วันอังคารที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2554

สัญญาณ(ลาง) บอกเหตุ ทุนนิยมโลกกำลังจะล่มสลาย

สัญญาณ(ลาง) บอกเหตุ ทุนนิยมโลกกำลังจะล่มสลาย





เมื่อตอนต้นปี ผู้เขียนได้ติดตามข่าวเกี่ยวกับกระแสการต่อต้านผู้ปกครองหรือรัฐบาลของชาติมุสลิมหลายชาติ ที่เรียกกว่า อาหรับสปริง โดยจุดเริ่มต้นมาจากชาติตูนีเซียก่อน และลามมายังอียิปต์ และลิเบีย ภายหลังจากนั้นก็ตามมาด้วย เยเมน ซีเรีย บาห์เรน หรือแม้แต่กระทั่งประเทศมุสลิมใหญ่อย่างซาอุดิอาระเบียก็มีปรากฏการณ์เช่นนี้ด้วยเช่นกัน กรณีของตูนีเซียนั้นเกิดจากเด็กหนุ่มคนหนึ่งทำการเผาตัวเองตายเพื่อประชดหรือต่อต้านการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเทศกิจที่มาบังคับขับไล่ เด็กหนุ่มคนนี้ที่นั่งขายผักอยู่บนทางเท้า ทำให้เกิดความไม่พอใจ เป็นฟางเส้นสุดท้ายที่จุดขึ้นจากคนๆ เดียวแต่ลุกลามกลายเป็นการลุกฮือต่อต้านของประชาชนจำนวนมากที่ไม่พอใจการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐต่อประชาชนตาดำๆ คนหนึ่ง ที่ไม่มีทางเลือก ตกงาน หางานทำไม่ได้ ต้องมานั่งขายผัก แต่ก็โดนเจ้าหน้าที่ตำรวจรังแก อันนี้คือชนวนของความไม่พอใจของประชาชนที่มีเชื้ออยู่ก่อนแล้วจากการบริหารงานของรัฐที่ไม่สนใจดูแล ปากท้องของประชาชนให้อยู่ดีกินดี ข้าวยากหมากแพง ในกรณีของอียิปต์ก็เป็นการลุกฮือขึ้นประท้วงของประชาชน ที่ไม่พอใจการบริหารงานของรัฐที่ปล่อยให้ข้าวยากหมากแพง โดยเฉพาะขนมปัง ซื้อเป็นอาหารหลักของคนอียิปต์ และกรณีของลิเบียเป็นการลุกขึ้นประท้วงของชนเผ่าบางชนเผ่า หรือผู้นำชนเผ่าบางกลุ่มที่ต้องการล้มล้างอำนาจของโมอัมมาร์ กัดดาฟี่ เพราะปกครองประเทศมาอย่างยาวนาน มีอำนาจล้นฟ้า กดขี่ และจัดสรรผลประโยชน์ให้กับบางชนเผ่าได้ไม่เพียงพอ ซึ่งประเทศนี้เกิดจากการรวมตัวของชนเผ่าจำนวนมาก หลากหลายสายพันธุ์ ทำให้มีคลื่นใต้น้ำอยู่โดยธรรมชาติ อีกทั้งยังได้แรงหนุน(ยุยง,เสี้ยมสอน)จากมหาอำนาจตะวันตกอย่างฝรั่งเศส อิตาลี อังกฤษ คอยหนุนหลังผู้นำกลุ่มกบฏ ให้ลุกขึ้นสู้ ขับไล่ล้มล้างอำนาจของผู้นำเผด็จการอย่างกัดดาฟี่เสีย เพียงเพราะชาติตะวันตกเหล่านั้น ต้องการทรัพยากรอันมีค่ามากมายของลิเบียนั่นก็คือน้ำมันนั่นเอง ส่วนในกรณีของซีเรียนั้น ผู้นำประเทศนั้นกุมอำนาจทางทหารไว้ได้อย่างเบ็ดเสร็จ ยากที่จะมีกลุ่มกบฏหรือต่อต้านใดๆ ที่จะมาโค่นล้มได้โดยง่าย อีกทั้งชาติมหาอำนาจก็ไม่อยากจะเข้าไปแทรกแซง เนื่องจากไม่มีผลประโยชน์เกี่ยวกับน้ำมัน เรื่องอะไรจะเปลืองตัวเข้าไปแทรกแซง โดยดูตัวอย่างจากอเมริกาที่เข้าไปในอิรัก จนติดหล่ม เสียทั้งงบประมาณมหาศาล แต่สุดท้ายผลประโยชน์ด้านพลังงานหรือน้ำมันกลับตกอยู่กับบริษัทของของอดีตผู้นำรัฐบาล แต่ประชาชนคนอเมริกันไม่ได้ผลประโยชน์อะไรด้วย หนำซ้ำยังต้องมาเดือดร้อนจากการเป็นหนี้ภาครัฐท่วมหัว (หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น) แล้วประชาชนที่เป็นผู้จ่ายภาษีนั้น ต้องมาเดือดร้อนจากภาวะวิกฤติตอนช่วงแฮมเบอร์เกอร์ จนป่านนี้ยังโงหัวไม่ขึ้น

