เอเอฟพี - ทีมกู้ภัยหลายร้อยคนในอินเดียยังเดินหน้าให้ความช่วยเหลือชาวบ้านที่ติดอยู่ใต้ซากหักพังแม้เข้าสู่ช่วงค่ำ ตามหลังเกิดเหตุทางยกระดับพังถล่มลงมาใส่ถนนพลุกพล่านสายหนึ่งที่อยู่เบื้องล่างในวันพฤหัสบดี(31มี.ค.) ด้วยยอดผู้เสียชีวิตล่าสุดเพิ่มเป็นอย่างน้อย 20 ศพและบาดเจ็บเกือบ 100 คน เผยทางยกระดับแห่งนี้ก่อสร้างมานานกว่า 7 ปีแต่ยังไม่แล้วเสร็จ ทั้งที่มีระยะทางแค่ 2 กิโลเมตร สะพานแห่งนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างในตอนที่ท่อนหนึ่งของมัน ซึ่งมีความยาวราวๆ 100 เมตรเกิดพังครืนลงสู่ท้องถนนที่เต็มไปด้วยผู้คนในเมืองโกลกาตา ทางตะวันออกของอินเดีย ณ เวลาประมาณเที่ยงวัน ฝังคนเดินถนน รถยนต์และยานพาหนะอื่นๆที่สัญจรผ่านไปมา ให้ติดอยู่ใต้ซากเหล็กและแผ่นคอนกรีตขนาดใหญ่ "จนถึงตอนนี้ยืนยันมีผู้เสียชีวิต 20 คน แต่ยอดที่แท้จริงอาจสูงกว่านี้เนื่องจากมีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก" จาเวด อาห์เมด คาน รัฐมนตรีบริหารจัดการภัยพิบัติของรัฐเบงกอลตะวันตกบอกกับเอเอฟพี ส่วนอานิล ชีคาวัต โฆษกของกองกำลังตอบสนองภัยพิบัติแห่งชาติ ระบุว่าตัวเลขผู้ได้รับบาดเจ็บอยู่ที่ 92 โดยส่วนมากมีอาการแตกหักต่างๆนานาและอยู่ในภาวะวิกฤต พร้อมคาดหมายเช่นกันว่ายอดผู้เสียชีวิตจะสูงกว่านี้ ขณะที่ยังไม่ทราบจำนวนของผู้ที่ติดอยู่ใต้ซากหักพัง ทีมกู้ภัยที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษ พร้อมกับอุปกรณ์ตัดคอนกรีตและเหล็ก เครื่องเจาะ เซ็นเซอร์ค้นหาสิ่งมีชีวิตและสุนัขดมกลิ้น ถูกส่งมายังจุดเกิดเหตุ ด้วยโฆษกของสำนักงานบริหารจัดการภัยพิบัติแห่งชาติบอกกับเอเอฟพีว่าคณะกู้ภัยหลายร้อยคนจะทำงานตลอดทั้งคืนเพื่อช่วยเหลือเหยื่อที่ติดอยู่ใต้ซากคอนกรีต "เจ้าหน้าที่จากสำนักงานบริหารจัดการภัยพิบัติ 300 คน ทหาร ตำรวจและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นอินเดียอีก 300 คน กำลังให้ความช่วยเหลือ" อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าจำนวนมากของพวกที่เข้ามามีส่วนร่วมในความพยายามกู้ภัยดูเหมือนจะเป็นชาวบ้านทั่วไป ที่พบเห็นคนเหล่านี้พยายามช่วยกันดึงแผนคอนกรีตออกด้วยมือเปล่า ขณะที่เจ้าหน้าที่ประสบปัญหาในการทำเครนและเครื่องมือขนาดใหญ่อื่นๆฝ่าถนนแคบๆของย่านบูราบาซาร์ ท่ามกลางญาติๆที่เฝ้ารอฟังข่าวเกี่ยวกับบุคคลอันเป็นที่รักด้วยความสิ้นหวัง พบเห็นเครนกำลังยกรถยนต์คนหนึ่งที่อยู่ในสภาพพังบู้บี้ออกจากซากปูน และยังเห็นส่วนหนึ่งของรถบัสที่ถูกทับโผล่ออกมาจากคอนกรีต แต่ไม่เป็นที่ชัดเจนว่าตอนที่เกิดเหตุ มันบรรทุกผู้โดยสารมาด้วยหรือไม่ หนึ่งในคนงานก่อสร้างที่ได้รับบาดเจ็บให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพีจากจุดเกิดเหตุว่า เขากำลังทำงานอยู่ด้านบนก่อนที่มันพังถล่มลงมาและพบเห็นสลักหลายตัวกระเด็นออกจากคานเหล็ก "เรากำลังเชื่อมคานเหล็ก 2 อันสำหรับเสาค้ำ แต่คานไม่สามารถรับน้ำหนักของปูนซีเมนต์ได้" เขากล่าวก่อนถูกพาตัวไปโรงพยาบาล "พอสลักกระเด็นออกมา ทางยกระดับก็พังครืน" งานก่อสร้างทางยกระดับความยาว 2 กิโลเมตรเริ่มขึ้นในปี 2009 และคาดหมายว่าจะแล้วเสร็จภายในเวลา 18 เดือน ทว่ามันต้องประสบปัญหาหยุดนิ่งหลายต่อหลายรอบ IVRCL บริษัทก่อสร้างสัญชาติอินเดีย ที่ได้รับสัญญาในการก่อสร้างทางยกระดับแห่งนี้ มีเส้นตายที่ต้องดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 18 เดือน ภายใต้งบประมาณเกือบ 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่หลังจากผ่านไป 7 ปี ปรากฎว่างานมีความคืบหน้าแค่ 55 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ในปี 2014 ทางบริษัทเคยเขียนหนังสือถึงหน่วยงานพัฒนาของเมือง โดยแจ้งว่าพวกเขาไม่มีงบประมาณเพียงพอที่จะดำเนินโครงการให้เสร็จสมบูรณ์ ทั้งนี้นายเค.พี.เรา ตัวแทนของบริษัท IVRCL ระบุว่าโศกนาฏกรรมครั้งนี้เป็น "เหตุสุดวิสัย" โศกนาฏกรรมคราวนี้ถือเป็นอุบัติเหตุเกี่ยวกับก่อการสร้างหนล่าสุดจากหลายต่อหลายครั้งที่เกิดขึ้นในอินเดีย ประเทศที่การบังคับใช้กฎระเบียบด้านความปลอดภัยอ่อนแอและบ่อยครั้งใช้วัสดุที่ไม่ได้มาตรฐาน
เอเอฟพี -
เจ้าหน้าที่เบลเยียมในวันพฤหัสบดี(31มี.ค.) ตัดสินใจส่งนายซาลาห์ อับเดลสลาม
ผู้ต้องสงสัยคนสำคัญของเหตุวินาศกรรมกรุงปารีสไปยังฝรั่งเศส
เพื่อดำเนินคดีเกี่ยวเหตุโจมตีนองเลือดเข่นฆ่าชีวิตผู้คน 130 ศพเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีก่อน อับเดสลาม
ผู้ต้องสงสัยหนึ่งเดียวในเหตุก่อการร้ายโจมตีปารีส ที่มีชีวิตรอด
ถูกรวบตัวได้ในกรุงบรัสเซลส์ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม
หลังหลบหนีมานานกว่า 4 เดือน ,4 วันหลังการจับกุมตัวเขา
เมืองหลวงของเบลเยียมถูกมือระเบิดฆ่าตัวตายของพวกรัฐอิสลาม(ไอเอส) โจมตีพร้อมเพรียงกันถล่มสนามบินและสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินในบรัสเซลส์
ซึ่งมือระเบิดฆ่าตัวตายเหล่านี้มีความเชื่อมโยงกับนายอับเดสลามและเครือข่ายโจมตีปารีส
ก่อนหน้านี้ทนายความของนายอับเดลสลาม เผยว่าลูกความวัย 26ปีของเขาเห็นพ้องกับการโอนย้ายตัวไปยังฝรั่งเศสภายใต้หมายจับสหภาพยุโรป
ซึ่งเปิดทางสำหรับการส่งผู้ร้ายข้ามแดนอย่างรวดเร็ว "นายอับเดสลาม
อยากให้รู้ว่าเขาต้องการให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศส
