วันอาทิตย์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2553

Ideality -Do its myself อัตลักษณ์ทางความคิด ทำมันด้วยตัวฉันเอง



เรื่องเล่าผลงานที่มาจากไอเดียของผมเอง
เรื่องสนุกๆ เรื่องแรกที่ผมอยากจะเล่าก่อนก็คือ ผมเป็นคนแรกที่คิดค้นวิธีการทำโพลล์และจัดอันดับความนิยมในห้องเรียน ตั้งแต่สมัยที่ยังเรียนอยู่ในระดับอนุปริญญา หรือ ปวส.ตอนช่วงที่เรียนเทอมสุดท้ายแล้ว ใกล้เวลาที่เพื่อนในห้องจะต้องเรียนจบและแยกย้ายกันไปเรียนต่อหรือทำงาน ช่วงนั้นเป็นปี 2531 ผมตั้งคำถามในใจว่า เอ๊ะเรายังรู้จักเพื่อนไม่หมดทุกคนในห้องเลยทั้งๆ ที่ในห้องเราก็มีกันอยู่แค่ 30 กว่าคนเอง แต่เราคบหรือสนิทกันอยู่ในกลุ่มเพียงแค่ไม่เกิน 5-6 คนเท่านั้นเอง จะทำอย่างไรนะเราถึงจะรู้จักเพื่อนให้ครบทุกคนและเป็นการจัดอันดับความนิยมในตัวเพื่อนโดยแบ่งเป็นด้านต่างๆ เช่น เพื่อนที่แต่งกายดีสุดฝ่ายชายและฝ่ายหญิง เพื่อนที่มีบุคลิกภาพดีที่สุดฝ่ายชายและหญิง เพื่อนที่มีมนุษย์สัมพันธ์ดีทีสุดฝ่ายชายและฝ่ายหญิง เป็นต้น จึงเกิดไอเดียจัดทำโปรเจ็คท์ที่เรียกว่า รางวัลแด่คนช่างฝัน ตั้งรางวัลขึ้นมาประมาณ 10 รางวัลดังกล่าว และแจกรางวัลกันเอง โดยใช้แบบฟอร์มสำรวจในหัวข้อต่างๆ 10 ด้านด้วยกัน และให้ทุกคนในห้องมีส่วนในการโหวต โดยลงชื่อได้ชื่อเดียวในแต่ละหัวข้อ จากนั้นผมก็ระดมเพื่อนๆ มานั่งสรุปวิเคราะห์ผล ใครได้รับคะแนนโหวตในด้านใดมากที่สุดคือผู้ได้รับรางวัลในด้านนั้นไป ปรากฏว่าเป็นที่ฮือฮาและสนุกสนานมากในหมู่เพื่อนห้องเรา สุดท้ายทุกคนก็ได้รับความสุข ความประทับใจ สนุกสนานกันไปตามวัตถุประสงค์ที่ผมตั้งหวังไว้ และแน่นอนที่สุด ตัวผมเองก็ยังได้รับการชื่นชมจากเพื่อนในห้องรวมถึงได้รับรางวัล ความคิดสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมไปด้วย ในฐานะผู้คิดริเริ่มรางวัลดังกล่าว เรื่องเล่าเรื่องที่ 2 เป็นเรื่องการจัดทำแม็กกาซีนในกลุ่มเพื่อน คล้ายๆ เป็นสื่อกลางระหว่างเพื่อนในกลุ่ม ซึ่งแก็งค์เราชื่อว่า แก็งค์คาราบาว ผมก็อีกแหละเป็นคนริเริ่มทำแม็กกาซีนที่ชื่อว่า trio magazine แปลว่า 3 เพราะเราสนิทกันอยู่ 3 คน คือ ชาติ เล็ก แดง (คือตัวผมเอง) เนื่อหาก็ไม่มีอะไรคือ กัด แทะโลม ด่า ซุบซิบนินทา เพื่อน ครู อาจารย์สมัยเรียน และเอาพฤติกรรมของเพื่อนที่เราสนิทมาอำ มาหยอกล้อ เล่นกัน หรือเอาคำพูดที่เป็นคำพูดติดปากของแต่ละคนมาอำ มาแซวกันเล่น ปรากฏว่าทำอยู่ได้ 2-3 ฉบับ สมาชิก 1 ใน 3 ของกลุ่มก็มาถึงแก่กรรมลง