ผู้เขียนไม่คิดว่าจะได้เห็นภาพการประท้วงเดินขบวนต่อต้านผู้นำรัฐบาล แบบที่เกิดในบ้านเราหรือเกิดขึ้นในชาติมุสลิม แบบที่เป็นอาหรับสปริง จะไปเกิดกับชาติที่เรียกได้ว่าเป็นประเทศที่เจริญแล้ว พัฒนาแล้วอยางตะวันตกหรือยุโรป หรือเกิดกับชาติที่เป็นหัวหอกของทุนนิยมโลกอย่างอเมริกาหรืออังกฤษ ก็ได้เห็นในช่วงเวลาที่ไล่เลี่ยกัน จ่ะว่าเป็นกระแสที่ลอกเลียนกันก็ไม่น่าจะใช่ เพราะถึงแม้รูปแบบจะคล้ายกันแต่บริบททางสังคม ปัญหาของแต่ละประเทศ โดยเฉพาะกับชาติตะวันตกก็ไม่น่าจะเหมือนกับประเทศโลกที่สามอย่างประเทศทางเอเชีย ประเทศมุสลิม แต่เมื่อวิเคราะห์หาสาเหตุให้ลึกลงไปแล้วปรากฏว่ามูลเหตุจูงใจหรือต้นตอของปัญหามันคือปัญหาอันเดียวกัน เหมือนกันหมด ไม่ว่าจะเป็นชาติที่พัฒนาแล้วหรือชาติที่ยากจน นั่นก็คือ การประท้วงคนรวย (ซึ่งมีอยู่เพียง 1 % ของประเทศ แต่กลับได้รับการจัดสรรผลประโยชน์หรือครอบครองผลประโยชน์ส่วนใหญ่ของประเทศ) ในขณะที่คนส่วนใหญ่ไม่วาจะเป็นคนชั้นกลางหรือคนชั้นล่างส่วนใหญ่ คือประมาณ 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ ต้องเป็นผู้รับกรรมเสมอ เวลาที่ประเทศเกิดวิกฤติ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องการต้องเสียภาษีมากกว่าคนรวย(ที่เลี่ยงภาษีอยู่เป็นนิจ) เวลาประสบปัญหาทางการเงินก็จะถูกสถาบันการเงินตามทวงหนี้ ฟ้องล้มละลาย ยึดทรัพย์ หมดเนื้อหมดตัว, เวลาที่บริษัทหรือองค์กรที่ตนเองทำงานประสบปัญหาสภาพคล่องก็จะเป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่จะต้องถูกลอยแพ เลิกจ้าง หรือไล่ออกจากงาน โดยที่บางประเทศไม่มีรัฐสวัสดิการให้ หรือถ้ามีก็จะถูกจำกัด ตัดทอน ลดเบี้ยเลี้ยงลง อันสืบเนื่องมาจากรัฐถังแตก เผชิญวิกฤติการเงิน รัฐประสบปัญหาหนี้สาธารณะเยอะเกินตัว จึงจำต้องตัดลดงบประมาณลง นี่แหละคือสาเหตุที่ไม่ว่าจะเป็นชาติไหนในโลกที่อยู่ในระบบทุนนิยมก็จะอยู่ในสภาพที่คล้ายๆ กัน รายได้ไม่เพียงพอกับค่าครองชีพที่นับวันจะสูงขึ้น ภาวะเงินเฟ้อถีบตัว ข้าวของแพง รัฐบาลไม่สามารถจะแก้ไข ควบคุมดูแลปัญหาข้าวยากหมากแพงได้ ในบางประเทศประชาชนต้องอดอยากเพราะไม่มีข้าวกิน หรือต้องจ่ายซื้ออาหารในราคาแพง เพราะประเทศของตนไม่ใช่ประเทศเกษตรกรรมหรืออู่ข้าวอู่น้ำ หรือมีทรัพยากร ผลิตผลด้านอาหารที่เพียงพอ ต้องนำเข้ามา และบางประเทศต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติทำร้ายทำลายซ้ำซาก ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย ทำให้ไม่สามารถนำผลผลิตที่ลงทุนลงแรงไปเปลี่ยนเป็นเงินขึ้นมาได้ ประชาชนจึงต้องสิ้นเนื้อประดาตัว รอคอยให้รัฐมาช่วยแก้ไข เยียวยา ชุบชีวิต และเผชิญชะตากรรมนั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ บางคนต้องเปลี่ยนสถานะจากคนมีอันจะกิน คนรวย กลายเป็นคนจนเพียงชั่วข้ามคืนจากภัยพิบัติธรรมชาติ และภัยร้ายทางเศรษฐกิจการเงิน ที่ใครก็ไม่อ่าจจะรู้ซึ้งได้ ถ้าไม่เคยประสบหรือเกิดกับตัวเอง ก็จะไม่เข้าใจหัวอกของคนที่ต้องเผชิญโชคชะตาที่เลวร้ายเล่นงาน
