วันอาทิตย์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ท่องโลก (C) ทางความคิดไปกับคีย์เวิร์ดที่ขึ้นต้นจาก A-Z อักษร C


ท่องโลกด้วยอักษรตัว C


Cashless

Climate Change, Crisis

Cave

Coaching, Crew

 



สังคมไร้เงินสด (Cashless Society)  เป็นคำอธิบายภาวะทางเศรษฐกิจที่ธุรกรรมทางการเงินมิได้ดำเนินการด้วยเงินในรูปธนบัตรหรือเหรียญที่จับต้องได้ แต่เป็นการโอนสารสนเทศดิจิทัล (ปกติเป็นตัวแทนอิเล็กทรอนิกส์ของเงิน) ระหว่างภาคีผู้ทำธุรกรรม ธุรกรรมไร้เงินสดสามารถเกิดขึ้นได้โดยใช้เงินตราดิจิทัลอย่างบิตคอยน์  มโนทัศน์ดังกล่าวมีการอภิปรายการกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื่องจากโลกกำลังเผชิญการใช้วิธีการดิจิทัลบันทึก จัดการ และแลกเปลี่ยนเงินในการค้า การลงทุนและชีวิตประจำวันอย่างรวดเร็วเพิ่มขึ้นในหลายส่วนของโลก และธุรกรรมซึ่งเดิมต้องใช้เงินสดปัจจุบันใช้วิธีอิเล็กทรอนิกส์แทน ปัจจุบันบางประเทศตั้งข้อจำกัดธุรกรรมและค่าธุรกรรมขั้นสูงที่สามารถชำระด้วยวิธีนอกเหนือจากอิเล็กทรอนิกส์ได้ตามกฎหมาย




อนาคตโลกกับ 'สังคมไร้เงินสด' สู่การปรับตัวครั้งใหญ่ของเหล่าธนาคารพาณิชย์

•Cashless Society หรือ สังคมไร้เงินสด คือแนวคิดสังคมเศรษฐกิจที่มองว่าเงินสดที่จับต้องได้จะมีความสำคัญน้อยลง และถูกแทนที่ด้วยการใช้เทคโนโลยีจากระบบคอมพิวเตอร์แทน

ข้อดี-ข้อเสียของการไร้เงิดสดในมือที่แม้จะทำธุรกรรมได้รวดเร็วทันใจ แต่ก็ยังถูกตั้งข้อสงสัยในเรื่องของความปลอดภัยอยู่

สถานการณ์ความเคลื่อนไหวของสังคมไร้เงินสดทั้งในประเทศไทยและสากลโลก

ผลกระทบจากสังคมไร้เงินสดสู่การปรับตัวครั้งใหญ่ของเหล่าธนาคารพาณิชย์

แม้จะเพิ่งเริ่มต้นปี 2018 ไปได้เพียงหนึ่งเดือน แต่การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในแวดวงเศรษฐกิจก็ดูเหมือนจะไม่ค่อยให้เราได้เตรียมใจกันนานนัก เมื่อข่าวการปิดสาขา และลดจำนวนพนักงานของธนาคารพาณิชย์หลายแห่งในประเทศกลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจ เพราะเป็นผลกระทบจากความพยายามที่จะนำประเทศก้าวเข้าสู่ Cashless Society หรือสังคมไร้เงินสดตามนโยบาย 4.0 ของรัฐ แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ย่อมนำพามาทั้งผลดี และผลกระทบ ดังนั้น ก่อนที่จะพาสังคมก้าวเข้าไปสู่จุดใหม่ เราจึงสมควรมาทำความเข้าใจที่มาที่ไป และความหมายของ Cashless Society หรือ สังคมไร้เงินสด กันเสียก่อน

Cashless Society หรือ Cashless Economy (สังคมไร้เงินสด) คือแนวคิดสังคมเศรษฐกิจที่ปราศจากเงินสดเป็นตัวขับเคลื่อน โดยมองว่าความสำคัญของเงินสดที่จับต้องได้จะลดน้อยลง และถูกแทนที่ด้วยการใช้เทคโนโลยีจากระบบคอมพิวเตอร์ในการทำธุรกรรมทางการเงินแทน ที่จริงแนวคิดนี้ถูกพูดถึงครั้งแรกในช่วงปี 50s-60s หรือก็คือ 60 กว่าปีที่แล้ว ในตอนนั้นมันยังดูเหมือนเป็นเพียงความคิดเพ้อฝันเพราะคงไม่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากพอมารองรับ แต่เมื่อตัดภาพมาในปัจจุบัน ใครจะไปนึกว่าวันหนึ่งผู้คนจะเปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับจำนวนตัวเลขในหน้าจอมากกว่าเงินสดในกระเป๋าตังค์ได้เช่นนั้นจริง ๆ  สาเหตุที่ทำให้ความเป็นไปได้ของสังคมไร้เงินสดกลายเป็นรูปแบบที่เป็นกระแสขึ้นมาก็เพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง ทั้งสมาร์ทโฟน แอพพลิเคชัน และนวัตกรรมที่ถูกพัฒนาโดยเหล่าบริษัท FinTech พวกเขาได้สร้างรูปแบบการทำธุรกรรมชนิดใหม่ ซึ่งก็คือการทำธุรกรรมออนไลน์ขึ้น โดยรูปแบบการดำเนินการทางการเงินดังกล่าวก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียที่มีความเกี่ยวพันกัน

[ ข้อดี ]

สะดวก รวดเร็ว ทันใจ การมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยในมือ ทำให้การจับจ่ายใช้สอยในชีวิตเป็นเรื่องง่ายขึ้น ผู้บริโภคสามารถเลือกว่าจะชำระเงินผ่านช่องทางไหน ไม่ว่าจะเป็นตัดจากบัตรเครดิต บัตรเดบิต หรือหักจากบัญชีธนาคารโดยตรง ที่สำคัญคือใช้เวลาไม่นานก็ดำเนินการเสร็จ

กระตุ้นการใช้ e-Payment ช่วยให้เศรษฐกิจเติบโต ปริมาณการใช้งานบัตรเครดิตและเดบิตจะช่วยกระตุ้นอัตราการใช้จ่าย และเพิ่มช่องทางการทำธุรกิจต่าง ๆ ให้กับองค์กร ซึ่งจะส่งผลต่อการเติบโตของ GDP ของประเทศในอนาคต

ลดอัตราการฉกชิงวิ่งราว เพราะจำนวนเงินจะถูกเก็บรักษาอย่างปลอดภัยในบัญชีอิเล็กทรอนิกส์

ช่วยให้การจัดเก็บภาษี เพราะสามารถตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินได้ ทำให้รัฐบาลสามารถเรียกเก็บภาษีได้ถูกต้อง ครบถ้วน และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