นี่คือคำพูดที่เขาอยากบอกให้รู้" การจับกุมนายอับเดสลาม
ถูกมองว่าเป็นความสำเร็จของความพยายามต่อต้านก่อการร้ายของเบลเยียมที่ไม่พบเห็นบ่อยนัก
ทว่าเขาปฏิเสธให้ข้อมูลใดๆมาตั้งแต่เหตุระเบิดในบรัสเซลส์ "ในขณะที่นายซาลาห์
อับเดสลาม แจ้งความจำนงยินยอมถูกโอนย้ายไปยังฝรั่งเศส
ซึ่งผู้พิพากษาศาลรัฐบาลกลางได้รับทราบคำยืนยันของเขาแล้วในวันนี้
การโอนย้ายจึงมีความเป็นไปได้" สำนักงานอัยการระบุในถ้อยแถลง
"นับจากนี้เจ้าหน้าที่เบลเยียมและฝรั่งเศสจะพิจารณาร่วมกันเกี่ยวกับแนวทางดำเนินการเพิ่มเติมในการโอนย้ายผู้ต้องสงสัย
ประธานาธิบดีฟรังซัวส์ ออลลองด์
แห่งฝรั่งเศสแถลงตามหลังการจับกุมตัวนายอับเดสลามไม่นาน ว่าเขาต้องการให้นำผู้ต้องสงสัยรายนี้กลับมายังฝรั่งเศสเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
เพื่อเผชิญกระบวนการยุติธรรมต่อเหตุโจมตี
เชื่อกันว่านายอับเดสลาม
ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ประสานงานด้านส่งกำลังบำรุงสำหรับเหตุสังหารหมู่ปารีส
และเขาเผยกับคณะสืบสวนด้วยว่าตนเองมีความตั้งใจจุดชนวนระเบิดฆ่าตัวตายโจมตีที่สนามสต๊าด
เดดอ ฟรองซ์ แต่เปลี่ยนใจเสียก่อน อับเดสลาม พลเมืองฝรั่งเศสที่เกิดในเบลเยียม วัย
26 ปี ปฏิเสธตอบคำถามมาตั้งแต่วันที่เขาถูกจับกุม
โดยก่อนหน้านี้เขาถูกสอบปากคำเกี่ยวกับเหตุโจมตีกรุงปารีสเพียวๆ 3 ชั่วโมง ไม่เกี่ยวกับความเป็นไปได้ของแผนโจมตีก่อการร้ายในอนาคต ผู้ต้องสงสัยรายนี้
มีความเกี่่ยวข้องกับมือระเบิดโจมตีบรัสเซลส์อย่างน้อยๆ 2 คน
คือนายคาลิด เอล บากราวี ซึ่งระเบิดฆ่าตัวตายโจมตีสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน และนายนาจิม
ลาชราวี หนึ่งในมือระเบิดโจมตีสนามบิน
ทั้งนี้พบลายนิ้วมือของนายอับเดสลามในห้องเช่าในกรุงบรัสเซลส์ของนายบากราวี
ส่วนความเกี่ยวข้องกับนายลาชราวีนั้น
พบว่าครั้งหนึ่งพวกเขาเคยขับรถไปยังฮังการีด้วยกัน เบลเยียมยังคงไล่ล่าผู้ต้องสงสัยมือโจมตีรายที่
3 เป็นชายสวมหมวกที่ถูกกล้องวงจรปิดจับภาพไว้ได้ขณะอยู่กับ 2
มือระเบิดฆ่าตัวตายโจมตีสนามบิน
เอเอฟพี -
หนุ่มฝรั่งเศสวัย 34 ปี
ซึ่งถูกตำรวจรวบตัวได้ใกล้ๆ กรุงปารีสเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
หลังเกิดเหตุบึ้มสนามบินและรถไฟใต้ดินในกรุงบรัสเซลส์ ถูกตั้งข้อหาวางแผนก่อวินาศกรรมวานนี้
(30 มี.ค.)
โดยเจ้าหน้าที่พบหลักฐานทั้งอาวุธและวัตถุระเบิดซุกซ่อนอยู่ภายในบ้านของเขา พนักงานสอบสวนฝรั่งเศสพยายามสืบหาเบาะแสเพื่อทลายเครือข่ายนักรบญิฮัดที่เชื่อมโยงกับกลุ่มรัฐอิสลาม
(ไอเอส) ซึ่งได้อ้างความรับผิดชอบทั้งเหตุโจมตีกรุงปารีสเมื่อเดือน พ.ย.