ในรอบ 1 ปีที่ผานมานี้ ผู้เขียนก็ได้รับทราบข่าวและติดตามข่าวที่เกี่ยวกับวิกฤติการเงินของทางฟากฝั่งอเมริกาและยุโรป ควบคู่ไปกับเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดกับหลายๆประเทศ เช่น ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ เป็นต้น หรือแม้กระทั่งในบ้านเราเอง กับภัยน้ำท่วม ในบทความนี้จะขอโฟกัสไปยังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ส่วนในประเทศเอาไว้จะได้กล่าวถึงในโอกาสข้างหน้าต่อไปเป็นการเฉพาะ สำหรับวิกฤติการเงิน หรือหนี้สาธารณะในยุโรป เริ่มก่อตัวมาได้ซัก 2-3 ปีมาแล้ว ภายหลังวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์หรือวิกฤติซับไพร์มของอเมริกา และเป็นผลพวงที่เกี่ยวเนื่องสืบทอดต่อกันมา เพียงแต่ในกรณีของสหรัฐอเมริกาใช้วิธีอัดฉีดเงินผ่าน QE 1,2 ลงไปช่วยยังต้นตอก็คือสถาบันการเงินหรือบรรษัทนั้นได้โดยตรงเลย และอย่างรวดเร็วด้วย ทำให้วิกฤติซับไพร์มเริ่มคลี่คลายลง และเบาบางลงได้ไม่ลุกลามต่อเนื่องเหมือนกรณีของยุโรป สำหรับกรณีของ EU หรือสหภาพยุโรปนั้น พอเกิดวิกฤติหนี้สินในกลุ่ม Pigs (โปรตุเกส,ไอร์แลนด์,กรีซ,สเปน) ดำเนินการแก้ไขล่าช้า เนื่องจากขาดเอกภาพในการตัดสินใจ เพราะ EU ประกอบขึ้นจากชาติสมาชิกตั้ง 17 ประเทศ จากประเทศทั้งหมด 27 ประเทศในยูโรโซน ซึ่งมีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ขนบระเบียบที่แตกต่างกัน ทำให้ความเป็นเอกภาพมีน้อย และเมื่อกรีซต้องขอความช่วยเหลือจาก IMF เป็นชาติที่ 3 ต่อจากไอร์แลนด์ โปรตุเกส และที่อยู่นอกเหนือยูโรโซนอีกอย่างฮังการี กลายเป็นประเทศที่มีหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นสูงสุด ทำให้การที่จะดำเนินการแก้ไขก็ยาก และมาตรการที่จะบังคับให้กรีซต้องปฏิบัติตามก็เข้มงวดเกินกว่าจะปฏิบัติได้ ประชาชนต้องรัดเข็มขัดตัวกิ่ว จนเกิดการชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลในกรีซ และก็หลายประเทศในยุโรป อาทิ สเปน อิตาลี อังกฤษ และโลกก็กำลังจับตาการประชุมของผู้นำประเทศในชาติยุโรโซน ว่าจะจัดการช่วยเหลือกรีซอย่างไรให้รอดพ้นเส้นตายการชำระหนี้ ซึ่งจะมีขึ้นหลายระลอก และการนำเงินมาช่วยกรีซของชาติผู้นำยุโรปอย่างเยอรมันและฝรั่งเศส กำลังเผชิญการต่อต้านจากคนของชาติตนเองที่ไม่เห็นด้วยกับมาตรการของรัฐ ทีจะนำเงินภาษีของชาติไปช่วยคนของชาติอื่น ซึ่งไมมีวินัยทางการเงินเลย ในช่วงที่ผ่านมา และถึงแม้ประสบวิกฤติแล้วก็ยังไม่เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่าย ยังคงใช้จ่ายเกินตัวและเสวยสุขบนความหายนะของเพื่อนร่วมทวีป

