วันอังคารที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2559

20 เรื่องที่เราควรรู้ (17) เกี่ยวกับคุณพ่ออเมริกาผู้น่ารัก ตอนที่ 17

เรื่องที่ 17  เมื่อรัฐบาลไทยไหวตัวทัน ก่อนเป็นเหยื่อทุนยักษ์ตัดต่อพันธุกรรม เปลือยล่อนจ้อน  Monsanto

จากกระแสข่าว กลุ่มนักเคลื่อนไหว ผู้เกี่ยวข้องในภาคเกษตรกรรม  นักวิชาการ และภาคประชาชนได้ออกมารวมตัวกันคัดค้าน และยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อนายกรัฐมนตรี ให้ทบทวนการผ่าน ร่าง พรบ.ความปลอดภัยชีวภาพ (หรือ GMOs) เจ้าปัญหานี้ หรือนำมาแก้ไขปรับปรุง รับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ซึ่งหากยังดื้อดึง เข็นพรบ.นี้ผ่านไป จะรังผลความเสียหายใหญ่หลวงต่อประเทศชาติ และประชาชน โดยเฉพาะภาคการเกษตรของประเทศไทย อย่างไม่มีวันหวนกลับไปแก้ไขได้ จนเป็นที่มาของการที่ พณ.นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ยกเลิกการพิจารณาร่าง พรบ. GMOs นี้ออกไปก่อน หรือทอดเวลาออกไป เป็นเกมซื้อเวลาหรือว่าจริงใจ เล็งเห็นถึงพิษภัย และปัญหาของการมี พรบ.ฉบับเจ้าปัญหานี้หรือไม่  อะไรคือมูลเหตุจูงใจ หรือที่มาที่ไป ที่มีการผลักดันหรือลากถู เจ้า พรบ.ฉบับนี้เข้ามาในสภา และดูเหมือนมีทีท่าเร่งรีบที่จะผลักดันให้ผ่านไปโดยไม่สนใจผลกระทบที่จะเกิดกับภาคเกษตรและประชาชนคนไทยอย่างเงียบๆ ก่อนที่จะมีผู้รู้ทัน รีบออกมาประท้วงและเป็นที่มาของภาคประชาชนออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน และยื่นจดหมายเปิดผนึกให้รัฐบาลทบทวนในเรื่องนี้ ทั้งๆ ที่มีการเตรียมผ่านร่าง พรบ.ไปแบบลักหลับแล้วก็ตาม