[ ข้อเสีย ]

สูญเสียความเป็นส่วนตัวทางการเงิน เนื่องจากผู้ประกอบการธนาคาร และรัฐบาล สามารถเข้าถึงข้อมูลการทำธุรกรรมส่วนตัวของเราได้ ทำให้การใช้เงินของเราเหมือนถูกจับตาดูอยู่ตลอดเวลา ประชาชนจึงอาจรู้สึกสูญเสียเสรีภาพทางเศรษฐกิจไป

ความไว้ใจด้านปลอดภัย การนำข้อมูลการเงินทุกอย่างเข้าไปใส่ในระบบคอมพิวเตอร์ อาจจะทำให้การโจรกรรมข้อมูลส่วนตัวทำได้ง่ายขึ้น หากมาตราการรักษาความปลอดภัยของระบบการเงินออนไลน์ไม่รัดกุมมากพอ

แนวโน้มที่จะใช้จ่ายเกินตัว การทำธุรกรรมที่ง่ายเพียงปลายนิ้วอาจกระตุ้นให้เกิดการบริโภคสินค้า และบริการที่ฟุ้งเฟ้อเกินความจำเป็น เพราะว่าความสะดวกสบายจะเป็นสิ่งล่อลวงใจให้ผู้คนมีการใช้สอยจับจ่ายมากขึ้น

ต้องพึ่งพาอินเทอเน็ตเสมอ เมื่อทุกอย่างกลายเป็นรูปแบบออนไลน์ สิ่งที่จำเป็นต้องให้ความสำคัญที่สุดจึงเป็นเสถียรภาพของเครือข่ายอินเทอเน็ต ผู้บริโภคจะไม่สามารถใช้บริการอะไรได้ หากไม่ได้อยู่ในสถานที่ที่สามารถเชื่อมต่อกับสัญญาณ

[ สถานการณ์ Cashless ในต่างประเทศ ]

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แม้จะมีหลายประเทศที่เพิ่งเริ่มทำความรู้จักกับสังคมไร้เงินสด แต่ก็มีอีกหลายประเทศที่พัฒนาไปถึงขั้นออกนโยบาย และกฎหมายที่เอื้อต่อการพัฒนาประเทศเข้าสู่สังคมไร้เงินสดแล้วเช่นกัน หนึ่งในนั้นคือ สวีเดน ซึ่งเป็นประเทศแรก ๆ ที่เข้าสู่สังคมไร้เงินสดได้สำเร็จ เพราะในชีวิตประจำวันของชาวสวีเดนใช้จ่ายผ่าน Mobile Banking และบัตรเดบิตเป็นหลัก ไม่ว่าจะร้านค้า ร้านอาหาร รถสาธารณะหรือแม้กระทั่งโบสถ์ ก็นิยมชำระเงินผ่านบัตรเดบิตกันทั้งนั้น

เบลเยียม ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและสถาบันการเงินภายในประเทศให้ประชาชนหันมาใช้แอปพลิเคชันทางโทรศัพท์มือถือเพื่อชำระเงิน ทำให้พวกเขากลายเป็นประเทศที่มีอัตราการใช้จ่ายแบบไร้เงินสดสูงถึง 93% และ จีน ที่เมื่อเป็นเรื่องของการทำธุรกรรมออนไลน์จะไม่กล่าวถึงก็คงไม่ได้ เพราะเป็นประเทศที่มีการใช้จ่ายผ่านระบบดิจิทัลสูงเป็นอย่างมาก โดย 2 แอปพลิเคชันหลักที่ได้รับความนิยมสูงสุด ได้แก่ Alipay และ Wechat pay ซึ่งสามารถชำระเงินออนไลน์ได้ทุกที่ ทุกเวลา เพียงแค่มี QR Code

นอกจากนี้ก็ยังมีประเทศที่เมื่อได้ยินชื่อก็คงไม่แปลกใจเท่าไหร่อย่างสหรัฐอเมริกา แคนาดา สิงคโปร์ ฝรั่งเศส รวมไปถึงเกาหลีใต้ ที่ล้วนแล้วแต่เป็นประเทศที่มีความเจริญด้านเศรษฐกิจ ไปจนถึงประเทศที่คงไม่มีใครนึกถึงอย่าง เคนยา ที่ไม่น่าเชื่อว่าประชากรกว่า 15 ล้านคน หรือจำนวน 1 ใน 3 ของประเทศ นิยมชำระเงินผ่านแอปพลิเคชัน ไม่เพียงแค่การใช้เพื่อซื้อของเท่านั้น แต่ยังรวมถึงจ่ายค่าเทอม ค่าสาธารณูปโภค ตลอดจนรับเงินเดือนผ่านสมาร์ทโฟนอีกด้วย

[ Cashless Society กับประเทศไทย ]

ด้านสถานการณ์ในบ้านเรากับการเตรียมตัวเป็นสังคมไร้เงินสดก็ไม่ได้ถึงกับเงียบหาย ยังคงมีข่าวคราวการเคลื่อนไหวให้ได้อัพเดทกันอยู่เนือง ๆ ที่เห็นได้ชัดในด้านที่ดีก็คือการที่รัฐบาลและกระทรวงการคลังพยายามผลักดันแผนยุทธศาสตร์ National e-Payment เพื่อปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานของระบบธนาคารในประเทศ และยกระดับประเทศให้เข้าสู่เศรษฐกิจยุคดิจิทัลไร้เงินสดเหมือนหลาย ๆ ประเทศที่กล่าวชื่อไป อย่างผลงานที่เห็นได้ชัดก็คือการเปิดตัวบริการโอนเงินและรับโอนเงินแบบใหม่ 'พร้อมเพย์ – PromtPay' หรือ 'Any ID' ซึ่งผลตอบรับโครงการก็ออกมาดีไม่น้อย เพราะช่วยให้ค่าทำเนียมการโอนมีราคาถูกลง ทั้งยังอำนวยความสะดวกให้สามารถใช้เพียงเลขบัตรประจำตัวประชาชน หรือเบอร์โทรศัพท์ในการทำธุรกรรมได้

แต่ขณะเดียวกันการพยายามเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำธุรกรรมของคนในประเทศก็ได้สร้างผลกระทบต่อธุรกิจที่ต้องอาศัยการทำธุรกรรมแบบเดิมอย่างเหล่าธนาคารพาณิชย์ที่ต้องรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมดังกล่าวไปตาม ๆ กัน

[ ผลกระทบของ Cashless Society ต่อธนาคารพาณิชย์ ]