รวมถึงเหตุระเบิดฆ่าตัวตายที่สนามบินและรถไฟใต้ดินบรัสเซลส์เมื่อสัปดาห์ก่อน
ซึ่งมีผู้เสียชีวิตไปถึง 32 คน เรดา คริเกต์ (Reda Kriket) วัย 34
ปีซึ่งเป็นพลเมืองฝรั่งเศส ถูกจับกุมเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
ระหว่างที่ตำรวจเข้าจู่โจมอพาร์ตเมนต์ชานกรุงปารีสซึ่งเขาพักอยู่
โดยภายในห้องของเขามีทั้งปืนไรเฟิล ปืนพก รวมถึง “ไตรอะซีโตน
ไตรเพอร์ออกไซด์” หรือ TATP ซึ่งเป็นวัตถุระเบิดที่ไวต่อความร้อนและการสั่นสะเทือน
และเป็นอาวุธแบบโฮมเมดที่นักรบไอเอสนิยมใช้ ฟรองซัวส์ โมแลงส์ อัยการกรุงปารีส
แถลงเมื่อวันพุธ (30)
ว่า เจ้าหน้าที่ยังไม่ทราบเป้าหมายที่ชัดเจนของแผนโจมตีในครั้งนี้
แต่อาวุธจำนวนมากที่ถูกซุกซ่อนไว้ในบ้านของคริเกต์
บ่งชี้ชัดเจนว่าตำรวจสามารถป้องกัน “เหตุวินาศกรรมร้ายแรง”
เอาไว้ได้ การจับกุมผู้ต้องสงสัยรายนี้มีขึ้นหลังจากที่เมืองหลวงฝรั่งเศสเพิ่งจะเผชิญกับเหตุวินาศกรรมครั้งเลวร้ายที่สุด
ซึ่งคร่าชีวิตประชาชนไปมากถึง 130 รายเมื่อ 4 เดือนก่อน อัยการระบุว่า
คริเกต์ได้ใช้บัตรประชาชนปลอมเช่าอพาร์ตเมนต์ในย่านอาร์ฌองเตย์ (Argenteuil)
เมื่อฤดูร้อนปีที่แล้ว ผู้ต้องสงสัยชาวฝรั่งเศสอีกรายที่คาดว่ามีส่วนพัวพันกับแผนก่อการร้ายครั้งล่าสุดนี้
คือ อนีส บาห์รี วัย 32 ปี
ซึ่งถูกรวบตัวได้ที่เมืองท่าร็อตเตอร์ดัมของเนเธอร์แลนด์เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา
(27) และพยายามต่อสู้คัดค้านการถูกส่งตัวไปยังฝรั่งเศส ทางการฝรั่งเศสเชื่อว่า คริเกต์ และ บาห์รี
เคนเดินทางไปซีเรียเมื่อช่วงปลายปี 2014 ถึงต้นปี 2015
จากนั้นก็ได้เดินทางไปๆ มาๆ ระหว่างฝรั่งเศส เบลเยียม
และเนเธอร์แลนด์ สำหรับผู้ต้องสงสัยอีก 2 คน คือ อับเดราห์มาน อาเมรูด (Abderrahmane Ameroud)
วัย 38 ปี และ ราบาห์ เอ็ม. วัย 34
ปี ซึ่งถูกจับกุมได้ที่เบลเยียม จะถูกทางการควบคุมตัวเอาไว้อีก 1
สัปดาห์ อัยการเบลเยียมแถลง เมื่อเดือน ก.ค. ปีที่แล้ว
คริเกต์เคยถูกศาลเบลเยียมพิพากษาลับหลังจำเลยให้ต้องโทษจำคุก 10 ปี ฐานเป็นเครือข่ายจัดหาแนวร่วมให้พวกนักรบญิฮัด ผู้ที่เคยเดินทางไปสู้รบในซีเรียผ่านการชักจูงของเครือข่ายนักรบกลุ่มนี้ยังรวมถึง
อับเดลฮามิด อาบาอูด ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นผู้บงการเหตุวินาศกรรมปารีสเมื่อเดือน
พ.ย. รวมถึง ชากิบ อักรูห์ ซึ่งกดระเบิดฆ่าตัวตายเมื่อตำรวจฝรั่งเศสบุกจู่โจมแฟลตในย่านแซงต์-เดอนีส์ จากการสอบสวนพบว่าคริเกต์มีบทบาทสำคัญในการจัดหาเงินทุนมาอุดหนุนเครือข่ายนักรบญิฮัด
ทั้งโดยการปล้นชิงและขายทรัพย์สินที่ขโมยมา
เอเอฟพี - พรรคของอองซานซูจี
จะยื่นเสนอต่อรัฐสภาในวันนี้ (31) ที่จะตั้งตำแหน่งที่ปรึกษาแห่งรัฐให้แก่ซูจี
ตามการเปิดเผยของสมาชิกสภานิติบัญญัติ
ตำแหน่งที่จะทำให้ซูจีมีอำนาจในการประสานงานระหว่างประธานาธิบดี และรัฐสภา พม่ากำลังก้าวเข้าสู่ยุคใหม่หลังอยู่ภายใต้การปกครองของทหารนานเกือบครึ่งศตวรรษ
