วันอาทิตย์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

โค้งสุดท้ายก่อนถึงงานประกาศผลภาพยนตร์ออสการ์ ครั้งที่ 87

งานออสการ์ครั้งที่ 87 ในปีนี้ เป็นการรวบรวมผลงานที่ออกฉายในปี 2014 จะจัดงานกันขึ้นที่ ดอลบี้เธียเตอร์ ฮอลลีวู้ดสตรีท ลอสแอนเจลิส มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ถ่ายทอดโดยสถานีโทรทัศน์ ABC ของสหรัฐ โดยพิธีกรผู้ดำเนินรายการในปีนี้จะเป็น นีล แพ็ทริก แฮร์ริส มีภาพยนตร์ที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจำนวน 8 เรื่อง ในจำนวนนี้มีภาพยนตร์ที่ได้เข้าชิงในสาขาต่างๆ มากที่สุดอยู่ 2 เรื่องคือ Birdman และ The Grand Budapest Hotel คือเข้าชิงเรื่องละ 9 สาขาเท่ากัน นอกนั้นก็ลดหลั่นกันลงไป ทั้ง 2 เรื่องมีความโดดเด่นแตกต่างกันไป แต่จุดร่วมของทั้ง 2 เรื่องที่มีเหมือนกันก็คืองานกำกับภาพ กำกับศิลป์ งานด้านการแสดง และบทที่เรียกว่ายอดเยี่ยมไม่แพ้กัน ในบรรดาหนังทั้ง 8 เรื่องที่เข้าชิงในปีนี้ มีอยู่ถึง 6 เรื่องเป็นหนังแนวอัตชีวประวัติ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่โดดเด่นมากจริงๆ ในปีนี้ เพราะว่าถ้าเป็นปีอื่นๆ หนังในแนวอัตชีวประวัติจะหลุดโผเข้ามาชิงได้ไม่เกิน 2-3 เรื่องเท่านั้นในแต่ละปี แต่ในปีนี้มีถึง 6 จาก 8 เรื่อง แถมอีก 2 เรื่อง แม้จะไม่ใช่หนังแนวอัตชีวประวัติก็จริง แต่ก็ตีแผ่ความนึกคิดของตัวละครในแบบลงลึก จุดเปลี่ยนที่สำคัญในชีวิต และด้านมืดของมนุษย์อีกด้วย นี่จึงเป็นปีของออสการ์ที่สะท้อนธีมของความเป็นมนุษยชาติ จิตวิญญาณ และการต่อสู้ของมนุษย์ที่โดดเด่นปีนึงเลยทีเดียว จุดที่ผู้เขียนอยากตั้งข้อสังเกตไว้ก็คือ ในรอบปีที่ผ่านมาข่าวต่างประเทศ หรือเหตุการณ์สำคัญๆ ของโลก จะวนเวียนอยู่กับเรื่องสงคราม การก่อการร้าย การลุกฮือขึ้นของภาคประชาชนกับผู้ปกครองรัฐต่างๆ  อุบัติเหตุทางธรรมชาติหรือที่เกิดขึ้นด้วยน้ำมือมนุษย์ มากมายหลายเหตุการณ์ ออสการ์มักเล่นกับกระแสและความเป็นไปของโลกในวาระสำคัญๆ ในช่วงเหตุการณ์ที่ใกล้เคียงกันแบบนี้ ในปีนี้หนังที่มีประเด็นที่ใกล้เคียงกับสิ่งเหล่านี้มีอยูด้วยกัน 3 เรื่องก็คือ American Sniper, The Imitation Game  และก็ Selma จึงไม่ควรมองข้ามหนังทั้ง 3 เรื่องนี้เป็นเด็ดขาด แต่ที่มีภาษีและสร้างกระแสในหมู่นักวิจารณ์เป็นอย่างมากใน 3 เรื่องนี้ก็คือ American Sniper เพราะเมื่อต้นปี โลกกำลังให้ความสนใจอยู่กับประเด็นการบุกเข้าไปจี้ตัวประกันที่ออสเตรเลีย ชาวมุสลิมบุกเข้าไปกราดยิงนักหนังสือพิมพ์แนวเสียดสีล้อเลียน Charlie Hebdo หรืออย่างกรณีล่าสุดที่ กลุ่ม IS จับกุมตัวประกันชาวญี่ปุ่น 2 คนแล้วสังหารโหดในเวลาต่อมา เป็นความต้องการสื่อสารอะไรให้ชาวอเมริกันและชาวโลกได้รู้อะไรหรือไม่ ซึ่งออสการ์ก็มักทำเช่นนั้นคล้ายๆ กัน คือหนังที่จะได้ยอดเยี่ยม ก็เป็นผลสรุปของคณะกรรมการและสมาชิกของสถาบันออสการ์ต้องการบอกแก่คนดูทั่วโลกในปีนั้นๆ ว่า เขาสรุปสถานะหรือประเด็น ใจความสำคัญของภาพรวมของอุตสาหกรรมบันเทิงหรือภาพยนตร์โลกว่าอย่างไร มาเข้าสู่ประเด็นของโค้งสุดท้ายก่อนถึงงานประกาศภาพยนตร์ออสการ์ครั้งที่ 87 ซึ่งทุกปี ผู้เขียนก็จะมาสโคปให้แคบลงไปว่า ภาพยนตร์เรื่องใดควรจะได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในปีนี้ไปครอง ซึ่งปีนี้ไม่กล้าฟันธง แต่ขอตัดช้อยส์เหลือเพียง 5 เรื่องที่จะได้เข้าชิง โดยให้น้ำหนักไปที่ 2 เรื่องนี้ก็คือ Birdman กับ American Sniper  เรื่องใดเรื่องนึงที่จะเข้าวิน รายละเอียดทั้งหมดดังนี้