ข่าวในประเทศ : นายกฯ สั่ง ครม.ยกเลิกการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. GMO ชี้ยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้ อาจใช้ตอนมีสงครามโลก ดร.เจษฎาโพสต์เศร้าใจ “What da hell ?” แนวคิด GMO ด้าน BioThai สนับสนุนรัฐบาลไม่ปล่อยให้กลุ่มบรรษัทยักษ์ใหญ่เกษตรและอาหารกำหนดทิศทางของประเทศผ่านรัฐบาล เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2558 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่าได้สั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ยกเลิกการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ความปลอดภัยทางชีวภาพ หรือ ร่าง พ.ร.บ. จีเอ็มโอ เนื่องจากเป็นพันธสัญญาที่พูดคุยมาตั้งแต่ปี 2540 ซึ่งต่างประเทศมีไว้เพื่อรองรับในภาวะเกิดสงครามผลิตสินค้าทางการเกษตรไม่ได้ หรือเกิดโรคระบาด คาดว่าประเทศไทยคงยังไม่จำเป็นต้องใช้ จึงมีคำสั่งยกเลิกไปก่อน  “พวกนี้เค้าตัดแต่งพันธุกรรม เพื่อให้ใช้น้ำน้อย ต้านทานโรคได้ มีผลผลิตสูง ข้าวโพดก็แมลงไม่กิน อันนี้เป็นตอนสงครามโลก จะเกิดหรือไม่ก็ไม่รู้ ถ้าเกิดก็เตรียมตัว เพราะเรายังไม่ได้ทำพล.อ.ประยุทธ์ กล่าว  ทางด้าน พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี เรื่องเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ. ….หรือกฎหมายจีเอ็มโอ ซึ่งมีปัญหาถกเถียงกัน และได้ผ่าน ครม. เข้าสู่ชั้นการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกานั้น ปรากฏว่า ได้มีข้อคิดเห็นข้อสังเกตจากประชาชนหลายกลุ่ม อีกทั้ง นายกฯ ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือ รวมทั้งนำข้อสังเกต ข้อกังวล ของฝ่ายต่างมาพิจารณา ที่ประชุม ครม. รับทราบความเห็นเพิ่มเติมจากคณะกรรมการกฤษฎีกา สืบเนื่องจาก ครม. มอบให้ไปศึกษารายละเอียดร่าง พ.ร.บ. ความปลอดภัยชีวภาพ พ.ศ….เพิ่มเติม และให้ความเห็นว่าขณะนี้ประเทศไทยอยู่ระหว่างการปฏิรูปการเกษตร ดังนั้น การนำกฎหมายที่พูดถึงเรื่องอนาคตเกี่ยวกับพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์มาพิจารณาเกี่ยวกับการพิจารณาในช่วงของการปฏิรูป ยังไม่เหมาะสมเพราะการออกกฎหมายล่วงหน้ายังไม่ควรดำเนินการในช่วงเวลานี้ ครม. จึงมีมติให้ส่งเรื่องกลับไปให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พิจารณาในมุมที่มีข้อทักท้วงเพิ่มเติมให้รอบคอบเสียก่อน  กฤษฎีกาได้แจ้ง ครม. ทราบว่า ขณะที่ประเทศไทยอยู่ระหว่างการปฏิรูปการเกษตร ซึ่งยังไม่เสร็จสิ้น แต่ร่างพ.ร.บ.จีเอ็มโอ เป็นกฎหมายที่พูดถึงเรื่องอนาคตวันข้างหน้า ที่มีต่อพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ เมื่อเรายังปฏิรูปด้านการเกษตรไม่เสร็จ การออกกฎหมายจึงยังไม่เหมาะสม กับช่วงเวลา  พลตรี สรรเสริญ กล่าวว่า การส่งร่างกฎหมายจีเอ็มโอกลับกระทรวงทรัพย์ ฯ ไม่ได้หมายความว่า เมื่อมีเสียงทักท้วงแล้ว ทุกอย่างต้องหยุด หรือต้องชะลอ เพียงแต่รัฐบาลรับฟังความคิดเห็นด้วยเหตุด้วยผล เอาหลักการมาว่ากัน และได้ข้อสรุปจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จึงยังไม่มีความจำเป็นต้องดำเนินการในช่วงนี้  (เครดิตอ้างอิง : คัดลอกจากหน้าข่าว เว็บไซต์ ไทยทริบูน) 

 
การถกเถียงเรื่องประโยชน์ ข้อเสีย และวิธีการนำพืชและสัตว์ดัดแปลงพันธุกรรมมาใช้ในประเทศไทยนั้น เป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกับทั้งมิติด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง กฎหมาย ระบบนิเวศ และจะส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกคน จึงไม่ควรจะถูกผูกขาดโดยนักวิทยาศาสตร์หรือข้าราชการบางกลุ่มเท่านั้น ในบทความนี้ผู้เขียนเสนอว่ารัฐบาลควรยับยั้งพ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพร่างปัจจุบัน เพราะพ.ร.บ.ฉบับนี้มีจุดอ่อน ไม่สามารถปกป้องเกษตรกร อุตสาหกรรมเกษตร ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อมจากผลกระทบทางลบที่น่าเป็นห่วงของพืชจีเอ็มโอ และควรเปิดโอกาสให้ทุกกลุ่มในสังคมที่เกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมร่างพ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพอย่างโปร่งใส การเสนอเช่นนี้ไม่ได้แปลว่าผู้เขียนต่อต้านจีเอ็มโอทุกรูปแบบ เพราะผู้เขียนมองว่านักวิทยาศาสตร์ไทยก็มีสิทธิที่จะวิจัยเรื่องนี้ เพียงแต่ว่าการวิจัยควรอยู่ภายใต้ข้อกำหนดและกติกาทางสังคมที่ไม่ทำให้เกิดผลเสียต่อผู้อื่น

