วันพฤหัสบดีที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2561

10 สุดยอดปรากฏการณ์ทางการตลาดแห่งปี 2018 (อันดับที่ 1)


อันดับ 1  รัฐบาล คสช.หลังพิงฝา เกทับหมดหน้าตัก (เงินงบประมาณที่มาจากภาษีประชาชน) ลดแลกแจกแถม บลัฟแหลกคู่แข่ง (พรรคเพื่อ...แม้ว) ผ่านโครงการ “ประชารัฐ (บัตรสวัสดิการคนจน) ไทยนิยมยั่งยืน” (หนี้สาธารณะเพิ่มอย่างยั่งยืน) หวังซื้อใจคนรากหญ้า กลับมาเป็นรัฐบาลอีกสมัย  (ตอนที่ 1)
โครงการประชารัฐ คืออะไร


เกิดขึ้นจากนโยบายของรัฐบาลเพื่อใช้ให้เป็นการขับเคลื่อนการพัฒนาตั้งแต่จากระดับท้องถิ่นขึ้นมา โดยมุ่งเน้นให้มีความร่วมมือกันระหว่าง หน่วยงานภาครัฐ, เอกชน และประชาชน ในแก้ไขปัญหาต่างๆ ส่งเสริมคุณภาพชีวิต สร้างโอกาส สร้างอาชีพเพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ลดความเลื่อมล้ำทางสังคม ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย โครงการประชารัฐทำให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และมีความยั่งยืน ซึ่งจะมีชุมชนเป็นตัวดำเนินการหลักในการขับเคลื่อน เพราะคนในท้องถิ่นเองนั้นย่อมรู้ดีว่าชุมชนของตนเองยังขาดอะไร และต้องการอะไร ทำให้ได้รับประโยชน์ตามความต้องการและทั่วถึง โดยมีรัฐบาลช่วยเหลือในเรื่องงบประมาณที่มาในรูปของการจัดตั้งกองทุน เช่นกองทุนประชารัฐ หรือกองทุนหมูบ้าน เพื่อจุดประสงค์ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น ส่งผ่านหรือแจกจ่ายไปให้ตั้งแต่ระดับตำบล, หมู่บ้าน ซึ่งส่วนใหญ่มักเรียกันง่ายๆ ว่ากองทุนหมู่บ้าน ส่วนขนาดของเม็ดเงินของกองทุนที่จะได้รับในแต่ละครั้ง หรือแต่ละหมู่บ้านนั้นอาจจะไม่เท่ากัน ที่ผ่านมาก็มีได้รับเช่น ไม่เกิน 200,000 บาทในครั้งแรก และครั้งต่อไปอาจจะยอดงบประมาณเพิ่มขึ้น ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการ โครงการประชารัฐ หรือโครงการอื่นๆ ว่าสามารถดำเนินไปได้อยู่ และมีรายได้ หรือไม่สูญเปล่า หรือไม่

คำว่า ประชารัฐมีที่มาที่ไปอย่างไร  มาจากคำในเนื้อหาของเพลงชาติในช่วงท่อนหนึ่ง
เป็นคำตอบของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  : คำว่า ประชารัฐหรือคำว่า ประชารวมกับคำว่า รัฐนั้น มาจากเนื้อเพลงชาติไทยที่เราขับร้องหรือได้ยินกันทุกวัน ซึ่งมีใจความว่า ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย เป็นประชารัฐ ไผทของไทยทุกส่วน อยู่ดำรงคงไว้ได้ทั้งมวล ด้วยไทยล้วนหมาย รักสามัคคี …” ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้นำมากำหนดเป็นยุทธศาสตร์ ประชารัฐเพื่อให้ส่วนราชการต่างๆ ใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้เกิดความสงบเรียบร้อย เกิดความสามัคคี และสร้างการพัฒนาประเทศไทยให้มีความเข้มแข็ง มั่นคง มั่งคั่งอย่างยั่งยืนได้จริง ตามเนื้อหาสาระของเพลงชาติไทยที่มีมานานแล้ว และนายกรัฐมนตรีได้ขยายความให้ชัดเจนด้วยว่า เป็นการร่วมมือกันในการสร้างสรรค์ สร้างพลังในการทำความดีให้ประเทศชาติ ไม่ใช่เพื่อตนเอง หรือข้าราชการ แต่ทำเพื่อประชาชนทุกคน คำมั่นสัญญานี้ไม่ใช่นโยบายหาเสียง แต่ถือเป็นสัญญาระหว่างรัฐและประชาชน ที่จะร่วมมือแก้ไขปัญหาหรือแก้ไขความผิดพลาดในอดีตทั้งหมดให้ได้ โดยความร่วมมือกัน
มาจาก แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 (แผนฯ 8) ซึ่งเนื้อแบบกว้างโดยสรุปดังนี้
ประชาชน ชุมชน และประชาสังคม มีบทบาทสำคัญ ในการพัฒนาท้องถิ่น สังคม และประเทศ
การบริหารจัดการและพัฒนาประเทศโดยภาครัฐ ใช้หลักการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง จริงจัง และต่อเนื่อง ในทุกระดับ
การดำเนินงานของภาครัฐ มีความสุจริต โปร่งใส ถูกต้อง มีประสิทธิผล คุณภาพ และประสิทธิภาพ รวมถึงการกระจายอำ นาจสู่ท้องถิ่นอย่างทั่วถึงและเพียงพอ
ทุกส่วนของสังคม ทั้งภาครัฐและภาคประชาชน ร่วมเป็น ภาคีการพัฒนาโดยร่วมวางแผน ร่วมดำเนินการ ร่วมติดตามประเมินผล ร่วมปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
มาจาก ส่วนประสานเครือข่ายประชารัฐสำนักงานคณะกรรมการ
สทบ. ได้กล่าวถึง ประชารัฐว่าเป็นการรวมพลัง 4 ฝ่ายหลักในสังคม ได้แก่
ฝ่ายการเมือง
ฝ่ายหน่วยงานรัฐ (ราชการ)
ฝ่ายชุมชน (ประชาชน)
ฝ่ายประชาสังคม (เอกชน)
โดยมีการกำหนดยุทธศาสตร์ ประชารัฐไว้คือ
การรวมเอาพลังทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะอยู่ในภาคประชาชน ภาคธุรกิจ หรือภาครัฐ มาใช้ โดยมองบนพื้นฐานว่า คนไทยทุกคน ก็คือ ประชาชนของชาติซึ่งถือเป็นพลังอำนาจที่สำคัญในการแก้ไขปัญหา ในการเปลี่ยนแปลงหรือการปฏิรูป และการพัฒนาประเทศในทุกมิติและทุกด้านอย่างยั่งยืน (เครดิตข้อมูลบทความจากเพจ Ideasmodel.com)

