วันอาทิตย์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ท่องโลก (C) ทางความคิดไปกับคีย์เวิร์ดที่ขึ้นต้นจาก A-Z อักษร C


ท่องโลกด้วยอักษรตัว C


Cashless

Climate Change, Crisis

Cave

Coaching, Crew

 



สังคมไร้เงินสด (Cashless Society)  เป็นคำอธิบายภาวะทางเศรษฐกิจที่ธุรกรรมทางการเงินมิได้ดำเนินการด้วยเงินในรูปธนบัตรหรือเหรียญที่จับต้องได้ แต่เป็นการโอนสารสนเทศดิจิทัล (ปกติเป็นตัวแทนอิเล็กทรอนิกส์ของเงิน) ระหว่างภาคีผู้ทำธุรกรรม ธุรกรรมไร้เงินสดสามารถเกิดขึ้นได้โดยใช้เงินตราดิจิทัลอย่างบิตคอยน์  มโนทัศน์ดังกล่าวมีการอภิปรายการกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื่องจากโลกกำลังเผชิญการใช้วิธีการดิจิทัลบันทึก จัดการ และแลกเปลี่ยนเงินในการค้า การลงทุนและชีวิตประจำวันอย่างรวดเร็วเพิ่มขึ้นในหลายส่วนของโลก และธุรกรรมซึ่งเดิมต้องใช้เงินสดปัจจุบันใช้วิธีอิเล็กทรอนิกส์แทน ปัจจุบันบางประเทศตั้งข้อจำกัดธุรกรรมและค่าธุรกรรมขั้นสูงที่สามารถชำระด้วยวิธีนอกเหนือจากอิเล็กทรอนิกส์ได้ตามกฎหมาย




อนาคตโลกกับ 'สังคมไร้เงินสด' สู่การปรับตัวครั้งใหญ่ของเหล่าธนาคารพาณิชย์

•Cashless Society หรือ สังคมไร้เงินสด คือแนวคิดสังคมเศรษฐกิจที่มองว่าเงินสดที่จับต้องได้จะมีความสำคัญน้อยลง และถูกแทนที่ด้วยการใช้เทคโนโลยีจากระบบคอมพิวเตอร์แทน

ข้อดี-ข้อเสียของการไร้เงิดสดในมือที่แม้จะทำธุรกรรมได้รวดเร็วทันใจ แต่ก็ยังถูกตั้งข้อสงสัยในเรื่องของความปลอดภัยอยู่

สถานการณ์ความเคลื่อนไหวของสังคมไร้เงินสดทั้งในประเทศไทยและสากลโลก

ผลกระทบจากสังคมไร้เงินสดสู่การปรับตัวครั้งใหญ่ของเหล่าธนาคารพาณิชย์

แม้จะเพิ่งเริ่มต้นปี 2018 ไปได้เพียงหนึ่งเดือน แต่การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในแวดวงเศรษฐกิจก็ดูเหมือนจะไม่ค่อยให้เราได้เตรียมใจกันนานนัก เมื่อข่าวการปิดสาขา และลดจำนวนพนักงานของธนาคารพาณิชย์หลายแห่งในประเทศกลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจ เพราะเป็นผลกระทบจากความพยายามที่จะนำประเทศก้าวเข้าสู่ Cashless Society หรือสังคมไร้เงินสดตามนโยบาย 4.0 ของรัฐ แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ย่อมนำพามาทั้งผลดี และผลกระทบ ดังนั้น ก่อนที่จะพาสังคมก้าวเข้าไปสู่จุดใหม่ เราจึงสมควรมาทำความเข้าใจที่มาที่ไป และความหมายของ Cashless Society หรือ สังคมไร้เงินสด กันเสียก่อน

Cashless Society หรือ Cashless Economy (สังคมไร้เงินสด) คือแนวคิดสังคมเศรษฐกิจที่ปราศจากเงินสดเป็นตัวขับเคลื่อน โดยมองว่าความสำคัญของเงินสดที่จับต้องได้จะลดน้อยลง และถูกแทนที่ด้วยการใช้เทคโนโลยีจากระบบคอมพิวเตอร์ในการทำธุรกรรมทางการเงินแทน ที่จริงแนวคิดนี้ถูกพูดถึงครั้งแรกในช่วงปี 50s-60s หรือก็คือ 60 กว่าปีที่แล้ว ในตอนนั้นมันยังดูเหมือนเป็นเพียงความคิดเพ้อฝันเพราะคงไม่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากพอมารองรับ แต่เมื่อตัดภาพมาในปัจจุบัน ใครจะไปนึกว่าวันหนึ่งผู้คนจะเปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับจำนวนตัวเลขในหน้าจอมากกว่าเงินสดในกระเป๋าตังค์ได้เช่นนั้นจริง ๆ  สาเหตุที่ทำให้ความเป็นไปได้ของสังคมไร้เงินสดกลายเป็นรูปแบบที่เป็นกระแสขึ้นมาก็เพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง ทั้งสมาร์ทโฟน แอพพลิเคชัน และนวัตกรรมที่ถูกพัฒนาโดยเหล่าบริษัท FinTech พวกเขาได้สร้างรูปแบบการทำธุรกรรมชนิดใหม่ ซึ่งก็คือการทำธุรกรรมออนไลน์ขึ้น โดยรูปแบบการดำเนินการทางการเงินดังกล่าวก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียที่มีความเกี่ยวพันกัน

[ ข้อดี ]

สะดวก รวดเร็ว ทันใจ การมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยในมือ ทำให้การจับจ่ายใช้สอยในชีวิตเป็นเรื่องง่ายขึ้น ผู้บริโภคสามารถเลือกว่าจะชำระเงินผ่านช่องทางไหน ไม่ว่าจะเป็นตัดจากบัตรเครดิต บัตรเดบิต หรือหักจากบัญชีธนาคารโดยตรง ที่สำคัญคือใช้เวลาไม่นานก็ดำเนินการเสร็จ

กระตุ้นการใช้ e-Payment ช่วยให้เศรษฐกิจเติบโต ปริมาณการใช้งานบัตรเครดิตและเดบิตจะช่วยกระตุ้นอัตราการใช้จ่าย และเพิ่มช่องทางการทำธุรกิจต่าง ๆ ให้กับองค์กร ซึ่งจะส่งผลต่อการเติบโตของ GDP ของประเทศในอนาคต

ลดอัตราการฉกชิงวิ่งราว เพราะจำนวนเงินจะถูกเก็บรักษาอย่างปลอดภัยในบัญชีอิเล็กทรอนิกส์

ช่วยให้การจัดเก็บภาษี เพราะสามารถตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินได้ ทำให้รัฐบาลสามารถเรียกเก็บภาษีได้ถูกต้อง ครบถ้วน และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

[ ข้อเสีย ]

สูญเสียความเป็นส่วนตัวทางการเงิน เนื่องจากผู้ประกอบการธนาคาร และรัฐบาล สามารถเข้าถึงข้อมูลการทำธุรกรรมส่วนตัวของเราได้ ทำให้การใช้เงินของเราเหมือนถูกจับตาดูอยู่ตลอดเวลา ประชาชนจึงอาจรู้สึกสูญเสียเสรีภาพทางเศรษฐกิจไป

ความไว้ใจด้านปลอดภัย การนำข้อมูลการเงินทุกอย่างเข้าไปใส่ในระบบคอมพิวเตอร์ อาจจะทำให้การโจรกรรมข้อมูลส่วนตัวทำได้ง่ายขึ้น หากมาตราการรักษาความปลอดภัยของระบบการเงินออนไลน์ไม่รัดกุมมากพอ

แนวโน้มที่จะใช้จ่ายเกินตัว การทำธุรกรรมที่ง่ายเพียงปลายนิ้วอาจกระตุ้นให้เกิดการบริโภคสินค้า และบริการที่ฟุ้งเฟ้อเกินความจำเป็น เพราะว่าความสะดวกสบายจะเป็นสิ่งล่อลวงใจให้ผู้คนมีการใช้สอยจับจ่ายมากขึ้น

ต้องพึ่งพาอินเทอเน็ตเสมอ เมื่อทุกอย่างกลายเป็นรูปแบบออนไลน์ สิ่งที่จำเป็นต้องให้ความสำคัญที่สุดจึงเป็นเสถียรภาพของเครือข่ายอินเทอเน็ต ผู้บริโภคจะไม่สามารถใช้บริการอะไรได้ หากไม่ได้อยู่ในสถานที่ที่สามารถเชื่อมต่อกับสัญญาณ

[ สถานการณ์ Cashless ในต่างประเทศ ]

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แม้จะมีหลายประเทศที่เพิ่งเริ่มทำความรู้จักกับสังคมไร้เงินสด แต่ก็มีอีกหลายประเทศที่พัฒนาไปถึงขั้นออกนโยบาย และกฎหมายที่เอื้อต่อการพัฒนาประเทศเข้าสู่สังคมไร้เงินสดแล้วเช่นกัน หนึ่งในนั้นคือ สวีเดน ซึ่งเป็นประเทศแรก ๆ ที่เข้าสู่สังคมไร้เงินสดได้สำเร็จ เพราะในชีวิตประจำวันของชาวสวีเดนใช้จ่ายผ่าน Mobile Banking และบัตรเดบิตเป็นหลัก ไม่ว่าจะร้านค้า ร้านอาหาร รถสาธารณะหรือแม้กระทั่งโบสถ์ ก็นิยมชำระเงินผ่านบัตรเดบิตกันทั้งนั้น

เบลเยียม ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและสถาบันการเงินภายในประเทศให้ประชาชนหันมาใช้แอปพลิเคชันทางโทรศัพท์มือถือเพื่อชำระเงิน ทำให้พวกเขากลายเป็นประเทศที่มีอัตราการใช้จ่ายแบบไร้เงินสดสูงถึง 93% และ จีน ที่เมื่อเป็นเรื่องของการทำธุรกรรมออนไลน์จะไม่กล่าวถึงก็คงไม่ได้ เพราะเป็นประเทศที่มีการใช้จ่ายผ่านระบบดิจิทัลสูงเป็นอย่างมาก โดย 2 แอปพลิเคชันหลักที่ได้รับความนิยมสูงสุด ได้แก่ Alipay และ Wechat pay ซึ่งสามารถชำระเงินออนไลน์ได้ทุกที่ ทุกเวลา เพียงแค่มี QR Code

นอกจากนี้ก็ยังมีประเทศที่เมื่อได้ยินชื่อก็คงไม่แปลกใจเท่าไหร่อย่างสหรัฐอเมริกา แคนาดา สิงคโปร์ ฝรั่งเศส รวมไปถึงเกาหลีใต้ ที่ล้วนแล้วแต่เป็นประเทศที่มีความเจริญด้านเศรษฐกิจ ไปจนถึงประเทศที่คงไม่มีใครนึกถึงอย่าง เคนยา ที่ไม่น่าเชื่อว่าประชากรกว่า 15 ล้านคน หรือจำนวน 1 ใน 3 ของประเทศ นิยมชำระเงินผ่านแอปพลิเคชัน ไม่เพียงแค่การใช้เพื่อซื้อของเท่านั้น แต่ยังรวมถึงจ่ายค่าเทอม ค่าสาธารณูปโภค ตลอดจนรับเงินเดือนผ่านสมาร์ทโฟนอีกด้วย

[ Cashless Society กับประเทศไทย ]

ด้านสถานการณ์ในบ้านเรากับการเตรียมตัวเป็นสังคมไร้เงินสดก็ไม่ได้ถึงกับเงียบหาย ยังคงมีข่าวคราวการเคลื่อนไหวให้ได้อัพเดทกันอยู่เนือง ๆ ที่เห็นได้ชัดในด้านที่ดีก็คือการที่รัฐบาลและกระทรวงการคลังพยายามผลักดันแผนยุทธศาสตร์ National e-Payment เพื่อปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานของระบบธนาคารในประเทศ และยกระดับประเทศให้เข้าสู่เศรษฐกิจยุคดิจิทัลไร้เงินสดเหมือนหลาย ๆ ประเทศที่กล่าวชื่อไป อย่างผลงานที่เห็นได้ชัดก็คือการเปิดตัวบริการโอนเงินและรับโอนเงินแบบใหม่ 'พร้อมเพย์ – PromtPay' หรือ 'Any ID' ซึ่งผลตอบรับโครงการก็ออกมาดีไม่น้อย เพราะช่วยให้ค่าทำเนียมการโอนมีราคาถูกลง ทั้งยังอำนวยความสะดวกให้สามารถใช้เพียงเลขบัตรประจำตัวประชาชน หรือเบอร์โทรศัพท์ในการทำธุรกรรมได้

แต่ขณะเดียวกันการพยายามเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำธุรกรรมของคนในประเทศก็ได้สร้างผลกระทบต่อธุรกิจที่ต้องอาศัยการทำธุรกรรมแบบเดิมอย่างเหล่าธนาคารพาณิชย์ที่ต้องรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมดังกล่าวไปตาม ๆ กัน

[ ผลกระทบของ Cashless Society ต่อธนาคารพาณิชย์ ]

