพื่อชมฟรีไม่เสียรายเดือน ใช่ว่าบางคนจะไม่มีกำลังซื้อ เพียงแต่เขาไม่ยอมรับหรือรับไม่ได้กับการเอารัดเอาเปรียบมากจนเกินไปของผู้ให้บริการต่างหาก มันควรจะเป็นการคืนกำไรให้กับสังคมมากกว่าเหมือนเมื่อครั้งนึง บ.ทศภาค ในเครือไทยเบฟเวอเรจ ก็เคยได้รับลิขสิทธิ์ถ่ายทอดฟุตบอลยูโรมาก่อน และก็ถ่ายทอดสดผ่านฟรีทีวีให้ประชาชนได้ชมฟรี แล้วตัวเองก็ได้เม็ดเงินจากค่าโฆษณาของสปอนเซอร์ทั้งหลายแล้ว ขาดทุนนิดหน่อยแต่ได้คืนกำไรกลับสู่สังคม จึงทำให้ช่วยสร้างภาพลัษณ์ให้กับเบียร์ช้างและคุณเจริญ สิริวัฒนภักดี และได้รับคำชื่นชมจากประชาชนเป็นวงกว้างอีกด้วย ทางแกรมมี่น่าจะนำไปพิจารณาให้ดี เพราะบางทีการได้มาในสิ่งหนึ่งอาจเสียอีกสิ่งหนึ่งหรือที่เรียกว่าได้ไม่คุ้มเสีย เพราะในอนาคตถ้าคุณได้ใจประชาชนในวงกว้างแล้ว เขาก็จะสรรเสริญชื่นชมคุณแบบปากต่อปากซึ่งจะกลายมาเป็นปฏิกิริยาสะท้อนกลับด้านบวก ทำให้คุณมีฐานลูกค้าเพิ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณ รายได้ก็จะเพิ่มขึ้นไปเองโดยอัตโนมัติ ไม่รู้ว่าอากู๋จะคิดในประเด็นเหล่านี้ได้หรือไม่ หรือไม่คิดหรอก เพราะที่ผ่านมาคิดจะทำอะไรก็ทำไปเลย ซึ่งผู้เขียนเองก็รู้สึกผิดหวังในแกรมมี่ เมื่อก่อนจะติดตามงานเพลงของศิลปินแกรมมี่เกือบทุกคน มาตลอด เรียกได้ว่าเพลงไหน ใครแต่งคำร้อง ทำนอง สามารถจะบอกได้ เดี๋ยวนี้แทบไม่รู้จักทั้งทีมผู้ผลิตงานและตัวศิลปินก็ไม่รู้จักซักเท่าไหร่ เยอะเหลือเกิน เมื่อก่อนเรายังตามงานเป็นอัลบั้ม ซื้อเป็นคาสเซ็ทหรือ CD เราจะรู้ที่มาที่ไปของศิลปิน ตลอดจนพัฒนาการของศิลปินแต่ละคน คอนเซ็ปต์อัลบั้มนี้ต่างจากอัลบั้มชุดก่อนอย่างไร เดี๋ยวนี้ต้องฟังกันเป็นเพลงๆ ไป ถ้าศิลปินคนใดเปิดตัวมาไม่ชอบ ฟังไม่ติดหู มีอันต้องจบเลิกติดตามกันไปเลย ยังเสียดายอุดมการณ์การทำธุรกิจเพลงของพี่เต๋อ นี่ถ้าพี่เต๋อยังมีชีวิตมาจนถึงทุกวันนี้แล้วหล่ะก็ ไอ้เจ้าสหภาพการดนตรีอาจก่อตั้งโดยการนำของพี่เต๋อมากกว่าก็เป็นได้ และผู้ที่จะติดตามแห่กันลาออกจากแกรมมี่ตามมาจะมีมากกว่าแค่ดี้ อัสนี วสันต์ และโอมชาตรี เป็นแน่ เพราะพี่เต๋อคงจะอยากลาออกมาโฟกัสที่ธุรกิจเพลงจริงๆ มากกว่าทำธุรกิจครอบจักรวาลแต่หาความเป็นจุดแข็งในตัวเองไม่เจอ เช่นที่อากู๋ทำอยู่เวลานี้

บางทีการที่เราจะคิดใหญ่แต่ทำเล็ก ผลที่ได้อาจยิ่งใหญ่เกินกว่ากิจการที่ทำใหญ่ขยายใหญ่โตแบบไร้ทิศทาง แต่หารากไม่เจอ พอเมื่อเวลาเอ่ยชื่อถึงองค์กรนั้นแล้วทุกคนร้องยี้ อันนี้เราจะเป็นแบบไหนดี ระหว่าง IBM กับ Apple หรือ Grmmmy กับ Love is

รวบรวมข่าวที่เกี่ยวกับการเปิดตัว 1-SKY และรุกธุรกิจทีวีดาวเทียม/เคเบิ้ลทีวี

แกรมมี่ทุ่ม 3,000 ล้าน เปิดตัวกล่อง "1 SKY" ชูกลยุทธิ์ "All in one" รวมพันธมิตร ไทย-เทศ เสริมทัพ ปฏิวัติการดูทีวีของคนไทย