ความพยายามเผยแพร่จีเอ็มโอ ในประเทศไทยครั้งล่าสุดนั้นเข้มข้นขึ้นมาตั้งแต่ประมาณเดือนต.ค.ปีที่แล้ว เมื่อมีความพยายามให้มีการทดลองพืชดัดแปลงพันธุกรรมในแปลงเปิด ซึ่งจะเปิดทางสู่การปลูกเพื่อการค้า โดยช่วงนั้นหลายๆกลุ่มในประเทศได้เคลื่อนไหวอย่างจริงจังเพื่อคัดค้าน เช่นในวันที่ 30 ตุลาคม 2557 สภาเกษตรกรแห่งชาติ และองค์กรทาง สังคมต่างๆ เช่น เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค สมาคมการค้าเกษตรอินทรีย์ไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมูลนิธิชีววิถี ได้ยื่นจดหมายถึงฯพณฯ นายกรัฐมนตรี โดยมีข้อเรียกร้องข้อหนึ่งให้ยับยั้งการอนุญาตให้มีการปลูกทดลองพืชดัดแปลงพันธุกรรมในแปลงเปิด จนกว่าประเทศไทยจะมีกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ ซึ่งกำหนดให้มีการชดเชยความเสียหายและรับผิดชอบกรณีที่เจ้าของหรือผู้ปลูกพืชดัดแปรพันธุกรรมทำให้เกิดการปนเปื้อนทางพันธุกรรม

จากการประสานงานของผู้เขียน มีนักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีชีวภาพ เกษตรกรรม อาหาร สิ่งแวดล้อม และการพัฒนา จากประเทศต่างๆทั่วโลก 25 คน ได้แสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์การเปิดเสรีจีเอ็มโอในประเทศไทย และร่วมลงนามเพื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องขององค์กรและกลุ่มทางสังคมที่กล่าวมาข้างต้น (อ่านจดหมายเปิดผนึกจากนักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการทั่วโลกถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เรื่องพืชดัดแปลงพันธุกรรมและสนับสนุนเกษตรกรรมยั่งยืน ทั้งฉบับภาษาไทยและอังกฤษได้ ที่นี่) ไม่ว่าจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ เช่น Dr. Michael Antoniou (Head of the Gene Expression and Therapy Group, Faculty of Life Sciences, King’s College London, UK) Dr. Tushar Chakraborty (Principal Scientist & Molecular Geneticist, CSIR-Indian Institute of Chemical Biology, Kolkata, India) Professor Terje Traavik (Special Consultant, GenØk-Centre for Biosafety, Norway and Professor Emeritus of Gene Ecology and of Virology, Faculty of Health Sciences, UiT – the Arctic University of Norway) นักวิชาการด้านกฏหมายเช่น Dr. Peter Drahos (Australian National University) ด้านสังคมศาสตร์ชื่อดังคนอื่นๆ เช่น Dr. Philip McMichael (College of Agriculture and Life Sciences, Cornell University, USA) และนักเคลื่อนไหว/นักวิชาการระดับโลก เช่น Dr. Vandana Shiva (ผู้ได้รางวัล Right Livelihood Award ปี 1993) และ Dr. Raj Patel (Research professor at the Lyndon B. Johnson School of Public Affairs at the University of Texas at Austin, USA)

เมื่อเสียงคัดค้านจากภาคประชาชนเป็นผล โดยคณะทำงานศึกษาแนวทางการนำสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมและผลิตภัณฑ์มาใช้ในประเทศไทยได้มีมติในเดือนธ.ค.2557 ให้ยึดมติปีพ.ศ.2550 ที่มีเงื่อนไขควบคุมการทดลองจีเอ็มโอภาคสนามที่ค่อนข้างเข้มงวด กลุ่มสนับสนุนจีเอ็มโอจึงผลักดันร่างพ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพต่ออย่างรวดเร็ว ซึ่งร่างพ.ร.บ.นี้ไม่ผ่านสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) แต่ได้ผ่านความเห็นชอบคณะรัฐมนตรีไปเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2558 ร่างพ.ร.บ.นี้ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากหลายๆส่วนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐ เช่น สภาพัฒน์และกระทรวงพาณิชย์ สภาเกษตรกร เครือข่ายเกษตรกรหลายๆเครือข่ายเช่น กลุ่มเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน กลุ่มเกษตรอินทรีย์ องค์กรพัฒนาเอกชน เช่นมูลนิธิชีววิถีและกรีนเน็ท อุตสาหกรรมการเกษตร ชมรมแพทย์ชนบท และนักวิชาการทั้งด้านวิทยาศาสตร์และกฏหมาย เป็นต้น โดยเฉพาะประเด็นที่ว่าจะส่งผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ เศรษฐกิจ และจะหาผู้ที่รับผิดชอบยากหรือไม่ได้เลยเมื่อมีการปนเปื้อนทางพันธุกรรม