โครงการไทยนิยม ยั่งยืน เน้นการมีส่วนร่วม ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มรายได้กับประชาชนอย่างยั่งยืน
เพื่อมาสู่การจัดทำแผนงาน/โครงการเพื่อเพิ่มรายได้ให้ประชาชนอย่างยั่งยืน และการสร้างความรู้ความเข้าใจตามกรอบหลักการดำเนินการ 10 เรื่องอย่างมีแบบแผน สู่การสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนในชุมชน เพื่อให้เกิดโอกาสในการพัฒนาตนเอง  แผนการดำเนินงานโครงการไทยนิยม ยั่งยืน มีแผนการลงพื้นที่จำนวน 4 ครั้ง ในครั้งที่ 3 เป็นเรื่องของการนำปัญหาของแต่ละชุมชนมาวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางแก้ไข จัดทำเป็นแผนงาน/โครงการตามหลักเกณฑ์ที่โครงการกำหนด เน้นหลักการมีส่วนร่วม และตรงกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง ซึ่งก่อให้โครงการที่เกิดผลิตภาพ (Productivity) สามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก หรือเชื่อมโยงการส่งเสริมการท่องเที่ยว ถัดมาที่แผนการดำเนินงานโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ครั้งที่ 4 มีเนื้อหาเพิ่มเติมที่จะสร้างการรับรู้แก่ประชาชนจากกรอบหลัก 10 เรื่อง ได้แก่ ข้อมูลมาตรการเกี่ยวกับการส่งเสริมการปลูกข้าวคุณภาพดีที่จะส่งผลให้ราคาข้าวมีมูลค่าสูงขึ้น และมาตรการช่วยเหลือชาวนาอื่นๆ เช่น การลดต้นทุนการผลิต ไปประชาสัมพันธ์ให้แก่เกษตรในพื้นที่ทราบ และเน้นย้ำสร้างการรับรู้ในเรื่องต่างๆ ที่มีความสำคัญต่อประชาชน ผลลัพธ์ของการดำเนินงานตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืนในครั้งที่ 3 และครั้งที่ 4 จะทำให้การสร้างรายได้นั้นเพิ่มขึ้น และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประชาชนในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นนำไปสู่ชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืนตามลำดับ

พาดหัวข่าวเกี่ยวประชารัฐ ไทยนิยมยั่งยืน ในปีนี้



-รัฐบาลปลื้มผลงานไทยนิยมยั่งยืนอัดฉีด 3แผนงาน สร้างเศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็ง
-‘บิ๊กป๊อกนำทีมแถลงผลสำเร็จ 1 ปีโครงการไทยนิยมยั่งยืน พัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เพิ่มรายได้ ลดเหลื่อมล้ำ ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เตรียมขยายผล
-สิทธิพิเศษบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รัฐบาลทุ่มปีละแสนล้านช่วยคนจน
เรียกเสียงฮือฮากันทั่วประเทศ หลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 พ.ย.ที่ผ่านมา อนุมัติมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยเพิ่มเติม ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยใช้เงินรวม 38,730 ล้านบาท ในเงินจำนวนนี้ให้ของขวัญปีใหม่กับผู้ถือบัตรทั้ง 14.5 ล้านคน คนละ 500 บาท รวมเป็นเงิน 7,250 ล้านบาท
-รัฐบาลทุ่มสุดตัวก่อนการเลือกตั้ง งัดสารพัด ของขวัญปีใหม่ รับประกันโดนใจรากหญ้า
คลังจัดแน่มาตรการกระตุ้นศก.ปลายปี  , ช้อปช่วยชาติต้องจังหวะเหมาะพณ.จัดลดราคาตามธรรมเนียมสูงสุด70% , เว้นค่าธรรมเนียมวีซ่าชั่วคราว 21 ประเทศพลังงานจัดน้ำมันราคาถูกช่วยฐานราก  , บีโอไอออกแพคเกจออนท็อป , 8 หมื่นรายเฮก.อุตเลิกต่ออายุร.ง.4 , ร่วมมือส.อ.ท.พัฒนาเอสเอ็มอี-สตาร์ตอัพ , ผุดมาตรการอุ้มหนุ่มสาวโรงงาน , นำระบบประกันเข้าอุ้ม

งบโครงการไทยนิยม ยั่งยืน 2.49 หมื่นล้าน 22 โครงการ เงินหมุนเวียน 6 หมื่นล้าน
ไทยนิยมยั่งยืน – วันที่ 22 พ.ย. ที่สโมสรทหารบก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เป็นประธานแถลงผลการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยมยั่งยืน ภายใต้แนวคิด ไทยนิยม ยั่งยืนสร้างรอยยิ้ม เพิ่มความสุขให้คนไทยทุกคน” ซึ่งครบรอบ 1 ปี
โดยมีนายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ นายุทธนา หยิมการุณ รองปลัดกระทรวงการคลัง ร.ต.ท.อาทิตย์ บุญซะโสภีต อธิบดีกรมการปกครอง และนายนิสิต จันทร์สมวงศ์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ร่วมแถลง
พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า โครงการไทยนิยมยั่งยืน เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน สร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง สร้างอาชีพ สร้างรายได้ลดความเหลื่อมล้ำให้ประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งรัฐบาลพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชน แต่ประชาชนต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับตัวเองให้ได้ก่อน
รมว.มหาดไทย กล่าวว่า จากการขับเคลื่อน 3 แผนงานที่ผ่านมา มีผลสำเร็จทั้งแผนงานเสริมศักยภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิต วงเงิน 21,078 ล้านบาท ภายใต้โครงการมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยกระทรวงการคลังเป็นเจ้าภาพหลัก ปัจจุบันมีผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แจ้งความประสงค์เข้ารับการพัฒนากว่า 4 ล้านคน เป็นเกษตรกรมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 72.95 และมีผู้ผ่านการฝึกอบรมการพัฒนาอาชีพแล้วกว่า 1.8 ล้านคน
แผนงานปฏิรูปโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตร วงเงิน 24,301 ล้านบาท มีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นเจ้าภาพหลัก มีทางเลือกให้เกษตรกร เป็นรายกลุ่มและรายบุคคลจำนวน 20 โครงการใน 4 ด้าน ประกอบด้วย ด้านการบริหารจัดการน้ำ ด้านการแก้ปัญหาที่ดิน ด้านการปศุสัตว์และด้านผลผลิตทางการเกษตร ที่พัฒนาผู้ประกอบการเกษตรกรรุ่นใหม่ส่งเสริมการใช้ยางในภาครัฐและพัฒนาอาชีพชาวสวนยางรายย่อย
พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า แผนงานส่งเสริมเศรษฐกิจและพัฒนาศักยภาพชุมชน วงเงิน 50,379 ล้านบาท ประกอบด้วย 3 โครงการ คือ โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน หมู่บ้าน ชุมชนละ 2 แสนบาท โครงการชุมชนท่องเที่ยวโอท็อปนวัตวิถี ที่กระทรวงมหาดไทยพัฒนาการจัดการท่องเที่ยวควบคู่กับการพัฒนาผลิตภัณฑ์โอท็อปในหมู่บ้านเป้าหมาย 3,273 แห่งๆ ละ 10 ผลิตภัณฑ์ รวมทั้งสิ้น 32,730 ผลิตภัณฑ์ ส่งเสริมตลาดชุนชนท่องเที่ยว ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น
รมว.มหาดไทย กล่าวว่า โครงการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนอย่างยั่งยืนโดยศาสตร์พระราชาตามแนวทางประชารัฐ โดยสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ สนับสนุนเงินทุนประกอบอาชีพ ยกระดับรายได้ โดยอนุมัติโครงการแล้ว 47,194 กองทุน 42,221 โครงการ
เมื่อวันที่ 21 ก.ย./2560 เป็นวันแรก ทางกระทรวงการคลัง กำหนดแจกจ่ายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แก่ผู้ผ่านคุณสมบัติโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ยกเว้นในเขตกรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร นครปฐม และพระนครศรีอยุธยา ประมาณ 1.3 ล้านคน จะได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (แบบ Hybrid 2 Chips/บัตรแมงมุม) เพื่อใช้ชำระค่าสินค้าและค่าโดยสาร โดยมีกำหนดรับบัตรฯ ในวันที่ 17 ต.ค. 2560 เป็นต้นไป และจะมีการชดเชยยกยอดแต่ละประเภทสวัสดิการที่คงเหลือจากการใช้จ่ายในเดือน ต.ค. 2560 ให้ใปใช้ต่อได้ในเดือน พ.ย. 2560
ทั้งนี้ การรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผู้มีสิทธิต้องนำบัตรประจำตัวประชาชน และหลักฐานการลงทะเบียนฯ มาติดต่อรับได้ที่หน่วยงานที่ได้ลงทะเบียนไว้ หรือหากไม่สะดวกไปรับด้วยตัวเอง สามารถมอบอำนาจให้ผู้อื่นไปรับแทนได้ โดยผู้รับบัตรแทนต้องนำบัตรประชาชนฉบับจริงของตนไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ พร้อมด้วยเอกสาร ดังนี้ 1. ใบมอบฉันทะระบุชื่อผู้มอบและผู้รับมอบ พร้อมลงนามทั้งผู้มอบและผู้รับมอบ 2. สำเนาบัตรประชาชน มีการลงนามรับรองสำเนา ทั้งของผู้มอบ และผู้รับมอบ
อย่างไรก็ตาม บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กรณีเป็นผู้พิการ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยติดเตียง ที่ไม่สามารถเดินทางได้ สามารถให้ผู้ดูแลเป็นผู้ใช้สิทธิแทนได้ตามเงื่อนไข หากมีการตรวจสอบพบว่าให้ผู้อื่นนำบัตรไปใช้ เจ้าของบัตรจะถูกตัดสิทธิในบัตร และผู้ที่นำบัตรผู้อื่นไปใช้ ต้องชดใช้เงินคืนแก่ทางราชการ

บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เริ่มใช้ ตั้งแต่ 1 ต.ค.
ส่วนการใช้สิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สามารถใช้ได้ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2560 เป็นต้นไป เพื่อชำระค่าสินค้าและบริการ ผ่านเครื่องรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์จากร้านธงฟ้าประชารัฐ และร้านอื่นๆ ที่กระทรวงพาณิชย์ กำหนด สามารถซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น สินค้าเพื่อการศึกษา และวัตถุดิบเพื่อการเกษตร โดยผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อคนต่อปี จะได้รับ 300 บาทต่อคนต่อเดือน ส่วนผู้ที่มีรายได้สูงกว่า 30,000 บาท จะได้รับ 200 บาทต่อคนต่อเดือน และเมื่อถึงวันที่ 1 ของทุกเดือน วงเงินจะถูกปรับเป็นค่าเริ่มต้นของวงเงินแต่ละสวัสดิการเสมอ สำหรับวงเงินคงเหลือของเดือนที่ผ่านมา จะไม่มีการสะสมในเดือนถัดไป และไม่สามารถถอนวงเงินสวัสดิการออกจากบัตรเป็นเงินสดได้ ยกเว้นวงเงินส่วนลดค่าก๊าซหุงต้มจากร้านค้าที่กระทรวงพลังงานกำหนด 45 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน วงเงินจะปรับเป็นค่าเริ่มต้นทุกวันที่ 1 ของทุก 3 เดือน ซึ่งค่าก๊าซหุงต้มส่วน ที่เกิน 45 บาท ผู้มีสิทธิต้องจ่ายเงินเพิ่มเอง นอกจากนี้ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ยังได้รับ 1. ค่าโดยสารรถเมล์ (รถเมล์ที่มีระบบ e-Ticket) และรถไฟฟ้า 500 บาทต่อคนต่อเดือน 2. วงเงินค่าโดยสารรถ บขส. 500 บาทต่อคนต่อเดือน และ 3. วงเงินค่าโดยสารรถไฟ 500 บาทต่อคนต่อเดือนในกรณีผู้ถือบัตรแจ้งอายัดบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีวงเงินคงเหลือในส่วนของกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) ให้ผู้ถือบัตรติดต่อ Call Center หลักของ บมจ.ธนาคารกรุงไทย หมายเลขโทรศัพท์ 02-111 1111 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อระงับการใช้วงเงิน หรือกรณีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐสูญหาย หรือชำรุดที่เกิดจาการใช้งานของผู้มีสิทธิ ผู้มีสิทธิสามารถดำเนินการขอเปลี่ยนบัตรใหม่ได้ที่สาขาของ บมจ.ธนาคารกรุงไทย โดยผู้มีสิทธิเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย (เครดิตข้อมูลจากเพจ ไทยรัฐออนไลน์)

บัตรคนจน ใช้ยังไง? วงเงินเท่าไหร่ ซื้อได้กี่อย่าง เช็คคู่มือวิธีใช้ ละเอียดยิบ!


บัตรคนจน ใช้ยังไง ? / บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ : ผู้มีรายได้น้อย

หลังจากที่โครงการช่วยเหลือ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ / บัตรคนจน 2560 ได้เริ่มต้นขึ้น ก็มีประชาชน ผู้มีรายได้น้อย หลายคนที่ทยอยมาลงทะเบียนรับ บัตรคนจน เป็นจำนวนมาก

โดยรัฐบาลก็ได้เปิดให้ผู้ที่มี บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ บัตรคนจน ทุกคน สามารถนำบัตรไปใช้สิทธิต่าง ๆ ทั้งชำระค่าสินค้าและบริการ ผ่านเครื่องรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ของหน่วยงาน หรือร้านค้าที่กำหนด ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 ที่ผ่านมา

(*ยกเว้น บัตรคนจน 7 จังหวัดนี้ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สมุทรปราการ นครปฐม และสมุทรสาครการแจก บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ / บัตรคนจน ผู้มีรายได้น้อย จะเลื่อนออกไปจนวันที่ 17 ต.ค. เนื่องจากเกิดปัญหาความล่าช้าในระบบตั๋วแมงมุม)

ทั้งนี้ ประชาชน ผู้มีรายได้น้อย ที่มีสิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ บัตรคนจน หลายต่อหลายคนก็พากันนำ บัตรคนจน ไปใช้สิทธิกันอย่างคึกคัก

แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังมี ผู้มีรายได้น้อยอีกหลายคนที่ถือ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ / บัตรคนจน อยู่ในมือ แต่ยังคงสงสัยว่าและไม่แน่ใจว่า บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ / บัตรคนจน หน้าตาแบบนี้ ใช้ยังไง?
   สามารถใช้ซื้อสินค้าได้ทุกประเภทหรือไม่
   มีวงเงินเท่าไหร่ 
   ที่ไหนซื้อได้-ไม่ได้ 
   มีเงื่อนไขอย่างไร และ
   สามารถถอนเงินออกมาใช้ได้หรือไม่..?