ข้อมูลจากธนาคารประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่าตั้งแต่เดือนมกราคม จนถึงเดือนพฤศจิกายนของปี 2560 ธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยปิดสาขาลงไปแล้ว 204 สาขา ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าตกใจอะไรนักเพราะเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บิโภคที่หันมาใช้ Digital Banking หรือทำธุรกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ผ่านตู้ ATM กันมากขึ้น ทั้งยังมีแนวโน้มจะใช้งาน Mobile Banking หรือ Internet Banking สูงขึ้นอีกในอนาคต   การปรับลด หรือปิดตัวสาขาย่อยแบบนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในไทยเพียงอย่างเดียว แต่เกิดกับทุกประเทศที่กำลังพยายามก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสด หากเหล่าธนาคารพาณิชย์ต้องการจะยืดหยัดอยู่ในวงการธุรกิจจึงต้องทำตัวเป็นไผ่ลู่ลมยอมลดยอมถอนสิ่งทีไม่จำเป็นออกไปบ้าง เพื่อให้องค์กรสามารถดำรงอยู่ได้ และมีผลกำไร  สิ่งที่น่าเป็นห่วงตามมาคือผลกระทบหลังจากปรับลดจำนวนสาขาต่างหาก แน่นอนว่าหากสาขาปิดตัว ย่อมต้องคู่กับการลดจำนวนพนักงาน โดยเมื่อต้นปีที่ผ่านมา การประกาศเดินหน้าปรับฐานองค์กรใหม่ของ ธนาคารไทยพาณิชย์ กลายเป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจของสังคมอย่างต่อเนื่อง เพราะแม้การลดสาขา และพนักงาน จะเป็นสิ่งที่แวดวงธนาคารต่างรับรู้ และคาดการณ์ได้มาตั้งแต่ 2-3 ปีที่แล้ว แต่แผนที่จะลดจำนวนสาขาจาก 1,153 เหลือเพียง 400 พร้อมกับลดจำนวนพนักงานจาก 27,000 เหลือ 15,000 คนในเวลาเพียง 3 ปี นับเป็นตัวเลขที่สูงมาก อาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์พยายามย้ำหนักแน่นว่าการลดขนาดองค์กรไม่ใช่การ 'ปลดคน' แต่เป็นการ 'ไม่รับคนเพิ่ม' โดยในแต่ละปีจะมีพนักงานลาออกประมาณ 3 พันคนอยู่แล้ว ดังนั้นหากลดได้จำนวนนี้ในเวลา 3 ปีก็จะลดพนักงานได้ประมาณ 1 หมื่นคน ซึ่งใกล้เคียงกับแผนที่วางไว้ แม้จะบอกเช่นนั้นแต่ประเด็นนี้ก็ดูเหมือนส่งผลกระทบต่อขวัญกำลังใจของคนทำงาน และเหล่านักศึกษาที่ร่ำเรียนมาเพื่อเป็นแรงงานในด้านนี้อยู่ไม่น้อยทีเดียว  อย่างไรก็ตามไม่ใช่แค่ธนาคารไทยพาณิชย์อย่างเดียวที่ต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ผู้ประกอบธนาคารพาณิชย์อื่น ๆ ต่างก็ต้องเปลี่ยนแผนการทำธุรกิจเช่นกัน แต่กลับไม่มีเจ้าไหนที่วางแผนสุดโต่ง กำหนดลดจำนวนตัวเลขมากมายในเวลาอันสั้นเหมือนกับธนาคารไทยพาณิชย์ อย่างธนาคารกสิกรไทย และธนาคารทหารไทย มีมุมมองคล้ายกันคือไม่นำจำนวนสาขามาเป็นตัวตั้ง แต่จะปรับตามพฤติกรรมการใช้บริการของผู้บริโภคแทน ส่วนธนาคารกรุงไทยที่มีจำนวนสาขาลดลงมากที่สุดในปีที่ผ่านมา ก็ยังพยายามไม่ปรับลดทุกอย่างรวดเร็วเกินไป เพราะพบว่าการเร่งปิดสาขา อาจเป็นการกระตุ้นให้ฐานลูกค้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนในต่างจังหวัดค่อย ๆ หายไป  จะเห็นว่าผลกระทบของสังคมไร้เงินสดไม่ได้นำมาเพียงการเปลี่ยนแปลงด้านที่ดีเสมอ แต่ในขณะเดียวกันมันก็เป็นปัจจัยที่ไม่อาจหยุดยั้งได้ เพราะโลกกำลังค่อย ๆ เคลื่อนไปในจุดที่เทคโนโลยีกลายเป็นหัวใจสำคัญในการทำสิ่งต่าง ๆ ปัญหาเหล่านี้เป็นสิ่งที่เหล่าประเทศที่ได้รับการพัฒนาต้องเผชิญกันมาแล้วทั้งสิ้น แต่การปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ของเหล่าธนาคารในครั้งนี้ คาดว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงาน และความต้องการด้านการศึกษาในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องต่อไปอีกเป็นระลอกคลื่น เพราะแน่นอนว่าในอนาคตการพัฒนาทางเทคโนโลยีย่อมสามารถนำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาทำงานแทนมนุษย์ได้มากขึ้น และอัตราการจ้างงานก็จะยิ่งลดต่ำลง  เหล่าผู้ได้รับผลกระทบจะแก้เกมที่มาจากการเปลี่ยนแปลงอันหลีกเลี่ยงไม่ได้นี้อย่างไร ย่อมเป็นสิ่งที่น่าสนใจ และชวนให้ติดตามต่อ ไม่แน่ว่าการตัดสินใจลดสาขา และจำนวนพนักงานของธนาคารไทยพาณิชย์ในครั้งนี้ อาจจะกลายเป็นก้าวแรกที่รวดเร็วกว่าองค์กรอื่น ๆ ในการปรับตัวรับมือกับอนาคตก็เป็นได้

(เครดิตข้อมูลบทความจากเพจ nextempire.co)



Climate Change , Crisis Management

Climate Change มันคืออะไร? สาเหตุและผลกระทบที่ตามมา?

ถ้าใครติดตามข่าวนิตยสารช่วงที่ผ่านมาอาจจะเห็นดราม่าหน้าปกนิตยสารหัวดังอย่าง National Geographic ที่มีเสียงฮือฮาว่าไปลอกไอเดียหน้าปกของอีกที่หนึ่งมา (ถ้าใครยังไม่ได้อ่านลองค้นดูนะครับ มันหยดติ๋งยิ่งกว่าละครฉากแม่ค้าตบกันในตลาด) ซึ่งเจ้าหน้าปกนี้คร่าวคือเป็นภาพถ่ายที่มองไกลๆ จะเหมือนภูเขาน้ำแข็งที่ลอยอยู่ในมหาสมุทร แต่ถ้ามองให้ดีมันเป็นถุงพลาสติกสีขาวที่กำลังตุ๊บป่องอยู่เพื่อสื่อความหมายถึงปัญหาพลาสติกและวิกฤติของภูมิอากาศที่เรากำลังเผชิญอยู่ เรื่อง “Climate Change” ยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่สื่อต่างๆ ให้ความสำคัญและพูดถึงเป็นอย่างมาก มันเป็นศัพท์แสงที่คนใช้โยนกันไปมาคล้ายเป็นฝาชีครอบทุกอย่างที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศทั่วโลก โดยเฉพาะอุณหภูมิที่ค่อยๆ ไต่ระดับสูงขึ้นทุกๆ ปีต่อเนื่องมาแล้วหลายทศวรรษ ค่าอุณหภูมิที่เชื่อถือได้ถูกบันทึกไว้ตั้งแต่ช่วงปี 1850 และตอนนี้โดยรวมโลกของเรานั้นร้อนขึ้นประมาณ 1 องศาเซลเซียสจากช่วงปี 1850 - 1900 (ซึ่งมักถูกเรียกว่ายุคก่อนอุตสาหกรรม "pre-industrial”)

โดยปกติแล้วการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมินั้นมักถูกเรียกว่าปรากฏการณ์โลกร้อน (Global Warming) แต่ในเวลานี้นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เปลี่ยนมาใช้คำว่า “climate change” กันแทน เพราะมันไม่ได้เจาะจงเพียงแค่อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่รวมไปถึงผลกระทบของสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นจากการไต่ระดับของอุณหภูมิครั้งนี้ด้วย

โดยในตอนนี้ความพยายามร่วมมือกันของหลายประเทศเพื่อป้องกันไม่ให้อุณหภูมิไม่สูงเกินกว่า 2 องศาเซลเซียส (จากค่าเฉลี่ยยุคก่อนอุตสาหกรรม) หรือถ้าเป็นไปได้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส แน่นอนว่าความเป็นไปได้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อทุกประเทศร่วมมือกัน โฟกัสทั้งกำลังคนและกำลังทรัพย์เพื่อแก้ไขปัญหาตรงนี้โดยเฉพาะ



ผลกกระทบของการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศมีอะไรบ้าง?

ผลกกระทบของการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศที่เกิดจากมนุษย์นั้นมีตั้งแต่ภัยแล้งที่รุนแรงไปจนถึงพายุหิมะที่พัดถล่มเมือง ความถี่ของภัยธรรมชาติเหล่านี้มากขึ้นเรื่อยๆ อากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อน้ำแข็งทางขั้วโลก มนุษย์ไม่ได้เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ อุณหภูมิของมหาสมุทรที่สูงขึ้นทำให้เกิดการฟอกขาวของปะการัง (เป็นภาวะที่ปะการังอ่อนแอและกำลังจะตาย) อากาศที่แห้งแล้งในหลายพื้นที่ทำให้การฟื้นฟูของสภาพป่าหลังจากเกิดเพลิงไหม้เป็นเรื่องยากขึ้น (หรือบางที่ก็เป็นไปไม่ได้เลย) บ้านของสัตว์ตามธรรมชาติมีขนาดที่ลดลงและไม่เอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิตอีกต่อไป

การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศยังส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจและสังคมอีกด้วย การขาดแคลนอาหารนั้นเกิดขึ้นในหลายส่วนของโลกและต่อไปความเป็นไปได้ในการต่อสู้แย่งชิงทรัพยากรก็เพิ่มสูงขึ้น โดยตอนนี้เราเริ่มเห็นการอพยพย้ายถิ่นของประชาชนในบางพื้นที่จากการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศ (อย่างในเม็กซิโกที่ผู้คนต้องย้ายถิ่นฐานปีละกว่าเกือบ 7 แสนคนจากภาวะแห้งแล้ง ‘desertification’) ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นจากการละลายของน้ำแข็งขั้วโลกก็ทำให้ประชากรที่อยู่ตามชายฝั่งได้รับผลกระทบอย่างช่วยไม่ได้

แล้วอะไรคือสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ?

คำตอบสั้นๆ เลย มนุษย์นี่แหละครับ ถึงแม้ปรากฏการณ์ภัยธรรมชาติจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงบ้าง แต่มีหลักฐานมากมายชี้บอกว่าสิ่งที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้นคืิอผลงานของมนุษย์ทั้งนั้น

ถ้ายังจำวิชาวิทยาศาสตร์มัธยมปลายได้ โลกของเรานั้นถูกห่อหุ้มไปด้วยชั้นบรรยากาศที่เรียกว่า “greenhouse” เป็นชั้นก๊าซที่ทำหน้าที่กักเก็บความร้อนจากแสงอาทิตย์ที่สะท้อนผิวโลกขึ้นมา ทำให้ดาวเคราะห์สีน้ำเงินแห่งนี้สามารถเป็นบ้านของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดได้ หลายสิ่งหลายอย่างที่มนุษย์ทำล้วนก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกที่มากจนเกินไป ซึ่งมันไม่เหมือนก๊าซที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติที่สลายตัวได้เอง จึงทำให้เกิดการกักเก็บความร้อนที่มากจนเกินไปและเป็นที่มาของอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ก๊าซเรือนกระจกหลักๆ เลยคือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Dioxide) มีเทน (Methane) และ ไนตรัสออกไซด์ (Ni-trous Oxide) ซึ่งแน่นอนว่าเราได้ยินชื่อของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์บ่อยกว่าใครเพื่อน เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของการย่อยสลายทางธรรมชาติและการหายใจของสิ่งมีชีวิตต่างๆ โดยปริมาณที่มากเกินไปของก๊าซชนิดนี้เกิดจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างถ่านหินและน้ำมัน รวมไปถึงการตัดไม้ทำลายป่าเพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับเมืองและการขยายตัวของฟาร์มเลี้ยงสัตว์ (ซึ่งเป็นแหล่งสร้างก๊าซมีเทน) ทำให้จำนวนต้นไม้ที่สามารถเป็น CO2 เป็นออกซิเจนลดลง

ส่วน Chlorofluorocarbons และ Hydrofluorocarbons ที่เคยใช้กันอย่างแพร่หลายในเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างตู้เย็นในช่วงปี 2000 ตอนนี้ก็ถูกระงับและควบคุมการใช้ไปแล้วเพราะมันทำให้เกิดรอยรั่วในชั้น Ozone และเก็บกักความร้อนในชั้นบรรยากาศด้านล่าง

ทำไมคนถึงยังไม่ใส่ใจ?

