วันอังคารที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2558

รำลึกการจากไปของฟูจิโมโต้ กับ 45 ปีของการ์ตูนอมตะของโลกอย่าง โดราเอมอน


“โดราเอม่อนเป็นหุ่นยนต์แมวสีฟ้าที่ไม่มีหู กลัวหนู และชอบกินแป้งทอดเป็นชีวิตจิตใจ เขาเดินทางจากศตวรรษที่ 22 มาเพื่อช่วยเหลือโนบิตะ เด็กผู้ชายวัย 10 ขวบ ที่ไม่เอาไหนและพบเจอแต่เรื่องซวยๆ”

นี่คือเรื่องย่อของการ์ตูนที่พวกเราคุ้นเคยกันดีอย่างโดราเอมอน โดราเอมอนได้รับการตีพิมพ์เป็นตอนๆ ครั้งแรกในเดือนธันวาคมปี 1969 และพิมพ์รวมเล่มในปี 1974 -1996  โดยมีการเขียนขึ้นทั้งหมด 1,344 ตอน รวมเป็นหนังสือการ์ตูนพ็อคเก็ตบุ้คได้ 45 เล่ม ทำยอดขายได้ทั้งหมด 1 ร้อยล้านเล่มทั่วโลก และได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ จีน ฮินดี ไทย ลาว ฯลฯ โดราเอมอนเป็นการ์ตูนขนาดสั้นจบในตอน แต่ละตอนมีลักษณะคล้ายกัน คือเปิดเรื่องมาด้วยโนบิตะพบกับปัญหาบางอย่าง จากนั้นโดราเอมอนก็จะเอาของวิเศษออกมาช่วยเหลือ แต่ด้วยการที่ใช้ผิดวิธีส่งผลให้เหตุการณ์อลหม่านบานปลายจนสุดท้ายโดราเอมอน (หรือเพื่อนๆ คนอื่นๆ ของโนบิตะ) ต้องมาคอยช่วยเหลือแก้ไขให้อยู่เสมอ ไฮไลท์ในแต่ละตอนจะอยู่ที่ของวิเศษที่โดราเอมอนดึงออกมาจากกระเป๋าหน้าท้อง 4 มิติ ซึ่งของที่หลายคนจำได้ก็มี อาทิ คอปเตอร์ไม้ไผ่ ,ยานไทม์แมชชีน, ประตูวิเศษไปที่ไหนก็ได้, วุ้นแปลภาษา, ผ้าคลุมล่องหน เป็นต้น  จุดเด่นของของวิเศษเหล่านี้ก็คือ มันไม่ได้มีรูปลักษณ์ไฮเทคล้ำยุค เหมือนในหนัง การ์ตูนแนวไซไฟทั่วไป แต่มีลักษณะเหมือนของใช้ประจำบ้านที่เข้าถึงง่าย ซึ่งของวิเศษส่วนใหญ่มีหลักการทำงานแบบวิทยาศาสตร์ แต่ก็มีบางชิ้นที่แฝงไว้ด้วยไสยศาสตร์และความเชื่อพื้นบ้านด้วย

 

