วันพุธที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2554

เป็นอยู่อย่างเซน

เซนคืออะไร อะไรคือเซน

Paul reps, Zen Flesh, Zen Bones, Penguin Books 1982 พอล เรพส์ ได้เขียนไว้ในคำนำหนังสือที่ชื่อ “เนื้อหนังและกระดูกแห่งเซน” ว่า อาจกล่าวได้ว่า เซน เป็นศิลปะในด้านใน เป็นประดิษฐกรรมของชาวตะวันออกที่เริ่มรากขึ้นในประเทศจีนโดยท่านโพธิธรรม ซึ่งเดินทางจากประเทศอินเดียไปถึงประเทศจีนในคริสต์ศตวรรษที่ 6 และต่อมาเซนก็ได้เผยแผ่ออกไปยังทิศตะวันออก ไปสู่ประเทศญี่ปุ่น ในราวคริสต์ศตวรรษที่ 12 ทั้งนี้โดยมีอัตลักษณ์ว่า “การส่งมอบหรือการถ่ายทอดชนิดพิเศษนอกพระสูตร ไม่พึ่งพิงอยู่บนคำพูดและตัวอักษร ชี้ตรงไปยังจิตของบุคคล ให้เห็นธรรมชาติเดิมแท้ของตนโดยตรง และบรรลุเป็นพุทธะ ในประเทศจีน คำว่า “เซน” นี้จะถูกเรียกว่า ฌาน และฌานาจารย์หรือคณาจารย์เซนทั้งหลายนั้นแทนที่จะวางตัวเองในฐานะศิษย์หรือสาวกแห่งพระพุทธะ กลับปรารถนาที่จะเป็นเพื่อนของพระองค์ คือมองว่าพระพุทธะเป็นเพื่อนผู้แสวงหาทางรอดด้วยกัน และยังกำหนดความสัมพันธ์ของพวกท่านเหล่านั้นเองที่มีต่อจักรวาลนี้ ให้มีลักษณะเฉกเช่นพระพุทธะและพระเยซูด้วย เหตุนั้นเซนจึงไม่ใช่นิกายแต่จะหมายถึงประสบการณ์ในการเข้าถึงธรรมเท่านั้น ลักษณะนิสัยของเซนในการแสวงหาตัวเอง โดยใช้สมาธิภาวนา เพื่อที่จะประจักษ์ได้ถึงธรรมชาติแท้ของบุคคลนั้น ประกอบกับการไม่สนใจต่อพิธีรีตองต่างๆ นานา รวมทั้งย้ำที่จะควบคุมตัวเองให้ได้ เป็นนายตัวเองให้ได้ และเน้นการใช้ชีวิตอย่างง่ายๆ เช่นนี้ ในที่สุดทำให้ได้รับความเลื่อมใสศรัทธาจากชนชั้นขุนนางและชนชั้นปกครองในประเทศญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก รวมทั้งได้รับความคารวะอย่างลึกซึ้งจากนักศึกษาปรัชญาทุกระดับชั้นในโลกซีกตะวันออก (อ้างอิง ปล่อยวางอย่างเซน : ละเอียด ศิลาน้อย มีนาคม 2536 สนพ.ดอกหญ้า)