เปิดตัวได้ยิ่งใหญ่ทีเดียว สำหรับค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ย่านอโศก อย่าง "จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่" ที่ยอมทุ่มเงินถึง 3,000 ล้านบาท เพื่อขยายธุรกิจ เปิดตัวกล่องรับสัญญาณทีวีดาวเทียม 1SKY งานนี้" อากู๋- ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม" ประธานใหญ่กลุ่มบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า "ธุรกิจใหม่นี้ ทุ่มทุนถึง 3,000 ล้านบาท เป็นความร่วมมือของเหล่าพันธมิตรกลุ่มธุรกิจบันเทิงไทยและเทศ บุคคลชั้นนำในวงการโทรทัศน์ รวมทั้งผู้ประกอบการเคเบิลทีวี และทีวีดาวเทียม อาทิ เจเอสแอล, กันตนา, อาร์เอส, เวิร์คพ้อยท์ฯ, ลักษ์ 666 , ทีวีพูล ฯลฯ ตลอดจนผู้ผลิตรายการชั้นนำจากต่างประเทศ ทั้งช่องรายการเอ็นเตอร์เทนเมนและกีฬา อาทิ คิกซ์, Thrill,วอเนอร์ ทีวี ,เอเอสเอ็น และยูโรสปออร์ต โดยเชื่อมั่นว่าธุรกิจนี้ จะกลายเป็นธุรกิจหลักสำคัญในอนาคต โดยคาดหมายทำรายได้ในปีแรก 2,500 ล้านบาท จากการขายกล่อง 1.5 ล้านกล่อง ซึ่งปัจจุบันมียอดสั่งซื้อจากทั่วประเทศแล้วกว่า 1.5 แสนกล่อง และจากการสั่งสมประสบการณ์ด้านบันเทิงมาถึง 28 ปี จะสร้างความเชื่อมั่นในการสร้างแบรนด์ให้กับคอนเทนต์ชั้นนำ ได้รับความนิยมในตลาดเมืองไทยแน่นอน นอกจากกล่อง 1SKY ยังสามารถเชื่อมต่อกับจานดาวเทียมทุกประเภท มีทั้งช่องรายการแบบฟรีทีวี ให้ชมกว่า 100 ช่อง และยังเพิ่มเติมด้วยช่องรายการพิเศษแบบเพย์ทีวี ที่เลือกจ่ายเมื่ออยากดู ไม่นับรวมอีก 3 ช่องรายการพิเศษระดับโลก ที่ให้เฉพาะลูกค้าชมฟรี แบบไม่มีรายเดือน โดยกล่อง "วันสกาย" จะเริ่มวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 พ.ย. 54 นี้

1 SKY กล่องรับสัญญาณเคเบิ้ลทางเลือกใหม่ของผู้ชมทีวี


คุณผุ้ชมที่เป็นคอทีวี เอ็นเตอร์เทรนเม้น กีฬาและอื่นๆ ห้ามพลาดข่าวนี้ค่ะ เพราะตอนนี้วงการเคเบิ้ลได้ปฏิวัติช่องทางการรับชมทีวีให้คุณผู้ชมสะดวกสบาย

จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เปิดตัวกล่องรับสัญญาณทีวีดาวเทียม 1SKY รวมพันธมิตรชั้นนำในวงการโทรทัศน์ไทย-เทศ ผู้ประกอบการเคเบิ้ลทีวี ทีวีดาวเทียม อย่าง เนชั่นกรุ๊ป//เจเอสแอล//กันตนา//อาร์เอส//เวิร์คพ้อยท์//ลักษ์666//ทีวีพูล//เมเจอร์ซินิเพล้กกรุ๊ป//สหมงคลฟิล์ม//จีทีเอช// รวมทั้งผู้ผลิตรายการจากต่างประเทศ เอ็นเตอร์เทรนเม้น กีฬา ไม่ว่าจะเป็น วอเนอร์ทีวี//เอเอสเอ็น//ยูโรสปอร์ต และอีกมากมายที่พร้อมใจกันมาผนึกกำลังกันสร้างทางเลือกใหม่ให้กับผู้ชมโทรทัศน์ไทย กว่า100ช่อง

นอกจากทีมผู้บริหาร ผู้ผลิตรายการ ผู้ประกอบการเคเบิ้ลทีวี ทีวีดาวเทียม แล้วในงานยังมี ศิลปินดารา ทุกสังกัดในวงการบันเทิงตบเท้ามาร่วมแสดงความยินดีกับ วันสกาย ที่พวกเค้าต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า นี่แหละคือการปฏิวัติการดูทีวีของคนไทย

กล่องรับสัญญาณ วันสกายนอกจากจะรวบรวมจัดเรียงหมวดหมู่ประเภทของรายการต่างๆเพื่อสะดวกต่อการรับชมแล้ว ราคายังสบายกระเป๋าไม่มีค่าใช้จ่ายรายเดือน และเชื่อมต่อได้กับจานดาวเทียมทุกประเภททั้ง ซีแบนและ เคยูแบน อีกด้วยค่ะ ที่สำคัญคุณผู้ชมสามารถติดตามรับชมข่าวสารในวงการบันเทิง และรายการวาไรตี้สนุกจากช่องแมงโก้ทีวีของเราได้จากกล่อง วันสกาย ที่ช่อง104 โดยจะเริ่มวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการวันที่ 1 พฤศจิกายน นี้