ร่วมรำลึกและคารวะผู้เขียนเรื่องนี้ 2 ท่าน ก็คือ ฟูจิโกะ และฟูจิโอะ

ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ (Fujiko Fujio) เป็นนามปากการ่วมของสองนักเขียนการ์ตูน ฮิโรชิ ฟูจิโมโต้ (1993-1996) และโมโตโอะ อาบิโกะ (1934-ปัจจุบัน) ทั้งคู่เป็นเพื่อนเรียนร่วมชั้นเดียวกันสมัยประถมที่จังหวัดโทยามะและหลงใหลในการวาดการ์ตูนเหมือนกัน โดยมีนักเขียนในดวงใจคือ เท็ดสึกะ โอซามุ (ผู้เขียน เจ้าหนูอะตอม) ในช่วงมัธยมต้น ทั้งคู่ได้แรงบันดาลใจจากการ์ตูนของโอซามุ จนสร้างผลงานการ์ตูนชิ้นแรกของพวกเขาขึ้นมา และเริ่มส่งผลงานไปตามนิตยสารการ์ตูนต่างๆ ทั้งยังเปิดบัญชีร่วมกันเพื่อระดมเงินมาซื้ออุปกรณ์วาดรูป โดยใช้วิธีแบ่งรายรับและรายจ่ายกันคนละครึ่ง ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติที่ทั้งคู่ทำไปตลอดชีวิตการร่วมงาน ในช่วงมัธยมปลาย ผลงานของทั้งคู่ได้รับการตีพิมพ์เป็นครั้งแรกในปี 1951 และในปีนั้นเอง พวกเขาได้มีโอกาสไปเยี่ยมบ้านของ เท็ดสึกะ โอซามุ และโชว์ภาพวาดผลงานเรื่อง Ben Hur ให้ดู โอซามุกล่าวชื่นชมทั้งคู่และยังเผยในภายหลังว่า เขารู้ในตอนนั้นว่าทั้งสองคนจะกลายเป็นคนสำคัญในวงการการ์ตูนอย่างแน่นอน ซึ่งเหตุการณ์นี้จุดประกายให้ฟูจิโมโต้และอาบิโกะอย่างมาก พวกเขาเคยคิดจะใช้นามปากกาว่า เท็ตสึกะ ฟูจิโอะ เพื่อแสดงความเคารพ เท็ตสึกะ โอซามุ ด้วยซ้ำ หลังจากจบมัธยม ทั้งคู่ที่เป็นลูกชายคนโตจึงไปหางานที่บริษัททำเพื่อความมั่นคง โดยฟูจิโมโต้ไปทำงานในบริษัทลูกกวาด ส่วนอาบิโกะทำหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของโทยามะ แต่ไม่นานฟูจิโมโต้ก็ได้รับบาดเจ็บจากเครื่องจักร และลาออกมาเขียนการ์ตูนส่งให้นิตยสาร โดยมีอาบิโกะคอยมาช่วยในยามว่าง ในที่สุด ทั้งคู่ก็ตัดสินใจก้าวเข้าสู่การเป็นนักเขียนการ์ตูนมืออาชีพ โดยเดินทางไปกรุงโตเกียวในปี 1954
 
ชีวิตนักเขียนการ์ตูนในช่วงแรกของพวกเขานั้นต้องพบเจอกับอุปสรรคมากมายทั้งการป่วยเป็นวัณโรค ถูกเลิกจ้าง การ์ตูนไม่ได้รับความนิยม แต่ทั้งสองก็สู้สุดใจและได้ย้ายมาอยู่ที่บ้านเช่าในแถบโทคิวะ-โช ซึ่งเป็นศูนย์รวมนักเขียนการ์ตูนหน้าใหม่ในยุคนั้น  ตั้งกลุ่มนักเขียนการ์ตูนยุคใหม่ (Shin Manga-to) และตั้งหน้าตั้งตาเขียนการ์ตูนแบบบ้าพลัง บางเดือนทำผลงานลงนิตยสารได้ถึง 6 เรือ่งก็มี  ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ เริ่มมีชื่อเสียงจาก ผีน้อยคิวทาโร่ ในปี 1964 ที่ได้ตีพิมพ์รวมเล่มและกลายเป็นแอนิเมชั่นในเวลาต่อมา หลังจากส่งต้นฉบับไม่ทันจนเสียเครดิต พวกเขาจึงตัดสินใจลงทุนก่อตั้งบริษัท Studio Zero เพื่อผลิตการ์ตูนมังงะและแอนิเมชั่น เช่น ภ.การ์ตูน Astro Boy และซีรี่ย์ทีวี คิวทาโร่ สตูดิโอชีโรเติบโตอย่างรวดเร็ว จนมีพนักงานถึง 80 คน แต่สุดท้าย บริษัทก็ต้องปิดตัวลงด้วยปัญหาทางการเงิน พวกเขาเริ่มเขียนโดราเอมอนลงในนิตยสาร “โชกักอินจิเน็นเซย์-โยะเน็นเซย์”  เมื่อปี 1969 โดยเน้นไปที่กลุ่มผู้อ่านวัยเด็ก ในช่วงแรกการ์ตูนเรื่องนี้ยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก แต่พอมันได้รับการผลิตเป็นการ์ตูนแอนิเมชั่นฉายทางโทรทัศน์ใน 3 ปีต่อมา ความนิยมของโดราเอมอนก็แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วและกลายเป็นการ์ตูนที่ดังที่สุดในชีวิตของพวกเรา  นอกเหนือจากการ์ตูนโดราเอมอนแล้ว ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ ยังมีผลงานการ์ตูนอีกมากมาย เช่น ปาร์แมน, นินจาฮาโตริ , 21 เอม่อน,เจ้าชายจอมเปิ่น ,เจ้าหญิอลเวง ,มามิสาวน้อยมหัศจรรย์, ตำรวจกาลเวลา ,ชิมปุย และรวมผลงานสั้นของ   ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ ซึ่งเรื่องหลังนี้แม้จะมีลายเซ็นต์ที่เรียบง่ายสบายตาคล้ายโดราเอมอน แต่เนื้อหากลับพูดถึงปรัชญา วิทยาศาสตร์ และด้านมืดของมนุษย์ที่ลุ่มลึกและน่าสนใจ  ทั้งคู่ร่วมงานกันจนถึงปี 1987 จึงแยกย้ายไปทำงานของตัวเอง โดยฟูจิโมโต้ใช้นามปากกาว่า ฟูจิโกะ เอฟ ฟูจิโอะ  ส่วนอาบิโกะ ใช้นามปากกาว่า ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ โดยฟูจิโมโต้ยังคงเขียนโดราเอมอนต่อ ทั้งยังวาดและแต่งเรื่อง ให้โดราเอมอนฉบับภาพยนตร์เป็นประจำทุกปี ส่วนอาบิโกะได้แยกตัวไปทำนินจาฮาโตริ และโปรกอล์ฟซารุฉบับที่ฉายในโรงภาพยนตร์