ที่เต็มไปด้วยความหวังว่า ฝ่ายบริหารของซูจี จะสามารถฟื้นการเมือง
และเศรษฐกิจของประเทศ แต่ซูจีไม่สามารถทำหน้าที่เป็นประธานาธิบดีได้ตามรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นโดยทหาร
แม้ว่าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ของซูจี จะชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายเมื่อเดือน
พ.ย.ก็ตาม ร่างข้อเสนอที่อ้างถึงชื่อซูจี
ระบุจะมอบความรับผิดชอบต่อรัฐสภาเกี่ยวกับการให้คำปรึกษา
และมีอำนาจในการจัดการพบหารือใดๆ ก็ตามที่เห็นว่ามีความจำเป็น และงบประมาณตำแหน่งที่สะท้อนบทบาทของนายกรัฐมนตรีในระบบการเมืองอื่นๆ
ที่จะมีระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งนาน 5 ปี
เช่นเดียวกับประธานาธิบดี และยังทำให้ซูจี เข้าถึงสภานิติบัญญัติ หลังซูจี
ถูกบังคับให้สละที่นั่งในสภาเพื่อเข้าร่วมคณะรัฐมนตรี
โดยร่างกฎหมายนี้จะยื่นเสนอต่อสภาสูงในวันพฤหัสบดี (31) “ร่างข้อเสนอดังกล่าวจะนำขึ้นอภิปราย
และรับรองในอีกไม่กี่วัน” สมาชิกรัฐสภารายหนึ่ง กล่าว อองซานซูจี ได้ให้คำมั่นว่า
จะบริหารประเทศอยู่เหนือประธานาธิบดีถิ่น จอ ผู้ที่ซูจี
ให้ความไว้วางใจที่เพิ่งเข้าสาบานตนรับตำแหน่งเมื่อวันพุธ (30) และซูจี ยังมีตำแหน่งรัฐมนตรีใน 4 กระทรวง คือ
กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพลังงาน และสำนักงานประธานาธิบดีในการเลือกตั้งเดือน
พ.ย. ที่เป็นการเลือกตั้งที่เสรีที่สุดในรอบหลายทศวรรษ
ทำให้พรรคของซูจีครองที่นั่งในสภามากถึง 80% และมีอำนาจในการจัดตั้งรัฐบาล
สมาชิกสภานิติบัญญัติหน้าใหม่มาจากหลากหลายภูมิหลัง ตั้งแต่นายแพทย์ ไปจนถึงนักกวี
แต่คนเหล่านี้มีประสบการณ์ในการเป็นรัฐบาลไม่มาก และต้องการการชี้แนะจากซูจี พวกเขาได้รับมอบหมายให้ฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ย่ำแย่
และสังคมที่ถูกควบคุมอย่างเข้มงวดจากการปกครองของทหารตั้งแต่ปี 2505 และเริ่มปฏิรูปในปี 2554 ภายใต้รัฐบาลกึ่งพลเรือนของเต็งเส่ง
ขณะที่กองทัพยังคงกุมอำนาจทางการเมืองไว้อย่างเหนียวแน่น ด้วยการครองที่นั่ง 1
ใน 4 ของสภา และตำแหน่งรัฐมนตรีใน 3 กระทรวงสำคัญของประเทศ. เอเอฟพี/รอยเตอร์ - ผู้ช่วยใกล้ชิดของอองซานซูจี เข้ากล่าวสาบานตนในฐานะประธานาธิบดีของพม่า และเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่ไม่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องต่อทหารในรอบมากกว่าครึ่งศตวรรษ ในวันนี้ (30) บทบาทที่จะได้เห็นเขาทำหน้าที่เป็นตัวแทนของผู้นำเรียกร้องประชาธิปไตย และแบกความหวังของชาติที่เพิ่งหลุดพ้นจากการปกครองของทหาร ถิ่น จอ เพื่อนสนิทและผู้ที่นางอองซานซูจี ไว้วางใจ ได้เข้าครองอำนาจต่อจากเต็งเส่ง อดีตนายพล ที่ดำเนินการปฏิรูปประเทศนับตั้งแต่ปี 2554 การมอบอำนาจที่อาคารรัฐสภาในกรุงเนปีดอ เป็นสัญลักษณ์ของขั้นตอนสุดท้ายของการเปลี่ยนผ่านอำนาจที่กินเวลายาวนานนับตั้งแต่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของซูจี กวาดชัยชนะในการเลือกตั้งเมื่อเดือน พ.