หลายปีก่อน "อากู๋-แห่งจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่" นายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ได้ประกาศปรับโครงสร้าง พัฒนาธุรกิจ จากค่ายเพลง สู่การเป็นคอนเทนต์โพรไวเดอร์ มาปีนี้ อากู๋ ประกาศก้องอีกครั้ง กับการรุกเข้าสู่การเป็น "โอเปอเรเตอร์" หรือผู้ให้บริการด้านทีวีดาวเทียมอย่างเต็มรูปแบบ โดยทุกแนวทางของการก้าวไปข้างหน้า อากู๋ จะมีธุรกิจฐานหลัก ทั้ง เพลง ละคร โชว์บิซ หนัง และบันเทิงอื่นๆ ในเครือ เป็นแกนของการขยายงานไปข้างหน้า


++ปูฐานรากธุรกิจทีวีดาวเทียม

ปีที่ผ่านมา บมจ.จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ รุกเข้าสู่การเป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม โดยการทยอยเปิดช่องทีวีดาวเทียม 4 ช่อง ภายใต้ความรับผิดชอบของหน่วยธุรกิจจีเอ็มเอ็ม บรอดคาสติ้ง ได้แก่ ช่องที่ได้รับความนิยมสูงสุด คือ ช่อง รายการแฟนทีวี ช่องเอ็กซ์ แชนแนล เป็นช่องละครของกลุ่มเอ็กแซ็กท์ และซีเนริโอ ช่องแบง แชนแนล เป็นช่องรายการวาไรตี ที่จับกลุ่มคนดูตั้งแต่วัยรุ่นไปจนถึงคนทำงาน และช่องกรีน แชนแนล เป็นช่องรายการเพลง 24 ชั่วโมง ที่มีทั้งเพลงเก่า เพลงใหม่ และมิวสิกวิดีโอ ที่หาชมยาก เจาะกลุ่มคนทำงาน และกลุ่มครอบครัว

แต่ละช่องที่เปิดให้บริการในปีที่แล้ว ถือว่าประสบความสำเร็จค่อนข้างดี มีฐานคนดูขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยรายได้ของกลุ่มธุรกิจจีเอ็มเอ็ม บรอดคาสติ้ง เติบโตดีมาก มียอดรายได้กว่า 360 ล้านบาท โดยช่อง เอ็กซ์ แชนแนล เติบโตสูงมากถึง 200% และแฟน ทีวี ยังคงเป็นช่องที่สร้างรายได้สูงสุด ปีนี้คาดว่าจากช่องเดิม 4 ช่อง คือ ช่องแฟนทีวี ,แบง แชนแนล ,กรีน แชนแนล และเอ็กซ์ แชนแนล ยังสามารถเติบโตได้อีกไม่ต่ำกว่า 80%

ส่วนช่องใหม่ที่เปิดตัวไปแล้ว โดยการร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ ได้แก่ช่อง เจ เอส แอล แชนแนล ซึ่งจับมือกับบริษัท เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย จำกัด จัดตั้ง บริษัท เจ เอส แอล แชนแนล จำกัด เข้ามาบริหาร ช่องสาระแน แชนแนล ที่แกรมมี่ร่วมทุนกับ บริษัท ลักษ์ (666) จำกัด ช่องเจเคเอ็น ที่ร่วมมือกับบริษัท เอสทีจี มัลติมีเดีย ฯเป็นช่องซีรีส์ญี่ปุ่น เกาหลี และช่องเพลย์ แชนแนล โดยความร่วมมือระหว่างแกรมมี่กับ จีทีเอช ทุกช่องได้รับการตอบรับที่ดี

การเกิดขึ้นของช่องรายการใหม่ๆ ของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ยังมีต่อเนื่อง ซึ่งตามแผนเดิมของ อากู๋ คือ เปิดใหม่อีก 5-10 ช่อง โดยรูปแบบการลงทุนจะมีทั้งที่ลงทุนเองทั้งหมด และการร่วมทุนกับพาร์ตเนอร์ ไม่ว่าจะเป็นช่องกีฬา หรือช่องอื่นๆ

++ก้าวเข้าสู่โอเปอเรเตอร์รายใหญ่

ในความคิดของนายไพบูลย์ กับการรุกเข้าสู่ธุรกิจทีวีดาวเทียม ไม่ได้หยุดอยู่เพียงการเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์เท่านั้น จากคำบอกเล่าของกูรูในแวดวงสื่อ พูดเหมือนกันว่า อากู๋ มองและคิดเยอะกว่าที่คนทั่วไปเห็น และสิ่งที่ได้เห็นล่าสุด คือ การเปิดตัวเป็นโอเปอเรเตอร์ด้านสื่อทีวีดาวเทียมอย่างเต็มรูปแบบ โดยการนำร่องด้วย "วัน สกาย" (1 Sky) กล่องมหัศจรรย์ ที่ให้บริการครบวงจรรองรับการรับชม ทั้งฟรีทีวีและเพย์ทีวี (Pay TV)

ครั้งนี้อากู๋ทุ่มทุนมหาศาลกว่า 3,000 ล้านบาท แบ่งเป็นงบในการจัดซื้อคอนเทนต์ประมาณจำนวน 2,100 ล้านบาท ได้แก่ ลิขสิทธิ์รายการบันเทิง 650 ล้านบาท และกีฬา 1,500 ล้านบาท ในระยะ 3 ปีนับจากนี้ ส่วนที่เหลือเป็นการลงทุนผลิตและจำหน่ายกล่องรับสัญญาณวัน สกาย