เซนเป็นคำที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง หนังสือเกี่ยวกับเซนมีมากมายหลายภาษาหลายเวอร์ชั่น บางตำราว่าเซนเป็นพุทธศาสนานิกายมหายาน บางตำราว่าเซนคือปรัชญาที่ผสมผสานแนวคิดของพุทธศาสนาฝ่ายมหายานกับลัทธิเต๋าของจีน แต่ผู้เชี่ยวชาญเซนระดับแถวหน้าหลายคน เช่น ดร.ดี.ที.ชูชุกิ (ไดเช็ทส์ เททาโร ชูชุกี) ยืนยันว่า เซนไม่ใช่ปรัชญา และก็มีใช่ศาสนา เพราะสาระของมันแตกต่างจากทั้งปรัชญาและศาสนา มันเชื่อมโยงกับทั้งปรัชญาและศาสนาอย่างยิ่งในฐานะทางเลือกทางหนึ่ง แต่ต่างจากศาสนาอื่นๆ เซนไม่มีพระเจ้า ไม่มีวิญญาณ ไม่มีพิธีกรรมทางศาสนา ไมมีการรดน้ำมนต์ ไม่มีปาฏิหาริย์ ไม่มีสวรรค์ อลัน วัตต์ส นักปรัชญาชาวอังกฤษ-อเมริกัน ผู้เชียวชาญเรื่องเซน เขียนในหนังสือ The Way of Zen (1957) ว่า เซนเป็นวิถีทางและมุมมองของชีวิต เซนไม่ใช่ศาสนา ไม่ใช่ปรัชญา ไม่ใช่จิตวิทยาหรือวิทยาศาสตร์ และเช่นเดียวกับพุทธและเต๋า หลักการของเซน คือ การปลดปล่อยตนเป็นอิสระ (self liberation) แม้ว่าเซน เป็นส่วนผสมของศาสนาพุทธกับเต๋า แตกแขนงเป็นอีกสารธารหนึ่ง แต่ก็เป็นสายพันธุ์ใหม่ ที่ต่างจากเดิม อย่างที่บางท่านบอกว่า เซนก็คือสิ่งประดิษฐ์ในสมัยราชวงศ์ถัง


ท่านพุทธทาสภิกขุ บอกว่า เราไม่ควรนับเซนเป็นมหายาน เพราะเซนไม่บูชาสิ่งใด ไม่ว่าจะเป็นอมิตาภะ โพธิสัตว์ ตารา (หรือ พระรัตนตรัย ของฝ่ายมหายาน ไม่มีแดนสุขาวดี ไม่มีทัวร์สวรรค์ ไม่มีปาฏิหาริย์ ไม่มีรางวัลสำหรับชาติหน้า อีกทั้งเซนยัง “ขนสัตว์ข้ามฝั่ง(หมายถึงรู้แจ้ง) ไปได้น้อยกว่าพวกหินยานหรือเถรวาทเสียอีก”

คำวา เซน (zen) มี่รากศัพท์มาจากภาษาสันสกฤตว่า ธยาน (Dhyana) ภาษาบาลี ฌาน Jhana แปลว่า สมาธิ ภาษาจีนออกเสียง ฉาน (Ch’an) ถือกำเนิดที่เมืองจีน แต่สืบรากเหง้ามาจ่ากพุทธศาสนา บุคคลแรกที่เป็นผู้สร้างสะพานเชื่อมพุทธศานากับเซนก็คือพระโพธิธรรม (Bodhidharma) ผู้เดินทางจากอินเดียไปเมืองจีนในราว ค.ศ. 520 ชื่อจีนของพระโพธิธรรมก็คือ ตั๊กม้อ เจ้าสำนักวัดเส้าหลินอันเลื่องลือ หลายร้อยปีต่อมา ลัทธิฉานก็เข้าสู่ญี่ปุ่น ออกเสียงตามสำเนียงญี่ปุ่นว่า เซน แตกออกเป็นสาขาย่อย เช่น รินไซ เชน ,โชโต เซน เป็นต้น แต่ไม่ว่าเป็นสายใด หัวใจของมันก็ไม่ได้แตกต่างกัน เน้นการใช้สมาธิและเข้าถึงธรรมด้วยปัญญา

ท่านพุทธทาสภิกขุบอกว่า เราต้องเข้าใจก่อนว่า เซนไม่มีรูปธรรม เช่นคำว่า พระโพธิสัตว์ไม่ได้หมายถึงคน แต่หมายถึงคุณธรรมอย่างหนึ่ง เช่น พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร หมายถึงความเมตตากรุณา พระโพธิสัตว์มัญชุศรี หมายถึงกฎแห่งเหตุผลที่ว่าสัตว์เป็นพุทธะอยู่แล้ว เป็นต้น