หลายปีมาแล้วที่บริษัทน้ำมันหลายเจ้าพยายามหันเหความสนใจของเรา บอกว่าพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลนั้นไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศของโลก ถึงขั้นที่พวกเขาซื้อโฆษณาและสนับสนุนองค์กรต่างๆ ให้ทำให้เราไขว้เขวเกี่ยวกับเรื่องนี้ ถึงแม้ว่าการทดลองของพวกเขาก็สรุปออกมาว่าเชื้อเพลิงที่เผาไหม้นั้นเป็นสาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ก็ตามที

ตอนนี้ก็ยังมีการฟ้องร้องกันเกิดขึ้น แต่เจ้าใหญ่ๆ อย่าง Chevron ก็ออกมาประกาศอย่างเปิดเผยถึงผลกระทบของพลังงานฟอสซิลที่มีต่อโลกของเรา ซึ่งตอนนี้คำกล่าวอ้างของพวกเขาคือโบ้ยความผิดมาให้ทางผู้บริโภคที่ใช้มากจนเกินไป แทนที่จะลงที่บริษัทที่เจาะน้ำมัน และได้กำไรจากการค้าพลังงานเหล่านี้

โดยสรุป Climate Change คือ

Nasa ได้อธิบายถึงความหมายของ “Climate Change” ว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกที่มีสาเหตุหลักมาจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งเป็นก๊าซที่เก็บกักความร้อนในชั้นบรรยากาศของโลก โดยปรากฏการณ์เหล่านี้มีทั้งการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิที่ถูกเรียกว่า “Global Warming” รวมไปถึงระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น การละลายของน้ำแข็งใน Greenland, Antarctica, the Arctic และภูเขาน้ำแข็งทั่วโลก การปรับเปลี่ยนช่วงเวลาที่ดอกไม้ผลิบานออกผล และอากาศที่ร้ายแรงที่เกิดขึ้นด้วย

(เครดิตข้อมูลบทความจากเพจ GQthailand.com,บทความโดย โสภณ ศุภมั่งมี)



การจัดการในภาวะวิกฤต (Crisis Management)
ภาวะวิกฤต คือ สภาพของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่เป็นปกติทั่วไป และสถานการณ์วิกฤตนี่แหละจะเป็นตัวบ่งชี้ว่า องค์กร หน่วยงาน ไหนจะมีความพร้อมในการรับมือ และจัดการให้ผ่านพ้นไปได้อย่างไร โดยไม่เกิดความวุ่นวาย เสียหายต่อหน่วยงาน  ปัจจุบันหากมองตามหนังสือก็จะพบตำราเกี่ยวกับ การจัดการความเสี่ยง การตัดสินใจภายใต้ภาวะวิกฤต หลากหลาย แต่ถ้าถามว่าหนังสือเหล่านี้ช่วยได้หรือไม่ ตอบได้เลยว่าไม่สามารถนำมาใช้งานได้อย่างเต็มร้อย แต่จะสามารถนำมาเป็นแนวทางเพื่อการปฎิบัติเท่านั้น
การจัดการภายใต้ภาวะวิกฤตนั้นมีหลักการคร่าว ๆ คือ
1.Awareness - ทราบความเสี่ยง
2.Risk Assessment - ประเมินความเสียหาย
3.Planing - วางแผนรับมือ
4.Organization - จัดทีมรับมือ
5.Monitoring - เฝ้าระวัง
6.Implement of Plan - ซักซ้อมสถานการณ์
7.Command & Control - มีระบบบัญชาการ ควบคุม ประสานงาน
การจัดการในสภาวะวิกฤตนั้นต้องมีเครื่องในการจัดการซึ่งมีหลากหลาย แต่สิ่งที่สำคัญคือ ระบบการบัญชาการ ต้องมีการสื่อสารอย่างดี มีแบบแผนอย่างชัดเจน เพราะการสั่งการแต่ละครั้งนั่นหมายถึงความเป็นความตายของหน่วยงาน หากสั่งผิดพลาดก็เกิดความเสียหาย ซึ่งไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ทันท่วงทีหรือไม่ก็เสียทรัพยากรในการแก้ไขปัญหา  สิ่งสำคัญประการที่สองคือ การตัดสินใจในภาวะวิกฤต การตัดสินใจในรูปแบบนี้จะไม่เหมือนสถานการณ์ปกติ เพราะไม่มีโอกาสที่จะแก้ไข วางแผน ต้องปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ แต่อย่างไรก็ตาม การป้องกันเชิงรุก จะช่วยให้การตัดสินใจดีขึ้น เพราะมีการคิด การวางแผนถึงสถานการณ์ล่วงหน้าไว้แล้ว ดังนั้น การวางแผนเพื่อเผชิญเหตุ จึงเป็นเครื่องมือชุดที่สาม ที่หน่วยงานต่าง ๆ ควรมีไว้เพื่อป้องกันวิกฤต คราวนี้ลองหันกลับมาดูหน่วยงานของคุณบ้างว่า... มีอะไรที่กล่าวมาแล้วบ้าง?
ที่น่าตกใจสำหรับหน่วยงานหลายแห่งที่ผู้เขียนเคยได้สนทนาด้วย มักจะบอกว่า...
อย่าวิตกเกินเหตุ
เหตุการณ์ไม่เลวร้ายอย่างนั้นหรอก
นาน ๆ จะเกิดขึ้นสักที และคงไม่เกิดหรอก
ถ้าเกิดขึ้นก็ว่ากันตามสถานการณ์
อย่างมากก็ปิดทำการ ไม่มีอะไรมากหรอก
ค่าเสียหายตอนนั้นคงไม่มากหรอก สู้เก็บเงินไว้รอให้ปัญหาเกิดก่อนค่อยว่ากัน
ฯลฯ
สิ่งเหล่านี้คือ ความประมาท ทั้งสิ้น เพราะภาวะวิกฤตมันมีอะไรมากกว่าค่าเสียหายจากสถานการณ์ เพราะยังมีอื่น ๆ แอบแฝง เช่น
รายได้ที่หายไป
ความน่าเชื่อถือ
ความเป็นมืออาชีพ
โอกาสในการทำรายได้
เสียคุณค่าของแบรนด์
ความวุ่นวายในหน่วยงาน
การทะเลาะเบาะแว้งของพนักงาน
ฯลฯ
ดังนั้นสิ่งที่หลายหน่วยงานควรตระหนักคือ อะไรคือวิกฤต จะเสียหายมากน้อยแค่ไหนหากเกิดวิกฤต เราพร้อมรองรับหรือยัง มีใครบ้างที่ต้องรับผิดชอบ และใครบ้างจะเป็นผู้สั่งการ สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ การสื่อสารอย่างถูกต้อง แม่นยำและมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่คิดไป สั่งไป แล้วค่อยแก้ไข เพราะการสั่ง การประกาศแต่ละครั้งยากที่จะกลับคืนคำได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุค กระแสสังคมออนไลน์ ที่เฟื่องฟูอยู่อย่างเช่นทุกวันนี้ กว่าจะทำให้กลับคืนได้ยากเย็นแสนเข็ญยิ่งนัก...เตรียมไว้เถอะครับ อย่าให้วิกฤตมาทำลายโอกาส จงพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสดีกว่า... อย่างน้อยก็มีความเป็นมืออาชีพในการบริหาร ไม่ใช่การบริหารตามสถานการณ์ไปวันๆ
(เครดิตข้อมูลบทความจากเพจ yothinin.blogspot.com)


Cave

Hashtag :  #Thailand Cave Rescue  เมื่อ 1 เดือนกว่าที่ผ่านมา กลายเป็นเหตุการณ์ข่าวการกู้ภัยที่ดังไปทั่วโลก เป็นมิติใหม่ทั้งในแง่ประสบการณ์ร่วมของคนทั้งโลก ที่ไม่เคยพบเหตุการณ์การกู้ภัยในลักษณะนี้เกิดขึ้นบนโลกมาก่อน และมิติในแง่ของความเป็นการร่วมมือร่วมใจของคนทั่วโลกในการกู้วิกฤติ และยังเป็นกรณีศึกษาในหลายประเด็น ,มิติใหม่ของการรายงานข่าวแบบเรียลไทม์,เรียลลิตี้ไลฟ์สด

ถอดบทเรียนกรณีถ้ำหลวง สะท้อนวิธีคิดของไทยในการรับมือกับภัยพิบัติ

บทความโดย ดร.ณัฐวิคม พันธุวงศ์ภักดี  

เหตุการณ์ถ้ำหลวง ได้สะท้อนให้เห็นถึงบทเรียนต่อการจัดการ ซึ่งในอนาคตจะต้องมีมาตรปรับปรุงต่อไป นั่นก็คือมีความไม่พร้อมในการรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดคิดของประเทศไทย

การทำงานกันเป็นทีมนั้นไม่ควรเริ่มหลังจากภัยพิบัติได้เกิดแล้ว ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องทำงานร่วมกันอยู่ตลอดเวลา ต้องมีการแบ่งปันข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้กันและกันอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลต่างๆ ได้อย่างเต็มที่

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่การป้องกันตัวเองจากภัยต่างๆ ในพื้นที่ของตัวเอง เช่น การหลีกเลี่ยงการเข้าถ้ำหรือน้ำตกในช่วงฤดูฝน ควรถูกนำไปบรรจุอยู่ในแบบเรียนของไทย เช่นเดียวกับการที่ประเทศญี่ปุ่นสอนวิธีการเอาตัวรอดเมื่อเกิดแผ่นดินไหว





ช่วงเวลานี้ ข่าวที่สามารถทำให้คนไทยทั้งประเทศสนใจได้มากที่สุดก็คงหนีไม่พ้นกรณีนักกีฬาฟุตบอลทีมเยาวชน (ทีมหมูป่าอะคาเดมีแม่สาย) และโค้ช รวม 13 ชีวิต ที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง ซึ่งเป็นถ้ำที่มีชื่อเสียงของอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย และจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่สามารถออกมาได้ มีปฏิบัติการช่วยเหลือจากหลายฝ่ายต่อเนื่องกว่า 10 วัน จนกระทั่งทีมดำน้ำได้เข้าไปพบกับทั้ง 13 ชีวิต เมื่อค่ำวันที่ 2 กรกฎาคม ที่ผ่านมานับว่าเป็นข่าวดีที่ทั้ง 13 ชีวิตนั้นรอดปลอดภัย แม้ว่าจะต้องประสบภัยในถ้ำยาวนานกว่า 10 วัน ทว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ ได้สะท้อนให้เห็นถึงบทเรียนต่อการจัดการ ซึ่งในอนาคตจะต้องมีมาตรปรับปรุงต่อไป นั่นก็คือ มีความไม่พร้อมในการรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดคิดของประเทศไทย รวมทั้งได้แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือต่างๆ ที่ยังไม่พร้อมให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีของหน่วยงานต่างๆ ก่อนการเกิดเหตุ ภายใต้เสียงชื่นชม ใต้ทีมเวิร์ก คือโอกาสแห่งการเรียนรู้

จริงอยู่ที่ว่าการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทั้ง 13 ชีวิตในครั้งนี้อาจจะไม่ประสบความสำเร็จ หากไม่มีความร่วมมือในการกู้ภัยช่วยเหลือกันเป็นทีมของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ นักวิชาการหลายแขนง ทหาร ตำรวจ และจิตอาสาทั้งหลาย อีกทั้งยังต้องขอชื่นชมท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายที่มีความสามารถในการบริหารงานและบัญชาการได้อย่างดีเยี่ยม  แต่ว่าการทำงานกันเป็นทีมนั้นไม่ควรเริ่มหลังจากภัยพิบัติได้เกิดแล้ว ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องทำงานร่วมกันอยู่ตลอดเวลา ต้องมีการแบ่งปันข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อมูลทางด้านแผนที่ ข้อมูลจากผู้ที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษในเรื่องถ้ำ หรือข้อมูลเกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในสถานที่ต่างๆ ให้กันและกันอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลต่างๆ ได้อย่างเต็มที่ และสามารถติดต่อผู้ที่เกี่ยวข้องได้อย่างรวดเร็วที่สุดเมื่อเกิดภัยพิบัติ ไม่ใช่เพียงการรอผู้มีอำนาจมาตัดสินใจให้เพียงฝ่ายเดียว เพราะอาจจะล่าช้าไม่ทันการณ์  ที่ผ่านมาการทำงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยลักษณะดังกล่าวยังไม่ค่อยเกิดขึ้นในประเทศไทย ทั้งที่เราเองเคยประสบกับภัยพิบัติและวิกฤตมากมายที่ต้องใช้การทำงานกันเป็นทีม กระนั้นหลายๆ หน่วยงานก็ยังคงทำงานกันอย่างกระจัดกระจาย

อาจเรียกได้ว่านี่เป็นบทเรียนอีกครั้ง สำหรับทุกหน่วยงานที่ควรจะต้องตระหนักถึงการทำงานแบบบูรณาการในทุกภาคส่วนและในทุกสถานการณ์ รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมแม้ว่าจะยังไม่มีสถานการณ์วิกฤตก็ตาม

