วันจันทร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ความสำเร็จไม่มีสูตรสำเร็จ โดย หลีจื้ออิง นักธุรกิจเจ้าของแบรนด์ Giordano

ความสำเร็จไม่มีสูตรสำเร็จ comment แนะนำ
หนังสือ pocket book แนวบริหารธุรกิจ How-to ในหมวดจิตวิทยาและการพัฒนาตนเอง
สำนักพิมพ์ อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง
“การอ่านคือรากฐานที่สำคัญ การอ่านหนังสือก็เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ไม่ใช่เพื่อค้นหาสูตรสำเร็จของความร่ำรวย ความสำเร็จที่ดูเหมือนเกิดขึ้นในทันทีนั้น ความจริงแล้วคือผลลัพธ์ที่ได้มาจากความรู้ ที่ซึมซับมาจากหนังสือเล่มนั้นนิด หนังสือเล่มนี้หน่อย หลักการตรงนั้นนิด วิชาตรงนี้หน่อย ผ่านการสั่งสม กลั่นกรอง จนตกผลึก” คำกล่าวของ หลีจื้ออิง ผู้เขียนหนังสือ “ความสำเร็จไม่มีสูตรสำเร็จ”
ผมขอเริ่มจากตรงนี้ก็แล้วกัน เนื่องด้วยหนังสือเล่มนี้ได้รับการกล่าวขวัญถึงว่าดีและน่าอ่านมากเล่มนึงในตลาดของพ็อกเก็ตบุ้คแนวอัตชีวประวัติ หรือนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ มีอยู่วันนึงก็ไปพบโดยบังเอิญในร้านซีเอ็ด เพราะก่อนหน้านี้เคยไปหาซื้อในร้านนายอินทร์ก็ไม่มีอาจจะขายดีจนหมดก็ได้ เลยไม่ได้ตาม พอมาเจอก็เลยรีบซื้อ และนำไปอ่านในวันนั้นเลย ก็ปรากฏว่าเป็นไปตามคาด บ่อน้ำตาผมแตกทีเดียว เพราะประเด็นในการผูกปม การเล่าเรื่องของผู้เขียน ไม่เหมือนเรากำลังอ่านชีวประวัติของคนมีชื่อเสียงอยู่ แต่เหมือนอ่านนวนิยายเสียมากกว่า เพราะมีการปูพื้น ขมวดปม มีการขัดแย้งซึ่งนำไปจุดไคลแม็กซ์ มีการคลี่คลายปม และบทสรุป เสมือนอ่านนวนิยายเล่มนึง และก็มีแง่มุมบางอย่างของตัวผู้เขียนคล้ายแง่มุมชีวิตของข้าพเจ้าเอง บางส่วนคล้ายแง่มุมชีวิตเพื่อนสนิทของเราก็มี ทำให้เราอินไปกับเนื้อหาเป็นอย่างมาก ประกอบกับตัวข้าพเจ้าเองก็มีปมในเรื่องที่เคยล้มเหลว ไร้ศักดิ์ศรีมาก่อน (underdog) จึงอินไปกับเนื้อหาเป็นอันมาก ผมคิดว่าได้รับข้อคิดจากชีวิตของคุณหลีจื้ออิงเป็นอย่างมากที่จะนำไปปรับใช้กับชีวิตของตนเองได้ ชีวิตเขาก็ลูกชาวบ้านเหมือนกับเรา ไม่ใช่ลูกเทวดามาจากไหน ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าคนๆ นึงผ่านช่วงเวลาที่เลวร้าย ตกต่ำ แล้วก้าวมาสู่จุดสูงสุดของชีวิตได้อย่างไรกัน จึงฝันว่าเราก็น่าจะทำอย่างเขาได้บ้าง สักวันจะต้องเป็นวันของเราบ้าง
เริ่มเนื้อหาตรงนี้ ขอเริ่มจากคำโปรยของหนังสือ “ความสำเร็จไม่มีสูตรสำเร็จ จากเด็กอดอยากข้างถนน สู่การเป็นเจ้าของแบรนด์สินค้าชั้นนำระดับโลก และเจ้าพ่อวงการสื่อสิ่งพิมพ์ของฮ่องกงและไต้หวัน ผุ้มีทรัพย์สินกว่า 500 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ”
คุณหลีจื้ออิง บอกเล่าเรื่องราวผ่านตัวละครก็คือตัวเขาเอง เมื่อครั้งยังเยาว์วัย ที่ชีวิตเคยดิ้นรน ตกทุกข์ได้ยาก เคยเป็นเด็กเสเพลทำงานกุลี ข้างถนน พื้นเพเขาเป็นคนจีนแผ่นดินใหญ่ ครอบครัวเป็นคนชั้นกลางพอมีอันจะกิน คุณพ่อเป็นพ่อค้าเคยมีกิจการด้านสิ่งทอเป็นของตนเอง แต่แล้วชีวิตก็พลิกผัน พอช่วงปี ค.ศ.1949 ในยุคปลดแอกของจีน ประเทศจีนเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบคอมมิวนิสต์ มีการทำสงครามปลดแอกระหว่างคน 2 กลุ่ม นั่นคือพรรคก๊กมินตั๋งของนายพลเจียงไคเช็ก กับพรรคคอมมิวนิสต์จีน ของประธานเหมาเจ๋อตุง ในยุคนั้นภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ธุรกิจล่มสลาย ครอบครัวของหลีจื้ออิงโดยเฉพาะคุณพ่อของเขา ประสบกับภาวะล้มละลาย กลายเป็นคนจนเพียงชั่วข้ามคืน หลีจื้ออิงตัดสินใจไปตายเอาดาบหน้าพยายามหนีมาที่ฮ่องกง เขามาเพียงลำพังคนเดียวโดยทิ้งครอบครัวให้อยู่เบื้องหลัง มาตั้งแต่อายุ 11 ปี เข้ามาหางานทำ ด้วยความที่ไม่ได้เรียนหนังสือ ไม่มีความรู้จึงต้องมาเป็นกุลีก่อน แต่ด้วยมีพื้นฐานด้านสิ่งทออยู่บ้างจากครอบครัว ทำให้เขาได้เข้าไปฝึกงานที่โรงงานทักออน เป็นเด็กล้างพิมพ์ พิมพ์ผ้า กินนอนอยู่บนโต๊ะทำงาน ด้วยความที่เถ้าแก่เอ็นดู รวมถึงลูกชายเถ้าแก่ที่ไม่ถือตัว คบหลีจื้ออิงเหมือนเพื่อน แต่เขาทำอยู่ไม่นานก็ไปสมัครเป็นลูกจ้างโรงงานทอผ้าเซียนสือ ด้วยความที่หัวไว ทำงานเก่ง จึงได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้จัดการโรงงานในเวลาอันรวดเร็ว ด้วยอายุเพียง 20 ต้น ๆ หลีจื้ออิงผ่านงานมาแล้วถึง 2 ที่ และตำแหน่งล่าสุดเป็นผู้จัดการโรงงาน แต่สุดท้ายเขาก็ลาออกจากเซียนสือ เพราะไปขัดแย้งกับตัวเถ้าแก่ตลอดจนญาติพี่น้องของเถ้าแก่ ที่ไม่พอใจที่หลีจือ้อิงว่าเป็นคนแข็งกระด้าง ดื้อรั้นไม่ยอมฟังนายจ้าง และไม่เคารพนบนอบให้กับบรรดาญาติพี่น้องของเถ้าแก่ เขาจึงตัดสินใจยอมหักไม่ยอมงอ ลาออกมา ซึ่งทำงานได้เพียงปีเดียว วลีที่คำพูดขึ้นในตอนนั้นก็คือ ต่อให้ต้องขายถั่วคั่วก็ขอเป็นเถ้าแก่เอง ก่อนหน้านั้นเขาเคยอยู่โรงงานทักออน เขามีเพื่อนสนิทที่ชื่อเหลียงจวี้หรง คนที่เคยเลี้ยงข้าวเขา เทคแคร์ตอนช่วงที่เข้าไปทำงานใหม่ๆ ยังไม่มีเงินกินข้าว แต่ก็ไม่กล้าไปขอใคร เพราะอยู่ในช่วงทดลองงาน เงินเดือนยังไม่ออก เหลียงจวี้หรงชอบเรียกหลีจื้ออิงมาร่วมทานข้าวของเขาด้วยกัน และเทคแคร์อยู่ถึง 15 วันจนถึงวันที่เงินเดือนก้อนแรกของหลีจื้ออิงจะออก ซึ่งหลีจื้ออิงซึ้งในน้ำใจมาจนถึงทุกวันนี้ และเพื่อนรักเพื่อนแท้คนนี้แหละเป็นคนเดียวกับลูกชายเถ้าแก่โรงงานทักออน หลีจื้ออิงให้เหลียงจวี้หรงเพื่อนรักช่วยพาไปหาคุณพ่อ และเล่าจุดประสงค์ให้คุณพ่อฟังว่าอยากทำธุรกิจร่วมกับลูกชายของท่าน แต่ยังไม่มีเงินทุน คุณพ่อเหลียงจวี้หรงฟังดูก็เห็นเข้าท่าและเห็นดีเห็นงามด้วย จึงรับปากว่าจะช่วยเหลือ นี่คือปฐมบทของการเล่าเรื่องที่ชวนติดตาม ไว้จะมาเล่าต่อว่าเรื่องจะดำเนินไปอย่างไรกับก้าวแรกของหลีจื้ออิง ผู้คิดการใหญ่ อยากจะเป็นเถ้าแก่ คงต้องติดตามตอนต่อไป
“ผมไม่อยากเป็นคนเฝ้าศาลเจ้า ผมจะขอเป็นเจ้าเสียเอง”

เหตุการณ์สำคัญซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตของหลีจื้ออิง ก็คือ ช่วงปี 1960 ตอนนั้นเขาอายุ 11 ขวบ ตัดสินใจเดินทางจากจีนแผ่นดินใหญ่เพื่อข้ามมายังเกาะฮ่องกงเพื่อไปแสวงหาโอกาสของชีวิตใหม่ หรือก็คือไปตายเอาดาบหน้า  และนี่ก็คือการลำดับเหตุการณ์อันสำคัญในชีวิตของเขา
ปี 1949  ประเทศจีนปลดแอกประเทศ โดยผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ขึ้นมาปกครองประเทศ  ครอบครัวของเขาล่มจม ล่มสลาย สินทรัพย์ตกเป็นของรัฐบาล
ปี 1960  ตัดสินใจเดินทางออกมาจากจีนแผ่นดินใหญ่มายังเกาะฮ่องกงเพื่อแสวงหาโอกาสของชีวิตที่ดีกว่า
ปี 1972  ลงขันกับเพื่อนเปิดพอร์ตเล่นหุ้น โดยนำเงินโบนัสส่วนตัวจำนวน 7,000 เหรียญฮ่องกง รวมกับเพื่อนอีก 3,000 เหรียญ          รวมกันเป็นเงิน 10,000 เหรียญ ไปเปิดพอร์ตโบรกเกอร์ ที่บริษัทหลักทรัพย์ ซันฮุงไก ซื้อขายหุ้นอยู่ร่วมปีกว่า ได้ทั้งกำไรและขาดทุน แต่ส่วนใหญ่จะได้กำไร หักกลบแล้วกำไรสุทธิกว่า 200,000 กว่าเหรียญ จึงตัดสินใจปิดพอร์ต แบ่งกำไรให้ตัวเองขั้นต้น 10 % เป็นค่าบริหารจัดการ เพราะตัวเองเป็นผู้ตัดสินใจซื้อขาย ที่เหลือแบ่งกำไรตามสัดส่วนกับเพื่อน และนี่คือเงินทุนก้อนสำคัญก้อนแรก ที่ทำให้เขามีเงินไปลงทุนเปิดโรงงานกับหุ้นส่วนในเวลาต่อมา
ปี 1973  ตลาดหุ้นฮั่งเส็งของฮ่องกง ใกล้เข้าสู่ตลาดหมี เขาเพิ่งเข้าสู่ตลาดหุ้น แต่หลีจื้ออิง รอดตัวมาได้ เพราะสัญชาติญาณที่เหมือนเข้ารู้ล่วงหน้า เขาตัดสินใจกรีดเลือดสาบานกับตัวเองว่าจะล้างมือจากอ่างทองคำ จะไม่หวนกลับไปเล่นหุ้นอีกเลยตลอดชีวิต การได้ลาภก้อนใหญ่นั้นมาได้มาจากอิทธิพลจากความรู้ที่ได้จากการอ่านหนังสือการลงทุนหุ้นจำนวนมาก บทสัมภาษณ์นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลว 1 ในหนังสือเล่มที่เป็นแรงบันดาลใจนั้น เขียนโดย เอ็ดวิน เลอแฟทัวร์
ปี 1974  ตลาดหุ้นฮั่งเส็งดิ่งเหว เข้าสู่ภาวะตลาดหมีเต็มตัว