ผู้เขียนขอสรุปข้อโต้แย้งประเด็นต่างๆและเสนอความคิดเห็นในมุมมองแบบเศรษฐศาสตร์การเมืองเพิ่มเติมเกี่ยวกับจีเอ็มโอและพ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพเป็นข้อๆไปดังต่อไปนี้

1) กระแสต่อต้านการเปิดเสรีจีเอ็มโอและการสนับสนุนเกษตรกรรมยั่งยืน ไม่ใช่การต่อต้านวิทยาศาสตร์และความเจริญก้าวหน้า
ประชาชนต้องระวังวาทกรรมแบบสองขั้วเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของอีกฝ่าย และระวังกับดักทางความคิดแนวที่ว่า เทคโนโลยีจีเอ็มโอ = วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ = ดี = การเท่าเทียมอารยประเทศ แต่เกษตรกรรมยั่งยืนและพันธุ์พื้นเมือง = ล้าหลัง ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ (หรืออ้างว่าเหมือนกับเป็นการกลับไปขี่ควายไถนา)


มีนักวิทยาศาสตร์และผู้สนับสนุนจีเอ็มโอบางส่วนที่พยายามทำลายความน่าเชื่อถือของฝ่ายที่ต่อต้านจีเอ็มโอและพ.ร.บ.ฉบับนี้ว่าเป็นพวกที่ไม่เข้าใจวิทยาศาสตร์ ถ้าเข้าใจจะไม่ต่อต้านจีเอ็มโอเพราะนักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ปัจจุบันสนับสนุนจีเอ็มโอ แต่จริงๆแล้วประชาชนไม่จำเป็นต้องเป็นนักวิทยาศาสตร์โดยตรงก็สามารถตามข่าวสารและงานวิจัยได้ ว่าไม่ว่าในประเทศไทยหรือต่างประเทศก็ยังไม่มีข้อสรุปแน่ชัด(ไม่มีconsensus)ว่าพืชและสัตว์จีเอ็มโอส่งผลเสียระยะยาวทั้งต่อระบบนิเวศและสุขภาพอย่างไร หรือมีผลผลิตและศักยภาพอื่นเหนือกว่าการปรับปรุงพันธุ์แบบอื่นอย่างไร ฉะนั้นควรจะต้องมีมาตรการแนว ปลอดภัยไว้ก่อนเช่น จะเห็นได้จากรายงานของ the International Assessment of Agricultural Knowledge, Science and Technology for Development (IAASTD) ปี 2552 ( ปี2009) ซึ่งใช้เวลาศึกษาถึง 4 ปี โดยนักวิทยาศาสตร์กว่าสี่ร้อยคน ด้วยการสนับสนุนของหลายๆรัฐบาลและองค์การระหว่างประเทศเช่น FAO UNEP และธนาคารโลก โดยได้รับการยอมรับจาก 60 กว่ารัฐบาล ซึ่งได้สรุปไว้ว่าผลกระทบของจีเอ็มโอยังเป็นที่เข้าใจน้อยมาก ยังมีข้อมูลที่ไม่เพียงพอและขัดแย้งกัน ฉะนั้นระบบกฏหมายต้องใช้หลักป้องกันและปลอดภัยไว้ก่อน