Best Picture : Nominations 8 choice

1.American Sniper    2.Birdman or (The Unexpected Virtue of Ignorance)
3.Boyhood   4.The Grand Budapest Hotel  5.The Imitation Game
6.Selma   7.The Theory of Everything
   8.Whiplash

Best Direction : Nominations 5 choice

1. Wes Anderson - The Grand Budapest Hotel    2.Morten Tyldum  The Imitation Game   3.Alejandro González Iñárritu - Birdman    4.Richard Linklater - Boyhood   5.Bennett Miller – Foxcatcher

Best Original Screenplay : Nomination 5 choice

1.Birdman or (The Unexpected Virtue of Ignorance)
Written by Alejandro G. Iñárritu, Nicolás Giacobone, Alexander Dinelaris, Jr. & Armando Bo
2.Boyhood
Written by Richard Linklater
3.Foxcatcher
Written by E. Max Frye and Dan Futterman
4.The Grand Budapest Hotel
Screenplay by Wes Anderson; Story by Wes Anderson & Hugo Guinness
5.Nightcrawler
Written by Dan Gilroy

Best Adapted Screenplay : Nomination 5 choice

1.American Sniper
Written by Jason Hall
2.The Imitation Game
Written by Graham Moore
3.Inherent Vice
Written for the screen by Paul Thomas Anderson
4.The Theory of Everything
Screenplay by Anthony McCarten
5.Whiplash
Written by Damien Chazelle

Boyhood  ในวันฉันเยาว์

ผู้กำกับริชาร์ด ลิงค์เลเทอร์ มักสนใจประเด็นที่ว่า เวลามีผลกระทบต่อชีวิตของเรายังไง เช่นในหนังหนังไตรภาค Before Sunrise, Before Sunset และ Before Midnight ที่ผู้กำกับนำนักแสดงมาถ่ายทำชีวิตของตัวละครคู่รักว่าจากการพบกันครั้งแรก ครั้งที่สอง จนถึงหลังจากอยู่ด้วยกันตลอดเวลาที่ผ่านมา 18 ปี ชีวิตของพวกเขาเปลี่ยนแปลงไปยังไงบ้าง ลิงค์เลเทอร์ได้ทำแบบนั้นอีกครั้งในหนัง Boyhood ที่ใช้เวลาถ่ายทำ 12 ปี ติดตามเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงชีวิตของเด็กผู้ชายชื่อ เมสัน (เอลลา โคลเทรน) จากวัยเด็ก 6 ขวบ จนถึงอายุ 18 ปี

Boyhood เป็นเรื่องราวของครอบครัวหนึ่งที่เล่าผ่านสายตาของเด็กชายคนหนึ่ง ซึ่งต้องเผชิญปัญหาทั้งเรื่องหย่าร้าง ชีวิตในโรงเรียน ภาระหน้าที่ และความรับผิดชอบที่มากับวัยที่โตขึ้น สิ่งที่ทำให้หนังพิเศษกว่าหนังแนวเดียวกันในเรื่องอื่นๆ ก็คือลิงค์เลเทอร์ได้เลือกโคลเทรนตั้งแต่อายุ 7 ขวบ ให้มารับบทเป็นเมสัน และเริ่มถ่ายทำหนังตั้งแต่ปี 2002 โดยลิงค์เลเทอร์จะพาโคลเทรนมาจากบ้านในออสตินปีละครั้ง เพื่อมายังกองถ่ายในเท็กซัส จากนั้นถามว่าชีวิตในช่วงปีที่ผ่านมาเป็นยังไง แล้วก็ให้โคลเทรนอยู่กับครอบครัวปลอมๆ ที่อีธาน ฮอว์ค มารับบทเป็นพ่อ, แพทริเซีย อาร์เควตต์ มารับบทเป็นแม่ และลอเรไล ลิงค์เลเทอร์ ลูกสาวของผู้กำกับเอง มารับบทเป็นพี่สาวของเมสัน การถ่ายทำดำเนินเช่นนี้ทุกปี ปีละหนึ่งสัปดาห์จนโคลเทรนอายุ 18 ปี  หนังเรื่องนี้มีบท แต่มีการปรับเรื่องราวไปตามกาลเวลาที่โคลเทรนเปลี่ยนไป แล้วผู้กำกับก็นำทั้งหมดมาผสมกันเป็นภาพยนตร์ยาว 3 ชั่วโมง ซึ่งฉายรอบปฐมทัศน์ครั้งแรกในเทศกาลหนังซันแดนซ์เมื่อกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้รับคำวิจารณ์ด้านบวกอย่างท่วมท้น มีคะแนนเฉลี่ยจาก 19 นักวิจารณ์ตอนนี้ที่ Rotten Tomatoes อยู่ที่ 9.1/10 และนักวิจารณ์ชอบทั้ง 100% ลิงค์เลเทอร์ยังเอาหนังไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลินหลังจากนั้นด้วย ซึ่งทำให้เขาได้รางวัลซิลเวอร์แบร์ในฐานะผู้กำกับยอดเยี่ยม นักวิจารณ์บางคนคาดการณ์ด้วยว่าหนังจะมีบทบาทสำคัญบนเวทีออสการ์ปีหน้า  นักวิจารณ์ชอบหนังตรงที่ไม่เพียงมีเรื่องราวที่ประทับใจเท่านั้น แต่เทคนิคการถ่ายทำของลิงค์เลเทอร์เช่นนี้ทำให้หนังเกิดความสมจริงอย่างที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อนในหนังเรื่องอื่น เป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ให้ภาพยนตร์ สาเหตุส่วนหนึ่งคือการได้เห็นการเติบโตของเด็กคนหนึ่งที่เหมือนได้มีส่วนร่วมเติบโตไปกับเขาจริงๆ ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในชีวิตอย่างเป็นธรรมชาติแบบที่การแต่งหน้าให้ดูแก่หรือคอมพิวเตอร์กราฟฟิกก็สู้ไม่ได้ ผู้ชมยังได้เห็นการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมรอบตัวของโคลเทรนร่วมไปด้วย ตั้งแต่เพลงในหนังที่ฮิตในวัยเด็กของเขาอย่าง Yellow ของโคลด์เพลย์ จนมาถึง Get Lucky ของ Daft Punk ได้เห็นตั้งแต่สงครามอิรักที่เปิดทางสู่การเป็นประธานาธิบดีของโอบามา และเห็นของเล่นของเมสันจากเกมบอยที่เปลี่ยนเป็น Wii และเป็น iPhone (อ้างอิงรีวิวของ jediyuth)