ปี 1975  เขานำเงินทุนก้อนแรก 200,000 กว่าหยวน ร่วมลงทุนกับหุ้นส่วนอีก 2 ราย เปิดโรงงานทอผ้ากงหมิง เป็นของตนเอง จากนั้นจึงซื้อกิจการโรงงานเสื้อไหมพรมย่านซันโผกง
ปี 1981  สร้างกิจการใหม่ ผลิตเสื้อผ้าภายใต้แบรนด์ จิออดาโน่  ( Giordano) เขาได้รับขนานนามเรียกชื่อใหม่ว่าจิมมี่ ไหล

เหตุการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญอีกครั้งนึงในชีวิตเขาต่อมาก็คือ  การก่อตั้งโรงงานกงหมิงนั้น กลายเป็นโรงงานรับจ้างผลิตสินค้าให้คนอื่นถึง 8 เดือนเต็ม เขาก็พบว่าสมมติฐานที่วางไว้ไม่เป็นไปตามที่ตั้งหวังไว้ ออเดอร์ใหญ่จากอเมริกา ที่คิดว่าจะมาสั่งผลิตก็ไม่มาตามที่คิดไว้ หรือตกลงกันไว้ เนื่องจากผู้สั่งผลิตจากต่างประเทศไม่เชื่อในเรื่องคุณภาพ  และระยะเวลาส่งมอบว่าจะผลิตให้ทันตามออเดอร์ จึงทำให้ความฝันนั้นพังครืนลงมา กับเงินลงทุนที่ได้ลงทุนไปจำนวนมาก จึงต้องปรับแนวคิดธุรกิจใหม่ ปรับโครงสร้างการลงทุนใหม่ ไปเป็นโรงงานขนาดเล็กรับจ้างผลิตงานรับช่วงต่อจากโรงงานใหญ่ สิ่งแรกๆ ที่เขาทำก็คือ ลงไปดูปัญหาของลูกน้องในกระบวนการผลิตทุกขั้นตอน ว่ามีตรงไหนติดปัญหาอะไรแล้ววางแผนแก้ไขปัญหาให้ทำงานได้สะดวกและง่ายขึ้น ขจัดปัญหาการติดขัดในทุกขั้นตอน จึงพบว่าความเร็วคือกุญแจสำคัญของการเพิ่มประสิทธิภาพ ช่วงเวลา 8 เดือนเต็มได้ฝึกฝน หล่อหลอมประสบการณ์ทำให้เขาสามารถควบคุมต้นทุนคุณภาพ และแก้ปัญหาระยะเวลาส่งมอบสินค้าได้สำเร็จ ซึ่งเป็นพื้นฐานการรับงานออเดอร์ส่งออก ซึ่งต้องทำให้ได้ดีกว่า เร็วกว่า และราคาถูกกว่าของเจ้าอื่นให้ได้ จึงจะได้งาน

ชื่อตัวละครที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตหลีจื้ออิง กัลยาณมิตร และผู้มีพระคุณที่เขาต้องจดจำไปตลอดชีวิต มีจำนวนมากมาย ตัวละครหลักๆ มีดังนี้ 
-เหลียงจวี้หรง  เพื่อนคนแรก  รู้จักตอนอยู่โรงงานทักออน เป็นคนที่มีน้ำใจเลี้ยงข้าวหลีจื้ออิงอยู่ 15 วัน ก่อนเงินเดือนจะออก เพราะยังไม่มีตังค์กินข้าว กลายมาเป็นหุ้นส่วนหลักคนสำคัญในภายหลัง 
-เหลียงเสวียจวิน  เป็นบิดาของเหลียงจวี้หรง และเป็นกรรมการท่านนึงของโรงงานทักออน เป็นผู้ผลักดันให้ทั้งหลีจื้ออิงและเหลียงจวี้หรง ก่อตั้งโรงงานกงหมิงขึ้น โดยช่วยหาพันธมิตร และเงินทุนซัพพอร์ตให้อยู่เบื้องหลังคนทั้งคู่
-คุณหวง เพื่อนของเหลียงเสวียจวิน เป็นผู้ขายวัตถุดิบหลักให้โรงงานกงหมิงมาตลอด และเป็นหุ้นส่วนคนที่ 3 ของกงหมิง
-คุณหม่า เจ้าของโรงงานผลิตเสื้อไหมพรมรายใหญ่ของฮ่องกง ที่คิดจะซื้อกิจการตรงซันโผกง แต่สุดท้ายโดนอุบายหลอกล่อของหลีจื้ออิงทำให้ตัดสินใจไม่ซื้อกิจการแข่งกับ กงหมิง