ย. พรรค NLD ครองเสียงข้างมากด้วยได้ที่นั่งในสภาถึง 80% และมีสิทธิในการปกครอง หลังอยู่ภายใต้การครอบครองของกองทัพมานาน ความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพ และซูจี จะเป็นตัวกำหนดความสำเร็จของการแยกตัวออกจากการปกครองของทหารนับตั้งแต่กองทัพยึดอำนาจในปี 2505 ในพิธี ถิ่น จอ และรองประธานาธิบดีใหม่ 2 คน ได้ถือรัฐธรรมนูญไว้ในมือ และกล่าวสาบานตนพร้อมกันตามประธานรัฐสภา มาน วิน คาย ตาน (Mahn Win Khaing Than) ว่าจะจงรักภักดีต่อสหภาพพม่า และจะไม่แบ่งแยกความเป็นสหภาพ ความสามัคคีของชาติ และการธํารงรักษาไว้ซึ่งอํานาจอธิปไตยเป็นสิ่งสำคัญ ถิ่นจอ ยังได้กล่าวให้คำมั่นว่า จะซื่อสัตย์ต่อประชาชนของสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า “ผมจะพิทักษ์รักษา และปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย จะปฏิบัติหน้าที่ที่รับผิดชอบให้สำเร็จลุล่วงอย่างเที่ยงธรรม และสุดความสามารถ” ถิ่น จอ อายุ 69 ปี เพื่อนร่วมชั้นเรียนของอองซานซูจี กล่าว และในการกล่าวสุนทรพจน์สั้นๆ ต่อรัฐสภา หลังพิธีกล่าวสาบานตน ถิ่น จอ ยังย้ำจุดยืนของซูจีต่อความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญฉบับปี 2551 ที่ปกป้องอำนาจของกองทัพในการเมืองของประเทศ ที่ทำให้สมาชิก NLD บางส่วนมีน้ำตาคลอ “รัฐบาลใหม่ของเราจะดำเนินการสร้างความปรองดองในชาติ ความสงบสุขในประเทศ การเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญที่จะปูทางไปสู่สหภาพประชาธิปไตย และปรับปรุงมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชน เรามีหน้าที่ที่จะต้องทำงานเพื่อการเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญที่เหมาะสมต่อประเทศของเรา และสอดคล้องต่อมาตรฐานทางประชาธิปไตย” ถิ่น จอ กล่าว หลังจากนั้น คณะรัฐมนตรีได้กล่าวสาบานตนตามประธานรัฐสภา ที่รวมทั้งรัฐมนตรีจากเขตชาติพันธุ์ และซูจี ที่อยู่ในชุดสีฟ้าซึ่งครองตำแหน่งรัฐมนตรีหลายกระทรวง รวมทั้งกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมทั้งทหารในชุดเครื่องแบบอีก 3 นาย ซึ่งเป็นสัดส่วนที่กองทัพครอบครองอยู่ภายในรัฐบาลชุดใหม่ พล.อ.อาวุโส มิน ออง หล่าย ได้เข้าร่วมในพิธีเช่นกัน รวมทั้งนักการทูต และผู้แทนหน่วยงานนอกภาครัฐอีกหลายร้อยคน และจะมีการจัดงานที่ทำเนียบประธานาธิบดี และงานเลี้ยงอาหารค่ำอย่างเป็นทางการเพื่อเฉลิมฉลองโอกาสนี้ สมาชิกสภาของพรรค NLD หลายคนรู้สึกตื้นตันต่อสิ่งที่เกิดขึ้น “ผมนอนไม่หลับทั้งคืน สุนทรพจน์ของประธานาธิบดีถิ่น จอ เป็นสิ่งที่เราไม่เคยได้ยินมาก่อนในประเทศนี้ เขาให้คำมั่นว่า เขาจะทำงานเพื่อชาติด้วยความเคารพต่ออองซานซูจีหัวหน้าพรรคของเรา มันเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ และสิ่งนี้ได้เกิดขึ้นได้เพราะทุกคนร่วมกันผลักดันไปข้างหน้า” สมาชิกสภาพรรค NLD กล่าวหลังพิธี
(เครดิตอ้างอิง คัดลอกจากคอลัมน์ข่างต่างประเทศ, MGR online)