ข้อมูลจากธนาคารประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่าตั้งแต่เดือนมกราคม จนถึงเดือนพฤศจิกายนของปี 2560 ธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยปิดสาขาลงไปแล้ว 204 สาขา ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าตกใจอะไรนักเพราะเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บิโภคที่หันมาใช้ Digital Banking หรือทำธุรกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ผ่านตู้ ATM กันมากขึ้น ทั้งยังมีแนวโน้มจะใช้งาน Mobile Banking หรือ Internet Banking สูงขึ้นอีกในอนาคต   การปรับลด หรือปิดตัวสาขาย่อยแบบนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในไทยเพียงอย่างเดียว แต่เกิดกับทุกประเทศที่กำลังพยายามก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสด หากเหล่าธนาคารพาณิชย์ต้องการจะยืดหยัดอยู่ในวงการธุรกิจจึงต้องทำตัวเป็นไผ่ลู่ลมยอมลดยอมถอนสิ่งทีไม่จำเป็นออกไปบ้าง เพื่อให้องค์กรสามารถดำรงอยู่ได้ และมีผลกำไร  สิ่งที่น่าเป็นห่วงตามมาคือผลกระทบหลังจากปรับลดจำนวนสาขาต่างหาก แน่นอนว่าหากสาขาปิดตัว ย่อมต้องคู่กับการลดจำนวนพนักงาน โดยเมื่อต้นปีที่ผ่านมา การประกาศเดินหน้าปรับฐานองค์กรใหม่ของ ธนาคารไทยพาณิชย์ กลายเป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจของสังคมอย่างต่อเนื่อง เพราะแม้การลดสาขา และพนักงาน จะเป็นสิ่งที่แวดวงธนาคารต่างรับรู้ และคาดการณ์ได้มาตั้งแต่ 2-3 ปีที่แล้ว แต่แผนที่จะลดจำนวนสาขาจาก 1,153 เหลือเพียง 400 พร้อมกับลดจำนวนพนักงานจาก 27,000 เหลือ 15,000 คนในเวลาเพียง 3 ปี นับเป็นตัวเลขที่สูงมาก อาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์พยายามย้ำหนักแน่นว่าการลดขนาดองค์กรไม่ใช่การ 'ปลดคน' แต่เป็นการ 'ไม่รับคนเพิ่ม' โดยในแต่ละปีจะมีพนักงานลาออกประมาณ 3 พันคนอยู่แล้ว ดังนั้นหากลดได้จำนวนนี้ในเวลา 3 ปีก็จะลดพนักงานได้ประมาณ 1 หมื่นคน ซึ่งใกล้เคียงกับแผนที่วางไว้ แม้จะบอกเช่นนั้นแต่ประเด็นนี้ก็ดูเหมือนส่งผลกระทบต่อขวัญกำลังใจของคนทำงาน และเหล่านักศึกษาที่ร่ำเรียนมาเพื่อเป็นแรงงานในด้านนี้อยู่ไม่น้อยทีเดียว  อย่างไรก็ตามไม่ใช่แค่ธนาคารไทยพาณิชย์อย่างเดียวที่ต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ผู้ประกอบธนาคารพาณิชย์อื่น ๆ ต่างก็ต้องเปลี่ยนแผนการทำธุรกิจเช่นกัน แต่กลับไม่มีเจ้าไหนที่วางแผนสุดโต่ง กำหนดลดจำนวนตัวเลขมากมายในเวลาอันสั้นเหมือนกับธนาคารไทยพาณิชย์ อย่างธนาคารกสิกรไทย และธนาคารทหารไทย มีมุมมองคล้ายกันคือไม่นำจำนวนสาขามาเป็นตัวตั้ง แต่จะปรับตามพฤติกรรมการใช้บริการของผู้บริโภคแทน ส่วนธนาคารกรุงไทยที่มีจำนวนสาขาลดลงมากที่สุดในปีที่ผ่านมา ก็ยังพยายามไม่ปรับลดทุกอย่างรวดเร็วเกินไป เพราะพบว่าการเร่งปิดสาขา อาจเป็นการกระตุ้นให้ฐานลูกค้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนในต่างจังหวัดค่อย ๆ หายไป  จะเห็นว่าผลกระทบของสังคมไร้เงินสดไม่ได้นำมาเพียงการเปลี่ยนแปลงด้านที่ดีเสมอ แต่ในขณะเดียวกันมันก็เป็นปัจจัยที่ไม่อาจหยุดยั้งได้ เพราะโลกกำลังค่อย ๆ เคลื่อนไปในจุดที่เทคโนโลยีกลายเป็นหัวใจสำคัญในการทำสิ่งต่าง ๆ ปัญหาเหล่านี้เป็นสิ่งที่เหล่าประเทศที่ได้รับการพัฒนาต้องเผชิญกันมาแล้วทั้งสิ้น แต่การปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ของเหล่าธนาคารในครั้งนี้ คาดว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงาน และความต้องการด้านการศึกษาในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องต่อไปอีกเป็นระลอกคลื่น เพราะแน่นอนว่าในอนาคตการพัฒนาทางเทคโนโลยีย่อมสามารถนำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาทำงานแทนมนุษย์ได้มากขึ้น และอัตราการจ้างงานก็จะยิ่งลดต่ำลง  เหล่าผู้ได้รับผลกระทบจะแก้เกมที่มาจากการเปลี่ยนแปลงอันหลีกเลี่ยงไม่ได้นี้อย่างไร ย่อมเป็นสิ่งที่น่าสนใจ และชวนให้ติดตามต่อ ไม่แน่ว่าการตัดสินใจลดสาขา และจำนวนพนักงานของธนาคารไทยพาณิชย์ในครั้งนี้ อาจจะกลายเป็นก้าวแรกที่รวดเร็วกว่าองค์กรอื่น ๆ ในการปรับตัวรับมือกับอนาคตก็เป็นได้

(เครดิตข้อมูลบทความจากเพจ nextempire.co)



Climate Change , Crisis Management

Climate Change มันคืออะไร? สาเหตุและผลกระทบที่ตามมา?