วางแผนอย่างบูรณาการ ใช้ฐานแห่งบทเรียนที่มีเป็นทางต่อยอด

นอกจากการทำงานอย่างบูรณาการแล้ว ประเทศไทยควรมีการวางแผนเชิงนโยบายในอนาคตให้มากขึ้น การวางแผนและกำหนดนโยบายตลอดจนแนวทางการดำเนินงานในอนาคต ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะคาดคะเนหรือพยากรณ์เหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ต้องอิงพื้นฐานข้อมูลและข้อค้นพบที่ได้จากการวิจัย รวมถึงองค์ความรู้ที่มีอยู่และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต เพื่อใช้ในการศึกษาความเป็นไปได้ทั้งที่พึงประสงค์และไม่พึงประสงค์ เพื่อที่จะสามารถเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่สามารถเกิดขึ้นได้ ไม่ใช่รอให้เหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้นก่อน  ผู้เขียนขอยกตัวอย่างการเตรียมพร้อมดังเช่น นครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีการลงทุนในภาคส่วนอื่นๆ เพื่อมาทดแทนเศรษฐกิจน้ำมันในอนาคต หรือการที่ประเทศเล็กๆ อย่างสิงคโปร์มีการวิจัยและพัฒนาอาวุธเพื่อป้องกันประเทศจากการถูกรุกราน ซึ่งเอาเข้าจริงก็มีความเป็นไปได้ต่ำ แต่รัฐบาลสิงคโปร์ก็ไม่ได้ทิ้งความเป็นไปได้นี้ เพราะเขาตระหนักว่าหากเกิดเหตุการณ์นั้นขึ้นจริง อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างประเมินค่าไม่ได้

บริบทถ้ำหลวง สะท้อนการจัดการ ชัดเจนคือ ภาวะ ผู้นำ

ในส่วนของบริบทถ้ำหลวง ความเป็นไปได้ที่จะมีคนไปติดอยู่ในถ้ำ โดยเฉพาะช่วงหน้าฝนมีความเป็นไปได้สูง อีกทั้งปัญหาการติดอยู่ภายในถ้ำในประเทศไทยก็เคยเกิดขึ้นแล้ว แต่นอกจากกฎหมายที่ระบุว่า เมื่อจังหวัดได้ประกาศภัยพิบัติ ผู้ว่าราชการจังหวัดจะได้รับหน้าที่ให้บัญชาการหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกล่าวกันตามข้อเท็จจริง คนไทยอาจจะไม่ได้ข่าวดีเช่นนี้หากผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ไม่ได้เป็นผู้ที่มีความสามารถและกล้าที่จะตัดสินใจ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ เอง ยังต้องมีการจัดทำระเบียบการในการจัดการความเสี่ยง (เช่น การติดป้ายเตือนภัย หรือ การปิดพื้นที่ถ้ำในช่วงฤดูฝน เป็นต้น) การลดความเปราะบาง (เช่น การให้ความรู้ต่อประชาชนที่เกี่ยวข้อง) หรือการพัฒนาแนวทางและการเพิ่มศักยภาพในการให้ความช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรมเลย อีกทั้งมีการวางแผนเพื่อให้รู้ว่าหากเกิดวิกฤตใครจะต้องมีหน้าที่อะไร และใครที่ไม่เกี่ยวข้องก็ไม่ควรเข้าไปปฏิบัติงานโดยพลการ เหล่านี้ต้องมีการกำหนดกติกากันล่วงหน้า เพื่อไม่ให้เรื่องเกิดขึ้นแล้วจึงหาทางป้องกัน

ถึงเวลาแล้ว ที่ไทยควรบรรจุการป้องกันตัวจากภัยต่างๆ ในแบบเรียน

ท้ายที่สุด การที่เด็กๆ และโค้ชทั้ง 13 ชีวิต ได้เลือกที่จะเข้าไปในถ้ำหลวง ซึ่งเป็นถ้ำที่มีความลึก มีความซับซ้อน และเข้าไปในช่วงฤดูฝนที่ฝนตกหนัก สามารถก่อให้เกิดน้ำท่วมในถ้ำได้ตลอดเวลา จนกลายเป็นผู้ประสบภัย หลายๆ คนอาจจะมุ่งไปโทษว่าเด็กนั้นดื้อ หรือทำไปด้วยความคึกคะนอง แต่ผู้เขียนกลับมองว่าการกระทำเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความไม่ตระหนักรู้ต่อความเสี่ยง และความเปราะบางของตนเอง เราจะโทษว่าเด็กนั้นดื้อเสียทีเดียวก็ไม่ได้ เพราะจากที่ติดตามข่าวผู้คนที่อยู่ในพื้นที่ส่วนใหญ่เองก็ยังไม่เข้าใจถึงลักษณะทางกายภาพ ภูมิประเทศ บรรยากาศ ระบบนิเวศ และความเสี่ยงในการเกิดภัยพิบัติในพื้นที่ของตัวเอง ทำไมถึงไม่มีการกันไม่ให้คนเข้าไปในถ้ำในช่วงฤดูฝน และที่น่าเป็นห่วงกว่านั้นก็คือมีข่าวออกมาหลายๆ พื้นที่ทั่วประเทศว่า ได้ทำการปิดถ้ำหลังจากเกิดเหตุการณ์การนี้ทำให้ผู้เขียนสงสัยว่าหากไม่เกิดเหตุการณ์ดังที่เกิดกับทั้ง 13 ชีวิต หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับถ้ำต่างๆ ทั่วประเทศก็จะยังคงไม่ให้ความสนใจต่อความเสี่ยงที่สามารถเกิดขึ้นได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง นั่นก็เพราะว่าคนในพื้นที่ควรจะเป็นผู้ที่มีความรู้มากที่สุดเกี่ยวกับพื้นที่ของตนเอง และควรมีความสามารถในการจัดการกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมไปถึงการลดความเสี่ยงภัย  ถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่การป้องกันตัวเองจากภัยต่างๆ ในพื้นที่ของตัวเอง เช่น การหลีกเลี่ยงการเข้าถ้ำหรือน้ำตกในช่วงฤดูฝน หรือวิธีง่ายๆ อย่างการว่ายน้ำ หรือการพายเรือในพื้นที่ที่อยู่ติดแม่น้ำ คลอง และทะเล ควรจะถูกนำไปบรรจุอยู่ในแบบเรียนของไทยเช่นเดียวกับการที่ประเทศญี่ปุ่นสอนวิธีการเอาตัวรอดเมื่อเกิดแผ่นดินไหว

(เครดิตข้อมูลบทความจากเพจ The Standard co)


Coaching , Crew

Coaching  : การที่โค้ช (Coach) ให้คำแนะนำ ช่วยเหลือ พัฒนาและค้นหาศักยภาพในตัวคุณ แก้ไขปัญหา ชี้แนวทางและโอกาสที่คุณมองไม่เห็นด้วยตัวเอง และผลักดันคุณสู่ความสำเร็จและใช้ชีวิตอย่างสมดุลและมีความสุข

การโค้ช (Coaching) คือ กระบวนการพัฒนาตนเองรูปแบบหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้รับการโค้ช (Coachee) บรรลุเป้าหมายต่างๆ ในชีวิต ทั้งเป้าหมายในชีวิตส่วนตัวและในหน้าที่การงาน

โค้ชคือใคร

โค้ช (Coach) คือ เพื่อนร่วมทางที่ใช้ทักษะเฉพาะของโค้ช (Coaching Skills) เพื่อให้ผู้รับการโค้ชเกิดกระบวนการภายในที่จะปลดปล่อยศักยภาพที่ซ่อนอยู่ ค้นหาคำตอบ และสามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง โดยโค้ชจะเชื่อในความสามารถของผู้รับการโค้ชในทุกด้าน และเชื่อมั่นว่าผู้รับการโค้ชมีศักยภาพที่ซ่อนอยู่ภายในและพร้อมจะก้าวไปข้างหน้าได้ด้วยตัวเอง

หน้าที่ของโค้ชคืออะไร

ค้นหา ทำให้ชัด เรียบเรียง ในสิ่งที่ผู้รับการโค้ชต้องการจะบรรลุ (Achieve)

กระตุ้นผู้รับการโค้ชให้เกิดกระบวนการค้นหาภายในตัวเอง (Self-discovery)

ทบทวนวิธีการและกลยุทธ์ที่ผู้รับการโค้ชเป็นผู้สร้างขึ้นด้วยตัวเอง

ผลักดันให้ผู้รับการโค้ชรับผิดชอบและเดินตามวิธีการของตัวเองจนบรรลุเป้าหมาย

กระบวนการนี้ช่วยให้ผู้รับการโค้ชพัฒนามุมมองที่มีต่อหน้าที่การงานและชีวิตอย่างก้าวกระโดด เพิ่มพูนทักษะผู้นำ และปลดล็อคศักยภาพของผู้รับการโค้ช

ในต่างประเทศ วัฒนธรรมการใช้โค้ชค่อนข้างแพร่หลายและเป็นที่นิยมในหมู่ผู้มีชื่อเสียง ผู้บริหารระดับสูง นักกีฬา หรือแม้แต่ประธานาธิบดี



โค้ชคือคืออะไร

การโค้ช ( Coaching)  มาจากคำว่า Kocs ซึ่งหมายถึงรถม้าขนาดใหญ่ ที่ช่วยนำคนไปถึงจุดหมายได้อย่างรวดเร็วในสมัยก่อน  จึงเป็นที่มาของคำว่า โค้ช (Coach) ในปัจจุบัน การโค้ช ในสมัยก่อน มีผู้ให้ความหมายว่า เป็นการสอนงาน แต่ในปัจจุบัน ความหมายได้เปลี่ยนแปลงไป

" การโค้ช "  คือกระบวนการทำงานร่วมกันระหว่างโค้ชซึ่งเป็นผู้ที่ช่วยเหลือ ชวนคิด หรือปลดล๊อคบางอย่างในตัวผู้รับการโค้ช (Coachee อ่านว่า โค้ชชี่) มีศักยภาพสูงขึ้น หรือมีความสุขอย่างที่เขาต้องการ ผ่านวิธีการและเครื่องมือต่างๆ  เพื่อให้ผู้รับการโค้ช ได้เรียนรู้ ตระหนักในตัวเองและเปลี่ยนแปลง และลงมือทำด้วยความคิด ความถนัด ความสามารถตัวเอง   การโค้ช จึงเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง โค้ช(Coach) และผู้รับการโค้ช (Coachee) ให้ถึงจุดหมายที่โค้ชชี่ต้องการ

ดังนั้นการโค้ชจะสามารถเกิดขึ้นได้ เมื่อผู้รับการโค้ช พร้อมและต้องการรับการโค้ชเท่านั้นเราเรียกว่า สภาวะที่พร้อมรับการโค้ช (Coachable)  บางครั้งที่ผู้เขียนเจอคือ เมื่อคนเกิดรู้สึกว่า ต้องการพัฒนาต่อ เติบโตขึ้น  แต่อาจจะยังติดประเด็นบางอย่าง ทำให้ไม่สามารถก้าวต่อไปได้ จึงต้องการโค้ชเพื่อมาช่วยเป็นเพื่อนชวนคิด หรือที่ปรึกษาช่วยพัฒนาศักยภาพ  แล้ว โค้ชนั้นมีกี่ประเภท อะไรบ้าง   เก๋ขอสรุปสั้นๆเพื่อให้เห็นภาพเบื้องต้น เช่น

- โค้ชผู้บริหาร (Executive coach) สนับสนุน พัฒนาผู้บริหาร ทั้งด้านอาชีพและชีวิต เพื่อให้เติบโตในอาชีพการงานและเพิ่มประสิทธิภาพของผลงาน

- โค้ชกีฬา (Sport Coach) โค้ชที่ทำหน้าที่สอน พัฒนา ฝึกอบรม และเพิ่มศักยภาพของนักกีฬา

- โค้ชชีวิต (Life Coach) ช่วยสร้าง และพัฒนาบุคคลรายคน สร้างแรงบันดาลใจให้บรรลุเป้าหมายชีวิตในด้านต่างๆ

- โค้ชการเงิน (Money Coah) โค้ชที่ช่วยให้โค้ชชี่บรรลุเป้าหมายทางด้านการเงินตามที่ตั้งใจไว้

- โค้ชเพื่อผลการปฏิบัติงาน (Performance coach) โค้ชที่ดึงศักยภาพ ความสามารถของบุคคลากรเผื่อปรับปรุง หรือเพิ่มผลการปฏิบัติงาน  เป็นต้น

ทักษะการโค้ชมีอะไรบ้าง ทักษะการโค้ชมีดังนี้

- ทักษะการสร้างความสัมพันธ์ (Rapport)  เพื่อสร้างความไว้วางใจและ engagement กับผู้ที่รับการโค้ช

- คำถามทรงพลัง (Powerful question) เพื่อดึงศักยภาพและความสามารถของผู้รับการโค้ช คำถามส่วนใหญ่จะเป็น คำถามปลายเปิดเพื่อ brain storming ให้ได้ความคิดใหม่ๆ สร้างการเติบโตทางความคิด , 

- การฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening)  เพื่อ ให้ได้ยินเสียงที่ไม่ได้พูด

- การสะท้อน (feedback) ที่มีคุณภาพให้เกิดการพัฒนาตัวเอง 

- การสร้างแรงบันดาลใจด้วย Story telling  เป็นต้น

(เครดิตข้อมูลบทความจากเพจ successmastermind.co.th, เพจ sasimasuk.com)

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

วันศุกร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ถวายพระพร พระเจ้าอยู่หัว ร.10