-EDDIE LO ผจก ห้าง J.C.  PENNY  สาขาฮ่องกง เป็นคนพาหลีจื้ออิงไปพบ JOE PAPA หน.ฝ่ายจัดซื้อ เสื้อผ้าสตรี  
-JOE PAPA หน.ฝ่ายจัดซื้อแผนกเสื้อผ้าสตรี ของ J.C PENNY นิวยอร์ค  เมื่อหลีจื้ออิงมาขอเข้าพบ เขาให้ดูเสื้อผ้าตัวอย่าง 10 กว่าแบบ แล้วตั้งโจทย์ให้กับหลีจื้ออิงว่า ให้ผลิตเสื้อ 5 แบบ แบบละ 300 600 โหล ให้แจ้งราคามา พร้อมต้องส่งมอบสินค้าให้ได้ภายใน 75 วัน  ถามว่าทำได้หรือไม่  หลีจื้ออิงกลับมาครุ่นคิดและตัดสินใจว่าจะเดินหน้าสู้ เพื่อขอออเดอร์นี้เป็นใบเบิกทางให้ได้ กลยทธ์ของเขาก็คือไปเดินในห้างดังที่สุด แล้วหยิบเสื้อผ้าที่ดูคล้ายกันกับตัวอย่างที่ JOE PAPA ใหดู มาแกะแบบเพื่อดูวัสดุ วัตถุดิบที่ใช้ผลิตทั้งหมด จากนั้น applied วัตถุดิบที่ดีกว่าใส่ลงไปแทน จากนั้นคำนวณต้นทุนให้ถูกที่สุด ผลิตเป็นตัวอย่าง จากนั้นยอมบินตรงไปหา JOE PAPA ถึงนิวยอร์ค เพื่อให้เขาดูตัวอย่างเสื้อที่ผลิตเสร็จแล้วตามที่ต้องการ
JOE PAPA ทั้งพอใจและเซอร์ไพร์ส ที่หลีจื้ออิงไม่ได้บอกล่วงหน้าว่าจะมา ซึ่งเป็นเวลาที่รวดเร็วมาก  JOE PAPA จึงให้ออเดอร์ตามนั้นแก่หลีจื้ออิงไป พร้อมกับให้ออเดอร์แบบเดียวกันนั้นเพิ่มไปอีก 2,300 โหล และยังแนะนำ หน.ฝ่ายจัดซื้อของแผนกอื่นๆ ให้ร่วมงานกับเขาอีกด้วย  การที่หลีจื้ออิงได้งานนั้น เกิดจากการทุ่มเทจริงจัง ใส่ใจ และสร้างความประทับใจให้เกิดขึ้นแบบสุดๆ แก่ JOE PAPA  ยอมทำตัวอย่างสินค้าแม้จะต้องเพิ่มต้นทุนสูง กำไรแทบจะไม่มี แต่เพื่อจะให้ได้งานเป็นใบเบิกทางให้ได้งานที่ใหญ่กว่า และต่อเนื่องระยะยาว จึงเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามาก
-BILL MILKEN  หน.ฝ่ายจัดซื้อ ห้าง K-MART  คือกัลยาณมิตรคนต่อมาของหลีจื้ออิง เขาและภรรยาคือ เคท ชวนให้หลีจื้ออิง ไปพักที่บ้านทุกครั้งที่มานิวยอร์ค และตัวภรรยาชอบเล่าวรรณกรรมคลาสสิคให้เขาฟัง เอาหนังสือดีๆ มาให้เขาอ่าน หลีจื้ออิงชอบอ่านแต่หนังสือแนว HOW-TO   จนวันนึง บิลแนะนำเพื่อนที่เป็นทนายให้หลีจื้ออิงรู้จัก ทนายคนนั้นก็แนะนำหนังสือ 1 เล่มให้หลีจื้ออิงอ่าน และหนังสือเล่มนี้เป็นที่มาของการเปลี่ยนแปลงชีวิต วิธีคิด เขาไปตลอดกาล หนังสือเล่มที่ว่าชื่อ  The Road to Serfdom (หนทางสู่ความเป็นทาส) ของนักเขียนชื่อ ฟรีดวิช เอ. ฮาเย็ด หนังสือเล่มนี้เปิดประตูแห่งการแสวงหาความรู้ให้เขา มันได้เปลี่ยนชีวิต  และทำให้หลีจื้ออิงเข้าใจ  กระจ่างเรื่องของชีวิตและการทำธุรกิจมากขึ้น เป็นการเปิดโลกทัศน์ใหม่แก่เขา
