วันจันทร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2553

แนวรบด้านตะวันออกยังไม่สงบ ศึกนี้ยังไม่จบอย่าเพิ่งนับศพคนตาย


การเปิดตัวศูนย์การค้า Paradise Park ของผู้บริหารบริษัทสยามพิวรรธน์ อย่างยิ่งใหญ่อลังการ ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วยุทธจักร คล้ายๆ เมื่อคราวที่สยามพาราก้อนเปิดใหม่ๆ นั้นสะเทือนไปถึงศูนย์การใหญ่ๆในสิงคโปร์เลยทีเดียว เหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะคู่แข่งของสยามพาราก้อนไม่ใช่เพียงแค่ศูนย์การค้าใหญ่ในย่านราชประสงค์เท่านั้นแต่หมายรวมถึงทั่วอาเซี่ยนทีเดียว เพราะเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วทั้งภูมิภาค จนทำให้ช่วงนั้นบนเกาะสิงคโปร์ต้องจัดแคมเปญ year grand sale เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวของตัวเองไว้ไม่ให้มาเมืองไทยกันเลยทีเดียว ในส่วนของ Paradise Park แม้จะเป็นการปักธงในพื้นที่ด้านตะวันออกของกรุงเทพฯ แต่ก็กินอาณาเขตไปอย่างกว้างขวางมาก มองข้ามซีคอนสแควร์ที่อยู่ใกล้ๆ ไปได้เลย เพราะคนเรา class คนละ segment ในระดับเดียวกันที่อย่ใกล้เคียงก็คือเซ็นทรัลบางนา ที่กำลัง renovate อยู่เช่นกัน และที่กำลังจะมาก็คือ Mega Bangna ที่เตรียมจะเปิดตัวในช่วงปีหน้า ซึ่งทำเลทองย่านนั้นจะมีการแย่งลูกค้าในระดับ high end กันอย่างไม่ต้องสงสัยรวมถึงกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติที่เดินทางมาจากสนามบินสุวรรณภูมิอีกด้วย รายละเอียดของศูนย์การค้าใหม่ Paradise Park มีรายละเอียดดังนี้

บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด และ บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) ทุ่มงบประมาณกว่า 2,000 ล้านบาท เนรมิตสวนสวรรค์ของการช้อปปิ้งยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งกรุงเทพตะวันออก Paradise Park (พาราไดซ์ พาร์ค) ปรับโฉมอาคารทั้งภายในและภายนอกทั้งหมดภายใต้คอนเซ็ปต์ “The Oasis of Srinakarin” เสริมคุณภาพชีวิตของประชากรบนศรีนครินทร์ และรองรับกลุ่มลูกค้าครอบครัวทุกเพศทุกวัย ได้อย่างกว้างขวางที่สุด มองโอกาสเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มสดใส พร้อมเปิดรับพันธมิตรร้านค้าแบรนด์ดังระดับแนวหน้าร่วมเป็นหนึ่งในความสำเร็จศูนย์การค้าแห่งอนาคต โดยให้เช่าพื้นที่แล้วกว่า 70% ของพื้นที่ทั้งหมดภายในเวลา 3 เดือน