พระเอกองค์ ภูบดินทร์ ธ รักษา
สวรรค์ส่ง เทพประสงค์ โภชน์ประทาน
อวตาร ประสูติลง องค์ขัตติยา
ครองแผ่นดิน เป็นพระราชา ของชาวไทย


 
ทรงวิงวอน ผองชาวไทย จงรักชาติ
ทำนุศาสน์ ป้องบัลลังก์ ทักษ์ศักดิ์ศรี
วงศ์จักรี องค์กษัตริย์ ที่ผ่านมา
ได้นำพา ชาติพ้นภัย ให้เรืองรอง



ความสำเร็จ อุ่นไอรัก เพื่อคลายหนาว
ได้สืบสาน แต่งชุดไทย บูมเที่ยวคลอง
จากเหตการณ์ เด็กติดถ้ำ ขุนน้ำนางนอน
ทรงอาทร จัดหาอุปกรณ์ ครัวพระราชทาน



น้ำพระทัย จากพระองค์ นั้นล้ำค่า (หาที่สุดมิได้)
อุปสรรค ทุกข์ปัญหา ไม่เคยสิ้น
แผ่นดินไทย ไม่เคยขาด องค์พระบารมี
สดุดี องค์วชิราลงกรณ์ ทรงพระเจริญ







ด้วยเกล้า ด้วยกระหม่อม ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้า
เพจหยิกแกมหยอก









วันพุธที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ท่องโลก (B) ทางความคิดไปกับคีย์เวิร์ดที่ขึ้นต้นจาก A-Z อักษร B


ท่องโลกด้วยอักษรตัว B


Battery
Bitcoin
Blockchain
BNK48





Battery 

ความฝันที่จะมีแบตเตอรี่ที่มีอายุการใช้งานนานตลอดชีวิตใกล้ความเป็นจริงมากขึ้น เมื่อปีที่ผ่านมา ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เออร์วิน ในเมืองเออร์วิน รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ประสบผลสำเร็จในการออกแบบแบตเตอรี่ชนิดใหม่ ที่สามารถชาร์จใหม่ได้มากถึง 200,000 ครั้ง โดยสูญเสียความจุไปเพียง 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น (แบตเตอรี่ทั่วไปชาร์จได้ประมาณ 5,0006,000 ครั้ง ซึ่งอย่างมากสุดชาร์จได้เพียง 7,000 ครั้งเท่านั้น) ทั้งนี้เว็บไซต์ Good ระบุว่าแบตเตอรี่ชนิดดังกล่าวสามารถให้พลังงานแก่สมาร์ทโฟนหรือแล็ปท็อปทั่วๆ ไป ได้เป็นเวลาถึง 400 ปีเลยทีเดียว  เรจินาลด์ เพนเนอร์ หนึ่งในทีมวิจัย เปิดเผยว่า การค้นพบครั้งนี้เกิดขึ้นโดยบังเอิญระหว่างการทดลองเพื่อหาทางผลิตแบตเตอรี่แบบใหม่สำหรับทดแทนแบตเตอรีลิเธียม-ไอออนที่ใช้กันอยู่ โดยทีมวิจัยเชื่อว่าการใช้เส้นลวดนาโน ตามทฤษฎีน่าจะช่วยยืดอายุของแบตเตอรี่ออกไปให้ใช้งานได้นานขึ้น เนื่องจากปริมาณพื้นผิวสำหรับยึดกุมประจุไฟของลวดนาโนมีมากกว่า อย่างไรก็ตามปัญหาที่เจอก็คือตัวลิเธียมจะกัดกร่อนลวดนาโนไปในทันทีที่ผ่านการชาร์จเพียง 2,000-3,000 ครั้งเท่านั้น

โดยทั่วไป แบตเตอรี่จะแบ่งเป็นสองกลุ่มใหญ่ด้วยกัน ได้แก่

1.แบตเตอรี่ที่ทำการชาร์จจนเต็มมาจากโรงงาน เช่นแบตเตอรี่นาฬิกา(ถ่านนาฬิกา), แบตเตอรี่ไฟฉาย(ถ่านไฟฉาย)เป็นต้น ซึ่งเมื่อใช้ไฟในแบตเตอรี่จนหมดแล้วก็หมดเลยไม่สามารถกลับนำมาใช้ใหม่ได้ เราเรียกแบตเตอรี่นี้ว่า แบตเตอรี่ปฐมภูมิ(Primary Battery)

2.แบตเตอรี่ที่ทำการชาร์จใหม่ได้เมื่อแบตเตอรี่มีไฟที่อ่อนลง เช่นแบตเตอรี่รถยนต์ เราเรียกแบตเตอรี่นี้ว่า แบตเตอรี่ทุติยภูมิ(Secondary Battery)

ในระบบผลิตไฟฟ้าจากแผงโซล่าเซลล์นั้นจะใช้แบตเตอรี่แบบทุติยภูมิซึ่งสามารถชาร์จได้ใหม่เมื่อแบตเตอรี่มีกำลังไฟที่อ่อนลง ในระบบแบตเตอรี่จะทำงานเก็บพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้จากแผงโซล่าเซลล์เข้ามาไว้ แล้วปล่อยกำลังไฟฟ้าออกไปให้กับโหลดในเวลาที่ไม่มีแสงอาทิตย์ เช่นในช่วงเวลากลางคืนหรือเมฆครึ้มตลอดวัน

รถยนต์ที่เราใช้งานอยู่ทุกวันเมื่อเปิดวิทยุหรือพัดลมในรถยนต์โดยที่เราไม่สตาร์ทเครื่องยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านั้นก็ทำงานได้ปกติ แต่เมื่อเปิดไปนานๆจนไฟในแบตเตอรี่เริ่มหมดลง แรงดันในแบตเตอรี่ก็จะเหลือน้อยลง ต้องทำการชาร์จแบตเตอรี่ใหม่ การชาร์จประจุของแบตเตอรี่ในรถยนต์ทำได้โดยการสตาร์ทเครื่องยนต์รถ เพื่อจะทำให้เพลาขับไปหมุนเอาเตอเนเตอร์ผลิตไฟกระแสตรงชาร์จให้กับแบตเตอรี่ต่อไป จนแบตเตอรี่กลับมามีแรงดันไฟฟ้าที่เต็มเหมือนเดิม ซึ่งเวลาเครื่องยนต์กำลังทำงานอยู่เราก็สามารถเปิดวิทยุและพัดลมได้เหมือนเดิม เพราะว่าทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นแบตเตอรี่ โหลด เครื่องยนต์ และเอาเตอเนเตอร์ต่อทำงานร่วมกันอยู่ในระบบ ถ้าเปรียบเทียบหน้าที่การทำงานของแบตเตอรี่ของระบบผลิตไฟฟ้าจากโซล่าเซลล์ก็คล้ายกับแบตเตอรี่ในรถยนต์นั่นเอง เพียงแต่ไฟฟ้าที่นำมาชาร์จประจุจะผลิตจากแผงโซล่าเซลล์โดยผ่านเครื่องควบคุมการชาร์จ ส่วนโหลดอาจจะเป็นโหลดไฟฟ้ากระแสตรง หรือถ้าต้องการใช้งานกับโหลดไฟฟ้ากระแสสลับก็ต้องต่อผ่านอินเวอร์เตอร์อีกทีหนึ่ง

แบตเตอรี่ที่ใช้กับระบบผลิตไฟฟ้าจากโซล่าเซลล์จะมีหลายชนิด เช่น ลีดเอซิด(Lead-Acid Battery), อัลคาไลน์(Alkaline), นิคเกิลแคดเมียม(Nickel-cadmium) แต่ที่นิยมใช้กันมากที่สุดก็คือ แบตเตอรี่ลีดเอซิด เพราะมีอายุการใช้งานที่ยืนยาวและมีการปล่อยประจุ(กระแสไฟฟ้า)ที่สูง

โครงสร้างภายในของแบตเตอรี่แบบลีดเอซิด(Lead-Acid Battery)

ภายในลีดเอซิดแบตเตอรี่จะประกอบด้วยเซลล์อยู่ภายในโดยต่อกันแบบอนุกรม จำนวนเซลล์ก็ขึ้นอยู่กับการออกแบบแบตเตอรี่นั้นๆว่าให้มีค่าแรงดันใช้งานที่เท่าไร โดยทั่วไปหนึ่งเซลล์มีแรงดันประมาณ 2 โวลท์ ตัวอย่างเช่นแบตเตอรี่รถยนต์มีแรงดันใช้งานที่ 12 โวลท์ ดังนั้นข้างในแบตเตอรี่จะประกอบด้วยเซลล์ 6 เซลล์ต่ออนุกรมกันอยู่

ลักษณะของการปล่อยประจุไฟฟ้าของแบตเตอรี่  จะแบ่งออกเป็นสองแบบด้วยกัน ได้แก่  1.แบตเตอรี่ที่สามารถปล่อยประจุ(กระแส)ไฟฟ้าได้น้อย(Shallow-Cycle Battery) คือแบตเตอรี่ที่ออกแบบมาให้ปล่อยประจุไฟฟ้าได้ประมาณ 10-20 เปอร์เซนต์ของประจุไฟฟ้ารวมก่อนจะทำการชาร์จประจุใหม่ การปล่อยประจุไฟฟ้าจะมีหน่วยเป็นแอมอาวด์(Ahr) , 100 Ahr  หมายถึงแบตเตอรี่สามารถปล่อยประจุกระแสไฟฟ้า 100 หน่วยได้ 1 ชั่วโมง(ในความเป็นจริงไม่สามารถทำอย่างนั้นได้เพราะเมื่อปล่อยประจุจากแบตเตอรี่จนหมด แบตเตอรี่จะเสียทันที) ตัวอย่างถ้ามีแบตเตอรี่แบบปล่อยประจุได้น้อย(Shallow cycle battery) ที่สามารถปล่อยประจุไฟฟ้าได้ 100 แอมอาวด์อยู่หนึ่งตัว แบตเตอรี่ตัวนี้ควรที่จะปล่อยประจุไฟฟ้า(หรือใช้กระแสไฟฟ้า) ได้เพียง 10-20 แอมอาวด์ หลังจากนั้นจะต้องทำการชาร์จประจุให้เต็มก่อนการคลายประจุครั้งต่อไป ถ้าการปล่อยประจุมากเกินกว่าที่กำหนดไว้ เช่นทำการปล่อยประจุที่ 50 แอมอาวด์ จะทำให้แบตเตอรี่มีอายุการที่ใช้งานที่สั้นลง(เสื่อมเร็ว)อย่างมากเช่นตามสเปคอายุการใช้งานของแบตเตอรี่สามารถชาร์จได้ 3000 ครั้งอาจจะลดเหลือเพียงแค่ 1000 ครั้ง ดังนั้นการออกแบบระบบโดยรวมควรคำนึงถึงลักษณะการปล่อยประจุไฟฟ้าของแบตเตอรี่ด้วย   2.แบตเตอรี่ที่สามารถปล่อยประจุ(กระแส)ไฟฟ้าได้มาก(Deep-Cycle Battery) คือแบตเตอรี่สามารถปล่อยประจุได้ถึง 60-80 เปอร์เซนต์ของประจุรวมก่อนที่จะทำการชาร์จประจุใหม่ ส่วนมากแล้วจะนำมาใช้กับระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าในบ้านพักอาศัย แบตเตอรี่ชนิดนี้จะมีราคาที่สูงกว่าแบบแรกมาก แต่ใช้เพียงไม่กี่ตัวก็สามารถทดแทนประจุไฟฟ้ารวมจากแบตเตอรี่แบบแรกได้ แบตเตอรี่แบบนี้จะมีความคุ้มค่าในระยะยาว   คำถามที่มักจะพบบ่อยคือ เราจะสามารถใช้แบตเตอรี่รถยนต์แทนแบตเตอรี่กับระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ได้หรือไม่ ถ้าระบบเล็กๆ ใช้กระแสไฟที่จะไปจ่ายโหลดไม่มาก ก็สามารถใช้แบตเตอรี่รถยนต์ได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องคำนวนให้ดีว่า ไม่ควรที่จะปล่อยกระแสไฟออกจากแบตเตอรี่ให้มากเกินไปกว่าสเปคที่กำหนดไว้ด้วยเพราะถ้าปล่อยกระแสไฟออกจากแบตมากเกินไปจะทำให้อายุการใช้งานของแบตเตอรี่สั้นลง จนไม่สามารถเก็บประจุไฟฟ้าได้อีกต่อไป คล้ายกับแบตคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คที่เสื่อมแล้ว ไม่สามารถที่จะจ่ายกระแสให้กับเครื่องได้นานนัก  แบตเตอรี่รถยนต์มีอายุการใช้งานประมาณ 2 ปีแต่ถ้าเป็นแบตเตอรี่ดีพไซเคิลที่สามารถปล่อยประจุไฟฟ้าได้มากจะมีอายุการใช้งาน 4-5 ปีเลยทีเดียว ถ้าใช้งานกับระบบโซล่าเซลล์แล้ว แบตเตอรี่แบบดีพไซเคิลมีความคุ้มค่ามากกว่าและราคา ณ ปัจจุบัน(2556) ถือว่าลดลงมาจากที่ผ่านมามาก อีกทั้งยังจ่ายกระแสไฟให้กับโหลดได้มากกว่าแบตรถยนต์ก่อนที่จะทำการชาร์จประจุใหม่ด้วย   เครื่องควบคุมการชาร์จ แบตเตอรี่จะต่อกับเครื่องควบคุมการชาร์จซึ่งทำหน้าที่ปรับแรงดันให้เหมาะสมไม่ให้สูงไปเพราะอาจทำให้แบตเตอรี่เสียหายได้ ถ้าแบตเตอรี่มีแรงดันที่ต่ำมากกว่าค่าที่ตั้งไว้ในเครื่องควบคุมการชาร์จ เครื่องควบคุมการชาร์จจะปลดโหลดออกไปทันทีเพราะถ้าไม่ทำอย่างนี้แล้วประจุที่เก็บไว้ในแบตเตอรี่จะถูกปล่อยไปจนหมด ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อแบตเตอรี่เพราะจะทำให้เซลล์ที่อยู่ข้างในไม่สามารถกลับมาชาร์จประจุได้อีก