สำหรับ "วัน สกาย" ถือเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ อากู๋วางเป้ายอดขายปีแรกไว้ที่ 1.5 ล้านกล่องภายใน 1 ปี(ถึงสิ้นปี 2555) และภายในปี 2557 คาดว่าจะจำหน่ายได้ 4 ล้านกล่อง โดยกล่องรับสัญญาณวัน สกาย มี ทั้งหมด 3 รุ่น คือ รุ่นสมาร์ท ราคา 1,500 บาท รับชมฟรีทีวีเกือบ 200 ช่อง รวมทั้ง 3 ช่องพิเศษ 1SKY one, 1 SKY two, 1SKY three ฟรี และสามารถชมช่อง Pay TV เพิ่มเติมได้ เริ่มออกจำหน่ายในตลาดทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป กล่องรุ่น 1 SKY รุ่น อีซี่ (easy) ราคา 500 บาท สำหรับกลุ่มที่เน้นดูเฉพาะฟรีทีวี และ 1 SKY รุ่น จีเนียส เอชดี (Genius HD) ราคา 2,500 บาท สำหรับรับชมช่องสัญญาณเอชดี ซึ่งจะเริ่มต้นจากจำนวน 6 ช่อง ซึ่งกล่องทั้ง 2 รุ่นจะเริ่มขายประมาณต้นปีหน้าพร้อมกัน

การเกิดขึ้นของกล่องรับสัญญาณ "วัน สกาย" เป็นเครื่องกระตุ้นให้ตลาดทีวีดาวเทียม และเคเบิลทีวีขยายตัวมากยิ่งขึ้น ทั้งในส่วนของผู้ประกอบการ ที่ทำให้เกิดการแข่งขันเสรีอย่างชัดเจน ผู้ผลิตคอนเทนต์ไม่ต้องมาเสียค่าเรียงช่อง ทำให้ใช้งบกับการทำตลาดสร้างแบรนด์ และการลงทุนอื่นๆ ได้อย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันผู้ชมก็สามารถรับชมรายการได้มากขึ้น ซึ่งในอนาคต "วัน สกาย" จะสามารถใช้ได้กับจานรับสัญญาณเคยู- แบนด์ จากปัจจุบันที่ใช้ได้กับซี-แบนด์เท่านั้น

ส่วนจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ รายได้จาก "วัน สกาย" ที่จะเกิดขึ้น ปีแรกจะมาจากการขายกล่องรับสัญญาณเป็นหลัก มีสัดส่วนประมาณ 45% ส่วนอีก 3 ปีข้างหน้ารายได้หลักจะมาจากระบบสมาชิกที่ซื้อแพ็กเกจ คิดเป็นสัดส่วน 60% หรือมีสมาชิกประมาณ 6 แสนราย ทั้งนี้ ภายใน 1 ปี คาดว่าจะมีรายได้จากวัน สกาย 2,500 ล้านบาท และ ภายใน 3 ปี จะคิดเป็นสัดส่วน 28% ของธุรกิจโดยรวมของแกรมมี่ และทำให้บริษัทเติบโตปีละไม่น้อยกว่า 12% จากปัจจุบันบริษัทมีรายได้ประมาณ 8,000 ล้านบาท

เห็นกันชัดๆ เลยว่า อนาคตจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จะไม่ใช่แค่ค่ายเพลง หรือแค่ผู้ผลิตคอนเทนต์อีกต่อไป แม้งานทั้ง 2 ส่วนนั้นจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่จะยังทำอยู่ และก็ยังเป็นเส้นเลือดที่สำคัญในการหล่อเลี้ยงธุรกิจและทิศทางการเติบโตใหม่ๆ การลงทุนด้านช่องรายการ ปีหน้ายังคงเดินต่ออีกอย่างน้อย 5 ช่องที่บริษัทจะผลิตเอง โดยจะมีช่องข่าว 2 ช่อง และอื่น ๆ อีก 3 ช่อง ส่วนช่องที่ซื้อลิขสิทธิ์จากต่างประเทศไม่ได้กำหนด บริษัทพร้อมลงทุนโดยพิจารณาจากคุณภาพ โดยเฉพาะรายการกีฬา ที่พร้อมจะประมูลซื้อลิขสิทธิ์รายการกีฬาทุกประเภท เพราะต่อจากนี้ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ สามารถให้บริการในรูปแบบสมาชิกในระบบแพ็กเกจและเพย์ เพอร์ วิวได้

ธุรกิจใหม่ที่เกิดขึ้น นอกจากการเป็นวิชันในการก้าวไปสู่ความฝัน และความคาดหวังของอากู๋แล้ว ธุรกิจหลัก ก็ยังเป็นธุรกิจก้าวไปพร้อมๆ กันอย่างแข็งแกร่งอีกด้วย จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ นับจากนี้ คงไม่ต่างอะไรกับ "วอเนอร์ เมืองไทย" ที่มีเครือข่ายพร้อมทั้งบันเทิง และสาระ และยังเป็นโอเปอเรเตอร์ เป็นเจ้าของสื่อและเป็นคล้ายๆ ผู้ให้บริการด้านเครือข่ายไปในตัว