(อ้างอิง มังกรเซน : วินทร์ เลียววาริณ ตุลาคม 2552 ,สำนักพิมพ์ 113)

ปรัชญาข้อคิดที่เกี่ยวกับเซน

เรียนรู้ด้วยใจถ่อม “คนที่รอบรู้ที่สุด จะบอกว่าเขาไม่รู้อะไรเลย”

ปล่อยวางอย่างเซน “ยึดมั่นคราใด เป็นทุกข์ครานั้น”

เซนผู้ไม่หวั่นไหว “ชีวิตที่มีค่าดูได้ที่เนื้อหาสาระ ไม่ใช่ดูที่รูปแบบอันสวยหรู”

ชีวิตประจำวัน นั่นแหละคือเซน “ชีวิตเซนเป็นชีวิตที่ไม่มีอดีต ไม่มีอนาคต มีอยู่แต่วันนี้”

สปิริตแห่งเซน “รู้จักปลง รู้จักยอม รู้จักเย็น”

ดูจิต “หากไม่ดูจิตก็จะไม่เห็นจิต จะไม่รู้จักตัวเอง”

ทำใจ “ ต้องมั่นใจให้ได้ว่า ไม่มีอะไรได้ดังใจเรา”

ปลงให้ตก “ การปลง เป็นการยุติเรื่องนั้นให้หยุดอยู่แต่นั้น”

จัดชีวิตให้เป็นระเบียบ “เคยชินต่อความเป็นระเบียบ แล้วจะประหยัดเวลา ประหยัดพลังงาน ประหยัดหัวสมอง”

ผู้หญิงกับเซน “ในเซนไม่มีหญิง ไม่มีชาย มีแต่ธรรมชาติล้วนๆ “

เซนไม่เลือกปฏิบัติต่อ... “คนมันไม่เหมือนกัน ต้องเข้าใจเขา เข้าใจเราให้ถูกต้อง”

กับคนบางคนพูดด้วยยาก “เป้าหมายของใครก็เป้าหมายของคนนั้น”

ทุ่มชีวิตตามเจตจำนง

เถรตรง บางครั้งต้องดื้อรั้น/เชื่อมั่น หรือตรงแน่ว “คนตรงคือคนที่รอบรู้สถานการณ์ต่างๆ ดี มีความยืดหยุ่นในตัวเองสูง”

กุศโลบาย “เราต้องใช้กุศโลบายในการควบคุมจิตของเราด้วย”

“ชีวิตที่ประสบความสำเร็จ กับชีวิตที่ร่ำรวย มันเป็นคนละเรื่องกัน”

อย่า “อะไรก็ได้” “เรามักเข้าใจผิดว่าการเป็นคน อะไรก็ได้นั้น หมายถึงการเป็นคนง่ายๆ ไม่มีปัญหามาก เป็นคนสมถะ ซึ่งทางศาสนายกย่องนั้น ผิดถนัด! “

สติ ที่พึ่งอันปลอดภัย “เพราะไม่รู้ตัวอยู่เสมอๆ พอความคิดเกิดขึ้น ก็ตั้งตัวไม่ติด พลัดตกลงไปในกระแสแห่งความคิด”

สมาธิ ทางรอดของชีวิต “สมาธิทำให้เกิดความสุขในการปฏิบัติ”

ปัญญา ศาสนาวุธ “ใช้ชีวิตอยู่ในโลก แต่อย่าให้ฝุ่นของโลกเกาะติดได้”

โกอาน ปริศนาธรรม “ปริศนาธรรมของเซนนั้น ว่ากันว่าหากขบแตกแล้วก็จะตรัสรู้หรือบรรลุธรรมได้ในที่สุด”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น