ข้อควรระวัง!  ไม่ควรปล่อยให้แบตเตอรี่ปล่อยประจุ(กระแสไฟ)จนหมด เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพในการเก็บประจุของแบตเตอรี่ลดลงไปอย่างมาก และบางครั้งจะไม่สามารถนำกลับมาชาร์จประจุได้อีกต่อไป ควรติดตั้งแบตเตอรี่ที่อุณภูมิที่กำหนดไว้ในสเปค โดยส่วนใหญ่แล้วแบตเตอรี่จะทำงานได้ดีที่อุณภูมิ 25 องศาเซลเซียส ถ้าอุณหภูมิสูงกว่านี้จะทำให้อายุการใช้งานของแบตเตอรี่ลดลง ถ้าอุณหภูมิต่ำกว่านี้ จะทำให้ประสิทธิภาพในการเก็บประจุลด  ควรเลือกขนาดความจุของแบตเตอรี่ให้มีการชาร์จประจุเต็มทุกวัน เพราะถ้าแบตเตอรี่แบบลีดเอซิดไม่เคยชาร์จเต็มเลย จะทำให้อายุการใช้งานของแบตเตอรี่สั้นลง  การติดตั้งขนาดของโซล่าเซลล์รวมต้องมีความเหมาะสมกับขนาดของแบตเตอรี่ด้วย มิฉะนั้นแล้วโซล่าเซลล์จะผลิตไฟฟ้ามากหรือน้อยเกินไป อาจทำให้แบตเตอรี่เสื่อมสภาพเร็วและทำให้เราเสียค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนแบตเตอรี่ชุดใหม่ การออกแบบขนาดโซล่าเซลล์ที่เหมาะสมตาม คู่มือออกแบบ ติดตั้งและใช้งานโซล่าเซลล์ จะช่วยให้แบตเตอรี่มีการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพและใช้งานได้ยาวนานยิ่งขึ้น

นักวิจัยค้นพบต้นแบบแบตเตอรี่ชนิดใหม่ อายุการใช้งานยืนยาวกว่าของเดิม 400 เท่า! 

นับว่าเป็นอีกหนึ่งสัญญาณดีในแวดวงเทคโนโลยี เมื่อไม่นานมานี้นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เออร์ไวน์ (UC Irvine) ได้ค้นพบต้นแบบแบตเตอรี่ที่สามารถมีอายุการใช้งานยืนยาวกว่าปัจจุบันถึง 400 เท่าโดยบังเอิญ ขณะกำลังคิดค้นดีไซน์แบตเตอรี่ Lithium-ion แบบใหม่กันอยู่ โดยว่ากันว่า แบตเตอรี่แบบใหม่นี้สามารถชาร์จได้มากกว่า 200,000 รอบโดยไม่เสื่อมสภาพ จากแบตเตอรี่รุ่นเดิมๆ ในปัจจุบันที่สามารถชาร์จได้สูงสุดเพียง 7,000 รอบเท่านั้น  เดิมทีทีมวิจัยเคยได้ตั้งเป้าหมายคิดค้นแบตเตอรี่ที่ไม่ต้องพึ่งของเหลวในการชาร์จไฟ เพราะของเหลวภายในนั้นตอบสนองกับอุณหภูมิและติดไฟได้ง่าย เป็นสาเหตุให้อันตรายต่อการเก็บรักษาและขนส่ง จนกรมการบินนานาชาติ ไม่ยอมให้โหลดแบตเดตออรี่ใต้ท้องเครื่อง ดังนั้นแทนที่จะใช้ของเหลวแบบเก่า ทีมวิจัยจึงเลือกใช้ Electrolyte Gel บวกกับเส้นลวดนาโนทอง (Gold Nanowires) ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าเส้นผมคนเราถึง 1,000 เท่า  อธิบายกันต่ออีกนิดนึงว่า จริงๆ แล้วลวดนาโนไม่ใช่สิ่งใหม่ในแบตเตอรี่เลย แต่ลวดนาโนในแบตเตอรี่ Lithium-ion ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนั้นมักจะขาดง่ายและสูญเสียคุณสมบัติในการเก็บพลังงานซึ่งเป็นสาเหตุทำให้แบตเตอรี่มีการเสื่อมอายุ แต่การใช้เส้นนาโนเคลือบทองจะทำให้ยับยั้งไม่ให้ลวดเสื่อมสภาพ จากการวิจัยแบตเตอรี่ชนิดใหม่ใน 3 เดือนที่ผ่านมาและผ่านการชาร์จ 200,000 ครั้ง ทีมวิจัยพบว่าแบตเตอรี่ที่ใช้ Electrolye Gel + Gold nanowires นั้นไม่มีร่องรอยการเสื่อมสภาพของแบตเตอรี่ หรือพูดง่ายๆ ว่าความจุแบตไม่ได้ลดลงเลย ซึ่งผลการทดลองในตอนนี้ยังอยู่แค่ในห้องแลบเท่านั้น คงต้องมีการตรวจสอบในเรื่องความปลอดภัยเพิ่มเติม และอาจใช้เวลาเป็นปีๆ กว่าจะผ่านมาตรฐานอุตสาหกรรมและนำมาผลิตให้เราได้ใช้งานกันครับ


Bitcoin



Bitcoin คือสกุลเงินในรูปแบบของดิจิทัล ถูกสร้างขึ้นมาด้วยภาษาคอมพิวเตอร์ ไม่มีใครเป็นเจ้าของ Bitcoin ไม่มีรูปร่างและไม่สามารถจับต้องได้เหมือนธนบัตรหรือเหรียญเงินบาท Bitcoin ถูกสร้างขึ้นมาด้วยกลุ่มนักพัฒนาเล็กๆกลุ่มหนึ่งตลอดจนบริษัทใหญ่ๆทั่วโลก โดยระบบของ Bitcoin ถูกรันโดยคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้งานทั่วโลก โดยใช้ระบบซอฟต์แวร์ในการถอดสมการคณิตศาสตร์

Bitcoin ถือเป็นสกุลเงินแรกของโลกที่ถูกเรียกว่าคริปโตเคอเรนซี (cryptocurrency)

อะไรทำให้ Bitcoin แตกต่างจากสกุลเงินทั่วๆไป Bitcoin สามารถใช้แทนเงินสดซื้อสินค้าออนไลน์ อาจคล้ายกับระบบซื้อขายผ่านอินเทอร์เนตทั่วๆไปที่ใช้บัตรเดบิตหรือบัตรเครดิต

อย่างไรก็ตาม ความพิเศษของ Bitcoin ที่เป็นตัวช่วยให้มันเป็นที่นิยมคือมันถูกควบคุมแบบกระจาย (decentralize) กล่าวคือไม่มีสถาบันการเงินไหนสามารถควบคุมบิมคอยได้ ซึ่งนั่นทำให้ผู้คนที่เลือกใช้ Bitcoin ส่วนใหญ่สบายใจเนื่องจากแม้แต่ธนาคารก็ไม่สามารถควบคุม Bitcoin ได้

นักพัฒนาด้านซอฟต์แวร์ผู้ใช้นามแฝงว่าซาโตชิ นาคาโมโตะเป็นผู้พัฒนา Bitcoin ขึ้นมาซึ่งเป็นระบบจ่ายเงินที่อ้างอิงอยู่บนการถอดสมการคณิตศาสตร์ โดยจุดประสงค์ของเขาคือการสร้างสกุลเงินที่เป็นอิสระจากรัฐบาลและธนาคาร, สามารถส่งหากันผ่านระบบอินเทอร์เนตและมีค่าธรรมเนียมที่ถูกมากๆ

ไม่มีใครพิมพ์ Bitcoin  ได้ เพราะมันเป็นสกุลเงินที่ไม่สามารถจับต้องได้เหมือนกับธนบัตรที่ถูกพิมพ์โดยรัฐบาล, ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาให้สอดคล้องกับจำนวนประชากร และมันมีกฏเกณฑ์ในตัวของมันเอง ในขณะที่ธนาคารกลางบางประเทศสามารถที่จะพิมพ์เงินได้เองเพื่อกู้วิกฤติหนี้แห่งชาติ หรือประกาศอ่อนค่าเงินของตัวเอง แต่ Bitcoin ถูกสร้างขึ้นโดยเป็นเหมือนกับไฟล์คอมพิวเตอร์ โดยกลุ่มนักพัฒนาอิสระที่ใครๆก็สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้ การจะผลิต Bitcoin ขึ้นมาได้นั้นต้องใช้วิธีการ ขุดโดยการใช้คอมพิวเตอร์ที่ตั้งอยู่บนเครือข่ายที่จัดวางไว้ให้เท่านั้น โดยเครือข่ายนี้ยังสามารถที่จะใช้เพื่อช่วยในการจัดการการโอนส่ง Bitcoin ให้กันได้ ซึ่งหากจะเรียกแล้ว มันก็คือเครือข่ายส่วนตัวของ Bitcoin นั่นเอง

ถ้างั้น Bitcoin ก็สามารถถูกสร้างขึ้นมาแบบมีจำนวนจำกัด ด้วยการมีอยู่ของระบบ Bitcoin โพรโตคอล ซึ่งเปรียบเสมือนกับผู้คุมกฏแห่งเครือข่าย Bitcoin ได้กล่าวไว้ว่า Bitcoin จะสามารถที่จะถูกผลิตขึ้นมาได้เพียงแค่ 21 ล้าน Bitcoin เท่านั้น อย่างไรก็ตาม เจ้า Bitcoin พวกนี้สามารถที่จะถูกแบ่งออกเป็นจำนวนย่อยๆได้ (โดยหน่วยที่เล็กที่สุดของ Bitcoin คิดเป็นหนึ่งร้อยล้านต่อ 1 Bitcoin โดยหน่วยนี้ถูกเรียกว่า ซาโตชิเพื่อเป็นเกียรติให้กับผู้สร้าง Bitcoin )  ราคา Bitcoin ถูกอ้างอิงหน่วยเงินที่เราคุ้นเคยกันดีนั้นมักจะถูกนำมาผูกติดกับราคาของทองหรือเงิน โดนทฤษฎีแล้ว ถ้าคุณเดินไปซื้อทองที่ร้านทองด้วยเงินบาท คุณก็จะได้ทองกลับบ้าน แต่ในขณะเดียวกัน Bitcoin นั้นไม่ได้ถูกอ้างอิงกับทอง แต่ถูกอ้างอิงด้วยสมการทางคณิตศาสตร์

ผู้คนทั่วโลกกำลังใช้ซอต์แวร์หรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ช่วยในการถอดสมการทางคณิตศาสตร์เพื่อผลิต Bitcoin โดยสูตรทางคณิตศาสตร์เหล่านี้มีอยู่ให้หาได้แบบไม่คิดเงิน ทำให้แม้แต่คุณก็สามารถเข้าไปตรวจเช็คได้แบบฟรีๆ โดยซฟอต์แวร์ที่ว่านั้นเป็นระบบ open source แปลว่าทุกคนสามารถที่จะตรวจสอบความโปร่งใสได้


หากนึกถึง Bitcoin ควรจะนึกถึงอะไร  Bitcoin มีความพิเศษในตัวมันเองที่ทำให้แม้แต่ค่าเงินของรัฐบาลก็ไม่อาจเลียนแบบได้



1.มันใช้เทคโนโลยีการกระจาย เครือข่ายของ Bitcoin ไม่ได้ถูกควบคุมโดยศูนย์กลางที่ไหนหรือใครคนใดคนหนึ่ง เครื่องขุด Bitcoin ทุกๆเครื่องมีส่วนช่วยในการทำธุรกรรมในการจ่ายเงินของ Bitcoin และเครื่องขุดเหล่านี้ทำงานด้วยกันทั่วโลก ซึ่งแปลว่าในทางทฏษฎีแล้ว ทางรัฐบาลหรือผู้มีอำนาจไม่สามารถที่จะเข้ามายึดหรือสั่งทำลายเครื่องขุด Bitcoin เพียงแค่เครื่องใดเครื่องหนึ่งเพื่อหวังให้ระบบเครือข่ายของ Bitcoin ล่มสลายได้ หรือแม้แต่พยายามที่จะยึดเอา Bitcoin มาเป็นของตัวเองแบบที่ธนาคารกลางแห่งยุโรปเคยพยายามลองทำมาแล้วที่ Cyprus ในปี 2013 แต่ก็ล้มเหลว ประเด็นคือถ้าอยากจะทำลาย Bitcoin ให้หมดไปจากโลกนี้ ทางรัฐบาลอาจต้องไล่ทำลายเครื่องขุด Bitcoin ที่มีกระจายไปอยู่ทั่วโลกนั่นเอง