อันดับแรก...มาทำความเข้าใจแนวทางการให้ความช่วยเหลือจาก บัตรคนจน / บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ของ ผู้มีรายได้น้อย เบื้องต้นก่อน

บัตรคนจน นี้ มีอายุ 5 ปี เป็นบัตรชิปการ์ดใช้รูดผ่านเครื่องรับบัตรอัตโนมัติ หรือ อีดีซี

ประชารัฐสวัสดิการ คือ การให้วงเงินใน บัตรคนจน บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 200-300 บาทต่อเดือน สำหรับ...
     นำไปใช้เป็นส่วนลดหรือใช้รับสวัสดิการรัฐ เช่น ส่วนลดค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ารถเมล์ รถไฟ และสามารถเพิ่มหรือลดสวัสดิการได้
     นำไปซื้อสินค้าและบริการต่าง ๆ ในร้านธงฟ้าประชารัฐ และร้านค้าอื่น ๆ ด้วยวิธีการจ่ายเงินง่ายๆ ผ่านเครื่องรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ ของหน่วยงานหรือร้านค้าที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด จากนั้นก็จะได้ใบเสร็จเป็นแสดงยอดที่ใช้จ่ายไปและยอดคงเหลือในบัตรออกมา

โดยเมื่อชำระค่าสินค้าและบริการแล้ว วงเงินจะลดลงตามยอดที่ใช้จ่าย และถึงรอบวันที่ 1 ของทุกเดือนนั่นเอง (ยกเว้น วงเงินส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม ทุกวันที่ 1 ของทุก 3 เดือน)

     >> ในกรณีที่สินค้าที่ซื้อ มีราคาเกินกว่าเงินที่อยู่ใน บัตรคนจน ก็สามารถเติมเงินเข้าไปใน บัตรคนจน / บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ได้ผ่านบริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Money ของธนาคารกรุงไทยได้

*หากใครนึกภาพไม่ออกให้นึกถึงวิธีการ บัตรเครดิต+บัตร ATM ที่แสนสะดวกสบายในการจ่ายเงิน เพียงแค่รูดบัตรผ่านเครื่องรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ เครื่อง EDC ไปเลย

แต่ในขณะเดียวกัน ผู้ใช้ บัตรคนจน / บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ก็ไม่สามารถ กด-ถอน-โอน วงเงินสวัสดิการจาก บัตรคนจน / บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มาเป็นเงินสด หรือเอาเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) ได้  รวมถึงถ้าเงินวงเงินอุดหนุนในบัตรแต่ละเดือนใช้ไม่หมด เงินก็จะถูกตัดทันทีไม่สามารถเก็บสะสมเพื่อนำไปทบยอดในเดือนหน้าได้เช่นกัน

การช่วยเหลือของโครงการ ผู้มีรายได้น้อย บัตรคนจน - บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ นี้จะแยกเป็น 2 ส่วน คือ

1. ส่วนแรกจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ
2. ส่วนที่สองจะช่วยเหลือในเรื่องค่าใช้จ่ายการเดินทาง

ส่วนแรก...
1.) บัตรคนจน ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ

ผู้ถือ บัตรคนจน / บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะสามารถซื้อสินค้าต่างๆ ตามที่กำหนด จากร้านธงฟ้าประชารัฐ ได้ใน 3 หมวดใหญ่ๆประกอบด้วย

        - สินค้าอุปโภค-บริโภค เช่น หมวดอาหารสด, หมวดอาหารและเครื่องดื่ม, หมวดของใช้ประจำวัน, หมวดยารักษาโรค

        - สินค้าเพื่อการศึกษา เช่น เครื่องแบบนักเรียน และ เครื่องเขียน อุปกรณ์การเรียน

        - สินค้าเพื่อเกษตรกรรม เช่น ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ และเมล็ดพันธุ์พืชต่างๆ

ซึ่งรัฐบาลจะให้วงเงินช่วยเหลือใน บัตรคนจน / บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ไปซื้อสินค้าต่างกัน สำหรับกลุ่มคนที่ต่างกัน คือ
         
Ø กลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี จะได้รับเงินจำนวน 300 บาทต่อเดือน (หรือ 3,600 บาทต่อปี)

         
Ø กลุ่มที่มีรายได้ตั้งแต่ 30,000 บาทขึ้นไป แต่ไม่กิน 100,000 บาท จะได้รับเงินจำนวน 200 บาทต่อเดือน (หรือ 2,400 บาทต่อปี)   

นอกจากนี้ ทั้ง 2 กลุ่ม ยังได้วงเงินสำหรับเป็นส่วนลดซื้อก๊าซหุงต้มจากร้านค้าที่กระทรวงพลังงานกำหนดอีกคนละ 45 บาทต่อ 3 เดือน

**อย่างไรก็ตาม เงินใน บัตรคนจน จำนวนดังกล่าวจะไม่สามารถนำไปใช้หนี้ที่ค้างชำระกับร้านค้า หรือนำไปซื้อสุรา บุหรี่ได้ เพราะไม่ใช่สินค้าอุปโภคที่จำเป็น แต่สินค้าที่สามารถซื้อได้ เช่น ข้าวสาร ผงซักฟอก ยาสีฟัน ชุดนักเรียน อุปกรณ์การเรียน และปุ๋ยเคมี

ส่วนที่สอง...
2.) บัตรคนจน ช่วยลดค่าใช้จ่ายการเดินทาง

ประกอบด้วย ค่าโดยสารรถเมล์ รถไฟฟ้า รถร่วมของ บขส. และรถไฟ
     
เงินช่วยเหลือใน บัตรคนจน ที่ ผู้มีรายได้น้อย ได้รับ :

         
Ø ค่าโดยสารรถเมล์ รถไฟฟ้า จำนวน 500 บาทต่อเดือน (ใช้ชำระค่าโดยสารด้วยระบบ e-Ticket)

         
Ø ค่าโดยสารรถ บขส. วงเงินไม่เกิน 500 บาทต่อเดือน

         
Ø ค่าโดยสารรถไฟ วงเงินไม่เกิน 500 บาทต่อเดือน

โดยรถโดยสารที่ร่วมโครงการจะทำการติดตั้งอุปกรณ์ e-Ticket (อี-ทิกเก็ต) เพื่อใช้สำหรับคิดเงินค่าโดยสารจาก บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพียงแค่แตะเบาๆ ก็สามารถจ่ายค่าโดยสารไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