การสยายปีกจาก “คอนเทนท์ โพรวายเดอร์” ผลิตคอนเทนท์เพลงและบันเทิงมากว่า 28 ปี ปีนี้ บมจ.จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ได้ขยายการลงทุนครั้งใหญ่ที่สุดเตรียมงบลงทุน 3,000 ล้านบาท ในช่วง 3 ปีต่อจากนี้ เพื่อก้าวสู่ธุรกิจใหม่ “แพลตฟอร์ม โอเปอเรเตอร์” ที่ให้บริการครบวงจรรองรับได้ทั้งฟรีทีวีและเพย์ทีวี (ผ่านดาวเทียม) ที่สำคัญยังเป็นการรุกธุรกิจทีวีดาวเทียมที่แตกต่างจากเจ้าอื่นๆ ภายใต้ยุทธการล้าง "เสาก้างปลา"


จุดไคลแมกซ์ของพญาเสือแห่งวงการบันเทิง "อากู๋" ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม คือการ "กินรวบ" ตั้งแต่ "ต้นน้ำ" ยัน "ปลายน้ำ" ขย่มธุรกิจ "ฟรีทีวี" เขย่าธุรกิจ "ทีวีดาวเทียม"

เบื้องหลังแผนกินรวบของอากู๋ ภายใน 1-2 ปีนี้ ทีวีดาวเทียมจะแย่งส่วนแบ่ง "งบโฆษณา" จาก "ฟรีทีวี" (ช่อง 3,5,7,9,11) ได้เพิ่มเป็น 20% คิดเป็นมูลค่า 1.2 หมื่นล้านบาท จากปัจจุบันมีส่วนแบ่ง 10% มูลค่า 6,000 ล้านบาท อากู๋มองว่าหลังจากแกรมมี่ได้สร้างแพลตฟอร์มกล่องรับสัญญาณโทรทัศน์ดาวเทียมรูปแบบใหม่ “วันสกาย” (1sky) จะมีการจัดเรียงช่องรายการใหม่เป็นหมวดหมู่ ต่างจากปัจจุบันที่มีอยู่อย่างกระจัดกระจาย ไม่มีมาตรฐาน อีกทั้งยังมีการนำเทคโนโลยีมาแสวงหาประโยชน์ในการจัดเรียงช่องอย่างไม่เป็นธรรม โดยจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจัดเรียงช่องเป็นหลักล้านบาทต่อเดือน

อย่าแปลกใจทำไม! "ตระกูลมาลีนนท์" ถึงเฉือนหุ้น "บีอีซีเวิลด์" (ช่อง 3) ขายให้สถาบันในและต่างประเทศ 111.26 ล้านหุ้น ที่ราคา 34 บาท รับเงินเข้ากระเป๋า 3.78 พันล้านบาท เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2553 นั่นเพราะวิชั่นที่ยาวไกล วันหนึ่งอีกไม่ไกลฟรีทีวีจะสูญเสียฐานผู้ชมให้กับทีวีดาวเทียมอย่างถาวร

"ที่แกรมมี่เงียบอยู่นานใช่ว่าเรา 'แอบหลับ' แต่กำลังใช้ 'ความคิด' (การใหญ่)" อากู๋ บอกนักข่าว แต่ทว่าเกมทั้งหมดที่อากู๋เดิน ผลประโยชน์วัดกันที่ "มูลค่าหุ้น" ความมั่งคั่งที่สื่อถึงความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมที่สุด

"หุ้นผมจะขึ้นมั้ยเนี่ย!" แม่ทัพใหญ่แกรมมี่ โพล่งเรื่องหุ้น GRAMMY ติดตลกถึง 2 ครั้งติดต่อกัน กลางห้องประชุมชั้น 21 ตึกจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ที่เต็มไปด้วยเหล่านักวิเคราะห์ไม่ต่ำกว่า 20 ราย พากันมานั่งรออากู๋ กับลูกชายคนโต ฟ้าใหม่ ดำรงชัยธรรม และทีมงานวันสกาย มัลติมีเดีย

ช่วงต้นปี 2554 อากู๋เริ่มเดินแผนคลื่นใต้น้ำแอบไปจับมือกับ วัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ จ้างสามารถคอร์ปอเรชั่น ผลิตอุปกรณ์รับสัญญาณดาวเทียม ปิดข่าวเงียบเชียบไม่ยอมให้คู่แข่งรู้ เพิ่งมาเปิดเผยเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 จากนั้นก็วางสตอรี่ออกข่าวเป็นช็อตๆ ผ่าน เดียว วรตั้งตระกูล กรรมการผู้จัดการ หน่วยธุรกิจจีเอ็มเอ็ม บรอดคาสติ้ง ได้ ปรีย์มน ปิ่นสกุล ประธานเจ้าหน้าที่การเงิน ศิษย์เก่าดีแทคมาช่วยวางแผนทางการเงิน

ในปี 2555 อากู๋ประมาณการรายได้ในปีแรกขายกล่องวันสกาย อยู่ที่ 2,500 ล้านบาท โดยมียอดขาย 1.5 ล้านกล่อง ปี 2556 รายได้เพิ่มเป็น 2,800 ล้านบาท และในปี 2557 รายได้เพิ่มเป็น 3,136 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตปีละ 12% โดยยอดขายกล่องรับสัญญาณดาวเทียมในช่วง 3 ปีที่ 4 ล้านกล่อง