2.มันง่ายต่อการติดตั้ง ธนาคารส่วนใหญ่มักจะพยายามหลอกล่อและเชิญให้คุณมาเปิดบัญชีธนาคารที่มีขั้นตอนการเปิดที่ยุ่งยาก ลืมเรื่องการเปิดบัญชีธนาคารเพื่อการค้าขายแบบง่ายๆไปได้เลย ในขณะเดียวกันการเปิดใช้งานกระเป๋า Bitcoin สามารถที่จะทำได้ให้เสร็จได้ง่ายในระดับวินาที ไม่มีคำถามมาถามให้กวนใจ และไม่มีค่าธรรมเนียมใดๆทั้งสิ้น

3.มันไร้ตัวตน ซึ่งก็ใช่ เนื่องจากผู้ใช้งานสามารถที่จะถือบัญชี Bitcoin ได้ทีละหลายๆบัญชี และบัญชีเหล่านั้นก็ไม่ได้มีชื่อหรือข้อมูลส่วนตัวของคุณมาเชื่อมกับมัน แต่ทว่า

4.มันโปร่งใสแบบ 100% รายละเอียดการเก็บ Bitcoin นั้นละเอียดในระดับถึงขั้นที่สามารถตรวจจับไปจนถึงการโอนครั้งแรกตั้งแต่มี Bitcoin มาเลยทีเดียว โดยสมุดบัญชีการโอนของ Bitcoin นั้นเราจะเรียกมันว่าบล็อกเชน (Blockchain) โดยบล็อกเชนที่ว่านี้จะเปรียบเสมือนสมุดบัญชีธนาคารกลางที่สามารถบอกการเคลื่อนไหวของบัญชี Bitcoin ทั่วโลกถ้าหากคุณมีบัญชี Bitcoin ที่เคยใช้ส่งหรือรับ Bitcoin ละก็ ทุกคนสามารถที่จะเข้ามาตรวจได้ว่าแต่ละบัญชีเคยมีการเคลื่อนไหวของจำนวน Bitcoin เข้าออกมาแล้วกี่ Bitcoin แต่พวกเขาไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่าอันไหนเป็นของคุณมีเทคนิคที่ผู้ใช้ Bitcoin บางคนนำมาแนะเพื่อเพิ่มความไร้ตัวตนให้คุณด้วยการไม่ใช้กระเป๋าเงิน Bitcoin ใบเดียวตลอดหลายๆครั้ง และการโอน Bitcoin ไปทีละเยอะๆกระจายๆไปทีละหลายๆกระเป๋า

5.ค่าธรรมเนียมที่ต่ำติดดิน ธนาคารอาจจะคิดค่าธรรมเนียมในการโอนเงินกับคุณประมาณ 35-500 บาท แต่ Bitcoin ไม่

6.การโอนที่รวดเร็วมาก คุณสามารถที่จะส่ง Bitcoin ไปหาใครก็ได้บนโลกนี้โดย Bitcoin ที่คุณส่งข้ามโลกไปหาอีกคนนั้น จะไปปรากฏที่กระเป๋าเงินของเขาในระดับนาที

7.เรียกคืนไม่ได้ เมื่อ Bitcoin ของคุณถูกส่งออกไปนั้น มันจะไม่มีวันกลับมาหาคุณอีก หรือนอกจากผู้ได้รับจะส่งมันกลับคืนมาหาคุณ

สรุปคือ Bitcoin นั้นมีข้อดีที่มากอยู่พอสมควรในทางทฤษฎี แต่มันทำงานอย่างไรล่ะ ลองอ่านบทความนี้ดูเกี่ยวกับวิธีการที่ Bitcoin ถูกสร้างขึ้น และจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อมีการส่ง Bitcoin กันเกิดขึ้นรวมไปถึงวิธีที่เครือข่าย Bitcoin ทำงาน

สถานที่ๆคุณสามารถซื้อ Bitcoin ได้ในไทย  ปัจจุบัน ตลาดการแลกเปลี่ยน Bitcoin ในประเทศไทยเริ่มบูมมากขึ้น และมีผู้ให้บริการหลายๆที่เปิดตัวกันมามากขึ้น ทำให้ตัวเลือกสำหรับผู้บริโภคนั้นก็มีเยอะขึ้นตาม ทางสยามบล็อกเชนได้วิเคราะห์ประเภทของเว็บแลกเปลี่ยน Bitcoin ในประเทศไทย และวิธีการเลือกดูผู้ให้บริการซื้อขาย Bitcoin ในไทยแบบครบถ้วน




Blockchain

Blockchain (บล็อกเชน) คำศัพท์ใหม่ ที่เราเริ่มได้ยินตามสื่อต่างๆ รวมถึงตามงานสัมมนากันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้าน FinTech บทความนี้ผู้เขียนตั้งใจจะขออธิบาย concept ของมัน โดยเฉพาะเรื่องประโยชน์และการนำเทคโนโลยีนี้ไปประยุกต์ใช้  bitcoin-green

Blockchain (บล็อกเชน) คืออะไร และสำคัญอย่างไร

“Blockchain นั้นเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยนำมาซึ่งความปลอดภัย น่าเชื่อถือ โดยไม่ต้องอาศัยคนกลาง

โดยปกติแล้วเรามักต้องพึ่งพิงบุคคลที่สาม (centralized trusted party) มาช่วยทำหน้าที่เป็นคนกลางคอยตรวจสอบความน่าเชื่อถือเวลาทำธุรกรรม  ถ้าท่านผู้อ่านเคยทำธุรกรรมออนไลน์ จะสังเกตเห็นว่า มักจะต้องมีคำที่ระบุว่า Secured by หรือ Protected by ตามด้วยชื่อตัวกลางใดๆ  แน่นอนว่า Trust เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ไม่อย่างนั้นเราจะกล้ากรอกข้อมูลบัตรเครดิตได้อย่างไร โดยที่ยังมั่นใจว่ามันจะไม่รั่วไหล หรือถูกทำให้เปลี่ยนแปลง

การมาของบล็อกเชนมีส่วนช่วยอย่างมาก เพราะบล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีใหม่ ที่ประโยชน์ของมันคือมันเป็นเทคโนโลยีที่นำมาซึ่งความปลอดภัย น่าเชื่อถือ โดยไม่ต้องอาศัยคนกลาง ทีนี้ธุรกรรมออนไลน์ใดๆ ก็จะสามารถทำได้อย่างสะดวกมากขึ้น ใส่ความคิดสร้างสรรค์ได้มากขึ้น creative มากขึ้น innovative มากขึ้น ประหยัดขึ้น รวดเร็วขึ้น มันเรียกได้ว่าเป็น “transfer of trust in a trustless world” เพราะถึงแม้สองบุคคลจะไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ก็สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้ด้วยความมั่นใจ พูดถึงคำว่าแลกเปลี่ยนข้อมูล ก็มีการประยุกต์ใช้ได้อย่างกว้างขวางทีเดียว เราจึงตื่นเต้นกันว่าบล็อกเชนนี่แหละ ต่อไปจะเป็น Game changer

การทำงานของ Blockchain  บล็อกเชน เป็นรูปแบบการเก็บข้อมูล (Data structure) แบบหนึ่ง ที่ทำให้ข้อมูล Digital transaction ของแต่ละคนสามารถแชร์ไปยังทุกๆ คนได้ เป็นเสมือนห่วงโซ่ (Chain) ที่ทำให้ block ของข้อมูลลิ้งก์ต่อไปยังทุกๆ คนเป็น โดยที่ทราบว่าใครที่เป็นเจ้าของและมีสิทธิในข้อมูลนั้นจริงๆ

เมื่อบล็อกของข้อมูลได้ถูกบันทึกไว้ในบล็อกเชน  มันจะเป็นเรื่องยากมากๆ ที่จะเข้าไปเปลี่ยนแปลง เวลาที่มีใครต้องการจะเพิ่มข้อมูล ทุกๆ คนในเครือข่ายซึ่งล้วนแต่มีสำเนาของบล็อกเชน สามารถรัน Algorithm เพื่อตรวจสอบ Transaction โดย Transaction ใหม่นี้จะได้รับอนุญาต ต่อเมื่อในเครือข่ายส่วนใหญ่เห็นด้วยว่ามันถูกต้อง

Bitcoin (บิทคอยน์) กับ Blockchain (บล็อกเชน) เกี่ยวข้องกันอย่างไร  บล็อกเชน เป็นเทคโนโลยี ด้านความปลอดภัยของข้อมูล  ส่วน บิทคอยน์ ว่าด้วยเรื่องสกุลเงินบนโลกดิจิตอล

จะเห็นได้ว่า บล็อกเชน ไม่ใช่ บิทคอยน์ และบิทคอยน์ ก็ไม่ใช่บล็อกเชน แต่โมเดลบิทคอยน์ มีความต้องการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ เพื่อให้การซื้อขายสกุลเงินดิจิตอลนี้ มีความปลอดภัย

และเพราะว่า บล็อกเชน ว่าด้วยเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล ดังนั้นมันจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องได้กับทุกอุตสาหกรรม ไม่เจาะจงเฉพาะบิทคอยน์ หรือ FinTech เพียงแต่เทคโนโลยีนี้เรียกได้ว่าส่งผลกระทบต่อวงการ FinTech ค่อนข้างเห็นได้ชัดเจน และการบูมของเทคโนโลยีตัวนี้ มาจากความพยายามในการทำบิทคอยน์

ยกตัวอย่างการประยุกต์ใช้  เช่น วงการอสังหาริมทรัพย์ สามารถประยุกต์ใช้ทำ Smart contract โดยถ้าสัญญาอยู่ในบล็อกเชน ทุกคนจะเห็นข้อมูลตรงกัน เราจึงสามารถไว้ใจให้ระบบ Automate ปฏิบัติงานใดๆ ตามที่ระบุไว้ในสัญญาได้ นอกจากนี้ยังมีการประยุกต์ใช้ได้อีกมากมาย

ทิ้งท้าย ขอแนะนำให้นำคีย์เวิร์ดต่างๆ บนภาพข้างต้นนี้ ไปลองศึกษาเพิ่มเติมนะคะ ความจริงเรื่องของบล็อกเชน มีข้อมูลอีกมากมายที่รอให้ท่านศึกษา ทั้งนี้ท่านสามารถเซิร์จอ่านได้ทั้ง Financial blockchain และ Non-financial blockchain จะพบกับตัวอย่างการประยุกต์ใช้มากมาย หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจคอนเซปต์ของเทคโนโลยีบล็อกเชนมากขึ้น ไว้มีโอกาสจะนำเสนอคำศัพท์อื่นๆ เพิ่มเติมอีกค่ะ

ขอบคุณรูปภาพประกอบจาก letstalkpayments.com, cryptocoinsnews.com

(เครดิตข้อมูลบทความจากเพจ techsuace.co.)

 


Bnk48

บีเอ็นเคโฟร์ตีเอต (BNK48) เป็นกลุ่มไอดอลหญิงของประเทศไทย และเป็นวงน้องสาวของกลุ่มไอดอลญี่ปุ่นเอเคบีโฟร์ตีเอต (AKB48) ลำดับที่ 3 ภายใต้แนวคิดร่วมกันคือ "ไอดอลที่คุณสามารถไปพบได้" ก่อตั้งโดย บีเอ็นเคโฟร์ตีเอต ออฟฟิศ เริ่มเปิดออดิชันครั้งแรกเมื่อกลางปี พ.ศ. 2559 เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2560 ด้วยสมาชิก 30 คน และเปิดตัวซิงเกิลแรกออกมาในชื่อ "อยากจะได้พบเธอ" เมื่อวันที่ 8 สิงหาคมในปีเดียวกัน สมาชิกของวงมีจำนวนไม่แน่นอนเพราะมีการเปิดรับสมาชิกรุ่นใหม่และมีการจบการศึกษาอยู่เรื่อยๆ ปัจจุบันวงมีสมาชิกทั้งหมด 53 คน ชื่อของวงนั้นตั้งตามชื่อย่อของ บางกอก (Bangkok) หรือ กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศไทย มีสีประจำวงเป็นสีม่วงอ่อนของดอกกล้วยไม้

พ.ศ. 25542559: ก่อนการเปิดตัวและการออดิชัน

ก่อนที่จะมีการประกาศอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการจัดตั้งวงบีเอ็นเคโฟร์ตีเอตในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2554 ยะซุชิ อะกิโมะโตะ ผู้ก่อตั้งแฟรนไชส์เอเคบีโฟร์ตีเอต ได้ให้สัมภาษณ์กับนิตยสารจีคิว (GQ) และรายการทีวี วะรัตเตะ อีโตะโมะ ของประเทศญี่ปุ่นถึงความเป็นไปได้ในการจัดตั้งวงน้องสาวนอกประเทศญี่ปุ่นต่อจากวงเจเคทีโฟร์ตีเอต (JKT48) ซึ่งประเทศที่เป็นไปได้ก็คือประเทศไต้หวันและประเทศไทย