**ทั้งนี้ วงเงินช่วยเหลือใน บัตรคนจน / บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แต่ละส่วนจะแยกออกจากกันอย่างชัดเจน ไม่นำมารวมกัน

ส่วนจุดบริการใช้สิทธิ บัตรคนจน / บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผ่านเครื่องรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ของหน่วยงานหรือ ร้านค้าที่กำหนดไว้ จะมีดังนี้

Ø  จุดรับชำระเงินตามร้านธงฟ้าประชารัฐ และร้านอื่นๆ ที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด
Ø  จุดรับชำระเงินตามร้านค้าก๊าซที่กระทรวงพลังงานกำหนด
Ø  เครื่องแตะบัตรชำระเงินบนรถประจำทาง ขสมก./รถไฟฟ้า
Ø  จุดจำหน่ายบัตรโดยสารรถ บขส.
Ø  จุดจำหน่ายบัตรโดยสารรถไฟทุกสถานี (รฟท.)




ทั้งนี้ บัตรคนจน / บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผู้มีรายได้น้อย ที่แจกจะแบ่งออกเป็น 2 แบบ ซึ่ง แบบแรก จะเป็นมี 2 ชิปการ์ด ผลิตมาจำนวน 1.3 ล้านใบ เพื่อมอบให้กับประชาชนใน 7 จังหวัด ได้แก่
กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม ซึ่งจะสามารถใช้กับระบบตั๋วร่วม เพื่อขึ้นรถเมล์และรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ได้

ส่วน บัตรคนจน / บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แบบที่ 2 ของคนในจังหวัดอื่น ๆ จะมีชิปการ์ดเดียว จึงไม่สามารถนำมาใช้ขึ้นรถเมล์และรถไฟฟ้าได้ อย่างไรก็ตาม หากมีการเปลี่ยนภูมิลำเนาเข้ามาอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ก็สามารถมาแจ้งเปลี่ยนเป็น บัตรคนจน แบบ 2 ชิปการ์ดได้

แบบที่ 1 บัตร EMV + ตั๋วร่วม (แมงมุม) สำหรับผู้มีสิทธิที่ลงทะเบียนในเขต กทม. นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สมุทรปราการ นครปฐม และ สมุทรสาคร โดยบัตรนี้ ไว้ใช้กับระบบขนส่งมวลชนทั้งหมดในกรุงเทพมหานคร  
แบบที่ 2 บัตร EMV สำหรับผู้มีสิทธิที่ลงทะเบียนในจังหวัดอื่นๆ (นอกเขต กทม. นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สมุทรปราการ นครปฐม และ สมุทรสาคร) สำหรับบัตรนี้ จะไม่สามารถใช้กับระบบขนส่งมวลชนทั้งหมดในกรุงเทพมหานครได้

** คำแนะนำการใช้ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ บัตรคนจน **
     1. บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ บัตรคนจน เป็นสิทธิเฉพาะตัวของบุคคลที่ระบุบนหน้าบัตรเท่านั้น เว้นแต่ ผู้พิการ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยติดเตียง ที่ไม่สามารถเดินทางได้ สามารถให้ผู้ดูแลเป็นผู้ใช้สิทธิแทนได้ ตามเงื่อนไขที่กำหนด
     2. กรุณาเก็บ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ บัตรคนจน และรักษาบัตรไว้เป็นอย่างดี เพื่อประโยชน์ของท่านในการรับสวัสดิการจากรัฐบาล
     3. หากมีการตรวจสอบแล้วพบว่าให้ผู้อื่นนำ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ บัตรคนจน ไปใช้ เจ้าของบัตรจะถูกตัดสิทธิในบัตรและผู้ที่นำบัตรผู้อื่นไปใช้จะมีความผิด ต้องชดใช้เงินคืนแก่ทางราชการ

กรณีทำ บัตรคนจน / บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สูญหาย ทำยังไง?

สามารถติดต่อได้ที่สาขาของ บมจ.ธนาคารกรุงไทย โดยทางธนาคารจะแจ้งต่อไปยังกรมบัญชีกลาง เพื่อตรวจสอบสิทธิ์และดำเนินการออก บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ บัตรคนจน ใหม่ให้ แต่เรื่องค่าใช่จ่ายเป็นส่วนรับผิดชอบของผู้ใช้สิทธิเอง
      - บัตร EMV หาย ออกบัตรใหม่ภายใน 15 วันทำการ (เสียค่าใช้จ่าย 50 บาท)
      - บัตร EMV + ตั๋วร่วม (แมงมุม) หาย ออกบัตรใหม่ภายใน 30 วันทำการ (เสียค่าใช้จ่าย 100 บาท)

ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติม สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Call Center ของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ บัตรคนจน ใช้ยังไง โทร. 0-2109-2345 ทุกวันจันทร์-วันศุกร์ ระหว่างเวลา 08.30 – 17.30 น. หรือ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร. 02-273-9020  (เครดิตข้อมูลจากเพจ Bugaboo.tv)



ล่าสุดได้เพิ่ม 4 มาตรการช่วยค่าครองชีพ เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ บัตรคนจน ทั้งกลุ่มที่ถือบัตรมาตั้งแต่ต้นจำนวน 11.4 ล้านคน และผู้ที่เพิ่งได้บัตรจากโครงการไทยนิยมยั่งยืน จำนวน 3.1 ล้านคน ยิ้มรับปีใหม่ 2562 กันได้ยาวๆ ดังนี้

1. มาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าและน้ำประปา (ธ.ค. 61 – ก.ย. 62)
ผู้ถือบัตรสวัสดิการที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 230 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน และใช้น้ำประปาไม่เกิน 100 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน (เป็นเวลา 10 เดือน) จะได้รับค่าน้ำค่าไฟที่จ่ายไปคืน!!!เพียงนำใบเสร็จไปจ่ายค่าน้ำค่าไฟตามปกติที่สำนักงานการไฟฟ้าและการประปา และแสดงบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รอไม่นานก็จะได้รับเงินค่าน้ำค่าไฟกลับคืนเข้าไปในกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ  ผู้ถือบัตรสามารถกดเงินสดจากตู้ ATM ออกมาใช้ได้ ส่วนกรณีที่ผู้มีรายได้น้อยใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 50 หน่วยต่อเดือน ติดต่อกัน 3 เดือน จะได้สิทธิใช้ไฟฟ้าฟรี ของการไฟฟ้าอยู่แล้ว ก็ให้ใช้สิทธินั้นไป  แต่หากมีส่วนเกินจาก 50 หน่วยแรกนั้น แต่ไม่เกิน 230 บาท ก็จะได้รับเงินคืนจากมาตรการนี้  ถ้าบ้านไหนใช้น้ำใช้ไฟเกินกว่าที่กำหนดไว้ แบบนี้ก็ต้องจ่ายเองทั้งหมด
2. มาตรการสนับสนุนค่าใช้จ่ายปลายปี (ธ.ค. 61)
เดือนธันวาคม เดือนสุดท้ายแห่งปี เดือนแห่งความสุข ปีนี้รัฐบาลสนับสนุนค่าเดินทางหรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จำเป็นแก่ผู้มีรายได้น้อยคนละ 500 บาท สำหรับใช้เดินทางกลับภูมิลำเนา เยี่ยมญาติ ใช้เวลาร่วมกัน โดยจ่ายให้เพียงครั้งเดียวในเดือนธันวาคม สำหรับผู้ที่เพิ่งได้รับบัตรสวัสดิการจะได้รับเงินในเดือน ม.ค. 62  ผู้ถือบัตรสามารถกดเงินสดจากตู้ ATM ออกมาใช้ได้
3. มาตรการช่วยเหลือค่าเดินทางเพื่อไปรับการรักษาพยาบาลของผู้สูงอายุ (ธ.ค. 61)
สำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป จะได้รับเงินค่าเดินทางไปตรวจสุขภาพหรือรักษาพยาบาล คนละ 1,000 บาท โดยจ่ายให้ครั้งเดียว สำหรับผู้ที่เพิ่งได้รับบัตรสวัสดิการจะได้รับเงินในเดือน ม.ค. 62 ผู้ถือบัตรสามารถกดเงินสดจากตู้ ATM ออกมาใช้ได้
4. มาตรการช่วยเหลือค่าเช่าบ้านสำหรับผู้สูงอายุ (ธ.ค. 61 – ก.ย. 62)
ผู้ถือบัตรสวัสดิการที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และมีภาระค่าเช่าบ้าน รัฐบาลจะช่วยเหลือค่าเช่าบ้านให้คนละ 400 บาทต่อเดือน (เป็นเวลา 10 เดือน) เพื่อให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการมีเงินเหลือพอไปใช้จ่ายเรื่องอื่นๆ ที่จำเป็นในชีวิต  ผู้ถือบัตรสามารถกดเงินสดจากตู้ ATM ออกมาใช้ได้
แล้วรัฐเอาเงินมาจากไหน??? คำตอบคือ มาจากกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม จำนวน 38,730 ล้านบาท ที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้นมาก่อนหน้านี้ เพื่อเป็นกองทุนช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนนั่นเอง  อย่างไรก็ตาม ขอให้ทุกคนใช้จ่ายอย่างมีสติ วางแผนใช้เงินให้เกิดประโยชน์ ที่สำคัญจะต้องรู้จักพัฒนาตัวเอง ด้วยการหาความรู้ สร้างอาชีพ โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐในทุกพื้นที่ยินดีให้คำปรึกษาแนะนำ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน (เครดิตข้อมูลจากเพจ Sanook.com)
ซานต้าตู่ไฟเขียวแบงก์รัฐปล่อยสินเชื่อบ้านดอกเบี้ยต่ำ-ผ่อนสูงสุด40ปี ธ.ก.ส.คืนดอกเบี้ยลูกค้าชั้นดี30%  เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2560 ที่สถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ (ครม.สัญจร) ครั้งที่ 52/2560 ว่า ครม.สัญจร มีมติเห็นชอบโครงการของขวัญปีใหม่ ปี 2561 ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ได้แก่ 1.โครงการของขวัญปีใหม่ 2561 เพื่อส่งเสริมวินัยทางการเงินสำหรับลูกค้าธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ผู้มีรายได้น้อย โดยจะจ่ายเงินจำนวน 1,000 บาท ให้กับลูกค้ารายย่อยที่มีประวัติการชำระเงินดีย้อนหลัง 48 เดือนและไม่เป็นหรือไม่เคยเป็นสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) และมีวงเงินกู้รวมทุกบัญชีไม่เกิน 1 ล้านบาท โดยต้องเป็นผู้กู้ที่มีการชำระเงินงวดของเดือนธันวาคม 2560 ในช่วงระหว่างวันที่ 1-31 ธันวาคม 2560 ทั้งนั้คาดว่าจะมีผู้ได้รับของขวัญประมาณ 165,107 ราย
2.โครงการชำระดีมีคืนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยจะคืนดอกเบี้ยให้แก่ลูกค้าร้อยละ 30 ของจำนวนดอกเบี้ยที่ชำระในช่วงวันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 13 ธันวาคม 2561 สำหรับลูกค้าที่มีต้นเงินคงเป็นหนี้ ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2560 ไม่เกิน 3 แสนบาท คาดว่าจะมีผู้ได้รับของขวัญเป็นเกษตรกรจำนวน 2.3 ล้านราย
3.โครงการสนับสนุนให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยธอส.จัดโครงการสินเชื่อ 3 โครงการ อัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนและมีระยะเวลากู้ยืมสูงสุดถึง 40 ปี รวมทั้งยกเว้นค่าธรรมเนียมตามที่ธนาคารกำหนด ระยะเวลายื่นคำขอกู้ไม่เกินวันที่ 28 ธันวาคม 2561 ดังนี้
1.โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ สำหรับประชาชนผู้ได้รับสิทธิในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและประชาชนผู้มีรายได้น้อย วงเงินโครงการรวม 3 หมื่นล้านบาท วงเงินกู้สูงสุดต่อรายไม่เกิน 2 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ 4 ปีแรก ร้อยละ 2.75 ต่อปี กรณีวงเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านบาท และร้อยละ 3 ต่อปี กรณีวงเงินกู้มากกว่า 1 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 2 ล้านบาท
2.โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ สำหรับบุคลากรภาครัฐ วงเงินโครงการรวม 3 หมื่นล้านบาท ไม่จำกัดวงเงินสูงสุดต่อราย อัตราดอกเบี้ยคงที่ 4 ปีแรก ร้อยละ MRR (6.75) -3.75 ต่อปี หรือเท่ากับร้อยละ 3 ต่อปี
3.โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 3 จังหวัด ได้แก่ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส วงเงินรวมโครงการ 1 พันล้านบาท วงเงินกู้สูงสุดต่อรายไม่เกิน 1 ล้านบาท สำหรับผู้ได้รับสิทธิในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และไม่เกิน 2 ล้านบาท สำหรับประชาชนผู้มีรายได้น้อยและบุคลากรภาครัฐ อัตราดอกเบี้ยคงที่ 5 ปีแรก 2.50 ต่อปี (เครดิตข้อมูลข่าวจากเพจ prachachat.net)