ถ้าใครติดตามข่าวนิตยสารช่วงที่ผ่านมาอาจจะเห็นดราม่าหน้าปกนิตยสารหัวดังอย่าง National Geographic ที่มีเสียงฮือฮาว่าไปลอกไอเดียหน้าปกของอีกที่หนึ่งมา (ถ้าใครยังไม่ได้อ่านลองค้นดูนะครับ มันหยดติ๋งยิ่งกว่าละครฉากแม่ค้าตบกันในตลาด) ซึ่งเจ้าหน้าปกนี้คร่าวคือเป็นภาพถ่ายที่มองไกลๆ จะเหมือนภูเขาน้ำแข็งที่ลอยอยู่ในมหาสมุทร แต่ถ้ามองให้ดีมันเป็นถุงพลาสติกสีขาวที่กำลังตุ๊บป่องอยู่เพื่อสื่อความหมายถึงปัญหาพลาสติกและวิกฤติของภูมิอากาศที่เรากำลังเผชิญอยู่ เรื่อง “Climate Change” ยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่สื่อต่างๆ ให้ความสำคัญและพูดถึงเป็นอย่างมาก มันเป็นศัพท์แสงที่คนใช้โยนกันไปมาคล้ายเป็นฝาชีครอบทุกอย่างที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศทั่วโลก โดยเฉพาะอุณหภูมิที่ค่อยๆ ไต่ระดับสูงขึ้นทุกๆ ปีต่อเนื่องมาแล้วหลายทศวรรษ ค่าอุณหภูมิที่เชื่อถือได้ถูกบันทึกไว้ตั้งแต่ช่วงปี 1850 และตอนนี้โดยรวมโลกของเรานั้นร้อนขึ้นประมาณ 1 องศาเซลเซียสจากช่วงปี 1850 - 1900 (ซึ่งมักถูกเรียกว่ายุคก่อนอุตสาหกรรม "pre-industrial”)

โดยปกติแล้วการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมินั้นมักถูกเรียกว่าปรากฏการณ์โลกร้อน (Global Warming) แต่ในเวลานี้นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เปลี่ยนมาใช้คำว่า “climate change” กันแทน เพราะมันไม่ได้เจาะจงเพียงแค่อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่รวมไปถึงผลกระทบของสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นจากการไต่ระดับของอุณหภูมิครั้งนี้ด้วย

โดยในตอนนี้ความพยายามร่วมมือกันของหลายประเทศเพื่อป้องกันไม่ให้อุณหภูมิไม่สูงเกินกว่า 2 องศาเซลเซียส (จากค่าเฉลี่ยยุคก่อนอุตสาหกรรม) หรือถ้าเป็นไปได้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส แน่นอนว่าความเป็นไปได้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อทุกประเทศร่วมมือกัน โฟกัสทั้งกำลังคนและกำลังทรัพย์เพื่อแก้ไขปัญหาตรงนี้โดยเฉพาะ



ผลกกระทบของการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศมีอะไรบ้าง?

ผลกกระทบของการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศที่เกิดจากมนุษย์นั้นมีตั้งแต่ภัยแล้งที่รุนแรงไปจนถึงพายุหิมะที่พัดถล่มเมือง ความถี่ของภัยธรรมชาติเหล่านี้มากขึ้นเรื่อยๆ อากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อน้ำแข็งทางขั้วโลก มนุษย์ไม่ได้เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ อุณหภูมิของมหาสมุทรที่สูงขึ้นทำให้เกิดการฟอกขาวของปะการัง (เป็นภาวะที่ปะการังอ่อนแอและกำลังจะตาย) อากาศที่แห้งแล้งในหลายพื้นที่ทำให้การฟื้นฟูของสภาพป่าหลังจากเกิดเพลิงไหม้เป็นเรื่องยากขึ้น (หรือบางที่ก็เป็นไปไม่ได้เลย) บ้านของสัตว์ตามธรรมชาติมีขนาดที่ลดลงและไม่เอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิตอีกต่อไป

การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศยังส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจและสังคมอีกด้วย การขาดแคลนอาหารนั้นเกิดขึ้นในหลายส่วนของโลกและต่อไปความเป็นไปได้ในการต่อสู้แย่งชิงทรัพยากรก็เพิ่มสูงขึ้น โดยตอนนี้เราเริ่มเห็นการอพยพย้ายถิ่นของประชาชนในบางพื้นที่จากการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศ (อย่างในเม็กซิโกที่ผู้คนต้องย้ายถิ่นฐานปีละกว่าเกือบ 7 แสนคนจากภาวะแห้งแล้ง ‘desertification’) ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นจากการละลายของน้ำแข็งขั้วโลกก็ทำให้ประชากรที่อยู่ตามชายฝั่งได้รับผลกระทบอย่างช่วยไม่ได้

แล้วอะไรคือสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ?

คำตอบสั้นๆ เลย มนุษย์นี่แหละครับ ถึงแม้ปรากฏการณ์ภัยธรรมชาติจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงบ้าง แต่มีหลักฐานมากมายชี้บอกว่าสิ่งที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้นคืิอผลงานของมนุษย์ทั้งนั้น

ถ้ายังจำวิชาวิทยาศาสตร์มัธยมปลายได้ โลกของเรานั้นถูกห่อหุ้มไปด้วยชั้นบรรยากาศที่เรียกว่า “greenhouse” เป็นชั้นก๊าซที่ทำหน้าที่กักเก็บความร้อนจากแสงอาทิตย์ที่สะท้อนผิวโลกขึ้นมา ทำให้ดาวเคราะห์สีน้ำเงินแห่งนี้สามารถเป็นบ้านของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดได้ หลายสิ่งหลายอย่างที่มนุษย์ทำล้วนก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกที่มากจนเกินไป ซึ่งมันไม่เหมือนก๊าซที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติที่สลายตัวได้เอง จึงทำให้เกิดการกักเก็บความร้อนที่มากจนเกินไปและเป็นที่มาของอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ก๊าซเรือนกระจกหลักๆ เลยคือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Dioxide) มีเทน (Methane) และ ไนตรัสออกไซด์ (Ni-trous Oxide) ซึ่งแน่นอนว่าเราได้ยินชื่อของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์บ่อยกว่าใครเพื่อน เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของการย่อยสลายทางธรรมชาติและการหายใจของสิ่งมีชีวิตต่างๆ โดยปริมาณที่มากเกินไปของก๊าซชนิดนี้เกิดจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างถ่านหินและน้ำมัน รวมไปถึงการตัดไม้ทำลายป่าเพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับเมืองและการขยายตัวของฟาร์มเลี้ยงสัตว์ (ซึ่งเป็นแหล่งสร้างก๊าซมีเทน) ทำให้จำนวนต้นไม้ที่สามารถเป็น CO2 เป็นออกซิเจนลดลง

ส่วน Chlorofluorocarbons และ Hydrofluorocarbons ที่เคยใช้กันอย่างแพร่หลายในเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างตู้เย็นในช่วงปี 2000 ตอนนี้ก็ถูกระงับและควบคุมการใช้ไปแล้วเพราะมันทำให้เกิดรอยรั่วในชั้น Ozone และเก็บกักความร้อนในชั้นบรรยากาศด้านล่าง

ทำไมคนถึงยังไม่ใส่ใจ?