“Richard Linklater” ผู้กำกับ ต้องการสร้างให้ Boyhood เป็นหนังแนว “Coming of Age” ที่สมจริง เห็นการเปลี่ยนผ่านช่วงวัยอย่างชัดเจน โดยไม่ต้องใช้เมคอัพแต่งช่วย จึงเป็นที่มาของการวางแผนถ่ายทำยาวนานถึง 12 ปี เป็นแนวคิดที่ท้าทายมาก แต่ขณะเดียวกันก็เป็นแนวคิดที่ “บ้าพลัง” มากเช่นกัน เพราะโปรเจคระยะยาวแบบนี้ มีความเสี่ยงที่จะทำให้ล่มได้ไม่น้อย เกิดผู้กำกับเบื่อขึ้นมากลางคัน หรือนักแสดงถอดใจไม่เล่นต่อ หรือเป็นอะไรไป ที่ทำมาหลายปีก็ถือว่าล้มเหลว แต่โชคดีที่ “Boyhood” ผ่านสิ่งเหล่านั้นมาได้ และกลายมาเป็น “ประวัติศาสตร์” อีกหน้าหนึ่งในวงการภาพยนตร์ แค่ความกล้าบ้าบิ่นในการทำ 12 ปีให้มาอยู่ในช่วงเวลา 2 ชั่วโมง 35 นาที ก็เป็นเหตุผลสำคัญที่ไม่ควรจะพลาดหนังเรื่องนี้แล้ว Boyhood ยังมีดีที่บทหนัง หนังไม่ได้เป็นเพียงการนำภาพในแต่ละปีมาต่อๆ กัน เพื่อให้เห็นว่าหน้าตาของ Mason Evan, Jr. และตัวละครรอบข้างเปลี่ยนไปยังไงเท่านั้น แต่หนังยังมีเส้นเรื่องของตัวเองที่น่าสนใจและทำให้เราอยากติดตามต่อว่าชีวิตของ Mason จะดำเนินไปในทิศทางใด ที่น่าทึ่งคือแม้จะเขียนบทเพิ่มกันปีต่อปีตามเวลาที่ถ่าย บางปีบทเพิ่งเสร็จในคืนก่อนถ่ายทำ แต่หนังยังสามารถคุมให้ทั้ง 12 ปีอยู่ในโทนเดียวกันได้ตลอด พร้อมๆ กับทำให้เห็นพัฒนาของการเรื่องราว สภาพแวดล้อม ประเด็นที่โตไปพร้อมๆ กับตัว Mason ด้วย

ความน่าสนใจในชีวิต Mason คือเขาเติบโตมาในสภาพครอบครัวที่แตกแยก พ่อแม่หย่ากันตั้งแต่เด็ก เขาและพี่สาว “Samantha Evans” (Lorelei Linklater) อาศัยอยู่กับแม่ “Olivia” (Patricia Arquette) ขณะที่พ่อ “Mason Evan, Sr.” (Ethan Hawke) มาเจอเขาและพี่ได้แค่ประมาณ 2 สัปดาห์ต่อครั้ง หรือไม่ก็ทิ้งช่วงนานกว่านั้น แม้ว่าสังคมครอบครัวอเมริกาที่มองเผินๆ จะเป็นสังคมที่สามารถแยกเรื่องความรักฉันชู้สาวระหว่างสามีภรรยากับความรักที่พ่อแม่มีต่อลูกออกจากกันได้ คือถึงแม้จะหย่ากัน แต่ทั้งพ่อและแม่ต่างสิทธิที่จะมาพบลูกได้เป็นครั้งคราว พาไปเที่ยว พาไปเล่นได้ เพื่อรักษาความสัมพันธ์ครอบครัวให้คงอยู่ได้ และทำให้เด็กไม่รู้สึกว่าขาดความรักจากแต่พ่อแม่ แต่ชีวิตแบบนี้ใช่ว่าจะไม่ส่งผลอะไรต่อเด็กเลย กับ “Samantha” อาจไม่เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นชัดเจน เพราะเป็นผู้หญิงเหมือนกันกับแม่ แต่กับ “Mason” เขาเป็นผู้ชาย และยังมองพ่อในลักษณะไอดอล เมื่อต้องแยกจากพ่อมาอยู่กับแม่และพี่สาว ลึกๆ Mason จึงรู้สึกไม่ต่างว่าเขาเป็น ส่วนเกินของบ้าน แต่ขณะเดียวกันเขาก็เข้าใจถึงสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ความขัดแย้งนี้เก็บกดไว้ในใจของ “Mason” จนทำให้เขากลายเป็นคนที่ไม่ค่อยแสดงความรู้สึกอะไร หลักลอย และใช้ชีวิตแบบดูเหมือนไร้จุดหมาย บางทีเพราะกลัวว่าถ้าเขาจริงจังกับอะไรมากเกินไปมันจะทำให้เจ็บให้เสียใจมากยิ่งขึ้น นอกจากตัวของ Mason แล้วตัวละครรอบข้างต่างก็มีพัฒนาการตลอดระยะเวลา 12 ปี โดยเฉพาะตัวละครของพ่อและแม่ ซึ่งสังเกตได้ชัดว่า “Mason Evan, Sr.” จากพ่อที่ใช้ชีวิตเรื่อยเปื่อย กลายมาเป็นพ่อคนที่คิดถึงครอบครัวก่อน อาจเพราะความรู้สึกที่ว่าเขายังไม่สามารถทำหน้าที่พ่อให้กับ “Mason” และ “Samantha” ได้เท่าที่ควร  ขณะที่ “Olivia” เราก็ได้เห็นมุมมองของ Single Mom ที่เลี้ยงดูลูกทั้ง 2 คนด้วยตัวคนเดียว แต่ขณะเดียวกันก็พยายามไขว่คว้าหา ความรักทั้งเพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงให้กับลูกๆ และเพื่อเติมเต็มความรักที่ผิดพลาดในอดีตระหว่างเธอกับ “Mason Evan, Sr.” นั่นทำให้หลังจากนั้นเธอแต่งงานใหม่ถึง 2 ครั้ง ก่อนที่เวลาจะทำให้เข้าใจว่าบางทีเธอก็วิ่งหาความรักมากเกินไป และการที่เธอแต่งงานบ่อย ย้ายที่บ่อย มันสร้างปมในใจให้กับลูกๆ อย่างไม่รู้ตัว  (อ้างอิงรีวิว บล็อกของคุณ zeawleng.wordpress)