การลุกขึ้นมาประท้วงของบรรดานักศึกษาที่เพิ่งจบออกมาแต่หางานการทำไม่ได้ ต้องกลายเป็นผู้ว่างงานอย่างยาวนาน พากันไปประท้วงหน้าตลาดหุ้นวอลล์สตรีท โดยเรียกตนเองว่า Occupy WallStreet โดยแรกเริ่มเดิมทีก็เป็นคนกลุ่มเล็ก ๆ 100-200 คน จนผ่านไป 2 อาทิตย์ก็มีผู้คนมาเข้าร่วมประท้วงมากขึ้นส่วนใหญ่เป็น NGO กลุ่มต่างๆ หรือคนชั้นกลางพวก white collar ,คนที่ตกงานจากช่วงวิกฤติการเงินแฮมเบอร์เกอร์ หรือเลห์แมนบราเธ่อร์ล้ม มารวมตัวกันมากขึ้น และเดินไปบนสะพานบู้คลิน แนวร่วมก็มากขึ้นๆ จนถูกสลายการชุมนุมและถูกจับตัวไป 700 กว่าราย ตามข่าว และกระแสนี้ได้จุดประกายและลัทธิเอาอย่าง เนื่องจากเกิดการชุมนุมในลักษณะนี้กระจายไปยังหัวเมืองใหญ่ๆ หลายแห่งทั่วสหรัฐ อาทิ ที่ลอส แอลเจลิส, ซานฟรานซิสโก, ชิคาโก และบอสตัน และกระแสคงไม่หยุดอยู่แค่นี้คงลุกลามไปทั่วสหรัฐ ซึ่งคนกลุ่มนี้เขาอ้างว่าเขามาประท้วงคนรวยที่โลภกระหาย ไม่เคยเพียงพอ และคนกลุ่มนี้เองที่คุมกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเอาไว้ หรือคุมแม้กระทั่งนโยบายรัฐบาล คนกลุ่มนี้เมื่อเวลาประสบปัญหาวิกฤติการเงิน รัฐบาลก็จะเอาเงินภาษีของประชาชนเข้าไปอุ้ม ไปช่วยให้ฟื้น และเสวยสุขไปกับเงินเดือนสูงๆ มีโบนัสงามๆ ปลายปี มีเรือยอร์ช มีเครื่องบิน เฮลิค็อปเตอร์ส่วนตัว ในขณะที่คนจนยังต้องไปเข้าคิวขอคูปอง แสตมป์อาหารแจกจากทางราชการ หรือต้องไปขอเข้าคิวแย่งกันใช้สิทธิ์ค้างแรมในสถานที่ค้างแรมชั่วคราวของรัฐจัดไว้ให้สำหรับคนที่ไร้ที่อยู่ (บ้านโดนแบงค์ยึดไปแล้ว) จึงเป็นสิ่งที่ผู้มาประท้วงต้องการตะโกนบอกให้ภาครัฐลงมาดูแล สนใจ และช่วยเหลือ ให้มากกว่าที่เป็นอยุ่ และนับวันสังคมอเมริกันจะประกอบไปด้วยคนไร้ที่พัก คนจนจะเพิ่มปริมาณมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเกิดมาก่อนนับ 100 ปี จริงๆ แล้วภาวะซบเซาของเศรษฐกิจอเมริกาเป็นมาแล้วกว่า 10 ปี ก่อนเหตุการณ์เลห์แมนบราเธอร์หรือวิกฤติซับไพร์มเสียอีก มันเริ่มมีวี่แววของลางบอกเหตุมานานแล้วก่อนหน้านี้ ภาวะฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ในอเมริกามีมาแล้วหลายปี คนอเมริกันชอบใช้จ่ายเกินตัว มีบัตรเครดิตใช้กันทุกคนแม้กระทั่งนักศึกษาที่ยังไม่มีรายได้ การกู้ยืมเป็นไปอย่างง่ายดาย คนอเมริกันเกี่ยงงาน ไม่ทำงานที่มีรายได้ต่ำ ปล่อยให้คนผิวดำ คนเอเชียทำงานระดับล่างแทน ค่านิยมบริโภคนิยม ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยมีมานานแล้ว ในขณะที่คนอเมริกันมีศักยภาพในการแข่งขันต่ำ มี productivity ต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับคนญี่ปุ่น สิงคโปร์ ไต้หวัน อินเดีย เกาหลี ความขยันขันแข็งสู้คนเอเชียไม่ได้ ความได้เปรียบในเรื่องต้นทุนค่าแรงงานของคนเอเซียหรือประเทศเกิดใหม่ (อุตสาหกรรมใหม่) ทำให้สินค้าอเมริกันแข่งสู้สินค้าจากเอเชียไม่ได้ โดยเฉพาะจีน ทำให้อเมริกันเป็นประเทศขาดดุลการค้าสูงมาก โดยเฉพาะขาดดุลให้กับจีนในขณะที่จีนก็พัฒนาตัวเองขึ้นมาจนสามารถผลิตหรือมีเทคโนโลยีในการผลิตสินค้าขั้นสูงได้ เพื่อส่งกลับไปขายให้กับอเมริกัน และยุโรป จนจีนร่ำรวยมหาศาล มีทุนสำรองมากที่สุดในเอเซีย