นายสุเวทย์ ธีรวชิรกุล ประธานกรรมการ บริษัท เสรีเซ็นเตอร์ แมเนจเมนท์ จำกัด และ นางชฎาทิพ จูตระกูล รองประธานกรรมการ ร่วมกันกล่าวถึงการตัดสินใจซื้อหุ้นของบริษัท เสรีเซ็นเตอร์ แมเนจเมนท์ จำกัด ทั้งหมดมูลค่า 975 ล้านบาทในปี 2551 ในขณะที่สภาพเศรษฐกิจของโลกอยู่ในช่วงขาลงและส่งผลกระทบถึงเศรษฐกิจของประเทศไทยในปีที่ผ่านมา แต่ทั้งสยามพิวรรธน์ และ เอ็ม บี เค มีความพร้อมทั้งด้านเงินทุน ชื่อเสียง และประสบการณ์ รวมทั้งศักยภาพในการทำศูนย์การค้าระดับแนวหน้าที่ได้รับความไว้วางใจจากผู้ประกอบการมายาวนานกว่า 30 ปี จึงเห็นโอกาสทางธุรกิจของเสรีเซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นศูนย์การค้าที่อยู่ในทำเลที่ดีและอยู่ในใจของคนย่านศรีนครินทร์อยู่แล้ว ประกอบกับไม่มีศูนย์การค้าใหม่ขนาดใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่จากสุขุมวิทถึงก่อนชลบุรีมาเป็นเวลานานมากแล้ว จึงตัดสินใจลงทุนซื้อเสรีเซ็นเตอร์ เพื่อสร้างให้เป็นศูนย์การค้าที่ดีที่สุดของโซนกรุงเทพตะวันออก

ในระยะเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมานั้น เอ็ม บี เค ได้มอบหมายให้สยามพิวรรธน์ รับผิดชอบในการวางแนวทางปรับปรุงศูนย์การค้าใหม่ทั้งหมด และทำการให้เช่าพื้นที่ ทีมงานสยามพิวรรธน์จึงได้ทำการศึกษาวางแผนการปรับปรุงและพัฒนาศูนย์การค้าเสรีเซ็นเตอร์ เพื่อตอบรับกับการขยายตัวของลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูงที่มีจำนวนอยู่อาศัยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในเขตพื้นที่โดยรอบ อาทิ เขตประเวศ พระโขนง บางนา สวนหลวง บางกะปิ สะพานสูง ซึ่งมีผู้อยู่อาศัยทั้งสิ้นโดยประมาณ 1.4 ล้านคน โดยมีปัจจัยมาจากการเพิ่มจำนวนของโครงการหมู่บ้านจัดสรรขนาดใหญ่และระดับปานกลางถึงราคาสูง ทั้งโครงการบ้านเดี่ยว คอนโดมิเนียม และ อพาร์ตเม้นท์ กว่า 70 โครงการ ที่อยู่รายล้อมเสรีเซ็นเตอร์ ตลอดจนการเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งส่งผลให้อัตราการขยายตัวในโซนตะวันออกของกรุงเทพมหานครเพิ่มขึ้น อย่างรวดเร็ว จากผลการวิจัยรายได้ต่อครัวเรือนของประชากรในพื้นที่โดยรอบดังกล่าวพบว่า จำนวนครอบครัวที่มีรายได้สูงกว่า 50,000 บาทต่อเดือนมีสูงถึง 43% ของครอบครัวทั้งหมด ในขณะที่ทั่วทั้งกรุงเทพมหานคร มีอัตราเพียง 20% เท่านั้น และมีครอบครัวจำนวนกว่า 28,000 ครอบครัวในเขตพื้นที่โดยรอบเสรีเซ็นเตอร์มีรายได้รวมสูงกว่า 100,000 บาทต่อเดือนต่อครอบครัว

สยามพิวรรธน์ และเอ็ม บี เค มีความเชื่อมั่นว่าการลงทุนถึง 2,000 ล้านบาท บนพื้นที่ 290,000 ตารางเมตร ของบริษัทฯคนไทยด้วยกัน จะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้า อีกทั้งยังก่อให้เกิดภาพพจน์การลงทุนที่ดีของประเทศและกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยของกลุ่มลูกค้า เกิดการจ้างงานจ้างคนเป็นจำนวนมาก อันเป็นการสนองนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลโดยตรง

ถือเป็นการพลิกโฉมของห้างเสรีมาร์เก็ต ให้กลายเป็นสวรรค์ย่านชานเมือง ที่ตอบสนองทุกไลฟ์สไตล์ได้อย่างครบวงจร โดยแบ่งเป็นศูนย์รวมแฟชั่น Fashion Avenue, Sport World, Loft และ Beauty Park ที่รวมแบรนด์ดังจากศูนย์การค้าใจกลางเมืองมากกว่า 100 แบรนด์ที่มี มาเอาใจทุกเพศทุกวัย

มาดูข้อมูลคู่แข่งกันบ้างครับ

ไอเกีย" เปิดเบื้องลึกบิ๊กดีล (8 ปี) จับมือสยามฟิวเจอร์แผ่อาณาจักร

ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4105


สัมภาษณ์


หลังปล่อยให้เหล่าสาวกแฟนพันธุ์แท้ลุ้นเชียร์อยู่นานว่าจะมาเมืองไทยเมื่อไหร่กันแน่ หลังเจอกระแสข่าวเลื่อนแล้วเลื่อนอีก ล่าสุด "ไอเกีย" ค้าปลีกเฟอร์นิเจอร์ยักษ์ใหญ่สวีเดน จรดปากกาเซ็นสัญญากับ"สยามฟิวเจอร์ ดีเวลอปเม้นท์" สำหรับ การพัฒนาโครงการ "เมกะบางนา" โปรเจ็กต์มูลค่า 1 หมื่นล้านบาท ร่วมกันเป็นที่เรียบร้อยท่ามกลางสักขีพยานล้นหลาม เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา

และคงไม่มีใครปฏิเสธความยิ่งใหญ่ของไอเกียสโตร์ จากยอดขาย 2.3 หมื่นล้านยูโร จาก 300 สาขา ใน 35 ประเทศทั่วโลก "ทอม ฮูเซล" กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิคาโน่ จำกัด บริษัทที่ได้รับสิทธิ์ในการขายแฟรนไชส์ "ไอเกีย" ทั่วโลก ได้เปิดใจถึงความพร้อมของไอเกียสำหรับการเปิดตลาดในเมืองไทยทุกๆ รูปแบบ

- รูปแบบการเข้ามาลงทุนของไอเกียกับสยามฟิวเจอร์

เมื่อ 8 ปีก่อนตอนที่เข้ามาเซอร์เวย์ตลาดเมืองไทยได้เจอกับ คุณนพพร (นพพร วิฑูรชาติ ซีอีโอ สยามฟิวเจอร์ ดีเวลอปเม้นท์) ก็เลยได้พูดคุยกัน จนกลายมาเป็นการร่วมทุนโครงการเมกะ

บางนา และตั้งเป็นบริษัทใหม่ภายใต้ชื่อ เอสเอฟ ดีเวลอปเม้นท์ จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 2.5 พันล้านบาท สยามฟิวเจอร์และอิโคโน่ถือหุ้นเท่ากัน ฝ่ายละ 49% และอีก 2% เป็นบริษัท เอส.พี.เอส.โกลเบิ้ลเทรด ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ที่เป็นซัพพลายเออร์ให้กับไอเกียมาแล้วกว่า 20 ปี ซึ่งจะเริ่มก่อสร้างไตรมาส 3 ปีนี้ แล้วเสร็จต้นปี 2554

- รูปแบบการเข้าไปลงทุนของ "ไอเกีย" ในแต่ละประเทศเป็นแบบไหน

ขึ้นอยู่กับ กม.ของแต่ละที่ ถ้าเลือกได้ ชอบที่จะเข้าไปลงทุนเอง และส่วนใหญ่การลงทุนของไอเกียแต่ละประเทศก็เป็นแบบนั้น แต่บางประเทศก็ทำไม่ได้ เช่นเมืองไทย ที่ติดปัญหา กม.คนต่างชาติ จึงกลายมาเป็นการร่วมลงทุนแทน ในแต่ละภูมิภาคจะมี บ.อิโคโน่ ที่เป็นเหมือนบริษัทลูกของไอเกียดูแลแฟรนไชส์ ทำให้รูปแบบการลงทุนแต่ละแห่งต้องพูดคุยกันทั้งแฟรนไชซีและแฟรนไชซอร์ว่าอยากให้ร้านออกมาในแบบไหน