ทำให้ผมต้องปรับรูปแบบและเปลี่ยนชื่อมาเป็นหยิกแกมหยอก และขยายฐานวัตถุดิบหรือเพื่อนที่จะนำมาแซวให้กว้างขึ้น จึงเอาเพื่อนที่ทำงานมาแซวด้วย รวมถึงเพื่อนนอกกลุ่มสนิท ซึ่งก็ดำเนินมาได้ 3-4 ฉบับก็ต้องเลิกราลงไป เพราะทำอยู่คนเดียว ไม่มีเวลาและคนช่วยเหลือ จึงเป็นที่มาของชื่อเว็บบล็อกอันนี้ที่ยังยืมชื่อแม็กกาซีนหยิกแกมหยอก (แม็กกาซีนในฝัน) ของผมเองมาใช้เป็นชื่อเว็บบล็อกอันนี้ด้วย เรื่องเล่าเรื่องที่ 3 เป็นเรื่องของสินค้าตัวแรกที่ผมกับเพื่อนที่ชื่อว่าสุชาติ ร่วมกันคิดค้น ผลิตขึ้นมาขาย เป็นครั้งแรกของโลก ถูกต้องแล้วครับคุณอ่านไม่ผิดหรอกครับ เพราะมันเป็นผลิตผลที่เราคิดว่าเราคงเป็นคนคิดและผลิตขึ้นมาครั้งแรกในโลก จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีใครลอกเลียนแบบได้ นั่นคือกรอบรูปโมเดลตู้ถ่ายสติกเกอร์ ขยายความนะครับ ก็คือกรอบรูปที่มีรูปร่างเหมือนตู้ถ่ายสติกเกอร์ที่ฮิตมากเมื่อซัก 10 ปีที่แล้วในบ้านเรานั่นเอง ความเป็นมาก็เกิดขึ้นมาจาก ในช่วงปี 2540 เป็นช่วงเวลาภายหลังจากเพื่อนสนิทของเราคนนึงที่ชื่อว่าเล็กเสียชีวิตไป ผมกับสุชาติเรามองหาธุรกิจทำกันเป็น sideline ตอนนั้นผมยังทำงานประจำอยู่ ส่วนสุชาติก็เพิ่งลาออกจากบริษัทลิสซิ่งแห่งหนึ่งมา ออกมาค้าขายเล็กๆ น้อยอยู่ และสุชาติมีไอเดียอยากจะทำกรอบรูป โดยสุชาติเพิ่งไปฝึกวิชาการทำเรซิ่นมา จึงอยากทดลองแกะแบบ (แถวบ้านเรียกว่าก็อปปี้) งานสวยๆ ดู จึงไปลองซื้อกรอบรูปมาหลายแบบมากเพื่อจะก็อปงานออกขาย ตั้งแต่กระจกเงาขนาดใหญ่ที่มีรูปปลาโลมาติดอยู่ งานโมเดลฟิกเกอร์หลายอย่างที่มาจากภาพยนตร์ เช่น คนเหล็ก ตัวละครจากสตาร์วอร์ หรือไดโนเสาร์ แต่ก็ไม่เวิร์ค มาเจอกรอบรูปสี่เหลี่ยมอยู่อันตรงด้านข้างมีดอกกุหลายขนาบติดอยู่ จึงปิ๊งไอเดียว่าจะก็อป กรอบรูปนี้ไปสอยมาเลยจากร้าน country living ชั้น 3 ศูนย์การค้าเวิลด์เทรด (สมัยนั้นยังไม่ได้ renovate เป็นเซ็นทรัลเวิลด์ในปัจจุบัน) ผลงานนี้เป็นงานชิ้นแรกที่ผมเห็นว่าสุชาติเอาจริงและทำออกมาได้เนียน และประณีตเหมือนต้นฉบับเด๊ะ จึงเชื่อใจในเครดิตความสามารถของสุชาตินับแต่นั้นมา และเราก็เอาผลงานชิ้นนี้แหละไปหาเพื่อนอีกคนที่ชื่อว่าตัน เพื่อชวนมาร่วมลงทุน แต่ปรากฎว่าตันไม่ชอบและไม่เห็นด้วยที่จะก็อปงานของคนอื่นขาย และตั้งโจทย์ให้พวกเราลองคิดผลิตกรอบรูปที่เป็นไอเดียต้นฉบับจากมันสมองของพวกเรากันเอง นี่แหละคือโจทย์หินที่ผมกับสุชาติไปนอนคิดกันหลายคืน ก็คิดไม่ออก มีอยู่วันนึงผมกับสุชาติได้มีโอกาสไปเดินเล่นกันที่ศูนย์การค้ามาบุญครอง