ประชาชนแทบสำลักผลประโยชน์ที่รัฐบาล คสช.ประเคนให้ในช่วง 3-4 เดือนสุดท้ายของการเป็นรัฐบาล คสช. ก่อนจะถึงวันเลือกตั้ง เพราะขนกันมาทุกมาตรการช่วยเหลือคนจน ราวกับว่า ที่ผ่านมา 4-5 ปีที่บริหารประเทศมา มีใครบีบไข่หรือกั๊กงบประมาณเอาไว้ จึงประเดประดังมาให้ในช่วงนี้ แท้ที่จริงแล้ว มันก็คือ นโยบายประชานิยมมุ่งหาเสียง ที่จำแลงแปลงชื่อมาเป็น “สวัสดิการแห่งรัฐ” นั่นแหละ ให้ดูชื่อโก้เก๋เหมือนกับว่า ไม่ใช่ประชานิยมนะ แต่เป็นสวัสดิการที่มอบให้แก่ประชาชนทุกคน (ซึ่งความจริงมันให้เฉพาะคนที่ลงทะเบียนเป็นคนจนเท่านั้น ประมาณ 14.5 ล้านคน) และที่จริงยิ่งกว่าก็คือ หาใช่การแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ยืนอยู่บนฐานการพึ่งพาตนเองอย่างสิ้นเชิง เพราะตัวเงิน หรือเม็ดเงิน งบประมาณที่เอามาละเลงในนโยบายแบบนี้ คล้ายที่เคยทำมาแล้วในยุครัฐบาลของทักษิณ และรัฐบาลนอมินีอีกหลายสมัยต่อมา ประเทศไทยต้องเสียเงินงบประมาณไปกับโครงการประชานิยมเหล่านี้ ปีๆ หลายหมื่นล้าน ถ้านับเฉพาะรัฐบาลชุดนี้ (คสช.) หมดไปไม่ต่ำกว่าแสนล้านบาทแล้ว อาทิเช่น

-การขับเคลื่อน 3 แผนงานที่ผ่านมา มีผลสำเร็จทั้งแผนงานเสริมศักยภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิต วงเงิน 21,078 ล้านบาท ภายใต้โครงการมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
-แผนงานปฏิรูปโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตร วงเงิน 24,301 ล้านบาท
-แผนงานส่งเสริมเศรษฐกิจและพัฒนาศักยภาพชุมชน วงเงิน 50,379 ล้านบาท ประกอบด้วย 3 โครงการ คือ โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน หมู่บ้าน ชุมชนละ 2 แสนบาท
-โครงการชุมชนท่องเที่ยวโอท็อปนวัตวิถี ที่กระทรวงมหาดไทยพัฒนาการจัดการท่องเที่ยวควบคู่กับการพัฒนาผลิตภัณฑ์โอท็อปในหมู่บ้านเป้าหมาย 3,273 แห่งๆ ละ 10 ผลิตภัณฑ์ รวมทั้งสิ้น 32,730 ผลิตภัณฑ์
-สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ สนับสนุนเงินทุนประกอบอาชีพ ยกระดับรายได้ โดยอนุมัติโครงการแล้ว 47,194 กองทุน 42,221 โครงการ

ถ้านับไปถึงยุครัฐบาลทักษิณ ก็คงหมดไปแล้วไม่ต่ำกว่า ล้านๆ บาท (เฉพาะโครงการจำนำข้าวของยุคยิ่งลักษณ์ ก็หมดไป (เสียหาย) ไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาทแล้ว

คำถามคือ ไอ้โครงการประชานิยมในลักษณะนี้ ได้ช่วยทำให้ประชาชน (รากหญ้า,เกษตรกร,ผู้ใช้แรงงาน) ลืมตาอ้าปาก หรือตั้งตัว ปลดหนี้ ได้จริงหรือ???? คำตอบก็คือ ไม่เคยมีประเทศไหน ที่ใช้โครงการประชานิยม เพื่อหาเสียงเอาจากประชาชนแล้วประสบความสำเร็จ ทำให้ประเทศฟื้นคืนจากภาวะยากจนได้เลยซักประเทศ บทเรียนก็มีแล้ว ให้เห็นจากหลายประเทศ อาทิ ฟิลิปปินส์,คิวบา,อาร์เจนติน่า,บราซิล,เวเนซูเอล่า,อียิปต์,ลิเบีย และซิมบับเว ฯลฯ  ทุกประเทศที่ใช้นโยบายประชานิยมเป็นฐานในการหาเสียงหรือรักษาคะแนนเสียง ให้รัฐบาลของเขาอยู่ได้อย่างมั่นคง ล้วนแพ้ภัยตนเอง เพราะพออยู่ไปนานๆ เข้า ประชาชนจะเสพติดผลประโยชน์ต่างๆ ที่รัฐบาลประเคนให้ พอหนักๆ เข้า ต้องขึ้นภาษี หรือไม่สามารถหาเงินมาโปะงบประมาณที่เอาไว้ทำประชานิยมได้ ก็ต้องไปกู้ยืมมา กลายเป็นหนี้สาธารณะเพิ่มเป็นดินพอกหางหมู แล้วประเทศเหล่านี้ มักไม่มีขีดความสามารถในการแข่งขัน ไม่สามารถผลิตสินค้าส่งออกไปขายตปท. หรือหารายได้เข้าประเทศ มาชดเชยค่าใช้จ่าย งบประมาณต่างๆ ที่เอาไปปรนเปรอความสุขให้กับประชาชนของตนเอง โดยไม่หาวิธีที่จะสร้างขีดความสามารถ เพิ่มโอกาสในการทำมาหาเลี้ยงชีพของประชาขน สุดท้ายเศรษฐกิจในประเทศก็พัง นำมาซึ่งความทุกข์ยากของประชาชน ท้ายสุดก็จะถูกประชาชนขับไล่ หรือประณาม กร่นด่า ในรายของประเทศที่เป็นเผด็จการทหาร ก็จะใช้อำนาจทหารบีบบังคับไม่ให้ประชาชนลุกฮือขึ้นต่อต้าน แต่หลายประเทศอำนาจทหารก็เอาไม่อยู่ เพราะประชาชนเดือดดาล จนตรอก จนยอมที่จะพลีชีพ แลกกับการกระชากหน้ากากของผู้นำรัฐบาล หรือผู้นำเผด็จการทหารเหล่านั้น ให้ออกจากอำนาจ ที่กล่าวมา ผู้เขียนไม่อยากให้ประเทศไทยไปสู่จุดนั้น แต่ก็รู้สึกเป็นห่วง และไม่สบายใจอย่างยิ่ง ที่รัฐบาล คสช.ตลอดช่วงเวลาที่บริหารประเทศมา 5 ปี ไม่ได้สร้างขีดความสามารถ เพิ่มโอกาส ให้ประชาชน (รากหญ้า,เกษตรกร,คนชั้นกลาง) ได้มีโอกาสหรือแต้มต่อในการที่เขาจะสร้างเนื้อตัวสร้างตัว สร้างความแข็งแกร่งให้กับอาชีพ หรือรายได้ของตนเองเลย ตรงกันข้ามกับถูกกระทืบซ้ำด้วย ค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทุนใหญ่เขมือบทุนเล็ก สร้างความได้เปรียบให้แต่ทุนใหญ่ ในขณะที่กิจการเล็กๆ น้อยๆ หาบเร่แผงลอย เอสเอ็มอี โรงงานผลิตสินค้า พ่อค้าคนกลางที่ไม่ใหญ่ ต่างทยอยล้มหายตายจากกันไป ตอกย้ำจากข่าวที่ประเทศไทยติดอันดับ 1 ที่มีอัตราความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างคนจน คนรวย สูงที่สุดในโลก  แม้แต่ ฯพณฯ รมต.วิทยาศาสตร์ อย่างดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ยังออกมาย้ำเลยว่า ที่รัฐบาล คสช.ต้องแจกเงินคนจน ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ก็เพราะว่าคนจนจะตายห่ากันหมดแล้ว (นี่เป็นคำพูดของคนระดับคีย์แมนคนสำคัญของรัฐบาลยังออกมายอมรับเลยว่า เศรษฐกิจไทยตอนนี้ คนจนลำบากแค่ไหน) และนั่นก็เป็นทั้งเหตุและผลงานของรัฐบาล คสช.ในรอบ 5 ปีที่สอบตกในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และข่าวเมื่อเร็วๆ นี้เอง ก็เพิ่งเห็นรัฐบาลกำลังตั้งหน่วยงานที่จะหายุทธศาสตร์มาแก้ปัญหาเหลื่อมล้ำ โดยตั้ง ดร.กอบศักดิ์ คูตระกูล มาดูแล ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ แกนนำรัฐบาล ทั้ง ฯพณฯ นายกลุงตู่ ก็ออกมาแก้เกี้ยวว่า รายงานเรื่องความเหลื่อมล้ำขององค์กร CS Global Wealth Report บิดเบือน ไม่ตรงข้อเท็จจริง เป็นข้อมูลเก่าตั้งแต่สมัยปี 2549 (ดูข้อมูลนี้เพิ่มเติมที่ลิ้งค์นี้  https://thai-inequality.org/pages/asset) ถ้ารัฐบาลไม่เชื่อว่า สังคมไทยมีความเหลื่อมล้ำสูง จะตั้งคณะทำงานมาแก้ปัญหาเหลื่อมล้ำทำซากอะไร   