หลายปีมาแล้วที่บริษัทน้ำมันหลายเจ้าพยายามหันเหความสนใจของเรา บอกว่าพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลนั้นไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศของโลก ถึงขั้นที่พวกเขาซื้อโฆษณาและสนับสนุนองค์กรต่างๆ ให้ทำให้เราไขว้เขวเกี่ยวกับเรื่องนี้ ถึงแม้ว่าการทดลองของพวกเขาก็สรุปออกมาว่าเชื้อเพลิงที่เผาไหม้นั้นเป็นสาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ก็ตามที

ตอนนี้ก็ยังมีการฟ้องร้องกันเกิดขึ้น แต่เจ้าใหญ่ๆ อย่าง Chevron ก็ออกมาประกาศอย่างเปิดเผยถึงผลกระทบของพลังงานฟอสซิลที่มีต่อโลกของเรา ซึ่งตอนนี้คำกล่าวอ้างของพวกเขาคือโบ้ยความผิดมาให้ทางผู้บริโภคที่ใช้มากจนเกินไป แทนที่จะลงที่บริษัทที่เจาะน้ำมัน และได้กำไรจากการค้าพลังงานเหล่านี้

โดยสรุป Climate Change คือ

Nasa ได้อธิบายถึงความหมายของ “Climate Change” ว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกที่มีสาเหตุหลักมาจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งเป็นก๊าซที่เก็บกักความร้อนในชั้นบรรยากาศของโลก โดยปรากฏการณ์เหล่านี้มีทั้งการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิที่ถูกเรียกว่า “Global Warming” รวมไปถึงระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น การละลายของน้ำแข็งใน Greenland, Antarctica, the Arctic และภูเขาน้ำแข็งทั่วโลก การปรับเปลี่ยนช่วงเวลาที่ดอกไม้ผลิบานออกผล และอากาศที่ร้ายแรงที่เกิดขึ้นด้วย

(เครดิตข้อมูลบทความจากเพจ GQthailand.com,บทความโดย โสภณ ศุภมั่งมี)



การจัดการในภาวะวิกฤต (Crisis Management)
ภาวะวิกฤต คือ สภาพของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่เป็นปกติทั่วไป และสถานการณ์วิกฤตนี่แหละจะเป็นตัวบ่งชี้ว่า องค์กร หน่วยงาน ไหนจะมีความพร้อมในการรับมือ และจัดการให้ผ่านพ้นไปได้อย่างไร โดยไม่เกิดความวุ่นวาย เสียหายต่อหน่วยงาน  ปัจจุบันหากมองตามหนังสือก็จะพบตำราเกี่ยวกับ การจัดการความเสี่ยง การตัดสินใจภายใต้ภาวะวิกฤต หลากหลาย แต่ถ้าถามว่าหนังสือเหล่านี้ช่วยได้หรือไม่ ตอบได้เลยว่าไม่สามารถนำมาใช้งานได้อย่างเต็มร้อย แต่จะสามารถนำมาเป็นแนวทางเพื่อการปฎิบัติเท่านั้น
การจัดการภายใต้ภาวะวิกฤตนั้นมีหลักการคร่าว ๆ คือ
1.Awareness - ทราบความเสี่ยง
2.Risk Assessment - ประเมินความเสียหาย
3.Planing - วางแผนรับมือ
4.Organization - จัดทีมรับมือ
5.Monitoring - เฝ้าระวัง
6.Implement of Plan - ซักซ้อมสถานการณ์
7.Command & Control - มีระบบบัญชาการ ควบคุม ประสานงาน
การจัดการในสภาวะวิกฤตนั้นต้องมีเครื่องในการจัดการซึ่งมีหลากหลาย แต่สิ่งที่สำคัญคือ ระบบการบัญชาการ ต้องมีการสื่อสารอย่างดี มีแบบแผนอย่างชัดเจน เพราะการสั่งการแต่ละครั้งนั่นหมายถึงความเป็นความตายของหน่วยงาน หากสั่งผิดพลาดก็เกิดความเสียหาย ซึ่งไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ทันท่วงทีหรือไม่ก็เสียทรัพยากรในการแก้ไขปัญหา  สิ่งสำคัญประการที่สองคือ การตัดสินใจในภาวะวิกฤต การตัดสินใจในรูปแบบนี้จะไม่เหมือนสถานการณ์ปกติ เพราะไม่มีโอกาสที่จะแก้ไข วางแผน ต้องปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ แต่อย่างไรก็ตาม การป้องกันเชิงรุก จะช่วยให้การตัดสินใจดีขึ้น เพราะมีการคิด การวางแผนถึงสถานการณ์ล่วงหน้าไว้แล้ว ดังนั้น การวางแผนเพื่อเผชิญเหตุ จึงเป็นเครื่องมือชุดที่สาม ที่หน่วยงานต่าง ๆ ควรมีไว้เพื่อป้องกันวิกฤต คราวนี้ลองหันกลับมาดูหน่วยงานของคุณบ้างว่า... มีอะไรที่กล่าวมาแล้วบ้าง?
ที่น่าตกใจสำหรับหน่วยงานหลายแห่งที่ผู้เขียนเคยได้สนทนาด้วย มักจะบอกว่า...
อย่าวิตกเกินเหตุ
เหตุการณ์ไม่เลวร้ายอย่างนั้นหรอก
นาน ๆ จะเกิดขึ้นสักที และคงไม่เกิดหรอก
ถ้าเกิดขึ้นก็ว่ากันตามสถานการณ์
อย่างมากก็ปิดทำการ ไม่มีอะไรมากหรอก
ค่าเสียหายตอนนั้นคงไม่มากหรอก สู้เก็บเงินไว้รอให้ปัญหาเกิดก่อนค่อยว่ากัน
ฯลฯ
สิ่งเหล่านี้คือ ความประมาท ทั้งสิ้น เพราะภาวะวิกฤตมันมีอะไรมากกว่าค่าเสียหายจากสถานการณ์ เพราะยังมีอื่น ๆ แอบแฝง เช่น
รายได้ที่หายไป
ความน่าเชื่อถือ
ความเป็นมืออาชีพ
โอกาสในการทำรายได้
เสียคุณค่าของแบรนด์
ความวุ่นวายในหน่วยงาน
การทะเลาะเบาะแว้งของพนักงาน
ฯลฯ
ดังนั้นสิ่งที่หลายหน่วยงานควรตระหนักคือ อะไรคือวิกฤต จะเสียหายมากน้อยแค่ไหนหากเกิดวิกฤต เราพร้อมรองรับหรือยัง มีใครบ้างที่ต้องรับผิดชอบ และใครบ้างจะเป็นผู้สั่งการ สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ การสื่อสารอย่างถูกต้อง แม่นยำและมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่คิดไป สั่งไป แล้วค่อยแก้ไข เพราะการสั่ง การประกาศแต่ละครั้งยากที่จะกลับคืนคำได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุค กระแสสังคมออนไลน์ ที่เฟื่องฟูอยู่อย่างเช่นทุกวันนี้ กว่าจะทำให้กลับคืนได้ยากเย็นแสนเข็ญยิ่งนัก...เตรียมไว้เถอะครับ อย่าให้วิกฤตมาทำลายโอกาส จงพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสดีกว่า... อย่างน้อยก็มีความเป็นมืออาชีพในการบริหาร ไม่ใช่การบริหารตามสถานการณ์ไปวันๆ
(เครดิตข้อมูลบทความจากเพจ yothinin.blogspot.com)