กล่องวันสกาย มีทั้งหมด 3 รุ่น ราคา 500 บาท 1,500 บาท และ 2,500 บาท ได้ฤกษ์เปิดศึกถล่มคู่แข่งในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2554 พร้อมกันทั่วประเทศ สามารถเชื่อมต่อกับจานดาวเทียมทุกระบบ สามารถดูทีวีได้มากกว่า 100 ช่อง ภายใต้แนวคิด “ออล อิน วัน สกาย เยอะดี น่าดู”

ดูเหมือนว่าเป้าหมายของอากู๋ จ้องเบียด True Visions ผู้ประกอบการ "แพลตฟอร์ม โอเปอเรเตอร์" รายใหญ่ของเมืองไทย มีจำนวนสมาชิก 1.7 ล้านราย และจานดาวเทียม PSI ที่เป็นเจ้าตลาด 40% ทำธุรกิจมา 20 ปี มีฐานลูกค้ามากกว่า 7.5 ล้านครัวเรือน
เกมของอากู๋ ไม่เพียงมี สามารถคอร์ปอเรชั่น เป็นพันธมิตรทางธุรกิจ แต่ยังจับมือกับ นิรันดร์ ตั้งพิรุฬธรรม ประธานชมรมผู้ผลิตและค้าจานดาวเทียม เจ้าของ "อินโฟแซท" รวมผู้ประกอบการอีก 5 ราย คือ ไดนาแซท, อินโฟแซท, ไทยแซท, ไอเดียแซท และลีโอเทค ที่พร้อมรับกล่องสัญญาณทีวีดาวเทียมวันสกาย ไปจำหน่ายพ่วงกับจานดาวเทียม โดยแกรมมี่ทุ่มงบการตลาดสูงถึง 200 ล้านบาท เพื่อให้เข้าถึงทุกครัวเรือน
ทำไม! ถึงไม่เอา PSI ของ สมพร ธีระโรจน์พงษ์ มาเป็นพันธมิตร อากู๋ ตอบว่า "จุดยืนอุดมการณ์ไม่เหมือนกัน" ก่อนจะให้เหตุผลว่า PSI เก็บค่าเรียงช่องใครอยากอยู่ข้างหน้าต้องเสียเงิน แต่ของแกรมมี่ไม่เก็บค่าเรียงช่องได้ปีละ 100 ล้านบาท