รางวัลที่ได้รับมาแล้ว : เป็นขวัญใจนักวิจารณ์ทั่วโลก กวาดรางวัลทั่วโลกกว่า 10 สถาบัน อาทิ Alliance of Women Film Journalists,Austin Film Critics Association,Berlin International Film Festival,Boston Society of Film Critics,British Independent Film Awards,Casting Society of America,Chicago Film Critics Association,Critics’s Choice Movie Awards,Denver Film Critics Society,Detroit Film Critics Society,Dublin Film Critics Circle,Florida Film Critics Circle,Georgia Film Critics Association,Golden Globe Award,Houston Film Critics Society Award,Los Angeles Film Critics Association,New York Film Critics Circle & Online etc. ,เข้าชิงรางวัลออสการ์ปีนี้ถึง 6 สาขา

Birdman or (The Unexpected Virtue of Ignorance)   มายาดาว

ในเรื่อง ไมเคิล คีตัน รับบทเป็น ริกแกน ธอมสัน นักแสดงรุ่นใหญ่ที่ดิ้นรนหาโอกาสที่จะกลับคืนวงการบันเทิงอีกครั้ง ที่ทุกคนยังติดภาพเขาในฐานะพระเอกหนังซุปเปอร์ฮีโร่เรื่องดังในอดีต ไม่ต่างอะไรกับชีวิตนักแสดงวัย 63 ที่ถูกคนทั้งโลกจดจำในฐานะอัศวินรัตติกาลจากหนังที่เล่นไว้เมื่อ 25 ปีก่อน ที่ต้องอดทนกับคำถามซ้ำซากที่ว่าทำไมไม่กลับมารับบทนำใน Batman Forever อีก,เช่นเดียวกับทีริกแกนเคยบอกปัดที่จะเล่น Birdman 4  หนังเรื่องนี้ได้รับเสียงวิจารณ์ที่ดีมากเมื่อตอนออกฉายที่เทศกาลหนังเวนิสและเทลยูไรด์ ในเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว นอกจากคีตันแล้ว ผู้กำกับอิญาร์ริตู ยังคัดนักแสดงสมทบที่เคยรับบทในหนังซุปเปอร์ฮีโร่อย่าง เอ็ดเวิร์ด นอร์ตัน มารับบทเพื่อนนักแสดงจิตป่วนในละครเวทีที่ริกแกนหมายมั่นปั้นมือให้เป็นงานกู้ชื่อเสียง (บทนี้นอร์ตันถูกเลือกมาแทนที่ วูดดี้ แฮร์เรลสัน,ไมเคิล ฟาสเบนเดอร์,เจเรมี่ เรนเนอร์ เพราะทั้ง 3 คนไปติดงานแสดงหนังภาคต่อฟอร์มยักษ์กันหมด) กับ เอ็มมา สโตน รับบทลูกสาวเจ้าอารมณ์ของริกแกน มีตัว Birdman อัศวินขนนกสีน้ำตาลดำสวมหน้ากากปกปิดใบหน้าครึ่งท่อน คอยตามหลอกหลอนและให้กำลังใจ ยั่วยุดูแคลนริกแกน เป็นภาพสะท้อนอารมณ์สูงสุดและต่ำสุดของนักแสดง คล้ายภาพสะท้อนถึงเสียงอ้อนวอนขอไถ่บาปในตัวคีตัน เหมือนที่นักวิจารณ์สมัยก่อนเคยมองว่า นอร์มา เดสมอนด์ ผู้วิปลาสในเรื่อง Sunset Boulevard (1950) คือภาพสะท้อนด้านมืดของนักแสดงสาวใหญ่ กลอเรีย สวอนสัน  ความท้าทายที่อิญาร์ริตู ตั้งโจทย์เพิ่มกับทีมงานและนักแสดงก็คือ เรื่องราวใน Birdman จะเกิดขึ้นในเวลาเพียงสองอาทิตย์ เมื่อริกแกนผู้ตั้งเป้าหมายจะกลับมาแจ้งเกิดในวงการบันเทิงอีกรอบ  ด้วยการเขียนบท กำกับ และแสดงนำในละครเวทีที่ถูกดัดแปลงจากเรื่องสั้นของ เรย์มอนด์ คาร์เวอร์ เรื่อง What We Talk About When We Talk About Love แต่หนังจะเล่าเป็นช็อตเดียวต่อเนื่องไปจนจบเรื่อง โดยที่ผู้กำกับภาพ เอ็มมานูเอล ซิโว ลูเบสกี (The Tree of Life, Gravity) จะคอยคิดหาวิธีกลบเกลื่อนร่องรอยแผลในแต่ละเทค ขณะที่นักแสดงและผู้กำกับต้องทุ่มเทถ่ายทำในนิวยอร์ก ที่แต่ละช็อตถูกแตกให้ยาวไม่น้อยกว่า 7-10 นาที ในหนังที่ดูราวกับกล้องเคลื่อนไหลเลื่อนไปโดยไม่มีการสั่งคัท   ความทะเยอทะยานของอีนาร์รีตูเต็มเปี่ยมขนาดไหน เราย่อมรับรู้ได้ชัดจากผลงานโด่งดังก่อนหน้านี้ของเขาอย่าง 21 Grams กับ Babel และในหนังกวาดรางวัลเรื่องล่าสุดนี้ จุดเด่นนั้นก็ยิ่งเพิ่มถึงระดับน่าตื่นตะลึง ตั้งแต่ในงานบท (ซึ่งชำแหละความป่วยไข้ของผู้คนร่วมสมัยอย่างทั้งซับซ้อนและจัดจ้านแสบสันต์),การแคสติ้ง(ที่ระดับดาราระดับขั้นเทพมาปล่อยของกันสุดพลัง ไม่ว่าจะเป็น ไมเคิล คีตัน กับบทอดีตดาราหนังซุปเปอร์ฮีโร่ ที่อยากฝังกลบอดีตแล้วพยายามแจ้งเกิดใหม่ในแวดวงบรอดเวย์ ,เอ็ดเวิร์ด นอร์ตัน กับบทดาราดังที่ฝีมือล้นหลามพอๆ กับอีโก้, เอ็มมา สโตน ในบทหญิงสาวที่เพิ่งหลุดจากสถานบำบัด, แช็ค แกลิเฟียนาคิส ในบทโปรดิวเซอร์เสียสติ) ไปจนถึงการกำกับภาพของ เอ็มมานูเอล ลูบิชกี (เจ้าของออสการ์จาก Gravity) ซึ่งงัดเอาทักษะทั้งอาชีพออกมาถ่ายหนังเรื่องนี้ด้วยรูปลักษณ์แบบ หนังเทคเดียว ที่ไม่เพียงแต่เคลื่อนกล้องพลิ้วไหว ราวกับนกโบยบิน หากยังเปลี่ยนฉากหลังแวดล้อมที่สมจริง สลับกับแฟนตาซีได้อยางน่าแปลกใจ ทั้งหมดนั้นไม่ได้มีไว้แค่เพื่อเป็นจุดขายเก๋ไก๋ แต่มันถูกใช้อย่างสอดรับพอดิบพอดีกับธีมของเรื่องอันว่าด้วย “ไฟที่ไม่เคยดับสูญ” ในจิตวิญญาณของตัวละคร แน่นอนว่าอาจมีหลายหนที่เรารู้สึกว่าทุกสิ่งอย่างถูกประเคน เข้ามาเพื่อการสื่อความหมายจนล้นเกิน (อันมักเป็นปัญหาสำคัญในหนังของอีนาร์รีตู) ทว่าเมื่อถูกคานน้ำหนักเข้ากับอารมณ์ขันร้ายๆ (ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาไม่ค่อยมีเท่าไหร่ในงานก่อนหน้านี้) ผลที่ได้ก็นับเป็นความท้าทายที่น่าชื่นชมสำหรับคนทำและน่าลิ้มลองสำหรับคนดู
รางวัลที่ได้รับมาแล้ว :   Venice Film Festival (Future Film Festival Digital Award , เข้าชิงสิงโตทองคำ) ,National Board of Review USA  (เป็น 1 ใน 10 หนังยอดเยี่ยมแห่งปี, นักแสดงนำชาย (คีตัน) และสมทบชาย (นอร์ตัน) ,Boston Online Film Critics Association , Dallas-Fort Worth Film Critics Association , Kansas City Film Critic Circle , Las Vegas Film Critics Society , etc. รวมถึงเข้าชิงรางวัลออสการ์ปีนี้ถึง 9 สาขา