-LU เป็นเพื่อนสนิทของ Bill เคยเป็นพนักงานขายของบริษัทอ็อกฟอร์ดเชิ้ต ปัจจุบันลูเป็นผู้นำเข้าเสื้อสูทชื่อดังของนิวยอร์ค ลูเคยเตือนสติ หลีจื้ออิง ที่เป็นคนทะเยอทะยานสูงว่า  คุณควรทำงานตามอัตราเร่งของการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม คุณถึงจะมีกำลังเพียงพอ เพื่อไปให้ถึงจุดหมาย เพราะเมื่อทำเช่นนี้ สภาพแวดล้อมทั้งหมดจะกลายเป็นแนวหนุนให้คุณ และผลักดันให้คุณก้าวหน้า     การรีบร้อนอยากได้ความสำเร็จ จะทำให้คุณหลุดออกจากแรงขับและทิศทางของการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม ซึ่งสวนทางกับจุดประสงค์ร่วมกันของคนรอบข้าง และทำให้สูญเสียพลังเกื้อหนุนจากมวลชน การทำงานจะเหนื่อยเปล่า สักวันคุณก็จะหมดแรง หมดไฟ สุดท้ายก็ล้มเหลว ดังนั้นไม่ว่าส่วนตัวคุณจะมีกำลังมากมายแค่ไหน และไม่ว่าคุณจะใจร้อนแค่ไหน คุณก็จะไม่สามารถ ทำให้โลกก้าวไวไปกว่าตัวของมันเองได้
หลีจื้ออิงเริ่มเรียนรู้ว่า วิธีการหรือระเบียบการทำงานเป็นเพียงภาพลักษณ์ภายนอกเท่านั้น สามารถปรับเปลี่ยนได้ทุกเมื่อ แต่หลักการและจรรยาบรรณห้ามเปลึ่ยนเด็ดขาด เพราะนั่นคือจุดประสงค์ร่วมและพลังของมวลชน ซึ่งเป็นดังจุดค้ำจุนอันเป็นเสาหลักที่ค้ำยันความสำเร็จ หากสูญเสียกำลังหนุนสำคัญนี้ไป เราก็จะสูญเสียข้อได้เปรียบ แล้วมีหรือธุรกิจจะไม่ล้ม

ปรัชญาแนวคิดที่ได้จากประสบการณ์ชีวิตของหลีจื้ออิง ได้แก่
-ต่อให้ต้องขายถั่วคั่ว ก็ขอเป็นเถ้าแก่เอง  สามารถกำหนดอนาคตและการตัดสินใจของตนเองได้ มันจะถูกหรือผิดแต่ก็กำหนดโดยตัวเรา
-ผมไม่อยากเป็นคนเฝ้าศาลเจ้า ผมจะเป็นเจ้าเสียเอง  ที่มาของการที่เขาออกมาตั้งกิจการเป็นของตนเอง ไม่ขอเป็นลูกจ้าง
-ความพยายามสำคัญกว่าความโชคดี  บทพิสูจน์นี้มาจากการที่เขาได้งานออเดอร์แรกชิ้นใหญ่จาก JOE PAPA
-การอ่านหนังสือก็เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ไม่ใช่เพื่อค้นหาสูตรสำเร็จของความร่ำรวย   ข้อคิดนี้ได้มาจากตอนที่เขาตัดสินใจจะลงทุนเล่นหุ้น เขาแสวงหาความรู้เอง โดยเข้าออกร้านหนังสือเพื่ออ่านหนังสือเกี่ยวกับการลงทุนทุกชนิด บางเล่มซื้อมาอ่านที่บ้าน เข้าออกร้านหนังสืออยู่ทุกวันหลังเลิกงานวันละหลายชั่วโมง เพื่อหาหนังสืออ่านเป็นเวลา2-3 เดือน จนรู้ทุกกลเม็ดของการลงุทน ทุกแง่มุม และก็ลองหาประสบการณ์จากการเปิดพอร์ตเล่นเอง นำมาซึ่งลาภก้อนใหญ่ ที่ต้องบอกว่าเป็นจังหวะชีวิตและดวงมากกว่าเสียส่วนใหญ่ แต่ความรู้ตรงนี้เขาได้นำไปใช้ในการดำเนินธุรกิจด้วยในเวลาต่อมา ซึ่งโดยนิสัยเขาเป็นคนกล้าเสี่ยง และพยายามปิดประตูความเสี่ยงทุกรูปแบบ ได้แล้วเลิก ในทุกเกมการพนันหรือการแข่งขัน เรียกว่าปิดประตูแพ้ได้เลยสำหรับเขา