- มองตลาดเมืองไทยอย่างไร ต้องปรับเพื่อเข้ากับพฤติกรรมลูกค้ามากน้อยแค่ไหน

ตลาดค้าปลีกไทยมีขนาดใหญ่มาก เคลื่อนไหวรวดเร็ว มีการให้ความรู้และมี นวัตกรรมเข้ามาขับเคลื่อนตลอดเวลา ขณะที่กลุ่มลูกค้าพร้อมรับสิ่งใหม่ๆ ทำให้การเปิดตลาดของไอเกียไม่มีความจำเป็นต้องมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลูกค้ามากนัก มีเพียงรายละเอียดสินค้าบางกลุ่มที่ต้องทำให้สอดคล้องกับการเลือกซื้อ เช่นขนาดความกว้างของเตียง แต่อื่นๆ คงไม่ต้องเปลี่ยนอะไร

- หลังโครงการ "เมกะบางนา" ภาพของไอเกียเมืองไทยจะเป็นอย่างไร

โครงการที่ไทยเป็นการเปิดแบบเต็ม รูปแบบครบวงจร ด้วยพื้นที่รวม 4 แสน ตร.ม. เป็นทั้งคอมมูนิตี้มอลล์และไอเกียที่เป็นแม็กเน็ตหลัก สำหรับร้านไอเกียเราจะเข้ามาบริหารเองและคาดว่าจะใช้งบฯลงทุน 3-4 พันล้านบาท

ซึ่งถ้าการตอบรับดี คือมีคนเข้ามาเดินจับจ่ายในร้านมากกว่า 5.5 ล้านคนต่อปี นั่นหมายความว่าเตรียมตัวขยายสาขาใหม่ได้เลย ตามแผนระยะยาวใน 10 ปี น่าจะมีไอเกียสโตร์ในกรุงเทพฯ 3 แห่ง

- ในโครงการ 2 และ 3 พันธมิตรร่วม โปรเจ็กต์ จำเป็นต้องชื่อสยามฟิวเจอร์หรือไม่

สยามฟิวเจอร์เป็น 1 ใน 3 ผู้นำตลาดค้าปลีกของเมืองไทย ที่ผ่านมามีหลายๆ ค่ายเข้ามาพูดคุยและอยากทำงานร่วมกัน แต่การที่ไอเกียตัดสินใจร่วมงานกับสยามฟิวเจอร์ เพราะมีการทำงานที่คล่องตัวและรวดเร็ว เป็นทีมที่ทำงานสนุก โอเพ่นมายด์ และที่สำคัญเป็นทีมงาน young as heart เปิดรับสิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา

ที่ผ่านมาการลงทุนของเราจะมองตลาดเป็นสเต็ปบายสเต็ปไป ตอนนี้อยากโฟกัสที่เมกะบางนาก่อน ส่วนโครงการหลังจากนี้ค่อยว่ากันแต่ก็พร้อมเปิดรับทุกโอกาสที่จะเข้ามานะ

- การขยายสาขาแต่ละแห่งวางรูปแบบคอนเซ็ปต์สโตร์เหมือนหรือต่างกันอย่างไร

ไอเกียสโตร์มีรูปแบบเดียวที่เหมือนกันทั่วทั้งโลก แต่ที่ผ่านมาก็เคยลองเปิด คอนเซ็ปต์ไอเกียไลฟ์ ทดลองทำในประเทศแถบยุโรปตะวันออก แต่มันไม่เวิร์ก ไม่ใช่วิถีทาง และไม่ใช่ตัวตนของไอเกีย จึงเลิกไป