American Sniper  อเมริกันสไนเปอร์ โคตรพระกาฬในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ
เรื่องราวสุดเหลือเชื่อของคริส ไคล์ ถูกบันทึกเอาไว้ในหนังสื่อชื่อ “American Sniper : The Autobiography of the Most Lethal Sniper in U.S. Military History   (ไคล์เขียนร่วมกับ สก็อต แม็คยวน และจิม เดอเฟลีซ) ที่ทำยอดขายถล่มทลายเมื่อตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2012
เรื่องราวของไคล์ พลซุ่มยิงของหน่วยซีล ที่ไปปฏิบัติภารกิจทีอิรักถึง 4 รอบ ซึ่งความแม่นยำในการเหนี่ยวไกของเขา ช่วยชีวิตเพื่อนทหารร่วมชาติไว้ได้หลายครั้ง ทั้งยังส่งให้เขากลายเป็นสไนเปอร์มือพระกาฬที่ครองสถิติฆ่าศัตรูได้มากที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกา (160 รายที่ได้รับการยืนยันว่าเขาสังหารถูกตัว)  กิตติศัพท์ของเขาเป็นที่เลื่องลือจนแม้แต่กลุ่มหัวรุนแรงในอิรักเองยังเรียกเขาว่า “มารร้ายแห่งเมืองรอมาดี”   และตั้งค่าหัวเขาไว้หลายหมื่นเหรียญ ลำพังแค่บอกว่าหนังเรื่อง American Sniper คือหนังที่เล่าถึงพลซุ่มยิงผู้ร้ายกาจที่สุดของอเมริกาก็ดึงความสนใจจากผู้คนได้มากโขอยู่แล้ว การที่หนังได้ผู้กำกับรุ่นเก๋าอย่าง คลินต์ อีสต์วู้ด มานั่งคุมบังเหียน จึงยิ่งน่าจับตา ว่านี่คือไม่ใช่เพียงอีกหนึ่งหนังสงครามในแบบที่มีให้เห็นกันดาษดื่น เพราะหากมองย้อนกลับไปยังหนังสงครามของปู่คลิ้น ไม่ว่าจะเป็น Heartbreak Ridge (1986),  Flags of Our Fathers หรือ Letters from Iwo Jima (2006) ก็ล้วนเต็มไปด้วยการครุ่นคิด สำรวจลึกถึงสภาวะทางจิตใจของทหารและผลพวงของการรับใช้ชาติ  “สิ่งที่ดึงดูดความสนใจของผมก็คือ เรื่องราวของเขาในฐานะวีรบุรุษ แต่เขาก็สังหารศัตรูไปมากมาย ผมจึงอยากสำรวจเบื้องหลังการตัดสินใจฆ่าของเขา ภาระทางจิตใจที่เขาต้องแบกรับ เขาคิดหรือรู้สึกยังไงกับสิ่งที่ตัวเองทำลงไป”  ผู้กำกับวัย 84 บอก ซึ่งก็ตรงกับวิสัยทัศน์ในบทหนังของเจสัน ฮอลล์ (Paranoia,2013) ที่มุ่งนำเสนอเรื่องราวของไคล์ให้ลึกกว่าภาพจำที่คนอเมริกันรู้สึกต่อตัวเขา ภาระการตัดสินใจเชิงศีลธรรมและผลของมันจึงกลายมาเป็นหนึ่งในธีมหลักของเรื่อง “เขาทำในสิ่งที่เขาเชื่อว่าถูกต้อง แต่ในสงครามจริงๆ ทุกอย่างมันเป็นสีเทา”  ฮอลล์เล่า  “ผมมองเขาเป็นเหมือนสุนัขเลี้ยงแกะที่ทำไปตามหน้าที่ แต่กลับต้องเผชิญกับความโหดร้าย จนสุนัขเลี้ยงแกะกลายไปเป็นหมาป่า....การพยายามหาหนทางกลับมาเป็นตัวเขาเองอึกครั้งจึงถือว่าน่าสนใจสุดๆ”   ฮอลล์เขียนบทโดยอิงจากหนังสือของไคล์เป็นหลัก (แม้จะเริ่มพัฒนาบทตั้งแต่ก่อน หนังสือจะถูกตีพิมพ์ออกมาก็ตาม) โดยเน้นเล่าถึงเหตุการณ์ใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละรอบที่เขาไปอิรัก สลับไปกับย้อนไปเล่าเหตุการณ์ช่วงที่ไคล์กลับไปบ้าน ที่บาดแผลจากสงครามส่งผลกระทบมาถึงความสัมพันธ์ของเขากับภรรยาและลูกๆ หนังได้แบรดลีย์ คูเปอร์ที่เป็นทั้งโปรดิวเซอร์ของโปรเจ็กต์นี้และยังรับบทแสดงนำเป็นไคล์ (โดยเขาต้องฟิตหุ่น เพิ่มน้ำหนักขึ้นมาถึง 18 กิโลกรัม, ฝึกพูดสำเนียงเท็กซัส, และฝึกวิธีใช้ปืนภายใน 3 เดือน) และแม้ต้องเผชิญกับความยุ่งยากในการเฟ้นหาตัวผู้กำกับที่ใช่ (ตอนแรก เดวิด โอ รัสเซลล์ เปรยว่าสนใจอยากจะกำกับ ก่อนที่สตีเว่น สปีลเบิร์กจะถูกวางตัว และกลายมาเป็นคลิ้นต์ อีสต์วู้ดในที่สุด)  สิ่งที่กระทบกระเทือนโปรเจ็กต์นี้มากที่สุดคงหนีไม่พ้นการจากไปอย่างกระทันหันของไคล์ ที่ถูกฆาตกรรมคาสนามฝึกยิงปินในเท็กซัส เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2013 โดยฝีมือของทหารผ่านศึกนายหนึ่งที่คาดว่ากำลังเผชิญอยู่กับโรค PTSD (Post – Traumatic Stress Disorder โรคความผิดปกติทางจิตใจหลังเผชิญเหตุสะเทือนขวัญ) ซึ่งพบได้บ่อยในทหารที่เพิ่งผ่านสงครามมา ซึ่งยิ่งทำให้ทั้งฮอลล์,คูเปอร์และอิสต์วู้ด ขะมักเขม้นที่จะเล่าเรื่องของไคล์ให้ซื่อตรงที่สุด  ทั้งเพื่อแสดงความนับถือต่อจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์ของเขา และสะท้อนถึงความร้ายกาจของสงครามที่เราไม่อาจหนีพ้นและส่งผลอันน่าเศร้า
รางวัลที่ได้รับมาแล้ว : American Film Institute Award 2014 (ติด 1 ใน 10 หนังเยี่ยมแห่งปี) รวมถึง National Board of Review , Iowa Film Critics , Denver Film Critics Society รวมถึงเข้าชิงรางวัลออสการ์ปีนี้ถึง 6 สาขา