Cave

Hashtag :  #Thailand Cave Rescue  เมื่อ 1 เดือนกว่าที่ผ่านมา กลายเป็นเหตุการณ์ข่าวการกู้ภัยที่ดังไปทั่วโลก เป็นมิติใหม่ทั้งในแง่ประสบการณ์ร่วมของคนทั้งโลก ที่ไม่เคยพบเหตุการณ์การกู้ภัยในลักษณะนี้เกิดขึ้นบนโลกมาก่อน และมิติในแง่ของความเป็นการร่วมมือร่วมใจของคนทั่วโลกในการกู้วิกฤติ และยังเป็นกรณีศึกษาในหลายประเด็น ,มิติใหม่ของการรายงานข่าวแบบเรียลไทม์,เรียลลิตี้ไลฟ์สด

ถอดบทเรียนกรณีถ้ำหลวง สะท้อนวิธีคิดของไทยในการรับมือกับภัยพิบัติ

บทความโดย ดร.ณัฐวิคม พันธุวงศ์ภักดี  

เหตุการณ์ถ้ำหลวง ได้สะท้อนให้เห็นถึงบทเรียนต่อการจัดการ ซึ่งในอนาคตจะต้องมีมาตรปรับปรุงต่อไป นั่นก็คือมีความไม่พร้อมในการรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดคิดของประเทศไทย

การทำงานกันเป็นทีมนั้นไม่ควรเริ่มหลังจากภัยพิบัติได้เกิดแล้ว ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องทำงานร่วมกันอยู่ตลอดเวลา ต้องมีการแบ่งปันข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้กันและกันอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลต่างๆ ได้อย่างเต็มที่

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่การป้องกันตัวเองจากภัยต่างๆ ในพื้นที่ของตัวเอง เช่น การหลีกเลี่ยงการเข้าถ้ำหรือน้ำตกในช่วงฤดูฝน ควรถูกนำไปบรรจุอยู่ในแบบเรียนของไทย เช่นเดียวกับการที่ประเทศญี่ปุ่นสอนวิธีการเอาตัวรอดเมื่อเกิดแผ่นดินไหว





ช่วงเวลานี้ ข่าวที่สามารถทำให้คนไทยทั้งประเทศสนใจได้มากที่สุดก็คงหนีไม่พ้นกรณีนักกีฬาฟุตบอลทีมเยาวชน (ทีมหมูป่าอะคาเดมีแม่สาย) และโค้ช รวม 13 ชีวิต ที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง ซึ่งเป็นถ้ำที่มีชื่อเสียงของอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย และจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่สามารถออกมาได้ มีปฏิบัติการช่วยเหลือจากหลายฝ่ายต่อเนื่องกว่า 10 วัน จนกระทั่งทีมดำน้ำได้เข้าไปพบกับทั้ง 13 ชีวิต เมื่อค่ำวันที่ 2 กรกฎาคม ที่ผ่านมานับว่าเป็นข่าวดีที่ทั้ง 13 ชีวิตนั้นรอดปลอดภัย แม้ว่าจะต้องประสบภัยในถ้ำยาวนานกว่า 10 วัน ทว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ ได้สะท้อนให้เห็นถึงบทเรียนต่อการจัดการ ซึ่งในอนาคตจะต้องมีมาตรปรับปรุงต่อไป นั่นก็คือ มีความไม่พร้อมในการรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดคิดของประเทศไทย รวมทั้งได้แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือต่างๆ ที่ยังไม่พร้อมให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีของหน่วยงานต่างๆ ก่อนการเกิดเหตุ ภายใต้เสียงชื่นชม ใต้ทีมเวิร์ก คือโอกาสแห่งการเรียนรู้

จริงอยู่ที่ว่าการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทั้ง 13 ชีวิตในครั้งนี้อาจจะไม่ประสบความสำเร็จ หากไม่มีความร่วมมือในการกู้ภัยช่วยเหลือกันเป็นทีมของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ นักวิชาการหลายแขนง ทหาร ตำรวจ และจิตอาสาทั้งหลาย อีกทั้งยังต้องขอชื่นชมท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายที่มีความสามารถในการบริหารงานและบัญชาการได้อย่างดีเยี่ยม  แต่ว่าการทำงานกันเป็นทีมนั้นไม่ควรเริ่มหลังจากภัยพิบัติได้เกิดแล้ว ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องทำงานร่วมกันอยู่ตลอดเวลา ต้องมีการแบ่งปันข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อมูลทางด้านแผนที่ ข้อมูลจากผู้ที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษในเรื่องถ้ำ หรือข้อมูลเกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในสถานที่ต่างๆ ให้กันและกันอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลต่างๆ ได้อย่างเต็มที่ และสามารถติดต่อผู้ที่เกี่ยวข้องได้อย่างรวดเร็วที่สุดเมื่อเกิดภัยพิบัติ ไม่ใช่เพียงการรอผู้มีอำนาจมาตัดสินใจให้เพียงฝ่ายเดียว เพราะอาจจะล่าช้าไม่ทันการณ์  ที่ผ่านมาการทำงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยลักษณะดังกล่าวยังไม่ค่อยเกิดขึ้นในประเทศไทย ทั้งที่เราเองเคยประสบกับภัยพิบัติและวิกฤตมากมายที่ต้องใช้การทำงานกันเป็นทีม กระนั้นหลายๆ หน่วยงานก็ยังคงทำงานกันอย่างกระจัดกระจาย

อาจเรียกได้ว่านี่เป็นบทเรียนอีกครั้ง สำหรับทุกหน่วยงานที่ควรจะต้องตระหนักถึงการทำงานแบบบูรณาการในทุกภาคส่วนและในทุกสถานการณ์ รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมแม้ว่าจะยังไม่มีสถานการณ์วิกฤตก็ตาม