- อะไรที่ทำให้ไอเกียประสบความสำเร็จในแต่ละประเทศ

เรายึดหลักการทำงาน 4 อย่างเป็นคอร์ในการทำธุรกิจที่สร้างไอเกียสโตร์ให้เติบโตและแตกต่างจากคู่แข่งด้วยจุดแข็งของราคาที่สมเหตุสมผล ดีไซน์ที่ดี คุณภาพสูง และฟังก์ชั่นการทำงานที่เยี่ยม โดยราคาเฉลี่ยเราสามารถทำได้ถูกกว่าคู่แข่ง 10-30% เพราะใช้ระบบโกลบอลซอร์ซิ่ง 1,380 แห่ง จาก 54 ประเทศ เพื่อวางกระจายครอบคลุม 300 สาขาทั่วโลก

และเป้าหมายเพิ่มอีก 100 สาขา ในอีก 6 ปีข้างหน้าเป็นตัวสะท้อนการยอมรับ "ไอเกียสโตร์" ได้เป็นอย่างดี
โครงการเมกะบางนา หัวเลี้ยวสำคัญ..สยามฟิวเจอร์

โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันที่ 27 พฤษภาคม 2552 00:59


ถ้าให้ประเมินคร่าวๆ หลังโครงการเมกะ บางนาเปิดในไตรมาส 1 ปี 2554 จะทำให้สยามฟิวเจอร์มีผลประกอบการ “ทะยาน” ขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง'


นับตั้งแต่รายได้รวมและกำไรสุทธิของ บมจ.สยามฟิวเจอร์ ดีเวลอปเมนท์ เติบโตก้าวกระโดดเมื่อปี 2549 จากรายได้รวม 475 ล้านบาท เมื่อปี 2548 กระโดดเป็น 1,674 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิมีการเติบโตขึ้นเกือบ 3 เท่าตัวภายในปีเดียว หลังจากนั้นผ่านมาแล้วกว่า 2 ปีที่สยามฟิวเจอร์แทบจะไม่มีอัตราการเติบโต ขณะที่กำไรสุทธิก็ถดถอยมาอย่างต่อเนื่อง

มาตอกย้ำอีกครั้งเมื่อผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2552 บริษัทมีกำไรสุทธิเพียง 61.83 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนถึง 52% บ่งชี้ถึงอาการ "ฟอร์มตก" และยังหาจุดกลับตัวไม่เจอ สอดคล้องกับราคาหุ้น SF ที่ปกติเคยเคลื่อนไหวในกรอบ 10-12 บาท ตกลงมาเหลือเพียง 3.60 บาท

จนล่าสุด นพพร วิฑูรชาติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สยามฟิวเจอร์ ดีเวลอปเมนท์ ได้สร้างจุดหักเหครั้งใหญ่ให้กับบริษัทด้วยการประกาศเพิ่มทุนจดทะเบียนเสนอขายผู้ถือหุ้นเดิมมากถึง "หนึ่งเท่าตัว" จำนวน 513.14 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 1.20 บาท เพื่อระดมทุนก้อนโต 615 ล้านบาท

พร้อมกันนี้ได้เปิดตัวจัดตั้งบริษัท เอสเอฟ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด ร่วมกับ บริษัท อิคาโน่ จำกัด (ในเครือไอเกีย) และบริษัท เอส.พี.เอส. โกลเบิ้ลเทรด จำกัด ทุนจดทะเบียน 2,500 ล้านบาท โดยสยามฟิวเจอร์ ถือหุ้นในสัดส่วน 49% เพื่อดำเนินการสร้างศูนย์การค้า "เมกะ บางนา" ศูนย์การค้าคอนเซปต์ใหม่มูลค่าโครงการกว่า 10,000 ล้านบาท รวมทั้งศูนย์เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน "ไอเกียสโตร์" แห่งแรก

และเป็นศูนย์เฟอร์นิเจอร์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ตั้งอยู่บนถนนบางนา-ตราด กม.9 ตัดถนนวงแหวนกาญจนาภิเษก คาดว่าจะสามารถดึงคนเข้าศูนย์ได้กว่า 40 ล้านคนต่อปี