The Imitation Game  ถอดรหัสลับ อัจฉริยะพลิกโลก

แม้บทวิจารณ์ต่อหนังเรื่องนี้จะไม่ได้ออกมาด้านบวกไปเสียทั้งหมด (จุดที่ถูกตั้งข้อสังเกตหนักที่สุดคือการเล่าเรื่อง ซึ่งพึ่งสูตรสำเร็จเพื่อควบคุมอารมณ์คนดูมากเกินเหตุ) แต่เหตุผลหลักที่ทำให้ The Imitation Game ยังคงเป็นหนึ่งในหนังที่ไม่ควรพลาดประจำปีนี้ก็คือ การที่มันเล่าเล่าเรื่องราวของอัจฉริยะคนสำคัญของโลกซึ่งคนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยรู้จักอย่างอลัน ทัวริง นักคณิตศาสตร์ชาวอังกฤษผู้กลายเป็นวีรบุรุษ หลังจากคิดค้นเครื่องถอดรหัสของฝ่ายเยอรมันได้สำเร็จ อันเป็นการช่วยให้ฝ่ายพันธมิตรคว้าชัยชนะในสงครามโลกครั้งที่ 2ได้สำเร็จ โดยพล็อตหนังเน้นจับไปที่ 3 ช่วงเวลาในชีวิตของทัวริง คือช่วงเรียนมหาวิทยาลัย (ซึ่งเปิดเผยทั้งความฉลาดและรสนิยมทางเพศ), ช่วงปฏิบัติภาระกิจลับแก่กองทัพยามศึก (ซึ่งเขาต้องเผชิญความขัดแย้งทั้งในระดับส่วนตัวและการเมือง) และช่วงบั้นปลาย (ซึ่งเผยให้เห็นอคติอันคับแคบโหดร้ายของรัฐที่นำพาเราไปสู่จุดจบ) ทิลดัม (ผู้กำกับชาวนอร์เวย์เจ้าของหนังทริลเลอร์เรื่อง Headhunters) เล่าเรื่องทั้งหมดนั้นด้วยลีลาเร้าระทึกขวัญ จนกลายเป็นหนังชีวประวัติที่ดึงความสนใจของคนดูไว้ได้อยู่หมัด แถมยังได้การแสดงแบบทุ่มเทหมดหน้าตักของเบเนดิกต์ คัมเบอร์แบตซ์ ผู้ถ่ายทอดตัวตนของตัวละครทัวริง ทั้งด้านความฉลาดล้ำเลิศทางวิทยาศาสตร์และความขาดทักษะในการเข้าสังคม ร่วมด้วยการแสดงบทสมทบอันเยี่ยมยอดของ คีรา ไนต์ลีย์ ในบทผู้หญิงคนเดียวของกลุ่มนักถอดรหัส (และเป็นคู่รักของทัวริงอยู่ระยะหนึ่ง) ซึ่งล้วนช่วยเสริมความเด็ดขาดให้แก่หนังขึ้นไปอีกขั้น
รางวัลที่ได้รับมาแล้ว  :   National Board of Review USA. (เป็น 1 ใน 10 หนังยอดเยี่ยมแห่งปี) ,Toronto International Film Festival (รางวัลขวัญใจคนดู) , British Independent Film Awards (Best British Independent Film) ได้เข้าชิงสาขาบท,นักแสดงนำชาย,นักแสดงนำหญิง ,etc.

The Grand Budapest Hotel คดีพิสดาร โรงแรมแกรนด์บูดาเปสต์

หนังเล่าเรื่องด้วยวิธีการซับซ้อนนิดนึง โดยเริ่มจาก ชั้นแรกเป็นเด็กผู้หญิงคนหนึ่งกำลังอ่านหนังสือของนักเขียนคนหนึ่ง ใกล้ๆ กับอนุสาวรีย์หรือสุสานของเขา โดยในหนังสือ คนเขียนเริ่มเล่าเรื่องจากบนโต๊ะทำงานของเขาในปี 1985 และทริปที่ไปโรงแรม Grand Budapest ในปี 1968 ชั้นที่สอง จึงเป็นชั้นปี 1985 ที่คนเล่าเรื่องเป็นนักเขียนคนนั้น (Tom Wilkinson) และกำลังเล่าแรงบันดาลใจและที่มาที่ไปในการเขียนหนังสือเล่มนี้ ชั้นต่อมา เกิดช่วงปี 1968 เป็นชั้นที่ชายชราเจ้าของโรงแรมคนปัจจุบัน (F. Murray Abraham) เล่าเรื่องราวที่แสนพิสดารในยุค Renaissance ของโรงแรมแห่งนี้ให้กับคุณนักเขียนท่านตะกี้ (Jude Law หรือ คุณหมอ Watson จาก Sherlock Holmes)ชั้นสุดท้าย เป็นฉากที่ย้อนอดีตไปในปี 1932 (ซึ่งเป็นช่วง Nazi พอดี) ที่เจ้าของโรงแรมยังเป็นหนุ่มน้อย Lobby Boy และหนังก็เริ่มถ่ายทอดเรื่องราวความรัก มิตรภาพ การไล่ล่า และศิลปะอันงดงามที่เกิดขึ้นที่นี่