ประเด็นสำคัญที่ต้องการจะสื่อก็คือ มีงานวิจัยและความเห็นที่ขัดแย้งกันอยู่มากเกี่ยวกับผลกระทบของจีเอ็มโอทั้งในไทยและต่างประเทศ ซึ่งในสังคม (ที่พยายามจะเป็น)ประชาธิปไตย แทนที่จะพยายามผูกขาดความคิด ก็ควรจะต้องยอมรับในจุดนี้ว่าเรื่องจีเอ็มโอยังหาข้อสรุปไม่ได้ ไม่ใช่ปฏิเสธหรือสร้างวาทกรรมกล่าวหาหรือทำลายคนที่เห็นต่างอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งก็ไม่ได้ช่วยทำให้สังคมยอมรับเทคโนโลยีจีเอ็มโอมากขึ้นเลย เช่นในไทย วิฑูรย์ ปัญญากุล จากกรีนเนทได้แสดงความเห็นว่ากลุ่มที่โปรโมทจีเอ็มโอเลือกเอางานวิจัยแค่บางชิ้นมาทำลายความน่าเชื่อถือของเกษตรอินทรีย์

ส่วนในระดับโลก กลุ่มที่สนับสนุนจีเอ็มโอมีทั้งอำนาจเงินและอิทธิพลการเมืองที่เหนือกว่า และสามารถชี้นำสื่อและเวทีต่างๆทั่วโลกได้มาก สามารถให้ทุนวิจัยได้เยอะ เพราะพวกเขาประกอบด้วยกลุ่มทุนข้ามชาติ เช่น มอนซานโต้ และ Gates Foundation ซึ่งบางทีก็พยายามสร้างวาทกรรมเพื่อผลทางการเมืองและการค้า เช่นอ้างว่า คนยุโรปที่ต่อต้านจีเอ็มโอทำให้คนในแอฟริกาหิวโหยและอื่นๆ

ส่วนนักวิทยาศาสตร์ที่ได้เรียนมาทางเทคนิคคล้ายกัน ก็ไม่น่าแปลกใจว่าจะคิดคล้ายกันและมักจะสนับสนุนจีเอ็มโอด้วยความเชื่อมั่น (โดยมักจะไม่ค่อยคิดถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม เพราะอยู่นอกเหนือจากที่เรียนมาแบบวิทยาศาสตร์) หรือถ้าต้องการคิดต่างหรือมีงานวิจัยที่แสดงแง่ลบของจีเอ็มโอ ก็อาจจะกังวลเรื่องการถูกทำลายชื่อเสียงแบบเป็นระบบ เพราะขัดกับแนวคิดของวงการวิทยาศาสตร์และธุรกิจกระแสหลัก (อย่างที่ Séralini โดน)

วาทกรรมกระแสหลักเหล่านี้มีส่วนทำให้ประชาชนหลายส่วนทั่วโลกสงสัยว่าการโปรโมทจีเอ็มโอมีผลประโยชน์ทางกำไรของบริษัทข้ามชาติซ่อนอยู่หรือไม่ นอกจากนั้นยังมีงานเขียนงานวิจัยโต้แย้ง (เช่น ที่กลุ่มมูลนิธิชีววิถีและกรีนเนทนำมาเผยแพร่) มีกลุ่มเกษตรกรและกลุ่มที่เคลื่อนไหวทางสังคมทั่วโลก ที่พยายามยกตัวอย่างผลกระทบของจีเอ็มโอเพื่อต้านความเชื่อและวาทกรรมกระแสหลักเหล่านี้ เช่น พยายามชี้ให้เห็นถึงปัญหาของการปลูกฝ้าย Bt ที่มีผลเสียทางสุขภาพและเศรษฐกิจต่อเกษตรกรในอินเดีย

อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือ การดัดแปลงพันธุกรรมไม่ใช่เทคโนโลยีเดียวในการปรับปรุงผลิตผลทางการเกษตรและสร้างความมั่นคงทางอาหาร รัฐบาลและสังคมไทยควรจะพิจารณาเทคโนโลยีทางเลือกอื่นๆที่มีศักยภาพด้วยเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการพึ่งพาเทคโนโลยีอย่างใดอย่างหนึ่งมากไป (การ lock in) เช่น การผสมพันธุ์โดยการคัดเลือกด้วยยีนเครื่องหมาย (marker-assisted plant breeding) และวิธีการผลิตแบบเกษตรนิเวศ (agro-ecological production methods) และวิธีการเกษตรแบบยั่งยืนอย่างอื่น เช่นการใช้จุลินทรีย์เพื่อปรับปรุงดิน การเกษตรผสมผสาน ซึ่งการทำเกษตรแบบนี้ต้องใช้ความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าช่วย (เช่น ใช้แล็บเพื่อศึกษาและวัดค่าจุลินทรีย์ในดิน) ซึ่งเป็น ศาสตร์อย่างหนึ่งที่มีมหาวิทยาลัยหลายๆแห่งในโลกเปิดสอนและวิจัย (โดยมีนักวิชาการที่ทำเรื่องนี้อยู่เช่น Miguel A. Altieri, Steve R. Gliessman, Olivier De Schutter ที่เป็น UN Special Rapporteur on the Right to Food (http://www.srfood.org/en/report-agroecology-and-the-right-to-food) และคนอื่นๆ)

ในเมืองไทยมีกลุ่มเกษตรกรรายย่อยหลายกลุ่มได้ทำการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนแบบทดลองด้วยตัวเองหรือแบบตามมีตามเกิดมานานหลายสิบปี ถ้ารัฐบาลให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนการวิจัยแนวนี้ โดยเฉพาะการวิจัยแบบมีส่วนร่วมของเกษตรกร (participatory research)อย่างจริงจัง จะช่วยให้เกษตรกรไทยมีองค์ความรู้ด้านเกษตรยั่งยืนเพิ่มมากและเร็วขึ้น

(เครดิตอ้างอิง : บทความ “พรบ.ความ (ไม่) ปลอดภัยทางชีวภาพ (GMO) ? รัฐบาลต้องฟังเสียงภาคประชาชน ตอนที่ 1,โดย ดร.ประพิมพ์ฝัน เชียงกูล อาจารย์ผู้เชียวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ ภาควิชาการระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)

ข่างต่างประเทศ : วันที่ 25 พฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมาประชาชนในหลายร้อยเมืองทั่วโลกร่วมเดินขบวนต่อต้านบริษัท มอนซานโต้ ผู้ผลิตพันธุ์พืชดัดแปลงพันธุกรรมหรือจีเอ็มโอรายใหญ่ของโลก การเดินขบวนจัดขึ้นใน 436 เมืองใน 52 ประเทศ โดยมีผู้ร่วมเดินขบวนราว 2 ล้านคน ผู้ประสานงานการจัดชุมนุมครั้งนี้ให้เหตุผลในการจัดการชุมนุมว่า เกิดขึ้นจากการตระหนักร่วมกันในหลายประเด็น ดังต่อไปนี้

งานศึกษาวิจัยหลายชิ้นพบว่าการบริโภคอาหารที่ได้จากพืชดัดแปลงพันธุกรรมนำไปสู่ความเสี่ยงต่อสุขภาพ เช่น เนื้องอกมะเร็ง การเติบโตที่ผิดปกติ และการให้กำเนิด

อดีตผู้บริหารมอนซานโต้เข้าไปอยู่เบื้องหลังการกำหนดเรื่องความปลอดภัยด้านอาหารขององค์การอาหารและยาสหรัฐ (FDA) ปัญหาของเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนนี้เป็นที่มาของการที่ไม่เคยมีการวิจัยระยะยาวเกี่ยวกับผลกระทบของผลิตภัณฑ์จีเอ็มโอเลย การออกกฎหมายเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2556 ที่เรียกว่ากฎหมายปกป้องมอนซานโต้ “Monsanto Protection Act” ซึ่งอนุญาตให้บริษัทสามารถขายพันธุ์พืชจีเอ็มโอต่อไปได้แม้ได้รับการตัดสินโดยศาลว่าไม่มีความปลอดภัย เป็นหนึ่งในเหตุผลการเดินขบวนครั้งนี้  มอนซานโต้ได้ให้การอุดหนุนแก่นักการเมืองและผู้บริหารระดับสูงของรัฐ ทำให้นโยบายของรัฐเอื้ออำนวยให้มอนซานโต้ผูกขาดระบบผลิตอาหารของโลก ซึ่งรวมถึงการให้สิทธิบัตรในเมล็ดพันธุ์และเทคโนโลยีดัดแปลงพันธุกรรม สร้างผลกระทบและความสูญเสียแก่เกษตรกรรายย่อยและผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์