-การแสวงหาความรุ้ ก็เพื่อค้นหาสัจธรรม ไม่ใช่เพื่อหาเงิน  ข้อคิดนี้ได้ตอนที่เพื่อนทนายของ Bill ให้เขาอ่านหนังสือชื่อ The Road to Serfdom เป็นหนังสือที่เป็นทั้งแรงบันดาลใจและเปิดประตูความคิดไปสู่วิธีคิดแบบใหม่ ที่เข้าใจชีวิตและการทำงานมากขึ้น
-ความสำเร็จที่ดูเหมือนเกิดขึ้นในทันทีนั้น ความจริงแล้วคือผลลัพธ์ที่ได้มาจากความรู้ที่ซึมซับมาจากหนังสือเล่มนั้นนิด เล่มนั้นหน่อย หลักการตรงนั้นิด วิชาตรงนี้หน่อย ผ่านการสั่งสม กลั่นกรองจนตกผลึก ทั้งการหาความรู้และการธุรกิจต่างได้รับผลจากการลงมือปฏิบัติจริง การค้นคว้าด้วยการลงมือเท่านั้น จึงจะทำให้เชาวน์ปัญญาเกิด แต่กระบวนการดังกล่าว จำเป็นต้องได้รับสารอาหารจากหนังสือต่างเล่มกัน และการใช้วิธีการเช่นนี้ จึงจะเกิดความรู้แจ้ง

สิ่งที่เขาเคยพลาดหรือล้มเหลวคืออะไร
          ใช่ว่าเขาจะประสบแต่ความสำเร็จ สิ่งที่เขายอมรับว่าเคยประสบกับความผิดพลาดล้มเหลว และนำมาสรุปเป็นบทเรียน ได้แก่ การทำเว็บไซต้ขายสินค้าออนไลน์ชื่อว่า แอดมาร์ท ที่เขาประเมินผิด คิดง่ายๆ ว่าตลาดสินค้าออนไลน์เป็นตลาดใหญ่ที่กำลังจะมา แต่ลืมคิดไปว่าภาพเบื้องหน้าแม้จะเห็นเป็นขุนเขาแต่แท้จริงมันไม่ใช่ขุนเขา มันเป็นเพียงหนทางที่จะต้องเดินไปให้ถึง และทางนั้นคดเคี้ยว กว่าจะไปถึงตัวจริงๆ ของขุนเขาที่เห็นอยู่เบื้องหน้านั้น มันไกลเกินกว่าจะทนรอความสำเร็จได้  เขาสรุปบทเรียนนี้เป็นคำตอบไว้ 3 ข้อดังนี้
1 ธุรกิจนี้ใช้เวลานานเกินไป เวลาสิบยี่สิบปีนี้  ภายในฮ่องกงไม่อาจมีลูกค้าที่ซื้อสินค้าทางอินเตอร์เน็ทได้มากเพียงพอ
2.ฮ่องกงไม่มีวันเกิดมวลวิกฤตได้ตลอดกาล  หมายถึง กระบวนการที่ต้องการปริมาณคนหรือทรัพยากรจำนวนหนึ่ง กิจการนั้นจึงจะดังระเบิดได้  ถ้าเป็นบ้านเราเขาเรียกง่ายๆ ว่ากระแส  ถ้าไม่มีกระแสเกิดยาก
3.สำหรับอนาคตที่มองเห็นได้ ฮ่องกงไม่มีวันเกิดมวลวิกฤตพอที่จะทำให้ธุรกิจตัวนี้สร้างกำไรได้
          ตอนที่เขาทำเสื้อผ้าแบรนด์ดัง GIORDANO  การตั้งชื่อเขาใช้ภาษาอิตาเลียน เพื่อให้คนไม่ทราบว่าเป็นสินค้าแบรนด์ของคนฮ่องกง เพื่อว่าจะได้ขยายไปยังตลาดต่างประเทศได้ง่าย  จุดผิดพลาดในช่วงแรกที่เริ่มกิจการใหม่ๆ ของเขาก็คือ การนำสินค้าไปฝากขายรวมกับสินค้าแบรนด์อื่นในห้าง ทำให้สินค้าไม่โดดเด่นพอ สู้คู่แข่งอื่นไม่ได้ ทำให้เขาตัดสินใจเปิดร้านภายใต้แบรนด์ของ GIORDANO ขึ่นเอง และนี่คือจุดผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้นมาในช่วงเริ่มต้นกิจการ
1.เปิดร้านโดยคำนึงถึงต้นทุน หาทำเลที่ไม่แพง เพื่อประหยัดต้นทุน แต่กลับไม่ได้ช่วยให้ยอดขายดี เพราะทำเลที่ไปเปิด แทบไม่มีลูกค้าเข้าร้าน แม้ประหยัดต้นทุนได้ดี แต่สุดท้ายไม่มียอดขาย สุดท้ายก็ต้องเจ๊งอยู่ดี  เขาตัดสินใจหาทำเลดีที่สุด ลงทุนกับร้านที่ไฉไลกว่าเดิม หน้าร้านเด่น และจ้างพนักงานที่มีความสามารถ โดยให้สวัสดิการที่ดีจูงใจให้อยู่ทน เพื่อเป็นตัวจูงใจสร้างยอดขาย ภายหลังแม้ต้องแบกภาระต้นทุนสูงในช่วงแรก แต่สุดท้ายยอดขายดี ทำให้ร้านอยู่ได้
2.การออกแบบสินค้าจำนวนมาก หลากหลายแบบ มีหลายสี หลายขนาด ทำให้กระบวนการผลิตยุ่งยาก ไม่สามารถควบคุมต้นทุนได้ อีกทั้งเมื่อฤดูกาลสินค้ามาไว แบบสินค้าเปลี่ยนไว ความนิยมก็เปลี่ยน สินค้าเก่าจึงล้นสต็อก แถมยังต้อง launch สินค้าตัวใหม่ออกมาทับไลน์สินค้าเก่า ทำให้ต้องลดราคาสินค้าตัวออก เป็นการทำให้ภาพพจน์สินค้าในร้านมีแต่ของลดราคา
เขาตัดสินใจลดแบบสินค้าลง ลดสี ลดขนาด หันมาเน้นความเรียบง่ายของแบบเพื่อให้แบบนึงอยู่ได้นาน และหันมาโฟกัสกับสินค้าในแบบที่ผลิตขายดี หันมาเน้นในแบบนั้น โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยควบคุมสต็อกสินค้า และผลิตสินค้าให้ทันกับความต้องการสินค้าในแต่ละช่วง  สินค้าตัวไหนแบบไหนขายดี ต้องมีโชว์อยูในหน้าร้านให้เพียงพอและเห็นเด่นชัดเพื่อเรียกลูกค้าไปด้วยในตัว 
          สินค้าแบรนด์ GIORDANO ของเขาเคยเกือบจะตายจากตลาดไปแล้ว เมื่อเจอสินค้าคู่แข่งอย่าง G2000 ตอนที่สินค้ายังมีปัญหาอยู่นั้น เขาได้ให้หุ้นส่วนท่านอื่นมาบริหารงานแทนไปก่อน ภายหลังเขาคิดแก้ปัญหาธุรกิจตัวนี้ได้ จึงกลับเข้ามาบริหารใหม่ในช่วงปี 1986 และทำการรีแบรนด์ดิ้งใหม่ ปรับภาพลักษณ์สินค้าใหม่ แก้ปัญหา 2 ข้อดังกล่าวไปได้ ทำให้ทุกวันนี้ สินค้าแบรนด์ดังกล่าวยังคงอยู่ได้ด้วยตัวของมันเองจนถึงปัจจุบัน ขยายตลาดไปยังต่างประเทศมากมาย  

          กล่าวโดยสรุปแล้ว การจะได้มาซึ่งความสำเร็จของคนแต่ละคนไม่ใช่จะได้มาได้โดยง่าย ขึ้นอยู่กับการบ่มเพาะของความรู้และประสบการณ์ โชคช่วย จังหวะชีวิต ความกล้าตัดสินใจ และอะไรอีกหลายอย่าง ดังบทสรุปของหนังสือเล่มนี้ที่ชื่อว่า ความสำเร็จไม่มีสูตรสำเร็จนั่นเอง  การได้อ่านหนังสือเล่มนี้จึงน่าจะได้อ่านประสบการณ์ชีวิตของคนๆ นึงที่เป็นเสียยิ่งกว่าคัมภีร์บริหารจัดการดีๆ ซักเล่มนึงเสียอีก เพราะการอ่านหนังสือ text book คุณจะได้เพียงทฤษฎีที่ยังไม่ได้ผ่านการพิสูจน์ว่าจะทำได้ตามที่หนังสือเขียนบอกหรือเปล่า แต่การอ่านประสบการณ์ชีวิตของคุณหลีจื้ออิงนั้นผ่านการพิสูจน์มาแล้วว่ามันคือของจริงที่ผู้ใดจะนำไปปรับใช้หรือลอกเลียนแบบในบางมุมก็น่าจะให้คุณประโยชน์ได้เช่นเดียวกัน




      

  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น