ในปี 1932 Monsieur Gustave H. (Ralph Fiennes หรือ Lord Voldemort จาก Harry Potterพนักงานต้อนรับ (หรือ concierge) แห่ง the Grand Budapest ได้รับ Zero Moustafa (Tony Revolori) ชายหนุ่มผู้ลี้ภัยสงครามมาจากตะวันออกกลาง เข้ามาทำงานเป็น “Lobby Boy” ส่วนเจ้าของโรงแรมนั้น ตามท้องเรื่อง เขาเป็นใครก็ไม่รู้ คือเจ้าของเขาจะส่งสารสำคัญต่างๆ ผ่านมากับผู้แทนหรือทนาย Kovacs (Jeff Goldblum จาก Jurassic Park และ ID4) เท่านั้น ความโกลาหลเกิดขึ้นเมื่อ Madame Céline Villeneuve “Madame D” Desgoffe und Taxis (Tilda Swinton หรือแม่มดขาวจาก The Chronicles of Narnia) ซึ่งเป็นหนึ่งในกิ๊กของ Gustave เสียชีวิตลงอย่างเป็นปริศนา Gustave พร้อมกับ Zero จึงเดินทางไปคฤหาสน์ของ Madame D เพื่อฟังพินัยกรรม ซึ่งบังเอิญทนาย Kovacs ก็เป็นผู้จัดการมรดกของตระกูลนี้ด้วย ในพินัยกรรม Madame D ได้ยกภาพวาด Boy with Apple (ตามท้องเรื่องในหนัง ภาพนี้วาดโดย Johannes Van Hoytl The Younger แต่จริงๆ ศิลปินชาวอังกฤษ Michael Taylor เป็นคนวาดขึ้น เพื่อใช้ในหนังเรื่องนี้โดยเฉพาะ) ซึ่งมีมูลค่ามหาศาลให้กับ Gustave ทำให้ Dmitri Desgoffe und Taxis (Adrien Brody) ลูกชายของมาดามไม่พอใจและไล่ Gustave ออกไป แต่ก่อนออกไป Gustave และ Zero ได้แอบขโมยรูปภาพนั้นกลับออกมาด้วยและเอาไปซ่อนไว้ในเซฟโรงแรม Gustave ถูกจับเข้าคุกข้อหาฆาตกรรม Madame D จากคำให้การของ Serge X (Mathieu Amalric) หัวหน้าพ่อบ้านของ Madame D แต่สุดท้าย Zero กับ Agatha (Saoirse Ronan จาก Atonement) คู่หมั้นสาวสวยของ Zero ก็ช่วยพา Gustave แหกคุกออกมาได้ (เหมือนการแหกคุกใน The Shawshank Redemption และซีรีส์ Prison Break เลย) และพยายามพิสูจน์ความบริสุทธิ์ แต่ในขณะเดียวกันพวกเขาก็ถูก J.G. Jopling (Willem Dafoe หรือ Green Goblin จาก Spider-Man) นักฆ่าโรคจิตของ Dmitri ตามไล่ฆ่าด้วย (ฉากไล่ล่าในภูเขาสูงที่เต็มไปด้วยหิมะ ทำให้เรานึกถึง Inception แต่เรื่องนี้ออกแบบฉากสวยกว่า)

จุดเด่นของ The Grand Budapest Hotel ก็คือภาพที่สีที่เหมือน ลูกกวาดนวลๆ การจัดองค์ประกอบภาพที่ สมมาตร” กันแทบทุกฉาก และการจัดมุมกล้องแบบ 90 องศาขวับๆ อย่างเป๊ะ (ไม่เชื่อลองสังเกตในเทรลเลอร์ได้) ซึ่งทำให้ทุกซีนมีความเฉพาะและสวยงามชนิดที่สามารถกดแคปหน้าจอแล้วอัพโหลดลง instagram ได้เลยทันทีโดยไม่ต้องใส่ฟิลเตอร์เพิ่มแต่ใดๆ ใครเป็นแฟนหนังของเขาหรือเคยดูผลงานของเขามาบ้าง เช่น Moonrise KingdomFantastic Mr. Fox และ Rushmore ก็คงจะคุ้นเคยกับสไตล์การทำหนังของเขาเป็นอย่างดี เพราะเขาว่ากันว่าการที่ The Grand Budapest Hotel ใช้เทคนิคภาพสมมาตรก็เป็นสไตล์ที่เป็น signature ของผู้กำกับฯ คนดังคนนี้มาแต่ไหนแต่ไร แต่แค่เรื่องนี้ค่อนข้างเหนือชั้นกว่า ดูแพงกว่า และมีพล็อตที่จริงจังกว่าหลายเรื่องที่ผ่านมาของเขา โดยรวม The Grand Budapest Hotel เป็นหนังตลกเนื้อดีและภาพสวยมาก การันตีคุณภาพด้วยผู้กำกับฯ Wes Anderson และนักแสดงชื่อดังคับจออีกมากมาย เช่น Ralph FiennesBill MurrayEdward NortonOwen WilsonJeff GoldblumJude LawSaoirse Ronan และ Tilda Swinton ฯลฯ  (อ้างอิงรีวิวจากบล็อกคุณ kwanmanie.com)

รางวัลที่ได้รับมาแล้ว : Golden Globe Award  - Best Motion Picture - Comedy or Musical , Berlin International Film Festival (จูรี่กรังปรีซ์)  ส่วนใหญ่ตัวหนังจะไปได้รางวัลในสาขาบท ถ่ายภาพ และการแสดงเสียเป็นส่วนใหญ่ในหลากหลายสถาบันมาก อาทิ ACE Eddie Awards, Casting Society of  America, Central  Ohio Film Critics Associotion Awards, Chicago  Film Critics Association  Awards,  Critics Choice Awards, David  di Donatello Awards, Denver Film Critics Society, Florida Film Critics Circle Awards, Georgia Film Critics Association Awards, Houston Film Critics Society Awards, Indiana Film Journalists Association Awards, International Online Film Critic's Poll Awards, Las Vegas, Los Angeles, New York, Oklahoma Flim Critics , Online Film Critics, Phoenix Film Critics Society Awards and  etc. ได้เข้าชิงออสการ์ในสาขาต่างๆ รวม สูงสุด 9 สาขา 


หมายเหตุ  ดู trailer/teaser ของหนังเข้าชิงเหล่านี้ได้ที่ link นี้ต่อครับ http://yikgamyok.blogspot.com/2015/01/2015.html


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น