กระแสการชุมนุมเรียกร้องของผู้ประท้วงที่เกิดขึ้นทั่วทั้งยุโรป อเมริกา และหลายชาติที่เป็นมุสลิมกำลังจะบอกคนทั่วโลกว่า ทุนนิยมมันไปไม่รอด กำลังจะล่มสลาย เหตุก็เพราะว่าทุนนิยมส่งเสริมคนโลภให้รวยขึ้น และทำลายคนที่บริโภคเป็นอย่างเดียวให้เป็นเหยื่อ และรอวันหายนะลงไปเรื่อยๆ ในขณะที่ความเหลื่อมล้ำหรือช่องว่างทางการเงิน หรือฐานะ สถานภาพทางสังคม ห่างขึ้นๆ มากขึ้นทุกที ไม่เว้นทั้งในประเทศที่ร่ำรวยหรือประเทศที่ยากจน อยู่ในข่ายนี้หมด ตราบใดที่ยังอยู่ภายใต้ระบบทุนนิยมประชาธิปไตยแบบนี้อยู่

ผู้เขียนคาดหวังว่ากระแสการชุมนุมประท้วงที่เกิดขึ้นทั่วโลกในเวลานี้ จะไปจุดประกายความคิดให้กับผู้ที่คุมกลไกเศรษฐกิจทั้งในระดับโลก ระดับประเทศ หรือระดับองค์กรใดๆ ได้ตระหนัก และคิดปฏิรูปกลไก กฎระเบียบ ให้เป็นธรรมกับทุกฝ่าย การจัดสมดุลของทรัพยากรให้เท่าเทียมและเพียงพอ ไม่ทำให้เกิดความคิดถึงความเหลื่อมล้ำต่ำสูงมากจนเกินไป ก็จะทำให้ระบบทุนนิยมโลกยังคงดำรงอยู่ต่อไปได้ ไม่ถูกต่อต้าน และถึงเวลาที่มนุษย์โลกจะต้องคิดหาวิธีที่มนุษย์จะอยู่ด้วยกันแบบไม่ต้องแก่งแย่งแข่งขัน หาระบบที่ดีกว่าระบบทุนนิยมมาเป็น platform ใหม่ที่จะเดินตาม ปิดช่องโหว่ที่ทำให้มนุษย์ขาดความเท่าเทียมและไร้ประสิทธิภาพลง

ข่าวเกี่ยวกับการชุมนุมประท้วง

เอเอฟพี/เอเจนซี - ผู้ประท้วงวอลล์สตรีทราว 700 คนถูกจับกุม วานนี้ (1) หลังเคลื่อนขบวนบุกยึดสะพานบรูกลินในนครนิวยอร์ก จนต้องปิดการจราจรนานหลายชั่วโมง ตำรวจเผย

ผู้ประท้วงวอลล์สตรีทหันมาใช้สะพานบรูกลินเป็นสถานที่ชุมนุม หลังจากยึดสวนสาธารณะเล็กๆ ย่านแมนฮัตตันเป็นฐานที่มั่นเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน เพื่อประท้วงที่รัฐบาลจ่ายเงินโอบอุ้มบริษัทที่ขาดทุน และปล่อยให้บริษัทเอกชนเข้าไปมีอิทธิพลต่อการเมือง

โฆษกตำรวจนิวยอร์กเปิดเผยว่า มีผู้ถูกจับประมาณ 700 คน โดยขณะนี้ยังอยู่ระหว่างตรวจสอบจำนวนที่แน่ชัด ผู้ประท้วงบางคนถูกกักตัวไว้ไม่กี่ชั่วโมง ในขณะที่อีกหลายคนอาจถูกขังอยู่เป็นวันๆ ก่อนจะได้รับอิสรภาพ ก่อนหน้านี้ โฆษกสำนักงานตำรวจนิวยอร์กอีกนายหนึ่งระบุว่า มี “ผู้ประท้วงหลายร้อยคนตัดสินใจลงมาเดินบนท้องถนนและปิดกั้นการจราจร บางคนก็ฟังคำเตือน บางคนก็ยอมถอยกลับไป หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จึงเข้าจับกุม” กลุ่ม “ยึดวอลล์สตรีท” (Occupy Wall Street) ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในอียิปต์ เปิดเผยว่า มีผู้ประท้วงถูกจับกุมแล้วอย่างน้อย 50 คนพวกเขาบอกว่า การออกมาเคลื่อนไหวในย่านดาวน์ทาวน์ครั้งนี้ก็เพื่อ “แสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ว่าพวกเราไม่พอใจสภาพเศรษฐกิจ และบรรยากาศทางการเมืองในปัจจุบัน” ผู้ประท้วงเหล่านี้ยังตำหนิการกระทำที่รุนแรงของเจ้าหน้าที่บ้านเมือง หลังมีตำรวจอาวุโสนายหนึ่งใช้สเปรย์พริกไทยฉีดใส่ผู้ประท้วง 4 ราย และนำพวกเขาไปขังคุกเมื่อ 1 สัปดาห์ก่อน

ทางกลุ่มประกาศจะเดินขบวนครั้งใหม่ในบ่ายวันพุธนี้ (3 ต.ค.)ตามเวลาท้องถิ่นโดยจะเดินจากศาลาว่าการนครนิวยอร์กไปจนถึงย่านการเงิน เนื่องจากการที่ตำรวจจับกุมสมาชิกกลุ่มไปมากกว่า 700 คน ข้อหาชุมนุมขัดขวางการจราจรบนสะพานบรู๊คลินในนครนิวยอร์กวานนี้ ก่อนปล่อยตัวไป กลายเป็นชนวน ทำให้เกิดการประท้วงทำนองเดียวกัน ต่อเนื่องในหลายจุดในสหรัฐอเมริกา