ผู้เขียนคิดว่านโยบายประชารัฐ ไทยนิยมยั่งยืน เป็นนโยบายที่ควรนำมาใช้ในภาวะที่เศรษฐกิจบ้านเมืองซบเซา หรืออยู่ในภาวะที่นิ่ง ถดถอย ไม่เติบโต ควรใช้เพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ ไม่ควรลากยาว เหตุเพราะว่ามันไปอิงกับงบประมาณผูกพันระยะยาว หากว่ารัฐบาลมีนโยบายรัฐสวัสดิการ จำเป็นต้องทำประชามติ ถามประชาชนทั้งประเทศหรือคนที่จ่ายภาษีก่อน ว่าเขายินยอมที่จะจ่ายภาษีในอัตราที่สูงเพิ่มขึ้นหรือไม่ เพราะต้องนำเงินภาษีจำนวนมากมาทำรัฐสวัสดิการ (เฉกเช่นประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย ที่เป็นประเทศที่มีรัฐสวัสดิการ แต่เขาจัดเก็บภาษีรายได้ส่วนบุคคล และภาษีนิติบุคคล ในอัตราสูงลิบลิ่ว มากกว่าประเทศไทย หรือแม้แต่ภาษีมูลค่าเพิ่มก็สูงกว่าไทย และเขาไม่นิยมกู้ยืมเงินมาทำรัฐสวัสดิการ หากเป็นประเทศยากจนหรือไม่ใช่ประเทศพัฒนาแล้ว ที่มีรายได้สูง การจะเป็นรัฐสวัสดิการจะต้องสูญเสียเงินงบประมาณแผ่นดินมหาศาล)  ดังนั้น การที่รัฐบาล คสช.ทำนโยบายประชารัฐ ไทยนิยมยั่งยืน เช่นนี้ มันจึงสุ่มเสี่ยงต่อการก่อหนี้ สาธารณะ ยังไม่นับโครงการอภิมหาโปรเจ็คท์ ทั้งรถไฟความเร็วสูง สร้างสาธารณูปโภคในเขตเศรษฐกิจพิเศษ E.E.C ที่ใช้เม็ดเงินมหาศาลเช่นกัน สุ่มเสี่ยงต่อการก่อหนี้สาธารณะผูกพันระยะยาว มันจึงเป็นนโยบายรัฐสวัสดิการที่ไม่ยั่งยืนสมกับชื่อ ไทยนิยมยั่งยืน แต่สร้างหนี้สาธารณะแบบยั่งยืน นั่นแหละใช่  มีนักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ นักธุรกิจ อดีตข้าราชการ ที่มีความรู้จำนวนมาก ได้เตือนรัฐบาล คสช.แล้วว่า อย่าทำเช่นนี้เลย และขอว่า การทำเช่นนี้ ขอเป็นครั้งสุดท้าย และอย่าได้มีรัฐบาลไหนในอนาคต นำนโยบายประชานิยมแบบนี้มาใช้อีก เพราะเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ได้ประโยชน์ไม่คุ้มค่าต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม ไม่ได้ยกระดับรายได้ของประชาชนฐานล่าง (รากหญ้า,เกษตรกร,ผู้ใช้แรงงาน) ให้สูงขึ้น หรือลืมตาอ้าปากได้ มิหนำซ้ำยังสร้างวินัยการใช้จ่ายเงินแบบผิดๆ ให้เกิดกับประชาชนด้วย และยังเป็นการหลอกลวงประชาชนว่า นโยบายแบบนี้คือรัฐสวัสดิการที่จะมีตลอดไป ทำให้ประชาชนไม่ขวนขวาย ดิ้นรน ต่อสู้ชีวิต หรึอพึ่งพาตนเอง เป็นการซ้ำเติมประชาชนให้ขาดวินัยทางด้านการเงินเข้าไปอีก ขอเสียทีว่า บรรดานักคิด นักวิชาการในรัฐบาล คสช.หรือพรรคของรัฐบาล (พรรคพลังประชารัฐ) อย่าฉกฉวยโอกาส ที่ประชาชนอ่อนแอ ไร้หนทางทำมาหากิน อันเนื่องมาจากภาวะเศรษกิจย่ำแย่เช่นนี้ หยิบยื่นน้ำผึ้งอาบยาพิษให้กับประชาชนดื่มอีกเลย เพียงเพื่อหวังจะได้ซื้อใจ ซื้อคะแนนเสียงของประชาชน เพื่อให้คุณได้อยู่ในอำนาจ หรือหวนกลับมามีอำนาจ ทั้งๆ ที่ตลอดเวลา 4-5 ปี ของการเป็นรัฐบาล คสช. ไม่ได้จริงใจที่จะแก้ปัญหาให้กับคนส่วนใหญ่เลย ไม่ต้องถามว่าท่านเข้ามาเป็นรัฐบาล ด้วยวาระซ่อนเร้นอะไร และแก้ปัญหาให้กับคนกลุ่มใด แต่เพียงกลุ่มเดียว เพราะถ้าประชาชนตาสว่างเมื่อไร เขาก็จะกระชากหน้ากากของท่านออกมาในวันนั้น อย่างไม่ต้องสงสัย


หยิกแกมหยอก บทความและเรียบเรียง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น