วันอาทิตย์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2553

เศรษฐศาสตร์ชาตินิยม Nationalism Economics (Attitude Review Series)


เศรษฐศาสตร์ชาตินิยม Nationalism Economics
(Attitude Review Series)
ตอนที่ 1 ละทิ้งความสุขจอมปลอม อิสระที่แท้จริงอยู่ที่ใจคุณเท่านั้น


ระยะนี้ผมพบว่าคนรอบข้างหลายคน รวมถึงตัวเองด้วยประสบปัญหาการเงินกันหมดเลย แต่ละคนมีปัญหาแตกต่างกันไป บางคนมีปัญหาเรื่องสภาพคล่องฝืดเคือง บางคนมีปัญหาด้านหนี้สิน ภาระค่าใช้จ่าย บางคนมีปัญหาด้านจัดหาเงินทุนเพื่ออยากจะไปลงทุนในธุรกิจ และมีบางคนมีปัญหาด้านชักหน้าไม่ถึงหลัง บางคนตกงานหางานทำยังไม่ได้ บางคนจวนจะตกงาน บางคนติดหล่มเสียพนันบอล เจ๊งหุ้น โดนชักดาบเรื่องแชร์และค่าสินค้า ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องของการบริหารเงินทั้งสิ้น ในระดับที่เล็กหน่อยก็เรียกว่า การบริหารเงินส่วนบุคคล ในระดับใหญ่ก็เรียกการบริหารการเงินในส่วนของธุรกิจหรือองค์กรไป ผมคิดว่าการบริหารเงินส่วนบุคคลนั้นสำคัญกว่ามาก เพราะถ้าพื้นฐานแล้วคุณบริหารเงินส่วนตัวคุณยังไม่ประสบความสำเร็จแล้ว อย่าหวังว่าจะบริหารธุรกิจแล้วไปรอด มีแนวโน้มว่าจะมีปัญหาอย่างแน่นอน เฉกเช่นเดียวกับพฤติกรรมส่วนตัวคุณนั่นแหละ ดังนั้นจึงเกิดไอเดียอยากจะเขียนบทความแนวบริหารเงินส่วนบุคคลในแบบพื้นๆ ชาวบ้านๆ ขึ้นมา ไม่ใช่เพราะตัวเองเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือมีความรู้อะไรนักหรอก และตัวเองก็มีภาระหนี้สินแบบเดียวกับคนอื่นทั่วไปเช่นเดียวกัน แต่ไฉนจะทำตัวเป็นพวกมะพร้าวห้าวมาขายสวน อันนี้ขอบอกว่าไม่ใช่เป็นแต่เพียงมุมมองหลายๆ อย่างตกผลึกมาจากชีวิต ประสบการณ์การทำงานในแวดวงธนาคารและสถาบันการเงินมากกว่า 17 ปี คงพอจะนำมาแลกเปลี่ยน นำเสนอความคิดให้กับคนอ่านในบล็อกฟังบ้าง คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ได้ไม่มากก็น้อย และหลายเรื่องก็เป็นประสบการณ์ตรงของตนเองนำมาเล่าสู่กันฟังเพื่อเป็นอุทธาหรณ์ให้กับคนอื่น เผื่อจะไม่ได้ก้าวพลาดและเดินตามรอย เพราะเรื่องเงินนั้นเป็นเรื่องใหญ่ ที่โรงเรียนไม่เคยสอน (ขอยืมคำพูดของคุณมณฑาณี ตันติสุข ได้เคยให้ข้อคิดไว้เป็นหนังสือพ็อกเก็ตบุ้คที่เธอเขียนเอง)

ข้อคิดของผมเองที่จะทำให้คุณหลุดพ้นจากหลุมดำของการมีปัญหาทางการเงิน มีดังนี้

1.ต้องไม่ทำตัวเป็นเสมือนมนุษย์เงินเดือนที่แบมือรอรับซองเงินจากนายจ้างทุกสิ้นเดือน ถ้าคุณยังอยู่ในสภาพนั้นอยู่หล่ะก็คุณต้องมีรายได้เสริมทางอื่นด้วย หรือต้องทำตัวให้มีคุณค่า มากพอที่จะต่อรองกับนายจ้างของคุณ ไม่ให้ถูกโขกสับได้โดยง่าย หรือทำกับเราราวกับว่าเป็นถังขยะในออฟฟิซ

2.เลือกทำในสิ่งที่คุณรัก และพอจะสร้างรายได้ให้กับเราได้ในระดับนึง ซึ่งเป็นระดับที่คุณพึงพอใจแล้ว อาจจะมากหรือน้อยก็ไม่เป็นไร แต่เรารู้สึกว่าแค่นี้ก็แฮ็ปปี้แล้ว แค่นี้ก็ยกระดับคุณภาพชีวิตของเราให้ดีขึ้นมากแล้ว

3.มีอาณาจักรส่วนตัวเล็กๆ หรือโลกส่วนตัวที่เราสามารถเนรมิตมันขึ้นมาได้ด้วยตัวคุณเอง เป็นที่ที่คุณจะสามารถปลดปล่อยพลัง แรงบันดาลใจของคุณออกมาได้อย่างไม่ต้องแคร์ใคร หรือมีข้อจำกัดใดๆ มาทำให้คุณรู้สึกอึดอัด เพราะมันเป็นสิ่งที่เติมพลังชีวิตให้คุณสามารถอยู่ สู้อุปสรรคต่างๆ ในโลกอันแสนมืดมนนี้ต่อไปได้

4.ใช้ชีวิตอย่างพอเพียงที่สุด แม้คุณจะมีเงิน มีฐานะทางสังคมใหญ่โตมากมายสักเพียงใด ก็เผื่อแผ่ให้คนอื่นบ้าง เพราะยังมีคนที่ลำบากกว่าคุณอยู่ในโลกนี้อีกมากมาย รอการช่วยเหลือ ใช้ชีวิตให้คุ้มค่า ไม่ผลาญทรัพยากรโดยสิ้นเปลืองแบบสิ้นคิด กินน้อย ใช้น้อย อย่าบริโภคสิ่งฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือยมากมายนัก เผื่อแผ่ให้คนอื่นมากๆ ดูอย่างอภิมหาเศรษฐีเบอร์ 1-2 ของโลกอย่างบิลล์ เกตต์ และวอร์เรน บัฟเฟตต์ สิ ยังบริจาคเงินเกินครึ่งของที่เขามีให้แก่องค์กรการกุศลทั่วโลก เพื่อทำประโยชน์ให้กับสังคมและมนุษยชาติ เพราะตายไปแล้วคุณก็ไม่ได้ใช้เงินส่วนที่เกินความจำเป็นนั้นอยู่ดี เอาไปนอนแช่ไว้ให้คนอื่นผลาญเล่นทำไม

5.ใช้เวลาไปกับการค้นหาความหมายในชีวิต ศึกษาหาคำตอบของชีวิต ไม่ใช่ใช้เวลาไปกับการหาความสุข เสพสุขในเรื่องวัตถุนิยม เพราะความสุขที่แท้จริงอยู่ที่ใจเราเอง ไม่ใช่เรื่องเงิน หรือวัตถุ



พบกับบทความซีรี่ย์ตอนที่ 2 เงินในกระเป๋ากู หายไปไหน (โปรดติดตาม)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น