การชุมนุมของชาวอเมริกันที่ต่อต้านกลุ่มธุรกิจในวอลล์สตรีทประกาศล่วงเข้าสู่สัปดาห์ที่ 3 ต่อเนื่องกันแล้ว เป็นการรวมตัวกันอย่างหลวมๆของกลุ่ม "ยึดครองวอลล์สตรีท" (Occupy Wall Street) ที่มีเป้าหมายประท้วงรัฐบาล ที่ให้ความช่วยเหลือธนาคารและประท้วงภาคธุรกิจที่มีอิทธิพลแทรกแซงการเมือง

ล่าสุด จอร์จ โซรอส พ่อมดการเงิน ได้ออกโรงสนับสนุนกลุ่มผู้ประท้วงเหล่านี้ โดยชี้ว่าความโกรธกริ้วของประชาชนมีต้นตอมาจากการจ่ายโบนัสที่เลยเถิดของธนาคารต่างๆท่ามกลางปัญหาทางเศรษฐกิจ

ล่าสุดได้มีการตั้งกลุ่มในรูปแบบเดียวกับ "กลุ่มยึดครองวอลล์สตรีท" แล้วทั่วประเทศ ถึง 21 เมืองทั่วประเทศ อาทิ ลอส แอลเจลิส, ซานฟรานซิสโก, ชิคาโก โคลัมบัส และบอสตัน บริเวณหน้าสำนักงานธนาคารกลางของแต่ละเมือง

นักเคลื่อนไหว “ออคคิวพาย วอลล์สตรีท” ชุมนุมใหญ่บริเวณไทม์สสแควร์ ย่านแมนฮัตตัน นครนิวยอร์ก วันที่ 15 ตุลาคม พร้อมกับการประท้วงที่เกิดขึ้นในเมืองสำคัญทั่วโลก ซึ่งเว็บไซต์ 15october.net อ้างว่า มีการชุมนุมเกิดขึ้นมากถึง 951 เมือง ใน 82 ประเทศ


เอเจนซี / เอเอฟพี - กระแสการประท้วงมุ่งต่อต้านความละโมบตะกละตะกลามของพวกชนชั้นนายทุนและภาคธนาคาร ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากการประท้วงวอลล์สตรีทในนิวยอร์ก เริ่มลุกลามบานปลายไปสู่เมืองสำคัญทั่วโลกเมื่อวันเสาร์ (15) ไม่ว่าจะเป็นวอชิงตัน, ไมอามี, โรม, มาดริด, ลิสบอน, อัมสเตอร์ดัม, ปารีส, เบอร์ลิน, ซูริค, เอเธนส์, บรัสเซลส์, โตเกียว, ฮ่องกง หรือซิดนีย์ โดยเฉพาะที่เมืองหลวงของอิตาลีได้เกิดเหตุจลาจลรุนแรงถึงขั้นจุดไฟเผารถยนต์และจู่โจมธนาคาร ขณะที่ในแดนต้นตออย่างนิวยอร์ก ผู้ประท้วงหลายพันคนได้เดินขบวนครั้งใหญ่สู่ย่านจัตุรัสไทม์สแควร์ และเกิดการปะทะกับตำรวจตลอดจนเกิดเหตุโกลาหลจนมีผู้ได้รับบาดเจ็บ

การประท้วงซึ่งจุดชนวนโดยกลุ่มนักเคลื่อนไหว “ออคคิวพาย วอลล์สตรีท” หรือขบวนการยึดครองวอลล์สตรีท ศูนย์กลางทางการเงินของโลกและเป็นแหล่งผลประโยชน์ของบริษัทและธนาคารยักษใหญ่ในสหรัฐฯนั้น เริ่มแพร่เชื้อลามไปสู่ยุโรป, นิวซีแลนด์และออสเตรเลีย, ตลอดจนบางส่วนของภูมิภาคเอเชีย โดยรายงานข่าวระบุว่า กระแสประท้วงในสหรัฐฯ และ “ความโกรธแค้น” ของชาวสเปนที่มีต่อนโยบายตัดงบรายจ่ายของรัฐบาลกำลังแผ่ลามไปถึง 951 เมืองจาก 82 ประเทศทั่วโลก

ที่มหานครนิวยอร์ก ที่ซึ่งการประท้วงความเอารัดเอาเปรียบของพวกทุนนิยมเริ่มเปิดฉากขึ้นจากการที่กลุ่มออคคิวพาย วอลล์สตรีทปักหลักกางเต็นท์ในสวนสาธารณะทางใต้ของแมนฮัตตัน ตั้งแต่วันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา ปรากฏว่า ในวันนัดหมายร่วมประท้วงแบบพร้อมเพรียงกันทั่วโลกเมื่อวันเสาร์ (15) กลุ่มแกนนำในนิวยอร์ก ระบุว่า มีผู้ประท้วงอย่างน้อย 5,000 คนมาร่วมเดินขบวนไปยังจัตุรัสไทม์สแควร์ ใจกลางเกาะแมนฮัตตัน