ช่วงปลายปี พ.ศ. 2556 โรส เอ็นเตอร์เทนเมนท์ แพ้การประมูลทีวีดิจิทัล หมวดหมู่เด็ก เยาวชน และครอบครัว ของกสทช. ทำให้เดินหน้าทำงานเกี่ยวกับดูแลศิลปิน จิรัฐ บวรวัฒนะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรส อาร์ทิสท์ แมเนจเม้นท์ (ปัจจุบัน) ได้ติดต่อ เอเคเอส บริษัทที่จัดการและบริหารกลุ่มไอดอลญี่ปุ่น เอเคบีโฟร์ตีเอต เพื่อขอสิทธิ์มาทำวงน้องสาวในประเทศไทย ต่อมาเมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2559 ในงานคอนเสิร์ตจบการศึกษาของ มินามิ ทากาฮาชิ สมาชิกวงเอเคบีโฟร์ตีเอต ได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการถึงการก่อตั้งวงน้องสาวต่างประเทศของเอเคบีโฟร์ตีเอตวงใหม่อีกสามวงด้วยกัน ซึ่งได้แก่วงทีพีอีโฟร์ตีเอต (TPE48) ประเทศไต้หวัน, เอ็มเอ็นแอลโฟร์ตีเอต (MNL48) ประเทศฟิลิปปินส์ และบีเอ็นเคโฟร์ตีเอต (BNK48) ประเทศไทย  เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 โรส อาร์ทิสท์ จัดกิจกรรม "บีเอ็นเคโฟร์ตีเอตวีนีดยู" ที่เอ็มควอเทียร์ เพื่อประกาศเปิดรับสมัครรุ่นที่ 1 อย่างเป็นทางการ โดยเปิดออดิชันครั้งแรกสำหรับรุ่นที่ 1 ผ่านทางเว็บไซต์เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ถึง 31 สิงหาคม มีผู้สมัครทั้งหมด 1,357 คน ทีมงานได้คัดเลือกผู้เข้าสมัครจำนวน 330 คนให้ผ่านเข้ารอบออดิชันครั้งต่อไปในวันที่ 5 กันยายน และคัดเหลือ 80 คนในวันที่ 23 กันยายน นอกจากนี้วงยังมีแผนที่จะเปิดตัวสมาชิกรุ่นแรกภายในปี พ.ศ. 2559 แต่เนื่องจากเหตุการณ์สวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงทำให้วงต้องระงับกิจกรรมทั้งหมดชั่วคราวถึงวันที่ 18 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันออดิชันรอบสุดท้ายที่คัดเลือกเหลือ 29 คนเป็นสมาชิกรุ่นแรกของวง[โน้ต 1]

พ.ศ. 2560: การเปิดตัวครั้งแรกกับซิงเกิล อยากจะได้พบเธอ และ คุกกี้เสี่ยงทาย  เจนนิษฐ์, น้ำหนึ่ง, เมษา, น้ำหอม, ไข่มุก, และมิโอริ ที่เดอะมอลล์บางกะปิ เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2560  เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 วงได้เปิดตัวสมาชิกรุ่นแรกในงาน "เจแปนเอกซ์โปไทยแลนด์ 2017" ต่อมาในวันที่ 13 เมษายน รินะ อิซึตะ สมาชิกวงเอเคบีโฟร์ตีเอต ประกาศว่าจะเข้าร่วมวงด้วย ทำให้สมาชิกในวงทั้งหมดเพิ่มเป็น 30 คน และเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน วงได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการในงาน "บีเอ็นเคโฟร์ตีเอตเดอะเดบิวต์" พร้อมกับซิงเกิลแรกในชื่อ "อยากจะได้พบเธอ" ซึ่งประกอบด้วยเพลง 3 เพลงด้วยกัน อันได้แก่ "อยากจะได้พบเธอ" "ก็ชอบให้รู้ว่าชอบ" และ "365 วันกับเครื่องบินกระดาษ" พร้อมกับประกาศสมาชิกเซ็มบัตสึ[โน้ต 2]ชุดแรกจำนวน 16 คน ซึ่งวงได้เปิดขายแผ่นซีดีของซิงเกิลนี้ในเฉพาะระยะเวลาสั้น ๆ โดยออกวางจำหน่ายเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม และขายได้ 13,500 ชุดนอกจากนี้ วงยังได้จัดกิจกรรมงานจับมือเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ที่เซ็นทรัลพลาซา บางนา มีผู้เข้าร่วมงานเกือบ 4,000 คน ต่อมาวงได้เปิดตัวเพลง "คุกกี้เสี่ยงทาย" เป็นครั้งแรกในคอนเสิร์ต "2017 โฟร์วันวัน แฟนดอมปาร์ตีอินแบงคอก" ร่วมกับ ผลิตโชค อายนบุตร และ ไอคอน ที่รอยัลพารากอนฮอลล์ ซึ่งเป็นเพลงหลักของซิงเกิลในชื่อเดียวกันที่วางจำหน่ายในวันที่ 20 ธันวาคม จากนั้นวงได้แสดงเพลงนี้อีกครั้งในงาน "เจแปนเอกซ์โปอินไทยแลนด์ 2017" เมื่อวันที่ 1 และ 3 กันยายน ร่วมกับกลุ่มดนตรีญี่ปุ่น เวิลด์ออเดอร์ (World Order) พร้อมกับเปิดตัวเพลงใหม่ในชื่อ "บีเอ็นเคโฟร์ตีเอต"[โน้ต 3]  ในวันที่ 10 กันยายน วรรษมณฑ์ พงษ์วานิช (คิตแคต) หนึ่งในสมาชิกรุ่นแรกของวง เป็นคนแรกที่ได้ประกาศจบการศึกษาเนื่องจากเหตุผลที่ต้องการศึกษาต่อทางสายแพทยศาสตร์ ซึ่งวงก็ได้จัดคอนเสิร์ตอำลาในวันที่ 23 กันยายน ที่ศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์ ต่อมาเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ไอรดา ธวัชผ่องศรี (ซินซิน) ได้ประกาศจบการศึกษาเช่นกัน โดยงานที่เธอเข้าร่วมเป็นครั้งสุดท้ายคือคอนเสิร์ตชื่อ "บีเอ็นเคโฟร์ตีเอต มินิไลฟ์แอนด์แฮนด์เชค" ซึ่งตรงกับวันที่ 18 พฤศจิกายน และภายในงานนี้วงก็ได้เปิดตัวเพลงใหม่ในชื่อ "พลิ้ว" แสดงโดยสมาชิกยูนิตพิเศษ 7 คน ซึ่งเป็นเพลงสุดท้ายที่ใช้ประกอบในซิงเกิล "คุกกี้เสี่ยงทาย"  เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม ในงานคอนเสิร์ต "บีเอ็นเคโฟร์ตีเอต วีวิชยู" วงได้ประกาศก่อตั้งทีมบีทรี (BIII) ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 24 คน รวมถึงเปิดตัวซิงเกิลลำดับที่ 3 ในชื่อ "วันแรก" และเปิดการแสดงลำดับแรกของทีมบีทรีในชื่อ ปาร์ตี้ในฝัน ในโรงละครของวงภายในเดือนเมษายน พ.ศ. 2561

พ.ศ. 2561ปัจจุบัน: อัลบั้ม ริเวอร์ และการเปิดตัวรุ่นที่ 2  อิสึรินะ, ตาหวาน, เฌอปราง, เจนนิษฐ์, น้ำหนึ่ง, และมิโอริ ในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 72 เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 ในงานจับมือประจำซิงเกิล "คุกกี้เสี่ยงทาย" เมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2561 มีการประกาศเพลงรองอีก 2 เพลงที่จะใช้ประกอบในซิงเกิล "วันแรก" ซึ่งได้แก่ "ประกายน้ำตาและรอยยิ้ม" และ "คำสัญญาแห่งคริสต์มาสอีฟ" ต่อมาเมื่อวันที่ 29 มกราคม เจตสุภา เครือแตง (แจน) ได้ประกาศจบการศึกษา เพราะได้รับโอกาสไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่น หลังจากนั้นมีการเปิดออดิชันสำหรับสมาชิกรุ่นที่ 2 ผ่านทางเว็บไซต์ตั้งแต่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2560 จนถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 มีผู้เข้าสมัครเป็นจำนวน 10,782 คน เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ วงได้จัดงานมินิคอนเสิร์ตขึ้นในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 72 โดยแสดงหน้าอัฒจันทร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ คริสติน ลาร์เซ่น (น้ำหอม) ได้ประกาศจบการศึกษา เพื่อไปศึกษาต่อที่ประเทศเดนมาร์ก ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้เป็นบริษัทแรกที่ตั้งให้วงเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ และในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ทีมงานได้ประกาศรายชื่อผู้ผ่านเข้ารอบออดิชันรอบที่หนึ่งของรุ่นที่ 2 จำนวน 300 คน ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ วงได้รับเลือกเป็นทีมเชียร์หลักให้แก่ฟุตบอลทีมชาติไทย เมื่อวันที่ 21 มีนาคม วงได้ประกาศรายชื่อผู้ผ่านเข้ารอบออดิชันรอบสุดท้ายจำนวน 94 คน โดยผู้เข้ารอบทั้งหมดได้ไปปรากฏตัวที่ดิจิตอลไลฟ์สตูดิโอเมื่อวันที่ 2629 มีนาคม และ 23 เมษายน วันที่ 22 มีนาคม วงแสดงเพลง "วันแรก" ครั้งแรกในงานฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานคิงส์คัพ ครั้งที่ 46 ที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน และในวันที่ 31 มีนาคม และ 1 เมษายน วงได้แสดงคอนเสิร์ตใหญ่ครั้งแรกในชื่อ "สตาร์ตโตะ" ณ เอ็กซิบิชัน ฮอลล์ 106 ไบเทค บางนา ได้มีการเปิดตัวและแสดงเพลงใหม่ เช่น "ประกายน้ำตาและรอยยิ้ม" และ "ปาร์ตี้ในฝัน" ซึ่งจะเป็นเพลงที่ใช้แสดงในโรงละคร และเพลง "ริเวอร์" ซึ่งจะเป็นเพลงในอัลบั้ม ในวันที่ 24 ถึง 27 มีนาคม วงเอเคบีโฟร์ตีเอตได้เปิดโอกาสให้สมาชิกจากวงบีเอ็นเคโฟร์ตีเอตสามารถเข้าร่วมสมัครงานเลือกตั้งเซ็มบัตสึประจำซิงเกิลที่ 53 ได้ โดยผู้ที่ติด 16 อันดับแรกจะได้รับตำแหน่ง "เวิลด์เซ็มบัตสึ" มีผู้ลงสมัครจากวงเป็นจำนวน 10 คน ได้แก่เฌอปราง, ไข่มุก, อิสึรินะ, มิโอริ, เจนนิษฐ์, จ๋า, นิ้ง, ซัทจัง, เคท, และมิวสิค เป็นครั้งแรกที่มีการอนุญาตให้วงน้องสาวนอกประเทศญี่ปุ่นเข้าร่วมได้ ต่อมาวันที่ 24 เมษายน วงได้รับเชิญจากนายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ไปประชาสัมพันธ์สถานีวิทยุของรัฐ ซึ่งมีผู้คนจำนวนหนึ่งมองว่าการกระทำนี้เป็นการหาเสียงจากสมาชิกวงในการเลือกตั้งของประเทศไทยที่กำลังจะถึง แต่วงได้ออกมาปฏิเสธในภายหลังว่ากิจกรรมนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองแต่อย่างใด  เมื่อวันที่ 29 เมษายน ในงาน Tokyo Idol Festival in Bangkok Comic Con 2018 ที่รอยัลพารากอนฮอลล์ สยามพารากอน วงได้เผยแพร่มิวสิควีดีโอเพลง "ริเวอร์" ให้ผู้เข้าชมในงานได้ชมเป็นครั้งแรก ก่อนให้ได้ชมผ่านสื่อสังคมต่าง ๆ ในวันที่ 30 เมษายน โดยมีการประกาศล่วงหน้าในวันเดียวกัน นอกจากนี้วงยังเปิดตัวสมาชิกรุ่นที่ 2 อย่างเป็นทางการจำนวน 27 คนในงานนี้เช่นกัน  ทั้ง 27 คนนี้ได้ไปร่วมชมการแข่งขันฟุตบอลอุ่นเครื่องที่ทีมชาติไทยพบกับทีมชาติจีนเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ที่สนามราชมังคลากีฬาสถานด้วย โดยมีการประกาศล่วงหน้าเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม และเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม ได้ประกาศการวางจำหน่ายอัลบั้มแรกในชื่อ ริเวอร์  วันที่ 17 กรกฎาคม ในงานเปิดตัวอย่างเป็นทางการของรุ่นที่ 2 ได้ประกาศซิงเกิลที่สี่ในชื่อ คิมิวะเมโลดี และเพลงรอง ฤดูใหม่ ซึ่งเป็นเพลงที่มีเซมบัตสึเฉพาะรุ่นที่ 2

(เครดิตข้อมูลจากเพจ วิถีพีเดีย สารานุกรมออนไลน์)