อากู๋ เล่าให้กรุงเทพธุรกิจ BizWeek ฟังหลังเสร็จแจกแจงรายละเอียดต่างๆ ให้นักวิเคราะห์ฟังว่า อีกไม่นานแกรมมี่ จะได้เงิน 3,000 ล้านบาท ที่ต้องควักสดๆ เพื่อลงทุนธุรกิจดาวเทียมกลับคืนมา ประมาณปลายปี 2554 หรือต้นปี 2555 แกรมมี่จะได้ "เพื่อนใหม่" จาก "ฝั่งอเมริกา" เขาเป็นก๊วนที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องทีวีดาวเทียมมากๆ เขาแวะเวียนมาคุยตั้งนานแล้ว ตอนนี้ก็ยังคุยกันทางโทรศัพท์ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ ถามว่าพันธมิตรใหม่จะเข้ามาในรูปแบบใด อากู๋ อธิบายคร่าวๆ ว่า มีหลากหลายวิธี เช่น แกรมมี่เสนอขายหุ้นให้แก่บุคคลในวงจำกัด (PP) หรือให้ผู้ถือหุ้นเดิมนำหุ้นออกมาขาย หรือขายหุ้นในส่วนของวันสกาย มัลติมีเดีย ก็ได้ จากนั้นก็นำบริษัทนี้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
"สุดท้ายจะเป็นรูปแบบใดใกล้ๆ ปลายปีนี้ เดี๋ยวมาเล่าให้ฟังอีกที แต่รูปแบบขายหุ้นของผู้ถือหุ้นเดิมคิดว่าคงไม่ค่อยโอเคเท่าไร เพราะผมไม่มีนโยบายขายหุ้นตัวเองออกมา (ถืออยู่ประมาณ 56%) มีแต่จะเก็บเพิ่ม “ของดี” ใครเขาขายกัน (หัวเราะ)"
เจ้าตัวยังฝากบอกผ่าน BizWeek ด้วยว่า ใครไม่อยากเก็บหุ้น GRAMMY ไว้แล้ว เพราะกลัวน้ำตาตก "ให้เอามาขายให้ผมจะรับซื้อหมด" คิดดูเราจ่ายเงินปันผลทุกปี เราให้ผลตอบแทนปีละ 10-20% (ปันผล+กำไรส่วนต่าง) ใครจะไม่อยากได้..จริงมั้ย!!!
แม่ทัพใหญ่แกรมมี่ บอกว่า ทุกวันนี้ราคาหุ้น GRAMMY ยังต่ำกว่าพื้นฐานมาก ผู้ถือหุ้นกำกันแน่นไม่ยอมปล่อย รวมถึงตัวผมด้วย (หัวเราะ) จำได้ปีก่อน (ปี 2553) เคยบอกนักข่าว นักวิเคราะห์ และนักลงทุนทุกคนว่า ราคาเป้าหมายหุ้น GRAMMY ต้องหุ้นละ 30 บาทเท่านั้น...อากู๋หงายไพ่ป๊อก!! เผยไต๋จดหมายความคิด การเดินหมากแบบ "เผยไต๋-เล่นกับไฟ" ไม่เพียงสร้างราคา สร้างความมั่งคั่งทางลัดได้เท่านั้น เจ้าตัวยังเอ่ยด้วยว่า เชื่อมั้ย! ป่านนี้ราคาหุ้นยังไม่ถึงไหนเลย ยิ่งตอนนี้มีธุรกิจทีวีดาวเทียมมาเสริมทัพแล้ว แถมยังทำไม่เหมือนใครอีก ฉะนั้นราคาเหมาะสมต้องสูงกว่านี้แน่นอน
"อย่าให้บอกเลยว่า ตัวเลขราคาหุ้น (GRAMMY) ในใจของผมตอนนี้เท่าไร..อายเขา (สงสัยจะสูงมาก)"
กลับมาที่เรื่องพันธมิตร บอสใหญ่แกรมมี่ บอกว่า เหตุที่อยากได้เพื่อนใหม่ เพราะ "อยากได้เงิน" มาต่อยอดธุรกิจ อยากให้บริษัทมีกำไรมากขึ้นนำกลับมาจ่ายเงินปันผลให้แฟนพันธุ์แท้ที่ถือหุ้นแกรมมี่มานาน
"ตอนนี้คิดเล่นๆ นะ อาจออกหุ้นเพิ่มทุนขายให้ผู้ถือหุ้นเดิมก็ได้ ตอบแทนที่เขาอยู่กับเรามานานแสนนาน ถือเป็นการเพิ่มสภาพคล่องด้วย" หนึ่งในแขนงความคิดที่แตกออกมา
ถามว่าธุรกิจดาวเทียมตอบโจทย์แกรมมี่ทั้งหมดหรือยัง อากู๋ ตอบว่า "นี่แค่เริ่มต้น" ยังมีอะไรอีกมากมายที่คิดจะทำภายใน 3 ปีข้างหน้านี้ ให้รอดูทุกคนจะเห็นแกรมมี่ผุดอีก 4-5 ธุรกิจใหม่มาอีก
"หลักการคือ ผมจะนำคอนเทนท์ที่มีอยู่มาต่อยอดธุรกิจ เช่น ต่อยอดไปในธุรกิจ Real Estate หรือธุรกิจท่องเที่ยว เป็นต้น ตอนนี้ยังไม่อยากเล่ารายละเอียด เดี๋ยวรอให้เป็นรูปเป็นร่างค่อยกลับมาเล่าให้ฟัง เรายังมีเรื่อง “เซอร์ไพรส์” นักลงทุนอีกเพียบ (พูดไปอมยิ้มไป)"
เจ้าตัวไม่ลืม "คุย" ติดปลายนวมไว้ "ข่ม" คู่แข่งเล็กๆ "ที่ผ่านมาผมเป็นลีดเดอร์ในทุกๆ เรื่อง" ฉะนั้นเมื่อคิดจะทำอะไรต้อง "แตกต่าง" และสามารถ "ต่อยอดธุรกิจ" ที่แกรมมี่มีได้ ที่สำคัญต้องทำธุรกิจแบบเป็นมิตรไม่เป็นภัยกับสังคม ดีลเลอร์ทุกคนที่รับของแกรมมี่ไปขายต้องได้กำไรอย่างคุ้มค่า

อย่างเราขายกล่องรุ่น 1SKY Smart ราคา 1,500 บาท ต้นทุนแค่ 1,000 บาท ส่วนรุ่น 1SKY รุ่นอีซี ราคา 500 บาท เราก็ขายให้ดีลเลอร์แค่ 360-380 บาท ส่วนต่างที่เหลือเขาก็รับไปเต็มๆ ส่วนใครอยากซื้อจานของสามารถ พ่วงกล่องรับสัญญาณ 1SKY ก็ไม่น่าเกิน 2,000 บาท ต้นทุนของสามารถ น่าจะประมาณ 1,500-1,600 บาท เห็นมั้ย! ทุกคนได้ประโยชน์เท่าๆกัน คนดูก็ได้เพราะ "ถูกมาก" (ถูกกว่าเจ้าอื่น)