ในระหว่างเคลื่อนขบวน ผู้ประท้วงซึ่งประกอบด้วยนักศึกษา, สหภาพแรงงาน กระทั่งครอบครัวที่มีลูกเล็กๆ ต่างร้องตะโกนว่า “เราคือพลเมือง 99 เปอร์เซ็นต์”, “เราคือประชาชน” และ “คุณโอบามา เราต้องการความช่วยเหลือ” ขณะที่ตำรวจนิวยอร์กพยายามนำเครื่องกีดขวางมากั้นไว้

เหตุการณ์เริ่มบานปลายจนนำไปสู่การปะทะกันระหว่างผู้ประท้วงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจนิวยอร์ก ที่บริเวณหัวถนนหมายเลข 46 และอเวนิวหมายเลข 7 หลังจากตำรวจพยายามขี่ม้าไล่ต้อนผู้ประท้วงให้ถอยออกจากไทม์สแควร์ ส่งผลให้ผู้ประท้วงซึ่งตื่นตกใจวิ่งหนีกันอลหม่าน และเกิดความชุลมุนวุ่นวาย จนทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายราย โดยหนึ่งในนั้นเป็นผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งถูกผลักล้มลงจนบาดเจ็บที่ใบหน้า

เอเอฟพีระบุว่า จากเหตุความวุ่นวายในนิวยอร์กเมื่อวันเสาร์ ทำให้ผู้ถูกจับกุมทั้งสิ้น 88 คน

ขณะที่ในกรุงวอชิงตัน ประชาชนราว 2,000-3,000 คนได้ออกมาแสดงพลังมวลชนกันที่สวนสาธารณะเนชันแนลมอลล์ ก่อนที่จะมีการเริ่มต้นพิธีเปิดอนุสรณ์สถานของมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ นักต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองชาวผิวดำซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพและสิ้นชีวิตเพราะถูกลอบสังหาร ส่วนที่ไมอามี ชาวเมืองอย่างน้อย 1,000 คน ได้เดินขบวนในย่านดาวน์ทาวน์ เพื่อต่อต้านพวกบริษัท, ธนาคาร และสงครามในตะวันออกกลาง

ทั้งนี้ อเมริกันชนจำนวนมากต่างโกรธแค้นกรณีที่ธนาคารและสถาบันการเงินในสหรัฐฯ กอบโกยผลกำไรมหาศาลหลังจากที่รัฐบาลสหรัฐฯ เข้าโอบอุ้มพยุงฐานะเพื่อไม่ให้ล้มละลายในปี 2008 ขณะที่พวกเขารู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมที่ต้องตกระกำลำบากจากภาวะเศรษฐกิจอันย่ำแย่โดยที่มีตัวเลขคนตกงานสูงถึงกว่า 9 เปอร์เซ็นต์

ส่วนที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี ผู้ประท้วงรวมหลายหมื่นคน ซึ่งสนับสนุนโดยสหภาพแรงงานใหญ่ที่สุดและนักศึกษา ได้เดินขบวนไปตามท้องถนนในเมืองหลวง แต่แล้วเหตุการณ์ก็ตึงเครียดและบานปลาย เมื่อผู้ประท้วงจำนวนหนึ่งได้จุดไฟเผารถยนต์, ทุบทำลายกระจกหน้าต่างของธนาคาร รวมถึงเผาหน่วยงานของกองทัพอิตาลี พร้อมกับขว้างปาก้อนหิน, ขวดน้ำ และพลุไฟใส่ตำรวจ ขณะที่ตำรวจก็ตอบโต้ด้วยการระดมยิงแก๊สน้ำตาและฉีดน้ำใส่เพื่อสลายกลุ่มผู้ประท้วงอันธพาลเหล่านี้


เหตุการณ์โกลาหลที่ดินแดนมักกะโรนีนับเป็นการก่อจลาจลรุนแรงที่สุดในบรรดาการประท้วงต่อต้านความโลภของนายทุนและคัดค้านนโยบายรัดเข็มขัดของรัฐบาลที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก นอกจากนี้จำนวนคนที่มาร่วมประท้วงในเมืองหลวงของอิตาลีครั้งนี้ ก็ยังนับเป็นการรวมตัวแสดงความไม่พอใจครั้งใหญ่ที่สุดในยุโรป นับตั้งแต่เริ่มมีการประท้วงขึ้นที่จตุรัส ปูเอร์ตา เดล ซอล ในกรุงมาดริด ของสเปน เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมเป็นต้นมา