วางแผนอย่างบูรณาการ ใช้ฐานแห่งบทเรียนที่มีเป็นทางต่อยอด

นอกจากการทำงานอย่างบูรณาการแล้ว ประเทศไทยควรมีการวางแผนเชิงนโยบายในอนาคตให้มากขึ้น การวางแผนและกำหนดนโยบายตลอดจนแนวทางการดำเนินงานในอนาคต ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะคาดคะเนหรือพยากรณ์เหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ต้องอิงพื้นฐานข้อมูลและข้อค้นพบที่ได้จากการวิจัย รวมถึงองค์ความรู้ที่มีอยู่และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต เพื่อใช้ในการศึกษาความเป็นไปได้ทั้งที่พึงประสงค์และไม่พึงประสงค์ เพื่อที่จะสามารถเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่สามารถเกิดขึ้นได้ ไม่ใช่รอให้เหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้นก่อน  ผู้เขียนขอยกตัวอย่างการเตรียมพร้อมดังเช่น นครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีการลงทุนในภาคส่วนอื่นๆ เพื่อมาทดแทนเศรษฐกิจน้ำมันในอนาคต หรือการที่ประเทศเล็กๆ อย่างสิงคโปร์มีการวิจัยและพัฒนาอาวุธเพื่อป้องกันประเทศจากการถูกรุกราน ซึ่งเอาเข้าจริงก็มีความเป็นไปได้ต่ำ แต่รัฐบาลสิงคโปร์ก็ไม่ได้ทิ้งความเป็นไปได้นี้ เพราะเขาตระหนักว่าหากเกิดเหตุการณ์นั้นขึ้นจริง อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างประเมินค่าไม่ได้

บริบทถ้ำหลวง สะท้อนการจัดการ ชัดเจนคือ ภาวะ ผู้นำ

ในส่วนของบริบทถ้ำหลวง ความเป็นไปได้ที่จะมีคนไปติดอยู่ในถ้ำ โดยเฉพาะช่วงหน้าฝนมีความเป็นไปได้สูง อีกทั้งปัญหาการติดอยู่ภายในถ้ำในประเทศไทยก็เคยเกิดขึ้นแล้ว แต่นอกจากกฎหมายที่ระบุว่า เมื่อจังหวัดได้ประกาศภัยพิบัติ ผู้ว่าราชการจังหวัดจะได้รับหน้าที่ให้บัญชาการหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกล่าวกันตามข้อเท็จจริง คนไทยอาจจะไม่ได้ข่าวดีเช่นนี้หากผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ไม่ได้เป็นผู้ที่มีความสามารถและกล้าที่จะตัดสินใจ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ เอง ยังต้องมีการจัดทำระเบียบการในการจัดการความเสี่ยง (เช่น การติดป้ายเตือนภัย หรือ การปิดพื้นที่ถ้ำในช่วงฤดูฝน เป็นต้น) การลดความเปราะบาง (เช่น การให้ความรู้ต่อประชาชนที่เกี่ยวข้อง) หรือการพัฒนาแนวทางและการเพิ่มศักยภาพในการให้ความช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรมเลย อีกทั้งมีการวางแผนเพื่อให้รู้ว่าหากเกิดวิกฤตใครจะต้องมีหน้าที่อะไร และใครที่ไม่เกี่ยวข้องก็ไม่ควรเข้าไปปฏิบัติงานโดยพลการ เหล่านี้ต้องมีการกำหนดกติกากันล่วงหน้า เพื่อไม่ให้เรื่องเกิดขึ้นแล้วจึงหาทางป้องกัน

ถึงเวลาแล้ว ที่ไทยควรบรรจุการป้องกันตัวจากภัยต่างๆ ในแบบเรียน

ท้ายที่สุด การที่เด็กๆ และโค้ชทั้ง 13 ชีวิต ได้เลือกที่จะเข้าไปในถ้ำหลวง ซึ่งเป็นถ้ำที่มีความลึก มีความซับซ้อน และเข้าไปในช่วงฤดูฝนที่ฝนตกหนัก สามารถก่อให้เกิดน้ำท่วมในถ้ำได้ตลอดเวลา จนกลายเป็นผู้ประสบภัย หลายๆ คนอาจจะมุ่งไปโทษว่าเด็กนั้นดื้อ หรือทำไปด้วยความคึกคะนอง แต่ผู้เขียนกลับมองว่าการกระทำเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความไม่ตระหนักรู้ต่อความเสี่ยง และความเปราะบางของตนเอง เราจะโทษว่าเด็กนั้นดื้อเสียทีเดียวก็ไม่ได้ เพราะจากที่ติดตามข่าวผู้คนที่อยู่ในพื้นที่ส่วนใหญ่เองก็ยังไม่เข้าใจถึงลักษณะทางกายภาพ ภูมิประเทศ บรรยากาศ ระบบนิเวศ และความเสี่ยงในการเกิดภัยพิบัติในพื้นที่ของตัวเอง ทำไมถึงไม่มีการกันไม่ให้คนเข้าไปในถ้ำในช่วงฤดูฝน และที่น่าเป็นห่วงกว่านั้นก็คือมีข่าวออกมาหลายๆ พื้นที่ทั่วประเทศว่า ได้ทำการปิดถ้ำหลังจากเกิดเหตุการณ์การนี้ทำให้ผู้เขียนสงสัยว่าหากไม่เกิดเหตุการณ์ดังที่เกิดกับทั้ง 13 ชีวิต หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับถ้ำต่างๆ ทั่วประเทศก็จะยังคงไม่ให้ความสนใจต่อความเสี่ยงที่สามารถเกิดขึ้นได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง นั่นก็เพราะว่าคนในพื้นที่ควรจะเป็นผู้ที่มีความรู้มากที่สุดเกี่ยวกับพื้นที่ของตนเอง และควรมีความสามารถในการจัดการกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมไปถึงการลดความเสี่ยงภัย  ถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่การป้องกันตัวเองจากภัยต่างๆ ในพื้นที่ของตัวเอง เช่น การหลีกเลี่ยงการเข้าถ้ำหรือน้ำตกในช่วงฤดูฝน หรือวิธีง่ายๆ อย่างการว่ายน้ำ หรือการพายเรือในพื้นที่ที่อยู่ติดแม่น้ำ คลอง และทะเล ควรจะถูกนำไปบรรจุอยู่ในแบบเรียนของไทยเช่นเดียวกับการที่ประเทศญี่ปุ่นสอนวิธีการเอาตัวรอดเมื่อเกิดแผ่นดินไหว

(เครดิตข้อมูลบทความจากเพจ The Standard co)


Coaching , Crew

Coaching  : การที่โค้ช (Coach) ให้คำแนะนำ ช่วยเหลือ พัฒนาและค้นหาศักยภาพในตัวคุณ แก้ไขปัญหา ชี้แนวทางและโอกาสที่คุณมองไม่เห็นด้วยตัวเอง และผลักดันคุณสู่ความสำเร็จและใช้ชีวิตอย่างสมดุลและมีความสุข