บิ๊กแกรมมี่ เอ่ยขึ้นว่า การที่แกรมมี่เลือกจะเติบโตในธุรกิจทีวีดาวเทียม ไม่ได้หมายความว่าธุรกิจหลักที่ทำอยู่มันแย่ หรือเดินเข้าสู่ทางตีบตันเหมือนที่ใครพยายามบอก อย่างในปี 2554 ธุรกิจเพลงยังคงสร้างกำไรสุทธิอันดับ 1 มากกว่า 60% หลังปรับเปลี่ยนโครงสร้างใหม่ ธุรกิจดิจิตอล สร้างรายได้อันดับ 2 ก็ยังเติบโตมากขึ้น ส่วนธุรกิจโชว์บิซ ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เราจะพยายามผลักดันผลประกอบการธุรกิจเดิมในขยายตัวปีละ 15%  ส่วนธุรกิจทีวีดาวเทียม แนวโน้มจะขึ้นแท่นสร้างรายได้ให้แกรมมี่เป็นอันดับ 2 คิดดูกำไรขั้นต้นเฉพาะ Set-Top Box ก็เกิน 20% แล้ว ยังไม่รวมกำไรขั้นต้นอย่างอื่นๆ นะ ถ้ารวมปี 2555 กำไรขั้นต้นจะอยู่ 9% ปี 2556 ประมาณ 30% ปี 2557 ราวๆ 35%  "เรามั่นใจคงใช้เวลาไม่นานจะขึ้นแท่น "อันดับ 1" ธุรกิจแพลตฟอร์ม โอเปอเรเตอร์ หาก พีเอสไอ โฮลดิ้ง ซึ่งเป็นเจ้าตลาดอยากรับกล่องเราไปขาย..ผมยินดีนะ ไม่ปิดกั้น ที่ผ่านมาเราถือเป็นเจ้าของคอนเทนท์รายสำคัญที่ทำให้ PSI ขายจานได้ ที่ผ่านมาเขาก็เกรงใจเราตลอด” เจ้าพ่อแกรมมี่ บอกในห้องแถลงข่าวว่า ตอนนี้แกรมมี่มองข้ามไปถึงปี 2557 แล้ว ธุรกิจใหม่จะสร้างรายได้ให้แกรมมี่มากถึง 28% ส่วนอีก 72% เป็นรายได้จากธุรกิจเดิม สัดส่วนธุรกิจใหม่จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ที่ธุรกิจทีวีดาวเทียมมีสัดส่วนรายได้เพียง 2% พอปี 2555 จะขึ้นเป็น 20% ปี 2556 ประมาณ 26% รายได้ของธุรกิจทีวีดาวเทียม จะเติบโตเฉลี่ยปีละ 12% สำหรับสัดส่วนรายได้ในปี 2555 ของ วันสกาย มัลติมีเดีย จะมาจากการขายกล่อง 45% สมาชิก 32% คิดเป็น 330,000 ราย โฆษณาและสปอนเซอร์ 11% ส่วนในปี 2556 จะมีรายได้จากการขายกล่อง 30% สมาชิก 51% คิดเป็น 450,000 ราย และโฆษณาและสปอนเซอร์ 9% และปี 2557 จะมีรายได้จากการขายกล่อง 27% สมาชิก 60% คิดเป็น 600,000 ราย โฆษณาและสปอนเซอร์ 10%
"ตัวเลขที่ยกมานี้ หลายคนอาจมองว่าผมฝันไปหรือเปล่า! ลองคิดตามผมดูนะ ทั่วประเทศยังต้องการกล่องรับสัญญาณอีก 50 ล้านเครื่อง แค่นี้ก็ต้องร้องอุทาน!..ไอ้หยา!!! ดังๆ แล้ว นี่คือ โอกาสของวันสกาย จะเข้าไป ที่สำคัญเราจะคุ้มทุนภายใน 1 ปีครึ่ง อีกอย่างคอนเทนท์ของเราสามารถนำไปทำอะไรได้มากมาย ช่องดาวเทียมเราก็ไม่เหมือนคนอื่น ผมคิดจะทำคาราโอเกะออนไลน์ คุณไม่ต้องไปซื้อแผ่น หรือชิพแล้ว แค่ติดตั้งกล่องสัญญาณของเราก็สามารถร้องคาราโอเกะได้แล้ว"

นอกจากนี้ อากู๋ บอกว่า กำลังคิดจะทำ "โฮมช้อปปิ้ง" ร่วมมือกับเกาหลีนำของมาขาย และคิดจะนำนักฟุตบอลระดับโลกที่มีชื่อเสียงมาแข่งกีฬาในเมืองไทย เราก็จะมีรายได้จากการจัดกิจกรรมเพิ่ม ยังทำอะไรได้อีกมากมาย ยิ่งตอนนี้เรามีคนรุ่นใหม่ 30-40 คน มาร่วมงานรับรองง่ายนิดเดียว
ไอเดียอากู๋กำลังบรรเจิดเล่าต่อว่า คนอยู่บนตึกสูง โครงการอสังหาริมทรัพย์ และโรงแรม ไม่ต้องน้อยใจ คุณก็ติดกล่องสัญญาณของเราได้ ทำเหมือนเป็นเคเบิล โอเปอเรเตอร์ ตอนนี้มีคนติดต่อเข้ามาแล้ว ไม่นานคงได้เข้าไปคุยกัน ผมเชื่อว่ารุ่น 1SKY Smart (ราคา 1,500 บาท) จะขายดีที่สุด เพราะไม่แพงแถมได้ดูเป็นร้อยช่องคุ้มยิ่งกว่าคุ้ม

นายใหญ่แกรมมี่ กล่าวปิดท้ายว่า การรุกธุรกิจแพลตฟอร์ม โอเปอเรเตอร์ ถือเป็นการขยับตัวครั้งที่ 3 ของแกรมมี่ และมันจะไม่ใช่ครั้งสุดท้ายอย่างแน่นอน
"รอติดตามตอนต่อไปของผมเร็วๆ นี้ ผมจะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ แบบที่ใครไม่เคยเห็น รับรองรายได้เยอะดีน่าดู" พญาเสือแห่งวงการบันเทิงไม่ลืมที่จะทิ้ง "รอยเขี้ยว" เขย่าราคาหุ้น GRAMMY เติมกำไรด้วยคำพูดแบบยังไม่ต้องลงทุน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น