ส่วนที่กรุงมาดริด และ กรุงลิสบอน ก็มีรายงานว่า ประชาชนจำนวนหลายหมื่นคนได้ออกมาชุมนุมประท้วงรัฐบาลเมื่อวันเสาร์เช่นเดียวกัน โดยรอยเตอร์ระบุว่า เฉพาะที่เมืองหลวงของโปรตุเกสนั้น มีประชาชนมากกว่า 20,000 คน ออกมาเดินขบวนประท้วง ขณะที่ในเมืองปอร์โต เมืองใหญ่อันดับสองของแดนฝอยทอง ก็มีผู้ประท้วงจำนวนที่มากพอๆ กัน ทั้งนี้การประท้วงที่โปรตุเกสเกิดขึ้นเพียง 2 วันหลังจากที่รัฐบาลเพิ่งประกาศบังคับใช้มาตรการรัดเข็มขัดชุดใหม่

ข้ามไปที่กรุงเอเธนส์ ชาวกรีกราว 4,000 คน รวมตัวกันเดินขบวนไปยังจัตุรัสซินตักมา เพื่อต่อต้านนโยบายรัดเข็มขัดของรัฐบาล พร้อมกับถือแผ่นป้ายข้อความว่า “กรีซไม่ได้มีไว้ขาย”

นอกจากนี้ ที่กรุงลอนดอนก็เกิดเหตุวุ่นวายไม่แพ้กัน เมื่อผู้ประท้วงราว 800 คน มาปักหลักชุมนุมที่ย่านการค้าใกล้กับโบสถ์เซนต์ปอล พร้อมกับชูป้าย “สู้มัน!”, “ไม่ตัดงบ” และ “โกลด์แมน แซกส์ เป็นกิจการของซาตาน” ขณะที่มีรายงานด้วยว่า จูเลียน แอสซานจ์ ผู้ก่อตั้งวิกิลีกส์ เว็บไซต์จอมแฉ ก็ออกมาร่วมชุมนุมในเมืองหลวงของอังกฤษครั้งนี้ด้วย

ด้านกองบัญชาการตำรวจนครบาลลอนดอน หรือ สกอตแลนด์ยาร์ด ระบุว่า มีผู้ถูกจับกุมฐานทำร้ายเจ้าพนักงาน 3 ราย และอีก 2 รายถูกจับฐานก่อกวนความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง

ที่กรุงปารีส ซึ่งกำลังเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม จี-20 ระดับรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าdkiแบงก์ชาติ เพื่อหารือแนวทางแก้ไขวิกฤตหนี้และการขาดดุลงบประมาณบานเบอะในหลายประเทศ ก็ปรากฏว่าผู้ประท้วงราว 1,000 คน เดินขบวนกันที่ด้านหน้าศาลาเทศบาล

ที่เยอรมนี มีผู้ประท้วงหลายพันคนรวมตัวกันที่เบอร์ลิน, ฮัมบูร์ก และบริเวณด้านนอกที่ทำการของธนาคารกลางแห่งยุโรปในนครแฟรงก์เฟิร์ต

ข้ามฟากไปที่ฮ่องกง ที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคเอเชียของวาณิชธนกิจระดับบิ๊กๆ หลายราย อาทิ โกลด์แมน แซคส์ ก็ไม่รอดพ้นตกเป็นเป้าหมายของผู้ประท้วงเช่นกัน โดยประชาชนรวมกว่า 100 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาและผู้เกษียณอายุ ได้ชุมนุมกันที่เอ็กซ์เชนจ์ สแควร์ พร้อมกับถือป้ายตราหน้าพวกแบงก์ว่าเป็น “เซลล์มะเร็งร้าย”

ขณะที่ในกรุงโตเกียว ชาวญี่ปุ่นราว 100 คน ได้เดินขบวนแสดงความไม่พอใจรัฐบาลจากกรณีอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่จังหวัดฟูกูชิมะ

ในกรุงไทเป มีชาวไต้หวันกว่า 100 คน นัดชุมนุมกันที่บริเวณด้านนอกของที่ทำการตลาดหลักทรัพย์ไทเป โดยที่พวกเขาเรียกตนเองว่าเป็น “คน 99 เปอร์เซ็นต์ของไต้หวัน” พร้อมกับแสดงความไม่พอใจว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจนำมาซึ่งผลประโยชน์ของคนส่วนน้อยเฉพาะแค่บรรดาบริษัทเท่านั้น ขณะที่เงินเดือนของชนชั้นกลางก็น้อยนิดเพียงแค่พอเลี้ยงชีพเท่านั้น

ที่นครซิดนีย์ ชาวออสซีราว 2,000 คน ซึ่งรวมผู้แทนจากชนกลุ่มน้อยชาวอะบอริจิน, พวกคอมมิวนิสต์ ตลอดจนสหภาพแรงงาน ได้รวมตัวกันประท้วงรัฐบาลที่ด้านนอกธนาคารกลางของออสเตรเลีย

นอกเหนือจากเมืองต่างๆ ที่กล่าวมา ในทวีปอเมริกา ทั้งเม็กซิโก, เปรู และชิลี ก็มีประชาชนรวมหลายพันคน ออกมาแสดงความไม่พอใจรัฐบาลต่อกรณีระบบการเงินอันไม่เป็นธรรมและปัญหาว่างงาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น