สมัยนั้นต้องถือว่าเป็นห้างที่ทันสมัยสุดในกรุงเทพฯแล้ว แฟชั่นถ่ายรูปสติกเกอร์กำลังระบาดและอยู่ในช่วงบูมท้ายๆ ของมันแล้ว เพราะเข้ามาฮิตได้ 4-5 ปีแล้ว ช่วงที่ผมพูดถึงนั้นคือปี 2540 ผมพบว่าตู้ถ่ายสติกเกอร์มีอยู่ทั่วไปทุกหนแห่ง พบเห็นมากกว่าตู้เย็นหรือตู้โทรศัพท์เสียอีก ทั้งห้างมีมากกว่า 10 ตัว ยังไม่นับย่านสยามสแควร์อีกเพียบเลย ผมเดินผ่านหน้าตู้สติกเกอร์ไปแล้วก็แอบพูดขึ้นลอยๆ ว่าโมเดลตู้สติกเกอร์มันช่างมีหลายหน้าตา หลายรูปร่าง คนคิดก็ช่างสร้างสรรค์จริงๆ ใครเป็นคนคิดนะ เก่งจังเลย เอ๊ะถ้ากรอบรูปเรามีหน้าตาคล้ายรูปร่างตู้สติกเกอร์ก็คงเก๋นะ นั่นไง โป๊ะเช๊ะเลยผมเกิดปิ๊งไอเดียนั้นโดยบัดดล ผมหันมาบอกเพื่อนสุชาติว่า เฮ้ยชาติมึงก็ปั้นโมเดลเก่ง มึงลองปั้นแบบโมเดลตู้สติกเกอร์หน่อยสิวะ ทำให้เหมือนเลยนะ และตรงหน้าจอก็คือกรอบรูปที่เอาไว้ใส่รูปไงขนาดจิ๋ว ๆ เก๋เป็นบ้าเลยนะ ถ้าทำได้ ภายหลังจากวันนั้นที่คิดไอเดียได้ผ่านไปเกือบ 4 เดือน โมเดลกรอบรูปพิมพ์แรกก็เสร็จ และเป็นที่มาของธุรกิจกรอบรูปโมเดลตู้ถ่ายสติกเกอร์ของผมกับสุชาติ เราทำไปวางขายไป พัฒนาสินค้าไป เป็นเวลาเกือบ 1 ปีครึ่ง ก่อนจะเลิกโปรเจ็คท์นี้ไป ร้านแรกที่เราวางขายคือ gumption ที่จตุจักรโครงการ 3 ร้านต่อมาคือร้านอะไรผมจำไม่ได้แล้วแต่อยู่ที่ สยามเซ็นเตอร์พ้อยท์ และร้านต่อมาคือ country living ที่เวิลด์เทรด และอีกหลายร้านต่อๆ มา กระจายทั่วกรุงเทพฯกว่า 10 สาขา ทำยอดขายไปได้เกือบ 600 ชิ้น (ซึ่งรวมหลายแบบหลายขนาดมาก) ยังเก็บเป็นสถิติแห่งความทรงจำและความภูมิใจมาจนถึงทุกวันนี้ เรื่องเล่าเรื่องที่ 4 สินค้าที่เป็นความภูมิใจของผมเอง เพราะทำคนเดียวไม่ได้ทำกับสุชาติแล้ว คือเป็นศิลปินเดี่ยวเต็มตัว นั่นคือ beanbag โปรเจ็คท์นี้ผมทำช่วงปี 2543 ซึ่งเป็นปีที่ beanbag เพิ่งจะเข้ามาในบ้านเรา ตลาดของตกแต่งบ้านมีเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหม่ที่เรียกว่า beanbag ตัวแรกๆ ที่ผมเห็นนั้นอยู่ที่ร้าน habitat และ anyroom ที่สยามดิสคัฟเวอรี่ ชิ้นหนึ่งราคาขายหลายพันบาทมาก เกินความสามารถที่เราจะซื้อหามาครอบครองได้ แต่กระนั้นผมเองชอบมันมาก และอยากจะได้มาไว้ใช้ จึงเกิดไอเดียคิดจะทำขึ้นมาใช้เองและขายด้วย ผมจึงศึกษาหาข้อมูลเอาเองจากเว็บไซต์ในต่างประเทศ และสอบถามหาแหล่งซื้อวัตถุดิบคือเม็ดโฟมที่ใช้บรรจุข้างใน รวมถึงหาแหล่งซื้อหนังเทียมที่จะนำมาผลิตตัว beanbag เมื่อได้แหล่งวัตถุดิบครบผมก็เริ่มลงมือผลิต