การโค้ช (Coaching) คือ กระบวนการพัฒนาตนเองรูปแบบหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้รับการโค้ช (Coachee) บรรลุเป้าหมายต่างๆ ในชีวิต ทั้งเป้าหมายในชีวิตส่วนตัวและในหน้าที่การงาน

โค้ชคือใคร

โค้ช (Coach) คือ เพื่อนร่วมทางที่ใช้ทักษะเฉพาะของโค้ช (Coaching Skills) เพื่อให้ผู้รับการโค้ชเกิดกระบวนการภายในที่จะปลดปล่อยศักยภาพที่ซ่อนอยู่ ค้นหาคำตอบ และสามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง โดยโค้ชจะเชื่อในความสามารถของผู้รับการโค้ชในทุกด้าน และเชื่อมั่นว่าผู้รับการโค้ชมีศักยภาพที่ซ่อนอยู่ภายในและพร้อมจะก้าวไปข้างหน้าได้ด้วยตัวเอง

หน้าที่ของโค้ชคืออะไร

ค้นหา ทำให้ชัด เรียบเรียง ในสิ่งที่ผู้รับการโค้ชต้องการจะบรรลุ (Achieve)

กระตุ้นผู้รับการโค้ชให้เกิดกระบวนการค้นหาภายในตัวเอง (Self-discovery)

ทบทวนวิธีการและกลยุทธ์ที่ผู้รับการโค้ชเป็นผู้สร้างขึ้นด้วยตัวเอง

ผลักดันให้ผู้รับการโค้ชรับผิดชอบและเดินตามวิธีการของตัวเองจนบรรลุเป้าหมาย

กระบวนการนี้ช่วยให้ผู้รับการโค้ชพัฒนามุมมองที่มีต่อหน้าที่การงานและชีวิตอย่างก้าวกระโดด เพิ่มพูนทักษะผู้นำ และปลดล็อคศักยภาพของผู้รับการโค้ช

ในต่างประเทศ วัฒนธรรมการใช้โค้ชค่อนข้างแพร่หลายและเป็นที่นิยมในหมู่ผู้มีชื่อเสียง ผู้บริหารระดับสูง นักกีฬา หรือแม้แต่ประธานาธิบดี



โค้ชคือคืออะไร

การโค้ช ( Coaching)  มาจากคำว่า Kocs ซึ่งหมายถึงรถม้าขนาดใหญ่ ที่ช่วยนำคนไปถึงจุดหมายได้อย่างรวดเร็วในสมัยก่อน  จึงเป็นที่มาของคำว่า โค้ช (Coach) ในปัจจุบัน การโค้ช ในสมัยก่อน มีผู้ให้ความหมายว่า เป็นการสอนงาน แต่ในปัจจุบัน ความหมายได้เปลี่ยนแปลงไป

" การโค้ช "  คือกระบวนการทำงานร่วมกันระหว่างโค้ชซึ่งเป็นผู้ที่ช่วยเหลือ ชวนคิด หรือปลดล๊อคบางอย่างในตัวผู้รับการโค้ช (Coachee อ่านว่า โค้ชชี่) มีศักยภาพสูงขึ้น หรือมีความสุขอย่างที่เขาต้องการ ผ่านวิธีการและเครื่องมือต่างๆ  เพื่อให้ผู้รับการโค้ช ได้เรียนรู้ ตระหนักในตัวเองและเปลี่ยนแปลง และลงมือทำด้วยความคิด ความถนัด ความสามารถตัวเอง   การโค้ช จึงเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง โค้ช(Coach) และผู้รับการโค้ช (Coachee) ให้ถึงจุดหมายที่โค้ชชี่ต้องการ

ดังนั้นการโค้ชจะสามารถเกิดขึ้นได้ เมื่อผู้รับการโค้ช พร้อมและต้องการรับการโค้ชเท่านั้นเราเรียกว่า สภาวะที่พร้อมรับการโค้ช (Coachable)  บางครั้งที่ผู้เขียนเจอคือ เมื่อคนเกิดรู้สึกว่า ต้องการพัฒนาต่อ เติบโตขึ้น  แต่อาจจะยังติดประเด็นบางอย่าง ทำให้ไม่สามารถก้าวต่อไปได้ จึงต้องการโค้ชเพื่อมาช่วยเป็นเพื่อนชวนคิด หรือที่ปรึกษาช่วยพัฒนาศักยภาพ  แล้ว โค้ชนั้นมีกี่ประเภท อะไรบ้าง   เก๋ขอสรุปสั้นๆเพื่อให้เห็นภาพเบื้องต้น เช่น

- โค้ชผู้บริหาร (Executive coach) สนับสนุน พัฒนาผู้บริหาร ทั้งด้านอาชีพและชีวิต เพื่อให้เติบโตในอาชีพการงานและเพิ่มประสิทธิภาพของผลงาน

- โค้ชกีฬา (Sport Coach) โค้ชที่ทำหน้าที่สอน พัฒนา ฝึกอบรม และเพิ่มศักยภาพของนักกีฬา

- โค้ชชีวิต (Life Coach) ช่วยสร้าง และพัฒนาบุคคลรายคน สร้างแรงบันดาลใจให้บรรลุเป้าหมายชีวิตในด้านต่างๆ

- โค้ชการเงิน (Money Coah) โค้ชที่ช่วยให้โค้ชชี่บรรลุเป้าหมายทางด้านการเงินตามที่ตั้งใจไว้

- โค้ชเพื่อผลการปฏิบัติงาน (Performance coach) โค้ชที่ดึงศักยภาพ ความสามารถของบุคคลากรเผื่อปรับปรุง หรือเพิ่มผลการปฏิบัติงาน  เป็นต้น

ทักษะการโค้ชมีอะไรบ้าง ทักษะการโค้ชมีดังนี้

- ทักษะการสร้างความสัมพันธ์ (Rapport)  เพื่อสร้างความไว้วางใจและ engagement กับผู้ที่รับการโค้ช

- คำถามทรงพลัง (Powerful question) เพื่อดึงศักยภาพและความสามารถของผู้รับการโค้ช คำถามส่วนใหญ่จะเป็น คำถามปลายเปิดเพื่อ brain storming ให้ได้ความคิดใหม่ๆ สร้างการเติบโตทางความคิด , 

- การฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening)  เพื่อ ให้ได้ยินเสียงที่ไม่ได้พูด

- การสะท้อน (feedback) ที่มีคุณภาพให้เกิดการพัฒนาตัวเอง 

- การสร้างแรงบันดาลใจด้วย Story telling  เป็นต้น

(เครดิตข้อมูลบทความจากเพจ successmastermind.co.th, เพจ sasimasuk.com)

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น