 
ในปี 1996 ฟูจิโมโต้ได้ถึงแก่กรรมในวัย 62 ปี ส่วนอาบิโกะยังคงมีชีวิตอยู่จนถึงปัจจุบัน

ในปี 2011 มีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ ฟูจิโกะ เอฟ ฟูจิโอะ ในเมืองคาวาซากิ ซึ่งรวบรวมผลงานของเขาเอาไว้มากมาย และแน่นอนว่า ไฮไลท์ย่อมหนีไม่พ้น โดราเอมอน นี่เอง


การ์ตูนโดราเอมอน ได้รับแรงบันดาลใจเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2512 (ค.ศ. 1969) เนื่องจากนักวาดการ์ตูนทั้ง 2 ฟุจิโกะ ฟุจิโอะ ได้ลงโฆษณาการ์ตูนเรื่องใหม่ของเขาทั้งสองไว้ว่าจะมีตัวเอกที่ออกมาจากลิ้นชัก ในนิตยสารการ์ตูนฉบับต้อนรับปีใหม่ ที่จะมาแทนการ์ตูน เจ้าชายจอมเปิ่น แต่ในความจริงแล้วทั้งสองยังไม่มีไอเดียเกี่ยวกับการ์ตูนเรื่องนี้แม้แต่น้อยเลย เมื่อใกล้ถึงเวลาส่งต้นฉบับก็ยิ่งเพิ่มแรงกดดันให้กับทั้งสองเป็นอย่างมาก  ฮิโรชิ ฟุจิโมโตะ หนึ่งในนักวาดการ์ตูน ได้เผอิญเห็นแมวจรจัดที่มักแอบเข้ามาเล่นที่บ้านของตนเองเป็นประจำ เขามักจะชอบจับแมวตัวนี้มาหาหมัด จนเวลาล่วงเลยมาถึง 4.00 น. ก็ยังไม่มีไอเดียเกี่ยวกับการ์ตูนเรื่องใหม่ ทำให้ฮิโรชิโมโหตัวเองเป็นอย่างมาก และคิดเลยเถิดไปว่าโลกนี้น่าจะมีไทม์แมชชีน เพื่อย้อนเวลากลับไปแก้ไขอดีต หลังจากนั้นฮิโรชิได้เผลอหลับไปด้วยความอ่อนล้า เมื่อเขาสะดุ้งตื่นขึ้นมา ทำให้เขาตกใจว่าตนเองเผลอหลับไป จึงรีบวิ่งลงจากบันไดบ้านไปสะดุดกับตุ๊กตาล้มลุกญี่ปุ่นของลูกสาวที่ตกอยู่บนพื้น  เหตุนี้เองทำให้ฮิโรชิเกิดไอเดียขึ้นโดยนำหน้าแมวจรจัดมาผสมกับตุ๊กตาญี่ปุ่น สร้างออกมาเป็นตัวละครหุ่นยนต์แมวจากอนาคตคอยช่วยเหลือเด็กชายที่แสนจะไม่ได้เรื่อง และตั้งชื่อว่า โดราเอมอน เป็นคำผสมระหว่าง "โดราเนโกะ" กับ "เอมอน" ในภาษาญี่ปุ่น โดราเนโกะนั้นแปลว่าแมวหลงทาง ส่วนคำว่า "เอมอน" เป็นคำเรียกต่อท้ายชื่อของเด็กชายในสมัยก่อนของประเทศญี่ปุ่น และได้เปิดตัวในปีเดียวกัน เริ่มตีพิมพ์ในนิตรยสารโยะอิโกะ, นิตรยสารโยชิเอ็ง และนิตยสารเพื่อการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ 1 - 4 (เดือนมกราคม ค.ศ. 1970)  การ์ตูนโดราเอมอน ลงตีพิมพ์พร้อมกันในนิตยสาร 6 ฉบับคือ นิตรยสารโยะอิโกะ, นิตรยสารโยชิเอ็ง, นิตรยสารโชงะกุอิชิเน็นเซ (นิตยสารเพื่อการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ 1), นิตรยสารโชงะกุนิเน็นเซ (นิตยสารเพื่อการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ 2), นิตยสารโชงะกุซังเน็นเซ (นิตยสารเพื่อการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ 3) และนิตยสารโชงะกุโยเน็นเซ โดยมีทั้งหมด 1,344 ตอน โดยเขียนให้เหมาะกับผู้อ่านแต่ละระดับอายุ ซึ่งการ์ตูนได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และในวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2540 โดราเอมอนได้รับ รางวัลเท็ตซึกะ โอซามุ เป็นการ์ตูนดีเด่น