ภายในโครงการเมกะ บางนา จะประกอบไปด้วย ไอเกียสโตร์ พื้นที่กว่า 40,000 ตร.ม., ห้างสรรพสินค้า, แฟชั่น, ร้านอาหาร, ศูนย์รวมอุปกรณ์ไอที และศูนย์บันเทิงครบวงจร รวมทั้งที่จอดรถขนาดใหญ่กว่า 8,000 คัน เน้นเจาะกลุ่มลูกค้าที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป

ปัจจุบัน IKEA มีสโตร์ทั้งหมด 285 แห่งทั่วโลก และมีลูกค้ากว่า 600 ล้านคน มียอดขายรวมในปีที่ผ่านมาเป็นจำนวนเงินกว่า 22,000 ล้านยูโร (กว่า 1 ล้านล้านบาท) ฐานสำคัญของไอเกียอยู่ในกลุ่มประเทศนอร์ดิก อันได้แก่ สวีเดน ฟินแลนด์ นอร์เวย์ และเดนมาร์ก ก้าวนี้ของสยามฟิวเจอร์จึงน่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง

นพพร บอกว่า โครงการเมกะ บางนาจะมาต่อ “ฝัน” ของสยามฟิวเจอร์ที่ต้องการมีจำนวนพื้นที่ให้เช่ารวม 500,000 ตร.ม.เป็นความจริง จากปัจจุบันบริษัทมีพื้นที่เช่ารวม 237,308 ตร.ม. และภายในปี 2554 จำนวนพื้นที่เช่าของบริษัทจะเพิ่มขึ้นอีก 260,000 ตร.ม. และจะทำให้บริษัทมีพื้นที่เช่าทั้งหมดเป็นไปตามเป้าหมายคือ 500,000 ตร.ม. หรือคิดเป็นอัตราการเติบโต 100% ซึ่งจะส่งผลให้รายได้รวมปรับตัวเพิ่มขึ้นตาม (เติบโตก้าวกระโดด) เช่นกัน

"ถ้าให้ประเมินคร่าวๆ ผมมองว่าหลังโครงการนี้เปิดในไตรมาส 1 ปี 2554 จะทำให้บริษัทมีผลประกอบการ “ทะยาน” ขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง โดยเฉพาะในแง่อัตรากำไรขั้นต้นมีโอกาสวิ่งขึ้นไปแตะ 40% ไม่ใช่เรื่องยาก"

เขา อธิบายว่า ที่ดินโครงการนี้เราซื้อไม่ได้เช่าเหมือนทุกโครงการ ฉะนั้นจะสามารถประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่ายได้จำนวนมาก แม้จะต้องมีภาระดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มขึ้น คาดว่าหลังโครงการนี้เปิดดำเนินการสยามฟิวเจอร์อาจมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท เติบโตก้าวกระโดดจากปี 2551 ที่มีรายได้รวม 1,697 ล้านบาท นี่ยังไม่นับรวมโปรเจคใหม่ๆ ที่อาจผุดขึ้นภายใน 1-2 ปีข้างหน้านี้ด้วย..ฟังแค่นี้ก็คงเห็นภาพชัดเจนแล้วนะ

"แม้ว่าจะช้ากว่าเป้าหมายเดิมที่คาดว่าเราจะทำสำเร็จภายในปี 2553 แต่ก็สามารถทำได้ตามที่ปากพูดไว้ ผมไม่ได้ โม้ให้นักลงทุนตื่นเต้นไปวันๆ" นพพร พูดจริงจัง