ตามรูปแบบดีไซน์ของผมเอง โดยดูจากเว็บไซต์ในต่างประเทศ แล้วทำออกขายเป็นงานอดิเรก ผมตั้งชื่อแบรนด์ให้มันด้วยว่า modifier มาจากคำว่า modern ผสมกับ interior และอีกนัยนึงก็คือ แผลงมาจากคำว่า modify ที่แปลว่าดัดแปลง แม้ว่าจะขายได้ยอดไม่เยอะเท่ากรอบรูป แต่ก็เป็นความภูมิใจครั้งแรกที่ผมได้ทำมันเองกับมือและถือเป็นงานชิ้นแรกที่เป็นผลผลิตเดี่ยว ไม่ได้ร่วมหุ้นหรือร่วมลงสมองกับเพื่อนแต่อย่างใด เรื่องเล่าเรื่องที่ 5 เป็นไอเดียผลิตผ้าม่านหน้าต่าง จริงๆ ไอเดียนี้ผมได้มาจากเพื่อนที่ชื่อว่าตัน วันหนึ่งผมไปกับเขาไปเดินเล่นสนามหลวง 2 (ตลิ่งชัน) เขาบ่นๆ ว่าอยากได้ผ้าม่านผืนใหม่ไปติดที่ห้อง ก็ชวนกันไปเลือกซื้อผ้าม่านกัน ผ้าม่านที่เพื่อนผมซื้อไม่ได้สวยงามหรือเก๋ไก๋อะไรมาก แต่ก็แพงเอาการอยู่ ผมจึงเกิดไอเดียอยากผลิตขึ้นใช้เองและก็เผื่อขายได้ จึงเป็นที่มาของธุรกิจผลิตผ้าม่านหน้าต่าง ผมไปหาซื้อผ้าซาตินที่สำเพ็ง ซึ่งก็มีราคาแพง เพื่อนสุชาติเคยด่าผมว่าทำธุรกิจเป็นหรือเปล่าทำไมถึงไปซื้อสำเพ็งในราคาปลีกเพื่อมาผลิตขาย มันจะได้กำไรอะไรกัน ผมก็ยอมรับว่าธุรกิจนี้ผมถือว่าไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็ไม่ถือว่าเจ๊งหรือขาดทุน เป็นแค่อารมณ์ชั่ววูบที่เห็นแล้วอยากทำแค่นั้นเอง แต่ก็ยังไม่วายมีตั้งชื่อแบรนด์ให้มันอย่างเก๋ไก๋ว่า Hip Town ที่แปลว่าเมืองแห่งความทันสมัยนั่นเอง แบรนด์ของผมทุกตัวจะชื่อเก๋ ๆ แบบนี้แหละ และไม่มีทางจะซ้ำแบบใคร เพราะผมชอบเป็นตัวเอง ไม่อยากเหมือนใครอยู่แล้ว เรื่องเล่าสุดท้ายจะเป็นธุรกิจที่ผมเองคลุกคลีมาตั้งแต่เด็ก นั่นคือธุรกิจเสื้อผ้า เพราะที่บ้านเคยทำธุรกิจเสื้อผ้า พ่อกับแม่เคยรับจ้างเย็บเสื้อโหลตามออเดอร์ ส่วนพี่ชายคนรองเป็นเซลล์ขายผ้า และพี่สาวคนโตเคยอยู่โรงงานการ์เม้นท์ และร่วมกันทำธุรกิจเสื้อยืด ปักเสื้อ และยังมีญาติฝ่ายแม่ทำธุรกิจการ์เม้นท์อีกด้วย ผมจึงคลุกคลีได้เห็นมันมาตั้งแต่เล็ก ในทุกขั้นตอนการผลิตเสื้อยืด เสื้อโปโลและเสื้อเชิ้ต อะไรต่างๆ วันนึงก็เลยอยากทำธูรกิจเสื้อผ้าเป็นแบรนด์ของตัวเองตามคำท้าของเพื่อนที่ชื่อว่าสุชาติ และจริงๆ มันก็เป็นธุรกิจที่อยากทำอยู่แล้วในใจมาตั้งแต่เด็ก ผมเริ่มด้วยการตามเพื่อนสุชาติไปซื้อผ้าที่บางปู ตอนนั้นสุชาติเข้าสู่ธุรกิจทำผ้าปูที่นอนแล้ว เราจึงแยกกันทำธุรกิจ วันนึงพบว่ามีผ้าที่สามารถนำมาทำกางเกงได้ จึงซื้อมาลองผลิตซักล็อตนึง ก็ปรากฏว่าขายได้ ผมฝากเพื่อนที่ชื่อตันไปขาย และต่อมาก็เป็นเพื่อนที่รับช่วงสินค้าของผมไปขายต่อ จากนั้นผมก็มาทำเสื้อโปโลต่อจากกางเกงที่เวิร์คมาก ธุรกิจนี้จริงๆ กำลังไปได้สวย แต่ผมมาพบอุปสรรคอยู่ 2-3 เรื่อง จึงต้องเลิกราไป นั่นคือ สินค้าขายได้แต่ไม่ได้เงิน เนื่องจากเพื่อนที่รับสินค้าไปขายต่อไม่นำเงินมาเคลียร์ให้ ทำให้ผมขาดเงินทุนหมุนเวียน ที่จะไปซื้อผ้ามาผลิตต่อ บวกกับช่วงนั้นผมขาดเงินทุนดำเนินงานต่อ (ขาดทุนจากการเล่นหุ้นไปมาก) และอีกประการก็คือปัญหาเรื่องหาคนเย็บที่ชำนาญมีฝีมือ ราคาไม่สูงนัก ซึ่งมาพบว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก และเราติดกับ แก้ปัญหาไม่ได้ จึงหยุดพักธุรกิจนี้ไปก่อน ฝันว่าไว้วันข้างหน้าถ้ามีความพร้อมมากกว่านี้ อยากกลับไปสานงานธุรกิจนี้ต่อ ธุรกิจนี้ผมก็มีแบรนด์เป็นส่วนตัวเช่นกันชื่อแบรนด์คือ factis มาจากคำว่า fact และคำว่า is (เป็น....อยู่.....คือ) เลย ง่ายๆ มาประกบกัน อีกนัยนึงก็คือ fact ยังมาจากคำว่า factory ที่แปลว่าโรงงาน fact แปลว่าข้อเท็จจริง ซึ่งคล้ายกับคำว่า true และ real ซึ่งผมชอบแบรนด์ของ truevision และทีมฟุตบอลที่ชื่อว่า realmadrid ผมถือว่าเป็นองค์กรของคนจริง หรือมืออาชีพที่แท้จริง เป็นตัวจริงในวงการนั้นๆ จึงนำคำที่ใกล้เคียงเหล่านั้นมาตั้งเป็นชื่อแบรนด์ผมเองว่า factis ส่วนคอนเซ็ปท์หรือรูปแบบการดีไซน์ของเสื้อผ้าและกางเกงนั้น ผมนำเอาคุณลักษณะการออกแบบที่เท่ห์และเก๋มาใช้ดังนี้ เสื้อโปโล ผมจะมองไปที่ความเรียบเท่ห์ของ polo และ lacoste มาเป็น pattern แต่ใส่ความสดใส หนุ่มแน่นลงไปให้กับมันในแบบเดียวกับ cc-oo และ BNN ภายหลังดีไซน์ของเสื้อผมจะมาทางเดียวกับ 2 แบรนด์หลังมากกว่า นั่นคือ cc-oo และ bnn แต่ไม่ได้ก็อปปี้มาเด็ดขาด เพียงแต่ concept ใกล้เคียงกัน และของผมจะดิบกว่าเท่านั้นเอง แบรนด์ระดับโลกที่ผมชอบและมองดูไว้เป็นเทรนด์แฟชั่นและไว้เป็นแนวทางในการนำมาเป็นต้นแบบหรือแรงบันดาลใจก็คือ Armani Exchange ( A/X ) และ Diesel เป็นหลักมากกว่าส่วนแบรนด์ไทยก็มักตามๆ กันมา และในส่วนของกางเกง ผมจะนำเอาคุณลักษณะการออกแบบที่เท่ห์และเก๋ของ abercrombies และ defry มาเป็น pattern แต่จะตัดเอา accessorie ที่ยั้วเยี้ยฟูมฟายของ ทั้ง 2 แบรนด์ออก ใส่ความดิบและเรียบง่ายลงไปแทน ในแบบของผมเอง ขอบอกว่ากางเกงผมก็มาทางเดียวกับ cc-oo และ bnn อีกนั่นแหละ แต่ของผมจะดิบและเรียบง่ายมากกว่า เพื่อให้มันมีความเป็นแฟชั่นน้อยที่สุด ใส่ได้นานด้วย format และ pattern ที่เป็นสากลเท่านั้นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น