รู้ไว้ใช่ว่า...เกี่ยวกับโดราเอมอน

-แอนิเมชั่นทางทีวีของโดราเอมอนนั้นมีอยู่ด้วยกัน 3 ช่วง ช่วงแรกเริ่มฉายในปี 1973 โดย Nippon Television แต่ไม่ได้รับความนิยมเท่าไร ช่วงที่ 2 เริ่มฉายปี 1979 โดย TV Asahi ซึ่งงวดนี้โด่งดังเป็นประวัติการณ์ มีการสร้างขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งหมด 1,787 ตอน (เวอร์ชั่นคลาสสิกที่ฉายทางช่อง 9 การ์ตูน ก็คือเวอร์ชั่นนี้) ช่วงที่ 3 เริ่มฉายในปี 2005 เมื่อ TV Asahi ได้เริ่มสร้างโดราเอมอน Episode ใหม่ โดยทำการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เช่น ทีมงาน,คนให้เสียงพากย์,การออกแบบตัวละคร ซึ่งเวอร์ชั่นนี้ได้ไปฉายในอเมริกาและประเทศฝั่งตะวันตกด้วย

-โดราเอมอนทั้งฉบับหนังสือการ์ตูนและการ์ตูนแอนิเมชั่นที่เข้าไปเผยแพร่ในตะวันตก ได้เปลี่ยนแปลงรายละเอียดหลายอย่างเพื่อให้เข้าถึงผู้ชม่ง่ายขึ้น เช่น ตัดต่อใหม่,เปลี่ยนแปลงสกุลเงินเป็นดอลล่าร์ และข้อความต่างๆ เป็นภาษาอังกฤษ เปลียนชื่อตัวละครให้ออกเสียงง่ายขึ้น เช่น โนบิตะเป็นโนบี้, ชิซูกะเป็นซู,ซูเนโอะเป็นสนีช, ไจแอนท์เป็นบิ๊กจี (ถ้าเวอร์ชั่นนี้เข้ามาในไทยแล้วตั้งชื่อตามนี้คงถูกด่ากันขรมแน่)

-โดราเอมอนเคยถูกดัดแปลงเป็นเวอร์ชั่นคนแสดงมาแล้วในโฆษณาโตโยต้าเมื่อปี 2011 โดยนำเสนอตัวละครในอีก 20 ปีต่อมา และได้นักแสดงอย่าง ฌอง เรโน (Leon) มารับบทเป็นโดราเอมอน (ซึ่งใครดูต่างก็บอกว่า ลาก่อน ภาพความฝันอันงดงามในวัยเยาว์ของฉัน)
 
-โดราเอมอนเคยมีตอนจบอยู่ในตอนสุดท้ายของเล่ม 6 เมื่อปี 1971 ในชื่อตอน “ลาก่อนโดราเอมอน” โดยโดราเอมอนต้องกลับไปในโลกอนาคต (ซึ่งเป็นตอนที่อยู่ในหนัง Stand by Me Doraemon ด้วย) เนื่องจากผู้เขียนตั้งใจตัดจบ เพราะตอนนั้นโดราเอมอนยังไม่ได้รับความนิยม แต่พอตีพิมพ์ ก็มีคนอ่านเรียกร้องว่าไม่อยากให้จบ ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ จึงเขียนตอนต่อมา และก็ไม่เคยมีการพูดคุยกันถึงตอนจบอีกเลย จนกระทั่งทั้งคู่แยกทางกันในปี 1987 และฟูจิโมโต้เสียชีวิตในปี 1996 ด้วยเหตุนี้ทำให้ตอนจบอื่นๆ ซึ่งแพร่หลายในอินเตอร์เน็ท (เช่น จบโดยให้โนบิตะ ที่จริงแล้วเป็นเด็กป่วยหนักใกล้เสียชีวิตอยู่ในโรงพยาบาล ส่วนโดราเอมอนและตัวละครเสริมอื่นๆ นั้นไม่มีจริง) ล้วนแต่เป็นแฟนฟิคชั่นแต่งขึ้นมาเอง
 
 
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น