สำหรับอนาคตของสยามฟิวเจอร์ ภายในอีก 10 ปีข้างหน้านับจากนี้ ผู้ก่อตั้งบริษัท เล่าแผนการคร่าวๆ ให้ฟังว่า เราจะเปิดโครงการลักษณะเดียวกับเมกะ บางนา อีกประมาณ 3 ศูนย์ เพราะเชื่อว่าโครงการนี้จะประสบความสำเร็จแน่นอน โดยปัจจุบันบริษัทมีศูนย์การค้าแบบเปิด 29 แห่ง อาทิ เอสพลานาด (รัชดาภิเษก), เจ อเวนิว ทองหล่อ ซอย 15, เมเจอร์ อเวนิว รัชโยธิน, ดิ อเวนิว พัทยา, ดิ อเวนิว แจ้งวัฒนะ, สยามฟิวเจอร์ ทาวน์ เซ็นเตอร์ สุขุมวิท 71 และสยามฟิวเจอร์ ทาวน์ เซ็นเตอร์ เกษตร-นวมินทร์ เป็นต้น ซึ่งทุกแห่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

ส่วนเรื่องเงินลงทุน นพพร ระบุว่า ไม่ต้องเป็นห่วงเพราะการเพิ่มทุนครั้งนี้ บมจ.เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป (ถือหุ้น 24.10%) และพันธมิตรกลุ่มวิฑูรชาติ พร้อมจะเพิ่มทุนแน่นอน ถ้านักลงทุนรายย่อยคนใดวิตกกังวล ส่วนตัวอยากให้สลัดความรู้สึกนั้นทิ้งไป มันไม่มีอะไรน่าเป็นห่วงสักนิด

คิดว่าข่าวโครงการนี้จะช่วยกระตุ้นราคาหุ้น SF หรือไม่ นพพร ตอบว่า คงมีส่วนช่วยบ้าง บริษัทจะสวยขึ้นในสายตานักลงทุน และจากนี้ไปนักลงทุนจะรักเรามากขึ้น ใครที่ไม่เคยมองหุ้น SF จะเริ่มหันมามอง เพราะตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นไปบริษัทวางเป้าหมายว่าจะต้องมีอัตรากำไรขั้นต้นสูงกว่า 30% ซึ่งในปี 2551 ทำได้แล้ว โดยขยับจาก 25.04% ในปี 2550 เป็น 33.66% และต้องรักษาอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) ไม่ให้เกิน 1 เท่า ปัจจุบันอยู่ระดับ 1.2 เท่า

ส่วนในปี 2553 สยามฟิวเจอร์มีแผนจะปรับโครงสร้างหนี้ จำนวน 940 ล้านบาท ซึ่งเป็นในส่วนของหุ้นกู้ 1,100 ล้านบาท จากหนี้สินประมาณ 2,800 ล้านบาท โดยอาจเลือกใช้วิธีการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ก่อนเดือนสิงหาคม 2553 ก่อนที่หุ้นกู้ชุดนี้จะครบกำหนดชำระ

คิดว่าผลประกอบการไตรมาส 2 ปีนี้จะเป็นอย่างไร เจ้าพ่อศูนย์การค้าแบบเปิด บอกว่า คงออกมา "อ่อนแรง" ลงเมื่อเทียบกับไตรมาสแรก เนื่องจากบริษัทได้รับรู้ค่าเซ้งโครงการย่านซอยเสนาไปแล้วเมื่อไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ส่งผลให้เหลือการรับรู้รายได้ค่าเซ้งจากลูกค้าไม่มากนัก

"แต่ผมเชื่อมั่นว่าทั้งปี 2552 รายได้รวมจะเติบโตได้ประมาณ 10% เพราะช่วงเดือนมิถุนายนนี้ เตรียมเปิดโครงการ นวมินทร์ ซิตี้ อเวนิว เฟส 1 ถนนเกษตร-นวมินทร์ หน้าหมู่บ้านรอยัล เรสซิเดนท์ พื้นที่ 15,000 ตารางเมตร มูลค่าโครงการ 800 ล้านบาท จะส่งผลให้บริษัทมีพื้นที่เช่าเพิ่มขึ้น และรายได้จากค่าเช่าพื้นที่เติบโตประมาณ 20% ขณะเดียวกันคาดว่าธุรกิจค้าปลีกในปี 2552 อาจเติบโตประมาณ 10%"