พืชดัดแปลงพันธุกรรมของมอนซานโต้เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม เช่น เป็นส่งผลกระทบต่อการล่มสลายของอาณาจักรของประชากรผึ้งทั่วโลก เป็นต้น ประเด็นการรณรงค์ที่เป็นข้อเสนอสำหรับประชาชนที่ขบวนการต่อต้านมอนซานโต้นำเสนอในปฏิบัติการครั้งนี้มี 7 ประเด็นสำคัญคือ

-บอยคอตสินค้าทุกชนิดที่ผลิตจากจีเอ็มโอของมอนซานโต้ โดยให้การสนับสนุนสินค้าเกษตรอินทรีย์แทน

-เรียกร้องให้มีการติดฉลากสินค้าจีเอ็มโอเพื่อให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการตัดสินใจ

-ยกเลิกบทบัญญัติไม่ชอบธรรมที่ปรากฎในกฎหมาย “Monsanto Protection Act” ของสหรัฐ

-เรียกร้องให้มีการวิจัยทางวิทยาศาสตร์อย่างจริงจังเกี่ยวกับผลกระทบของพืชจีเอ็มโอ

-ควบคุมผู้บริหารของมอนซานโต้ และนักการเมืองที่ได้รับการสนับสนุนจากมอนซานโต้โดยการกดดันโดยตรงของประชาชน สื่อมวลชนภาคประชาชน และสื่อสาธารณะต่างๆ เป็นต้น

-เปิดเผยและให้ข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมและการกระทำที่ไม่ชอบของมอนซานโต้ต่อสาธารณะ

-เดินขบวนในท้องถนนเพื่อประกาศต่อโลกและมอนซานโต้ว่าเราจะไม่ยอมจำนน สงบเงียบต่อความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นอีกต่อไป

ประวัติบริษัท มอนซานโต้

บริษัทมอนซานโตก่อตั้งเมื่อปี 1901 โดย จอห์น ฟรานซิส ควีนนี  (John F. Queeny) โดยชื่อมอนซานโต้มาจากชื่อของภรรยาของเขา คือ โอลกา มอนซานโต้ ควีนนี ( Olga Monsanto Queeny ) ผลิตภัณฑ์แรกของบริษัทคือสารเคมีที่ให้ความหวานแทนน้ำตาล ซัคคารินโดยมีบริษัทโคคา โคล่า เป็นคู่ค้าสำคัญ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ บริษัทนี้เริ่มผลิตสารเคมีเองเพราะไม่สามารถนำเข้าสารเคมีจากยุโรปได้ โดยในปี 1929 มอนซานโตเติบโตอย่างรวดเร็วเป็นบริษัทขนาดใหญ่จากการผลิตสาร PCBs (Polychlorinated biphenyls) สารเคมีนี้ใช้อย่างแพร่หลายในสารหล่อลื่น น้ำมัน และใช้ผสมอยู่ในพลาสติก สีทาบ้าน ต่อมาพบว่าสารเคมีชนิดนี้เป็นสารพิษที่ทำลายระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็ง และความพิการในทารก ตลอดจนการเสียชีวิตของทารก

ระหว่างปี 1939 – 1948 บริษัทมอนซานโตได้ร่วมในโครงการทดลองวิจัยแร่เกี่ยวกับยูเรเนียมเพื่อใช้ในโครงการแมนฮัตตัน เพื่อผลิตระเบิดนิวเคลียร์ มอนซานโต้กระโจนเข้าสู่อุตสาหกรรมเคมีเกษตรตั้งแต่ปี 1945 เป็นต้นมา โดยเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสารเคมีปราบวัชพืช 2,4 D สร้างผลกำไรให้แก่บริษัทอย่างมาก