เขา บอกว่า ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดรายได้และกำไรสุทธิในปี 2553 จะยังออกมาดี เพราะปีหน้ามีแผนจะเปิดโครงการ นวมินทร์ ซิตี้ อเวนิว เฟส 2 พื้นที่ 50,000 ตารางเมตร มูลค่าโครงการประมาณ 1,500 ล้านบาท ส่งผลให้มีพื้นที่เช่าเพิ่มขึ้นเป็น 350,000 ตารางเมตร แต่ถ้าได้ทำเลดีอาจเปิดโครงการเพิ่มเติม ปัจจุบันสยามฟิวเจอร์มีอัตราการเช่าพื้นที่ประมาณ 90% ของพื้นที่ให้เช่าทั้งหมด

ซีอีโอ สยามฟิวเจอร์ กล่าวทิ้งท้ายว่า แม้บริษัทนี้จะไม่ใช่ธุรกิจใหญ่โต แต่เราสร้างตัวเองจากปี 2537 ที่มีทุนจดทะเบียนเพียง 10 ล้านบาท ขึ้นมาเป็น 513 ล้านบาท เพียงเท่านี้ส่วนตัวก็ภาคภูมิใจสุดๆ แล้ว

"ไอเกีย" คือแบรนด์ศูนย์การค้าปลีกเฟอร์นิเจอร์ยักษ์ใหญ่จากสวีเดนซึ่งมีสาขาโยงใยไปทั่วโลก ดังนี้
แหล่งข้อมูล: http://en.wikipedia.org/wiki/IKEA
ที่น่าสังเกตคือ ที่ไหนมี IKEA ที่นั่นจะมี IKANO ซึ่ง IKANO Group เป็นแฟรนไชส์ของ IKEA ที่บริหารงานโดยคนในตระกูล Kampard ซึ่งสืบเชื้อสายมาจาก Ingvar Kampard ผู้ก่อตั้ง

IKANO Group ่ดำเนินธุรกิจ IKEA Store ในมาเลเซีย สิงคโปร์ และล่าสุดคือ ไทย นอกจากนี้ IKANO Group ยังดำเนินธุรกิจหลากหลายประเภทในยุโรป อเมริกาเหนือและเอเชีย เช่น ธุรกิจการเงิน อสังหาริมทรัพย์ บริหารสินทรัพย์ ประกันภัย และธุรกิจค้าปลีก ในภูมิภาคเราประเทศมาเลเซียเป็นประเทศแรกที่มีแบรนด์ศูนย์การค้าปลีกเฟอร์นิเจอร์นี้ที่ชานเมือง KL (Damansara) และกำลังจะมีสาขาใหม่ที่เขตเศรษฐกิจใหมในรัฐยะโฮร์ (Johor) ทางตอนใต้ของประเทศติดกับสิงคโปร์เพื่อดึงดูดลูกค้าใน 2 ประเทศ

Did you know?
IKEA ในสวีเดน นอร์เวย์ เดนมาร์ก ฟินแลนด์ และอังกฤษ มีบริการ “BOKLOK” หรือ House Pack สำหรับคนที่ซื้อบ้านหลังแรก ด้วยคอนเซ็ปต์เหมือนกับเฟอร์นิเจอร์ที่นำไปประกอบชิ้นส่วนต่างๆ ของบ้านเอง

เราคงได้เห็นพฤติกรรมคนกรุงย่านนั้นเปลี่ยนไป รวมถึงศูนย์การค้าเล็กๆ เท่านั้น ต้องปรับตัวหรือตายไป ยังครับนี่เพียงแค่เริ่มต้นของสงครามเท่านั้น คงต้องดูกันต่อไปยาวๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น