ระหว่างปี 1961-1971 บริษัทมอนซานโต้ซึ่งเป็นร่วมกับบริษัทดาวเคมิคอลในการผลิต สารสีส้มหรือ ฝนเหลือง” (Agent Orange) โดยสารพิษร้ายแรงนี้ได้จากการผสมกันของ สารเคมีชื่อ 2,4,5-T  และ 2,4-D เข้าด้วยกัน สารนี้เป็นพิษร้ายแรงทั้งต่อมนุษย์และพืชพรรณ สหรัฐโปรยสารพิษนี้ทางอากาศเพื่อทำลายผืนป่าและพื้นที่เกษตรในเวียดนาม ป้องกันไม่ให้เวียดกงหลบซ่อนในป่าทึบ ทำลายอาหารในเขตเวียดนามเหนือหวังกดดันให้ศัตรูยอมแพ้เพราะขาดอาหาร สารพิษนี้ถูกพ่นไป 76 ล้านลิตร ในพื้นที่ 10 ล้านแฮกตาร์ หรือ 12% ของพื้นที่ของเวียดนามใต้ในขณะนั้น   ฆ่าชาวเวียดนามไปประมาณ 400,000 คน พิการ 500,00 คน และเจ็บป่วย 1-2 ล้านคน รวมไปทั้งทหารอเมริกันบางส่วนด้วย

ในปี 1972 มอนซานโตผลิตสารเคมีปราบศัตรูพืชชนิดใหม่ชื่อสามัญคือไกลโฟเสท “Glyphosate” หรือชื่อการค้า Roundup สารเคมีชนิดนี้ต่อมาแพร่หลายไปทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมอนซานโต้ผลิตพืชจีเอ็มโอที่ต้านทานต่อยาปราบวัชพืชนี้ ทำให้สามารถขายควบทั้งเมล็ดพันธุ์และสารเคมีปราบวัชพืชไปพร้อมๆกัน

ในปี 1987 มอนซานโตเริ่มวิจัยพันธุ์พืชจีเอ็มโอแต่เริ่มมีการผลิตและประสบผลสำเร็จในการปลูกเพื่อการค้าอย่างจริงจริงในปี 1996

ก่อนหน้านั้น 2 ปีคือในปี 1994 มอนซานโตได้ผลิตสารกระตุ้นการผลิตน้ำนมในวัว rBGH และ rBST มีชื่อการค้าว่า Polisac การใช้สารนี้ทำให้สามารถเพิ่มปริมาณการให้น้ำนมของวัวประมาณ 8-17%  สารนี้ได้รับอนุญาตให้ใช้ในสหรัฐอเมริกา แต่ไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนโดย CODEX แม้ว่าพยายามถึง 3 ครั้ง ปัจจุบันพบว่าสารกระตุ้นการเจริญเติบโตชนิดนี้เกี่ยวข้องกับการเกิดเนื้องอก มะเร็งทรวงอกและรังไข่ ลดภูมิต้านทานของร่างกาย และเกิดผลกระทบต่อการดื้อยาปฏิชีวนะ โดยประเทศในสหภาพยุโรปยกเลิกการใช้สารเคมีนี้แล้ว เช่นเดียวกับในหลายประเทศ เช่น ญี่ป่น ออสเตรเลีย เป็นต้น

ความสำเร็จของมอนซานโต้ซึ่งเกิดจากการซื้อบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทของตน การใช้กฎหมายสิทธิบัตรเพื่อผูกขาดเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าไปให้การสนับสนุนนักการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ควบคุมนโยบายเกษตรและอาหาร ทำให้มอนซานโต้สามารถผูกขาดตลาดเมล็ดพันธุ์พืชสำคัญในสหรัฐได้เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ บริษัทนี้ได้เติบโตอย่างรวดเร็วกลายเป็นบรรษัทเมล็ดพันธุ์ยักษ์ใหญ่อันดับหนึ่งของโลก และหนึ่งในห้าบริษัทสารเคมีการเกษตรที่ใหญ่ที่สุดของโลก 
 
(เครดิตอ้างอิง : บทความ "วันปฏิบัติการต้านมอนซานโต้ (Global Action Day Against Monsanto) ,ฝ่ายข้อมูล มูลนิธิชีววิถี ,เว็บไซต์ ไบโอไทยดอทเน็ต , 30 พฤษภาคม 2556)
 
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น